มารยาทหมายถึงการแสดงออกทางกายทางวาจา ใจมีธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ หากใจไม่มีธรรมนำหน้าก็ให้เผอเรอ ดูกิริยาก็เหมือนลิง เพราะจิตมันหลุกหลิก ๆ กิริยาแห่งการแสดงออกก็มีลักษณะหลุกหลิก ๆ ถ้าใจมีความสงบร่มเย็นใจมีหลักฐานมั่นคง แม้กิริยาจะเป็นตามนิสัยที่แสดงออกมาก็ตาม ความช้าความเร็วของนิสัยนั้นย่อมต่างกันกับความละเอียดของจิตที่มีสติพาให้แสดงออกมาอยู่มาก
ใจเป็นสิ่งที่จะทำให้มีหลักเกณฑ์ได้ ให้มีความแน่นหนามั่นคงได้ หากสนใจประพฤติปฏิบัติสนใจรักษา หากไม่สนใจแล้ว บวชจนกระทั่งวันตาย ปฏิบัติแต่กิริยาอาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องโลก ๆ จนกระทั่งวันตายก็หาความมั่นคงของใจไม่ได้ เราอย่าเข้าใจว่าความมั่นคงจะขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นใด นอกจากสติปัญญาเป็นเครื่องรักษา เป็นเครื่องควบคุมในการคิดทุกแง่ทุกมุม หากสติมีควบคุมก็เหมือนกับการทำงานมีหัวหน้างาน เป็นผู้ควบคุม งานย่อมมีผลดี คนงานไม่เถลไถล จิตใจที่มีสติปัญญาเครื่องควบคุมก็ย่อมทำหน้าที่การงานดี ไม่ค่อยผิดพลาดไม่เถลไถล
การบังคับใจไม่มีสิ่งใดจะยากยิ่งกว่า นี่เคยแสดงให้ท่านผู้ฟังได้ทราบมาหลายครั้งแล้ว ขอให้ฟังอย่างถึงใจ ผู้แสดงนี้แสดงออกด้วยความถึงใจเพราะเคยได้ประพฤติปฏิบัติ เคยได้ฝึกทรมานจิตใจดวงพยศนี้มาแล้วทุกแง่ทุกมุม บางครั้งเหมือนกับชีวิตจะถูกปลิดลงในเวลานั้น ด้วยความทุกข์ความลำบากเพราะการฝึกฝนทรมานจิตใจก็มีอยู่หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งงานอื่น ๆ เราเคยดำเนินมาที่เกี่ยวกับโลกสงสาร ไม่เห็นปรากฏว่ามีงานใดที่จะได้ปลงชีวิตจิตใจลงเพื่อผลประโยชน์นั้น ๆ เหมือนเพื่อผลประโยชน์ทางด้านจิตใจนี้เลย
ผมไม่อยากพบอยากเห็นเพื่อนฝูงที่ทำอะไรเหลาะแหละ ไม่จริงไม่จังเถลไถลจิตใจตั้งไม่อยู่ เพราะจิตใจพร้อมที่จะตั้งอยู่เสมอด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องควบคุมเป็นเครื่องวินิจฉัยใคร่ครวญเหตุผลหน้าที่การงานต่าง ๆ ตลอดความเคลื่อนไหวของจิตและกายวาจา สติปัญญาเป็นสิ่งที่รวดเร็วเช่นเดียวกับใจคิดปรุงนั่นแล เมื่อฝึกหัดให้คล่องแคล่วแล้วยังรวดเร็วยิ่งกว่าความคิดปรุงของใจ ไม่เช่นนั้นก็ฝึกทรมานจิตซึ่งเป็นตัวคิดตัวปรุงตัวก่อเหตุหรือก่อเรื่องราวอะไรไม่ได้ สติปัญญาต้องมีน้ำหนักมากกว่าหรือมีกำลังรวดเร็วมากกว่า
ท่านที่มาจากทุกทิศทุกทางมาอยู่สถานที่นี่ ต่างองค์ต่างมาจากที่ต่าง ๆ มีความมุ่งหวังอย่างเดียวกันคือเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อการอบรมศึกษาจากครูจากอาจารย์เพื่อได้หลักได้เกณฑ์ไปทั้งภายนอกภายในไปประพฤติปฏิบัติให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ต่อจิตใจและเพื่อนฝูงตลอดถึงประชาชนทั่วไป ๆ โดยลำดับเพราะอาศัยการฝึกฝนอบรมด้วยความจริงใจ เราอยากพบอยากเห็นเสมอสมกับเจตนาที่รับหมู่เพื่อนไว้สำหรับการอบรมแนะนำสั่งสอน เราสอนเต็มสติกำลังความสามารถ ไม่มีแง่ใดแห่งธรรมที่เก็บไว้แบบลี้ลับ แสดงออกมาอย่างเปิดเผย ทั้งส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียดและสุดความสามารถของตนก็เคยได้แสดงให้ฟังจนชินใจแล้ว
ทุกท่านบรรดาที่เคยอยู่กับผมมาเป็นเวลานานจึงไม่ควรสงสัยในเรื่องการประพฤติปฏิบัติว่าจะไม่ได้ผลเป็นที่พึงพอใจเพราะเหตุแห่งการได้ยินได้ฟังมาอย่างเต็มที่แล้ว และการแสดงให้หมู่เพื่อนฟังก็ไม่ได้แสดงด้วยความสงสัย เราแสดงด้วยความจริงใจซึ่งได้เคยประพฤติปฏิบัติมาอย่างไรทางฝ่ายเหตุ และผลปรากฏอย่างไรขึ้นมาเป็นลำดับลำดาได้เคยพูดให้หมู่เพื่อนฟังเสมอเพื่อเป็นคติเครื่องเตือนใจ จะได้มีกำลังอาจหาญร่าเริงต่อการประพฤติปฎิบัติตนเอง
จิตแม้จะมีความพยศอดสูขนาดไหนก็เถอะ ไม่นอกเหนือธรรมคือสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรนี้ไปได้เลย พระพุทธเจ้าทรงวิเศษด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรียกว่า พละ ๕ ศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อผลที่จะพึงได้รับด้วยการประพฤติปฏิบัติโดยชอบธรรม วิริยะ เพียรรักษาจิตใจของตนให้ดี ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นสิ่งที่น่ารักษาและเป็นสิ่งที่สมหวังยิ่งกว่าการรักษาใจ เมื่อรักษาได้แล้วขั้นใดตอนใดจะเป็นที่สมหวังตามขั้นตอนไปโดยลำดับจนกระทั่งถึงความสมหวังอย่างเต็มภูมิเพราะการประพฤติการปฏิบัติไม่หยุดไม่ถอยไม่ลดละความพากเพียร นี่เรียกว่าวิริยะ ยากลำบากเท่าไรก็ยิ่งเพียรจึงเรียกว่าความเพียร ยากลำบากแล้วถอยหลังเสียนั้นเรียกว่าความท้อแท้อ่อนแอ
สติอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม อย่าให้เผลอ ให้ถือเป็นภาระสำคัญในเรื่องของสติกับจิตซึ่งทำงานอยู่ตลอดเวลา จิตทำงานอยู่โดยสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติของตนให้พึงทราบ ถ้าผู้ปฏิบัติทางจิตตภาวนาจะไม่ทราบเรื่องงานของจิตที่คิดปรุงหาเรื่องหาราวนั้นได้อย่างไร ความคิดตามปรกติวิสัยของจิตจะคิดตั้งแต่เรื่องของสมุทัย ผลิตทุกข์ขึ้นมาโดยลำดับ กว่าจะรู้สึกตัวก็ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟไหม้ไปหมดเป็นเถ้าเป็นถ่านภายในตัวเอง นั่น! เพราะความขาดสติ โทษแห่งความขาดสติก็คือการทำลายตนให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก คุณค่าแห่งการมีสติ คือการพยุงตน บำรุงรักษาจิตใจของตนให้มีความสง่าผ่าเผยสงบร่มเย็นยิ่งขึ้น ท่านเรียกว่าฝึกสมาธิบังคับให้ได้
จิตเป็นของบังคับได้ บังคับได้ด้วยสติมีความเพียรเป็นเครื่องหนุนไม่หยุดไม่ถอย อุตส่าห์พยายามทุกระยะเวลา เราอย่าเห็นสิ่งใดมีคุณค่ายิ่งกว่าจิตที่จะพึงเป็นตัวมรรคผลนิพพานขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนภายในใจ มรรคผลนิพพานไม่มีอยู่ในที่อื่นใดนอกจากอยู่กับจิต ซึ่งเวลานี้กำลังถูกกิเลสตัวเป็นข้าศึกต่อมรรคผลนิพพานรุมล้อมหรือรัดรึงอยู่ตลอดมา ไม่สามารถที่จะมองเห็นมรรคผลนิพพานอันเป็นความอัศจรรย์โดยลำดับได้ เพราะกิเลสนี้เท่านั้นไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นใด ให้พยายามทำให้มีความสงบ จิตใจเป็นของจะสงบได้ คำว่า สงบ ไม่ได้หมายถึงว่าหยุดนิ่งคิดปรุงต่าง ๆ เสียหมดไม่มีสิ่งใดเหลือเลย อันนั้นเป็นได้ในบางกาลไม่ปฏิเสธ จิตที่จะเป็นได้อย่างนั้นมีได้เป็นบางกาลบางระยะเท่านั้น แต่จิตที่มีความสงบอยู่ภายในตัว ไม่คิดฟุ้งซ่านรำคาญไปก่อกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นภายในจิตใจนั้นไม่คิดไม่วุ่นไป คิดก็คิดอยู่ในแง่แห่งสัมมาทิฏฐิ มีสติปัญญาเป็นเครื่องควบคุมรักษาอยู่เสมอ ไม่ส่ายแส่หาเรื่องหาราวมาเผาตัวเอง นี่เรียกว่าจิตสงบ
ปัญญาเคยได้พูดให้ฟังแล้วคือความแยกแยะความใคร่ครวญความพินิจพิจารณาหลายด้านหลายแง่หลายกระทงมาก คำว่า ปัญญา มีความกว้างขวางมากไม่เหมือนสมาธิ แล้วแต่ความถนัดของผู้พิจารณา จะพิจารณาสิ่งใดก็ตามขึ้นชื่อว่าเป็นไปเพื่อถอดถอนกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในนี้แล้ว เรียกว่าปัญญาได้ทั้งนั้น เรียกพละ ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อินทรีย์ ๕ คือความเป็นใหญ่ เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ เอาไปปราบกิเลสหมอบราบได้จริง ๆ โดยไม่สงสัยจึงเรียกว่าอินทรีย์ ๕ คือเป็นใหญ่
ศรัทธาก็มีความเป็นใหญ่จริงจังในตัวเองในทางหนึ่ง วิริยะก็มีความจริงจังในตัวเองอีกทางหนึ่ง ถ้าเราจะแยกเป็นใหญ่เป็นข้อ ๆ หรือเป็นแง่ ๆ ไป สติก็มีความเป็นใหญ่ สิ่งอื่น ๆ จะมาเป็นสติแทนไม่ได้ สิ่งอื่น ๆ จะมาเป็นแทนปัญญาก็ไม่ได้ สมาธิก็เป็นสมาธิ สิ่งอื่นใดจะมาเป็นแทนสมาธิก็ไม่ได้ เรียกว่าเป็นใหญ่แต่ละอันแต่ละอย่าง ๆ รวมแล้วเรียกว่าความเป็นใหญ่ ๕ อย่าง
เมื่อธรรม ๕ อย่างนี้ได้เข้าเกี่ยวข้องกับจิตแล้ว จิตจะต้องมีความสงบร่มเย็นและมีความแยบคาย มีรากมีฐานภายในจิตใจมั่นคงไปโดยลำดับ คำว่ามรรคผลนิพพาน ที่เคยได้เห็นในตำรับตำราซึ่งได้ยินแต่ชื่อและมีครูบาอาจารย์ท่านแสดงธรรมให้ฟังในที่ต่าง ๆ มรรคผลนิพพานนั้นเราก็จะทราบที่จิตใจของเราเองจากการประพฤติปฏิบัติอยู่สถานที่แห่งเดียวกันนี่แล อย่าคิดมรรคผลนิพพานให้นอกไปจากจุดที่กล่าวนี้จะไม่ผิดหวัง ถ้าคิดนอกนี้ไปแล้ว เช่น คิดไปตามกาลโน้น สถานที่โน่นที่นี่ อย่างนั้นผิด นอกจากคิดไปกาลนั้นสถานที่นี่เพื่อการประกอบความพากเพียรอันเป็นที่เหมาะสมกับสถานที่นั่น ๆ เท่านั้นอย่างอื่นผิดหมด
นี่ละพระพุทธเจ้าท่านวิเศษด้วยธรรม ๕ ประการนี้ ไม่ได้วิเศษวิโสด้วยความท้อแท้อ่อนแอ นั่นเป็นบริษัทบริวารของกิเลสเป็นเครื่องเสริมกันไปกับกิเลส ถ้ากิเลสยังมีอยู่ภายในจิตใจตราบใด ความขี้เกียจขี้คร้านก็ต้องมีไปโดยลำดับเพราะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความขี้เกียจความอ่อนแอเป็นเรื่องของกิเลส ความต่อสู้ความขี้เกียจหรือความขยันหมั่นเพียร ความอดความทนเป็นเรื่องของธรรม
เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม จงดำเนินตามแนวของธรรมที่เห็นว่าถูกต้องแล้ว อย่าให้กิเลสเข้ามาแทรกแซงหรือแย่งชิงเอาความเพียรของเราไปได้โดยความเชื่อตามมันหรือยอมจำนน สิ่งใดในโลกนี้ที่จะมีความเหนียวแน่นมั่นคงแก้ยาก ถอดถอนยากยิ่งกว่ากิเลสแต่ละประเภท ๆ นั้น ไม่มี อันนี้แก้ยากมากเพราะเป็นสิ่งที่ทวนกระแสของโลกที่ชอบกัน โลกชอบเป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล พระพุทธเจ้าสอนให้ทวนกระแสโลก เพราะฉะนั้นการทวนกระแสโลกจึงต้องฝ่าฝืนกันมากน้อยตามประโยคแห่งความเพียร หรือเหตุการณ์ที่มีอยู่ภายในจิตหนักเบามากน้อยต่างกัน ซึ่งควรจะฝืนมากน้อยเพียงไร ก็เป็นไปตามเหตุการณ์ที่มีอยู่ภายในจิตเป็นระยะ ๆ ไป นี่เป็นทางเดินของผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เอาให้เห็นเอาให้จริงจัง
จิตดวงนี้เองจะเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานไม่ใช่จิตดวงใด และจิตดวงนี้เองเป็นภาชนะที่รับกิเลสสิ่งสกปรกโสมมอันไร้ค่าหาคุณไม่ได้เต็มไปหมดก็อยู่ภายในจิตใจ เรียกว่าใจเป็นภาชนะของกิเลส เมื่อกำจัดกิเลสออกจากภาชนะนั้นแล้วธรรมะเข้าแทนที่ ใจจึงควรแก่ธรรมโดยลำดับ ๆ ตั้งแต่วิริยธรรม สมาธิธรรม สติธรรม ปัญญาธรรมไป นั้นก็เป็นผลของธรรมคือความสุขเย็นใจไปตามขั้นแห่งการปฏิบัติได้มากน้อยเพียงไรจนปรากฏเป็นความอัศจรรย์ภายในตน ซึ่งเราไม่คาดไม่ฝันว่าความอัศจรรย์แบบนี้จะมีได้ภายในจิต
ความสงบก็ทำให้เกิดความแปลกประหลาดเพราะจิตไม่เคยสงบ บางครั้งสงบถึงกับขาดจากการคิดการปรุงทั้งสิ้นไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ขาดเหมือนสะพานขาด ไม่สิ่งใดติดต่อกันในบางครั้ง นั่นเรียกว่าสงบในบางครั้ง แต่การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่กล่าวให้ผู้ฟังทั้งหลายคาดคะเนหรือเดาเอาให้เป็นอย่างนั้น ๆ ให้หนักในเหตุคือการดำเนินของตน เมื่อถึงกาลที่จะควรรู้ธรรมประเภทนี้หรือจิตประเภทนี้จะแสดงตัวขึ้นมา ก็ให้แสดงขึ้นภายในความเพียรในวงปัจจุบันนั้น อย่าให้เป็นสัญญาอดีตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นความปรุงแต่งเฉย ๆไม่ใช่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับตัว นี่มีได้ เราแน่ใจเรารับรองว่ามีได้ในบางครั้งบางคราว
แต่ที่เป็นพื้นฐานอย่างแท้จริงนั้นคือความสงบและความมั่นคง หรือจิตมีความแน่นหนามั่นคงสงบเย็นอยู่ภายในใจ นี่เราอยู่ไหนก็พออยู่ เพราะมีธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องดูดดื่มเป็นอาหาร เป็นโอชารสของใจ ใจได้อาศัยธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องบำรุงก็ร่มเย็นเป็นสุข ไม่ค่อยเสาะไม่แสวงส่ายแส่ไปหาอารมณ์นั้นอารมณ์นี้
การที่จิตส่ายแส่ไปหาอารมณ์นั้นนี้เพราะไม่มีที่ยึดไม่มีที่เกาะเป็นไปด้วยความหิวโหย จึงต้องเป็นไปไม่หยุดไม่ถอย ถ้าตามหรือคล้อยตามไปมากเท่าไรก็ยิ่งสร้างความหิวโหยขึ้นมา ความทุกข์ก็ยิ่งมาก ท่านจึงสอนให้ระงับดับความหิวโหยด้วยความคิดความปรุงไปตามกระแสโลก อันเป็นบ่อเกิดแห่งไฟทั้งกองมาเผาลนจิตใจนั้นให้ระงับด้วยอารมณ์แห่งสมาธิหรือด้วยการฝึกฝนทรมานจิตใจ เอางานอื่นแทรกเข้ามาซึ่งเป็นงานที่จะทำให้สงบ เช่น งานการบำเพ็ญธรรม การบริกรรมธรรม การพินิจพิจารณาธรรมทั้งหลายนี่เป็นงานที่ถูกทางจิตก็เย็น
เมื่อจิตเย็นกาลเวลาก็ย่นเข้ามา ไม่ยืดยาววุ่นวายกับตัวเอง อยู่สถานที่ไหนก็สงบเย็น ไม่ไปยุ่งเหยิงวุ่นวายกับเวล่ำเวลาซึ่งเป็นเพียงมืดกับแจ้งเท่านั้นและมีมาตั้งแต่กัปกัลป์ไหนไม่อาจจะนับได้ สิ่งเหล่านั้นไม่มีความสำคัญยิ่งกว่าจิต ถ้าจิตไม่ไปคิดไม่ไปยุ่งแล้วก็เหมือนสิ่งเหล่านั้นไม่มี แม้จะมีเพียงโลกก็เหมือนไม่มีเพราะใจมีแต่ความรู้ล้วน ๆ ไม่มีกระแสของจิตกระแสใดแย็บออกไปหมายว่าสิ่งนั้นมีสิ่งนี้มีหรือสิ่งนั้นเป็นอย่างงั้น สิ่งนี้เป็นอย่างงี้ เรื่องนั้นเป็นอย่างงั้น ๆ ระงับดับกันหมด เพราะฉะนั้นเรื่องจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หลอกตัวเราอยู่เสมอได้แก่ความคิดปรุง นั่งอยู่ก็ปรุงเรื่องปรุงราวต่าง ๆ หลอกหลอนตนเอง คืออยู่โดยลำพังไม่ได้ อยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องอดีตเรื่องอนาคตยุ่งไปอยู่เช่นนั้น
อย่างน้อยให้จิตอยู่กับธรรม มากกว่านั้นจิตก็อยู่กับความรู้ความว่างของตนคือวางโดยประการทั้งปวงแล้วก็ไม่เกาะไม่เกี่ยว มีแต่ความรู้อยู่เต็มเม็ดเต็มหน่วยทรงตัวอยู่ด้วยความสมบูรณ์ของความรู้ ไม่เสียดายสิ่งใด ไม่ไปคิดไปเกี่ยวเกาะกับสิ่งใดว่ามีหรือไม่มี โลกนี้ก็เหมือนกับไม่มีเพราะไม่มีผู้ไปหมาย ไม่มีผู้ไปสำคัญ ไม่มีผู้ไปให้ชื่อให้นามไม่มีผู้ไปปรุงไปแต่งว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างงั้นสิ่งนี้เป็นอย่างงี้ ตัวปรุงแต่งนี้มันระงับดับไปหมดแล้วเหลือแต่ความรู้ล้วนๆ
เมื่อไม่มีกระแสของจิตใจที่ปรุงคิดออกไปสู่ภายนอกแล้ว โลกนี้ก็เหมือนไม่มี ผลที่สุดร่างกายที่ครองกันอยู่นี้ก็ไม่มีเพราะไม่หมายไม่คิดไม่ปรุง เห็นแต่ความรู้เด่นชัดอยู่เท่านั้น ความรู้ประเภทนี้ไม่ใช่ความรู้ธรรมดาเป็นความรู้ที่แปลกประหลาดและอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย ปัญญานั่นแหละเป็นของสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติ เรารู้สึกว่าติดอกติดใจถ้าจะพูดถึงติดใจ
เรื่องของปัญญาที่จะถอดถอนกิเลสแต่ละประเภทแม้ที่สุดสิ่งหยาบ ๆ จะระงับด้วยสมาธิไม่ลงอย่างนี้ เราก็ใช้ปัญญาระงับดับลงได้เห็นอยัมภทันตา จึงได้กล้าสามารถเขียนปัญญาอบรมสมาธิออกมาด้วยความประจักษ์กับตนเอง เวลามันผาดโผน ผาดโผนมาก แต่เมื่อจิตผาดโผนมาก สติปัญญาศรัทธาความเพียรจะไม่ผาดโผนตามกันก็เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นจึงต้องห้ำหั่นกันอย่างเต็มที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นก็เป็นตายก็ตาย ถึงวาระที่ควรจะทำให้หนักมือแล้วต้องทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ นั่น! มันหากเป็นหากบอกเอง เหตุการณ์ในขณะนั้นบอกเอง เราได้เข้าใจถึงความเพียรว่าจะมีความสามารถอาจหาญขนาดไหน ยิ่งทุกขเวทนาครอบหมดทั้งร่างกายนี่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งประกาศความจริงให้เห็นอย่างชัดเจน
ถ้าผู้มุ่งต่อความจริงอยู่แล้วก็นำสิ่งเหล่านี้เข้ามาพิจารณา เพื่อให้รู้ให้เข้าใจถึงความจริงทุกอย่างในบรรดาเวทนาที่มีอยู่กับอาการใดแห่งอวัยวะ ค้นคิดพินิจพิจารณาจนเห็นแจ้งชัดเจนตามความจริงนั้นแล้ว เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนาดังท่านพูดไว้ในสติปัฏฐาน ๔ ไม่มีผิดเลย ไม่ขัดแย้งกันกับภาคปฏิบัติเลย เพราะเมื่อเข้าถึงกันจริง ๆ แล้ว เวทนาก็สักแต่ปรากฏตัวอยู่เฉย ๆ ไม่มีความมุ่งหมายไม่มีความรู้สึกว่าได้เป็นข้าศึกต่อผู้ใดและไม่มีความหมาย ไม่มีความรู้สึกว่าตนเป็นเวทนา ตนเป็นข้าศึกต่อตนหรือต่อผู้ใด สักแต่ว่าเป็นความจริงอยู่เท่านั้น
จิตเองเมื่อได้พิจารณาเวทนาถึงขั้นเป็นความจริงแล้ว จิตก็กลับมาเป็นความจริงเช่นเดียวกัน กายก็สักแต่ว่ากายเป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น ทั้ง ๓ อย่างนี้ต่างอันต่างจริงแล้วก็ไม่กระทบกระเทือนกัน แม้เวทนาจะไม่ดับ หรือถึงวาระจะไปแล้วเหรอก็ไป โดยไม่มีความสะทกสะท้านโดยไม่ไปแย่งเอาของปลอมมาจากเวทนาว่าเป็นตน ต่างอันต่างจริง นี่จริงด้วยปัญญาจริงอย่างนี้ เมื่อได้หยั่งถึงความจริงเช่นนี้แล้วย่อมซึ้งไม่มีวันลืม
เมื่อถึงคราวจะพิจารณาในกาลหน้ากาลหลัง เราจะหยิบยกเอาต้นเหตุที่เราเคยพิจารณาอย่างไรวิธีการของเราเคยพิจารณาอย่างไร ดำเนินไปตามนั้นโดยไม่ลดละ แต่ไม่คาดหมายในผลที่เคยเกิดมาแล้วและเหตุที่เคยคิดมาแล้วอย่างไร จะนำเอานั้นมาใช้ด้วยความคาดหมายไม่ทันกับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในวงปัจจุบันนั้น ต้องผลิตสติปัญญาขึ้นมาใหม่ แม้จะซ้ำของเก่าก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในเฉพาะหน้านั้นแล้วเรียกว่าปัจจุบัน แก้กันได้ทันท่วงที นี่เป็นการพิจารณาเรื่องทุกข์ ถึงคราวลำบาก ลำบากจริง ๆ
จะทุกข์จะลำบากแค่ไหน ถ้าใจมีหลักเกณฑ์ ใจไม่ลำบาก ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ ถ้าใจมีความกระวนกระวายไปด้วยแล้ว ทุกข์ทางด้านจิตใจเรียกว่าจิตเวทนาก็เพิ่มเข้าไปอีกทั้งกายเวทนา เลยเป็นข้าศึกสองด้านประดังเข้ามา เราก็เลยกลายเป็นเนื้อบนเขียงไปได้ ข้างหนึ่งก็เป็นเขียง ข้างหนึ่งก็เป็นมีดสับยำกันลงไป เราซึ่งเป็นชิ้นเนื้อก็แหลกไปได้ ถ้าหากเป็นอย่างที่กล่าวมานี้ ทางจิตก็เป็นทุกข์ทางกายก็เป็นทุกข์ แล้วก็สับลงที่จิต
จิตโง่จิตไม่ฉลาดก็ปล่อยให้ทุกขเวทนาทั้งทางกายและทางจิตใจเหยียบย่ำทำลายแหลกไม่เป็นท่าไม่สมเป็นลูกศิษย์ตถาคต ซึ่งพระองค์ทรงสอนไว้ให้รู้ตามความจริงของทุกสิ่ง เช่น สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็สักแต่ว่า นั่นเมื่อถึงขั้นสักแต่ว่า คือสักแต่ว่าด้วยปัญญาแล้ว ไม่ใช่สักแต่ว่าด้วยสัญญาเฉย ๆ พวกเราเรียนมามันสักแต่ว่าด้วยสัญญา ความสักแต่ว่าด้วยปัญญาอันเป็นความจริงนั้นยังไม่ปรากฏภายในจิต เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยภาคปฏิบัติดำเนินเต็มสติกำลังความสามารถ
ตายที่ไหนก็ตายเถิดมันเหมือน ๆ กันหมดนั่นแหละโลกอันนี้ จะเอาหีบเอาโลงเอาโกศอะไรมาใส่ก็คือใส่คนตาย มันหมดความหมายไปแล้ว เวลานี้เรายังมีความหมายเต็มตัวของเรา ให้พยายามสร้างกายใจของเราที่มีความหมายนี้ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าให้เสียท่าเสียที อย่าไปคิดว่าสิ่งใดที่จะมีคุณค่าเหนือธรรม เหนือความเพียรของเรา
งานใดก็ไม่เหนือความเพียรซึ่งมีค่ามากคืองานถอดถอนกิเลส งานเหล่านั้นเป็นงานสั่งสมกิเลส ผลปรากฏขึ้นมาก็เป็นกิเลสเพิ่มเข้าอีก เลยมีตั้งแต่เรื่องของสมุทัยหมุนติ้ว ๆ ด้วยเหตุนี้เองโลกสงสารแม้สมบัติเงินทองข้าวของอะไรจะมีเต็มแผ่นดิน โลกย่อมมีความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถที่จะมาบำรุงจิตใจให้มีความสุขความสบายได้นอกจากธรรม ธรรมจึงเป็นของสำคัญของประเสริฐ ความเพียรเพื่อความประเสริฐหนักขนาดไหนก็สู้ ตายก็ประเสริฐ คนคนนั้นไม่เลว
เอาให้จริงจังอย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ นิสัยอย่างนั้นไม่ใช่นิสัยจะทรงอรรถทรงธรรม ไม่ใช่นิสัยจะทรงมรรคผลนิพพาน นอกจากจะแบกหามกิเลสไปตลอดกัปตลอดกัลป์ไม่มีจุดหมายปลายทางเท่านั้น เราไม่เห็นโทษของความอ่อนแอความท้อถอยความขี้เกียจของเราแล้ว เกิดในภพใดชาติใด แม้ชีวิตนี้ยังไม่ตายมันก็แบกหามตั้งแต่ความทุกข์ เราไม่อิดหนาระอาใจบ้างเหรอ
ทุกข์ที่หนักที่สุดก็คือทุกข์ทางใจ แบกสัญญาอารมณ์ซึ่งล้วนตั้งแต่กิเลสเป็นผู้ผลิตเพิ่มตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ แบกความเพียรซิ หนักให้หนักด้วยความเพียรไม่เป็นไร ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาไม่เคยหนัก ถ้าความพอใจมีแล้วหนักก็หนัก ตายก็ตาย โลกนี้มีป่าช้าอยู่ด้วยกันทุกคนทุกรูปทุกนามมีอยู่กับตัวเอง จำเป็นอะไรจะต้องมีป่าช้าที่โน่นที่นี่สำหรับฝังสำหรับเผาศพของคนและสัตว์มันมีอยู่ในตัวนี้แล้ว ตายที่ไหนก็เป็นป่าช้าที่นั่น ลูกศิษย์ตถาคตต้องมีความมุ่งมั่น ขันติ ความอดความทนแก่กล้าสามารถจนเป็นศาสดาของตนได้
คำว่า ศาสดา คือครูเอก ครูเอกนี้จะได้ด้วยวิริยะศรัทธาก็เป็นเอกขึ้นโดยลำดับ วิริยะก็เอก สติก็เอก สมาธิก็เอก ปัญญาก็เอก แล้วจะไม่ถึงมรรคผลนิพพานอันเป็นธรรมขั้นเอกได้อย่างไร นี่เอกที่ตรงนี้ เอาให้จริง คำว่าเอกก็หนึ่งไม่มีสอง ไม่มีสิ่งใดมาเป็นคู่แข่งจึงเรียกว่าเอก ไม่ใช่เอกว่ามีนัยน์ตาข้างเดียว คนตาเอกนี่หมายถึงคนมีนัยน์ตาข้างเดียวข้างหนึ่งบอดเสีย ช้างงาเอกก็มีงาข้างเดียว เขาเรียกช้างงาเอก งาข้างหนึ่งไม่มี คนมีนัยน์ตาดีข้างเดียวข้างหนึ่งบอดเสียก็เรียกคนตาเอก ภาษาทางภาคอีสานเขาพูดกันอย่างนั้น
แต่เอกอันนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น เอกที่ไม่มีสิ่งใดจะเป็นคู่แข่ง กิเลสซึ่งเคยเป็นผู้เหยียบย่ำทำลายจิตใจ และกลายมาเป็นคู่แข่งในขณะที่เราพากเพียรหรือต่อสู้อย่างหนักมันก็เป็นคู่แข่ง เมื่อพละทั้งห้าอินทรีย์ทั้งห้า มีความเป็นเอกเข้าโดยลำดับ กิเลสทั้งหลายก็ยอมแพ้ แพ้ไปอย่างราบไม่มีเหลือ นั่นแหละเป็นความเอกแท้ การพิจารณาทางร่างกาย ไม่ว่าร่างกายของสัตว์ของบุคคลหญิงชาย ไม่ว่าข้างนอกข้างในพิจารณาประสับประสานกันได้ด้วยปัญญาเป็นมรรคได้ทั้งนั้นไม่ขัดข้อง ถ้าพิจารณาให้เป็นมรรคเครื่องแก้กิเลส ถ้าทำความรู้สึกให้เป็นกิเลส ข้างนอกก็เป็น ข้างในก็เป็น มันสำคัญอยู่ที่ความคิดพลิกไปในทางสมุทัยหรือไปในทางมรรค ถ้าไปทางมรรคก็เป็นธรรมขึ้นมา ไปทางสมุทัยก็เป็นกิเลสขึ้นมา
เวลาทุกข์ยากลำบากก็เหมือนจะไม่เห็นผลอะไรปรากฏ แต่เวลาผลปรากฏขึ้นมาโดยลำดับ ๆ ก็เกิดขึ้นมาจากความเพียรที่เห็นว่าลำบากนั้นแล จนกระทั่งถึงจิตหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ ยิ่งจะได้เห็นคุณค่าแห่งความเพียรของเรา ทุกวรรคทุกตอนที่เคยล้มลุกคลุกคลานและตะเกียกตะกายมาจนถึงขั้นหลุดพ้น เรียกว่าขั้นชัยชนะแล้วอยู่ที่ไหนก็สบาย
เมื่อจิตได้หมดจากกิเลสเสียอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีกิเลสแม้นิดหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวสมมุติเข้าแทรกภายในจิตแล้วนั้นแล ท่านเรียกว่าเป็นอิสระเต็มที่ ในอิริยาบถทั้งสี่ที่มีชีวิตอยู่นี้ก็อยู่ไปอย่างงั้นแหละ อิริยาบถคือความเปลี่ยนเพื่อความบรรเทาของทุกข์ในร่างกาย พอเป็นพอไปพอถึงอายุขัย ส่วนจิตไม่มีอะไรที่ต้องเป็นเครื่องเยียวยาต่อไปอีกแล้ว การทำความเพียรเพื่อละกิเลสก็ไม่มีเพราะกิเลสละไปหมดแล้วตายฉิบหายไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ ก็มีแต่ขันธ์ทั้งห้าที่ยังไม่ตาย แสดงตัวดุกดิก ๆ อยู่เท่านั้น มันก็เหมือนหางจิ้งเหลนขาด ตัวมันวิ่งไปถึงไหนแล้วหางมันยังดุ๊กดิ๊ก ๆ หางมันขาด
นี่เรื่องขันธ์เมื่อมีชีวิตครองตัวอยู่มันก็ยังมีดุกดิก ๆ อยู่อย่างงั้น พอหมดวาระหมดความสืบต่อของมันแล้วก็กระจายลงไป ส่วนรูปเป็นรูปธรรมก็เป็นดินเป็นน้ำ นามธรรมก็เป็นลมเป็นไฟ ก็เท่านั้น เวทนาที่เคยเป็นในจิตมันก็แยกตัวออก เวทนาก็ดับเพราะร่างกายมันหมดความหมายไปแล้ว เวทนาก็หมดความหมายไปตามกัน สังขาร วิญญาณ ความคิด ความปรุง อันเป็นอาการของสมมุติทั้งมวลก็ดับไปด้วยกันเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งสิ้น ในบรรดาขันธ์ทั้งห้าไม่มีขันธ์ใดจะเป็นวิมุตติ จิตที่เป็นวิมุตติแล้วจึงไม่เกี่ยวข้องกัน เรียกว่าหมดสมมุติ หมดความกังวลโดยประการทั้งปวง จะเรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพานก็ไม่ผิดคือดับสนิท ดับสมมุติโดยสนิทไม่มีสมมุติใดเคลือบแฝงพอที่จะให้พูดอย่างนั้นอย่างนี้อีกได้เลยนับแต่ขันธ์สลายตัวลงไปแล้ว
ดังพระพุทธเจ้าขณะที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอนุรุทธะซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางปรจิตวิชชาคือรู้วาระจิตก็ตามพระจิตของพระพุทธเจ้า เราคอยฟัง เราฟังนะตรงนี้เป็นจุดสำคัญพระจิตบริสุทธิ์มีสิ่งพาดพิงคือสมมุติเป็นที่เทียบเคียง พระจิตพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าปฐมฌานพระอนุรุทธะก็ทราบ ก้าวเข้าสู่ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ซึ่งเป็นสมมุติ เรียกว่า รูปฌานทั้งสี่นี้ก็เป็นสมมุติขั้นหนึ่ง
พระอนุรุทธะก็ทราบพระจิตนั้นว่าเวลานี้กำลังผ่านรูปฌานนั้น ๆ พอพ้นจากหรือออกจากรูปฌานทั้งสี่นี้ ก็ก้าวเข้าอรูปฌานทั้งสี่ ซึ่งเป็นสมมุติด้วยกัน เรียกว่าอรูปฌาน ก้าวเข้าสู่อากาสายัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเป็นสมมุติแต่ละขั้น ๆ พระจิตที่บริสุทธิ์ผ่านไปตรงนั้น ๆ พระอนุรุทธะทราบโดยลำดับ ๆเพราะอาศัยสมมุติ พูดบอกได้ เวลานี้กำลังเข้าฌานนั้นฌานนี้ พอไปจากนั้นแล้วก็ก้าวเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทรงระงับพระอาการทุกส่วนอยู่ในจุดนั้น
บรรดาพระสงฆ์ที่อยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากเกิดความสงสัย จึงถามพระอนุรุทธะว่านี่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วเหรอ บอกว่า "ยัง" นั่นฟังซิ เวลานี้กำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เวลาเสด็จถอยออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธลงมาอรูปฌานโดยลำดับๆ พระอนุรุทธะก็ทราบทุกระยะ ๆ และบอกมาเรื่อย ๆ กระทั่งลงไปถึงปฐมฌานซึ่งเป็นรูปฌานและออกจากนั้นลงไปเป็นพระจิตที่บริสุทธิ์ธรรมดา
พระจิตที่บริสุทธิ์นั้นถ้าสูญแล้วอะไรจะเข้าสู่รูปฌาน อรูปฌาน สัญญาเวทยิตนิโรธ ผู้บริสุทธิ์นี้ก้าวไปโดยลำดับ ๆ ไปตามสมมุติแต่ไม่ติดสมมุติ ผ่านไป ๆ เรียกว่าผ่านไปแล้วก็ผ่านกลับมาคือผู้บริสุทธิ์เต็มที่แล้วนั้น จิตที่บริสุทธิ์ผ่านไปถึงจุดสุดท้ายของสมมุติแล้วก็ถอยกลับลงมา จนกระทั่งถึงเบื้องต้นแห่งสมมุติอันเป็นส่วนหยาบได้แก่ รูปฌาน คือปฐมฌาน แล้วถอยออกมาเป็นพระจิตที่บริสุทธิ์ธรรมดา ต่อนั้นก้าวเข้าไปอีก พระอนุรุทธะก็ทราบโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งเลยรูปฌานไปแล้ว อรูปฌานก็ไม่เสด็จไปแล้วที่นี่ ผ่านออกในระหว่างสมมุติทั้งสองคือ รูปฌานและอรูปฌาน จากนั้นพระอนุรุทธะพูดไม่ถูก
พระจิตที่บริสุทธิ์นั้นออกจากวงสมมุตินี้ไปแล้ว พระอนุรุทธะพูดไม่ถูก แต่ไม่ได้สงสัยว่าพระจิตพระพุทธเจ้านั้นเป็นยังไง ก็เป็นพระจิตที่บริสุทธิ์นั้นแล นั่นละพิจารณาซิ แม้บริสุทธิ์ขนาดนั้นก็ต้องทราบว่าบริสุทธิ์ ดังพระพุทธเจ้าทรงทราบจิตของสาวกทั้งหลายที่เป็นอรหัตอรหันต์หรืออยู่ในขั้นใดภูมิใดก็ทราบ เมื่อถึงขั้นอรหัตผลแล้วก็ทราบ คือเป็นจิตบริสุทธิ์ก็ทราบ ผู้ที่มีหูมีตาก็ต้องทราบทั้งนั้นตามสิ่งที่จะทำให้ทราบ ผู้ไม่มีก็ไม่ทราบ จะไม่ทราบอะไรก็ไม่สำคัญให้ทราบตัวเราเอง
เวลานี้จิตของเราเป็นอย่างไร มันดิ้นรนกวัดแกว่งไปในทางไหนซึ่งเป็นของไม่ดี ให้ปราบปรามมันด้วยความพากเพียร อย่าลดละถอยหลังนี่เป็นสิ่งถูกต้อง เวลานี้จิตสงบหรือจิตฟุ้งซ่านรำคาญด้วยอารมณ์อันใด ให้ค้นคว้าหาเหตุหาผลเพื่อระงับดับมันได้ด้วยความเพียรของเรา ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ
การพิจารณาทางด้านปัญญาให้แยกแยะออกดูให้แหลกละเอียดกี่ครั้งกี่หนไม่สำคัญ สำคัญที่จนเป็นความชำนิชำนาญ เมื่อชำนาญจนพอตัวแล้วก็ปล่อย ร่างกายนี้ไม่ใช่จิตจะพิจารณาไปตลอดสาย ถึงขั้นที่พอตัวแล้วจิตก็ปล่อยวางในการพิจารณาเหมือนกัน พอตรงไหนปล่อยตรงนั้น ๆ เช่น รูปกายของเรานี้เมื่อจิตพอแล้วก็ปล่อยไม่สัมผัส แม้จะบังคับให้พิจารณาก็ไม่ยอมพิจารณา การบังคับก็จะไปบังคับอย่างไรกันเพราะตัวก็รู้อยู่แล้วว่าจิตนี้พอแล้วกับการพิจารณาทางส่วนร่างกายสมบูรณ์เต็มที่แล้ว จิตดูดดื่มในนามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็พิจารณาตามความดูดดื่มของจิตนั่นแหละ เหมือนกับเชื้อไฟ มีเชื้อตรงไหนก็ไหม้เข้าไปๆ จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายอันเป็นกองไฟใหญ่ได้แก่จิตอวิชชา
อาการทั้งสี่คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้ถูกพิจารณาแล้ว ๆ เล่า ๆอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ทำไมจะไม่เข้าใจ ทำไมจะไม่ปล่อยวางทำไมจะไม่รู้เท่าและปล่อยวาง มันก็รู้เท่าที่นี่ ขยับเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงตัวจริงแห่งกิเลสที่ว่าเป็นมหากษัตริย์แห่งไตรภพได้แก่จิตอวิชชาก็หมุนติ้ว ๆ เข้าไป เมื่อสติปัญญาเพียงพอที่ควรจะทำลายล้างผลาญสิ่งเหล่านั้นออกให้หมดซากให้สิ้นซาก ไม่มีเหลืออยู่ภายในจิตแล้ว สติปัญญานั้นก็ทำลายเอง
เมื่ออวิชชาสิ้นสุดลงไปหมดสิ้นซากลงไปจากใจ ใจนั้นก็เป็นความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เป็นธรรมทั้งแท่ง ถ้าจะว่าธรรมทั้งแท่ง จิตบริสุทธิ์ทั้งดวงก็ไม่แย้งใครเพราะหมดสมมติที่จะมาขัดมาแย้งมาเป็นคู่แข่งแล้ว นั่นคือจิตบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ก็รู้อยู่บริสุทธิ์ สูญหายไปไหน พระพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมแล้วสั่งสอนโลกก็ทรงสั่งสอนด้วยความบริสุทธิ์พระทัย สาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อสิ้นสุดวิมุตติพระนิพพานแล้วก็รู้ ไม่ใช่สูญ จนกระทั่งหมดสมมุติไม่มีสิ่งใดเหลือที่จะอาศัยซึ่งกันและกันไปแล้วก็ปล่อยสลัดทิ้งตามความจริงของมัน ส่วนไหนเป็นอะไรก็ปล่อยไม่เยื่อใยเสียดาย นี่ธรรมชาติที่เป็นตัวของตัวอย่างเต็มที่แล้วก็ไปตามเรื่องแห่งความจริงของตัวเท่านั้น นี่คือผลแห่งการปฏิบัติ
ไม่ว่าสมัยใดเวลาใด สัจธรรมเป็นเครื่องยืนยันเพื่อมรรคผลนิพพานอยู่ตลอดเวลาในกายและจิตของเราทั้งหลายทุกคน อย่าไปคิดส่ายแส่ให้เสียเวล่ำเวลาออกไปภายนอกจากกายกับใจซึ่งเป็นตัวเหตุตัวการอยู่เวลานี้นี่เป็นของสำคัญ
เอาละพอ