ตอบคำถาม ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
พระไตรปิฎกใน พระไตรปิฎกนอก
ผู้ถาม เพราะเหตุใดพ่อแม่จึงทุ่มเทชีวิตจิตใจตลอดจนทรัพย์สมบัติ ให้แก่บุตรธิดาโดยไม่อาลัยและเสียดายครับ
หลวงตา เพราะความรักเป็นของสำคัญมาก ความรักด้วย เกิดจากเนื้อในหัวอกของตัวเองด้วย รวมแล้วก็เป็นความรัก ถ้าว่าลูก หรือว่าก้อนก็เรียกว่าก้อนรักของพ่อแม่ทุกคน ไม่ว่าคนมีคนจน เศรษฐี กุฎุมพี อยู่ในสถานที่ใด ๆ ก็ตาม ย่อมถือสมบัติอันนี้แหละ คือลูกของตัวเองแต่ละคน ๆ นี้เป็นสิ่งที่รักมากที่สุด สละชีวิต สละทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่มีอะไรเหลือในหัวใจของพ่อแม่เลย เพราะความรักบุตรซึ่งออกจากเลือดในหัวอกตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง
นี่ก็ขอพูดต่อไปอีกว่า เหตุที่เราจะได้มาวิจารณ์เรื่องเหล่านี้ให้ละเอียดลออลงไปเต็มความสามารถก็เนื่องจากว่า พ่อกับแม่ของเรานั้นเลี้ยงเรามา เราก็ไม่ได้คิดอะไรมากนัก บทเวลาที่เราจะได้บวชนี้ก็ ก่อนหน้านี้พ่อพูดเป็นเชิงวิงวอนขออยากให้บวชให้ บวชให้แล้วจะมีอะไรพ่อไม่ว่าละ พ่ออยากให้บวชให้ ว่าเรื่อยหลายครั้งหลายหน เราก็เหมือนหูไม่มีรู นิ่งตลอด ๆ ไม่เคยตอบโต้ ไม่เคยให้คำมั่นสัญญาอะไรเลย บทสุดท้ายที่จะได้บวชนี้ นี่อำนาจแห่งพ่อแม่รักเรา แล้วเรารักพ่อแม่ สะดุดใจถึงกับสะเทือน
กำลังรับประทานในวงเดียวกัน พ่อแม่มีลูกหลายคน อยู่ ๆ พ่อก็พูดมาอย่างลอย ๆ ว่า ต้องขออภัยนะเป็นภาษาภาคอีสาน เออ กูนี้ก็มีลูกหลายคน คือพ่อแม่กับลูกพูดกันว่ากูว่ามึง นี่เป็นภาษาภาคอีสานใช้กันอย่างนั้น อยู่ ๆ ก็ว่า กูนี้มีลูกหลายคน ลูกเหล่านั้นกูก็ไม่ได้หวังพึ่งมันแหละ แต่ไอ้บัวนี้กูหวังพึ่ง หวังพึ่งทุกสิ่งทุกอย่างลูกคนนี้ เหมือนกับว่ายกขึ้นยอขึ้นเพื่อจะทุ่มลง ไม่ได้ยกขึ้นเฉย ๆ ยกแล้วทุ่มลง ไอ้ลูกคนนี้กูไว้ใจได้ทุกอย่างเลย กูไม่เคยยกยอมันแหละ วันนี้กูจะพูดตามความจริง ไอ้นี่ถ้าลงกูได้ปล่อยให้มันทำอะไรแล้ว กูสู้มันไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบไปหมด กูสู้มันไม่ได้ โดยหน้าที่การงานทุกอย่าง แต่สำคัญที่เวลาขอให้บวชทีไรมันเหมือนหูไม่มีรู พูดทีไรก็นิ่ง ๆ ทีนี้เวลากูตายแล้วจะไม่มีใครลากกูขึ้นจากนรกแหละ ถ้าไอ้นี่มันลากกูขึ้นไม่ได้แล้ว กูต้องจมในนรกไม่มีวันฟื้นขึ้นมาได้เลยแหละ พอว่าอย่างนั้นน้ำตาพ่อร่วงลงทันทีเลยต่อหน้าต่อตา แม่ก็ร่วงลงเลย
เราสะดุดกึ๊กถึงที่เลยนะ ลุกทันที รับประทานยังไม่อิ่มเลยลุกหนีเลยเทียว ไปคิดอยู่สามวัน เอาเต็มเหนี่ยวเลย คิดถึงคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงมานี้ ตลอดถึงหน้าที่การงานทุกอย่างมอบมากับลูก ๆ ได้ผลรายได้มากน้อย ชีวิตจิตใจทุกสิ่งทุกอย่างมอบมาให้ลูกนี้ เวลานี้พ่อได้มอบความไว้วางใจให้เราแล้วพ่อเสียหวังไปอย่างนี้ สมควรแล้วเหรอเราเป็นลูกทั้งคน อย่างอื่นเขาทำได้เราทำได้ แล้วเวลานี้ทั้งโลกทั้งสงสารเขาบวชได้ด้วยกันไม่เห็นเสียหายอะไร บางองค์บวชไปจนเป็นสมภารเจ้าวัดท่านก็ไม่เห็นมีอะไร ผู้ที่บวชไปมากน้อยกี่วันกี่คืนเขาสึกมาได้อย่างสบาย ๆ นี่พ่อแม่ให้เราบวชก็ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ให้เราบวชว่าต้องเท่านั้นวันเท่านี้วัน มีกำหนดสึกหรือไม่สึกอะไรท่านกก็ไม่ว่า แต่ทำไมเราจึงบวชไม่ได้ บวชไม่ใช่ติดคุกติดตะราง ย้ำกันตรงนี้สามวันไม่ยอมมารับประทานร่วมวงเลย เพราะจะติดปัญหาอีก
พอลงได้แล้วก็มาลงคำที่ว่าพ่อแม่รักลูก เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ลูกทุกคนเราเห็นอยู่ เวลาพ่อแม่เลี้ยงลูกเราดูอยู่ เราเป็นลูกผู้ใหญ่ดูลูกผู้น้อยที่พ่อแม่เลี้ยงดูทุกอย่าง ๆ ประมวลเข้ามาในตัวของเราหมด นี้ละเหตุที่จะสละบวชได้ สรุปความลงได้ ที่เราบวชนี้ก็เพราะพ่อแม่รักที่สุด ลูกทุกคน ๆ เลี้ยงเอาเป็นเอาตายเข้าว่าเลยทุกคน ๆ จนกระทั่งมาถึงตัวของเราก็เลี้ยงแบบเดียวกันเลย แล้วทำไมพ่อแม่ขอเพียงเท่านี้ ขอไม่ได้มีอย่างเหรอลูกทั้งคน
นี่ละเป็นส่วนสำคัญที่ว่าพ่อแม่รักลูกมาก รักอย่างที่ว่านี่ เสียสละทุกอย่าง แล้วมามอบความไว้วางใจให้ลูกเพียงเท่านั้นไม่ได้เรื่อง พ่อแม่น้ำตาตกเลย เสียใจเอามากทีเดียว ถ้ากูหวังพึ่งไอ้นี่ไม่ได้แล้ว กูไม่มีวันหวังใครแหละ ลูกทั้งหมดกูไม่หวัง กูหวังพึ่งคนเดียวเท่านี้ มันถึงใจกึ๊กเลย นี่ละเรียกว่าพ่อแม่รักลูกรักอย่างไรบ้าง พิจารณาเอาทุกคน ออกมาจากหัวตับหัวปอดพ่อแม่มาให้ลูก ไม่เสียดายอะไรทั้งหมด ชีวิตจิตใจมอบให้หมดเลยกับลูก นี่จึงเรียกว่าความรัก ตะกี้นี้ถามว่ายังไง ลืมแล้ว
ผู้ถาม หลวงตาได้เมตตาตอบตรงประเด็นอยู่แล้วขอรับ ว่าอำนาจอะไรที่พ่อแม่ถึงได้ให้ต่อลูกได้ ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าความรักเป็นความทุกข์ใช่ไหมขอรับ แล้วความรักของพ่อแม่นี้จะเรียกว่าความทุกข์ไหมขอรับ
หลวงตา เป็นความทุกข์ อยู่ในวงวัฏฏะต้องเป็นความทุกข์ ความรักนี้เป็นความรักของวงวัฏฏะ เราไม่ได้พูดถึงวิวัฏฏะ วิวัฏฏะคือผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว ท่านรักโดยธรรม ท่านไม่ติดในความรัก ต่างกันตรงนี้ แต่เรารักนี้ติด ติดอยู่ในวงของวัฏจักร แต่ความรักอันนี้ก็มีธรรมแทรกอยู่ในนั้น ไม่ใช่เป็นวัฏจักรอย่างเดียว เป็นกิเลสอย่างเดียว เป็นธรรมก็มีอยู่ในนั้นความรักนี้นะ ทั้งสองอย่างมีอยู่ร่วมกัน
ผู้ถาม ทีนี้อย่างที่ว่าทุกข์ของพ่อแม่ต่างกับความทุกข์ของบุคคลอื่น ๆ อย่างไรขอรับ
หลวงตา ถ้าทุกข์ทั่ว ๆ ไปก็เหมือนกัน ถ้าทุกข์ระหว่างพ่อแม่กับลูกนี้ก็เหมือนกันอีก เสียสละเหมือนกัน ทุกข์เหมือนกัน อันนี้จะแยกกันอย่างไรก็แยกไม่ได้ ถ้าว่าทุกข์ทั่ว ๆ ไปของบุคคลเราทั่ว ๆ ไปนี้ก็ทุกข์พอ ๆ กัน อย่างเดียวกัน ถ้าทุกข์ระหว่างพ่อแม่กับลูกนี้ ความรักเป็นต้นเหตุให้ได้ทุกข์แบบเดียวกันหมด สละแบบเดียวกันหมด ทำทุกสิ่งทุกอย่างได้เพื่อลูกแบบเดียวกันหมด จึงว่าเหมือนกัน
ผู้ถาม ทีนี้หลวงตาได้กล่าวว่า ความรักของพ่อของแม่ กล่าวได้ว่าเหมือนกับว่าอยู่ในนรก หมายความว่าอย่างไรครับ
หลวงตา นรกทั้งเป็นก็คือความทุกข์กับลูกนี้แหละ ไม่ใช่อะไรนะ เรียกว่าตกนรกทั้งเป็นก็ได้ แต่พ่อแม่ไม่ได้คำนึงถึงอะไรแหละ มีตั้งแต่ความรัก เสียสละเพื่อลูก ทุกข์ขนาดไหน ตกนรกทั้งเป็นขนาดไหนก็ไม่ได้คำนึง แต่หลักความจริงเป็นตกนรกทั้งเป็น ตามหลักธรรมเป็นอย่างนั้น ตกนรกทั้งเป็น แต่พ่อแม่ไม่ได้เกี่ยวกับนรกอันนี้ เกี่ยวแต่กับลูกด้วยความรักเท่านั้น
ผู้ถาม ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่มีแต่ความทุกข์ต่อลูก แล้วทำไมถึงกล่าวว่าเป็นพรหมของบุตรล่ะขอรับ
หลวงตา พรหมของบุตรก็คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตานี้รักลูกล้วน ๆ ไม่มีสิ่งเป็นพิษมาเจือปนเลย รักรักล้วน ๆ พลีชีพเพื่อลูกได้ทุกอย่าง กรุณาก็ขวนขวายอยากให้ลูกได้รับความสุขความเจริญ ให้ลูกมีความเฉลียวฉลาด สิ่งใดที่จะเป็นความดีเหมือนดังโลกเขามีกัน พ่อแม่อยากให้ได้มีหรือยิ่งกว่านั้นไปอีก มุทิตา เมื่อลูกได้รับความดีความชอบ มีฐานะหรือมีความรู้วิชา สามารถที่จะเลี้ยงตัวได้แล้ว ตลอดถึงการบำเพ็ญศีลธรรมให้เป็นที่ไว้วางใจพ่อแม่ได้แล้ว พ่อแม่ก็พลอยยินดีไปด้วยเมื่อลูกได้รับความดี คือทำตัวเป็นคนดี ทางโลกก็ทำตัวเป็นคนดี ทางธรรมก็บำเพ็ญตัวเป็นคนดี แล้วพ่อแม่ก็พลอยยินดีไปด้วย เรียกว่ามุทิตา อุเบกขานั้น ปล่อยวางจิตใจลงได้เมื่อเห็นว่าลูกเป็นผู้ที่ดีเรียบร้อยแล้ว ปล่อยวางจิตใจในภาระทั้งหลายที่พ่อแม่หนักหน่วงถ่วงจิตใจมาตลอดเวลานั้น ลูกได้ทำคุณงามความดีที่จะสนองความรักของพ่อแม่แล้ว พ่อแม่ก็ปลงใจลงได้สบาย
แต่อย่างไรก็ตามอุเบกขานี้ต้องอุเบกขาด้วยความเหลียวแล สอดส่องตลอดเวลา อุเบกขาพระพุทธเจ้าไม่ใช่อุเบกขาแบบจืดจางนะ คือว่าปลงลงได้ แต่ยังอยู่ในความรับผิดชอบดูแลตลอดเวลา นี่ละอุเบกขาโดยธรรมเป็นอย่างนั้น
ผู้ถาม ที่หลวงตาได้กล่าวว่า บุคคลที่เอารัดเอาเปรียบพ่อแม่มากที่สุดคือลูกนี่ หมายความว่าอย่างไรขอรับ
หลวงตา นี่เราพูดตามหลักความจริง แต่ลูกก็ไม่มีเจตนา การพูดนี้เพื่อให้ลูกได้เห็นโทษของตนบ้าง อย่ามีตั้งแต่เอาท่าเดียว อยากได้เท่าไรก็จะเอาท่าเดียว แม้ไม่มีเจตนาก็ตาม หลักธรรมชาติก็เป็นเจตนาที่เอารัดเอาเปรียบพ่อแม่อยู่โดยตัวของมันเอง ถึงจะถือสิทธิ์ว่าเอากับพ่อกับแม่ด้วยความรัก ถือสิทธิ์ว่านี้เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา เราอยากได้อะไรเราก็เอา ๆ อย่างนี้ก็ตาม แต่เรื่องของธรรมนั้นไม่ได้เข้ากับพ่อกับแม่กับลูก คืออยู่กลาง ๆ เมื่อลูกทำอย่างนี้มันมีลักษณะเอารัดเอาเปรียบอยู่ในตัวของมันเอง
แต่ลูกไม่มีเจตนานะ พ่อแม่ก็ไม่มีเจตนาว่าลูกเอารัดเอาเปรียบ แต่หลักธรรมมีอยู่ในนั้น ก็ต้องบอกตามหลักธรรมว่ามีอยู่ในนั้น แต่จำเป็นก็ต้องเอารัดเอาเปรียบกันธรรมดา เมื่อพึ่งตัวเองไม่ได้แล้วก็ต้องพึ่งพ่อแม่ พี่เลี้ยงทั้งหลายก็ต้องพึ่ง ความเอารัดเอาเปรียบอันนี้ก็ต้องจำยอมรับกัน ทางเดินอื่นไปไม่ได้ ต้องยอมรับกันที่ว่าต้องพึ่งผู้อื่นไปก่อน ความเอารัดเอาเปรียบในขั้นนี้ยังแก้ไม่ได้ เมื่อรู้ตัวแล้วก็ให้แก้ตัวเองต่อไปอย่าให้เป็นเหมือนเด็ก ๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วเอารัดเอาเปรียบพ่อแม่ตลอดไปอย่างนี้ไม่ดี ความหมายว่าอย่างนั้น
ผู้ถาม ในทางพระพุทธศาสนาได้ระบุหรือบัญญัติไหมครับว่า ลูกมีกี่ประเภทครับ
หลวงตา อภิชาตบุตร ลูกที่ยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าพระราชบิดา หรือลูกที่บวชไปประพฤติคุณงามความดีเป็นขั้น ๆ ตอน ๆ ขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่ไม่ได้มีคุณงามความดี อย่างนั้นก็เรียกอภิชาตบุตร เรียกว่าบุตรดีกว่าพ่อแม่ หรือกระทั่งบำเพ็ญตนจนเป็นพระอรหันต์ก็ยิ่งขึ้นไปอีก เรียกว่าบุตรประเสริฐ เลิศยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่ นี่เรียกว่าอภิชาตบุตร เราพูดเพียงย่อ ๆ นะถ้ากระจายออกไปเวลาก็จะไม่พอ เราพูดเอาเฉพาะเนื้อความ ๆ ที่จำเป็น ๆ ที่จะต้องเอาไปวินิจฉัยแตกกระจายออกไปได้ ประเภทที่สอง
อนุชาตบุตร คือดำเนินตามหลักขนบธรรมเนียมประเพณีดีงามของพ่อแม่ ไม่ประพฤติตัวให้เสียหาย พ่อแม่พาดำเนินยังไงก็ดำเนินตามนั้นไม่ดื้อดึงฝ่าฝืน พ่อแม่สอนทางศีลทางธรรมก็ดำเนินตามพ่อตามแม่ หน้าที่การงาน ก็ประหยัด ระมัดระวังสมบัติเงินทองข้าวของ ช่วยพ่อช่วยแม่ ระมัดระวังรักษา เวลาเป็นเวลาตายแล้วพ่อแม่ไว้วางใจได้ ก็มอบมรดกให้ลูกที่เป็นอนุชาตบุตร คือเดินตามรอยของพ่อแม่ที่เป็นคนดีอยู่แล้ว สั่งสอนลูกให้เป็นคนดี ก็ดำเนินตามพ่อแม่ เรียกว่าอนุชาตบุตร ดำเนินตามร่องรอยของพ่อแม่
อวชาตบุตร แปลว่า บุตรที่เลว คำว่าบุตรที่เลวนั้นก็คือบุตรที่ประพฤติตัวไม่ดี นิสัยไม่ดี กิริยามารยาททุกสิ่งทุกอย่าง การแสดงออกของบุตรนั้น พ่อแม่สอนยังไงไม่เอา สอนให้ทำคุณงามความดี สอนให้รู้ตัวยังไงไม่ยอม โกโรโกโส ทำไปตามอัธยาศัยของตน ตามความชอบใจของตน เลวลงไปโดยลำดับ ๆ นี่เรียกว่าอวชาตบุตร แปลว่า บุตรที่เลว
ผู้ถาม หลวงตาเคยแสดงคำโบราณ ซึ่งเหล่าเกล้ากระผมเองก็ไม่เคยได้ยินละครับว่า ที่ว่าลูกคือลอก ลูกคือลาก ลูกคือเลิก นี่ครับ หมายความว่ายังไงครับ ไม่เคยได้ยินเลยขอรับ
หลวงตา คือลูกถ้าเป็นลูกแท้ ลูกแท้ก็ปฏิบัติตัว เคารพยำเกรงในพ่อในแม่ ประพฤติตัวเป็นคนดี เหมือนลูกทั่ว ๆ ไปที่เป็นคนดี นี่เรียกว่าลูก ที่นี่เรียกว่าลอกก็คือว่า พ่อแม่มีเงินมีทองมีข้าวมีของอะไรนี้ ไม่ยอมทำอย่างอื่น ไม่ยอมทำอะไรอื่น คอยเอาแต่กับพ่อกับแม่ คอยเอารัดเอาเปรียบ พอฉกฉก พอลักลัก พอเอาได้แง่ไหนเอาแง่นั้น ขโมยตลอดเวลาขโมยพ่อขโมยแม่ ประพฤติตัวเป็นคนเหลวแหลกแหวกแนวอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่าลอก พ่อแม่มีเท่าไร มีห้ามีสิบมีเงินมีทองมีข้าวมีของเก็บไว้ที่ไหน ๆ ลูกไปลอกเอาออกมาหมด ไปเอาออกมาหมด นี่เรียกว่าลอก ลอกหลายแบบ คำว่าลอกมีหลายประเภท ลอกได้หลายวิธี จะลอกแบบไหนมันก็ลอกได้ ลอกได้หลายแบบ
ที่นี่พอพ่อแม่ไม่มีอะไรจะให้อยู่ให้กินแล้ว ทีนี้ก็เลิก ไม่ถือว่าเป็นพ่อเป็นแม่ต่อไปอีกที่นี่นะ แล้วก็ประพฤติตัวเป็นโกโรโกโสแบบที่เคยลอกพ่อแม่มานั่นแหละ ไปฉกไปลักไปปล้นไปสะดม ทีนี้เขาก็จับใส่คุกน่ะซี พอเขาจับใส่คุกแล้วพ่อแม่ก็สงสาร ว่าลูกของตัวเองไปติดคุกแล้ว พ่อแม่สงสารก็ต้องไปเยี่ยมลูกในเรือนจำในตะราง นี่เรียกว่าลากพ่อแม่ไป ลูกคนนี้คือลาก มันลากพ่อแม่เข้าไปเรือนจำด้วย ลูกมีสี่ประเภทอย่างนี้
ผู้ถาม ทีนี้ธรรมะที่เรียกว่า มาตาปิตุอุปัฏฐานธรรม เป็นธรรมที่แสดงถึงสิ่งใดขอรับ
หลวงตา การอุปถัมภ์อุปัฏฐากบิดามารดานี่กว้างขวางอยู่นะ กว้างขวางมาก ในชาดกท่านแสดงไว้ แต่เราจะพูดย่อ ๆ ก็คือการปฏิบัติอุปถัมภ์อุปัฏฐากพ่อแม่ของเรา อย่าให้ได้รับความลำบากลำบน เมื่อเรามีกำลังวังชาที่จะพอช่วยเหลือได้ในสถานใด ให้มีความช่วยเหลือสถานนั้นโดยลำดับลำดา นี่ประการหนึ่ง ประการที่สอง อันนั้นหมายถึงการสนองคุณพ่อแม่ การไปบวชเรียนเขียนอ่านอะไร ทำความดี อันนี้เป็นการอุปถัมภ์อุปัฏฐากพ่อแม่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวตัวร้อน ลูกต้องเป็นภาระดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดสมบัติเงินทองข้าวของมีมากน้อยเพียงไรให้เป็นผู้เก็บรักษา อย่าไปทำสุรุ่ยสุร่ายให้เสียหายจากมรดกสมบัติเงินทองที่พ่อแม่มีอยู่ อันนี้ก็เรียกอุปถัมภ์อุปัฏฐากพ่อแม่เป็นอย่างดี เราพูดย่อ ๆ นะ
ผู้ถาม ที่หลวงตาเทศน์ว่าให้ระลึกถึงบุญคุณท่านผู้มีพระคุณนี่ล่ะขอรับ เช่น บิดามารดา ว่าเป็นชีวิตที่มีกำไรและอบอุ่นใจ ไม่ค่อยเข้าใจขอรับ หมายความว่าอย่างไรขอรับ
หลวงตา นึกถึงบุญถึงคุณท่าน ก็ทำคุณงามความดีอย่างเราทำนี่ ตอบแทนบุญแทนคุณท่าน ทีนี้ก็ต่อไปหาถึงการบวชเรียนเขียนอ่านละที่นี่นะ ระลึกถึงบุญถึงคุณท่าน บวชตอบแทนคุณท่าน การตอบแทนคุณด้วยการสนองโดยกำลังวังชา ที่สามารถจะทำกิจการใดช่วยพ่อช่วยแม่ได้เราก็ทำ นี่สนองคุณท่านประการหนึ่ง มีอะไร ๆ ก็ให้ท่านใช้ท่านสอยตามที่เรามีเราเกิด มีอะไรก็ไปบำรุงบำเรอท่าน ให้ท่านได้อาศัยเรา นี่ก็เรียกว่าการอุปถัมภ์อุปัฏฐากพ่อแม่ การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นหน้าที่ของลูกที่จะดูแลรักษาทุกสิ่งทุกอย่าง เหล่านี้เป็นอุปัฏฐาก จากนั้นก็ระลึกถึงบุญถึงคุณท่าน เช่นไปบวชเรียนเขียนอ่านแล้วก็มาแนะนำสั่งสอน อันนี้เป็นการตอบแทนบุญคุณ อันนี้เป็นเลิศ
ผู้ถาม ทีนี้ลูกบางคนคิดว่า การตอบแทนบิดามารดา เช่น ต้องซื้อข้าวซื้อของไปเยี่ยม กลายเป็นขาดทุนไปอย่างนี้ขอรับ จะเป็นการขาดทุนได้ไหมขอรับ
หลวงตา ขาดทุนที่ตรงไหนน่ะ เราไม่เห็นตรงที่ว่าขาดทุน โลกเขาไม่เคยสนใจ เขาไม่เคยคิด เขาไม่เคยอ่าน การให้กันนี้เป็นการขาดทุนที่ตรงไหน ลูกให้พ่อแม่เป็นการขาดทุนได้หรือ ถ้างั้นโลกก็แตก พ่อแม่กับลูกเข้ากันไม่ได้ไม่มีการสงเคราะห์สงหากัน โลกนี้แตก พ่อแม่กับลูกแตก อยู่ในครอบครัวนั้นแตกหมดถ้าไม่มีการสงเคราะห์สงหาซึ่งกันและกัน แล้วจะขาดทุนที่ตรงไหนการให้กัน คำว่าขาดทุนไม่มี อันนี้เป็นเรื่องเขาอุตริต่างหาก เราก็อย่าไปอุตริกับเขาซี เราก็พูดไปตามธรรมก็แล้วกันนี่นะ ธรรมเป็นอย่างนี้ ไม่เรียกว่าอุตริ ไม่อุตริว่างั้นเลย
ผู้ถาม ทีนี้คำที่หลวงตาได้เรียกหลวงปู่มั่นว่า พ่อแม่ครูจารย์มั่นนี่ขอรับ มีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดชีวิตจริง ๆ ไหมขอรับ
หลวงตา อันนี้มีเป็นพื้นฐานอันหนึ่งนะ ท่านเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ของเราเหมือนกับพ่อแม่ของเราจริง ๆ นี้ประการหนึ่ง ท่านเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ในเรื่องอรรถเรื่องธรรม แนะนำสั่งสอนอุบายวิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่ธรรมพื้น ๆ จนกระทั่งธรรมสุดยอด ได้จากท่านทั้งนั้น นี่ก็เป็นพ่อเป็นแม่ที่ลึกซึ้งในทางธรรม พ่อแม่ลึกซึ้งในทางโลกนี้ก็ดังที่เราเห็นกันแล้วนั้น เป็นสองอย่าง จึงเรียกว่าเป็นทั้งพ่อทั้งแม่นั้นถึงใจ อย่างหลวงตานี่จริง ๆ เรียกอย่างอื่นว่า หลวงปู่มั่นก็ดีอะไรก็ดี มันไม่ถึงใจ ถ้าเรียกพ่อแม่ครูจารย์มั่นนี้ แหมซึ้งจริง ๆ นะ ท่านเป็นทุกอย่างอยู่ในหัวใจเราหมดเลย จึงเรียกทั้งพ่อทั้งแม่ ทีนี้คุณธรรมของท่านยังสูงยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่ของเราไปอีก อันนี้แหลมคมต่างกันมาก ละเอียดต่างกันมากทีเดียว
ผู้ถาม หลวงปู่มั่นท่านมีหลักธรรมใดขอรับ ที่ได้เลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์จนกระทั่งเป็นสรณะของเหล่าเกล้ากระผมในปัจจุบันขอรับ
หลวงตา ท่านแนะนำสั่งสอนด้วยความเมตตาของท่านที่ออกมาจากความบริสุทธิ์ของท่าน เฉพาะหลวงปู่มั่นนี้ถ้าสมัยครั้งพุทธกาลแล้วเรียกว่าพระอรหันต์ สมัยปัจจุบันนี้เรียกพระอรหันต์ก็จะผิดไปไหน ถ้าไม่ใช่เป็นเรื่องของกิเลสมันยื้อแย่งแข่งดี มันต้านทานกีดขวางเท่านั้น เมื่อพูดถึงเรื่องมรรคเรื่องผลกิเลสไม่ให้เชื่อนะ ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงเรื่องมรรคเรื่องผล ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าสอนเพื่อมรรคเพื่อผล ปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผล ให้รู้มรรครู้ผลนั่นแล เวลานำออกมาพูดนี้กิเลสจะคัดค้านต้านทาน เพราะกิเลสนี้เป็นภัยต่อธรรม แต่หลวงปู่มั่นนี้คือพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ไม่เป็นอะไรละ
เมื่อท่านได้ความบริสุทธิ์ในหัวใจท่านแล้ว ความบริสุทธิ์กับความเมตตานี้จะกลมกลืนเป็นอันเดียวกันเลย มีความเมตตาสงสาร บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับท่าน เป็นขั้น ๆ ไปเลย เช่นอย่างขั้นของพระนี้ การแนะนำสั่งสอนจะเด็ด ธรรมะจะละเอียดลออลงไปโดยลำดับ สอนประชาชนทั่ว ๆ ไปก็สอนประเภทหนึ่ง สอนพระท่านสอนประเภทหนึ่ง ท่านสอนด้วยเมตตา ควรจะวางธรรมะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังได้มากน้อยเพียงไร ก็สอนลงตามลำดับลำดา ของขั้นภูมิผู้ที่จะได้รับเอามาได้มากน้อยเพียงนั้น ท่านสอนอย่างนี้ละ
ที่ว่าลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายได้รับความเมตตาจากท่านจนเป็นสรณะพวกเราได้ ก็เพราะตั้งใจประพฤติปฏิบัติตอบท่าน ท่านสอนด้วยความเมตตา สอนออกมาจากหัวใจจริง ๆ ผู้รับก็ฟังด้วยหัวใจจริง ๆ แล้วเข้ากันได้ง่าย สามารถที่จะยึดเอาธรรมนั้นเป็นหลักใจของตัวเองแล้วก็เป็นสมบัติของตัวเองขึ้นมาได้ แล้วเป็นสรณะของพวกเราได้
ผู้ถาม เนื่องจากราชการกำหนดวันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่ อยากจะขอความกรุณาจากหลวงตาว่า ได้โปรดเมตตาแสดงคติธรรม เพื่อกุลบุตรกุลธิดาได้นำไปปฏิบัติด้วยเถิดขอรับ
หลวงตา เราพูดเป็นกลาง ๆ ทั่วไปนะ การระลึกถึงวันเกิดก็คือระลึกถึงภพชาติของตนเองที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ คนมีบุญวาสนาได้มาเกิดเป็นมนุษย์ คือวาสนาเป็นขั้น ๆ เกิดมาพอสักว่าเป็นมนุษย์ก็มี เป็นกรรมอันหนึ่งวาสนาอันหนึ่งพอเป็นมนุษย์ และเป็นมนุษย์ที่ดีเยี่ยมขึ้นไปโดยลำดับลำดา นี้ก็เป็นวาสนาอันหนึ่ง ๆ อย่างไรก็ตามรวมแล้วได้มาเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่เกิดได้ยากอยู่ ยากกว่าบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ตามหลักธรรมท่านแสดงไว้อย่างนั้น
เมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จึงควรระลึกถึงบุญถึงคุณที่เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วทำบุญให้ทานสนองความดีของเราที่เคยทำมาแล้วให้เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเราก็จะสูงขึ้นไปโดยลำดับลำดา นี้เรียกว่าการทำบุญในวันเกิด ระลึกถึงวันเกิดของตนเอง แล้วระลึกถึงบุญกรรมของตัวเองที่ได้สร้างมาที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์นี้ แล้วสร้างคุณงามความดีให้เพิ่มเติมขึ้นไปอีก เรียกว่าเป็นผู้เสริมบารมีของตนเอง จึงเป็นของที่ควรทำ
ส่วนสำหรับพระนั้นไม่อยากพูดแหละ เรื่องพระยกไว้ก่อน เราพูดสาธารณะทั่ว ๆ ไป วันเกิดที่นั่น วันเกิดที่นี่ พระไปหาวันเกิดที่นั่นมาหาวันเกิดที่นี่ เราไม่อยากยุ่งไม่อยากว่า ไม่อยากพูดถึงเลย มันปั๊บเข้านี่เลยนะ มันตอบกันอย่างสวนหมัดเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากตอบสวนหมัด นิ่งไปเสียดีกว่า ผ่านไปเลย เอาถามอย่างอื่น
ผู้ถาม หลวงตาไปแสดงธรรมตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่กรุงเทพ เกล้าได้สังเกตว่าหลวงตาเมตตาแสดงเรื่องศีลเป็นหลักในหัวข้อแสดงธรรมทุกครั้ง เหตุใดหลวงตาถึงได้ยกเรื่องศีลเป็นหลักในการแสดงธรรมล่ะขอรับ
หลวงตา ก็เพราะมองไปที่ไหนเห็นแต่คนทำลายศีลของตน ไม่มีศีลติดเนื้อติดตัวเลย มีแต่สูญติดเนื้อติดตัวเต็มเลย เพราะฉะนั้นจึงต้องสอนเรื่องศีล ให้มีศีลบ้าง มีศีลบ้างแล้วก็ความสงบแห่งความคะนองของกายวาจาและความประพฤติของตัวเองแต่ละคน ๆ จะสงบตัวลงมา ความเผาไหม้ทางด้านจิตใจ ความเสียหายทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะค่อยสงบตัวลงไป เพราะความมีศีล ศีลเป็นสิ่งที่รักษามนุษย์ให้มีความสงบร่มเย็นทั่วหน้ากัน แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ทำลายศีลเสียหมด จนกลายเป็นสูญเต็มตัว ๆ จึงมีแต่ความเดือดร้อนมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวถึงศีลเป็นของสำคัญ เพื่อรักษามนุษย์ให้อยู่ในความสงบร่มเย็นบ้าง ไม่เดือดร้อนวุ่นวายทั่วโลกดินแดน เพราะการทำลายศีลด้วยกันทั่วโลก
ผู้ถาม ศีลที่หลวงตายกเป็นหัวข้อแสดงธรรมนั้น เดิมมีอยู่แล้วในโลกหรือว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นขอรับ
หลวงตา เคยมีมาดั้งเดิมแล้ว เป็นแต่เพียงว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแต่ละครั้ง ๆ ก็มาบัญญัติ ๆ ขึ้นมา เรื่องศีลมีอยู่แล้ว ความชั่วมีอยู่แล้วดั้งเดิม ความดีมีมาแล้วดั้งเดิม ศีลกับธรรมเป็นสิ่งที่แก้ความชั่วทั้งหลาย มีมาดั้งเดิมเหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่าผู้ที่ยกขึ้นมาบัญญัติ ยกขึ้นมาสั่งสอนนั้นจะมีเป็นครั้งเป็นคราว เช่นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงรู้แจ้งเห็นจริงตามหลักความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ดั้งเดิม แล้วนำสิ่งเหล่านี้มาสอนโลก ให้โลกรู้จักดีจักชั่ว รู้จักหลบหลีกปลีกตัวในสิ่งชั่วทั้งหลาย รู้จักบำเพ็ญตนในความดีทั้งหลายเป็นลำดับลำดาไป จึงต้องมีหลายประเภท เช่นว่ามี ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แล้วก็บัญญัติไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ดั้งเดิม แต่เมื่อไม่มีใครทำผิดขึ้นมาไม่บัญญัติก็มี
ผู้ถาม ในชีวิตมนุษย์นี้ต้องทำตนให้มีศีลก่อนแล้วจึงรักษาศีลนั้นไว้ หรือว่าปกติชีวิตมนุษย์นี้มีศีลอยู่ในตัวเองแล้วขอรับ
หลวงตา ไหนว่าไง ถามอีกที
ผู้ถาม คือมนุษย์นี้ต้องทำตัวให้เป็นคนมีศีลโดยไปอาราธนา หรือว่าโดยปกติชีวิตมนุษย์เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีศีลอยู่ในตัวของตัวน่ะครับ
หลวงตา ปกตินั้นศีลธรรมมีอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่นำมาใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์ บาปกรรมมีอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ไปทำบาป บาปก็ไม่เกิดแก่เรา สิ่งเหล่านี้มีมาดั้งเดิม ศีล ธรรม บาป บุญ นี้มีมาดั้งเดิม แต่เมื่อเราไม่ทำทั้งสองอย่างก็ไม่เกิดประโยชน์และไม่เกิดโทษทั้งสองอย่าง เมื่อทำลงไปแล้วก็เกิดโทษขึ้นมา จึงต้องมีการทำความดีแก้กัน เช่นกับการทำลายศีลอย่างนี้นะ เราก็รักษาศีล รักษาศีลแล้วศีลก็มีขึ้นมา ก็แก้ความชั่วทั้งหลายที่จะทำลายเพราะความไม่มีศีลนั้นให้หายไป กลายเป็นคนมีศีลขึ้นมา
ศีลธรรมมีมาแล้วดั้งเดิม แล้วเหตุที่จะเป็นศีลเป็นธรรมขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติไว้แสดงไว้ว่า สมาทานวิรัติ คือสมาทานจากพระเจ้าพระสงฆ์เพื่อเป็นสักขีพยานประการหนึ่ง เจตนาวิรัติ เจตนางดเว้นที่จะรักษาศีลข้อนั้น ๆ ก็เป็นศีลขึ้นมาพร้อมแล้ว ๆ สัมปัตตวิรัติ งดเว้นเฉพาะหน้า เวลาไปเจอสัตว์ที่ควรฆ่าไม่ฆ่า ก็เป็นศีลขึ้นมา เห็นของที่ควรขโมยไม่ขโมยก็เป็นศีลขึ้นมา เป็นสัมปัตตวิรัติ สมุจเฉทวิรัติ ตั้งสัจอธิษฐานไว้เลย ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่งวันตายเราจะไม่ทำลายศีล ข้อใดก็ตามหรือทั้งหมดก็ตามเราจะไม่ทำลายเลย ก็เป็นสมุจเฉทวิรัติขึ้นมา
แต่ท่านแสดงไว้สมุจเฉทวิรัตินี้เป็นหลักธรรมชาติของพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาขึ้นไป พอสำเร็จพระโสดาแล้วท่านจะมีหิริโอตตัปปะ ละอายต่อบาปกรรมทั้งหลายไปในตัวของท่านเอง โดยไม่ต้องมีเจตนางดเว้นอะไรก็ตาม หากเป็นหลักธรรมชาติที่จะงดเว้นตัวอยู่ในจิตดวงนั้นแหละ สมุจเฉทวิรัติคือสมาทานจนกระทั่งวันตายไม่ยอมทำลายเลย ก็เรียกว่างดเว้นกระทั่งวันตาย อันหนึ่งไม่ต้องสมาทานอย่างพระอริยเจ้าตั้งแต่ขั้นพระโสดาขึ้นไป ไม่ต้องสมาทานก็เป็นศีลขึ้นมาแล้ว เป็นหิริโอตตัปปะเต็มตัวแล้ว เป็นศีลเป็นธรรมขึ้นมาเต็มตัวแล้ว นี้ก็เรียกว่าศีล มีอยู่สี่ประเภทอย่างนี้แหละ
ผู้ถาม อย่างนี้คนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำถูกไม่ทำผิด นั่ง ๆ นอน ๆ เฉย ๆ อย่างนี้จะเรียกว่ามีศีลได้ไหมขอรับ
หลวงตา เรียกว่าเขาเฉย จะว่าเขามีศีลก็ไม่เห็นมี มีบุญมีบาปเขาก็ไม่เห็นมี เห็นมีแต่เขาเฉย ก็เรียกว่าเขาเฉย แต่ปกติแล้วคนจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้นะ เป็นหลักธรรมชาติ ในจิตใจนั้นกิเลสไม่ให้คนอยู่เฉย ๆ เรื่องกิเลส สิ่งที่หมักดองอยู่ภายในจิตใจมันจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องให้คิดในแง่ต่าง ๆ ส่วนมากเป็นแง่ของกิเลส เราอยากจะเรียกว่าร้อยทั้งร้อยคิดไปแง่ใด ๆ มีแต่เรื่องของกิเลสทำงานของตัวเอง แล้วให้เป็นบาปขึ้นมา ๆ ในตัวเองโดยไม่มีเจตนา มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น
บุญนี้ต้องมีเจตนา แต่ไม่มีเจตนาก็เป็นบุญได้อีกเหมือนกันนะ เช่นสัตว์ทำดีตามประเภทของสัตว์ คนทำความดีตามประเภทคน ไม่มีเจตนาว่าจะทำดีก็ตาม หลักธรรมชาติของบุญของบาปมีอยู่ในจิตใจของสัตว์แล้วเป็นไปได้ ยิ่งมีเจตนาแล้วยิ่งเพิ่มรสชาติขึ้นไปอีก ชั่วก็ชั่วมากขึ้นไป ดีก็ดีมากขึ้นไป เจตนาเป็นเครื่องส่งเสริมดีชั่วนี้ให้มีน้ำหนักมากขึ้น
ผู้ถาม ดังนี้หัวใจของการมีศีลหรือการรักษาศีลนี้อยู่ที่ไหนขอรับ
หลวงตา อยู่ที่สติ รู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ทำความชั่ว ไม่ทำศีลให้ขาดด่างพร้อย อยู่ที่สติและความระลึกรู้ตัวเสมอ มีหิริโอตตัปปะความสะดุ้งกลัวต่อบาปก็ไม่ทำบาป ก็เป็นศีลไปโดยลำดับ ศีลถ้าเราพูดตามหลักธรรมจริง ๆ แล้วเรียกว่าเป็นธรรมขั้นหยาบก็ได้ แต่ท่านแยกออกมาเป็นคำว่าศีลเฉย ๆ เป็นธรรมขั้นหยาบ ขั้นละเอียดขึ้นไปโดยลำดับลำดา เพราะฉะนั้นผู้ที่สำเร็จพระโสดาแล้วจึงมีศีลไปในตัว เพราะท่านมีธรรมประจำใจแล้ว ศีลก็อยู่ในนั้นเสร็จ
ผู้ถาม ศีลกับวินัยต่างกันไหมขอรับ
หลวงตา พูดโดยส่วนรวมแล้ว ศีลก็ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ก็เรียกว่าศีลเหมือนกัน วินัยเป็นข้อ ศีลเป็นข้อ ๆ ก็มีลักษณะอย่างนั้นแหละ คล้ายคลึงกันอย่างนั้น
ผู้ถาม โดยสรุปศีลเป็นข้อกำหนดที่ทำให้กาย วาจา ใจ เป็นปกติใช่ไหมขอรับ
หลวงตา ใช่
ผู้ถาม ทีนี้มีบางคน อย่างสมมุติว่าเข้าพรรษาบอกว่าจะงดดื่มเหล้า ทีนี้พองดแล้วมันจะลงแดง เป็นเพราะโทษของการไปงดเข้าหรือว่าเป็นโทษหรือเป็นคุณของศีลกันแน่ขอรับ
หลวงตา เป็นโทษในธาตุในขันธ์ของมันเอง ไม่ได้เป็นโทษเพราะศีล เพราะธาตุขันธ์มันเคยดื่มเหล้า มันไม่ได้ดื่มก็ลงแดงน่ะซี ศีลท่านไม่ได้ดื่มเหล้านี่ท่านจะไปลงแดงลงดำที่ไหน ไปหาเรื่องใส่ศีลได้หรือ เจ้าของเป็นผู้ไปดื่มเหล้า เมื่อไม่ได้ดื่มแล้วก็ลงแดง ก็ต้องตำหนิเจ้าของนั่นเองว่าทำลายเจ้าของเอง ศีลไม่ได้ทำลายนี่นะ ศีลไม่ได้ไปทำลายใคร ท่านไม่มีลงดำลงแดง..ศีล มันมีลงดำลงแดงแต่มนุษย์คะนองฟาดเหล้าลงไปเท่านั้นเอง
ผู้ถาม ทีนี้ปกติไม่ได้รักษาศีล พอตั้งใจจะรักษาแล้วมันคอยหงุดหงิด ขัดข้องอึดอัดไปหมด อย่างนี้ควรจะทำอย่างไรขอรับ
หลวงตา นี่ละกิเลสก่อข้าศึกขึ้นแล้ว ธรรมะปราบลงไป ถึงจะตายก็ตายเถอะ ขออย่าให้ศีลขาดก็พอ นั่นเรียกว่าปราบ ธรรมะเครื่องปราบกันปราบอย่างนี้ จะตายก็ตายเราสู้ความชั่ว นี่ถูกต้อง นี่ก็เคยปฏิบัติมาแล้ว ไม่ได้พูดถึงว่าเราดื่มสุรายาเมาแหละ กิเลสตัวมันผาดโผนโจนทะยานมี ธรรมะเครื่องปราบกันต้องมีผาดโผนโจนทะยานเหมือนกัน เอากันจนหมอบราบ ๆ เห็นประจักษ์ต่อใจของเรานี้ อันนี้ก็เหมือนกัน มันเด็ดเราก็เด็ดซิ ไม่งั้นจะเรียกว่าเราต่อสู้กับความชั่วได้ยังไง
เรื่องการอยากดื่มสุราเป็นความชั่ว เป็นความเสียหายนี่นะ เราฝืนเราไม่ดื่มนี่เป็นธรรมะที่ต่อสู้กันอย่างเด็ดขาด เอ้า ลงแดงก็ลง ลงดำก็ลงว่างั้นเลย ลงไหนก็ลงเถอะศีลนี้ไม่ถอย จะปราบให้อยู่ จะตายก็ตาย คนทั้งโลกเขาตายกันทั้งนั้น เขาไม่ดื่มสุราเขาก็ตาย มันแก้กันไปในนั้นแหละถ้าจะต่อสู้จริง ๆ แล้วมันมีทางหลบทางหลีกหมัดรับหมัด ต่อยกันได้ทั้งนั้นแหละ แต่นี่เอะอะมีแต่หมอบ ไม่ได้กินเหล้าแล้วจะลงแดง ถ้างั้นสะแตกจนกระทั่งวันตายอย่าปล่อยนะให้ว่างั้น เวลาตายแล้วไม่ต้องนิมนต์พระมากุสลา ธมฺมา ให้สุรามัน กุสลา ธมฺมา เอง มันได้เปรียบแล้ว อยากจะว่าอย่างนั้นเสียดีกว่า
ผู้ถาม ทีนี้ข้อความที่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา คนเราจะเจริญสมาธิโดยไม่รักษาศีล ไม่มีศีล อยู่ ๆ จะทำสมาธิเลยได้ไหมครับ
หลวงตา ทำได้ คือในขณะที่จะทำสมาธินั้นเราไม่ได้ไปทำอะไรเลยเวลานั้น ศีลก็เป็นศีลขึ้นแล้วในขณะนั้น เราก็ทำสมาธิของเรา ศีลก็ไม่กำเริบ ไม่มีอะไรจะมาทำให้ศีลขาดศีลด่างพร้อยไปที่ไหน เพราะเราไม่ทำปัจจุบันนั้น เราภาวนาของเราเพื่อใจสงบ ใจก็สงบขึ้นมาเรื่อย ๆ นี่สำหรับบุคคลทั่วไปนะ แต่สำหรับพระนั้นต้องรักษาศีลเป็นพื้นตลอดเวลา ถึงจะนั่งสมาธิไม่นั่งสมาธิพระต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ตลอดเวลา อันนี้เป็นคนละประเภท ถ้าคนทั่ว ๆ ไปแล้วเรื่องของการทำความดีนี้ เช่นอย่างเราภาวนานี้เราอย่าไปคำนึงถึงศีลอย่างโน้นอย่างนี้ เราไม่ต้องไปคำนึง ให้ทำใจของเราให้สงบ นี่เป็นปัจจุบันแล้ว ศีลก็มีมาพร้อมกัน นี่อันหนึ่ง
คือเมื่อจิตสงบแล้วหลายครั้งหลายหนก็เรียกว่าเป็นสมาธิ อันนี้สำคัญมากนะ ในศาสนาพุทธของเรานี้อันนี้ไม่ค่อยมีใครเอาออกมา จบพระไตรปิฎกก็จบเถอะ เรียนขนาดไหนก็เรียนเถอะ มีแต่ความจดความจำลูบคลำกันไปอย่างนั้นแหละ เรียนจบพระไตรปิฎกเราอย่าเข้าใจว่าคนนั้นมีหลักมีเกณฑ์นะ ก็เราเรียนมาแล้วนี่นะ พระไตรปิฎกเราก็ค้นเสียจนแหลกจะว่าไง ค้นเพื่อจะนำคติธรรมอันสำคัญ ๆ ออกไปปฏิบัติ ไม่ใช่ค้นเพื่อความรู้กระจ่างแจ้ง แล้วแสดงตัวเป็นคนรู้หลักนักปราชญ์อย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่คิดอย่างนั้นนะ เราเรียนเราค้นพระไตรปิฎก เราค้นเพื่อหาหลักหาเกณฑ์ ที่จะนำมาเป็นคติเครื่องเตือนใจสอนตนเวลาออกปฏิบัติ เราจึงได้ค้น
นี่เรียนไปเท่าไร เรียนบาปสงสัยบาป เรียนบุญสงสัยบุญ เรียนนรกสงสัยนรก เรียนสวรรค์สงสัยสวรรค์ จนกระทั่งเรียนถึงนิพพานก็ไปตั้งเวทีต่อสู้กับนิพพาน นิพพานมีหรือไม่มีนะ สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้มีหรือไม่มีนะ นี่คือการเรียน ลูบคลำไปตลอดจนกระทั่งจบพระไตรปิฎกก็ลูบคลำตลอดหาความจริงไม่ได้ ทีนี้สมาธิจึงไม่มีในความจำ มรรคผลนิพพานจึงไม่มีในความจำ มีในความจริงเท่านั้น
ท่านว่าปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียน เป็นแบบแปลนแผนผังเรียบร้อยแล้ว ท่านชี้เข้าไปตรงไหนให้ทำอย่างนั้น ท่านชี้ว่าให้ทำสมาธิ เอ้า ทำสมาธิ นี่เรียกว่าเป็นภาคปฏิบัติแล้วนะ พอเราปฏิบัติเป็นสมาธิ สมาธิในตำรับตำราท่านบอกว่าความสงบ ความแน่นหนามั่นคงของใจ เรียกว่าสมาธิ นั้นเป็นชื่อ นั้นเป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่ตัวสมาธิแท้ เมื่อเราปฏิบัติตัวของเราเข้าไปจนกระทั่งถึงจุดที่ว่าจิตสงบ ความสงบก็ใจของเราเองสงบ อ๋อ ใจสงบเป็นอย่างนี้ แล้วตำราเป็นอย่างนั้น แต่ใจสงบแท้เป็นอย่างนี้ ตัวจริงเป็นอย่างนี้ ตำราเป็นอย่างนั้นเป็นชื่อเป็นนาม นี้ตัวจริงเป็นอย่างนี้ จากนั้นก็เป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงขึ้นไป อ๋อ สมาธิเป็นอย่างนี้ ๆ แน่เข้าไป
นี่ภาคปฏิบัติ รู้ตรงไหนแน่นอนตรงนั้น ๆ ไม่ลูบคลำนะภาคปฏิบัติ เอ้า สมาธิขั้นใดไม่ต้องไปถามใคร เมื่อปรากฏขึ้นในใจ อ๋อ สมาธิเป็นอย่างนี้ ๆ มีแต่เป็นอย่างนี้ ๆ ไม่มีคำว่าลูบคลำสมาธิในภาคปฏิบัติแล้ว แน่เข้าไป ๆ ถึงขั้นปัญญาก็เหมือนกัน เมื่อสมาธิมีภูมิเต็มกำลังความสามารถที่จะคิดอ่านไตร่ตรองด้วยปัญญาได้แล้ว เพราะจิตอิ่มตัว ไม่วุ่นวายกับอารมณ์ต่าง ๆ หิวโหยในรูปในเสียงในกลิ่นในรส จิตไม่หิวโหยเพราะจิตมีสมาธิสงบตัวเรียบร้อยแล้ว พอออกจากความสงบตัวแล้ว เอ้า ก้าวทางด้านปัญญา
ปัญญาท่านให้พิจารณายังไง ให้พิจารณาสกลกายเรื่องธาตุเรื่องขันธ์สกลกายของเรา เรื่องอสุภะอสุภัง ความเน่าความเหม็นความเปื่อยความพุพองหนองไหลในร่างกายของเรา จนกระทั่งเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ความแปรสภาพ ความเป็นทุกข์ ตลอดถึง อนตฺตา ความหาตนหาตัวไม่ได้ ปัญญาของเรากระจ่างไปโดยลำดับ ๆ พอกระจ่างไปตรงไหนแก้กิเลสไปตรงนั้น ๆ อ๋อ ท่านแก้กิเลสท่านแก้อย่างนี้ นั่นเห็นแล้วนะ ปัญญาเป็นอย่างนี้เอง ปัญญาในตำรามีแต่ลูบคลำ สงสัยตลอดเวลา ปัญญาในความจริงไม่ได้ลูบคลำ อ๋อ ๆ เรื่อย ๆ แหละ ปัญญาเป็นอย่างนี้ อ๋อ ท่านแก้กิเลสท่านแก้อย่างนี้ ๆ จนกระทั่งถึงก้าวขึ้นสู่ปัญญา ปัญญานี้เป็นปัญญาสำคัญมากนะ ในปริยัติในที่ไหนก็ตามถ้าไม่ได้เข้าไปภาคปฏิบัติแล้วยังไงก็ไม่รู้ ว่างี้เลย ต้องเป็นภาคปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้นถึงจะรู้ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านรู้จากภาคปฏิบัติ
ที่นี่พอก้าวเข้าขั้นปัญญา ปัญญาเริ่มแรกต้องได้บังคับบัญชาให้พินิจพิจารณาเสียก่อน เพราะยังไม่เห็นผลของงานตัวเองย่อมเถลไถลได้ เถลไถลไม่ได้ไปไหนนะ ปัญญาขั้นนี้จะถอนเข้ามาสู่สมาธิคือความสงบใจ ไม่อยากยุ่งเหยิงวุ่นวายกับการงานอะไรทั้งนั้น จะมีแต่ความสงบเย็นใจสบายแน่วอยู่ทั้งวัน อยู่ได้ คนที่มีสมาธิอยู่ตลอด อยู่ที่ไหนอยู่ได้สบาย เพราะมีอารมณ์อันเดียวไม่มีอะไรเข้ามายุ่งเหยิง รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ ไม่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ ไม่มายุ่งเกี่ยวก่อกวน มีแต่ความสงบแน่ว ก็อยู่นั้นได้ เพราะฉะนั้นพวกที่มีสมาธิจึงติดสมาธิได้ไม่เกิดปัญญา ปัญญาไม่เกิด ต้องได้ขุดค้นจากสมาธินี้ออกมาทางด้านปัญญา
ปัญญาทีแรกก็ยังไม่เกิด ก็ต้องได้บังคับบัญชากัน เมื่อบังคับบัญชาจนกระทั่งเกิดความเข้าใจแล้ว ทีนี้ค่อยดูดดื่มไป ๆ อ๋อ เป็นอย่างนี้ ๆ ทีนี้เห็นผลประจักษ์แล้ว ไอ้เรื่องความเชื่อ ความพากความเพียร ความอุตส่าห์พยายามไม่ต้องบอก เป็นอันเดียวกันมาเลยกับความรู้จริงเห็นจริงนั้น อ๋อ เป็นอย่างนี้ ๆ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ภาวนามยปัญญา ปัญญาประเภทนี้ไม่มี เรียนจบพระไตรปิฎกก็จบ
ท่านบอกไว้กลาง ๆ ว่าภาวนามยปัญญาเพียงเท่านั้น ผู้ไม่ได้ทำภาวนามยปัญญานี้จะไม่ทราบเลยว่ารสชาติของภาวนามยปัญญาเป็นยังไง จึงต้องมีในภาคปฏิบัติเท่านั้น ภาคปริยัติไม่มี มีแต่ตำราบอกว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ ทีนี้ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ มันเกิดยังไง แน่ะ ไม่รู้ ต้องผู้ปฏิบัติ อ๋อ ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ เกิดขึ้นอย่างนี้เอง
ไม่ต้องไปยุ่งดูรูป ฟังเสียง กลิ่น รส เพื่อมาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจของตัวเองให้มีสติปัญญาอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ต้อง สติปัญญานี้จะทำหน้าที่ของตัวเอง ๆ หมุนของตัวเอง เพื่อแก้กิเลสไปโดยลำดับ ๆ แยกธาตุแยกขันธ์แยกไปเอง รู้ธาตุรู้ขันธ์รู้ตรงไหน ๆ ถอนตัวเข้ามา ๆ เรื่อย ๆ จิตก็สว่างกระจ่างแจ้ง ปัญญาแหลมคมเข้าโดยลำดับ ทีนี้ก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ คือหมุนตัวไปเอง กิเลสมันเคยหมุนตัวอยู่ในหัวใจของเราโดยอัตโนมัติฉันใด สติปัญญาขั้นนี้ก็หมุนตัวกลับคืน แก้กิเลสไปโดยลำดับ ๆ กลับคืน ๆ แก้หมุนคืน ๆ โดยลำดับ ๆ เป็นอัตโนมัติของตน จนกระทั่งเข้าสู่มหาสติมหาปัญญาแล้วหมุนติ้วเลยตลอด เหล่านี้มีในภาคปฏิบัติเท่านั้น เป็นปฏิเวธไปโดยลำดับ
คือปริยัติ เป็นแบบแปลนแผนผังที่ท่านชี้บอก ปฏิบัติคือให้ไปทำหน้าที่ เช่นอย่างเขาสอนมวย แล้วขึ้นเวทีคือภาคปฏิบัติ วิธีสอนยังไม่ใช่ภาคปฏิบัตินะ สอนวิธีการต่าง ๆ นานา เวลาขึ้นเวทีนั้นเราต้องเป็นผู้ต่อยเอง อะไร ๆ ต้องเป็นนักมวยต่อยเอง อันนี้พอก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติแล้วนักภาวนาต้องเป็นผู้พิจารณาเอง ๆ ทีนี้รู้ก็รู้ขึ้นมาในตัวเอง เห็นด้วยตัวเอง เรื่อย ๆ แน่นหนามั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญาทีนี้หมุนตัวไปเองเลย
หมุนไปที่ไหนกิเลสขาดสะบั้นไปที่นั่นนะ ไม่ได้เหมือนความจำของเรา รู้ไปที่ไหนจำไปที่ไหนมีแต่กิเลสพอกพูนไปด้วย สวมรอยไปด้วย ๆ ความจำ แต่ความจริงเกิดขึ้นจากภาคปฏิบัตินี้กิเลสจะถอนตัวออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญาที่เรียกว่ายอดปัญญาฆ่ากิเลส ที่ว่ายอดกิเลสสมุทัย ได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้คือยอดของสมุทัย ยอดของมรรคได้แก่ สติปัญญาอัตโนมัติขึ้นไปถึงมหาสติมหาปัญญาแล้วก็สังหารสมุทัย ตัวพาให้เกิดให้ตายซึ่งมีอยู่ในจิตของแต่ละสัตว์และบุคคล
ไม่มีใครทราบได้เลยจิตอันนี้นะ ภาคปฏิบัติเท่านั้นจับได้รู้ได้ถอนออกมาได้ แล้วประกาศสอนโลกอย่างพระพุทธเจ้าว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นท่านถอนมาแล้ว รู้ได้ในภาคปฏิบัติ นี่เรียกว่าปฏิเวธแล้ว ปฏิเวธโดยลำดับ ๆ คือความรู้แจ้งเห็นจริงเป็นลำดับ ๆ เป็นที่สาม ปริยัติ เป็นที่หนึ่ง ปฏิบัติ เข้าทำหน้าที่เป็นที่สอง ปฏิเวธ ความรู้แจ้งเห็นจริงมาเป็นลำดับลำดา เป็นลำดับที่สาม แล้วรู้แจ้งไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกิเลสพังหมดไม่มีตกค้างในหัวใจแล้ว เรียกว่าเป็นปฏิเวธเต็มภูมิ นี่พระพุทธเจ้าท่านรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ แล้วนำธรรมเหล่านี้มาสอนโลก
โลกมาเรียนแต่เพียงความจำเฉย ๆ ไม่ได้เคยปฏิบัติไม่สนใจ แล้วสุดท้ายก็ลบบาปลบบุญลบมรรคผลนิพพานว่าไม่มี ๆ ไปเสียหมดเลย ความจดความจำเป็นอย่างนั้น แต่ภาคปฏิบัตินี่ลบไม่ได้นะ ไม่มียังไงเห็นอยู่นี่ ไม่มียังไงรู้อยู่นี่ นั่นละผู้ปฏิบัติจึงเอาความจริงออกมาประกาศธรรมสอนโลกได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ไม่ได้เหมือนความจำนะ ต่างกันอย่างนี้ เรียกว่าภาวนามยปัญญาเป็นสำคัญมาก
เราจึงวิตกวิจารณ์เรื่องภาวนามยปัญญา กลัวนักปราชญ์สมัยปัจจุบัน สมัยดาวเทียม สมัยเรียนลัดนี้จะลบล้างเสียหมด ว่าภาวนามยปัญญานี้เป็นปัญญาส่วนเกินของศาสนา ไม่เป็นของจำเป็นเลย อันนี้ละที่มันจะลบล้างทิ้ง ปัญญานี้เองเป็นยอดของมรรคที่จะสังหารยอดสมุทัยคืออวิชชา เมื่อปัญญาประเภทนี้ได้ถูกลบล้างไปแล้ว อวิชชาก็หัวเราะก้าก ๆ เลย หมดเรื่องมรรคเรื่องผลไม่มีอะไรเหลือ ถ้าลงได้ลบภาวนามยปัญญาออกจากวงศาสนานี้แล้ว อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้หัวเราะก้าก ๆ เลย ไม่มีเครื่องสังหาร มันจะพองตนเป็นลำดับลำดาเลย ไม่มีเครื่องสังหารมัน
เพราะฉะนั้นภาวนามยปัญญาจึงเป็นปัญญาที่ลึกลับมาก ผู้ที่จะรู้ได้รู้ได้จากผู้ปฏิบัติเท่านั้น ผู้ไม่ปฏิบัติรู้ไม่ได้ แน่ทีเดียวเลยไม่เป็นอย่างอื่น อันนี้แหละพระพุทธเจ้ารู้มาท่านมาสอนโลก ทีนี้โลกไม่ได้ปฏิบัติตามก็ไม่รู้ ก็เห็นว่าภาวนามยปัญญานี้เป็นธรรมะส่วนเกิน เป็นศาสนาส่วนเกินไปเสีย ไม่จำเป็น ตัดออก พอตัดออกปั๊บอริยสัจหมดแล้ว ไม่มีความหมาย แก้กิเลสไม่ได้แล้วที่นี่ หมด ศาสนาก็มีแต่ชื่อแต่นามเป็นกระดาษดินสอไปอย่างนั้นแหละ ไม่ได้มีผู้ที่จะนำศาสนาอันแท้จริงออกมาแก้กิเลส และทรงมรรคทรงผลให้เราทั้งหลายได้เห็น
ถ้าตัดภาวนามยปัญญาออกแล้วนะหมดทาง ศาสนาหมดไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นเราจึงได้พูดเอาไว้ ในหนังสือก็มี ในเทปก็มี ปัญญานี้เป็นปัญญาสำคัญมาก ถ้าไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้รู้ด้วยตัวเองแล้วจะไม่เห็นไม่รู้ เรียนจบพระไตรปิฎกก็จบเถอะว่างั้นเลย ธรรมชาตินี้จะไม่ปรากฏ จะพูดได้แต่เพียงว่าภาวนามยปัญญาทางภาคปริยัติสอนไว้เท่านั้น แปลว่า ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ ทีนี้ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ นั้น ต้องเป็นผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง เพียงความจำไม่เกิดประโยชน์อะไร นี่ละจะลบล้างคำว่าภาวนามยปัญญานี้ออกอย่างไม่สงสัย
นักปราชญ์ทุกวันนี้ไม่ภาวนานี่ ไม่ได้สนใจพุทโธ ธัมโม สังโฆ สมาธิเป็นยังไง ปัญญาเป็นยังไง ทำแบบโลก ๆ ให้เขารู้ว่าตนเรียนรู้หลักนักปราชญ์ฉลาดแหลมคมก็ไปสอนโลกได้แบบโกหก ทั้ง ๆ ที่ศีลก็ไม่เคยสนใจ สมาธิไม่เคยสนใจ ปัญญาไม่เคยสนใจไม่เคยสัมผัสในหัวใจเลย ก็เอาแต่ลมปากไปสอนโลก เดี๋ยวนี้ศาสนาจะเป็นศาสนาลมปากไปแล้วนะ จะไม่มีผู้ทรงความสัตย์ความจริงออกมาประกาศ เหมือนพระพุทธเจ้าประกาศ และพระอรหันต์ท่านประกาศนะ จะมีแต่สติปัญญา มรรคผลนิพพานในกระดาษ สุดท้ายก็เป็นหนอนแทะกระดาษไปเท่านั้นเอง เรียนมาก ๆ เลยกลายเป็นหนอนแทะกระดาษ
เรียนไปมาก ๆ ความเรียนทั้งหมดนี้กลายเป็นวิชาเป็นเครื่องมือให้กิเลสเอาไปใช้ เอาไปถลุงแหลกหมดเลย เราเห็นไหมศาสนาทุกวันนี้พุทธศาสนา เรียนมากเท่าไรยิ่งหมุนตัวไปทางกิเลสมาก ไม่มีใครหมุนตรงมาหาอรรถหาธรรมนี่นะ จะไม่เรียกว่ากิเลสเอาไปทำงานยังไง กิเลสเอาไปเป็นเครื่องมือได้ยังไง การเรียนมามากน้อยเรียนอรรถเรียนธรรมเป็นฐานเหยียบขึ้นของกิเลสทั้งนั้น กิเลสตีตลาดหมดไม่ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีภาคปฏิบัตินะ ถ้ามีภาคปฏิบัตินี้กิเลสแตกกระจาย ๆ นี่ละพระพุทธเจ้าเอามาสอนโลก ท่านสอนแบบกิเลสแตกกระจายมาแล้ว มาสอนวิธีการให้กิเลสแตกกระจายด้วยภาคปฏิบัติ จึงมีผู้ทรงมรรคผลนิพพานได้
ผู้ถาม คือเกล้าสงสัยว่ามีผู้บอกว่า ปัญญาได้แก่ สุตมยปัญญาก็ใช่ แล้วจินตามยปัญญาก็ใช่ ภาวนามยปัญญาก็ใช่ เพิ่งเข้าใจวันนี้ขอรับ
หลวงตา นี่ละภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ลึกลับมากที่สุด ถ้าไม่ได้ปฏิบัติไม่รู้ว่างั้นเลย ชี้นิ้วเลย อันสุตมยปัญญานี้พอคาดได้ ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการคิดอ่านไตร่ตรอง นี้ใครก็พอคิดได้คาดได้นะ แต่ภาวนามยปัญญานี้ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ นี้ไม่มีใครรู้ ต้องผู้ปฏิบัติเท่านั้น ผู้ปฏิบัติพอหยั่งเข้านี้ปั๊บมันจะวิ่งถึงกันหมด อ๋อ ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้เอง
ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดมาพาดมาพิงก็ตาม จะเกิดขึ้นในลำพังตนเอง หมุนตัวเป็นเกลียวไปเลยเพื่อฆ่ากิเลสโดยลำดับ หมุนไปไหนฆ่ากิเลสไปตรงนั้นโดยลำดับ จนกระทั่งกิเลสม้วนเสื่อเลย เพราะภาวนามยปัญญาเป็นพื้นฐานต่อขึ้นไปมหาสติมหาปัญญา กิเลสไม่มีเหลือ นี่เป็นปัญญาฆ่ากิเลสโดยอัตโนมัตินะนี่ ถึงขั้นนี้แล้วฆ่ากิเลสโดยอัตโนมัติ เหมือนกับกิเลสฆ่าพวกเราโดยอัตโนมัตินั่นแหละ
มันฆ่าสัตวโลกนี่ฆ่าโดยอัตโนมัติของมันนะ ไปที่ไหนเห็นแต่กิเลสฆ่าคน ๆ ไม่เห็นคนฆ่ากิเลสเลย ก็เพราะคนไม่ได้ภาวนาพอจะฆ่ากิเลสนี่นะ กิเลสจึงฆ่าแต่คน ทีนี้พอภาวนาเข้าไปแล้ว ทีนี้ผู้นี้ละผู้ที่จะฆ่ากิเลส พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ฆ่ากิเลส พวกเรามันพวกส่งเสริมกิเลส เรียนมากเท่าไรยิ่งกิเลสพองโตใหญ่ พอเขาว่า โอ้โห นี่พระไตรปิฎกเคลื่อนที่นะ ยิ่งเป็นบ้าสด ๆ ร้อน ๆ ทั้ง ๆ ที่กิเลสไม่ได้ถลอกปอกเปิกจากการศึกษาเล่าเรียนมา
นี้อันหนึ่ง พระไตรปิฎกใน พระพุทธเจ้าแตกกระจายในนี้แล้วกระจ่างแจ้งไปหมด พระไตรปิฎกนอกเรียนตรงไหนก็เป็นทางไปอย่างนั้นแหละ เรียนไปจดจำไปหลงลืมไป แต่พระไตรปิฎกในไม่มีลืม แตกกระจายออกจากนี้แล้วรู้ไปหมดเห็นหมด เหมือนไฟได้เชื้อ ลุกลามไปได้หมดเลย รู้ไปหมดซอกแซกซิกแซ็ก ต่างกัน แล้วที่พูดเหล่านี้คนทั้งหลายจะเข้าใจไหม ธรรมะนี้สูงอยู่นะ เฉพาะอย่างยิ่งภาวนามยปัญญาและมหาสติมหาปัญญา เราพูดอย่างเด็ด พูดอย่างอาจหาญชาญชัยตามความจริงที่ปฏิบัติและรู้เห็นมา
การถามปัญหาจึงมีความต้องการอยากให้มีเหลื่อมล้ำต่ำสูงเป็นลำดับลำดาไป คือการถามปัญหา การตอบนี้ขึ้นอยู่กับการถามนี่นะ ถามขั้นใดต้องตอบขั้นนั้น ตอบขั้นอื่นเขาไม่เข้าใจ ถามขั้นนี้ตอบขั้นนี้ ๆ ถามแบบฟ้าดินถล่ม ตอบแบบฟ้าดินถล่มเลย นั่นเป็นขั้น ๆ นะ นั่นละพระไตรปิฎกในเข้าใจหรือเปล่า พระไตรปิฎกนอกต้องไปหาคัมภีร์นั้นไปหาคัมภีร์นี้ อ้างคัมภีร์นั้นอ้างคัมภีร์นี้ ถ้าเป็นโจรเป็นมารเขามาคว้าเอาตับเอาปอดหมดแล้ว จึงจะไปได้เครื่องมือมา ที่ไหนได้เขาเอาไปกินอิ่มแล้ว ถ้าเป็นพระไตรปิฎกในนี้พอปั๊บมาสวนหมัดปุ๊บเลย เอาเลย หงายเลย ๆ นั่นละพระไตรปิฎกในพระไตรปิฎกนอกต่างกันนะ
ภาวนามยปัญญานี่สำคัญมากทีเดียว ไม่มีใครรู้ง่าย ๆ แหละปัญญาประเภทนี้ ส่วนมากจะมีภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติท่านรู้ ผู้ปฏิบัตินี่แหละจะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมะเหล่านี้นะ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติแล้วก็เป็นภาคความจำ เป็นกระดาษ เลยกลายเป็นหนอนแทะกระดาษไปเลยไม่ได้เป็นผลอะไร แต่ถ้าภาคปฏิบัตินี้เอาเนื้อเอาตัวมาเลย จับตัวมาด้วย รอยก็ตามเข้าไปจับตัวได้ด้วย ได้ทั้งรอยได้ทั้งตัวด้วย นั่นภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้นนะ กลัวเขาจะไม่เข้าใจอธิบายธรรมะวันนี้รู้สึกจะสูงไป แต่ให้คนได้คิดบ้าง
ผู้ถาม แต่ก็มีผู้สงสัยมากในปัญหาที่เกล้าได้เรียนถามขอรับ เพราะที่ได้พูดได้สอนกันอยู่นี้ก็ได้ผิดไปจากที่หลวงตาได้เทศน์ล่ะขอรับ ถึงได้เกิดความสงสัยขอรับ
หลวงตา นี่ที่พูดออกมานี้เราไม่ได้พูดด้วยความสงสัยนะ เราพูดด้วยเอาตัวจริงออกมายันเลย ว่านี่น่ะ ๆ เห็นไหม ตาบอดหรืออยากว่าอย่างนั้นนะ โลกมันตาบอดมานานเท่าไรแล้วเราจึงเปิดให้ฟังบ้าง นี่เห็นไหมมรรคผลนิพพาน ตาบอดหรือเราอยากว่าอย่างนั้น โห มรรคผลนิพพาน เป็นฟ้าดินถล่ม พระพุทธเจ้าทรงมรรคผลนิพพาน พระอรหันต์ท่านทรงมรรคผลนิพพานแบบฟ้าดินถล่มเลย พวกเราได้แต่ลมไม่ได้เรื่องอะไร นี่ซีสลดสังเวช
เราเคยพูดถึงเรื่องข้อเปรียบเทียบที่ให้โลกได้เห็นชัดเจนก็คือว่า เรายกตัวอย่างขึ้นมาเรื่องนิพพานพูดง่าย ๆ นะ นิพพานเป็นยังไง ๆ นิพพานสูญหรือไม่สูญ เป็นยังไง เราจึงยกข้อเปรียบเทียบมาเทียบกับแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลมาจากทางนั้นทางนี้ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง เป็นต้นนะ ไหลลงไปนี้เข้าสู่มหาสมุทรทะเลหลวง
น้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลมารอบด้านนี้ ไหลลงสู่มหาสมุทรทะเลหลวงแล้ว เป็นน้ำมหาสมุทรทะเลหลวงอันเดียวกันหมด ไม่มีคำว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ จะเป็นแม่น้ำมหาสมุทรทะเลอันเดียวกันหมดแยกกันไม่ออกเลย นี่ฉันใดก็เหมือนกัน คำว่านิพพาน ๆ นั้นเท่ากับแม่น้ำมหาสมุทรทะเลหลวง ผู้ดำเนินดำเนินเข้ามา ๆ เหมือนแม่น้ำสายต่าง ๆ ปฏิบัติเข้ามา รู้เข้ามา เห็นเข้ามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงบรรลุธรรมถึงความบริสุทธิ์สุดส่วนปึ๋งเข้าตรงนั้นแล้ว เรียกว่า แม่น้ำสายต่าง ๆ ของผู้บำเพ็ญได้เข้าถึงมหาสมุทรทะเลหลวงแล้ว ได้แก่นิพพานคำเดียวแยกกันไม่ออก
เมื่อได้เข้าถึงนั้นแล้วแยกกันไม่ออก ว่าองค์นี้มาจากไหน ๆ เป็นอันเดียวกันแล้วกับมหาวิมุตติมหานิพพาน เหมือนกับแม่น้ำสายต่าง ๆ ไหลเข้าสู่มหาสมุทรทะเลหลวง เป็นอันเดียวกันแล้วกับน้ำมหาสมุทรทะเลหลวง แยกกันไม่ออกฉันนั้นเหมือนกัน แล้วมหาสมุทรทะเลหลวงนั้นสูญไหม เอาตรงนี้นะ มหาสมุทรทะเลหลวงที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้สูญไหม ฉันใดก็เหมือนกัน มหาวิมุตติมหานิพพานนั้นก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน สูญไหมว่างั้นเลย เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานแล้วสูญไหม นี่ละพระอรหันต์ทั้งหลายเข้าสู่จุดนี้ละ เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานขึ้นมา เหมือนกับแม่น้ำสายต่าง ๆ เข้าสู่มหาสมุทรทะเลหลวงอยู่ที่นั่นว่าอย่างนั้นเลยนะ แยกไม่ออก
นี่ละที่ว่านิพพาน ๆ อย่างนี้เอง เป็นธรรมไปเลยกระจายครอบโลกธาตุ คำว่านิพพานธรรมครอบโลกธาตุเลยเทียว เท่ากับแม่น้ำมหาสมุทรทะเลหลวง แต่มหาสมุทรทะเลหลวงไม่ได้ครอบโลกธาตุ มันมีอยู่ในโลกนี้เท่านั้น อันนั้นครอบโลกธาตุ
ขอพูดอีกสักประโยคหนึ่ง คือคำว่าแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลเข้ามหาวิมุตติมหานิพพานนั้น ได้แก่ผู้บำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายอยู่ในที่ต่าง ๆ กันนั่นละ สร้างอันนี้คือจะไหลเข้าไปตรงนั้น ใครสร้างคุณงามความดีได้มากน้อยเพียงไร ก็เหมือนกับแม่น้ำสายต่าง ๆ จะไหลเข้าไป ๆ เมื่อบารมีแก่กล้าแล้วก็ถึงมหาวิมุตติมหานิพพาน เหมือนกับน้ำลำคลองที่ไหลไม่หยุดมันก็ถึงมหาสมุทรได้ อันนี้สร้างไม่หยุด ทำคุณงามความดีไม่หยุด ต่างคนต่างอยู่ที่ไหนก็ไหลเข้ามา ๆ พอถึงจุดแล้วเข้าเป็นอันเดียวกันหมดเลย
วันนี้ได้อธิบายธรรมะขั้นสูงมากเพื่อเอาไปพิจารณากันบ้าง แต่เราพูดเพื่อเป็นหลักฐานเอาไว้ สมัยปัจจุบันนี้ขอพูดเต็มปากเถอะว่า จะไม่มีใครพูดอย่างนี้ได้ง่าย ๆ นะ พูดธรรมะประเภทนี้จะไม่มีใครพูดได้ง่าย ๆ นะ เพราะฉะนั้นจึงว่าวิตกวิจารณ์ที่จะมีผู้มาลบล้างศาสนาของพระพุทธเจ้าออก ด้วยการลบล้างภาวนามยปัญญานี้ เราวิตกมากนะ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีใครปฏิบัติจะเห็นธรรมแบบนี้นะ ที่พระพุทธเจ้าเห็น พระอรหันต์ท่านเห็น ไม่มีใครปฏิบัติก็ไม่รู้ ถ้าปฏิบัติมีทางรู้ได้ แต่นี้ไม่มี มีแต่เรียนท่องบ่นสังวัธยายเป็นนกขุนทอง ๆ เต็มบ้านเต็มเมือง ว่าแก้วเจ้าขา ๆ บทเวลาเอาแก้วไปให้ดูไม่สนใจดู มีแต่แก้วเจ้าขาอยู่ เดี๋ยวนี้นะศาสนาแก้วเจ้าขา
ผู้ถาม หลวงตาเทศน์ถูกใจครับ เดี๋ยวนี้คนเรียนสูง กิเลสมาก
หลวงตา นั่นละสูงก็สูงกิเลสไม่ใช่สูงธรรม กิเลสมันสูงขึ้นเลยเมฆไปนู่น แต่ธรรมนี่ต่ำลงไปจนมองหาไม่เห็นเวลานี้น่ะ กิเลสเหยียบ เดี๋ยวนี้กำลังกิเลสเหยียบธรรม เพราะฉะนั้นเวลาไปเทศน์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีปัญหาคนเขาถามมาว่า พูดถึงเรื่องการเผาศพกิเลส เขาว่าการเผาศพกิเลสนี้เผายังไง โอ๊ย คนไม่เคยภาวนาจะไปรู้เรื่องการเผาศพกิเลสได้ยังไง มองไปที่ไหนเห็นแต่กิเลสเผาคนเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เห็นคนเผากิเลสนี่ เพราะไม่เคยภาวนา ผู้ท่านภาวนาท่านเผาศพกิเลสด้วยวิธีไหนท่านก็รู้ของท่านเองนี่นะ ตปธรรมของท่านมีนี่นะ เราก็ว่าอย่างนั้นละ ตอบปัญหาเขา
ก็จริง ๆ มองไปไหนเห็นแต่กิเลสเผาคนไม่เห็นคนเผากิเลสเลย ไปที่ไหนเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่ว่ายศถาบรรดาศักดิ์สูงขนาดไหน มหาเศรษฐี กุฎุมพี ขนาดไหนก็ตาม มองไปที่ไหนเห็นแต่กิเลสเผาคน ความทุกข์จึงเป็นระดับเดียวกันว่าอย่างนี้เลยนะ เราอย่าไปยกนะว่าคนนี้มียศถาบรรดาศักดิ์สูงเขามีความสุขมาก อย่าไปคิด กิเลสหลอกคน คนนี้เขามีทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของมากเขามีความสุขนะ อย่าไปคิด ให้ดูหัวใจคนว่างั้นเลย ธรรมพระพุทธเจ้าดูหัวใจนะ ไม่ได้ดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ อันนั้นมันมีอยู่เต็มโลกแล้วตั้งแต่เรายังไม่เกิด มันให้ความสุขแก่ผู้ใดถ้าเจ้าของไม่หาเอง ความทุกข์ก็เจ้าของต้องหาเองถึงจะเจอ
เงินทองข้าวของสมบัติอะไรก็ตามเป็นแร่ธาตุต่าง ๆ เขาก็มีอยู่ตามสภาพของเขา เขาไม่ได้ให้ความสุขความทุกข์แก่ผู้ใด ถ้าคนไม่ไปอาจไปเอื้อมไปหามาเพื่อเผาตัวเองด้วย เพื่อเป็นความสุขแก่ตัวเองด้วยความฉลาดและด้วยความโง่ของตนเท่านั้น อย่างอื่นไม่มี เราอย่าไปคิด ให้ดูหัวใจคน พระพุทธเจ้าสอนดูหัวใจคน ความทุกข์มันเหมือน ๆ กันหมดนั่นแหละ ไปที่ไหนเห็นแต่ไฟเผาหัวใจคน ๆ สมบัติเงินทองข้าวของเต็มอยู่นั้น แต่หัวใจเจ้าของสมบัตินั้นก็ถูกไฟเผาอยู่ในนั้น จี้อยู่นั้นจะว่าไง ไม่เห็นแปลกต่างกับเขาคนจนเลย
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีธรรม ธรรมนี่เป็นน้ำดับไฟ ถ้ามีธรรมแล้วมีทางดับได้ มหาเศรษฐีก็มีความสุข คนจนก็มีความสุข ยศถาบรรดาศักดิ์สูงขนาดไหนมีความสุข ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ก็มีความสุข ถ้ามีธรรมเข้าไปชะไปล้างไปแอบแฝงเครื่องป้องกันตัวรักษาตัว ถ้าไม่มีธรรมแล้วอย่าอวดว่างั้นเลย อวดพระพุทธเจ้าอย่าอวด คลังกิเลสอย่าไปอวดคลังของธรรม พระพุทธเจ้าคลังของธรรมนี่นะ ท่านดูโลก โลกวิทูนี่ รู้แจ้งเห็นจริงหมด พวกเราดูด้วยความมืดบอด หลับตาดูก็ไม่เห็น กิเลสหลอกตรงไหนก็วิ่งไปตามกิเลส ๆ
เอาละให้พรเสียก่อนค่อยไป |