เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๐
๑ ปีกับ ๕ เดือน
วันนี้วันเสาร์ ถ้าวันเสาร์มักจะไปตามวัด ถ้าวันปรกติธรรมดาไปโรงพยาบาลต่างๆ วันละโรงๆ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ ไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ถ้าวันเสาร์อาทิตย์มักจะไปตามวัด เอาของไปถวายพระที่ท่านอยู่ในป่าในเขา ปฏิบัติตัวเพื่ออรรถเพื่อธรรม ไม่คำนึงคำนวณถึงความลำบากยากเย็นเข็ญใจอะไร มุ่งหน้าต่อการปฏิบัติเท่านั้น อย่างนี้เราส่งเสริม ผู้ปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมย่อมลำบากเป็นธรรมดา การกินอยู่ปูวายลำบากแต่ท่านไม่สนใจ
คือไปหาดัดเจ้าของ ที่ไหนมีบ้านหลังคาเรือนหลายๆ หลังคาเรือนไม่ไป ไปอยู่แห่งละสามสี่หลังคาเรือน อยู่ในเขา ที่เรามองไปภูเขาอย่าเข้าใจว่าเป็นป่าเป็นเขาทั้งหมดนะ เข้าไปนั้นจะมีหมู่บ้านคนแห่งละสามหมู่บ้านสี่หมู่บ้าน เรามองไปไม่รู้นะ บทเวลาเราไปแล้วถึงจะรู้ว่ามีหมู่บ้านอยู่เป็นหย่อมๆ พวกนี้ไม่ได้ทำไร่ทำนาแต่อาศัยหากินของป่า ได้จากนี้แล้วก็ไปแลกพวกทางบ้านที่เขาทำไร่ทำนา เอาลงไปแลกขึ้นมา นั่นละไปอยู่กับพวกเหล่านี้แหละ
ถ้าเราไม่ฉันกี่วันก็ไม่ได้เห็นใคร เห็นเราองค์เดียว คือเขาก็ไม่ใช่คนที่จะสนใจมาเกี่ยวข้องกับพระกับวัดกับวาอย่างนั้น แล้วเราก็ไม่สนใจจะพบคนเช่นนั้น ถ้าไม่ฉันกี่วันก็อยู่นั่น เห็นแต่เราคนเดียว เขาไม่มาสนใจ ต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ของตัวสะดวกสบาย จิตกระดิกพลิกแพลงไปไหนเห็นตรงนั้นละ ตัวพิษตัวภัยคือตัวสังขารมันคิดมันปรุง นี่ออกมาจากไหน ก็ไม่พ้นที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อันนี้สำคัญมาก ลึกลับนะ ถ้าไม่ใช่ภาคปฏิบัติจะไม่เจอคำว่า อวิชฺชาปจฺจยา อวิชชามันดันออกมาอยากให้คิดให้ปรุง คิดออกมาก็เป็นสังขาร สังขารนี่เป็นสังขารสมุทัย สังขารของกิเลส สังขารที่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดันออกมาให้ปรุง
ที่ระงับสังขารเหล่านี้นั่นเรียกว่าความเพียร ถ้าสติติดแนบอยู่กับใจแล้ว สังขารอันนี้จะเกิดไม่ได้ เพราะมาจากอวิชชา อวิชชาอ่อนตัว สติครอบเอาไว้ อวิชชาไม่ส่งความคิดปรุงออกมาก็ไม่เป็นกิเลส วันนี้ก็ทำนี้ วันนั้นก็ทำนี้มันก็สงบได้ ทำให้เราได้คิดถึงเรื่องการประกอบความเพียร สักแต่ว่าทำไม่ได้นะ เดินจงกรมก็เดินหย็อกๆ นั่งสมาธิก็สักแต่ว่านั่ง ท่าต่างๆ ของความเพียรเป็นความเพียร แต่จิตไม่ได้เป็นความเพียร เผลอสติเสียอย่างเดียวจิตมันเพ่นพ่านๆ จึงต้องได้ใช้สติ
เอ้า สติตั้งเหนียวแน่นมั่นคง ถ้ามีดก็มีดคมหรือไม่คม ถ้ามีดไม่คมมันทื่อฟันอะไรไม่ค่อยขาด สติคมหรือไม่คม ถ้าสติไม่คมตั้งพับล้มไปเรื่อยๆ ล้มไปเรื่อยๆ ถ้าสติดีตั้งปั๊บติดปุ๊บๆ นั่นเรียกว่ามีดคม อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึก ใครๆ จะไม่ค่อยผิดกัน อาหารนี่สำคัญ เป็นเครื่องหนุน เป็นเครื่องเหยียบย่ำทำลาย หนุนกิเลสตัณหาขึ้นเพื่อเหยียบย่ำทำลายธรรม อาหารเป็นสำคัญ ถ้าฉันอาหารน้อยหรืออาหารไม่มีกับ หรือหยุดอาหาร ต่างกันนะ หยุดไม่ฉัน
นี่เราพูดถึงเรื่องผู้ตั้งใจประกอบความพากเพียรจริงๆ แล้วฝึกหัดตนโดยวิธีต่างๆ อะไรได้ผลมากผลน้อยต่างกันจะรู้ด้วยการสังเกตของตัวเอง ต้องสังเกตไม่สังเกตไม่ได้ จากนั้นก็มาลงในจุดอาหารน้อยนี่ อาหารน้อยหรือตัดอาหารบ้างเป็นบางกาลบางเวลา ความเพียรก็ดีไม่ค่อยโงกง่วง กินมากอาหารดีๆ ยาเสริมความง่วงเหงาหาวนอน
การพูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายเคยได้ภาวนาหรือเปล่า ถ้าไม่เคยไม่รู้นะการพูดอย่างนี้ ไม่เข้าใจ นี่พูดออกมาจากการฝึกการทรมานและเข้าใจเรียบร้อยแล้วจึงมาพูด แล้วก็ไม่ผิด คือมันดัด ไม่ค่อยขึ้นอยู่กับการอยู่กินอาหารการบริโภคก็คือว่า ไปอยู่ในที่ดัดสันดาน อันนี้จะอดไม่อดอาหารก็ตามเถอะน่ะ มันกลัวตายหนักมากกว่าทุกอย่างนะ กลัวตายอยู่ไหนมีสติจ้อเลย แต่ก่อนเสือเยอะนี่ไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ เข้าป่าไหนมีแต่เสือ
สำหรับเราเองนี้กลัวเสือเป็นอันดับหนึ่ง พวกเสือ พวกหมี พวกงู พวกอันตรายต่างๆ กลัวเสือเป็นที่หนึ่งสำหรับเรานะ องค์อื่นท่านมีนิสัยต่างกัน อาจจะกลัวสัตว์ร้ายชนิดต่างๆ กัน ไม่ได้กลัวตรงกัน สำหรับเรานี้กลัวเสือ คำว่ากลัวนี้จุดเด่นของมันคือความกลัวตายกลัวเสือ จุดที่จะฝึกกันก็เอาจุดนั้นแหละ คือที่กลัวๆ มันกลัวที่ไหนมาก กลัวที่ไหนมากก็คือที่นั่นละที่ว่ามีเสือมาก เข้าตรงนั้น เอาเลย ทีนี้สติไม่ต้องบอกมาเอง คนเรากลัวตาย ถ้าเผลอสติเวลาเสือมางับมันจะกินเป็นอาหารว่างของมันไม่มีค่ามีราคา เอาไปกินเสือก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ เพราะอาหารของเสือมันเลว อาหารของพระขี้เกียจ เสือกินแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์ ท่านฝึกของท่านอย่างนั้นละ
เวลาล้มลุกคลุกคลานทีแรกยากนะ หนักมาก คำว่าล้มลุกคลุกคลานคือสติ สำคัญนะสติ สติตั้งไม่ได้แล้วเรียกว่าความเพียรล้มลุกคลุกคลาน สติตั้งได้ๆๆ เรียกว่าเป็นความเพียรแท้ ฝึกไปแบบไหนๆ ต้องใช้ความสังเกต สักแต่ว่าเดินจงกรมนั่งสมาธิเฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ ต้องใช้ความสังเกต เดินมากเป็นอย่างไร นั่งมากเป็นอย่างไร เอาตรงนั้น ฉันมากเป็นอย่างไร ฉันน้อยเป็นอย่างไร อดอาหารเป็นอย่างไร ต้องฝึก สังเกตตัวเอง ทีนี้เวลาถูกกับวิธีการใดท่านจึงมักจะใช้วิธีการนั้นมากมาประกอบความเพียร เช่นผ่อนอาหารดีท่านมักจะผ่อนตลอด อดดีท่านมักจะอด
เรื่องอาหารมักจะถูกกับนักภาวนาทั้งหลาย ไม่ค่อยผิด คืออาหารเป็นเครื่องหนุน เป็นกำลังทางร่างกาย ถ้ามีกำลังมากมันมักจะเหยียบย่ำทำลายสติให้เผลอๆ ให้อะไรไป ถ้าสติดีความเพียรเก่ง ความเพียรจึงขึ้นอยู่กับสติ สติดีเท่าไรความเพียรยิ่งดีๆ ใช้ความสังเกต นักภาวนาต้องใช้ความสังเกต ไม่สังเกตสักแต่ว่าทำไม่ได้เรื่องนะ วันคืนก็มีแต่มืดกับแจ้งเกิดประโยชน์อะไร สิ่งที่จะฝึกเจ้าของก็คือสติปัญญา ฝึกให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
เราบวชมาทีแรกก็ได้พุทโธจากท่านพระครู นั่นละที่ได้ฝังลึกนะ เราอยู่วัดโยธานิมิตร คือฆราวาสไปอยู่กับพระ นอนกับพระ ตามพระวินัยท่านกำหนดให้ได้ ๓ คืน นอนตลอดรุ่งด้วยกันได้เพียง ๓ คืน คืนที่ ๔ ไปแล้วต้องหักราตรี ออกไปเดินจงกรมตั้งแต่ยังไม่สว่าง สว่างแล้วค่อยกลับมา เรียกว่าหักราตรีแล้ว คืนหลังนอนด้วยกันได้อีก คำว่านอนด้วยกันคืออยู่กุฏิหลังเดียวกัน เช่นโบสถ์ก็อยู่ในโบสถ์ด้วยกัน ๓ คืนแล้ว คืนที่ ๔ ต้องเว้น ถ้า ๒ คืนแล้วก็หักราตรีเสีย คืนที่ ๓ ไม่ได้นอนร่วมกัน คืนต่อไปก็นอนได้อีก นี่ตามหลักพระวินัย
เห็นท่านเดินจงกรมอยู่ เราอยู่ในโบสถ์กับท่าน เห็นท่านเดินจงกรมสังเกตดู พอบวชแล้วก็ถามเลยละ ไปขอเรียนกรรมฐานกับท่าน อยากภาวนา ท่านบอกว่าให้เอาพุทโธ เราก็เอาพุทโธ เราชอบพุทโธ ได้คำนั้นละมาภาวนา นี่ละการฝึกเบื้องต้น ภาวนาสะเปะสะปะไปอย่างนั้น ก็คนไม่เคยได้ผลจากการภาวนาจะเอาความขยันหมั่นเพียรมาจากไหน มันก็ทำสะเปะสะปะ บทเวลาจะเป็นมันเป็นของมันเองนะ เราภาวนาพุทโธๆๆ อาการของจิตมันซ่านออกไปข้างนอก กว้างแคบตามแต่อารมณ์พาไป
ทีนี้บทเวลามันจะไปนี้ขอบเขตของจิตคือความคิดปรุงไปถึงไหนๆ มันหดเข้ามาๆ เหมือนเราตากแหนั่นละ อาการของจิตที่มันคิดฟุ้งซ่านเต็มเหนี่ยวของมันเรียกว่าตากแหเต็มผืน ทีนี้เวลาพุทโธๆ เหมือนเราดึงจอมแห จับจอมแหดึงเข้ามาๆ พุทโธๆ ดึงจอมแหเข้ามา ตีนแหก็หดเข้ามาๆ ทีนี้ตีนแหหดเข้ามามันเป็นอาการที่ให้เกิดความสังเกต สังเกตเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงกึ๊ก นี่เป็นกองแหแล้ว ดึงจอมแหเข้ามากองไว้เป็นก้อนแล้ว ทีนี้กระแสจิตดึงเข้ามา ดึงเข้ามาๆ เป็นจุดผู้รู้แล้วนั่น พอผู้รู้รวมกันปั๊บนี้เกิดความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมา นี่เราก็ได้อย่างนั้นทีแรก
แรกๆ ก็ได้อย่างนั้นละไม่ลืม วันหลังเอาใหญ่เลย คือมันได้ความแปลกประหลาด ก็เกิดมาจนกระทั่งวันนั้นพึ่งมาเจอเอาความแปลกประหลาดของจิต พอหดเข้ามาๆ กึ๊ก ถึงจุดกลาง ถึงจุดกลางคือจิตรวมตัวเป็นผู้รู้ที่เด่นแล้วมันขาดหมดเลย ขาดจากสมมุติทั้งหลาย ขาดหมดเลย มีแต่ความรู้ที่แปลกประหลาดอันเดียว มันก็เกิดความอัศจรรย์ โห ตื่นเต้นเกิดความอัศจรรย์ ไม่นานมันก็ถอนออกมา เราพยายามเอาอีกให้ได้ วันหลังไม่ได้ๆ
เรียนหนังสืออยู่ ๗ ปีภาวนานี้ได้ ๓ หน ได้อย่างนี้ ๓ หน นั่นละมันฝังใจ มันฝังลึกอยู่นะ เป็นอจลศรัทธาก็ได้ ฝังลึกในขั้นนี้ๆ ตั้งเอาไว้ว่าออกปฏิบัติกรรมฐานคราวนี้จะเอาใหญ่ละ จะเอาจิตดวงนี้ให้ได้ พอออกไปก็ฟัดกันจริงๆ ทั้งวันทั้งคืน ไม่ปล่อยกันเลย เพราะงานไม่มี มีอะไรงาน ไม่มี พอฉันจังหันเสร็จแล้วก็เข้าในป่าอยู่ร่มไม้ สำหรับเราเองมาจากกรุงเทพฯก็มาจำพรรษาที่อำเภอจักราช หยุดเรียนก็ออกจากกรุงเทพฯมาก็เข้าไปจำพรรษาที่อำเภอจักราช เร่งความเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย จิตก็ก้าวหน้าเรื่อยๆ มา
ก็มาเสื่อมที่อุดร ทำกลดหลังหนึ่งไม่เสร็จ เข้าได้บ้างไม่ได้บ้างรู้สึกแปลก รีบหยุด เสื่อมหมดตัว ๑ ปีกับ ๕ เดือนจิตเสื่อม ดันกันไป ๑๕ วัน อยู่สงบเย็นได้ ๓ วัน ลงไม่มีอะไรห้ามอยู่ เหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขาปื๊ด ลงเลย เอ๊ มันเป็นอะไร นี่ละได้ตั้งข้อสังเกต เพราะจิตเสื่อมปีหนึ่งกับ ๕ เดือน มันเป็นอย่างไรจิตของเรานี้ทำความเพียรแทบเป็นแทบตายได้ ๑๔-๑๕ วันไปถึงจุดที่อยู่ตัวในขณะนั้นเวลานั้น แน่วสบาย ๓ วันแล้วลง เป็นเพราะเหตุไร ค้นหาเหตุหาผล เรากำหนดเอาแต่ผู้รู้ด้วยสติเฉยๆ เผลอได้
เอ๊ มันเป็นอย่างไร มันจะเป็นเพราะเราขาดคำบริกรรม สติไม่ได้จับคำบริกรรมละมั้งมันถึงได้เสื่อม เอา คราวนี้จะเอาคำบริกรรมกับจิตติดกับกันแล้วก็เอาสติจับเข้าอีกทีหนึ่ง บังคับไม่ให้มันคิด สติจับติดเอาเลย ไม่มองหน้ามองหลังอะไรทั้งนั้น พอดีระยะนั้นเราอยู่คนเดียวที่วัดนาสีนวน พ่อแม่ครูจารย์ไปเผาศพหลวงปู่เสาร์เรา ฟัดกันทั้งวันทั้งคืน คืออยู่องค์เดียวเท่านั้นไม่มีงานอะไร มีแต่งานตั้งสติ ท่านบอกว่าท่านมหาอยู่องค์เดียวนะ ไปเผาศพเราจะกลับมาอยู่ด้วยแหละ ท่านว่างั้น
พอดีท่านไปเผาศพแล้วเราไปดักท่านอยู่ที่พระธาตุพนม เขาเรียกวัดอ้อมแก้ว ท่านมานั้นพอดี เรากะว่าวัดนี้เป็นวัดที่ท่านพัก สงัดดี เราก็ไปรอ ท่านมาพอดี ก็เลยเข้ามาบ้านนามน จึงมาเอากันตรงนั้น ฟัดกันใหญ่เลย สติจับติดๆๆ จิตก็เจริญเรื่อย ทีนี้เจริญขึ้นถึงที่นั่นแล้วไม่เสื่อม เพราะสติไม่ถอยเลย เจริญพุ่งไปได้ นี่ขาดสติบอกแล้วนั่น จากนั้นไม่เคยเสื่อมอีก ตั้งแต่ตั้งสติกับคำบริกรรมไม่ให้เผลอจากกัน มันจะเสื่อมเอาเสื่อมไป เจริญก็เจริญไป เคยเสื่อมเคยเจริญ เราเสียใจเพราะจิตเสื่อมนี้มากต่อมาก คราวนี้ปล่อยเลย เอาจะเสื่อมไปไหนเสื่อม แต่พุทโธกับสตินี้จะไม่ยอมให้เสื่อมกัน ฟัดกันตรงนี้เดี๋ยวก็ขึ้น ขึ้นเลย คราวนี้ไม่เสื่อมนะ คือปล่อยหมด แต่สติกับคำบริกรรมไม่ปล่อย เลยตั้งขึ้นได้ตรงนี้เรื่อย
จากนั้นมาไม่เสื่อมเรื่อย ฟาดเสียนั่งจนหามรุ่งหามค่ำ นั่งตลอดรุ่งนะ พอมาจากเผาศพมาพร้อมกันกับท่านจากธาตุพนม พักวัดนาสีนวน ทีนี้ก็เอาละ เอาใหญ่เลย นั่งตลอดรุ่งๆ ก้นแตกนะ เว้นคืนหนึ่งหรืออย่างมากสองคืน นั่งตลอดรุ่ง ลองดูซิใครนั่งตลอดรุ่งเอามาแข่งกันหน่อยน่ะ ที่พูดนี้เราทำแล้วนะจนก้นแตก ทีแรกมันออกร้อนก้น มันไม่ได้แตกละทีแรก ออกร้อน วันหลังเอาอีก คือมันร้อนก้นมากเข้ามันก็พอง จากพองมันก็แตก แตกก็เลอะเลย ไม่ถอย เอาเสียจนกระทั่งพ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านรั้งเอาไว้ จากนั้นก็ไม่นั่งตลอดรุ่งอีกเรื่อยมาเลย จิตก็ก้าวเรื่อยๆ ทีนี้ไม่เสื่อมละ
คือนิสัยเรามันนิสัยผาดโผนรุนแรงมาก ว่าตรงไหนขาดสะบั้นไปเลย ทีนี้เวลาลงความเพียรทางนี้ก็เหมือนกัน จนท่านรั้งเอาไว้ เช่นนั่งตลอดรุ่ง ถ้านั่งตลอดรุ่งวันไหนได้ธรรมอัศจรรย์ทุกคืนไม่พลาดนะ นั่นละได้ธรรมอันนั้นละไปกราบเรียนท่านจากการนั่งตลอดรุ่ง ทีแรกท่านก็ชมเชยสรรเสริญ ครั้นต่อมาท่านก็พูดบ้างไม่พูดบ้าง เรายังไม่รู้ตัว พอถึงวาระท่านจะรั้ง พอขึ้นไปกราบปั๊บๆ สารถีฝึกม้า ขึ้นก่อนเลย ถ้าม้าตัวไหนมันผาดโผนโจนทะยาน ฝึกยากเขาต้องฝึกอย่างหนัก ไม่ควรให้กินหญ้าไม่ให้กิน ไม่ควรให้กินน้ำไม่ให้กิน แต่การฝึกหนักตลอด เอาจนกระทั่งม้านี่ค่อยหายพยศลงๆ จนกระทั่งใช้การใช้งานได้แล้วการฝึกเช่นนั้นเขาก็งด ท่านพูดเท่านั้น
เราก็มาระลึกได้ที่เราหักโหมเรา เราก็ไม่นั่งตลอดรุ่งอีก นี่ก็ท่านรั้งเอาไว้ อย่างนั้นละนิสัยมันจริงจังมาก ถ้าทำอะไรไม่เหลาะแหละ ถ้าลงว่าเอาเท่านั้นละเป็นขาดไปเลยเรา เป็นนิสัยอย่างนี้มาดั้งเดิม คือจริงจังทุกอย่าง ถ้าลงได้ลงใจกับสิ่งใดแล้วเอาขาดสะบั้นไปเลย ถ้าไม่ลงใจหากไม่ลง เพราะฉะนั้นมันถึงได้ถกเถียงครูบาอาจารย์ อย่างที่เคยเล่าให้ฟัง เถียงพ่อแม่ครูจารย์มั่น ที่วัดหนองผือพระแตกมาทั้งวัด มาเต็มอยู่ใต้ถุน เราสององค์ฟัดกัน อย่างนั้นละมันไม่ลงใครง่ายๆ นะ มันอาจหาญอยู่ถ้าว่าอาจหาญ มันต้องการหาความจริง ถ้ายังไม่ลงก็ต้องเอากันอยู่นั้น พอลงแล้วหมอบปั๊บพุ่งเลยนะ ถ้าไม่ลงหากไม่ลง เป็นอย่างนั้นละเอาจริงเอาจังมาก จนกระทั่งความเพียรตั้งได้เลยที่นี่ ตั้งได้เป็นสมาธิ
คือจิตนี้ธรรมดาไม่ได้ปรุงอยู่ไม่ได้ มันอยากคิดอยากปรุง อยากรู้อยากเห็น มันปรุงดันดันออกให้คิดไม่ได้คิดอยู่ไม่ได้ บังคับอันนี้ด้วยสมาธิไม่ให้มันคิดมันปรุง จนกระทั่งจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิจริงๆ แล้วไม่อยากคิดนะ ความคิดปรุงเป็นเรื่องรำคาญ ทีแรกไม่ได้คิดปรุงไม่ได้รำคาญต้องได้คิดได้ปรุง ทีนี้เวลาจิตเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงแล้วนี้จะคิดจะปรุงมันรำคาญ นั่งอยู่เป็นเหมือนหัวตอแน่วอยู่ มันติดแล้วนั่น พ่อแม่ครูจารย์มาลากออกจากนั้น ออกจากสมาธิหมูขึ้นเขียง ไล่ลงทางด้านปัญญา พอท่านไล่ออกทางด้านปัญญาก็สมาธิมันพร้อมแล้วนี่ พอออกทางด้านปัญญามันก็ผึงเลยทันที นี่ท่านก็รั้งเอาไว้อีก มันไม่นอนทั้งวันทั้งคืน
ไปเล่าให้ท่านฟัง บอกว่าที่พ่อแม่ครูจารย์ให้ออกทางด้านปัญญาเวลานี้มันออกนะ มันออกยังไง ก็มันไม่นอนทั้งวันทั้งคืนเราก็บอกตรงๆ นั่นละมันหลงสังขาร เถียงท่านสักพักหนึ่งหมอบ ต่อจากนั้นไปก็เอากันเรื่อย ทีนี้ก้าวเข้าสู่ความเพียรอัตโนมัตินะ ความเพียรระหว่างกายกับจิต อสุภะอสุภังนี้หนักมากประเภทหนึ่ง อสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบนี้เอากันอย่างหนัก พอผ่านอันนี้ไปแล้วมันก็หมด นี่มันเป็นขั้นๆ ของมันนะ พอหมดสภาพอันนี้แล้วจะพิจารณาเรื่องกายเป็นสุภะอสุภังไม่ทัน พอเกิดพับดับพร้อมๆ แยกไม่ทันเลย จากนั้นก็มีแต่ภาพปรากฏๆ เกิดดับพร้อมๆ ตามเข้าหาจิต ไปม้วนเสื่อกันที่จิต นั่นละหมด หมดตรงนั้นละ
นี่พูดถึงเรื่องความเพียรมันเป็นขั้นๆๆ นะ พอก้าวเข้าสู่สติปัญญาอัตโนมัติแล้วก็หมุนเข้ามาหามหาสติมหาปัญญา เข้าสู่ความเกิดความดับของจิต เกิดพับดับพร้อมๆ เกิดที่จิตดับที่จิตๆ จ้อเข้าไปๆ ต่อไปก็ไล่เข้าไปถึงอวิชชาที่อยู่กับจิต พออวิชชาขาดสะบั้นลงไปแล้วหมดเลย ไม่มีอะไรที่จะมาดันให้ปรุงคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่คิด ไม่คิดไม่อยากปรุงละ นั่นเป็นขั้นๆ นะ ขั้นอสุภะอสุภังเป็นขั้นที่หนักมากทีเดียว นี่ละเขาเรียกว่าขั้นกามราคะ ราคะตัณหาอยู่ขั้นนี้ ถ้าเอาอสุภะอสุภังหนักๆ แล้วอันนี้จะสงบตัวลง ท่านให้ไปเยี่ยมป่าช้าก็ไปเยี่ยมอันนี้เอง พออันนี้เบาลงๆ อันนี้หมดปัญหา
พออันนี้หมดปัญหากามราคะก็หมดไปตามๆ กัน จากนั้นมันก็ฝึกซ้อม รูปภาพปรากฏขึ้นยังไม่ได้แยกเป็นสุภะอสุภะเลย พอเกิดพับดับพร้อมๆ มันก็เอาความเกิดความดับเข้าไปจับไว้ที่จิต เกิดดับๆ ที่จิต ตามเข้าไปๆ ก็ไปถึงกันที่นั่น อวิชชาอยู่ที่นั่นทำให้คิดให้ปรุง ฟาดอวิชชาขาดสะบั้นลงแล้วความคิดปรุงประเภทนี้ไม่มี หมด นั่นเป็นขั้นๆ ไปอย่างนั้น เมื่อเวลาถึงขั้นพอแล้วมันพอ ไม่ได้เหมือนทางโลก งานทางโลกไม่มีพอ ได้เท่าไรไม่พอ หาตลอดหาจนวันตาย ได้เท่าไรไม่มีวันพอคือกิเลส ธรรมนี้พอเป็นลำดับลำดา พอจนกระทั่งถึงกิเลสขาดไปหมดแล้วพอ
วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ ดับหมด การถอดถอนกิเลสที่เป็นงานอันใหญ่โตมากที่สุด พออันนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ขึ้นเอง จากนั้นมาก็ไม่ได้ชำระกิเลสตัวใด หมด นี่ละพอพอถึงขั้นนั้นแล้วพอ พระอรหันต์ท่านไม่ได้ชำระกิเลส พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วท่านอยู่ด้วยวิหารธรรม เดินจงกรมท่านก็เดิน เดินมีสามประเภทการเดินจงกรมของพระอรหันต์ เดินพิจารณาความหยาบความละเอียดของธรรมทั้งหลายด้วย เดินเพื่อธาตุเพื่อขันธ์เป็นวิหารธรรมความอยู่สะดวกสบายบ้าง เปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมาอยู่งั้น ที่จะได้ละกิเลสไม่มี หมด
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านจึงเดินจงกรมอยู่กระทั่งวันนิพพาน มีในตำรา ท่านเดินเพื่อวิหารธรรมของท่านหนึ่ง เดินเพื่อพิจารณาเล็งญาณดูสัตวโลก นั่งก็นั่งเพื่อพิจารณาเล็งญาณดูสัตวโลก ตามกำลังความสามารถของท่าน ผู้มีความลึกตื้นหยาบละเอียดแห่งญาณความรู้ของท่าน จากนั้นก็วิหารธรรมทางธาตุขันธ์ให้อยู่สะดวกสบาย ยืน เดิน นั่ง นอน สม่ำเสมอหนึ่ง นั่น ส่วนที่จะให้ท่านแก้กิเลสไม่มี หมด ทีนี้ก็พอละ หมด ธรรมนี้เมื่อไปถึงขั้นพอแล้วพอ จะทำไงให้เพิ่มเติมอีกไม่มี ส่วนกิเลสนี้ไม่มีคำว่าพอตายทิ้งเปล่าๆ ได้มากเท่าไรยิ่งคืบยิ่งคลานยิ่งดีดยิ่งดิ้น เอาจนตายกับกองสมบัติ ได้มากน้อยเพียงไรตายกับกองสมบัติ หาวันแยกตัวออกไม่ได้ แต่ธรรมนี้เวลาหนักเข้าภายในใจอันนั้นมันจะจางออกๆ
วัตถุสิ่งของอะไรมีมากมีน้อย แต่ก่อนมีค่ามาก พอธรรมเกิดขึ้นมันเป็นคู่แข่งกัน ธรรมมีคุณค่ามีราคาเหนือกว่าๆ แล้วก็ค่อยจางไป ข้างนอกจางไปข้างในหนักแน่นเข้าๆ ต่อมาก็หมุนอยู่ที่ใจ ฟาดที่หัวใจขาดสะบั้นลงไปปล่อยหมดโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ นั่น ท่านว่าท่านเสร็จกิจ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ไปเสร็จที่ตรงนั้น ทีนี้ปล่อยเลยไม่ได้ทำอะไรความพากความเพียรแก้กิเลสอะไรไม่มี อย่างนั้นละการประกอบความเพียรถึงขั้นพอพอ ส่วนกับกิเลสไม่มีคำว่าพอ ตายทิ้งเปล่าๆ ทางธรรมะนี้พอ ถึงขั้นพอแล้วพอ หาอะไรมาเพิ่ม เพิ่มอะไรมันพอแล้วนี่ นั่นมันก็รู้อย่างนั้น
ให้พากันตั้งใจปฏิบัตินะ นักภาวนาเท่านั้นที่จะรู้เหตุรู้ผลรู้อรรถรู้ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ นอกจากนั้นรู้ได้ยากนะ ที่จะรู้อรรถรู้ธรรมเป็นของแปลกประหลาดรู้ที่จิต สติเป็นสำคัญ อย่าปล่อยให้จิตมันเพ่นพ่านๆ ถ้าสติเผลอแล้วจิตจะเพ่นพ่านๆ ออกไปกวน ไปหากว้านเอานั้นกว้านเอานี้เป็นกิเลสมาเผาตัวเอง ถ้าสติครอบเอาไว้แล้วมันก็ไม่คิด มันก็สร้างฐานแห่งความสงบร่มเย็นขึ้นมาๆ ต่อไปก็แน่นหนามั่นคงขึ้นภายในใจ พากันจำเอา เอาละเท่านั้นละพอ วันนี้ว่าจะไม่พูดอะไรมากนะ ก็พูดมากอยู่แล้วนี่
พูดอย่างนี้ก็ออกทั่วประเทศไทยนี่ ใครอยากฟังก็ฟังซิกรรมฐาน กรรมฐานเทศน์มีที่ไหน ไม่ค่อยมีใครทั่วประเทศไทย เราพูดตามความจริงผู้ที่จะมาเทศน์เรื่องกรรมฐาน ให้จะให้แจ้งชัดเจนตามหลักความจริงมีน้อยมาก พูดก็พูดไปตามปริยัติที่ศึกษาเล่าเรียนมาก็กลายเป็นหนอนแทะกระดาษไปเสีย เราไม่ได้ตำหนิท่านตำหนิเรา เป็นมาด้วยกันแล้วก็พูดได้ละซิ ทีนี้เวลามันเข้าถึงภายในจิตจริงๆ แล้วมันจะไม่ออกไปกระดาษนะ มันจะหมุนอยู่ภายใน จนขาดสะบั้นไปจากนี้ เพราะกิเลสอยู่ที่นี่ธรรมอยู่ที่นี่ ขาดสะบั้นไปจากที่นี่แล้วหมดเลย นั่น เอาละทีนี้จะให้พร
รับชมและรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz
และเครือข่ายทั่วประเทศ |