ว่างของท่านผู้สิ้นสมมุติ
วันที่ 7 ธันวาคม 2550 เวลา 18:15 น.
สถานที่ : สวนแสงธรรม
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กทม.

เมื่อค่ำวันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐

ว่างของท่านผู้สิ้นสมมุติ

คนก็เริ่มมากเข้าๆ มากเข้าทุกวัน เมื่อวานนี้ไปเทศน์ที่ธรรมศาสตร์ คนเยอะนะ เทศน์ถึง ๕๕ นาทีมั้ง นับว่านานเมื่อวาน คือธาตุขันธ์มันจะเตือน คนวัยนี้มีแต่ธาตุขันธ์เตือน แต่ก่อนธรรมเตือน เทศน์จะหยุดระยะไหนธรรมจะมีลักษณะแป๊บแย็บบอก แล้วเหยียบเบรกห้ามล้อเรื่อยๆ หยุด แต่ก่อนเอาธรรมเป็นประมาณ ทุกวันนี้เอาธาตุเป็นประมาณ เทศน์ไปไหนก็ตามธาตุมันจะบอกของมัน  อายุของเรานี้เราพอกำหนดได้อายุ ๔๖ นั่นละกำลังลด อายุ ๔๖ กำลังลด ตั้งแต่ต้นขึ้นไปหา ๔๕ คงเส้นคงวา  เราเดินคือแต่ก่อนมันไม่มีรถมีรา เช่นจะไปอุดรนี้ก็เดินเลย จากนี้ถึงนั้นปั๊บเวลาเท่านั้น ไปทีไรปั๊บถึงปั๊บๆ ไม่เคลื่อนแม้นาทีเดียวนะ

กำลังของเราคงเส้นคงวาอยู่ถึงอายุ ๔๕ มันคงเส้นคงวาอยู่ ๔๕ นานนะ พอไปถึงต้นเสาสะพานปั๊บมันจะได้หนึ่งชั่วโมงๆ ต่อจากนั้นมาอายุ ๔๖ ยังไม่ถึงสะพาน ถึงแค่นี้ได้หนึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่ถึง ต่อจากนั้นก็ค่อยลด ช้าลงไปเดี๋ยวรถก็มาเหยียบไปเลย แต่ก่อนไม่มีรถ ต้องเดิน ทีนี้มีรถยนต์มามันเลยเหยียบไปเลย เลยไม่รู้เวลาเท่าไรต่อเท่าไร จนกระทั่งทุกวันนี้ ฟาดตั้งแต่วัดป่าบ้านตาดมาถึงนี้เพียงแค่ ๖ ชั่วโมง

พูดถึงเรื่องว่าเดินเราเดินเก่งมากนะ เรียกว่าตามร่องรอยของตา ตานี่เดินเก่งมาก ถ้าลงได้ก้าวออกไป ๒ ชั่วโมงแล้วใครตามไม่ทัน คือเดินไปนั้นยิ่งแข็งแรงเรื่อยๆ เดินระยะสองชั่วโมงนี้ยังไม่เท่าไร ก้าวออกคราวแรกไปถึงสองชั่วโมง พอสามชั่วโมง สี่ชั่วโมงไปแล้ว ทีนี้มันเหมือนว่าเครื่องร้อนนะ พุ่งๆ รอใครไม่ได้ มีใครไปด้วยก็ตามต้องทิ้งไปเลย หากว่าจะไปรอก็ต้องไปหยุดพักข้างหน้า ที่จะให้รอไม่ได้ เครื่องมันร้อนแล้วมันหมุนของมันเองพุ่งๆ อันนี้เราเป็นเอง กำลังวังชามันดีพอเครื่องร้อนแล้วมันก็พุ่งๆ ใครไปด้วยกันทิ้งเลยๆ ออกหน้าเรื่อยๆ เลย คือจะให้เรารอไม่ได้ ต้องไปหยุดรอ เวลามันเดิน การเดินทางนี้เก่งละเรา พ่อตาก็เก่งเดินทาง นั่นก็บอกรอใครไม่ได้ แล้วก็มาพอดีนะ เราก็เหยียบไปนั้นละ สวมรอยไป

พ่อตานี้รูปร่างลักษณะเดียวกับเรา ไม่ใหญ่โตนัก เป็นพ่อค้าอยู่คนเดียว แปลกอยู่ คนทั้งบ้านมีเป็นพ่อค้าอยู่คนเดียว ซื้อนั้นซื้อนี้ซื้ออยู่คนเดียวไม่หยุดไม่ถอย  ไม่มีใครในบ้านคนทั้งบ้านไม่มี มีคนเดียวละซื้อ  ในป่านั้นส่วนมากมักจะซื้อของป่านะ พวกหนังสัตว์ พวกอะไรๆ เกี่ยวกับเรื่องของป่านี่ละซื้อมาๆ ไปขาย เอากำไรๆ อยู่คนเดียวเงียบๆ พอดีมีลูกคนเดียวคือโยมแม่เรา เวลาตายสมบัติทั้งหลายก็มาอยู่กับโยมแม่หมดแหละ เพราะฉะนั้นจึงมีพออยู่พอใช้บ้างไม่อย่างนั้นตายกันหมดทั้งบ้าน มีพ่อตาคนเดียวเลี้ยงไว้ แต่ก่อนเขานิยมเรียกเงิน เขาไม่เรียกว่าสิบว่าร้อยนะเขาเรียกว่าชั่ง  เงินมีเท่านั้นชั่งเท่านี้ชั่ง แปดสิบบาทเป็นเงินเหรียญเสียมากต่อมากนะ เงินกระดาษไม่ค่อยมีแต่ก่อน มีแต่เงินเหรียญ เหรียญละบาทๆ แปดสิบบาทเรียกว่า ๑ ชั่ง สี่สิบบาทครึ่งชั่ง เงินเป็นชั่งๆ ใส่ถุงผ้ายาวๆ ขนาดนี้ละมั้ง ได้หนึ่งชั่ง เป็นท่อนๆ เอาไว้ นั่นละเงินบาทแต่ก่อน

พอพูดถึงเรื่องเงินก็ระลึกถึงหลวงปู่แหวน อย่างนั้นละบทเวลาท่านจะทำ ท่านก็รู้ก็ปฏิบัติตามสมมุติอยู่ตลอดมาไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไร ท่านเคารพนับถือ ฝ่ายสมมุติท่านก็เคารพว่าเงินว่าทองไม่ให้จับท่านก็ไม่จับเหมือนพระทั้งหลาย บทเวลาท่านจะพลิกล็อกนะ อยู่ๆ ก็ฟาดไปเอาธนบัตรใบละห้าร้อยมามวนบุหรี่ มวนใหญ่ๆ เข้าใจไหมล่ะ ท่านสูบบุหรี่มวนใหญ่หลวงปู่แหวน นั่นละบทเวลาท่านจะพลิกล็อก มาเอาธนบัตรใบละห้าร้อยมวนบุหรี่สูบปุ๊บๆๆ พวกพระเณรก็ตกตะลึงกัน อุ๊ย หลวงปู่ นี่มันธนบัตรใบละห้าร้อย เอามามวนบุหรี่สูบอะไร หือท่านว่างั้นนะ ท่านทำท่า อย่างนั้นละ

คือจิตของท่านผ่านไปหมดเรื่องสังฆาปาราชิกนี้ไม่มีในหัวใจพูดตรงๆ  แต่กิริยาก็มีเป็นธรรมดาเพราะฉะนั้นท่านถึงเคารพกิริยา ต้องอาบัตินั้นอาบัตินี้ท่านเคารพ เวลาท่านพลิกปั๊บอย่างที่หลวงปู่แหวน เอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนบุหรี่ ท่านมวนบุหรี่ตัวใหญ่ๆ นะ มวนบุหรี่ใส่ปุ๊บๆๆ โอ๊ย หลวงปู่ทำไมเอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนบุหรี่สูบอย่างนี้ล่ะ ท่านก็ว่า หือ ทำท่าเหมือนไม่รู้นะ บทเวลาตอบ ประสากระดาษ เท่านั้นละ ประสากระดาษ ท่านก็สูบเฉยจากนั้นก็ทิ้ง จากนั้นไม่เคยทำอีกนะ ทำทีเดียวพอให้โลกได้รู้บ้าง

คือจิตท่านบริสุทธิ์แล้วหมดนะ นี่เราใช้ตามกิริยาของสมมุติ พระเหล่านี้เป็นสมมุติ โลกมีสมมุติพระเราก็เป็นสมมุติ  รักษาสิกขาบทวินัยตามสภาพของสมมุติ เพราะฉะนั้นท่านจึงรักษาธรรมวินัยเช่นเดียวกันหมด แต่จิตใจท่านผ่านไปหมดแล้ว คำว่าสังฆาปาราชิกอะไรนี้ไม่มีในจิต แต่มีในกิริยาที่จะต้องปฏิบัติให้เหมาะสมต่อสังคมที่อยู่ร่วมกัน นั่นท่านก็แยกอย่างนั้น แต่พ่อแม่ครูจารย์มั่นไม่เคยเห็นนะ เวลาท่านพูดท่านพูดเฉยๆ ท่านไม่ทำ ท่านพูดไปเหมือนกัน พูดแถวนี้แหละ แต่ท่านจะไม่ทำ  หากพูด พูดใกล้เคียงกันกับที่ว่าเอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนสูบ มวนบุหรี่สูบเหมือนอย่างหลวงปู่แหวน เป็นแต่เพียงว่าท่านไม่ทำอย่างนั้น กิริยาท่านพูดน่ะมี มีอย่างนั้น  คือจิตที่พ้นไปหมดแล้ว มันหมดแล้วเรื่องสมมุติ ไม่มีอะไรเข้าถึงจิตดวงนั้น เพราะทั้งหลายไม่ว่าอาบัติอาจีอะไรนี้มันเป็นสมมุติทั้งหมด ส่วนจิตนั้นผ่านหมดแล้ว เข้าไม่ถึง แต่ทีนี้เมื่อมีสมมุติอยู่ โลกทั้งหลายเขามีสมมุติ ปฏิบัติต่อกันให้เป็นความเหมาะสม ท่านจึงปฏิบัติตามสมมุติอย่างนั้น

อย่างพ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านไม่เคยข้ามเกินพระธรรมวินัยข้อใด ทั้งๆ ที่เวลาพูดท่านก็พูด ท่านพูดเกี่ยวกับใจเสีย ท่านแยกออกมาสมมุติท่านก็บอกเราต้องปฏิบัติอย่างโลกเขาปฏิบัติกัน เพราะสมมุติต่อสมมุติขัดกันไม่เหมาะ แน่ะ ว่างั้นนะ  สมมุติกับสมมุติก็เคารพกัน นั่นท่านว่างั้น อย่างหลวงปู่แหวนที่ท่านว่า ท่านพลิกล็อกนะนั่น พลิกล็อกเป็นจิตล้วนๆ แล้วไม่มีอะไรเข้าถึง ท่านแสดงออกมาทางกิริยาแย็บเดียว  จากนั้นท่านก็ไม่เคยทำอีก ท่านทำให้เป็นข้อคิดเฉยๆ ไม่ใช่ท่านดื้อด้าน ท่านทำเป็นข้อคิด

เงินก็ประสากระดาษจริงๆ ถ้าเป็นลำพังท่านจะมีอะไร กำไปเต็มกำก็จะเป็นอะไรประสากระดาษ แน่ะ ว่างั้นก็ได้ แต่ในวงสมมุติทั่วๆ ไป ท่านก็ปฏิบัติตามสมมุติไปเสีย  ถ้าเป็นเรื่องของท่านล้วนๆ อะไรจะมาเข้าถึง แน่ะ เข้าใจไหมล่ะ พลิกปั๊บเดียวไปเลยเป็นอย่างนั้น จิตที่พ้นไปแล้วมันคาดไม่ได้ละ จิตของปุถุชนคนหนาอยู่ในบาปในบุญนี้ต้องได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามนั้น  ถ้าจิตผ่านนี้หมดแล้วนี้ก็ไม่มีสำหรับจิต  แต่กิริยานี้มันเป็นสมมุติก็ต้องปฏิบัติตามสมมุติเป็นธรรมดา จะไปปรับเข้าถึงจิตถึงใจท่านให้เหมือนสมมุติทั่วๆ ไปนี้ไม่ได้ ขัดทันที สมมุติขัดวิมุตติ เวลาท่านอยู่ธาตุขันธ์ของท่านก็เป็นสมมุติ เพราะฉะนั้นท่านถึงปฏิบัติให้เหมาะสมกับสมมุติ อะไรควรห้ามควรทำอะไร ท่านก็รู้อยู่นั้น ท่านก็ปฏิบัติตามนั้นไป

เมื่อวานนี้ก็ไปเทศน์ทางนั้น ถ้ามาที่นี่แล้ววันไหนก็ต้องได้เทศน์ทุกวัน เหนื่อยนะเรา เราเหนื่อย ลำบากอยู่ แต่เราก็ทนเอา เพื่อผู้ยังเกาะยังเกี่ยวยังยึดยังถือมีอยู่มาก ถ้าไม่มีสิ่งที่เป็นสารประโยชน์เข้ายึดถือ มันไขว่คว้าแล้วก็ไปจับเอาฟืนเอาไฟมาเผาไหม้ตนเอง เมื่อมีอรรถมีธรรมเป็นเครื่องยึดเครื่องเหนี่ยวจิตใจ จิตใจมีที่ยึด จิตใจก็เป็นมงคล  ตั้งแต่กาย วาจา กิริยาที่แสดงออก มันก็เป็นมงคลไปตามกันหมดเป็นธรรมไปเลย ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะแล้วมีแต่กิเลสนี้แหลกเลย ต่างกันอย่างนี้ เพราะจิตนี้ยังไม่พ้น จิตนี้ต้องอาศัยเครื่องยึดเครื่องเกาะ ถ้าไม่มีที่ยึดที่เกาะมันเร็วที่สุดที่จะไปเกาะทางความชั่วช้าลามก จึงต้องหาทางดีให้เกาะ  ถ้าเกาะทางดีแล้วมันก็พ้นภัยแล้วก็เป็นคุณขึ้นมาเป็นลำดับลำดา

เพราะจิตนี้ควรทั้งบาปทั้งบุญคุณโทษ มารวมอยู่ที่จิตเป็นภาชนะสำหรับรับรอง  รวมแล้วว่าทุกข์จนกระทั่งถึงบรมทุกข์ ก็มารวมอยู่ที่จิตที่จะเป็นผู้รับภาระทั้งหมด  สุขตั้งแต่สุขธรรมดาถึงบรมสุข ก็เป็นเรื่องของจิตล้วนๆ เป็นผู้รับภาระ  ในโลกทั้งสามกว้างแคบขนาดไหนไม่มีความหมาย ความสัมผัสสัมพันธ์ความรับรู้ สุขทุกข์ดีชั่วอยู่ที่ใจ  เพราะฉะนั้นใจจึงต้องได้รับสิ่งเหล่านี้ตลอดมา  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงให้หาความดีงามเข้าสู่ใจ ให้ใจได้ยึดในสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย  ถ้าไม่ยึดมันก็มาเป็นภัยแก่ตัวของเราเองนั้นแหละ คือไม่ยึดอันหนึ่งมันยึดอันหนึ่งจิต ที่เร็วที่สุดก็คือยึดความชั่วช้าลามก ส่วนความดีงามถ้าไม่ได้รับการอบรมพอสมควรแล้วก็ไม่ทราบว่าจะไปยึดอะไร ก็ยึดสะเปะสะปะไปตามกิเลสพาให้ยึด มันก็มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาไหม้ตนตลอดไป

นี่ละที่ว่าการสร้างบาปสร้างกรรม มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนาอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับความเคยชิน คนนั้นก็ทำคนนี้ก็ทำ เขาก็ทำเราก็ทำ ผู้ระลึกถึงบาปถึงบุญได้มีน้อยมาก ก็ไม่มีศาสนามันจะเอาบาปเอาบุญที่ไหนมาระลึก มาปัดมาป้องมายึดมาถือ มันก็ไปตามประสาของจิต ถ้าไปตามประสาของจิตมันก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน กิริยาอาการที่ทำมันก็เป็นความชั่วช้าลามกเป็นลำดับ แล้วกลับเข้ามาเป็นภัยต่อตนเองทั้งนั้นแหละ

สัตว์เขาก็เป็น เราอย่าเข้าใจว่าสัตว์ทำดีทำชั่วไม่เป็น สัตว์ทำเป็น และบาปกรรมเขาก็เป็นบาปเป็นกรรมตามสภาพของสัตว์ เป็นแต่เพียงว่าเขาไม่รู้ว่าเขาเป็นบาปเป็นบุญ หลักธรรมชาติแท้นั้นเป็นตลอด ทำผิดทำถูกสัตว์ก็ทำได้เช่นกัดกัน หากินกันทำลายกันเบียดเบียนกัน นี่ก็คือความทำชั่วของสัตว์ ความทำชั่วของมนุษย์ก็อย่างที่เราเห็นกัน เรื่องบาปเรื่องบุญนั้นไม่ลำเอียง ทำผิดทำถูกไม่ว่าสัตว์ทำคนทำ เป็นบาปเป็นบุญได้ด้วยกันนั้นแหละ  แต่นี้เรายังดีกว่าสัตว์ มาทำลงในสิ่งที่ไม่ดีก็รู้ว่าเป็นบาป สิ่งที่ดีก็รู้ว่าเป็นบุญ เราจึงคัดจึงเลือกในการคิด การพูด การกระทำของเรา ถ้าเราไม่คิดเลยก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์

เพราะคำว่าบาปว่าบุญดีชั่วมีอยู่ด้วยกัน เป็นแต่เพียงว่าผู้รู้นั้นน่ะเป็นภัยน้อยกว่าผู้ไม่รู้เลย  ผู้ไม่รู้นี้เป็นภัยเต็มตัวๆ ส่วนเป็นคุณไม่ค่อยมี  นี่ละจิตดวงนี้ที่ว่าไม่เคยตาย แน่ ให้เข้าทางด้านจิตตภาวนามันถึงรู้ชัดและจะไม่ต้องไปถามใครเลย  ถ้าได้เข้าสู่จิตตภาวนาให้เป็นรากเป็นฐานแก่จิตใจจริงๆ แล้วจะทราบตามหลักความจริงเป็นขั้นๆๆ ขึ้นไปโดยลำดับ ถ้าไม่ได้ภาวนาไม่รู้ แม้แต่รู้ๆ อยู่ทุกคนอย่างนี้ด้วยกัน  ใครปราศจากผู้รู้ เกิดมาเป็นสัตว์เป็นบุคคลมันมีใจครองด้วยกัน แต่ที่สำคัญผิดไปอย่างราวกับฟ้ากับดินนี้มีน้อยเมื่อไร

เช่นอย่างตายแล้วสูญอย่างนี้ เราก็รู้หยกๆ อยู่นี้ละ ทำไมมันไปปฏิเสธได้ว่าตายแล้วสูญ แล้วก็บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี พรหมโลก  นิพพานไม่มี นี้ห่างไกลหน่อย  ที่มันใกล้ๆ อยู่กับตัวแต่ไม่รู้นี่สำคัญมาก เช่นความรู้อันนี้ไม่เคยตาย แต่บางรายมันก็ปฏิเสธได้อย่างจังๆ ว่าตายแล้วสูญ นี่ละผิดมากทีเดียว คือจิตนี้ไม่มีคำว่าสูญ ลงไปตกนรกหมกไหม้กี่กับกี่กัลป์ ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ แต่ที่จะให้จิตฉิบหายไม่มี พลิกออกมาจากทางชั่ว ขึ้นมาทางที่ดีก็เป็นความสุขความสบาย ใจก็เป็นผู้เสวยเสียเอง นั่น มันไม่สูญอย่างนี้แหละ  ทีนี้เวลาพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงอบรมตัวเองให้มีจิตละเอียดลออขึ้นเป็นลำดับลำดา ก็ยิ่งรู้ได้ชัดในวิถีจิตของตน มันคิดมันปรุงแต่งเรื่องอะไรต่ออะไร

ผู้มีจิตที่สำคัญก็คือจิตตภาวนา รู้ได้ดีโดยลำดับจนกระทั่งละเอียดเข้าไป จิตแย็บออกมายังไงรู้ทันๆ โดยลำดับ นั่นละจิตดวงไม่สูญ มันแสดงอากัปกิริยาอะไรออกมาก็รู้ๆ เช่นอย่างการพิจารณากรรมฐานดังที่เคยเล่าให้ฟัง นี่ก็เพื่อขัดเกลากิเลสอยู่ในใจของเราที่มีความหนาแน่นมาก ต้องอาศัยการภาวนา เริ่มทำใจให้มีความสงบเย็น เช่นท่านสอนให้ภาวนามีคำบริกรรมกำกับจิต เช่นพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆเป็นต้น ให้มีสติจับอยู่กับคำบริกรรมนั้นไม่ให้เผลอ ใจเมื่อไม่เผลอแล้วสิ่งก่อกวนที่จะแสดงขึ้นจากใจเพราะกิเลสอยู่กับใจ ที่จะแสดงขึ้นจากใจก็ไม่ค่อยแสดง เพราะมีเครื่องปราบมันได้แก่สติ เมื่อมีสติอยู่แล้วการภาวนา เราพูดเอาเรื่องภาวนาดีกว่า

ธรรมดาไม่มีใครรู้ได้ว่าจิตคิดหรือไม่คิดประการใด ความจริงมันคิดของมันทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนติดเครื่องแล้วดับไม่เป็นก็คือความคิดของสัตว์โลก ตื่นขึ้นมามันก็ปรุงของมันอย่างนั้น ทีนี้เวลาหลับก็เป็นเวลาระงับ งานหมุนทางวัฎจักรของสัตว์โลก  พอตื่นขึ้นมาก็ทำงานไปตามวัฏวน ทีนี้ผู้ปฏิบัติธรรมได้อบรมจิตตภาวนา เมื่อตื่นขึ้นมาจิตจะคิด จิตคิดผู้เป็นนักภาวนาจะสังเกตความคิดของตัวเองว่ามันคิดเรื่องอะไร ถ้ามันคิดไม่ดีก็รีบระงับดับมัน เอาความคิดที่ดีซึ่งเป็นฝ่ายธรรมเข้าไปทำงานแทน เช่นอย่างคำบริกรรมอย่างนี้ พุทโธๆ  นี่เป็นงานของธรรม เป็นงานเครื่องซักฟอกกิเลสออกจากใจ ค่อยคิดไปทำไปจิตก็มีความสงบได้ พอจิตสงบได้ก็เห็นความสุขความเย็นใจ  ถ้าจิตไม่มีความสงบเลยนั้นจะหาไม่ได้เลย ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งถึงวันตาย ไม่มีทางที่จะเจอความสงบภายในใจตัวเองได้เลย

เมื่อมีภาวนาเข้าไปตามที่ท่านสอน เพราะวิธีการสอนท่านสอนได้โดยถูกต้องเพราะท่านผ่านมาแล้ว ด้วยความไม่ผิดไม่พลาดเช่นพระพุทธเจ้าของเรา เรียกว่าสวากขาตธรรมท่านตรัสไว้ชอบแล้ว มาสอนก็สอนด้วยความชอบธรรม ผู้ปฏิบัติก็ค่อยคืบคลานไปตามคำสอนที่ชอบธรรมแล้วของท่าน จิตใจก็ค่อยสงบเย็น เช่นมีสติ เรานั่งภาวนาความคิดปรุงเป็นความกวนใจ แล้วนั่งภาวนามีสติกำกับ เช่น ถ้าว่ากวนก็เอาพุทโธเข้าไป พุทโธเป็นงานเหมือนกัน แต่เป็นงานฝ่ายธรรมเพื่อทำใจให้สงบ  งานของกิเลส ปรุงขึ้นมาเท่าไรเพื่อเป็นการยุแหย่ส่งเสริมงานกิเลสให้หนาแน่นขึ้น สร้างความทุกข์ให้มากขึ้น นี่มันต่างกันอย่างนี้

ถ้างานของธรรมแล้ว เราคิดแม้จะเป็นความคิดเหมือนกันก็ตาม แต่ความคิดอันหนึ่งเป็นความคิดความปรุงของธรรมเป็นงานของธรรม เช่นเรานึกพุทโธๆ เป็นต้น เรียกว่างานของธรรม มีสติกำกับรักษางานของตนไว้ให้ดี จิตเมื่อได้รับการรักษาด้วยสติอยู่แล้วจะค่อยสงบ สงบลงไป ความคิดปรุงซึ่งเป็นเรื่องก่อกวนจะค่อยเบาลงๆ แล้วจิตก็สงบ นั่น พอจิตสงบก็สบายคนเรา ทำแล้วทำเล่าหลายครั้งหลายหน ความสงบก็ค่อยคล่องตัวขึ้นไปๆ ความฟุ้งซ่านรำคาญก็ห่างตัวออกไป นี่ให้ทำความสงบ พอจิตสงบเย็นลงไปแล้ว นี่เริ่มเย็นแล้วนะนั่น จิตเริ่มเย็นเริ่มสบาย เริ่มเห็นความแปลกประหลาด ความอัศจรรย์ของจิตตัวเองในขณะที่สงบแล้ว จากนั้นก็เพิ่มเข้าไปๆ ซ้ำเข้าไป จิตก็ค่อยคล่องตัวเข้าสู่ความสงบได้ง่าย

เมื่อจิตสงบเข้าไปมากเท่าไรความสุขก็ยิ่งมากเท่านั้นๆ นี่ขั้นเริ่มแรก ที่จะทำจิตให้มีความสงบร่มเย็นมีที่ปลงที่วาง ถ้าไม่มีคำบริกรรมแล้วปลงวางไม่เป็น คิดตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตายไม่รู้จักยับยั้งได้เลย  แต่พอมีธรรม จิตตภาวนาเป็นเบรกห้ามล้อ จิตก็ค่อยสงบเย็นเข้ามากับคำบริกรรมที่หักห้ามกงจักร ได้แก่ความคิดปรุงเอาไว้ จิตก็ค่อยสงบเย็นเข้ามาๆ เพียงเท่านี้เราก็เริ่มเห็นผล พอจิตสงบเย็นเข้ามาหากมีความแปลกประหลาด หากมีความอัศจรรย์แฝงขึ้นมาในขณะที่จิตสงบ

สงบมากเท่าไร ความแปลกประหลาดอัศจรรย์ก็ยิ่งเพิ่มตัวขึ้นไปๆ สุดท้ายมองดูอะไรก็ไม่เห็นเป็นของแปลกประหลาด ยิ่งกว่าใจที่ได้รับการอบรมเกิดความสงบร่มเย็นขึ้นมาภายในใจของตน จนกระทั่งได้คิดหรือว่าอุทานขึ้นมาภายในใจว่า โอ้ จิตใจของเราทำไมมีความแปลกประหลาดอัศจรรย์อย่างนี้ ทั้งๆ ที่แต่ก่อนซึ่งเราไม่ได้ภาวนามันไม่เคยเป็น พอภาวนาลงไปแล้ว ก็เป็นความสงบเย็นลงๆ นี่ได้เล่าให้บรรดาประชาชนลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายฟัง พอเป็นคติเครื่องเตือนใจ เพราะเรามีเชื้ออันสำคัญฝังลึกจากการที่จิตสงบในเวลาภาวนา

เวลาไปบวชทีแรก ไปเป็นนาคอยู่ในโบสถ์กับท่านพระครูท่าน เวลาเช้าตื่นตีสามตีสี่ ท่านออกไปเดินจงกรมแล้ว เราก็สังเกตจนกระทั่งสว่าง พอสว่างแล้วท่านจะเข้ามาทำวัตร พอทำวัตรจบท่านก็ออกบิณฑบาต อย่างนั้นเป็นประจำสำหรับวัดโยธานิมิตร หนองขอนกว้าง กรมทหาร เราก็สังเกตดูท่าน เพราะเราไปเป็นนาค ทีนี้เวลาเราบวชแล้วก็ เราเข้าไปกราบเรียนถามท่าน ว่าอยากเดินจงกรมอยากภาวนาแต่ทำไม่เป็น จะทำยังไง ถามท่านก็บอกว่า เอ้อ ให้เอาพุทโธ ให้บริกรรมพุทโธๆ เราก็ชอบพุทโธ ท่านว่างั้น ให้ภาวนากับพุทโธ บริกรรมอยู่กับพุทโธด้วยสติ ตั้งสติกำกับคำบริกรรมพุทโธนั้น เราก็จับเอาอันนั้นมาภาวนา

มาภาวนาทีแรกก็ตามประสีประสา ตั้งสติทีแรกก็ดีสักเดี๋ยวก็สะเปะสะปะไป สุดท้ายก็นอน ไม่ได้เรื่องได้ราว บทเวลาจะเป็นมันไม่ได้คาดได้ฝันนะ ภาวนาก็พุทโธคำเก่านั้นแหละ ภาวนาพุทโธๆ ปรากฏว่าจิตมีลักษณะแปลกๆ เหมือนเราตากแหเอาไว้นี้ เพราะเราภาวนาพุทโธๆ ก็เป็นเหมือนเราจับจอมแหดึงเข้ามา ตีนแหก็หดเข้ามาๆ อาการของจิตที่มันกว้างขวางมากมายทั่วแดนโลกธาตุ เหมือนกับตีนแห ทีนี้พอเราจับพุทโธซึ่งเป็นเหมือนจอมแหดึงเข้ามาด้วยพุทโธๆๆ จิตค่อยหดเข้ามาๆ เป็นกิริยาให้สนใจอีกทีนึง พร้อมกับให้มีความตั้งใจ สนใจมากขึ้น ก็กำหนดพุทโธถี่ยิบเข้าไป สติตั้งเข้าๆ ทีนี้กระแสของจิตก็หดเข้ามาๆ จนกระทั่งมาถึงตัวจิต เหมือนกับเราดึงจอมแหเข้ามา พอจอมแหเข้ามาถึงที่แล้วมันก็เป็นกองแห มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่านี้คือกองแห แต่ก่อนตากไว้มองไม่เห็น พอดึงเข้ามารวมกันแล้วมันก็เป็นกองแหให้เห็นได้ชัด

ทีนี้คำว่าพุทโธๆ อาการของจิตซึ่งเป็นเหมือนจอมแหที่กระจายอยู่นั้น มันก็ค่อยหดย่นเข้าๆ จิตใจก็เกิดความสนใจหนักเข้า ตั้งสติมากเข้าหดย่นเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงเรียกว่าดึงจอมแหเข้ามาถึงเป็นกองแหแล้วที่นี่ ไม่มีตีนแหอีกแล้วมาเป็นกอง นี่ก็จิตสงบตัวเข้ามาๆ มาเป็นกองผู้รู้ นี่แหละเหมือนกับกองแห พอมาเป็นกองผู้รู้นี้แล้วอัศจรรย์ขึ้นมา โอ๋ย พอเป็นกองจริงๆ แล้วอะไรขาดหมดนะ ในโลกธาตุไม่สนใจกับอะไร เหลือตั้งแต่ความรู้ที่เด่นและอัศจรรย์ในเวลานั้น เกิดความตื่นเต้นเพราะเราไม่เคยเป็นตั้งแต่เกิดมา ก็มาเป็นในเวลาภาวนาครั้งนั้นแหละ จิตมันหดเข้ามาๆ จนเข้ามาถึงจิตจุดหยุดกึ๊กเลย

พอหยุดกึ๊กนี้ โถมันอัศจรรย์ อัศจรรย์แปลกประหลาดเกินคาดเกินหมาย แล้วก็ตื่นเต้นภายในจิตใจ ความตื่นเต้นนี้แหละไปเขย่าจิตที่สงบอยู่นั้น ให้ขยายตัวออกมา เลยคิดออกไปข้างนอกตามเดิมเสียเอาเข้ามาไม่ได้ แต่มันไม่ลืมมันฝังลึก โอ๋ จิตสงบเป็นอย่างนี้เอง นี่ละเป็นเชื้อสำคัญที่ให้ฝังลึกด้วยศรัทธาความเชื่อ แล้วก็ภาวนาเรื่อยๆ ทำภาวนาก็หวังแต่จะเอาผล เหตุที่ทำอย่างไรไม่ค่อยคำนึง วุ่นไปตั้งแต่กับผลที่เคยได้ จะให้ได้อย่างนั้นๆ มันก็ไม่ได้ เพราะงานไม่ทำในวงปัจจุบันซึ่งจะให้ผลเกิด มันก็ไม่เกิด

ทีนี้พอทำไปๆ นานเข้าๆ พอจิตใจจืด เพราะจะเอาอะไรมันก็ไม่ได้ เลยปล่อย ปล่อยทอดอาลัยกับผลที่มันเคยได้แบบอัศจรรย์นั้น เข้ามาภาวนาตามประสีประสาธรรมดา พอจิตปล่อยวางอารมณ์อดีตเข้ามามาสู่ปัจจุบัน ปล่อยอารมณ์ข้างนอกทั้งหมดเข้ามา ทีนี้จิตรวมเข้ามา เป็นอีกนั่นน่ะ เป็นอีกอัศจรรย์อีก แล้วเอาอีกว่าจะทำอย่างนั้น มันก็ไปคาดสัญญาอารมณ์ทางอดีตไปเสียมันก็ไม่เป็น นี่ละเกิดความสนใจ เรียนหนังสืออยู่ก็ไม่เคยละภาวนา เพราะอันนี้เป็นเชื้อลึกมาก ทำให้ฝังใจอย่างลึก ถอนไม่ขึ้น มันฝังใจมากความเชื่อ ความแปลกประหลาดอัศจรรย์ของจิตในขณะที่รวม นี้ก็ทำไป

เรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี ได้ของแปลกประหลาดนี้เพียง ๓ ครั้งเท่านั้นละ แต่มันไม่ลืมนะ มันเป็นแล้วถึงผ่านไปแล้วมันก็ไม่ลืม เพราะมันอัศจรรย์เกินคาดเกินหมาย เรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี ได้จิตที่แปลกประหลาดอัศจรรย์นั้น ๓ หนเท่านั้น จากนั้นมาพอหยุดเรียนแล้วทีนี้จะเข้าปฏิบัติ จะเอาจิตดวงนี้ให้ได้ เพราะมันหมุนกันอยู่แล้วตั้งแต่เรียนหนังสือ เป็นแต่เพียงว่าทำไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น มันเกี่ยวกับการเรียน พอออกปฏิบัติทีนี้จะเอาให้ได้จิตดวงนี้ ซัดกันทั้งวันทั้งคืน ทีนี้เลยได้จริงๆ ความแปลกประหลาดอัศจรรย์ได้เรื่อยเลย นี่ละการทำภาวนา เราเห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ของใจเราจากการภาวนาเท่านั้น  อย่างอื่นสิ่งใดก็ตาม เคยสัมผัสสัมพันธ์กันมามากต่อมากไม่เห็นสิ่งใดมาสะดุดใจเลยว่าเป็นของแปลกประหลาดและอัศจรรย์ ก็มามีตอนเราภาวนา ภาวนาไป พอจิตรวมสงบลงไปนี้ได้ปรากฏเป็นของแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นมา นั่นละเรื่องราว

พอออกมาแล้วก็เอากันใหญ่เลย จิตนั้นจึงค่อยได้นะ สงบเรื่อยขึ้น ดีขึ้นๆ แต่ก็เพราะความไม่รอบคอบของตัวเองนั้นแหละ เวลาจิตมันเป็นมากๆ มันแน่นหนาเหมือนหินนะ จิตนี้เป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงเหมือนหิน แล้วก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเสื่อมเป็นหรือไม่เป็น เราก็มีแต่ตายใจเท่านั้น แล้วก็ไปทำธุระหน้าที่นั่นนี่อะไร ไม่ค่อยเป็นกังวลกับการรักษาจิตดวงที่เป็นอยู่นั้นแล้ว ไม่ได้นึกว่ามันจะเปลี่ยนแปลงเสื่อมทรามไปไหน แล้วมันก็แสดงอาการให้เห็น จิตสงบได้บ้าง ไม่สงบได้บ้าง มีความแปลกประหลาด รีบปล่อยเลยที่นี่ออกปฏิบัติ ทีนี้มันก็เลยเป็นอย่างนั้นเรื่อยมา เจริญแล้วก็เสื่อมๆ อันนี้ก็นาน

นี่สรุปให้ท่านทั้งหลายฟัง พอเห็นมันเป็นอย่างนั้นก็อดคิดอดพิจารณาไม่ได้ มันเป็นอะไรจิตนี่เจริญขึ้นไป ๑๔-๑๕ วันแล้วเสื่อมลงไปๆ เป็นอยู่เวลาปีกับห้าเดือน มันขาดอะไรถึงเป็นอย่างนี้ เริ่มพิจารณาใหม่  มันอาจจะขาดคำบริกรรม คือเราตั้งสติให้อยู่กับจิตอย่างเดียวเท่านั้นมันอาจเผลอได้ คราวนี้เอาตั้งใหม่ ทำไมมันถึงได้เจริญแล้วเสื่อมๆ ถึงขนาดปีกับห้าเดือน คราวนี้ตั้งโปรแกรมใหม่ ทีนี้เอาพุทโธ เราจะกำหนดพุทโธ  เอ้าจะเสื่อมให้เสื่อมไป จะเจริญให้เจริญไป แต่คำว่าพุทโธกับสติให้ติดแนบอยู่กับใจนี้จะไม่ยอมให้เผลอไม่ยอมให้เสื่อม เอ้า สติจับปั๊บเข้าไปนั้นเลย

เอ้า จะเจริญเอ้าเจริญไป อยากจะเสื่อม เสื่อมไป ไม่อาลัยเสียดายมัน เอาแต่คำบริกรรมพุทโธๆ กับสติติดกันไม่ยอมให้เผลอเลย ทีนี้ไม่เผลอ ไม่กี่วันนะ ประมาณสัก ๓ วัน ก็รู้สึกจิตนี้คลี่คลายออกมาในทางที่ดี เบากายเบาใจ  จิตที่มันเสื่อมมันดีดมันดิ้นนั้นไม่ค่อยปรากฏ เพียง ๓-๔ วันมันสงบตัวลงไป โอ๊ นี่ถูกแล้ว พอว่าถูกแล้วก็จับอันนั้นไว้อีก คือไม่ให้มันเผลอ ต่อไปอีกก็ให้เป็นอย่างนี้ วันนี้ก็ตั้ง ตั้งแต่ตื่นนอนถึงหลับๆ ไม่ยอมให้เผลอๆ ทีนี้มันก็ค่อยเจริญขึ้นไปๆ ถึงระยะที่มันควรเสื่อม มันไปอยู่ได้เพียง ๒-๓ คืน ธรรมดามันจะเสื่อมลงอย่างไม่ฟังหน้าฟังหลัง เสื่อมเต็มเหนี่ยวเลย กำลังของจิตหักห้ามไม่อยู่ จึงต้องเอาคำบริกรรมพุทโธกับสติติดกันไว้

ทอดอาลัย เอา จิตจะเสื่อมให้เสื่อมไป จะเจริญไปไหนเจริญ แต่คำบริกรรมกับสตินี้จะไม่ยอมให้เสื่อมให้พรากจากกันเลย เอ้า เป็นยังไงเป็นกัน จับอันนี้ไว้ ปล่อยอารมณ์ทั้งหลายให้หมด แล้วจิตไปถึงนั่นแล้วมันไม่เสื่อมนะทีนี้ บอกเลย บอกว่าเอ้าๆ เสื่อมไป เราเคยเสียดายมันพอแล้วมันไม่ได้อยู่กับความเสียดายของเรา มันไม่ได้ฟังเสียงเรา ทีนี้เราจะเอาคำบริกรรมกับสติติดแนบกันไม่ยอมให้เสื่อม มันจะเสื่อมไปไหน จับอันนี้

พอมันเจริญขึ้นถึงจุดที่ควรจะเสื่อม เอ้า เสื่อมไป ว่าอย่างนั้นเลย เปิดทางให้เลย แต่คำบริกรรมกับสติที่ติดกันนี้จะไม่ยอมให้เสื่อม มันจะเสื่อมถึงไหนเจริญถึงไหนให้รู้กัน ก็จับอันนั้นไว้ พอไปถึงขั้นที่ควรจะเสื่อมไม่เสื่อมนะ อันนี้ก็ติดกันไปเรื่อย ต่อไปก็เป็นที่แน่ใจขึ้นมา ถึงขั้นนั้นแล้วที่ควรจะเสื่อมไม่เสื่อม แต่แน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆ จึงเป็นที่แน่ใจได้เป็นลำดับว่า อ๋อ นี่เป็นเพราะเราปล่อยวางคำบริกรรม สติอาจเผลอไปตอนนั้นก็ได้  แต่เมื่อคำบริกรรมกับสติติดแนบกันแล้วมันไม่เห็นเสื่อม ทีนี้มันไม่เสื่อมนะ ขึ้นเรื่อย ก็จับอันนี้ปั๊บติดกันเลย ทีนี้มันก็ไม่เสื่อมเรื่อยๆ จึงค่อยก้าวไปเรื่อย

นี่พูดถึงเรื่องวิธีการบำเพ็ญเบื้องต้น ไม่มีใครแนะนำสั่งสอนลำบากอยู่นะ อันนี้สอนเพื่อให้ท่านทั้งหลายนำไปคิด เป็นแบบเดียวกันนี้ละ ถ้าทำอย่างนี้แล้วต้องเจริญ ถ้าสติดี ใครภาวนาสติดีเท่าไรยิ่งติดแนบกันตลอด จิตใจนี้แน่ใจเลยว่าตั้งฐานแห่งความสงบได้ จากนั้นจิตเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงได้ไม่สงสัย นี่ละให้จับเอา นี่เราสอนเราเป็นมาแล้ว จากนั้นมามันก็ตั้งขึ้นได้เลยไม่เสื่อมอีกนะ ไม่เสื่อมเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบันนี้ นี่ละความตั้งสติ ถ้าไม่มีใครสอนมันไม่รู้นะ อันนี้เราก็เพราะคิดอ่านไตร่ตรองกับความได้ความเสียของตัวเอง พอได้มาแล้วเสื่อมไปๆ จึงได้ใช้ความคิดอย่างนี้ขึ้นมา ตั้งกฎข้อปฏิบัติใหม่แล้วก็ได้อันนี้ขึ้นมา จิตก็เลยไม่เสื่อม ทีนี้ไม่เสื่อมไปเรื่อยๆ

จิตก็ก้าวขึ้นเรื่อย เราพูดเพียงเท่านั้นละไม่ได้พูดมากกว่านั้น ก้าวขึ้นไปเรื่อย เรียกว่าไม่เสื่อม นี่ละการบำเพ็ญจิตอยู่ที่สตินะ ถ้าขาดสติเมื่อไรเป็นอันว่าขาดความเพียร ถ้าสติยังดีอยู่แล้ว อยู่ที่ไหนให้มีสติเถอะ เป็นความเพียรตลอดเวลา ถ้าได้เผลอสติเมื่อไรเดินจงกรมก็ตาม นั่งสมาธิก็ตาม จะแบบไหนกิริยาใดก็ตามเรียกว่าขาดความเพียร ถ้าเผลอสติขาดความเพียร ถ้าสติมีอยู่แล้วตั้งแน่นๆ แน่นตลอดไปเลย ให้จำให้ดี

แต่นี้เราก็เห็นใจท่านผู้เป็นฆราวาส วิ่งใต้วิ่งเหนือ หาอยู่หากินเพื่อปากเพื่อท้องเพื่อการครองชีพ จะให้ทำเต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างนั้นมันก็ไม่ได้แหละ แต่ให้เป็นข้อคิดเป็นคติเครื่องเตือนใจเอาไว้ ถึงคราวที่จะเอากันให้หนักแน่นจริงๆ ให้จับอันนี้ไว้ให้ดี อันที่ว่าสติกับจิตไม่เผลอกันจะเป็นทางพ้นทุกข์ได้โดยไม่ต้องสงสัย เริ่มตั้งแต่ความสงบ ความสงบแล้วก็จะแน่นหนามั่นคงเป็นสมาธิ จากสมาธิแล้วก็แยกแยะทางด้านปัญญาดังที่เคยสอนเสมอ

เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เอามาบริกรรมเพื่อทำใจให้สงบก็ได้  เวลาจิตมีกำลังแล้วเอาอันนี้มาเป็นหินลับปัญญา พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์เหล่านี้เป็นทางด้านปัญญาก็ได้ นี่ก้าวไปเรื่อยๆ นี่ละท่านว่ากรรมฐาน ๕ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา ทำอย่างนี้ จากนั้นก็พิจารณาร่างกาย เมื่อจิตมีความสงบเย็นใจแล้วนี้ เราจะแยกธาตุแยกขันธ์ให้เป็นฝ่ายปัญญา มันก็เป็นได้ดังที่เคยแสดงแล้ว ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ล้วนแล้วแต่ของสกปรกโสมม ไม่ใช่ของดิบของดีพอจะเพลิดเพลินจนลืมเนื้อลืมตัว พิจารณาแยกแยะออกมาให้เห็นความจริงของมันบ้าง

ในเบื้องต้นก็ให้เห็นความจริงของมันบ้างก่อน จากนั้นก็สืบเนื่องกันไปจนเกิดความชำนิชำนาญมองดูอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นกระดูกไปหมดทั้งตัวคน เป็นเนื้อก็เนื้อแดงโร่ เป็นกระดูกก็เป็นกระดูกไปหมดเลย เรื่องของปัญญาชำนาญ ชำนาญมากนะ  เอาจนกระทั่งเรื่องที่ว่าอสุภะอสุภังผ่านไปได้ ไม่ใช่ว่าอสุภะอสุภังนี้จะติดกับใจไปตลอดถึงนิพพานนะ มันเป็นขั้น ขั้นนี้อยู่ในย่านนี้

เช่น อสุภะอสุภัง ร่างกายของเราที่ยังไม่เห็นความสกปรกโสมมกองอสุภะอสุภัง ป่าช้าผีดิบของมันก็พิจารณาอันนี้ก่อน พอจากนี้มันมีความชำนิชำนาญแล้ว  สิ่งเหล่านี้มันจะกลืนเข้ามาภายในใจของเรา เลยมากลายเป็นอสุภะอสุภังภายในใจเสียเอง ไม่ได้เป็นอยู่ในร่างกายภายนอกดังที่เราพิจารณาแต่ก่อน มันจะกลายเข้ามาเป็นอสุภะอสุภังในตัวของเราหมด จากนี้ก็กลืนเข้าไปๆ เป็นอะไรขึ้นมา กำหนดอสุภะอันไหนปั๊บมาเป็นที่จิต อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ป่าช้าผีดิบ มันก็มาเป็นอยู่ที่ใจๆ ไม่ได้เป็นอยู่ตามอาการดังที่เราเคยพิจารณานะ หากเป็นเอง มันเป็น

การก้าวเดินนี้ไปตามระยะทางของการภาวนา  พอไปถึงขั้นอสุภะอสุภังหมดนี่หมดนะ อสุภะอสุภังหมด เพราะเหตุไร พอพิจารณาไปร่างกายนี้มันตั้งขึ้นมาไม่ทัน เราจะพิจารณาอสุภะอสุภังไม่ทัน มันเข้าหาใจก่อน พอว่าอสุภะก็มาเป็นอยู่กับใจ พอว่าอสุภังป่าช้าผีดิบก็วิ่งเข้ามาเป็นอยู่ที่ใจๆ แต่ก่อนอยู่ข้างนอก พิจารณาข้างนอก เหมือนกับว่าเล่นเงามันเสียก่อน ทีนี้เงากับตัวมันติดกันอยู่ พอพิจารณาเงาเดี๋ยวมันก็หมุนเข้ามาหาตัวจริง พอสิ่งเหล่านี้เข้ามาสู่ตัวจริงกำหนดปั๊บเป็นที่หัวใจๆ  จากนั้นมันก็กำหนดเข้าไป เร็วเข้าไปๆ สุดท้ายอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตตา หรืออสุภะอสุภังไม่มี มันมาเป็นอยู่ที่จิตหมด เกิดขึ้นที่จิตดับที่จิต เราจะแยกให้เป็นอสุภะอสุภังไม่ทัน เกิดเร็วดับเร็ว ทีนี้ต่อไปมันก็แย็บๆๆ เท่านั้นนะ หมด มันเป็นทางเดินของจิต ระยะนี้เห็นอย่างนี้พิจารณาอย่างนี้ ระยะต่อไปเห็นอย่างนั้นพิจารณาอย่างนั้น

เหมือนเราเดินทาง ไม่ใช่ระยะทางหรือสิ่งที่เราผ่านไปนั้นจะเหมือนกันหมด ไม่เหมือน ที่สูงที่ต่ำลุ่มๆ ดอนๆ มีต้นไม้ภูเขา มีที่เวิ้งที่ว้างอะไรไปโดยลำดับ นี้จิตก็เหมือนกัน พิจารณาไปมันจะค่อยวางไปๆ สุดท้ายร่างกายของเราว่าอสุภะก็หมด พิจารณาไม่ทัน พอตั้งขึ้นปั๊บดับพร้อมๆ มันดับแล้วมาเกิดที่จิตดับที่จิต มันก็มีแต่ยิบแย็บๆๆ จากยิบแย็บๆ ที่เราได้ฝึกให้มันชำนาญๆ มันเร็วเข้าโดยลำดับเลยไม่มียิบแย็บ ปรุงก็ไม่มี แย็บก็เหมือนฟ้าแลบๆ จากนั้นหายเงียบเลย มีแต่จิตล้วนๆ ก็กลายเป็นจิตว่างไปละ นั่น จิตมันว่างอย่างนั้นนะ มันไม่ใช่อยู่ๆ ให้ว่างนะ มันว่างตามสายทาง

พอไปถึงที่มันว่างกำหนดอะไรขึ้นมาเกิดปั๊บดับพร้อมๆ สิ่งที่ไม่ดับก็คือความว่างประจำใจ นั่น มันก็ว่างไปหมด นี่พิจารณาอย่างนั้น นี่ละว่างตามฐานของจิตที่พิจารณารู้ได้เห็นได้ แต่หัวใจยังไม่ว่าง มันก็เพลินกับความว่างความอัศจรรย์ภายนอกนี้ก่อน พอพิจารณาอันนี้หนักเข้าๆ ความว่างเหล่านี้ละเอียดตัวเข้ามาๆ มันก็เลยมาว่างภายในใจ ทีแรกว่างภายนอกตัวใจเองยังไม่ว่าง ข้างนอกใสสง่างาม ข้างในยังไม่ใสยังไม่สง่า พอพิจารณาเข้ามาถึงตัวที่มันขวางโลกอยู่นี้ ว่าอันนั้นว่างอันนี้ว่าง แต่ตัวเองไม่ว่างพิจารณาเห็นตัวนี้แล้วมันก็ว่างไปด้วยกัน

พอมันว่างข้างนอกข้างนอกก็วาง ข้างในก็ว่างข้างในก็วาง พอวางแล้ววางหมดโดยสิ้นเชิง สมมุติที่มีอยู่ภายในจิตขาดสะบั้นไปพร้อมๆ กันหมดเลย นั่นเป็นหลักธรรมชาติที่ว่างโดยแท้ ว่างอันนี้คือว่างของท่านผู้สิ้นสมมุติ ผู้สิ้นกิเลสโดยประการทั้งปวง เช่น พระอรหันต์ เป็นต้น จากนี้แล้วไม่มีอะไรจะพิจารณา เพราะมันว่างไปหมดแม้แต่จิตใจดวงนั้นก็ว่างไปตามๆ กัน หมดไม่มีอะไรจะมาเกาะมาเกี่ยวกัน เป็นจิตที่ว่างโดยหลักธรรมชาติ ซึ่งเราไม่ต้องไปคาดไปหมายมันก็เป็นขึ้นมาเอง ทีนี้หมด นั่น นั่นละการพิจารณากรรมฐานให้พิจารณาอย่างนี้ไม่ผิด เพราะเหล่านี้ได้ก้าวเดินมาพอแล้ว ที่มาเล่านี่เล่าย่อๆ นะ แต่เจ้าของทำมานี้แทบเป็นแทบตายจนจะสลบไสล มันยากขนาดไหน แต่เวลามาเล่านี้เป็นของง่ายนิดเดียวๆ มันไม่ง่ายแต่จะเป็นอย่างนี้ หากว่าเราทำไม่หยุดไม่ถอย มันก็เป็นขึ้นมา ว่างได้หมด

เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นธรรมปัจจุบันตลอดเวลาไม่มีคำว่าครึว่าล้าสมัย อกาลิโกๆ ให้ผลประจักษ์แก่ผู้ทำตลอดมา ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ฝ่ายกิเลสฝ่ายธรรม ฝ่ายกิเลส สร้างกิเลสเกิดเกิดทันที สร้างธรรม ธรรมเกิดขึ้นทันที อย่างที่ท่านว่าอกาลิโก เป็นอกาลิโกอย่างนี้แหละ พอหมดสภาพแล้วมันก็ปล่อยของมันเอง พอปล่อยหมดแล้วมันว่างหมดนะ ไม่มีอะไร สามแดนโลกธาตุ ว่างตั้งแต่จิตออกไป ว่างหมด ถอยเข้ามาหาจิตมันก็เป็นความว่างอันเดียวกัน ถ้าว่าวางก็วางอย่างเดียวกันหมด ทั้งวางภายนอกทั้งวางภายใน

ทีนี้ไม่มีอะไรจะปล่อยจะวาง จิตก็บริสุทธิ์ นี่ละ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ การประพฤติพรหมจรรย์ได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์คือถอดถอนกิเลสตัวเป็นก้างขวางคอนั้นแหละ พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วมันก็ว่างเป็น.วุสิตํ งานสำเร็จแล้ว นั่นละผู้บรรลุธรรม ถึงขั้นนี้แล้วไม่ต้องฆ่ากิเลส สิ้นเสร็จ ท่านว่าบรรลุอรหันต์ บรรลุอรหันต์ท่านบรรลุอย่างนั้น มันเป็นขึ้นกับใจแล้วจะไปถามใคร สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้ผลงานของตนตั้งแต่พื้นๆ จนกระทั่งถึงสูงสุดคือพระนิพพาน จะปราศจาก สนฺทิฏฺฐิโก ที่รู้ผลงานไปโดยลำดับนี้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ปึ๋งก็ตรัสรู้อันนั้นละ ทีนี้บรรดาสาวกทั้งหลายรู้ก็รู้แบบเดียวกัน พอไปถึงขั้นที่จะ สนฺทิฏฺฐิโก ขั้นสุดยอดก็ขาดสะบั้นไปหมด แล้วจะไปทูลถามพระพุทธเจ้าหาอะไร มันเป็นอันเดียวกันแล้ว

ให้พากันตั้งใจปฏิบัติ จิตใจเป็นของสำคัญมาก เราบอกว่าจิตใจเป็นของไม่สูญ ให้จำให้ดี จิตใจดวงนี้ไม่มีคำว่าสูญ ใครจะว่าขนาดไหนก็ไม่สูญ ตกนรกหมกไหม้กี่กัปกี่กัลป์ ทุกข์ขนาดไหนยอมรับว่าทุกข์แต่ไม่ยอมสูญ เอ้า ชำระจิตจนกระทั่งถึงที่สุดวิมุตติพระนิพพาน ยอมรับว่าเป็นความสุขละเอียดๆ จนกระทั่งถึงนิพพานเรียกว่าธรรมธาตุ เอ้าที่นี่ อะไรสูญ ธรรมธาตุสูญได้ยังไง นั่นละที่สุดของธรรมทั้งหลาย แห่งจิตของผู้บำเพ็ญก็กลายเป็นธรรมธาตุเลย อยู่ในธาตุในขันธ์ ถ้ายังไม่ตายก็เป็นธรรมธาตุ ครองธาตุครองขันธ์อยู่นั้นแหละ เรียกว่าธรรมธาตุก็ได้ เรียกว่าจิตบริสุทธิ์ก็ได้ เรียกได้ทั้งนั้นแต่เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ ให้พากันจำเอา

นี่ละธรรมะ พระพุทธเจ้าสอนถึงจุดนี้ ไม่มีสงสัยใด ถ้าลงถึงจุดนี้แล้ว ขาดสะบั้นไปด้วยกันหมด ไม่ว่าผู้ใดก็ตาม ขอให้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ธรรมไม่เลือกชาติชั้นวรรณะฐานะสูงต่ำ ธรรมเป็นธรรม ผู้ปฏิบัติตามธรรมแล้วย่อมได้รับธรรมมาเป็นสิริมงคลแก่ตนด้วยกันทั่วหน้ากัน ตามกำลังแห่งความสามารถของการบำเพ็ญของตน จึงขอให้ทุกๆ ท่านได้นำไปประพฤติปฏิบัติ เราที่สอนนี้เราทำมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยแทบจะเป็นจะตาย การมาสอนนี้ไม่ได้ยากอะไร พูดผางๆๆ ผ่านไปๆ แต่เวลาทำเวลาฆ่ากิเลสไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถึงขั้นจะสลบไสลก็มี เฉียดไปเลย แต่ยังไม่เคยสลบเราก็บอกไม่สลบ แต่เรื่องความทุกข์ฟัดกับกิเลส เฉียดกันๆ ไปเลย สุดท้ายกิเลสก็พัง ไม่มีอะไรเหลือ ให้พากันจดจำเอาไปเป็นสิริมงคล นี่ละเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ เครื่องบำรุงจิตใจ เครื่องส่งเสริมจิตใจ เครื่องบำรุงจิตใจให้มีความสงบร่มเย็นจนกระทั่งถึงขั้นที่สุดวิมุตติพระนิพพาน เป็นจิตใจที่เลิศเลอ ไม่นอกเหนือไปจากการบำเพ็ญที่อธิบายให้ฟังนี้ เอาละพอ

พูดท้ายเทศน์

อัฐิของท่านสิงห์ทองที่ไปตกเครื่องบินตาย ท่านจวน ท่านสิงห์ทอง ท่านวัน ท่านอาจารย์บุญมา ท่านสุพัฒน์ ๕ องค์ เวลามาเผาศพแล้ว อัฐิของท่านสิงห์ทองกับท่านจวนกลายเป็นพระธาตุ ๒ องค์ นอกจากนั้นเป็นธรรมดา นี่เห็นไหมล่ะมันประกาศอยู่กับจิต หากจิตบริสุทธิ์แล้ว ถึงจะเผาด้วยกันอันนี้กลายเป็นพระธาตุ อันนั้นเป็นธรรมดา เป็นเถ้าเป็นถ่านธรรมดา ของท่านสิงห์ทองท่านก็เคยเล่าให้เราฟัง เพราะเราเป็นอาจารย์ท่านนี่ ท่านมาเล่าให้ฟัง ทีนี้มันไม่มีทางไปท่านว่าอย่างนั้น แต่ก็ไม่สงสัย นี่ละแปลกอยู่นะ ไม่มีทางไปแต่ก็ไม่สงสัย แล้วเป็นยังไงเอ้าว่ามาซิ คือปฏิบัติไปๆ

พอพูดอันนี้ก็ระลึกถึงที่ว่า ไปสถานีทดลองด้วยกัน มีโยมคนหนึ่งที่แกนั่งภาวนา แกรู้จิตใจคนอื่น มานั่งคุยกัน แกพูดถึงเรื่องเวลาจิตใจแกหยาบโลน แกก็รู้สึกว่าโมโหให้ตัวเองเหมือนกัน ไม่พอใจกับจิตของแกที่เป็นอย่างนั้น ต่อเขาที่มาชวนแกไปวัด นี่ละเวลามันหยาบ หยาบอย่างนั้น พูดแล้วมีลักษณะโกรธให้ตัวเองนะ จิตดวงนี้ไม่ใช่เล่น เวลามันหยาบมันหยาบจริงๆ เราอยู่บ้านเขาเดินผ่านมานี้เขาจะไปวัด เขาก็เลยชวนให้ไปวัดกับเขา เราก็บอกว่าเราไม่ได้ไป เพียงเท่านี้ก็ควรจะพอแล้ว อันนี้ยังโกรธยังแค้นให้เขา หือ กูไม่ไปมึงมาชวนกูไปหาอะไร ทั้งโกรธทั้งเคียดแค้นให้เขา

ถ้าเป็นธรรมดาไปทำที่อื่น เคียดให้เขาแล้วตามฆ่าเขานะว่างั้น พอพูดแล้วรู้สึกว่าแกไม่พอใจในความเป็นของแก ทีนี้มาเทียบจิตเดี๋ยวนี้กับจิตอันนั้นแกว่ายังงั้น แล้วมันเข้ากันไม่ได้นะ หยาบโลนมากโหดร้ายมาก เขาชวนไปวัด ว่างั้นนะ แล้วยังไปตามโกรธตามแค้นจะตามฆ่าเขา มันอะไรขนาดนั้นจิตดวงนี้ แล้วก็พูดลักษณะโมโหให้ตัวเอง  กับเวลานี้มันเข้ากันไม่ได้ว่างั้น  นี่ละทีนี้ก็มานั่งเล่าภาวนาให้ฟัง แกรู้นะจิตใครเป็นยังไงๆ แกก็พูดตรงไปตรงมา นิสัย โอ้ เคร่งขรึม นิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญเป็นมหาโจรได้ว่างั้นเถอะ ทีนี้พอคุยกันเราก็ฟัง

แกสั่งลูกเต้าแกแหละ เวลาแกจะออกจากวัด ถ้าเราไปสถานีทดลองเมื่อไร เราอยู่กี่วันแกก็อยู่นั้นตลอด ไม่กลับบ้าน พอจะมาก็สั่งเสียลูกเต้า สูอย่าเป็นห่วงกูนะ กูจะไปหาท่านอาจารย์ที่วัดสถานีทดลอง ถ้าท่านไม่กลับเมื่อไรกูอยู่นู้นเลย สูอย่ามาเป็นห่วงกูนะ แล้วก็มาเลย เขาก็ไม่เป็นห่วงลูกเต้า นี่ละแกเล่าเรื่องจิตของแกที่เป็นให้ฟัง มันรู้หมดจิตของใครมันก็รู้ แต่นิสัยแกเคร่งขรึม เด็ดเดี่ยวเฉียบขาด พูดภาษาของเราเรียกว่าน่ากลัว เป็นมหาโจรได้ว่างั้นเถอะ แกพูดเรื่องความจริงใจ ความจำเป็น ความจริงใจของธรรมแกที่มีในใจ แกพูดได้อย่างอาจหาญชาญชัย ไม่สะทกสะท้าน พูดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามกำลังธรรมของแกที่รู้ที่เห็นนั่นละ

ท่านสิงห์ทองก็นั่งอยู่นั้น แกนั่งอยู่นี้ แกเล่าการภาวนาให้เราฟัง  ท่านสิงห์ทองคงจะคันปาก พระขี้ดื้อ ท่านก็นั่งฟังอยู่ด้วยกัน พอแกพูดจบลงแล้ว พูดถึงเรื่องจิตก็ทราบกันหมดแล้ว จิตของใครๆ แกก็รู้ ท่านสิงห์ทองก็เลยถามว่า อาตมาล่ะ เวลานี้จิตของอาตมาเป็นยังไงว่างั้นนะ จิตของอาตมาเป็นยังไง จิตของท่านไม่พ้นเป็นแต่เพียงผ่องใส ไม่เหมือนจิตท่านอาจารย์ เข้ามาเทียบทั้งสองเลยนะ จิตของท่านยังไม่พ้น เป็นแต่เพียงผ่องใสไม่เหมือนจิตท่านอาจารย์ แกพูด แกก็พูดเฉย ทางนี้หน้าแห้ง ขายหน้า คือแกเล่า แกเล่าเฉยนะ ทางนี้หน้าแห้งไปเลยอายเขาละซิ จิตของท่านยังไม่พ้นเป็นแต่ผ่องใส ไม่เหมือนจิตท่านอาจารย์ แน่ะ แกชี้มาเลย

นี่ละที่ว่าแกโหดร้ายมากแกว่า เขาชวนไปวัดนี้เคียดแค้นให้เขาทั้งวัน ทีนี้แกมาเคียดแค้นแก เวลาจิตแกเป็นอย่างนี้แล้ว แกไปเล่าสภาพเดิมของแกที่เคียดแค้นให้เขา แล้วก็เป็นลักษณะเคียดแค้นให้ตัวเอง แหมจิตนี้เวลามันโหด มันโหดจริงๆ นะ ประสาเขาชวนไปวัด แล้วไปเคียดแค้นโกรธเคืองเขาหาอะไรว่างั้นนะ แกว่าให้ตัวเอง เป็นอย่างนั้น

จันท์นี่ลูกศิษย์ก็มีหลายคนนะที่มีจิตประเภทนี้ ที่จันท์นี้มีหลายคนอยู่ ผู้หญิงมีสองคนกับผู้ชายที่เราทราบชัดแล้วก็คือผู้นี้แหละคนหนึ่ง เรียกว่าสามคนก่อนก็ได้ ที่ชัดเจนแล้วผู้หญิงก็สองคน คนหนึ่งรู้ทั้งจิต จิตใครเป็นยังไงๆ แกรู้หมด คนหนึ่งไม่พูดถึง แต่เรื่องภูมิจิตเหมือนกัน มีผู้หญิงสองคนกับผู้ชายคนหนึ่งที่จันท์ ที่สถานีทดลองนั่นละ อยู่ที่สถานีทดลอง คนหนึ่งที่ว่าผู้หญิงอยู่ที่จังหวัดตราดนะ แกเป็นคู่กันกับผู้หญิงคนที่บ้านอยู่ข้างๆ สถานีทดลองเรา เขาคุ้นกัน เวลาเขามาวัดนี้เขาจะไปนอนด้วยกัน คนนั้นก็เก่ง ไม่ค่อยชอบพูดละคนนั้น แกไม่ชอบพูด

อย่างนั้นละจิตของเราถ้าลงมันได้รู้มันจะซอกแซกดูนะ เช่นอย่างเราเย็บผ้า แกขึ้นไปสองคน เรากำลังเย็บผ้าอยู่ แกขึ้นไปกราบ เราก็ขู่ ก็ลูกศิษย์กับอาจารย์จะให้ว่าไง ขึ้นมาหาอะไรนี่กำลังเย็บผ้า ไป ลงไป นั่งหมอบ สักเดี๋ยวปุ๊บปั๊บลงไป พอลงไปแล้วก็ไปนอนอยู่ด้วยกัน ผู้หญิงคนนี้แกไม่ค่อยพูดด้วย เหมือนว่าทั้งวันไม่พูดละ นิสัยนิ่งชอบนิ่ง ครั้นอยู่ๆ หัวเราะกิ๊กๆๆ ขึ้นมา อะไรป้าว่างั้นนะ คนนั้นแก่กว่าคนนี้หน่อย ป้าหัวเราะอะไร โอ๊ย หัวเราะ ไปดูจิตท่านพ่อว่างั้นนะ หัวเราะไปดูจิตท่านพ่อ ท่านกำลังเย็บผ้า นึกว่าท่านจะไม่สนใจกับเรา ท่านเย็บผ้า ท่านขู่เรา ท่านดุเรา ขู่เราแล้ว ท่านก็เย็บผ้าเฉยเหมือนไม่ดูเรา เราคลานเข้าไป คือหมายความว่าจิตนี้สอดเข้าไป ที่ไหนจ้ออยู่เหมือนยังกับจะตีเรานี้ โอ๊ยไม่ได้แล้วเปิดเลย เราหัวเราะเพราะอันนี้เอง แกว่างั้น คนหนึ่งคลานเข้าไปเหมือนขโมยว่าท่านจะไม่รู้ แต่ท่านจ้อนี้เลยกลัวมาก เลยเปิดเลย นี่ละที่หัวเราะ เป็นอย่างนั้นล่ะแก

แกอยู่จังหวัดตราดนะคนนี้ อันนี้ก็อีกเหมือนกัน เขาหาว่าแกเป็นบ้า พวกชาววัดด้วยกัน ที่อยู่วัดด้วยกันปฏิบัติธรรมอยู่ที่ เขาเรียกอะไรนะจากจังหวัดเข้าไป มันเป็นเนิน เป็นเนินแล้วเป็นป่ายาง  อาจารย์เฟื่องก็อยู่ที่นั่น ไปตั้งสำนักภาวนาอยู่นั่น มีโยมคนนี้ละกับพวกโยมเขาเป็นสำนักของเขาอีกทางหนึ่ง ท่านอาจารย์เฟื่องก็อยู่อีกทางหนึ่ง นี่ที่สำคัญมากนะ เราก็ปุบปับ ๑๑ โมงเช้า มาก็มาเรียกท่านเพ็ง เพ็งไปเรียกรถมาเดี๋ยวนี้เรามีธุระด่วน จะไปจังหวัดตราดวันนี้ พอว่างั้น ก็ไปรอรถ เราพูดย่อๆ เลยตอนนี้นะ แล้วเราก็เตรียมออกไป เพราะก่อนนั้นไม่ใช่รถมารอรับเรานะ รถเขาวิ่งโดยสารธรรมดา ออกไปรถก็มาพอดีกัน

คราวนี้แกก็เป็นตรงนั้นแหละ เป็นตอนกำลังจะเที่ยง อยู่ๆ แกก็โดดออกมาจากที่พัก แกเป็นคนไม่ชอบพูดนะ โดดออกมา นี่นะๆ ท่านพ่อบัวกำลังออกเดินทาง ท่านจะมาวัดเราเดี๋ยวนี้ เขาก็มารุมว่าแกเป็นบ้าหรือ เอ้าท่านกำลังมา อู๊ย ยายคนนี้แกเป็นบ้าหรือ โอ๊ย บ้าไม่บ้าก็คอยฟังดู ให้ฟังดูหน่อย ท่านจะมานี่ ท่านขึ้นรถแล้วเดี๋ยวนี้ว่างั้น พูดขนาดนั้นนะ เอ้าคอยฟังถ้าหากว่าท่านไม่มาเราจะต้มยำโยมคนนี้ โยมหริ่งนี้ว่างั้น เอ้าต้มก็ต้มแหละ แกว่างั้นนะ ก็เป็นจริงพอดีเราเตรียมขึ้นรถ แกก็บอกเดี๋ยวนั้นอย่างรีบด่วน พอถึงเวลาจะบ่าย สัก ๒-๓ โมงนี้ละ เราก็ไปถึงพอดีเลย ฟังเสียงลั่นขึ้นเลยตรงนั้นนะ ที่สำนักนั้นละ

พอเราเข้าไป โอ๊ย แน่จริงๆ โยมหริ่ง แกพูดแน่จริงๆ นะเสียงลั่นเลย แน่อะไร ก็โยมหริ่งว่าท่านอาจารย์จะมานี้ ใครโจมตีแกทั้งวัด ถ้าหากว่าท่านไม่มานี้แกจะถูกต้มยำหมด ทีนี้มาแล้วเป็นไง เวลามาเราบอกให้แกมาหาไม่กล้ามากลัว แน่ะเป็นอย่างนั้น นี่แน่นอนอย่างนั้นนะ เขาหาว่าแกเป็นบ้า เป็นบ้ายังไงท่านขึ้นรถอยู่เดี๋ยวนี้ นู่นเห็นไหมล่ะ เอาอย่างจริงอย่างจังมาก ก็เป็นจริงๆ เราขึ้นรถกำลังจะเที่ยง แกก็บ้าตอนนั้นละ อย่างรีบร้อน ทีนี้เราก็ไปถึง พอไปถึงเรียกให้มาไม่มา กลัว นี่อันหนึ่งแม่นยำมากนะ

ท่านเฟื่องอยู่นั้น เขาเรียกอะไรนะ เป็นเนินอยู่นั้นเขาปลูกต้นยาง แล้วท่านอาจารย์เฟื่องก็อยู่ที่นั่น เนินหนองโสนหรืออะไรก็ไม่รู้ละ นี่พูดถึงเรื่องความรู้เป็นอย่างนั้นแหละ อาจหาญมากนะ มากุลีกุจออย่างรีบอย่างด่วน นี่ท่านพ่อบัวกำลังขึ้นรถเดี๋ยวนี้ๆ มันเรื่องอะไรนี่มาโกหก แกอาจหาญมาก หาเรื่องอะไรท่านกำลังขึ้นรถเดี๋ยวนี้ นี่ละเอาจริงเอาจังกันตรงนี้ ถ้าหากเราไม่มาแล้วโยมหริ่งตายตรงนั้นเลย สุดท้ายเราก็ไปจริงๆ แน่ะก็อย่างนั้นละ แน่อยู่ เทศน์ก็ได้ยินทั่วถึงกันหมดนะ เทศน์นี้จะออกทั่วหรือไม่หมดหรอกนะ นี่เขาก็ต้องออกทางวิทยุเหมือนกัน อย่างเมื่อคืนนี้ก็ออกทั่วประเทศวิทยุ จากนั้นก็ทั่วโลกอีก อันนี้ก็จะออกเหมือนกัน วันนี้เทศน์เนื้อธรรมก็ไม่หย่อนกว่ากันกับเมื่อคืนนี้นะ เป็นแต่เพียงว่ากิริยาสุ้มเสียงเข้มข้นต่างกันไม่เข้มข้นต่างกัน ตอนนี้ไม่เข้มข้นนักหากเป็นเนื้อธรรมสูง

อะไรเอามา (คณะเรือบุญปากน้ำศิษย์ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม นำเรือทศโพธิสัตตา มาถวายมหาทานมหากุศล ทองคำ ๑ บาทเจ้าค่ะ เงินสงเคราะห์โลก ๑ หมื่นบาทเจ้าค่ะ) พอใจๆๆ (เรือทศโพธิสัตตา พระอนาคตวงศ์ของพระพุทธองค์ที่ได้รับพยากรณ์แล้วที่จะมาตรัสรู้ ๑๐ พระองค์เจ้าค่ะ ได้แก่ องค์ที่ ๑ พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า คือพระอชิตะในสมัยองค์พระสมณโคดม องค์ที่ ๒ คือพระรามพุทธเจ้า คือนารทะมาณพในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า และองค์ที่ ๓ พระธรรมราชาพุทธเจ้า คือพระเจ้าปเสนทิโกศล ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า องค์ที่ ๔ คือพระธรรมสามีพุทธเจ้า คือพระยามาราธิราช จอมเทวดาแห่งแดนเทวบุตรมารในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี จะมาตรัสรู้เป็นองค์ที่ ๔ เจ้าค่ะ องค์ที่ ๕ อสุรินทราหู ผู้เป็นมหาอุปราชครองภพอสูร ซึ่งเคยเกิดเป็นพระราชาสิริคุตในสมัยพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมาตรัสรู้เป็นพระนารทพุทธเจ้า ส่วนโสณพราหมณ์ ซึ่งเคยเกิดเป็นมาฆมาณพในสมัยพระกกุสันโธพุทธเจ้า จะมาตรัสรู้เป็นพระรังสีมุนีพุทธเจ้า และสุภพราหมณ์บุตรของโตเทยพราหมณ์ ซึ่งเคยเกิดเป็นช้างฉัททันต์ในสมัยพระโกนาคมพุทธเจ้า จะมาตรัสรู้เป็นพระเทวเทพสัมพุทธเจ้าองค์ที่ ๗ เจ้าค่ะ และองค์ที่ ๘ โตเทยพราหมณ์ ซึ่งเคยเกิดเป็นพ่อค้านามว่านันทมาณพในสมัยพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง จะมาตรัสรู้เป็นพระนรสีหสัมพุทธเจ้า องค์ที่ ๙ พระติสสสัมพุทธเจ้าคือช้างธนบาลซึ่งเคยเกิดเป็นพระธรรมเสนในสมัยพระโกนาคมพุทธเจ้า และองค์ที่ ๑๐ องค์สุดท้ายคือ พระสุมงคลสัมพุทธเจ้า คือช้างป่าลิไลย ซึ่งเคยเกิดเป็นพระจักรพรรดิ์ในสมัยพระกกุสันโธพุทธเจ้า ขอเดชะบารมีแห่งองค์พุทธเจ้าแห่งอนาคตวงศ์ ๑๐ พระองค์ จงมาปกปักรักษาองค์พระหลวงตาให้มีกำลังวังชาแข็งแรง อยู่โปรดมนุษย์เทวดา อินทร์พรหม ยมมาร เป็นกัปเป็นกัลป์ด้วยเทอญ ) เอาละ ให้เราได้เสนอกับลมหายใจเสียก่อน ลมหายใจเป็นผู้พิพากษาใหญ่ ต้องได้ไปกราบทูลท่านเสียก่อน เข้าใจไหม ท่านเป็นใหญ่ ท่านว่ายังไงก็ค่อยพิจารณากัน เออ เอาละไป

นี่ละเห็นไหมล่ะจิต อย่างนี้ละจิตที่ว่าจิตไม่สูญ จิตดวงนี้ไม่สูญ องค์นั้นเคยเป็นอันนั้นๆ แล้วจะมาเป็นอันนี้ๆ อย่างพระอนาคตวงศ์ องค์นั้นเคยเป็นอย่างนั้นๆ แล้วจะมาเป็นนี้ๆ มันท่องเที่ยวไปเรื่อย วิถีจิต ร่องรอยของจิต ท่านพิจารณาเล็งญาณก็เล็งญาณตามร่องรอยของจิตที่ผ่านมาผ่านไปนั่นละ คือไม่สูญ บทเวลาสุดท้ายแล้วก็ มันไม่อยู่กับอะไรหากบอกว่าไม่สูญนั่นเอง เพราะเป็นหลักของแดนสมมุติแดนธรรมเป็นธรรมธาตุ มันก็ไม่สูญก็เป็นธรรมธาตุอยู่นั้นนั่นอย่างนั้น สุดท้ายเป็นธรรมธาตุ คือจิตนี้เวลาลงต่ำก็ต่ำสุดถึงนรกอเวจี แต่โลกเป็นโลกอนิจจัง กรรมย่อมเป็นของเปลี่ยนแปลงได้ไม่ช้าก็เร็ว แล้วก็พลิกขึ้นมาๆๆ ก็มาเป็นมนุษย์มนา สร้างความดีงามแล้วขึ้นเรื่อยๆ ฟาดจนกระทั่งถึงนิพพานเป็นธรรมธาตุแน่ะ ธรรมธาตุก็ไม่สูญก็อย่างนั้นแหละ นี่ละสุดขีดอยู่ตรงนั้นละ หมด เป็นธรรมธาตุแล้วหมดความเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งหมด ว่าจะไปเกิดในภพนั้นภพนี้ไม่มี เป็นธรรมธาตุล้วนๆ แล้ว นี่ก็ไม่สูญ แน่ะอย่างนั้นแหละ

เพราะฉะนั้นจึงว่าจิตไม่เคยสูญ ถึงที่สุดแล้วก็เป็นธรรมธาตุ ใครจะว่าตายแล้วสูญมันว่าเฉยๆ ด้นเดาเกาหมัด คนนี้แหละพวกที่จะทำบาปมาก ว่าตายแล้วสูญ เวลาตายแล้วจะไม่มีบาปมีกรรมมีอะไรตามสนอง ให้ได้รับความทุกข์ความทรมาน หรือความสุขประการใดๆ ทำลงไปแล้วอะไรๆ ก็ไม่ได้ผลๆ เพราะตายแล้วมันสูญๆ ผู้นี้แหละจะสร้างบาปหาบกรรมได้มากกว่าเพื่อน คืออยากทำอะไรก็ทำเสียนั่นน่ะ คำว่าอยากทำอะไรก็ทำมันเป็นส่วนต่ำไปแล้ว ถ้ายังมีผลที่ตอบรับว่า มันเป็นบาปเป็นบุญตายแล้วเกิดนี่ แล้วเกิดแล้วไปทำไงล่ะ ไปตกนรกใครอยากไปเกิดนรก มันก็ไม่ทำบาป

ผู้ที่เชื่อว่าตายแล้วยังเกิดอีกนี้ดีกว่าผู้ที่ว่าตายแล้วสูญ เท่ากับสร้างความสิ้นสุดความหวังทั้งหมดให้แก่ตัวเอง ทั้งๆ ที่ทำบาปทำกรรมตายแล้วก็เป็นอย่างนั้น มันไม่สูญ มันว่าเอาเฉยๆ ตามอำนาจของกิเลส พระพุทธเจ้าพระองค์ใดตรัสรู้ขึ้นมาเท่าเม็ดหินเม็ดทราย มีพระองค์ใดบ้างที่พูดแหวกแนวมาว่าสัตว์โลกตายแล้วสูญ ไม่มีเลย มีแต่ตายแล้วเกิดทั้งนั้นๆ นั่น เป็นความจริงนะ

(หลวงตาเจ้าขามีปัญหาถาม ๒ ข้อเจ้าค่ะ ข้อที่ ๑ ที่หลวงตาบอกว่าการมาทุกครั้งให้มีสติอยู่เป็นประจำอยู่โดยสม่ำเสมอ ทีนี้คำว่ามีสตินี้จำเป็นต้องมีคำว่าสัมปชัญญะควบคู่ไปด้วยหรือไม่เจ้าคะ) คือสติจ่ออยู่ในจิต เช่นอย่างเราว่าพุทโธ จ่ออยู่กับพุทโธ เข้าใจไหม พุทโธ ธัมโม สังโฆนี้จ่ออยู่กับผู้รู้เรียกว่าสติ ทีนี้เวลากระจายออกไปตามอวัยวะของเราที่เคลื่อนไหวไปมากับกิจการต่างๆ แต่ไม่ละความรู้สึกตัว นั่นล่ะท่านว่าเป็นสัมปชัญญะ พอขยายออกจากจุดนี้แล้วไปทั่วสรรพางค์ร่างกายเจ้าของ อาการเคลื่อนไหวอะไรรู้ๆ รู้รอบอยู่ท่านเรียกว่าสัมปชัญญะ คือกว้างออกไป พอจ่อแล้วก็เป็นสติ

(ทีนี้มันจะเป็นอัตโนมัติเลยหรือไม่เจ้าคะว่า เมื่อมีสติแล้วสัมปชัญญะความรู้สึกตัวทุกครั้งจะเกิดขึ้นด้วย) ไปด้วยกัน เป็น อย่างสติ มหาสติ จากสติธรรมดา เวลาสืบเนื่องเข้าไปเลยกลืนกันเป็นอันเดียวกันไป ละเอียดเข้าไปๆ ก็กลายเป็นมหาสติมหาปัญญาได้ เข้าใจเหรอ (แสดงว่าในจุดที่เป็นทั้งมหาสติมหาปัญญาตรงนั้นจะมีทั้งสติและสัมปชัญญะควบคู่กันไปโดยอัตโนมัติใช่ไหมเจ้าคะ) จะว่าไงก็ว่าได้ คือมันอัตโนมัติแต่เป็นความละเอียดพอ ควรแก่กิเลสที่ละเอียดสุดจะขาดสะบั้นไปเลย นี่มหาสติมหาปัญญา ฆ่ากิเลสคือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ขาดด้วยอำนาจของมหาสติมหาปัญญา เข้าใจไหมล่ะ

(ข้อที่ ๒ ขอถามว่า ในขณะที่บางครั้ง กำหนดพิจารณาไปคือ กำหนดให้ร่างกายตัวเองเป็นกระดูกแล้วเดินไป ซึ่งบางครั้งมันก็เป็นกระดูกแล้วเดินไปเห็นโดยธรรมชาติของมัน อยู่จุดตรงนี้นะคะ กับอีกคนหนึ่งจะบอกว่าทำไมเธอถึงข้ามขั้นตอนแทนที่จะพิจารณาจากของอ่อนไปสู่ของแข็ง ตรงนี้นะค่ะ ขณะที่พิจารณาให้เป็นกระดูกไปใช่ไหมคะ คือบางครั้งรู้สึกว่าถ้ากำหนดเป็นกระดูกปุ๊บมันเห็นได้ง่าย ชัดเจน แต่ถ้ากำหนดจากตัวเนื้อแล้วก็ค่อยลอกออกไปทีละชิ้นๆ จนกระทั่งเห็นเป็นกระดูกนี่ มันรู้สึกมันช้าไม่ทันใจ บางครั้งมันเห็นกระดูกไปเลย ก็ให้พิจารณาเป็นกระดูกไปเลยใช่ไหมเจ้าคะ) ใช่ๆ เวลามันชำนาญ ชำนาญแล้วมันจะต่อกันไปเลยละ ดูเมื่อไรมันกระจายถึงกันหมดเลย นี่ชำนาญเข้าใจไหม ถ้าไม่ชำนาญมันก็เป็นชิ้นเป็นอัน ดังที่ว่านั่นละ เข้าใจหรือเปล่าล่ะ

(แต่ทีนี้ที่ผ่านมามันเห็นเป็นกระดูกอย่างเดียว มันยังไม่เป็นผุยผงเจ้าค่ะ ก็ให้เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นใช่ไหมคะ) ถ้ามันเป็นอย่างนั้นก็เป็น มันจะไม่ไปไหนละ มันจะรวมหาความเป็นอันเดียวกัน ปั๊บแล้วเชื่อมถึงกันหมดทันที รู้พร้อมกันหมด เข้าใจไหมล่ะ นี่มันละเอียด (ทีนี้ ณ จุดตรงนี้เรียกว่า ไม่ต้องสนใจว่ามันจะต้องพิจารณาจากข้างนอกหาข้างใน หรือจากข้างในหาข้างนอก เพียงแต่ว่าให้เป็น ณ ปัจจุบันและจิตขณะนั้นๆ เลยใช่ไหมเจ้าคะ) เออ อย่างนั้นละ เอาว่ามันไปตามไป เหมือนเรารับประทาน ตักลงไปๆ มันค่อยอิ่มขึ้นไปเองๆ เดี๋ยวอิ่มเข้าใจไหมล่ะ อันนี้มันจะก้าวไปๆ มันจะรู้นั้นรู้นี้เข้าไปเรื่อยๆ ชัดเข้าไปๆ เรื่อย เข้าใจ

การภาวนานี้ ท่านบอกไว้มีปฏิปทา ๔ อย่าง สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญฺญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว สุขาปฏิปทา ทันธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า จากนั้นก็  ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญฺญา ทั้งปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว นี่ปฏิปทา ๔ ของบุคคลที่ต่างกัน อุปนิสัยใจคอผู้ช้า ผู้เร็ว แต่อยู่ในปฏิปทา ๔ นี้ บางรายเพียงมองแพล็บ อันนี้ขึ้นแล้ว บรรลุธรรมปึ๋งเลย นั่นเรียกว่าผู้ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว เป็นอย่างนั้น ผู้ที่ยากทั้งรู้ได้ช้าก็มี

มันก็คงจะเป็นลักษณะคล้ายกันกับผลไม้ รุ่นที่หนึ่งที่สองที่สามนั่นแหละ ในไม้ต้นเดียวเราคนเดียว หรือจะเป็นหลายคนก็ได้ มาเป็นคนเดียวก็ได้ พอมันถึงขั้นมันเร็วๆ คนเดียวนั่นแหละ พอถึงขั้นมันคล่องตัวมันก็เร็วของมัน ทีแรก ก ไก่ ก กา ลบแล้วเขียน เขียนแล้วลบอยู่นั่นแหละ ครั้นต่อมานี้เขียนปั๊บมันก็รู้ พอว่า ท่าน ก็มาพร้อมกันหมด อย่างนั้น ไม่ต้องว่าตัวนั้นเท่านั้นมาบวกกัน จึงอ่านว่าอย่างนั้น พอว่าท่านว่าเรา มันมาพร้อมกันหมด นี่ความรวดเร็วของจิตของธรรม

แต่ยังไงก็ตามเรื่องสติเป็นสำคัญ อย่าลืมสติ สตินี้สำคัญแล้วรับรองได้ด้วย สติ ผู้ที่ตั้งรากตั้งฐานยังไม่ได้ หาความสงบไม่ได้ เอา ว่างั้นเถอะน่ะ ถ้าลงสติได้จับเข้าไปแล้วตั้งได้ ถึงจะช้าหรือเร็วตั้งได้ บอกยันกันเลย  สติเป็นสำคัญ ควบคุมกิเลสไม่เกิด มันจะหนาแน่นเหมือนหัวอกจะแตกก็ตาม ลงสติบังคับไม่ให้มันคิดมันปรุง กิเลสที่เกิดไปตามสังขารนั้นเกิดไม่ได้ ต่อไปมันก็ค่อยสงบลงๆ ให้พากันเข้าใจเอา คือตัวกิเลสนี้ออกมาจากอวิชชา  อวิชชาคือรากแก้วของกิเลส ปัจจยาหนุนออกมา สังขาราให้เป็นสังขาร สังขารก็เป็นกิเลสไปเลย สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เรื่อย มันก็เป็นกิเลส ต่อแขนงกันไปเรื่อยๆ อย่างนั้น ที่นี่พอสติจับปุ๊บนี่มันไม่ให้ออก ไม่ให้ความคิดปรุงออกกิเลสมีอยู่ก็ไม่ออก ตีไปตีมาแล้วก็ค่อยสงบตัวลง ดันแรงๆ ก็ค่อยดัน ช้าลงๆ เบาลงๆ นั่น อย่างนั้นนะ  สติเป็นสำคัญมากทีเดียว

นี่ก็เคยเล่าให้ฟังแล้วที่ว่า จิตเจริญแล้วเสื่อมๆ ปีกับห้าเดือน แหม อกจะแตกนะ ข้อเทียบก็คือว่า เหมือนเรามีเงินเป็นล้านๆ แต่แล้วมาล่มจมลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งไปเสีย แม้จะมีเงินอยู่ในบ้านของเราเป็นหมื่นเป็นแสนก็ตาม จิตมันไม่ได้มาอยู่นี้นะ มันไปอยู่จุดที่สูญหายไปแล้วจำนวนมากนั้นนะ ไปร้อนอยู่ตรงนั้นเป็นไฟเลย ทีนี้จิตของเราเมื่อมันได้กำลังของมันมาเป็นที่ปลื้มปีติยินดีแล้วเสื่อมลงไปเสีย อย่างนี้ละร้อนที่สุด จิตร้อนมากทีเดียว นั่งอยู่ยืนอยู่นอนอยู่ไม่มีความสบายเลย ร้อนที่สุด ได้แก่จิตเสื่อมเหมือนคนที่ล่มจมด้วยเหตุการณ์ต่างๆ เงินมีมากเท่าไรจมไปด้วยกันหมด จะมีเงินอยู่ในบ้านในเรือนกี่หมื่นกี่แสนไม่มีความหมาย มันไปอยู่กับเงินจำนวนมากที่ล่มจมไปแล้วนั้น

นี่มันก็ไปอยู่ที่จิตที่เสื่อมไปแล้วนั้น มันหาความสุขไม่ได้ นี้เป็นเองนะ โอ๊ย หาความสุขไม่ได้จริงๆ ผู้ที่เขาไม่ทำอะไรเลย อยู่ตามประสีประสาตามท้องไร่ท้องนาแต่เขาไม่มีเงินมาก เหมือนผู้ที่มีเงินจำนวนมากๆ แต่ล่มจมด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ผู้นั้นเป็นทุกข์มาก ผู้นี้เขาไม่ได้ทุกข์มากนะ ต่างกัน อันนี้ภาวนาจิตของเราเมื่อได้เป็นขึ้นมาแล้วเสื่อมลงไปนี้ทุกข์มากนะ เราหัวอกจะแตก ปีกับห้าเดือนเราไม่ลืมนะ นี่ก็ตั้งใหม่ขึ้นมาด้วยความคิด ความคิดสติปัญญาของเจ้าของเองนั้นละแก้ตัวเอง บำเพ็ญเข้าไป ฟาดกว่าจะถึงที่ให้สะดวกสบาย อยู่ได้ ๒-๓ คืน ปุ๊บลงมาขาดสะบั้นไปเลย ไม่มีอะไรหักห้ามได้ เป็นอย่างนั้นปีกับห้าเดือน

มันเป็นยังไงจิตนี่ มันถึงเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะเหตุไร แต่มันก็มีข้อหนึ่งที่จะพอจับได้ คือเรากำหนดจิต บังคับสติกับจิตอยู่ด้วยกันมันเผลอได้ มันจะเป็นเพราะเหตุนี้ละมัง เอ้า คราวนี้ไม่เอา จะเอาคำบริกรรม เอา พุทโธเป็นหลัก เอาคำบริกรรมติดกับพุทโธ สติบังคับเข้าไป ไม่ยอมให้เผลอเลย เอ้าทีนี้มันจะเจริญไปไหนให้เจริญ จะเสื่อมไปไหนให้เสื่อมปล่อยเลย ไม่ต้องเสียดายมันละ  เอ้า แต่อันนี้ไม่ยอมปล่อย ซัดขึ้นไปๆ สุดท้ายๆ พอถึงขั้นที่จะเสื่อมไม่เสื่อม ไม่เสื่อม พุ่งไปเลย โอ๋ เพราะขาดสติ นั่น จับได้ สติเป็นของสำคัญ

การภาวนาต้องใช้ความพินิจพิจารณาด้วยนะ มีปัญญาคิดพิจารณาทบทวน ดูเหตุผลต้นปลาย ที่เราทำมาสักแต่ว่าทำๆ เฉยๆ ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาไม่ดี นี้ได้ทีไรได้ด้วยปัญญาพิจารณานี้แหละ มันติดกึ๊กๆ อยู่ไหนหาทางออกไม่ได้ อย่างที่ว่าเสียใจเพราะมันเจริญแล้วเสื่อมๆ เอาสติจับเข้าไปไม่ยอมให้เผลอ มันจะเสื่อมไปไหน เอ้าลองดู นั่น พอว่างั้นจับติดจริงๆ นะ ไม่ให้เผลอเลย ซัดทั้งวันทั้งคืนไม่ยอมให้เผลอ สุดท้ายขึ้นแล้วไม่เสื่อม นั่น เราก็จับได้อย่างนั้นละ สติจึงเป็นของสำคัญมาก ควบคุมกิเลสทั้งหลายได้ดี มันจะอยากคิดมากขนาดไหน อกจะแตก เอ้า แตกไป แต่สติไม่ให้แตกจากจิต ติดกันไปเลย สุดท้ายอยู่ได้ สงบลง นั่น เป็นอย่างนั้น  ที่พูดนี้ทำมาแล้วทั้งนั้นนะ

การภาวนาเป็นของเล่นเมื่อไร ขั้นล้มลุกคลุกคลานนี้ทุกข์มากที่สุด ที่เล่าให้ฟังเหล่านี้เราเคยผ่านมาแล้ว ทุกข์มากที่สุดคือเจริญแล้วเสื่อม จิตเจริญแล้วเสื่อมทุกข์มาก จนเอาสติเป็นเครื่องประกันตัว จับคำบริกรรมเข้าไปกับสติติดกัน เอ้า มันจะเสื่อมให้เสื่อมไป จะเจริญให้เจริญไป แต่คำบริกรรมกับสติไม่ยอมให้เผลอกัน มันจะเสื่อมไปไหน เอ้าเสื่อม ซัดอันนี้ไม่วางเลยนะอันนี้ไม่ปล่อย นอกนั้นปล่อยหมด คำว่าเสียดายไม่อยากให้เสื่อมไม่เสียดาย ปัดออก อะไรอยากเสื่อมให้เสื่อมไป แต่พุทโธกับสตินี้เสื่อมไม่ได้ เอ้าติดอันนี้ จับอันนี้แล้วขึ้นไปแล้วไม่เสื่อม นั่น จับได้แล้ว โอ๋ขึ้นอยู่กับสติ แน่ะเป็นอย่างนั้นนะ มันจับได้ถ้าพิจารณา ถ้าไม่พิจารณาก็ทำไปอย่างนั้นละ เข้าใจแล้วนะ

 

รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน  FM 103.25 MHz

พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก