ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
วันที่ 18 มกราคม 2519 ความยาว 32.19 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

 

        จิต เป็นตัวทรง ในความเป็นอยู่ ตลอดถึงความสุข ความทุกข์ จิตเป็นผู้ทรง เป็นผู้รับผิดชอบทั้งปัจจุบันทุกขณะไป แม้อนาคต ก็ต้องเป็นไปจากจิตที่เป็นปัจจุบันอยู่เวลานี้จิตต้องรับผิดชอบตัวเอง ความเป็นอยู่ ความมี ความจน ความสุข ความทุกข์ส่อแสดงอยู่ที่จิต ความเป็นไปข้างหน้า จะมีความสุขความเจริญ จึงเป็นไปจากจิต

         บุคคล และ สัตว์ ที่ได้รับความกระทบกระเทือน หรือความสัมผัสรับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากใจ ไม่มี! ใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ความรู้นี้ครอบโลกธาตุ อะไรจะมาสัมผัส จากใกล้ จากไกล ก็ต้องมาสัมผัสความรู้นี้ เพราะฉะนั้น ความรู้นี้จึงควรจะได้รับการอบรมให้รู้ และฉลาดเหมาะสมกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับตน เพื่อจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนบอบช้ำ อย่างน้อยที่สุด ก็พอมีทางหลบหลีกปลีกตัวได้จากอารมณ์ต่างๆ ไม่เช่นนั้น ก็รับเอา รับเอา และแย่ แย่ไม่มีวันฟื้นตัวได้เลย ทั้งนี้มีได้และเห็นได้ในที่ทั่วไป ไม่ได้หาดูกันยากเลย

         ความทุกข์เพราะความจนน่ะ จะมีน้อยกว่าความทุกข์เพราะอารมณ์มายุ่งกวน ทำลายใจ ความทุกข์ชนิดนี้ไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ฐานะสูง ต่ำ มีหรือจนอะไรเลย มนุษย์ทั่วโลกยอมรับกันอย่างปฏิเสธไม่ได้

         คำว่า “โลกเจริญๆ” จึงมักมีแต่คำเสกสรร โดยอาศัยวัตถุเป็นเครื่องบังหน้าว่า “โลกเจริญ” แต่ตัวโลก แก่น หรือรากฐานของโลก คือ ใจ หาความสุข ความเจริญ ได้ยากเต็มที แทบไม่มีคำว่า “สุข” อยู่ในดวงใจมนุษย์ เพราะไม่มีเครื่องก่อสร้าง และส่งเสริมให้หัวใจเจริญ นอกจากมีแต่เครื่องรบกวน ทำลาย ในอิริยาบถต่างๆ ตลอดกาลสถานที่เท่านั้น

         คำว่า “เครื่องก่อสร้าง และเครื่องส่งเสริมหัวใจให้เจริญ” คือธรรม ผู้มีธรรม ใจย่อมเจริญ ใจย่อมมีความสุขความสงบได้ ฉะนั้นการส่งเสริมจิตใจด้วยธรรม มี ทาน ศีล ภาวนา เมตตาพรหมวิหาร สงสารเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกัน ใจย่อมเจริญชุ่มเย็นเป็นสุข ถูกต้องกับจุดประสงค์ที่โลกต้องการความเจริญ ไม่สักแต่ชื่อ และคำเสกสรรว่า “โลกเจริญ” ทั้ง ๆ ที่มนุษย์ทั่วโลกเป็นทุกข์ แทบลูกตาจะกระเด็น ขั้วหัวใจจะหลุดหล่น เพราะใจพาให้ร่างกายเป็นกงจักร หมุนรอบตัวทั้งวันทั้งคืน ไม่มีเวลาหยุดยั้งผ่อนคลายบ้างเลย

         คำว่า “กระแสของโลกเชี่ยว” ก็คือ กระแสทางใจเชี่ยวด้วยอำนาจความโลภไม่มีเพียงพอ ความโกรธ ความเคียดแค้น ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมด้วยอำนาจแห่งความลุ่มหลงนั่นเอง ทั้งนี้เพราะจิตไร้สาระ ไม่มีคุณธรรมเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจ ใจจึงมีแต่ “ฟุบลง” ถ่ายเดียว ทั้งที่ว่า “โลกเจริญ” วัตถุต่างๆ ที่ว่าเป็นสมบัติเครื่องปลื้มใจมันทับถมมนุษย์ผู้ไม่รู้จักความพอดี ความโลภนั้นส่งเสริมทุกเวลา นับแต่ตื่นจากหลับ กระทั่งนอนหลับได้พักใจงีบหนึ่งในขณะหลับ แต่ไม่ใช่ขณะภาวนา ซึ่งเป็นการพักสำคัญเสียด้วย นอกนั้นเป็นเวลากิเลสราคะตัณหา เป็นต้น ย่ำยีมิได้ลดละปล่อยวางเลย แล้วใจจะหาความสงบสุขและความเจริญมาจากไหน?

        ถ้าโลกยังไม่ยอมเห็นความสำคัญของจิตใจ แต่เห็นสิ่งอื่นๆ เป็นของสำคัญกว่าจิตใจโลกจะหาความสงบสุขเจริญรุ่งเรืองไม่ได้เลย! แม้ศาสนธรรมมีอยู่ ก็ไม่มีความหมาย ถ้าโลกไม่สนใจเสียอย่างเดียว ธรรมมีคุณค่ากับโลกที่สนใจใฝ่ธรรม ปฏิบัติตามธรรม เช่นเดียวกับอาหารมีคุณค่า อำนวยความสุขให้แก่ผู้รับประทานฉะนั้น

         คนที่เกิดเป็นมนุษย์ในโลกเดียวกัน แต่บางพวกได้รับการอบรมจากศาสนธรรมด้วยดี ย่อมได้ดื่มรสแห่งความสงบสุขของธรรมทางใจ ที่ต่างจากรสความสุขของโลกล้วนๆ อยู่มาก

         ปราชญ์ผู้ฉลาดเหนือคน คือ พระพุทธเจ้า ท่านทรงลิ้มรสแห่งธรรมเต็มพระทัยแล้ว จึงทรงนำธรรมมาสอนโลก ให้ได้ปฏิบัติและดื่มรสตามท่าน ผู้ใดไม่สนใจธรรม ผู้นั้นพระพุทธเจ้าก็โปรดไม่ได้ การโปรดสัตว์โลกจะโปรดเฉพาะที่ควรโปรดได้ ไม่นอกเหนือธรรม ถ้าใครนอกเหนือธรรม ก็โปรดไม่ได้ ต้องยอมยกให้กิเลสต่างๆ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา โปรดเอาเป็นลูกบาปธรรมของมัน (“ไม่ใช่ลูกบุญธรรม”)

         พวกเราจะเป็นลูก “บุญธรรม” ของศาสนา หรือจะเป็นลูก “บาปธรรม” ของกิเลสล่ะ? รีบตัดสินใจเสียแต่บัดนี้ อย่ารอนาน เดี๋ยว “พี่บาปธรรม” จะมาเอาตัวไปเป็นน้อง “บาปธรรม” ของมัน “ลูกบุญธรรม” จะตกไป

         เฉพาะอย่างยิ่ง การนั่งสมาธิภาวนา ทำแรกๆ ก็จะรู้สึกว่า ฝืดเคือง ตะเกียกตะกายวุ่นวาย แทบเป็นแทบตาย เหมือนจะเอาเข้าตะแลงแกง ที่ถูกเขาเอาไปฆ่านั่นเอง เพราะผลบุญ คุณธรรม ยังไม่เคยปรากฏ หากเป็นความพอใจอยู่บ้าง ก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันไป ถ้าไม่พอใจ และไม่เห็นผลในการทำเลย ก็ลำบากมาก นั่งเพียง ๒๐, ๓๐ นาที โอ้โห เหมือนกับจะเป็นจะตาย จริงๆ

         จิตเมื่อได้รับการอบรมอยู่เรื่อยๆ จะมีขณะหนึ่งจนได้ที่จะเหมาะกับจังหวะอันดีงามที่จะก้าวเข้าสู่ความสงบ ให้เจ้าของได้ชมบุญวาสนาของตน และเกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสขึ้นมา ผลนั้นแหละเป็นเชื้อแห่งความเชื่อ ที่จะให้เกิดความอุตส่าห์พยายามขึ้นไปโดยลำดับ ดูเหมือนเคยเล่าให้ฟัง

         ในการฝึกหัดเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสอยากทำ เวลาถามหัวหน้าวัด ท่านก็ว่า “ให้ภาวนา พุทโธ” นั่นแหละ ผมก็ภาวนา พุทโธ ก็เอา “พุทโธ” มาภาวนา ภาวนาไม่ทราบว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ก็ทำไปแบบ “งูๆ ปลาๆ” อย่างนั้นเอง ด้วยความพอใจ อยากทำ

         แต่สำคัญที่ “คำว่าพุทโธ กับสติกลมกลืนกันดี ตอนภาวนานั้น” ท่านว่า “ไม่ให้ส่งจิตไปที่อื่น ให้มีความรู้อยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้น” เราก็จับตรงนั้น เพราะเราไม่มีความรู้กว้างขวางอะไรนี่ ก็ทำไปอย่างท่านว่านั่นเอง

         พอทำลงไป กำหนด “พุทโธๆ ๆ” ปรากฏว่า ความรู้สึกที่ซ่านอยู่ในที่ต่างๆ นั้น ค่อยๆ รวมตัวเข้ามา รวมตัวเข้ามา อาการของจิตที่แสดงอาการรวมตัวนั้นกลายเป็นจุดสนใจมากขึ้น ทำให้สติก็จดจ่อ ความตั้งใจก็เพิ่มขึ้น  จนปรากฏว่า จิตนี้สงบเงียบลงไปเลย

         ตอนนั้น จิตขาดจากอารมณ์ต่างๆ หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดความอัศจรรย์ขึ้นมาภายในใจ และเกิดความตื่นเต้นมาก ไม่นานจิตก็ถอนขึ้นมาเสีย เสียดายมาก “โอ้โห! เป็นอย่างนี้เอง!” นั่นแหละเป็นเชื้อสำคัญให้เกิดความอุตส่าห์พยายาม ไม่ว่าจะเรียนหนังสือมากน้อยเพียงใด ลำบากลำบนขนาดไหน การภาวนาไม่เคยลดละเลย ต้องปล่อยเวลาไว้ คือ สงวนเวลาไว้สำหรับทำภาวนา แต่ก็ไม่ค่อยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย นาน ๆ ตั้งแต่เรียนหนังสือมาจนกระทั่งได้ออกปฏิบัติ จิตสงบได้อย่างนั้นเพียงสามครั้งเท่านั้น

         เหตุที่สงบไม่ได้นั้น เมื่อมาพิจารณาย้อนหลังแล้วก็พอทราบได้ว่า เพราะความยึดมั่นถือมั่น ความคาดหมายในผลที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และผ่านไปแล้วนั้น มาเป็นอารมณ์ของใจ โดยไม่คำนึงถึงงานที่ทำในวงปัจจุบัน คือ “พุทโธ” ๆ ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้นมาอีก จิตมาปล่อยงานอันนี้เสีย มีแต่ความมุ่งหวังอยากให้เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น ผลจึงไม่เกิดอีกดังใจหมาย

         เมื่อพอจาง ๆ ไป จิตไม่ค่อยมั่นหมายกับความสงบที่เคยเป็น และผ่านไปแล้วนั้น มันถึงรวมลงได้อีก พอจิตปล่อยความกังวลกับสิ่งที่เคยผ่านมาแล้วเมื่อไร ก็ปรากฏผลขึ้นมา พอปรากฏผลขึ้นมาทีไร จิตก็เป็นอีกแล้ว อยากจะให้เป็นเหมือนอย่างวันนั้น วันนั้น พยายามเข้า จิตก็มีความรู้สึกอยู่กับผลที่เคยได้ เคยเป็นในอดีตนั้นเสีย ไม่เข้ามาอยู่ในวงปัจจุบันซึ่งจะยังผลให้เกิดขึ้น ผลก็ไม่เกิด ทำเมื่อไรก็เป็นอย่างนั้นอีก จนกระทั่งหมดหวัง ปล่อยวาง แล้วมาทำภาวนาตามธรรมดา ไม่คิดคาดหน้าคาดหลัง จิตก็เป็นอีก แน่ะ!

        มาทราบได้เมื่อภายหลัง จนกระทั่งได้ตั้งหน้าตั้งตาทำภาวนาจริงๆ ตอนหยุดการศึกษาเล่าเรียนแล้ว คราวนี้จะเอาจริงเอาจัง เป็นกับตายต้องให้รู้จิตดวงที่เคยเห็นเคยรู้แล้วนั้น จะหายไปที่ไหนได้ จะต้องพยายามเอาให้ได้ ทีนี้ทำไม่หยุด กลางวันก็ทำ กลางคืนก็ทำ ทุกอิริยาบถไม่ลดละ ก็ปรากฏขึ้นมา เป็นความสงบเช่นนั้น

         เมื่อปรากฏเป็นความสงบเช่นนั้นขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้สงบนานขึ้นโดยลำดับ สงบได้นานแล้ว ไม่ตื่นเต้นทีนี้ การตื่นเต้นนั้นเป็นเหตุกวนใจเหมือนกัน กวนความสงบนั้นให้ถอยตัวออกมาได้ ทีนี้เมื่อเวลาชินต่อความเป็นเช่นนั้นแล้วก็ไม่ตื่นเต้น มีแต่คอยกำหนด คอยดูจิตที่แสดงตัวเข้าไปสู่ความสงบจะแสดงอะไรออกมา ก็ให้รู้อยู่กับจุดแห่งความรู้ที่สงบตัวลงไปแล้วโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จิตก็สงบได้นานแนบแน่นขึ้นเป็นลำดับ ๆ

         ความสงบของจิตแต่ละครั้ง ละครั้งนั้น นอกจากจะเป็นความสุข ความสบายในขณะที่สงบแล้ว ยังเป็นการสร้างฐานแห่งความมั่นคงของจิตได้โดยลำดับอีกด้วย จนกระทั่งปรากฏเป็นความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในใจ ทั้งๆ ที่จิตไม่ได้รวมก็ตาม เมื่อกำหนดดูความรู้ของตนเมื่อใด ก็ทราบชัดว่าความรู้นั้นเด่น เป็นความสงบโดยลำพังตนเองอยู่โดยเฉพาะ แม้จะคิดเรื่องอื่นใดได้อยู่ แต่ฐานแห่งความสงบนั้นไม่เคยลดละความเป็นของตนเลย

         นี่เรียกว่า “จิตสร้างฐานเป็นความมั่นคงขึ้นภายในตัวเอง ท่านเรียกว่า “จิตเป็นสมาธิ” คือ เป็นความมั่นคงอยู่ในฐานของตน

         การภาวนาเพื่อความสงบนั้น เราทำไม่ลดละ ก็ยิ่งสงบขึ้นไปเรื่อยๆ กลางวันก็สงบ กลางคืนก็สงบ เพราะทำอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ก็ยิ่งเป็นการสร้างฐานนั้น ให้มีความแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้นโดยลำดับ กระทั่งอยู่ที่ไหน ก็มีความมั่นคงอยู่ภายในใจ นี่ท่านเรียกว่า “จิตเป็นสมาธิ” เป็นอย่างนี้

         ความสงบเป็นอย่างหนึ่ง จิตที่เป็นสมาธิอยู่ตามฐานของตนนั้น เป็นอีกอย่างหนึ่ง

         เวลาพิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อจิตมีความอิ่มตัวอยู่ด้วยความสงบ จิตย่อมไม่หิวโหย กระวนกระวาย กับอารมณ์ต่างๆ ตามธรรมดาของจิตที่ไม่มีความสงบนั้น มีแต่ความหิวโหย คิดนั่นปรุงนี้ อยู่เรื่อยๆ พิจารณาอะไรก็ไม่ได้เหตุได้ผล ไม่ได้หลักได้เกณฑ์ เพราะหยิบนั้นวางนี้ ปล่อยนั้นจับนี้ ไปหมด

         ท่านจึงสอนให้จิตมีความสงบ ส่วนเวลาสงบมันก็สงบจนเกินไป สงบเสียจนเราจะให้สงบสักกี่ชั่วโมงก็อยู่อย่างนั้น เพราะเป็นความสบาย เลยกลายเป็น “สมาธิขี้เกียจ” จนกระทั่งได้ถูกครูบาอาจารย์ท่านดุด่าว่ากล่าว ฉุดลากออกมาจากสมาธิ ให้ค้นทางด้านปัญญา จึงได้ใช้ปัญญา

         พอเริ่มใช้ปัญญา ก็เพราะว่าจิตนี้มีความสงบตัวอยู่แล้ว มันก็ง่าย พอกำหนดออกไปในแง่ใด มันเข้าใจเป็นลำดับๆ การเข้าใจทางด้านปัญญานี้ ผิดกับสมาธิอยู่มาก

         เข้าใจในอารมณ์ใด เข้าใจในเรื่องใด มันถอดมันถอนไปพร้อมๆ กัน ปล่อยวางไปเรื่อยๆ ก็ทราบว่า “อ้อ! การปลดเปลื้องกิเลส ต้องปลดเปลื้องด้วยปัญญาเท่านั้น” แน่ะ! นี่ก็เป็นความเห็นแง่เดียวอีก ไม่รอบตัว ไม่พอดี จึงทำให้เกิดความเพลิดเพลินในการพิจารณาทางปัญญาโดยลำดับ

         การพิจารณาไม่ลดละ พิจารณาอะไรที่ว่าไม่ลดละ ก็พิจารณาเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ โดยเป็นสัจธรรมอันเดียวกันนั่นเอง ทั้ง ๔ อย่างนี้อยู่ด้วยกัน คือ ทุกข์ ก็แสดงอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนอยู่ในร่างกายและจิตใจ สมุทัย ก็แสดงขึ้นมาโดยลำดับ ถ้าเราเผลอเมื่อใด สมุทัย คือความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปในแง่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสั่งสมกิเลส ก็แสดงตัวออกมาจากจิตดวงเดียวนี้ มรรคได้แก่ สมาธิ ปัญญา ก็ดำเนินงานไปเรื่อยๆ ทำให้จิตสงบลงไปเรื่อยๆ แล้วปัญญาก็สอดส่องดูธาตุ ดูขันธ์ ดูเรื่องของทุกข์เรื่องของสมุทัย หรือ เรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งมีอยู่รอบตัว พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าจนมีความชำนิชำนาญ

         ความชำนาญภายในจิตนี้ เมื่อเป็นความจริงแล้ว ไม่ได้เหมือนความจำ ทีแรกก็พิจารณายากลำบาก จะคลี่คลายอะไร อวัยวะแต่ละส่วน ละส่วน ออกไป ให้กระจายตัวออกไปนี้ก็รู้สึกเชื่องช้า แต่พอสติปัญญามีความสามารถแล้ว ก็พิจารณาได้อย่างรวดเร็ว กำหนดอวัยวะส่วนใดมันกระจายออกไปหมดทั่วร่างกาย ซ่านไปหมดเหมือนกับกระดาษซึม

         จิต ก็ถืออันนี้เป็นอารมณ์แห่งการพิจารณา จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ถืออารมณ์แห่ง “วิปัสสนา” พิจารณาอยู่นี้เป็นลำดับๆ จนมีความสามารถเต็มที่แล้ว ก็ปล่อยวาง เป็นขั้นๆ ไป ท่านเรียกว่า “ปัญญามีความแหลมคมกว่าสมาธิ” สมาธิเป็นเพียงความสงบ ปัญญาเป็นความคล่องแคล่ว เป็นความสอดส่องมองทะลุเหตุผลต่างๆ เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ที่เราเคยจำว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้เป็นอย่างหนึ่ง

         พอ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ซึ่งเป็นความจริง ซาบซึ้งถึงใจแล้ว มันซึ้งมากดื่มด่ำ ทำให้เพลิดเพลินต่อการพิจารณา ลืมวัน ลืมปี ลืมเดือน สถานที่ กาล เวลา ไม่ไปสนใจ นอกจากจะสนใจกับ “ความรู้” “ความเห็น” ที่ตนมุ่งหวัง อยากจะเข้าใจนั้น ก็เข้าใจไปโดยลำดับๆ เรื่องมีเท่านั้น เพราะฉะนั้นอยู่ที่ไหนจึงมีความพากเพียรตลอดเวลา นอกจากหลับเสียเท่านั้น พอตื่นขึ้นมาก็ประกอบความพากเพียรโดยทางสติปัญญา จับอารมณ์แห่งวิปัสสนาที่พิจารณายังไม่จบสิ้น ปล่อยวางด้วยความเข้าใจ

         เรื่องธาตุ ขันธ์ นี่สำคัญมาก ทีแรกก็พิจารณากระจายไปทั่วโลกธาตุนั่นแหละ เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาไปหมด ไม่ว่ารูปสัตว์ไม่ว่าต้นไม้ ภูเขา เป็นสิ่งที่แปรสภาพเหมือนกันหมด จะยึดอะไรเป็นเรา เป็นของเรา มันยึดไม่ได้ มันไม่เป็นที่ไว้ใจทั้งนั้น เพราะกองแห่งไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่เป็นตัวของเราอยู่แล้ว เมื่อทราบชัด จิตก็ไม่กังวล เพราะมีความเห็นชัดในสิ่งนั้นแล้วด้วยปัญญา

         ประการแรกก็คือ จิตอิ่มตัวด้วยสมาธิ ไม่ค่อยไปกังวล

         ประการที่สอง จิตอิ่มตัวด้วยความเห็นแจ้ง ด้วยปัญญาแล้ว

         ทีนี้ก็คลี่คลายสิ่งที่ยังไม่พิจารณาออกด้วยปัญญา เมื่อเห็นชัดแล้ว มันปล่อย ทีนี้ปล่อย ดังที่เคยอธิบายมาแล้ว ใจค่อยหดตัวเข้ามาเป็นลำดับๆ เห็นชัดเท่าไรก็ยิ่งย่นกระแสความรู้เข้ามา ทีแรกก็กว้าง ปัญญาวิ่งทั่วโลกธาตุ เหมือนว่าโลกธาตุนี้หวั่นไปหมด เพราะสติปัญญาที่วิ่งประสานกัน กับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อยู่ใกล้ไกลมากน้อย ลึกตื้น หยาบละเอียด มันขุดค้นคลี่คลายจนเป็นที่เข้าใจจึงปล่อยวาง ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ยังไม่ปล่อย แม้จะบังคับให้ปล่อย จิตก็ไม่ปล่อยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่เข้าใจด้วยปัญญาก่อนแล้วมันไม่ปล่อย พอเข้าใจเท่านั้นไม่ต้องบอก มันสลัดปั๊บเดียวเท่านั้น นี่ท่านเรียกว่า “ปล่อยด้วยปัญญา” ไม่ใช่บังคับให้ปล่อยเอาเฉยๆ

         ความโง่ เป็นผู้พาให้ถือ ความฉลาดเป็นผู้พาให้ปล่อยวาง ท่านจึงสอนให้อบรมทางสติปัญญาให้มากในการพิจารณา ผลสุดท้ายก็ไม่ไปไหน สติปัญญาต้องวกกลับเข้ามา ธาตุขันธ์ ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวของตัวแท้ๆ เพราะธาตุขันธ์เป็นสมบัติของใจ โดยความสำคัญมั่นหมาย ใจจึงยึดมั่นถือมั่นมากมาแต่กำเนิดไหน ๆ มันก็ถือธาตุถือขันธ์นี้เป็นสำคัญ ถือว่าเป็น “เรา” ทั้งหมดในร่างกายนี้ ทุกข์เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาก็ยังถือว่า “เราเป็นทุกข์” “เป็นทุกข์ของเรา” อยู่นั่นเอง

         ร่างกายทุกส่วนก็ทราบแล้วว่ามันแปรปรวน จิตก็ยังไปแย่งเขามาว่า “เป็นเรา” “เป็นของเรา” แย่งอนิจจัง แย่งทุกขัง แย่งอนัตตา มาเป็นตัวของตัวจนได้ ก็เพราะความหลงพาให้เป็น

         การที่จะถอดถอนความหลง ที่ซึมซาบจนฝังใจ รากเหง้าเค้ามูลมันฝังลึกขนาดไหน จะไปถอนเอาง่าย ๆ ได้เมื่อไร ต้องพิจารณาหลายครั้งหลายหน จนเกิดความชำนิชำนาญครั้งนั้นครั้งนี้ หลายเที่ยวหลายตลบทบทวน มันก็ค่อยแจ่มแจ้งขึ้นมา จนถึงรากถึงฐานของกิเลสอวิชชา มันก็ปล่อยของมันเอง

         เรื่องรูป ก็ดูและพิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ ทั้งวันทั้งคืน เอาเป็นสนามที่ท่องเที่ยว เป็นทำเลที่ท่องเที่ยวกรรมฐาน กรรมฐานได้แก่ที่ไหน ที่สำคัญก็คือ “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ออกจากร่างกายของเราทุกส่วน เที่ยวกรรมฐานที่ตรงนี้ด้วย “อาจารจิต” “อาจาระ” คือ การท่องเที่ยวของจิต พิจารณาให้เห็นชัดตามความจริง ทั้งภายนอกภายในส่วนร่างกายของเราทุกสัดทุกส่วน โดยทาง “ปฏิกูล” หรือโดยทาง “ไตรลักษณ์” โดยความเป็นธาตุ ตามแต่โอกาส และความถนัดแต่ละครั้งไป

         วันนี้ก็พิจารณา คราวหน้าก็พิจารณา คราวไหนก็พิจารณา พิจารณาหลายครั้งหลายหน มันหากซึมซาบเข้าไปเอง จนเข้าใจชัด พอเข้าใจชัดแล้วไม่ต้องบอก มันก็ปล่อยวางของมันเอง

         เวทนา ก็เกิดอยู่กับกายกับใจ ไม่เกิดอยู่ที่ไหน นี่ก็สัจธรรม คือ “ทุกฺขํ อริยสจฺจํ” ท่านบอกแล้วชัดๆ ว่าเป็นของจริง แต่เราไม่ยอมรับเป็นของจริง เอาแต่ของปลอมๆ เข้ามาแทรกมาสิง มาฝังในหัวใจ ใจก็เลยปลอมไปทั้งดวง สิ่งที่ปลอมนั้นมันให้ความสุขที่ไหน ไม่ให้ความแน่ใจได้เลย เช่น เงินปลอม เราจะไปจับจ่ายใช้สอยได้ที่ไหนก็ใช้ไม่ได้ ถึงจะเป็นรูปลักษณะเหมือนของจริงก็ตาม มันปลอมโดยทางสมมุติ นี้มันก็ปลอมอีกทางหนึ่งเหมือนกัน

         สมมุติภายในของเรามันปลอมอยู่ที่นี้ เมื่อไปคว้าเอาของปลอมเข้ามาแทรกไว้ในจิต จิตก็เลยกลายเป็นจิตปลอม จิตลุ่มหลงไปเสีย ผลของมันจึงเกิดเป็นความเดือดร้อน การพิจารณาก็คือ ให้ปล่อยคืนตามของเดิมเขา ไม่ฝืนความจริงอันดั้งเดิม “รูปํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา” นี่เป็นของดั้งเดิม รูปํ ทุกฺขํ เป็นของดั้งเดิม ให้พยายามพิจารณาให้เห็นชัดปล่อยลงตามความเดิมของเขา ปล่อยลงสภาพดั้งเดิมของเขา เราก็ให้อยู่ดั้งเดิมของเรา

         อย่าไปปีนเกลียวกับความจริง อย่าปีนเกลียวกับความดั้งเดิมของเขา อันใดดั้งเดิมของใคร ให้อยู่ตามสภาพเดิมของตน เวทนาก็ให้อยู่ตามสภาพของมัน ให้รู้ตามความจริงของมัน

         เราเป็นคนหลง เราต้องแก้ตัวให้เป็น “คนรู้” ถึงจะแก้กันได้ หลงไปเท่าไร มันก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์ เราไม่เห็นโทษ ไม่เห็นความหลงของเรา ก็ต้องได้ทุกข์อยู่เรื่อยไป ไม่เห็นโทษของความหลง ก็ต้องพิจารณาให้รู้ เมื่อรู้แล้ว ความหลงก็ดับไป ใจก็ไม่ยึดไม่ถือและไม่หนัก มันจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร ใจก็ไม่หนัก

         ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกายนี้ แม้ทุกข์มากจนขนาดทนไม่ไหว ต้องตาย! ตายก็ตายไปเถอะ เมื่อสติปัญญาเป็นตัวของตัวอยู่แล้ว ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่เข้าไปแบกไปหามแล้ว ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์เท่านั้น ไม่สามารถทำลายจิตใจได้ เพราะจิตใจนี่มีความมั่นคงด้วยสติปัญญา

         คำว่า “สัญญา สังขาร วิญญาณ” มันก็เหมือนกัน ดังที่พูดมาแล้ว หลายครั้งหลายหนนั่นน่ะ เป็นแต่เพียงจำได้แล้วดับไป ดับไป เกิดดับ เกิดดับ พูดง่ายๆ เอาสาระอะไรมันได้ล่ะ

         จงพิจารณาให้เป็นความปรากฏขึ้น และความดับไปของเขาเท่านั้น เราไม่ต้องไปปักลงลึกยิ่งกว่านั้น จะเลยขอบเขตแห่งความจริงไป มันก่อความกังวลให้ตน สัญญาเป็นของเรา นี่ปักลงไปแล้วนะ! สัญญาดี สัญญาไม่ดี ฉันจำได้ดี ฉันจำไม่ได้ จำได้ก็เป็นเรา จำไม่ได้ก็เป็นเรา อะไรก็เป็นเราไปหมด นี่มันเลยความจริงไปเสีย ก็เกิดความทุกข์ จำไม่ได้ก็โมโหบ้าง อะไรบ้าง แล้วหลงไปตามสัญญาอารมณ์ ความหมายไป ความหยั่งไปในสิ่งที่ไม่ควรหยั่ง ยึดในสิ่งที่ไม่ควรยึด มันเป็นการฝืนหลักธรรมชาติ ฝืนความจริงแห่งธรรม จึงเกิดทุกข์

         การพิจารณาเรื่องอาการทั้ง ๕ นี้ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน ปล่อยลงไปตามความจริง การปล่อยนั้นคือการวางภาระนั่นลง เหตุที่จะปล่อยก็คือ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว มันก็ปล่อยของมันเอง จิตก็เรียกว่า “ฉลาด” ถึงจะปล่อยได้ ถ้าไม่ฉลาด ก็ถือวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ตลอดกัปตลอดกัลป์ ไม่มีวันปล่อยวางได้เลย ท่านจึงว่า “ถือภพ ถือชาติ เกิดนั่น เกิดนี่” เกิดเพราะความหลงนั่นเอง ไม่ใช่เกิดเพราะความรู้

         “วิญญาณ ฟังดูซิ วิญญาณ ตั้งแต่วันเกิดมาก็ได้ยินกันอยู่แล้ว มันก็ควรจะชินชากันบ้าง ไม่ควรจะหลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อกระทบทาง รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ เข้ามารับทราบภายในความรู้นี้โดยลำดับๆ และเกิดดับพร้อม ดับพร้อม ยังหลงยึดมันได้อยู่

         เรื่องความหลงนั้น มันไม่ชินชา มันเพลินที่จะหลงเรื่อยๆ โดยไม่ยอมรู้สึกตัวเลยทุกข์มันก็มีมาเรื่อยๆ เราจะบ่นขนาดไหน มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่พิจารณาให้ลงถึงความจริงของมัน ท่านจึงสอนให้ปล่อยด้วยสติปัญญา คำว่า “ปล่อย” ก็คือรู้แล้วปล่อย เหตุที่จะรู้ ก็ต้องพิจารณา พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า อาการทั้ง ๕ นี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวกัมมัฏฐาน (กรรมฐาน) เที่ยวอยู่ในนี้แหละ ไม่ได้ไปภูเขาเลากอที่ไหนก็ตาม ให้ท่องเที่ยวอยู่ตามนี้ เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง สถานกลาง อยู่ภายในร่างกายนี้ ชื่อว่า “เที่ยวกรรมฐาน” ตามพระอริยเจ้า

        เบื้องบน ก็คือ ตั้งแต่ศีรษะลงมา ข้างล่างแต่พื้นเท้าขึ้นไป เข้ามาส่วนร่างกายภายใน พิจารณาทั้งภายในภายนอก เป็นกองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นชัดตามความจริงให้เห็นโทษแห่งความหลงของตน เมื่อพิจารณารู้ตามความจริงแล้ว มันก็เห็นโทษแห่งความหลงเท่านั้นคนเรา! เมื่อเห็นโทษแล้วจะฝืนยึดไว้ได้อย่างไร มันก็ปล่อยเอง! ทุกสิ่งทุกอย่างต้องพิจารณาให้รู้ทุกสิ่งมันถึงจะปล่อยได้ รู้เต็มที่ ปล่อยเต็มที่ ถ้าไม่เต็มที่ก็ยังต้องยึดต้องถือ เป็นแต่เพียงว่าเบาลงไป เบาลงไป อาศัยการพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า จนถึงหลักความจริงเต็มที่ก็ปล่อยโดยสิ้นเชิง

ทางเดินของสติปัญญามีอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับเชื้อมีอยู่ที่ไหน ไฟจะไหม้ไปโดยลำดับๆ มีเชื้อแห่งกิเลสอาสวะอยู่ที่ไหน ปัญญาเหมือนกับไฟเป็นเครื่องแผดเผากิเลส จะซึมซาบไปตามลำดับลำดา เช่น พิจารณารู้เรื่องภายนอก จนรู้ทั่วถึงแล้วก็หมดเชื้อไฟ ปัญญาไม่ออก ไม่ไปสนใจ เอ้า! ยังมีอยู่ตรงไหน? ติดข้องอยู่ตรงไหน? เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตจะมาพิจารณาที่นั้น เพราะเชื้อแห่งกองทุกข์มันอยู่ที่นั่น อุปาทานอยู่ที่ไหน? กองทุกข์อยู่ที่นั่น! สติปัญญาจะต้องหมุนตัวเข้าไปตามนั้น เมื่อเข้าใจแล้วก็ปล่อยไป ปล่อยไป พอปล่อยหมดแล้ว ก็หมดเชื้อ ไม่ต้องไหม้ต่อไปอีก เพราะเข้าใจแล้วนี้ ไม่ต้องพิจารณาไปอีก ไม่เผาอะไรอีก

         ปัญญา เครื่องเผากิเลส แต่กิเลสไม่มีอยู่ที่นั่น มันก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ปล่อยเข้าไปจนกระทั่งไปเผาจิตนั่นน่ะ เพราะกิเลสอาสวะมันเข้าไปรวมตัวอยู่ที่จิต หากเป็นเครื่องบอกมันเอง มันสืบต่อกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดเชื้อแห่งอาสวะแล้ว ไฟก็ไม่ลุกลามไป ปัญญาก็หมดปัญหา สิ้นภาระที่จะต้องพินิจพิจารณาเพื่อแก้อะไรอีก

         เมื่อเข้าถึงจุดสำคัญนี้ ท่านว่า “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ”ฯ ว่าเป็นแถวเป็นแนวไป ตัวอวิชชาจริง ๆ คืออะไร? มันไม่รู้ เวลาจะรู้ ก็รู้ตามหลักธรรมชาติ ที่พิจารณาเข้ามา เข้ามา ย่นเข้ามา ปล่อยเข้ามา สืบต่อกันเข้ามาทางสติปัญญา

         ปัญญาขั้นนี้ละเอียดลออสุขุมมากทีเดียว เหมือนกับน้ำซับน้ำซึม ไหลรินอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน ไม่มีหยุดมียั้ง ค้นไปค้นมา พินิจพิจารณาอยู่อย่างนั้น หลายครั้งหลายหนจนเข้าใจ

         กองแห่ง “วัฏฏะ” จริงๆ คืออะไร กองทุกข์จริงๆ คืออะไร? ภพชาติเกิดขึ้นได้ มันเกิดขึ้นได้เพราะอะไรเป็นสาเหตุ? เฮ่อ มันก็มารวมมารู้อยู่ที่ใจ ใจนี่เองเป็นตัวภพตัวชาติ เพราะเชื้อแห่งภพแห่งชาติมันฝังอยู่ภายในใจ สติปัญญาหยั่งทราบเข้าไปแล้ว ก็ขาดทะลุไปหมด ตปธรรมแผดเผากิเลสภายในจิตใจหมดเกลี้ยง! ไม่มีอะไรเหลือ

         สิ่งที่เหลือก็คือ “วิมุตติธรรม” ความหลุดพ้นแห่งใจ” พ้นจากสิ่งที่ปกปิดกำบังทั้งหลาย ตั้งแต่ส่วนหยาบจนถึงขั้นละเอียดสุด ที่เรียกว่า “อวิชชา” สิ้นซากไปหมดภายในใจ นั้นแลคือความพ้นทุกข์

         ที่ท่านว่า “ปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์” พ้นกันที่ทุกข์เคยมีอยู่แต่ก่อนนั้นแหละ แก้ทุกข์ได้ด้วยสติปัญญาแล้วก็พ้นกันที่นั่น ข้ามโลกข้ามสงสารข้ามกันที่นั่น ไม่ได้โดดข้ามโน้นข้ามนี้ หรือเหมือนเขาข้ามน้ำทะเลที่ไหนดอก! มันข้ามตรงนั้นเอง แต่ท่านแยกเป็น “สมมุติ” ออกไปว่า “ข้ามๆ” ความจริงก็ “สลัดภัย ที่อยู่ภายในจิตใจของตนออกหมดนั่นแล เชื้อแห่งภัยมีอยู่มากน้อยเพียงไรภายในใจ สลัดออกหมดด้วยสติปัญญา แผดเผากันให้เกลี้ยง ไม่มีอะไรเหลือ นั่น! ท่านว่า “ความพ้นทุกข์” ว่า “ท่านตรัสรู้ก็ดี, บรรลุธรรมก็ดี” ก็บรรลุถึงความบริสุทธิ์นั่นเอง เรื่อง “สมมุติ” นั้นก็ว่างไป

         นี่แหละ หลักธรรมชาติเป็นอย่างนี้ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ปัญหาทั้งมวลที่มีอยู่ในโลกกว้าง แคบ ลึก ตื้น หยาบ ละเอียด ขนาดไหนก็หมดไปโดยสิ้นเชิง

         จิต เมื่อคลี่คลายปัญหาออกจากตนหมดสิ้นแล้ว ก็ไม่มีเรื่อง เรื่องอะไรๆ จึงไม่มี เมื่อถึงขั้น “อะไรไม่มี” แล้ว ผู้ที่รู้ว่า “อะไรไม่มี นั่นน่ะ คือ ความพอตัวเต็มที่แล้ว” ไม่ต้องการที่จะเอาอะไรมาเสริมอีก เช่น ความสรรเสริญก็แล้ว ความนินทาก็แล้ว เพราะอันนี้เป็นอาการแห่ง “สมมุติ” ทั้งมวล จิตนั้นเป็นผู้พอตัวแล้วในคำว่าดีและชั่วทั้งหลาย ท่านให้นามผู้ที่ถึงความพ้นทุกข์แล้วนั้นว่า “ปุญญปาป ปหินบุคคล” คือเป็นผู้ละบุญบาปได้แล้ว

         “บุญ” ก็คือ ความสุขที่เป็นฝ่ายสมมุติ ทีแรกก็อาศัยบุญกุศลที่เราสร้างไปในทางสมมุตินี้ เป็นเครื่องสนับสนุนไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ เมื่อถึงความพ้นทุกข์แล้ว ความพ้นทุกข์นั้นแล ถ้าจะเรียกว่า “บุญ” ก็เป็น “ปรมํ อย่างยิ่ง” พ้นจากขั้นสมมุติไปหมด บุญเป็นเครื่องสนับสนุนไปถึงนั่นแล้วก็หมดปัญหา บาปก็หมดไป

         คำว่า “บาป คือ ความเศร้าหมอง” คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งกิเลส เมื่อกิเลสสิ้นไปแล้ว บาปก็สิ้นไป ความเศร้าหมองก็สิ้นไป สิ่งที่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายสิ้นไปนั้นแล คือ ธรรมชาติล้วนๆ ได้แก่ความสุขอันบริสุทธิ์ล้วนๆ นั้นเป็นจุดหมายปลายทางแห่งผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

         เมื่อถึงความพ้นทุกข์แล้ว ความหวังทั้งหลายก็หมดไป ความอิ่มพอมีเต็มหัวใจ อิ่มพอตลอดเวลา “อกาลิโก”

         ธรรมที่กล่าวนี้เป็นมาจากโน่นแหละ จากล้มลุกคลุกคลาน จากความตะเกียกตะกาย ความอุตส่าห์พยายามนั่นแหละ เป็นพื้นฐาน เป็นเครื่องสนับสนุนมาโดยลำดับๆ จนถึงความพ้นทุกข์ได้

         “ความพ้นทุกข์ไปได้ เพราะความเพียร” คือ เพียรไม่หยุดไม่ถอย เพียรปลดเปลื้องตนเองโดยลำดับๆ อย่างที่เราเพียรสร้างบุญ สร้างกุศล นี้แล

         เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วนั้น บุญกุศลอันนี้จะไม่ให้ผลหรือ? ให้ผลตลอดมา! ดังที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปสถานที่ใด มีแต่คนเคารพบูชาสักการะด้วยเครื่องวัตถุไทยทานต่างๆ เป็นเพราะอำนาจแห่งบุญกุศล ที่พระองค์ทรงสร้างมานั้น มีประชาชนจำนวนมากพูดว่า “การที่พระองค์เสด็จไปไหน มีแต่คนเคารพบูชา ตลอดถึงเทวบุตร เทวดา ไม่อดอยากขาดแคลน เดียรดาษไปด้วยวัตถุทานต่างๆ นั้น เป็นเพราะพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า

         พระองค์ตรัสปฏิเสธว่า “ไม่ใช่เป็นเพราะความเป็นพระพุทธเจ้าของเรา สิ่งทั้งหลายที่มีประชาชนนำมาสักการะบูชา ถวายเป็นปัจจัย ไทยทานมากน้อย เกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งกุศลของเรา ที่เคยสร้างมาต่างหาก แม้แต่ความเป็นพระพุทธเจ้า ก็ยังเกิดขึ้นมาจากกุศลของเราที่สร้างมา ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าของเราก็หาไม่” ท่านว่า

         เหตุนั้น บรรดาพระสาวกทั้งหลาย ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ก็ยังต้องมี “เอตทัคคะ” ต่างๆ กัน  นั่นก็เพราะอำนาจแห่งกุศล ศีล ทานของท่าน  ที่ได้สร้างมามากน้อย เช่น พระสีวลี เป็นต้น ไปไหนมีแต่คนเคารพนับถือบูชา จตุปัจจัยไทยทานนี้เกลื่อนกลาดไปหมด ท่านไปที่ไหนไม่มีความอดอยากขาดแคลน สาวกทั้งหลายที่เป็นพระอรหันต์เหมือนท่าน แต่เรื่องอติเรกลาภไม่มีองค์ไหนเสมอเหมือน เว้นแต่พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ต้องมีพระสีวลีเป็นที่หนึ่ง นี่จึงว่าบุญกุศลต้องตามสนองท่านอย่างนี้ตลอดไป จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย คือ สลายขันธ์

         ขันธ์สลายไปแล้ว เป็นอันว่าหมดการพึ่งพิงอาศัยในบุญกุศล ที่เป็นส่วนสมมุตินี้ เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วหมดปัญหา! เมื่อยังไม่หมดธาตุขันธ์เมื่อใด บุญกุศลต้องตามสนับสนุนจนได้ ตลอดอวสาน

         การแสดงก็เห็นว่าสมควร โปรดนำไปพินิจพิจารณา เอาละ

 

ggggggg


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก