เทศน์อบรมฆราวาส
ณ ศาลาสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
เมื่อค่ำวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
ความฝืนธรรมนั้นแหละคือกิเลส
พระกรรมฐานที่ท่านอยู่ในป่า ตะเกียงท่านเหมือนดอกบัวตูม ตะเกียงโป๊ะเล็กๆ ท่านจุดไว้อันเดียว อย่างพ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านอยู่ที่หนองผือก็จุดอันเดียว พระนี่แน่น อยู่แถวใกล้เคียงสองสามกิโลมีอยู่ทั่วไป ตอนค่ำถ้าเป็นวันประชุมท่านจะมา ท่านมาตอนค่ำ พอขนาดนี้ละเริ่มแล้ว เริ่มรวมแล้วพระขนาดนี้ มีแต่พระกรรมฐานล้วนๆ เทศน์ก็มีพ่อแม่ครูจารย์มั่นองค์เดียวเท่านั้น นอกนั้นฟังหมดเลย เวลาท่านเทศน์นี่พระแน่นนะ คือมาจากที่ต่างๆ สามกิโล สี่กิโลก็มี พอเย็นๆ ห้าโมงเย็นท่านมาละ
พอเริ่มหนึ่งทุ่มคือเริ่มมืดก็เข้ารวมที่กุฏิท่าน กุฏิท่านแน่นเพราะพระมาก ถ้าเป็นวันอุโบสถก็เอาที่ศาลา วันอุโบสถวันหนึ่งเป็นวันท่านเทศนาว่าการสอนพระ พอปาฏิโมกข์จบลงเรียบร้อยแล้วก็ให้โอวาทสอนพระ พระมาจากที่ต่างๆ มารวมกันที่นั่น เสร็จจากปาฏิโมกข์แล้วเทศน์สอนพระเรียบร้อยแล้วก็เป็นเวลาบ่ายสามโมง ต่างองค์ก็กลับไปกุฏิ ไปปัดกวาดวัดท่าน
เวลาอยู่กับท่านนั้นมรรคผลนิพพานเหมือนอยู่ชั่วเอื้อมนะ สดๆ ร้อนๆ มันดูดมันดื่ม ฟังเทศน์ท่านก็เหมือนกัน เทศน์ท่านก็เหมือนว่ายื่นมรรคผลนิพพานให้เราจับ จับผิดจับถูกอยู่อย่างนั้นละ จิตใจก็ดูดดื่ม ฟังเทศน์ท่านแล้วมันอิ่มอยู่ในหัวใจ เราไปถึงทีแรกท่านเทศน์ถึงสี่ชั่วโมง เทศน์ไม่หยุด เทศน์เรื่อยๆๆ เสียงดังขึ้นเรื่อยละ เพราะท่านเทศน์สอนพระจะมีตั้งแต่สมาธิปัญญา ส่วนศีลต่างองค์ต่างรักษามาเรียบร้อยแล้ว เทศน์ตั้งแต่เรื่องสมาธิ สมถะ วิปัสสนาไปเรื่อยๆ ทะลุถึงนิพพาน ฟังแล้วจุใจๆ
ท่านเทศน์สี่ชั่วโมง ท่านเทศน์จบลงแล้วยังไม่อยากให้จบนะ คือจิตใจมันดูดมันดื่มอยู่ภายในนั่นละ เทศน์ถึงสี่ชั่วโมง ครั้นต่อมาก็สามชั่วโมง สุดท้ายลงมาสองชั่วโมงหยุด ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไม่เทศน์อีก ท่านเทศน์มรรคผลนิพพานนี้สดๆ ร้อนๆ นะ จับผิดจับถูก ลักษณะเป็นอย่างนั้น คือท่านถอดออกมาจากหัวใจที่ทรงไว้แล้วซึ่งมรรคผลนิพพานเต็มสัดเต็มส่วน ท่านไม่มีอะไรบกบาง ท่านทรงนิพพานทั้งเป็นไว้แล้ว
ถ้าพูดสมัยครั้งพุทธกาลท่านพูดกันก็คือพระอรหันต์นั่นเอง หลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ในสมัยปัจจุบัน เป็นอาจารย์เอกในการแนะนำสั่งสอนทางด้านวิปัสสนาธุระ คล่องตัวเต็มที่ เพราะถอดออกมาจากใจของท่าน การภาวนานี้ความรู้ความเห็นความเป็นของใจเราแต่ละท่านละองค์ไม่เหมือนกัน มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน การเทศนาว่าการท่านก็ค่อยไต่เต้าขึ้นไป เหมือนกับเครื่องบินเหินฟ้า ค่อยเหินขึ้นไปๆ เรื่อยๆๆ เทศน์ธรรมะสูงเท่าไรเสียงท่านยิ่งเร่งเข้าเรื่อยๆ เทศน์ธรรมะสูงเท่าไรเสียงนี้ยิ่งเร่งนะ ทุกสิ่งทุกอย่างเข้มข้นไปตามๆ กันหมดเวลาท่านเทศน์ธรรมะขั้นสูง
ถ้าเทศน์ธรรมดาอย่างสมาธินี้ไม่ค่อยเท่าไรนัก พอก้าวเข้าสู่วิปัสสนาพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด โดยลำดับลำดาจนทะลุถึงที่สุดวิมุตติพระนิพพานนี้ฟังแล้วนี้มันลืมตัวนะ ไม่รู้สึกเลยว่าร่างกายนี้เจ็บปวดแสบร้อนตรงไหนในขณะที่ฟังเทศน์ท่าน ท่านเทศน์ถึงสี่ชั่วโมงยังไม่รู้สึกตัว คือจิตใจไม่ได้อยู่กับร่างกาย อยู่กับตัวเองคือความรู้ ความรู้ของผู้ฟังก็ต่างกัน ผู้ที่จิตยังไม่สงบเวลาฟังเทศน์ไปครั้งนั้นครั้งนี้ก็ค่อยสงบเข้าไปๆ ต่อไปก็สงบได้ด้วยการฟังเทศน์
ผู้ที่จิตละเอียดเข้าไปฟังเทศน์ก็ผ่านไปๆ จนกระทั่งถึงผู้พิจารณาทางด้านปัญญา พอถึงขั้นธรรมะขั้นสูงเทศน์ของท่านนี่จะไหลไปเลยทีเดียว ผู้ฟังยิ่งเพลิน การฟังเวลาจิตยังไม่สงบเวลาฟังเทศน์ท่านไปจิตก็ค่อยสงบตัวลงๆ จนสงบแน่วเลย ทีนี้ธรรมะก็แหววๆ อยู่ข้างบน ใจลงไปช่วยตัวเองได้แล้ว สงบแน่วอยู่นั้น ธรรมะก็อยู่ผิวเผินนอกๆ ทีนี้ถ้าเป็นทางวิปัสสนาท่านพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ แยกส่วนต่างๆ จิตมันจะขยับตามนะ เวลาท่านเทศน์สอนทางด้านสมาธิคือความสงบใจนี้ การเทศนาของท่านจะเป็นการกล่อมใจให้สงบเรื่อยๆ ลงไป
ทีนี้พอก้าวเข้าสู่วิปัสสนานี้ขยับตามท่าน ท่านขยับไปไหนมันขยับตามๆ จิตจะไม่อยู่ขั้นวิปัสสนา จะขยับตามท่านเทศนาว่าการเรื่อยๆ แล้วเพลิน ลืมเนื้อลืมตัวในขณะที่ฟัง ทีนี้เราฟังวันนี้จิตของเราเขยิบขึ้นมานี้ พอฟังวันหลังต่อไปค่อยขยับขึ้นไปๆ เรื่อยๆ นี้ละที่ท่านว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมบรรดาผู้ฟังทั้งหลายได้สำเร็จมรรคผลนิพพานจำนวนมากๆ ก็เพราะค่อยขยับขึ้นไป ฟังคราวนี้ขยับขึ้นไป ฟังคราวหน้าขยับขึ้นไป ต่อหลายต่อ หลายครั้งหลายหนก็พ้นไปได้เลย นั่น
นี่ละการฟังเทศน์ว่าได้สำเร็จมรรคผลนิพพานแต่ก่อนเราก็เห็นในตำรา จะว่าเชื่อไม่เชื่อจิตมันก็หนา มันธรรมดาๆ นะ แต่พอไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนี้เข้าแล้วเชื่อทันทีเลย คือสดๆ ร้อนๆ สดๆ ร้อนๆ เช่นเราพิจารณาในธรรมวรรคใดตอนใดที่กำลังติดข้องอยู่ตรงนั้น ท่านเทศน์ไปตรงนั้นทะลุไปเลย ขยับตามท่านไปได้ๆ หลายครั้งหลายหนก็พ้นไปได้ นี่ละที่ว่าท่านเทศน์ในครั้งพุทธกาลผู้ฟังได้สำเร็จมรรคลผลนิพพานก็เป็นอย่างนี้เอง
เรามาเชื่อเอาตอนไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนี่ละ คือขยับไปตามเรื่อย ครั้งนี้ครั้งนั้นสูงขึ้นๆ ผ่านไปเรื่อยๆ อย่างนั้นละ ต่อไปมันก็สำเร็จจนถึงที่สุดได้ การฟังเทศน์จากท่านผู้ทรงมรรคทรงผลท่านไม่มีอัดมีอั้นนะ คำว่าเห็นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี สำหรับพ่อแม่ครูจารย์มั่นนี่ไม่มี มีแต่ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ เด็ดขาดๆ ลงไปเรื่อยๆ คือธรรมะท่านเผ็ดร้อนเทศน์ด้วยความมั่นใจ แน่ใจ จึงต้องมีคำว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้
ที่ว่าเห็นจะนี้ไม่เคยได้ยินธรรมเทศนาของพ่อแม่ครูจารย์มั่น ไม่เคยได้ยินคำว่าเห็นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี มีแต่ต้องอย่างนั้น ต้องเรื่อยๆ เด็ดขาดๆ ลงไปโดยลำดับลำดา เราฟังเรายังไม่ลืมนะ เราเองเป็นผู้เป็น ถ้าคนอื่นเป็นก็ยังจะสงสัย ดีไม่ดีอาจไม่เชื่อก็ได้ เวลาฟังเทศน์ท่านฟังเทศน์หลายครั้งหลายหนฟังอยู่เป็นประจำ พอถึงขั้นมันจะเป็น ฟังเทศน์ท่านไปๆ จิตดับหมดเลย ดับอยู่สามวัน นู่นน่ะฟังซิ
เสียงอะไรมันก็มีของมัน แต่ส่วนใหญ่ส่วนลึกๆ ที่เป็นอยู่ในจิตนี้มันดับหมด ไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องเลย ดับ วี่ๆ แววๆ อะไรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องหมดโดยสิ้นเชิง เป็นอยู่ถึงสามวัน เราก็ได้แปลกและอัศจรรย์ตัวเอง อ๋อ ที่ว่าจิตท่านได้เป็นอย่างนั้นๆ เราเชื่อ เพียงเราเป็นอย่างนี้ก็เชื่อแล้ว คือมันดับเอาเฉยๆ จะว่าไม่ได้ยินก็ได้ยิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาเพียงนิดหน่อยๆ ส่วนใหญ่ของจิตมันดับ ดับสัญญาอารมณ์อะไรทั้งหมด ดับหมดเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ที่สง่างามอยู่ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน
นี่ละเรียกว่าจิตดับในขณะที่ฟังเทศน์ด้วยการปฏิบัติตามท่านอยู่ตลอดมา ดับถึงสามวันเรา ถึงขนาดนั้นละ แล้วก็ค่อยคลี่คลายออกมา จากนั้นมาก็ไม่เคยเป็นอีก ที่ดับถึงสามวันดังที่เป็นนั้นไม่เคยเป็นอีกเลย แต่เราก็ไม่เสียดาย เป็นทางผ่านๆ ผ่านไปตรงไหนควรรู้ตรงไหนมันก็รู้ ถ้าไม่ควรรู้อะไรมันก็ไม่รู้ของมัน นี่ละการภาวนา ความรู้ละเอียดลออเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟังจากท่านมากทีเดียว ครั้นต่อไปก็เลยกลายเป็นเรื่องธรรมเกิด พวกเรามีแต่กิเลสเกิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใดมีแต่กิเลสเกิด กิเลสออกทำงานเสียทั้งนั้น แล้วก็เป็นภัยต่อตัวของเราเอง
ส่วนจิตของท่านที่ชำระตลอดเวลาสว่างไสว สง่างามขึ้นไป ผ่องใสขึ้นไป ละเอียดลออขึ้นไปเท่าไรทีนี้ธรรมเกิดละที่นี่นะ ธรรมค่อยเกิดขึ้นๆ จนกระทั่งถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ คือจิตนี้มันหมุนไปทางความเพียรโดยอัตโนมัติ ที่เราไม่ต้องได้บังคับบัญชาเรื่องความพากความเพียร หากเป็นความหมุนของจิตระหว่างจิตกับกิเลส ระหว่างธรรมกับกิเลสรบกันขาดสะบั้นกันไปภายในจิตใจ รู้เป็นลำดับลำดา ถ้าถึงขั้นนี้แล้วเพลิน
นักปฏิบัติดีไม่ดีเรียกว่านอนไม่หลับ สำหรับเรานี้เคยเป็นแล้ว นอนไม่หลับตลอดรุ่งเลย คือจิตทำงานตลอด เราจะพาพักมันไม่ยอมพัก จิตมันหมุนอยู่ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันอยู่ภายในหัวใจ ธาตุขันธ์ว่าจะพักผ่อนนอนหลับบ้างมันไม่ยอมหลับ เพราะจิตทำงานอยู่ไม่หลับ สุดท้ายก็สว่างเลย ตลอดสว่างไม่หลับเลย แล้วกลางวันมันยังหมุนของมันอีกติ้วๆ ต้องได้ระงับด้วยวิธีการคือคำบริกรรม คำบริกรรมนี้เอามาใช้เวลาจำเป็นที่จิตมันหมุนตลอดเวลา มันไม่ยอมพัก หมุนรุนแรงเป็นลำดับ แล้วคล่องตัวโดยลำดับ อันนั้นมีกำลังมากเราจะหักห้ามไม่ให้มันหมุน ไม่ให้มันคิดไม่ได้นะ ต้องได้นำพุทโธมา
นี่เราเคยเป็นแล้ว ขอพี่น้องลูกหลานจำเอาไว้ หากจิตมันก้าวเข้าสู่ทางวิปัสสนาสติปัญญาอัตโนมัติแล้วเราจะให้พักผ่อนไม่ให้มันทำงานอย่างนั้น ต้องพักผ่อนด้วยคำบริกรรม ใครถนัดคำบริกรรมคำใดก็ตามเช่นพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ หรือมรณัสสติตามแต่จริตนิสัยที่เราชอบมาดั้งเดิมที่เราภาวนาอยู่ เอาอันนั้นเข้ามาบังคับให้จิตจับติดอยู่กับคำบริกรรมคำนั้น เช่นพุทโธก็ให้ติดอยู่กับพุทโธ ไม่ให้ออก ทางด้านสติปัญญาที่มันหมุนตัวเป็นเกลียวห้ามไม่ให้ออก
ให้อยู่กับคำว่าพุทโธๆ คำเดียวๆ เท่านั้น สติจับติดๆ ไม่ยอมให้ออก แล้วจิตนี้ก็สงบลงด้วยอำนาจของพุทโธ ที่มันหมุนติ้วๆ เหล่านั้นก็หยุดไปหมดเลย เพราะอำนาจแห่งพุทโธนี้ เรียกว่าทอดสมอด้วยพุทโธ อยู่ จิตสงบแน่วลงไปทีนี้เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม มีความสะดวกสบาย เบาทั้งกายทั้งใจ เบาไปหมด เพราะเวลาเราพิจารณาทางด้านสติปัญญามากๆ นั้นจิตใจของเราทำงาน มันจะหมุนอยู่ในหัวอกนี้ แล้วจะเหนื่อยในหัวอกของเรา เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปตามร่างกายส่วนต่างๆ แต่จิตมันไม่ยอมหยุด มันหมุนของมันตลอด นี่ให้ยับยั้งด้วยพุทโธ
ถ้ามันเป็นขนาดนั้นแล้วเราจะให้พักให้หยุด ให้นำพุทโธเข้ามาบริกรรม เอาคำบริกรรมพุทโธเท่านั้น เวลานั้นเราไม่ต้องการมรรคผลนิพพานอันใด เราต้องการจะให้จิตพักหยุดสงบจากงานทั้งหลายคือสติปัญญาทำงาน แล้วให้พุทโธๆ ติดแนบเข้าไปๆ จิตก็สงบแน่วลงไป ทีนี้อยู่ละ อยู่นิ่งเลย นั้นละตอนจิตนิ่งคือจิตสงบ จิตสงบนั้นแลคือพักงาน เมื่อพักงานสติปัญญาไม่ทำงานจิตใจก็มีความสะดวกสบาย เบากายเบาใจ เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม
แต่ต้องบังคับนะ อยู่อย่างนั้นเราจะปล่อยไม่ได้ ปล่อยมันจะออกทางด้านสติปัญญาเพราะมันรุนแรงอยู่แล้ว ให้พักเสียก่อน เข้าสู่สมาธิด้วยคำบริกรรม มีพุทโธเป็นต้น พอจิตใจของเรามีความสงบเย็นสบาย จิตใจโล่งสบายแล้วควรแก่การพิจารณาทางด้านปัญญาแล้วค่อยออก พอเรารามือเท่านั้นมันจะดีดผึงออกเลยทางด้านปัญญา นั่นละเมื่อจิตมันพอตัว มันมีกำลังพอสมควร เช่นเราได้พักผ่อนนอนหลับ จิตได้เข้าสู่สมาธิแล้วเรียกว่าจิตได้พักตัว พอจิตพักตัวก็มีกำลังขึ้นมา จากนั้นก็ควรแก่หน้าที่การงานทั้งหลายต่อไป เช่นทางวิปัสสนานั้นคืองานของจิต
พอปล่อยออกจากสมาธินี้มันจะหมุนไปทางด้านสติปัญญา เวลามันหมุนจริงๆ นี้มันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หัวอกนี้เหนื่อยหมด เหนื่อยในหัวอก สังขารร่างกายอ่อนไปหมด แต่จิตไม่ยอมหยุด เดินจงกรมจนก้าวขาไม่ออก จนจะไปไม่ได้แล้วค่อยหยุด ถ้าจะให้มันหยุดโดยลำพังมันไม่ยอมหยุด เพราะภายในมันทำงานกันอยู่ นี่ละจิตทำงานภายใน นี่จิตจะก้าวแล้วนะ จะก้าวเพื่อความพ้นทุกข์ จะหมุนไปข้างหน้าเรื่อยๆ ทีนี้ต้องพัก ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วก็เข้าพักสมาธิคือความสงบใจก่อน พอได้กำลังวังชาจากการพักทางสมาธิแล้วก็ออกทางด้านปัญญา ทำอย่างนี้เรียกว่าสม่ำเสมอ ไม่ผาดโผนโจนทะยานเกินไป ถ้าว่าปัญญาก็ไม่เร่งรีบ ไม่ผาดโผนจนเกินไป มีเวลาพัก จิตสบาย พอสบายแล้วออกทางด้านปัญญา พอออกมาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วเข้าพักเหมือนเดิม อย่างนี้เรียกว่าราบรื่นในการบำเพ็ญ
ผู้ปฏิบัติธรรมเราแนะเอาไว้ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมจะถึงขั้นนี้มี เมื่อถึงขั้นนี้แล้วไม่มีใครแนะนำสั่งสอนเอาไว้ก็จะไม่มีที่ยึดที่เกาะ ก็จะดีดจะดิ้นเป็นความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากทีเดียว เมื่อมีการพักการหยุดอย่างนี้ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็พอประมาณ เพราะมีการพักผ่อนหย่อนตัวด้วยการนอนหลับบ้าง ด้วยจิตเข้าสู่สมาธิบ้าง อย่างนี้ดี สบาย
วันนี้เทศน์เรื่องภาวนาให้ท่านทั้งหลายผู้สนใจภาวนาฟังบ้าง พอได้เป็นคติเครื่องเตือนใจต่อไป การภาวนาต้องมีพัก ถึงขั้นมันหมุนหมุนจริงๆ สติปัญญาจะไม่ยอมอยู่เลย มันเพลินในการฆ่ากิเลส สติปัญญากับกิเลสฟัดกันนี้เพลินลืมเนื้อลืมตัว เดินจงกรมนี้จนก้าวขาไม่ออก มันถึงจะหยุด ที่จะให้มันคิดอยากอยู่เฉยๆ ไม่มี การภาวนาถึงธรรมขั้นนี้แล้วไม่มีการอยากพักอยู่เฉยๆ ไม่มี มีแต่ว่าก้าวขาไม่ออก เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก้าวขาไม่ออก โอ้ เหนื่อยมากแล้วพักเสียก่อน เท่านั้น ที่จะให้มันอยากอยู่เฉยๆ ไม่มี
นี่ละการเดินจงกรมมันจึงลืมวันลืมคืน ไม่ว่ากลางวันกลางคืนถ้าลงได้ก้าวเข้าสู่ทางจงกรมแล้วจนก้าวขาไม่ออกมันถึงจะหยุด นี่คือเพลินในความเพียร การทำภาวนาความเพียรประเภทนี้ได้ปรากฏขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องให้มีการพักผ่อน ในเวลาพักให้พักเสีย มันจะหมุนติ้วไปขนาดไหนหมุนไปมันก็เดือดร้อนตัวเอง เพราะผาดโผนโจนทะยานเกินไป ต้องหักเข้ามาพัก เราจะเห็นแต่ได้การได้งานด้วยการทำงาน การพักเฉยๆ ไม่ได้งานตายได้นะ การงานก็ได้แต่คนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทุกวันไม่มีเวลาพักตายได้คนเรา
อันนี้การพิจารณาทางด้านสติปัญญาภาวนามยปัญญานี้ก็เป็นอย่างนั้น เมื่อมันถึงขั้นมันเพลินทางด้านสติปัญญาแล้วมันจะไม่หยุด ต้องได้หักเข้ามาอย่างว่า หักเข้ามาหาพุทโธ หาคำบริกรรมคำใดยับยั้งเอาไว้ไม่ให้ออก บังคับให้อยู่ที่นั่นเสียก่อน มันจะดีดจะดิ้นไปไหนไม่ยอมให้ออก ดีดดิ้นก็ดีดดิ้นด้วยสติปัญญานั้นแหละ ไม่ให้ออก ให้อยู่ จิตก็สงบแน่วลงไป นั่นละที่นี่จิตได้พักตัวเอง พักในเวลาที่จิตสงบเป็นสมาธิ หนึ่ง พักในเวลาที่จิตพักสงบด้วยการบริกรรมภาวนาแล้วหลับลงไปได้กำลัง หนึ่ง มีสองอย่าง
คือจิตเมื่อสงบลงไปๆ มันก็อยากหลับ แล้วหลับได้คนเราในขณะนั้น และรวมสงบได้ในขณะนั้น ถ้าไม่หลับก็รวมสงบ นี่ละเป็นเวลาพักจิตใจของนักภาวนาที่ก้าวออกสู่สติปัญญาแล้วเป็นอย่างนั้น ทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ต่อไปเรื่องของสติปัญญามันจะแกล้วกล้าสามารถเป็นลำดับลำดา คล่องตัว ความรวดเร็วรวดเร็วมากทีเดียว กิเลสตัณหาเกิดขึ้นมาประเภทใดนี้ขาดสะบั้นๆ ไปเลย ไม่ได้เหมือนแต่ก่อนที่เราล้มลุกคลุกคลานฝึกหัดไม่ได้หน้าได้หลัง อันนั้นมีแต่กิเลสทุบเอาตีเอา พอถึงขั้นสติปัญญาทุบกิเลสแล้วโผล่หน้ามาไม่ได้นะ พอโผล่หน้ามาทางนี้ซัดขาดสะบั้นๆ จากนั้นก็สติปัญญาอัตโนมัตินี้เชื่อมโยงกันกับมหาสติมหาปัญญา ยิ่งแกล้วกล้าสามารถว่องไว กิเลสนี้พอโผล่พับดับพร้อมๆ มองไม่ทัน สติปัญญาขั้นนี้ฆ่ากิเลส นี่ให้จำ
นี่ถอดออกมาจากภาคปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะได้รู้ได้เห็นอย่างนี้แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่นถ้าไม่ท้อถอยความเพียร ถึงขั้นที่จะรู้รู้อย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงสดๆ ร้อนๆ ไม่ได้ว่ากาลนั้นสมัยนี้ ธรรมะนี้เป็นสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบเรียบร้อยแล้ว เรานำมาปฏิบัติให้ถูกกาลเวลาที่เหมาะสมแล้ว จะเป็นอรรถเป็นธรรมเป็นผลเป็นประโยชน์แก่เราตลอดไป ถ้าเราไม่รู้จักประมาณ เอาเครื่องมือมาใช้ก็ผิดๆ พลาดๆ เพราะเจ้าของไม่ฉลาด ก็ทำให้เสียการเสียงานไปได้ และไม่ได้ผล
อันนี้นำสติปัญญาออกมาใช้ ใช้แบบผิดๆ พลาดๆ มันก็เสียการเสียงานไปได้ และไม่ได้ผลเหมือนกัน จึงต้องได้ใช้ความพินิจพิจารณา แล้วก็ได้อธิบายวิธีการให้ทราบทั่วถึงกัน จิตใจนี้เวลาฝึกไม่ว่าจิตผู้หญิงผู้ชายไม่มีเพศนะ พอถึงขั้นมีกำลังแล้วมันจะมีด้วยกัน ถึงขั้นที่มีกำลังสามารถอย่างไรก็ไม่อยู่ โลกอันนี้จะไม่อยู่ มี..จิต เมื่อถึงขั้นนี้แล้วมันไม่ถอยเรื่องความเพียร ไม่รู้จักหลับจักนอน กลางวันกลางคืนไม่รู้ มีแต่หมุนเป็นธรรมจักร นี่คือจิตจะออกโดยถ่ายเดียว
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องใช้ความเหมาะสม กับกาลเวลาที่จะทำงานและพักผ่อน สมาธิและนอนหลับให้มีอยู่กับตัวเป็นกาลเป็นเวลา ไม่ใช่เห็นว่าทำการทำงานได้ผลแล้วทำไปตลอดตายได้นะ เพราะไม่รู้จักประมาณ ต้องมีการยับยั้งพักผ่อน นี่การภาวนา ในครั้งพุทธกาลกับครั้งนี้ธรรมไม่มีวัย ไม่มีเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่า เป็นธรรมล้วนๆ เป็นกิเลสล้วนๆ อยู่ภายในใจ กิเลสก็ไม่มีคำว่าวัย คำว่าเฒ่าแก่ชรา พาทำให้เป็นกิเลสเมื่อไรเป็นตลอดๆ อกาลิโกๆ ไปตลอด ถ้าบำเพ็ญให้เป็นอรรถเป็นธรรมเข้าสู่ใจก็เป็นอกาลิโก แสดงผลขึ้นมาเรื่อยๆ
ผู้ปฏิบัติจึงขอให้พากันพินิจพิจารณา ธรรมเหล่านี้จะไม่มีใครแสดงนะ นอกจากพูดให้ชัดเจนตามเสียงอรรถเสียงธรรม ไม่ได้ประมาทท่านผู้ใด ถ้าไม่ใช่นักภาวนาจะไม่รู้ไม่เห็น เรียนตำรับตำราเรียนมาเท่าไรๆ กี่คัมภีร์ จบพระไตรปิฎกมันก็กลายเป็นหนอนแทะกระดาษไปเสีย เพราะเรียนเฉยๆ ไม่สนใจจะปฏิบัติตาม เมื่อทั้งเรียนทั้งปฏิบัติตามแล้วผลจะได้ไปโดยลำดับลำดา ที่ท่านเรียกว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ปริยัติได้แก่การศึกษาเล่าเรียน เมื่อเล่าเรียนได้แล้วปฏิบัติคือการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ ผลเกิดขึ้นเป็นความสงบเย็นใจแก่ตนมากน้อยเพียงไรนั้นเป็นปฏิเวธ คือผลของงานปรากฏขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏขึ้นเด่นชัดขึ้นๆ เรียกว่าปฏิเวธ รู้แจ้งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวาระสุดท้าย สนฺทิฏฺฐิโก ปฏิเวธเข้าถึงขั้น สนฺทิฏฺฐิโก รู้แจ้งแทงทะลุภายในจิตใจ ระหว่างวัฏวนของจิตที่กิเลสพาใจหมุนเวียนให้เกิดแก่เจ็บตายนี้ขาดสะบั้นจากกัน
วิวัฏฏธรรมเกิดขึ้นภายในใจเป็นคนละฝั่งแล้ว ฝั่งนี้เป็นฝั่งวัฏวนของกิเลสพาสัตว์หมุนให้ตายกองกันไม่หยุดไม่ถอยไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลา อีกฝั่งนี้คือฝั่งแห่งความหลุดพ้นได้แก่พระนิพพานประจักษ์ใจ ขาดสะบั้นจากกัน ระหว่างฝั่งของวัฏวนกับฝั่งวิวัฏฏจักรวิวัฏฏธรรม แยกกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงรู้ได้ชัดเจนในเวลาจิตหลุดพ้นจากกิเลสมันเป็นคนละฝั่ง พอขาดจากกันแล้วกิเลสจะไม่เข้าต่อได้เลย มีตั้งแต่ธรรมที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นฝั่งของตนคือนิพพาน นั่นละท่านจึงรู้ได้ชัดว่าพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว คือจบตรงนั้นเอง พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วงานก็หมด ที่จะถอดถอนกิเลสตัวใดอีกไม่มีเลย จนกระทั่งนิพพาน
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านถึงไม่ได้ประกอบความเพียรเพื่อฆ่ากิเลสตัวใดอีกต่อไป นับตั้งแต่กิเลสตัวสุดท้ายที่อวิชฺชาปจฺจยา เป็นสำคัญได้ขาดสะบั้นลงจากใจ ท่านหมดงาน วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ประกาศก้องขึ้นภายในใจว่าการประพฤติพรหมจรรย์ที่เป็นความหนักมากในไตรโลกธาตุนี้ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว งานอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่างานการฆ่ากิเลสนี้ไม่มี เสร็จสิ้นเพียงเท่านี้ ตั้งแต่นั้นแล้วก็ไม่ได้ฆ่ากิเลสตัวใดอีกพระอรหันต์ จนกระทั่งวันนิพพานก็นิพพานไปเลย กลายเป็นนิพพานเที่ยงไป ไม่มีที่จะได้มาซ้ำๆ ซากๆ เพราะกิเลสตัณหาตามยุแหย่ก่อกวน ก็มันตายหมดแล้วจะเอาอะไรมาก่อกวน กิเลสสิ้นซากภายในใจเป็นอย่างนั้น
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมของศาสดาที่สอนไว้ ธรรมของคนมีกิเลสมันจะไม่ยอมเชื่อนะ เชื่ออรรถเชื่อธรรม เชื่อบาปเชื่อบุญคุณโทษต่างๆ นรกสวรรค์มันจะไม่เชื่อ มันจะเชื่อแต่ความหูหนวกตาบอดของตัวเอง ท่านบอกว่าบาปมีมันก็ปัดทิ้งเสียว่าบาปไม่มี บุญไม่มี ส่วนที่มีคืออะไร คือความอยากความทะเยอทะยาน ไม่รู้จักเป็นจักตาย เอาหัวชนเข้าไปเลยๆ สัตว์โลกจึงชอบทำตั้งแต่บาปหาบตั้งแต่กรรมคือความชั่วช้าลามกเข้าสู่หัวใจ ตายแล้วแบกกรรมชั่วช้าลามกลงสู่นรกอเวจี ไม่มีวันฟื้นขึ้นมาได้เลย ก็เพราะความเชื่อตัวเองยิ่งกว่าเชื่อศาสดาองค์เอกที่สอนโลกได้ทั้งสามโลก
นี่ละต่างกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นให้พากันเชื่อ ความฝืนธรรมนั้นแหละคือกิเลส ให้จำข้อนี้ให้ดี การจะปฏิบัติคุณงามความดีมันไม่อยากทำ นั้นคือกิเลสฝืนธรรม ให้ฝืนมัน ถ้าให้เป็นไปตามกิเลสทำดีไม่ได้มนุษย์เรา แต่ทำชั่วเอาจนจมได้ด้วยกันทั้งนั้น ส่วนที่จะทำดีนี้ถ้าไม่ฝืนกิเลสจะทำดีไม่ได้ ต้องฝืน เช่นการทำบุญให้ทาน เอา มันไม่อยากให้ให้ ศาสดาองค์เอกเกิดเป็นศาสดาขึ้นมาเพราะการให้ทาน ไม่ได้เป็นมาเพราะความตระหนี่ถี่เหนียวนี่นะ ความตระหนี่ถี่เหนียวมาเป็นศาสดาสอนโลกให้พ้นจากทุกข์ไม่มีเลย มีแต่ความเสียสละ
การทำบุญให้ทานได้มากได้น้อยเต็มกำลังความสามารถ จนกระทั่งถึงเต็มภูมิแล้วเป็นศาสดาขึ้นมา มีทานเป็นแม่บทแม่บาท มีทานเป็นพ่อเป็นแม่เท่านั้น นอกนั้นไม่มี เอาลงไป มีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก อย่าให้กิเลสเข้าไปยื้อแย่งแข่งดีเอาไปกินเสียทั้งหมด พุงนั้นเต็ม แต่จิตใจแห้งผากจากศีลจากธรรมตายแล้วไม่มีประโยชน์อะไรคนๆ นั้น ก็ชมตั้งแต่พุงของตัวเองที่บรรจุอาหารเข้าไปด้วยความอยากความทะเยอทะยาน กินไม่อิ่มไม่พอนี้เท่านั้น ตายลงไปแล้วอันนี้ก็เน่าเฟะไม่เห็นเป็นประโยชน์อะไร
ส่วนบุญส่วนกุศลที่ควรจะได้ภายในจิตใจไม่บำเพ็ญ จิตใจก็แห้งผาก ไปก็ได้รับกองทุกข์อีก เพราะไม่มีบุญกุศลบรรจุใจ มีตั้งแต่ธาตุขันธ์ตายแล้วก็เน่าเฟะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้ามีบุญมีกุศลติดจิตติดใจแล้วตายแล้วบุญกุศลนี้แหละเป็นที่ฝากเป็นฝากตายได้คนเรา นี่ละศาสดาองค์เอกท่านสอนไว้อย่างนี้ ไอ้พวกกิเลสตัณหามันความตระหนี่ถี่เหนียวมันแทรกเข้ามาๆ ถ้าจะสละทำบุญให้ทานมากน้อยกลัวจะไม่ได้กิน กลัวจะไม่ได้ใช้ได้สอย มีแต่กลัวๆ กิเลสเอาไปกินๆ จนหมดเนื้อหมดตัวจนกระทั่งวันตายไม่ได้คิด
ให้พากันคิดให้ดี เราไม่เชื่อศาสดาเราจะเชื่อใคร เชื่อเราก็มีแต่คนมีกิเลสก็เป็นแบบเดียวกัน เห็นแก่ตัวด้วยกัน จะทำความดีงามอะไรมันเห็นแก่ตัวไม่อยากทำ หัวใจคนมีกิเลสมันต้องขัดต้องแย้งต่อธรรมอย่างนี้ตลอดมา แล้วจะเป็นตลอดไปด้วย นี่เราขัดแย้งกับกิเลสฟัดลงไป เอา มันไม่อยากทำ-ทำ ความดีงามไม่ว่าประเภทใดเราทำ นี่เรียกว่าฝืนกิเลส ฝืนกิเลสก็ได้ธรรมขึ้นมาครองใจ ตายไปแล้วธรรมนั้นแหละที่จะช่วย กิเลสไม่ได้มาช่วยนะ มันมีแต่กีดแต่ขวางเอาไว้เท่านั้น ให้พากันจดจำกันไว้ให้ดี
การปฏิบัติธรรม..เราได้เกิดมาพบพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาของศาสดาองค์เอก ที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว ให้ได้นำศาสนานี้เข้ามากราบไหว้บูชา พุทโธ ธัมโม สังโฆ ให้เป็นขวัญใจอยู่เสมอ ไปไหนอย่าปล่อยอย่าวาง การที่จะทำเป็นกิริยาของชาวพุทธ เอา จะทำบุญให้ทาน เรามีมากน้อยทำไปตามกำลังของเรา รักษาศีลก็ให้รักษา รักษาศีลก็คือรักษาตัวของเรา รักษาจิตใจ..ใจนี้มันคึกมันคะนอง มันโหดร้ายทารุณ เอาน้ำดับไฟคือธรรมภาวนาดับลงไปให้ใจได้รับความร่มเย็นก็สบายคนเรา
ถ้าไม่มีเหล่านี้ติดจิตติดใจเราอย่าหวัง หวังโลกไหนก็หวังเถอะ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหวัง ขึ้นอยู่กับการกระทำดีทำชั่ว การทำชั่วไม่หวังชั่วก็เป็นชั่ว การทำดีถึงไม่หวังก็เป็นความดีเต็มหัวใจ สุดท้ายก็หลุดพ้นได้เพราะอำนาจแห่งความอุตส่าห์พยายามของเรา ให้พากันตั้งอกตั้งใจทำ วันนี้ก็พูดเพียงเท่านี้ เพราะเหน็ดเหนื่อย ไปที่วัดอาจารย์เจี๊ยะก็ไปเทศน์ที่นู้นแทบเป็นแทบตายมาแล้ว มานี้ว่าจะไม่ได้เทศน์ ก็ได้เทศน์อีกแล้ว ทีนี้เทศน์ไปเทศน์มาก็เหนื่อยลงๆ สุดท้ายก็จะยุติเท่านั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาพี่น้องทั้งหลายทั่วกันเทอญ
รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz
และเครือข่ายทั่วประเทศ
|