พออยู่พอกินแล้วหมุนเข้าธรรม
วันที่ 29 เมษายน 2549 เวลา 8:15 น.
สถานที่ : ศาลาสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ ศาลาสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ

วันที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๙

พออยู่พอกินแล้วหมุนเข้าธรรม

         วันนี้วันว่างเป็นวันพี่น้องทั้งหลายได้บำเพ็ญกุศลเข้าสู่ใจ หน้าที่การงานทั้งหลายส่วนมากเข้าสู่ร่างกาย บรรเทาหรือเยียวยารักษาร่างกายด้วยวัตถุต่างๆ ส่วนธรรมคือบุญกุศลที่เราสร้างนี้เข้าสู่ใจๆ อย่าให้เสียท่าเสียทีนะพี่น้องทั้งหลาย ความจำเป็นมีทั้งสองอย่าง จำเป็นมากที่สุดคือใจ ใจนี้มักจะแห้งผากจากศีลจากธรรม สัตว์โลกทั้งหลายจึงได้รับแต่ความเดือดร้อน ไปเกิดในภพใดชาติใดไม่ค่อยสมบูรณ์พูนผล เพราะบุญกุศลเป็นเครื่องหนุนใจให้รับความสุขมีน้อยมากและไม่มี ส่วนกิเลสตัณหาเป็นฟืนเป็นไฟนั้นต่างคนต่างขวนขวายหากันด้วยความพอใจทีเดียว อันนี้ละที่มันแพ้กิเลสมาตลอด ให้พากันสั่งสมความดีงาม

         โลกอย่าเข้าใจว่าจะเจริญด้วยความร่มเย็นเป็นสุข โลกเป็นโลกของกิเลสนำ ถ้ากิเลสนำไปตรงไหนแล้วร้อน กิเลสแผ่พังพานมากโลกนี้ฉิบหายมาก ถ้าธรรมปรากฏขึ้นในใจ แสดงความสง่าราศีความสงบร่มเย็น ความสนิทสนมกลมกลืนความฝากเป็นฝากตายต่อกันมากขึ้นๆ มนุษย์เรามีแต่ความสงบเย็นใจ ถ้ามีธรรมครองใจด้วยกันแล้วเชื่อกันได้ ไม่จำเป็นต้องถามถึงชาติชั้นวรรณะมาจากไหนๆ ความดีงามเข้าถึงกันสนิทกันทันที ไม่จำเป็นต้องไปถามหาชาติชั้นวรรณะ ความดีงามอยู่ที่ใจแสดงออกจากใจสนิทกันได้ทั้งนั้นๆ เรีกว่าธรรม ธรรมไปที่ไหนไม่มีความกีดความขวาง ราบรื่นไปเรื่อยๆ ถ้ากิเลสไปที่ไหนขวาง ไม่ขวางมากก็ขวางน้อย ขวางตลอดเวลา

         วันนี้เป็นวันเสาร์ เป็นวันว่างการงานภายนอกหมุนเข้าสู่การงานภายใน ได้มาบริจาคทำบุญให้ทาน สมบัติทั้งหลายที่พี่น้องทั้งหลายได้มาบริจาคนี้จะไหลเข้าสู่ใจทั้งหมด บุญวัตถุที่มาให้ทานเป็นวัตถุหยาบ นำสิ่งที่ละเอียดเข้าสู่ใจคือบุญคือกุศลนะ วัตถุที่เรามาให้ทานนี้ไม่ไปสวรรค์ นิพพานที่ไหนละ สงเคราะห์กันตามความจำเป็นๆ ที่ได้สละให้ทานไป แต่บุญกุศลนั้นย้อนเข้ามาสู่ตัวของเรา ฝากเป็นฝากตายได้กับบุญกุศล ให้พากันจำเอานะ วันนี้ไม่ได้พูดอะไรมากละ หลวงตาก็เหนื่อย ทำประโยชน์ให้โลกทำมากจริงๆ นะไม่ใช่ธรรมดา ตื่นขึ้นมานี้ไม่มีอะไรมีแต่เรื่องเพื่อประโยชน์แก่โลกๆ สำหรับเราเองเราก็เคยประกาศให้พี่น้องทั้งหลายทราบแล้วเราพอทุกอย่าง เราไม่เอาอะไรเลย ดังพี่น้องทั้งหลายมานี้ออกสู่ส่วนรวมทั้งนั้นๆ

สำหรับเราอาศัยพี่น้องทั้งหลาย บิณฑบาตฉันไปวันหนึ่งๆ เท่านั้นพอๆ การอยู่การกินง่ายสบาย การหลับการนอนการพักผ่อน ไปไหนเคลื่อนไหวไปมาเราสะดวกสบายโดยลำพังเราเอง แต่เกี่ยวกับโลกแล้วยุ่งตลอดเวลา เราก็ทนเอา วันนั้นมานี้ไปนี้ นี่ละเพื่อโลกเพื่อสงสาร อย่างเมื่อวานนี้ก็เอาอาหารไปเลี้ยงช้าง ยกทัพกันไปเลย อาหารไม่ทราบว่ากี่คันรถ ไปก็ทุ่มลงไปสำหรับช้างที่รอกินอยู่แล้ว จากนั้นก็ยกไปให้โรงช้าง คือเราเผื่อไปพร้อม ยกไปนู้นละ ให้ได้สมบูรณ์ทั้งช้างที่มารับอาหารของเรา ทั้งช้างที่อยู่ในโรง เราก็ให้ทั่วถึงหมด อย่างนั้นละไปไหนแจกไปๆ

ช้างที่เขายืนอยู่นั้นอย่าเข้าใจว่าเขาไม่รู้ภาษามนุษย์นะ ช้างรู้ภาษามนุษย์ได้ดี เจ้าของสั่งปั๊บเขาจะปฏิบัติตามทันทีๆ แต่เขาไม่พูด นี่ที่น่าสงสาร เอาอาหารไปให้เมื่อวาน ต่างตัวต่างกินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่พูดไม่จา แต่ภาษามนุษย์นี่เขารู้ เขาอยู่กับมนุษย์มาเท่าไร บางตัวจะถึงร้อยปีก็มี ภาษามนุษย์รู้หมดนะ เราจะทราบได้ชัดคือเจ้าของเขาสั่งเจ้าของเขาเรียกบอกให้ทำอย่างนั้นๆ เขาจะรู้ทันที เหมือนเด็ก นั่นละเขารู้ภาษาเรา แต่ธรรมดาเขาไม่พูด เหมือนไม่รู้ไม่ชี้ แต่เขารู้เต็มหัวใจภาษามนุษย์นะ มากรุงเทพฯคราวนี้ไปเลี้ยงช้างถึงสามครั้ง เรียกว่าอาทิตย์ละครั้งๆ เราสงสารจึงได้ไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วันหนึ่งๆ ที่มานี่ช่วยโลกไม่ช่วยอะไรละ เราไม่เอาอะไร เราเรียนพี่น้องทั้งหลายทราบโดยตรง เราพอทุกอย่างแล้วภายในหัวใจ นี่ละการบำเพ็ญธรรม เวลาบำเพ็ญเต็มที่ๆ แล้วพอ เมื่อพอแล้วเอาอะไรมาใส่ออกหมด เหมือนอย่างน้ำเต็มแก้วเต็มโอ่งเอาน้ำมหาสมุทรมาเทใส่มันก็ล้นออกหมด อย่าว่าแต่น้ำธรรมดามาใส่มันล้นเหมือนกันหมด นี่เรียกว่าพอ การบำเพ็ญธรรมก็เหมือนกันอย่างนั้น เวลาบำเพ็ญไปก็พอเป็นระยะๆ คือพอเป็นขั้นๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงที่สุด ใจพอใจเต็มดวง ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกันแล้วเป็นธรรมธาตุ นี่เรียกว่าพอโดยสมบูรณ์

พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายท่านพอในการบำเพ็ญธรรม ได้ผลเป็นที่พอใจโดยสมบูรณ์ จึงเรียกว่านิพพานคือเมืองพอ พออย่างเลิศเลอ ไม่ใช่พออย่างโลกทั้งหลายพอกัน พอตอนเช้าตอนบ่ายหิวอีกแล้วๆ ธรรมพอในใจไม่มี จึงเรียกว่านิพพานเที่ยง พอจนเที่ยงไปเลย นี่ละบุญกุศลสร้างแล้วพอ แต่เรื่องของกิเลสไม่มีคำว่าพอ ไม่เคยมีความพอในกิเลส มีอยู่ในธรรมเท่านั้น เมื่อถึงที่แล้วพอ อย่างที่เราบำเพ็ญให้ท่านทั้งหลายทราบเสียนะ เปิดให้ชัดเจน เราปฏิบัติแทบเป็นแทบตายมาเป็นเวลา ๗๓ ปีนี้ ชีวิตใจเราอยู่กับหลักธรรมหลักวินัย อยู่กับพระตลอดมาเลย กิริยาอาการใดๆ ใช้ในวงของพระของเราตลอดมา บำเพ็ญความดีตลอดมาตั้งแต่วันบวชจนกระทั่งบัดนี้ จนกระทั่งถึงขั้นพอ

เวลาพอแล้วพอจริงๆ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ใจนี้เปิดออกหมด มันยึดมันถืออะไรไม่ว่ามากว่าน้อยกว้างแคบลึกตื้นหยาบละเอียดมันยึดได้หมดจิตนะ แต่เวลาธรรมเข้าซักฟอกปล่อยวางได้หมดโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลือเลย นั่นละบรมสุข ทีนี้บรมสุขอยู่กับการปล่อยวาง ปล่อยหมดโดยสิ้นเชิง เรายังมีอยู่ กิเลสยังมีอยู่ ธาตุขันธ์ยังมีอยู่ เราก็ขวนขวายไปตามอรรถตามธรรม อย่าได้โลภโลเลจนเกินเนื้อเกินตัว ได้เท่าไรไม่พอ กิเลสตัวนี้จะพาคนให้จมได้นะ ให้มีพอบ้าง พออยู่พอกินพอใช้พอสอยแล้วพักไว้ๆ หมุนเข้ามาทางธรรม เพื่อให้เข้าสู่จิตใจให้ใจได้อบอุ่นมีความพอขึ้นภายในใจ แล้วก็พอภายนอกได้อีก พากันจำ

ถ้ามีตั้งแต่กิเลสได้เท่าไรไม่พอมนุษย์เรา ไม่มีคำว่าพอ เศรษฐีก็ตายจมไปด้วยกัน เศรษฐีสมบัติเงินทองกองเท่าภูเขาทิ้งอยู่บนแผ่นดินนั่นละ แต่เจ้าของลงไปจมนรกได้อย่างไม่มีอะไรหักห้ามได้เลย นั่น ความลืมตัวเป็นอย่างนั้น อย่าพากันลืมตัว มีมาก็ให้รู้ว่ามี เราเกิดมาทีแรกไม่ได้มีอะไรติดตัวเรามา เวลาเกิดมาแล้วก็มาเจอสิ่งนั้นเจอสิ่งนี้ เขานิยมอย่างนั้นเขานิยมอย่างนี้ ทำไปตามความนิยมของเขา สุดท้ายความนิยมเลยกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นเอาสมบัติทั้งหลายมาเป็นตัวของตัว มันเป็นไปไม่ได้นะ เงินเป็นเงิน ทองเป็นทอง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเขาล้วนๆ เราเป็นเราล้วนๆ จะเอาเขามาเป็นเราไม่ได้ ต้องแยกกันไว้อย่างนี้ อาศัยกันไป ส่วนความดีงามนั้นเข้ามาเป็นเราละนั่น ความดีงามคือบุญกุศลเข้ามาเป็นเราเป็นตัวของเราภายในใจของเรา เป็นความสุขตลอดไป จนกระทั่งถึงนิพพานปึ๋งเลย หายสงสัย นี่การสร้างความดี เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านี้ ให้พร

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก