ฝึกจิตให้มีคุณค่า
วันที่ 13 ตุลาคม 2521 เวลา 19:00 น. ความยาว 34.09 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑

ฝึกจิตให้มีคุณค่า

 

        รูปสัมผัสตา เสียงสัมผัสหู กลิ่นสัมผัสจมูก รสสัมผัสลิ้น เย็นร้อนอ่อนแข็งสัมผัสกาย แล้วก็นำสิ่งเหล่านี้ไปเป็นอารมณ์ของใจที่เรียกว่าธรรมารมณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่จะให้กิเลสแสดงตัวออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน จนเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เพราะรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสหรืออารมณ์กับสิ่งนั้น ๆ เกิดขึ้นจากสิ่งที่เคยสัมผัสสัมพันธ์เป็นอดีตล่วงไปแล้วนั่นแหละเข้ามาฝังอยู่ภายในจิตใจ ทำให้ครุ่นคิดตั้งแต่เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะ ผูกมัดตัวเองเข้าไปเรื่อย ๆ จนหาทางแก้ไขไม่ได้

        ผู้ปฏิบัติจึงต้องสังเกตเรื่องของจิต ในขณะที่มีสิ่งต่าง ๆ เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ จะเป็นทางรูป เสียง กลิ่น รส ทางใดก็ตามต้องจดจ้องอยู่ที่จิต การแสดงอากัปกิริยาต่าง ๆ ไปตามเหตุการณ์ที่มาเกี่ยวข้อง จะปรากฏขึ้นที่จิต มีสติเป็นผู้คอยจดจ้องมองดู ให้ทราบว่าดีชั่วผิดถูกประการใด มีปัญญาเป็นเครื่องใคร่ครวญพินิจพิจารณาแยกแยะกันออกหรือตัดกันออกในสิ่งที่เห็นว่าไม่ดี นี่เราตามปฏิบัติตัวเองตามรักษาตัวเอง รักษาอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้อยู่ทุกอิริยาบถ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้รักษาตัวด้วยดี

        นี่ได้ปฏิบัติมานานผ่านมาพอสมควร พอรู้เรื่องรู้ราวสิ่งเหล่านี้ทั้งโทษทั้งคุณ ไม่มีสิ่งใดที่จะเหนียวแน่นยิ่งกว่ากิเลสที่ฝังจมอยู่ภายในใจ เพราะฉะนั้นงานอันนี้จึงต้องทุ่มเทกำลังลงไปเต็มที่เต็มฐาน ถึงกับต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็มีในบางครั้ง ถ้าไม่เช่นนั้นก็หาความชนะไม่ได้ เข้าอกเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการไม่ได้ จึงต้องอาศัยความหนักเบาทุ่มเทกันลงในบางกาลบางเวลา ถ้าจิตใจกำลังผาดโผนโลดเต้น นั่นยิ่งเป็นเวลาที่เราจะต้องฝึกทรมานกันอย่างหนัก เราอย่าออมกำลังอย่าสงวนกำลังไว้ ซึ่งเป็นการโอนอ่อนต่อเรื่องของกิเลส

        ต้องเข้มแข็ง เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ขึ้นชื่อว่าโทษแล้วจะไม่เป็นคุณแต่อย่างใดเลย นี่ก็คือว่าขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว จะทำคุณประโยชน์ให้เราไม่ได้ จะมีแต่เสี้ยนแต่หนามทิ่มแทงขึ้นมา เพราะฉะนั้นแม้จะรักจะชอบจะพอใจขนาดไหน ก็ต้องฝืนจิตฝืนใจต่อสู้ แยกแยะกันออกเต็มสติกำลังความสามารถ ด้วยสติปัญญาของตนที่มีอยู่ สติปัญญาที่ยังไม่มีก็ให้พยายามฝึกหัด พยายามบำรุง พยายามคิดค้นให้แตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ

        คำว่าปัญญา ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเองโดยที่เจ้าตัวไม่คิดค้นไตร่ตรอง หรือไม่มีเหตุมาสัมผัสมากระทบกระเทือนจิตใจเลย ต้องอาศัยเหตุมากระทบกระเทือนจิตใจหนึ่ง อาศัยการคิดค้นกับหาเหตุหาผลหนึ่ง ปัญญาเกิดขึ้นได้  เมื่อได้ใช้อยู่เสมอก็ย่อมมีทางเจริญก้าวหน้าและแตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ เหมือนกับต้นไม้ถ้าได้บำรุงลำต้นอยู่เสมอ เมื่อปรากฏต้นขึ้นมาแล้ว กิ่งก้านสาขาดอกผลก็ปรากฏขึ้นเอง ปัญญาก็เหมือนกัน ความจริงแท้ตามหลักแห่งการปฏิบัติ ปัญญาจะไม่เกิดเองโดยที่อยู่เฉย ๆ หรือปัญญาจะไม่เกิดเองเมื่อมีสมาธิแล้ว ให้พึงทราบด้วยดีและทราบอย่างถึงใจด้วย

        สมาธิคือความสงบ เป็นเรื่องของสมาธิ เป็นประเภทหนึ่งหรือเป็นอาการหนึ่งของจิต หรือเป็นคุณสมบัติอันหนึ่งของจิต ปัญญาเป็นคุณสมบัติอันหนึ่งของจิต เป็นคนละประเภท ถ้าหากเราไม่สนใจกับปัญญาเลย มัวแต่สนใจทางด้านความสงบหรือสมาธิอย่างเดียว จิตของเราจะอยู่เพียงแค่นั้น จะก้าวไม่ออกถ้าไม่นำปัญญามาใช้ในกาลที่ควรใช้ หรือเหตุการณ์ที่ควรใช้ ปัญญาจะไม่แสดงตัวออกมาเลย นี่ได้เคยแสดงให้หมู่เพื่อนฟังหลายครั้งหลายหนซึ่งเป็นเรื่องของตัวเอง เมื่อได้เคยรู้เคยเห็นกันมาแล้ว สิ่งที่เคยรู้เคยเห็นนั้นก็เป็นอาจารย์ของเราได้ดี แม้จะแสดงให้แก่ผู้ใดฟังก็ไม่เป็นความผิด เพราะเรื่องมันเป็นอย่างนั้น

        ท่านว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิเมื่อศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตเมื่อปัญญาได้อบรมแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้เป็นหลักธรรมอันตายตัว แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายมักจะคิดว่า เมื่อมีศีลแล้วสมาธิจะมีขึ้นมา เมื่อมีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้วจิตก็หลุดพ้น นี่เป็นความคิดความคาดเอาเฉย ๆ ไม่ใช่ความจริง

        ความจริงนั้น ศีลเราก็รักษาให้เป็นศีล คือความปกติของกาย วาจา ไม่คะนองทางกาย วาจา และไม่เสริมโดยทางใจ เราก็ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ไม่เป็นอารมณ์ให้เกิดความวุ่นวาย อันเป็นการก่อกวนการทำสมาธิเพื่อความสงบของใจ ใจเมื่อไม่มีเครื่องก่อกวนให้เดือดร้อนแล้ว การทำสมาธิก็ย่อมมีทางสงบได้เพราะไม่เป็นนิวรณ์ เป็นอย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่มีศีลแล้วจะเป็นการสร้างสมาธิขึ้นในตัว มีสมาธิแล้วจะสร้างปัญญาขึ้นในตัวอย่างนั้นหาไม่ เราต้องทำเอง

        การจะทำจิตให้เป็นสมาธิด้วยอุบายวิธีใดที่เป็นสมถวิธี ที่ท่านแสดงไว้หลายแง่หลายกระทง เพื่อให้เหมาะกับจริตจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งมีแปลกต่างกัน ท่านกล่าวไว้ว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้องมีอนุสสติ ๑๐ เป็นต้น รวมกันทั้งหมดเป็น ๔๐ คำว่า ๔๐ นี้ไม่ใช่เราจะกว้านเอามาประพฤติปฏิบัติหมด เมื่อชอบในธรรมบทใดใน ๔๐ วิธีการนั้น ก็นำวิธีที่ตนชอบนั้นมาอบรมจิตใจ อันเป็นแนวทางเครื่องช่วยกัน ใจเมื่อได้รับการอบรมด้วยความถูกต้อง และธรรมที่เหมาะกับจริตจิตใจ จิตใจของตนย่อมมีความสงบได้ การสงบได้นั้นได้ด้วยวิธีสมถวิธีต่างหาก ไม่ใช่วิธีมีศีลหรือวิธีรักษาศีลแล้วสมาธิเกิดขึ้น มันเป็นคนละอย่าง พากันเข้าใจ

        ทีนี้เมื่อจิตได้รับความสงบตามวิธีที่ทำโดยถูกต้องและเป็นความสงบขึ้นโดยลำดับแล้ว การที่จะเคลื่อนไหวทางสติทางปัญญาเราควรจะให้มี เคลื่อนไหวทางปัญญาก็ถือเอาไตรลักษณ์ในสกลกายของเรานี้ทั้งหมดเป็นสถานที่ทำงาน ถือไตรลักษณ์และอสุภะอสุภังความไม่สวยไม่งามแห่งร่างกายเป็นทางเดิน ไตรลักษณ์คืออะไร คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แน่ะ และที่กล่าวว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ก็มีเต็มไปหมดในร่างกายของเราทุกส่วนหรือในขันธ์ ๕ นี้ เป็นกองแห่งไตรลักษณ์และอสุภะอสุภังทั้งนั้น แยกแยะพิจารณาตามส่วนของร่างกายส่วนต่าง ๆ เช่นแยกขยายทำลายจากส่วนผสมลงเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ตามความถนัดของปัญญา

        รูป ก็หมายถึงรูปกายของเรา กายนี้มีอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า นี่เรียกว่าอาการ ๓๒ อันเป็นส่วนร่างกาย นี้เป็นธาตุดิน  อันนี้ก็เต็มไปด้วยอสุภะอสุภัง  อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา การพิจารณาไตรลักษณ์ เรามีความถนัดในไตรลักษณ์ใดพึงพิจารณาไตรลักษณ์นั้นให้มากตามความถนัดของใจ แล้วจะสามารถซึมซาบไปในไตรลักษณ์ทั้งหลาย จนกระทั่งรู้รอบขอบชิดสมบูรณ์เต็มที่แห่งความเป็นไตรลักษณ์เพราะการพิจารณา นี่หมายถึงรูป อสุภะอสุภังก็เป็นรูปกายเหมือนกัน

        เวทนา ก็เหมือนกัน เวทนา คือความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ทางกายและทางใจ มีได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ เวทนาก็คือความเสวยที่ปรากฏขึ้นมาเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นเฉย ๆ ภายในร่างกายและจิตใจ นี่ก็เป็นกองแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา

        สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ จำอะไรก็ตามมันก็มีเรื่องไตรลักษณ์อันเดียวกันแปรสภาพ ดับไปสิ้นไปสูญไป เกิดขึ้นมาดับไปถ่ายทอดกันไปเรื่อย ๆ เช่นนั้น

        สังขาร คือ ความคิดความปรุง ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงเรื่องอะไรก็มีแต่เรื่องเกิดเรื่องดับเต็มภายในสังขารอันนี้

        วิญญาณ ก็รับทราบสิ่งที่มาสัมผัส เมื่อสิ่งที่มาสัมผัสผ่านไปอันนี้ก็ดับลง เมื่อผ่านเข้ามาสัมผัสก็รับทราบ ๆ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นไตรลักษณ์ การพิจารณาเรื่องของปัญญาพิจารณาอย่างนี้

        ถ้าเราจะพิจารณาภายนอก รูปไม่ว่ารูปสิ่งใด สภาวธรรมประเภทใดที่มีอยู่ ที่อยู่ภายนอกจากร่างกายและจิตใจของเรานี้ เป็นธรรมทั้งนั้นถ้าเราพิจารณาให้เป็นธรรม จึงเรียกว่าเป็นมรรคได้ทั้งภายในภายนอก ถ้าจิตพิจารณาให้เป็นมรรค คือเป็นทางเดิน หรือเป็นเครื่องกำจัดกิเลส ถ้าพิจารณาให้เป็นกิเลส แม้ภายในร่างกายนี้ก็เป็นกิเลสได้

        เช่น เห็นว่าร่างกายเป็นของสดสวยงดงามน่ารักใคร่ชอบใจ ก็เป็นการสร้างกิเลสอาสวะให้เต็มขึ้นภายในจิตใจ แล้วอุปาทานก็จะฝังแน่นเข้าโดยลำดับ นี่คือการสร้างกิเลสด้วยความคิดที่ผิด แม้จะพิจารณาร่างกายก็พิจารณาไปเป็นสมุทัย ก็เป็นสมุทัยคือเป็นกิเลสได้ ภายนอกก็เหมือนกัน พิจารณาเห็นว่าสดสวยงดงามไพเราะเพราะพริ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสิ่งที่ต้องเนื้อต้องใจ นี่เป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ ถ้าพิจารณาตรงกันข้ามก็เป็นมรรคได้

        เรื่องอุบายของปัญญาให้พากันคิดกันค้นอย่าอยู่เฉย ๆ ในขณะที่จิตมีกำลังพอที่จะพิจารณา โดยอาศัยสติเป็นผู้ควบคุมงานอย่าให้เผลอในขณะที่พิจารณา จนปัญญาเกิดขึ้นรู้เหตุรู้ผลเข้าใจอาการต่าง ๆ แห่งร่างกาย และเข้าใจเรื่องของกิเลสประเภทใดที่ควรละได้ด้วยปัญญาแล้วมันก็ละ นี่เรียกว่าเห็นผลของปัญญาที่ทำหน้าที่ จากนั้นก็ค่อยมีความดูดดื่มทางด้านปัญญา

        ไม่ว่าทำงานใดก็ตามคนเรา ถ้ามีแต่ทำไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อันใดแล้วมันก็ขี้เกียจ เมื่อมีผลของงานเป็นเครื่องตอบแทนขึ้นมามากน้อย ก็ให้เกิดความพออกพอใจที่จะต้องเพียรพยายามในงานนั้นต่อไป จนกระทั่งถึงงานนั้นสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้มาก แน่ะ จิตใจนี้เมื่อเราทำงานได้ผลขึ้นมาพอเป็นสักขีพยานแล้วความเพียรก็เพียรไปเอง มีความขยันหมั่นเพียร ความอดความทนมาด้วยกัน

        นี่การพิจารณาปัญญาเราอธิบายเพียงขั้นนี้เสียก่อน ให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายได้สนใจทางด้านปัญญา เราอย่าเข้าใจว่าทำสมาธิเต็มที่แล้วจึงพิจารณาปัญญาได้ นอกจากว่าสมาธิเต็มที่แล้วปัญญาจะเกิดอันเป็นความเข้าใจผิดแล้ว และอย่าเข้าใจว่าเมื่อมีสมาธิเต็มที่แล้วจึงค่อยพิจารณาปัญญา อันนี้ก็เป็นความผิดเหมือนกัน

        สมาธิ คือ ความสงบ ใจที่มีความสงบย่อมไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่คิดไปในแง่ต่าง ๆ ซึ่งเคยคิดมาแล้วด้วยความหิวโหย จิตจะสงบตัว ความที่จิตสงบตัวนั้นแล เราจะนำจิตไปใช้การใช้งานอะไรโดยมีสติเป็นเครื่องควบคุม พิจารณาทางด้านปัญญามันก็ทำหน้าที่ของมันเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นตามกำลังปัญญาขั้นนั้น ๆ ไปโดยลำดับ เมื่อเห็นจริงเข้าไปมากปัญญาไม่ต้องบอก ที่นี่หมุนตัวไปเอง เพราะเห็นผลจะทนขี้เกียจอยู่ได้ยังไง

        เมื่อเห็นผลแล้วก็เป็นที่ต้องเนื้อต้องใจ จิตก็ต้องมีแต่ความกระหยิ่ม มีความหนักหน่วงในทางความพากเพียรไม่ลดละถอยหลัง ทีนี้จิตก็เรียกว่าได้รับการแก้ไขถอดถอนกิเลสประเภทต่าง ๆ ออกจากใจ สมกับจิตเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเรา คือสติปัญญาอยู่เสมอ เมื่อได้ถูกถอดถอนออกด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรอยู่เรื่อย ๆ ก็ย่อมมีความผ่องใสไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงความหลุดพ้นที่ท่านเรียกว่า สมฺมเทว คือโดยชอบ

จิตหลุดพ้นไปโดยชอบธรรม คือโดยชอบก็หมายถึงสติปัญญาเป็นผู้กลั่นกรอง เป็นผู้ตัดผู้ฟันเสียเอง ไม่ใช่สัญญาอารมณ์จะไปตัดไปฟันกิเลสตัณหาอาสวะ แล้วก็สำคัญตนเองว่าหลุดพ้นไป

        ความหลุดพ้นด้วยความสำคัญนั้นเป็นเรื่องของสัญญา เรื่องของปัญญาแล้วไม่มีความสำคัญ เป็นความเข้าใจได้อย่างชัดเจน ว่ากิเลสประเภทนี้ขาดไปแล้ว ประเภทนั้นยังอยู่ พิจารณาเข้าไปเรื่อย ๆ ขาดไปเรื่อย ๆ ไหม้ติดต่อกันโดยลำดับ ๆ เข้าไปจนกระทั่งถึงขาดกระเด็นออกไปโดยสิ้นเชิงจากสมมุติทั้งหลาย

        คำว่ากิเลส จะประเภทใดก็ตามก็อยู่ในขั้นสมมุติ คำว่าธรรมที่เป็นคู่เคียงกับกิเลส เป็นเครื่องแก้กิเลสทุกประเภท ก็เป็นสมมุติเหมือนกัน เช่นอย่างสมาธิ ปัญญา เป็นต้น นี่ก็คือสมมุติ ธรรมเครื่องแก้ซึ่งเรามี เมื่อสติปัญญาได้ทำการแก้กิเลสถอดถอนกิเลสออกจากใจหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ปัญญาก็หมดหน้าที่ไป สติก็หมดหน้าที่ไปในการควบคุมงานเพื่อถอดถอนกิเลส กิเลสทุกประเภทก็หมดไปจากใจ หลังจากนั้นแล้วไม่มีอะไรที่จะพูดอีก พูดได้แต่เพียงว่าจิตบริสุทธิ์ หมดหน้าที่ ทำงานได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เต็มที่แล้ว

        นี่ละธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า    พระองค์ทรงสั่งสอนไว้อย่างแม่นยำที่สุด   สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ที่เรียกว่าตรัสไว้ชอบแล้ว คือธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว คือชอบทุกแง่ทุกมุมแห่งธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด พูดถึงเรื่องกิเลสก็ชอบธรรม อุบายวิธีแก้กิเลสก็ชอบธรรมถูกต้องไปหมด ถ้าเรานำอุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้นมาปฏิบัติ เราจะต้องเห็นเราเป็นผู้ถอดถอนกิเลสขาดไปโดยลำดับ ๆ อย่างประจักษ์ใจด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงพากันเน้นหนักทางความพากเพียร

        อย่าสนใจกับสิ่งใดในโลกนี้ ซึ่งเคยอยู่เคยอาศัยเคยเป็นเคยตายเคยทุกข์เคยลำบากมาแล้วไม่น่าสงสัย สิ่งที่เรายังไม่เคยเห็นแต่จอมปราชญ์ทั้งหลายท่านรู้ท่านเห็น ท่านละมาทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งถึงเป็นจอมโลก ก็คือความบริสุทธิ์ มุ่งหวังจิตใจตั้งเข็มทิศไว้ให้สูงเสมอ และให้ผลิตความเพียรเป็นเครื่องหนุน อย่าเป็นแต่เพียงความต้องการอยากรู้อยากเห็น แล้วไม่ประกอบความพากเพียรให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่สมเหตุสมผลอย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด

        จิตเป็นของประเสริฐมาก เมื่อได้ธรรมแก้หรือรื้อถอดถอนสิ่งที่สกปรกโสมม อันเป็นของที่ต่ำช้าเลวทรามหาคุณค่าไม่ได้ออกจากใจแล้ว ใจจะเป็นธรรมชาติที่มีคุณค่ามหาศาลประจักษ์กับตนเองโดยไม่ต้องไปถามใคร เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วอยู่ที่ไหนก็สบายหมดไม่ว่าอิริยาบถใด เรื่องการเกิดการตาย ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหนอะไรหมดปัญหาไปพร้อม ๆ กัน

        เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติ จิตนั้นได้พ้นแล้วจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเครื่องก่อกวนให้สงสัยหรือกังวลต่าง ๆ จิตได้ผ่านพ้นไปหมดแล้วก็หมดปัญหา เมื่อชีวิตยังมีอยู่ก็รับผิดชอบกันไป เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เจ็บไข้ได้ป่วย มีความหิวความกระหาย อยากหลับอยากนอน ก็บำบัดรักษารับผิดชอบไปตามกำลังหรือไปตามกาลของมัน เมื่ออันนี้ไปไม่รอดแล้ว ธาตุขันธ์นี้หมดกำลังแล้วก็ปล่อยเสีย ปล่อยไปอย่างสะดวกสบาย ไม่มีอันใดที่จะมาทำจิตใจให้เกิดความกังวล หรือหนักหน่วงถ่วงใจลงไปเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา สลัดทิ้งความกังวลนี้ไปเสียได้ในขณะนั้นแล้วก็เรียกว่าหมดกังวล

        ทีนี้ไม่ต้องพูดว่านิพพานอยู่ที่ไหน เพราะผู้นั้นไม่เป็นผู้สงสัยนิพพาน ผู้นั้นคือนิพพานอยู่แล้ว ถามหาใคร ถามไปที่ไหน ถามใคร ธรรมชาตินั้นเต็มอยู่แล้วรู้อยู่แล้ว ประจักษ์อยู่แล้วกับตนแล้วตนจะไปถามใครอีก นี่ละที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต คือเห็นอย่างนี้ ใครเห็นก็ตามจะไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้าหรือถามสาวกองค์ใดก็ตาม เพราะเป็นธรรมเสมอกันเหมือนกัน เป็นความจริงเต็มส่วนด้วยกัน แม้ไม่เคยเห็น เมื่อเห็นเข้าแล้วเจอเข้าแล้วก็เป็นอันว่าหมดความสงสัยทันที นี่ผู้เห็นตถาคตเห็นอย่างนี้

        จิตใจนั้นแลเป็นธรรมชาติที่พอตัว หายสงสัยทุกแง่ทุกมุม ขึ้นชื่อว่าสมมุติไม่สามารถที่จะไปก่อกวนทำลายหัวใจได้ แม้ที่สุดเพียงความสงสัยนิด ๆ ในเรื่องตัวเองก็ไม่มี เรียกว่าไปสบายหายห่วง นี่คือผลแห่งการปฏิบัติอย่างทุ่มเทกำลัง เอาเป็นเอาตายลงไป ผลเป็นเครื่องตอบแทนอย่างนี้ เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจที่สุดสำหรับผู้ต้องการความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย

        คำว่ากองทุกข์ก็คือห่วงแห่งสมมุตินั้นแล ห่วงแห่งสมมุตินั้นอยู่ในความรับผิดชอบของเราอันใดบ้าง มีสิ่งใดบ้าง ก็คือร่างกายเป็นสำคัญ นอกจากนั้นก็เกี่ยวเนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส รักชอบต้องการสิ่งนั้นให้เกลียดสิ่งนี้ เกี่ยวโยงกันไปไม่มีสิ้นสุด ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเครื่องก่อกังวล สร้างทุกข์ให้จิตใจได้รับความลำบากลำบนตลอดมา มีความประเสริฐที่ไหนเรื่องของสมมุติ

        ถ้าเมื่อได้มีธรรมขึ้นเป็นเครื่องเทียบเคียงกันแล้ว เราจะเห็นความต่ำแห่งสมมุติกับความสูงแห่งธรรมชัดเจนภายในจิตใจดวงเดียวกันนั้น หากไม่มีธรรมเป็นเครื่องปรากฏพอที่จะมาเป็นเครื่องเทียบเคียงกันเลยนั้น จิตใจก็ไม่ทราบว่าธรรมเป็นยังไง ก็จะเห็นแต่สิ่งสมมุติทั้งหลายว่าเป็นของดีของไม่ดีเรื่อย ๆ ไป แล้วดีเยี่ยมอย่างนั้นเยี่ยมอย่างนี้ เป็นเหตุปลุกจิตใจหรือยั่วยุจิตใจให้กำเริบเสิบสานขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วหาหลักหาเกณฑ์ไม่เจอ แม้ที่สุดตายก็ตายทิ้งเปล่า ๆ ด้วยความหวังเต็มหัวใจ แต่ไม่มีอะไรเป็นเครื่องสนองความหวังนั้นเลย

เพราะฉะนั้นเราผู้ไม่ต้องการเช่นนั้น เราสร้างความหวังให้ตนเอง ด้วยการประพฤติปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง ให้รู้ให้เห็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ด้วยพระเมตตาอย่างเต็มเปี่ยม ประพฤติปฏิบัติให้เห็น

        ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาแล้วทั้งฝ่ายเหตุ และเห็นผลมาแล้วทั้งฝ่ายผล เป็นที่พอพระทัยแล้วจึงนำมาสั่งสอนโลก ไม่มีกาลไม่มีสถานที่ และไม่ถือว่าเป็นสมบัติของผู้หนึ่งผู้ใดศาสนธรรมเป็นของใคร  ใครน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติก็เป็นสมบัติของผู้นั้น คำว่าศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี มรรคผลนิพพานก็ดี พร้อมอยู่แล้วที่จะเป็นสมบัติของผู้ประพฤติปฏิบัติ มีนักบวชผู้ปฏิบัตินี้เป็นต้นที่จะสามารถทรงธรรมเหล่านี้ได้ นอกจากนั้นก็ไม่แน่ไม่นอนนัก พวกนักบวชและนักปฏิบัตินี้เป็นพวกที่แน่นอนมากกว่าพวกอื่น ๆ

        เวลานี้เราเป็นอะไร เราเป็นนักบวช นักบวชนักปฏิบัติ ภิกฺขุ ท่านแปลไว้ ๒ อย่าง แปลว่าผู้ขอประการหนึ่ง อันนี้ถ้าหากแปลแบบโลก ๆ ก็แปลว่าผู้ขอ นั่นสมเหตุสมผล เพราะนับตั้งแต่วันบวชมาแล้วก็บิณฑบาตขอทานเขาด้วยเพศสมณะ ขอไปตามแบบนั้น อันหนึ่ง ภิกฺขุ ท่านแปลว่าผู้เห็นภัย ปฏิบัติตนให้เห็นภัย ภัยมีอยู่ที่ใจนี้แหละเป็นหลักใหญ่ ใจเป็นผู้ก่อเหตุก่อภัยก่อทุกข์ก่อความลำบากทั้งหลาย พยายามแก้ไขดัดแปลงจิตใจของตน เผาผลาญกิเลสด้วยตปธรรม คือความพากเพียรอย่าลดละท้อถอย

        ตายก็ตาย โลกนี้มีป่าช้า คนไม่ถือศาสนาไม่รู้จักศีลจักทานเลย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานอย่างนี้ก็ต้องตายเหมือนกัน ผู้ประกอบความพากเพียรเพื่อมรรคผลนิพพานก็มีการตาย ตายขอให้ตายด้วยความสมหวัง ตายให้มีหลักมีเกณฑ์ สร้างหลักสร้างเกณฑ์ด้วยการปฏิบัติธรรม ให้ธรรมสมบัติเข้าสู่ใจ ใจกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วเรียกว่าสมหวัง มีหลักมีเกณฑ์ ตายที่ไหนก็ตายสะดวกสบายไปหมด ขอให้พากันประพฤติปฏิบัติ

        ผมเป็นห่วงกับหมู่เพื่อนมากนะ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการอบรมสั่งสอนเสมอ เพราะเราเคยเป็นผู้น้อยมาแล้ว ได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์รู้สึกว่าจิตใจเต็มตื้นขึ้นมา ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนกับต้นไม้ที่ได้รับการบำรุง การขาดการได้ยินได้ฟังแม้จะประกอบความพากเพียรอยู่ ก็รู้สึกไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  หากได้อาศัยธรรมะท่านโสรจสรงลงมาที่หัวใจอยู่เรื่อยก็รู้สึกว่าชุ่มชื่นเบิกบาน

        เพราะฉะนั้นการฟังธรรมในขณะที่ได้รับการอบรมแห่งการแสดงธรรม จึงเป็นภาคปฏิบัติอันสำคัญยิ่งกว่าภาคปฏิบัติใด ๆ เพราะการฟังธรรมทำจิตให้มีความสงบได้ในขณะฟัง ง่ายกว่าที่เราทำโดยลำพัง พูดถึงเรื่องปัญญาก็มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าขยับไปตามโอวาทที่ท่านสอนไปทุกระยะ ๆ ไปอย่างคล่องตัว ส่วนมากผู้ฟังจิตมักสงบเสมออย่างน้อย ขั้นปัญญาแล้วก็ต้องขยับตาม

        ให้ค้นให้ดีของวิเศษอยู่ภายในหัวใจนี้ เวลานี้ของสกปรกโสมม สิ่งที่หาคุณค่าไม่ได้ สิ่งที่ต่ำช้าเลวทรามหุ้มห่อจิตใจ ใจจึงเป็นเหมือนกับไม่มีคุณค่า เราก็ไม่ทราบว่าใจของเรานี้ไม่มีคุณค่า เมื่อเราไม่ทราบนั้นแล้วจึงเห็นสิ่งภายนอกนั้นว่ามีคุณค่า อันนั้นว่าดีอันนี้ว่าดี เลยฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามสิ่งนั้นแล้วก็ตายเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร การปฏิบัติธรรมจึงมีเครื่องวัดเครื่องตวง มีเครื่องเทียบเคียงกัน พอรู้ว่าอันนั้นดีอันนี้ชั่ว แล้วก็แก้ไขดัดแปลงกันไปโดยลำดับ ยิ่งจิตได้มีความสงบภายในใจแล้ว อยู่ที่ไหนก็พออยู่พอเป็นพอไป เพราะจิตสงบไม่ก่อกวนตัวเอง

        ลำดับต่อไปก็คือปัญญา พิจารณาสอดส่องให้มองทะลุไปหมด สัตว์โลกทั้งหลายทั้งเขาทั้งเราเป็นเรื่องกองธาตุกองขันธ์กองทุกข์ ตั้งแต่พื้นเท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่บนศีรษะลงมาถึงพื้นเท้านี่ขันธ์ ขันธ์ก็แปลว่าหมวดแปลว่ากอง กองคือกองทุกข์นั่นแหละ ขันธ์ ๕ นี้มีความสุขที่ไหนพิจารณาซิ เป็นอย่างไรสบายดีเหรอ ว่ากันไปยังงั้นเอง

        ธรรมชาติของร่างกายแล้วไม่เห็นแสดงความสุขให้เราปรากฏ นอกจากใจเท่านั้นเป็นผู้แสดงความสุขและทุกข์ให้ปรากฏอย่างเด่นชัดกับทุกคนกับทุกสัตว์ ร่างกายถ้าสมบูรณ์บริบูรณ์เต็มที่ก็อยู่ตามลำพังของมัน ไม่เป็นโรคเป็นภัยอะไรเราก็ว่าสบายดี ความจริงร่างกายไม่แสดงความสบายให้เห็นเลย ใจเป็นของสำคัญ แสดงความสุขความทุกข์ให้เห็นอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นจงแก้ลงที่จุดนี้ เมื่อแก้ได้แล้วก็แสนสบาย

อธิบายแค่นี้ก่อน

พูดท้ายเทศน์

        ใจจะเห็นได้ชัด ๆ เวลาชำระจิตให้บริสุทธิ์ ไม่มีอะไรสิ่งใดเข้าไปแฝงเลยแล้วจะไม่มีเลยเรื่องอย่างนี้ รู้ก็รู้อยู่อย่างนั้น แม้ที่สุดคำว่าผ่องใสก็ไม่มี ผ่องใสแบบจะให้ติดอกติดใจก็เป็นเรื่องสมมุติ ความติดใจความผูกพันในความผ่องใส เราอย่าว่าแต่ความหมองเศร้าเลย แม้แต่ความผ่องใสก็ไม่ปรากฏ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด เมื่อจิตได้ผ่านก้าวจากสมมุติไปแล้ว คำว่าความผ่องใส ความเศร้าหมอง หรือความสุขความทุกข์ภายในใจแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่ปรากฏ เพราะจิตอันนั้นผ่านพ้นไปแล้วจากสมมุติ

        สุขเวทนาก็เป็นสมมุติ เมื่อสุขเวทนามีภายในจิต ทำไมทุกขเวทนาจะไม่มีภายในจิต เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็ย่อมเป็นภาชนะสำหรับรับสมมุติได้อยู่ ไม่ได้ทำลายสมมุติหมดนี่ แต่จิตที่ทำลายสมมุติหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว อะไรเวทนาไหนจะไปแทรก นี่เราถึงได้กล้าพูดว่า พระอรหันต์ตาย ตายเมื่อไร ตายที่ไหน ตายเรื่องอะไร ด้วยเหตุผลกลไกอะไรก็ตาม ก็จิตพระอรหันต์ล้วน ๆ ว่างั้นเลย ท่านไม่มีปัญหาอะไรกับสมมุติคือการตาย กิริยาแห่งการตายต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด ความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์เต็มภูมิ จึงไม่วิตกวิจารณ์เรื่องการเป็นการตาย จะตายแบบไหนท่าไหน จะยืนตาย เดินตาย นั่งตาย นอนตายไม่มีปัญหา เพราะเป็นเรื่องอาการของสมมุติต่างหาก

        เพราะฉะนั้นเราจึงได้เชื่อ ที่ว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านว่าท่านพิจารณาเห็นพระอรหันต์มาแสดงท่านิพพานให้ดู บางองค์เดินจงกรมนิพพานให้ดู บางองค์นั่งนิพพานให้ดู บางองค์นอนนิพพานให้ดู บางองค์ยืนนิพพานให้ดู ท่านว่า  ทำอะไรก็จะเป็นอะไร เมื่อผ่านจากสมมุติไปหมดแล้ว อยู่เหนือสมมุติแล้ว ทุกขเวทนาเหนือจิตดวงบริสุทธิ์นั้นได้ยังไง ความบริสุทธิ์ของจิตเหนือสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงอาการของขันธ์ที่แสดงต่อกัน คือ ทุกขเวทนากับขันธ์เป็นสมมุติด้วยกันมันแสดงต่อกัน

        ท่านจึงสามารถเดินจงกรมนิพพานได้อย่างสบาย เมื่อหมดกำลังแล้วก็ยุบยอบลงตรงนั้นเลย ยืนก็เหมือนกัน เมื่อหมดกำลังแล้วก็ยุบยอบลงตรงนั้น ไม่ได้ล้มแบบทั้งหงายทั้งอะไรอย่างนี้ให้ดู ยอบลงอย่างนี้เลย นั่งก็เหมือนกัน เอนแล้วก็ค่อย ๆ ลง ค่อยอ่อนลงไป นั่งนิพพาน แล้วเวลายืนนิพพานก็เหมือนกัน ยอบลงไปแล้วก็ค่อยล้มไปธรรมดา ๆ เดินก็เหมือนกัน พอถึงที่นั้นแล้วก็หยุดกึ๊กก็นั่ง คือเหมือนปุยนุ่น ท่านว่าอย่างนั้นนะ อ่อนนิ่ม อาการของท่านขณะที่ท่านปลงขันธ์นิพพานในท่าต่าง ๆ นั้นเหมือนปุยนุ่น อ่อนนิ่มไปเลย ไม่มีอากัปกิริยาที่เป็นเหมือนโลก ที่ว่าทุรนทุรายหรือระส่ำระสาย จะเอาอะไรมาระส่ำระสายลงจิตขนาดนั้นแล้ว เราเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเหล่านี้ไม่มีปัญหาอะไรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์นั้นได้

        เช่นอย่างพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก่อนจะเข้าปรินิพพานทรงเข้าสมาธิสมาบัติมีปฐมฌานเป็นต้น นั้นท่านทรงแสดงลวดลายให้สมกับความเป็นศาสดาของโลกต่างหาก ตามพระอัธยาศัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทำเพื่อจะแก้กิเลสหรือชำระกิเลส หรือจะต่อสู้กิเลสในขณะตายหรือในขณะนิพพาน หาไม่ ขนาดเป็นศาสดาเอกของโลก ทำไมขณะที่จะนิพพานจะไม่วางลวดลายของศาสดาไว้เป็นวาระสุดท้ายมีอย่างเหรอ ต้องวาง เราเห็นอย่างนั้นเราเชื่ออย่างนั้น

        ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายท่านถนัดทางใดท่านก็นิพพานของท่าน ตามแบบหรือตามความถนัดของท่าน คำว่าสมาธิสมาบัติเป็นไปตามรายของบุคคลแต่ละบุคคล เป็นไปตามพระอรหันต์แต่ละประเภท ไม่ว่าเป็นประเภทใดมีความถนัดอย่างไหน ก็นิพพานในท่าถนัดของท่านสะดวกสบาย

        ไปบิณฑบาตอย่ามีเรื่องคุยกัน ดูหัวใจเจ้าของ เดินไปให้ดูหัวใจเจ้าของไปตลอดทั้งไปทั้งกลับอย่าเผลอ นั่นละท่านเรียกว่าความเพียร เป็นกิจวัตรสิ่งหนึ่ง ไปบิณฑบาตเป็นกิจวัตรอันหนึ่งของพระซึ่งเป็นความจำเป็น ถ้าหากว่าไปเพื่อหากินเอามาเฉย ๆ นั้นไม่เป็นกิจวัตร ไปแบบฆราวาส ไปแบบพระซิ พระเป็นผู้มีสติสตังไม่เถ่อนั้นมองนี้ แบบคนเผลอสติคนเลื่อนลอย ไปด้วยท่าสำรวม มีสติเป็นเครื่องควบคุมตัวเองอยู่เสมอ นั่นแหละชื่อว่าเป็นผู้มีบิณฑบาตเป็นวัตร สมว่าวัตรได้จริง ใครมาใส่บาตรไม่สนใจว่าเป็นหญิงเป็นชาย ดูในบาตรนั้นเป็นธาตุ มือยื่นเข้ามาในบาตรก็เป็นธาตุ ถ้าพูดถึงเรื่องธาตุก็เป็นธาตุด้วยกันหมด มีเท่านั้น

เอาละเลิกละ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก