จะฝึกจิตต้องฝืน
วันที่ 25 ธันวาคม 2518 ความยาว 33.24 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

จะฝึกจิต ต้องฝืน

           

เราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าของเราเป็นนักเหตุผล เป็นนักอรรถนักธรรม นักรู้นักฉลาดแหลมคม และเป็นคลังแห่งธรรม ผลธรรมที่อยู่ในคลัง คือพระทัยอันบริสุทธิ์ของพระองค์นั้น มีแต่พระธรรมดวงประเสริฐเลิศโลก ท่านได้มาด้วยเหตุผลอันใดท่านจึงได้ร่ำลือ เราก็เป็นคนๆ หนึ่งไม่เห็นเป็นที่ร่ำลือ พระพุทธเจ้าก็เป็นคนๆ หนึ่ง แต่ทำไมท่านจึงร่ำลือทั่วโลกธาตุ “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ” เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ท่านร่ำลือทุกอย่างบรรดาความดีทั้งหลายไม่ว่าฝ่ายเหตุไม่ว่าฝ่ายผล ท่านเป็น “คลังแห่งพระธรรมดวงประเสริฐ”

พระธรรมที่ปรากฏให้โลกผู้สนใจกราบไหว้บูชาอยู่นี้ พระพุทธเจ้าทรงขุดค้นได้มาก่อนใครทั้งโลก แล้วทรงนำออกแจกจ่ายโลก แม้กระนั้นโลกยังไม่เห็นสำคัญในธรรมดวงประเสริฐนั้น เห็นสำคัญแต่เรื่องไม่ประเสริฐเรื่องเหลวไหล ที่กุมอำนาจอยู่ภายในจิตใจ ความเคลื่อนไหวไปมาของใจกายวาจา จึงเป็นไปตามอำนาจเหล่านี้เสียโดยมาก

เมื่อเช่นนั้น แม้ความต้องการสิ่งประเสริฐเลิศโลกก็ “สักแต่ความต้องการเท่านั้น” เพราะไม่ได้สนใจดำเนินตามเท่าที่ควร ไม่ได้ฝืนสิ่งที่กุมอำนาจไว้ภายในใจเพื่อการปฏิบัติบำเพ็ญธรรม สมกับเป็นลูกศิษย์พระตถาคตผู้ทรงฝืนอย่างยิ่ง

การฝืนเพื่อเหตุเพื่อผลเพื่ออรรถเพื่อธรรมนั้นแล เป็นความดียิ่งสำหรับเรา เพราะครูเราคือพระศาสดาและสาวก ท่านพาฝืนและได้ดีสิริมหามงคลสูงเด่นแก่โลกเพราะความฝืน ความดีมีคุณค่าของคนเรามีอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่มีอยู่ที่เนื้อที่หนังเหมือนสัตว์ ตายแล้วนำเข้าสู่ตลาด ผลปรากฏออกมาเป็นเงินเป็นทอง เป็นอาหารการบริโภคที่สำเร็จประโยชน์ได้ทั่วโลกดินแดน

ส่วนมนุษย์เรานี้ ไม่ได้มีคุณค่าอยู่ที่เนื้อที่หนังอย่างสัตว์เหล่านั้น แต่มีคุณค่าทางจิตใจ มีคุณค่าทางความประพฤติอัธยาศัยหน้าที่การงาน อันเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม

ความประพฤติ ถ้าไม่ดำเนินมาจากจิตใจก็ไม่มีทางดำเนิน จิตใจถ้าไม่มีเหตุผลเป็นเครื่องดำเนินก็ไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นมนุษย์เราจึงควรมีเหตุผลแนบสนิทกับใจ ใจต้องใคร่ครวญเหตุว่าดีหรือไม่ดีอยู่เสมอ ทุกอาการที่เคลื่อนไหวไปมา ผลที่สำเร็จออกไปจากเหตุนี้จะเป็นอย่างไร? เมื่อเหตุไม่ดีแล้วผลก็ต้องไม่ดี เพราะไม่ขึ้นอยู่กับความเสกสรรปั้นยอหรือเสกเป่าแล้วก็ว่าดี ดังที่โลกๆ มักนิยมใช้กันเสมอมา แต่ดีและชั่วอยู่ที่การทำเหตุเป็นสำคัญกว่าการ “เสก” ใดๆ นี่เป็นหลักธรรมชาติที่ใครๆ ไม่ควรฝืน เพราะเป็นความจริง เมื่อเหตุดีผลต้องดี ใครจะติเตียนวันยังค่ำ หรือยกโลกธาตุมาตำหนิติเตียนว่า “ทำชั่วได้ดี ทำดีกลับได้ชั่ว” อย่างนี้ ก็สักแต่คำพูดหรือความเสกสรรปั้นยอของคนต่างหาก แต่นำมาใช้เป็นการยืนยันรับรองไม่ได้ เพราะเป็นความคิดการกระทำของคนผู้จะทำลายตนและสังคมต่างหาก ธรรมแท้ไม่เกี่ยวกับเรื่องจอมปลอมอย่างนี้ เพราะความจริงเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ในโลกทั้งสามไม่มีอะไรจะจริงยิ่งกว่าความจริงดังที่กล่าวมานี้

พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงสั่งสอนโลกตามหลักความจริงนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าธรรมในแง่ใด ไม่ว่าพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ล้วนแสดงตามหลักความจริง จะเคลื่อนคลาดจากนี้ไปไม่มี ฉะนั้นพวกเราที่เป็นชาวพุทธ จึงต้องพยายามประพฤติปฏิบัติตน และพึงคำนึงถึงพระพุทธเจ้าเสมอ แม้จะไม่ได้มุ่งความเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนพระองค์ก็ตาม แต่ก็ควรคำนึงถึงความเป็น “ลูกศิษย์ของตถาคต” คือพุทธบริษัท ได้แก่อุบาสก อุบาสิกา เป็นต้น แล้วพยายามปฏิบัติบำเพ็ญตามธรรมของพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงฝืนทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาที่เป็นข้าศึกต่อความดี เราก็ต้องฝืนเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า เพราะต้องการความดีหรือของดีที่ปราชญ์ท่านว่าดี ไม่ใช่ดีแบบเสกสรรปั้นยอเสกเป่าแล้วก็ตื่นลมกัน โดยไม่ยอมเหลือบมองดูปราชญ์ท่านว่าเป็นอย่างไรบ้าง

อันความไม่ดีนั้นมีอยู่แล้วภายในจิตใจ สิ่งที่ฝืนไม่ให้ทำความดีนี้ล้วนแต่สิ่งที่ชั่วทั้งนั้น ถ้าเราไม่ยอมฝืนก็แสดงว่า เรายอมจำนนต่อความชั่วความต่ำทรามที่มีอยู่ภายในจิตใจมากน้อยนั้น ถ้าเราฝืนก็แสดงว่าเราเห็นโทษแห่งความไม่ดีนั้น และฝืนให้หลุดพ้นจากความไม่ดี หรือทำลายความไม่ดีโดยลำดับด้วยความฝืน ความบากบั่น กลั่นกรองตัวเอง ความเห็นโทษเป็นเหตุปัจจัยให้ฝืนสิ่งต่ำทรามเหล่านี้ เพื่อความดีทั้งหลาย

เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องฝืนสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คล้อยตามของไม่ดี แต่เป็นสิ่งที่ฝืน ฝืนตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด จนหาสิ่งที่ให้ฝืนไม่ได้ จิตก็สะดวกสบายไม่มีอะไรมาฝืนกันอีกต่อไป สิ่งที่ฝืนมีมากมีน้อยเพียงไรนั้นแลคือตัวภัย สิ่งนั้นเมื่อเราดำเนินไปตามหรือคล้อยไปตาม จะมีกำลังมากขึ้นโดยลำดับจนกลายเป็นนิสัย คำว่า “กลายเป็นนิสัย” คือที่โลกเขาว่า “ตามใจตัวเองจนเป็นนิสัย” แต่ความจริงก็ตามธรรมชาติฝ่ายต่ำนั้นแหละ เพราะใจไม่มีอำนาจเหนือสิ่งนั้น และสิ่งนั้นอยู่เหนือใจ โลกเลยพูดเสียว่า “เอาแต่ใจตัวเอง ไม่คำนึงถึงเหตุผลบ้างเลย”

            ทีนี้การที่เรามาประพฤติปฏิบัติ เราจำต้องฝืน ดังที่ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ หรือไปสู่สถานที่ใดเพื่อคุณงามความดีทั้งหลาย ก็ต้องฝืนเช่นเดียวกัน ถ้าไม่ฝืนก็ไม่ได้ของดี ปกติของคนส่วนมาก เวล่ำเวลาจะมีมากน้อยเท่าไร สิ่งที่มันกดขี่บังคับอยู่ภายในใจ ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจหรือผู้คุมอำนาจนั้น จะแย่งชิงเอาไปกินจนหมดไม่มีเหลือเลย จนกระทั่งโน้นละ ขณะที่จะสิ้นลมหายใจมันจึงจะปล่อย ก่อนนั้นมันไม่ค่อยปล่อยให้มีเวลาว่างกัน! ด้วยเหตุนี้โลกจึงไม่ค่อยมีเวลาทำความดีกัน จำต้องมืดทั้งมา มืดทั้งอยู่และมืดทั้งเวลาจะไปและไปกัน ไม่มีเวลาสว่างสร่างซา

            วันคืนปีเดือนมีอยู่เท่าเดิม ปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน วันหนึ่งคืนหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ก็ไม่มีว่าง! สำหรับธรรมชาติเจ้าอำนาจนี้จะไม่ยอมว่างให้ใครเลย กุมอำนาจอยู่ตลอดเวลา จนขณะจะสิ้นลมหายใจถึงจะเปิดโอกาสให้ว่า “เวลานี้ว่าง จึงได้ตายนั่น จงพิจารณาให้ถึงใจ เคียดเเค้นให้ถึงธรรม ดำเนินให้ถึงแดนปลดปล่อยอย่าถอยมันเป็นอันขาด ชาติมนุษย์พุทธบริษัทที่ฉลาดและแข็งแกร่งในโลก มีศาสดาเป็นจอมทัพ ไม่เคยพาพวกเราให้กลับแพ้นี่

            เมื่อคิดเรื่องเหล่านี้มันน่าสลดสังเวชมากที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้เคยกดถ่วง เคยทรมาน เคยทำให้เราได้รับความทุกข์มามากต่อมากจนไม่อาจคณนาได้ แม้เช่นนั้นก็ยังไม่ทราบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยแก่ตัวเอง ถึงจิตใจจะวุ่นวายเดือดร้อนขนาดหนักแทบไม่มีสติ ก็ว่า “วันนี้ใจไม่ดีเลยแล้วก็ไม่ทราบว่า ไม่ดีเพราะอะไรเป็นเหตุทำให้ใจไม่ดี

ความจริงก็คือธรรมชาติอันนั้นแลทำคน จะเป็นอะไรมาจากโลกไหนเล่า? แต่เราไม่อาจทราบได้ จึงต้องอาศัยการอบรมให้ทราบว่า สิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูก สิ่งไหนดีสิ่งไหนชั่ว ความดีเป็นคุณแก่จิตใจ ความชั่วเป็นภัยต่อจิตใจ มันติดอยู่กับใจดวงเดียวทั้งสองอย่าง มีเพียงมากกับน้อยที่ต่างกัน

            เพราะฉะนั้นเราจะหาอุบายวิธีใด แก้สิ่งไม่ดีซึ่งมีอยู่ในจิตอันเดียวกัน ให้ออกไปได้โดยลำดับ? นอกจากอรรถธรรมและตัวเราเองที่จะฝืน โดยอาศัยหลักธรรมเป็นเครื่องมือเท่านั้น ไม่มีวันที่จะได้รับการปลดปล่อยตัวออกสู่ความว่างได้ตลอดไป

            “พระพุทธเจ้าท่านทำไมจึงว่างเราต้องคิดไปเช่นนั้นเพื่อแก้ตัวเอง “ท่านก็เป็นถึงพระมหากษัตริย์ ทำไมท่านถึงว่างและออกบำเพ็ญพระองค์ได้” เราไม่มุ่งบำเพ็ญตามแบบพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่เรายกท่านเป็นครูในส่วนที่เราจะยึดได้ มาปฏิบัติเพื่อตัวเอง

            ทำไมพระพุทธเจ้าท่านว่าง ท่านไม่มีกิเลสหรือ? ท่านไม่หึงไม่หวงอะไรบ้างหรือ? ลูกก็มี เมียก็มี สมบัติพัสถานมากน้อย ไพร่ฟ้าประชาชีทั้งหลายเต็มแผ่นดิน ซึ่งเป็นสมบัติอันมีค่ามหาศาลของพระองค์ทั้งนั้น ทำไมพระองค์ว่างได้ พระองค์ปล่อยได้และว่างได้ จนได้ตรัสรู้และสะเทือนโลกธาตุ

            เราไม่ถึงกับจะต้องปล่อยอย่างพระพุทธเจ้า แต่ปล่อยแบบลูกศิษย์มีครู จึงควรหาเวลาว่างสำหรับตนให้ได้บ้าง อะไรที่มีสาระสำคัญที่สุดในโลกนี้? จิตของเรามุ่งต่ออะไรทุกวันนี้? ว่าอะไรเป็นศักดิ์สิทธิ์และวิเศษที่สุด ที่จะเป็นสารคุณอันสำคัญพึ่งเป็นพึ่งตายได้จริง ๆ มีอะไรบ้างอยู่ในโลกนี้? เราเป็นมนุษย์พุทธบริษัททั้งคน ควรคิดให้เต็มใจก่อนจะหมดโอกาสคิดและทำ เพื่อสิ่งที่พึงหวังดังใจหมาย คิดรอบ ๆ ตัวก็พอสะดุดสะเทือนใจไม่เสียผล ดูเอาซีไปที่ไหนเห็นมีแต่ป่าช้าเกลื่อนไปหมด ไม่ว่าสัตว์ว่าบุคคล “ป่าช้า” เต็มตัวด้วยกัน เราหวังอะไรเป็น “สรณะ” เราหวังอะไรเป็นหลักเป็นฐานเป็นที่มั่นใจเรา? เมื่อมองไปไหนมีแต่ภัยรอบด้าน จนจะหาทางคืบคลานออกไม่มี

            ทั้งนี้ถ้าไม่มีอรรถมีธรรมภายในใจบ้างแล้ว คนเราจะหาหลักเกณฑ์ไม่ได้เลย จะรวนเรเลื่อนลอย จนกระทั่งวันสิ้นชีพวายชนม์ก็เลื่อนลอยไปอย่างนั้น ไม่มีอะไรเป็นหลักในอนาคต ถ้าไม่รีบสร้างหลักยึดไว้เสียแต่ในบัดนี้ เมื่อจิตใจในปัจจุบันมันเลื่อนลอยอย่างไร ไม่มีหลักเกณฑ์อย่างไร อนาคตไม่ต้องพูด ก็คือผู้นี้แหละ ผู้เลื่อนลอยนี้แหละจะไปเป็นผู้เดือดร้อนระทมขมขื่นในอนาคต ไม่ใช่อะไรจะพาให้เป็น ต้องใจดวงรวนเรเลื่อนลอยนี้แลจะพาให้เป็น

            พระสาวกท่านมีจำนวนมาก ท่านทำไมว่างได้? ท่านทำไมฝืนได้ คำว่า “ฝืน” เป็นสิ่งสำคัญมาก ทำไมท่านฝืนได้ กิเลสของท่านเป็นกิเลสประเภทใดท่านจึงฝืนได้? กิเลสของเราเป็นกิเลสประเภทใดเราจึงฝืนไม่ได้ ก็เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน ธรรมเครื่องแก้ไขก็เป็นประเภทเดียวกัน ทำไมจะนำมาแก้สิ่งที่ฝืนธรรมไม่ได้!

            บุคคลผู้จะต่อสู้แก้ไข หาเวล่ำเวลาหรือหาโอกาสเพื่อตัวเอง ก็เป็นบุคคลเช่นเดียวกับเราไม่ผิดกันเลย ถ้าผิดก็ผิดแต่ว่าท่านมีความเข้มแข็ง เรามีความอ่อนแอ ท่านเป็น “นักต่อสู้” เราเป็น “นักถอยหลัง” ท่านกล้าหาญ เราขี้ขลาดหวาดกลัวเท่านั้นที่ผิดกัน! แล้วจะทำอย่างไรกับตัวเราจึงจะเข้ากันได้กับท่านและหลักธรรมของท่าน จะไม่เป็นข้าศึกกัน

            ความอ่อนแอ เป็นต้น นี้แลเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้รับความทุกข์ความลำบากบ่นเพ้ออยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ความบ่นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่เมื่อได้บ่นบ้างก็อาจเป็นทางระบายออกแห่งความทุกข์ทางหนึ่ง ความจริงไม่ใช่ทางระบายออกแห่งทุกข์ ความบ่นมันเป็นแง่ที่น่าคิดอันหนึ่งเหมือนกัน เพราะความคิดที่จะบ่นก็เป็นงานของจิต การบ่นออกมาก็เป็นงาน นอกจากนั้นยังทำให้บางคนรำคาญ อีกอย่างหนึ่งเขาก็มีอะไรอยู่ในใจของเขา พอมาพบเรื่องของเราก็มาบวกกันเข้า เลยไปกันใหญ่ สุดท้ายมีแต่กองทุกข์ทั้งสองฝ่าย จึงต่างคนต่างหาบหามอย่างเต็มกำลังไม่มีคำว่า “ปลง”!

            เพราะฉะนั้นเพื่อปลดเปลื้องสิ่งที่เราไม่พึงปรารถนาทั้งหลาย จึงขึ้นอยู่กับ “ความฝืน” ฝืนมากฝืนน้อย ฝืนเถอะ การฝืนเรา ฝืนสิ่งไม่ดีของเราเป็นความชอบธรรม ไม่ผิด ฝืนได้มากได้น้อยเป็นสิริมงคล เป็นความดีประจำตัวของเรา จนกลายเป็นนิสัยแห่งการฝืนสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ใจจะมีความองอาจกล้าหาญขึ้นมา ผลสุดท้ายเรื่องที่เราฝืนนั้นก็เลยยอมจำนน

            จะไปไหนมาไหน จะพูดอะไร มีเหตุผลอย่างไร ที่เห็นว่าถูกว่าควรแล้วก็ดำเนินตามนั้น ไม่มีอะไรมาขัดแย้งกีดขวาง ย่อมเป็นไปตามเหตุผลนั้นอย่างเดียว สิ่งที่จะมาฝืน สิ่งที่มาคอยกีดกันขวางทางเดินของเรานั้น มันค่อยสลายค่อยละลายไป ในที่สุดก็ล้มละลายไป เมื่อเราเคยฝืนเสมอๆ เคยต่อสู้ต้านทานมันเสมอ และเคยได้รับชัยชนะมาแล้ว สิ่งนั้นจะมาชนะเราอีกไม่ได้ เราได้ชัยชนะโดยลำดับ ชนะไปเรื่อยๆ และชนะจนไม่มีอะไรจะต่อสู้กับเราอีก นั่น! ความฝืนเป็นผลอย่างนี้แล

            ใจชอบอย่างนี้ แต่เหตุผลเป็นอย่างนั้น เราต้องฝืนความชอบใจเพื่อเหตุผลนั้นๆ ซึ่งเป็นความถูกต้อง ถ้าจะดำเนินหรือทำไปตามความชอบใจ ก็ความชอบใจนี้มีเหตุผลอะไรบ้าง? ส่วนมากไม่มี นอกจากเหตุผลของกิเลสเพื่อหาทางเล็ดลอดธรรมเท่านั้น ซึ่งมีอะไรก็อ้างมาตามเรื่องของมัน ส่วนมากเราชอบเหตุผลของกิเลสมากกว่าเหตุผลของธรรม ฉะนั้นผลที่ได้รับจึงมีแต่ความทุกข์ความร้อนภายในใจ ที่เกิดขึ้นจากการทำตามเหตุผลของกิเลส

            แม้นั่งอยู่นิ่งๆ แต่จิตไม่ได้นิ่ง จิตมีความคิดปรุงยุ่งเหยิงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอิริยาบถใดมาห้ามมันได้นอกจาก “สติปัญญา” ปกติแล้วจิตล้วนสร้างความทุกข์ขึ้นแก่ตน ด้วยความคิดปรุงในแง่ต่างๆ ซึ่งเป็นทางไม่ดี เราก็ไม่ยอมเห็นโทษ นี่แหละเหตุผลของกิเลสเป็นอย่างนี้ หาความถูกต้องไม่ได้เลยแต่ไหนแต่ไรมา

            ส่วนเหตุผลของธรรมนั้นมีความถูกต้อง ผลที่ได้รับคือความสุขความเย็นใจตลอดไป ตั้งแต่ขั้นเริ่มฝึกหัดจนถึงขั้นสูงสุด

            การปฏิบัติตัวหรือการปฏิบัติศาสนา เป็นความลำบากผิดธรรมดาอยู่บ้าง ถึงจะผิดธรรมดา เราก็ทราบว่าเราหักห้ามใจ ไม่ให้เป็นไปตามสิ่งต่ำทรามที่กิเลสตั้งชื่อตั้งนามในสิ่งที่ตนชอบว่า “ธรรมดา” ฉะนั้นจำต้องฝืนกัน เมื่อฝืนครั้งนี้ได้ผล ครั้งต่อไปสิ่งที่จะให้เราฝืนก็อ่อนลง ๆ ความเข้มแข็งทางด้านเหตุผลและความเพียรก็เพิ่มขึ้น เลยไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะมาขัดขวางเรายิ่งกว่าเหตุผลที่จะดำเนินไปตามที่เห็นว่าถูกต้อง นี่แหละนักธรรมะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านทรงดำเนินอย่างนี้!

            ทำไมท่านจึงไม่หึงไม่หวงไม่ห่วงไม่ใยครอบครัวเหย้าเรือน ท่านเป็นมนุษย์ปุถุชนเช่นเดียวกัน ท่านต้องห่วง ท่านต้องฝืนอย่างยิ่ง เพื่อธรรมดวงเลิศ นั่นแลครูของพวกเรา! สาวกทั้งหลายท่านก็ฝืนเต็มกำลังของท่าน จนได้เป็น “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” เข้ามาสู่ใจของพวกเรา

            เราที่เป็นผู้รับเอา “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” เข้ามาสู่ใจ ก็อย่าเอาเข้ามาเหยียบย่ำทำลายท่านเล่น โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติแห่งธรรมนั้นๆ หรือแห่งพุทธ แห่งธรรม แห่งสงฆ์ ว่ามีคุณค่ามากเพียงไร จึงเอามาเหยียบย่ำทำลายกับความขี้เกียจอ่อนแอ ความเห็นแก่ตัว ความไม่มีเหตุผล นำพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาสกปรกด้วยทำไม ต้องคิดอย่างนี้เสมอ ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ตื่นตัว จะได้พยายามแก้ไขตนตามท่านไปโดยลำดับ

            อะไรโล่งก็สู้จิตใจโล่งไม่ได้ อะไรคับแคบตีบตันก็สู้จิตใจคับแคบตีบตันไม่ได้ อะไรจะทุกข์ก็สู้จิตทุกข์ไม่ได้ อะไรจะสุขก็สู้จิตสุขไม่ได้ แน่ะ! รวมลงที่จิตแห่งเดียว!

            ดินฟ้าอากาศก็โล่งอย่างนั้นเอง เมื่อมีความทุกข์ภายในจิตใจ แม้จะอยู่ในกลางทุ่งโล่งๆ นั้น อากาศโล่งๆ ก็ช่วยอะไรไม่ได้ จึงว่ามันอยู่ที่จิต ถ้าจิตมีความปลอดโปร่งโล่งสบายแล้วอยู่ที่ไหนก็สบาย อยู่ในถ้ำ ในเหว ในกระต๊อบ อยู่ในร่มไม้ชายภูเขา ก็สบายทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องคิดหาว่าอากาศโปร่งที่นั่น อากาศโปร่งที่นี่ เพราะผู้ขัดข้องจริงๆ ก็คือจิตซึ่งเป็นตัวก่อเรื่องเท่านั้น ฉะนั้นความสุขความทุกข์ ตลอดทั้งสาเหตุให้เกิดสุขเกิดทุกข์ จึงรวมอยู่ที่จิตเป็นสำคัญกว่าสิ่งอื่นๆ ปราชญ์ท่านจึงสอนลงที่ใจอันเป็นตัวการสำคัญ ใครจะสอนได้ถูกต้องยิ่งกว่าปราชญ์คือพระพุทธเจ้าไม่มี! อย่าพากันลูบคลำที่นั่นที่นี่ เดี๋ยวเวลามือไปโดนเอาแมงป่องเข้าจะร้องไม่เป็นเสียงคน จะว่า “ไม่บอก”

            สมบัติอันมีค่ามากก็คือใจ เป็นหลักเป็นประธานของสิ่งทั้งหลายก็คือใจ จึงไม่ควรปล่อยใจให้สิ่งเลวทรามทั้งหลายเข้ามาเหยียบย่ำทำลาย จนแหลกเหลวไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนผลอันไม่พึงปรารถนามันโยนให้เราเป็นคนรับเคราะห์ แม้ทุกข์แทบเป็นแทบตายก็คือเราเองเป็นผู้รับ! ส่วนกิเลสความต่ำทรามเหล่านั้นไม่ได้มารับทุกข์กับเราเลย ผู้เสียเปรียบจึงคือเรา ผู้โง่เขลาต่อเล่ห์เหลี่ยมของมันอยู่เรื่อยไป

            ฉะนั้นจงพยายามแก้ไขถอดถอนมันด้วยเหตุด้วยผล ความสุขอันพึงหวังนั้นเราจะไปหาที่ไหนในโลกนี้ มันก็เพียงผ่านๆ ไปดังที่เคยได้ประสบพบเห็นกันมาแล้ว ผ่านมาชั่วขณะๆ เท่านั้นแล้วก็ผ่านไป มันไม่เป็นความสุขที่จีรังถาวรอะไรเลย

            แต่ความสุขที่เป็นขึ้นในจิตใจ เกิดขึ้นตามหลักธรรมชาติของจิตด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม นี้เป็นความสุขที่จีรังถาวร จนกลายเป็นความสุขอันตายตัว เป็น “อกุปปธรรม” คือเป็นความสุขที่ไม่กำเริบ  เพราะจิตใจไม่กำเริบไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอนันตกาล

            สมบัติในโลกนี้ก็คือใจซึ่งเป็นสมบัติอันล้นค่า จงพยายามรักษาใจให้ดีโดยสม่ำเสมอ เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนาอย่าถือเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ทำพอเป็นพิธีรีตอง ก็เราไม่ใช่เป็นคนพิธี แต่เราเกิดมาเป็นคนทั้งคนไม่ใช่ตุ๊กตา พอจะภาวนาเป็นพิธี นั่งภาวนาทีละ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ก็แทบล้มแทบตาย แทบจะหามกายเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องอับอายขายหน้าชาวพุทธและนักปฏิบัติจริงๆ เกินกว่าจะอภัยกันได้

            เวลากิเลสพาเอาไปถลุงทั้งวันทั้งคืน ยังสนุกกับมันได้ชนิดลืมตัวลืมตายลืมป่าช้าที่มีอยู่กับตัว นั่นเรารู้ไหม? กิเลสมันกล่อมคนดีขนาดไหนดูเอาก็รู้เอง เพราะเคยถูกกล่อมถูกถลุงมาด้วยกัน แม้ผู้เทศน์ก็ไม่มีการยกเว้นในการถูกต้มตุ๋น ฟังเอามันกล่อมดีขนาดนั้นแหละ กล่อมจนเคลิ้มหลับไม่รู้สึกตัวเลย แม้จะเข้าโลงผีอยู่แล้ว ยังอยากฟังเสียงเพลงลูกทุ่งมันอยู่เลยไม่มีวันเวลาอิ่มพอ จนหมดลมหายใจไปเปล่าๆ

            สิ่งเหล่านี้นักปราชญ์ท่านตำหนินัก แต่พวกเราทำไมจึงชอบนัก ชอบอะไรมันก็ไม่รู้ ตามความจริงแล้วคนเราชอบอะไรย่อมจะเจอสิ่งนั้น ชอบกิเลสก็เจอกิเลสและทุกข์ที่แฝงมากับกิเลส ชอบธรรมก็เจอธรรมและสุขที่แฝงมากับธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในโลกไม่บกพร่องจึงหาได้ด้วยกัน สุขก็หาได้จากเราคนเดียว ทุกข์ก็หาได้จากเราคนเดียวตามสาเหตุที่เราดำเนินไป ผลก็ต้องเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น

            นี่เราแน่ใจแล้วว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ เป็นภูมิที่สูงส่ง ในโลกนี้ถือว่ามนุษย์สูงกว่าสัตว์ และได้พบพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสั่งสอนที่ถูกต้องแม่นยำมาจากหลักแห่ง “สวากขาตธรรม” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว พยายามดำเนินให้เป็นไปตามหลักแห่ง “สวากขาตธรรม” ผลที่พึงได้รับจะเป็นที่พึงพอใจ เราอย่าถือใครเป็นหลักเป็นเกณฑ์ยิ่งไปกว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในการยึดและการดำเนิน

            วิถีทางแห่งการครองชีพก็ตาม วิถีทางแห่งการปฏิบัติธรรมเพื่อความอบอุ่นแก่จิตใจก็ตาม ไม่มีใครจะเกินพระพุทธเจ้าไปได้ในความฉลาดแหลมคม ด้วยอุบายวิธีป้องกันหรือรักษาตัว ทั้งเกี่ยวกับสิ่งภายนอกและสิ่งภายใน พระพุทธเจ้าเป็น “นักรู้นักฉลาดแหลมคมทุกอย่าง” “นักปกครองบ้านเมือง” ก็เป็นพระองค์หนึ่ง “นักปกครองด้านจิตใจ” ก็เป็นพระองค์หนึ่ง นักปกครองโลกทั่วๆ ไปด้วยอุบายวิธีการอบรมสั่งสอนโดยถูกต้องเหมาะสม ไม่มีศาสดาองค์ใดจะแซงพระองค์ไปได้ โดยความฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนจนถึงขั้น “นิพพาน” เราจะหาขนาดไหนอีก มีใครที่จะสอนให้เลย ‘นิพพาน” ไปเคยได้ยินบ้างไหม? ไม่เคยได้ยิน!

            เพราะถึงที่นั่นแล้วเป็นสถานที่สุดจุดหมายปลายทางโดยสมบูรณ์แล้ว เช่นเดียวกับเราขึ้นมาถึงบนบ้านแล้ว เป็นที่เหมาะสมและถึงจุดที่หมายแล้ว เพราะไม่ใช่ขรัวตาดังที่ท่านอาจารย์มั่นท่านเคยนำมาพูดเป็นอุบายเพื่อเป็นคติแก่พระเสมอว่า “ทำอะไร ทำแบบเถรตรงนี่ มันไม่ได้เรื่องอะไร? ท่านว่า แล้วท่านก็ยกนิทานขรัวตาขึ้นมาว่า “ขรัวตาคนนั้นเดินเข้าไปในบ้าน ถูกเขานิมนต์ขึ้นไปบนบ้าน การนิมนต์ขึ้นไปบนบ้านก็คือนิมนต์ขึ้นนั่งบนบ้านนั่นเอง แต่ขรัวตาไม่เข้าใจอย่างนั้น พอถูกเขานิมนต์ให้ขึ้นไปบนบ้านก็ปีนขึ้นไปบนขื่อโน่น “อ้าว! ท่านปีนขึ้นไปบนขื่อโน้นทำไมล่ะ แล้วกันพิสดารเกินเหตุแล้วนี่ นิมนต์ท่านลงมา” พอขรัวตาองค์นั้นลงมาแล้ว ก็เผ่นออกจากบ้านเขาไปเลยไม่มองหน้ามองหลัง นั่น! เป็นอย่างนั้นไปเสีย

            ความจริงเขานิมนต์ขึ้นไปนั่งบนบ้านเขาต่างหาก แต่ท่านกลับปีนขึ้นไปบนขื่อบ้านเขาโน่น เวลาถูกนิมนต์ให้ลงมาก็ลงและเตลิดเลยบ้านเขาไปเสีย นี่คือความไม่พอดี ไม่มีประมาณ ไม่มีเหตุมีผลเอาเลย เพราะความซื่อเสียจนเซ่อไปแบบไม่รู้สึกตัว

            การสั่งสอนนั้น เมื่อสอนถึงนิพพานแล้วจะสอนไปไหนกันอีก เมื่อจิตบรรลุถึงนิพพานแล้วจะเตลิดไปไหนกันอีก ถ้าไม่คว้าเอาแบบขรัวตามาใช้ก็ต้องยุติการก้าวไปเพียงเท่านี้ เพราะสุดยอดแห่งธรรมแล้ว หรือสุดยอดแห่งสมมุติ จิตเป็นวิมุตติเต็มภูมิอรรถภูมิธรรมแล้ว ปัญญาทั้งมวลก็ยุติกันลงแค่นี้

            การกล่าวนิทานเรื่องขรัวตามาแทรกก็เพื่อให้ทราบว่า เรื่องความไม่ใคร่ครวญ คนไม่ใคร่ครวญพินิจพิจารณา คนแบบ “เถรตรง” ตรงเสียจนเซ่อนั้น ไม่ยังประโยชน์ใดๆ ให้เกิดขึ้น จึงควรถือเป็นคติตัวอย่างได้ดี

            ในวงปฏิบัติของเรานี้มีบ้างไหมที่ปีนขึ้นบนขื่อ มีซิ! มีแต่จำพวกที่คอยจะปีนขึ้นบนขื่อนั่นแหละเป็นส่วนมาก ไม่ไปกันละตามหลัก “มัชฌิมา” ตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ชอบปีนขึ้นบนขื่อกันแทบทั้งนั้น ท่านยกนิทานขรัวตาปีนขึ้นบนขื่อมาประกอบการแสดงธรรม น่าฟัง! เพราะขบขันดี “พวกบนขื่อ” ท่านว่าอย่างนั้น เป็นคติสำคัญน่าฟังมาก ฟังแล้วซึ้งใจ ทั้งอดหัวเราะอยู่ภายในไม่ได้ นี่ท่านพูดถึงเรื่องคนไม่ใช้ความคิด ไม่ใช้ความพินิจพิจารณาเหตุผลว่าควรไม่ควร เรียกว่า “เถรตรง” คำว่า “เถรตรง” นี้บางท่านก็จะไม่เข้าใจ นี่ท่านพูดถึงครูบาอาจารย์

            ท่านล้างบาตรและเช็ดบาตรแห้งแล้ว ท่านเอาปากบาตรคว่ำลง แล้วท่านส่องดูก้นบาตรท่าน ส่องให้ตรงกับตะวัน การส่องดูก้นบาตรตรงตะวันนั้น ท่านมีความหมายว่าบาตรนี้อาจมีก้นทะลุ เป็นช่องเป็นรูตรงไหนบ้าง ส่องออกไปที่แจ้งหรือส่องกับแสงพระอาทิตย์ มองออกไป ถ้ามีช่องทะลุก็จะมองเห็นชัดเจนตรงที่ทะลุนั้น แล้วก็จะได้อุดยาเสีย

            ทีนี้ลูกศิษย์ “เถรตรง” เห็นอาจารย์ส่องดูก้นบาตร ตนก็ทำตามบ้างโดยไม่ทราบเหตุผลความมุ่งหมายว่าท่านทำเพื่ออะไร เวลาถูกถามว่า “ทำเพื่ออะไรก็บอกแบบเถรตรงว่า “เห็นครูอาจารย์ท่านส่องเราก็เลยส่องบ้าง เพราะท่านขลังดี บางทีเราอาจขลัง” นี่ฟังซิ เรื่องบนขื่อขำดีไหม? ฟังได้ไหม ในวงผู้ปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรม ในคำที่ว่า “บางทีเราอาจขลังอย่างท่านบ้าง” ถ้าอย่างนี้ก็ปฏิบัติเพื่อ “ความขลัง” ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อ “ความหลุดพ้น” อย่างน้อยก็เพื่อความเป็นคนดีมีความสงบสุข

            ครูอาจารย์ผู้ฉลาดมีเหตุผล ท่านทำอะไรย่อมเป็นไปตามเหตุผลทุกอย่าง ไม่ได้ทำแบบลอยๆ เราผู้มาศึกษากับท่านควรพิจารณาด้วยดีในสิ่งที่ตนทำ ไม่สักแต่ว่าพูดว่าทำไปแบบสุ่มเดา เพราะความไม่สนใจดูตัวอย่างท่าน จึงเป็นราวกับทัพพีอยู่กับแกง ไม่รู้รสชาติของแกงว่า เปรี้ยวหวานเค็มประการใดบ้างเลย จึงหาความฉลาดรอบรู้อะไรไม่ได้ นอกจากแสวงหาความขลังไปแบบโลกๆ ที่ทำกัน

            การศึกษาขึ้นอยู่กับสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เป็นสำคัญ มิได้ขึ้นอยู่กับการกินอยู่หลับนอนในสำนักของท่านเฉยๆ โดยไม่สนใจกับอะไร การปฏิบัติธรรมของพวกเราทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เห็นท่านเดินจงกรมก็เดิน แต่ไม่มีสติสตัง มีแต่ความคิดผิดคิดเพลินเลินเล่อเผลอตัวยุ่งไปหมด พอออกจากทางจงกรม “แหม วันนี้จิตไม่เห็นมีความสงบบ้างเลย เราเดินจงกรมตั้งนานไม่เห็นได้เรื่องอะไรจะได้เรื่องอะไร้ เพราะไม่เอาเรื่องอรรถเรื่องธรรมเรื่องความสงบเป็นอารมณ์บ้างเลย เอาแต่เรื่องวุ่นวายมาพัวพันหั่นแหลกอยู่กับจิตตลอดเวลาในทางจงกรม

            จากนั้นก็มานั่งภาวนา พอนั่งก็ “เอาละ เท่านี้พอเวลานั่งก็นั่งคิดนั่งปรุงยุ่งเหยิงวุ่นวายแบบ “ตามรอยโคในคอก” นั่นแล แล้วก็มาตำหนิแบบลมๆ แล้งๆ ไปว่า “นั่งได้เท่านั้นนาทีเท่านี้นาที ไม่เห็นได้เรื่องอะไร นอนเสียดีกว่า” นั่น! ไปลงเอยที่หมอนนั่นแล เลยกลายเป็นที่ตัดสินกิเลสอยู่บนหมอนไปเสีย คำว่า “นอนเสียดีกว่า” นั้น แม้นอนก็ไม่ได้เรื่องอยู่นั่นแล เพราะคนไม่ได้เรื่องอยู่แล้ว ก็ได้แต่เรื่อง “หมอน” เท่านั้น น่ะซี ไม่ได้มรรคผลนิพพานอะไร จิตลง “ภวังค์หลวง” หลับครอกๆ จนตะวันส่องก้นก็ไม่ถอนขึ้นมา (ไม่ตื่นนอนนั่นเอง)

            อยู่ที่ใดไปที่ใดก็มีแต่กิเลสตามเหยียบย่ำทำลายอยู่ตลอดเวลา ที่จะได้เหยียบย่ำทำลายกิเลสบ้างไม่ปรากฏ เพราะสติสตังไม่มี ความจงใจไม่มี มีแต่กิเลสตามล่าอยู่ตลอดทุกอิริยาบถ เรามันพวก “กิเลสตามล่า’ จะว่ายังไง? ถ้าไม่ว่าอย่างนั้น

            เอ้า! พยายามตามล่ากิเลสนะ ทีนี้เป็นนายกิเลสเสียบ้าง ต้องฝืนกันบ้าง!  ทน และฝืนตรงนี้! จิตไม่อยากคิดไปในอรรถในธรรม เราต้องบังคับให้คิด ทำไมจะบังคับไม่ได้จิตเป็นของเรา เราเป็นเจ้าของจิต เราบังคับไม่ได้ ใครจะบังคับได้ล่ะ ถ้าจิตแหวกแนวแล้วจิตจะมีหลักแหล่งที่ตรงไหน ผลที่เกิดขึ้นจากการแหวกแนวจะเป็นอย่างไร เราต้องรับเคราะห์กรรมอยู่ดี ฉะนั้นเราต้องคิดต้องรู้ไว้ล่วงหน้า จึงเรียกว่า


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก