เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
บ๋อยกลางเรือนของกิเลส
เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าสั่งสอนโลก ทรงทุ่มเทเสียสละไม่มีใครเสมอเหมือนได้เรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งความเป็นพระโพธิสัตว์ คือพระเวสสันดร ก็ดูเอาตามตำรา กระเทือนทั่วโลก การเสียสละสมบัติอันมีคุณค่ามหาศาลทั้งมวล ก็เพราะพระเมตตานั่นเองที่ทำให้เป็นไป ไม่ใช่อะไร คือทรงให้ทานด้วยพระเมตตา เวลาเสด็จออกทรงผนวชก็ทรงเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อโพธิญาณ แม้มีความลำบากลำบนแสนสาหัสก็ไม่ทรงท้อถอย จนได้ตรัสรู้ธรรมเป็นศาสดาสมพระทัยหมาย แล้วนำธรรมออกสั่งสอนโลก โดยไม่มีโลกามิสเจือปนในพระทัยเลย พระทัยเต็มไปด้วยพระเมตตาล้วน ๆ ต่อสัตว์โลกทั้งมวล
พอตรัสรู้แล้วก็ทรงเล็งญาณดูสัตวโลกว่าใครจะได้บรรลุธรรมก่อน ก็ทรงทราบว่าดาบสทั้งสองคือ อาฬารดาบสและอุทกดาบสรามบุตร ควรจะบรรลุธรรมก่อนใคร ๆ แต่ก็ทรงทราบว่า ดาบสทั้งสองสิ้นชีวิตเสียแล้วตั้งแต่วานนี้น่าเสียดาย ก็ทรงเห็นปัญจวัคคีย์ทั้งห้าว่าจะได้บรรลุธรรมวิเศษในไม่ช้า
นั่นฟังซิ พระองค์ทรงเล็งหัวใจคน ไม่ได้เล็งหาเงินหาทอง หาข้าวหาของ หาความเคารพนับถือ หาลาภสักการเหมือนอย่างที่กำลังเป็นไปอยู่ทุกวันนี้ มันผิดกันไหมโลกสมัยโน้นกับโลกปัจจุบัน ศาสนาแต่ก่อนกับศาสนาสมัยทุกวันนี้ ผู้ปฏิบัติศาสนาแต่ก่อนกับพวกเราปฏิบัติศาสนาทุกวันนี้ ศาสนธรรมเป็นธรรมจริง ๆ ผู้ทรงธรรมทรงและเทิดทูนธรรมไว้จริง ๆ ปฏิบัติธรรมจริง ๆ เจตนาเป็นธรรม หัวใจเป็นธรรม เกี่ยวข้องกับผู้ใดเป็นธรรมทั้งนั้น ไม่มีโลกเข้าเจือปน ผู้ปฏิบัติธรรมแท้และธรรมแท้เป็นอย่างนั้น ท่านปฏิบัติกันมาอย่างนั้น ในตำรับตำรามี เวลาอ่านสังเกตด้วยดีถ้าอยากพบอยากเห็น อยากได้ของดีของจริง อย่าสักแต่อ่าน สักแต่ปฏิบัติเหมือนนกขุนทอง แก้วเจ้าขา เฉย ๆ
เพราะฉะนั้น พระสาวกไปที่ไหนจึงทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้มากมาย ไม่ไปรบกวนสิ่งใดกับใคร ๆ กวนเรื่องโลกามิส ท่านไม่ได้กวน มีแต่ความสงเคราะห์โลกด้วยความเมตตา ไม่ได้กวนโลก การก่อการสร้างอะไรก็ไม่หรูหรา ไม่มีโลกเข้าเจือปน พออยู่พออาศัยพอเป็นพอไป ท่านบอกไว้ในเวลาบวชก็บอก ว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ แน่ะฟังซิ ไม่ได้บอกให้สร้างหอปราสาทราชมนเทียรอยู่สะดวกสบาย แบบโลกเขาทำเขาอยู่กัน รุกฺขมูลเสนาสนํ ก็คือการเที่ยวอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ตามป่าตามเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา อันเป็นที่สะดวกในการประกอบความเพียร เพื่อถอดถอนกิเลสตัวยุแหย่ก่อกวนทำลายออกจากใจ เพื่อความเห็นโทษเห็นภัยของวัฏสงสาร การปฏิบัติธรรมทุกด้านจะได้เข้มแข็ง ความเป็นอยู่ใช้สอยในปัจจัยสี่ก็พอยังชีวิตอัตภาพให้เป็นไปวันหนึ่ง ๆ ก็พอกับความจำเป็น เพื่อการปฏิบัติธรรมด้วยความสะดวกราบรื่นตามความมุ่งหมายเป็นสำคัญ
การส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาก็เพื่อธรรมล้วน ๆ เพื่อหัวใจคนโดยแท้ ไม่ได้เพื่อโลกามิสใด ๆ เราลองเทียบดูซิครั้งพุทธกาลกับสมัยปัจจุบัน เพราะมีแบบแผนตำรับตำราอยู่แล้ว ใคร ๆ ก็เห็นไม่น่าสงสัย ท่านอยู่กันยังไง ท่านปฏิบัติกันยังไงหัวใจเป็นธรรมหรือเป็นกิเลสก็พอทราบได้ แม้แต่บิณฑบาตก็ยังมีในตำราบอกเตือนไว้เพื่อเป็นคติตัวอย่างอันดีแก่พวกเรา มีพระในครั้งพุทธกาลท่านเคยปฏิบัติต่อท่านมาแล้ว ขณะไปบิณฑบาตจิตคิดปรุงแย็บออกไปถึงเรื่องอาหาร วันนี้จะได้อาหารดี ๆ อะไรมาฉันบ้างนา พอรู้สึกอย่างนั้นท่านหยุดทันที ไม่ไปบิณฑบาตเลยวันนั้น ก็มันไปเพื่อพุงนี่ ไม่ได้ไปเพื่อธรรม ท่านเลยหยุด ไม่ไปให้กิเลสให้พุงมันได้ใจ นี่มีในตำราในคัมภีร์ นั้นแลท่านดัดสันดานกิเลสตัวโลภในโลกามิส เพราะความเป็นเช่นนั้นเป็นเรื่องของกิเลส การแก้กิเลสท่านย่อมเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นภัย ท่านถึงได้เป็นสรณะของพวกเรา สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรา จะเป็นใครที่ไหน ความโลภมันเป็นสรณะให้โลกร่มเย็นได้เมื่อไรพอจะ สรณํ คจฺฉามิ กับมัน
เราทั้งหลายแม้แต่เป็นสรณะของตัวเองก็ยังไม่ได้ จะไปเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ แก่ประชาชนญาติโยมได้ยังไง เป็นสรณะเจ้าของก็ยังไม่ได้ ช่วยตัวเองก็ยังไม่ได้มันผิดกัน ศาสนาค่อยเปลี่ยนแปลงมา ๆ ทั้ง ๆ ที่คัมภีร์ใบลานก็ยังมีอยู่ แบบแผนตำรับตำรามีอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่การปฏิบัติของผู้ถือ กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ มันก็เป็นข้าศึกต่อธรรมและต่อตัวเองอยู่โดยดี การแสดงออกทางกายทางวาจาทางใจ ก็เป็นข้าศึกแก่ตัวแก่ธรรมและแก่มรรคผลนิพพาน เป็นการเข้าฝ่ายกิเลสอยู่เสมอ จะเอามรรคผลนิพพานมาจากไหน กิเลสไม่เคยให้คนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน นอกจากธรรมเครื่องฆ่ากิเลส มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น เท่านั้น ที่จะผลิตมรรคผลนิพพานแก่ผู้ปฏิบัติตาม ไม่ได้สำเร็จด้วยการอนุโลมผ่อนผัน อันเป็นการคล้อยตามกิเลสหรือส่งเสริมกิเลสทั้งหลายแต่อย่างใด ผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรสนิทติดจมกับนิสัยเดิม อันเป็นพื้นเพของกิเลสปูลาดเอาไว้
ผู้ปฏิบัติอย่ามองไปอื่น ให้มอง พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นหลักสำคัญ ความพึ่งเป็นพึ่งตายกับท่านภายในจิตใจก็พึ่งอยู่แล้ว ความพึ่งเป็นพึ่งตายกับท่านด้วยข้อปฏิบัติที่ท่านชี้แจงแสดงไว้ ที่ท่านพาปฏิบัติดำเนินมา จงยึดธรรมเหล่านั้นเป็นหลักใจหลักการปฏิบัติ อย่าปล่อยมือรามือ
โลกก็อย่างที่รู้ที่เห็นนี้แหละ เพราะเราแต่ละรายเป็นโลกด้วยกัน คือโลกด้วยกัน ใครจะเสกสรรปั้นยอว่าดีอย่างไรขนาดไหน ก็อย่างที่รู้ ๆ เห็น ๆ นี่แหละ ไปตื่นอะไรกัน คนนั้นเป็นนั้น คนนี้เป็นนี้ ก็ว่าไปอย่างนั้นแล ใจคนปากคนเรามันชอบยอ ได้กินแต่ลมก็เอา เขายกย่องสรรเสริญว่าเป็นนั้นเป็นนี้ ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ โฮ้ย ผึ่งผาย สง่าผ่าเผยราวกับจะเหาะจะบิน ร่างกายธรรมดาก็ปรากฏขยายตัวใหญ่โต หน้าก็สี่หน้าห้าหน้า ราวกับท้าวมหาพรหมในเทวโลก พอตกอับเปลี่ยนแปลงไปตามกฎ อนิจฺจํ ไม่มีผู้นับถือ ไม่มีใครเหลียวแล เอาแล้วที่นี่ เกิดความโศกเศร้าเหงาหงอย เพราะคิดว่าไม่มีใครนับถือชูหน้าชูตาเหมือนแต่ก่อนที่เรืองอำนาจวาสนา คิดกอบโกยหาแต่ทุกข์มาใส่ตัว บางกรณีกินไม่ได้นอนไม่หลับ สลับกันไปกับโรคประสาท นั่นพิจารณาซิโลกมันเป็นอย่างนั้น ฟูขึ้นแล้วก็ฟุบลง ๆ อยู่อย่างนั้น ท่านจึงเรียกโลกธรรม หาความจริงจังแน่นอนกับมันไม่ได้
โลกธรรมจะเป็นอะไร ก็เป็นเรื่องของกิเลสนั่นแล ผู้จะรู้โลกธรรมแก้โลกธรรมได้ก็ต้องเป็นผู้เรียนธรรม ปฏิบัติธรรม ดังพระพุทธเจ้าแลสาวกเป็นตัวอย่าง ท่านอยู่เหนือโลกธรรมแล้วแสนสบายหายวุ่น พวกเรามันพวกเทิดทูนโลกธรรมไว้บนศีรษะ จึงพากันแบกแต่โลกธรรมหนักอึ้งตลอดไป ไม่มีเวลาสร่างซาลงบ้างเลย
ฉะนั้น จงยึด พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เสมอ อย่าไปมองอะไร อย่าไปตื่นเต้นกับโลกสงสารให้เสียการ เสียเวลาและเสียคนคือเรา ใครจะอยู่โลกใดทวีปใดก็ตาม ความมั่งมีศรีสุขขนาดไหน เรียนมามากน้อย โง่หรือฉลาดแหลมคมเพียงไร ถ้ายังอยู่ใต้อำนาจของกิเลสอยู่แล้ว สิ่งที่กล่าวมาทั้งมวลถูกกิเลสเอาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นบ๋อยกลางเรือนอย่างคล่องตัวนั้นแล แล้วจะหาความสุขที่ไหน ดูในหนังสือพิมพ์นั่นซิ มันน่าดูไหมล่ะ เราดูด้วยความคิดความพิจารณาไม่ลำเอียง ดูหาความจริง พิจารณาตามความจริง และพูดตามเหตุการณ์ที่เป็นไป
ดูเขาถ่ายภาพในหนังสือพิมพ์ ไม่ได้ดูแบบโลก ๆ ดูเป็นแบบธรรม ถึงจะดูหนังสือพิมพ์ก็ไม่เป็นแบบโลก จิตหากเป็นของมันเอง มีแง่ของมันจนได้ อ่านไปพิจารณาไป อ่านไปตรงไหนพิจารณาไปตาม เรื่องความเป็นอยู่ของโลก ความวุ่นวายของโลก ความเปลี่ยนแปลงของโลก มันเปลี่ยนแปลงไปทางไหน มันวุ่นวายไปยังไง มันจะมีสาเหตุนำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์ ความมีหลักเกณฑ์หรือความเหลวไหลไร้สาระ ความแน่นหนามั่นคงหรือความล้มละลาย
เวลาชุมนุมก็ถ่ายภาพมือถือแก้ว แก้วอะไรก็ไม่รู้แหละ แก้วเบียร์ แก้วน้ำชาหรือแก้วเหล้าอะไรก็ไม่รู้แหละ ต่างคนต่างถือ แล้วยิ้มแต้ทำท่าน่ารื่นเริงเหมือนมีความสุขมาก ความจริงมันเป็นเพียงกิริยาประดับหน้าร้านเท่านั้น เรื่องของโลกย่อมมีมายาแฝงเสมอ ไม่งั้นก็ไม่เรียกว่าโลก ภายในหัวใจนั้นไม่มีความสุข เพียงยิ้มออกมาแห้ง ๆ อย่างนั้นแล แต่มันเป็นไฟไหม้กองแกลบซึ่งต่างก็ร้อนสุมอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ เพราะเหตุร้อยแปดพรรณนาไม่จบสิ้น การแสดงออกต่อสังคมจึงมีทีท่าร่าเริงประดับสังคมให้สวยงาม เพราะการร้องไห้สังคมถือกัน
มันไม่มีใครได้ความสุขชุ่มเย็นภายในใจหรอกในโลกแห่ง ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา หนาแน่นนี้ อย่าไปสงสัยว่าโลกจะมีความสุขอันภูมิฐานดังที่ประมาณกัน ให้คะแนนกัน นิยมกัน ความจริงมันเป็นความฝันในมโนภาพมากกว่าจะเป็นความจริง อย่าเข้าใจว่าโลกคือหมู่สัตว์ มีความสุขเพราะโลภมาก เพราะราคะตัณหามาก เพราะเจ้าอารมณ์มาก เพราะเล่ห์เหลี่ยมมาก เพราะคดโกงมาก เพราะความเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์มาก เพราะกอบโกยมาก เพราะอำนาจมาก เพราะคนนับถือมาก เพราะมีสมบัติเงินทองมาก แต่ความสุขเกิดมีเพราะการปฏิบัติต่อตัวเองด้วยธรรม รู้จักประมาณในสิ่งที่เกี่ยวกับตน ความมีธรรม ความรู้ธรรม เห็นธรรม แก้สิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในจิตใจออก นี้แลบ่อแห่งความสุขอยู่ที่นี่ บ่อแห่งความอบอุ่นอยู่ที่นี่ ความมีหลักเกณฑ์อยู่ที่นี่ บ่อแห่งความไว้วางใจอยู่ที่นี่ บ่อปลดปล่อยภาระทั้งหลายก็อยู่ที่นี่
จงทำงานของเราด้วยธรรมให้สำเร็จ จะอยู่เป็นสุข ไปเป็นสุข แม้ตายก็เป็นสุขเพราะธรรมอยู่ที่ใจ สุขจึงอยู่ที่ใจ มิได้อยู่ที่อื่นและสิ่งอื่น สิ่งเหล่านั้นเพียงอาศัยไปเป็นวัน ๆ เท่านั้น อย่าหลงอย่าภูมิใจ จะเสียหลักและเสียท่า เวลาตายจะไม่มีอะไรติดตัว โลกคือความลึกลับในหัวใจ รู้ได้ยาก ปฏิบัติต่อมันยาก ส่วนมากมักเสียท่าเสียทีให้มันจึงเตือนไว้ ผู้ใช้ความคิดอาจได้สารคุณติดตัว ผู้มัวเมาจะเสียท่าตั้งแต่ยังไม่ตาย ฉะนั้น จงตรวจดูความบกพร่องของตัวเสียแต่บัดนี้ ตายแล้วมิใช่ฐานะ อย่ามัวตื่นยศแห่งความเป็นมนุษย์อยู่จะเสียการณ์ มารจะผจญ
นักบวชและนักปฏิบัติจงรีบทำงานของตนให้สำเร็จในกาลอันควร งานคือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา นั่น นี่ท่านสอนเพียงเอกเทศให้เอานี้เป็นเค้ามูล แล้วกระจายออกไปเป็นเหมือนแก้กระทู้ กระทู้ก็แปลว่ามัด คือมัดเข้าไว้เป็นกลุ่ม ๆ เป็นมัด ๆ แล้วก็คลี่คลายออกไป กรรมฐานห้ามีอยู่ที่ไหน มีอยู่ในกาย กระจายออกไปจนกระทั่งอาการ ๓๒ กระจายออกให้รู้แจ้งเห็นจริงในอาการ ๓๒ กระจายออกไปและเทียบเคียงกันทั่วโลกทั่วสงสาร ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย สัตว์บุคคลทั่วโลก มันเหมือน ๆ กันนี้ ไม่มีอะไรผิดแปลกพอจะให้ตื่นให้หลงให้ยึด นี่แลงานการรื้อภพรื้อชาติรื้อวัฏสงสารออกจากใจ รื้อกิเลสตัณหาออกจากใจ คืองานนี้เอง
สถานที่เป็นที่เหมาะสม พระองค์ก็ทรงแสดงไว้หมดแล้ว รุกฺขมูลเสนาสนํ ตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา ที่ใดเหมาะสมกับการประกอบงานนี้ท่านก็บอกไว้หมด สถานที่วิเวกสงัด เช่นในป่า คือสถานที่เหมาะสมสำหรับงานประเภทนี้ งานประเภทนี้เหมาะในสถานที่เช่นนั้น มิได้เหมาะในตลาด สนามหลวง ที่ชุมนุมชนคนหนาแน่น อาหารหวานคาวหนาแน่น กระดูกหมูกระดูกวัวหนาแน่น ใครต้องการแมลงวันไป ใครต้องการธรรมความพ้นทุกข์ อย่าไปถ้าไม่อยากจมน่ะ
การขบการฉันก็ไม่พะรุงพะรัง ไม่พร่ำ ๆ เพรื่อ ๆ เพราะจะเป็นการกังวลกับเรื่องการอยู่การกิน การภาวนาจะมีน้อยหรือล้มเหลวไป ฉันเสียมื้อเดียวเท่านั้น นี่พื้นเพดั้งเดิมจริง ๆ ท่านฉันมื้อเดียว นอกจากนั้นก็มีดื่มข้าวยาคูบ้างถ้ามี แต่ไม่ถือเป็นความจำเป็น ยาคูก็แปลว่าข้าวต้มนั่นเอง ดื่มน้ำข้าวต้มก่อนบิณฑบาตได้ ท่านเพียงบอกว่าได้เท่านั้นเองในตำรามี แต่พวกเราน่ะซิ ฟาดกันไม่มีอัดมีอั้น ฟาดตอนเช้า ตอนเพล ดีไม่ดีฟาดตอนค่ำด้วยใครจะไปรู้ เมื่อกิเลสตัณหาเต็มหัวใจล้นหัวใจแล้วอาจขยันกินได้ทุกเวลา เพราะกิเลสมันเก่งทางนี้ แต่ถ้าทางธรรมกิเลสไม่เล่นด้วย กิเลสมันจะไว้หน้าใครล่ะ ไม่เคยเห็นกิเลสไว้หน้าใคร ท่านจึงสอนให้ละให้ปล่อยมัน ก็เพราะไม่ใช่ของดีมีค่านั่นเอง แต่พวกเรามันรักมันสงวนมากไม่อยากแตะต้องมัน ขืนแตะต้องก็เท่ากับศีรษะขาดไปด้วย
ท่านสอนไว้หมด ไม่ให้สั่งสม ให้เหมือนกับนก มีแต่ปีกกับหาง คล่องแคล่ว ๆ ไม่พะรุงพะรังห่วงหน้าห่วงหลัง การอยู่การกิน โลกเขาอยู่ได้กินได้ยังไง เราก็เป็นคน ๆ หนึ่ง เขาเป็นคน ๆ หนึ่ง เขากินได้ เราก็กินได้ การสมมุตินิยมว่าอาหารนั้นดี อาหารนี้ไม่ดี ว่าไปอย่างนั้นแหละ เรื่องธรรมแล้วกินได้หมดถ้าไม่ผิดจากพระวินัยและธาตุขันธ์โรคภัย ท่านสอนให้เลี้ยงตัวง่าย ๆ เพื่อไม่ให้กังวล ว่าเราเป็นคนชั้นไหน คนชั้นสูงชั้นต่ำ คนสกุลนั้นสกุลนี้ คนเมืองนั้นเมืองนี้ซึ่งตามหลักธรรมไม่ให้มี มีแต่นักบวชอาศัยขอทานเขากิน เขาให้อะไรมาก็กินตามเกิดตามมีไม่ทะเยอทะยาน ถ้าไม่ผิดกับโรคกับภัย ไม่ขัดกับธาตุกับขันธ์กับพระวินัยก็กินไป พอยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เพื่อความเพียรเท่านั้น ทำความเพียรไม่ลดละ ไม่ถอยหลัง ไม่ให้งานอื่นใดมายุ่ง มีแต่งานความเพียรอย่างเดียว
พยายามสังเกตดูจิต จิตคิดอะไร เรื่องราวทั้งหลายที่เป็นอารมณ์อยู่ในจิต จิตเป็นผู้ผลิตขึ้นมาปรุงขึ้นมาให้พากันเข้าใจ นี่ไม่อวด เข้าใจจริง ๆ เพราะได้เคยฟัดกันมาแล้วแทบไปแทบอยู่ แทบจะไม่ได้มาเห็นหน้าเพื่อนฝูง เวลาเข้าสู่แนวรบบนเวที อารมณ์นั้นไม่ใช่อะไรนะ เรื่องอารมณ์ของตัวเองนั่นแหละ จิตหลงอยู่กับอารมณ์ของตัวเอง คือจิตมันออกไปวาดภาพเรื่องนั้นภาพเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ให้คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้เพราะจิตอยู่กับเรื่อง ถ้าไม่มีสติปัญญาคอยสกัดลัดกั้นแล้ว มันจะคิดติดต่อเกี่ยวเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่โดยลำดับ ๆ ท่านเรียกว่าธรรมารมณ์ ทำเราให้หลงเพลินและเศร้าโศรกไปกับเรื่องกับราวของตัวที่วาดขึ้นมานั่นแล
พอเวลาจิตสงบ เรื่องเหล่านี้ก็ไม่มี หายเงียบ กับเวลาที่เราทำหน้าที่ภาวนาของเรา จะพิจารณาอาการใดธรรมบทใดแง่ใดก็ตาม เราพิจารณาด้วยความสนใจ อารมณ์ภายนอกจะไม่เกี่ยวข้อง เพราะจิตไม่ออกไปเกี่ยวข้อง จิตไม่ปรุงเป็นเรื่องภายนอกเข้ามาทำลายจิตใจ จิตทำหน้าที่เพื่อถอดเพื่อถอน ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อสั่งสมกิเลสโดยการคิดไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ที่เรียกว่าธรรมารมณ์ จิตก็สงบ เรียนอย่างนั้นแหละเรียนวิชาเรื่องจิต
ทีแรกกิเลสมันรวดเร็วเราไม่ทันมันแหละ เอะอะมันคิดไปแล้ว ๆ เมื่อเรียนเข้าไปปฏิบัติเข้าไป จิตละเอียดเข้าไป สติปัญญาก็มีความแหลมคมขึ้น คล่องแคล่วแกล้วกล้าขึ้นโดยลำดับ ทีนี้ก็ทันกัน แย็บออกไปเรื่องอะไรก็รู้ นี้จิตคิดปรุงออกไปแล้ว พอปรุงพับสติรู้ทัน มันก็ดับ ก็ไม่มีเรื่องต่อ จะปรุงเรื่องหญิงเรื่องชาย เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องอดีตอนาคตอะไร ก็ผู้นี้เป็นผู้ปรุงวาดภาพเรื่องราวขึ้นหลอกเจ้าของ เหมือนกับเขาดูหนังในจอผ้านี่แหละ ในจอในแจนั่น เงาเฉย ๆ ก็เป็นบ้ากันไปได้ ก็เงา ๆ หลงหาอะไรตัวจริงมันอยู่ทวีปไหน ไปอยู่โลกไหนก็ไม่ทราบ มีแต่เงาปรากฏในจอผ้าก็ตื่นกัน พวกเรามันพวกบ้าตื่นเงาไม่มีเบื่อ นี้ก็เหมือนกัน อารมณ์นี่ เงาของจิต พิจารณาให้ทันมันอย่างนั้นซิ ทันขนาดที่ว่ามันปรุงขึ้นแย็บเรื่องอะไร มันก็ดับเพราะสติทันมันก็รู้ ปรุงพับก็ดับพร้อม ๆ เมื่อไม่ปรุงก็รู้อยู่ด้วยสติ
พอพูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้คิดถึงเวลาอยู่ในป่าเขา ตอนจิตเสื่อมกับตอนจิตเป็นสมาธิก็ต้องอาศัยหลักจิตบังคับจิตไม่ให้ออกจากตัวเอง ให้รู้อยู่กับจิตกับตัวโดยเฉพาะอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่งั้นมันจะวาดภาพเสือ วาดภาพอันตรายขึ้นมาให้เรากลัว เพราะไปอยู่ในสถานที่กลัวด้วย ในสถานที่มีเสือจริง ๆ ด้วย ต้องบังคับจิตไม่ให้ส่งออกไปภายนอกเลย ให้รู้อยู่กับใจนี้ เป็นกับตายก็มอบอยู่กับนี้ จนกระทั่งมันมีความอาจหาญชาญชัย ในที่สุดเสือจะเดินมาต่อหน้าต่อตา มันจะเดินเข้าไปลูบคลำหลังเสือได้อย่างสบายเลยนะ ตามความรู้สึกมันแน่ในใจยังงั้น ไม่คิดว่าเสือจะทำอะไรได้เลย นี่อาจเป็นความสำคัญผิดของตัวก็ได้ แต่จะสำคัญผิดหรือสำคัญถูกก็ตาม เมื่อจิตได้กล้าถึงขนาดนั้นแล้ว มันเดินเข้าไปลูบคลำหลังเสือได้จริง ๆ ด้วยจิตใจอ่อนโยนเมตตาสงสาร ไม่สะทกสะท้านในเรื่องว่าจะกลัว ความกลัวก็ไม่มี
จิตมันมีกำลังมากเวลานั้น เพราะไม่ให้มันออกนอก กำหนดเข้าเรื่อย ๆ มันก็มีกำลังจนแน่นปึ๋งเลย ขึ้นชื่อว่าอันตรายอะไรก็มาเถอะ ว่าอย่างนั้นเลยนะ มันอาจหาญขนาดนั้น เสือก็มา ช้างก็มา ไม่หนีว่าอย่างนั้นเลยนะ คือมันเป็นความอาจหาญของมันจริง ซึ่งเราก็ไม่เคยเป็นมาก่อน มาเป็นเอาตอนฝึกดัดสันดานในขณะกลัวนั่นแล ไม่คิดว่าเสือหรือช้างเป็นต้น จะมาทำลายเราได้เลย จะเดินเข้าไปหามันได้อย่างสบาย แม้มันจะทำเรา ฆ่าเราให้ตายในขณะนั้น ก็รู้สึกว่าจะตายไปด้วยความอาจหาญนั่นเอง ให้ตายด้วยความกลัวนี่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลานั้นจิตมันมีกำลังมาก นี่เป็นวิธีหนึ่งแห่งการระงับดับความกลัว แห่งการระงับความฟุ้งซ่าน ความก่อกวนตัวเองด้วยอารมณ์ต่าง ๆ ระงับกันอย่างนี้
ทั้งนี้ตามแต่อุบายแยบคายของแต่ละรายจะผลิตขึ้นมาใช้ เปลื้องตัวจากความจนตรอกในเวลานั้น ๆ เพราะธรรมหรือสติปัญญาไม่สิ้นสุดอยู่กับผู้ใด สามารถทำให้เกิดให้มีในแง่ต่าง ๆ ได้ด้วยกัน ถ้าไม่ขี้เกียจคอยขึ้นเขียงให้กิเลสสับยำเสียอย่างเดียว ส่วนมากพระเรามักมีแต่พระขึ้นเขียง สวรรค์นิพพานทางมีไม่ยอมเดินไม่ยอมขึ้น คงคิดว่าไปแล้วขึ้นแล้วไม่ถูกสับถูกยำไม่สนุกก็เป็นได้
พอก้าวเข้าสู่ปัญญาเกี่ยวกับการระงับความกลัวเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะปัญญากับสมาธินั้นผิดกันในคน ๆ เดียวกันนั่นแหละ เราเองเคยปฏิบัติมาอย่างนั้น ไม่มีใครบอกมันหากรู้วิธีปฏิบัติต่อตัวเอง เช่น เมื่อจิตอยู่ในขั้นสมาธิ ก็เอาสมาธิเข้าบังคับจิตให้สงบจากความกลัว ไม่ให้ส่งไปหาอารมณ์ที่กลัว ว่าเสือว่าช้างว่างูว่าอะไรว่าอันตรายต่าง ๆ ก็ไม่มีเรื่องกวนตัวเอง เพราะจิตไม่ออกไปวาดภาพหลอก พอจิตก้าวเข้าวิปัสสนา พอจิตปรุงแย็บเรื่องเสือมันก็รู้ทันแล้วนี่นะ เพียงแย็บปรุงถึงภาพเสือ สติปัญญาก็ทันแล้วว่านี่มันปรุงภาพเสือ เอ๊า แม้จะทันก็ให้มันปรุง ให้เป็นเสือเข้ามาแล้วแยกธาตุเสือ ที่ว่าแยกธาตุเสือเพราะอะไร เพราะเราดำเนินปัญญาในการคลี่คลายแยกแยะอยู่แล้วนี่ จะเอามาใช้ระงับแบบสมาธิมันไม่เห็นด้วย จิตมันไม่ถนัด ถนัดในการแยก เอ้า เสือหรือ กลัวมันอะไร กลัวตรงไหน
คือตั้งเป็นภาพเสือให้มันเห็นอยู่อย่างนั้นแล ไม่ให้มันดับ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าภาพของเราออกไปหลอกเจ้าของนี่ เอาตั้งไว้ภาพนี้ เอ้ากลัวอะไร สติปัญญามันทันความเคลื่อนไหวของจิต มันทันเองนะ เมื่อมันแก่กล้าเข้าไปมันทันเองอย่างนี้ นี่คือความจริงที่พูดให้หมู่เพื่อนฟัง นี้วิธีการฝึกจิตตัวเอง เมื่อมันรวดเร็วแล้วมันทัน ภาพปรุงขึ้นเรื่องอะไรปั๊บ มันรู้ว่านี้แย็บออกไปแสดงทันที พอรู้พับดับพร้อม อันนี้เรายังไม่ให้ดับ เราจะแยกมัน เพราะเป็นอุบายของปัญญาและเป็นเครื่องหนุนจิตใจให้ละเอียดเข้าไปอีก
พอแยกธาตุกำหนดดูเสือ กลัวอะไรมัน เอ๊า ไล่เบี้ยกันไป กลัวตามันรึ ตาเราก็มีไม่เห็นกลัว นั่นมันแก้กัน กลัวเล็บมันรึ เล็บเราก็มีไม่เห็นกลัว กลัวขนมันรึ ขนเราก็มีไม่เห็นกลัว ถ้ากลัวขนมันก็กลัวขนเราซิ ขนเราขนมันธาตุอันเดียวกัน กลัวเขี้ยวมันรึ เขี้ยวเราก็มี กลัวอะไร ไล่หากันจนไม่มีทางไป กระทั่งถึงหาง บทเวลาไล่ถึงหางนึกว่ามันจะจนมันก็ไม่จนนะ ความจริงก็เราไม่มีหางนี่ กลัวหางมันเหรอ แม้แต่ตัวมันเองยังไม่กลัว แล้วเราจะไปกลัวหางมันหาประโยชน์อะไร แน่ะ มันแก้กันทันนะ
ต่อจากนั้นก็กำหนดทำลายให้แตกกระจายละที่นี่ การกำหนด ปัญญามันรวดเร็วนี่ กำหนดให้แตกกระจายไปหมด อันนั้นก็แตกกระจายลงไปถึงความเป็นธาตุต่าง ๆ ความปรุงของจิตออกไปก็รู้ คือกำหนดไว้เมื่อเวลามันปรุงออกไปเป็นภาพเสือ ให้มันเป็นภาพเสือเสียก่อน จนพิจารณาไล่ไปทีละอาการ ๆ อย่างนั้นแล้ว ทีนี้กำหนดให้มันกระจายไปเลย การกำหนดกระจายนี่ จิตก็แย็บปรุงเพราะเป็นภาพของจิตเองนี่ สติปัญญามันทันเอง มันทำลายกันเอง โดยสมมุติว่าเสือ เพราะสถานที่เหล่านั้นมันมีเสือมันกลัวเสือ กำหนดภาพเสือให้มันดูเสียก่อน กำหนดกระจายลงไปมันก็หมด พอปรุงขึ้นพับภาพอะไรมันก็ดับไปพร้อม ๆ ทีนี้ก็จะกลัวอะไร เพราะไม่มีอะไรหลอกนี่ เป็นภาพของตัวเองไปหลอกตัวเองต่างหาก
ไม่ว่าเสือว่าช้างว่างูว่าอะไร เวลาเจอจริง ๆ มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แน่ะ มันคิดไปอย่างนั้นเสีย นั่นก็ธาตุ นี่ก็ธาตุ มันพิจารณาไปอย่างนั้นเสีย จิตมันพลิกตามอุบายปัญญาไปเสีย ไม่พลิกไปทางให้กลัวมันก็ไม่กลัว จนกระทั่งจิตว่างไปหมด เมื่อมันว่างไปหมด อะไรแย็บขึ้นมามันก็เหมือนแสงหิ่งห้อย มันเป็นของมันเอง แย็บขึ้นมาดับพร้อม ๆ มีแต่ความว่างไปหมดแล้วจะกลัวอะไร มีแต่จิตมันครอบร่างกายนี้ ทำให้ว่างไปหมดและครอบโลกธาตุเสียด้วย แล้วจะกลัวอะไร อุบายวิธีระงับจิตเป็นอย่างนั้น ระงับความกลัว มันไม่กลัว ต้องใช้อุบายวิธีตามขั้นของจิตของสมาธิและปัญญา
สติปัญญาให้นำออกใช้ อย่านั่งเฝ้าอยู่เฉย ๆ คอยให้เกิดปัญญา ไม่เกิดนะ อย่าว่าไม่บอก บอกมาหลายครั้งหลายหนแล้ว สมาธิแค่ไหนปัญญาก็จะต้องใช้ไปตามขั้นภูมิ กำหนดพิจารณาหาอุบาย ค้นหาอุบายคิดพินิจพิจารณาจนเกิดปัญญาขึ้นมาเอง พอเกิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้เข้าใจ ๆ ทีนี้ก็เห็นคุณค่าของปัญญา จากนั้นก็เดินปัญญาเรื่อย ๆ ไปตามแต่กรณี
ปัญญาเป็นเครื่องแก้กิเลส สมาธิเเต่เพียงไล่กิเลสเข้ามารวมตัวให้ใจสงบ ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายหรือไม่ฟุ้งซ่าน จิตรวมตัว ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายเพื่อเหตุเพื่อผลในการแก้กิเลส เหตุผลพร้อมที่ตรงไหนกิเลสหลุดลอยไปเรื่อย ๆ ใจก็เกิดความสะดวกสบาย เห็นคุณค่าของปัญญา สติปัญญาเริ่มหมุนตัวเรื่อย ๆ ความเพียรก็กล้าแข็ง ถ้าลงความเพียรออกก้าวเดินแล้ว ความขี้เกียจขี้คร้านหายหน้าไปหมด ไปอยู่ไหนอยู่ได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่ในป่าในเขา ไม่ว่าอยู่สถานที่เช่นไร น่ากลัวไม่น่ากลัว จิตไม่ไปสำคัญ ไม่สนใจเลย สนใจแต่กิเลสตัวยุ่งกวนนี่เท่านั้น
กลัวก็คือกิเลสเป็นผู้พาให้กลัว เป็นผู้หลอกให้กลัวนั่นเอง มันไม่ได้ว่าเสือเป็นสัตว์น่ากลัว เสือเป็นอันตรายนะ กิเลสต่างหากเป็นสิ่งน่ากลัว พาให้กลัวและเป็นอันตราย จิตย้อนเข้ามานี่ ว่ากลัวเสือ ความกลัวเป็นกิเลสตัวเขย่าต่างหาก เสือนั้นอยู่กับมันต่างหาก ถ้าเราไม่ปรุงขึ้นว่าเสือ ไม่ปรุงขึ้นว่าอันตรายก็ไม่เห็นอะไรมาเขย่าจิตใจได้ ก็คือความปรุงความแต่งความเสกสรรของจิตนี้เอง มันเขย่าตัวเองให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก เพราะฉะนั้น จิตจึงแน่ใจและปักใจว่าอันนี้เป็นภัย มันเอาตรงนี้ว่าเป็นภัย ไม่เห็นว่าภายนอกเป็นภัย เมื่อเข้าถึงขั้นความจริงแล้วมีแต่กิเลส ๆ เป็นภัยอยู่ภายในนี้ มันรู้อยู่นี้เห็นอยู่นี้ แสดงขึ้นมาที่นี่ มันจะไปตะครุบเงาอยู่นอก ๆ โน้นทำไม ปัญญาพอถึงขั้นนี้แล้ว มันหมุนติ้ว ๆ อยู่นี้ รู้อยู่นี้ เห็นอยู่นี้ อะไรกระดิกพลิกแพลงขึ้นในจิตก็รู้ว่าเป็นเรื่องของกิเลสทั้งเพ ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของกิเลสแล้วมันทันกัน ๆ เรื่อย ๆ นี่การปฏิบัติธรรมะ
ผู้ใดชอบคิดชอบพินิจพิจารณา ผู้นั้นละจะเข้าใจได้ดี เราจะว่าเรามีสมาธิ ไม่มีสมาธิ ถึงเวลาที่ควรจะพิจารณาให้พิจารณา ความสงบก็เพื่อจิตสบาย การพิจารณาก็เพื่อถอดถอนกิเลสภายในจิต เพื่อความสบายหายห่วงของจิต จิตปล่อยกังวลได้เป็นลำดับ อย่าไปคาดว่าเราไม่มีภูมิสมาธิหรือเราได้ภูมิสมาธิเพียงแค่นี้เป็นปัญญาไปไม่ได้ พิจารณาปัญญาไปไม่ได้ อย่าหาคาดหมาย กิเลสมันมีขั้นที่ไหน มันเกิดกิเลสขั้นไหนบ้าง มันไม่เห็นมาบอกเรา กิเลสแสดงขึ้นมาที่ไหนก็เป็นกิเลสและเสียดแทงหัวใจเราได้ทุกประเภทของกิเลส ทุกอาการของกิเลสที่มันแสดง เราต้องคิดเทียบอย่างนั้นซิ กิเลสไม่เห็นว่ามีชั้นไหนภูมิใด ทำไมมันเป็นกิเลสทุกระยะที่มันแสดงตัวออกมา เวลามีธรรมเงื่อนใดที่เราจะพิจารณา ทำไมจะไม่เป็นธรรม ถึงวาระที่จะพิจารณาเราต้องพิจารณา เพราะการพิจารณาก็เพื่อแก้กิเลส ทำไมจะไม่เป็นธรรม ปัญญาต้องหมุนกันอย่างนั้นซิ ปัญญาต้องดักหน้าดักหลังร้อยสันพันคมไม่งั้นไม่ทันนะ
ได้ยินแต่ท่านว่า มหาสติมหาปัญญา เป็นยังไง มหาสติมหาปัญญา ท่านกล่าวไว้แล้วนั้นจิตมันคาดมันหมายนะ ท่านว่าพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหัต บรรลุโสดา บรรลุสกิทาคา บรรลุอนาคา บรรลุอรหัตอรหันต์ มันก็คาดหมายไปตามความบรรลุ เราจะบรรลุอย่างนั้นเราจะบรรลุอย่างนี้มันคาดไป แต่ความคาดเหล่านั้นกับความจริงที่เราปฏิบัติไปรู้เห็นไปมันเป็นคนละโลก ไม่ใช่อันเดียวกัน ห่างกันคนละโลก เหมือนเราวาดภาพเมืองอเมริกาเป็นต้น เราไม่เคยเห็นอเมริกา เช่น กรุงวอชิงตันเป็นต้น หรือเรื่องอะไรก็ตาม มันจะวาดภาพขึ้นมาทันที เราก็เชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น ๆ พอไปเห็นเข้าเท่านั้น ภาพที่วาดไว้นั้นกับความจริงมันเป็นคนละโลกเลย
แต่เราก็ไม่ยอมเห็นโทษ ว่าภาพที่เราวาดไว้แต่ก่อนนั้นคือเครื่องหลอกเรา เคยหลอกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร พูดถึงเรื่องอะไรมันก็วาดภาพนั้นขึ้นมา พูดเรื่องอะไรเรื่องคนเรื่องสัตว์ เรื่องอะไรก็ตาม มันต้องมีภาพขึ้นมาประกอบทุกสิ่งทุกอย่างทุกครั้ง แต่เวลาไปถึงความจริงแล้ว ภาพที่วาดเอาไว้นั้นไม่ตรงกับความจริงนั้นเลย ควรจะเห็นโทษแต่เราก็ไม่ยอมเห็น
เพราะฉะนั้น จึงว่ากิเลสกล่อมคนให้หลับสนิทได้ง่ายนิดเดียว วาดภาพมรรคผลนิพพานก็เหมือนกัน สำเร็จพระโสดาเห็นจะเป็นอย่างนั้น สำเร็จพระสกิทาคา สำเร็จพระอนาคาเห็นจะเป็นอย่างนั้น สำเร็จอรหันต์เห็นจะเป็นอย่างนั้น มันวาดภาพของมันไว้อย่างพร้อมมูล และเป็นเครื่องหลอกอันหนึ่ง ๆ ฉะนั้นจึงไม่ต้องไปคาดไปหมาย ให้เดินตามปฏิปทาเครื่องดำเนิน ปัจจุบันธรรมเป็นหลักที่จะยังมรรคผลนิพพานให้เกิดภายในใจไม่สงสัย
สติเป็นของสำคัญ ควบคุมงานให้ดี ไม่มีสติมันเถลไถล ต้องมีสติควบคุมจิตทุกอิริยาบถราวกับควบคุมผู้ต้องหานั่นแล พอดีกับกิเลสที่มันฉุดลากตัวประกันไป สติ ปัญญา ตามฉุดลากตัวประกันกลับคืนมา คำว่าทำงานจะไม่ทุกข์ยังไง งานประเภทไหน งานนอกงานในมันต้องมีความทุกข์ลำบากเป็นธรรมดา เพราะทำงานนี้ก็เราทำงานจิตตภาวนา สติจะต้องเป็นเครื่องบังคับกันเสมอ พิจารณาให้รู้ให้เห็นซิ เรื่องสัญญาอารมณ์มันผิดกับความจริงมาก รู้เห็นด้วยความจำกับความจริงเป็นคนละโลก ดังเราเห็นอเมริกาด้วยการวาดภาพ กับเห็นประจักษ์ตาย่อมประจักษ์ใจ ผิดกับการนึกคิดด้วยมโนภาพอยู่มาก
ดังที่ว่าเห็นกายด้วยความจริงก็เหมือนกัน นี่ผมเคยเห็นมาแล้ว ทีแรกก็อาศัยคิดคาดไปเสียก่อน หมายไปเสียก่อน พิจารณาไป คิดคาดไป พอได้จังหวะจิตกำหนดติดปั๊บ ๆ เข้าไปในส่วนหนึ่งของร่างกาย เมื่อติดปั๊บได้ที่แล้วจิตไม่ยอมปล่อย พอจิตไม่ปล่อยก็เห็นชัดเข้า ๆ และเห็นชัดไปหมดทั่วร่างกาย และกระจายเป็นวงกว้างออกไปเหมือนกระดาษซึม มันซึมไปหมดทั่วร่างกาย จนกระทั่งร่างกายตาย เน่าพองและแตกสลายก็เป็นไปในขณะนั้น ให้เราเห็นให้เราดูร่างกายพังลงไป แตกกระจายลงไป เปื่อยเน่าลงไปให้เห็นอย่างชัดเจน และเป็นไปอย่างรวดเร็วนะ ปุบปับ ๆ ยิ่งเกิดความสลดสังเวช อ๋อ เห็นอย่างนี้เหรอเห็นกายน่ะ เห็นอย่างนี้เหรอ มันชัดมากนะ
นี่เรียกว่า ปจฺจกฺขทิฏฺฐิ รู้จำเพาะเห็นจำเพาะตน คือเห็นด้วยตนเองจริง ๆ เห็นเป็นความจริงประจักษ์ใจเป็นอย่างนี้ ผิดกับเห็นด้วยความจำความคาดหมายอยู่มาก เมื่อเห็นชัดเข้า ๆ อันนั้นขาดออกอันนี้หลุดลงไป โดยที่เราไม่ได้บังคับให้กำหนดให้ทำงานขณะนั้น มันเป็นขึ้นมาเองเมื่อกำหนดได้ที่แล้ว เป็นแต่เพียงเอาความรู้หยั่งไว้ในจุดเดียว จากนั้นกระแสจิต รัศมีของปัญญาหากกระจายไปเองทั่วร่างกายของเราทั้งคน
ในขณะพิจารณาร่างกายอยู่นั้นปรากฏว่าอวัยวะส่วนนั้นขาดลง อันนี้ขาดลง ตกลงไป ขณะพิจารณาเพลิน ๆ อยู่นั้นมันไม่มีความรู้สึกว่ากายมีนะ มันหายเงียบไปหมดทั้ง ๆ ที่พิจารณากายอยู่นั้นแล พิจารณาไปเรื่อยจนกระทั่งลงถึงที่มันแล้ว ส่วนดินก็เห็นได้ชัด มันค่อยกระจายไปเป็นดิน ส่วนน้ำก็ซึมลงไปในดินบ้าง เป็นไอขึ้นไปบนอากาศบ้าง ลม ไฟก็ไปตามสภาพของมัน ต่อจากนั้นจิตก็ว่างเปล่าไปหมด
ที่เห็นกายทีแรกเห็นอย่างชัดเจนเห็นที่วัดบ้านหนองผือนาในนะ ขณะที่กระดูกกำลังกระจายกันอยู่ จิตตะล่อมคือรวมกระดูกเข้ามา นอกนั้นมันกระจายไปหมด มันกลายไปเป็นน้ำ กลายไปเป็นดินไปหมด น้ำก็ไปตามน้ำเหือดแห้งไป ส่วนที่เปื่อยง่ายมันก็เป็นดินไปอย่างรวดเร็ว ส่วนที่ไม่เปื่อยง่ายเช่นกระดูก มันก็ยังเหลือเรี่ยราดกันอยู่ ขณะที่จิตเป็นเช่นนี้มันทำงานของมันเองนะ เหมือนกับมันกวาดกระดูกเข้ามา ตะล่อมเข้ามารวมกันเป็นกอง แทนที่จะเอาไฟเผามันกลับไม่เผา มันหากเป็นของมันเอง จิตเกิดวิตกว่า เอ ร่างกายทั้งร่างนี้มันกลายเป็นอย่างนี้เอง เป็นธาตุอย่างนี้เอง มันรำพึงมันสลดสังเวชนะ ร่างกายตัวเองถูกพิจารณาจนเปื่อยปรักหักพังลงไป ยังเหลือแต่เพียงกระดูกแห้ง ๆ ดูมัน โอ กระดูกกลายเป็นดินมันเป็นได้อย่างนี้เอง
ขณะกำลังกำหนดพิจารณาอยู่ในกองกระดูกนั้น ไม่ทราบแผ่นดินมาจากที่ไหนปึ๊บมาปิดกองกระดูกอันนี้ เหมือนว่ามากลบกองกระดูกที่เรากำลังกำหนดพิจารณาอยู่นั้น ตอนนั้นแผ่นดินมาจากที่ไหนมากลบกันปึ๊บเดียว นี่ก็เป็นธรรมเทศนาอันหนึ่ง พอดินมากลบกองกระดูกปึ๊กเดียว กระดูกกองนั้นก็กลายเป็นดินไปด้วยในขณะนั้น อ๋อ มันเป็นดินอย่างนี้เอง จากนั้นจิตก็ว่างหมด ว่างหมดไม่มีอะไรเหลือเลย จิตเงียบ โอ้โฮ้ ที่จิตเงียบอยู่นั้นนานเป็นชั่วโมง ๆ หมดความสำคัญมั่นหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ทราบอยู่สูงอยู่ต่ำ อยู่ที่ไหน นั่งอยู่หรือนอนอยู่ อยู่กุฏิหรืออยู่ร่มไม้ หรืออยู่ที่ไหนไม่สำคัญทั้งนั้น มีแต่ความว่าง ความรู้อย่างละเอียดสุขุม เป็นความอัศจรรย์กับความรู้อยู่เท่านั้น
จนกระทั่งได้จังหวะแล้ว จิตก็ค่อยขยายตัวออกมา ๆ จนเป็นจิตธรรมดาตามขั้นภูมิของจิต จิตยังว่างอยู่เลย กำหนดดูกุฏิหลังไหน ดูต้นไม้ใบหญ้าแถวบริเวณนั้นก็ไม่เห็น มันว่างไปหมด เพราะอำนาจแห่งความว่างภายในสมาธินั้นมันยังไม่จางไป เนื่องจากตอนนั้นจิตเรายังไม่ถึงขั้นว่างตามภูมิจิตว่างนี่นะ คำว่าจิตว่างนั้นมันมาว่างตอนเราพิจารณาขั้นปัญญาแล้วต่างหาก คืนนั้นเกิดอัศจรรย์ใจอย่างบอกไม่ถูก ศัพท์ทางโลกก็ว่าครึ้ม อิ่มเอิบอย่างละเอียดสุขุม พูดไม่ออกบอกไม่ถูกตามความจริงที่เป็น นั่นแลเห็นร่างกายเห็นชัดจริง ๆ ไม่มีสงสัย ได้เห็นกายประจักษ์จากการภาวนาคืนนั้นแหละ
วันนอกนั้นมาก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีก เห็นก็เห็นเหมือนกันแต่มันเปลี่ยนสภาพการเห็นไปเรื่อย ๆ แต่เราก็ไม่ได้อาลัยเสียดายว่าอยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นยังไงก็ให้เห็นให้เป็นไปตามเรื่อง พิจารณาในวงปัจจุบันไปเรื่อย ๆ ความเห็นก็เห็นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกายหมดความหมาย หมดความจำเป็น เมื่อจิตรู้เท่าทันหมดแล้ว และกลายเป็นอากาศธาตุ ว่างเปล่าไปหมด จิตก็ว่างจะว่าไง มันรู้เท่ากายด้วยและก็ว่างไปด้วย การพิจารณาเราไม่สงสัยเพราะเป็นกับเจ้าของเองอย่างชัดเจน
สัญญากับสังขารนี่สำคัญ พิจารณากันป๊อบแป๊บ ๆ อยู่อย่างนั้น พิจารณาไป ๆ จนเข้าใจ จิตว่างหมดเลยที่นี่ นี่ว่างตามฐานของจิต อยู่เฉย ๆ ก็ว่าง ไม่ได้ภาวนาก็ว่าง จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ว่าง ว่างหมด ต้นไม้ภูเขามองเห็นอยู่ด้วยตา อย่างศาลานี้มองเห็นอยู่ด้วยตา แต่ใจมันทะลุไปหมด เห็นเป็นเพียงเงา ๆ มันว่างไปหมดเมื่อถึงขั้นว่างแล้ว
พอพูดถึงขั้นนี้แล้วก็ทำให้คิดถึงอนัตตลักขณสูตร จิตผมไม่ทราบเป็นยังไง มันขัด ๆ กันอยู่นะกับอนัตตลักขณสูตรตอนปลาย ถามเจ้าคุณ
.ท่านก็ว่า มันก็สมบูรณ์เต็มที่แล้วตามที่ท่านเรียนมานั้นเสีย แต่เราถามท่านด้วยความจริงทางภาคปฏิบัติต่างหาก ผมก็เลยไม่ถามต่อไปอีก เพราะสูตรที่สมบูรณ์เต็มที่เราเห็นอยู่นี่ ดังอาทิตตปริยายสูตร ลงถึงขั้น มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ, ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ, มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ, มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ, ยมฺปิทํ มโนสมฺผสฺสปจฺจยา อุปฺปชฺชติ เวทยิตํ, สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา, ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ.
นั่น มันถึงใจเหลือเกินนะ อาทิตตปริยายสูตรน่ะ เบื่อหน่ายในรูป แล้วก็ในเสียงพร้อมกัน เบื่อหน่ายทั้งความสัมผัสรับรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างตากับรูปกระทบกัน เกิดสุขขึ้นมาก็ตาม ทุกข์ขึ้นมาก็ตาม สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา รู้ ๆ ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ คือเบื่อหน่ายในสิ่งนี้ ทั้งตา ทั้งรูป ทั้งสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วเป็นวิญญาณขึ้นมา จนถึงกับเกิดเวทนา เบื่อหน่ายทั้งหมด แล้วก็สรุปลง มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เบื่อหน่ายในจิต ในอารมณ์ที่เกิดจากจิตทุกประเภท นี่เบื่อหน่ายครอบไปหมด และถอนกันทั้งรากไม่มีเหลืออะไรไว้เลย กระทั่งอวิชชากับจิตก็ทะลุเข้าไปหมดไม่มีเกาะมีดอน
นี่เรามาเทียบเคียงกับการปฏิบัติของเรานะ มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เบื่อหน่ายในใจ มน นั่นใจ เบื่อหน่ายในจิตในใจ ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ เบื่อหน่ายในธรรมารมณ์ทั้งหลาย มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ เบื่อหน่ายในความรู้ที่เกิดขึ้นจากจิต วิญญาณที่รับทราบกับอารมณ์แห่งธรรม เป็นอารมณ์แห่งธรรม มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ เบื่อหน่ายทั้งความสัมผัส ยมฺปิทํ มโนสมฺผสฺสปจฺจยา อุปฺปชฺชติ เวทยิตํ มันเกิดขึ้นให้เสวย สุขํ วา ทุกฺขํ วา อทุกฺขมสุขํ วา สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่สุขทุกข์ก็ตาม ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ นั่นเบื่อหน่ายทั้งหมด นี่มันถึงใจจริง ๆ นะ พอ นิพฺพินฺทติ แล้วก็ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ ละที่นี่
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด วิราคา วิมุจฺจติ. วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ, ขีณา ชาติ, วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ, นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาตีติ. อิทมโวจ ภควา. อตฺตมนา เต ภิกฺขู ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทÿ. อิมสฺมิญฺจปน เวยฺยากรณสฺมึ ภญฺญมาเน, ตสฺส ภิกฺขุสหสฺสสฺส อนุปาทาย, อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ.
อตฺตมนา เต ภิกฺขู ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทÿ ภิกษุทั้งหลายนั้นได้มีความรื่นเริงในธรรมทั้งหลาย เมื่อพระองค์ได้ตรัสธรรมะ เวยฺยากรณ ก็คือตรัสธรรมะที่ยอดเยี่ยมเหล่านั้นอยู่ จิตแห่งภิกษุหนึ่งพัน ตสฺส ภิกฺขุสหสฺสสฺส นั้นได้พ้นแล้ว จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ จิตหลุดพ้นแล้ว อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งปวง นั่นมันถึงใจนะ
แต่อนัตตลักขณสูตรไม่เป็นอย่างนั้น เวลาปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นนี่ มันแย้งกันอยู่ เราเข้าใจว่าเกจิอาจารย์ที่ท่านแต่งนี้ท่านจะตัดออกนะ ถ้าไม่ตัด จิตจะต้องอยู่นั้นแน่ ๆ เบื่อหน่ายในรูป เบื่อหน่ายในเวทนา เบื่อหน่ายในสัญญา เบื่อหน่ายในสังขาร เบื่อหน่ายในวิญญาณ รูปสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ, เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ, สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ, สงฺขาเรสุปิ นิพฺพินฺทติ, วิญฺญาณสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ, นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ. วิราคา วิมุจฺจติ เมื่อเบื่อหน่ายในขันธ์ทั้งห้า จิตย่อมคลายกำหนัดไปเลย
เวลาปฏิบัติมันไม่เป็นอย่างนั้น รู้เท่าเรื่องอาการทั้งห้านี่ เข้าใจชัด ๆ ไม่มีทางถือเอา จะให้พิจารณาอะไรอีกก็พิจารณาหมดแล้วนี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มันปรากฏอยู่นี้ รู้มันทั้งเกิดทั้งดับว่าเป็น อนตฺตา ล้วน ๆ มันลง อนตฺตา นะสำหรับนิสัยของผม อนิจฺจํ ทุกฺขํ มันไม่ว่าเสียแล้ว มันลงเป็น อนตฺตา ล้วน ๆ รูปํ อนตฺตา, เวทนา อนตฺตา, สญฺญา อนตฺตา,สงฺขารา อนตฺตา, วิญฺญาณํ อนตฺตา. เวลาจะรวมยอดของมันมันมีแต่ ธมฺมา อนตฺตา ทั้งนั้น รวมแล้วเป็น ธมฺมา อนตฺตา ทั้งห้าอย่างนี้เป็น ธมฺมา อนตฺตา
แต่มันก็ไม่แล้วนะ ขันธ์ห้านี่เป็น อนตฺตา มันไม่แล้วในจิตมันจะ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ ได้ยังไง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้น ญาณความรู้แจ้งชัดว่าจิตหลุดพ้นแล้วเกิดขึ้น เรามันไม่มี เพียงแต่รู้เท่าขันธ์ห้าเท่านั้นมันไม่เบื่อหน่าย มันไม่คลายกำหนัดทั้งมวลได้ถ้ามันไม่เข้าถึงจิตเสียก่อน นั่น พอทั้งห้าอาการนี้มันปล่อยหมดแล้ว มันก็ยังเหลือจิตดวงเดียวที่นี่ จิตก็เข้าพิจารณานั้นอีก เพราะจิตดวงนั้นตัดอาการออกหมดแล้ว สมุนของอวิชชา ทางเดินของอวิชชา หรือเครื่องมือของอวิชชา ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มันถูกตัดออกหมดแล้ว คือเรารู้เท่าทันแล้ว ยังเหลือแต่ความรู้อันเดียว
เราไม่ปรากฏว่าได้คลายกำหนัด หรือได้หลุดพ้นในขณะที่จิตอยู่นอกขันธ์ห้านั้นเลย มันต้องพิจารณาฟาดฟันจิตเสียจนแหลก จนอันนี้แตกกระจายไปหมดแล้ว จากนั้นแล้วจะว่า นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ, วิราคา วิมุจฺจติ. มันหมดปัญหา ที่ค้านกันนั้นมันค้านกันอย่างนี้ มันค้านในภาคปฏิบัติ ส่วนอาทิตตปริยายสูตร เรายอมรับทันทีเลย คือปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงจิต เข้าเบื่อหน่ายในจิตอีก ไม่เพียงเบื่อหน่ายในสิ่งภายนอกเท่านั้น ยังต้องเข้าไปเบื่อหน่ายในจิต อารมณ์ที่เกิดจากจิต อะไร ๆ เลยเบื่อหน่ายในนั้นเสร็จเลย เบื่อหน่ายในธรรมารมณ์ เบื่อหน่ายในสิ่งที่มาสัมผัสกับจิตคือธรรมารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ เบื่อหน่ายพร้อมทั้งหมดเลย ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เลย นั่น
ตสฺมึปิ หมายถึงรวบเอาหมด ถ้าเป็นภาษาบาลีก็หมายถึงวา ยกสรรพนามขึ้น ตสฺมึปิ คือไม่ต้องพูดอีกหลายหน เช่น ชื่อคนนั้น ชื่อคนนี้ เอาเขาขึ้นเลย โส แปลว่า เขา เป็นสรรพนามใช้แทนตัวได้แล้ว โส แปลว่าเขาว่ามัน นี่ ตสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ คือเบื่อหน่ายในสิ่งนั้นทั้งหมด นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ ไปตลอด
นี่จิตก็เป็นเช่นนั้น เมื่อพิจารณาอันนี้เข้าใจแล้วก็ตามเข้าไปถึงจิตอีก จนทะลุในจิตแล้วมันถึงผ่าน พอพิจารณาขันธ์ห้าเข้าใจหมดแล้วมันยังผ่านไม่ได้นี่ ถ้าไม่เข้าไปถึงจิตเสียก่อนมันผ่านไม่ได้ ปัญหานี่จึงขวางอยู่ในหัวใจเกี่ยวกับ อนัตตลักขณสูตร ส่วนอาทิตตปริยายสูตรนั้นไม่มีปัญหาใด ๆ เลย สำหรับคนจิตหยาบอย่างจิตผมน่ะ ยอมรับอย่างหมอบราบ ส่วนอนัตตลักขณสูตรก็ยกให้นักปราชญ์ท่านเสียก็แล้วกัน แต่ผู้ปฏิบัติควรถือเป็นข้อคิดไว้ เวลาปฏิบัติไปเจอเข้าจะได้มีทางคิดทางออก จะไม่จนตรอกถ่ายเดียว
เอาละจบ |