อย่านอกเหนือไปจากความพอดี
วันที่ 20 กันยายน 2550 เวลา 8:00 น.
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(MP3)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)   วิดีโอแบบ(Win High Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๐

อย่านอกเหนือไปจากความพอดี

ก่อนจังหัน

         พระที่ท่านขาดไปไม่ได้มา ท่านภาวนานะ ไม่มากี่องค์ก็เรียกว่าไม่ฉัน แล้วตั้งหน้าภาวนา ผู้ที่อดอาหารตั้งหน้าภาวนาอย่างเดียวนี้ เราไม่ให้ทำกิจการงานส่วนรวมกับเพื่อนฝูง ให้อยู่เป็นเอกเทศ เราให้พิเศษตลอดมา องค์ไหนอดอาหารแล้วไม่ต้องมาทำงานส่วนรวม ให้อยู่เป็นเอกเทศๆ เหมือนกันหมด ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมา ไม่ให้มากังวลอะไร ให้ตั้งหน้าตั้งตาภาวนา

นี่ละการบังคับตนเอง ขอให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้ การปล่อยเนื้อปล่อยตัวตามความสะดวกสบายมีแต่ขนกองทุกข์มาใส่ตัว เป็นคนจนตรอกจนมุม หาทางก้าวเดินเพื่อความสุขความเจริญไม่ได้ ถ้าเอาความสุขแบบที่ว่าตามใจชอบๆ ไม่มีข้อบังคับตนเอง หาความสุขไม่ได้ ไม่มีหลักเกณฑ์ ต้องมีข้อบังคับตนเอง อย่างหนึ่งท่านเป็นข้อบังคับไว้เป็นส่วนกลาง สำหรับเราจะให้มาเป็นข้อบังคับเฉพาะตัวเราเองๆ นั้นเป็นเรื่องของเรา ไม่มีใครมาบังคับ

ผู้ที่ต้องการเป็นคนดีควรเป็นอย่างนั้นเรื่อยมา อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัว ทำอะไรตามชอบใจๆ  ความชอบใจมันทำให้ไหลลงทางต่ำเสมอ ต้องมีกฎมีเกณฑ์ข้อบังคับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับไม่น่าดู ต้องมี อย่างที่ท่านอดอาหาร ท่านก็เป็นคนท่านไม่หิวหรือ เคยกินข้าวมาตั้งแต่วันเกิด ถึงวันเวลามันต้องหิวต้องอยากแหละ แต่ต้องบังคับไม่ให้กิน ไม่ให้กินตามช่วงเวลาที่เจ้าของกำหนดให้ตัวเอง ไม่มีใครคนอื่นไปบังคับบัญชา ให้เป็นเรื่องของเจ้าของเองบังคับตัวเอง จะอดกี่วัน หนึ่งวันสองวันสามวัน สี่ ห้า หก เจ็ดวัน ไม่ฉัน เป็นเรื่องตัวเองบังคับตัวเอง ไม่มีใครบังคับเป็นธรรม ถ้าคนอื่นคนใดมาบังคับผิด ให้ตัวเองฝึกทรมานตัวเอง

การอดอาหารนี้สำหรับผู้ภาวนานี่ดีทางสติ เรียกว่าทางความเพียรดี สติดี แล้วการง่วงเหงาหาวนอนตั้งแต่สองวันไปแล้ว ไม่ง่วง ความง่วงเหงาหาวนอนไม่รบกวน การภาวนาก็สะดวก สติก็ดี คำว่าสติดีก็คือไปหนุนใจ ให้ใจมีความสงบผ่องใสนั้นแหละ ใจนี้เป็นสำคัญมาก ถูกมลทินมูตรคูถกิเลสตัณหานี้เข้าไปครอบงำใจ ให้หาความสุขความสบายไม่ได้ มีเงินทองข้าวของกองเท่าภูเขา อาหารเต็มท้องหาความสุขไม่ได้นะคนเรา ความสุขอยู่ที่ใจต่างหาก ใจฝึกฝนอบรมได้แล้ว อยู่ที่ไหนสบาย อดบ้างอิ่มบ้าง สบายที่หัวใจ

ท่านจึงให้ฝึกใจเป็นสำคัญ ที่ท่านไม่ฉันจังหันก็คือท่านฝึกทรมานกิเลสตัวมันดื้อด้านนั่นแหละ คนเราเมื่อถึงกาลเวลาที่ควรกินควรฉัน ไม่กินไม่ฉัน มันก็ต้องหิว แต่ต้องบังคับเพื่อเอาประโยชน์จากการอดการหิวนั้นต่อไปๆ อย่างนั้น การอยากเป็นคนดีต้องฝึกต้องทรมาน

อย่างพระพุทธเจ้าท่านอดพระกระยาหาร ๔๙ วัน ท่านไม่มีจิตตภาวนาเข้าแฝงเลย ท่านหวังความตรัสรู้จากการอดอาหารอย่างเดียว ผิด แต่การอดอาหารเป็นเครื่องสนับสนุนให้จิตตภาวนาก้าวเดินได้สะดวกนั้นถูก คิดดูวันที่ท่านเสวยพระกระยาหาร ที่นางสุชาดามาถวายนั้น เป็นวันที่ท่านเสวยวันแรก ท่านอดพระกระยาหารมา ๔๙ วัน พอดีมาเสวยวันนั้นก็ตรัสรู้ เพราะร่างกายทุกสัดทุกส่วนเบาหมด ไม่มีอะไรบีบบี้สีไฟ ตรัสรู้ในคืนวันนั้น ท่านอดอาหารอดเพื่อให้ตรัสรู้ด้วยการอดอาหาร แต่การอดอาหารเป็นเครื่องพยุงกัน เป็นเครื่องบำรุง เป็นเครื่องส่งเสริมการภาวนาให้ดี

ฉันมากๆ กินมากๆ อืดอาดเนือยนาย ขี้เกียจขี้คร้าน นอนไม่อยากตื่นเป็นอย่างนั้น ถ้าผ่อนลงๆ ยิ่งอดด้วยแล้วถึง ๒-๓ คืนไปแล้ว ความง่วงเหงาหาวนอนไม่มี นั่งเป็นเหมือนหัวตอ แต่สติตรงแน่วๆ การฝึกตัวเองเพื่อความเป็นคนดีฝึกมาอย่างนั้น นี่ก็ได้ฝึกเต็มกำลังความสามารถ จนกระทั่งท้องเสีย คือเห็นว่าอดอาหารดีๆ ไม่คำนึงถึงธาตุขันธ์ละซี ดีทางด้านภาวนา อดเรื่อยๆ ทีนี้เวลาถึงกาลที่เราจะฉันต่อไป ฉันแล้วก็ถ่ายๆ จนตอนที่ออกช่วยชาตินี้มันกำลังจะตายมันถ่าย นั่นละเป็นมาตั้งแต่อดอาหารตอนภาวนาเร่งๆ นั่นละ ก็ได้ยามาฉันพอพยุง จากนั้นก็ช่วยชาติเรื่อยมาจนกระทั่งป่านนี้

เพราะฉะนั้นจึงได้เตือนหมู่เพื่อนเสมอ การอดอาหารอย่าอดเอาตามความชอบใจ เห็นว่าภาวนาดีโดยถ่ายเดียว ธาตุขันธ์เขาผิดปรกติ มันก็บีบบี้สีไฟตัวเรานั่นแหละ ให้อดพอประมาณๆ อย่าอดเอาตามใจชอบอย่างเดียว นี่เราทำมาแล้วท้องเราเสีย จึงได้นำอันนั้นมาสอนหมู่เพื่อน ให้ปฏิบัติตามนั้นละ คืออะไรต้องมีครูมีอาจารย์สอน ท่านผ่านมาแล้วท่านสอนไม่ผิด

เรานี้มันจะตายจริงๆ เกี่ยวกับอดอาหาร เพราะรู้สึกจะผาดโผนอยู่บ้างสำหรับนิสัยเรา ถ้าว่าอะไรมันเอาจริงเอาจังมาก จะเป็นจะตายไม่คำนึง อดอาหารกี่วันไม่สนใจ การภาวนานี่เหมือนจะเหาะเหินเดินฟ้า จิตนะ แต่ธาตุขันธ์อ่อนลงๆ อ่อนลงนานไปๆ เหมือนว่ามีเชื้อโรคอันหนึ่งเกิดขึ้นในท้อง ต้องถ่ายท้องเรื่อยๆ เวลามาฉันปรกติแล้ว ท้องเลยถ่ายตลอด จึงได้นำมาสอนหมู่เพื่อนให้อดพอประมาณ อย่าให้เลยเถิด ไอ้เรามันเลยเถิดมาแล้ว ไม่ได้ผลทางธาตุขันธ์ แต่ได้ผลทางจิตใจ

ให้พากันฝึกฝนทรมานนะลูกหลานทั้งหลาย บ้านเมืองเราจะดีเพราะมีคนดี ไม่ใช่บ้านเมืองดีเจริญรุ่งเรืองเพราะคนชั่วๆ เอาตามใจชอบ ปฏิบัติตัวแบบเถลไถลใช้ไม่ได้นะ ต้องฝึกต้องปรือตัวเอง ไม่ฝึกไม่ได้ ฝึกมาแต่อ้อนแต่ออกเรื่อยๆ จนเป็นผู้ใหญ่ ตามขั้นตามภูมิของวัยเด็ก เด็กฝึกอย่างหนึ่ง โตขึ้นมาฝึกอย่างหนึ่ง ใหญ่ขึ้นมาแล้วฝึกอย่างหนึ่ง ให้มีการฝึกฝนอบรมตนเอง ถ้าปล่อยเลยตามเลยไม่เกิดประโยชน์อะไร

อย่างพระท่านมาอยู่ที่นี่ ดูซิน่ะ กี่ประเทศมาอยู่นี่น่ะ เมืองนอกเมืองนาเมืองไหน เมืองไทยเราก็ทุกภาคอยู่ในวัดป่าบ้านตาด แล้วก็เมืองนอกเมืองนาอีก ท่านมาอะไร เพราะกฎเกณฑ์ของธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ธรรมวินัยคือศาสดาแทนพระพุทธเจ้า ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านผู้ใดพาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เข้มงวดกวดขันแล้วก็มักจะมาอาศัยกันๆ ดังที่เป็นอยู่เวลานี้แหละ สำหรับวัดนี้เราจะมีพระมากน้อยเพียงไรก็ตาม การประพฤติปฏิบัติลดหย่อนไม่ได้ ต้องให้สม่ำเสมอตลอดมา เราปฏิบัติมาอย่างนั้น มีมากมีน้อยก็สวยงาม ถ้ามีการฝึกฝนอบรม ต่างคนต่างเป็นธรรมด้วยกันแล้ว อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก มีกี่องค์ หลักธรรมวินัยครอบไว้เป็นเส้นด้ายร้อยกรองเอาไว้ให้เรียบร้อย ก็เหมือนดอกไม้เขาร้อยกรองแล้วไปขายตามทางสี่แยกไฟเขียวไฟแดง ก็สวยงามน่าดู

อันนี้คนจะมาจากชาติชั้นวรรณะใดก็ตาม มีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องร้อยกรองแล้วก็สวยงามน่าดู เคารพนับถือกันได้ด้วยความเป็นธรรม ไม่เย่อหยิ่งจองหองว่าตัวเราเป็นชาติใหญ่ผู้ใหญ่ หรือเป็นคนมั่งมีศรีสุข ความรู้สูงชั้นนั้นชั้นนี้ รู้สูงขนาดไหนก็ตามกิเลสมันอยู่ในความรู้ ถ้าไม่มีธรรมเข้าแทรกแล้ว ความรู้นั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ามีธรรมเข้าแทรกๆ รู้มากรู้น้อย ดีทั้งนั้นๆ

ธรรมเป็นของเลิศเลอ โลกยอมรับมานานสักเท่าใด แต่กิเลสไม่มีใครยอมรับว่ามันเป็นของดี จึงไม่ควรส่งเสริม โลภมากก็ไม่ดี โกรธมากก็ไม่ดี โมโหโทโสไม่ดี ราคะตัณหามากก็ไม่ดี นี่ท่านสอนไว้หมดแล้วนะ อยู่ในครอบครัวเหย้าเรือนให้อยู่ในกรอบแห่งความพอดี อย่านอกเหนือไปจากความพอดี นี่ท่านสอนไว้หมด ให้พากันไปปฏิบัติตามเพศของตนๆ และวัยของตน จะเป็นความดีงาม อยู่เฉยๆ วันหนึ่งๆ มีแต่กินกับนอนๆ ไม่มีการอบรมตัวให้เป็นคนดี หาหลักเกณฑ์ไม่ได้นะคนเรา เอาละให้พร

หลังจังหัน

ธาตุขันธ์นี้อายุ ๒๓ ปี ธาตุขันธ์เร่งอาหาร อายุ ๒๓ ปีกำลังดีดเต็มที่ๆ ฉันจังหันไม่รู้จักอิ่ม สุดท้ายเอาข้าวเปล่าๆ มาฉันหวานไปเลย อายุ ๒๓ เรายังจำได้ เห็นพระท่านฉัน เพราะเราผ่านมาก่อนแล้ว ท่านก็อายแหละ เห็นหมู่เพื่อนอิ่ม องค์นั้นอิ่มองค์นี้อิ่มยังไม่ถึงตัว ยังอีกสามสี่องค์ ไม่อิ่มก็ออก อาย เป็นอย่างนั้นแหละ คือสำรวจพิจารณาเรื่องความเป็นมาของเรา ตลอดชีวิตชีวาความรู้ความเห็นทุกอย่าง อายุ ๒๓ ปีกำลังเต็มที่นะ มันดีดผึงๆ กำลังมันแรงกำลังมีมาก อายุ ๒๓ ปี มันเด่นชัดจนจับไว้ไม่ลืม อายุ ๒๓ ปีเป็นปีที่เด่นที่สุด กำลังวังชา อาหารการกินเด่นมากเทียว กินไม่รู้จักอิ่ม เราจับเอาไว้ๆ ทดสอบความเป็นมาของเรา ๒๓ เต็มที่เลย ได้เห็นชัดๆ อายุ ๒๓ ปี กินไม่รู้จักอิ่ม คือท้องมันเต็ม ปากมันยังอยาก สุดท้ายเอาข้าวเปล่าๆ ใส่ลงไปยังหวานไปเลย อู๊ย พิลึกจริงๆ จับได้ชัดเจนอายุ ๒๓ ปีกำลังเต็มที่

จากนั้นมันหากมีของมันแต่ไม่รุนแรงเหมือนอายุ ๒๓ ปี ความอยากกินไม่อิ่ม ไม่รู้จักอิ่มนะ เอาจนเต็มท้องมันยังอยากอยู่ตลอด พิลึกจริงๆ ทดสอบพิจารณาชีวิตความเป็นมาของเรา อายุ ๒๓ ปีที่มันเร่งอาหารมากทีเดียว กำลังวังชาก็มาก เหมือนว่าจะดีดผึงๆ กำลัง ฉันก็ไม่รู้จักอิ่ม ๒๔-๒๕ ก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันไปเรื่อยๆ มันรุนแรงจริงๆ อายุ ๒๓ นี้รุนแรงมาก กินไม่รู้จักอิ่ม เต็มท้องจนไม่มีอะไรจะใส่แล้วยังอยากอยู่ เอาข้าวเปล่าๆ มาทดลองดู หวานไปเลยนะ ข้าวนี่หวานไปเลย โถ ขนาดนี้ คือทดสอบชีวิตจิตใจวัยของเรามาเป็นลำดับลำดา ไปลดเอาปีอายุ ๔๕-๔๖ หยุดตรงนั้นละ พออายุ ๔๕ พอดีตรงนั้นจุดน้น พอ ๔๖ ลด ค่อยลดลง

เราทดสอบตอนที่เราจะไปจากวัด แต่ก่อนยังไม่มีเขื่อนบ้านจั่น เขายังไม่ได้ตั้งเขื่อน ทางตัดตรงแน่วไปตามสายทางไปถึงสะพานเข้าไปบ้านวังปลาฝา จากนี้ไปเดินเรื่อยๆ พอไปถึงสะพานนั้นได้หนึ่งชั่วโมงพอดี จากนี้ไปถึงสะพานบ้านวังปลาฝา พอ ๔๖ รู้สึกลด ยังไม่ถึงสะพานยังขนาดนี้ได้ช่วโมงแล้ว แสดงว่ากำลังเราลด แต่ก่อนไปทีไรไปถึงนั่นปั๊บหนึ่งชั่วโมงเป๋งๆ  พออายุ ๔๖ ยังไม่ถึง ไปถึงแค่นั้นๆ ได้ชั่วโมงแล้วยังไม่ถึงนะ ครั้นต่อมาเขากั้นเขื่อนทีนี้เราก็ได้รถ เลยไม่ทราบว่าอะไรลดอะไรขึ้น เราได้รถยนต์วิ่งเร็ว

ทดสอบดูเรื่องกำลัง เดินจากนี้ไปวัดทิพยรัตน์ วัดบ้านจิก จากนี้ไป ๒ ชั่วโมง ๒๕ นาทีถึงปั๊บพอดี กลับมาปั๊บ ๒ ชั่วโมง ๒๕ นาที ถ้าไม่ได้ยืนได้คุยกับใคร เดินตรงไปตรงมา แต่ก่อนไม่มีรถ มีแต่เดินด้วยเท้า แต่เราเดินเก่งนะมันจะได้ไปทางตา ตานี้เดินเก่ง จากนี้ไปกุมภวาปี ตกเช้าออกจากนี้เดินบุกป่าไปเลยไม่มีทาง มีแต่ทางล้อทางเกวียน เดินนี้ตัดปุ๊บถึงกุมภวาปี ไปส่งหนังสือ เจ้านายเขาให้ไปส่งหนังสือ ไปกลับมายังไม่ค่ำ เดินเก่งตาเรา ทีนี้มาถึงเราก็เป็นแบบเดียวกัน เดินไปในราว ๒ ชั่วโมงนี้ยังไม่เท่าไร พอ ๒ ชั่วโมงล่วงไปแล้ว ที่นี่เอาละนะใครตามไม่ทัน แล้วรอใครไม่ได้ด้วย เหมือนว่าเครื่องมันร้อนว่างั้นเถอะน่ะ

คือสังเกตเจ้าของ เราเดินเก่งนะ สุดท้ายเดินไปด้วยกันทิ้งๆ ไปก่อนออกไปเลย ถ้าไปหยุดต้องไปพักจริงๆ ให้เดินรอไม่ได้ เป็นอย่างนั้นนะ มันรู้ในเจ้าของเอง เหมือนว่าเครื่องร้อนแล้วผึงๆ เลย ถ้าจะคอยต้องไปหยุดเอาเลย อย่างนั้นละ เวลาเดินเดินเก่งนะเรา ๒ ชั่วโมงนี้ยังไม่เท่าไร พอ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมงไปแล้ว ทีนี้ขึ้นหน้าเลย แทนที่จะอ่อนกำลังไม่อ่อน นี่ก็ทดสอบรู้เรื่องเจ้าของเหมือนกัน เรามันแข็งแรงขึงขังตึงตังตลอดมา กำลังวังชาดีทุกด้าน การเดินก็เก่ง ต่อจากนี้มามันก็มีรถมีราไม่ค่อยได้เดิน แต่ก่อนไม่มีรถ ไปไหนเดินด้วยเท้า จากนี้ไปวัดโพธิก็เดินไปเลยผึง ไปถึงวัดทิพย์ ๒ ชั่วโมง ๒๕ นาที กลับมาเท่ากัน เดินนี้มันเสมอด้วยนะ ไปถึงสะพาน ๑ ชั่วโมง พออายุ ๔๖ ยังไม่ถึงสะพาน มองเห็นสะพานทางนี้ได้ชั่วโมงแล้ว โอ้ นี่ลดแล้วกำลัง ๔๖ ลด ๔๕ ยืนตัว

การเดินนี่เรียกว่าเดินเก่งแหละเรา คงจะได้จากตา ตาเดินเก่ง เรารูปร่างลักษณะพอๆ กันกับตาเรา ไม่ใหญ่ไม่อะไรนัก ลักษณะอย่างนี้แหละ เดินเก่ง ใครตามหลังไม่ได้ตาเรา ถ้าเดินไปถึง ๒ ชั่วโมงใครตามไม่ทัน อันนี้ก็ลักษณะเดียวกันพอไปถึง ๒ ชั่วโมงแล้วรอใครไม่ได้เลย เหมือนว่าเครื่องมันร้อนมันพุ่งๆ ถ้ารอก็ต้องไปหยุด ให้เดินรอไม่ได้

แต่ก่อนกรรมฐานมีรถที่ไหน เดินป่าเดินเขาเดินที่ไหนไปได้สบายๆ มันก็ต้องรู้เรื่องกำลังวังชาของเราในการเดิน เดินใกล้เดินไกลมีแต่เดินทั้งนั้นละ ไปกรรมฐานนี้เรามักอดอาหาร เพราะฉะนั้นจึงได้เตือนหมู่เพื่อน เราทำผิดมาก่อนแล้วก็เตือนหมู่เพื่อน การอดอาหารให้พอประมาณอย่าให้เลยเถิด คือมันมาเสียท้องนะ คือตอนที่เราเร่งความเพียรอยู่นี้มันไม่ได้คำนึงถึงธาตุถึงขันธ์ มันพุ่งๆ ต่ออรรถต่อธรรมหนักๆ เรื่องการอยู่การกินนี้ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ มีอะไรๆ ฉันได้พอยังชีวิตให้เป็นไปกำลังวังชาเป็นไป นั่งภาวนาไม่ง่วง เอาตรงนั้นนะ คือการนั่งภาวนาไม่ง่วง

ถ้าฉันมากๆ ง่วง ยิ่งมีฉันกับพวกผัดพวกมันอย่างนี้แล้ว โอ๋ย ได้งัดลงเขียงนั่นละ ปลุกก็ไม่ตื่นต้องงัดลงเขียง ตกตูมลงยังหลับครอกๆ อยู่ เข้าใจไหม กินมากนอนมากขี้เกียจมาก เวลาฝึกอย่างนั้นมักจะต้องอดอาหาร เพราะอดอาหารมันดี สติติดแนบๆ ตื่นเช้าขึ้นมาจนกระทั่งถึงค่ำไม่ปรากฏว่าได้เผลอขณะไหน นี่ละการอดอาหาร พอเรามาฉันแล้วมันมีเผลอมีอะไรนิดๆ ขาดสตินิดๆๆ รู้ ถ้าผ่อนอาหารลงไปมันก็มีนิดๆ พออดอาหาร เอาละ สติติดแนบตลอด ตั้งแต่เช้ายันค่ำไม่มีเผลอเลย

นี่ละการฝึกตัวเองฝึกอย่างนั้นสำหรับเรานะ เราฝึกเราอย่างนั้น จิตเจริญแล้วเสื่อมๆ ปีห้าเดือน อันนี้ก็ต้องมาฝึกใหม่ ทดสอบดู เจริญขึ้นไปถึงขั้นนี้อยู่ได้ ๒-๓ วันลดฮวบเลยห้ามไม่อยู่ เหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขาผึงเลย ห้ามไม่อยู่ มาพิจารณาเจ้าของมันยังไงกันนา พอ ๑๕ วันเอาเต็มเหนี่ยวละ ไปอยู่ได้ ๒-๓ คืนคงเส้นคงวาที่อยู่ที่นั่น มันเคยอยู่ฐานนั้นมันเสื่อม แต่ก่อนอยู่ฐานนั้นละ ทีนี้เราไม่รู้จักวิธีรักษามันเสื่อม ตั้งแต่นั้นมาดันเข้าไปเท่าไรก็ไปถึงแค่นั้นลงๆ เสื่อมตลอด เอ๊ นี่มันจะเป็นยังไงนาพิจารณาทดสอบ

แต่นิสัยเรามันจริงจังนะ ถ้าว่าอะไรเหมือนว่าระฆังเป๋งนักมวยนี้ต่อยกันเลย อันนี้ระฆังเป๋งว่าเอานะ นั่นละเหมือนว่าระฆังดัง ลงแล้วลงใจแล้วเอาวิธีนี้คราวนี้ พอว่างั้นก็เหมือนระฆังเป๋ง ซัดเลย นี่มันจะเป็นเพราะอะไรเจริญขึ้นไป ๑๔-๑๕ วันแล้วเสื่อมลงๆ ว่าจะเป็นเพราะเราขาดคำบริกรรมตั้งสติเฉยๆ มันเผลอได้แล้วมันจึงเสื่อมได้ คราวนี้จะให้มีคำบริกรรมด้วย แต่ก่อนกำหนดจิตเฉยๆ บังคับด้วยสติมันลงได้ ต่อมาฝึกเอาบังคับบริกรรม กับคำบริกรรมไม่ให้เผลอเลยติดกันเลยๆ พอไปถึงขั้นนั้นแล้วมันจะเสื่อมไหม เอา เสื่อมก็เสื่อม แต่คำบริกรรมกับสติไม่ให้เผลอ มันจะเสื่อมไปได้ที่ไหน เอา ดูตรงนี้

พอไปถึงตรงนั้นแล้วไม่เสื่อมนะ ไม่เสื่อม พุ่ง โอ๋ ขาดตรงนี้ ขาดคำบริกรรม เวลาจิตยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์คำบริกรรมต้องเป็นหลักของจิต นำคำบริกรรมมาติดไว้เสมอ สติติดแนบกับคำบริกรรมจิตจะทรงตัวได้ ต่อจากนั้นก็สงบเย็น สำหรับเราเจริญเสื่อมๆ ถึงปีกับห้าเดือนจึงมาพิจารณาทดสอบ สติเราก็ว่าเราตั้งด้วยดิบด้วยดีแล้วทำไมมันถึงเสื่อมได้ มันจะเป็นเพราะขาดคำบริกรรม เอาคำบริกรรมเกาะกันไว้ติดกันกับอันนี้เลย ไม่ให้มันเผลอเลยละ เอา มันจะเสื่อมไหมลองดู ไปถึงนั้น เอ้า เอาเสื่อมก็เสื่อมไป แต่คำบริกรรมกับสติไม่ให้เสื่อม สุดท้ายไม่เสื่อม

ได้จับเอาไว้เป็นระยะๆ จากนั้นก็พุ่งเลยละที่นี่ไม่เสื่อมอีก พุ่งเลยจนกระทั่งนั่งหามรุ่งหามค่ำได้เลยไม่ใช่ธรรมดา นั่งตลอดรุ่งๆ เลย จนพ่อแม่ครูจารย์ได้รั้งเอาไว้ เพราะนิสัยเรามันผาดโผน ท่านรั้งเอาไว้ คือถ้าลงใจแล้วมันลงหมดเลยนะถ้าได้ลงใจแล้วเรียกว่าพุ่งเลยไม่รอ ถ้ายังไม่ลงใจก็เร่ๆ ร่อนๆ คาราคาซังผลประโยชน์ไม่ค่อยมี สงสัย ความสงสัยเป็นขวากเป็นหนามขวางกั้นทางไว้ ทีนี้พอลงใจแล้วผึงเลย นี่ละการฝึกจิตไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ตอนอยู่ในเจริญเสื่อมยากมาก ถึงขั้นสมาธิแน่วแล้วจากนี้ก้าวทางด้านปัญญาไม่มีเสื่อม จากนั้นก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติพุ่งเลยเทียว ไม่มีคำว่าจะถอย ถอยไม่มี มีแต่พุ่งๆ เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติเป็นความเพียรอยู่ในตัวของมันเองไม่ต้องบังคับ มีแต่รั้งเอาไว้

คือบางคืนมันจะไม่หลับไม่นอน นั่นละที่ว่ารั้งเอาไว้ให้หลับนอน ให้หลับนอนด้วยพุทโธคือคำบริกรรม ถ้าปล่อยอันนี้มันออกทางด้านปัญญา นี่หมายถึงจิตออกทางด้านปัญญานะ มันจะพุ่งๆๆ ตลอดบางคืนนอนไม่หลับ เราจะหลับทางอันนี้มันไม่หลับสติปัญญาฟัดกับกิเลส นี่ละสติปัญญาอัตโนมัติต้องรั้งเอาไว้ด้วยพุทโธ เอาพุทโธบังคับเอาไว้ให้อยู่กับพุทโธ ไม่ให้ออกทางด้านปัญญา ถ้ารั้งเอาไว้เฉยๆ ไม่อยู่ พุ่งๆ นี่เวลาสติปัญญาออกก็เป็นอย่างนั้น ต้องรั้งเอาไว้กับพุทโธ พุทโธๆ พอพุทโธๆ ติดกันเข้าๆ มันก็สงบแน่ว หยุดงาน

เรื่องสติปัญญาไม่ก้าวเดินละ เพราะพุทโธบังคับไว้กับสติให้อยู่ ลงได้นะ สงบแน่ว เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ เวลามันพักงานการชุลมุนระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันนี้ไม่มีวันมีคืนนะ ต้องได้รั้งเอาไว้ด้วยพุทโธ เอาพุทโธมารั้งทุกครั้งเลยเรา พอมันไปเต็มที่แล้วมันไม่อยู่ เอาพุทโธๆๆ เหมือนว่าตั้งรากตั้งฐานใหม่ ให้อยู่กับพุทโธ ไม่ยอมให้ออกทางด้านปัญญา พุทโธๆๆๆ นี่มันกล่อมใจให้อยู่จุดเดียว.สงบแน่วเป็นสมาธิ ลงแน่ว พอได้กำลังวังชาเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามมีกำลังแล้วก็ปล่อย พอปล่อยนี้ก็พุ่งเลยออกทางด้านปัญญา เพราะขั้นปัญญานี้ขั้นไม่ถอยละต้องได้รั้งเอาไว้ ที่ว่าความเกียจความคร้านหายหน้าไปหมดเลย มีแต่พุ่งๆๆ

ต้องรั้งด้วยให้จิตพัก หนึ่ง พักสมาธิ สอง พักนอนหลับ ต้องอาศัยพุทโธไม่งั้นไม่หลับ นอนก็ไม่หลับ จิตจะเป็นสมาธิก็ไม่ได้ ต้องเอาคำบริกรรม เรานี่ชอบพุทโธ เอาคำว่าพุทโธมาบริกรรมแล้วจิตสงบได้ๆ แล้วก็ผ่านได้ๆ ขั้นของสติปัญญาอัตโนมัติแล้วไม่มีเวลาหยุดนะ เหมือนกับว่าเห็นคุณค่าของความพ้นทุกข์เต็มหัวอก และเห็นโทษของความเกิดแก่เจ็บตายนี้ก็เต็มหัวอกเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วมันก็ถีบออกๆ เรื่อยเลย

ภาวนาจึงได้พูดให้ฟังชัดเจนเราทำเองเป็นเอง แต่วิธีการทำไม่มีใครบอก เราต้องคิดด้วยอุบายปัญญาของเราเอง ครูอาจารย์ท่านบอกกลางๆ เอาไว้ จุดสำคัญๆ ที่มันเป็นในเราท่านไม่ได้บอก เราก็ไม่รู้จักวิธีแก้ไขดัดแปลงซิลำบากอย่างนี้ พอถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติที่มันจะผ่านจริงๆ แล้วมันจะไม่มีอะไรรอเลย มีแต่ว่าได้รั้งเอาไว้ๆ ความเกียจคร้านหายหน้าหมด มีแต่ความรั้งเอาไว้ความเพียรมันเด็ดๆๆ บางคืนนอนไม่หลับมันไม่ยอมนอน มันหมุนของมัน แจ้งเฉยๆ ไม่หลับ กลางวันยังจะไม่หลับอีกต้องได้รั้งด้วยพุทโธ เอาพุทโธมาให้อยู่กับพุทโธสงบหนึ่ง นอนหลับได้หนึ่ง

พอจิตสงบแล้วมันจะหลับก็หลับละ ถ้าจิตสงบมันจะเป็นสมาธิมันก็อยู่เสีย ถ้าอยู่กับพุทโธนะ ทีนี้พอสมควรแล้วปล่อยปั๊บนี้ก็พุ่งทางด้านปัญญา ปัญญาคือฆ่ากิเลส สติปัญญาก็เป็นอัตโนมัติ สติปัญญากลมกลืนเป็นอันเดียวกัน จากนั้นก็เข้ามหาสติมหาปัญญา ลงมหาสติมหาปัญญาไหลไปเลยซึมไปเลย มหาสติมหาปัญญาละเอียดมากกับกิเลสที่ละเอียด เอาจนขาดสะบั้นกับกิเลสไม่มีอะไรเหลือ นั่นละที่นี่พอกิเลสขาดสะบั้นไปจากใจแล้วหมดพิษภัยในโลก ในโลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่กิเลสเท่านั้นตัวสร้างความกังวลวุ่นวายทุกสิ่งทุกอย่าง มากน้อยกิเลสสร้าง พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วไม่มีอะไรสร้าง

ท่านเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ คือเสร็จกิจ เมื่อกิเลสขาดลงไปแล้วงานที่จะฆ่ากิเลสไม่มี กิเลสขาดสงบเงียบเลยไม่มีอะไรกวนใจ ทีนี้ท่านจะทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาพระพุทธเจ้าก็ทำสาวกก็ทำ แต่ท่านทำมีความหมายอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ได้ทำเพื่อแก้กิเลส ท่านทำเพื่อเป็นวิหารธรรม ความอยู่สบายระหว่างขันธ์กับจิตอยู่ด้วยกันหนึ่ง ความพินิจพิจารณาธรรมทั้งหลายกว้างแคบหยาบละเอียดหนึ่ง ท่านพิจารณาของท่าน ส่วนที่จะให้ท่านแก้กิเลสไม่มี หมดตั้งแต่กิเลสขาดสะบั้นลงไป นั่นท่านว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ลงจุดนี้ละ งานที่จะแก้กิเลสอีกไม่มี มีแต่งานเพื่อธาตุขันธ์ระหว่างขันธ์กับจิตอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก โดยวิหารธรรมทางด้านจิตตภาวนาพักสงบจิต

ขันธ์มันดิ้นมันดีดของมันตามธรรมดา เวลาพักจิตเหล่านี้ก็สงบตามๆ กัน นั่นท่านภาวนา ถ้าลงทำแล้วมันก็เห็นผล ถ้าไม่ทำแล้วดีไม่ดีตำหนิว่ามรรคผลนิพพานไม่มี บาปบุญนรกสวรรค์ไม่มี มันลบไปหมด กิเลสนี้ลบง่ายนะ ที่จะทำให้สัตว์ทั้งหลายหลงนี้เร็วมากที่สุด ต้องธรรมเป็นผู้เปิดออกๆ บาปบุญนรกสวรรค์ไม่มี พอไปถึงขั้นธรรมสว่างออกมานั้นยอมรับๆ หมด กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบเลย นั่นบาปบุญนรกสวรรค์มีหรือไม่มี มันประจักษ์อยู่ในจิตแล้วจะลบล้างได้ไง เราเชื่อตัวเราเองแล้วค้านพระพุทธเจ้าได้ยังไง มันก็ยอมกราบๆ นั่นละ สนฺทิฏฺฐิโก ท่านรู้ด้วยผลงานของตัวเองเป็นลำดับลำดาไป ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก

การปฏิบัตินี้ละที่จะเบิกกว้าง เรื่องราวของโลกของสงสารวัฏวนนี้จะเปิดกว้างออกด้วยจิตตภาวนา พอจิตตภาวนาเต็มที่แล้วมันจะจ้าไปหมดเลย อันนี้ไม่มีใครรู้ โลกทั้งโลกไม่รู้ มีแต่พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า ส่วนโสดา สกิทาคา อนาคา เริ่มมีๆๆ แต่ไม่เต็มที่ พอถึงขั้นอรหัตอรหันต์แล้วพุ่ง แจ้งกระจ่างหมดเลยไม่มีอะไรเหลือ นั่นละการปฏิบัติธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าเรียกว่าสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้ว นี่ละชอบอย่างนี้แหละ ขอให้ดำเนินตามนี้จะเป็นไปตามนี้แน่นอน ตามกำลังความสามารถของเรามากน้อยจะเห็นผลประจักษ์ๆ ถ้ากำลังเต็มที่ก็พุ่งถึงเลย

ให้พากันปฏิบัติบ้างนะ ให้ดูจิตใจเจ้าของบ้างอย่าไปดูจิตใจตั้งแต่คนอื่น มองส่วนมากโลก แม้ที่สุดนักภาวนาก็ยังอดมองคนอื่นไม่ได้ ไม่ได้มองตัวเอง นี่ละมันเสียตรงนี้ นอกจากนั้นเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น ยกโทษยกกรณ์กันคนนั้นไม่ดีอย่างนั้นคนนี้ไม่ดีอย่างนี้ ตำหนิคนนั้นๆ ตัวเองตัวมหาภัยตัวอันธพาลไม่ดูไม่ตำหนิมันก็ไม่มีทางแก้ ไปที่ไหนตำหนิเขาดะไปเลย ส่วนที่จะมาชมคนนั้นดีๆ ไม่ค่อยชมนะ หาแต่จับโทษเขา โทษตัวเองเต็มหัวใจไม่ดู

เพราะฉะนั้นนักภาวนาให้ย้อนเข้ามาดูหัวใจตัวเอง อย่าไปดูที่อื่นมากนัก ถ้าดูที่อื่นไม่มีที่ยุติ ถ้าลงดูหัวใจเจ้าของยุติทันที ดูมากดูน้อยยุติ พอมันแย็บขึ้นไปนี่เป็นภัยมันเป็นจากเจ้าของก่อนแล้ว ไม่ดีกับผู้ใด ความไม่ดีเกิดจากใจเจ้าของไม่ดีอยู่แล้วออกไปว่าคนนั้นคนนี้ไม่ดีๆ ไปเรื่อยๆ มันออกจากใจ เมื่อทันกันแล้วพอนี้แย็บเท่านั้นมันรู้เลย อันนี้ก็ดับปุ๊บๆ มันไม่ออก เห็นว่าใจเจ้าของเป็นมหาภัยต่อตัวเองแล้วก็ต่อคนอื่น ดูอย่างนั้นซิจิตตภาวนา ไปดูตั้งแต่ภายนอกภายนาวันยังค่ำตายทิ้งเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์ ต้องให้ดูอย่างนั้น พออันนี้เต็มที่จนกระทั่งถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วมันเสมอภาคไปหมด

เรื่องความดีความชั่วมันก็มีอยู่ในโลกมาประจำในหัวใจของสัตว์ สัตว์มีอย่างนี้เป็นประจำ จะไปตำหนิใครชมใคร ใครๆ ก็มี เมื่อเจ้าของรู้แล้วชัดเจนแล้วปล่อยวางได้ตามเป็นจริง ถ้าเจ้าของก็ไม่รู้เจ้าของแบบเขาแล้วก็เหมือนหมากัดกันไม่มีวันยุติ สุดท้ายเจ็บทุกตัว ตัวชนะก็เจ็บตัวแพ้ก็เจ็บหมากัดกัน นักมวยต่อยกันเจ็บด้วยกันทั้งคู่ บางทีผู้ที่ชนะเจ็บกว่าผู้แพ้ก็มีถ้าต่อยกัน

หากทำใจให้สงบแล้วก็สบาย สำคัญอยู่ที่ใจ ขอให้อยู่ที่ใจนักภาวนาเรา มองออกจากใจแล้วเสียนะ ผิดๆ เราไม่ได้ย้ำทางใจนี้มานานแล้ว ครั้นอยู่กับพระจริงๆ มีแต่ทางใจนะ หมุนลงใจล้วนๆ อันนี้อยู่กับกองขี้หมูราขี้หมาแห้งทั้งทางนี้ทั้งทางนั้นเข้ามาบวกกัน กลายเป็นส้วมเป็นถานอันใหญ่โตในวัดป่าบ้านตาด มีแต่เรื่องแต่ราว ไอ้เราผู้เป็นจุดศูนย์กลางผู้คอยดูแลนี้มันทั้งเก็บความรู้สึก นิ่งๆ เหมือนไม่รู้ไม่ชี้หูหนวกตาบอดไปเสียก็มี นานๆ วากเอาทีหนึ่งๆ

คือเรื่องเก็บความรู้สึกอะไรนี้ใจนี้เก็บด้วยอรรถด้วยธรรมเก็บได้เป็นอย่างดี ไม่ควรพูดไม่พูด เรียกว่าเก็บความรู้สึกได้ดี อยู่ด้วยเหตุด้วยผล เปิดออกก็เปิดด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่อะไรก็แวดๆ อะไรก็แวดๆ ไปที่ไหนทะเลาะที่นั่น คนเห็นแก่ตัว เห็นผู้อื่นเป็นสัตว์สาราสิง เห็นตัวเป็นเทวดา นั่นละตัวทะเลาะ ไปที่ไหนทะเลาะเขาเรื่อยๆ คนเช่นนี้ ถ้ามองดูเราดูเขาเสมอ มองดูใจเขาใจเราเสมอกันแล้วพอเฉลี่ยกันได้ พออดพอทนเก็บความรู้สึกไว้ได้ดี ให้พากันจำเอานะ อย่าเอาตั้งแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่กว่าโลกกว่าสงสารทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ใหญ่มันเป็นักโทษใหญ่ เข้าใจไหม ให้ดูตัวเองแล้วเรื่องทั้งหลายจะสงบลง เอาละสายแล้ว

 

รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน  FM 103.25 MHz

และเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก