มหาภัยมหาคุณอยู่ที่ใจดวงเดียว (ฆราวาสสำเร็จอรหันต์แล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร)
วันที่ 18 พฤษภาคม 2549 เวลา 7:50 น. ความยาว 42.49 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)   วิดีโอแบบ(Win High Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

มหาภัยมหาคุณอยู่ที่ใจดวงเดียว

(ฆราวาสสำเร็จอรหันต์แล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร)

ก่อนจังหัน

พระเราอย่ามองอะไรยิ่งกว่ามองดูหัวใจด้วยสตินะ มองดูหัวใจด้วยสติ มันจะเคลื่อนไหวไปมาตลอดเวลาอยู่ที่หัวใจน่นน่ะ นั่นละมหาภัย ดูมหาภัยให้รอบคอบแล้วมหาคุณจะเริ่มขึ้นมาๆ มหาภัยหมด มหาคุณเด่นครอบโลกธาตุ อยู่ที่ใจดวงเดียวนะ อย่าพากันมองเป็นบ้าดูโลกดูสงสารดูนั้นดูนี้ อันนั้นดีอันนี้ดี เจ้าของเลวไม่ดู หัวใจมันเลว พากันดีดกันดิ้นอยู่ทุกวันนี้ท่านทั้งหลายได้ดูหัวใจหรือเปล่า ไม่ดูเราอยากพูดชัดๆ ไม่มีใครดู โลกถึงได้ร้อนมาก ไม่ว่าผู้สูงผู้ต่ำมันสมมุติกันไปตามอำนาจของกิเลสป่าๆ เถื่อนๆ อย่างนั้นแหละ เอาธรรมจับมันรู้หมดนี่นะ โลกนี่มันร้อนเป็นฟืนเป็นไฟเพราะอะไร เพราะกองไฟคือกิเลส ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา อยู่ที่หัวใจนั่นนะ ดูหัวใจบ้างซิ

มีใครสอนให้ดูหัวใจ มีพุทธศาสนาเท่านั้นให้ดูหัวใจซึ่งเป็นต้นเหตุอันใหญ่หลวง ดูตรงนั้นแล้วจะเป็นความสงบเย็นขึ้นมาทั่วหน้ากัน ให้พากันดู เฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทยเราเป็นลูกชาวพุทธให้ดูหัวใจตามพระพุทธเจ้าสอนบ้างนะ อย่าดูตั้งแต่สิ่งภายนอก ตาก็พาหลอก หูพาหลอก อะไรหลอกไปเรื่อยๆ หัวใจตัวมันหลอกๆ นั้นไม่ได้ดูมันด้วยธรรม จำให้ดี เฉพาะพระเราอย่าเผลอ ท่านทั้งหลายอยากทรงมรรคทรงผล ตลาดแห่งมรรคผลนิพพานคือหัวใจ ด้วยการประกอบความพากเพียร ดูหัวใจตนเอง นั่นละตลาดแห่งมรรคผลนิพพานกับตลาดแห่งฟืนแห่งไฟก็อยู่ที่นั่นเอง ถ้าไม่ดูก็อันนี้ละเผาโลกอยู่เวลานี้

ท่านทั้งหลายดูตั้งแต่ฟืนแต่ไฟเผาที่นั่นเผาที่นี่เหรอ กิเลสเผาหัวใจโลกให้พินาศฉิบหายอยู่ตลอดมานี้ไม่ดูกันบ้างเหรอ พากันดูนะ มันเป็นยังไงหัวใจดวงนี้ถึงดีดถึงดิ้นเอานักหนา จนจะดูไม่ได้นะดูโลก คนหนึ่งดีดทางหนึ่งๆ มันมีอยู่ภายในนั่นมันหมุนให้ดีดๆ เรื่องความทะเยอทะยานความหวังนี่มันพิลึกพิลั่นนะ หวังอย่างนั้นหวังอย่างนี้ มีแต่ผิดหวังทั้งนั้น เอาสติจับเข้าไปดูเข้าไปซิ ท่านทั้งหลายอยากเห็นความสงบร่มเย็น เห็นแดนอัศจรรย์โดยลำดับลำดา ให้ดูหัวใจ จะเห็นที่นั่นเจอที่นั่น ธรรมอยู่ที่นั่น กิเลสตัวเป็นฟืนเป็นไฟอยู่ที่นั่น ชำระกันลงด้วยความพากเพียร

อย่าไปมองดูอะไรที่ไหนกว้างขวาง ตัวสำคัญที่มันหลอกให้ดูคือกิเลสที่อยู่ภายในมันดีดมันดิ้นนะ นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำที่เสมอด้วยตัณหาคือความอยากความทะเยอทะยานนี้ไม่มี แม่น้ำไหนก็เถอะ มหาสมุทรก็สู้ตัณหาคือความอยากความทะเยอทะยานของใจนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่มีฝั่งมีฝา มหาสมุทรมีฝั่งมีฝานะ กว้างแคบลึกตื้นเขาวัดกันได้ทั้งนั้น แต่กิเลสตัณหาตัวนี้ที่อยู่ในใจไม่มีใครวัด ไม่สนใจจะวัดว่ามันกว้างแคบขนาดไหน มีพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านวัดเรียบร้อยแล้วเอาออกมาประกาศสอนโลกมันยังไม่อยากฟังนะ หูหนวกตาบอดถ้าเป็นเรื่องของอรรถของธรรม ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาจะเอาไฟเผาตัวเองนี้ โอ๋ย เร็ว ตามันไวยิ่งกว่าตาแมวพวกนี้น่ะ

จะพวกไหนก็พวกที่นั่งศาลาอยู่เดี๋ยวนี้ กระจายออกไปพูดนี้ออกทั่วประเทศไทย กิเลสมีอยู่กับหัวใจของทุกคน เอ้า ดูให้ดีนะ มันเป็นยังไงคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ผิดหรือไม่ผิด ทำไมไม่มีใครมอง แต่กิเลสมันพาผิดมาตลอดตั้งกัปตั้งกัลป์ ทำไมจึงพากันดีดกันดิ้นกับมันเอานักหนา ไม่มีวันจืดจางอิ่มพอ ไม่มีวันเข็ดหลาบ พวกเรามันเป็นยังไง พากันดูนะ

โธ่ มันน่าทุเรศนะ พูดจริงๆ แต่ก่อนก็ไม่เคยเป็นในหัวใจดวงนี้ พูดให้มันชัดๆ เสียนะ ท่านเหมือนเรา เราเหมือนท่าน เวลามันจ้าข้นมานี้มันออก โอ้โหๆ ขึ้นทันทีเลย เป็นยังไงธรรมพระพุทธเจ้าถึงขนาดโอ้โห ฟังซิน่ะ นี่พระพุทธเจ้าสอนโลก โลกวิทูๆ รู้แจ้งโลกก็คือโอ้โห อุทานของพระพุทธเจ้าออก พากันพิจารณานะ อย่าพากันมีตั้งแต่หวังๆ หวังลมๆ แล้งๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้ดูหัวใจตัวมันดีดมันดิ้นนี่น่ะ อันนี้สงบลงเรื่องราวทั้งหลายจะค่อยสงบๆ ร่มเย็นๆ

เวลานี้โลกเรากำลังเป็นบ้ากับไอ้หลังลาย ไอ้หลังลายคืออะไร ไปแปลกัน มันมีอยู่กับทุกคนนั่นแหละ ในกระเป๋าน่ะไอ้หลังลาย ตัวนี้ตัวเป็นฤทธิ์เป็นเดชมาก ธรรมดามันก็กระดาษเท่านั้นละไอ้หลังลาย เอากิเลสตัณหาเข้าไปใส่มันนี้มันเป็นฤทธิ์เป็นเดชแท้ๆ นะ ถ้าธรรมดาเอาไปมวนบุหรี่สูบก็เหม็นเขียวจะตาย เอาไปจิ้มน้ำพริกก็ไม่ได้แหละ เวลาเสกสรรให้มันเป็นผู้สำเร็จราชการของโลกแล้ว มันก็ไปใหญ่แล้วเวลานี้ ได้เท่าไรไม่พอๆ ไอ้หลังลายนี่ละ

เราไม่ได้ประมาทนะไอ้หลังลาย คือโลกอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นโลกเป็นสงสาร ต้องมีสิ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ประสานกัน ก็คือเงินคือทองเหล่านี้ ท่านทำมาเพื่อเป็นความสะดวกสบายในการแลกเปลี่ยนซื้อขายของกันและกันต่างหาก ท่านไม่ได้เอามาทำให้โลกเป็นบ้าด้วยไอ้หลังลายนะ นี่มันผิดความมุ่งหมายของผู้ผลิตไอ้หลังลายออกมา ไอ้หลังลายท่านมุ่งหมายอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นความสะดวกแก่โลกแก่สงสาร เดี๋ยวนี้มันเป็นไฟเผาหัวใจโลกเพราะไอ้หลังลายนี่

เวลานี้กำลังจะจมอยู่เมืองไทยเรา ก็ไอ้หลังลายนี่ละจะเป็นใครที่ไหนไป ได้เท่าไรมันก็ไม่พอๆ ครั้นเวลาตายแล้วไอ้หลังลายไม่เห็นมาเผาหัวมัน ก็คนนั่นแหละไปเผาศพกัน เวลามีชีวิตอยู่นี้ดีดนี้ดิ้นได้เท่าไรไม่พอๆ นี่คือตัณหา ดูหัวใจเจ้าของ ได้เท่าไรไม่พอ เอ้าขนมาให้มันดูซิน่ะกิเลสตัณหาตัวนี้ เหมือนไสเชื้อเข้าไฟ ไสเข้าไป เอา ให้ไฟดับเพราะเชื้อไม่มีทาง มีแต่ส่งเปลวจรดเมฆ อันนี้ไสเข้าไปกิเลสตัณหา เหยื่อของกิเลสตัณหา เอา ขวนขวายมา นั่นละเหยื่อของกิเลสตัณหา ขวนขวายมาเท่าไรเผาหมด ไม่มีคำว่าคนมีคนจนจะมีสุขถ้ามีตั้งแต่กิเลสแล้ว มหาเศรษฐีก็มหันตทุกข์อยู่ตรงนั้น ตาสีตาสาที่เขาไม่ดีดไม่ดิ้นนัก ถึงเขาจะทุกข์ในการขวนขวายก็ตามแต่หัวใจเขาไม่ได้ทุกข์ เข้าใจหรือยังล่ะไอ้หลังลายคืออะไร ไปดูตั้งแต่หลังลายที่สักเต็มหลังพระเหรอ เห็นไหมพระวัดป่าบ้านตาดมีแต่พระหลังลายทั้งนั้น มองดูองค์ไหนหลังลายแขนลาย ตัวเองมันไม่เป็นท่ามันลายแต่หลัง ไอ้หลังลายกระดาษนี่ โถ มันเอาใหญ่นะ เอาละพอ

หลังจังหัน

(ลูกได้ฝึกปฏิบัติภาวนามาเรื่อยๆ เท่าที่เวลาและโอกาสจะอำนวย จิตของลูกบางช่วงแปลกมาก มันรู้อยู่ในตัวที่เป็นโครงร่างของกาย แต่รู้ในขณะนั้นมันไม่อยากออกมาเกี่ยวข้องกับภายนอก เป็นอยู่นานมากในอาการลักษณะเช่นนี้ ลูกต้องปฏิบัติต่อไปยังไงและต้องแก้ไขอะไรบ้าง ขอหลวงตาเมตตาชี้แนะลูกด้วย ลูกพยายามจะค้นคว้าคำตอบในเว็บไซค์หลวงตาดอทคอม แต่ไม่มีใครที่ถามเหมือนลูก จึงทำให้ต้องเขียนจดหมายมากราบรบกวนหลวงตา)

มันไม่ได้ออกก็เป็นเวลาเหมาะแล้วจิต คือจิตอิ่มอารมณ์จะไม่ออกดีดนั้นดีดนี้ คว้าโน้นคว้านี้ ที่จิตหิวอารมณ์เหมือนจิตของคนทั่วไปมันอยากคิดอยากปรุง อยากรู้อยากเห็น อยากตลอด นี่เรียกว่าจิตหิวอารมณ์ ทีนี้จิตไม่อยากออก จิตอิ่มอารมณ์ ได้ธรรมเข้าไปเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ จิตสงบไม่อยากออก นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ ทีนี้ควรแล้วแก่วิปัสสนาทางด้านปัญญา พิจารณา ไม่ออกไปไหนก็ไม่ออก เอาให้ออกอยู่ตามร่างกาย พระพุทธเจ้าสอนเน้นลงตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อยู่ในกายของเรานี้หมด ให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ทั่วสรรพางค์ร่างกายโดยทางปัญญา ตามกาลอันควร

คือเรื่องปัญญาเวลามันออก มันออกเตลิดเปิดเปิงนะ ถ้าไม่มีผู้เตือนแล้วมันเตลิดเปิดเปิงก็ผิดไปได้ ถึงเวลาพิจารณา เอ้า แยกธาตุแยกขันธ์ แยกเขาแยกเรา แยกสัตว์แยกบุคคล ออกให้เป็นธรรมชาติธาตุเดิมของเขาคือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตจะถอยตัวเข้ามา อารมณ์อันนี้ออกทางปัญญา พอออกไปแล้วถอยตัวเข้ามาปล่อยวางเป็นลำดับลำดาไป เพียงเท่านั้นไม่เอามาก แล้วออกพิจารณาทางด้านปัญญา เวลานี้จิตอิ่มอารมณ์ไม่อยากออก ทีนี้ให้พาออกทางด้านปัญญา เท่านั้นแหละ

เป็น ที่พูดเหล่านี้จะเป็นใคร มีแต่พ่อแม่ครูจารย์แหละลากลง เราจึงได้เทิดสุดหัวใจ เทิดทูนท่านสุดหัวใจ จ่อลงจุดไหนนั่นละไฟอยู่ภายใน มันจมอยู่ใน..เหมือนไฟไหม้กองแกลบกิเลส ปัญญาตีเข้าไปนั้นแตกกระจายเลย ที่ว่าสมาธินี่มันอิ่มอารมณ์ ไม่อยากออกอยากคิดอยากยุ่งกับอะไร สบาย อยู่ทั้งวันก็สบาย ขั้นสบายของนักภาวนานี้คือจิตเป็นสมาธิ เริ่มสงบเข้าไปก็เพื่อจะเป็นสมาธิความแน่นหนามั่นคงแห่งความสงบเย็นใจ แล้วไม่อยากออกไปไหน อยู่ไหนอยู่ได้ทั้งวัน ไปนั่งที่ไหนก็เหมือนหัวตอ อยู่ที่ไหนเหมือนกัน นี่จิตอิ่มอารมณ์ เมื่อไม่มีผู้สอนก็เพลินในอารมณ์นี้ ที่เรียกว่าจิตติดสมาธิ นั่นละที่ว่าเป็นสมุทัย อย่างที่พ่อแม่ครูจารย์ว่าให้เรา ท่านรู้ไหมว่าสมาธิทั้งแท่งเป็นสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหม เอากันตรงนี้

ทางนี้ก็ยกก้ามขึ้นละซีปู เมื่อสมาธิเป็นสมุทัยทั้งแท่งแล้ว สัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน ท่านก็ใส่เปรี้ยงเข้าอีก สมาธิของพระพุทธเจ้ากับสมาธิก้ามปูมันต่างกัน นั่นละลง คือลงตรงไหน ยอมรับแล้วเอานะเอาจริง ถ้าไม่ลงมันคาราคาซังมันไม่แน่ เพราะฉะนั้นการโต้การตอบไอ้เรื่องที่จะเอาแพ้ชนะไม่มีละ ไม่มีเลย ขัดตรงไหนซัดอยู่งั้นเพื่อเอาความจริงจากสิ่งนั้น เมื่อลงแล้วหมอบเลย ทีนี้เอาละฟัดกันเลย ลงใจแล้ว นี่ก็ออกทางด้านปัญญา

อยู่ในสมาธิมันไม่ได้สนใจกับอะไร จิตติดได้คือติดสมาธิ เมื่อติดสมาธิแล้วก็เป็นสมุทัย ท่านว่าสมาธิทั้งแท่งเป็นสมุทัยทั้งแท่งท่านรู้ไหม ท่านยกสมาธิของเราปาเข้าป่าหมด ให้หาใหม่ นั่น มันออกทางด้านปัญญาถึงได้รู้ว่าสมาธิเป็นหมูขึ้นเขียง เป็นอย่างนั้นละ เวลาออกทางด้านปัญญาก็เอาอีกแหละ เตลิดเปิดเปิงไม่ได้หลับได้นอน เพราะจิตมันพร้อมแล้ว มันอิ่มอารมณ์เต็มที่ พาก้าวทางด้านวิปัสสนาด้านปัญญามันพุ่งเลยเชียว เพราะมันอิ่มอารมณ์ไม่ต้องยุ่ง แฉลบไปทางโน้น แฉลบไปอารมณ์นี้ อย่างนั้นไม่มี มันอิ่มอารมณ์ ให้ทำงานอะไรก็ทำ

ทำงานทางด้านวิปัสสนา ท่านสอน เกสา โลมา นี้เป็นได้ทั้งอารมณ์สมถะ ทั้งอารมณ์วิปัสสนา ผู้ที่เริ่มบำเพ็ญเบื้องต้นจะเอาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ บทใดก็ตามเป็นเครื่องกล่อมใจให้จิตใจสงบลงจุดนี้ เวลาออกทางด้านปัญญาก็เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้แหละเป็นหินลับปัญญา เอาอันนี้เดินทางด้านปัญญา นี่ละเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

ทีนี้เวลามันออกทางด้านปัญญา ทางด้านปัญญามันแก้กิเลสนี่ รู้ไปตรงไหนแก้ไปถอนไปๆ ทีนี้ก็ย้อนมายกโทษให้สมาธิ สมาธิมันนอนตายเฉยๆ ไม่เห็นละกิเลสได้สักตัวเดียว ปัญญาต่างหากละ ละด้วยปัญญา ทีนี้มันก็จะเอาปัญญามาเป็นสมุทัยมัดคอตัวเองโดยไม่รู้สึกตัวอีกแหละ ท่านจึงได้รั้งเอาไว้อย่าให้เลยเถิด ถึงเวลารั้งรั้งเข้าสู่สมาธินั้นไม่รั้งไปไหน ให้อยู่นั้น พักงาน เหมือนเรารับประทานอาหารพักผ่อนนอนหลับ จะเสียเวลาไปบ้างก็ช่าง แต่กำลังของการพักผ่อนมี ทีนี้ออกประกอบหน้าที่การงานก็พุ่งๆ เลย นั่น

สมาธิเวลาพักก็พัก ออกจากสมาธิแล้วมีกำลัง พิจารณาทางด้านปัญญา เหมือนมีดที่ได้ลับหินเรียบร้อยแล้ว เจ้าของก็ได้พักผ่อนนอนหลับแล้วมีกำลัง ฟันอะไรๆ ขาดสะบั้นไปเลย ปัญญาเป็นอย่างนั้น เวลามันได้ออกไม่ได้นอนนะ ออกทางด้านปัญญาแล้วออกจนไม่ได้หลับได้นอน ไม่ยอมนอนเลย นอนร่างกายทิ้งอยู่เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน แต่สติปัญญามันหมุนของมันอยู่ อันนี้ไม่หยุดแล้วมันจะหลับได้ยังไง ลุกขึ้นมานั่งก็นั่งฟัด นอนก็นอนฟัดอยู่นั้น สุดท้ายก็แจ้ง อ้าว วันนี้แจ้งแล้ว อ่อนเพลียอ่อนในหัวอกนี่นะ คือสติปัญญาทำงานที่หัวอก ไม่ได้ขึ้นสมองนะ

สมองเป็นภาคความจำ เราเรียนต้องใช้สมองมากจนสมองทื่อไม่ยอมจำเลย ก็เห็นได้ชัดเวลาเรียนหนังสือ สมองทื่อหมด เวลาออกทางด้านสมาธิภาวนานี้ไม่ขึ้นสมอง อยู่ภายใน จะสงบก็สงบภายใน สว่างไสวภายในหัวอกๆ นี้เลยไม่ว่าขั้นใดของธรรม จ้าอยู่ตรงกลางนี้ มันไม่นอนมันเพลินฆ่ากิเลส เวลามันเพลินพอๆ แล้วมันเลยกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติไป ทำงานไม่หยุด ต้องได้พักทางสมาธิหรือพักให้นอนหลับ แม้แต่จะนอนหลับนี้ก็ต้องเอาคำบริกรรมมาจับ เช่น พุทโธ จะเข้าสมาธินี้มันไม่ยอมเข้า คืออำนาจของปัญญามันรุนแรงมากทีเดียว มันปึ๊บออกเลย ต้องรั้งสมาธินั้นด้วยคำบริกรรม เช่นพุทโธเป็นต้น ให้อยู่กับพุทโธ ถ้าปล่อยนี้ปั๊บมันพุ่งเลยนะออกทางด้านปัญญา ให้อยู่กับพุทโธอารมณ์เดียว พุทโธๆๆ เดี๋ยวก็ลง สงบแน่ว

เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ นี่ละมาพักผ่อนจึงได้เห็นโทษของงานที่ชุลมุนวุ่นวาย ถ้าไม่งั้นไม่เห็น เวลามาพักผ่อนมันมีกำลังวังชา เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามกระปรี้กระเปร่าภายในใจ นี่พักเวลานั้น ทีนี้พอเรารามือ คำว่าเผลอไม่อยากพูดนะก็มันไม่เผลอ เพียงว่าอ่อนทางหนึ่งมันหนักทางหนึ่งเท่านั้นเอง พอถอยจากสมาธินี้ก็พุ่งๆ เลย นี่คือความจริงแท้ที่มาเล่าให้ฟัง ไม่ได้พูดแบบลูบๆ คลำๆ นะ เอาความจริงมาจากเวทีออกมาจากเวที คือสนามฟัดกันกับกิเลสด้วยจิตตภาวนาไม่มีวันมีคืน

ถึงกาลเวลาธรรมฆ่ากิเลสเป็นอย่างนั้น ฆ่าไม่มีวันมีคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เหมือนกิเลสทำลายหัวใจสัตว์โลก มันก็เป็นอัตโนมัติของมันทุกหัวใจ เอะอะคิดเป็นกิเลสทั้งหมดๆ ไปตลอดตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ มีแต่เรื่องกิเลสทำงานด้วยความคิดความปรุง ทีนี้พอพักก็ได้อาศัยเวลาหลับนั่นละพักเครื่องของคนทั่วๆ ไป พักเครื่องด้วยการนอนหลับ แต่นักภาวนาพักเครื่องด้วยจิตเข้าสู่ความสงบหนึ่ง และด้วยการนอนหลับหนึ่ง เท่านั้น เอาจริงเอาจังมากเวลามันออกทำงานแล้ว

แต่ก่อนเราก็ไม่เคยคิดว่า กิเลสทำงานบนหัวใจสัตว์เป็นอัตโนมัติของมันทุกหัวใจ เราไม่เคยคิด แต่เวลาปัญญาออกฆ่ากิเลสมันออกตลอดเวลา ไม่มีเวลาหลับ หลับมันก็จะไม่ยอมหลับ หมุนติ้วๆ มันก็ย้อนไปคิด อ๋อ นี่เวลาทางธรรมะมีกำลังแล้วฆ่ากิเลสก็เป็นอัตโนมัติเหมือนกัน รู้แล้วที่นี่ เอาจนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นไปเสียโดยสิ้นเชิงถึงจะยุติได้ ไม่เช่นนั้นไม่มี จากสติปัญญาอัตโนมัติแล้วก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญานี้ซึมไปเลยเทียว นี่ละกิเลสอวิชชาละเอียดขนาดนั้น มหาสติมหาปัญญาจะเอากันได้ ลงกันได้ตรงนั้นละ

พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้ว สติปัญญาที่เป็นธรรมจักรหมุนติ้วๆ นี้เหมือนกับเราทำงานเสร็จแล้วปล่อยเครื่องมือทันที ไม่ต้องบอกปล่อยเอง มีมีดมีขวานมีสิ่วมีอะไรก็ตาม พอเสร็จแล้วปล่อยๆ ปล่อยเป็นระยะๆ เสร็จแล้วงานนี้ไปงานนั้น ปล่อยไปเรื่อยจนกระทั่งเสร็จโดยสิ้นเชิงปล่อยหมดเลย จิตมีกิเลสเท่านั้นละเป็นตัวสร้างงานวัฏจักรบนหัวใจสัตว์โลก พอตัวนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้วไม่มีอะไรสร้าง หมด หมดโดยสิ้นเชิง พระอรหันต์ท่านจึงไม่มีคำว่าแก้กิเลสอีก

ท่านว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ พรหมจรรย์คือการประพฤติถอดถอนกิเลส ที่เรียกว่าความเพียรอันหนักที่สุดในโลกนี้ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว กตํ กรณียํ กิจที่ควรทำก็คือการฆ่ากิเลสนี้เอง เป็นกิจที่ควรอย่างยิ่งได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นจะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ หมดตรงนั้น พอกิเลสขาดลงไปจากใจ เรียกว่าสมมุติทั้งมวลก็คือกิเลสเป็นยอดสมมุติ พอกิเลสขาดสะบั้นไปหมดแล้วจิตเป็นจิตตวิมุตติขึ้นมา ตั้งแต่นั้นมาไม่มีอะไรกวน ตั้งแต่วันบรรลุธรรมถึงวันนิพพานท่านไม่มีอะไรกวนใจ มีกิเลสเท่านั้น นั่น หมุนเข้ามาหากิเลส พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วไม่มีอะไรกวน

มีแต่ธาตุแต่ขันธ์ก็อยู่ธรรมดาเหมือนโลกทั่วๆ ไป พักผ่อนนอนหลับกินอยู่ปูวายเคลื่อนไหวไปมาเพื่อบรรเทาธาตุขันธ์นี้ไปเท่านั้นเอง ที่จะให้ไปแก้กิเลสท่านไม่มี หมดโดยสิ้นเชิง นั่นละท่านว่าสิ้นกิเลสสิ้นอย่างนั้น กิเลสตัวใดมาแทรกไม่มี เช่นอย่างการเทศนาว่าการดุด่าว่ากล่าวหนักเบามากน้อยเพียงไร มีแต่พลังของธรรมออก กิเลสไม่มี พุ่งๆ ขนาดไหนก็พลังของธรรมทั้งนั้นออก กิเลสจะมาแทรกเป็นความโมโหโทโสตามกิริยานั้นไม่มี หมด นั่นท่านจึงเรียกว่ากิเลสหมด จะไปหาที่ไหนก็มันหมด ถ้ามันยังมีอยู่จะเรียกว่าหมดได้ยังไง นั่น

นี่ละแดนแห่งความพ้นทุกข์อยู่ที่ใจ แดนแห่งความกังวลวุ่นวายฟืนไฟเผาหัวอกก็อยู่ที่ใจ อันนี้มีแต่ไฟเผาหัวอกเวลานี้สัตว์โลกดิ้นดีดตลอดเวลา น้ำดับไฟคือการระงับจิตใจของตนให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี มีความสงบร่มเย็นบ้างเป็นบางครั้งบางคราวด้วยการอบรมจิตนี้ไม่มี เราอยากจะพูดว่าไม่มี ถ้าว่าแทบก็รู้สึกว่ามันอะไรไป คือมันมีน้อยขนาดนั้นละ แทบไม่มี มันมีแต่การส่งเสริมฟืนส่งเสริมไฟด้วยการไสเชื้อเข้าไป วิ่งตามความคิดความปรุงความหวังต่างๆ นี้มีแต่ความยุ่งทั้งนั้น ทีนี้พอจิตสงบเข้ามาแล้วสิ่งเหล่านั้นมันก็ปล่อยตัว ทุกข์ก็ไม่มีเป็นระยะๆ ไป จนกระทั่งทุกข์หมดโดยสิ้นเชิงภายในใจแล้วทุกข์ในใจไม่มี พระพุทธเจ้าก็ดีพระอรหันต์ก็ดี ตั้งแต่วันบรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมานั้นเรื่องทุกข์ไม่มีเลย หมดโดยสิ้นเชิง ก็ยังเหลืออยู่แต่ธาตุแต่ขันธ์ความเป็นอยู่ปูวาย การขับการถ่ายเปลี่ยนไปตามโลกเขาที่มีสมมุติเหมือนกันนั้นแหละไม่ได้ผิดแปลกต่างกัน เป็นแต่เพียงว่าจิตไม่มายึด ให้อันนี้ทำงานไปตามเรื่องธาตุเรื่องขันธ์เรื่องสมมุตินิยมไปอย่างนั้น

เขาว่าอะไรว่าดีก็ดี แต่ดีอยู่ในวงขันธ์ ไม่ได้ดีเข้าไปหาใจไม่ได้ชั่วเข้าไปหาใจ ว่าอันนี้ดีนะอันนี้ชอบอันนี้ไม่ชอบ มันอยู่ในวงขันธ์นี้เท่านั้นไม่ได้เข้าถึงใจ นี่ละเรื่องสมมุติมีอยู่ในขันธ์ กิริยาต่างๆ ก็ออกในขันธ์ อย่างว่ารักว่าชอบว่าเกลียดว่าชังหรืออะไรตามโลกสมมุติเขา มันก็เป็นอยู่ในขันธ์แย็บๆ เท่านั้นเอง นี่จึงเรียกว่าหมด หมดทุกข์ละ ยังเหลือแต่ความรับผิดชอบในธาตุในขันธ์ พออันนี้มันไม่ไหวแล้ว เยียวยารักษาอะไรไม่ไหวทิ้งปั๊วะเดียวหายเงียบเลย นั่นละท่านว่าอนุปาทิเสสนิพพาน หมดสมมุติโดยประการทั้งปวง ในขันธ์นี้ก็เป็นสมมุติสุดท้าย พอปล่อยนี้แล้วก็หมดโดยสิ้นเชิง

นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นตลาดแห่งมรรคผลนิพพานสดๆ ร้อนๆ อยู่ในหัวใจทุกคน ให้นำมาปฏิบัติ อย่าปล่อยให้แต่กิเลสมันขยำย่ำยี หัวใจใดก็เหมือนกันหมด แหม ชอกช้ำเอามากหัวใจที่กิเลสเหยียบย่ำทำลาย ไม่มีใครดูไม่มีใครรู้ มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวดูได้รู้ได้เห็นได้ จากนั้นรองลงมาก็เป็นพระสาวก นอกนั้นไม่มี มีแต่แบบหูหนวกตาบอดชนดะไปเลย เป็นก็เป็นตายก็ตายมันไม่มีฝั่งมีฝา ไม่มีหลักมีเกณฑ์คือหัวใจของสัตว์โลก ไม่มีหลักมีเกณฑ์ดีดดิ้นไป ตามีมันก็ไม่ดูเอาหัวชนเข้าไปเลย สติปัญญาก็มีแต่เอาไปใช้ทางกิเลสเสียหมด ไม่ได้ใช้ทางด้านธรรมะก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ตามีมันก็ดูไปเพื่อกิเลส ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อกิเลสเสียทั้งหมด มันไม่ได้เพื่ออรรถเพื่อธรรมพอที่จะนำความสุขมาให้ตนเอง ต่างกันอย่างนี้ละ

บทเวลาธรรมมีกำลัง ทีแรกก็ล้มลุกคลุกคลานไปเป็นธรรมดา แต่ความมุ่งมั่นสำคัญนะ ผู้ที่ต้องการความพ้นทุกข์นี้ ความมุ่งมั่นในแดนพ้นทุกข์นี้หนาแน่นมาก ไม่มีอะไรทำลายได้เลย ถึงจะทุกข์ยากลำบากยอมรับว่าทุกข์ แต่หัวใจที่พุ่งๆ ต่อแดนมรรคผลนิพพานไม่มีอ่อน อันนี้ละพาดึงไปๆ พอพูดอย่างนี้แล้วก็ระลึกได้เวลาเราลงจากภูเขาไปบิณฑบาตในหมู่บ้านเขา ก่อนที่จะลงไปคือไม่ฉันนี่ ก่อนที่จะลงไปต้องคำนวณเสียก่อน ถ้าวันนั้นไปไปไม่ได้ไปไม่ถึง กำหนดดูเอากะเอา ถ้างั้นเอาไปวันพรุ่งนี้แหละ ถ้าวันอื่นจะไปไม่ได้แล้ว

วันพรุ่งนี้ไป แทนที่จะถึงหมู่บ้านเขาไม่ถึงนะ มันหมดกำลัง เมื่อหมดกำลังก้าวไม่ออก นั่นเรียกว่าหมดกำลัง คือข้าวไม่ได้กินกำลังวังชาอ่อนเปียกตลอด แต่จิตใจสง่างามเหมือนจะเหาะเหินเดินฟ้า มันต่างกันอย่างนี้นะ ทีนี้เราก็ต้องมุ่งทางใจซิ ถึงจะทุกข์ลำบากเรื่องการอดอาหารเป็นความทุกข์ความทรมาน อันนี้หาได้ง่าย พอไปกินข้าวปั๊บเท่านี้กลับมานี้ม้าแข่งสู้ไม่ได้นะ ทั้งๆ ที่เวลาเราไปนี้อ่อนเปียกจนไปพักกลางทางเอา พอไปถึงหมู่บ้านออกบิณฑบาต บิณฑบาตออกมาแล้วที่ไหนก็ฉันแหละ มีน้ำมีท่าอยู่ที่ไหนก็ฉัน ฉันแล้วก็ล้างบาตรเสร็จเรียบร้อยสะพายบาตรขึ้นเขา ทีนี้เหมือนม้าแข่งนะ ดีดผึงเลย นั่น เวลานั้นวัยประมาณสามสิบ กำลังวังชามันดี

บรรเทาทุกข์นี่สมมุติว่าหิวอาหาร ไปฉันอาหารแล้วมันบรรเทาได้รวดเร็ว ฉันแล้วมีกำลังวังชามาเดี๋ยวนั้น ก้าวขึ้นสู่ภูเขานี้เหมือนม้าแข่ง แต่จิตมันขึ้นยากนะ เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาทางจิตให้หนัก เอ้า มันทุกข์ยากลำบากก็ทุกข์ไปเถอะ กินแล้วมันก็หายทุกข์ด้วยความหิวโหยกำลังวังชามันหาย แต่จิตใจนี้หายยากนะ ต้องพยายามเอาทางนี้ จิตใจก็ดีขึ้นๆ ใครจะอยากอด ก็มันเป็นทุกข์ขนาดไหน นี้ก็ต้องได้อดได้ทนเพราะมุ่งต่อธรรมเป็นสำคัญ ทำไปบืนไปอย่างนั้น ครั้นต่อมานี้กำลังวังชาทางจิตใจในด้านธรรมะมีมากขึ้นๆ ทีนี้กำลังทางใจยิ่งแข็งละที่นี่ แข็งมากขึ้น มีแต่ความหวังก็แข็ง แต่ว่ามีทุนมีรอนอยู่ภายในใจแล้วมันยิ่งพุ่งนะ พุ่งๆๆ เลย

อยู่ที่ไหนโลกเหมือนไม่มี มีแต่จิตกับอารมณ์ มีจิตกับอารมณ์ มันคิดปรุงเรื่องใดๆ เกิดแล้วดับๆ สติตามติดตามต้อนกันอยู่ตลอดเวลา ปัญญาครอบตลอด นั่น เวลามันจะฆ่ากิเลสมีแต่จะฆ่าท่าเดียวนะ เว้นแต่หลับ ตื่นขึ้นมานี้หมุนกันแล้วๆ เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ฆ่ากิเลสโดยอัตโนมัติเป็นอย่างนี้เองรู้กันแล้ว กิเลสทำลายหัวใจสัตว์โลกเป็นอัตโนมัติก็เป็นอย่างนี้ มันย้อนไปหาเรื่องกิเลสทำลายสัตว์โลกเป็นอัตโนมัติของมันได้เป็นอย่างดี ก็เพราะจากจิตเรานี้ทำลายกิเลสโดยอัตโนมัติ

เวลาธรรมะมีกำลังแล้วมันเป็นอัตโนมัติของมัน อยู่ที่ไหนก็ตามที่จะให้เพียรอย่างนี้ไม่มี นอกจากเพียรเพื่อความพ้นทุกข์เท่านั้น ที่จะเพียรในประโยคพยายามไม่มี ได้รั้งเอาไว้ๆ มันหมุนของมันตลอดเวลา จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงไปหมดแล้ว ความเพียรที่หมุนตัวเป็นเกลียวนั้นมันยุติทันทีไม่ต้องบอกนะ ขาดไปตามๆ กันเลยโดยอัตโนมัติเหมือนกัน จากนั้นก็มีแต่ความสง่าจ้า พอ คำว่าพอนี้ก็พอขั้นเลิศเลอเสียด้วยไม่ใช่พอธรรมดา เหมือนอิ่มข้าวอิ่มน้ำอิ่มหลับอิ่มนอน พอเวลานี้หิวเวลานั้น แต่พอในใจที่กิเลสตัวหิวโหยขาดสะบั้นไปจากใจนี้แล้วพอตลอดไปเลย นั่น ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ

สติเป็นสำคัญ การประกอบความเพียรสติเป็นสำคัญมาก ท่านจึงแสดงไว้ว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง คือไม่มีอิริยาบถในที่ทั้งปวง ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอน ไอ้หลับไม่ต้องเว้นมันก็หลับของมันเองตอนนั้น พอตื่นขึ้นมาปั๊บเป็นแล้ว ฆ่าแล้วฆ่ากิเลส ธรรมะพระพุทธเจ้าสดๆ ร้อนๆ ขอให้นำมาปฏิบัติเถอะ ถ้าไม่นำมาปฏิบัติแบกคัมภีร์ไปก็หลังหักเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ ถ้านำมาปฏิบัตินี้ ผลเกิดขึ้นจากการปฏิบัติเป็นสมบัติของเราๆ เรื่อย แล้วแน่ใจไปเรื่อย ความรู้ที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติเป็นความรู้ที่แน่ใจไปเรื่อยๆ ถึงผิดถึงพลาดก็มีแต่น้อย มันรู้รอบกันทันกันมันทันกันได้เหมือนกัน แล้วไปด้วยความราบรื่น พากันจำเอานะ เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านั้น

(กราบเรียนถามปัญหาหนึ่งข้อดังนี้ อุบาสิกาผู้ปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิตใจด้วยทาน ศีล ภาวนา ตามคำสั่งสอนขององค์พระพุทธเจ้าทุกประการโดยไม่ย่อท้อ เมื่อได้เสร็จกิจโดยสิ้นเชิงแล้วนั้น เขาควรจะถือศีลกี่ข้อถึงจะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ตามสภาวะนั้น) คนนี้คือคนบ้าคนหนึ่งนั่นแหละ ลงได้รู้แล้วทำไมจะไม่รู้การปฏิบัติต่อธาตุต่อขันธ์ต่อจิตใจของตัวเอง ใครจะไปรอบคอบยิ่งกว่าพระอรหันต์วะ เข้าใจไหม มาถามนี้ก็มาขายโง่นั่นแหละ นี่แล้วตัวโง่ จี้เอาเลย เข้าใจหรือเปล่า มันรู้มันเสร็จของมันมันก็รู้ตัวของมันเอง เข้าใจไหม ควรปฏิบัติอะไรไม่ควรปฏิบัติอะไรมันก็รู้เอง จะไปถามอย่างนั้นแสดงว่าไม่รู้ นั่น หรือว่าไง ไปปฏิบัติใหม่เอาอีก ให้มันหายสงสัยข้อนี้

พระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้ไปทูลถามพระพุทธเจ้านี่ เรามันเป็นบ้าหรือถึงมาถามอย่างนี้ หรือจะให้หลวงตาบัวเป็นบ้าด้วยหรือ ไม่เป็น เอาละจะให้พร... เวลามันรู้เจ้าของไม่มีใครจะรอบยิ่งกว่าพระอรหันต์ เรื่องกิจนอกการในรู้รอบหมดเลย จะไปทำอะไรๆ ให้ไปถามคนอื่น ไม่ใช่อรหันต์ นอกจากมันหันบ้านู่นเข้าใจไหม อรหันต์มีหลายหัน หันบ้าก็มี หันทางนู้นแล้วหันมาทางนี้ นั่นเขาเรียกหันบ้า เข้าใจ นี่หันบ้า เอาละพอ

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก