เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
มุ่งมั่นปั้นตัว
การประชุมอยู่เสมอไม่ขาดวรรคขาดตอนเรื่อยมา อยากจะพูดว่าตั้งแต่สร้างวัด เพราะเป็นปกติอย่างนั้นมา ยิ่งมีพระมาเกี่ยวข้องมากเท่าไร การให้โอวาทการอบรมสั่งสอนก็ปล่อยมือไม่ได้ แม้แต่มีอยู่เฉพาะสำนักที่เคยมีอยู่แล้วก็ยังต้องให้การอบรมเสมอ เมื่อเวลาว่างและเจ้าของอยู่ที่นี่ สุขภาพก็ดี ไม่เคยปล่อยวาง เพราะถือว่าการอบรมธรรมะทางด้านปฏิบัตินี้เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก ไม่ว่าครั้งพุทธกาลไม่ว่าสมัยนี้ ถ้าเป็นผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมด้วยการปฏิบัติ เพื่อรู้จริงเห็นจริงในธรรมแล้ว การรับโอวาทคำสั่งสอนหรือรับการอบรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อทุกรายไป ครูบาอาจารย์ผู้เป็นอรรถเป็นธรรมเราก็แน่ใจว่าท่านมองข้ามในแง่นี้ไม่ได้ อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเป็นต้น ให้การอบรมจนเฒ่าแก่ชราขนาดนั้นก็ยังไม่ปล่อยวางในการอบรมเลย เป็นแต่เพียงว่าห่างๆ ไปบ้างถ้ามีแต่พระที่อยู่กับท่าน ปกติท่านมีการประชุมอยู่เสมอ
ครั้งพุทธกาลอันดับแรกก็คือฟังพระโอวาทจากพระพุทธเจ้า ดังพุทธกิจ ๕ นั้นพระองค์รู้สึกจะไม่ค่อยได้ปล่อยวาง แต่ก็ไม่ถึงจะต้องเป็นทุกวัน เป็นแต่เพียงว่าพุทธกิจ ๕ คือเป็นภารกิจอันจำเป็นของพระพุทธเจ้า เช่นบ่าย ๓ โมง ๔ โมง ประทานโอวาทให้แก่ประชาชนทั่วๆ ไปนับแต่พระมหากษัตริย์ลงมา ตอนทุ่มสองทุ่มประทานพระโอวาทแก่ภิกษุบริษัท ๖ ทุ่มล่วงไปแล้วก็แก้ปัญหาและอบรมสั่งสอนเทวดา ปัจฉิมยามไปแล้วก็ทรงเล็งญาณดูสัตวโลก ผู้ใดจะมีอุปนิสัยสามารถอาจรู้ในธรรมทั้งหลายของพระองค์ได้อย่างรวดเร็ว แต่จะมีอันตรายต่อชีวิตเสียก่อนที่จะได้รู้เห็นธรรมหรือได้รับการอบรม ตอนเช้าพระองค์ก็เสด็จไปโปรดคนนั้นก่อน ตอนเช้าก็เสด็จออกบิณฑบาต นี่มี ๕ ประการ เรียกพุทธกิจของพระพุทธเจ้า
ท่านจะทรงพักผ่อนหรืองดเว้นบ้างบางกิจบางประการ ก็ตามพระอัธยาศัยของท่านเอง ไม่มีใครจะไปตั้งข้อบังคับให้ท่านได้ เพราะไม่มีผู้ใดที่จะรู้ความเหมาะสมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นองค์ศาสดาของโลก ด้วยเหตุนี้การมีพุทธกิจ ๕ จึงเป็นความเหมาะสมกับพระพุทธเจ้า ที่จะทรงดำเนินหรือปฏิบัติตามพุทธกิจให้ครบถ้วนหรือไม่ครบถ้วน ขาดตกบกพร่องประการใดย่อมเป็นไปตามกาลอันควร หรือเหตุผลที่ควรทั้งนั้น เฉพาะอย่างยิ่งการประทานพระโอวาทแก่ภิกษุนี้รู้สึกจะถือเป็นกิจจำเป็นอย่างยิ่ง กับการแก้ปัญหาเทวดา
ภิกษุในเวลาฟังจากพระพุทธเจ้าก็ฟังด้วยภาคปฏิบัติ และได้บรรลุธรรมต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากมาย เหตุที่จะได้บรรลุธรรมอย่างมากมายนั้น ก็เพราะว่ามีจำนวนมากด้วยกันบรรดาพระปฏิบัติที่สนใจต่อความจริงในธรรมทั้งหลาย ฟังก็ฟังด้วยความจดจ่อต่อเนื่อง ด้วยความเต็มอกเต็มใจเพื่อรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลาย เต็มสติกำลังของตนที่จะพึงรู้พึงเห็นได้ ด้วยเหตุนี้ถ้าเป็นภาชนะก็เรียกว่าภาชนะที่เปิดปากไว้แล้วอย่างเต็มที่ ตั้งรองรับอยู่ในที่เหมาะสมซึ่งน้ำจะไหลลงมา น้ำไหลลงมามากน้อยก็เข้าสู่ภาชนะที่หงายปากไว้แล้วด้วยดีนั้นโดยไม่ต้องสงสัย
ผู้ที่มีจิตเปิดเพื่อมรรคผลนิพพานอยู่แล้ว การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าซึ่งเต็มไปด้วยมรรคผลนิพพาน เหตุใดจะไม่เข้าภาชนะที่เหมาะสมแล้วอย่างนั้น ต้องเข้าได้อยู่โดยดีและเหมาะสมไปเรื่อยๆ ฟังครั้งนี้ได้เข้าใจในธรรมเงื่อนนี้ ฟังครั้งต่อไปได้เข้าใจในธรรมเงื่อนนั้น ผ่านเงื่อนนั้นไปได้โดยลำดับๆ เมื่อหลายรายต่อหลายรายด้วยกันก็เป็นจำนวนมาก ฟังคราวนี้องค์นั้นผ่านไปๆ หมายความว่าได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด ฟังขั้นนั้นองค์นั้นบรรลุธรรมขั้นนั้น องค์นั้นบรรลุธรรมขั้นนั้น องค์นั้นบรรลุธรรมขั้นสูงเป็นลำดับลำดา เมื่อมีจำนวนมากต่อมากก็ต้องได้บรรลุธรรมเป็นลำดับลำดาไปด้วยความผ่านไปโดยลำดับของการฟังแต่ละครั้ง
นี่เราเชื่อ แต่ก่อนก็ไม่ได้คิดอะไรมากนัก ตอนเมื่อได้ฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นนี้รู้ในตัวของเราเอง ขณะที่ฟังคราวนี้จิตมีความเปลี่ยนแปลงตัวเองเพราะการฟังของท่านได้อย่างนี้ๆ เรื่อยไปโดยลำดับๆ นี่เราหมายถึงพวกเรามันเป็นเหมือนเต่า เสือกคลานไปตามกำลังความสามารถ มันยังพอรู้ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของจิตใจในขณะที่ฟังธรรมแต่ละครั้งๆ นั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เหตุใดท่านผู้เป็นขิปปาภิญญาที่บรรลุธรรมได้เร็ว จะเป็นไปไม่ได้ดังที่มีไว้แล้วในตำรา
ตำราก็คือธรรมของพระพุทธเจ้า ออกมาจากความจริงคือองค์ศาสดาเป็นผู้ทรงดำเนินเป็นผู้แสดง เป็นประวัติมาแล้ว นำเรื่องความจริงนั้นออกมา ตำราก็ต้องเป็นความจริงโดยลำดับมา พวกอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เป็นพวกที่รวดเร็วต่อความรู้แจ้งแทงตลอด เป็นผู้เบาบางอยู่แล้ว พวกเนยยะก็คือผู้ควรแนะนำสั่งสอนได้ หลายครั้งหลายหนก็ค่อยเป็นผู้เป็นคนค่อยเห็นอรรถเห็นธรรมไปโดยลำดับ ๆ แล้วก็ผ่านพ้นไปได้
เพราะฉะนั้นการฟังการอบรมแต่ละครั้งๆ จึงเป็นภาคปฏิบัติอย่างเยี่ยมกว่าภาคปฏิบัติอื่นใดทั้งสิ้น ในข้อนี้ขึ้นอยู่กับผู้อบรมสั่งสอนด้วย หมายถึงผู้อบรมสั่งสอนเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงในธรรมทั้งหลาย จนเยี่ยมจริงๆ ก็คือขั้นสุดยอดแห่งธรรม ไม่มีข้อข้องใจไม่มีที่สงสัยอันใดในองค์ท่านผู้แสดงเองแล้ว ก็ยิ่งแสดงได้อย่างฉะฉานถูกต้องแม่นยำทุกสัดทุกส่วน ทุกขั้นแห่งภูมิของธรรมที่แสดงไปไม่มีสงสัย เมื่อผู้ฟังก็ได้รับรสอาหารอันเป็นที่เหมาะสมแก่ลิ้นแก่ปากแก่ท้องของตนแล้ว เหตุใดจะเบื่อในการรับธรรมทั้งหลายเล่า เพราะมาด้วยความหิวกระหายธรรมจากพระพุทธเจ้า มาด้วยความหิวกระหายธรรมจากครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเห็นจริง
การแสดงธรรมด้วยความรู้จริงเห็นจริง ย่อมเปิดความจริงให้เห็นอย่างชัดเจน แม้จะยังไม่รู้ไม่เข้าใจเป็นสมบัติของตนเอง แต่ก็เข้าใจในการแสดงหรือเนื้อธรรมของท่านเป็นลำดับๆ ไป คำว่าเข้าใจอันเป็นสมบัติของตัวเองได้แก่ตนเข้าใจตนรู้ได้จริงตามที่ท่านแสดงไปแล้ว เรารู้ในขณะนั้นไปด้วย นี่เรียกว่ารู้ในขณะฟัง เข้าใจไปตามขณะฟังเป็นอีกอย่างหนึ่ง รู้ในขณะฟังเป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นผิดกันอย่างนี้ คำว่ารู้นั้นเป็นผลแล้ว เป็นผลเกิดขึ้นจากการฟังแล้ว มากกว่านั้นก็เรียกว่าบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ไปเรื่อย ๆ
นี่ก็เป็นห่วงหมู่เพื่อนในการอบรมสั่งสอน เพราะเป็นผู้มุ่งหน้ามาประพฤติปฏิบัติแล้ว สละเป็นสละตายสละทุกสิ่งทุกอย่างมาเพื่ออรรถเพื่อธรรม ขอให้ได้ฟังเป็นที่พอใจและขอให้ได้ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เต็มสติกำลังความสามารถของตนทุกแง่ทุกมุม บรรดาที่อยู่ในวิสัยของตนจะทำได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีแก่ใจที่จะให้การอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อนเสมอเมื่อพอเป็นไปได้ในทางสุขภาพและโอกาสอำนวย
พระพุทธเจ้าท่านพร้อมทุกอย่างแล้ว นำธรรมะมาก็แสดงไว้ถ้าเป็นเชือกก็เรียกว่าสามเกลียว ฟั่นติดกันเอาไว้แล้ว คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ถ้าผู้ต้องการผลคือปฏิเวธธรรม ปริยัติกับปฏิบัติต้องกลมกลืนกันไป ดังครั้งพุทธกาลท่านปฏิบัติมาด้วยความกลมกลืนกันทางด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ ผลก็คือปฏิเวธธรรม รู้แจ้งแทงตลอดทั่วถึงไปหมดในธรรมทั้งหลาย เราเรียนจากท่านอย่างพระสาวกเรียนจากพระพุทธเจ้าก็ ในขณะที่สดับธรรมจากพระพุทธเจ้าก็เป็นการเรียนด้วย เป็นภาคปฏิบัติอยู่ในตัวนั้นด้วย ขณะที่บวชก็เรียนด้วย ตจปัญจกกรรมฐาน เป็นต้น เมื่อมีโอกาสอุปัชฌาย์อาจารย์ก็แสดงหรือพระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ทราบเรื่องกองธาตุกองขันธ์ รูปขันธ์เป็นสำคัญ
ในขั้นเริ่มแรกท่านจึงสอน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น ยังไม่สอนอย่างอื่นใด เพราะภูมิจิตขั้นธรรมดาสามัญเรานี้มันติดพันอยู่กับรูปขันธ์นี้เป็นสำคัญกว่าอย่างอื่น จึงต้องสอนตรงนี้ก่อนให้เข้าใจในสิ่งนี้ ในกรรมฐาน ๕ นั้นท่านยกมาเพียงเอกเทศเท่านั้น เพราะโอกาสอำนวยเพียงแค่นั้นในระยะบวชกุลบุตรทั้งหลาย แล้วก็แจงออกไปในเวลามีโอกาสถึงอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า นั่นฟังซิ หมดแล้วนี่ ล้วนแล้วแต่เป็นของจริงของจังทั้งนั้น เป็นสัจธรรมด้วยกันทั้งหมด
ผู้ตั้งใจจะพิจารณาตามสิ่งที่ท่านแสดงไว้นี้ ซึ่งมีอยู่ในตัวของเราอย่างสมบูรณ์แล้ว ย่อมจะทราบความจริงจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไปโดยลำดับ ด้วยความจริงใจของเราในการพิจารณา เบื้องต้นท่านสอนเพียงถึง ตโจ แล้วก็หยุด เพราะคำว่า ตโจ หมายถึงหนังหุ้มห่อของปฏิกูลโสโครกทั้งหลายไว้ทั้งมวล ปิดสิ่งโสมมไว้ เหมือนกับว่าหนังนี้เป็นของประดับหน้าร้าน ให้คนโง่เขลาทั้งหลายหลงงมงาย ติดอยู่ในสิ่งเหล่านี้แล้วพลอยติดไปหมดทั้งภายใน ท่านจึงสอนให้พิจารณา มาถึงนี้แล้วก็หยุด สอนเข้าไปภายในให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง
จิตเมื่อพิจารณาหลายครั้งหลายหน ก็เหมือนเราปัดกวาดลานวัดนี้เอง ทีแรกก็ตัดต้นไม้ดายหญ้าออก ความรกรุงรังอันเป็นส่วนหยาบได้กลายเป็นความเตียนโล่งขึ้นมา นอกจากความเตียนโล่งนั้นแล้ว สิ่งที่รกรุงรังถัดจากนั้นลงมามันยังมีส่วนละเอียด จึงต้องใช้ไม้กวาดปัดทุกวันๆ เมื่อถูกปัดทุกวันลานวัดก็ต้องเกลี้ยงเกลาไปตามๆ กัน การพิจารณาอยู่โดยสม่ำเสมอไม่หยุดไม่หย่อนก็ย่อมทราบความจริงไปโดยลำดับๆ จนซึ้งในความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ในรูปขันธ์นี้แล้วจิตใจก็หายกังวล หายสงสัย หายความยึดมั่นถือมั่น หายความรักความชังความเกลียดความโกรธในสิ่งเหล่านี้ไปได้ด้วยปัญญาอันชอบธรรม ท่านสอนอย่างนี้ ผู้พิจารณาตามที่ท่านสอนนี้แล้ว ทั้งในขณะที่ฟังท่าน ทั้งในเวลาที่บำเพ็ญโดยลำพังตนเอง ก็ปฏิบัติอยู่อย่างนั้นย่อมจะทราบได้โดยลำดับ หนีพ้นไปไม่ได้ เพราะการพิจารณาเป็นทางที่จะให้รู้ความจริงทั้งหลาย นับแต่ขั้นคับแคบถึงขั้นกว้างขวางลึกซึ้งจนหาประมาณไม่ได้ ไม่นอกเหนือไปจากการปฏิบัตินี้เลย
ด้วยเหตุนี้คำว่าปริยัติกับปฏิบัติ จึงเป็นธรรมกลมกลืนกันด้วยความจำเป็นที่จะแยกจากกันไม่ได้ ผู้ใดก็ตามแยกปริยัติออกไปเป็นอันหนึ่ง ให้เป็นเอกอยู่อันเดียวปริยัติ ผู้นั้นจะได้แต่ชื่อแต่เสียง ได้แต่ลมแต่แล้งเท่านั้น เนื้อไม่ได้ น้ำก็ไม่เจอ ถ้าไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวงปฏิบัติ เมื่อเรียนจำได้แล้ว วิธีการของการเรียนแล้วสอนวิธีการปฏิบัติ ก็มาปฏิบัติ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้รู้ว่านี้คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นะ ให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เข้าถึงความจริงของมันแต่ละอย่าง ๆ ความจริงของมันประกาศตัวเองอยู่โดยหลักของธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร
ปัญญาสอดแทรกเข้าไป คลี่คลายเข้าไปมีสติเป็นเครื่องควบคุมสอดส่อง มองไปทั่วสรรพางค์ร่างกาย จิตใจย่อมซึมซาบไปตามสิ่งที่ตนพิจารณา นอกจากนั้นยังซึ้งเข้าไปถึงภายในซึ่งนอกจากหนังเข้าไปแล้วอีกประมาณไม่ได้ จนเกิดความสลดสังเวช นั่นแหละท่านว่าเห็นจริง เห็นด้วยตาเราก็เห็นเห็นกายนี้ โลกทั้งหลายเห็นด้วยตานี้ทั้งนั้น เมื่อเห็นด้วยตาแล้วมันติด เห็นด้วยใจเห็นด้วยปัญญาแล้วมันปล่อย มันผิดกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาทางภาคปฏิบัติ ให้ได้รู้จริงเห็นจริงของสิ่งเหล่านี้
พระพุทธเจ้าพระสงฆ์สาวกท่านวิเศษ ท่านพ้นโลกไปเพราะทำงานประเภทใด ถ้าไม่ใช่งานประเภทนี้คือการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ ท่านรู้ด้วยวิธีการใดก็ต้องนำวิธีการนั้นมาสอนสัตว์โลกได้ปฏิบัติตามเรื่อยมาจนบัดนี้ ไม่มีคำว่าจืดจางไม่มีคำว่าล้าสมัย เป็นความเหมาะสมกับการแก้สิ่งผูกพันหรือความลุ่มหลงของตนได้เป็นอย่างดีโดยลำดับลำดาไป จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายสลัดเกลี้ยงไม่มีเหลือ กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้นขึ้นมาภายในจิตใจ ก็เพราะการพิจารณาดังที่กล่าวมานี้เป็นลำดับลำดาไป
เพียงรูปขันธ์เท่านี้ก็เป็นต้นทุนอันดีแล้ว การพิจารณาให้จิตใจได้เห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนใจก็สงบ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปกับอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับรูป เสียง เสียงก็มาจากรูปนั่นเอง รูปก็คือตัวรูปหญิงรูปชายนั่นแหละจะเป็นรูปอะไร กลิ่นก็คือตัวนั้นแหละ มาจากนั้นแหละ รส เครื่องสัมผัสก็มาจากอันนั้นเอง มาจากรูปอันนั้นแหละ เมื่อพิจารณาเข้าไปชัดเจนแล้วก็จะไปหลงเสียงหลงกลิ่นหลงรสที่ไหน เพราะเห็นรูปนี้ชัดเจนประจักษ์ตนแล้ว ว่ารูปนี้ฉันใดรูปนั้นก็ฉันนั้น เสียงมันออกไปจากรูปนี้ก็คือรูปเช่นนี้แล้ว เสียงก็คือเสียงเช่นนั้นแหละ ไม่นอกเหนือไปจากรูปนี้เลย มันก็เห็นชัดตามความเป็นจริงเหมือนกัน รส กลิ่น สัมผัสมันก็เป็นเรื่องของรูปอันนี้เอง เมื่อรู้อันนี้แล้วสิ่งเหล่านั้นก็ผ่านไปได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นธรรมเกี่ยวโยงกัน
เมื่อจิตได้พิจารณาอยู่เช่นนี้ จิตย่อมไม่เพลิดไม่เพลิน ความเพลิดเพลินของจิตเพราะการไม่เห็นรูปขันธ์ของตัวตามหลักความจริง ย่อมเป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล เพลิดเพลินไปมากน้อยก็เหมือนกับไปกว้านหาฟืนมาเผาตัวเองด้วยไฟราคะเป็นต้นนั่นแล พิจารณาได้มากน้อยเพียงไรก็เหมือนกับพรากฟืนออกจากไฟโดยลำดับลำดา
เมื่อจิตได้รับความสงบ เพราะอำนาจของปัญญาพิจารณาคลี่คลายความจริงที่มีอยู่แล้ว ปัญญาไม่อยู่เพียงขั้นนั้นเท่านั้น แม้แต่ในขณะที่พิจารณารูปขันธ์ยังสามารถจะพิจารณาในเวทนาขันธ์ซึ่งเกิดขึ้นในร่างกายส่วนต่างๆ ตลอดถึงจิตใจของตนเองได้เป็นระยะๆ ไป ในขณะที่เรากำลังพิจารณาขันธ์อยู่นั่นแล มันยังมีแยกส่วนแบ่งส่วนที่จะเอาไปพิจารณาอีกเหมือนกัน จะแยกไปไหนก็ไปได้เพราะเป็นสัจธรรมด้วยกัน รูปขันธ์ก็เป็นสัจธรรม เวทนาขันธ์มีทุกขเวทนาเป็นต้นก็เป็นสัจธรรมด้วยกัน มันอยู่ด้วยกัน สติปัญญาย่อมสามารถพิจารณาแยกแยะออกไป เพื่อเอาความเฉลียวฉลาดจากสัจธรรมทั้งหลายเหล่านี้ซึ่งเป็นหินลับปัญญา ให้มีความแกล้วกล้าสามารถได้โดยลำดับได้เช่นเดียวกันหมด
นี่ละวิธีปฏิบัติงานของพระเรา เพื่อเห็นผลของงานคือความรู้แจ้งแทงทะลุไปโดยลำดับ ปล่อยความกังวลวุ่นวาย ซึ่งผูกมัดจิตใจมานับกี่กัปกี่กัลป์ไม่ถ้วนให้ออกไปได้โดยลำดับ ด้วยงานที่ทำนี้แล เป็นงานที่เหมาะสมถูกต้องอย่างยิ่งแล้วกับพระเรา ผู้ที่หวังความพ้นทุกข์ไม่หวังมาเกิดตายอยู่ในป่าช้าแห่งวัฏจักรนี้อีกต่อไป จึงควรมีความเข้มแข็งสนใจใคร่ต่องานของตน อย่าเห็นงานอื่นใดความคิดอื่นใดที่เคยคิดมาแล้วนั้น ว่าเป็นของวิเศษวิโสยิ่งกว่าความคิดในงานของเราเพื่อความถอดถอนกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งหลายมีรูปขันธ์เป็นต้น ให้มีความหนักแน่นอยู่ในงานนี้เท่านั้น
จิตเป็นศูนย์กลาง ธรรมกับกิเลสอาศัยอยู่กับจิตเป็นคู่แข่งจึงรบรากันอยู่เสมอ ขณะจิตใดที่เป็นไปเพื่อความฟุ้งเฟ้อผลักดันออกไปอยากคิดอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อธรรม ให้พึงทราบว่านั้นคือกิเลสรบกับธรรม กำลังเหยียบย่ำทำลายธรรม ให้นำสติปัญญาเข้าหักห้ามสกัดลัดกั้น แล้วก็นำมาคลี่คลายดูความคิดอันนี้ที่ไปคิดกับเรื่องอันใด แง่ใดรูปใดเสียงใด ให้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนดังที่อธิบายมานี้ นี่เรียกว่าเป็นการต่อสู้กัน
หนักเท่าไรก็ตาม ฝืน ต้องฝืน นักปฏิบัติเหมือนผู้ทำงาน ร้อนก็ต้องยอมรับ หนักก็ยอมรับ เบายอมรับ หนาวก็ยอมรับเพราะทำงาน อยู่เฉย ๆ ก็ไม่เห็นมีความสุขอะไรนัก เราเคยอยู่เฉย ๆ แล้ว นั่งไปนาน ๆ มันก็เจ็บแข้งปวดขาปวดนั้นปวดนี้ได้เหมือนกัน จิตมันอยู่เฉยได้เมื่อไร มันกว้านหาแต่ขวากแต่หนามมาทิ่มแทงตัวเองอยู่ตลอดเวลา กว้านหาแต่ฟืนแต่ไฟมาเผาลนตัวเอง ไม่มีใครแหละจะเป็นตัวเหตุตัวการอันสำคัญยิ่งกว่าจิตดวงนี้ที่ถูกกิเลสผลักดันออกไป บังคับออกไปให้คิดนอกลู่นอกทางแห่งธรรมะ แล้วกว้านเอาสิ่งที่เป็นพิษเข้ามาเผาลนตนเอง ไม่มีสิ่งใดเหนือกิเลสไปได้เลย
เพราะฉะนั้นการรบกับกิเลสต่อสู้กับกิเลสด้วยธรรมะ จึงต้องมีความเข้มแข็งสำหรับผู้เป็นนักรบ เพื่อชัยชนะในสงครามได้แก่ระหว่างเรากับกิเลส ระหว่างธรรมกับกิเลส ซึ่งมีอยู่ในใจดวงเดียวนี้ ให้ชนะกิเลสไปได้โดยสิ้นเชิง ต้องอาศัยความอดความทน คำว่าขันติพระพุทธเจ้าทรงใช้มาแล้ว ได้ผลเป็นที่พอพระทัยแล้ว พระสาวกทั้งหลายได้เคยใช้มาแล้วเป็นที่พอใจ ผลเป็นที่พอใจคือสำเร็จลุล่วงไปด้วยความอดความทนความพากความเพียร วิริยะคือความพากเพียร ขันติคือความอด อดต่อดินฟ้าอากาศ อดทนต่อความหิวกระหายต่างๆ อดทนต่ออำนาจของกิเลสที่มันผลักดันหรือมันกดขี่บังคับเรา แล้วต่อสู้มันด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรของเราไม่ลดละ นี่ชื่อว่าผู้เห็นธรรมอันเลิศเป็นของเลิศยิ่งกว่ากิเลส จึงต้องต่อสู้อย่างนั้น
สติปัญญาพระพุทธเจ้าและสาวกได้ทรงดำเนินมาแล้ว ได้ผลเป็นที่พอพระทัย พวกเราจงนำธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้มาเป็นเครื่องกำกับตน มาเป็นเครื่องศาสตราอาวุธ มาเป็นเสบียงเครื่องอุดหนุนเรา จะได้ทำหน้าที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ลดละท้อถอย ตายไหนก็ตายเถอะคนมีความเพียร คนอยู่ด้วยธรรมะ ตายก็คือคนที่มีธรรมะตายนั้นแล คือนักต่อสู้ตาย ถึงจะไม่ได้ทำอะไรโลกนี้ก็คือโลกแห่งป่าช้าอยู่แล้วทุกตัวคน ไม่มีใครที่จะผ่านป่าช้าไปโดยที่ไม่ต้องตายเหมือนโลกทั่วๆ ไปได้แม้แต่เรา คนที่เขาไม่ได้เคยภาวนา ไม่เคยต่อสู้กับกิเลสเหมือนเรา เขาก็ได้รับความทุกข์ลำบากลำบนเช่นเดียวกับเรา เหตุใดเราต่อสู้กับกิเลสด้วยความพากเพียร เพื่อยกตนให้พ้นจากกองทุกข์เอาชัยชนะเข้ามาสู่ตน เป็นเลิศในจิตใจนี้ ทำไมเราจะท้อถอย เราต้องคิดหลายแง่หลายทางสำหรับนักปฏิบัติ เพื่อความฉลาดให้ทันกับกลมายาของกิเลสต้องใช้สติปัญญาหลายสันพันคม ไม่อย่างนั้นไม่ทันกัน
อุบายของสติปัญญานั้นคิดได้อ่านได้ผลิตขึ้นมาได้ สำหรับผู้ที่ชอบใคร่ครวญ นอกจากจะนอนจมอยู่เฉยๆ ไม่คิด จนกระทั่งวันตายหาสติปัญญาไม่เจอ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนคนให้เป็นแบบหมูนอนคอยเขียงอยู่เฉยๆ เพลิดเพลินในแกลบในรำอาหารต่างๆ โดยไม่คำนึงว่าตนจะถูกยกขึ้นเขียงสับยำเมื่อไร เข้าหม้อต้มหม้อแกงเขาเมื่อไรไม่คำนึง อย่างนั้นเป็นลักษณะของหมู เราไม่ใช่บวชมาเพื่อความเป็นหมู บวชมาเป็นศิษย์ตถาคตเพื่อเป็นนักปราชญ์ฉลาดแหลมคมต่อกิเลสทั้งหลาย ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปด้วยความพากเพียร สติปัญญาของเรา แล้วเอาชัยชนะขึ้นมาจากกิเลส
เมื่อกิเลสหมอบราบลงไปแล้วชัยชนะจะเป็นของใครถ้าไม่เป็นของเรา เอา ทุกข์ก็ทุกข์ไป เราเคยทุกข์มาแล้วตั้งแต่วันเกิดอยู่แล้วไม่สงสัย เรื่องทุกข์นี้มีด้วยกันทุกคน ทุกข์ในแง่ต่าง ๆ มีทั้งนั้น เหตุใดเราจะมาเพ่งเล็งเฉพาะเรื่องความทุกข์ในความเพียรนี้ว่าจะไปไม่ไหวเป็นไปได้เหรอ ความจริงไม่อำนวย ความทุกข์ทุกข์เหมือนกัน นี่ทุกข์เพราะความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ ยิ่งเป็นทุกข์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับหน้าที่การงานของเรา ทุกข์ของจอมปราชญ์ต้องทุกข์ในสิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์
พระพุทธเจ้าเราเป็นจอมปราชญ์ เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตผู้เป็นจอมปราชญ์ ก็ต้องให้ทุกข์ด้วยความฉลาดแหลมคมของตนเอง ในการต่อสู้กับกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่างๆ ด้วยสติปัญญาอันแหลมคมของเรา ทุกข์ก็ยอมทุกข์ ตายก็ยอมตาย ป่าช้ามีถมไปเราไม่ต้องหมายป่าช้า หมายตั้งแต่ความมุ่งมั่นปั้นตัวให้ถึงยอดแห่งธรรมเท่านั้น คือหลุดพ้นไปโดยถ่ายเดียวเพราะอำนาจแห่งความเพียร นี่เป็นสิ่งที่หากพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่แสดงด้วยพระวาจาได้ ก็จะแสดงความอนุโมทนากับนักปฏิบัติประเภทนี้ ถึงพระองค์จะปรินิพพานไปแล้วก็ตาม ศาสนธรรมก็คือองค์ศาสดาอยู่แล้วโดยดี
ธรรมชมเชยผู้มีความพากเพียร ผู้มีความขยันความอดความทน ความอุตส่าห์พยายาม ความเห็นแก่อรรถแก่ธรรมไม่เห็นแก่กิเลส อันใดที่เป็นเรื่องของกิเลสให้พยายามฝืนเสมออย่าคล้อยตามเป็นอันขาด ถ้าคล้อยตามแล้วก็เรียกว่ายอมจำนนมัน แล้วมันจะเหยียบย่ำทำลายตลอดไป ไม่มีทางที่กิเลสจะถอยตัวเมื่อเรายอมจำนนมัน มันจะต้องเหยียบย่ำทำลายหนักมือเข้าทุกที ๆ จนกระทั่งถึงปราชัยขั้นแหลกเหลวไปใช้การอะไรไม่ได้เลย ต้องต่อสู้ นี่ท่านว่าปฏิบัติ ปริยัติเราได้เรียนมาแล้วทุก ๆ องค์ไม่เป็นที่สงสัย ยังมีอยู่ปฏิบัติยังไม่สมบูรณ์ตรงไหนก็ให้พยายามซ่อมแซม และพยายามเข้มแข็งขึ้น
ทางสมาธิคือความสงบใจยังไม่มี เอาบังคับจิต จิตสงบไม่ได้เพราะจิตฟุ้งเฟ้อ ปล่อยตามอำเภอใจของกิเลสพาให้เป็นไป สติปัญญามีบังคับให้เข้าอยู่กับตัว เอ้า ตายก็ตาย จะให้อยู่กับธรรมบทใด ดังผู้ที่เริ่มฝึกหัดเอาจริงเอาจังอยู่กับธรรมบทนั้น ให้รู้อยู่กับธรรมบทนั้นเท่านั้น ในโลกธาตุนี้เหมือนไม่มีอะไรเลย มีเฉพาะคำบริกรรมกับความรู้ที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ โดยความมีสติกำกับรักษาอยู่เท่านั้น ทำไมจะหาความสงบไม่ได้ ต้องสงบในจุดนี้แน่นอนไม่สงสัย เราเองที่แสดงนี้เราก็ไม่สงสัยเพราะเราเคยทำอย่างนี้อยู่แล้วตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกมา
บังคับจนเอาเป็นเอาตายจริงๆ ไม่ยอมให้มันคลาดเคลื่อนไปไหน มีแต่ความรู้อยู่กับคำบริกรรม ตั้งหน้าตั้งตาเหมือนคนจะตกเหวตกบ่อระมัดระวังตัว หรือเดินข้ามน้ำสะพานไม้ลำเดียวนั่นละ ระมัดระวังอย่างเต็มที่ กลัวจะตกลงไปในห้วยในคลอง จนผ่านไปได้ สติระมัดระวังในเวลานี้ต้องเป็นอย่างนั้น เอาให้จริงให้จัง แล้วจิตจะต้องถึงความสงบได้ในขณะนั้นโดยไม่ต้องสงสัย จะไปไหน ความสงบไม่ได้ก็เพราะกิเลสฉุดลากไป เราไม่บังคับจิตใจของเราให้ควรแก่การสงบได้มันจะสงบได้อย่างไร
ปัญญาก็ให้ฝึกหัดใช้ อย่าถึงขั้นนั้น สมาธิขั้นนั้นขั้นนี้ถึงจะใช้ปัญญา มีความกลมกลืนกันไปนั่นเอง วาระที่ควรจะพิจารณาทางด้านปัญญาเอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย พิจารณาคลี่คลายดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ทั้งภายนอกทั้งภายในเทียบเคียงกันได้ทุกสัดทุกส่วน เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หาที่ปลงที่วางความไว้วางใจได้ที่ตรงไหน โลกใดก็ตามถ้าเต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา โลกนั้นก็คือโลกแห่งกองทุกข์นั่นแหละ ถ้าได้รู้แจ้งเห็นจริงใน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เสียทุกชิ้นทุกส่วน แม้จะอยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์ที่เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จิตก็ไม่เป็นทุกข์ สุดท้ายก็มาขึ้นอยู่กับจิตตัวโง่ตัวฉลาดนี้แล เพราะฉะนั้นจงฝึกจิตให้มีความเฉลียวฉลาด ทันกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตนอยู่เสมอนี้ให้ทันท่วงที ในเวลาที่เป็นกาลอันควรอยู่นี้
การที่เราอยู่ด้วยกันก็เป็นของไม่แน่นอน เดี๋ยวพลัดพรากจากไปทั้งท่านทั้งเรามันหากเป็นอยู่อย่างนี้ ในขณะที่ควรได้ยินได้ฟังในเวลาที่เราจะพึงประพฤติปฏิบัตินี้อย่าให้พลาดโอกาสไปเสีย เหลือแต่โมฆะสิ่งไม่เป็นประโยชน์ภายในจิตใจและตัวของเราเองไม่สมควรอย่างยิ่ง
เราอย่าคาดมรรคผลนิพพานไม่นอกเหนือไปจากจิตดวงนี้เลย เราพูดยืนยันได้อย่างเต็มปากแต่ไม่ใช่อวด เราพูดตามหลักความจริงที่ได้ปฏิบัติมาเต็มสติกำลังความสามารถ เมื่อรู้จะรู้ที่ไหนถ้าไม่รู้ที่นี่ เพราะกิเลสมันมีอยู่ที่นี่ ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงที่นี่ จิตนั่นแหละตัวดื้อตัวคะนองเพราะกิเลสพาให้ดื้อพาให้คะนอง ไม่ใช่อะไรพาให้คะนองนะ กิเลสต่างหากพาให้ดื้อด้านหาญสู้ธรรมไม่หยุดไม่ถอย เพราะฉะนั้นธรรมที่เรียนมาปฏิบัติมา ก็เพื่อจะปราบปรามกิเลสอันเป็นตัวข้าศึกสำคัญ ก่อกวนอยู่ตลอดเวลาภายในใจนี้ให้มันหมอบราบลงไป อย่างน้อยเป็นความสงบ เรียกว่าสมาธิก็ยังดี
ปัญญาให้คลี่คลายออกไป พินิจพิจารณากว้างแคบลึกตื้นหยาบละเอียด ไม่สำคัญ สำคัญแห่งความเหมาะสมของสติปัญญาที่จะก้าวไปในขณะนั้น จะพิจารณาในขณะนั้น ให้รู้แจ้งเห็นจริงไปโดยลำดับลำดาในแง่ใดก็ตาม ให้พิจารณาจนเข้าใจ เทียบเคียงให้ได้ทุกสัดทุกส่วน มันเกี่ยวโยงกันทั้งหมดระหว่างขันธ์กับจิต ระหว่างข้างนอกกับข้างใน มันเกี่ยวโยงกันอยู่เช่นนี้
จิตดวงเดียวนี้แหละเป็นตัวการสำคัญ เหตุที่จิตจะเป็นตัวการสำคัญ ก็เพราะกิเลสที่ฝังอยู่ในจิตนี้เป็นตัวการอันสำคัญ บังคับจิตใจให้เป็นไปตามตนได้ตลอดมา นี่เราจะเอาธรรมให้เหนือกิเลส บังคับกิเลส ขับไล่กิเลสออกจากใจ ด้วยการพินิจพิจารณาประโยคแห่งการพยายามของเรา ที่เรียกว่าความเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อสติปัญญามีกำลังสามารถโดยลำดับ ๆ แล้ว ผลจะเห็นไปโดยลำดับ ๆ ไม่สงสัย ไม่ถามใคร เพราะความจริงมีอยู่กับทุกคน เป็นแต่เพียงว่าไม่รู้ความจริงก็ต้องถาม เมื่อเข้าถึงความจริงแล้วจะถามใคร เพราะมันเด่นอยู่แล้วนี่ความจริง เอาให้จริงให้จัง
รูปน่ะสำคัญ รูปกายเป็นของสำคัญ ที่จะรื้อกำแพงเข้าไปสู่ตัวเมืองได้ ทำลายข้าศึกได้ สำคัญกำแพงมันขวางกั้นอยู่ คือ ตโจ เป็นต้น นี่ละกำแพงอันสำคัญ หนาไม่เท่าใบลานเลย แต่เมื่อเทียบแล้วหนายิ่งกว่ากำแพงเจ็ดชั้น สติปัญญาแทงไม่ทะลุ ตาฝ้าตาฟางไปหมด ทั้งโลกนี่มองไม่ทะลุเลยหนังบาง ๆ นี่ นอกจากปัญญาเท่านั้นจะแทงทะลุไปหมด หนายิ่งกว่านี้ก็ทะลุ
พระพุทธเจ้าท่านใช้ปัญญา ปัญญาวุธ แทงทะลุหมดกี่ชั้นก็ตาม ทะลุไปหมดไม่ว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ละเอียดขนาดไหน เวทนาขันธ์ทั้งจิตเวทนา ทั้งกายเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ มีด้วยกัน แทงทะลุไปหมด สัญญา สังขาร วิญญาณ แทงทะลุไปหมด ปล่อยวางได้หมด กิเลสสิงอยู่ในจิตมีจำนวนมากน้อย รวมตัวเข้าไป เพราะไม่มีที่เกาะไม่มีที่อาศัย ตัดสะพานกันหมดแล้วด้วยอำนาจของสติปัญญา ก็ถูกทำลายไปด้วยกัน จนแหลกละเอียดไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว จิตดวงนั้นจะคะนองได้ยังไง หมดความคะนอง เป็นอิสระเต็มที่
ตั้งแต่บัดนั้นข้าศึกที่เรารบมาอย่างชุลมุนวุ่นวาย แทบเป็นแทบตาย บางครั้งเหมือนจะไม่มีชีวิตสืบต่อกันไปเลย ก็เป็นอันว่ายุติกันลงหมดโดยสิ้นเชิง ไม่มีข้าศึกใดที่จะเกิดขึ้นอีกได้แล้ว นับตั้งแต่ขณะที่กิเลสอวิชชามันถูกทำลายสลายลงไปจากใจเท่านั้น นั้นแหละคือผลแห่งงานที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยความภาคภูมิใจอย่างเต็มที่ในชีวิตของนักบวชเรา
ในงานแห่งนักบวชเราคือผลแห่งความหลุดพ้นนั้นแล เป็นสิ่งที่แสดงอย่างอัศจรรย์ให้เห็นอย่างชัดเจน ตั้งแต่บัดนั้นไปไม่มีกิเลสตัวใดจะมาให้ฆ่าอีกแล้ว ทำความเพียรเพื่อฆ่ากิเลสตัวใดไม่มี แม้ท่านจะเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาตลอดวันท่านนิพพาน ท่านก็ทำตามคติที่เราเคยพูด นักปราชญ์ไม่อิ่มธรรม ว่าอย่างนั้น ความจริงก็ท่านพิจารณาไปเพื่อเป็นวิหารธรรม ระหว่างขันธ์กับจิตจะอยู่ด้วยกันด้วยความผาสุกถึงอายุขัย จะเป็นความสะดวกสบายต่อกันเท่านั้น ไม่มีเจตนาอันใดที่จะทำลายกิเลสตัวนั้น เพื่อทำลายกิเลสตัวนี้ เพราะมันสิ้นซากไปหมดแล้ว เหลือแต่ขันธ์ที่ดิ้นดุบดิบ ๆ เท่านั้น
นั่นละถึงได้เห็นชัดที่นี่เรื่องของขันธ์นี้ปราศจากเจ้าของ แต่ก่อนกิเลสเป็นเจ้าของ เพราะขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นสมมุติ กิเลสเป็นสมมุติ เมื่อกิเลสตายลงไปแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นสมมุติยังครองตัวอยู่ เราจะเห็นได้ชัดที่นี่จิตก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์แล้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์นี้แล้ว กิเลสก็ราบไปหมดแล้ว จิตก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ยิ่งได้เห็นเรื่องของขันธ์มันดิ้นดุบดิบ ๆ อยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน มีแต่เรื่องของขันธ์ทั้งนั้น ไม่มีความหมายนะมันหากดิ้นของมันอย่างนั้นแหละ มันเองก็ไม่มีความหมายในตัวของมันเอง และไม่มีความหมายกับสิ่งใด มันหากดิ้นของมันดุบดิบ ๆ อยู่แบบนั้น จนกระทั่งถึงวันสลายตัวโน่นแหละ นี่จึงรู้ได้ชัด ถ้ากิเลสไม่หมดเสียจริง ๆ รู้มันไม่ชัด เอาให้เห็นชัด ๆ อย่างนี้ซิ
ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล เป็นต้น อันนี้มีไปตลอดจนถึงวันสิ้นชีพวายชนม์ คือวันมันสลาย ขันธ์นี่สลาย เป็นแต่เพียงว่าไม่มีความกังวล ความผูกพัน มีแต่ความรับผิดชอบอย่างเดียวเท่านั้น ความยึดมั่นถือมั่นไม่มี หากเป็นภาระกับมันอยู่ตลอดไป พายืนพาเดินพานั่งพานอนพาขับพาถ่ายพากินอยู่มีแต่เรื่องปฏิบัติต่อขันธ์ ทั้ง ๆ ที่จิตดวงที่บริสุทธิ์แล้วนั้น ไม่ได้หวังเอาอะไรจากสิ่งนี้เลยขณะที่ยังครองตัวอยู่ แม้ดับไปแล้วก็ไม่หวังเอาอะไรแหละจิตดวงนั้น จึงเรียกว่าจิตพอตัว
นี่เห็นได้ชัดเรื่องของขันธ์ที่มันดิ้นดุบดิบ ๆ ยิ่งขันธ์ที่เต็มไปด้วยกิเลสเป็นผู้บัญชางานด้วยแล้ว โอ้โห ทั้งวันทั้งคืนเราอยู่กับอะไรถ้าไม่อยู่กับเรื่องหลงขันธ์ เอ้า พูดง่าย ๆ อย่างนี้แหละ สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์นี้ตัวสำคัญมากทีเดียว มันดิ้นไปดิ้นมา พยายามเอาให้ทันมัน ฆ่าเจ้าของมันให้ได้แล้วจะถึงหนองอ้อที่กล่าวมาแล้วนี้ หนองอ้อคือในท่ามกลางแห่งขันธ์ตรงนั้นน่ะ ตรงผู้รู้ ๆ ที่บริสุทธิ์หมดจดเต็มที่แล้วนั้นแลคือหนองอ้ออันประเสริฐ ขอให้ทุกท่านฟังให้ถึงใจ ปฏิบัติให้ถึงธรรม ธรรมจะเป็นของท่านทั้งหลาย
ธรรมในคัมภีร์ใบลานกล่าวไว้มากมายก่ายกอง จะมารวมอยู่ที่จิตดวงนี้ทั้งนั้น หาที่ค้านพระพุทธเจ้าไม่ได้ หาที่ค้านธรรมในตำราไม่ได้ เพราะตำราเป็นของจริงออกไปจากใจ ชี้ความจริงเข้ามาสู่ใจ ใจเมื่อได้รู้จริงเห็นจริงแล้วค้านได้ยังไง กราบอย่างหมอบราบทีเดียว กราบธรรมทั้งหลาย
เอาแค่นี้ละ
|