ปฏิบัติให้เห็นตัวจิตจริงๆเป็นอย่างไร
วันที่ 8 กรกฎาคม. 2552 เวลา 18:20 น. ความยาว 52.36 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)

ค้นหา :

ดู ภาพและเสียง (Flash) 8 ก.ค. 2552

เทศน์อบรมพระสงฆ์ ณ วัดป่าบ้านตาด

เนื่องในวันอธิษฐานเข้าพรรษา

เมื่อเย็นวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒

ปฏิบัติให้เห็นตัวจิตจริงๆ เป็นอย่างไร

       ทุกอย่างๆ มันลดลง ร่างกายนี่ลดลงทุกอย่างๆ มือสั่นแล้วนะเดี๋ยวนี้ มือเริ่มสั่นแล้ว ทุกปีไม่สั่น ปีนี้เริ่มสั่น จะจับอะไรสั่น มันเป็นของมันแล้ว ปีนี้เห็นชัด มือก็สั่น เรื่องธาตุเรื่องขันธ์นี้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยนะ เปลี่ยนเพื่อลดลงๆ มีแต่จิตเท่านั้นละ จิตนี้เรียกว่าคงเส้นคงวา แต่สังขารร่างกายนี้เปลี่ยนไปๆ  อายุเรามันก็ถึง ๙๖ แล้ว มันก็ควรแล้ว มันก้าวเข้าเขตนั้นแล้ว จะให้มันเป็นธรรมดาไม่ได้ การอยู่นอกพรรษาและในพรรษา ในพรรษานี้เป็นความเข้มงวดกวดขันให้ต่างกันกับนอกพรรษามันถึงถูกต้อง ตามที่ท่านพูดไว้แล้วว่าไม่เข้าพรรษานี้พระเพ่นพ่านๆ เหยียบคันไร่คันนาเขาจนเขาได้บ่น ต่อมาจึงให้เข้าพรรษาในพรรษาสามเดือนนี้ไม่ให้พระออกไปที่ไหน ให้ประกอบความพากเพียรอยู่ตามสถานที่ของตน เป็นอย่างนั้นนะ

         จึงได้มีเข้าพรรษา แต่ก่อนไม่มีเข้าพรรษา ข้อตำหนิติเตียนของเขาพระพุทธเจ้าก็นำมาพิจารณา จึงว่าในพรรษาไม่ให้ออกไปไหน เวลานี้เป็นเวลาที่เข้าพรรษา เป็นเวลาที่เข้มงวดกวดขันในทางความพากความเพียร ไปไหนไม่ไปไหนกับอยู่ในพรรษานี้เป็นเวลาที่จะได้เข้มงวดกวดขันในทางความพากเพียร ความพากเพียรเพื่อจะระงับดับความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมภายในจิตนี้เป็นสำคัญมาก จิตใจนี้ดีดดิ้นมากทีเดียว ไม่มีอะไรจะดีดจะดิ้นยิ่งกว่าใจ ใจนี้ดีดดิ้นมาก จึงต้องใช้ความเพียรคือสติครอบมันอยู่เสมอ ถ้าสติดีความเพียรก็ก้าวเดิน ถ้าสติขาดเป็นวรรคเป็นตอนไปนี้ความเพียรก็หยุดๆ ยั้งๆ ไม่ค่อยก้าวเดิน ถ้ามีสติระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาเป็นที่แน่ใจได้ว่าผู้นั้นตั้งตัวได้แน่นอน เราเคยดำเนินมาแล้ว

เรื่องสติจึงยกให้เป็นอันดับหนึ่งในการประกอบความเพียร จะเป็นที่ธรรมดาก็ตาม เป็นเวลาที่เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ตาม สตินี้เป็นสำคัญมากทีเดียว ถ้าขาดสติเมื่อไรก็ขาดความเพียร ถ้าสติติดแนบกันอยู่แล้วความเพียรก็ก้าวเดิน นี่สำคัญให้จำเอาไว้ทุกคน ตั้งสติไม่ใช่ตั้งธรรมดานะ ผู้ที่จะเร่งรัดให้ถึงมรรคถึงผลจริงๆ สติกับจิตนี้ไม่จากกันละ ขาดเมื่อไรก็เป็นว่าขาดความพากความเพียร ตั้งสติปั๊บตั้งแต่ตื่นนอนไม่ให้เผลอกันเลย อยู่อย่างนั้นละ เพราะไม่มีงานอื่นใดทำ มีแต่งานภาวนาเพื่อจะดูละครลิงซึ่งมันมีอยู่ในจิต เอาธรรมะตีเข้าไปๆ จิตก็สงบได้

ถ้าสติตั้งได้ดีมีทางที่จะตั้งตัวได้พระเราหรือนักภาวนาทั้งหลาย สำหรับฆราวาสญาติโยมเขามีการมีงานหลายด้านหลายทาง สำหรับพระเรามีแต่งานทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา สติกับจิตติดแนบกันอยู่ตลอดเวลา นี่ตั้งได้ไม่สงสัย ถ้าขาดสติแล้วก็ขาดความเพียร จำคำนี้ไว้ให้ดี ขาดสติเมื่อไรความเพียรก็ขาดไป ถ้าสติตั้งตลอดความเพียรก็ก้าวเดินได้ๆ เริ่มตั้งแต่ความสงบ..จิตใจจะฟุ้งซ่านรำคาญไปไหนเอาสติจับติดๆ ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ สตินี้ตามติดกับจิตไม่ให้เผลอไปไหน

นั่นละผู้จะตั้งตัวได้ ตั้งตัวก็คือเข้าสู่ความสงบ ไม่ค่อยฟุ้งซ่านรำคาญ ตั้งสติจับตลอดเวลาก็สงบไปเรื่อยๆ ต่อจากนั้นสติก็เป็นสมาธิ มีความสงบเย็นภายในตัวเอง แต่ไม่ลดละทางด้านสติ ให้จับติดๆ ตลอดเวลา แล้วจิตใจก็ค่อยสงบเข้าไปๆ ต่อไปจิตก็เป็นสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของจิต นี่เป็นขั้นๆ นะการพิจารณา สติตั้งไว้แล้วตั้งได้ ตั้งจิตตั้งได้ สงบได้ พอสติขาดไปเมื่อไรก็ให้ทราบเสียว่าความเพียรขาดไปเมื่อนั้น ตั้งสติต้องตั้งให้จริงให้จังทั้งวันทั้งคืน ไม่ให้เผลอ ความเพียรก็เป็นไปตลอดทั้งวันทั้งคืน จากนั้นจิตก็เข้าสู่ความสงบเย็น เย็นลงไปมากๆ สติก็ดีไปเรื่อยๆ

พอจิตมีความสงบ พอที่จะคิดอ่านไตร่ตรองในอรรถในธรรมภาคปัญญาแล้วก็ให้พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ท่านสอนไว้ตั้งแต่เริ่มต้นบวชว่าเกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตโจคือหนัง นี้เรียกว่ากรรมฐานห้า เริ่มต้นในการภาวนาเริ่มด้วยเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อุปัชฌาย์ท่านบวชจึงสอนจุดนี้เป็นสำคัญมาก แล้วเอาอันนี้ไปภาวนาให้มีจิตสงบ ทีแรกเราก็เอาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ย้อนหน้าย้อนหลังไปเสียก่อน ทีนี้จิตก็ค่อยชำนิชำนาญถอยหน้าถอยหลังได้

จากนั้นก็เน้นหนักลงไป กรรมฐานห้าจะเอาอะไรก็แล้วแต่ที่นี่ เราไม่สืบต่อไปให้ครบกรรมฐานทั้งห้า กรรมฐานใดที่ถูกต้องกับจริตนิสัยของเรา เราเอานั้นมาประจำเลยที่นี่ เช่นอย่างเกสาๆ จนชำนาญ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา เป็นภาคพื้นเรียนใหม่ ครั้นต่อมามีความชำนิชำนาญแล้วก็ขึ้นเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จิตสงบแล้วเราจะเอาอะไรเป็นคำบริกรรมกับความสงบนั้น เช่นว่าเกสาๆ อย่างนั้นก็ได้ จะเอาโลมาๆ อย่างนั้นก็ได้ ว่าไปตามลำดับก็ได้ ทีนี้เราชอบกรรมฐานบทใดก็เอาแต่บทนั้นย้ำลงบทเดียว เช่นเกสาๆ ก็เกสาไปเรื่อย ให้จิตชำนิชำนาญ นั่นท่านเรียกว่าภาวนา

เมื่อชำนิชำนาญแล้วจิตสงบเข้าโดยลำดับเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ จากนั้นแยกธาตุแยกขันธ์ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง เข้าไปโดยลำดับ พิจารณาทวนหน้าทวนหลังจนมีความชำนาญ ออกพิจารณาทางด้านปัญญาแยกธาตุแยกขันธ์แยกออกเป็นสัดเป็นส่วน  ตั้งแต่หนังแต่เนื้อดึงออกไปเป็นกองหนัง กองเนื้อ กองเอ็น กองกระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ตีกระจายออกไปแล้วตั้งขึ้นมาเป็นสัตว์บุคคลเหมือนเดิม แล้วพยายามพิจารณาอย่างนั้น แต่อย่าพิจารณาให้ครบกำหนดเฉยๆ นะ พิจารณาจนมีความคล่องแคล่ว พิจารณาหนึ่งสองสามไปเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ พิจารณาอะไรก็ให้จดจ่ออยู่กับกรรมฐานบทนั้นๆ ครั้นต่อมาจิตก็ค่อยกระจายออกไปในเรื่องปัญญา

ปัญญาพิจารณาทางด้านปัญญาเกี่ยวกับเรื่องสกลกายนี้ มีการยักย้ายเปลี่ยนแปลงกันเรื่อยๆ นะ พิจารณาอย่างนี้แล้วแยกอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้นแยกอย่างนั้น เอาจนกระทั่งสุภะ-อสุภะนี้มันกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน แล้วทีนี้มันหมดสภาพของร่างกาย จิตพิจารณาร่างกายจนครบรอบหมดแล้วอิ่มตัวในการพิจารณาร่างกายแล้วไม่อยากพิจารณา จิตเข้าสู่ความสงบเข้าไป จากนั้นก็ว่างเข้าไปๆ ร่างกายเหล่านี้ก็ค่อยปล่อยไปๆ แต่เอาร่างกายสลับซับซ้อนทบทวนอยู่เสมอนะ จนกระทั่งจิตมันชำนาญ ร่างกายของเรานี้มันก็ปล่อยของมันเอง ทีนี้ยังเหลือแต่ความว่างของจิต สติจับอยู่กับความว่าง ตั้งอันนี้ขึ้นเรื่อย ตั้งสกลกายที่เป็นหินลับปัญญาตั้งขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปตั้งขึ้นไปมันก็ดับ ตั้งขึ้นไปก็ดับ ต่อไปมันก็หยุดทางร่างกาย

มันอิ่มร่างกายแล้วหยุด พิจารณาแต่เรื่องความว่างกับความรู้อยู่ด้วยกัน แต่อาศัยอันนี้ละตั้งอยู่เสมอ ไม่ใช่ปล่อยทิ้งทีเดียว มันควรจะปล่อยทิ้งได้มันก็รู้เอง ถ้ายังไม่ควรปล่อยก็เอาอันนี้สลับเข้าไป ช้าหรือเร็วมันเกิดแล้วมันดับ ช้าหรือเร็วเกิดแล้วดับ อสุภะอสุภังตามไม่ทันเมื่อถึงขั้นมันเกิดดับๆ แล้วไม่พิจารณาอสุภะอสุภังละ มันอิ่มของมันเอง จากนั้นมีความว่างแล้วนิมิตของร่างกายเข้าไปแทรกซ้อนๆ อยู่เสมอ ต่อไปมันก็ชำนาญ จิตก็เข้าถึงขั้นว่าง นี่ละการพิจารณา มันอิ่มของมันแล้วมันปล่อยเอง ปล่อยแล้วเอาอะไร เมื่อไม่มีร่างกายแล้วเอาอะไร ขั้นว่าง ว่างสลับกับร่างกายต่อไปมันก็ว่างเข้าไปเรื่อยๆ จิตใจก็สง่าผ่าเผยละเอียดลออเข้าไป จนกระทั่งว่างไปหมดในโลกธาตุนี้ กลายเป็นความว่างเปล่าไปเหมือนร่างกายของเรา

นี่ละการพิจารณาภาวนา เมื่อมันอิ่มตรงไหนแล้วมันก็ปล่อย ถ้ายังไม่อิ่มก็ไม่ปล่อย ร่างกายนี้ถ้ามันอิ่มแล้วมันก็วิ่งเข้าไปอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่ว่าอสุภะอสุภังเหล่านี้มันผ่านของมัน มันอิ่มแล้ว เข้าไปหาความเกิดความดับ ความเกิดความดับ พิจารณาอันนั้นต่อไปมันก็ว่าง ว่างก็ยังเอาสิ่งนี้มาสลับอยู่นั้นแล มันหากจะรู้ในตัวเอง เมื่อมีผู้แนะไว้แล้วอย่างนี้ต่อไปมันก็ว่างไปหมด จิตกับความว่างอยู่ด้วยกัน สติกับจิตกับความว่างอยู่ด้วยกันเรื่อยๆ ละเอียดลออเข้าไป มีแต่ยิบแย็บๆ แล้วก็ว่างๆ เข้าไป นั่นจะเข้าถึงจิตเดิม

จิตเดิมแท้ที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา มันจะเข้าสู่จุดนั้นละ เมื่อพิจารณาพอแล้ว อวิชฺชาปจฺจยา มันก็เบิกตัวมันออกไป ปัญญาอันนี้มันก็บีบกันเข้าไปจนขาดสะบั้นไปหมดเลย ต่อจากนั้นไม่ถามใครก็ได้ มันหากเข้าใจในตัวเอง พิจารณาอะไรถ้าจิตยังดูดดื่มอยู่กับอะไรให้พิจารณาอันนั้นให้มาก เมื่อมันอิ่มแล้วมันก็เคลื่อนย้ายไปจากการพิจารณา สภาพของกรรมฐานที่นำมากำกับใจมันก็เปลี่ยนของมันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันว่างหมด จิตเมื่อถึงขั้นมันว่างว่าง เราจะพิจารณาร่างกายเมื่อไรเกิดพับดับพร้อม เราจะแยกธาตุแยกขันธ์อย่างนี้ไม่ทัน มีแต่เกิดดับ ดับพร้อมๆ พร้อมแล้วก็มาอยู่ความว่าง หากฝึกกันอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเกิดปั๊บนี้เราจะพิจารณาว่าเป็นอย่างไรๆ ไม่ทัน เกิดแล้วดับๆ ทีนี้จิตก็อาศัยอันนี้เป็นอารมณ์ เกิดดับๆ สติจ่อเข้าไปๆ จิตจะเคลื่อนย้ายเข้าไปสู่ความละเอียดเรื่อยๆ

นี่การพิจารณาภาวนาเป็นขั้นเป็นตอนนะ ไม่ถามใครมันก็รู้เอง เมื่อถึงขั้นตอนของจิตที่กำลังพัวพันอยู่กับกรรมฐานใดมันก็พัวพัน เมื่อมันอิ่มตัวของมันแล้วมันก็ปล่อยออกมา ปล่อยออกมาแล้วก็มาอยู่ขั้นว่าง ความว่างกับความคิดปรุงมันก็เกิดด้วยกันแล้วก็ดับพร้อมกันๆ นี่เรียกว่าการพิจารณาทางด้านปัญญา ปัญญาจะเกิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีสติติดแนบอยู่แล้วมันจะเกิดของมัน จึงเรียกว่าปัญญาอัตโนมัติ ท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา มันเกิดแล้วดับๆ หากเป็นไปอย่างนั้น นี่การพิจารณา

เรื่องภาวนานี้เป็นของสำคัญมากทีเดียวกับเรื่องสติปัญญา แต่ความสงบนี้เอาให้ได้ บริกรรมคำใดจนกระทั่งจิตมันหยุด เพราะคำบริกรรมตีต้อนเข้ามาไม่ให้มันไปยึดไปปรุงกับสิ่งใด มันก็มีแต่ความสงบๆ จากความสงบแล้วก็กระจายออกธาตุขันธ์ต่างๆ มันเป็นอย่างไร แล้วละเอียดเข้าไปเรื่อย สุดท้ายก็มีแต่ความเกิดความดับของจิต คิดดีก็ดับ คิดชั่วก็ดับ จิตติดตามกันเข้าไปตลอดเวลา แต่นี้พูดก็ต้องพูดย่อๆ อย่างนั้น จะพูดพรรณนาไปนั้นมันลำบาก พูดให้ผู้ฟังทั้งหลายจับได้ ถ้าจับไม่ได้มันก็ไม่ได้เหตุได้ผลประการใดเลยละ ให้พากันภาวนา สติปัญญาเป็นของสำคัญมาก เมื่อถึงขั้นสติปัญญาแล้วจิตจะหมุนตัวเป็นเกลียวไปเลย ท่านเรียกว่าปัญญาอัตโนมัติ เมื่อถึงขั้นปัญญาอัตโนมัติแล้วมันจะหมุนตัวของมัน หยาบละเอียดมันจะสัมผัสสัมพันธ์กันไปจนกระทั่งมันอิ่มพอ ปล่อยไปๆ อย่างนั้น นี่ละการภาวนา ให้พากันตั้งอกตั้งใจ

พูดจริงๆ แล้วผมหายสงสัยหมดแล้ว ที่นำมาสอนหมู่เพื่อนนี้ไม่ได้คุยไม่ได้โอ้ได้อวดอะไร มันหนักแน่นขนาดไหน ลำบากขนาดไหนก็ไม่ถอย ซัดกันไปมันก็มีช่องว่างๆ ให้ก้าวเดินได้ เล็ดลอดไปได้ นี่ละปัญญา ไม่จนตรอกคนมีปัญญา สติกับปัญญาติดแนบกันไป ต่อไปก็มีทางเดินได้ แล้วจิตมีความละเอียดลออเข้าไปๆ เกิดอะไรกับจิตเกิดรู้ทันๆ เกิดรู้ทันดับรู้ทัน นี่เวลามันทันกันแล้วทันอย่างนั้น ปรุงอะไรมันก็รู้ดับพร้อมเสีย มันไม่มีเงื่อนต่อ  ถ้าหากว่าสติไม่ดีแล้วปรุงนั้นปรุงนี้ปรุงต่อไปเลย เลยกลายเป็นฟุ้งเฟ้อ ถ้าเอาให้อยู่อย่างที่ว่านี้แล้วไม่ฟุ้งเฟ้อ หดตัวเข้ามาๆ สุดท้ายก็มาอยู่ที่จิต ไม่อยู่ที่ไหนละ อยู่ที่จิต แย็บออกมาจิตรู้เสียดับเสีย พอแย็บออกมาจิตก็รู้เสียดับเสีย หมุนแคบเข้าไปก็ไปอยู่กับจิตแห่งเดียว คิดอะไรปั๊บทางจิตนี้รู้แล้ว สติรู้แล้ว เกิดพับดับพร้อมๆ ไม่มีเรื่องมีราวอะไรเป็นเงื่อนต่อ

นั่นละท่านว่าภาวนา ถึงขั้นมันเร็วมันเร็วนะ สติปัญญาเร็วมากทีเดียว พออะไรแย็บออกมานี้มันทันหมด ไม่ทันฆ่ากิเลสไม่ได้ กิเลสมันเป็นตัว อวิชฺชาปจฺจยา หนุนให้เป็นสังขารให้คิดให้ปรุง นั่นละ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ มันสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ถ้าเราจะพูดย่นย่อเวลาได้ผ่านไปเรียบร้อยแล้วก็พูดง่ายนิดเดียว อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชฺชาปจฺจยา วิญฺญาณํ อวิชฺชาปจฺจยา นามรูปํ เรื่อยไปเลย มันเกิดจากนี้ๆ ทีแรกมันก็ต่อกันไปเสียก่อน ครั้นต่อมาสั้นเข้ามาๆ เลยอะไรก็เกิดจากอวิชชาๆ ไปหมด เวลามันเร็วมันทันกันอย่างนี้ละ

ขอให้ทุกท่านตั้งใจปฏิบัติ การภาวนามีความทุกข์ความยากความลำบากบ้างไม่ว่าท่านว่าใครก็ตาม คิดดูซิอย่างพระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก นั่นท่านเพียรหรือไม่เพียร เอาขนาดนั้น แล้วองค์หนึ่งหนักไปทางหนึ่ง องค์หนึ่งทางไปทางหนึ่ง หนักไม่ซ้ำรอยกัน นี่ก็คือความเพียร ฝ่าเท้าแตกก็คือความเพียร จักษุแตกก็คือความเพียร ไม่ถอยจนจักษุแตกอย่างพระจักขุบาล เป็นอย่างนั้นละ ทางไหนที่จะเป็นไปได้ในการถอดถอนกิเลสให้พากันหนักแน่น

วัดนี้ผมก็ไม่ให้มีงานมีการอะไร ให้มีแต่การภาวนาอย่างเดียว อยู่ที่ไหนให้ดูแต่จิตของเจ้าของมันเคลื่อนย้ายไปไหนปรุงแต่งเรื่องอะไร สติให้ติดตามตลอดมันก็ไม่ดื้อด้านเอานักหนา ถ้าลงสติดีแล้วคิดอะไรก็ดับๆ ไม่ได้เกิดเรื่องเกิดราวไปเหมือนแต่ก่อนที่ไม่มีสติ ให้พากันจดจำเอาอย่างนี้ การภาวนาเป็นของลำบาก แต่เวลาถึงขั้นที่ดูดดื่มแล้วมันไม่ได้คิดนะเวล่ำเวลา มันดูดดื่มทางอรรถทางธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ แล้วดูดดื่มไปเรื่อย เดินจงกรมสักเท่าไรจนจะก้าวขาไม่ออกมันถึงจะออกจากทางจงกรม คือมันเพลินในการพิจารณาธรรมะ ธรรมะนี้เป็นธรรมะอัตโนมัติ มันหากหมุนเงื่อนนี้ต่อเงื่อนนั้น เงื่อนนั้นต่อเงื่อนนั้น อยู่อย่างนั้นละเพื่อแก้กิเลส หมุนไปหมุนมาแก้ไปแก้มากิเลสมันจะมีอำนาจมาจากไหนมากยิ่งกว่าสติปัญญาไม่ลดละ มันก็ค่อยหดตัวเข้ามาๆ ครั้นหดเข้ามาจริงๆ แล้วก็มาอยู่ที่ อวิชฺชาปจฺจยา ตีไปข้างหลังอวิชชาแตกด้วยแล้วนั่นละท่านว่าบรรลุ หรือตรัสรู้ธรรม บรรลุธรรม ตรัสรู้ที่ตรงนั้นแหละ

ให้พากันตั้งอกตั้งใจ ทำอะไรอย่าเหยาะๆ แหยะๆ มองดูนี้มันขวางตานะกับพระกับเณรที่อยู่ด้วยกัน พอมองพับมันรู้แล้ว นอกจากว่าไม่พูดเฉยๆ ใช้หูหนวกตาบอดเอา มันแสดงอันหนึ่งละขึ้นมา คือกิเลสออกหน้าๆ ธรรมะไม่ทราบว่าออกช่องไหน สุดท้ายก็มีแต่สั่งสมกิเลสในวงกรรมฐานในตัวของเราเองใช้ไม่ได้นะ ตั้งหน้าตั้งตาทำ อย่าทำเหลาะๆ แหละๆ ทำอะไร มันดูไม่ได้ งานทางโลกก็ไม่เป็นท่า งานทางธรรมก็ไม่เป็นท่า ถ้ามีตั้งแต่ปล่อยให้จิตไปตามบุญตามกรรม ถ้าจะทำเป็นธรรมมันฝืนจิต ถ้าจะวิ่งไปตามกิเลสนี้คล่องตัวๆ ผู้นี้ถึงวันตายมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรละ มันจะฝืนขนาดไหนซัดกันให้มันเต็มเหนี่ยวๆ ต่อไปมันก็มีทางเบิกกว้างออกไปได้ ให้พากันจำเอาทุกคน

เทศน์มากก็ไม่ไหวผมเหนื่อย ไม่เหมือนแต่ก่อนละ ให้พากันจำเอา ปฏิบัติให้มันเห็นตัวจิตจริงๆ เป็นอย่างไร ท่านว่าท่านบรรลุ บรรลุอย่างไร บรรลุที่หัวใจท่านหัวใจเรานี้ เมื่อมันบรรลุขึ้นแล้วจะไปถามใครอีก ท่านก็เหมือนกัน เราเหมือนกันกับท่านถามอะไร แม้แต่สาวกก็ไม่ถามพระพุทธเจ้า เมื่อมันถึงขั้นที่เป็นอันเดียวกันแล้วไม่ทูลถาม พระพุทธเจ้าองค์ใดก็ดี สาวกองค์ใดก็ดีเมื่อรู้แล้วไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้า เพราะมันสมบูรณ์แบบอยู่ที่ตัวของเราเอง มีเท่านั้นละ วันนี้จะไม่พูดอะไรมาก เหนื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องอะไรละ เหนื่อยๆ พากันจำเอา หยุดละ พอ พากันกราบได้ละ กราบแล้วไปเลย ตั้งใจปฏิบัติธรรมนะ เอาให้จริงให้จัง อย่าเหลาะๆ แหละๆ

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz

พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก