"ธรรมบูชา" เทศน์ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน)
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2531 เวลา 9:30 น. ความยาว 59.26 นาที
สถานที่ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)

ค้นหา :

เทศน์ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
องค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกศินทร์

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๑

ธรรมบูชา

            นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ( ครั้ง)

อนิจฺจา วต สงฺขารา                 อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ           เตสํ วูปสโม สุโขติ

            บัดนี้จะได้แสดงธรรมเพื่อเป็นที่ระลึก และข้อปฏิบัติแก่ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ในขณะที่ฟังธรรมกรุณาพากันตั้งใจฟังให้เกิดผลเกิดประโยชน์ อย่าฟังให้เป็นสักแต่ว่าพิธี เพราะศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงขวนขวายตะเกียกตะกายมาสอนโลกนั้นไม่ได้ทำเพียงเป็นพิธี แต่ทรงสละเป็นสละตายจริงๆ กว่าจะได้ตรัสรู้ธรรม ถ้าพูดถึงเรื่องความพยายามใดๆ พระองค์ทรงทุ่มเทลงหมดทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อความเป็นศาสดาสอนโลกให้ได้หลุดพ้นจากทุกข์จากสงสารเป็นลำดับลำดา จึงต้องทรงขวนขวายเอามากมายผิดธรรมดาอยู่มาก บรรดาพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงขวนขวายสร้างพระบารมี เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า และเพื่อการรื้อขนสัตว์ออกจากโลกนั้น เป็นสิ่งที่อัศจรรย์ไม่มีใครเสมอเหมือน แม้เวลาได้ตรัสรู้ขึ้นมาแล้วก็เช่นเดียวกัน

            ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมที่คนสามัญธรรมดามีกิเลสทั่วๆ ไปจะรู้ได้เห็นได้ ความรู้ก็แปลกต่างจากโลก ธรรมทั้งหลายที่ทรงรู้ทรงเห็นก็แปลกต่างจากโลก เวลาแนะนำสั่งสอนก็สั่งสอนในสิ่งที่แปลกต่างจากโลก ซึ่งไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นไม่เคยสอนกันเลย นี่สรุปความแห่งความเป็นศาสดาของพระพุทธเจ้า ที่ทรงอุตส่าห์พยายามประพฤติปฏิบัติมา การแนะนำสั่งสอนโลก จึงต้องทรงสั่งสอนด้วยความรู้และด้วยพระเมตตาจริงๆ เพราะพระองค์รู้พระองค์เห็นจริงๆ ไม่ใช่รู้มาจากคำบอกเล่าหรือจากพิธีการต่างๆ แต่ทรงรู้ทรงเห็นด้วยภาคปฏิบัติจริงๆ

            การแนะนำสั่งสอนจึงสอนเพื่อให้เข้าอกเข้าใจในอรรถในธรรม ในความดีความชั่วทั้งหลาย ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับตนอยู่ทุกๆ รายด้วย สอนทั้งวิธีประพฤติปฏิบัติ ควรละก็ให้ละ ควรบำเพ็ญก็ให้บำเพ็ญจริงๆ จนกระทั่งเป็นผลขึ้นมาจากความรู้ความเห็นหรือการปฏิบัติของตน ให้ได้เป็นที่อบอุ่นเย็นอกเย็นใจแก่เจ้าของจริงๆ สมกับศาสนธรรมนี้ออกจากท่านผู้บริสุทธิ์ คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาประกาศศาสนธรรมนั้น ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสแม้นิดหนึ่งเข้าเคลือบแฝงเลยพอที่จะให้เป็นลุ่มๆ ดอนๆ ในการสั่งสอนสัตว์โลก ดังที่ท่านสอนว่า บาปมีจริง บุญมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง ตลอดพรหมโลกมีจริง นิพพานมีจริง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทรงรู้ทรงเห็นแล้วตั้งแต่ตรัสรู้ทีแรกมาเป็นลำดับลำดา

            เราจะเห็นได้เวลาพระองค์ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ด้วยภาคปฏิบัติของพระองค์เองในปฐมยามคืนเดือน เพ็ญ ทรงพินิจพิจารณาถึงเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นเรื่องหาบหามกองทุกข์น้อยใหญ่ทั้งนั้นเรื่อยมาจนหาที่สิ้นสุดยุติไม่ได้ เพียงเรื่องของพระองค์เท่านั้นก็มากมายก่ายกองแล้ว เรื่องการเกิดการตายในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ว่าภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าจิตวิญญาณซึ่งเป็นของละเอียด และอำนาจแห่งกรรมและเชื้อแห่งภพนี้ที่จะไม่ให้ไปเกิดได้นั้นไม่มี

            ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงเป็นสามัญชนธรรมดา เช่นเดียวกับเราๆ ท่านๆ นี้ จึงไม่พ้นที่จะต้องเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ ตลอดถึงตกนรกอเวจีขึ้นสวรรค์ชั้นพรหม ที่ควรจะย้อนกลับมาเกิดอีกได้ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อทรงรู้ทรงเห็นในความเป็นมาของพระองค์แล้วก็เหมือนกับว่าพระทัยหาย ภาษาของเราเรียกว่าใจหาย เพราะเกิดแล้วเกิดเล่า ตายแล้วตายเล่า มีแต่เรื่องแบกเรื่องหาบกองทุกข์ทั้งนั้น มากน้อยตามแต่อำนาจแห่งกรรม

            คำว่าเกิดได้แก่เชื้อคืออวิชชาพาให้สัตว์ทั้งหลายเกิด บังคับไม่ได้ว่าไม่ให้เกิด ต้องเกิด ร้อยทั้งร้อยเกิดทั้งนั้น แต่การเกิดดีเกิดชั่วสูงๆ ต่ำๆ มีกรรมหนักกรรมเบาทั้งดีทั้งชั่วนั้น เป็นไปเพราะอำนาจแห่งกรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายเกิดมาไม่ว่ามนุษย์ไม่ว่าสัตว์ทั่วๆ ไป มีโอกาสที่จะทำกรรมดีชั่วได้ด้วยกันทั้งนั้น เป็นแต่เพียงว่าตนเป็นสัตว์ไม่ทราบว่าตนทำดีทำชั่ว สำหรับมนุษย์เรานั้นพอรู้ได้พอทราบได้ว่าเคยทำดีทำชั่วมา แม้เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ความเป็นมาของตน ว่าได้ทำดีทำชั่วมากน้อยเพียงไร

            นี่พระองค์เองก็ทรงเป็นอย่างนั้น ทรงถือพระองค์เป็นรากเป็นฐาน เป็นสักขีพยานในการเกิดการตายการตกนรกหมกไหม้ ตลอดถึงไปสวรรค์ พรหมโลก ในขั้นที่ควรจะย้อนกลับมาสู่โลกสู่สงสารเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก พระองค์ได้ทรงท่องเที่ยวมามากต่อมากแล้ว และทรงรู้ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณโดยไม่อาจสงสัย

            ในอันดับต่อไปก็ทรงพิจารณาดูสัตวโลกเป็นอย่างไร เมื่อได้บรรลุจุตูปปาตญาณในมัชฌิมยามนั้นแล้ว ก็ทรงเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าจิตวิญญาณดวงใดของสัตว์ของมนุษย์ ของโลกสงสารที่อยู่ในสามแดนโลกธาตุนี้ มีแต่ความดิ้นรนกระวนกระวายอยู่ด้วยอำนาจแห่งกรรมและผลของกรรมทั้งนั้น นี่ก็ประหนึ่งว่าใจหายถ้าภาษาของเรา ว่าพระพุทธเจ้าทรงพระทัยหายก็ถูก ทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้ผิดกันเลย จิตวิญญาณแต่ละดวงๆ นั้นที่จะไม่เกิด ที่จะไม่ได้เสวยทุกข์สุขในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นวิสัยของสัตว์โลกผู้สร้างกรรมแต่ละรายๆ ที่จะต้องไปเกิดด้วยอำนาจแห่งกรรมของตนนั้นเป็นได้ด้วยกันทั้งนั้น นับแต่พระพุทธเจ้าในเวลาที่ทรงเป็นสามัญชนธรรมดาลงมา จนกระทั่งถึงสัตว์ทั้งหลายไม่มีกำหนดไม่มีประมาณ

            เพราะฉะนั้นการเกิดการตาย จึงเป็นพื้นเพของสัตว์ผู้มีเชื้อแห่งภพอยู่ภายในใจนี้ จะต้องเกิดตายด้วยกันทั้งนั้น ใครจะปฏิเสธว่าตายแล้วสูญ ว่าบาปไม่มีบุญไม่มีก็ตาม นั้นเป็นเรื่องความปิดบังของกิเลสอวิชชา ซึ่งมีความชำนิชำนาญในการฉุดการลากการบังคับบัญชาสัตว์ทั้งหลาย ให้เกิดมาเป็นประจำอยู่แล้ว

ในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีธรรมชาติใดที่จะมีอำนาจเหนือกิเลสประเภทที่สำคัญ ได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา ที่พาให้สัตว์เกิดตายนี้ไปได้ และวิบากกรรมดีชั่วซึ่งจะเป็นเงาตามตัวไปนั้น ก็เป็นไปได้ด้วยกันอย่างนี้ไม่มีสิ้นสุดยุติ ถ้าเป็นรถก็วิ่งจนกระทั่งลงคลอง จมไปเลยทั้งเจ้าของและรถ

ถ้าพูดเรื่องจิตวิญญาณก็หมุนเกิดหมุนตายอยู่ทำนองนั้น ถ้าไม่มีธรรมะเป็นเบรกห้ามล้อและตัดภพตัดชาติให้ย่นเข้ามา ด้วยการสร้างคุณงามความดีทั้งหลายโดยลำดับลำดาแล้ว อย่างไรจิตดวงนี้เคยเป็นมาฉันใดก็จะเป็นไปฉันนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับความรู้ความเห็นความเข้าใจของผู้ใด ซึ่งเกิดมาหรือเป็นมาด้วยอำนาจของกิเลสปิดบังแล้วแสดงออกมาเลย คือต้องเกิดต้องตายด้วยอำนาจแห่งเชื้อคืออวิชชาพาให้เกิดตาย ไปตลอดอนันตกาลนั่นแล

            กิเลสปิดบังจิตใจของสัตว์โลกนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกับเราเอาผ้ามาปิดตาของเรา หรือคนตาบอดจะเดินเหินไปไหนกี่ครั้งกี่หนกี่ร้อยกี่พันครั้งก็ตาม คนตาบอดนั้นจะไม่สามารถระลึกรู้ได้ ว่าตนได้เคยไปแล้วในสถานที่นั้นๆ ทั้งที่เคยท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ทราบว่าเจ้าของเคยไปแล้ว เพราะความปิดบังตาหรือตาบอด

            เรื่องของจิตที่บอดด้วยอำนาจของกิเลสอวิชชาปิดบัง ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เกิดแล้วตายเล่าๆ ออกจากภพนี้เข้าสู่ภพนั้นไม่มีเวลาหยุดยั้งผ่อนคลายเลย เพราะธรรมชาตินี้พาให้หมุนตัวไปเอง ไม่มีคำว่าชราคร่ำคร่า ถึงว่าเป็น อนิจฺจํ เพราะอยู่ในแดนสมมุติก็ตาม แต่ก็เปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นกิเลส ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นอรรถเป็นธรรม ให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความสุขความสบาย หรือพอที่จะให้ตายใจจากมันได้เลย ความเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงไปแบบกิเลสในวงวัฏวนนั่นแล

            คำว่า อนิจฺจํ ของกิเลสต้องเปลี่ยนเพื่อความเป็นกิเลสเสมอ เมื่อเปลี่ยนเพื่อความเป็นกิเลสอยู่แล้ว คำว่า ทุกฺขํ ที่สัตว์ทั้งหลายจะต้องเสวยตามอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วของตนทำไมจะไม่มี เพราะกิเลสเป็นสาเหตุแท้ๆ ที่จะให้สัตว์ทำบาปทำกรรม เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ต้องทำ ทั้งๆ ที่เราไม่อยากทำก็ตาม แต่อำนาจอันนั้นอยู่เหนือเรา ทำให้เราอยากทำให้เราพอใจ เพราะเหตุนั้นจิตใจที่มีความหนาแน่นอยู่ด้วยกิเลสทั้งหลาย จึงอยากจึงหิวโหยในการทำกรรมชั่วไม่มีประมาณ โดยเจ้าตัวไม่รู้ว่านั้นคือความผิด

            เราไม่ต้องไปดูจิตของผู้หนึ่งผู้ใด เราดูจิตของเรานี้ก็รู้ เวลาที่ยังไม่เคยอบรม ไม่เคยศึกษาในอรรถในธรรม ไม่เคยปฏิบัติอรรถธรรมเลย เราจะไม่ทราบเลยว่าจิตของเราวันหนึ่งๆ หมุนไปในทางใดมาก ซึ่งส่วนมากก็หมุนไปตามความชอบใจ ความชอบใจนั้นแล ร้อยทั้งร้อยเป็นทางเดินของกิเลสที่เปิดโล่งไว้แล้วให้เราเดินตาม เหมือนสัตว์ตัวที่ถูกจูงไปเท่านั้น ถูกจูงไปจนกระทั่งถึงที่ฆ่า มารู้สึกตัวก็สายไปเสียแล้ว มีแต่เรื่องที่สายไปเสียแล้วๆ เพราะอำนาจแห่งกรรมอันนี้ หรืออำนาจของกิเลสมันหนาแน่น ทำสัตว์ทั้งหลายให้เป็นเช่นนั้น

            นี่เพียงดูจิตของเรานี้ก็รู้ ถ้าเราดูด้วยภาคปฏิบัติศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนาเป็นสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเน้นหนักลงภาคปฏิบัติมากทีเดียว ปริยัติ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนให้รู้จักเข็มทิศทางเดินในการละในการบำเพ็ญแล้ว ปฏิบัติก็ให้ดำเนิน คือปฏิบัติตามสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนั้นๆ จะไม่เป็นอื่น เมื่อเราก้าวเดินตามหลักธรรมชาตินี้แล้วก็สามารถที่จะรู้ได้

            จิตที่จะรู้ได้ต้องเป็นจิตที่มีความสงบตัว พอยับยั้งตัวได้ด้วยความสงบผ่องใส ถ้าจิตวุ่นวี่วุ่นวายส่ายแส่ กลิ้งไปกลิ้งมาเหมือนฟุตบอล ที่ถูกกิเลสเตะไปทางนั้นยันไปทางนี้อยู่เช่นนี้ อย่างไรก็ไม่รู้วิถีความเป็นมาของตัว เกิดเท่าไรก็ไม่รู้ ตายเท่าไรก็ไม่รู้ เคยเสวยทุกขเวทนามาสักกี่กัปกี่กัลป์แล้วในจิตดวงนี้ก็ไม่รู้

            เพราะจิตดวงนี้ไม่เคยตาย มีแต่เปลี่ยนร่างไปตามอำนาจแห่งกรรมดีชั่ว และเชื้อที่บังคับให้เกิดนี้เท่านั้น แต่ก็ไม่สามารถทราบเรื่องราวความเป็นมาของตนได้ ถ้าเราอยากจะทราบเรื่องของเราก็ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ท่านเรียกว่าภาคปฏิบัติ ฆราวาสก็ทำได้ เพราะฆราวาสก็มีภัยเหมือนกัน ได้แก่กิเลสเป็นเครื่องย่ำยีตีแหลกภายในจิตใจ หาเวลาสงบเย็นใจไม่ได้ ก็เพราะเราไม่มีธรรมเข้ายื้อแย่งแข่งดีกันนั่นเอง จึงมีแต่เรื่องของกิเลสทำงานภายในหัวใจ เวลามองเห็นหน้ากันก็มีแต่บ่นระบายความทุกข์ออกมาสู่กันฟัง ว่าเป็นทุกข์อย่างนั้นเป็นทุกข์อย่างนี้

            ไม่ว่าคนมีคนจนคนโง่คนฉลาด ฐานะใดก็ตาม กิเลสอยู่เหนือนั้น ต้องบังคับให้เกิดความทุกข์ความทรมานอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นเจอกันแล้วจะเอาความสุขความสบายที่ไหนมาพูดกัน เพราะไม่เคยสุขไม่เคยสบายด้วยอำนาจของกิเลส มีแต่เรื่องความทุกข์ความทรมานเป็นลำดับลำดามาเท่านั้น จึงต้องได้นำความทุกข์ออกระบายต่อกัน นี่เรื่องของจิตที่วุ่นวี่วุ่นวายเพราะอำนาจของกิเลสมันฉุดมันลาก ทำให้เกิดความทุกข์ความทรมานอย่างนี้

            แต่เราก็ไม่ทราบว่าสาเหตุนี้เกิดขึ้นมาอย่างไร เกิดขึ้นมาเพราะอะไร อันนี้เป็นภัยต่อเราหรือไม่เป็นภัยเราก็ไม่รู้ ร้อนเราก็ถือว่าเราร้อนเสีย ทุกข์ก็ถือว่าเราทุกข์เสีย ไม่ถือว่าสิ่งใดมาทำให้เราเป็นทุกข์ เกิดความทุกข์ความทรมานขนาดไหนก็ตามอยู่ในร่างกายและจิตใจของเรา เราก็จะเหมาเอาเราทั้งคนนี้ว่าเป็นทุกข์เป็นความลำบาก ไม่ได้คิดเลยว่าสาเหตุที่เป็นความทุกข์นี้มาจากไหน อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์จึงได้รับความทุกข์ความทรมาน ก็ไม่รู้เลย เช่นเดียวกันกับสัตว์ที่ถูกจูงเข้าสู่ที่ฆ่านั้นเอง

            เมื่อจิตของเราได้รับการอบรมตามหลักศาสนธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วโดยถูกต้องนั้น นำเข้ามาปฏิบัติต่อจิตใจ เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนา ทำใจของเราให้สงบเย็น อย่างน้อยให้สงบเย็น

            ใจอยู่เฉยๆ จะให้สงบเองไม่ได้ ต้องมีเครื่องทำให้สงบ เพราะเวลาฟุ้งซ่านก็มีสาเหตุ มีเครื่องบังคับบัญชาให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่ใช่จิตอยู่เฉยๆ จะฟุ้งซ่าน ที่ฟุ้งซ่านนั้นเป็นไปเพราะอำนาจของกิเลส ความสงบนี้จะสงบได้เพราะอำนาจแห่งธรรมซึ่งเป็นเครื่องแก้กัน ถอดถอนกัน หรือเป็นข้าศึกต่อกัน ลบล้างกันกับกิเลสซึ่งมีอยู่บนหัวใจเราให้สงบตัวลง เป็นความสุขแก่ใจเอง

            เมื่อเรานำธรรมเข้ามาแก้มาถอดมาถอน เฉพาะอย่างยิ่งธรรมบทใดที่ถูกกับจริตจิตใจของเรา ที่ท่านแสดงไว้ในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ในบทใดบทหนึ่ง เช่น พุทโธ หรือ ธัมโม หรือ สังโฆ หรืออานาปานสติเป็นต้น ให้นำธรรมบทนั้นๆ เข้ามาสู่จิตใจของเรา แล้วยึดธรรมบทนั้นไว้เป็นคำบริกรรม ให้จิตรู้อยู่กับธรรมบทนั้น เช่น เราบริกรรม พุทโธ ก็ให้จิตรู้อยู่กับ พุทโธๆ ให้มีความสืบเนื่องกันโดยความมีสติเป็นเครื่องบังคับบัญชา อย่าให้จิตเถลไถลออกไปสู่อารมณ์ใด เมื่อความรู้กับธรรมได้สืบเนื่องต่อกันอยู่แล้ว จิตใจก็จะค่อยสงบเข้ามาๆ

            พอสงบลงไปครั้งนี้เท่านั้น ก็สามารถที่จะทำให้ใจเราเป็นสุข เกิดความเชื่อความพออกพอใจ แล้วความขยันหมั่นเพียรความอุตส่าห์พยายามจะตามๆ มาพร้อมๆ กันกับความเห็นที่เป็นสักขีพยานในความสงบของเรา เพียงครั้งหรือสองครั้งนี้เป็นปากเป็นทาง ต่อไปก็จะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาเรื่อยๆ ตามการบำเพ็ญของเรา

            นี่ละการปลูกศรัทธาต้องให้รู้ก่อน ศรัทธาที่เคยได้ยินได้ฟังเป็นอย่างหนึ่ง ศรัทธาที่เกิดที่เห็นจากการปฏิบัติของตัวเองที่เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้สมาธิก็เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ที่เราจะต้องรู้เองเห็นเองในการปฏิบัติของเรา พอจิตสงบเย็นลงไปเท่านั้น ความฟุ้งซ่านรำคาญทั้งหลายอันเป็นเรื่องของกิเลสนั้นจะสงบตัวลงไป เพราะถูกธรรมได้แก่สมถธรรมครอบหัวมันลงไป ใจก็มีความสงบ

            เมื่อจิตสงบแล้วเย็นสบายไปหมด เหมือนกับไม่มีสิ่งใดๆ ในสามแดนโลกธาตุนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความรู้ที่เด่นอยู่ภายในตัวเอง ไม่มีเรื่องอันใดเข้ามายุ่งเลย นั่นเรียกว่าความสงบของใจจากจิตตภาวนาของผู้ปฏิบัติ

            ใจสงบแนบแน่นลงไปเท่าไร ยิ่งเห็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ของธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ และยิ่งเห็นเป็นของแปลกประหลาดในภาคปฏิบัติของเรา ที่พระพุทธเจ้าย้ำแล้วย้ำเล่าว่าเรียนรู้แล้วให้ปฏิบัติ อย่าเพียงจำได้เฉยๆ จำได้เฉยๆ ก็เหมือนกับแปลนบ้านแปลนเรือน ทำสักเท่าไรถ้าเป็นกระดาษก็กองเต็มห้องอยู่ ก็เป็นแต่แปลนอยู่ในกระดาษ ไม่เป็นบ้านเป็นเรือนเป็นตึกเป็นรามบ้านช่องให้ เมื่อเราได้นำแปลนนั้นออกมากางแล้วปฏิบัติหน้าที่ตามแปลนนั้น ย่อมสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาฉันใด การปฏิบัติศาสนธรรมที่ได้รู้ได้เห็นขึ้นมาภายในจิตของตนเอง ก็ย่อมเป็นฉันนั้นเหมือนกัน

            ท่านจึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว เพราะได้ทรงรู้ทรงเห็นเต็มพระทัยมาแล้วจึงได้มาสอนโลก สมาธิไม่ว่าสมาธิขั้นใด พระองค์ทรงรู้ทรงเป็นมาแล้วจึงนำมาสอนโลก เมื่อเป็นเช่นนั้นจะผิดไปที่ตรงไหน เมื่อไม่ผิดก็ยืนยันกันด้วย สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ทีนี้เมื่อเราได้ดำเนินตามนั้น จิตของเราไม่เคยสงบก็เห็นความสงบ

            ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบของจิตนั้น ต่างกันกับความสุขทั้งหลายที่เราเคยผ่านมา ไม่ว่าจะผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือใจคิดเป็นอารมณ์ขึ้นมาเองก็ตาม จะไม่มีสิ่งใดเหมือนกับความสงบเย็น ในขณะที่จิตหยั่งเข้าสู่ความสงบหรือสมาธินั้นเลย นี่เป็นผลให้เราเห็นแล้ว ดีไม่ดีต้องเป็นความตื่นเต้นภายในจิตใจ ตื่นเต้นด้วย อัศจรรย์ในใจของเจ้าของในขณะนั้นด้วย เพราะไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาแต่กาลก่อน แต่เราได้ปฏิบัติตามแนวแถวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

            เช่น บริกรรม พุทโธๆ เป็นต้น ให้ต่อเนื่องสืบกันเป็นลำดับ จึงได้รู้เห็นความสงบเย็นเหล่านี้ประจักษ์ใจ อารมณ์อันนี้แม้จะปรุงก็ตาม แต่เป็นอารมณ์ของธรรมที่จะทำใจให้สงบโดยลำดับ ไม่เป็นอารมณ์ของกิเลสซึ่งปรุงไปเท่าไรยุ่งไปเท่านั้น แต่อารมณ์ของธรรมนี้ปรุงไปเท่าไร มีสติบังคับบัญชาหนาแน่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จะเกิดความสงบเย็นใจขึ้นมาตามลำดับของการบำเพ็ญ ท่านจึงสอนให้บริกรรม ซึ่งเป็นธรรมกำกับใจในเวลาภาวนาหรือเวลาอื่นๆ

            เพียงความสงบเย็นใจนี้ก็สว่างโร่ไปหมดแล้วภายในจิตใจของเรา ทีนี้อจลศรัทธาไม่ต้องบอกเกิดขึ้นมาเอง ธรรมที่สูงกว่านี้มีไหม เพียงจิตเป็นในขั้นสมาธินี้ก็เป็นเครื่องยืนยัน หรือเชื่อมโยงต่อธรรมขั้นสูง ที่พระองค์ท่านทรงสั่งสอนไว้แล้วโดยไม่อาจสงสัย แม้เรายังไม่รู้ก็ตาม รู้เพียงขั้นสมาธิที่ความสงบแนบแน่นของตนนี้ ก็สามารถที่จะซึมซาบไปถึงธรรมทั้งหลายที่เรายังไม่รู้ไม่เห็น และประมวลเข้ามาสู่กำลังใจของเรา ให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส ให้เกิดความอุตส่าห์พยายาม ให้เกิดความขวนขวาย ให้มีความรักใคร่ชอบใจในธรรมเครื่องดำเนินทั้งหลายที่ท่านว่า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นั้นจะรวมตัวเข้ามาสู่จิตดวงเดียวนี้ แล้วก็เป็นพลังขึ้นมา

            พลังของธรรมกับพลังของกิเลสนี้ต่างกัน พลังของกิเลสมีมากเท่าไรยิ่งเหยียบย่ำทำลายจิตใจของเรา ให้ทุกข์ยากลำบากทรมานมาก ดีไม่ดีถึงเป็นบ้าก็มี เพราะความที่คิดมาก ยุ่งมาก ทุกข์มากทรมานมาก บีบบังคับมาก แต่พลังของธรรมนี้มีมากเท่าไร ยิ่งให้เราเกิดความสุขเย็นใจ มีความอ่อนนิ่มไปหมดภายในจิตใจด้วยความเป็นสุข และเกิดความเมตตาสงสารไม่มีประมาณ เพราะความเมตตานี้เกิดขึ้นมาจากจิตที่สงบ อ่อนตัวที่สุด มีความสุข

            เหมือนเรามีสมบัติเงินทองข้าวของมาก คนที่มีธรรมในใจย่อมอยากจะแจกจ่ายให้ทานไป ความรู้วิชามีมากน้อยเพียงไร เมื่อมีแล้วก็อยากจะแจกจ่ายไป นี่ธรรมมีเพียงไรภายในจิตใจ ก็อยากแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนให้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้รู้ได้เห็นบ้างแม้ไม่มากดังธรรมที่เราได้รู้ได้เห็นประจักษ์อยู่นี้ นี่ท่านเรียกว่าสมาธิธรรม เพียงเท่านี้ก็หยั่งไปแล้วซ่านไปแล้ว แก่เพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย

            ถ้าเป็นผู้มีนิสัยในทางที่จะรู้จะเห็นสิ่งต่างๆ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า พวกเปรตพวกผี พวกเทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายนั้น พระพุทธเจ้าท่านเป็นครูสอนหมดแล้ว ทำไมเราจึงไม่เห็น พิจารณาซิ พระพุทธเจ้าต่างจากเราอย่างไรบ้าง มีความสามารถกว่าเราอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เราไม่เห็น ตาของเราก็แค่รูปแค่สีสันวรรณะเท่านั้น ไม่มากกว่านั้น หูก็เพียงได้ยิน หูเนื้อหูหนัง ตาเนื้อตาหนัง เพียงอยู่ในวิสัยเท่านั้น

แต่ตาญาณคือตาใจนี้ลึกซึ้งมากไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือน นี่ละที่พระพุทธเจ้าเปิดออกหมด เมฆมหามืดกำบังจิตใจหรือพระทัยของพระองค์ คือกิเลสทั้งหลายได้เปิดออกหมด ก็เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ที่สว่างกระจ่างแจ้งลงมา เห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่างฉันใด พระญาณหยั่งทราบก็ออกมาจากจิตที่สว่างไสวภายในพระองค์ ก็กระจ่างแจ้งไปหมดทั่วแดนโลกธาตุฉันนั้น ทีนี้สิ่งใดที่มีอยู่อย่างใดทำไมจะไม่เห็น นรกเคยมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม เคยเผาสัตว์มาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ไหนๆ มาแล้ว

ถ้าจะพูดถึงเรื่องการเกิดของพระพุทธเจ้าหรือการอุบัติของพระพุทธเจ้าแล้ว เราอย่าพูดเลยว่าเพียงเช่นอย่าง ๑๐ องค์หรือ ๕๐ องค์หรือ ๕๐๐ องค์ก็ตาม ดังที่เราเคยเห็นในตำรับตำรามีเป็นล้านๆๆ เพราะเหตุใด เพราะสิ่งที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้าเกิดได้ สิ่งที่จะทำให้จิตใจนี้บริสุทธิ์ขึ้นมาได้คืออะไร ท่านก็ยืนยันไว้แล้วตั้งแต่ตรัสรู้ใหม่ๆ ว่าอริยสัจ

อริยสัจ คืออะไร คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้แลเป็นธรรมหรือเป็นโรงงานอันสำคัญที่สุด ที่จะกลั่นกรองจิตของผู้มีกิเลสให้เบาบางลงไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงความสิ้นกิเลสได้โดยสิ้นเชิงจากอริยสัจทั้งสี่นี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องยืนยันจิตที่บริสุทธิ์นั้นได้ นอกจากอริยสัจ นี้เท่านั้น

อริยสัจ นี้มีอยู่กับใครบ้าง มีอยู่กับเรา เป็นแต่เพียงว่ายิ่งหย่อนกว่ากันเท่านั้น เช่นทุกข์ สมุทัยมีมาก มรรคคือข้อปฏิบัติของเราก็มีกำลังน้อย นิโรธคือความที่จะดับทุกข์นั้นจึงยังไม่ปรากฏ มีแต่ทุกข์โหมตัวเข้ามาเผาอยู่ทั้งวันทั้งคืน แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอริยสัจ พระพุทธเจ้าแม้พระองค์ปัจจุบันเรานี้ท่านก็ทรงรู้จากอริยสัจนี้เอง

อริยสัจนี้เป็นเครื่องยืนยัน เป็นเครื่องกลั่นกรองจิตให้บริสุทธิ์ได้ บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประพฤติปฏิบัติตามหลักอริยสัจนี้แล้วจะไปไหน เมื่อพระพุทธเจ้าหลายๆ องค์เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้จะเป็นไปไม่ได้อย่างไร ก็เป็นได้อย่างเดียวกันนี้ เพราะมีเครื่องกลั่นเครื่องกรองให้เป็น ด้วยการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังของท่าน

ทีนี้ย่นเข้ามาถึงพวกเราทั้งหลาย อริยสัจ ก็มีอยู่ด้วยกันแล้ว ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติก็ต้องรู้ต้องเห็นขึ้นมาจนได้ เมื่อรู้เห็นแล้วจะปฏิเสธพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่าไม่มีได้อย่างไร จะปฏิเสธมรรคผลนิพพานว่าไม่มีได้อย่างไร  ทุกฺขํ อริยสจฺจํ รู้อริยสัจนั้นรู้อย่างไร เราก็รู้ประจักษ์แล้วภายในจิตใจของเรา สมุทัย อริยสจฺจํ สมุทัยเป็นของจริงเป็นอย่างไร เราเห็นประจักษ์ด้วยปัญญาอันเป็นมรรคสัจ

เพราะอริยสัจทั้งสี่นี้ทำงานเกี่ยวโยงกัน แยกกันไม่ออก เราจะกำหนดทุกข์ รู้ทุกข์แล้วจึงมารื้อถอนสมุทัย แล้วจะบำเพ็ญสติปัญญาหรือมรรคให้เกิด ดังที่ท่านแสดงเรียงลำดับไว้ในอริยสัจนั้น คือว่าทุกข์พึงกำหนดรู้ สมุทัยพึงเพียรละ นิโรธคือความดับทุกข์พึงทำให้แจ้ง มรรคพึงอบรมให้มากให้เกิดให้มีขึ้นดังนี้

ถ้าพูดตามหนังสือนี้ก็เหมือนกับว่า ทุกข์ไปอยู่ในโลกหนึ่ง สมุทัยไปอยู่ในทวีปหนึ่ง มรรค นิโรธไปอยู่คนละทวีปๆ กว่าที่จะนำมารวมตัวแก้กิเลส ถอดถอนตัวให้หลุดพ้นจากทุกข์นั้นไม่มีหวัง ตายทิ้งเปล่าๆ

ถ้าตามหลักธรรมชาติของการปฏิบัติแล้ว เอ้า เราไม่ต้องเอาที่อื่น เอาตัวของเราผู้ปฏิบัตินี้แลเป็นเครื่องยืนยัน เพราะพระพุทธเจ้าทรงรู้แล้วด้วยการปฏิบัติจึงได้มาเป็นครูสอนโลก เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นสอนโลกได้สามแดนโลกธาตุ เป็นยังไง ทีนี้นำอริยสัจนี้เข้ามาปฏิบัติ เพราะเวลาเรากำหนดว่าทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วในตัวของเรา ทุกข์นี้เกิดขึ้นมาเพราะสาเหตุอันใด นั่นคือปัญญาเริ่มแล้ว สติเริ่มแล้ว ตั้งจ่อเข้าไปแล้ว เกิดขึ้นมาเพราะสาเหตุอันใด นี่เรียกว่ามรรคสัจเริ่มทำงานแล้วในขณะเดียวกัน

ขอแสดงเพียงย่อๆ เพื่อให้ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ได้ถือเป็นเงื่อนหรือเป็นปากเป็นทางต่อไป ให้เห็นประจักษ์ในตนเอง แล้วจะหาที่ค้านสวากขาตธรรมนี้ไม่ได้เลย จะยอมกราบพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ และกราบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ประหนึ่งว่าเท่าเม็ดหินเม็ดทราย เพราะตรัสรู้แล้วตรัสรู้เล่าตลอดมาตั้งแต่กัปไหนกัลป์ใด

ไม่ใช่โลกนี้มีมาเพียงกี่ปีกี่เดือน ๑๐๐ ปี ๒๐๐ ปีนี้เท่านั้น มีมากี่กัปกี่กัลป์ที่โลกกับธรรมเป็นคู่เคียงกันมา โลกกับธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้แล้วนำมาสอนโลกนี้เป็นคู่เคียงกันมา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงต้องตรัสรู้เรื่อยมาโดยลำดับลำดาดังที่เราเห็นนี้ ในภัทรกัปนี้พระพุทธเจ้าของเราก็องค์ที่ เป็นยังไงองค์ที่ พระสมณโคดม องค์ที่ พระอริยเมตไตรย จะเรียงลำดับกันไปอย่างนั้น หมดนี้แล้วก็จะมาอีกข้างหน้า เพราะหมุนไปเช่นเดียวกันเพื่อช่วยสัตว์โลกดังที่เคยเป็นมาแล้ว

หากไม่มีธรรมะนี้เลย สัตว์โลกนี้จะจมอยู่ตลอดเวลา หาทางขึ้นหรือหาทางออกไปไม่ได้ มีแต่ทางเข้า หมุนไปเวียนมาเหมือนกันกับมดแดงไต่ขอบด้งนั่นเอง เมื่อธรรมมีโดยที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์ๆ เท่านั้น ก็สามารถที่จะรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากโลกได้อย่างมหาศาล ผู้ที่ควรจะพ้นไปได้โดยสิ้นเชิงได้แก่เป็นอรหัตบุคคลก็ให้เป็นไปได้ๆ ผู้ที่ยังไม่ถึงขั้นนั้นก็หนุนตัวเข้ามา หนุนตัวขึ้นมาเรื่อยๆ

เพราะอำนาจแห่งการประพฤติปฏิบัติ เพราะอำนาจแห่งการสร้างความดีหนุนไปโดยลำดับ เมื่อศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์นี้หมดสิ้นไปแล้ว ศาสดาองค์ต่อไปนั้นก็มาหนุนอีก เพราะอุปนิสัยเหล่านี้เอง นี่ละจึงเทียบกับว่าคนไข้ที่มีหมอมียานั้นมีหวังที่จะหายไปได้ นอกจากคนไข้ประเภท ไอ. ซี. ยู. ก็เช่นเดียวกับประเภทที่ว่าปทปรมะ

ในจริตนิสัยของสัตว์โลกก็มีเช่นนั้นเหมือนกัน อุคฆฏิตัญญู คือผู้ที่รู้อย่างรวดเร็วก็มี วิปจิตัญญู ผู้ที่รู้รองลำดับกันลงมาก็มี เนยยะ ผู้ที่พอฉุดพอลากพอแนะนำสั่งสอน ตะเกียกตะกายกันไปได้ก็มี ปทปรมะ ประเภทที่สุดวิสัย หูมีตามี อวัยวะทั้งหมดมี แต่บอดหมดหนวกหมด ไม่สนใจในศีลในธรรมในบาปในบุญ แต่แล้วสร้างแต่บาปวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ผู้นี้เองเป็นผู้ที่จะรับเหมาในเรื่องกองทุกข์ทั้งหลาย

ทีนี้คำว่าบาปไม่มีใครจะเป็นผู้รับ ลมปากนั้นรับไม่ได้นะ ว่าบาปไม่มีลมปากไม่ยอมรับ ผู้เจ้าของคือใจดวงไม่ตายนั้นแลเป็นผู้จะเสวยบาปเสวยกรรม ตกนรกก็เหมือนกัน ว่านรกไม่มี ลมปากไม่ได้ไปตกนรก สัตว์ผู้ทำกรรมอันชั่วช้าลามกนั้นแลไปตกนรกเกลื่อนไปหมด นั่นฟังซิ ไปสวรรค์ก็เหมือนกัน ในนรกก็ดีในสวรรค์ก็ดี ไม่เคยมีชั้นใดหรือนรกหลุมใดได้ว่างจากสัตว์ทั้งหลายซึ่งสร้างแต่ความชั่ว โดยไม่รู้สึกตัวว่าได้สร้างความชั่วบ้างเลย มิหนำยังถลำลึกเข้าไปอีกว่า บาปไม่มีบุญไม่มีและตายแล้วสูญ นี่ซิที่หนักมากไม่มีใครช่วยได้เลย จำต้องยอมว่ากรรมของสัตว์

คำว่าตายแล้วสูญนี้เป็นบทที่กิเลสย้ำหนักที่สุด ทำให้เหมือนกับว่าประหนึ่งว่าสูญพันธุ์ คือไม่มีความดีติดตัวบ้างเลย เป็นโมฆบุรุษ ถ้าเป็นสิ่งทั้งหลายก็เหมือนกับว่าสูญพันธุ์ แต่กิเลสมันไม่ได้สูญ ธรรมชาตินี้ตรงกันข้าม กลับเพิ่มพันธุ์ที่จะให้เกิดมากขึ้น และยืดยาวนานไปอีกโดยลำดับในจิตวิญญาณแต่ละดวงๆ ที่ปฏิเสธว่าตายแล้วสูญ นี่ละหลักสำคัญ สัตว์โลกจมกันที่ความสำคัญไปตามกิเลสหลอกว่าตายแล้วสูญนี่แล

เรื่องเหล่านี้มีแต่กิเลสกล่อมใจสัตว์ทั้งนั้นแหละ ธรรมะท่านไม่ได้กล่อม สิ่งใดจริงสิ่งใดแท้ท่านบอกไว้ตามความจริง เช่นว่าบาปมีอย่าทำบาปนะ การทำบาปเป็นความทุกข์ท่านก็บอก เพราะพระองค์เคยทุกข์เพราะการทำบาปมาแล้วจึงนำมาสอนโลก โลกที่ยังไม่รู้พระองค์ก็รีบสั่งสอนแนะนำด้วยความถึงใจๆ ถึงพระทัย เหมือนกับว่าใจหาย รีบแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกด้วยความเห็นโทษจริงๆ ไม่ใช่ธรรมดา เหมือนกับไฟไหม้บ้านไหม้เรือน รีบไปฉุดไปลากคนที่กำลังจะถูกไฟเผาอยู่ในบ้านเรือนนั้นออกมาอย่างไม่รู้จักเป็นจักตาย

พระพุทธเจ้าช่วยสัตว์โลกที่ถูกบาปกรรมเผาและเหยียบย่ำทำลาย ก็เช่นเดียวกับผู้ที่ช่วยคนถูกไฟไหม้เหมือนกัน สำหรับผู้ตกนรกก็เป็นอันว่าตกไปแล้วสุดวิสัย แต่ผู้ที่ควรจะแก้จะถอดจะถอนหรือช่วยได้อยู่ พระองค์ก็พยายามตะเกียกตะกาย สอนโลกตั้งแต่วันตรัสรู้จนกระทั่งปรินิพพาน

เฉพาะพระพุทธเจ้าของเรานี้ก็ยังประทานพระโอวาทคำสั่งสอน คือทางเดินหรือบันไดเอาไว้ เพื่อให้เราได้ไต่ตามนั้น ให้เดินตามนั้นแล้วจะค่อยเบาบาง จะแคล้วคลาดปลอดภัย แม้จะไม่ถึงพระนิพพานแต่ก็ยังไปสู่สถานที่เป็นสุคโต เกิดก็เกิดเถิด คนบุญกับคนบาปนี้ต่างกัน คนบาปไปเกิดต้องไปเกิดในที่ไม่พึงปรารถนา เช่นตกนรกหมกไหม้ซึ่งใครอยากจะไปตก แต่แล้วก็ไปตกได้ เพราะความคะนองของตน ความอยากของตนนั้นแหละเป็นของสำคัญที่เคยทำลายเรื่อยมา

เฉพาะอย่างยิ่งว่าบาปไม่มี นี่เป็นตัวที่เสริมคนให้ทำบาปมากที่สุด คำว่าบาปไม่มีต้องอยากทำแต่ความชั่ว ซึ่งเป็นทางแห่งบาปที่จะไหลมาแห่งบาป ว่าตายแล้วสูญก็เหมือนกัน เมื่อตายแล้วสูญ เรามีชีวิตอยู่นี้อยากทำอะไรก็ทำ เพราะตายแล้วหมดความหมาย นั้นแหละผู้ยิ่งจะเหมาเอาบาปเอากรรมเอาความทุกข์ทรมานมาก

เพราะความจริงตายแล้วไม่สูญจะว่ายังไง พระพุทธเจ้าองค์สิ้นกิเลสวิเศษวิโสเลิศโลก เป็นผู้ทรงแสดงไว้แล้วสิ่งเหล่านี้ กิเลสมันวิเศษวิโสที่ตรงไหน ตั้งแต่เกิดมามันเคยไปเห็นสวรรค์นิพพานที่ไหน มีแต่มันเผาหัวใจคน เหยียบย่ำอยู่บนหัวใจคนตลอดเวลาเท่านั้น นั่นคือสวรรค์นิพพานของมัน

ถ้าหากว่าตายแล้วสูญจริงๆ กิเลสอยู่กับอะไรพิจารณากันซิ ถ้าว่าตายแล้วสูญกิเลสต้องสูญไปด้วยซิ เพราะกิเลสอยู่กับใจ ใจสูญกิเลสก็ต้องสูญไปด้วยซิจึงจะตรงกับความจริง แต่นี่เห็นไหมความทุกข์ความลำบาก ความอยากความทะเยอทะยานราคะตัณหา ยิ่งพอกยิ่งพูนยิ่งมากมูนขึ้นไปโดยลำดับลำดา ไม่เห็นหรือในหัวใจเรานี่แหละ ไม่ต้องไปดูหัวใจคนอื่น มันเหมือนกันหมดในโลกธาตุซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้

ทีนี้ขอย้อนเข้ามาถึงเรื่องการปฏิบัติที่จะให้เห็นสิ่งเหล่านี้ ปิดไม่อยู่ขอให้ปฏิบัติเถิด อุปนิสัยสามารถที่จะรู้กว้างแคบขนาดไหนในสิ่งภายนอก นอกจากอริยสัจที่จะทำใจให้บริสุทธิ์ได้แล้ว ยังสามารถที่จะรู้ได้เห็นได้รองพระพุทธเจ้าลงมาเป็นลำดับลำดา นี่ละพระสาวกอรหันต์ท่านเป็นเครื่องยืนยันพระพุทธเจ้า หรือเป็นผู้ยืนยันพระพุทธเจ้า ไม่เพียงแต่ยืนยันในความบริสุทธิ์ว่าบริสุทธิ์มาจากอะไร บริสุทธิ์มาจากอริยสัจ อริยสัจ เป็นเครื่องกลั่นกรองจิตใจให้บริสุทธิ์โดยแท้อย่างเดียว

ความรู้สิ่งเหล่านั้นยังมีอีกมากมาย ยกตัวอย่างย่อๆ เช่นอย่างพระโมคคัลลาน์ท่านไปเห็นเปรตเห็นผีเห็นอะไร แล้วมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งว่า เอ๊ย เรื่องสิ่งเหล่านี้เราเคยเห็นมาแล้วตั้งแต่ครั้งโน้นๆ นั่นเป็นสักขีพยานไหมพิจารณาซิ ภายนอกก็เป็นสักขีพยาน เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ท่านจึงเป็นสักขีพยานของพระพุทธเจ้าได้ ทั้งภายในและภายนอก

ตลอดการแนะนำสั่งสอน ก็สั่งสอนอย่างเต็มอกเต็มใจเต็มความสามารถ สั่งสอนด้วยความเมตตาจริงๆ เพราะท่านรู้ท่านเห็นในสิ่งทั้งที่เป็นโทษทั้งที่เป็นคุณมาแล้วเต็มหัวใจ ทำไมท่านจะไม่สอนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จะไม่สอนด้วยความองอาจกล้าหาญ ในสิ่งที่เคยรู้เคยเห็นมาแล้วทั้งดีทั้งชั่วนั้นเล่า

เราอยากจะให้เห็นเรื่องของเรา เราก็พยายามทำใจของเราให้สงบลองดูเป็นยังไง เพียงใจสงบเท่านั้นก็เป็นเรื่องประเสริฐแล้ว สำหรับเราที่ไม่เคยพบเคยเห็นธรรมที่สูงกว่านี้ วันหนึ่งเช่นอย่างเราไปทำงานอยู่นี้ ขอให้สมมุติว่าในขณะนี้เราทำภาวนาของเรา จิตใจของเราได้เกิดความสงบ แปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมา วันพรุ่งนี้ไปทำงานจิตจะประหวัดอยู่กับธรรมทั้งวัน จะประหวัดอยู่กับสมาธิทั้งวัน อิ่มเอิบอยู่ตลอดเวลา นั่น

ความสุขที่เกิดจากสมาธินี้ทำให้เราอิ่มเอิบตลอดเวลา ไม่เหมือนกับสิ่งทั้งหลายที่คิดไปเท่าไรร้อนเท่านั้นๆ ชอบเท่าไรยิ่งร้อนๆ ทั้งรักทั้งสงวน ทั้งยุ่งเหยิงวุ่นวาย ทั้งกังวลวุ่นไปหมด มีแต่กองทุกข์เผาเจ้าของๆ

ส่วนสมาธิธรรมท่านไม่เป็นอย่างนั้น มีแต่ความรักใคร่ความใฝ่ใจ มีแต่ความอาลัยเสียดาย อยากจะทำอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละรสแห่งธรรมแทรกเข้าถึงใจแล้ว จะเริ่มชนะกิเลส เราจะเริ่มเห็นความฟุ้งซ่านรำคาญของใจ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสผลิตขึ้นมาโดยลำดับลำดา ยิ่งจิตมีความสงบ คำว่าสงบๆ นี้สงบครั้งหนึ่งๆ นั้นสามารถที่จะสร้างรากฐานจิตใจให้มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งว่าเป็นสมาธิ คำว่าสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจอันเป็นฐานสำคัญ ซึ่งความสงบนั้นแลเป็นผู้หนุนๆ ให้เกิดขึ้นมา คำว่าความสงบนี้กรุณาอย่าได้คาดนะ ขอให้เป็นในจิตใจของท่านผู้ปฏิบัติเอง การคาดการหมายไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้เป็นขึ้นในเจ้าของเอง

คำว่าสมาธินี้เป็นอย่างไร ท่านว่า ขณิกสมาธิ สงบเพียงเล็กน้อย สงบเพียงครู่หนึ่งยามเดียวแล้วถอนออกมาพอให้เสียดาย นี้ประการหนึ่ง ประการที่สอง อุปจารสมาธิ พอจิตสงบตัวเข้าไปแล้ว ไม่ลงถึงฐานแห่งความสงบ กลับถอยตัวออกมาและไปรู้สิ่งต่างๆ จะเป็นรู้อะไรก็ตาม ทีแรกมักจะหลอกเสียก่อน แต่เป็นนิสัยอันนั้นจะต้องเป็นจะต้องรู้จะต้องเห็น จะต้องจริงจนได้เมื่อรู้จักวิธีปฏิบัติต่อความรู้ความเห็น ต่อสิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นแล้ว

ท่านเรียกว่า อุปจารสมาธิ คือเข้าไปแล้วถอยออกมาเที่ยวรู้นั้นรู้นี้เห็นนั้นเห็นนี้ ผิดบ้างถูกบ้างในขั้นเริ่มแรก เพราะเรายังไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นไม่เคยปฏิบัติ ต่อเมื่อได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยมีความชำนิชำนาญมาแล้ว ท่านแนะสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร สิ่งใดควรเสริม สิ่งใดควรตัดเข้ามา ให้ท่านแนะนำแล้วปฏิบัติตามนั้น ในเวลาหนึ่งๆ ความรู้ความเห็นของเจ้าของนั้นแหละเป็นครูของเจ้าของ ผิดก็เป็นครู ถูกก็เป็นครู และสอนเจ้าของไปในตัว ค่อยช่ำชองชำนิชำนาญ ต่อไปก็เป็นความจริงขึ้นมาเรื่อยๆ นี่เรียกว่าอุปจารสมาธิ

อัปปนาสมาธิ นั้นคือความแนบแน่นของใจ อยู่เฉยๆ ก็ตาม ท่านเรียกว่าอัปปนาสมาธิ คือมีความมั่นคงอยู่ตลอด แม้เราจะคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องใดอยู่ก็ตาม ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เข้าสมาธิ แต่จิตนั้นมีความแน่นปึ๋งเหมือนภูเขาทั้งลูกอยู่ภายในตัวเอง ขอให้พูดเต็มปากเถิดว่าอยู่ในท่ามกลางอก ไม่ได้อยู่บนสมอง สมองนั้นเป็นที่ทำงานของความจำ แต่เรื่องความจริงทางภาคปฏิบัติธรรมแล้ว จิตจะทำงานอยู่ที่ตรงกลางคือทรวงอกของเรานี้

จะตรงไหนก็ตามให้พึงเข้าใจเอาไว้ว่าตรงกลางอกของเรา จิตเป็นสมาธิก็เริ่มผ่องใสเริ่มสงบที่หัวอกของเรา ผ่องใสมากน้อยเพียงไรเห็นอยู่ตรงนี้ๆ ไม่ขึ้นบนสมองเหมือนภาคความจำเลย นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ แม้ธรรมทุกขั้นทางภาคปฏิบัติจิตตภาวนา ก็จะพึงเกิดขึ้นเป็นขึ้นในท่ามกลางอกเช่นเดียวกันนี้แล ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติจะพึงทราบด้วยตัวเอง

ทีนี้เวลาจิตเป็นสมาธิเต็มที่ของตัวเองแล้ว เราจะคิดจะอ่านอะไรอยู่ก็ตาม ไม่ได้เข้าสมาธิ แต่จิตนั้นย้อนมาดูเมื่อไรจะแน่นปึ๋งๆ อยู่ตลอดเวลา นี้คือฐานแห่งสมาธิได้คงตัวแล้ว ได้สร้างฐานขึ้นเต็มที่แล้ว ทีนี้พอเราย้อนเข้ามาสู่สมาธิ จะภาวนาเพื่อระงับดับอาการของความคิดความปรุงทั้งหลายซึ่งเป็นแขนงของจิต จิตนี้ก็จะสงบตัวเข้ามาๆ แล้วสงบอย่างรวดเร็ว

เพราะความชำนาญของผู้มีสมาธิขั้นนี้ กำหนดเมื่อไรได้เมื่อนั้น แน่นปึ๋งเลย อาการทั้งหลายที่เคยคิดเคยปรุงนั้นหมดเงียบ เหลือแต่ความรู้ที่อัศจรรย์ แน่วอยู่เพียงอันเดียวเท่านั้น นี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งพอเข้าถึงที่แล้วปล่อยหมด โลกธาตุนี้เหมือนไม่มี แม้ที่สุดร่างกายของเจ้าของก็หมดความรู้สึกไปโดยสิ้นเชิง เหลือสักแต่ว่ารู้เท่านั้น นั่นก็เป็นสมาธิประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเป็นขึ้นตามจริตนิสัยของแต่ละราย ไม่เหมือนกันทุกรายไปในวงปฏิบัติ

ให้เห็นในหัวใจเจ้าของซิ มีแต่เราเรียนตามตำรับตำรา ตำรับตำราท่านรู้แล้วท่านเห็นแล้ว ท่านบอกสอนเราแต่เราไม่ได้ทำ จึงไม่รู้ไม่เห็น ความรู้ในสมาธิเลยไปอยู่ในตำราเสีย ปัญญาก็อยู่ในตำราเสีย อยู่ในคัมภีร์เสีย วิมุตติหลุดพ้นอยู่ในคัมภีร์เสีย แต่การตกนรกอเวจีเป็นเราไปตกเองใช้ได้เหรออย่างนั้น จึงต้องปฏิบัติ

ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมะของเล่นๆ รู้รู้จริงๆ ขวนขวายจริงๆ ตรัสรู้ๆ ธรรมของเลิศของประเสริฐจริงๆ พระองค์เลิศแล้วในหัวใจ ไม่มีหัวใจใดเลิศยิ่งกว่าหัวใจของผู้สิ้นกิเลส เลิศอยู่ในหลักธรรมชาติ เป็นอยู่ในหลักธรรมชาติ นั่น เราปฏิบัติทำไมจะไม่รู้ไม่เห็นในเมื่อธรรมเป็นของมีอยู่

ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าจะผิดอะไรกับตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน ถ้าเราจะเทียบก็เหมือนห้างร้านใหญ่ๆ นั่นแล เอ้า สินค้ามีกี่ประเภท เรามีเงินหาซื้อได้ ไม่ต้องว่ามีเงินหมื่นๆ แสนๆ เอ้า เงินล้านๆ ก็ไปซื้อซิ ของในร้านเป็นยังไง จนตรอกจนมุมไหม อันนั้นราคาเท่านั้นๆ หาซื้อได้หมด นี่ก็เหมือนกันตั้งแต่พื้นๆ แห่งธรรม พื้นๆ แห่งบุญ ไม่ว่าการให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา ทำลงไปจะปรากฏขึ้นจากศาสนธรรมนี้ทั้งนั้นๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น นี่เรียกว่าราคาสินค้าที่สุดยอด ที่สุดแห่งธรรมได้แก่วิมุตติพระนิพพาน จะรู้ขึ้นจากศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านี้ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ไม่เป็นที่ไหนๆ ไม่เป็นอย่างอื่นไม่เป็นที่อื่น จะเป็นขึ้นจากจิตนี้เท่านั้น

การปฏิบัติธรรมให้เห็นอย่างนั้นซิ นี่มีแต่ท่องบ่นสังวัธยายธรรม แต่ไม่สนใจปฏิบัติธรรม เมื่อถูกถามว่าถือศาสนาอะไร ดูอยากจะพูดตั้งแต่อยู่ในท้องแม่โน่น ว่าถือศาสนาพุทธๆ ลูกก็พุทธ แม่ก็พุทธ พ่อก็พุทธ บทการกระทำนั้นเหมือนบ้า ทำไมจึงว่าเหมือนบ้า ก็ไปเที่ยวกินเหล้าเมาสุราละซิ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่ากินเหล้านั้นเป็นอย่างไร สุราเป็นอะไร คือเครื่องมึนเมา กินเข้าไปแล้วทำคนให้เสียความเป็นปกติดีงาม ดีไม่ดีก็เป็นบ้า กินมากๆ แล้วเป็นบ้า

ขออภัยมากๆ นะพูดตามความจริง แต่ผู้เป็นเป็นได้ ผู้พูดตามทำไมจะพูดตามไม่ได้ ถ้าจะยอมรับความจริงกันน่ะ บางทีขี้ทะลักออกก็มี เพราะไม่รู้เนื้อรู้ตัว เห็นไหมโทษของสุราทำคนให้เป็นบ้าอย่างสดๆ ร้อนๆ ยังนำมาอวดโลกอวดธรรมว่าสุราดีอย่างไม่กระดากอายอยู่หรือ ถ้าขืนปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปไม่ยอมระลึกรู้โทษของมัน จึงน่ากลัวชาวพุทธเราจะเป็นบ้ากันทั้งเมืองไม่อาจสงสัย

นี่ใครเป็นคนสอนไว้ ทำไมเราถึงต้องฝ่าต้องฝืนเอานักเอาหนาถ้าเราเป็นชาวพุทธ ไม่ใช่ชาวพุทธดื้อด้านสังหารธรรมของพระพุทธเจ้า สังหารศาสนาของพระพุทธเจ้า จะเป็นใครถ้าไม่ใช่พุทธบริษัทเรา ท่านก็แสดงไว้แล้วว่า พุทธบริษัทนี้แลจะเป็นผู้ยังศาสนาให้เจริญ และจะทำศาสนาให้เสื่อมให้ฉิบหายไป จะเป็นใครจะคือพวกใด ดังที่กล่าวมาแล้วนี้

ปาณาฯ ฆ่ากันเร็วยิ่งกว่าลิง อทินนาฯ ฉกลักเผลอไม่ได้ ฟังซิชาวพุทธอะไรจึงต้องเป็นอย่างนั้น กาเมสุ มิจฉาจาร ยิ่งส่งยิ่งเสริมยิ่งวุ่นยิ่งวาย เวลานี้ไม่มีขอบเขต สุนัขสู้ไม่ได้ทีเดียว ตะเกียกตะกายหาแต่เรื่องเป็นบ้านี้มาเผาครอบครัวผัวเมียให้เป็นฟืนเป็นไฟไปตามๆ กัน ตลอดลูกเล็กเด็กแดงไม่มีเว้น ที่ไฟพรรค์นี้จะไม่เผาให้เดือดร้อนไปตามๆ กัน

ราคะตัณหานี้เวลาเกิดแล้วเป็นยังไง เป็นของดีไหม ไม่มีขอบมีเขตไม่มีเหตุมีผล มีแต่ความอยากความทะเยอทะยานดิ้นอยู่ เราเคยเห็นไหมสุนัข เวลาเขาคึกเขาคะนอง โอ๊ย กัดกันฉีกแหลกไปหมดเลย ตัวตายก็มีตัวเจ็บก็มี เสียสุนัขไปมากมายก่ายกองในเวลาที่มันคึกมันคะนอง นี่จิตใจของเราคึกคะนอง ไม่มีธรรมเป็นเครื่องเยียวยารักษา ไม่มีธรรมเป็นเครื่องปราบปรามเลยเป็นเช่นนั้นแหละ

ท่านถึงสอนว่า กาเมสุ มิจฉาจาร ให้มีภาคปฏิบัติรักษากันบ้างซี พระก็มีภาคปฏิบัติตามเรื่องของพระ โยมก็มีภาคปฏิบัติตามเรื่องของโยม แล้วจะงามไปทั่วหน้ากัน ในครอบครัวของเราก็งาม ในตัวของเราก็งาม ในสังคมต่างๆ ที่มีศีลธรรมคุ้มครองรักษาอยู่ก็งาม งามไม่มีสิ้นสุดกุดด้วน งามไปตลอดสายไม่จืดจางว่างเปล่า

เฉพาะอย่างยิ่งศีล นี้ก็พออยู่พอกินแล้ว เต็มภูมิของฆราวาสแล้ว กาเมสุ มิจฉาจาร ก็ให้มีขอบมีเขต ให้รู้ว่านี้เมียเรานั้นเมียเขา นั้นของเขานี้ของเรา นั้นสามีเรานี้สามีเขา ให้ต่างคนต่างรักษาขอบเขตของตนด้วยความเข้มแข็ง ด้วยการเทิดทูนธรรมของพระพุทธเจ้า คือ กาเมสุ มิจฉาจาร นี้ไว้ ใครจะเป็นผู้เย็น เรานั้นละเป็นผู้เย็น สามีก็เย็น ภรรยาก็เย็น ไม่ต้องระแวงแคลงใจซึ่งกันและกัน ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยสิ่งเหล่านี้ จะไปไหนไปเถอะ อยากจะไปทำงานในบ้านนอกบ้านไปเลย เมื่อรู้หลักของศีลของธรรม ปฏิบัติตนตามหลักของศีลของธรรมแล้วเย็นไปหมด

มุสาฯ ก็เหมือนกัน คำโกหกใดก็ตาม จะขอสรุปเอาเลยเรื่องมุสานี่ โกหกใดก็ตามไม่เท่าสามีมาโกหกภรรยานะ ภรรยาโกหกสามี เรื่องราคะตัณหาเรื่อง กาเมสุ มิจฉาจาร นะ นี้สำคัญมาก อย่านำไปใช้เพื่อจะได้โกหกแบบนี้นะ นี่คือการโกหกชนิดฉิบหาย เวลาตายไม่มีพระกล้าไปให้บุญ คือ กุสลา มาติกา นะจะว่าไม่บอก กรุณาทราบไว้เสียแต่บัดนี้จะไม่สายเกินไป

ถ้าเรารักษาได้เพียงศีล เท่านี้เป็นยังไง ผลย่อมสวยงามไปหมด ในครอบครัวเหย้าเรือนเย็นไปหมดนั่นแหละ  เรายังไม่เห็นคุณค่าของศาสนธรรมอยู่เหรอ  ยังจะว่าศาสนธรรมนี้หมดมรรคผลนิพพานอีกอยู่หรือ ก็หมดละซิเพราะตัวของเราไม่มีคุณค่าอะไร ที่จะสนใจประพฤติปฏิบัติต่อหลักศีลหลักธรรม แล้วเราจะเอาอะไรมามีคุณค่า

ศาสนาท่านสอนลงที่หัวใจคน สอนลงในความประพฤติของคน แต่ความประพฤติของเราเหมือนกับลิง ใจของเราลิงร้อยตัวสู้ไม่ได้ มันดิ้นมันดีดทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาจนกระทั่งถึงค่ำ บางทีนอนไม่หลับ เพราะความคิดมาก ยุ่งเหยิงวุ่นวายมาก บางรายเป็นบ้าเพราะความคิดเลยเถิดก็มี เรายังไม่เห็นโทษแห่งกิเลสฟัดหัวเราอยู่เหรอ ยังจะกล้าไปตำหนิธรรมว่าไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อันใดเลยอยู่อีกเหรอ นี่ความคิดเรามันผิดไปกี่ชั้นแล้ว จึงควรระลึกรู้สึกตัว แล้วแก้ไขเสียแต่บัดนี้ที่ยังเป็นกาลอันควรอยู่ อย่ามัวไปตำหนิธรรมท่านให้เสียตัวเราเพิ่มเข้าไปอีก

การเรียนก็เรียนมาอย่างนั้น ปฏิบัติก็ปฏิบัติอย่างนั้นๆ ไม่มีความจริงความจังอะไร เพียงให้สวดมนต์ไหว้พระว่า อรหํ สมฺมาฯ แอ้ๆ จะหลับแล้วอยู่ในห้องพระนั่นแหละ พอ พุทโธๆ แอ้ไปอีกแล้ว โลกธาตุโน่น กิเลสลากไปถลุงหมดแล้ว กลับมามีแต่กระดูก เนื้อเอาไปกินหนังเอาไปกินหมดแล้ว…กิเลส ตับไตไส้พุงกิเลสเอาไปกินหมด เรายังมาครอกๆ อยู่สบาย ยังเหลือแต่กระดูกก็นอนได้ถ้าลองกิเลสได้กล่อมแล้วคนเรา เอ้า พิจารณาซิ กิเลสทำคนมันทำอย่างนี้แล นี่ละขอให้ท่านทั้งหลายได้นำไปประพฤติปฏิบัติ

ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านี้คือ ตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน อกาลิโก หมายความว่าอย่างไร เรากล่าวเราสวดอยู่ทุกวัน สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก นั่น ธรรมมีกาลมีเวลาเมื่อไร ขอให้ปฏิบัติตามหลักนั้น พระพุทธเจ้าจะโง่ถึงขนาดนั้นเชียวเหรอ มรรคผลนิพพานหมดแล้วสิ้นแล้ว ยังมาประกาศธรรมสอนโลกปาวๆ อยู่ จะสมชื่อสมนามเหรอว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกของโลก

ให้เราคำนึงถึงท่านผู้เป็นศาสดาซิว่าฉลาดขนาดไหน ทรงมรรคทรงผลมาแล้วด้วยเหตุผลกลไกอะไร ก็แนะนำสั่งสอนโลกด้วยเหตุผลกลไกอันนั้นอย่างเต็มพระทัย ด้วยพระเมตตาสุดส่วน นอกจากว่าพวกพุทธบริษัทเรานี้มันดื้อมันด้านสันดานหยาบเข้าไปทุกวันๆ เสียเท่านั้น จึงไม่ยอมฟังเสียงอรรถเสียงธรรมที่ประกาศกังวานเรื่อยมา ในพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ก็ ๒๕๐๐ กว่าปีนี้แล้ว

ต่อไปนี้ศาสนาจะไม่มีเหลือในหัวใจของมนุษย์เรานะ จะมีแต่ชื่อแต่นามเท่านั้นละ เมื่อเป็นเช่นนั้นคนจะตกนรกหมกไหม้ทั้งเป็นนี้แหละ ยังไม่ไปตกนรกเมืองผีก็ตกนรกเมืองคนนี้ก่อน วันหนึ่งๆ หาความสุขความสบายไม่ได้เลย เรื่องเงินทองนั้นมี สมบัติเงินทองมี ความฉลาดมี แต่เป็นเรื่องของกิเลสครอบครองเสียทั้งหมดจะว่าไง จึงกลายเป็นฟืนทั้งกอง

เงินกองเท่าภูเขานี้ก็เป็นกองฟืนทั้งกอง เพราะเจ้าของไม่รู้วิธีปฏิบัติ ให้กิเลสมันพาใช้เงินทองเหล่านั้น มันก็เอาไปถลุงหมด ทำให้เจ้าของเดือดร้อนขึ้นทุกวันๆ เงินทองกองสมบัติก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะอำนาจของกิเลสบนหัวใจมันฉุดมันลากไปเพื่อความล่มจมฉิบหายเสีย มากกว่าที่จะนำมาทำประโยชน์แก่ตน ครอบครัวและสังคมต่างๆ ตามควรแก่สมบัติที่มีมากน้อย

สิ่งใดก็ตามไม่ว่าความรู้ความฉลาด ก็ฉลาดไปในทางที่จะทำตัวให้ฉิบหายเสีย ฉลาดไปในทางสังหารตัวเสีย ฐานะดีชั่วอะไรก็เป็นความสำคัญของกิเลส กิเลสเข้าไปทำงานอยู่นั้นหมดเรารู้ไหม เรายังภูมิใจอยู่หรือว่าเรามีฐานะมีเงินทองข้าวของมากมายก่ายกอง เรามีความรู้ความฉลาด เรามีฐานะดี เรายังภูมิใจอยู่หรือ เวลานี้ยังเหลือแต่กระดูกเราคิดบ้างซิ ถ้าเอาธรรมของพระพุทธเจ้าเข้าไปจับแล้วจะรู้ทันที ถ้าไม่จับแล้วจนกระทั่งวันตายก็ไม่รู้ เพราะธรรมพระพุทธเจ้าสอนคนให้รู้ ไม่ใช่สอนคนให้หลงให้งมงาย

เวลานี้พวกเรางมงายขนาดไหนแล้วชาวพุทธเรา ต้องขออภัยด้วยนะนับหลวงตาบัวเข้าด้วย หลวงตาบัวนี้เป็นตัวงมงาย จึงต้องมีแต่เรื่องงมงายมาสอนลูกศิษย์ลูกหานั่นแหละ ขอให้ท่านทั้งหลายนำไปพินิจพิจารณาแล้วพยายามแก้ไขดัดแปลงตนเอง ถ้าอยากเห็นสารคุณของตัวเอง อยากเห็นสารคุณของศาสนาที่ว่าพระพุทธเจ้าประกาศไว้นั้นจริงไหม ให้เห็นในหัวใจของเจ้าของนี่ซิ

นี่ไม่ปฏิบัติ มีแต่จะคว้าเอาผลๆ เหตุไม่สนใจเลยเป็นยังไง นั่งภาวนาเพียง นาทีส่วนจิตให้กิเลสลากไป ทวีป กลับมาแล้ว แหม เรานั่งภาวนาตั้งเท่านั้นนาทีเท่านี้นาที ไม่เห็นได้ผลได้ประโยชน์อะไร เรานอนเสียดีกว่านะ นั่นเห็นไหมกิเลสมันกล่อม ดีกว่านะ คนในโลกนี้นอนมาสักเท่าไรแล้ว ถ้าว่าดีกว่าก็เลิศกว่าศาสนาละซิ เลิศกว่าธรรมละซิ ไม่จำเป็นจะต้องมาถือศาสนาให้เสียเวล่ำเวลา เพียงความนอนที่ว่าดีกว่าหนาก็พอแล้ว ให้พี่น้องทั้งหลายพากันพิจารณา จะได้ไม่มามัวทวงเอาคะแนนจากธรรม ด้วยการภาวนาที่กิเลสฉุดลากไป โดยไม่ยอมรู้สึกตัวว่าถูกต้มตุ๋นจากกิเลสอยู่เรื่อยไป

วันนี้ได้มีโอกาสมาเทศน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้ถือว่าเป็นใกล้เป็นไกลที่ไหน ถือเป็นพุทธบริษัท เหมือนลูกพ่อเดียวกันคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ท่าน เป็นพ่อที่วิเศษวิโส เป็นพ่อที่ตายใจได้ ไม่มีอะไรในสามแดนโลกธาตุนี้ที่จะให้วิเศษวิโสตายใจได้เหมือนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเราตั้งใจอยากเป็นคนดีก็ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่าให้แต่กิเลสลากไปถูไปทั้งวันทั้งคืน

มองไปที่ไหนถ้าหากว่าท่านผู้มีญาณหรือท่านผู้สิ้นกิเลส ดังพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านมองดูเรานี้ จะเหมือนมองดูคนบ้านะ เป็นยังไง คือกิริยาอาการที่แสดงออกไปอะไร มีแต่กิเลสมันผลักดันมันเตะมันถีบยันออกไปๆ เตะไปโน้นเตะไปนี้ กลิ้งไปกลิ้งมา แล้วก็มาบ่นว่ายุ่งว่าเหยิงว่าวุ่นว่าวาย ก็ยุ่งละซี เรื่องกิเลสมันพาคนให้สงบเย็นใจได้เมื่อไร ให้มีความสะดวกสบายได้เมื่อไร มีแต่เรื่องฟืนเรื่องไฟก็คือกิเลส ท่านจึงสอนธรรมะลงไปเพื่อจะดับกิเลส ให้พากันเข้าใจแล้วประพฤติปฏิบัติ

ที่สำคัญก็คือว่าบาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี นิพพานมี พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์จะไม่สอนค้านกันเลย เพราะท่านเห็นบาปแล้ว เห็นบุญแล้ว เห็นนรกแล้ว รู้นรกแล้ว รู้สวรรค์แล้ว รู้นิพพานแล้ว จึงนำธรรมที่รู้ที่เห็นที่เป็นอยู่มาตั้งกัปตั้งกัลป์นี้มาสอนโลก ท่านจึงสอนแบบเดียวกันทุกๆ พระองค์

เราอย่าให้กิเลสมาอวดรู้อวดฉลาดแข่งธรรมบนหัวใจ ซึ่งธรรมดามันก็แข่งธรรมและเป็นข้าศึกของธรรมอยู่แล้ว ให้มันพามาเป็นข้าศึกของธรรม ลบล้างบาปว่าไม่มี บุญว่าไม่มี แล้วเอาบาปมาเผาตัวเราเองโดยไม่รู้สึกตัว เราอย่าโง่ต่อมันขนาดนั้นซิ เราเป็นชาวพุทธให้มีความเฉลียวฉลาด สอนตัวเองเข้าไป ธรรมท่านว่ายังไงให้เชื่อธรรม ธรรมออกมาจากท่านผู้สิ้นกิเลส กิเลสเป็นตัวข้าศึกที่ทำลายโลกมามากต่อมากแล้ว ให้คิดให้อ่าน ชาวพุทธไม่คิดไม่อ่านไม่มีใครที่จะคิดจะอ่านละ

เอ้า ให้ปฏิบัติลงไป ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ควรจะได้ขั้นไหนก็ให้ได้ ตะกี้นี้พูดถึงเรื่องสมาธิ เอ้า ขั้นของสมาธินี้ได้พูดให้ฟังแล้ว สมาธิถึงขั้นละเอียดสุด แต่ไม่ให้พี่น้องทั้งหลายคาดนะ ให้เป็นขึ้นภายในใจตัวเองนั้นแหละเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เราคาดไม่ถูก จะกลายเป็นอะไรนอกๆ ไปเสีย เป็นสัญญาอารมณ์ไปเสีย ให้พยายามทำตามที่ท่านสอนแล้วจะปรากฏขึ้นมา สมาธิขั้นใดก็ตามจะเป็นขึ้นในวงปัจจุบันเป็นสำคัญ ไม่เป็นขึ้นจากอารมณ์อดีตอนาคต

ทีนี้พูดถึงเรื่องปัญญา ปัญญาตั้งแต่เริ่ม ตรุณวิปัสสนา ท่านเรียกว่าปัญญาอ่อนๆ พยายามพาคิดพาค้น เบื้องต้นปัญญาจะไม่ก้าวไม่เดินนะ เราอย่าเข้าใจว่าผู้มีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดเอง ตายเปล่าๆ นั่นแหละ เอาภาคปฏิบัติไปจับซิ ให้เห็นในตัวของเราเอง สมาธิเป็นรสชาติขนาดไหน มีรสชาติขนาดไหน

ทำให้ติดได้นะสมาธิ ถ้าเราต้องการธรรมที่สูงที่ละเอียด ที่เลิศเลอยิ่งกว่าสมาธิ จึงต้องได้ใช้ปัญญา เพื่อจะพิจารณาคลี่คลายถึงโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อันเป็นอยู่มีอยู่ทั้งตัวเขาตัวเรา ให้รู้แจ้งเห็นชัดไปโดยลำดับ นับแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียดสุดของสมมุติทั้งสามนี้

คำว่าปัญญา คือการสอดส่อง การพินิจพิจารณาใคร่ครวญ มีกฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง เป็นทางเดินของปัญญา เราจะพิจารณาถึงเรื่องอสุภะอสุภังก็ตาม พิจารณาถึงเรื่องกฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ตาม ให้เราพิจารณาตัวของเรา แล้วเทียบเคียงทั้งภายนอกภายในเข้ามา เมื่อปัญญาได้เห็นเหตุเห็นผลจากการปฏิบัติ ด้วยการบังคับบัญชาของสติแล้ว จะค่อยก้าวไปเอง เหมือนกับเราเห็นผลของงานแล้วมีความขยันหมั่นเพียรเอง

ในขั้นเริ่มแรกนี้ปัญญายังไม่เห็นผลของตนที่เกิดขึ้นทางด้านปัญญา จึงต้องได้อาศัยการบังคับบัญชา ไม่อย่างนั้นจะนอนจมอยู่ในสมาธิ เพราะคำว่าสมาธินี้เป็นของสำคัญมากนะ จะให้อยู่สักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้ เพราะไม่ยุ่งกับอะไรเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ระงับหมดไม่เอามาใช้ในเวลานั้น เหลือแต่ความรู้อันเดียวที่แน่วอยู่เท่านั้น ก็ทำให้เพลินอยู่นั้นได้ทั้งวัน สมาธิที่ละเอียดมากเป็นเช่นนั้น ให้เห็นในหัวใจเจ้าของแล้วก็พูดได้เองคนเรา

สมาธิทำให้ผู้ปฏิบัติติดได้ เพราะมีรสชาติที่สำคัญมาก พอจิตแย็บออกไปสู่รูป เสียง กลิ่น รส จะต้องเป็นความคิดความปรุง มันขี้เกียจคิดขี้เกียจปรุง เข้ามาอยู่ภายในจิตอันเดียวไม่ต้องปรุงยุ่งเหยิงวุ่นวายกับอะไร มีแต่ความรู้ที่แน่วอยู่เท่านั้นแสนสบาย นี่คือขั้นสมาธิที่ละเอียด ก็ยอมรับว่าแสนสบาย ถ้าไม่มีปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทีนี้พอใช้ปัญญา ปัญญาเบื้องต้นเราต้องพาพิจารณาคลี่คลาย หลังจากจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว คำว่าสมาธินั้น เป็นธรรมชาติที่สามารถที่จะหนุนปัญญาได้ทุกขั้นของสมาธิ เราอย่าเข้าใจว่าสมาธิที่แนบแน่นที่สุดแล้วจึงจะมาใช้ปัญญา นั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยตรงกับความจริงทางภาคปฏิบัตินัก

สมาธิขั้นใดก็ตาม สามารถที่จะหนุนปัญญาให้เกิดขึ้นได้ตามขั้นของตนๆ โดยลำดับลำดา เมื่อออกจากทางด้านปัญญาที่เราพิจารณาจนมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วก็เข้าสู่สมาธิ เวลาเข้าสู่สมาธิอย่ายุ่งกับปัญญา ให้ทำหน้าที่ของสมาธิอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนกับว่าโลกนี้ไม่มี

ทีนี้เวลาถอยออกจากสมาธิก็ให้พิจารณาทางด้านปัญญา ขณะเดินปัญญาก็อย่าห่วงสมาธิเช่นกัน เอ้า ทีนี้มีอะไรพิจารณาให้คล่องแคล่ว ให้รู้ให้เห็นว่า อนิจฺจํ เป็นยังไง ให้เห็นประจักษ์ในหัวใจของเรา ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นยังไง จนกระทั่งถึงทั่วแดนโลกธาตุ เป็นแบบเดียวเหมือนกันนี้หมด แล้วจะไปยึดไปถืออะไร นั่นถึงเรียกว่าปัญญารอบตัว

พอปัญญามีความสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาโดยลำดับๆ แล้วก็ไปขัดใจของเรานั้นแหละ ใจที่อยู่ในสมาธินั้นก็เหมือนกับว่า ถ้าเป็นไม้ซุงก็ซุงทั้งดุ้นไม้ซุงทั้งต้นยังไม่ได้เจียระไน ต้องเอามาเลื่อยมาไสกบลบเหลี่ยมเสียก่อน ถึงจะสำเร็จประโยชน์ขึ้นมา นี่ก็เหมือนกันเมื่อปัญญาได้เจียระไน จิตของเรานี้ก็มีความผ่องใสออกมาเรื่อยๆ ความผ่องใสของจิตที่ขัดด้วยปัญญา ความสว่างกระจ่างแจ้งของจิตที่ขัดด้วยปัญญานี้ ต่างกันกับความผ่องใสในขั้นสมาธิ

ที่นี่จะทำให้จิตเพลินกับการพิจารณา เพลินได้ทั้งวันทั้งคืนเมื่อผลเริ่มปรากฏขึ้นมาแล้ว ในขณะที่พิจารณาทางด้านปัญญามีความสว่างกระจ่างแจ้งนั้นแล เป็นขณะที่ฆ่ากิเลสไปด้วยกัน หรืออย่างน้อยกิเลสก็สงบตัวลงไปเรื่อยๆ ฆ่ากันไปเรื่อยๆ ชำระกันไปเรื่อยๆ ขาดกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าถึงขั้นภาวนามยปัญญา แต่จะขออธิบายภาวนามยปัญญานี้เพียงสังเขป ให้พอเหมาะกับกาลเวลา

คำว่าภาวนามยปัญญานั้น เกิดขึ้นจากทางด้านภาวนาล้วนๆ ไม่อาศัยอันใดมาเป็นเครื่องอุดเครื่องหนุน นอกจากปัญญาขั้นเริ่มแรกนี้เป็นเครื่องหนุนให้มีความชำนิชำนาญแล้วก็คล่องตัวไปเท่านั้น ปัญญาขั้นนี้แลที่ท่านว่าภาวนามยปัญญา หรือปัญญาอัตโนมัติ หมุนตัวไปเองอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับกิเลสที่เคยหมุนตัวอยู่ในหัวใจของเราโดยอัตโนมัติ เวลามีอำนาจย่อมเป็นเช่นนั้น

ทีนี้ปัญญาเมื่อมีอำนาจทันกิเลส และมีอำนาจเหนือกิเลส แม้กิเลสจะยังมีอยู่ก็ตามปัญญาจะไม่หยุดไม่ถอย จะหมุนตัวติ้วๆ ไปเองโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน การหมุนนั้นหมุนเพื่อฆ่ากิเลส คุ้ยเขี่ยขุดค้นหากิเลส เมื่อเจอกันแล้วก็ฟัดกันๆ ขาดสะบั้นลงไปภายในจิตใจ

จนกระทั่ง เอ้า ขอสรุปเลย ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญา ออกไปจากภาวนามยปัญญาที่ช่ำชองนี้เอง เมื่อถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้ว เอ้าที่นี่กิเลสตัวไหนมีอยู่ที่ไหน จะเป็นเหมือนกับไฟได้เชื้อเผาเข้าไปๆ ถึงจะยังไม่ไหม้ก็ตาม เชื้อของไฟมี อยู่ที่ไหนอยู่เถอะลองไฟได้จ่อเข้าไปแล้ว จะลุกลามไปหมด

นี่ก็เหมือนกัน ตปธรรมเป็นเครื่องแผดเผากิเลส เผาลงไปๆ จนกระทั่งถึง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี่ตัวเป็นเชื้อที่พาให้สัตว์ทั้งหลายเกิด สัตว์ทั้งหลายตาย ปัญญาอัตโนมัติแล้วยังไม่แล้ว ยังมหาสติมหาปัญญาสังหารเข้าไป จน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา พังทลายลงไป เหลือแต่ใจล้วนๆ นั่นท่านเรียกว่าความบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์

สมุทัยคืออะไร สัจธรรมคืออะไร สติปัญญาก็คือสัจธรรม คือมรรคสัจ อวิชชาคือสมุทัยสัจ นั่นพังกันตรงนั้นเห็นไหม นี่ละท่านว่าอริยสัจทำงานท่านทำอย่างนั้น นิโรธคือความดับทุกข์ ดับมาเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งวาระสุดท้ายอวิชชาพังลงจากใจแล้ว นิโรธแสดงตัวเต็มที่ ตั้งแต่ขณะนั้นไม่มีอะไรมาแสดงอีกเลย นั่นท่านเรียกว่าบริสุทธิ์

บริสุทธิ์ขึ้นมาจากอริยสัจ นี้ยืนยันได้เลย พระพุทธเจ้าพระสาวกกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านๆ พระองค์ก็ตาม จะไม่นอกเหนือจากอริยสัจนี้เลย เพราะฉะนั้นอริยสัจนี้จึงเป็นเครื่องยืนยัน ทำผู้ปฏิบัติให้บริสุทธิ์ได้โดยไม่มีที่สงสัย

เวลานี้อริยสัจ มีไหมที่พวกเรา เราจะมาหาตำหนิติเตียนเรา ว่ามีอำนาจวาสนาน้อยบุญน้อย ให้กิเลสกล่อมเอาๆ กล่อมทั้งวันทั้งคืนกล่อมอยู่ตลอดเวลา มันเกินไปชาวพุทธเรานั่นน่ะ ให้มีสติสตังบ้างซิ ทำไมจึงให้กิเลสกล่อมเอาว่าอำนาจวาสนาน้อย แล้วกิเลสมีอำนาจวาสนามากมาจากไหนเมื่อไร มันสร้างตัวของมันอยู่ตลอดเวลา มันไม่เห็นว่ามันมีอำนาจวาสนาน้อยบุญน้อย

เวลาเราจะสร้างคุณงามความดีเพื่อปราบกิเลส อย่างน้อยเพื่อตัดภพตัดชาติให้ย่นเข้ามา ตัดภพตัดชาติให้น้อยลง เช่นเรามีภพยังจะต้องเกิดอีกอยู่เป็นหมื่นๆ แสนๆ ชาติก็ตาม ด้วยอำนาจแห่งความดีของเราที่ได้สร้างมาโดยลำดับลำดานี้ จะย่นวัฏวนเข้ามา ย่นวัฏจักรเข้ามา ด้วยอำนาจแห่งความดีนี้ จนกระทั่งเข้ามาถึงขั้นเฉพาะ ขั้นตายตัว ได้แก่ถึงขั้นสำเร็จพระโสดา

พอขั้นสำเร็จพระโสดาแล้ว ท่านว่าอย่างอ่อนจะมาเกิดในภพในชาตินี้อีกเพียง ชาติเท่านั้นและก็ไม่ตกนรก ท่ามกลางก็มาเกิดอีก ชาติ ย่นเข้ามาอีก เอกพีชี มาเกิดเพียงชาติเดียว ชาติเดียวนั้นอาจจะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานในชาตินั้นก็ได้ เช่นอย่างพระอานนท์ ท่านสำเร็จพระโสดามาในปัจจุบันนั้นแล้ว พอวันจะทำสังคายนาท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเต็มองค์ นั่นเอกพีชี อาจจะเป็นชาติเดียวนี้ก็ได้ หรือย้อนลงมากลับมาเกิดอีกชาติหนึ่งก็ได้

อย่างไรก็ตามท่านเหล่านี้เป็นผู้ที่แน่นอนที่สุด ไม่มีที่จะต้องยืดภพยืดชาติออกไปให้มากมายเลย สุดท้ายก็ถึงที่สุดวิมุตติพระนิพพาน สังหารทุกข์ทั้งมวลให้ขาดสะบั้นลงโดยสิ้นเชิงได้ ในธรรมบทว่า ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด

แต่ผู้สร้างบาปนั่นซี เป็นการขยายภพออกไป ไม่ใช่สูญพันธุ์สูญภพ ขยายออกไปเรื่อยๆ กิเลสมันบอกวาตายแล้วสูญๆ ความจริงมันแผ่กระจายภพพันธุ์ของมัน เพื่อจะได้ครอบหัวใจของสัตว์โลกต่อไปไม่มีประมาณกาลเวลา กรุณาท่านทั้งหลายพิจารณานะ เหล่านี้เป็นคำของศาสดาองค์เอกมาสอนพวกเรา

กิเลสสอนพวกเราสอนมามากขนาดไหน เราได้รับความล่มความจมจากมันมากเท่าไรแล้ว ควรจะนำมาคลี่คลายพินิจพิจารณาบวกลบคูณหาร ให้รู้ผลรู้ต้นรู้ปลายของมันบ้างแล้วฟัดเหวี่ยงกัน เราจะเป็นคนดีขึ้นมา เราจะมีความเย็นขึ้นมาในวันหนึ่งๆ จนกลายเป็นคนดีมีความสุขประจำตัว ประจำภพชาติ และสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ด้วยความดีของเรา

วันนี้พูดถึงอริยสัจ จนกระทั่งถึงอริยสัจสุดท้ายได้แก่อวิชชาพังไป นั้นแหละอริยสัจที่ยอดเยี่ยมที่สุด สมุทัยได้แก่อวิชชา มรรคที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็คือมหาสติมหาปัญญา ฟัดกันลงไปขาดสะบั้นไม่มีอะไรเหลือแล้ว ไม่ต้องบอกว่าเลิศก็เลิศ และไม่ต้องบอกว่าจะไปเกิดที่ไหนอีกทีนี้ ภพชาติที่เคยเกิดมามากน้อยเพียงไรประจักษ์แจ้งในปัจจุบันนี้หมด ตัวนี้เองเป็นตัวที่สร้างภพสร้างชาติมากี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านๆๆ ภพ คือ อวิชชาตัวนี้เองๆ

ทีนี้พออวิชชาขาดสะบั้นออกไปจากหัวใจแล้ว จะเอาอะไรมาเกิดอีกที่นี่ ขาดไปหมดไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจ ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก สุดยอด ประกาศกังวานขึ้นแล้วในหัวใจของผู้ปฏิบัติ ของผู้สิ้นกิเลสนั้น จะไปทูลถามพระพุทธเจ้าทำไม เพราะธรรมะอันเดียวกัน พระองค์ก็ทรงสอนโดยสมบูรณ์แล้ว ไปถามพระพุทธเจ้าอยู่ก็แสดงว่ายังไม่สมบูรณ์ในความรู้นั้น นี่ก็หมดปัญหาเท่านั้น ขณะอวิชชาสิ้นซากลงจากใจ

จึงขอให้พี่น้องทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติสัจธรรม อย่างน้อยวันหนึ่งๆ อย่าให้ละคุณงามความดี ให้ระลึกถึงบาปถึงบุญบ้าง อย่าไปเข้าใจเหมาเอาแต่บาปไม่มี บุญไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี ตายแล้วสูญ อันนี้จะจมนะ นี่สร้างความจมไว้กับเจ้าของสร้างอย่างนี้แหละชาวพุทธเรา คนอื่นเขาไม่รู้เรื่องรู้ราวเช่นอย่างสัตว์เดรัจฉานก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง นี้เราเป็นมนุษย์แท้ๆ เป็นชาวพุทธแท้ๆ อย่าให้กิเลสกล่อมใจและเหยียบย่ำทำลายหัวใจนัก ไม่เหมาะสมกับความเป็นพุทธบริษัทของเราเลย

ในอวสานแห่งการแสดงธรรมนี้ จึงขอพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ มาปกป้องท่านทั้งหลาย ให้มีความสุขกายสบายใจ และวันนี้ได้มาเทศน์เป็นธรรมบูชาแด่สมเด็จฯ ท่าน ในเบื้องต้นไม่ทันได้กล่าวถึงพระองค์ท่านก็เตลิดเรื่องธรรมไปเลย เวลานี้จึงขอนอบน้อมบุญกุศลทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นจากการเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท และการบำเพ็ญของพี่น้องทั้งหลาย ได้อุทิศถวายแด่พระองค์ท่านโดยสมบูรณ์ทุกประการ และขอความสวัสดีของพี่น้องทั้งหลายจงมีโดยทั่วกันเทอญ

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก