เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ [บ่าย]
มหาสมัยในปัจจุบัน
วันนี้เป็นวันมหามงคลอันยิ่งใหญ่แก่พี่น้องชาวพุทธเรา ซึ่งสมบูรณ์ด้วยพระและประชาชนศรัทธาทั้งหลาย มารวมกันเป็นมหาสมัยครั้งหนึ่งในปัจจุบันนี้ เพราะพระที่จะมีจำนวนมากขนาดนี้มาปรากฏรวมกันด้วยความพออกพอใจ ใคร่ต่อหลักธรรมหลักวินัย คือศาสนาและชาติบ้านเมือง เกี่ยวกับเรื่องพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยได้เข้ามารวมกัน ทั้งประชาชนก็จำนวนมากมาย ในวันนี้จึงจัดเป็นวันมหามงคลแก่เราทั้งหลาย และพร้อมกับการได้เห็นได้ยินได้ฟัง
พระเจ้าพระสงฆ์ส่วนมากที่มาที่นี่มักจะอยู่ในป่าในเขาบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อขวนขวายหาอรรถหาธรรมในสถานที่ต่างๆ กัน ส่วนมากเป็นป่าเป็นเขา แล้วท่านก็ได้อุตส่าห์ออกมาสู่สถานที่นี่ ซึ่งเป็นจุดใหญ่ คือวัดอโศการาม เป็นศูนย์กลางแห่งพระปฏิบัติทั้งหลายรวมอยู่ที่นี่ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ท่านพ่อลี ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในหลักธรรมวินัย มีความสัตย์ความจริงเต็มองค์ท่าน ท่านก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมาตลอด แล้วมาสร้างวัดอโศการามขึ้นมา
จนกระทั่งปรากฏเวลานี้วัดอโศการามเรา กลายเป็นศูนย์กลางแห่งพระปฏิบัติทั้งหลายมารวมกันอยู่ที่นี่ การที่เราทั้งหลายจะได้พบได้เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ ซึ่งมุ่งหน้าปฏิบัติศีลธรรมมาโดยลำดับ แล้วมาปรากฏองค์ท่านในสถานที่นี่ จึงเป็นบุญกุศลอันล้นพ้นของพี่น้องทั้งหลายตามธรรมท่านแสดงไว้ว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ การเห็นสมณะ คือผู้สงบกาย วาจา ใจ จากบาปจากกรรมทั้งหลายนั้นเป็นมหามงคลอย่างยิ่ง นี่ประการหนึ่ง ประการที่สอง สมณานุตตริยะ คือการเห็นสมณะผู้สงบกาย วาจา ใจจากบาปนั้นเป็นการเห็นอันสูงสุด
นี่พี่น้องทั้งหลายทั้งทางใกล้ทางไกลก็ได้อุตส่าห์พยายาม ได้มาพบมาเห็นแล้ววันนี้ จำนวนพระเป็นพันๆ หมื่นๆ เราก็ได้เห็นในวันนี้แล้ว นี่เป็นมงคลอันสูงสุดสำหรับท่านผู้เห็นสมณะ คำว่า สมณะ นั้น ท่านแสดงท่านแยกออกเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน สมณะที่หนึ่งได้แก่ พระโสดา คือพระอริยบุคคลนั้นแล สมณะที่สองได้แก่ พระสกิทาคา สมณะที่สาม ได้แก่ พระอนาคา สมณะที่สี่ได้แก่ พระอรหัตบุคคล ทั้งสี่ประเภทนี้ท่านเรียกรวมลงในมงคลสูตรนั้นว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ คือเห็นสมณะเหล่านี้เป็นมงคลอันสูงสุด
แล้วสมณะทั้งสี่ประเภทนั้น ในครั้งพุทธกาลเคยมีอยู่ฉันใด ในครั้งนี้ก็ย่อมมีอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน นอกจากจะมีมากน้อยต่างกันเพียงเท่านั้น จะปฏิเสธว่าสมณะเหล่านี้ไม่มีนั้นไม่ได้ นอกจากคนตาบอดหูหนวก ไม่สนใจในอรรถธรรมบุญบาปประการใดเลย มีแต่การลบล้างความดีงามหรือสิ่งดีงาม ที่ท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทรงไว้ ให้สูญให้อันตรธานไปด้วยปากสกปรกของตนเท่านั้น
หลักความจริงไม่มีใครเกินศาสดา คือพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอันเลิศเลอ เป็นศาสดาของโลกทั้งสามได้ ก็คือพระพุทธเจ้าได้เท่านั้น ท่านตรัสรู้ธรรม ธรรมที่เลิศเลอในเบื้องต้นก็ไม่มีใครค้นพบ มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงค้นพบ แล้วนำมาชี้แจงแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลาย มีภิกษุบริษัทเป็นต้น ด้วยสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว นี่คือศาสดาองค์เอก ธรรมก็เป็นธรรมชั้นเอก แนะนำสั่งสอนด้วยธรรมชั้นเอกนั้นให้ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญได้ความรู้ความเห็น ได้คติเครื่องเตือนใจ จนสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตั้งแต่สมณะที่หนึ่ง ถึงสมณะที่สี่ คืออรหัตบุคคล สมณะทั้งสี่ประเภทนี้ไม่ได้สูญสิ้นไปจากพุทธศาสนาของเราทั้งหลายที่เทิดทูนอยู่เวลานี้
อกาลิโก การปฏิบัติบำเพ็ญของผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมทั้งหลายยังมีอยู่ มรรคผลนิพพาน หรืออริยบุคคลทั้งสี่ประเภท หรือสมณะสี่ประเภทนี้ย่อมเป็นเงาเทียมตัว ต้องได้รับมรรครับผลเป็นลำดับลำดามา จึงสมชื่อสมนามว่าศาสดาองค์เอก ไม่ใช่ศาสดาหลอกลวงโลกลวงสงสาร มรรคผลนิพพานกล่าวถึงแต่หาความจริงไม่ได้ อย่างนี้ไม่มีในศาสดาของพวกเราทั้งหลาย เป็นศาสดาองค์เอก ธรรมอันเอก ผู้ปฏิบัติธรรมตามศาสนธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนั้น ย่อมมีสิทธิ์ที่จะบรรลุธรรมไปได้ตั้งแต่กัลยาณปุถุชน จนถึงอริยบุคคลขั้นอรหัตบุคคลเป็นขั้นสุดยอดแห่งธรรม นี่เป็นผลจะพึงได้จากพุทธศาสนาของเรา
เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ทรงมรรคทรงผลตลอดมา นับแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และยังจะทรงมรรคทรงผลแก่ผู้ปฏิบัติตลอดไป สมนามในพระธรรมว่าอกาลิโก ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลาใดที่จะมาเป็นอุปสรรคกีดขวาง หรือลบล้างได้เลย เมื่อมีผู้ปฏิบัติตามศาสนธรรมอยู่ มรรคผลนิพพาน ต้องเป็นเงาเทียมตัวของการปฏิบัติแห่งรายนั้น ๆ จะพึงเป็นผู้ได้รับสมบัติ คือธรรมสมบัตินี้เข้าครองใจโดยลำดับลำดามา ด้วยเหตุนี้ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเป็นศาสนธรรมที่ประกาศท้าทายต่อความจริงทั้งหลายตลอดมา
ท่านทั้งหลายที่เป็นพระจำนวนมากมาย อุตส่าห์ปฏิบัติตามอรรถธรรมทั้งหลาย ก็พึงสำรวมระวังกาย วาจา ใจของตน ตามแนวทางแห่งศาสดาที่ทรงประกาศธรรมไว้เรียบร้อยแล้ว คือภาคปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่เราบวช บวชมามีศีลด้วยกัน สมาทานศีลจากอุปัชฌาย์มาโดยเรียบร้อย เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วขณะที่ได้ประกาศตนเป็นผู้รับศีลๆ มาเป็นลำดับ นี่ก็เป็นภาคปฏิบัติที่เราได้ปฏิบัติประจำ กาย วาจา ใจของเราตลอดมา จากนั้นก็ปฏิบัติทางด้านอรรถด้านธรรม ให้เป็นความสงบเย็นใจเป็นลำดับลำดา
อยู่สถานที่ใดให้พึงเป็นผู้สำรวมระวัง มีหิริโอตตัปปะประจำใจ สำรวมอยู่ด้วยธรรมด้วยวินัย ไปที่ใดมาที่ใดอย่าให้ขาดสติ ซึ่งเป็นเครื่องรับรู้ตนเองว่าเคลื่อนไหวไปอย่างไรบ้าง นับตั้งแต่กิริยาของจิตออกไปที่คิดดีคิดชั่วประการใด ให้มีสติระมัดระวัง ยับยั้งไว้เสมอในความคิดที่เป็นภัยต่อศีลต่อธรรมของตน การบำเพ็ญธรรมก็ให้บำเพ็ญด้วยความจงอกจงใจ ประหนึ่งว่ามรรคผลนิพพานนี้อยู่ตรงหน้าของเรา อยู่ชั่วเอื้อมๆ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นทางก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพาน เป็นอย่างนี้มาตลอดเวลา
ให้มีความสำรวมระวังภายในจิตใจด้วยความมีหิริโอตตัปปะ สำรวมระวังศีลของตน อย่าให้ด่างพร้อยจะกลายเป็นพระขาดบาทขาดตาเต็งไป ศีลไม่ครบองค์ของศีลที่ประทานไว้แล้ว รับมาแล้วมาทำให้ด่างพร้อยขาดทะลุ สูญสิ้นไปหมด เหลือแต่โมฆภิกษุไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ยิ่งร้ายกว่าประชาชนที่เขาไม่มีศีลมีธรรมเสียอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ระมัดระวังรักษาศีล ซึ่งเป็นคุณค่าอันใหญ่หลวงของเรา แล้วสมาธิ ปัญญาก็ให้พึงพากันเจริญ ทำตามรอยของศาสดาเพื่อมรรคผลนิพพาน
เมื่อศีลก็บริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว หาความเดือดร้อน หรือเคลือบแคลงสงสัยในศีลของตนอันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่มี จิตใจก็พุ่งเข้าสู่จิตตภาวนาโดยไม่มีความระแคะระคายกับสิ่งใด ด้วยความมีสติ คือการภาวนา ท่านทั้งหลายผู้บำเพ็ญมายังไม่ค่อยเข้าใจก็มีอยู่มาก ผู้เข้าใจแล้วก็พึงทราบว่า ให้เพิ่มเติมความเข้าอกเข้าใจของตนให้สืบเนื่องไปโดยลำดับ ด้วยความเป็นผู้มีจิตใจใคร่ต่อจิตตภาวนา การภาวนานี้เป็นรากเหง้าแห่งพระพุทธศาสนา หรือเป็นสมบัติอันล้นค่าของพระผู้บวชมาในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นผู้บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เป็นลำดับลำดาขึ้นไป จนกระทั่งถึงมรรค ผล นิพพาน ด้วยจิตตภาวนา
คำว่า จิตตภาวนา ได้แก่การอบรมสั่งสอนจิตใจตนเอง ผู้ภาวนาพึงมีบทธรรมเพื่อตั้งรากฐานเบื้องต้น อย่าปล่อยวางคำบริกรรม นี่คือผู้ฝึกเบื้องต้น ตามธรรมดาของจิตชอบคิดในแง่ต่างๆ ซึ่งเป็นทางเดินของกิเลสมาดั้งเดิม มักจะคิดอยู่เสมอ จึงต้องระงับดับความคิดอันเป็นทางเดินของกิเลสนั้นเข้ามาด้วยบทคำบริกรรมภาวนา โดยมีสติเป็นเครื่องกำกับรักษา เข้มงวดกวดขันเวลาภาวนา อย่าให้เผลอไปที่ไหนจากคำบริกรรม มีคำบริกรรมผูกมัดจิตใจไว้ และสติเป็นนายควบคุมคำบริกรรมไม่ให้เผลอ แล้วในวันหนึ่งๆ ก็ให้ทำอย่างนี้ เรียกว่าเราเสาะแสวงหาสมบัติอันล้นค่าคือธรรม
เบื้องต้นให้ได้สมถธรรมก่อน พยายามทำจิตใจของตนให้เป็นความสงบจากอารมณ์ที่ก่อกวน ซึ่งเนื่องมาจากกิเลสทั้งนั้น ให้สงบตัวเข้าไปด้วยบทคำบริกรรมภาวนา เป็นเครื่องระงับดับสิ่งวุ่นวายที่คิดปรุงอยู่เสมอจากกิเลสนั้น เมื่อคำบริกรรมของเราต่อเนื่องทำความคิดความปรุงในด้านธรรมะ คือคำบริกรรมแทนกิเลสที่มันเคยคิดเคยปรุงนั้นไม่ให้คิด ให้คิดแต่เรื่องคำบริกรรม เช่น ท่านผู้ใดมีความรักใคร่ หรือสนิทติดใจกับคำบริกรรมใด เช่น พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง ตลอดถึงอานาปานสติ
ในวงกรรมฐาน ๔๐ ห้อง เป็นกรรมฐานที่จะระงับดับจิตใจที่ฟุ้งซ่านให้เข้าสู่ความสงบได้ด้วยคำบริกรรมทั้งนั้น ให้เรานำมาบริกรรม จิตจดจ่ออยู่กับคำบริกรรมนั้นตลอดเวลาที่เรานั่งภาวนาอย่าให้เผลอ จิตใจมีหน้าที่อันเดียว เวลาคิดทางโลกมันก็คิดทางโลก ทางธรรมเข้าแทรกไม่ได้ ทีนี้เวลาคิดทางธรรมบังคับจิตใจทางกิเลส ไม่ให้มันคิดในทางนั้น ให้คิดเฉพาะทางธรรม คือคำบริกรรมของเรา ให้แน่นหนามั่นคงอยู่กับใจ มีสติควบคุมอยู่เสมอ นี้คือทางก้าวเดินเพื่อตั้งหลักตั้งฐานแห่งจิตใจในเบื้องต้น ด้วยคำบริกรรมภาวนา ผลจะปรากฏเป็นที่พอใจในเบื้องต้น คือความสงบใจ
ใจนี้ปกติจะหาความสงบไม่ได้ ดีดดิ้นอยู่ด้วยความคิดความปรุง อันเป็นการผลักไสผลักดันของกิเลสออกทำงานเพื่อหารายได้ของมัน แต่สร้างกองทุกข์ให้เราอยู่ตลอดมา นี่คือเรื่องกิเลสทำงานบนหัวใจเรา ต่อจากนั้นเราก็ให้เอางานของธรรมะคือคำบริกรรมเข้าแทนที่ แล้วทำงานในด้านธรรมะ ปิดทางด้านความคิดที่กิเลสพาฉุดลากไป มีด้านธรรมะขึ้นทำหน้าที่แทน ทำหน้าที่แทนไปเรื่อยๆ ไม่ให้กิเลสมันมีโอกาสทำงานคิดปรุง เราจะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาภายในใจ นี้เป็นวิธีตั้งรากตั้งฐานแห่งความสงบในเบื้องต้น ให้พากันตั้งอย่างนี้
อย่าพากันทำสุ่มสี่สุ่มห้า นึกถึงภาวนาเมื่อไรก็มีสติแย็บหนึ่งๆ แล้วมานึกถึงคำบริกรรมคำใดก็เพียงคำสองคำหายไป นอกจากนั้นมีแต่กิเลสเอาความคิดความปรุงไปถลุงเสียทั้งวันทั้งคืน แล้วผลรายได้ก็คือความทุกข์ความเดือดร้อนภายในใจ หาหลักฐานมั่นคงภายในใจไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตนก็สำคัญว่าตนเป็นนักภาวนา แต่ความจริงนักภาวนามีเพียงอย่างมากห้าเปอร์เซ็นต์ ๙๕% เป็นเรื่องของกิเลสเอาไปถลุงเสียทั้งหมด มันก็ไม่คุ้มค่ากัน ผู้ปฏิบัติจิตตภาวนาไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควรเพราะเหตุอย่างนี้เอง
ถ้าเราต้องการให้ได้ผลเป็นที่พอใจเป็นลำดับลำดา ให้พากันตั้งอกตั้งใจดำเนินทางด้านภาวนาดังที่กล่าวแล้วนี้ จิตใจจะสงบๆ ไปเรื่อย จากนั้นก็เป็นสมาธิขึ้นมา คำว่า สมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของใจ ไม่วอกแวกคลอนแคลน จิตใจอิ่มอารมณ์ คืออารมณ์ที่จิตใจหิวกระหายอยู่ตลอดเวลานั้นได้แก่ หิวอยากดู อยากรู้ อยากเห็น ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัสต่างๆ มีความหิวโหยอยากสัมผัสสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา นี่คือความหิวโหยของใจ ถ้าปล่อยให้คิดอย่างนี้จะหิวโหยตลอดไป และสร้างผลคือความทุกข์ร้อนมาสู่จิตใจของเรา ไม่มีเวลาสงบเย็นใจได้เลย นี่คือจิตหิวโหยอารมณ์
พอจิตมีความสงบเย็น และก้าวเข้าสู่สมาธิเป็นลำดับ จนกลายเป็นสมาธิที่แน่นหนามั่นคงเต็มที่แล้ว อารมณ์เหล่านี้ไม่เข้ามากวนใจ จิตไม่อยากคิดอยากปรุงเรื่องอารมณ์ทั้งหลายที่เคยหิวโหยมา อยู่ด้วยความสงบเย็นใจ เป็นเอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ ประจำใจของผู้มีสมาธิ นั่งที่ไหนมีแต่ความรู้ที่เด่นดวงอยู่ภายในใจ อารมณ์อื่นใดที่เคยรบกวนไม่เข้ามารบกวน จิตอยู่เย็นเป็นสุขในอิริยาบถทั้งสี่ คือยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยความมั่นคงของใจที่มีสมาธิ และอิ่มอารมณ์ตลอด
เวลาจิตมีสมาธิเต็มที่แล้วนั้น ไม่อยากคิดอยากปรุงเรื่องอะไร เพราะเป็นเรื่องก่อกวน แต่ก่อนเราหิวโหยกับอารมณ์นั้นๆ ถ้าไม่ได้คิดได้ปรุงไม่ได้ ดิ้นรนกระวนกระวาย อยากคิดอยากปรุงไม่แล้วไม่เลิกกันสักที สร้างแต่กองทุกข์มาให้ตัวเอง ทีนี้เมื่อเวลาจิตเป็นสมาธิแล้วจะอิ่มอารมณ์ความคิดความปรุงทั้งหลาย หมุนตัวอยู่กับความเย็น ความแน่นหนามั่นคงของใจ เป็นเอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ ประจำใจ ความรู้เพียงจิตได้ดิ่งลงสู่สมาธินี้เท่านั้น ก็ปรากฏว่าเป็นที่ภาคภูมิใจ ไม่มีคำว่าอิ่มพอ มีแต่ความดูดดื่ม อยู่ด้วยความเย็นใจ สบายใจตลอดเวลา
เพราะเหตุนี้เอง สมาธิจึงทำให้ผู้บำเพ็ญหลงได้ ติดได้ ถ้าไม่มีผู้มาแนะนำในทางปัญญา จะติดสมาธิโดยไม่อาจสงสัย เพราะสมาธิมีรสชาติพอที่จะให้นักบำเพ็ญทั้งหลายติดได้ไม่สงสัย เพราะเป็นรสชาติแห่งธรรม ผิดกันกับรสชาติของโลกเป็นไหนๆ เรื่องของโลกเป็นรสชาติของกิเลสผลิตขึ้นมา กินแล้วมีเบื่อหน่าย อันนี้อยาก อันนั้นกิน อันนั้นดื่ม เบื่อหน่ายอันนั้น มาดื่มอันนี้ คิดเรื่องนั้น เบื่อหน่ายอันนั้น มาคิดเรื่องนี้ นี่เรื่องของอารมณ์ของกิเลส ถ้ารสก็เป็นรสของกิเลส มีความรื่นเริงเสียชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็เอาไฟเข้ามาเผาในฉากหลังนั้นแล นี่คืออารมณ์ของกิเลส
แต่อารมณ์ของธรรมอยู่ด้วยความดูดดื่มแห่งความสงบเย็นใจ อยู่ที่ไหนๆ สบายหมด ท่านผู้ทรงสมาธิธรรมด้วยการภาวนาของตน ทีนี้เมื่อเวลาจิตมีความสงบเย็นใจเป็นรากเป็นฐานพอก้าวเดินทางด้านปัญญาได้แล้ว ขอให้ออกก้าวเดินทางด้านปัญญา อย่าอยู่กับสมาธิ จะกลายเป็นนอนจมกับสมาธิ แล้วจะเป็นหมูขึ้นเขียงไป จึงต้องแยกจิตออกจากสมาธิ แล้วก้าวเดินทางด้านปัญญา เมื่อเรามีความผาสุกเย็นใจ จิตใจอิ่มพอกับสมาธินี้แล้วให้ก้าวเดินออกทางด้านปัญญา
ปัญญานี้มีความกว้างขวางมากทีเดียว ไม่ได้เหมือนสมาธิ สมาธินี้เต็มขั้นเต็มภูมิของตนก็เหมือนกับน้ำเต็มแก้ว น้ำเต็มโอ่ง มีมากเท่าไรจะเอามาเทเพิ่มเติม น้ำเต็มแก้วก็ไม่รับได้ เพราะน้ำเต็มแก้ว อันนี้สมาธิจะให้มีความแน่นหนามั่นคงเท่าไรก็เต็มภูมิของสมาธิ จะให้เลยจากภูมิสมาธิที่เต็มตัวแล้วไปไม่ได้ นี่เป็นขั้นของสมาธิ จากนั้นก็ก้าวเดินทางด้านปัญญา พิจารณาตามทางของศาสดาที่ประทานให้แล้ว ซึ่งเรารับมาตั้งแต่วันบวช ท่านสอนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
เกสาคือผม ผมเป็นยังไง ผมคนเรา ทั้งหญิงทั้งชาย ตลอดถึงผมหมู ผมหมา ผมเป็ด ผมไก่ ผมวัว ผมควาย เรียกว่าขนไปเฉยๆ มันก็ผม เวลาเป็นผมเป็นไปได้หมดทั้งนั้น ดูไปหมด ผมเขาผมเรา ผมบุคคลหญิงชาย ผมสัตว์อะไรดูให้ทั่วถึง ผมเหล่านี้เป็นยังไง มันสะอาดสะอ้านอะไรบ้างพิจารณาซิ ชะล้างทุกวันๆ ผมอันนี้แหละตัวสกปรกใหญ่โตจึงต้องชะล้างทุกวัน ไม่ชะล้างไม่ได้ นี่เอามาพิจารณา ถ้าเป็นของดิบของดีจะชะล้างกันหาอะไร อยู่ที่ไหนก็ดิบก็ดี สะอาดสะอ้านตลอดเวลา ควรที่จะแน่ใจตายใจได้กับผม แต่นี้ตายใจไม่ได้
ขนก็เหมือนกัน แบบเดียวกัน เอามาเทียบกันได้ทุกสัดทุกส่วน นี่วิธีการพิจารณาทางด้านปัญญา ขอให้เริ่มก้าวเดินออกอันนี้ เอาผม ขน เล็บ ฟัน กรรมฐาน ๕ เป็นพื้นฐานแห่งการก้าวเดินของปัญญาเรา ผม ขน เล็บเป็นยังไงให้ดู แล้วเล็บคนกับเล็บหมาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดกัน มันสะอาดสะอ้าน มันสวยงามที่ตรงไหนจึงต้องไปติดไปพันกับมัน ดีไม่ดีย้อมเล็บย้อมเลิ้บ ตัดเล็บย้อมเล็บให้สวยงาม มันจะสวยอะไรประสาเล็บ ถ้าไม่เป็นบ้าแล้วจะไปตกแต่งมันอะไรนักหนา ชะล้างให้มันพออยู่ได้ ไปได้ทั้งเขาทั้งเราเท่านั้นก็พอ จำเป็นอะไรจะต้องมาตกแต่ง มาชะมาล้าง หรือมาประดับประดา ประสาเล็บ นั่นปัญญา ให้พิจารณาอย่างนั้น
ฟัน เอาฟันพิจารณาซิ ฟันเป็นยังไง นี่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ท่านแสดงไว้ในกรรมฐาน ๕ ฟันนี้เป็นยังไง ฟันเขา ฟันเรา ฟันหญิง ฟันชาย ฟันสัตว์ ฟันบุคคล มันก็คือกระดูกอันเดียวกัน อยู่ในร่างกายอันนี้เรียกว่าฟัน ความจริงแล้วก็คือกระดูกนั้นแล มันวิเศษวิโสอะไรฟันอันนี้ กระดูกอันนี้ กระดูกเรากับกระดูกสัตว์ต่างกันอย่างไรบ้าง กระดูกหญิง กระดูกชาย กระดูกสัตว์ กระดูกเรา กระดูกเขา เอามาดูซิ กระดูกเป็นของสวยของงามที่ไหน ฟังแต่ว่ากระดูก ๆ เท่านั้นเอง
นี้เรามาบอกว่าเป็นฟันเฉย ๆ ความจริงก็คือกระดูกส่วนหนึ่งที่มาใช้งานในการบดเคี้ยวอาหารเท่านั้น อย่างอื่นเขาบดเคี้ยวไม่ได้ จึงให้ชื่อว่ากระดูกข้อมือ กระดูกข้อเท้า ว่าไปตามธรรมดา แต่กระดูกนี้เรียกว่ากระดูกฟัน เอามาบดเคี้ยวอาหาร มันก็คือกระดูกนั้นเอง นี่ให้พิจารณา ทีนี้กระดูกนี้มันสกปรกหรือมันสะอาด ดูซิตื่นขึ้นมาแล้วล้างปากล้างฟัน ล้างเสียจนกระทั่งเลยเถิดเลยแดน มีอะไรเอามาเป็นความสะอาดล้างปากล้างฟัน ยาถูฟัน น้ำยาน้ำอะไรมาชะมาล้างฟันให้มันสดสวยงดงามไปแบบกิเลสไปเสีย มันก็กลายเป็นกิเลสไปได้ ทั้งๆ ที่กระดูก ทั้งๆ ที่ฟันมีอยู่ด้วยกันหมด มันไม่ได้ติดใคร แต่คนที่ว่าตัวนักรู้คือใจนี้แหละไปหลงเขา
พิจารณาจากฟันแล้วก็หนัง นี่วางพื้นฐานย่อๆ ไว้สำหรับท่านทั้งหลายที่เป็นนักปฏิบัติทำด้วยโดยทางปัญญา ให้นำมาคิดมาค้นดังที่อธิบายมาแล้ว นี่พูดแต่เพียงย่อๆ นะ จากนั้นหนัง ฟังซิหนัง หนังคนเราทั้งหญิงทั้งชาย หนังสัตว์ หนังบุคคล คนเราที่ติดกันนี้ติดเพราะหนัง มาตกแต่ง ผิวมันเพียงบางๆ เท่านั้น ไม่ได้หนาเท่าใบลานเลย คนทั้งคนนี้มีเครื่องหลอกตาให้หลงได้ถนัดชัดเจนก็คือผิวหนังนี่เท่านั้น จึงประดับประดาตกแต่งทุกอย่างที่จะทำให้หลงหนักเข้าไป ทีนี้เราพิจารณาทางด้านปัญญาเรื่องหนัง พิจารณาหนังภายนอกเป็นผิวบางๆ หลอกคน พลิกเข้าไปภายใน ดูหนังภายใน
จากนั้นก็ดูเนื้อ ดูเอ็น ดูกระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ในร่างกายของเรานี้มันคืออะไร นี่คือปัญญา จะพิจารณาเพื่อถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดว่าเป็นของสวยของงามให้ลงสู่ความจริง ความจริงก็คือว่า หนังก็สักแต่ว่าเครื่องหุ้มห่ออวัยวะที่สกปรกโสมมนี้เท่านั้น ไม่ใช่หุ้มห่อหอปราสาทราชมนเทียรอะไร หุ้มห่อซากผีดิบไว้ให้พอดูได้ด้วยกัน ที่เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ อยู่ร่วมกันเท่านั้น จึงมีหนังหุ้มห่อเอาไว้ แล้วชะล้าง ถึงชะล้างขนาดนั้น หนังก็ไม่พ้นที่จะแสดงออกมาขี้เหงื่อขี้ไคล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นของสกปรกโสมมเต็มผิวหนังของเรานี้ ต้องชะต้องล้าง ไม่ชะไม่ล้างไม่ได้สกปรกเลอะเทอะ อยู่ไม่ได้
อะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหนังและร่างกายของเรานี้ จะสะอาดสะอ้านขนาดไหนต้องชะต้องล้าง ต้องเช็ดต้องถู อย่างที่หลับที่นอนก็สวยงาม สะอาดสะอ้าน ราคาแพงๆ ทั้งนั้น บ้านเรือนแต่ละหลังๆ สร้างขึ้นมากี่ห้องกี่หับก็ว่าเป็นของสวยของงาม ของสะอาดสะอ้าน พอคนเข้าไปอยู่ที่ใด นำสิ่งเหล่านี้เข้ามาคละเคล้ากับคน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งเครื่องห่ม มาคละเคล้ากับคนกลายเป็นของสกปรกไปตามๆ กันหมด แม้สิ่งเหล่านั้นจะสะอาด ก็เพราะว่าร่างกายนี้หาความสะอาดไม่ได้ ต้องชะต้องล้างอยู่เสมอ ไปอยู่ในบ้านในเรือนก็ต้องชะต้องล้างทำความสะอาดในบ้านในเรือน
มันขึ้นกับอะไร มันถึงได้ชะได้ล้างตลอดเวลา ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายตัวสกปรกนี้เอง มันไปอยู่ที่ไหนเลอะเทอะไปหมด คือร่างกายตัวสกปรกนี้เอง นี่การพิจารณาทางด้านปัญญาให้แยกแยะอย่างนี้ ดูเข้าไป ดูหนัง แล้วก็ดูเนื้อ เนื้อคน เนื้อสัตว์ มันมีคุณค่ามีราคา และสวยงามที่ตรงไหน หนังเวลาถลกออกมาแล้วมาปูไว้เป็นยังไง น่าเกลียดมากไหม ดูเข้าไปในเนื้อ เนื้อเป็นยังไงดูเข้าไป เนื้อนี่มันสกปรกหรือสะอาด เอ็น กระดูก ยิ่งดูเข้าไปในกระดูกนี้ ทำไมมันถึงติดถึงพันนักจิตใจอันนี้ แกะไม่ออก ดึงไม่ออก มิหนำซ้ำยังส่งเสริมให้ติดแน่นเข้าไปอีก หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
แล้วดูเข้าไปในตับ ไต ไส้ พุง ของคนแต่ละคน มีแต่ส้วมแต่ถานเต็มพุงด้วยกันทั้งนั้นแหละ เราดูกันได้เวลานี้ก็เพราะเอาสิ่งที่พอดูได้มาปิดบังไว้นี้ หุ้มห่อ แล้วปกปิดกำบังไว้ด้วยการนุ่งการห่ม ซักฟอกไว้เรียบร้อย มาพบกันเข้าก็พอน่าดูน่าชมว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นเขา เป็นเรา เท่านั้นเอง หลักความจริงคือธรรมชาติเดิมของมันนั้นหาความสะอาดสะอ้านไม่ได้ นี่คือปัญญา พิจารณาแยกแยะอย่างนี้ พิจารณาในเรื่องนี้จนกระทั่งถึง ตับ ไต ไส้ พุง อาหารเก่า อาหารใหม่ ถึงส้วมถึงถานในพุงของเรา
ดูแล้วทบทวนหลายครั้งหลายหน เพ่งเล็งด้วยสติด้วยปัญญาหลายครั้งหลายหน จนกระทั่งสติปัญญามีความคล่องแคล่วแกล้วกล้า ดูอวัยวะของตัวนั้นเอง ทีแรกก็เหมือนกันกับเราฝึกหัดเขียนหนังสือ ทั้งเขียนทั้งลบระเกะระกะ เขียนแล้วลบเล่าเพราะเขียนไม่ชำนาญ มันก็ไม่ถูกตัว แล้วเลอะเทอะ ทีนี้เวลาฝึกหัดเขียนไปหลายครั้งหลายหน มันก็ค่อยเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา อ่านก็ง่ายขึ้นๆ เวลามีความชำนาญในการขีดเขียนแล้ว พอมองดูพับเท่านี้มันก็รู้ เขียนก็หวัดไปเลย เพราะความชำนาญของการเขียน อ่านก็แบบเดียวกัน อ่านหวัดไปเลย นี่คือความชำนาญ
การพิจารณาทางด้านปัญญาทีแรกก็ถูไถไปมาล้มลุกคลุกคลาน เห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้างในสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ซึ่งเป็นหินลับปัญญา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ทุกอย่างเป็นหินลับปัญญา ปัญญาจะคมกล้าขึ้นด้วยการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ซ้ำๆ ซากๆ จิตใจก็จะมีความสว่างไสวและคล่องตัวขึ้นมาเป็นลำดับ นี่แหละหลักฐานเบื้องต้นที่จะเปิดทางเพื่อมรรคผลนิพพาน ให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คือส่วนร่างกายนี้แหละ ที่มันปกปิดกำบัง ภูเขาทั้งลูกไม่ได้หนาแน่นยิ่งกว่าอวัยวะภายในตัวของเรา ทั้งเขา ทั้งเรา ทั้งหญิง ทั้งชาย มันปกปิดกำบังไว้หมด
หญิงเห็นชายก็หลง ชายเห็นหญิงก็หลง นี่แหละมันหนายิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก จึงเปิดทำลายภูเขาลูกนี้ คือภูเขาภูเรานี้ออกด้วยปัญญา ให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน จนกระทั่งสติปัญญาคล่องแคล่วแกล้วกล้า แยกธาตุแยกขันธ์ออกไป เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ แยกลงไปเป็นอนิจฺจํ แปรสภาพ ทุกฺขํ บีบบี้สีไฟตลอดเวลา อนตฺตา หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลของผู้หนึ่งผู้ใดไม่ได้ ทั้งๆ ที่โลกยึดถือกันตลอดมา เขาก็ไม่ได้เป็นอะไร เป็นของใคร แยกออกเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ด้วยการดำเนินปัญญา
ทีนี้เมื่อเวลาพิจารณาปัญญามากเข้าๆ จิตใจมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ให้ย้อนจิตเข้ามาสู่สมาธิเสีย บำเพ็ญทางสมาธิ คือจิตใจทำให้สงบอารมณ์ หยุดทางด้านปัญญา ไม่ต้องคิดต้องปรุง มุ่งหน้าต่อสมาธิด้วยความสงบใจ หรืออารมณ์บริกรรมแห่งธรรมนี้เท่านั้น พักอยู่ในสมาธิ เมื่อจิตมีความแน่นหนามั่นคง หรือความสงบพอเป็นปากเป็นทางของด้านปัญญา หนุนปัญญาได้แล้ว ให้ก้าวทางด้านปัญญาอีกตามเดิมนั้นแหละ พิจารณาสิ่งที่เคยพิจารณา นี่เรียกว่าหินลับปัญญา ก้าวเดินอย่างนี้ตลอดไป
เรื่องจิตใจของเราจะมีความเบาบางๆ แพรวพราวขึ้นเป็นลำดับ เพราะสิ่งเหล่านี้ปกปิดมันแต่ก่อน พอปัญญาเปิดออกๆ จิตจะมีความสว่างไสว เบาเนื้อเบากายด้วย ไม่แค่แต่เบาใจนะ เบาเนื้อเบากาย คือที่จิตมายึดเรื่องกายมันก็หนัก ทีนี้จิตใจค่อยถอนลงไปๆ อะไรก็กลายเป็นเบา ร่างกายไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรก็กลายเป็นเบา เนื่องจากเจ้าของเป็นผู้ยึด นี่ท่านพิจารณาทางด้านปัญญา เอาให้เต็มเหนี่ยวในเรื่องร่างกายนี้เป็นสำคัญมาก นักปฏิบัติทั้งหลายอย่ามองข้ามไปนะ
ใครพิจารณาร่างกายนี้ช่ำชองเท่าไรผู้นั้นจะมีความแกล้วกล้าสามารถ ค่อยละกิเลสเป็นลำดับลำดาไป จิตใจจะแตกฉานทางอรรถทางธรรมไปด้วยนะ การพิจารณากายคตาสตินี้ เป็นการเบิกความรู้ให้กระจ่างแจ้งออกไปในทุกทิศทุกทาง การพูดการจา การโต้การตอบ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปิดออกด้วยกันๆ เพราะอำนาจแห่งกายคตาสตินี้สำคัญมากนะ การพิจารณาร่างกายนี้ เมื่อถึงขั้นมีความละเอียดเข้าไป ทางด้านปัญญาคล่องแคล่วเข้าไปแล้ว พิจารณาอันนี้จะรวดเร็วมากทีเดียว มองเห็นสภาพทั้งเขาทั้งเราจะรวดเร็ว
ถ้าว่าเป็นอสุภะพรึบเดียวเป็นอสุภะหมดทั้งร่าง ทั้งเขาทั้งเรา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นที่พอใจแล้ว จิตใจของเรามีความแน่นหนามั่นคง เอา ทดสอบดู การพิจารณาอสุภะอสุภังนี้เป็นพื้นฐานควรแก่การที่จะถอดถอนกามกิเลสได้แล้ว ด้วยการพิจารณาร่างกายนี้ช่ำชอง แล้วให้กำหนดอสุภะอสุภังที่เราพิจารณาอย่างช่ำชอง คือให้แตกให้ดับเร็วก็ได้ ให้ช้าก็ได้ ให้ตั้งอยู่เป็นที่เป็นฐานไม่ทำลายก็ได้ เมื่อถึงขั้นนี้แล้วเรียกว่าเราทำได้ตามต้องการ
ทีนี้เอาความคล่องแคล่วของจิตใจเราที่ทำอย่างนี้นั้น กำหนดอสุภะอสุภังเอามาตั้งที่หน้าของเราที่นั่งภาวนาอยู่นี้แล เอามาตั้งดู เอาอสุภะอันนี้กำหนดขึ้นให้เป็นอสุภะ จะเป็นท่านั่งก็ได้ ท่านอนก็ได้ ให้เป็นภาพอสุภะปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา จิตใจเราเพ่ง ปัญญาจ่อเข้าไปตรงนั้นแต่ไม่ให้ทำลาย เอาสติจดจ่อไว้ไม่ให้ภาพนี้มันเคลื่อนย้ายไปที่ไหน มันจะไปตรงไหนมาที่ไหน ถ้ามันยังไม่พอกำหนดดูอยู่ มันจะไม่เคลื่อนไหวไปที่ไหน ถ้าการพิจารณาอสุภะอสุภังยังไม่พอ ปัญญายังไม่พอที่จะปล่อยวางมันได้ กำหนดอสุภะอสุภังให้อยู่ที่ไหนมันก็อยู่ที่นั่น กำหนดนานเท่าไรมันก็อยู่ที่นั่นนาน นี่แสดงว่ายังไม่พอกับความต้องการ
ทีนี้ขยายออกอีก พิจารณาอย่างเก่านั้นแหละ ให้มีความชำนิชำนาญเข้าไป เอามาตั้งอีก นี่เป็นการทดสอบตัวเองเพื่อเอาความสัตย์ความจริงตัดสินตนเองในเรื่องกิเลสตัณหา คือกามราคะนั้นแหละเป็นตัวสำคัญ เพราะตัวนี้มันพิลึกพิลั่น ทั้งหญิงทั้งชาย สัตว์ บุคคลทั่วโลก ติดอันนี้กันทั้งนั้น เพราะไม่มีใครมาบอกมาสอน แม้แต่พระเรายิ่งติดมากยิ่งกว่าฆราวาสก็มีเยอะ เพราะไม่สนใจในธรรม หมุนติ้วไปกับกิเลสตัณหา ก็กลายเป็นความพะรุงพะรัง สร้างแต่ความชั่วช้าขึ้นมาในหัวใจของตนนั้นแล
นี่เราให้พิจารณาถึงอสุภะอสุภังให้เต็มที่ กำหนดตั้งอยู่ยังไง เอา ตั้ง กำหนดให้ทำลายเมื่อไร เอา ให้ทำลาย ให้รวดเร็วเท่าไรก็รวดเร็ว เมื่อมันชำนาญแล้วกำหนดมาตั้งไว้ที่หน้าของเรานี่ ทีนี้เอาความจริง จะดูความเคลื่อนไหวของอสุภะนี้ มันจะเคลื่อนไหวไปไหน เราจะหาความจริงจากจุดนี้ คือจุดนี้เป็นจุดที่เราเข้าใจว่าชำนาญแล้วในการพิจารณาอสุภะ แล้วเอาจุดนี้มาตั้งไว้ตรงหน้าของเรา มันจะเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ต้องมีใครมาบอกมาสอน เราดูไว้เวลานั้นอย่าทำลาย อสุภะอสุภังที่ตั้งไว้ในเวลานั้นอย่าทำลาย มันจะเคลื่อนย้ายไปไหน มันจะไปข้างหน้า มาข้างหลัง หรือจะไปทางซ้าย ทางขวา หรือจะเข้าจะออก ให้ดูความจริง อันนี้จะแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนเมื่อพอแล้ว
เมื่อพอแล้วธรรมชาตินี้จะหมุนเข้าไปสู่จิตใจของเราเอง จะหมุนเข้ามาโดยที่เราไม่คาด อันนี้พูดลำบากนะ ผมเองก็ไม่อยากจะพูด มันจะเป็นเรื่องคาดเรื่องหมายของผู้บำเพ็ญ เพราะสัญญาอารมณ์นี้ละเอียดมาก ไปคาดเอาเสียว่าตนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังที่ท่านสอนไปเสีย จึงไม่อยากจะพูด บอกแต่อย่างนี้ให้เป็นเครื่องตัดสินตนเอง พิจารณาอสุภะตัวนี้ให้ดี มันจะเคลื่อนย้ายไปไหนเวลานั้นจะไม่ทำลาย มันเป็นยังไงพิจารณาปัญญาให้ถึงฐานแห่งกามกิเลส เอา ดูตัวนี้ เวลามันพอแล้วมันจะบอกเองนะ อสุภะตัวนี้ คือเราไม่ทำลาย ตั้งไว้นั้นแหละ เอา มันจะไปไหนให้อยู่ในปัจจุบัน มันจะไปไหน
นี้ละเราจะไม่บอกในระยะจากนั้นไป ให้เป็นเครื่องตัดสินของท่านผู้บำเพ็ญธรรมะขั้นนี้เอง จากนั้นแล้วผ่านขั้นนี้เข้าไปแล้วมันบอกเอง เรื่องกามกิเลส เรื่องตัดสิน มันจะบอกในตัวเอง จุดนี้เป็นจุดที่จะตัดสินกามราคะ ตัดสินได้โดยไม่ต้องไปถามผู้ใดแหละ ถึงขั้นอสุภะอสุภังมีความชำนิชำนาญแล้วตั้งไว้อย่างนี้ อยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าให้มันอยู่กับที่มันก็อยู่กับที่ แล้วไม่เคลื่อนไหวไปมาที่ไหนก็แสดงว่ายังไม่พอ พิจารณาแตกกระจัดกระจายทำลายไปอีก ตั้งขึ้นมาอีก แล้วมาทดสอบดูอีก เอาจนกระทั่งมันอยู่นิ่ง มันไม่ไปไหนมาไหนแล้วทีนี้มันจะไปไหน ไปหาความตัดสินตนเองว่าใครเป็นคนหลงแน่ อสุภะหลง หรือจิตใจเราหลง มันจะตัดสินขึ้นมาในที่นั่นเอง
นี่เป็นจุดสำคัญ เราจึงไม่บอกจุดนี้ บอกแต่ต้นเหตุเปิดประตูให้ ให้เข้าเองนะ เปิดประตูด้วยไสเข้าไปด้วย มันเกินไปหลับครอก ๆ ตั้งแต่ยังไม่เข้าไปในห้องก็ได้นี่นะ เพราะฉะนั้นถึงไม่บอก ถ้าบอกมันจะคาดจะหมายไปก่อนเสีย แล้วเป็นความสำคัญขึ้นมา ไม่ถูก ต้องเป็นเครื่องตัดสินตัวเอง เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก หรือ ปจฺจตฺตํ ในธรรมขั้นนี้ประจักษ์แล้ว ทีนี้เมื่อมันประจักษ์แล้วจะหายสงสัยเอง เรื่องกิเลสตัวนี้เป็นมาจากอะไร จากนั้นก็พยายามตั้งภาพอันนั้นแหละ ที่เราเคยพิจารณาเป็นมาตลอดนั้น ตั้งขึ้นไว้อย่างเก่านั้นแหละ แล้วมันจะหมุนตัวเข้ามาๆ ในหัวใจของเรา ทีนี้เร็วขึ้นๆ นี่การฝึกซ้อมปัญญาทางด้านกามกิเลส อสุภะอสุภังเป็นของสำคัญมาก
จากนี้แล้ว สภาพอันนี้ฝึกซ้อม มันปรากฏขึ้นมาช้าเร็วขนาดไหนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เอาสภาพที่เราเคยกำหนดไว้นี้แล้ว ว่าเป็นการฝึกซ้อมให้มีความชำนิชำนาญในขั้นนี้ให้จงได้ นี่ละพอได้ที่แล้วก็ฝึกซ้อมเรื่อย จิตใจจะละเอียดเข้าไปเรื่อย ในภาพเหล่านี้ก็จะละเอียดเข้าไปๆ นี่แหละพระอนาคามีท่านจึงไม่ลงมาเกิดอีก คือกามกิเลสนี้เป็นตัวสำคัญ มีแต่ดึงลงๆ ท่าเดียว หมุนลงท่าเดียว ให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความทุกข์ทรมาน เพราะกดเพราะถ่วงบีบบี้สีไฟอย่างลึกลับภายในจิตใจอยู่นั้นแล
ทีนี้เมื่อเวลาได้เข้าใจในนี้แล้ว เราก็ฝึกซ้อมนี้ จิตใจของเราเมื่อได้ระดับแล้ว เป็นที่แน่ใจเอาละทีนี้หมดแล้ว ขาดจากกันแล้ว ทีนี้ฝึกเข้าไปซ้อมเข้าไป จิตอันนี้จะมีความชำนิชำนาญไปอีกขั้นหนึ่ง มีความละเอียดไปอีกขั้นหนึ่งๆ เอา ฝึกซ้อมเข้าไปเรื่อยๆ นี้เองที่เป็นสักขีพยานตามที่ท่านแสดงไว้ในอรรถในธรรมว่า พระอนาคามีนั้นเมื่อบรรลุถึงขั้นอนาคามีแล้ว ท่านจะไม่กลับมาเกิดอีก คือจิตดวงนี้จะไม่ถูกกดถ่วงดึงลงเหมือนแต่ก่อนเมื่อมีกามราคะผูกพันอยู่ พอหลักใหญ่ของกามราคะขาดลงไปแล้ว เรียกว่าสอบได้แล้ว ๕๐% นี่หมายถึงฐานะของเราผู้เป็นเนยยะ ผู้ได้รู้ช้ารู้เร็ว จึงบอกลำดับลำดาไว้
พอได้รู้ชัดเจนแล้ว จิตใจนี้จะไม่หมุนลงนะ ไม่มีอะไรมาดึงใจนี้ลง มีกามกิเลสเท่านั้นดึงลงๆ ตลอดเวลา พอกิเลสขาดออกไปในขั้นนี้แล้ว จิตจะค่อยหมุนขึ้นเป็นลำดับ พิจารณาฝึกซ้อมจิตใจดวงนี้แหละด้วยอสุภะดังที่เคยปฏิบัติมานั้น จิตใจจะละเอียดลงไปๆ และความหมุนตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ นี่ละพระอนาคามีที่ท่านไม่กลับมาเกิดอีก ก็คือมีกามกิเลสอันเดียวนี้เท่านั้นดึงลง มาสู่นรกอเวจีได้เพราะกามกิเลส พออันนี้ขาดลงไปแล้วจิตใจจะเบาลงไปๆ เบาจนกระทั่งเบาหวิวๆ กำหนดพับๆ ซักฟอกตัวเองๆ ในส่วนที่เป็นมลทินอันละเอียดติดแนบอยู่กับจิต ซึ่งอยู่ในขั้นอนาคามีที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ มลทินเหล่านี้จะค่อยกระจายละเอียดลงไปๆ ด้วยการฝึกซ้อมของเรา
พอละเอียดเข้าไปเท่าไรจิตยิ่งหมุนสูงขึ้นๆ เรื่อย อย่างที่ท่านเทียบไว้ในสุทธาวาส ๕ ชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา นี่แหละระดับของพระอนาคามี พอได้ระดับเบื้องต้นที่ว่าสอบไล่ได้แล้ว หากว่าตายก็จะไปเกิดในอวิหา แล้วเลื่อนไปอตัปปา ละเอียดเข้าไปก็สุทัสสา ละเอียดเข้าไปสุทัสสี ละเอียดเข้าไปทั้งๆ ที่ยังไม่ตายก็รู้เป็นลำดับ ละเอียดเข้าไปเต็มที่แล้วขึ้นอกนิฏฐา นี่เป็นชั้นที่ ๕ ของสุทธาวาส ๕ ชั้น พอจากชั้นนี้แล้วก็ดีดผึงก้าวเข้าสู่นิพพาน เพราะฉะนั้นพระอนาคามี เมื่อสำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้วท่านจึงไม่กลับมาเกิดอีก ถ้าว่าเกิดก็ไปเกิดในอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี เรื่อยไป แล้วพร้อมที่จะไม่กลับคืนมา ไปจนกระทั่งทะลุพระนิพพานไปเลย
นี่ภาคปฏิบัติ ขอให้พระลูกพระหลานทั้งหลายจำเอาไว้ พิจารณาอย่างที่ว่ามานี้จำให้ดีด้วยนะ ภาคปัญญาที่ออก การพิจารณาทางด้านปัญญานี้ต้องพิจารณาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงกาลเวลาพิจารณา เวลาที่จะเข้ามาพักสมาธิมีความสงบ เพื่อเอากำลังหนุนทางด้านปัญญา เราก็เข้ามาพักสมาธิคือความสงบใจเสีย อย่าไปกังวลกับความคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องปัญญาเลย ให้อยู่กับความสงบ สงบได้ดีเท่าไรยิ่งเป็นของดี อยู่ตรงนี้ พอจิตอิ่มพอในความสงบแล้ว พอถอยออกมาเท่านั้น ทีนี้เอาพิจารณาทางด้านปัญญา อย่ายุ่งกับทางสมาธิ ปล่อยไปเลยสมาธิ เหมือนเป็นคนละโลก
ในขณะนั้นให้ก้าวเดินทางด้านปัญญา เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วก็ถอยมาพักสมาธิ นี้เป็นการก้าวเดินอย่างราบรื่นดีงามของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ให้พระลูกพระหลานจำเอาไว้นะ แล้วก้าวเดินไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงอกนิฏฐาเต็มภูมิ นี่ท่านเรียกว่าพระอนาคามีเต็มภูมิ ไปเต็มที่นั่นนะ ตั้งแต่อวิหา อตัปปานี้ยังไม่เต็มภูมิ แต่ได้ฐานเรียบร้อยแล้ว ว่าสำเร็จเป็นพระอนาคามี ถ้าบันไดก็ขั้นต้น บันไดของพระอนาคามีมีถึง ๕ ขั้น ถ้าเทียบบันได ขั้น ๑ อวิหา ๒ อตัปปา ๓ สุทัสสา ๔ สุทัสสี ๕ อกนิฏฐา นี่ลำดับของพระอนาคามีที่ได้ในขั้นต้นแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบเหมือนผู้รู้ธรรมโดยขิปปาภิญญา
การกล่าวทั้งนี้เรากล่าวตามธรรมดาของเนยยะ อยู่กลางๆ ของคนเราธรรมดา ไม่ได้กล่าวถึงพวกอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ซึ่งรวดเร็ว พอถึงปั๊บนี่พุ่งเลย อวิหา อตัปปา อนาคามี นี้พุ่งทะลุถึงกัน ถึงนิพพานเลย นี่เป็นประเภทหนึ่งไม่ได้นับเข้ามาในนี้ ส่วนมากนักปฏิบัติของเรามักจะก้าวเดินไปตามนี้ เพราะเป็นการบำเพ็ญของผู้ที่อยู่ในท่ามกลาง ยากลำบาก ช้าก็ช้าแต่ถึง นี่เป็นอย่างนี้นะ ผู้ที่รวดเร็วนั้นพอบรรลุปึ๋งๆ ถึงที่สุดเลย นี่เรียกว่าอุคฆฏิตัญญู เรียกว่า ขิปปาภิญญา ผู้รู้ได้เร็วต่างกันอย่างนี้ แต่ให้แยกแยะเอานะ นี่การพิจารณาทางด้านปัญญาให้พิจารณาอย่างนี้
เรื่องกิเลสกามราคะนี้รุนแรงมาก หนักมากที่สุด ถ่วงจิตใจมากทีเดียว ไม่ว่าหญิงว่าชาย เป็นแต่เพียงไม่พูดถึงกัน เรานำมาพูดเฉพาะนักบวชที่เป็นผู้จะเสียสละสิ่งเหล่านี้ แล้วนำมาแก้ไขดัดแปลงกัน แก้ไขถอดถอนกัน จึงรู้สึกว่าอันนี้ยาก ยากจริงๆ เวลาเข้าถึงขั้นนี้ที่จะปล่อยวาง ที่จะสำเร็จเป็นขั้นที่สามคืออนาคามีได้นั้น เป็นนักมวยก็เรียกว่านักมวยชุลมุน ต่อยกันอยู่วงใน หมุนติ้วๆ อยู่วงใน คือสติปัญญาขั้นนี้ ขั้นหมุนตัวติ้วๆ อยู่กับอสุภะอสุภัง พออันนี้ผ่านได้แล้วก็กลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา โดยที่นำอันนี้แหละมาฝึกมาซ้อมอยู่โดยสม่ำเสมอ ก็กลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ
สติปัญญาอัตโนมัตินี้จะเกิดทีหลัง ลำดับจากกามกิเลสซึ่งฟัดกันอย่างชุลมุนวุ่นวายนี้ไปแล้ว พอจากนั้นก็กลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ อันนี้หมุนตัวเป็นเกลียวไปเลยเพื่อความพ้นทุกข์ ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อม ๆ แล้วจากนี้ไป พอถึงขั้นอนาคาแล้ว เหมือนว่ามองเห็นพระนิพพานอยู่ข้างหน้าๆ อยู่ชั่วเอื้อมๆ ละที่นี่ ความเห็นโทษของกิเลสทั้งหลายนี้จะเห็นอย่างเต็มใจๆ เห็นอย่างถึงใจๆ ความเห็นคุณของการหลุดพ้นก็มีน้ำหนักเท่ากัน
เพราะฉะนั้นท่านจึงได้หมุนตัวเป็นอัตโนมัติของสติปัญญา รอไม่ได้เลย หมุนติ้วๆ สติปัญญาอัตโนมัตินี้คือสติปัญญาแก้กิเลส ฆ่ากิเลสเป็นอัตโนมัติ ไม่ว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน เว้นแต่หลับเท่านั้น พอตื่นนอนขึ้นมาสติปัญญานี้จะจับงานอัตโนมัติของตนแล้วเป็นลำดับลำดา นี่คือสติปัญญาอัตโนมัติทำงาน แก้กิเลสเป็นอัตโนมัติ ทีนี้เรื่องความพากความเพียรที่เราจะหมุนอย่างที่ว่าเพียรพยายามถูไถกันไปอย่างนี้ไม่มี ในวงที่ว่าสติปัญญาอัตโนมัติ มีแต่หมุนตัวไปเองเพื่อความพ้นทุกข์ๆ แก้กิเลสโดยอัตโนมัติ อยู่ที่ไหนแก้ตลอดๆ ไม่มีคำว่าพัก
จึงต้องย้อนจิตอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัตินี้เข้าสู่สมาธิคือความสงบ ไม่เช่นนั้นจะไม่หยุด เตลิดเปิดเปิงมันจะเลยเถิด นี่ท่านก็สอนให้ย้อนเข้ามา ถึงจะเป็นการแก้กิเลสด้วยความเพลินใจก็ตาม เมื่อกำลังวังชาไม่พอมันก็เหมือนอย่างมีดของเรานี้มันไม่คม ฟันไปเท่าไรมันก็ไม่ขาดง่ายๆ ทีนี้ถอยมาเหมือนว่ามาลับหิน ได้แก่เข้าสู่สมาธิ หรือนอนพักหลับเสีย เมื่อพักหลับแล้วเป็นกำลังอันหนึ่งทางธาตุทางขันธ์ พักจิตเข้าสู่สมาธิเป็นกำลังอันหนึ่งทางจิตใจ แล้วธาตุขันธ์ก็ได้กำลังมาหนุนอันนี้อีก ทีนี้ก้าวเดินต่อไปอีก
ฟังให้ดีนะบรรดาท่านทั้งหลาย วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่พระหลวงตาจะได้สอนพระลูกพระหลานให้เป็นคติเครื่องเตือนใจนำไปปฏิบัติ เพื่อก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพาน ซึ่งสดๆ ร้อนๆ ตามทางศาสดาที่สอนไว้นี้ ไม่ครึไม่ล้าสมัยไปไหน ให้พิจารณาอย่างที่ว่านี้ นี่ละขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ พอจากนี้หมุนเข้าไป ละเอียดลออเข้าไปๆ แล้วก็เชื่อมโยงถึงมหาสติมหาปัญญา เพียงขั้นสติปัญญาอัตโนมัตินี้ก็ไม่มีเผลอแล้ว จิตจะเผลอ สติสตังเผลอไม่มีแล้ว พอก้าวเข้าสู่มหาสติ มหาปัญญา นอกจากไม่เผลอแล้วยังละเอียดลออ ซึมซาบไปหมดเลย
สติปัญญาอัตโนมัตินี้ยังเป็นคลื่นๆ ถ้าทำงานก็เหมือนเขาฟักลาบยำลาบ ถึงจะยำถี่ยิบขนาดไหนมันก็เป็นคลื่นแห่งการยำลาบอยู่นั้นแหละ ทีนี้พอก้าวจากสติปัญญาอัตโนมัตินี้เข้าไปสู่มหาสติมหาปัญญา ทีนี้ราบรื่นไปเลย ซึมซาบ ฆ่ากิเลสก็ซึมซาบ อะไรซึมซาบทั้งหมดไปตามๆ กัน นี่เรียกว่ามหาสติ มหาปัญญา ให้มันครองในหัวใจของเราซิ ธรรมะพระพุทธเจ้าสดๆ ร้อนๆ สอนไว้เพื่อใคร ถ้าไม่สอนไว้เพื่อผู้ปฏิบัติ คือพวกเราเอง นี่ละเรียกว่ามหาสติ มหาปัญญา
ทีนี้การพิจารณาสติปัญญาอัตโนมัติ ก็ถือเอาขั้นอนาคานี้ อารมณ์ของอนาคา นิมิตของอนาคานี้ฝึกซ้อมจนชำนิชำนาญ แล้วกลายเป็นว่างไปหมด หมดนิมิตที่เกี่ยวกับจิต ซึ่งเรามาตั้งฝึกซ้อมนี้หมดไปๆ หมดเร็วเข้าๆ สุดท้ายหมด ตั้งขึ้นพับดับพร้อมๆ เหมือนฟ้าแลบๆ ต่อไปอย่างงั้นไม่มี ไม่มีจะเป็นอะไรที่นี่นะ จิตมันว่างไปหมดแล้ว มันหากเป็นเองสิ่งที่มีเงื่อนต่อมันมี เหมือนกับไฟได้เชื้อ เชื้อไฟมีอยู่ที่ไหนไฟจะลุกลามไปตามเชื้อโดยไม่บังคับกันแหละ ขอให้มีเชื้อไฟเถอะ ไฟจะลุกลามไปตาม
อันนี้ขอให้มีเชื้อกิเลสอยู่ที่ตรงไหน สติปัญญาซึ่งเป็นเหมือนกับไฟ ความพากความเพียรเหมือนกับไฟ จะหมุนเข้าไปพิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาก็ถือเอาเวทนาทางกายบ้าง ถือเอาเวทนาทางจิต ส่วนมากจะเป็นเวทนาทางจิตนะ ทางกายผ่านไปแล้วไม่ค่อยสนใจ สัญญา สังขาร วิญญาณ มักจะมีแต่สุขเวทนาภายในจิตใจ ทุกขเวทนามี แต่ว่าน้อยๆ ลงไปโดยลำดับ สุขเวทนานั้นเด่นๆ นี่ก็อยู่ในขั้นสมมุติ สัญญา สังขาร วิญญาณ เฉพาะอย่างยิ่งคือสังขาร พอปรุงแพล็บๆ ปรุงมาจากไหน ปรุงมาจากใจ ดับไปดับไปไหน มาจากใจ
สัญญาหมายปั๊บมาจากไหน สติปัญญานี้จะหมุนตามๆ ทันทีโดยหลักธรรมชาติ สุดท้ายมันก็หมุนออกจากใจ หมุนเข้ามาก็หมุนเข้ามาสู่ใจ ติดตามเข้าไปหาพระราชวังหลวง คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ได้แก่กษัตริย์วัฏจักร อยู่ในท่ามกลางนี้แหละ อวิชชาเป็นกำแพงล้อมเอาไว้ ตัวอวิชชาจริง ๆ อยู่ในกำแพง เพราะฉะนั้นจึงติดตามเหล่านี้เข้าไป ติดตามอันนี้เข้าไปเรื่อย ฝึกซ้อมกันเรื่อย พอมันเข้าใจ เข้าใจหลายครั้งหลายหน เข้าใจเรื่อย ๆ เข้าไปก็ตามเข้าไปถึงอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา กลายเป็นปัจจยาการขึ้นมาภายในจิตดวงนั้น เรียกว่าอริยสัจสี่ เป็นเต็มตัวแล้วเข้าไปนั้น
แล้วจิตมันตามเข้าไปหลายครั้งก็ไปเห็นต้นตออันใหญ่หลวง คืออวิชฺชาปจฺจยา ซึ่งเป็นกษัตริย์วัฏจักรภายในหัวใจของเรา เพราะสิ่งอื่นมันปล่อยหมดแล้ว จิตใจว่างไปหมด ทั้งๆ ที่จิตก็ยังไม่ว่างตัวเอง แต่สิ่งภายนอกทั้งหลายมันว่างไปหมด ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ วัตถุต่างๆ นี้ว่างไปหมด ไม่มีในจิตใจ จิตใจกลายเป็นความว่างไปหมดแล้ว เหลือตั้งแต่ภายในตัวเองยังไม่ว่าง อ่านให้มันถึงอย่างงั้นซินักปฏิบัติ ให้ถึงตัว อะไรยังไม่ว่าง ก็อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ยังสำคัญว่าอันนั้นว่าง อันนี้ว่าง ตัวเองลืมตัวเอง ตัวเองยังไม่ว่าง ให้ย้อนเข้ามาจนกระทั่งถึงตัวจริงของอวิชชา
นี้พูดเป็นแนวทางให้พระลูกพระหลานทั้งหลายฟังเพื่อได้ยึดนะ นี่ถอดออกมาจากความจริง จากภาคปฏิบัติของตัวเองมาเล่าให้บรรดาลูกหลานฟัง ให้พิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง มันก็เข้าถึงจิตอวิชชา อวิชชาครอบงำจิตเอาไว้ ในโลกนี้มีแต่อวิชชาครอบอยู่เท่านั้น พอเปิดอันนี้ออกไปจิตมันก็จ้าขึ้นมาเต็มสัดเต็มส่วน เต็มมรรคเต็มผล เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วทีนี้ในจิตเองก็ว่าง ภายนอกก็ว่าง ว่างหมดทั้งภายใน ว่างหมดทั้งภายนอก ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตใจนี้เลย เป็นวิมุตติจิต วิมุตติธรรม หรือเป็นธรรมธาตุล้วนๆ ปรากฏเด่นขึ้นมา เรียกว่าสมมุติไม่มีเลยในจิตดวงนี้ จิตอันนี้ว่าง คำว่าว่าง ว่างจากสมมุติทั้งหมดไม่มีอะไร เหลือแต่วิมุตติธรรมที่เป็นหลักธรรมชาติแท้
นี้ละจิตเข้าถึงธรรมชาติแท้ คือจิตนี้เป็นธรรมธาตุ เป็นมหาวิมุตติ เป็นมหานิพพาน เป็นอมตจิต เป็นอมตธรรม สมกับว่าจิตนี้ไม่เคยตาย ที่สุดแห่งความไม่เคยตายของจิตคืออะไร คือธรรมธาตุ จิตถึงวิมุตติหลุดพ้นเรียกว่าถึงธรรมธาตุแล้ว ทีนี้หายสงสัยว่าจิตดวงนี้ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ หายสงสัยร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือว่าล้านเปอร์เซ็นต์ นี่แหละให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายทั้งพระทั้งประชาชน อย่ามามัวเกาหมัดอยู่ว่าเจ้าของเกิดตายมากี่กัปกี่กัลป์ แล้วก็มาตื่นเงาเจ้าของ หลงเงาเจ้าของ ว่าตายแล้วสูญๆ
นี่ละมันสูญได้ยังไง มันลงไปนรกอเวจีมากี่กัปกี่กัลป์ทนทุกข์ทรมานอยู่นั้น มันก็ไม่สูญนั้นเอง ยอมรับความทนทุกข์ทรมาน พอบาปกรรมค่อยจางไปๆ จากนรกหลุมนั้นเลื่อนมาหลุมนี้ แล้วจิตใจก็เป็นจิตอยู่อย่างงั้นละ ได้รับความทุกข์ความทรมานน้อยลงๆ ตามอำนาจแห่งกรรมของตนที่เบาลงๆ แล้วถอยขึ้นมา มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์อะไร มันก็จิตดวงนี้แหละไปเกิดอยู่ตลอดเวลา ตามอำนาจแห่งกรรมหนักเบามากน้อย เรื่อยไปๆ จนมาเป็นผู้เป็นคนอย่างเรานี้แหละ
นี่เราก็มาจากจิตดวงที่ไม่เคยตายนั่นแหละมาอยู่นี้ ตายจากนี้แล้วก็จะไปเกิดอีกนะ ทีนี้ความไปเกิดของจิตดวงนี้จะไปเกิดที่ไหน เราได้ความแน่นอนแล้วยัง ถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้วแน่นอนเป็นลำดับดังที่กล่าวนี้จากภาคปฏิบัติ จะแน่นอนเป็นลำดับลำดาไปเลย อย่างเช่นว่า นิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ นั่นแหละที่สุดแห่งสมมุติทั้งหลายจะไปสุดสิ้นที่ตรงนั้น วิมุตติผางขึ้นมาแล้วจิตบริสุทธิ์ ไม่มีสมมุติแม้นิดหนึ่งปรากฏเลย จิตดวงที่บริสุทธิ์ จิตดวงที่เคยเกิดเคยตายมาเหมือนกับสัตว์ทั้งหลายทั่วแดนโลกธาตุนี้ ขาดสะบั้นลงไปในขณะที่จิตอวิชชาขาดลงไปจากใจ จิตครองวิมุตติหลุดพ้น ไม่มีสมมุติใดๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง
เพราะฉะนั้นจิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์ ท่านจึงไม่เคยมีทุกข์ ตั้งแต่ขณะท่านตรัสรู้ธรรม หรือบรรลุธรรมขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ในเวลานั้นแล้ว จากนั้นไปเป็นอนันตกาล ตั้งกัปตั้งกัลป์ เรียกว่าเที่ยง ท่านไม่เคยมีทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ตั้งแต่ขณะท่านตรัสรู้ธรรม คำว่าตรัสรู้คือสังหารกิเลส ตัวเป็นเจ้าเหตุสร้างทุกข์ขึ้นมามากน้อย กิเลสมีมากมีน้อยสร้างทุกข์ขึ้นมามากน้อย ให้ได้รับความลำบากลำบนมากน้อย พอกิเลสซึ่งเป็นตัวสร้างทุกข์นี้ขาดสะบั้นลงไปจากจิตใจแล้ว ไม่มีสมมุติในใจเลย กิเลสก็ไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มี ความทุกข์ในใจของพระอรหันต์จึงไม่มีตั้งแต่ขณะท่านตรัสรู้แล้ว
ส่วนความทุกข์ทางธาตุทางขันธ์ร่างกายนี้มีเหมือนกันกับโลกทั่วๆ ไป เพราะเหตุใด เพราะธาตุขันธ์นี้เป็นสมมุติเหมือนกับสมมุติของโลกทั้งหลาย เช่น ร่างกายของเขาของเราเป็นเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นความทุกข์ประจำขันธ์จึงมีเหมือนกัน มีเจ็บท้องปวดศีรษะ ปวดหัวตัวร้อน มีหิวมีกระหายเหมือนกัน แต่ไม่เข้าถึงจิต ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าหิวอันนั้น กระหายอันนี้ เจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ รู้เฉยๆ จิตที่บริสุทธิ์แล้วจะไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องได้เลย หากเป็นหลักธรรมชาติ เป็นอฐานะ หรือเป็นคนละฝั่งแล้ว
นี่สิ่งที่ท่านรับทราบ แต่ไม่ใช่ท่านรับทุกข์จากขันธ์นะ ท่านรับทราบจากขันธ์ที่แสดงตัว อย่างความคิดความปรุงเรื่องอะไร สัญญาอารมณ์ท่านก็มีเหมือนเรา แต่ท่านไม่ติด มันก็เป็นเครื่องมือของธรรมไป แต่ก่อนธาตุขันธ์นี้เป็นเครื่องมือของกิเลส ความคิดปรุงอะไรขึ้นมานี้กิเลสบงการออกมาๆ ท่านจึงกล่าวว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เรื่อยไปเลย มันหนุนให้ไปเป็นสังขาร วิญญาณ นามรูป เรื่อยจนกระทั่งชาติ
ทีนี้ท่านสรุปว่า เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส, สมุทโย โหติ เหล่านี้เป็นสมุทัยการเกิดตายทั้งนั้น ทีนี้พอพิจารณาถอนอวิชชาลงไปแล้ว สังขารก็ดับ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เรื่อยไปเลยจนกระทั่งถึง นิโรโธ โหติ เหล่านี้เป็นวิมุตติความดับทุกข์ทั้งนั้น อวิชชาดับเสียอย่างเดียวเท่านั้นทุกข์ทั้งหลายดับ เพราะฉะนั้นสังขารที่คิดที่ปรุง วิญญาณรับทราบในขันธ์ทั้งห้านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือของจิตที่บริสุทธิ์ไป ไม่เกิดกิเลส ไม่มีกิเลส เพราะขันธ์เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนขันธ์เป็นกิเลส ขันธ์จริง ๆ ไม่เป็นกิเลส แต่อวิชชาคือตัวกิเลสนั้นแหละ มันบงการออกมาให้เป็นกิเลส เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันหลงทั้งนั้น
สังขาร ความคิดความปรุง วิญญาณรับทราบ รับทราบอะไรเป็นกิเลสไปเรื่อยๆ เพราะตัวใหญ่อวิชชาพาให้เป็นกิเลส มันยึดด้วยถือด้วยในขันธ์ มันถือว่าเราเป็นของเราเต็มตัว ทีนี้พอจิตได้หลุดพ้นจากนี้แล้ว อวิชฺชายเตฺวว นี้ดับหมด เมื่อดับแล้วสังขารก็ไม่มีกิเลส ไม่เป็นสมุทัย วิญญาณอะไรไม่เป็นสมุทัย เป็นแต่เครื่องมือของธรรม แต่ท่านไม่ยึดไม่ถือ ธรรมเป็นเจ้าของของขันธ์นี้ท่านไม่ยึด ใช้ไปถึงวันนิพพานนี้เท่านั้น แต่กิเลสยึดกระทั่งวันตาย ไม่มีวันถอย ต่างกันอย่างนี้ ขันธ์เป็นขันธ์ของพระอรหันต์ ส่วนขันธ์ของกิเลสนั้นมันเป็นเราเป็นเขาไปหมด นี่ให้พากันจำ
ด้วยเหตุนี้เองพระอรหันต์ท่านจึงไม่มีทุกข์ในจิต ทุกข์ในจิตไม่มีเลยตั้งแต่ขณะท่านตรัสรู้ธรรม มีก็คือว่าบรมสุข บรมสุขนั้นเป็นสุขนอกสมมุติ ก็เป็นความเที่ยงเหมือนกัน คือเป็นสุขในหลักธรรมชาติ ไม่ใช่สุขที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เหมือนสุขทุกข์เฉยๆ ของเวทนาแห่งสมมุติทั้งหลาย อันนั้นสักแต่ว่าตั้งขึ้นอย่างงั้นแหละ ว่าบรมสุขๆ ท่านผู้ครองบรมสุขแล้วท่านไม่สงสัย ท่านไม่ติดกับอะไร ท่านไม่ตื่นเต้น แต่แยกออกมาเป็นสมมุติให้เราทั้งหลายที่กำลังก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพานหรือวิมุตตินั้น ให้พากันเข้าใจเอาไว้เท่านั้นแหละ
นี่เป็นเรื่องสำคัญจากภาคปฏิบัติ มาสุดสิ้นที่ตรงนี้ ตรงพิจารณาด้วยจิตตภาวนา เรื่อยไปจนกระทั่งถึงสมาธิ ปัญญา วิมุตติหลุดพ้นเป็นลำดับลำดา กิเลสก็เป็นอันว่าหยุด ตั้งแต่กิเลสขาดสะบั้นลงไปจากใจแล้ว พระอรหันต์ท่านไม่ได้ทำความเพียรเพื่อละกิเลสตัวใด ไม่มี ท่านจึงแสดงไว้ในธรรมว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ เสร็จกิจพรหมจรรย์ คือการละการถอนกิเลส การบำเพ็ญธรรมกับการถอนกิเลสมันก็เกี่ยวโยงกันอยู่นั้นแหละ การบำเพ็ญธรรมหรือการละกิเลสได้สิ้นสุดลงไปแล้ว วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำคือการละกิเลสนั่นเอง ก็ได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ กิจอื่นที่ยิ่งกว่านี้ไม่มี
ด้วยเหตุนี้เองพระอรหันต์ท่านจึงไม่เคยจะภาวนาเพื่อละกิเลสตัวใด การภาวนาของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้า ดีไม่ดีเราสู้ท่านไม่ได้นะ เพราะเหตุไร ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้ภาวนาเพื่อละกิเลส แต่เหตุจำเป็นที่ท่านจะบำเพ็ญ หรือภาวนาอยู่นั้นมี ประจำขันธ์ของพระอรหันต์มี เช่น เกี่ยวข้องกับธาตุกับขันธ์ เพื่อบรรเทาธาตุขันธ์ในอิริยาบถต่างๆ ยืนนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เพื่อบรรเทาขันธ์ให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี ในระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองกันอยู่นี้
จากนั้นก็เข้าสู่สมาธิเพื่อสงบอารมณ์คือขันธ์ภายนอก พิจารณาด้านอรรถด้านธรรมภายในจิตใจ อย่างพระพุทธเจ้าก็ส่องโลกธาตุ พิจารณาเล็งญาณดูสัตวโลกด้วยจิตที่บริสุทธิ์แล้วนั้น พิจารณาอย่างนั้นๆ แล้วพระอรหันต์ท่านก็ทำเต็มภูมิของท่าน พิจารณาเต็มภูมิเต็มกำลังของท่านนั้นแล นี่มีอยู่สองประเภท ประเภทหนึ่งเพื่อบรรเทาขันธ์ ประเภทที่สองเพื่อพิจารณาเรื่องอรรถเรื่องธรรมทั้งหลาย ส่วนพิจารณาท่านเองท่านไม่มี พิจารณาเกี่ยวกับสัตว์โลก ดูสัตว์โลกต่างๆ เพื่ออยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม คือเวลายังครองขันธ์อยู่ ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเหมือนเรานั้นแล
การภาวนาในท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วมีสองประเภทดังกล่าวนี้ ประเภทที่หนึ่งเพื่อบรรเทาธาตุขันธ์ ประเภทที่สองเพื่อพิจารณาจิตกับธรรมทั้งหลาย เกี่ยวกับสัตว์โลกทั้งหลายมีความลึกตื้นหนาบาง หยาบละเอียด ตลอดถึงสัตว์โลกเป็นยังไงๆ จะรู้ในเวลาท่านพิจารณานี้แจ่มแจ้งขึ้นอันหนึ่ง อันหนึ่งอยู่ธรรมดาท่านก็รู้ตามธรรมดา ถ้าท่านพิจารณานั้นก็ยิ่งละเอียดลออเข้าไป รู้มากเข้าไปโดยลำดับลำดา นี่ผลแห่งการปฏิบัติธรรมของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย
ขอให้พระลูกพระหลาน ตลอดประชาชน ลูกหลานทั้งหลายจำเอา การพูดทั้งนี้เราพูดเอาเป็นแบบฉบับได้เลย เพราะหลวงตาไม่สงสัยแล้ว สิ่งเหล่านี้ถอดออกมาจากหัวใจทั้งนั้น วิธีการดำเนินแบบไหนๆ ถอดออกมาจากการดำเนินของตัวเอง จนกระทั่งรู้เห็นประการใด ถอดออกมาหมด จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น จิตมันผ่านไปก็บอกว่าผ่านไป หลุดพ้นก็บอกหลุดพ้น เพื่อเป็นแบบเป็นฉบับ แล้วปลุกจิตปลุกใจ เพื่อเป็นกำลังใจของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย ว่ามรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ตามดินฟ้าอากาศ ไม่ได้อยู่ตามเวล่ำเวลา เวลานั้นสิ้นเวลานี้สุด พระพุทธเจ้านิพพานอยู่เมืองอินเดีย เราอยู่เมืองไทยนี้ไม่มีหวังแล้ว นั่นมันคิดไปอย่างงั้นนะ
นี่มันไม่ใช่อกาลิโก มันเป็นกาลิโก คือเอากาลเอาเวลามาเหยียบมาบีบบี้สีไฟการบำเพ็ญธรรม มันก็เข้ากันไม่ได้ กิเลสมันไม่เห็นมีเวล่ำเวลา ความโลภเกิดได้ทุกเวลา ความโกรธ ราคะตัณหา เกิดได้ทุกเวลา ทีนี้การบำเพ็ญธรรมเพื่อดับกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ทำไมจึงดับไม่ได้ทุกเวลา เพราะเป็นของคู่เคียงกัน ดับกันได้ทั้งนั้น เราอย่าไปกล่าวถึงเรื่องสมัยนั้นสมัยนี้ อย่าไปคิด เป็นเรื่องกิเลสหลอกลวงทั้งนั้น ให้บำเพ็ญตัวเอง กิเลสจริงๆ เกิดอยู่กับใจของเรา ไม่ได้เกิดอยู่กับกาลนั้นสถานนี้นะ มันเกิดอยู่กับใจ ให้แก้ตัวเองด้วยอรรถด้วยธรรมตลอดเวลา
วันนี้ก็ได้แสดงอรรถธรรม ให้บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลายได้ยินได้ฟัง สมกับศาสนาพุทธของเรา ศาสนธรรมของเรานี้คือตลาดแห่งมรรคผลนิพพานตลอดมาและจะตลอดไป ถ้าผู้ปฏิบัติตามสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนี้มีอยู่มากน้อยเพียงไร ผู้ทรงมรรคทรงผลจากผลแห่งการปฏิบัติของตน จากเหตุแห่งการปฏิบัติของตน จะได้รับผลเป็นที่พอใจตลอดไปตามกำลังความสามารถของตนนั้นแล ขออย่าพากันสงสัย ดีดดิ้น เวลานี้ศาสนาเรียวแหลม
คำว่าเรียวแหลมก็เรียวแหลมอยู่กับผู้ปฏิบัติธรรม เพศของพระของเรานี้เป็นส่วนมากนะ มันอ่อนแอท้อถอยในศีลในธรรม แล้วหนักแน่นมั่นคงเป็นบ้าไปในทางกิเลสตัณหา ทีนี้กลายเป็นศาสนาเสื่อม แล้วเลยกลายเป็นผู้ปฏิบัติทางนั้นกลับตัวมาเป็นข้าศึกต่อบ้านต่อเมืองต่อศาสนาเสียอีก เพราะหมุนออกจากธรรมแล้วก็ไปเป็นกิเลส เป็นกิเลสก็กลับเข้ามาเผาชาติบ้านเมือง เผาศาสนาไปอย่างนี้ ให้พากันระมัดระวัง
วันนี้เราทั้งหลายก็ได้มารวมกันประชุม จำนวนพันๆ หมื่นๆ ก็เพื่อรักษาป้องกันทั้งชาติ ทั้งพุทธศาสนาที่เราเทิดทูนทั่วประเทศไทยอยู่นั้นแหละ เพราะมีเหตุเลวร้ายทั้งหลายที่เข้ามาก่อกวนทำลาย เผาไหม้ทั้งชาติทั้งศาสนาเป็นไปเวลาเดียวกัน ในเรื่องราวเดียวกัน มันเกี่ยวโยงกัน จึงได้พากันออกมา แม้จะอยู่ในป่าในเขา ในถ้ำเงื้อมผาที่ไหน เมื่อบ้านเมืองที่รับผิดชอบด้วยกัน เกิดขึ้นในเรื่องราวที่ไม่ดีจะเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ชาติและศาสนาของตน ต่างองค์ก็ต่างออกมาชำระสะสาง ตัดสิน หรือแสดงความเห็น ให้หมู่คณะทั้งหลายได้ฟัง แล้วประกาศออก จะออกทางไหนก็แล้วแต่ บรรดาท่านทั้งหลายก็จะได้ทราบเองหลังจากการประชุมแล้วนี้ ผลแห่งการประชุมเป็นยังไง ท่านทั้งหลายก็จะได้ทราบเอง นี่เป็นวิสามัญสมัยเหมือนกัน คราวนี้เป็นคราวที่พระเณรทั้งหลายมามาก เกี่ยวกับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก เกี่ยวกับเรื่องศาสนาซึ่งให้ความร่มเย็นแก่ชาติไทยเรามานาน ชาติก็ได้ประคับประคองกันมานาน
ทีนี้เวลามันกระทบกระเทือน กระทบกระเทือนทั้งชาติทั้งศาสนาไปในแนวเดียวกัน หนุนกันไปๆ ทางชาติก็จะเกิดความเดือดร้อนหนักใจ ทางศาสนาดีไม่ดีจม มากกว่านั้นจม ถ้าธรรมดาเวลาที่มันเริ่มนี้กำลังไฟจ่อเข้ามา ถึงศาสนาที่เป็นความชอบธรรมของศาสดาตรัสไว้ชอบแล้ว ให้ความร่มเย็นแก่โลกทั้งหลายมานาน นี่ก็ ๒๕๐๐ ปี กว่านี้แล้ว ไม่เคยมีความเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะศาสนาพาดำเนินในแนวทางที่ผิด ผู้ดำเนินตามศาสนธรรมได้รับความสงบเย็นใจ ตักตวงเอามรรคผลนิพพานเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ นี่ก็ได้มาปรากฏขึ้นแล้ว
มรรคผลของกิเลสคือเอาฟืนเอาไฟมาเผาทั้งชาติทั้งศาสนาไปด้วยกัน นี่มรรคผลของกิเลสมันกำลังก่อตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงได้มาประกาศชะล้างสิ่งเหล่านี้ออก เพราะมันเป็นของปลอมล้วนๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ แง่ใดมุมใดที่ออกมาจะเสนอแง่ใดๆ เป็นด้วยอำนาจบาตรหลวงป่าๆ เถื่อนๆ หาหลักเกณฑ์ไม่ได้เลย เทียบดูธรรมวินัยนี้เข้ากันไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนั้นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยที่ถูกต้องแล้วมีอยู่ ท่านจะอยู่ได้ยังไง ต้องออกมาคัดค้านต้านทานกัน อันไหนผิดบอกว่าผิด อันไหนถูกบอกว่าถูก ประคับประคองสนับสนุนส่วนที่ถูกให้เจริญรุ่งเรือง และแน่นหนามั่นคงต่อไป อะไรที่เป็นพิษเป็นภัยปัดออกๆ
นี่ท่านมานี้ท่านมาเป็นสิริมงคลแก่ชาติ แก่ศาสนาของเรา ท่านไม่ได้มาทำลาย หรือทำความกระทบกระเทือนแก่พี่น้องทั้งหลายในแดนชาวพุทธ และแดนไทยของเรา ท่านมาด้วยความเป็นธรรม มาประชุมกันด้วยความเป็นธรรม ท่านไม่ได้มาก่อม็อบก่อแม็บ ท่านไม่ได้มาหาอุบายวิธีบีบบังคับนั้น บีบบังคับผู้นี้ให้ทำตามอย่างนั้น ให้ทำตามอย่างนี้ด้วยอำนาจป่าเถื่อนของตน โครงการป่าเถื่อน เหล่านี้ท่านไม่มี
ท่านมาระงับดับสิ่งที่เป็นป่าเป็นเถื่อน เป็นฟืนเป็นไฟทั้งหลาย เพื่อให้สงบตัวลง ผู้ปฏิบัติศาสนาจะได้ปฏิบัติด้วยความสะดวกสบาย ร่มเย็นเป็นสุข ตักตวงเอาบุญเอากุศล มรรคผลนิพพานไปเรื่อยๆ มีความสบาย เมื่อไม่มีมหาภัยเข้ามาเกี่ยวข้องเผาบ้านเผาเมืองเผาศาสนาแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ออกมา ท่านมาด้วยความพอใจในนามที่ว่าท่านเป็นชาติไทย แต่ละองค์ๆ พ่อแม่ของท่านมีอยู่ทุกแห่งทุกหน ทุกภาค เมื่อศาสนาเดือดร้อน แล้วชาติเดือดร้อน ท่านก็ต้องเดือดร้อนเหมือนกัน ก็ช่วยกันดังที่เห็นอยู่นี้แหละ
วันนี้การแสดงธรรมให้บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลายฟัง ก็คิดว่าจะพอได้แนวทาง ให้พากันตั้งใจปฏิบัติ อย่าส่ายแส่หาเรื่องโลกเรื่องสงสาร หาฟืนหาไฟ ให้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ สมกับเราเป็นบรรพชิตคือนักบวช บวชแล้วหน้าที่ของเรามีการชำระกิเลสตัณหา ชำระชั่วด้วยการทำดีตลอดไป นี่ถูกต้องนะ อย่าเสาะอย่าแสวงหาเรื่องกิเลสตัณหา มันเต็มหัวใจของเราอยู่แล้ว ให้ชำระสะสางออกไปให้เบาบาง ธรรมจะได้งอกเงยขึ้นมา ใจของเราจะมีความสงบร่มเย็น
ถ้าเป็นผลมากกว่านั้นก็เป็นมหามงคลแก่ตนด้วย แก่โลกทั้งหลายที่เขาเคารพบูชา ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี่เป็นมหามงคลแก่ชาวพุทธของเรา เพราะท่านได้บำเพ็ญมาแล้วอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วมาแจกจ่ายให้ประชาชน สัตว์โลกทั้งหลายได้รับความสุขความเจริญ นี่ก็ขอให้บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลายนำไปปฏิบัติให้เป็นสิริมงคลแก่ตน ให้มีความละอายต่อบาปต่อกรรม เพราะสิ่งเหล่านี้มันเคยเผาผลาญโลกมานานแล้ว บุญกุศลเป็นเครื่องหนุนจิตใจของเรามานาน ให้บำเพ็ญทางกุศลให้มาก ด้วยความเป็นผู้มีศีลมีธรรมประจำใจ
ผู้ใดมีศีลมีธรรมประจำใจ มีหิริโอตตัปปะสะดุ้งกลัวต่อบาปต่อกรรม ระมัดระวังตนอยู่เสมอ สำรวมระวังอยู่ด้วยศีลด้วยธรรมแล้ว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีศาสดาประจำตน ศาสดาคืออะไร คือธรรมและวินัยนั้นแล ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้วว่า ธรรมและวินัยนั้นแล จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย แทนเราตถาคตเมื่อเราตายไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นใครเป็นผู้เคารพธรรมวินัย เทิดทูนธรรมวินัยด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้นั้นแลคือมีศาสดาปกครองไปตลอดเลย ผู้ใดไม่มีธรรมมีวินัย แม้หัวโล้นๆ อย่างพวกพระของเรา ก็หัวโล้นเฉยๆ ไม่มีใครตำหนิ แต่หัวโล้นพระนี้เขาตำหนินะ ถ้าทำไม่ดี ไม่ถูก
ให้จำเอานะบรรดาพระลูกพระหลาน อยากมีศาสดาประจำตน ขอให้มีธรรมมีวินัยประจำตน จะมีศาสดาประจำเรา ไปที่ไหนก็ไปกับศาสดา ไปกับพระพุทธเจ้า แล้วจะเจริญรุ่งเรืองแน่นหนามั่นคง
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลา และธาตุขันธ์ที่อำนวยเพียงแค่นี้ จึงขอความสวัสดีเป็นมงคลจงมีแก่บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลาย ตลอดประชาชน พี่น้องชาวพุทธทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ
รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com or www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz
พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ |