อย่าพูดมากนักภาวนา
วันที่ 29 สิงหาคม 2549 เวลา 8:00 น. ความยาว 49.2 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

อย่าพูดมากนักภาวนา

ก่อนจังหัน

กรุณาทราบ เฉพาะภายในจังหวัดนี้หมายถึงจังหวัดอุดรแล้วก็ที่อื่นๆ ด้วย ที่เข้ามาในวัดนี้มันเคยเป็นนิสัยเพ่นพ่านๆ เที่ยวตรวจตราพาทีวัด เหมือนว่าวัดนี้จะถูกตัดคะแนนจะเพิ่มคะแนน พวกนี้พวกมาให้คะแนนพระ มาเมื่อวานนี้เราเองละขนาบเลยเทียว มันพิลึกพิลั่นเหลือเกิน เพ่นพ่านๆ ๕ โมงแล้วนะเมื่อวานนี้ยังเพ่นพ่านๆ เปิดประตูจะเข้ามานี้ มาอะไร ถาม หาเหตุหาผลไม่ได้ ไล่เดี๋ยวนั้นเลยเชียว มันเลอะเทอะมากนะฆราวาสนี่ เข้ามาวัดมาวาจะมาตัดคะแนนมาเพิ่มคะแนนให้พระด้วยนะ มาแบบหยิ่งๆ เสียด้วย ทุเรศเหลือเกิน

พวกส้วมพวกถานมาอวดทองคำทั้งแท่ง อย่ามาอวดนะ โลกอันนี้ไม่มีอะไรเลิศยิ่งกว่าธรรมของพระพุทธเจ้า เหล่านี้พวกมูตรพวกคูถที่อวดเป็นทองคำๆ ไปที่ไหนเย่อหยิ่งจองหอง เอายศเอาลาภเอาสมบัติเงินทองข้าวของมาอวดๆ ประสาส้วมถานมาอวดหาอะไร ธรรมเลิศเลอขนาดไหน ให้มันจ้าในหัวใจลองดูซิน่ะ นี่มันทนไม่ได้ เคยว่าบ่อยๆ ว่าบ่อยๆ เมื่อวานนี้ได้บอกให้อ่าน มองดูลักษณะท่าทางแล้วถาม จะมาธุระอะไรมาเพ่นพ่านๆ เราก็เลยบอก วัดนี้มีขอบมีเขตมีกำหนดกฎเกณฑ์ มีธรรมมีวินัยท่านรักษาของท่าน ไม่จำเป็นอย่ามาเพ่นพ่าน เราบอก เขียนไว้นี่อ่าน เราบอกงั้น ให้อ่านประตูวัดเมื่อวานนี้

มันเลอะเทอะนะพวกฆราวาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระ พระท่านก็ไม่กล้าจะพูดว่ายังไงๆ พระทั่วประเทศไทยนี้จะไม่กล้าพูดให้ญาติโยม กลัวเขาจะไม่เอาข้าวใส่บาตรให้ หลวงตาไม่ได้คำนึงถึงข้าวใส่บาตรไม่ใส่บาตร คำนึงถึงความดีชั่วของคนที่เกี่ยวกับธรรมต่างหาก เราสอนนี่จะดุด่าว่ากล่าวไม่มีอะไรเสียหาย พิจารณาเรียบร้อยแล้ว ให้ได้เป็นข้อคิดๆ ซิ จะมาเย่อหยิ่งจองหองในวัดในวาซึ่งเป็นของเลิศเลอไม่ได้นะ มันมีอยู่บ่อยๆ ถ้าไปเจออย่างกับเราค่อยยังชั่ว ลักษณะโลกเขาดูแล้วว่าดุ แต่เป็นธรรมทั้งนั้นนะนั่นออก ที่ออกเมื่อวานนี้ก็เอาเสียบ้างแหละ ให้อ่านด้วยนะเมื่อวานนี้ อ่านดูซิท่านเขียนว่ายังไง

มาเพ่นพ่านๆ ไม่ได้หน้าได้หลังอะไรเลย เลอะเทอะ พวกนี้เลอะเทอะ ไปไหนมีแต่เลอะเทอะ พระผู้ท่านรักษาท่านรักษาอยู่ เรื่องหลักธรรมหลักวินัย หลักศาสนา ท่านรักษาอยู่ มาเพ่นพ่านๆ มันมาทำลาย มาทำลายหาอะไร เกิดประโยชน์อะไร อย่าเอาอะไรมาหยิ่งต่อธรรม ไม่มีอะไรหยิ่งได้ในโลกอันนี้ ให้พากันพินิจพิจารณานะมาวัดมาวา ถึงเวลาที่ควรจะออกจากนี่ ผู้มาทำงานทำการอะไรก็ให้รีบออก อย่ามาเพ่นพ่านๆ ถึงค่ำยังไม่ออกไปไม่ได้นะ วัดท่านมีกฎมีเกณฑ์ของท่าน มาทำเลอะเทอะไม่ได้นะ มองดูแล้วมันดูไม่ได้

ท่านปฏิบัติท่านรักษาท่านอยู่ตลอดเวลา ไอ้เรามาเพ่นพ่านมันขวางหูขวางตา ถ้าพอจะพูดก็พูดบ้าง ส่วนมากพระท่านไม่พูดแหละ ท่านเกรงใจพวกญาติพวกโยม ไอ้เรานี่เกรงธรรม ไม่ได้เกรงใจใครยิ่งกว่าธรรม เพราะฉะนั้นถึงบอกโดยคำสัตย์คำจริงอย่างนี้แหละ

หลังจังหัน

(พระท่านภาวนาจิตมันลงเห็นร่างกายตัวเองเกิดสลดสังเวช แล้วร้องไห้ตลอด ภาวนาทีไรพอไปถึงจุดนั้นแล้วต้องร้องไห้ตลอด ไม่ทราบจะปฏิบัติอย่างไร) ถ้าจะเทียบกันแล้ว โลกร้องไห้ด้วยความทุกข์ความทรมาน พระท่านภาวนาท่านเห็นรูปเห็นกายเกิดความปีติยินดี ที่ท่านร้องไห้เพราะการภาวนาของท่าน นานๆ จะได้เจอ พึ่งมาเจอนี่ ตั้งแต่มาสร้างวัดจะว่าไง นี่ท่านเป็น กำหนดลงไปมีแต่ความปีติยินดีมันอดร้องไห้ไม่ได้ ท่านอยู่ส่องดาวในภูเขา ภาวนาเกิดจิตสว่างไสว อัศจรรย์ เกิดปีติยินดีร้องไห้ตลอด จะมาให้หลวงตาแก้ ท่านอยู่วัดป่าดอนตาล อ.ส่องดาว เราก็เคยผ่านไปผ่านมาแถวนั้นบ่อยๆ แต่ไม่ได้พัก พักภาวนานะ

ปีติมี ๔ ถึง ๕ ปีติในการภาวนา ผู้เฒ่าก็เป็นประเภทใดประเภทหนึ่งนั่นแหละ อุพเพงคาปีติ นี้ผาดโผนอยู่หน่อย มีอยู่หลายปีติ อยู่วัดดอนตาล อ.ส่องดาว ภาวนาเกิดความปีติยินดี อย่างที่ผู้เฒ่าแสดงให้เห็นอยู่นั่น มันเป็นของมันเอง ให้มาแก้ให้ ปีติเราก็ลืมแล้วแหละเรียนมานาน จำได้แต่ว่าอุพเพงคาปีติ เป็นปีติที่ผาดโผนดุเดือดอยู่ นอกนั้นปีติเรียบๆ ธรรมดา มี ๕ ประเภทด้วยกัน ผู้ใดจะเป็นก็เป็นในนี้ ถ้าสมมุติว่าจะเป็นปีติก็ในลักษณะ ๕ ชนิดนี้

ปีตินี้เราก็เคยเป็น เริ่มภาวนาทีแรก เรียนหนังสืออยู่ก็ภาวนา เป็นในตอนนั้น เวลาหยุดจากการเรียนขึ้นเวทีใหญ่นี้แล้ว ปีตินี้เลยไม่ผ่าน ไปใหญ่เลย มาหาพ่อแม่ครูจารย์มั่นอันนี้ละพุ่งใหญ่เลย ตั้งแต่เราเรียนหนังสืออยู่ภาวนาปีติยินดี มันอะไรพูดไม่ถูก มันเป็นกับเจ้าของก็รู้เอง ปีติยินดีรื่นเริงอยู่ในจิตนี้ พูดให้ใครฟังพูดยากนะ เราเคยเป็น เริ่มฝึกหัดภาวนาพรรษาหนึ่ง พรรษาสอง นี่เป็น เวลาเรียนหนังสือจริงๆ การภาวนาก็ไม่หนักแน่นมากนัก จนกระทั่งหยุดจากการเรียนออกปฏิบัติ ทีนี้เอาใหญ่ ปีติมีตอนต้นๆ

เรื่องธรรมพระพุทธเจ้านี้ให้สัมผัสเข้าเถอะ อย่างขั้นปีตินี้ก็เอิบอิ่มภายในตัว หากมีความเอิบอิ่มอยู่ภายในลึกๆ อยู่ที่ไหนก็รื่นเริงอยู่ภายในๆ เวลาได้ออกภาวนาจริงๆ คือเรามันเรียงลำดับลำดาตัวเองได้ ตั้งแต่เริ่มบวชทีแรกก็ได้ความอัศจรรย์ขึ้นที่วัดโยธานิมิตรนี้ เราลืมเมื่อไร วัดโยธานิมิตร หนองขอนกว้าง กรมทหาร ภาวนาเวลามันสงบนี้มันไม่ได้สงบธรรมดา เราไม่ได้คาดได้คิดแต่มันเป็นขึ้นกับใจนี้ โอ้โห พูดไม่ถูก มันสะเทือนภายในนี้ มันตื่นเต้น จิตรวมเข้ามาๆ ก็เราไม่เคยเป็น เราเห็นท่านพระครูท่านเดินจงกรมตอนเช้า ตี ๔ ตี ๕ ท่านลงไปเดิน เราเป็นนาคนอนอยู่ในโบสถ์ก็ได้สังเกตท่านอยู่

แต่ก่อนก็เคยมีพระกรรมฐานมาพักอยู่บ้านตาดเหมือนกัน เวลาไปบวชก็ไปเห็นท่านพระครูท่านเดินจงกรม เรียกว่ามันชินใจอยู่แล้วแหละ มันเคยมาบ้างแล้ว เรามาถามภาวนากับท่าน อยากภาวนาจะให้ภาวนายังไง ท่านก็บอกว่า เอ้อ เอาพุทโธนะ เราก็เอาพุทโธ ท่านว่างั้น  เอาภาวนาพุทโธ เราก็ภาวนาพุทโธนั่นแหละ เราก็จับอันนั้นภาวนาไปเรื่อย ตามประสีประสานั่นแหละภาวนา เวลาจะนอนก็นอนธรรมดา

บทเวลามันจะเป็นมันหากเป็นของมันเอง ภาวนาเข้าๆ กระแสของจิตมันหดเข้ามาๆ เหมือนเราตากแหเอาไว้ เวลาภาวนาพุทโธ ๆ เหมือนดึงจอมแหเข้ามา ตีนแหก็หดเข้าๆ ทีนี้กระแสของจิตซึ่งเป็นเหมือนกับตีนแหมันหดเข้ามาๆ เลยเป็นอาการให้สนใจอันหนึ่ง สติจ่อเข้าๆ ภาวนาหดเข้ามาๆ เวลาหดเข้ามาๆ ก็ยิ่งเป็นจุดสนใจให้ตั้งสติมากขึ้นๆ สักเดี๋ยวเข้ามาถึงที่เลย กึ๊กเลย นั่นละที่ว่าดึงจอมแหเข้ามาเป็นกองแหเลยที่นี่ คือมาอยู่จุดเดียว กึ๊กลงตรงนั้น โถ อัศจรรย์เอาเสียจน ก็เราไม่เคยเป็น ในชีวิตนี้ซึ่งเป็นก็มีหนนั้นละ เรียกว่าเป็นหนแรกเลย

มันอัศจรรย์ ตื่นเต้น วันหลังเอาใหญ่เลยไม่ได้เรื่อง เรียนหนังสืออยู่ ๗ ปีจิตลงอย่างนั้น ๓ หนเราจำไม่ลืม อันนี้ละเป็นเชื้อสำคัญฝังลึกมากอยู่ในนี้ เวลาออกภาวนาจะเอาอันนี้ให้ได้ว่างั้นนะ ทีนี้ออกก็เอาจริงๆ เอามันก็ได้จริงๆ พอหยุดจากการเรียนแล้วก็มาโคราชนี่แหละ ขึ้นมาจำพรรษาที่จักราช โคราช เอาใหญ่เลยเทียวก็ได้ เรื่องภาวนาเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อไร ให้ได้เห็นเข้าซิน่ะ คิดดูอย่างที่เราตั้งแต่บวชมา ตั้งแต่เกิดมาว่างั้นเถอะน่ะจนกระทั่งมาบวช มาเรียนภาวนากับท่านพระครู ท่านบอกให้เอาพุทโธ เราก็เอาพุทโธ ท่านว่า เราก็ยึดอันนั้นมาพุทโธๆ ว่าสะเปะสะปะไปอย่างนั้นแหละ ตั้งสติสักเดี๋ยวมันก็เผลอ แล้วก็นอน ทำไป

บทเวลามันจะเป็นมันก็เป็นอย่างว่า เข้ามาถึงนี้กึ๊กเลยเทียว ขาดหมดเลยนะ มันไม่ใช่สมาธิธรรมดา มันเป็นเรื่องที่ให้เกิดความตื่นเต้นจนกระทั่งไม่ลืมถึงทุกวันนี้ มันตื่นเต้นไม่เคยเป็น กึ๊กเลย ขาดหมดเลย โอ้โหย ทำไมจึงเป็นอย่างนี้จิตนี้ จิตรวมธรรมดาเราก็เคยรวมแล้ว หลังจากนั้นไปรวมมันก็รู้ๆ แต่ที่รวมอย่างนั้นไม่เคยเป็น เป็น ๓ หนเป็นอย่างนี้ เรียนหนังสืออยู่ ๗ ปีเป็น ๓ หน มันฝังลึกนะ เรื่องธรรมถ้าได้เข้าสัมผัสใจแล้วมันฝังลึก มันเป็นอยู่ลึกๆ พูดกับใครก็ไม่สนิทใจที่จะพูด หากเป็นอยู่ลึกๆ คิดดูอย่างที่เราเรียนหนังสืออยู่นั้น ใครทราบเมื่อไรว่าเราสนใจภาวนา อยู่กับเพื่อนกับฝูงก็เหมือนลิงเหมือนค่าง กิริยาเขาก็เป็นลิง กิริยาเราก็เป็นลิง ลิงพระเข้าใจไหม กิริยาอยู่ในวงพระนั่นแหละ หากลิงของพระ พูดหยอกตลกกันอะไรเล่นธรรมดาของพระ ไม่ให้นอกเหนือจากนั้นไป เขาเป็นลิงเราก็เป็น แต่ภายในไม่ให้ใครทราบ เป็นอยู่ลึกๆ ทำอยู่อย่างนั้น

มันจะเป็นนิสัยอะไรก็ไม่ทราบมันหากเป็น ไม่มีใครเตือนใครบอกมันเป็นอยู่ลึกๆ เรียนหนังสืออยู่ก็ไม่หยุด เว้นแต่เวลาเร่งหนังสือที่จะสอบ ภาวนานี้ห่าง เบาหน่อยๆ เร่งหนังสือสอบ บทเวลาเอากันใหญ่ก็คือ พอหยุดจากการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ทีนี้จะออกละ ไปอยู่จักราชฟัดกันใหญ่เลย จิตที่ว่านั้นได้เลย มันก็ไปเสื่อมดังที่เคยเล่าให้ฟัง เพราะไม่รู้จักวิธีรักษา มันเป็นขึ้นมานึกว่าจะไม่เสื่อม เวลามันเสื่อมเอาไว้ไม่อยู่ ปีหนึ่งกับห้าเดือน เราไม่ลืมนะทุกข์มากที่สุด จึงไปตั้งใหม่ จิตเสื่อมไปได้ปีกับห้าเดือน พฤศจิกาไปถึงเมษาปีหน้า ปีกับห้าเดือนนี่เสื่อม เหมือนตกนรกทั้งเป็น

ถ้าไม่ได้อะไรเลยนี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าลงมันได้เป็นแล้วมันเสื่อมลงไปนี้แหม เสียใจมากทีเดียว เราไม่ลืม ฝังลึกมากเชียว จนกระทั่งได้ตั้งใหม่ ความเสียดายเรื่องจิตเสื่อมนี้ก็เสียดายพอทุกข์พอ จึงได้มาตั้งใหม่ดังที่ได้เล่าให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ทำไมจิตนี่ตั้งขึ้น พยายามได้ ๑๔-๑๕ วันไปถึงที่นั่น อยู่ได้เพียงสองคืน พอสามคืนนี้เหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขาปึ๋งลงเลยไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น เวลาเสื่อมเสื่อมเร็ว เวลาไสขึ้นแทบเป็นแทบตาย นี่ก็เป็นอยู่ปีกับห้าเดือน เอามาพินิจพิจารณามันเป็นเพราะเหตุไรนา ขึ้นไปแล้วเวลาเสื่อมเสื่อมอย่างไม่ฟังหน้าฟังหลังอะไรเลย

จะเป็นเพราะเราขาดคำบริกรรมละมัง คือจิตตอนนั้นเรากำหนดความรู้เฉยๆ มันเผลอได้ คงจะขาดคำบริกรรม ไม่มีคำบริกรรมกำกับใจ สติจะเผลอไปตรงนั้น เอ้าทีนี้ตั้งใหม่ นี่ละที่ได้นะ เอาคำบริกรรม ตั้งคำบริกรรมแล้วสติจับคำบริกรรม ความคิดความปรุงอะไรไม่เสียดาย ห้ามคิดทั้งหมด จะคิดแต่คำบริกรรมคือพุทโธกับสติให้ติดแนบอยู่นั้นไม่ให้เผลอเลย เอ้า มันจะเสื่อมไปตรงไหนคราวนี้ สังเกตกันตรงนี้ เอ้าเสื่อมก็เสื่อมไป ปล่อยละที่นี่ แต่ก่อนไม่ปล่อย เป็นทุกข์มาก ทีนี้ปล่อยเลย เอา เจริญก็เจริญไป เสื่อมก็เสื่อมไป แต่พุทโธคำบริกรรมกับสตินี้จะไม่เผลอ อันนี้ไม่ให้เสื่อมไปได้เลย เอาตรงนี้เลยไม่ให้เผลอ ทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไม่ให้เผลอไปไหนเลย

นิสัยเรามันเป็นนิสัยจริงจังนะ อันนี้รู้สึกจะผิดแปลกกับคนทั้งหลายอยู่บ้างก็คือนิสัยจริงจังมาก ถ้าลงได้ลงตรงไหนแล้วขาดสะบั้นไปเลยเป็นอย่างนั้น ถ้าลงใจแล้วเป็นได้ ถ้าไม่ลงแล้วก็คาราคาซัง เพราะฉะนั้นจึงได้โต้กับพ่อแม่ครูจารย์มั่นอยู่เสมอ คือหาความจริง ถ้าไม่ลงแล้วมันก็ไม่สนิทที่จะลงใจ ถ้าลงตรงไหนแล้วมันผึงเลย ลงใจแล้วหมอบราบ หมอบราบพุ่งเลย เป็นอย่างนั้น นี่ก็มาเอาคำบริกรรมกับสติติดกัน ทีนี้ไม่เผลอไปไหนละ ก็เป็นโอกาสอันดีเสียด้วย ระยะนั้นพักอยู่ที่นาสีนวลวัดร้างเขา พ่อแม่ครูจารย์พาไปพักอยู่ที่นั่น ทีนี้ท่านจะไปเผาศพพ่อแม่ครูจารย์เสาร์ ท่านก็สั่งเสียว่า เอ้อ ท่านมหาให้พักคอยอยู่นี้นะ จะไปงานศพครูจารย์ก่อนจะกลับมาหาละท่านว่างั้น นั่นละเป็นโอกาสดีอยู่คนเดียว ได้ตั้งสติถนัดไม่มีเผลอเลย อยู่คนเดียววัดร้างเขา จับได้จุดนั้นแล้วก็ตั้งสติให้ดีมันจะเป็นยังไง

ไม่ยอมให้เผลอเลยทั้งวัน ตื่นนอนตลอดหลับไม่ยอมให้เผลอๆ เอา มันเจริญแล้วมันจะเสื่อมไปไหนให้รู้ พอถึงขั้นที่มันขึ้นไปๆ มันจะเสื่อม เอ้า เสื่อม ปล่อยเลย แต่คำบริกรรมกับสตินี้จะไม่ปล่อย จับตลอดเลย ถึงนี้แล้วแทนที่จะเสื่อม เสื่อมก็ไม่เสียดายเพราะเคยเสียดายพอแล้ว สร้างกองทุกข์ให้เรามากมาย ปล่อย พอถึงนั้นแล้วไม่เสื่อม หมุนเรื่อยๆ เลยมันถึงขึ้นได้ จากนั้นแล้วไม่เสื่อม นี่คือตั้งสติ สติเป็นสำคัญมาก กิเลสตัวไหนก็ตามเถอะถ้าลงสติดีแล้วกิเลสจะข้ามหัวสติไปไม่ได้ สติต้องข้ามหัวกิเลสไป

เราได้ทำมาแล้ว คือไม่ยอมให้เผลอ ไม่เสียดายความคิดอะไร มีตั้งแต่คำบริกรรมกับสติติดกันๆ ความคิดทั้งหมดปล่อยหมดไม่เอามายุ่ง เอาแต่คำบริกรรม จิตมันก็ตั้งตัวได้ๆ ก็ค่อยสงบๆ ขึ้นเรื่อยๆ ละ เอ้า อยากลงก็ลงอยากเสื่อมก็เสื่อม ปล่อย แต่คำบริกรรมไม่ยอมปล่อย มันก็ขึ้นเรื่อย จึงไม่เสื่อม นี่ละตั้งสติได้ตั้งแต่บัดนั้น จิตเสื่อมอยู่ปีกับห้าเดือนไม่ลืมนะ จากนั้นมาแล้วไม่เสื่อม นี่คือสติ สติเป็นสำคัญมาก นักภาวนาทั้งหลายอย่าเผลอสติ สติเป็นเครื่องประกัน ถ้าสติดีเท่าไรแล้วจิตจะตั้งได้ตลอด ถ้าสติเผลอก็เรียกว่าความเพียรอ่อนแล้วนั่น หรือขาดความเพียรก็ไม่ผิด ถ้าสติยังติดอยู่ตลอดไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอนสติติดตลอดเว้นแต่หลับเท่านั้น ตั้งได้ ยังไงก็ตั้งได้ขอให้จริงจังเถอะน่ะ

กิเลสมันรุนแรงมากนะ ที่จะให้เผลอๆ มีแต่กิเลสนะทำให้เผลอไม่ใช่อะไรทำ กิเลสทั้งนั้น เมื่อธรรมสติธรรมตั้งมั่นๆ ไม่เผลอแล้วกิเลสเกิดไม่ได้ ก็ขึ้นเรื่อยๆ จนขึ้นได้ จากนั้นมาก็นั่งหามรุ่งหามค่ำละที่นี่ ก้าวจากนี้ไปละ พอจิตไม่เสื่อมแล้วทีนี้ก็ฟัดใหญ่เลย นั่งหามรุ่งหามค่ำจนก้นแตก ไอ้เรานี้นิสัยมันมักผาดโผนตลอด ทำอะไรมีผาดโผนเสมอ ก็คิดดูซิอยู่กับพ่อแม่ครูจารย์ท่านได้รั้งเอาไว้ ท่านมีรั้งเสมอ ถ้าว่าสมาธิท่านไล่ลงเขียง ถ้าออกทางด้านปัญญาท่านก็รั้งเอาไว้มันเตลิด มันไม่นอนทั้งวันทั้งคืน นั่นละมันหลงสังขารท่านว่า

คือสังขารที่เป็นฝ่ายมรรคถ้าไปพอดิบพอดีก็เป็นธรรมะ ถ้าผาดโผนเกินไปก็เป็นสังขารสมุทัยแทรก นั่นเราไม่รู้นะ ท่านว่านั่นละมันหลงสังขาร นี่สมุทัยแทรกแล้วนั่นเราไม่รู้ จนผ่านไปแล้วถึงมารู้ทีหลัง นั่งหามรุ่งหามค่ำท่านก็รั้งเอาไว้ ส่วนมากมักจะมีท่านรั้งอยู่เสมอ ถ้าว่าออกทางสติปัญญามันก็หมุนตลอดเลย ท่านก็รั้งเอาไว้ว่ามันหลงสังขาร ทีนี้เวลานั่งหามรุ่งหามค่ำนี้ท่านก็รั้งเอาไว้ คือนั่งตลอดรุ่งคืนไหนนี้มันได้อัศจรรย์ทุกคืนไม่มีพลาดเลย นั่งเก้าคืนสิบคืนแต่ไม่ติดกันนะ เว้นสองคืนบ้างสามคืนบ้างนั่งตลอดรุ่งๆ จนกระทั่งก้นแตก

พอไปเล่าให้ท่านฟัง ทีแรกท่านก็ชมเชยสรรเสริญ เราก็ปีติยินดีมีแก่ใจมันก็เร่งของมันใหญ่ ทีนี้นานไปๆ ไปเล่าให้ท่านฟัง ความชมเชยลดน้อยลงๆ พอต่อไปท่านนิ่งๆ เรายังไม่รู้นะ นั่นละท่านจะเอาแล้วนะนั่น จะรั้งแล้วนั่น บทเวลาท่านรั้งจริงๆ พอขึ้นไปกราบท่าน ท่านยกสารถีฝึกม้ามาเลย ม้าตัวไหนที่คึกคะนองมาก ไม่ฟังเสียงการฝึกการสอนของเจ้าของแล้วเขาจะฝึกอย่างหนักทรมานอย่างหนัก ไม่ควรกินหญ้าไม่ให้กิน ไม่ควรกินน้ำไม่ให้กิน แต่การฝึกเขาจะฝึกอย่างหนัก เอาจนกว่าว่าม้านี้ค่อยลดพยศลงๆ การฝึกเขาก็ค่อยลดลงๆ จนกระทั่งม้านี้ยอมรับการฝึกจากเจ้าของ ทำหน้าที่การงานของม้าโดยปรกติแล้ว การฝึกเช่นนั้นเขาก็ระงับไป

ท่านพูดเท่านั้นแหละ ก็มากระเทือนเราแล้ว เรามันไม่ใช่ม้ามันหมาตัวหนึ่ง เรายังเคยพูดเสมอ อยากให้ท่านหักเข้ามาข้างหลังนี่ ฝึกม้าเขาฝึกอย่างนั้น ไอ้หมาตัวนี้มันฝึกยังไงมันถึงไม่รู้เรื่อง อยากให้ท่านว่างั้น แต่ท่านก็ไม่ว่า จากนั้นมาเราก็ไม่นั่งตลอดรุ่ง เป็นอย่างนั้นนะ ตั้งแต่นั้นมาเอาเรื่อย คือวันไหนมันอัศจรรย์ทุกวัน ถ้าลงได้ตลอดรุ่งวันไหนไม่เคยพลาด ได้ความอัศจรรย์ทุกวัน จิตนี้ลงผึงๆ เลย ความรู้จักประมาณมีอยู่ท่านเหนือเรา ไอ้เราไม่รู้จักประมาณมีแต่จะเอาเรื่อย พอท่านสอนวิธีนั้นหยุด วิธีนั่งภาวนาตลอดรุ่งไม่เอา พักตามธรรมดา

เพราะจิตเราก็ดีแล้วนี่ เรียกว่าม้ามันยอมรับการฝึกเจ้าของแล้ว ทีนี้จิตมันก็ค่อยดีแล้ว เราก็ไม่ได้นั่งตลอดรุ่งอีก เป็นอย่างนั้นละท่านได้รั้งเสมอเรา ถ้าว่าออกทางด้านสติปัญญาก็รั้งเอาไว้ๆ มันออกถึงขนาดไม่นอนทั้งวันทั้งคืน คือมันหมุนของมันอยู่ตลอดเวลาสติปัญญาแก้กิเลส บทเวลามันหมุนจริงๆ แล้วมันไม่มีเวลานะ อยู่ที่ไหนมันก็หมุนของมันตลอดเวลา จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ทีนี้หมุนไปเรื่อยๆ อันนี้ก็จากท่านฝึกทั้งนั้นละเรา ถึงได้มาพูดมาจาพอได้เป็นคติลืมหูลืมตาได้บ้างจากพ่อแม่ครูจารย์มั่น ท่านสอนตรงไหนไม่มีผิดเลย เพราะท่านผ่านมาหมดแล้ว ไอ้เรามันไม่รู้ภาษีภาษา นี่ละการฝึกเป็นสำคัญมากนะ

พ่อแม่ครูจารย์เรียกว่าจอมปราชญ์สมัยปัจจุบัน การฝึกการสอนทางจิตตภาวนานี้แม่นยำมากทีเดียว เราก็ยอมรับ ยอมรับองค์เดียวเท่านี้ ถ้าท่านว่าไงเรายอมรับทันที องค์อื่นไม่ได้ลงง่ายๆ นะ สำหรับท่านนี้ถ้าเถียงก็เถียงเพื่อจะลง ลงความจริง เรื่องเถียงไม่ต้องบอกละ เรากับท่านนี้เก่งมาก บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่น มีองค์ไหนบ้างที่ได้ถกเถียงกันเหมือนนักมวยแชมเปี้ยนเหมือนท่านอาจารย์ คือเรา พระเณรตั้งชื่อให้นามว่าอาจารย์ นี้ไม่มี มีองค์เดียวนี้ ถ้าวันใดได้ฟัดกันแล้ววัดนี้ลั่นเลย ก็เอาจริงๆ เรามันเป็นอย่างนั้น คือหาความจริงนี่ ถ้าลงแล้วลงจริงๆ ลงหมดเลย ทุ่มลงเต็มเหนี่ยวเลยถ้าลง ถ้าไม่ลงมันก็ไม่ลง ขัดข้องอยู่ตรงไหนมันจะคาราคาซังปลงไม่ตก ถ้าได้ลงแล้วผึงๆ เลย มันถึงได้ถกเถียงหาเหตุหาผลหาหลักหาเกณฑ์กับท่าน

นี่พูดถึงเรื่องภาวนา สติเป็นสำคัญนะ ให้พูดน้อยที่สุดนักภาวนา อย่าพูดมากนักภาวนาพูดน้อยที่สุด ต่อยมากที่สุดคือสติธรรมให้ติดแนบอยู่กับใจ เรียกว่าต่อยมากที่สุด เอาให้ดี จิตนี้จะเหนือธรรมไปไม่ได้ เวลานี้กิเลสเป็นเจ้าของของจิต ธรรมเข้าไม่ได้มันเตะธรรม คือสติธรรมขาดสะบั้นไปเลย เอา สติตั้งเข้าให้ดีตั้งให้ดี ต่อไปจิตก็ตั้งตัวได้แล้วสงบร่มเย็น มีรากฐานนะ จิตเราถ้าสงบแล้วมีรากฐานอยู่พอผาสุกเย็นใจ จากนั้นจิตก็เป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงขึ้นมา นี่ละที่นี่สบาย อยู่ที่ไหนสบายหมด

จากสมาธิออกทางด้านปัญญานี้หมุนเป็นธรรมจักรเลย หมุนตลอด จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติฆ่ากิเลสโดยอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัติ มหาสติมหาปัญญาหมุนเรื่อยๆ จนไม่มีกิเลสตัวใดจะตกค้างอยู่ได้เลย ขาดสะบั้นๆ เมื่อสติปัญญามีกำลังแก่กล้าแล้วเป็นอย่างนั้น ให้พากันฝึกนะ ที่สอนมานี้สอนมาด้วยการฝึกมาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่สงสัยในการสอนว่าจะผิดไปไม่มี เราได้ผ่านมาหมดแล้วทุกอย่าง สอนลงตรงไหนแม่นยำๆ เลย ให้พากันปฏิบัติ

ให้พูดน้อยที่สุด อย่าเอาเรื่องเอาราวภายนอกเข้ามากวนจิตใจ คนนั้นไม่ดีคนนี้ไม่ดี คือตัวเจ้าของนั้นแหละตัวคึกตัวคะนอง ตัวอันธพาลนักเลงโตมันอยู่กับเจ้าของ ชอบคิดชอบอ่านชอบปรุงชอบแต่งชอบยกโทษยกกรณ์คนอื่น คนนั้นไม่ดีอย่างนั้นคนนี้ไม่ดีอย่างนี้ ตัวเจ้าของไม่ดีไม่ดู เสียตรงนี้มนุษย์เรา ร้ายช่างชีดีช่างใคร ดูตัวของเราเรามาภาวนาเพื่อดูเรา เราไม่ได้มาเพื่อดูใครนี่นะ ให้พิจารณาตรงนี้ให้ดี แล้วจิตจะค่อยสงบเย็นลงไปๆ ให้พูดน้อย ต่อยมากคือความเพียร เอาให้เร่งทีเดียว จากนั้นก็ตั้งได้ สติตั้งได้ สงบเย็นเรื่อยๆ

จิตที่จะตั้งรากตั้งฐานคือความสงบเบื้องต้นได้นี้ลำบากมาก เพราะกระแสของกิเลสมันรุนแรง ตั้งสติไม่ค่อยอยู่ ต้องอาศัยการตั้งเสมอ การตั้งสตินี้ก็มีเครื่องอุปกรณ์เหมือนกัน เราก็ได้รื้อมาเล่าให้หมู่เพื่อนฟัง ตั้งสติธรรมดาการขบการฉันรับประทานของเรานี้รับประทาน ฉันธรรมดาๆ ตั้งสติมักผิดพลาด ถึงพยายามจะตั้งขนาดไหนมันก็ผิดพลาดจนได้นั่นแหละ ทีนี้ฝึกหัด เอ้า ผ่อนอาหารลง ผ่อนอาหารลงเป็นยังไง ตั้งสติค่อยดีขึ้นๆ ผ่อนลงไปตั้งสติดีขึ้น ถึงขนาดอดอาหาร พออดสติแน่วเลย นั่นจับได้แล้ว แต่เมื่อไม่กินมันก็จะตายจะทำไง ก็อดบ้างอิ่มบ้างนั่นแหละพอฟัดพอเหวี่ยงกันไป ให้มีทางหลบทางสู้เข้าใจไหมล่ะ พอมันได้อย่างนั้นแล้วเราก็มีทางหลบทางสู้ละที่นี่ ถ้ามันจะตายจริงๆ ก็เอ้าๆ ฉัน แล้วผ่อนไปเพื่อสติดีขึ้น ต่อไปสติก็ดี

คำว่าสตินี้ตั้งแต่พื้นนะ จนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญากิเลสขาดสะบั้นลงไปจากสติเท่านั้นเป็นสำคัญ จากนั้นปัญญาก็มาด้วยกัน สตินี้เป็นสำคัญมากตั้งให้ดี เวลาผ่อนอาหารลงไปสติจะดีขึ้นๆ ถ้าจะผ่อนมากๆ มันก็จะตาย เอ้า มีสุขบ้างทุกข์บ้าง อิ่มบ้างอดบ้าง นั่นละให้พยายาม ต่อไปมันก็ตั้งได้ สตินี้เรื่องผ่อนอาหารสำหรับผู้ที่ถูกนิสัย ส่วนมากถูกนิสัยทางการผ่อนอาหารอดอาหาร อันนี้สำคัญมาก ตั้งแต่สติล้มลุกคลุกคลานจนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญา ผ่อนอาหารเท่าไรสติปัญญาทั้งๆ ที่มันเดินโดยลำพังของมันเรียกว่าอัตโนมัตินะ สติปัญญาหมุนตัวเป็นเกลียว พอผ่อนอาหารลงไปอดอาหารลงไปมันยิ่งหมุนเร็ว มันคล่องตัวเร็ว มันช่วยได้ดี

ไม่มีขาดเรื่องสตินี้ดีทุกอย่าง ถ้าลงอดอาหารลงไปแล้วจะหนุนได้ สติตั้งแต่พื้นจนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญายิ่งคล่องตัว นี่ละสำคัญมาก การพิจารณาให้สังเกตตัวเอง อย่าสักแต่ว่าทำๆ เฉยๆ นี่เราเคยทำมาแล้วจนได้มาทดสอบทบทวนดูเหตุผลกลไก แล้วก็ค่อยตามแกะรอยมันไป ค่อยได้ผลขึ้นมา เอาละเอาเท่านั้นละวันนี้ จะให้พร

การสอนพี่น้องทั้งหลายนี้เราสอนอย่างแม่นยำนะ ไม่ได้สอนสุ่มสี่สุ่มห้าลูบๆ คลำๆ มาสอน เราสอนด้วยการประมวลเหตุผลกลไกจากภาคปฏิบัติของเราล้วนๆ แล้วนำมาสอน อะไรที่ผิดพลาดไปอะไรๆ ปัดออกๆ เลือกเฟ้นตั้งแต่ที่ถูกต้องดีงามนำมาสอนจึงไม่ผิดพลาด ผู้ปฏิบัติตามที่สอนนี้แน่ใจว่าจะตั้งหลักตั้งเกณฑ์ได้ ส่วนมากที่สอนกันไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว ก็คือผู้สอนก็ลูบๆ คลำๆ แล้วสอนไปจะให้ได้ความสัตย์ความจริงมาจากไหน ถ้าสอนอย่างแม่นยำๆ เป็นที่แน่ใจดังพระพุทธเจ้าพระสาวกท่านสอนไม่มีผิด ตรงเป๋งๆ ผู้ฟังได้รับผลเป็นที่พอใจโดยลำดับ ต่างกันอย่างนี้ นี่จึงว่าไม่สงสัยการสอน เพราะได้ผ่านมาหมดแล้ว

(ตกลงวิธีแก้ปีติอย่างนี้ก็คือไม่สนใจที่จะแก้ ทำซ้ำๆ ไปเรื่อยจนจิตลงลึก แบบนี้ก็หายไปเองอาการปีติแบบนี้ใช่ไหมคะ) ปีติมันก็เป็นขั้นเป็นตอนของมัน พอผ่านไปตรงนั้นมันก็มี จากนั้นมันก็ค่อยผ่านไปๆ มันไม่อยู่ต่อไปนานๆ แหละ มันจะค่อยเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ ผ่านนี้ไปไปเจอระยะนี้ ผ่านนี้ระยะนั้นผ่านไปเรื่อยๆ เลย

เมื่อเช้านี้ได้พูดถึงเรื่องคนที่เข้ามาจุ้นจ้านในวัด เราเคยพูดเสมอ มาจุ้นจ้านในวัด วัดนี้เป็นวัดปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์มีขอบมีเขต ทุกอย่างท่านจะอยู่ในกรอบของศีลของธรรมท่าน เวลามีใครเข้ามาจุ้นจ้านๆ เป็นการทำลายหลักเกณฑ์ของท่าน ท่านเตือนบ้าง แต่ส่วนมากพระทั้งหลายท่านก็เกรงใจท่านไม่เตือน แต่เรานี้เกรงธรรม เราไม่เห็นอะไรใหญ่ยิ่งกว่าธรรม เลิศเลอก็เพราะธรรม เพราะฉะนั้นเราถึงเตือนถึงสอน อย่างที่เขาว่าดุด่าเขา ควรเผ็ดเผ็ด ควรร้อนร้อน วิธีการที่จะทำคนให้ดีมีหลายแบบเข้าใจไหมล่ะ จะแบบไหนก็ตามสำหรับเราเอง ไม่มีกิเลสจะแทรกออกมาด้วยความโกรธความโมโหโทโส บอกว่าเราไม่มี ถึงจะเผ็ดร้อนขนาดไหนก็เป็นรสของธรรมพลังของธรรมออกมาต่างหาก ให้พากันเข้าใจอย่างนี้

เราไม่มีอะไรกับโลก ถึงจะดุเดือดขนาดไหนก็เป็นพลังของธรรมทั้งนั้น นี้มาเพ่นพ่านเรื่อยๆ ส่วนมากจะเจอเอาตอนห้าโมง เรามักจะออกมาตอนห้าโมงเย็น ถ้าเวลายังวันๆ อยู่เราก็ไม่ว่าเพราะรู้แล้วว่ามันเพ่นพ่านตลอด ทีนี้ถึงเวลาที่จะมีกฎมีเกณฑ์บังคับเข้มงวดกวดขันแล้วก็คือ ตั้งแต่สี่โมงครึ่งไปถึงห้าโมงเย็น เราจึงมักจะออกมาตอนนั้น ถ้าออกมาแล้วมาเห็นเพ่นพ่านมันขวางตา เพราะคนหนึ่งรักษาอยู่ คนหนึ่งมาทำลายมันก็ขวางกันละซิ นี่ละที่ได้ว่าอยู่เสมอ ให้พากันจำเอา เราตั้งใจจะเป็นคนดีให้ฟังเสียงอรรถเสียงธรรมเสียงครูเสียงอาจารย์ ไม่เป็นภัยต่อผู้ใดละเสียงอรรถเสียงธรรม

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก