มัชฌิมาตามขั้นของกิเลส
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 เวลา 19:00 น. ความยาว 37.21 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑

มัชฌิมาตามขั้นของกิเลส

 

        รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงรับรองแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็น สวากขาตธรรม คือตรัสไว้ชอบแล้วทุกสิ่งทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมทุกขั้นของธรรมและทุกประเภทของกิเลส เป็นนิยยานิกธรรม ธรรมเหล่านี้แลจะสามารถรื้อถอนกิเลสให้ผ่านพ้นทุกข์ไปได้โดยลำดับ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง ไม่มีธรรมใดจะเหนือกว่าธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วด้วยดี เฉพาะอย่างยิ่งก็หมายถึงมัชฌิมาปฏิปทา

        คำว่า มัชฌิมา ส่วนมากคิดกันว่าเป็นหนทางสายกลาง ไม่ยิ่งไม่หย่อนนัก ไปเสมอเนื้อเสมอตัว นี่เป็นความคาดหมาย เป็นความคิดเอาเฉย ๆ ไม่ใช่ออกมาจากหลักความจริงที่ประจักษ์ตนเองในภาคปฏิบัติ เมื่อเราปฏิบัติแล้วเราจะทราบได้ว่า มัชฌิมานี้มีความหมายกว้างแคบแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น เราจะนำไม้มาทำต้นเสา ไม้นั้นมีทั้งเปลือกทั้งกระพี้ ทั้งแก่น ทั้งกิ่งก้านสาขาดอกใบ รากแก้วรากฝอย เราจะเอากบไปไสไม้ทั้งต้นนั้นให้สำเร็จเป็นต้นเสาขึ้นมา เพื่อจะปลูกบ้านสร้างเรือน เป็นไปไม่ได้ คือจะทำหนักมือกว่านั้นก็กลัวว่าไม้จะเสียนั่นเอง หรือว่ามันจะหนักมากไป

        กิเลสบางประเภทหรือขั้นเริ่มแรกแห่งการปฏิบัติธรรมะเพื่อแก้กิเลส จะมีแต่กิเลสตัวสำคัญ ๆ ที่ออกหน้าออกตาที่สุด ซึ่งจะต้องได้ใช้เครื่องมืออันหนัก คือเอากันอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับเขาถากไม้ด้วยขวาน ไม่ใช่ไสกบไม้ทั้งต้น ไม้ต้นนั้นเขาจะต้องถากด้วยขวาน ตัดด้วยขวานหรือด้วยเลื่อยเสียก่อน จนกระทั่งสมควรแก่การไสกบแล้วเขาถึงจะไส สมควรจะเจาะหรือจะทำอะไรก็เป็นไปตามไม้นั้น เครื่องมือนายช่างมีพร้อมทุกอย่างที่จะให้เหมาะสมแก่การกระทำหรือการปลูกบ้านสร้างเรือน

        นี่มัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธเจ้าอันเป็นฝ่ายเหตุคือการดำเนิน ก็ต้องมีพร้อมมูล เพื่อจะแก้กิเลสประเภทนั้น ๆ โดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงขั้นละเอียดสุด เป็นมัชฌิมาตามขั้นของกิเลส คือให้เหมาะสมกับการแก้กิเลส จะแก้กิเลสได้ด้วยมัชฌิมาประเภทใด กิเลสนี้เป็นประเภทที่เหนียวแน่นมั่นคงดื้อด้านขนาดไหน เราจะต้องใช้มัชฌิมาคือหลักธรรมะเครื่องแก้กิเลสนั้นให้เหมาะสมกับกิเลสนั้นแล หรือกิเลสประเภทนั้น ๆ แล เรียกว่า มัชฌิมาในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

        ถึงคราวสละที่จะต่อสู้กันจริง ๆ กับกิเลสประเภทนี้น่ะ ประเภทที่ดื้อด้านที่สุด เราจะต้องใช้เครื่องมือมัชฌิมา คือเหมาะสมกับกิเลสประเภทนี้ ด้วยการหนักมือเต็มที่ ทนก็ทนเต็มที่ ทนจนตาย สติปัญญามีเท่าไรทุ่มกันลงอย่างเต็มที่ เอาตายเป็นตัวประกันหรือเป็นเดิมพัน กิเลสประเภทนี้จะทำอย่างอื่นไม่ได้ ถึงคราวหนักต้องหนัก เอาชีวิตเข้าว่ากันเลย และไม่คำนึงถึงความตายยิ่งกว่าความจริงที่ให้รู้ให้เห็นที่กิเลสจะหลุดลอยไป เพื่อรู้ความจริงทั้งหลายนั้นอีกด้วย อย่างนี้ต้องมีความหนักมากยิ่งกว่าชีวิต นี่เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง

        เมื่อกิเลสประเภทนี้ค่อยลดหย่อนตัวลงไป เครื่องมืออีกประเภทหนึ่งที่เหมาะกับกิเลสที่รองกันลงไปก็มีเป็นลำดับลำดาเรื่อยไปจนกระทั่งถึงขั้นละเอียด เมื่อถึงขั้นละเอียดแล้ว จะไปใช้สติปัญญาอย่างผาดโผนโลดเต้นอย่างนั้นก็ไม่ถูก เหมือนอย่างไม้ที่ควรแก่การไสกบแล้วจะไปถากด้วยขวานก็ไม่ได้ เพราะไม่เหมาะกัน จะทำให้ไม้นั้นเสีย นี่การแก้กิเลสประเภทละเอียดก็ต้องสติปัญญาที่เหมาะสมกัน คือสติปัญญาอันละเอียดแหลมคม ไปอย่างละเอียดลออเหมือนน้ำซับน้ำซึม นั่นเป็นอย่างนั้น เรียกว่ามัชฌิมาทั้งหมด ให้พากันเข้าใจทางภาคปฏิบัติ ความจริงของภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้

        อันใดก็ตามถ้าเราได้ทำเอง ได้รู้เองเห็นเองทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผลแล้วหาความสงสัยไม่ได้ และเป็นที่แน่ใจตัวเองไปโดยลำดับ เมื่อแน่ใจตัวเองแล้วทำไมจะไม่แน่ใจในการสอนคนอื่นให้เข้าใจตามนั้นได้ล่ะ ดังพระพุทธเจ้าแต่ก่อนพระองค์ก็ยังไม่เคยประกาศพระองค์ว่าเป็นบรมศาสดา เมื่อได้ทรงบำเพ็ญด้วยพระองค์เอง ทั้งฝ่ายเหตุก็ทุ่มเทลงอย่างเต็มที่ จนถึงฝ่ายผลอันสมบูรณ์ รู้ประจักษ์ด้วยพระทัยทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผล ในธรรมทุกขั้น ในกิเลสทุกประเภท แล้วจึงได้ประกาศตนเป็นศาสดา และสั่งสอนโลกตั้งแต่บัดนั้นมา

        เพราะฉะนั้นธรรมจึงเรียกว่าเป็นสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว ด้วยความรู้ชอบเห็นจริง เป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ประพฤติปฏิบัติให้หลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ไปได้โดยลำดับ เช่นเดียวกับพระองค์ท่านได้ทรงนำกิเลสทั้งหลายออกจากพระทัยโดยลำดับ จนถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธได้ นั่น ทำไมพระองค์จะไม่มีความกล้าหาญชาญชัยในการประทานโอวาทแก่สัตวโลก เพราะทรงรู้ทรงเห็นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ทรงด้นเดาสอนโลก

        นี่ละความรู้เห็นด้วยตนเองจึงเป็นความแน่ใจ ในการแสดงออกทุกแง่ทุกมุมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกิเลสและอรรถธรรมประเภทใด หรือไม่ว่าฝ่ายเหตุฝ่ายผล ส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ถ้าได้ผ่านแล้วด้วยตนเองจะสามารถพูดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่สะทกสะท้านต่อผู้หนึ่งผู้ใดใครทั้งสิ้น นั่นละท่านว่าธรรมเป็นเวสารัชชกรณธรรม คือธรรมที่ยังบุคคลให้กล้าหาญประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นประเภทสำคัญ

        นี่เราทั้งหลายดำเนินทุกวันนี้เป็นอย่างไร มัชฌิมาของพวกเราคืออะไร ไม่ใช่มัชฌิมาของพวกเราเป็นเทวทัตทำลายศาสนธรรม ซึ่งเป็นการทำลายตัวเองไปโดยลำดับ ๆ อยู่หรือเวลานี้ จึงไม่รู้ไม่เห็นในสิ่งที่ควรจะรู้จะเห็น ตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ การประกอบความเพียรทำอย่างไรความเพียร เดินจงกรมมีสติสตังติดแนบอยู่กับงานของตนหรือไม่ หรือส่งระเหเร่ร่อนไปทางไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของอรรถของธรรม มีแต่ก้าวเดินเฉย ๆ ด้วยเท้า เหมือนกับสุนัขเขาเดินตามถนนหนทาง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เลยจากสัตว์ไปกิริยาแห่งการก้าวเดินของเรา และไม่ดีหรือไม่ยิ่งกว่าคนทั้งหลายที่เขาเดินธรรมดาตามความมีแข้งมีขาของสัตว์ของคน

        การเดินทำความเพียรก็ต้องหมายถึงเรื่องจิตกับสติ ควบคุมในหน้าที่ของตนที่กำลังทำอยู่นั้น เราพิจารณาธรรมบทใด เราพิจารณาธรรมแง่ใด หรือเรานำธรรมบทใดมาบริกรรมภาวนา เรามีความพลั้งเผลอไหม จิตของเราเถลไถลไปไหนไหม ถ้าเถลไถลก็แสดงว่าจิตเลื่อนลอย กำลังใจหรือความสนใจต่องานของตนมีน้อย จึงไม่สามารถจะปกครองหรือคุมงานของตนได้ ให้เป็นไปด้วยความสม่ำเสมอ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทำไปเท่าไรก็อย่างว่า ไม่เรียกว่าความเพียร

        ความเพียรอันแท้จริงหมายถึงสติ จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตามขอให้มีสติอยู่กับตัว นี้เป็นพื้นสำคัญ จากนั้นก็มีความจดจ่อต่อเนื่องกับงานที่ตนกำลังทำ หรืออย่างน้อยก็มีสัมปชัญญะ คำว่าสติเมื่อสืบเนื่องกันโดยลำดับไม่ยอมให้พลั้งเผลอด้วยการบังคับไว้นี้ เรียกว่า สัมปชัญญะ ความไม่พลั้งเผลอโดยหลักธรรมชาติของตน เพราะการอบรมมาจนช่ำชองแล้วนั้น เรียกว่า มหาสติ มีความแปลกต่างกันอย่างนี้ นี่เราพูดทางภาคปฏิบัติ

        แต่เราจะไปหาดูทางปริยัตินั้นรู้สึกจะไม่มีแบบที่ว่านี้ มีแต่สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ว่าอย่างนั้น ความจริงสัมปชัญญะนั้นไปจากสติความระลึกได้นี้ ที่พยายามอยู่ตลอดไป สติก็เลยสืบเนื่องกันไปจนกลายเป็นสัมปชัญญะความรู้สึกตัว เมื่อมีกำลังมากจนสามารถเป็นไปโดยลำพังตัวเอง ซึ่งไม่ต้องบังคับบัญชาให้ตั้งสติสตังแต่อย่างไร แต่สติก็ทราบอยู่ทุกระยะโดยอัตโนมัติของตน อันนี้เรียกว่า มหาสติ

        ปัญญาก็ต้องอาศัยการบังคับให้คิดให้ค้นให้พิจารณา ด้วยความจดจ่อต่อเนื่องกันไป โดยมีสติเป็นผู้กำกับงานเหมือนกัน สติเป็นธรรมจำเป็นมากที่จะต้องปราศจากไม่ได้ ไม่ว่าขั้นสมาธิ ไม่ว่าขั้นปัญญา สติต้องตามแนบไปเรื่อย ๆ เป็นผู้คุมงาน เมื่อพิจารณาเห็นประจักษ์ในสิ่งใด อันเป็นขั้นเริ่มแรกพอให้เกิดความแปลกประหลาดหรือเกิดความซึ้งในใจ ว่าเป็นอย่างธรรมท่านว่าจริง ๆ

เช่น ทุกฺขํ โอ๋ ความทุกข์นี้เป็นของจริง  ตามหลักท่านกล่าวไว้ในอริยสัจ ๔  ว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์ก็เป็นของจริง นี่เป็นความจำได้ของเราที่เรียนมา หรือได้ยินได้ฟังจนชินปากชินหูชินใจ แต่เมื่อปฏิบัติเข้าไปจนทราบความจริงของทุกข์ด้วยปัญญาจริง ๆ แล้วก็เข้าถึงหนองอ้อในขั้นเริ่มแรกว่า อ้อ

        คำว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นความจริงเป็นอย่างนี้เหรอ นั่นที่นี่ เมื่อเข้าถึงทุกข์เป็นความจริงแล้ว ระหว่างทุกข์กับจิตก็ไม่กระทบกระเทือนกัน จึงเรียกว่าความจริง ถ้ายังมีการกระทบกระเทือนกันอยู่ ความจริงยังไม่สมบูรณ์ ปัญญาขั้นเริ่มแรกเราต้องพาคิด ไม่คิดไม่ได้ โดยลำพังสมาธิเกิดขึ้นแล้วปัญญาจะตามมาเองนั้น อันนี้เป็นความคาดคิดของบุคคลของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย โดยอาศัยหลักธรรมที่ท่านแสดงไว้นั้น ซึ่งไม่ทราบความหมายอย่างแท้จริงของหลักธรรมนั้น ๆ เลย

        จึงมีความหมายไปว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส. สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก  ปญฺญาปริภาวิตํ  จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ. จิตอันปัญญาอบรมแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นี่เป็นหลักธรรม

แต่ผู้พิจารณาตีความหมายผิดไปจากหลักธรรม เพราะไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้เข้าใจ จึงไม่ตรงตามความจริงของพระพุทธเจ้าที่ประทานธรรมไว้นี้ด้วยภาคปฏิบัติซึ่งพระองค์ผ่านมาแล้ว เรามีแต่เรียนแต่ชื่อแต่นามของธรรมเฉย ๆ ไม่ได้สัมผัสกับความจริงจากการปฏิบัติ จึงตีความหมายไปผิด ๆ ถูก ๆ ได้

        สมาธิที่ศีลอบรมแล้ว นั่นก็หมายถึงศีลของเราดีอยู่แล้ว เมื่อคิดไปทางด้านศีลก็ไม่เกิดความร้อนเนื้อร้อนใจ ตั้งหน้าทำสมาธิให้มีความสงบ ถ้ามีศีลอยู่ด้วยดี หากว่าเราไม่ตั้งหน้าตั้งตาทำสมาธิมันก็ยุ่งอยู่ตลอดเวลายิ่งกว่าลิงเป็นไหน ๆ เพราะฉะนั้นการที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิจึงต้องอาศัยวิธีการต่าง ๆ ดังที่เคยทราบกันแล้วว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง เพื่ออะไร เพื่อจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติทั้งหลายซึ่งมีนิสัยต่าง ๆ กัน จะได้หยิบยกเอาตามความถนัดของตน ในบทใดอาการใดก็ตามแห่งกรรมฐานทั้ง ๔๐ บทนั้น จะเอาบทใดก็ได้ นี่ความหมายว่าอย่างนั้น แล้วนำมาบริกรรมภาวนาภายในจิตด้วยความมีสติ

        เอาจริงเอาจังในขณะที่ทำ อย่าให้สติเผลอไปที่อื่นที่ใด ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำ ไม่ถือกิจอื่นงานใดสำคัญยิ่งกว่างานนี้ ในขณะที่บริกรรมภาวนานั้นก็ให้ทำความรู้สึกในตัวเองว่า เหมือนโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลย มีแต่ความรู้กับคำบริกรรมที่สัมผัสกันอยู่เพียงแย็บ ๆ นี้เท่านั้น เราอย่าคิดว่าโลกนั้นมีโลกนี้มี สิ่งนั้นมีสิ่งนี้มี สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ นี่เป็นความคิดที่ถูกผลักดันออกมาจากกิเลส ให้วาดภาพหรือปรุงแต่งขึ้นมารบกวนงานของตนให้เสียไป แล้วจะไม่เกิดความสงบแต่อย่างใด

        เมื่อจิตแย็บออกไปปรุงออกไปข้างนอกก็ต้องมีความหมายขึ้นมาทันที ความหมายนั้นแลเป็นเครื่องกวนใจให้ใจได้คิด ให้ใจได้วุ่นกับความหมายนั้น ให้ใจมีความรู้สึกกับความหมายนั้นสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ เรื่องนั้นแล้วเรื่องนี้ต่อกันไป งานของตัวที่ให้มีความรู้สึกอยู่กับงานด้วยสติเลยไม่ปรากฏ อย่างนี้จิตก็เป็นสมาธิหรือหยั่งสู่ความสงบไม่ได้

        เพราะฉะนั้นในขณะที่ทำเพื่อผลเป็นที่พึงใจ เราจึงทำความเข้าใจกับตนเองไว้เสมอว่า โลกนี้จะมีอยู่กี่โลกก็ตาม กว้างแคบขนาดไหน สิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้มีอะไรบ้างก็ตาม ในขณะที่ทำจิตตภาวนานั้นให้ทำความรู้สึกอยู่กับคำบริกรรมของตน สมมุติว่าผู้บริกรรมธรรมบทใดก็ให้มีแต่ธรรมบทนั้น กับความรู้สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ ด้วยความมีสติรักษาอยู่เท่านั้น เหมือนกับโลกไม่มีเลย มีเพียงนั้นเท่านั้น ถ้าผู้ได้ทำความเข้าใจตนอยู่อย่างนี้แล้ว จิตที่จะคิดปรุงออกไปเรื่องภายนอกก็รู้กันได้ทัน ไม่ยอมให้คิด ความผลักดันของจิตที่จะคิดปรุงออกมาย่อมทราบด้วยสติ ถ้าเรามีสติอยู่กับตัวต้องทราบ

        นี่เคยปฏิบัติมาแล้วใครจะโกหกไม่ได้ มันเป็นความผลักดันออกมา เหมือนอย่างปลามันผุดน้ำ มันผุดแย็บ ๆ ถ้าเราเผลอมันก็ติดต่อกันไปเรื่อย ถ้าไม่เผลอมันก็เป็นลักษณะเหมือนหนุน ๆ ขึ้นมาจะปรุง พอเราทราบแล้วมันก็หยุด แล้วก็หนุนขึ้นมาเหมือนจะปรุง แย็บแล้วดับทันที ถ้าหากมันจะปรุง มีความผลักดันออกมาเพื่อจะปรุงและมีกำลังมาก ก็ให้เร่งคำบริกรรมของตนให้หนักมือเข้า และตั้งความสนใจให้มากยิ่งขึ้น อันนี้ก็ชนะความจะปรุงอันนั้น

        ความปรุงในคำบริกรรมนี้เป็นธรรม แต่ความคิดปรุงของจิตที่สอดแทรกขึ้นมาในขณะที่เราทำบริกรรมภาวนานั้นเป็นเรื่องของกิเลส ให้พึงทราบเอาไว้ อย่าให้ความปรุงเรื่องของกิเลสนั้นขึ้นมาแทรก หรือมาทำลายความปรุงของธรรมที่กำลังบริกรรมอยู่นั้น ให้ทำเหมือนกับว่าโลกนี้ไม่มีอันใด แม้ที่สุดร่างกายของตัวเองก็ไม่สนใจ สนใจเฉพาะคำบริกรรม คือสมมุติว่า พุทโธ ก็ให้มีความรู้สึกอยู่กับคำว่า พุทโธ ๆ อย่างเดียวเท่านั้น จิตต้องรวมต้องสงบได้ไม่เป็นอื่น

ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือ อย่าคาดผลที่จะปรากฏขึ้นจากการภาวนาของตน จะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้นี้เป็นผู้สร้างเหตุอยู่แล้ว ผลจะเป็นที่นี่เองโดยเราไม่ต้องตกแต่ง เพราะความตกแต่งก็คือการทำบริกรรม นั่นเป็นการตกแต่งผลอยู่แล้ว ให้ฝึกอย่างนี้

        ผู้กำหนดอันใดก็ตาม ให้พึงทำในลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ว่าขั้นเริ่มแรกแห่งความสงบด้วยคำบริกรรม หรือขั้นที่มีความสงบไปโดยลำดับแล้ว ให้พึงทำความเข้าใจอย่างนี้ เหมือนกับโลกไม่มี นี่เป็นข้อสำคัญ ถ้าเป็นดังที่กล่าวมานี้จิตจะมีความสงบ และสงบแนบแน่นเข้าไปโดยลำดับไม่สงสัย เช่น กำหนดลมหายใจ ก็ให้รู้อยู่กับลมเท่านั้น ไม่ได้คิดว่าลมออกไปที่ไหน เข้าไปถึงไหน ให้ทราบแต่ความสัมผัสของลม  โลกอันนี้ไม่มีอันใดเลย มีแต่ความสัมผัสระหว่างลมกับความรู้ที่รับทราบกันแย็บ ๆ หายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น อันนี้ก็สงบได้ง่าย

        ให้ระวังความรู้สัญญาสำคัญมาก จะคอยมาสอดแทรก หมายนั้นหมายนี้ ทำลายงานของเราให้เสียไป อันนี้สำคัญอยู่มากทีเดียว นี่เคยปฏิบัติมา พุทโธก็เคยปฏิบัติ อานาปานสติก็เคยปฏิบัติเคยทำ เพราะทำตามจังหวะ เบื้องต้นคำบริกรรมพุทโธนี้เป็นนิสัยติดสันดานจริง ๆ ครั้นต่อมาเมื่อมีช่องมีทางมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ในโอกาสเหมาะสมที่ควรจะกำหนดอานาปานสติ เพื่อให้รู้เรื่องของอานาปานสติเราก็ทำของเรา ทำไปจนกระทั่งถึงหมดลมจริง ๆ เราก็ทำ

        หมดจริง ๆ ไม่มีเหลือ ในความรู้สึกว่าหมด หมดจนกระทั่งหายไปเลยในขณะนั้น และนอกจากลมหมดแล้วยังทราบอีก ในจุดที่จะทำให้เป็นมารหรือเป็นอุปสรรคแก่ผู้บำเพ็ญอานาปานสติ คือพอลมหมดไปแล้วนั้น เนื่องจากจิตไม่เคยเป็น เนื่องจากจิตไม่เคยบำเพ็ญ จึงไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าเหตุผลกลไกจะเป็นประการใดบ้าง เลยเกิดความตกใจในขณะที่ลมหมดไปในความรู้สึกนั้นว่า เอ๊ นี่จะไม่ตายหรือนี่ ลมหมดไปแล้ว เพียงเท่านี้ก็เป็นการเขย่าจิตให้กระเพื่อมตัวขึ้นกลับคืนมา ลมก็ปรากฏมีเสีย เพื่อตัดปัญหาข้อนี้ ให้ผ่านไปได้ตามความสะดวก ความเป็นจริงของจิตของลมแล้ว ลมจะหายไปไหนก็หายไปเถอะ เมื่อผู้รู้ยังครองร่างอยู่แล้วจะไม่ตาย

        เราภาวนาเวลานี้เราไม่ได้ภาวนาเพื่อเป็นเพชฌฆาต อานาปานสติไม่ใช่เพชฌฆาต คำบริกรรมประเภทต่าง ๆ ไม่ใช่เพชฌฆาต แม้ลมจะดับไปก็ดับไปเถอะ เวลาเราหลับไปไม่เห็นคำนึงลม จนกระทั่งตื่นขึ้นมาเราถึงได้ทราบว่าลมมันหายหรือไม่หาย ตอนนั้นเราไม่เห็นคำนึง นี่เราก็จะไม่คำนึงลม เราจะคำนึงแต่เรื่องธรรมแง่เดียวเท่านั้น คือจิตโดยเฉพาะ ลมจะหายไปไหนก็หาย เพียงเท่านี้ก็ผ่านไปได้ โล่งไปหมดเลย แน่ะ นี่อธิบายให้ฟังสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจยังมีอยู่มาก

        วิธีการปฏิบัติ ไม่ว่าจะภาวนาในแง่ใด เช่น อานาปานสติเป็นสำคัญ เวลาลมหมดไป สร้างอุปสรรคขึ้นแก่ตนด้วยความกลัวตายนั้นแหละ ความกลัวตายนี่เหลือเกิน มันเป็นนิสัยสันดานของสัตว์โลก ไม่ว่าท่านว่าเราเป็นเหมือนกัน ไม่ต้องไปเรียนกันที่ไหน แม้แต่สัตว์เขาก็รู้กลัวตาย นี่เมื่อลมหมดไปในความรู้สึกเท่านั้นก็กลัวตาย จึงสร้างอุปสรรคให้ตนเองเสีย ไปได้แค่นั้นก็หยุด ๆ ไม่เลย ถ้าปัญหานี้ยังแก้ไม่ตก เพราะฉะนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ว่านี้ ถึงลมจะหมดก็หมดไปเถอะ เมื่อผู้รู้ยังครองร่างอยู่นี้แล้วไม่ตาย เท่านั้นก็ผ่านไปได้ตามความสะดวกสบาย ตามหลักธรรมชาติของการภาวนา

        นี่เราพูดถึงเรื่องสมาธิ ที่จะให้เกิดปัญญาต้องใช้ความใคร่ครวญ ความพินิจพิจารณา มีการบังคับบัญชากันในปัญญาขั้นเริ่มแรก เช่นเดียวกับสมาธิขั้นเริ่มแรกต้องมีการบังคับบัญชากันอย่างหนัก จนกว่าจิตจะมีความสงบร่มเย็นกลายเป็นสมาธิ และสร้างฐานของตนขึ้นมาด้วยความมั่นคงได้

จากนั้นก็เริ่มปัญญา การพิจารณาปัญญาก็ต้องพิจารณาด้วยความบังคับเหมือนกัน เราอย่าเข้าใจว่าเมื่อมีสมาธิแล้วปัญญาจะตามมาเอง นั้นเป็นความเข้าใจผิด ส่วนมากคิดกันอย่างนั้น เพราะคิดเอา ไม่ใช่เป็นด้วยหลักธรรมชาติแห่งการปฏิบัติ รู้เห็นด้วยการปฏิบัติ ถ้าในภาคปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนั้น สมาธิจะมีอยู่มากน้อย ถ้าไม่ใช้ปัญญาเลยก็เป็นแต่สมาธิอยู่อย่างนั้นเอง

        เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ปัญญาให้เป็นปัญญา โดยอาศัยสมาธิซึ่งมีความอิ่มตัวอยู่แล้วด้วยความสงบ ไม่หิวโหยกับอารมณ์ ไม่ส่ายแส่ไปนั้นไปนี้ เวลาเราบังคับให้ทำงานอะไรก็เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ระเหเร่ร่อนเพราะความหิวโหยบังคับ เนื่องจากสมาธิคือความสงบใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว นี้แหละที่ท่านว่าสมาธิอบรมปัญญา

คืออบรมนี่น่ะเป็นเครื่องหนุนปัญญาให้ได้ทำงานด้วยความสะดวก พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น ถ้าไม่มีสมาธิไม่มีความสงบเลยนั้น พิจารณาอะไรมักเป็นสัญญาไปเสีย เป็นสัญญาอารมณ์ เพราะความหิวโหยของจิตพาให้คิดให้เร่ร่อน ออกจากหลักของปัญญาไปกลายเป็นสัญญาอารมณ์ไปเสีย เลยไม่ได้เรื่อง

        เพราะฉะนั้นสมาธิกับปัญญาจะแยกไม่ออก ใครจะเดินลัดเดินตัดไปไหน ว่าเก่งขนาดไหน ก็ไม่มีใครเหนือศาสดา อันนี้เป็นพระศาสดาเป็นผู้ทรงบัญญัติไว้แล้ว ด้วยทรงรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรไปเอามาสนใจ เรื่องที่ว่าตัดลัดเอาเลย เดินวิปัสสนาล้วน ๆ ซึ่งได้ยินอยู่มากมายเวลานี้มีเกลื่อน นี่ละกรรมฐานเป็นอย่างนี้ มันเก่งกว่าครู

        คำว่าสมาธิก็ได้แก่ความสงบใจ ความสงบใจนั้นก็คือความมีพื้นฐานของจิต เมื่อสงบไปมาก ๆ ก็เป็นพื้นฐาน มีความหนาแน่นมั่นคง เป็นความสงบในพื้นฐานของตัวอยู่ภายในใจ นี้เรียกว่าเป็นสมาธิแล้ว จะทำหน้าที่การงานอะไรในการพินิจพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ อสุภะอสุภัง เป็นไปได้ทั้งนั้น

        อสุภะก็ได้ทั้งภายนอกได้ทั้งภายใน ดังที่ท่านสอนให้เยี่ยมป่าช้า รูปใดที่มันเป็นพิษ ถูกเนื้อต้องใจ มีความปฏิพัทธ์ มีความยินดีเป็นอารมณ์ มาสัมผัสใจอยู่เสมอ มากวนใจอยู่เสมอ นั้นแหละให้เอารูปอันนั้นแหละมาพิจารณาคลี่คลายออกจนเห็นชัดเจน แล้วอารมณ์ที่มากวนใจเกี่ยวกับรูปนั้นก็หายไป และออกจากนั้นเข้ามาพิจารณาตัวเองให้เป็นลักษณะอย่างนั้นขึ้นมา เทียบเคียงกันได้ทุกสัดทุกส่วน หลายครั้งหลายหนก็เข้าใจ

เมื่อเข้าใจซึ้งเต็มที่แล้วปล่อย  ทั้งเรื่องนอก  ทั้งภาพนอกภาพใน  รูปนอกรูปใน อสุภะนอกอสุภะใน ปล่อยวางได้โดยสิ้นเชิง ที่นี่ไม่ไป ไปทางอสุภะก็ไม่ไป  เวลาพอตัวแล้วสุภะก็ไม่ไปอสุภะก็ไม่ไป ผ่านออกช่องกลางนั้นเลย

        นี่เรียกว่ามัชฌิมาตามเรื่องของจิต มัชฌิมาหนึ่งคือเครื่องดำเนิน มัชฌิมาที่ผ่านไปได้เพราะการดำเนินถูกทางนี้เรียกว่ามัชฌิมาของจิต จนกระทั่งถึงมัชฌิมาในหลักธรรมชาติคือความบริสุทธิ์แล้ว ไม่เอียงรักเอียงชัง ไม่เอียงไปทางดีทางชั่ว เสมอตัวอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องบังคับ เป็นหลักธรรมชาติแห่งความจริงของตนโดยสมบูรณ์ นี่เรียกว่ามัชฌิมาในหลักธรรมชาติ

        เรากล่าวในเบื้องต้นกล่าวเรื่องมัชฌิมา บรรดาท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจว่า มัชฌิมานั้นตามขั้นของกิเลส กิเลสหยาบเอามัชฌิมาอย่างหนัก เครื่องมือหนักใส่กัน กิเลสค่อยเบาบางลงไปเครื่องมือก็ค่อยเบาบางลงไป การพิจารณาก็อย่างนั้นเหมือนกัน ในขั้นสมาธิกิเลสมันหนาก็ต้องใช้ข้อบังคับคำบริกรรมอย่างที่ว่าละ ตั้งท่าตั้งทางเหมือนจะเข้าสู่สงคราม เอาเป็นเอาตายกันจริง ๆ สติกับคำบริกรรมให้ติดกันแนบไปเลย ไม่ยอมให้มีโอกาสพอความคิดปรุงต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสแทรกออกมาได้เลย นี้จิตก็สงบได้ นี่ก็ใช้มัชฌิมาแบบนี้

        ถึงขั้นปัญญาก็เหมือนกัน ขั้นที่ผาดโผนที่สุดก็ขั้นพิจารณาร่างกาย เกี่ยวกับเรื่องอสุภะอสุภังนี่ปัญญาผาดโผน บางทียังกระเทือนตัวเอง เหมือนกับตัวไหวไปเหมือนกัน เราเคยทำมาแล้ว จนกระทั่งเข้าใจได้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วปล่อยวางลงตามสภาพ ทั้งสุภะทั้งอสุภะไม่ยึดทั้งสองฝ่าย เดินผ่านไปในท่ามกลางนั้นด้วยความปลอดภัย และเข้าใจได้อย่างชัดเจนทั้งสองภาค

        การพิจารณาทางด้านปัญญาให้พิจารณาเอง บังคับให้พิจารณา อย่ารอให้สมาธิมาผลิตขึ้นให้เป็นปัญญาอย่างเดียวจะหมดหวัง ไม่เกิดประโยชน์อะไร เรื่องสมาธิจะมาผลิตปัญญาให้เกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ ต้องปัญญาเป็นผู้ผลิตความเฉลียวฉลาดขึ้นใส่ตัวเองเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงจิตได้เห็นเหตุเห็นผลของตนประจักษ์ไปโดยลำดับแล้วนั้น ปัญญาจะออกเดิน ดำเนินเองทีเดียว จนกลายเป็นปัญญาอัตโนมัติ

เมื่อปัญญาจะเป็นอัตโนมัตินี้ก็เกี่ยวกับเรื่องมันปล่อยอะไร ๆ ไปหมดไปแล้ว เหลือแต่เรื่องขันธ์ รูปก็พิจารณาชัดเจนแล้ว ตั้งแต่เรื่องอสุภะอสุภังผ่านไป รูปนี้ก็หมดความหมายไปแล้ว เข้าใจชัดเจน

        ที่มันยังสัมผัสสัมพันธ์ยุ่งกันอยู่ก็คือ เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ เฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ในขณะที่นั่งภาวนาหรือเจ็บไข้ได้ป่วยมีทุกข์มาก ๆ เหล่านี้จิตจะเขวไปได้ ถ้าหลักใจไม่มีในตอนนี้ หรือปัญญาไม่ทันกันกับทุกขเวทนา เสียท่าได้ ถ้าปัญญาทันกันแล้วไม่เสีย ทุกขเวทนายิ่งเป็นหินลับได้ดีจนเข้าถึงความจริง เข้าใจเรื่องทุกขเวทนาเป็นของจริงอย่างเต็มที่ เพราะพิจารณาเวทนานั่นเอง

พิจารณาเวทนาแล้วพิจารณากาย แยกดูกายแยกดูเวทนา เพราะมันสัมผัสสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ แล้วดูใจ ๓ ประเภทนี้ จนกระทั่งเข้าใจแล้วทุกขเวทนาก็จริง กายก็จริง จิตก็จริง ต่างอันต่างจริงแล้วมีกี่ชิ้นกี่อันก็ไม่กระทบกระเทือนกัน นี่คือ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ เป็นอย่างนี้ มคฺค อริยสจฺจํ ก็หมายถึงปัญญานั่นเอง ปัญญาชอบถึงจะรู้เท่าทันเรื่องของทุกข์ของกิเลสทั้งหลายได้เป็นลำดับ ๆ ถ้าปัญญาไม่ชอบจะรู้เท่าทันไม่ได้

        ต้องอดต้องทนนักปฏิบัติ ต้องเป็นนักใคร่ครวญสังเกตพินิจพิจารณาทั้งภายนอกภายใน อย่าอยู่เฉย ๆ ทำงานหยาบก็ตามให้มีปัญญารอบตัวอยู่เสมอกับงานนั้น ๆ มีสติอยู่เสมอ เมื่อเข้ามาใช้ในวงในคือจิตตภาวนาล้วน ๆ จะเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายและง่ายกว่าที่เราปล่อยจิตให้เร่ ๆ ร่อน ๆ จนกว่าจะจับเข้ามาใส่คอก บางทีเลยไม่ได้ หายเงียบไปไหนก็ไม่รู้ หรือเขาเอาขึ้นเขียงแล้วก็ไม่ทราบ เหมือนสัตว์พาหนะที่ปล่อยให้เป็นไปตามใจของมัน เลยไม่กลับบ้านกลับเรือนไม่เข้าคอกเข้าหลักแหละ บทเวลาจะเข้าก็เข้าหม้อเขา ๆ นี่ก็ให้กิเลสเอาไปต้มเสียจนแหลกจะว่ายังไง

        การปฏิบัติให้ใช้ความพินิจพิจารณา ใช้ความอดความทน พระพุทธเจ้าเป็นนักอดทน เพียรก็ทรงทำมาแล้วถึงได้สอนเรื่องความเพียร การอดทนก็ทรงบำเพ็ญมาแล้ว เห็นผลแล้วจึงทรงสอนการอดทน ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันเป็นพละ ๕ ทรงเป็นกำลังในพระองค์แล้วด้วยธรรมเหล่านี้ จนสามารถแก้กิเลสได้ จึงนำมาสอนบรรดาสัตว์ ให้เราถือเป็นสำคัญ ดำเนินตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อย่าลืมคำว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ทั้งความฝากเป็นฝากตายในพระองค์ ทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนิน ให้มองดูเข็มทิศทางเดินที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วอย่างใดเสมออย่าลดละ นี่เป็นหลักสำคัญ การปฏิบัติก็จะราบรื่นดีงาม

        สิ่งที่วิตกวิจารณ์กับเพื่อนฝูงมากก็คือเรื่องปัญญา เพราะเห็นความเคลื่อนคลาด ทั้งหยาบ ๆ เหยิบ ๆ อะไรก็เห็นอยู่อย่างตำตาทุกเวลา จึงทำให้เกิดความอ่อนใจเหมือนกัน น่าจะคิดก็ไม่คิดอันนี้แหละสำคัญ  แล้วปัญญานั้นแลที่จะเข้าไปแก้กิเลส เพียงหยาบ ๆ ก็ยังไม่เข้าอกเข้าใจแล้วจะเอาอะไรไปแก้ สิ่งที่ละเอียดแหลมคมยิ่งกว่านั้นยังมี คือตัวกิเลสแหลมคมมาก มีแต่ธรรมเท่านั้นที่แหลมคมเกินกว่ากิเลสจะทนทานได้ นอกนั้นไม่มี

        ให้พากันตั้งอกตั้งใจพินิจพิจารณา อย่านอนใจในหน้าที่ของตน ความเป็นอยู่ปูวายอะไรญาติโยมเขารับรองหมดแล้ว ยิ่งวัดป่าบ้านตาดนี้ท่วมทั้งวันทั้งคืน อะไรต่ออะไรก็เต็มไปหมด จนผู้มาปฏิบัติอยู่ที่นี่อาจจะไม่เข้าใจว่ากรรมฐานท่านดำเนินแต่ก่อนเป็นอย่างไร หรือนึกว่าจะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น สมบูรณ์ไปหมด ไม่เป็นอย่างนั้น ธรรมเจริญขึ้นในสถานที่ที่อดอยากขาดแคลน สถานที่ลำบากลำบนทนทุกข์ทรมาน ธรรมไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความอิ่มหนำสำราญ เกิดขึ้นด้วยความผาสุกสบายอยู่เฉย ๆ ให้พากันเข้าใจตรงนี้

เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก