ของจริงลบล้างของปลอม
วันที่ 16 กรกฎาคม. 2525
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕

ของจริงลบล้างของปลอม

 

คำว่าพระพุทธเจ้า คือท่านผู้ปราบไตรภพ เรียนจบในสมมุติทั้งปวงโดยสมบูรณ์ พระสาวกที่ดำเนินรอยตามพระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้เรียนจบปราบไตรภพภายในจิตให้สิ้นซากไปเช่นเดียวกันกับพระศาสดา คำที่ว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก กับคำที่ว่าพระธรรมได้อุบัติขึ้นแล้วในโลกนั้น อุบัติขึ้นมาในขณะเดียวกัน จากนั้นก็พระสงฆ์ได้ปรากฏขึ้นแล้วในโลก นี่กล่าวถึงผลแห่งความปรากฏของธรรม ที่มีพระพุทธเจ้าแลสาวกทรงนำออกมายืนยัน

เมื่อกล่าวถึงเหตุ พระพุทธเจ้าท่านทรงดำเนินอย่างไร มีความยากเย็นเข็ญใจขนาดไหน พระสาวกที่ว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นั้น ท่านลำบากหรือได้รับความทุกข์ทรมานหนักเบามากน้อยเพียงไร ส่วนมากมีแต่แทบเป็นแทบตายด้วยกัน มีจำนวนน้อยมากที่เป็น สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว นี้มีจำนวนน้อยมาก ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว นี่ก็มีจำนวนมากขึ้นพอประมาณในครั้งพระพุทธเจ้า ส่วน ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา นี้รู้สึกจะมาก คือทั้งปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า นี่มีจำนวนมาก ท่านกล่าวไว้สี่ประเภทด้วยกัน สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว มีต่างกันเป็นลำดับลำดา สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้าก็รู้สึกมีน้อยมาก ส่วนมากมักจะปฏิบัติลำบากกว่าจะรู้จะเห็นธรรม

เพราะฉะนั้น ท่านผู้เป็นนักปฏิบัติ พึงดูใจของตัวเอง อย่าไปดูผู้อื่นที่ท่านปฏิบัติสะดวกหรือปฏิบัติลำบาก และรู้เร็วหรือช้ามากยิ่งกว่าดูตัวเรา ที่ยกมานี้เพื่อเป็นแบบฉบับ เพื่อไม่ให้จิตคิดออกนอกลู่นอกทางโดยเห็นว่าลำบากบ้างเล็กน้อย แล้วก็เถลไถลไปในทางเสียหายและล่มจมไปเสีย โดยไม่รู้ว่านั้นคือความลำบากอย่างมหันต์

การปฏิบัติเราพอทราบได้ในนิสัยของเรา เราฝึกทรมานจิตใจเราหนักแน่นขนาดไหน ได้รับผลปรากฏขึ้นมาอย่างไรบ้าง ก็เป็น ทุกฺขา ปฏิปทา อยู่ในนั้น ถ้าปฏิบัติแบบล้มหมอนนอนเสื่อไม่มีวันลุกไม่มีวันตื่นเลยนั้น นั่นมันเลย สุขา ปฏิปทา จนกลายเป็นปฏิปทาที่เน่าเฟะหมดทั้งตัวหมดทั้งใจ อันนี้ไม่มีทางที่ว่าเป็น สุขา และทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา และ ขิปฺปาภิญฺญา ได้เลย คือรู้ได้เร็วก็ตาม รู้ได้ช้าก็ตาม จะไม่มีวันรู้ได้ทั้งสองอย่าง นอกจากหลงไปเลยจมไปเลย อันนี้เป็นผลของปฏิปทาแบบนอนจม

จงดูจิตของตัวเองว่าฝ่าฝืนธรรมมากน้อยเพียงไร นั่นแหละวิธีการปฏิบัติตนจะต้องปฏิบัติให้พอ ๆ กันกับความฝืนของจิต ตามธรรมดาจิตย่อมฝืนธรรม และไหลไปตามโลกคือกิเลสโดยลำดับ ไม่มีคำว่ายับยั้งชั่งตวงประการใดเลย เพราะทางของกิเลสมันราบรื่นมาก เนื่องจากทางนี้เป็นทางที่เคยเป็นมาประจำภพประจำชาติจนนับไม่ถ้วน แต่การที่จะฝืนจิตใจจากภพจากชาตินี้ มันต้องได้ฉุดได้ลาก

เพราะฉะนั้น จิตใจจึงไม่ชอบธรรม เพราะกิเลสไม่พาให้ชอบ นอกจากพาให้เกลียดอยู่เป็นประจำ ถ้าธรรมอยู่จุดใด ใจไม่ชอบในจุดนั้น ธรรมบอกสอนว่าอย่างไรใจมักฝืนอยู่เสมอหรือฝืนเสมอ เพราะใจนั้นเป็นใจที่กิเลสเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ธรรมเป็นเจ้าของ กิเลสเคยเป็นเจ้าของมาก่อนแล้ว และมีกำลังรอบตัวคือรอบจิตอยู่ตลอดเวลา นาน ๆ เราถึงจะฝืนสักนิดหนึ่ง ๆ จึงไม่พอกับกำลังของกิเลส ที่มันฝึกซ้อมบนหัวใจเราอยู่ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้จึงต้องคำนึงถึงพระพุทธเจ้าและสาวกที่ท่านดำเนินมา ทุกข์ขนาดไหนสำหรับพระพุทธเจ้าจะทรงเป็นสยัมภู คือ รู้เองเห็นเองนั้น ย่อมเป็นความยากความลำบากอยู่โดยดี เพราะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดชี้แนะแนวทางให้ ส่วนสาวกได้รับการชี้แจงแนะนำจากพระพุทธเจ้ามาด้วยดีแล้ว จึงเรียกว่า สาวก แปลว่าผู้สดับ ผู้ฟัง ผู้ได้รับการแนะนำจากพระพุทธเจ้า แม้เช่นนั้นเวลามาปฏิบัติ ท่านยังต้องลำบากลำบน ก็เพราะความฝืนของกิเลส ความต่อสู้ของกิเลส ความขัดขวางของกิเลส ไม่ให้เป็นไปตามร่องรอยของธรรมนั่นเอง จิตจึงได้เป็นเช่นนั้น เป็นแต่เพียงว่าผู้ได้ทราบการแนะแนวทางมาแล้ว แม้จะยากลำบาก การฝืนก็ฝืนไปในทางที่ถูกที่ดีตามหลักธรรมที่ได้รับจากพระพุทธเจ้ามาแล้ว

จึงกล้าพูดว่า กิจการงานการใด ๆ ก็ตาม ใครจะว่ายากว่าลำบากทุกข์ทรมานเพียงไร เมื่อมาเทียบกับงานถอดถอนหรือรื้อถอนกิเลส ทำลายกิเลสออกจากจิตใจแล้ว งานนี้จึงเป็นงานหนักเหนืองานใด ๆ ทั้งนั้น ผู้ไม่ทราบ ผู้ไม่เคยดำเนิน ผู้ไม่เคยทำงานประเภทนี้อย่างเอาจริงเอาจังเพื่อผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ จะไม่มีทางทราบได้เลยว่างานนี้เป็นงานที่หนักมาก ความหนักก็หนัก ความใช้ความพินิจพิจารณาละเอียดลออ ก็ต้องพิจารณาละเอียดลออมากเกินกว่ากิเลสจะตามทัน เกินกว่ากำลังของกิเลสต่อสู้ได้กิเลสจึงจะยอมหมอบราบลง ตามปกติสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอำนาจ เป็นสิ่งที่กล่อมจิตใจให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลมาเป็นประจำอยู่แล้ว ทำไมจะไม่แก้ไม่ถอดถอนยาก ต้องเป็นของยาก

เราก็พึงทราบนิสัยของเรา เมื่อการต่อสู้ยาก ได้ผลมากน้อยเพียงไรเป็นเครื่องตอบแทน เราพึงจับเอาผลนั้นแลเป็นเครื่องพิสูจน์ในการดำเนินเหตุให้หนักมือเข้าไป หากไม่เช่นนั้นจะไม่เข้าอกเข้าใจในธรรมทั้งหลายเลย และจิตนี้ก็จะไม่พ้นเป็นที่อยู่ที่ฝังจมและที่ขับถ่ายของกิเลสตลอดไป ไม่มีเวลาที่ธรรมจะแทรกเข้าไปได้ หากไม่ใช้ความพยายามและพินิจพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง และละเอียดลออให้เต็มภูมิของสติปัญญาที่มีอยู่

นี่ดูการประกอบความพากเพียรของหมู่เพื่อน รู้สึกทำให้หนักใจอยู่มาก เป็นแต่เพียงไม่พูดเท่านั้น ดูอากัปกิริยาความเคลื่อนไหวไปมา มันบ่งบอกอยู่เสมอว่าเป็นความบกพร่องตลอดอิริยาบถ แต่กิเลสไม่เคยมีคำว่าบกพร่อง มันพอกพูนตัวของมันอยู่ตลอดเวลา กับการประกอบความเพียรแบบบก ๆ พร่อง ๆ จะเข้ากันได้อย่างไร จะเอากำลังที่ไหนมาต่อสู้กับกิเลสให้ยอมจำนนต่อธรรมทั้งหลายได้ ถ้าไม่ใช้ความพยายามให้หนักมือขึ้นไปโดยลำดับ

อย่านำความทุกข์ความลำบากที่เคยประกอบความพากเพียรมาแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็นอดีตปีอดีตเดือนวันก็ตาม อดีตเวล่ำเวลาเช่นวันนี้ก็ตาม ความทุกข์ความลำบากเหล่านั้นมักจะเป็นข้อแก้ตัวของกิเลสเสมอ การประกอบความพากเพียรเพื่อแก้กิเลส กิเลสจะหลอกว่าเป็นความลำบากลำบน ครั้งนั้นลำบากมาแล้ว ปีนั้นลำบากมาแล้ว เดือนนั้นได้รับความลำบากมาแล้ว มาเดือนนี้ปีนี้วันนี้ก็เป็นความลำบาก แล้วจะพยายามถูไถไปได้อย่างไร ทำให้จิตใจท้อถอยอ่อนแอลงในขณะที่จิตคิดเช่นนี้ นั้นแลคือเพลงของกิเลสกล่อมใจให้หลงไปตามมัน พึงทราบไว้ทุก ๆ ท่าน อย่าเข้าใจว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง เป็นความคิดที่บริสุทธิ์และถูกธรรม แต่เป็นความคิดที่กิเลสแทรกขึ้นมาโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ นี่แหละอุบายของกิเลสฉุดลากหัวใจให้อ่อนต่อความพากเพียร และท้อถอยปล่อยวางในความดีทั้งหลาย และล่มจมไปกับมันจนได้

กิเลสนั้นไม่เคยมีความอ่อนข้อย่อหย่อนต่อความเคลื่อนไหว ที่จะสั่งสมตัวให้มีกำลังมากขึ้น โดยอ้างกาลสถานที่เวล่ำเวลาตลอดความลำบากลำบน แต่ความพากเพียรของเรามักจะอ้างกาลอ้างเวลา อ้างความทุกข์ความลำบาก อ้างความโง่ความฉลาด อ้างอำนาจวาสนา อ้างสถานที่กาลเวลา อ้างไปกี่ประเภทล้วนแล้วแต่เป็นข้อแก้ตัวของกิเลสทั้งมวล เมื่อเป็นเช่นนั้นจะมีช่องทางออกที่ตรงไหน เมื่อผู้ปฏิบัติมาอ้างเช่นนี้ ก็คือถูกกิเลสถือยึดเอาความคิดความปรุงนี้เป็นเครื่องมือไปใช้เสียหมดนั่นแล ความคิดในแง่ธรรมที่เคยคิดไว้แล้วนั้นเลยล่มจมฉิบหายไปไหนก็ไม่รู้ นี่ละการประกอบความพากเพียรที่เป็นไปไม่ได้ภายในจิตใจเป็นอย่างนี้ ขอให้ทุกท่านทราบไว้แต่บัดนี้ซึ่งยังไม่สายเกินไป

ครั้งพุทธกาลท่านประกอบความพากเพียร ท่านทำเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำเป็นจริงเป็นจังเป็นเนื้อเป็นหนังจริง ๆ เพื่อชำระสะสางกิเลสให้วอดวายไปจากจิตใจจริง ๆ ท่านไม่ทำเพียงลุ่ม ๆ ดอน ๆ พอเป็นกิริยาให้กิเลสหัวเราะรำคาญเปล่า ๆ

อย่างที่เป็นไปอยู่กับพวกเราเวลานี้ กิริยาใด ๆ ที่แสดงออกมา มีตั้งแต่กิเลสออกหน้าออกตาเสียทั้งนั้น โดยที่เราก็ไม่รู้เลยว่า กิริยาเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสชักจูงหรือผลักดันให้เป็นไป ถ้าอยากทราบก็เวลานี้ได้สอนอยู่แล้วบรรดาอุบายวิธีที่จะทราบ ความเพียรที่สำคัญก็คือสติ อย่างไรสตินี้ปล่อยวางไม่ได้ จากนั้นก็ปัญญาขึ้นเป็นวรรคเป็นตอนสอดแทรกกันไปในโอกาสหรือเหตุการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะควรใช้ปัญญาต้องใช้ไปอยู่โดยสม่ำเสมอ อย่าคอยให้สมาธิเป็นอย่างนี้อย่างนั้นแล้วจึงจะใช้ปัญญา สมาธิถึงภูมินี้แล้วจึงจะใช้ปัญญา มีแต่วาดภาพแบบลม ๆ แล้ง ๆ ไป หาเหตุผลไม่ได้ตามหลักธรรม แต่เป็นเรื่องของกิเลสพาให้วาดภาพหลอกไปเรื่อย ๆ เราก็ไม่รู้สึกว่าได้ถูกหลอกถูกต้มตุ๋นจากมันอยู่ตลอดมา

การฝึกทรมานจิตใจ พึงทราบว่าใจนี้เป็นยังไง ใจนี้คือผู้ต้องหาถูกควบคุมจากกิเลสอยู่ตลอดเวลา บัดนี้เราจะต่อสู้แย่งชิงใจมาเป็นสมบัติของธรรม ให้ธรรมได้ครองใจ จึงมีการต่อสู้ซึ่งกันและกัน หลักแห่งการต่อสู้ก็คือความเพียรความอดทน คือสมาธิความหนักแน่นมั่นคง คือสติ คือปัญญา ธรรมเหล่านี้มีทั้งเครื่องหนุน มีทั้งเครื่องต่อสู้ฟาดฟันอย่างครบถ้วน จำไว้ให้ดี กิเลสจะหลุดลอยไปด้วยวิธีการเหล่านี้

ใครพิจารณาธรรมบทใด ขั้นเริ่มแรกก็เคยพูดเคยสอนมาแล้ว  ทำอะไรให้จริงให้จัง จะบริกรรมก็ให้จริงจัง เราบริกรรมธรรมบทใด ให้มีแต่ธรรมบทนั้น กับความรู้สึกที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่เท่านั้น สิ่งทั้งหลายที่นอกไปจากงานของเราที่ทำนั้น ปล่อยวางเสียโดยสิ้นเชิง เหมือนว่าโลกนี้ไม่มี  มีเฉพาะคำบริกรรมกับความรู้ที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น นั่นคือความเพียรอันถูกต้องซึ่งจะนำผลอันพึงใจมาสู่ตัว

อย่าไปเสียดายเวล่ำเวลา อย่าไปเสียดายความคิดปรุงสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่จะมาแย่งเอาความคิดปรุงอันเป็นอรรถเป็นธรรมนี้ ให้กลายเป็นเรื่องความคิดปรุงของกิเลสไปเสีย ให้มีความรักความสงวน ความหึงหวงในความคิดปรุงอันเป็นอรรถเป็นธรรมนี้ไว้ประจำตน อย่าให้กิเลสมาแย่งชิงความคิดความปรุงหรือคำบริกรรมนี้ ไปทำหน้าที่ของกิเลสแทนธรรมไปเสีย จะหาความสงบเย็นไม่ได้ ผู้กำหนดธรรมบทใดให้พึงทำแบบนี้ด้วยกัน

แม้จะกำหนดอานาปานสติตามความถนัดของตัวแต่ละรายๆ ก็พึงกำหนดดูเฉพาะลมเท่านั้น ลมเข้าก็รู้ลมออกก็รู้ ไม่ต้องเกร็งเนื้อเกร็งตัวบังคับบัญชาส่วนใดของร่างกายจนเกินไป ให้ทำความรู้ไว้โดยเฉพาะ ๆ กับลมเท่านั้น และไม่หวังผลใดที่จะแสดงขึ้นมาในรูปนั้นรูปนี้ ไม่ต้องไปหมาย การบำเพ็ญเหตุอยู่เวลานั้นนั่นแล คือการสร้างผลให้ปรากฏขึ้นมาโดยลำดับ ตามกำลังแห่งความเพียรหรือแห่งสติที่กำกับจิตใจด้วยดีอยู่นั้น ให้รู้อยู่กับลม ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ ไม่ต้องตามลมเข้าไป ไม่ต้องตามลมออกมา ในขั้นเริ่มแรกนี้เราจะทำให้กว้างขวางไม่ได้ จะเป็นการสร้างภาระให้มากแก่ตน สุดท้ายก็เลยไปไม่รอด ไม่ได้เรื่องราวด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องกำหนดจุดเฉพาะจุดที่ต้องการ ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ ให้รู้อยู่เพียงเท่านี้อย่าคาดอย่าหมาย ความคาดความหมายไม่ยังผลอะไรให้เกิดขึ้น นอกจากวงปัจจุบันที่รู้กันอยู่ระหว่างลมกับสติที่รับรู้กันอยู่เท่านั้น นั่นคือความถูกต้อง ให้จริงจังลงตรงนั้น นี่เป็นขั้นหนึ่งแห่งการทำจิตให้สงบ

อย่าเสียดายอารมณ์ใดในขณะที่ทำงานอยู่เวลานั้น ความคิดความปรุงเคยคิดเคยปรุงมามากต่อมากแล้วพรรณนาไม่ได้ แม้ภายในชั่วโมงหนึ่ง อย่าพูดถึงเดือนถึงปีที่ผ่านมาเลย แล้วได้ผลได้ประโยชน์อะไรจากความคิดปรุงลม ๆ แล้ง ๆ ดังที่เคยเป็นมานั้น มันเป็นเรื่องของกิเลสทำงานต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของธรรมทำงานจึงไม่ได้ผลที่ต้องการ บัดนี้จะให้จิตทำงานในด้านธรรมะ เช่น คำบริกรรม ถ้ามันยังคิดออกไปได้ เอา คำบริกรรมต้องให้ถี่ยิบเข้าไป อย่าให้มีช่องว่างเลย ให้ทำความเข้มงวดกวดขันกันอย่างนั้นจริง ๆ อย่าสักแต่ทำ แต่บริกรรมแบบเซ่อ ๆ ซ่า ๆ อ้าปากหลับในใจฝันลม ๆ แล้ง ๆ ดังที่มักเป็นกันส่วนมาก แล้วก็มาทวงเอาคะแนนจากธรรมว่าภาวนาไม่ได้เรื่อง นั่นท่านเรียกภาวนาบัดซบ จบลงแค่หมอน

การกำหนดลมก็เช่นเดียวกัน เมื่อความรู้อยู่กับลมโดยสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยไม่วางซึ่งกันและกันแล้ว ลมก็จะปรากฏเป็นความละเอียดเข้าไป เพราะใจพาให้ละเอียด นี่ก็ได้อธิบายถึงที่สุดของลมมาไม่รู้กี่ครั้ง จนถึงกับว่าลมได้หายไปจากความรู้สึกเหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ในภาคปฏิบัติ เมื่อยังเหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ เราก็ไม่ต้องวิตกวิจารณ์กับลมว่าหายไปไหน กลัวจะเป็นจะตาย เราไม่ได้ภาวนาเอาลม หายไปไหนก็หายไปซิลม เราภาวนาเอาความรู้คือจิตนี้ต่างหาก เช่นเดียวกับเราตามรอยโค เมื่อตามรอยโคไปถึงตัวโคแล้ว รอยของโคก็หมดปัญหาไปเอง

การกำหนดลม เมื่อถึงตัวจริงคือผู้รู้แล้ว ลมก็หมดปัญหาไป ความรู้มีอยู่ให้อยู่กับความรู้นั้น ไม่ตาย แม้ลมจะหายไปในความรู้สึกแต่จิตยังครองร่างอยู่แล้วไม่ตาย ไม่ต้องไปกังวล ให้อยู่กับความรู้นั้น จะละเอียดขนาดไหนก็ให้อยู่ตามความจริงของความรู้นั้น อย่าไปปรุงไปแต่งไปหมาย ว่าหยาบไปละเอียดไป ให้รู้อยู่จำเพาะนั้น จึงชื่อว่าภาวนาในวงปัจจุบัน นี่การพิจารณาเพื่อความสงบ ท่านทำกันอย่างนี้

ถึงเวลาหรือระยะที่จะพิจารณาให้เป็นวิปัสสนา วิปัสสนาก็แปลว่า ความเห็นแจ้ง ความเห็นธรรมดาเรามันเห็นด้วยความมืดบอด เห็นด้วยสัญญาอารมณ์ เห็นด้วยความจอมปลอม เห็นรูปเห็นกายมองดูด้วยตาเนื้อ เมื่อใจมันปลอมเมื่อใจมันมืดแล้ว มันก็ไม่เห็นความจริง

ดูร่างกายนี้ก็หนัง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูมันก็ไม่เห็นมีอะไร หนังใคร ๆ ก็มีทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่ามันมีด้วยกัน ตลอดถึงสัตว์ก็มี มันวิเศษวิโสอะไรกับหนัง ความที่ว่ามันสวยมันงามน่ารักใคร่ชอบใจ มันเป็นเรื่องของกิเลสตัวจอมปลอมหลอกต่างหาก มันไม่ใช่ความจริง ความจริงแท้มันหาความสวยความงามไม่ได้ ถ้าจะเอาความจริงนี้ไปลบล้างความจอมปลอมนั้นก็พิจารณาลงไปซิ หลักความจริงคืออสุภะอสุภังปฏิกูลโสโครกมีเต็มหมดทั้งร่างกายนี้ แล้วความที่ว่าสวยงามมันเอามาจากไหน หาแล้วมันไม่เจอ มันมีแต่ของปฏิกูลโสโครกทั้งภายนอกภายใน ต้องชะต้องล้างต้องอาบต้องสรงอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้ นี่ความจริงเป็นอย่างนี้ จงดูให้เห็น พิจารณาให้แจ้งซิ

ทำไมจึงเชื่อเอานักหนาเชื่อกิเลส ว่ามันสวยมันงามมันจีรังถาวร ว่าให้ความสุขกายนี้ให้ความสุขที่ตรงไหน ไม่เห็นปรากฏว่ากายมีความสุขเลย นอกจากเวลาไม่เป็นโรคอะไรเลยมันก็อยู่เฉย ๆ ธรรมดา แต่เรื่องความทุกข์นั้นเด่นมาก ความสุขมีนิด ๆ เช่น หิวข้าว พอรับประทานอิ่มแล้วก็มีความสบายขึ้นมาพักหนึ่ง จากนั้นก็เสมอตัว นี่พิจารณาร่างกายก็ให้เห็นเป็นอย่างนั้น

บังคับจิตให้ท่องเที่ยวอยู่ในกรรมฐานนี้ นี่ละท่านว่าเที่ยวกรรมฐาน เที่ยวกรรมฐานภายนอกตามป่าตามเขาลำเนาไพรก็เที่ยวไป แต่จิตไม่ละกรรมฐานภายในคือ ท่องเที่ยวอยู่ในสกลกายอันนี้เป็นหลักใหญ่ของสัจธรรม และสิ่งนี้แลเป็นเครื่องปกปิดกำบังบุรุษตาฟางใจโง่เขลา ไม่สามารถมองเห็นความจริงได้

พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนธรรมให้ลงสู่ความจริงนี้ มอบ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ เป็นต้น ให้พิจารณาคลี่คลายดูสิ่งเหล่านี้ ทำไมจึงหลงเอานักหนา ตาก็มีอยู่ไม่ใช่คนตาบอด หูก็มีอยู่ จมูกก็มีอยู่ ควรจะเห็นควรจะรู้ควรจะได้ยิน ควรจะสัมผัสสัมพันธ์ทั้งกลิ่นทั้งอะไรของมัน แต่ทำไมจึงไม่รู้ไม่เห็น ทำไมจึงไปเชื่อแบบด้น ๆ เดา ๆ เกาหมัดไปเช่นนั้น ซึ่งหาความจริงไม่ได้เลย พิจารณาลงไป ยึดหาอะไร

ถ้าพูดถึงเรื่องธาตุในร่างกาย ดินยึดมันอะไร ดินก็รู้ว่าดินอยู่แล้ว น้ำก็รู้ว่าน้ำ แล้วยึดให้มันเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาได้อย่างไร ดินเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาเป็นหญิงเป็นชายได้อย่างไร ลมก็รู้อยู่แล้วว่าลม จะให้เป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเขาเป็นเราเป็นของสวยของงามได้อย่างไร ไฟก็คือไฟรู้อยู่ชัด ๆ จะว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาเป็นของสวยของงามได้อย่างไร มีแต่สิ่งรู้อยู่เห็นอยู่ชัด ๆ นี้ แล้วไปหลงกลของมันได้อย่างไร หลงกลของกิเลสว่านี้คือสัตว์ ดินนี้คือสัตว์ น้ำนี้คือสัตว์คือบุคคล ลม ไฟคือสัตว์คือบุคคล คือเขาคือเรา คือหญิงคือชาย คือของสวยของงามน่ารักใคร่ชอบใจ รักใคร่ชอบใจอะไรกับดิน น้ำ ลม ไฟ แยกแยะดูให้เห็นชัดเจนซิ มัวตื่นลมตื่นแล้งไปกับกิเลสอยู่ทำไม ธรรมมีอยู่ ของจริงมีอยู่

ถ้าพูดถึงเรื่องปฏิกูล ร่างกายไหนจะเป็นปฏิกูลมากยิ่งกว่าร่างมนุษย์เรา ดูลงไปซิ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเด่นกว่าเขาทั้งนั้นถ้าเป็นเรื่องปฏิกูล แล้วทำไมจึงรักจึงชอบจึงกำหนัดยินดีเอานักหนา นี่แลคือเรื่องของกิเลสกล่อมใจหลอกใจ แม้อย่างนี้เรายังเชื่ออยู่เหรอ เอาธรรมเข้าไปเป็นคู่แข่งมองทะลุเข้าไปหาความจริงซิ ต่อจากนั้นก็มองให้ทะลุปรุโปร่งลงไป จนกระทั่งอายตัวเองขึ้นมาในขณะนั้น ว่าที่มายึดมาถือมาสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งนี้ว่าเป็นนั้นเป็นนี้ เวลาพิจารณาเข้าสู่ความจริงแล้ว หาความเป็นนั้นเป็นนี้ดังที่เคยสำคัญมานั้นไม่มีเลย มันก็ละอายตัวเองน่ะซิ

พอปัญญาหยั่งทราบตรงไหน มันรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมาและปล่อยวางไปโดยลำดับ ถ้าปัญญายังไม่เข้าถึงความจริงเมื่อไร มันยังไม่ปล่อย เพราะยังไม่รู้จริงเห็นจริงก็ยังไม่ปล่อย เมื่อถึงความจริง มัดไว้เท่าไรก็เถอะ ยังไงก็กระเด็นผึงไปเลยไม่มีเหลือ ขาดกระจายไปเลย อะไรมามัดไม่ได้มัดจิต ขอให้ปัญญาได้ฟันขาดกระจายไปเถอะ จิตจะดีดตัวขึ้นมาทันที

การพิจารณาให้ถือเป็นการเป็นงาน ทบทวนข้างบนข้างล่างภายในภายนอกตลอดทั่วถึง ถือเป็นการเป็นงานจริง ๆ อย่าไปกำหนดเที่ยวแห่งการพิจารณา อย่าไปนับว่าพิจารณาเท่านั้นครั้งเท่านี้ครั้ง ไม่สำคัญยิ่งกว่าการพิจารณาให้รู้จริงเห็นจริง นี่คือความจริงแท้ เอาให้เห็นเอาให้รู้ พิจารณาจนชำนาญ หลายครั้งหลายหนเข้าก็เด่นไปเอง ๆ ความจอมปลอมทั้งหลายที่เคยเสกสรรปั้นยอเอาไว้ก็จางไป ๆ สุดท้ายก็หมดไป ไม่กล้าเข้ามาแทรกความจริงนี้ได้เลย นั่นท่านว่ารู้จริง รู้อย่างนั้น

นี่ละพระพุทธเจ้าท่านตัดภพตัดชาติท่านตัดเข้าที่ตรงนี้ ท่านสอนท่านก็สอนอย่างนี้อันไหนที่หยาบจะควรพิจารณาได้ง่าย เหมาะแก่กำลังสติปัญญาของเราท่านก็สอนตอนนี้ก่อน เช่น ร่างกายเป็นของหยาบ แม้เช่นนั้นมันก็ยังหลง จึงต้องสอนส่วนร่างกายนี้ก่อน อย่างท่านมอบกรรมฐานห้าเป็นต้นให้ เมื่อพิจารณานี้มันก็กระจายไปเองอาการ ๓๒ ไม่ต้องบอก ลุกลามไปหมด ซึมซาบไปหมด เข้าใจหมด ปล่อยวางได้ทั้งนั้น เมื่อปัญญาได้แทรกลงไปจนตลอดทั่วถึงแล้ว

เวทนาซึ่งมีอยู่ในกายนี้มันก็เป็นความจริงอันหนึ่ง กายก็เป็นความจริงอันหนึ่ง เวทนาก็เป็นความจริงอันหนึ่ง แต่เมื่อเราไม่ทราบว่าทั้งสองอย่างนี้ต่างอันต่างเป็นความจริงของตัวเอง เราก็ไปคว้าทั้งสองอย่างนี้มามัดเข้าด้วยกัน แล้วยึดมาเป็นเราเป็นของเรา เวทนาคือความทุกข์เป็นต้นก็เป็นความจริงของมัน และเวทนาเองก็ไม่ทราบว่าตนเป็นทุกข์ด้วย และไม่ทราบว่าตนได้ให้ความทุกข์แก่ผู้ใดด้วย ไม่ทราบความหมายในตัวเองด้วย กายก็มีลักษณะเหมือนกัน การพิจารณาเวทนากับกายต้องแยกแยะกันอย่างนั้น

หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกก็เป็นชิ้นเป็นอันเป็นของจริงตามสภาพของตัว เวทนา มีทุกขเวทนา เป็นต้น ที่ปรากฏขึ้นจากร่างกายก็เป็นความจริงของมันอันหนึ่ง ถ้าจะเทียบแล้วก็เหมือนฟืนกับไฟที่เผาไหม้กันนั่นแล ถ้าอยากรู้เห็นประจักษ์ตาประจักษ์ใจก็ลองเผากอไผ่ดูซิ เสียงระเบิดตูมตาม ๆ เหมือนกับไม้ไผ่นั้นมีจิตมีวิญญาณ เสียงระเบิดตูมตาม ๆ นั้นเหมือนเสียงร้องเสียงครางขอความช่วยเหลือนั่นแล ที่นี่จงพิสูจน์ดูว่าฟืนมันรู้ไฟไหม ความจริงแล้ว ฟืนก็ไม่รู้ไฟ ไฟก็ไม่รู้ฟืน เมื่อทั้งสองอย่างมาประกอบกันเข้าก็ไหม้ของมันไปอย่างนั้นเอง เสียงระเบิดตูมตาม ๆ ดูแล้วเหมือนกับมีวิญญาณ แต่มันไม่มี ฟืนก็ไม่ทราบความหมายของตนและไม่ทราบเรื่องของไฟ ไฟก็ไม่ทราบความหมายของตน ความร้อนก็ไม่ทราบความหมายของตน และไม่ทราบเรื่องของฟืน ผู้ทราบก็คือเราผู้ดูไฟมันกำลังไหม้ฟืนอยู่นั้น นี่ผู้ทราบก็คือจิต ระหว่างร่างกายกับทุกขเวทนามันเผาไหม้กัน เช่นเดียวกับฟืนและไฟเผาไหม้กันนั่นแล มันไม่ทราบความหมายของกันและกันทั้งสองอย่าง จิตต่างหากเป็นผู้ไปทราบ และจิตต่างหากเป็นผู้ไปหลงยึดสิ่งเหล่านั้นเข้าไปอีก

เพราะฉะนั้น ความร้อนระหว่างร่างกายกับทุกขเวทนาเผากัน ซึ่งเป็นความจริงอันหนึ่งอยู่แล้ว แทนที่จะรู้ตามความจริงนั้นยังไม่พอ ยังเอาความทุกข์ร้อนภายในใจเพราะความลุ่มหลงทุ่มลงไปอีก แบกหามเอาทั้งร่างกาย ทั้งความทุกข์นั้นมาว่าเป็นตนเป็นของตนเข้าอีก จึงเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจอย่างหนักมาก ยิ่งกว่าทุกขเวทนาทางร่างกายเสียอีก นี่แลความลุ่มหลง มันทำให้เป็นพิษเป็นภัยถึงขนาดนั้นแล

ท่านจึงสอนให้พิจารณา แยกแยะให้เห็นตามความจริงของสิ่งเหล่านี้ ยิ่งเวลาทุกขเวทนากล้าสาหัสมากเท่าไร นั่นแลเป็นเวลาที่สติปัญญาจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเอาตัวรอด คนเรายอมจนตรอกเมื่อไร เมื่อถึงคราวจนตรอกแล้ว ความฉลาดเพราะความดิ้นรนของสติปัญญา หากช่วยตัวเองเล็ดลอดไปได้ การรู้แจ้งความจริงทั้งหลายก็รู้ได้ในเวลาจนตรอกนั้นแล

จึงขอให้ทราบไว้ทุก ๆ องค์ด้วยว่า คนเรานั้นไม่ได้โง่อยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวจนตรอกจนมุมแล้ว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ความพึ่งตนเองนั้นจะปรากฏขึ้นมาเอง เพราะตอนนั้นเวลานั้น เราจะไปร้องครางให้ใครมาช่วยเราได้ เราเป็นผู้แบกทุกข์เต็มตัวเรา อุบายวิธีสติปัญญามีมากน้อย ที่จะพยายามตะเกียกตะกายให้เล็ดลอดออกไป มันเป็นหน้าที่ของเราโดยเฉพาะในเวลานั้น นั่นแหละเมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ก็เด่นขึ้นมาเอง รู้ได้ชัดด้วยว่า อ๋อ คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นั้นเป็นอย่างนี้เองเหรอ เป็นอย่างนี้เองแหละ จงทราบจากความเพียรความสามารถของตน จะอาจหาญชาญชัยยิ่งกว่าหวังพึ่งใครในเวลาเช่นนั้น

พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้แล้วว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตโร ตถาคตา การประกอบความพากเพียร เพื่อถอนตนจากกิเลสทั้งหลายนั้น เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายพึงทำเอง  พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นแต่ผู้ชี้บอกแนวทางให้เท่านั้น  นั่นท่านบอกแล้ว  หูไม่มีเหรอ หูหนวกเหรอ เอาหูไปไว้ที่ไหนกันจึงไม่ได้ยิน จึงไม่คิด ธรรมนี้กระเทือนโลกคือหมู่สัตว์มานานแสนนาน เมื่อไรจะตื่น เมื่อไรจะคว้ามายึดมาช่วยตัวเอง จะพากันนอนจมแบบไม่มีหูมีตาอยู่อย่างนี้ละเหรอ

คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เป็นธรรมเล็กน้อยเมื่อไร เคยรื้อขนสัตว์มามากต่อมากแล้ว ยังไม่พากันคิดอ่านอยู่เหรอ จะพากันประมาทไปถึงไหนอีก มีรสอร่อยเลิศเลอนักหรือความประมาทน่ะ ถึงได้พากันรักสงวนเอานักหนา เคยได้ยินจากธรรมบทใดบ้างว่า ความประมาทพาคนให้ถึงบรมสุขน่ะ เรามันเรียนน้อยไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยิน เคยทราบแต่ว่า ความไม่ประมาทพาคนให้พ้นทุกข์ถึงบรมสุข

เราห่วงอะไรเวลานี้ เราหวงอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งพลัดพรากผันแปรประจำตัวของมันอยู่แล้วตลอดเวลา ถ้าพูดถึงเรื่องความพลัดพรากผันแปร มันก็เป็นทุกขณะอยู่แล้ว เรายังหึงหวงอะไรอีก  จะเอาอะไรมาเป็นสารคุณสำหรับเรา เพราะการคิดการหึงการหวงการห่วงการใยเหล่านั้น มันไม่มีอะไรเป็นผลดี มีแต่ลม ๆ แล้ง ๆ ด้วยอำนาจของกิเลสมันกล่อมให้หลับอยู่เท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นสารคุณพอให้ภาคภูมิใจได้เลย มีอย่างเดียวสำหรับนักบวชและนักปฏิบัติเรา คือต้องหนักแน่นในธรรม เพื่อเป็นเครื่องฉุดลากออกจากความลุ่มหลงเพลิดเพลินของกิเลส เอาให้จริงให้จัง อย่าทำเหลาะ ๆ แหละ ๆ เห็นกองทุกข์เป็นตุ๊กตาเครื่องเล่นไปได้ ทุกข์มันเป็นตุ๊กตาเมื่อไร ใครเคยชินต่อไฟ จี้เข้าที่ไหนเมื่อไรโดดเมื่อนั้น ทุกข์ก็เหมือนกัน เจอเข้าเมื่อไรก็เอาเถอะ ไม่ว่าจะเจอทางร่างกายและจิตใจ มันเป็นสิ่งที่เคยชินต่อกันไม่ได้ทั้งนั้น   เรายังจะนอนใจอยู่เหรอ

พระพุทธเจ้าก็สอนไว้แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง สอนด้วยความรู้จริงเห็นจริง ว่าทุกข์นี้เป็นทุกข์จริง ๆ สุขนี้เป็นสุขจริง ๆ ความติดอยู่ในกิเลสเป็นความทุกข์มากมายขนาดไหนพระองค์ก็เคยผ่านมาแล้ว เคยรู้มาแล้วเคยถูกมาแล้ว การผ่านพ้นกับสิ่งเหล่านี้เป็นคุณขนาดไหน พระองค์ก็ประกาศธรรมให้เราทั้งหลายได้ทราบอยู่แล้ว เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันก็ ๒,๕๐๐ กว่าปี ยังไม่ถึงใจของพวกเราอยู่เหรอ การจมอยู่ในกองทุกข์เพราะอำนาจของกิเลสมันกดมันถ่วงให้ล่มให้จมนั้น เรายังไม่คิดเห็นโทษของมันบ้างหรือ แล้วจะเห็นคุณค่าของธรรมได้ที่ตรงไหน

ธรรมทั้งหมดนี้เป็นเครื่องปลุกใจสัตว์โลกให้ตื่นจากหลับ คือกิเลสพาให้หลับ พาให้งมงาย แต่กิเลสเองไม่ได้งมงาย ตัวเราผู้ถูกกิเลสกดขี่บังคับ กิเลสกล่อมนั้นแลมันงมงาย ธรรมท่านปลุกให้ตื่นอยู่ตลอดเวลา สติ ๆ ไม่เป็นเครื่องตื่นจะเป็นอะไร ปัญญาพิจารณาสอดส่องหาช่องแก้ช่องปลดตนเอง เพื่อความเล็ดลอดไปได้เป็นลำดับ จงนำมาใช้อย่านอนใจกับป่าช้าอันเป็นความเกิดตายซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายนี้นักเลย การหลุดพ้นไปเสียเท่านั้นเป็นเรื่องวิเศษ

จิตที่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส กับจิตที่พ้นอำนาจของกิเลส เหนือกิเลสแล้ว มีความรู้สึกต่างกันอย่างไรนั่น เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของพระพุทธเจ้าผู้พ้นกิเลสแล้ว และความรู้สึกของพระสาวกอรหันต์ทั้งหลายผู้พ้นกิเลสแล้ว จึงไม่มีอะไรจะเทียบจะเปรียบ จิตที่จมอยู่ในกิเลสนี้เป็นอย่างไร คิดดูอย่างนักโทษ แม้แต่นอนหลับอยู่ก็ยังต้องมีผู้ควบคุม อย่าว่าเวลาตื่นเลย ประกอบหน้าที่การงานรับประทานอาหารเคลื่อนย้ายไปมาที่ไหน ต้องมีผู้ควบคุมอยู่ตลอดเวลา มันเป็นความสุขแล้วเหรอ การอยู่ใต้อำนาจแห่งการกดขี่บังคับของการควบคุมนั้น มันเป็นที่พึงใจละหรือ นี่เด็ก ๆ ก็รู้ได้ทราบได้ ก็นี่กิเลสมันควบคุมกดขี่บังคับอยู่ตลอดเวลา หาความเป็นอิสระที่ไหนได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ ๆ อยู่นั้นแหละ เหมือนนักโทษเขาก็ไม่ใช่คนตาย เขาก็รู้ ๆ อยู่นั้นแหละ แต่ความรู้นั้นก็รู้อยู่เฉย ๆ ไม่มีอำนาจที่จะพ้นจากความเป็นนักโทษไปได้

ความรู้ของของคนที่มีกิเลสก็เหมือนกัน จะรู้ขนาดไหนก็อยู่ใต้อำนาจของกิเลส มันเป็นความสุขความอิสระที่ไหน เป็นความสะดวกสบายได้ที่ไหน การหลุดพ้นไปเสียเท่านั้น และการปราบปรามสิ่งที่มีอำนาจมากภายในจิตใจลงด้วยธรรมเท่านั้น จึงจะเป็นความรู้ที่เด่น เป็นความรู้ที่อิสระ เป็นความรู้ที่องอาจกล้าหาญ เลยสมมุติทั้งปวง นั่นท่านจึงเรียกว่า ปรมํ สุขํ ตรงกันข้ามกับ ปรมํ ทุกฺขํ การอยู่ใต้อำนาจของกิเลสเป็น ปรมํ ทุกฺขํ ของใจ

การปราบกิเลสให้เรียบราบไปหมดโดยประการทั้งปวงนั้น คือ ปรมํ สุขํ ปรมํ ทุกฺขํ นี้ใคร ๆ ก็เคยแบกเคยหามมาแล้ว เคยโดนมาแล้ว ส่วน ปรมํ สุขํ นี้ไม่เคยสัมผัสแม้กระแสบ้างเลย ทำไมจึงไม่อยาก ปรมํ สุขํ บ้าง ปรมํ ทุกฺขํ มีรสมีชาติอย่างไร มีความสุขความสบายอย่างไร ก็ฟังแต่ว่า ปรมํ ทุกฺขํ เราสงสัยที่ตรงไหน เราจมอยู่กับความทุกข์มาไม่มีเวล่ำเวลาจนกระทั่งป่านนี้ ยังไม่เข็ดหลาบ แล้วเราจะเอาความเข็ดหลาบมาจากอะไร ในสามแดนโลกธาตุมีกิเลสอย่างเดียวสร้างทุกข์ให้สัตว์โลกที่ควรจะเข็ดหลาบ ธรรมมิได้สร้างทุกข์ให้สัตว์โลก ถ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าและดำเนินตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ จะเชื่อใครและดำเนินตามอะไรจึงจะเป็นที่แน่ใจ พระพุทธเจ้าหลุดพ้นแล้วนำธรรมนั้นมาสอนโลก จงน้อมธรรมนั้นมาดำเนินเพื่อหลุดพ้น ใจจะได้เป็นอิสระ

ความเป็นอิสระของจิต ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องเลย หาอะไรเทียบไม่ได้ ท่านพูดเพียงว่า ปรมํ สุขํ แม้ยังทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ ใจนั้นก็อยู่เหนือสมมุติทั้งมวลตลอดเวลา อกาลิโก ไม่มีทุกข์ตัวไหนจะเข้าไปแทรกได้ เพราะคำว่าทุกข์ก็คือสมมุตินั่นเอง นอกจากขันธ์ซึ่งเป็นตัวสมมุติ ก็ยังมีสุขมีทุกข์ไปตามสภาพของมัน ดังพระพุทธเจ้าประชวร นั่นก็คือทุกข์ในธาตุขันธ์ ทรงกระหายน้ำ รับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาให้เสวย นั่นก็คือเรื่องของธาตุของขันธ์บกพร่อง ต้องการความเยียวยา ไม่ใช่เรื่องของวิสุทธิจิตท่าน

อานนท์ ไปตักน้ำมาให้ตถาคตดื่มหน่อย เวลานี้ธาตุขันธ์ตถาคตเพียบเต็มที่แล้ว ตถาคตอ่อนเพลียมากต้องการพักผ่อน ลาดสังฆาฏิตรงนี้ ตถาคตจะพักผ่อนพอบรรเทาขันธ์ คำว่าตถาคตนี้ก็หมายถึงธาตุถึงขันธ์ ราวกับว่าอานนท์ ไปตักน้ำมาเติมรถนี้หน่อย รถนี้จะหมดน้ำแล้ว ไปเอาน้ำมาเติม แล้วพักเครื่องมันหน่อย ส่วนผู้ขับรถไม่ได้เป็นอะไร รถต่างหากเป็น

คำว่า ตถาคตที่แท้จริงก็คือพระจิตที่บริสุทธิ์ นั่นเหมือนกับคนขับรถ ประคองร่างนี้ไปพอถึงที่ ๆ จะปลงมัน คือ เมืองกุสินารา ยังไม่ถึงนั่น มันจะบรรลัยไปเสียก่อนแล้ว จะแตกจะพังเสียก่อนแล้วสรีระนี้ จึงต้องเยียวยากันไป พอถึงกาลถึงสถานที่ที่ปลงวาง ที่ว่าเรากระหายก็หมายถึงว่า ความบกพร่องของธาตุขันธ์ต้องการน้ำ ทุกข์ก็คือขันธเวทนา มันอยู่ในขันธ์ต่างหาก ไม่อยู่ในวิสุทธิจิต ไม่อยู่ในความบริสุทธิ์ของใจ จะเอาอะไรไปทุกข์ตรงนั้น

คำว่า ตถาคตหิว ตถาคตกระหาย หมายถึงร่างของตถาคตต่างหาก ไม่ได้หมายถึงพระจิตของตถาคตอันเป็นองค์ศาสดา หรือเป็นธรรมดวงเลิศอย่างแท้จริงนั้นเลย นี่เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เป็นอย่างนี้ มันเป็นได้ด้วยกัน ไม่ว่าพระอรหันต์ไม่ว่าคนมีกิเลสมันเหมือน ๆ กัน มีความทุกข์ ความสุข เจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บหัวตัวร้อนเป็นธรรมดา อันนี้ยอมรับ เพราะธาตุขันธ์เป็นสมมุติ เรื่องความทุกข์ความลำบากซึ่งเป็นสมมุติด้วยกันก็เข้ากันได้สนิท แต่จิตที่บริสุทธิ์แล้วนั้น ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เลย ก็หมายถึงความเป็นอิสระของจิตอยู่ตลอดเวลานั่นแล

นั่งอยู่ที่ไหนก็ให้มีสติ อิริยาบถต่าง ๆ อย่าได้เผลอ อย่างน้อยให้มีสัมปชัญญะคือความรู้สึกอยู่ในตัว จะรู้เป็นวงกว้างหมดทั้งกาย ก็คือสติที่เป็นสัมปชัญญะ ถ้าจดจ่อพิจารณาอะไร รู้อยู่จำเพาะ ๆ เรียกว่าสติ สัมปชัญญะ คือความรู้ในวงกว้างประจำตน เรียกว่าสัมปชัญญะ นี้แลเป็นเครื่องบำรุงให้มีกำลัง สติเมื่อได้รับการบำรุงอยู่เสมอจะมีกำลัง ปัญญาเมื่อได้ใช้การพินิจพิจารณาอยู่โดยสม่ำเสมอ ก็จะมีกำลังและคล่องตัวไปเช่นเดียวกัน สุดท้ายก็กลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติไปได้โดยไม่ต้องสงสัย

ดังครั้งพุทธกาลท่านว่า มหาสติ มหาปัญญา คือหมุนตัวไปเองโดยไม่ต้องบังคับบัญชา ไม่ต้องถูต้องไถเหมือนขั้นเริ่มแรกที่กำลังตะเกียกตะกาย เนื่องจากเวลานั้นจิตยังไม่เห็นผลแห่งธรรมปรากฏขึ้นบ้างเลย เช่น สมาธิก็ยังไม่ปรากฏ ผลของการตัดกิเลสประเภทต่าง ๆ ด้วยอำนาจของปัญญาภายในใจก็ยังไม่ปรากฏ จึงไม่มีแก่จิตแก่ใจที่จะประกอบความพากเพียรไปโดยลำพังที่ไม่ต้องบังคับ

ผู้บำเพ็ญจำต้องบังคับอยู่โดยดีในขั้นเริ่มแรก แต่พอเห็นผลขึ้นไปโดยลำดับแล้วก็มีแก่ใจ มีกำลังใจ ความเชื่อก็ปรากฏเด่นชัดประจักษ์ตน ความพากเพียรและธรรมอื่น ๆ จะไปไหน ก็หมุนกันมาเอง สติปัญญาเมื่อนำออกไปใช้หลายครั้งหลายหน ก็เห็นเหตุเห็นผล เห็นต้นเห็นปลายของกิเลสอาสวะ ตลอดผลของธรรมก็รู้เห็นไปพร้อม ๆ กัน นั่นแหละทำให้มีแก่ใจ เกิดความรักใคร่ชอบใจในความพากเพียร ฉันทะคือความพอใจโดยหลักธรรมชาติก็มาเอง เพราะผลเป็นเครื่องดึงดูด จิตก็ค่อยหมุนตัวไปเอง

คำว่า ปัญญาพิจารณาร่างกายนี้ เป็นปัญญาที่ผาดโผน เมื่อถึงขั้นผาดโผนแล้วผาดโผนมากทีเดียว พิจารณาทางร่างกาย ถึงจะรวดเร็วก็รวดเร็วด้วยความผาดโผน เพราะกายเป็นส่วนหยาบ ปัญญาที่พิจารณาส่วนร่างกายนี้ แม้จะเป็นปัญญาที่รวดเร็วทันใจก็ผาดโผนผิดกัน พอผ่านนี้ไปแล้วก็เข้าสู่ความละเอียด คำว่าผ่านนี้ไปแล้วหมายถึง การพิจารณาร่างกายนี้รู้รอบขอบชิดหมดแล้ว หยั่งทราบด้วยปัญญาไม่สงสัย ปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายเสียได้โดยธรรมชาติที่รู้รอบแล้ว

จากนั้นก็หมุนเข้าสู่นามธรรมโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับรูปธรรมเลย ไม่ว่าภายนอกไม่ว่าภายใน ทั้งร่างกายของตัวและของคนอื่นก็ไม่สนใจพิจารณา สติปัญญาหมุนเข้าสู่นามธรรม ได้แก่พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามแต่ถนัดในขันธ์ใด เวลาใด การพิจารณาเวทนาก็หมุนเข้าไปสู่ใจ การพิจารณาขันธ์ใดย่อมเชื่อมโยงถึงใจเสมอ สัญญา สังขาร ความคิดความปรุงของใจ ความหมายของใจ ซึ่งแสดงยิบแย็บ ๆ หรือกระเพื่อม ๆ อยู่ภายในใจ เหล่านี้เป็นสนามรบของสติปัญญา

สนามรบทางร่างกายก็ทราบกันแล้ว ได้ชัยชนะมาเป็นตอน ๆ แล้ว เลิกแล้วสนามนี้ ก้าวเข้าสู่สนามอันละเอียด สติปัญญาอันละเอียดพอ ๆ กัน พิจารณาเข้าไป ขันธ์ไหนมันก็เหมือนกัน เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตามกันไปทุกระยะ ๆ เว้นแต่คำว่าอสุภะเท่านั้น เพราะขันธ์สี่นี้เป็นนามธรรม ไม่เกี่ยวกับเรื่องสุภะ อสุภะ มีแต่ความรู้กับความกระเพื่อมของใจ กระเพื่อมไปทางไหน กระเพื่อมไปทางรูป ทางเสียง มาขั้นนี้รูปเสียงเลยไม่ถือเป็นสำคัญยิ่งกว่าความกระเพื่อมของใจ ถือว่าความกระเพื่อมนี้แลคือตัวก่อเหตุ มันจะรู้ทันที ๆ พอรู้ทันทีก็ดับกันทันที ไม่มีเงื่อนสืบต่อกับอะไร รู้อะไรก็ดับ

สัญญาความหมายต่าง ๆ จะซ่านออกไปไหนก็รู้ แต่ก่อนไม่รู้ จนกระทั่งไปเป็นภาพเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นแล้ว ก็หลงภาพอันนั้นเหมือนตุ๊กตาหลอกตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ออกไปจากใจนี่แล   สติปัญญาไม่ทันไม่รู้  แต่พอทันแล้วรู้หมด  นี่เราจะเอาสาระอะไรกับภาพหลอกลวงนั้น ๆ จะพิจารณาหาความจริงต่างหาก ความคิด คิดดี คิดชั่วมันดับด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะคิดประเภทใด ความจำ จำอะไรมันก็ดับ สัญญา สังขาร เกิดดับ ๆ ประจำตน

วิญญาณความรับทราบ มีแต่เรื่องเกิดเรื่องดับ มันเรื่องสาระอะไรที่จะมาถือว่าเป็นเราเป็นของเรา มันใคร่ครวญมันพินิจพิจารณา มันรู้ของมัน ก็มีแต่เรื่องของจิตที่แสดงอาการยิบแย็บ ๆ มันออกมาจากจิต ตามเข้าไป นี่แหละที่ว่า เชื้ออยู่ที่ไหนไฟจะไหม้เข้าไปที่นั่น เชื้อคือกิเลสมันอยู่ที่ไหน สติปัญญาจะหมุนตัวเข้าไปที่นั่น เอาให้เข้าใจ ๆ แล้วปล่อยวาง หรือว่าเข้าใจตรงไหนประหารกันที่นั่นก็ถูก

สุดท้ายคำว่ากิเลสทั้งมวลนั้นมันอยู่ที่ไหนก็รู้ได้ชัด มันไม่ได้อยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส มันอยู่กับจิตที่ไปเกี่ยวโยงกับสิ่งเหล่านั้นเพราะความไม่รู้ต่างหาก เมื่อพิจารณาคลี่คลายสิ่งเหล่านั้นจนเข้าใจ จิตหายสงสัยแล้ว ปล่อยเข้ามา ๆ จนถึงร่างกายของเจ้าของ พอพิจารณานี้ก็หายสงสัยแล้วปล่อยเข้าไป แน่ะ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาเข้าไปปล่อยเข้าไป ๆ เรื่อย ๆ คือรู้เท่าแล้วปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอาการทั้งหลายเหล่านี้

ขันธ์ห้าคืออะไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่คือขันธ์ห้า รู้เท่าปล่อยวาง อะไรเป็นตัวการสำคัญของขันธ์ห้า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่จิต นั่น ที่นี่กิเลสรวมตัวเข้าไปจุดเดียวแล้ว นี่แลการพิจารณาทางด้านปัญญา หมุนเข้าไปจนกระทั่งถึงจิต

แต่จิตประเภทที่มีอวิชชานี้เป็นจิตที่สง่าผ่าเผยองอาจกล้าหาญ ทั้งความผ่องใส ทั้งความองอาจกล้าหาญ ทั้งความคึกคะนองด้วยความอาจหาญว่าตัวเก่งนั้นแล มิได้คะนองแบบทั่ว ๆ ไป เป็นวิสัยของจิตประเภทนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า มานะ ๙ มานะ ๙ อยู่ตรงนี้ ท่านอธิบายไว้ในสังโยชน์เบื้องบนว่า รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานะนั่นคือความถือ ก็ถืออวิชชากับจิตที่กลมกลืนเป็นอันเดียวกันนั้นแล ว่าเป็นตน ว่าเป็นเราเป็นของเรา แล้วยกอันนี้ขึ้นมาเทียบเคียง ว่าองค์นั้นเป็นยังไง ผู้นั้นเป็นยังไง จิตเสมอเราหรือยิ่งกว่าเรา หรือหย่อนกว่าเรา นั่น ท่านจึงเรียกว่า มานะ ๙ ๓ คูณ ๓ เป็น ๙ เช่น จิตเราต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา เสมอเขาหรือยิ่งกว่าเขา จิตเราเสมอเขาสำคัญว่าต่ำกว่าเขา หรือเสมอเขาหรือยิ่งกว่าเขา จิตเรายิ่งกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา เสมอเขาหรือยิ่งกว่าเขา

กิเลสส่วนละเอียดเอาอันนี้แหละออกเทียบเคียง เพราะกำลังเป็นเขี้ยวนี่ เขี้ยวกำลังแหลมคม เขี้ยวอวิชชา ท่านว่ามานะ ความถืออันนี้เอง พออันนี้สลายลงไปแล้วเอาอะไรมาถือ เอาอะไรมาเป็นผ่องใส เอาอะไรมาเป็นเศร้าหมอง เอาอะไรมาเป็นความองอาจกล้าหาญ เอาอะไรมาเป็นความกลัว มันไม่มี พอธรรมชาติอันนี้สลายตัวลงไปด้วยอำนาจของการพิจารณา สิ่งเหล่านี้แลเป็นธรรมชาติที่สร้างปัญหาตามภูมิของตน คือภูมิละเอียดก็สร้างปัญหาอันละเอียดจนได้แหละ กิเลสหยาบก็สร้างปัญหาอันหยาบขึ้นมา กิเลสละเอียดก็สร้างปัญหาละเอียดขึ้นมา กิเลสหมดไปแล้วไม่มีอะไรสร้างปัญหา หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง หมดเหตุหมดปัจจัยของสมมุติที่จะสืบต่อกันแล้ว เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ จึงไม่มีปัญหาใด ๆ อีกต่อไป

ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัยกับอะไร สร้างปัญหาอะไร ท่านว่าหมดปัญหา หมดตรงนั้น ภพชาติที่เคยเป็นอยู่กับจิตมากน้อยมันรู้มาโดยลำดับลำดา จนกระทั่งเข้าจุดรวม เหลือแต่เชื้อของมันที่จะไปเพาะที่นั่นที่นี่ คือ เกิด ก็เผากันลงที่นั่นด้วยตปธรรม จนแหลกแตกกระจายหมดแล้ว ภพชาติจะสืบต่อไปไหนอีกมีไหม จะไปถามใครเล่า แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงหน้าก็ไม่ทูลถาม เพราะเป็นความจริงเหมือนกัน ไม่มีอะไรแปลกต่างกันพอจะถามกัน ท่านจึงว่า สนฺทิฏฺฐิโก เห็นเอง รู้เอง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้จำเพาะตน นั่นคือท่านผู้รู้จากการปฏิบัติรู้จำเพาะ ไม่เป็นสาธารณะแก่ผู้หนึ่งผู้ใด นี่ที่ท่านว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เสร็จแล้วงานฟ้าดินถล่ม ได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ดินฟ้าถล่ม ก็คือภพคือชาติ ก่อตัวขึ้นมาด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือภพชาติประการใด ๆ มันก็เป็นเรื่องของสมมุติ จึงว่าดินฟ้าถล่มคว่ำลงไปหมด ทีนี้อะไรจะมามีอยู่ในจิตนั้น

นั่นแลที่นี่ เอ้าดู ๆ กิเลส เมื่อได้ฆ่าตายสนิทจากจิตดวงนี้แล้ว เอ้า มันอยู่กับจิตใด กับร่างใดกายใด กิริยาของใคร แสดงท่าไหนออกมาปิดได้ยังไง มันรู้หมด นี่ละที่ว่ากิเลสครอบหัวเราอยู่ตลอดเวลาแต่เราไม่รู้ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านดูแล้วดูยากที่ไหน แย็บเดียวท่านก็ขยะไปแล้ว ท่านรู้ ๆ จนขยะจะว่าไง แต่พวกเรามันตาบอดต่อตาบอดอยู่ด้วยกัน ไม่รู้ทั้งเรื่องของเรา ไม่รู้ทั้งเรื่องของเขา ไม่รู้ทั้งเรื่องคนอื่น ๆ ต่างคนต่างไม่รู้ แต่ก็เข้าใจว่าตัวรู้ สำคัญว่าตัวรู้ สำคัญว่าตัวดีแล้วก็ทะเลาะกัน กัดกันเหมือนหมา เพราะตาในไม่เห็น ตาปัญญาเหมือนพระพุทธเจ้า พระสาวกท่านมันไม่มี นี่แลเรื่องของกิเลสมันต้องสำคัญตัว ยกยอตัวเสมอ เลวเท่าไรยิ่งสำคัญตัวว่าดี กิเลสเป็นเช่นนั้น ไม่เคยลงกับความจริงคือธรรมมาแต่กาลไหน ๆ

เพราะฉะนั้น เรามาปฏิบัติเพื่อปราบสิ่งเหล่านี้ จงอย่าให้มีภายในจิตใจไปนาน ปราบให้แหลกแตกกระจายไปหมดแล้วอยู่สบาย ใจเวิ้งว้าง แต่เป็นอ่างเก็บวิสุทธิธรรมไม่มีวี่แววสมมุติผ่านเลย ถ้าเทียบกับสมมุติก็เป็นใจอวกาศ เทียบไปอย่างนั้นเอง

เอาละการแสดงธรรมก็เห็นว่าพอสมควร

พูดท้ายเทศน์

พวกเรามันพวกสวดกิน ธรรมะเลยเป็นเครื่องมือหากินไปเสียหมด หากินข้าวต้มขนม ว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา คนตายที่ไหนละไปแล้ว ความฉลาดเอาไปสวดหากินข้าวต้มขนมเสีย ความฉลาด กุสลา ธมฺมา ธรรมยังคนให้ฉลาด มันฉลาดหากินข้าวต้มขนมไปเสียพวกเรา มันไม่ฉลาดนำมาแก้กิเลส มาฟันกิเลส อกุสลา ธมฺมา ธรรมพาคนให้โง่ สิ่งที่พาคนให้โง่ จงกุสลาเจ้าของให้พอตัวซิ เมื่อพอตัวแล้วอยู่ที่ไหนก็อยู่ รู้ชัดแล้วสงสัยไปไหน รู้พอตัวแล้ว ฟังแต่ว่าพอตัวซิ ไม่ได้สำคัญมั่นหมายกับเวล่ำเวลาดินฟ้าอากาศ กับการเป็นการตาย ไปสูงไปต่ำ เกิดที่ไหน อยู่ที่ไหน สุขทุกข์ประการใด คิดไปให้เสียเวลาทำไม เมื่อเห็นความจริงเต็มใจแล้ว ก็อยู่ตามความจริงนั้น แสนสบายยิ่งกว่าไปเที่ยวคว้าโน้นคว้านี้ คว้าลม ๆ แล้ง ๆ

พระพุทธเจ้าท่านสอนจริงขนาดนั้น แต่มันไม่ชอบจริงมนุษย์เรา เฉพาะอย่างยิ่งพระกรรมฐานเราสอนอย่างนี้ ๆ ไปงมอย่างโน้น คว้าโน้นคว้านี้ อวิชชาสำคัญมากตัวเชื้อพาให้เกิด ละเอียดมากทีเดียว ถ้าไม่เคยดำเนินมันไม่รู้ ธรรมเครื่องดำเนินก็ต้องเป็นธรรมปฏิบัติ รู้เข้าไป ๆ ตามเข้าไป ๆ จนถึงตัวมันเลย

นี่ก็ได้อธิบายให้หมู่เพื่อนฟังไม่รู้ว่ากี่ครั้งกี่หน ทำไมมันไม่ถึงใจ การอธิบายนี้ไม่ได้สงสัยนะ อธิบายตามความจริงแท้ ๆ ทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผล ไม่ได้อธิบายด้วยความสงสัย อธิบายให้หมู่เพื่อนฟัง มันน่าจะจับเอาเงื่อนใดเงื่อนหนึ่งเข้าไปจริงจังกับตัวเอง อยู่ไปนานไปมันชินชานะ ความชินชาเป็นอะไรถ้าไม่ใช่กิเลส ถ้าธรรมจะราบรื่น จะคล่องตัวไปเรื่อยในการแก้การปลดความไม่ดีในตัว ใจจะเด่นขึ้น ๆ ความระมัดระวังสำรวมตัวก็จะเด่นขึ้น ๆ นั่นคือธรรม ถ้าเป็นเรื่องความชินชาแล้วมันจะไปไหน ถ้าไม่ไปหน้าด้านมันจะไปที่ไหน ถ้าชินชาแล้วหน้าก็ด้าน ภาษาภาคอีสานเขาเรียกเหล็กก้นเตาหรือทองก้นเบ้า นายช่างเหล็กจะทุบจะตียังไงมันก็ไม่ได้เรื่อง จะเอาไปทำอะไรก็ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าลงมันได้เป็นเหล็กก้นเตา ทองก้นเบ้าแล้ว ฉะนั้นจงพากันระวังให้มาก พระกรรมฐานทั้งองค์อย่าลืมตัว จะเป็นเหล็กก้นเตา ทองก้นเบ้าไปเปล่า ๆ

ในครั้งพุทธกาลท่านเอาจริงเอาจังนะ ท่านถือการภาวนาเป็นการเป็นงานเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นจิตเป็นใจจริง ๆ ท่านไม่ให้อะไรมายุ่งนะ จงทราบรากฐานหรือแก่นของการปฏิบัติธรรม แก่นของศาสนา แก่นของผู้พาดำเนิน ท่านดำเนินอย่างนั้นหนา พวกเราก็เห็นในตำรับตำรา แต่เมื่อความจริงไม่ถึงใจแล้ว มันไม่กระจายมันไม่ซึ้ง ในธรรมทั้งหลายที่ท่านดำเนินมาและพาดำเนินมา มันก็ไม่ซึ้ง

ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสแล้วมันซึ้ง ไม่ว่ามันจะแย็บมาหมัดไหนละ เป็นเปิดคางยื่นคางให้มันเลย ปกตินิสัยก็เปิดให้มันอยู่แล้วตั้งแต่มันยังไม่ต่อยโน่นแน่ะ แล้วอะไรจะไปคิดปัดป้องมันวะ ถ้าเป็นกิเลสแล้วเหมือนกับว่ากวักมือเรียกมัน มาเข้ามา ๆ เอาตรงคางตรงขากรรไกรนี่นะ ให้มันหงายหมาลงไปเล้ย หงายไม่มีท่าก็เหมือนหงายหมาละซิ หงายมีท่ามันหงายต่อสู้ หงายหลบหลีก หงายหลบหมัด พวกเรามันหงายแบบไม่มีท่า เหมือนถูกน็อกน่ะ พวกเรามันพวกถูกน็อก พวกหงายไม่เป็นท่า

พูดอยู่ขณะนี้เรายังโมโหวะ โมโหแทนหมู่แทนเพื่อนนะซิ เพราะเราเคยฟัดกับมันมาพอแล้ว โถ บางครั้งขณะฟัดกันเหมือนจะไปทั้งชีวิตนี่เลย เอ้าไป ไม่อาลัยเสียดาย นั่นจิต เวลามันแข็งแกร่ง แข็งแกร่งขนาดนั้นนะ เอ้าไปเถอะ ยังไงก็ไม่ถอย จิตพุ่งเลยนะเวลาเช่นนั้น เราถึงได้เห็นเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา เห็นได้ชัดอย่างนี้เอง ไม่ได้คุย เอาความจริงมาพูดกันซิ

พระพุทธเจ้าว่า มัชฌิมาปฏิปทา พวกเราเอามาแปลกัน แปลไม่ได้ปฏิบัติว่า มัชฌิมาปฏิปทา เดินทางสายกลาง ไม่ยิ่งนักไม่หย่อนนัก ไม่ยิ่งนักมันเป็นยังไง ไม่หย่อนนักมันเป็นยังไง สายกลางนั้นคือยังไง ก็เห็นแต่เสื่อกับหมอน สายกลางนั่นเห็นไหม นั่นมันคือมัชฌิมาของกิเลสต่างหาก ไม่ใช่มัชฌิมาของธรรมปฏิบัติ กิเลสมันมีมัชฌิมาของมันอย่างมั่นเหมาะ โลกถึงได้ติดมัน เดินทางสายกลางนี้หนา เอาลงเสื่อกับหมอนตรงกลางนี้หนา นั่น ถ้าจะทำความพากเพียรให้แข็งข้อบ้าง โอ๊ย ไม่ได้นะ จะเคร่งเกินไปนะ ทำพอดีให้สบายซิ ทำไป หลับไป สัปหงกไปซิ ถ้าชักง่วงบ้างก็รีบหงายท้องลงกลางเสื่อกลางหมอนนั้นซิ มัชฌิมาอยู่ที่นั่น นั่นเห็นไหม นั่นกิเลสมันกล่อม ล้มระนาวเลย

ถ้าเป็นมัชฌิมาของธรรมแล้ว เอ้า กิเลสโผนมา ๆ ซิ ว่างั้นเลย มัชฌิมาต้องโผนไปถึงไหนถึงกัน เหมือนกับข้าศึกยกกองทัพใหญ่มา เครื่องมือของเขาเป็นยังไง เราต้องเตรียมเครื่องมือของเราให้พร้อม ฟัดกันเลย ถ้ากำลังและอาวุธตลอดอุบายวิธีการรบไม่เหนือมัน ชนะมันได้ยังไง ข้าศึกน่ะ สติปัญญาซึ่งเป็นอาวุธทันสมัยที่เรียกว่ามัชฌิมา ไม่เหมาะสมกับกิเลสจะปราบกิเลสได้ยังไง เวลากิเลสโผนมาก็ต้องโผนไปซิ นั่นละเรียกว่า มัชฌิมา คือ เหมาะสมกับการปราบกิเลสประเภทนั้น ๆ

การบอกให้เดินทางสายกลาง แต่ไม่ทราบว่าสายกลางเป็นยังไง นั่นจะตรงเป้าหมายแห่งมัชฌิมาปฏิปทาได้อย่างไร สุดท้ายความอยากไปนิพพานก็เลยกลายเป็นตัณหาไปเสีย นั่นฟังดูซิ อยากไปนิพพานก็เป็นตัณหา ก็เห็นแต่คนตายเท่านั้นที่ไม่อยากอะไรเลย แล้วมันไปนิพพานได้ไหมคนตายน่ะ เห็นแต่มันขึ้นกองฟอนกองไฟนั่นแหละ มันจะไปนิพพานได้ยังไงก็คนตาย อยากด้วยอำนาจของกิเลสและพันกันอยู่วันยังค่ำเป็นอย่างไรไม่เห็นคิด พอจะอยากไปนิพพาน เพียงจะหันหน้าออกจากกิเลสมองดูทางไปนิพพาน อุ๊ย นี่เป็นตัณหานะ ว่าอีกแหละ มันอะไรกัน จะไม่เป็นบ้ากันหมดแล้วหรือปราชญ์ชาวพุทธเราน่ะ ถึงได้ฆ่าตัวด้วยความอยากไปนิพพานว่าเป็นตัณหาขนาดนั้น

ความอยากเป็นมรรคก็มี ความอยากเป็นกิเลสก็มี ทำไมความอยากเป็นมรรคมีไม่ได้วะ ถ้ามีไม่ได้มันจะแก้กันได้อย่างไร เอาตรงนั้นซิ ถ้าไม่พลิกอย่างนี้ไม่ทันกลของกิเลสนะ กิเลสมันแหลมคมขนาดไหน ธรรม มีสติปัญญาเป็นต้น ไม่แหลมคมไม่ได้ มันต้องพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหลายสันพันคมซิถึงจะทันกัน เผ็ดมาเผ็ดไป ร้อนมาร้อนไป เอาให้ทันกัน แก้ไม้มวยเขาให้ได้ แก้ไม่ได้ตายจริง ๆ นะ นี่เราเสียท่าเขาด้วยวิธีนี้ เราจะแก้เขาด้วยวิธีใดต้องแก้ซิ ไม่แก้ก็ถูกน็อกจริง ๆ

นี่เคยเห็นคุณค่าของการเด็ดเดี่ยวในเวลาจำเป็นจนตรอกจนมุม เห็นคุณค่าจริง ๆ ประจักษ์ใจ จำไม่ลืมตลอดไป จึงได้นำมาพูดให้หมู่เพื่อนฟัง พูดด้วยความกล้าหาญด้วย มันไม่ได้จนตรอกหนาสติปัญญา ว่าอย่างนี้เลย ทุกข์หนาแน่นเข้าเท่าไร เหมือนจะมัดเราให้ตายในปัจจุบันนี้ สติปัญญาก็หมุนติ้วเข้าไปตรงนั้น ออกไปไหนไม่ได้ เหมือนกับตะลุมบอนกัน เผลอได้ยังไงเวลานั้น ราวกับนักมวยเข้าวงในกัน เผลอได้ยังไง นี่ก็สติปัญญาหมุนติ้ว ๆ ถอยไม่ได้ ทุกข์หนักเท่าไรมันยิ่งหมุนเข้าไปเรื่อย ๆ ต่อไปมันก็เข้าใจ ๆ ๆ เดี๋ยวข้าศึกก็พังทลาย

ผมน่ะมันนิสัยหยาบ เพราะฉะนั้น เวลามาพูดกับหมู่เพื่อนจึงว่าหยาบ คือเราเคยปฏิบัติมายังไง ได้ผลมายังไง ก็ไม่พ้นที่จะนำนิสัยนั้นมาพูดมาใช้ ไม่ว่าครูบาอาจารย์องค์ใดก็เถอะ เราว่าอย่างนี้นะ เพราะเคยสมาคมกับท่านมาแล้ว  อย่างหลวงปู่ขาวลองไปฟังภายในท่านซิ โอ้โห เสียงกังวานไปถึงสามแดนโลกธาตุแน่ะ ท่านเด็ดไม่ใช่เล่นนะหลวงปู่ขาวนี่ เวลาท่านพูดเปรี้ยง ๆ หลวงปู่แหวนโน้นก็เหมือนกัน ผมได้เคยไปคุยธรรมะกับท่านแล้ว เพราะท่านก็ร่ำลือมานาน เราเข้าถึงท่าน ไปคุยธรรมะกับท่าน โอ๋ย ธรรมะท่านบรรจุไว้ในใจเต็มเปี่ยม ถ้าเป็นตุ่มเป็นถังก็เต็มถังขนาดใหญ่ ไม่เคยได้เปิดออกใช้เลย อะไรสมควรหรือไม่สมควรแก่น้ำนี้ท่านก็รู้ น้ำนี่เป็นน้ำที่สะอาด น้ำที่มีคุณค่ามาก จะไปเปิดทิ้งเฉย ๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนเขาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำนั่นเอง ท่านก็ไม่พูดน่ะซิ ท่านอยู่ไปอย่างนั้นแหละ จะมีพระมีเณรเต็มวัดเต็มวาก็ตาม ก็เหมือนกับหัวไม้หัวตอนั่นแหละ ท่านไปสนใจอะไร ก็มันไม่เกิดประโยชน์ เพราะพวกนี้มันไม่สนใจ แล้วท่านจะไปพูดอะไร

พอเราไปแหย่ท่านปั๊บ ท่านเปิดผางออกมาเทียว ผมยังไม่ลืมนะ ก็เรามันคนขี้ดื้อนี่ ใส่ปั๊บเข้าไปเลย ไม่เอาหลายหมัดนะ สองหมัดเท่านั้นแหละ ใส่ปั๊บเข้าไป ท่านก็ปัดผึงเลย พูดเปรี้ยง ๆ เราไม่ลืม ๑๐ นาที เข้มข้นไปถึง ๑๐ นาที แล้วหยุด เราเข้าใจแล้ว หมดที่สงสัยแล้วในจุดนี้ว่างั้นเถอะ ใส่แย็บเข้าไปอีก ท่านผางออกมาเลย คราวนี้ ๔๕ นาที ไหลออกมาเลย ท่านไม่ทราบได้เสียงมาจากไหน ขึงขังตึงตังคึกคัก โอ๊ยพูดไม่ถูก เสียงลั่นเทียว ถ้ามีคนเดินไปบริเวณนั้นเขาจะว่า อะไรนี่พระทะเลาะกันหรือไง พอจบลง อ้าว ท่านมหาเห็นว่าไม่ถูกตรงไหน เอ้า ค้านขึ้นมา ๆ กระผมไม่ค้าน กระผมหาธรรมอย่างนี้แหละ ก็เราลงท่านแล้วนี่

ต่อจากนั้นท่านก็ถาม องค์นั้นล่ะได้คุยกันแล้วหรือยัง กับองค์นั้นล่ะ ได้คุยกันแล้วหรือยัง ท่านถามไปเรื่อย ก็หมายความว่า ธรรมะขี้ดื้อ ปัญหาขี้ดื้อนี้ไปเที่ยวตีที่ไหนบ้าง ความหมายก็คงว่างั้น โอ๊ย ท่านยิ้มแย้มแจ่มใส ดูสีหน้าสีตาดูทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนขึ้นพร้อม ๆ กันเลย พลังของธรรมท่านออกเต็มที่ ถ้าเป็นโลกก็เป็นพลังของกิเลส ถ้าเป็นพลังจิตผู้บริสุทธิ์ก็เป็นพลังของธรรมออกมา เพราะธรรมไม่มีเครื่องมือสำหรับตนมาใช้ ก็เอาเครื่องมือของกิเลสมาใช้

อวัยวะทุกส่วนเป็นเครื่องมือของกิเลส เป็นวิบากของกิเลส เมื่อธรรมไม่มีเครื่องมือเป็นของตัวแล้ว ก็ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ เพราะฉะนั้น กิริยาท่าทางของธรรมที่นำเครื่องมือของกิเลสมาใช้จึงเป็นเหมือนกับกิเลส เวลาแสดงอาการเข้มข้นออกมาเขาก็ว่าท่านดุ ท่านโกรธ นี่ละที่คนทั้งหลายว่า ท่านอาจารย์องค์นั้นดุ ท่านอาจารย์องค์นี้ดุ ก็อย่างนั้นแล เพราะเขาไม่เคยเห็น เห็นแต่พลังของกิเลส ถ้ากิริยาแสดงออกมาอย่างนั้นก็คือกิเลสดี ๆ ทีนี้เขาไม่เคยเห็นเรื่องของธรรมเป็นยังไง จะไปตำหนิเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่เคยรู้เคยเห็นว่าธรรมมีพลัง มีอำนาจ สามารถแสดงออกมาอย่างเปิดเผยได้เหมือนกิเลส เป็นแต่ต้องอาศัยร่างกาย วาจา กิริยา ซึ่งเป็นสมบัติของกิเลสออกแสดงเท่านั้น จึงคล้ายคลึงกันเวลาแสดงออก

อย่างท่านอาจารย์มั่น ท่านแสดงผึง ๆ ท่านแสดงทั้งไม้ทั้งมือด้วย เวลาเอากันอย่างถึงพริกถึงขิง ทีนี้มือก็ปัดถูกกระโถนกลิ้งตกไปพักหนึ่ง เรายังไม่ลืมนะ ท่านก็เลยหยุด เมื่อมือโดนกระโถนกลิ้งผ่านพระไปลงโน่น ตกเป๊ะ ลงพักหนึ่ง เทศน์เลยเงียบพระก็รีบจับกระโถนมาวาง ท่านนิ่งเงียบไปนิดหนึ่ง โอ๊ะ เทศน์เอาจนกระโถนตกเทียวนะ จากนั้นก็ย้อนปั๊บ เป็นอย่างไรล่ะ กิเลสของพระตกไปบ้างไหมล่ะ หรือตกแต่กระโถน แน่ะ

เทศน์วันไหนๆ ก็มีแต่พ่นลมให้หมู่เพื่อนฟัง หาเนื้อหาหนังไม่เจอ จะทำยังไงนี่พระเราก็มีมากเข้า ๆ แล้วนะ มันจะเหลว ๆ ไหล ๆ ไปนะ เราเข็ดเรื่องเหล่านี้ กิเลสพาให้ลืมตัวได้ง่าย ๆ หนา นี่มาแก้กิเลสจะกลายเป็นกิเลสมัดคอนะ ส่วนมากว่ามาแก้กิเลส ความจริงแล้วจะมีแต่ชื่อเท่านั้น บทกิเลสมัดคอไม่ได้พูด ทั้ง ๆ ที่มันมัดอยู่ตลอดเวลา

หูของพระทั้งหลายกับหูของเรานี่มันยังไงกัน ชอบกลอยู่นะ หูเราก็ไม่เห็นหูดีอะไร ตาเราก็ฝ้า ๆ ฟาง ๆ แต่ทำไมเห็นอะไรก่อนเพื่อนว่ะ เวลาเราอยู่กุฏินี้หมู่เพื่อนคุยกันอะไรได้ยินหมด เวลาจำเป็น เราเคาะไม้ป๊อก ๆ หายเงียบเหมือนตายกันทั้งวัด บางทีเคาะถึง ๓ พัก เคาะแล้วก็หยุดไป เห็นไม่ได้เรื่องก็เลยเคาะอีก แล้วก็เงียบไปอีก พอเคาะอีกก็เงียบไปอีก เอ๋   เป็นยังไง ก็ด้อม ๆ มาดู ก็มีพระอยู่นี่ พระก็ยืน เดิน เก้ง ๆ ก้าง ๆ อยู่แถวบริเวณศาลานี้แหละ ดูมันจะทั้งหลับหูหลับตา ทั้งปิดหูปิดตาเข้าอีกด้วยก็ไม่รู้ มันถึงไม่ได้ยิน นี่แสดงว่าจิตไม่ได้อยู่กับตัว ถ้าสติอยู่กับตัวมันก็เหมือนคนอยู่ในบ้านในเรือน อะไรมาผ่านก็รู้ แต่นี้ไม่รู้ นอกจากโกโก้ กาแฟ เท่านั้นมันจะรู้ โกโก้ กาแฟ เคยผ่านมันก็รู้ได้เร็ว น้ำส้ม น้ำหวาน โกโก้ กาแฟ มันรู้เร็วแต่เสียงนั้นมันไม่รู้เพราะไม่มีหวัง เสียงมันไม่มีหวังรายได้ จะไปสนใจกับมันทำไม สิ่งมีหวังมีอยู่ถมไปนี่วะ

พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแต่ละพระองค์กระเทือนโลก ในสามภพมีองค์เดียวเท่านั้นผู้รู้เรื่อง ผู้ละ ผู้ปราบข้าศึกแห่งภพได้ เพราะฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกจึงเป็นมหาอุตมมงคลอย่างยิ่งแก่โลก ให้ได้เห็นผิดถูก ดีชั่ว บาปบุญ นรกสวรรค์ สักทีหนึ่ง พอศาสนานี้สิ้นไปเพราะกิเลสครอบงำหัวใจของสัตว์ ไม่ให้มีความเชื่อความสนใจต่อศาสนา ศาสนาก็หมดไป ทีนี้ก็มีแต่อันเดียวนี้แหละครอบสัตว์โลกไว้ พุทธันดรหนึ่งพระพุทธเจ้ามาอุบัติพระองค์หนึ่ง โผล่ขึ้นมาทีหนึ่ง พอรู้อะไร ๆ บ้าง จะทำยังไง

พวกเราก็เหมือนกันนะ พุทธันดรหนึ่ง ๆ สติถึงโผล่ขึ้นมาทีหนึ่ง ปัญญาแย็บบ้างก็ไม่ได้เท่าแสงหิ่งห้อย มืดมิดปิดตาไปอีก จนเลยพุทธันดรก็ไม่รู้แหละ วันหนึ่ง ๆ จะระลึกแค่ไหน ได้แค่ไหนก็ไม่รู้ สองพุทธันดร สามพุทธันดร ระลึกสติได้ทีหนึ่งก็ไม่รู้ ส่วนปัญญาน่าจะสี่ห้าพุทธันดรกว่าจะแย็บออกมาได้เท่าแสงหิ่งห้อย นอกนั้นจมน้ำอยู่ในสุญญกัปเสียทั้งนั้น

เราก็สอนจนหมดภูมิหมดสติปัญญาจะมาสอนแล้ว จะเอาแบบศาสนาเซ็นเขาเรอะ เราก็ไม่ใช่เซ็นนี่วะ เซ็นเขาทำยังไง ใครนั่งสัปหงกงกงัน อาจารย์ก็เอาค้อนตีเอาน่ะซิ นี่ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว พระเณรเหล่านี้คงไม่มีหนังติดตัวเลยแหละ ถูกค้อนตีแตกกระจายไปหมดเลย พวกนี้พวกหนังไม่ติดตัว ดีไม่ดีไม้วัดป่าบ้านตาดจะไม่มีเหลือนะ ขนมาทำเป็นค้อนตีพระ ถ้าจะเอาแบบศาสนาเซ็นน่ะ นี่เรากลัวไม้ในวัดจะหมดเกลี้ยงทั้งวัด จึงไม่นำศาสนาเซ็นมาใช้ ทุก ๆ องค์ขอให้เห็นใจและสงสารไม้ในวัด แล้วพากันตื่นตัวระวังใจ รักษาสติ บำรุงปัญญาเอาเองเถอะ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก