เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๙
ตัวของเราเหมือนไม้ทั้งท่อน
ไม้ทุกประประเภทที่เป็นไม้ทั้งท่อนอยู่นั้น จะสำเร็จประโยชน์อะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้เนื้อแข็งหรือเนื้ออ่อน ต่อเมื่อได้นำเครื่องมือมาจัดทำไม้ท่อนนั้น ๆ ให้สำเร็จรูปขึ้นมาตามความต้องการ และนำไปทำประโยชน์ได้ตามความประสงค์แล้วนั้นแล จะเป็นไม้ประเภทใดก็ได้รับประโยชน์ตามคุณภาพของตน แล้วแต่นายช่างจะนำไปทำประโยชน์อะไร คุณสมบัติของไม้ก็มีไปตามส่วนแห่งเนื้อไม้ ยิ่งเป็นนายช่างผู้ฉลาดด้วยแล้ว ก็ยังจะเสริมเนื้อไม้หรือไม้นั้น ๆ ให้ดีขึ้นตามเนื้อแท้ของตน
นี่เราก็เหมือนกันเช่นนั้น เพียงแต่รูปเป็นคนหรือเป็นพระเป็นเณรเท่านี้ก็ยังเป็นไม้ทั้งท่อนอยู่ ศาสนาที่เรียกว่าศาสนธรรมซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ เป็นเสมือนกับเครื่องมือ ส่วนเหตุแห่งศาสนาเป็นเหมือนเครื่องมือ สำหรับดัดแปลงกายวาจาใจของเรา ตามแต่ผู้จะปฏิบัติหรือดัดแปลงตนเองนั้น จะนำเอาอุบายจากโอวาทของพระพุทธเจ้าไปใช้ เพื่อสำเร็จเป็นประโยชน์ขึ้นมาทางความประพฤติ ถ้าเป็นส่วนผลก็หมายถึงความสุขที่ได้รับจากการดัดแปลงตนเอง ทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผลนี้ขึ้นอยู่กับหลักธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น
การก้าวเข้ามาบวชในพระศาสนานี้ จึงเป็นเหมือนกับว่ามาดัดแปลงตนเอง เช่นเดียวกับนายช่างดัดแปลงไม้ไปตามความต้องการของตน จนสำเร็จประโยชน์ขึ้นมาตามความประสงค์ นี่เราทุก ๆ ท่านมีความมุ่งประสงค์จะให้ตนของเราที่กำลังเป็นไม้ทั้งท่อนอยู่นี้ ให้เป็นของมีคุณค่าขึ้นมาด้วยการดัดแปลง ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่เป็นเครื่องมือ แต่ผู้ที่จะนำมาดัดแปลงนั้นก็คือเรา ครูอาจารย์ท่านนำเอาพระโอวาทของพระพุทธเจ้ามาสอนให้แล้ว ก็เหมือนกันกับยกเครื่องมือยื่นให้เรา ว่าสิ่งนั้นผิดสิ่งนี้ถูก ควรจะทำอย่างนั้น ควรจะงดอย่างนี้ นี่เป็นอุบายวิธีของท่านที่สอน
เราผู้มาศึกษาก็พยายามยึดเอาหลักที่ท่านสอน ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด เข้ามาฝึกฝนดัดแปลงตนเองให้เป็นไปตามหลักพระโอวาทนั้น ๆ ความน่าดูในตัวของเรานี้จะเป็นของน่าดูขึ้นเป็นลำดับ ความคิดซึ่งออกมาจากใจก็จะเป็นไปเพื่อความฉลาด คิดออกมาในแง่ใดก็เป็นแง่ที่จะผลิตประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากเราและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากว้างหรือแคบ เคลื่อนไหวออกมาทางกายที่เรียกว่าการกระทำ ก็เป็นเรื่องที่จะทำประโยชน์ให้แก่ตนและส่วนรวม พูดออกมาทางวาจาก็เช่นเดียวกัน สำเร็จประโยชน์ไปเป็นลำดับ ๆ ตามกำลังแห่งจิตที่ได้รับการศึกษาอบรมจากหลักธรรมมาดัดแปลงตนเอง
หากจะปล่อยให้สำเร็จประโยชน์เอาเฉย ๆ โดยไม่เกี่ยวกับพระโอวาทซึ่งเป็นเครื่องมือแล้ว ไม่ว่าโลกไม่ว่าธรรมไม่จำเป็นจะต้องมีการงานประจำกันทั่วโลก เพราะใครอยู่ที่ไหนนึกอย่างไรก็สำเร็จขึ้นมาตามความนึกเท่านั้น โดยไม่ต้องลงมือทำ แต่เท่าที่โลกจะมีจำนวนมากน้อยเท่าไร ย่อมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับงานด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้เนื่องจากสำคัญอยู่ที่การกระทำ อันเป็นบ่อเกิดแห่งผลที่ตนพึงมุ่งหวัง
ฉะนั้นผู้บวชเป็นพระจึงชื่อว่าผู้ตั้งหน้ามาดัดแปลงตนเอง กายวาจาใจมีอยู่กับเราทุกท่าน ผู้ที่จะสังเกตสอดรู้ในเรื่องความเคลื่อนไหวผิดถูกของตน ก็คือเรื่องของสติและเรื่องของปัญญา คิดขึ้นมาได้ที่ใจดวงเดียวกันกับความเคลื่อนไหวอย่างอื่นเกิดขึ้น เรื่องของสติปัญญาคอยตามสังเกตความผิดถูกแห่งความเคลื่อนไหวของตนอยู่เสมอ นี่ชื่อว่าผู้ศึกษาผู้อบรมผู้ดัดแปลงตนเอง
เราย่อมเห็นความบกพร่องของเราเป็นลำดับ และมีทางที่จะแก้ไขกันได้ตามลำดับแห่งความบกพร่องที่ปรากฏขึ้น เนื่องมาจากการสอดส่องของใจ ย่อมจะทราบได้ซึ่งความบกพร่องของตน ถ้าไม่ทราบก็ไม่มีทางที่จะแก้ไข เมื่อทราบแล้วก็มีทางที่จะแก้ไข เพื่อความสมบูรณ์ขึ้นมาเป็นขั้น ๆ
หน้าที่ของพระที่ทำอยู่ในวัดก็ดีนอกวัดก็ดี ที่ทำเป็นประจำก็ดี ทำเป็นบางเวลาก็ดี ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นการงานที่จะผลิตผลประโยชน์ให้เราผู้ทำด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นการทำงานทุก ๆ ชิ้นไม่ว่าจะงานภายนอกงานภายใน งานส่วนรวมหรืองานโดยลำพัง ต้องให้มีผู้คอยสอดส่องอยู่กับความเคลื่อนไหวของตนทุกระยะ นี่ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรประจำกับหน้าที่การงานนั้น ๆ ไม่บกพร่อง
ถ้าพระไม่สามารถจะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามหลักแห่งสวากขาตธรรม และนำผลเป็นที่พึงพอใจเข้ามาเป็นสมบัติของตนได้แล้ว พระซึ่งเป็นผู้นำของประชาชนทั่ว ๆ ไป จะไม่สามารถนำโลกให้เป็นไปด้วยความราบรื่น ถ้าตนยังไม่สามารถดำเนินตนให้เป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นหลักใหญ่จึงอยู่ที่เรา ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นมาหรือเลวลงไป ไม่ใช่จะดีขึ้นมาหรือเลวลงไปโดยลำพังของสิ่งนั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเรา ต้องมีส่วนดีส่วนชั่วขึ้นอยู่กับเราด้วย นี่เป็นหลักสำคัญ
ท่านกล่าวไว้ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ในธรรมะมีบทนี้เป็นยอดแห่งธรรม ที่กล่าวว่าเป็นผลของการปฏิบัติ เราทุกท่านเคยได้ยินเสมอว่า พระนิพพานเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม นี่เป็นองค์ของพระพุทธเจ้าผู้ได้ทรงค้นพบและนำมาประกาศสอนโลก ให้ทราบความลึกซึ้งแห่งความสุข ที่โลกแม้จะไม่เคยเห็นก็ตาม เพื่อให้ได้ยินและเป็นที่จับจิตจับใจ เป็นเครื่องปลูกศรัทธาความเชื่อมั่น วิริยะความพากเพียร ที่จะบำเพ็ญตนไปด้วยความอดทนและขยันหมั่นเพียร
ไม่มีใครจะสามารถยกธรรมบทนี้ขึ้นมาให้โลกได้ยินได้ฟัง และไม่มีใครสามารถจะชี้ช่องทางเพื่อธรรมบทนี้ปรากฏขึ้นภายในใจได้ นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผู้นำพระศาสนา แม้สาวกก็ต้องได้สดับจากพระพุทธเจ้ามาก่อน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถ นี่แสดงถึงความยอดยิ่งแห่งความสุขที่โลกปรารถนา นับแต่สัตว์ก็มีความปรารถนาด้วยกัน พระพุทธเจ้าท่านแสดงให้ทราบอย่างนี้
ความสุขที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ปรากฏอยู่เหล่านี้ เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าเคยพบเคยเห็นและเคยเสวยมาด้วยกัน แต่ยังไม่ได้เสด็จออกทรงผนวชและยังไม่ได้ตรัสรู้ พระองค์ท่านก็ไม่สามารถจะประกาศธรรมบทนี้ให้โลกได้ยินทั่วถึงกัน เพราะพระองค์ไม่ทรงทราบว่าเป็นอย่างไร ต่อเมื่อได้บำเพ็ญเต็มพระสติกำลังความสามารถ จนได้รู้เห็นธรรมบทที่อัศจรรย์เหนือโลกนี่แล้ว จึงได้นำมาประกาศสั่งสอนบรรดาสัตว์
และคำที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นี้ ไม่ใช่เป็นโมฆธรรม ไม่ใช่เป็นโมฆบุคคลผู้ประกาศเอาเฉย ๆ โดยหาหลักความจริงไม่ได้ แต่ทั้งสองคือคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ก็หมายถึงองค์พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบโดยพระองค์เองด้วย และพระองค์เป็นผู้ประกาศสอนโลกเสียเองด้วย ที่ว่าเป็นความจริงอย่างยิ่ง ทางที่จะก้าวไปเพื่อธรรมบทนี้ท่านก็ประกาศสอนไว้ ตั้งแต่ต้น ท่ามกลาง จนถึงที่สุดจุดหมายปลายทางแห่งธรรมบทนี้ที่เรียกว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ไม่มีขาดตกบกพร่องแม้แต่นิดเดียว นอกจากผู้ปฏิบัตินั้นจะมีความสามารถแค่ไหน จะสามารถดำเนินให้เป็นไปได้ตามแนวทางที่พระองค์ท่านสอน และตามผลที่พระองค์ทรงประกาศไว้หรือไม่
ปัญหาข้อนี้เราทุก ๆ ท่านอย่าได้ยกขึ้นไปให้เป็นปัญหาของท่านผู้ใด ขอให้เป็นปัญหาของเราทุกท่านที่จะขบคิดให้แตกภายในจิตใจของเรา เพราะเราเป็นผู้มุ่งอย่างนั้นด้วยกัน มีอะไรบ้างเป็นข้าศึกหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินของเราทุก ๆ วันนี้และเวลานี้ ที่ไม่ให้ได้รับความสะดวกภายในใจ เพื่อจะก้าวไปสู่ธรรมบทนั้นได้ตามความหวัง มีอะไรบ้าง ต้องทดสอบดูตัวเองในจุดนี้ ปัญหาให้ยกให้เป็นปัญหาของเรา
สิ่งที่ขัดข้องทางดำเนิน ถ้าพิจารณาดูว่าไม่ผิดแล้ว ก็คือเรื่องเราเสียเองเป็นอุปสรรคต่อตนเอง ไม่ใช่สิ่งอื่น ๆ มาเป็นอุปสรรคต่อเราเพื่อจะก้าวไปไม่ได้ อะไรเล่าที่เป็นอุปสรรคของเราเสียเอง เกิดจากเราเสียเอง และมีอยู่กับเราเสียเอง
เมื่อกล่าวรวมลงแล้วท่านเรียกว่ากิเลสอาสวะ นี่แลเป็นเครื่องผลิตอุปสรรคทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมากีดขวางทางเดินของเรา ผลิตขึ้นมาหลอกเราทุก ๆ วัน นั่งอยู่ก็หลอก นอนอยู่ก็หลอก ในอิริยาบถทั้งสี่จะมีสิ่งที่มีอยู่ภายในเรานี้แสดงเป็นภาพขึ้นมา เป็นอารมณ์ขึ้นมา หลอกลวงจิตใจให้ระเหเร่ร่อนไปตามอารมณ์นั้น ๆ ไม่มีสิ้นสุดจุดหมายปลายทาง วกกันไปเวียนกันมาอยู่ด้วยอารมณ์ของธรรมชาตินี้ผลิตขึ้นมาหลอกลวงนั่นแหละ
สิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับจิต ถ้าไม่มีอันหนึ่งภายในจิตออกรับ และแสดงเป็นเครื่องหลอกลวงขึ้นมาภายในตนแล้ว สิ่งภายนอกก็ไม่เป็นข้าศึก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันนั้นเป็นแต่เพียงว่าผ่านเข้ามาสัมผัสชั่วขณะเท่านั้น แต่ธรรมชาติผู้ที่ได้รับสัมผัสนี้เป็นเรื่องสำคัญ สัมผัสแล้วแม้สิ่งที่ได้รับสัมผัสจะผ่านไปแล้วก็ตาม อารมณ์ที่ตนได้รับสัมผัสนี้จะเป็นเครื่องฝังหรือผลิตตัวขึ้นมาเสมอ เกี่ยวกับอารมณ์ที่เคยมาสัมผัสแต่ผ่านไปแล้วนั้น นี่แลเป็นอุปสรรคของใจ
เช่น มีความรักในรูป จะเป็นรูปที่มีวิญญาณก็ตามไม่มีวิญญาณก็ตาม อารมณ์ที่เป็นความรักนี้จะมีอำนาจผลักดันให้จิตปรุงขึ้นมาเสมอ เกี่ยวกับอารมณ์ที่น่ารักนี้ จนไม่เป็นอันกินอยู่หลับนอน มีแต่อารมณ์อย่างเดียวเท่านั้นผลิตตัวขึ้นมาเป็นลำดับ ๆ ทำให้จิตหลงเพลินไปตามตลอดเวลา ไม่มีเดือนปีนาทีโมงมาเป็นเครื่องบังคับตัดสินใจให้ได้ มีแต่เรื่องอันเดียวเท่านั้นที่จะผลิตออกมาหลอกตนเองอยู่เสมอ
ถ้าเกี่ยวกับเรื่องชังก็เหมือนกัน มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ นี่ยกขึ้นเพียงรูปเท่านั้น เพราะคำว่ารูปทุกท่านเข้าใจแล้ว หลายประเภทแห่งรูปและหลายประเภทแห่งจิต คือเจตสิกที่จะคิดเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส นี้แลที่เป็นอุปสรรค ถ้าจะให้เป็นทางเดินก็ต้องนำเรื่องเหล่านั้นเข้ามาคลี่คลายขยายดู ให้เห็นตามหลักความจริงของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ซึ่งมีความจริงประจำเขาอยู่ทุก ๆ ชิ้นทุก ๆ สิ่งที่ผ่านเข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ และมีความจริงอยู่กับใจผู้ที่หลงงมงายไปตามนั้นอยู่ทุกระยะเหมือนกัน
ถ้าเราได้นำสติกับปัญญาเข้าไปทดสอบกัน จะทราบตามหลักความจริงทั้งข้างนอกและข้างใน แล้วปล่อยวางหรือตัดสินกันออกได้ แยกกันออกได้ โดยที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ประจำโลก และใจก็เป็นธรรมชาติที่รู้ ตลอดถึงเจตสิกธรรมที่คิดอยู่กับใจ ก็เคยคิดอยู่เสมอ แต่ไม่สามารถอาจเอื้อมไปคิดสิ่งที่เป็นข้าศึกดังที่เคยเป็นมานั้น ให้มาเผาลนตนเองได้อีกต่อไป เพราะอำนาจของสติปัญญาเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ใคร่ครวญอย่างชัดเจนแล้ว ตัดสินแยกกันออกได้ นี่เป็นทางเดินเพื่อข้ามอุปสรรคที่ตนได้ผลิตขึ้นมาทำการกีดขวางตนเอง
นักปฏิบัติต้องเป็นผู้เข้มแข็งภายในจิตเสมอ อย่าทำอ่อนแอ ยกพระพุทธเจ้าซึ่งเราได้เคยกราบไหว้ระลึกถึงท่านว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เข้าสนิทกับใจ อย่ายอมตายด้วยมายาที่ผลิตขึ้นมาจากสิ่งที่กล่าวแล้วเมื่อสักครู่นี้ นี่ไม่เคยทำผู้ใดให้ดี ความเกียจคร้านก็คือธรรมชาตินี้แลเป็นผู้สั่งงาน ความอ่อนแอก็คือธรรมชาตินี้เป็นผู้สั่งงาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้คลาดเคลื่อนหรือเหินห่างจากหลักธรรม อันจะเป็นประโยชน์แก่ตน ตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด มีธรรมชาติเหล่านี้ทั้งนั้นซึ่งเป็นของต่ำคอยฉุดลากไว้ ไม่ให้จิตก้าวเดินไปตามความต้องการที่ตั้งไว้
ธรรมที่กล่าวว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นั้นไม่ใช่ธรรมเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป คือไม่ใช่เป็นคุณสมบัติเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป แต่เป็นคุณสมบัติอันยิ่งยวดเหนือจากโลกทั่ว ๆ ไป ถ้าจะเทียบเป็นของมีค่ามีราคาก็หาประมาณไม่ได้ ผู้ที่จะสามารถอาจเอื้อมถึงธรรมบทนี้ ต้องเป็นผู้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยความรู้ความเห็น ความปฏิบัติ ความรู้ความเห็นก็ให้เป็นไปตามหลักธรรมที่สอนไว้ การปฏิบัติก็ให้เป็นไปตามเข็มทิศทางเดินของธรรมที่ประกาศสอนไว้
สิ่งใดบกพร่องพยายามดัดแปลงตน อย่าเห็นว่าความบกพร่องเป็นของดี สิ่งเหล่านี้เป็นขวากเป็นหนามเครื่องกั้นกางทางเดินเพื่อสันติธรรมอันยอดเยี่ยมทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติถ้าไม่เห็นภัยกับสิ่งเหล่านี้แล้ว จะหาทางก้าวเดินเพื่อความเจริญแก่ตนไปไม่ได้
เอ้า ทุกข์ ทุกข์เพื่อการงานซึ่งจะนำตนให้ผ่านพ้นอุปสรรค หรือสิ่งที่มารังควานจิตใจนี้อยู่ตลอดเวลา ทุกข์ก็ไม่เป็นไร เพราะเพื่อจะผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ หากเราเป็นผู้ไม่สามารถในวันนี้ วันหน้าความไม่สามารถอันนี้แลจะไปขวางหน้าอยู่ เดือนใดปีใดก็คือความไม่สามารถนี้แลจะเป็นผู้นำทางเดินเข้าสู่ความไม่สามารถเสมอไป แล้วจะหาผลประโยชน์อะไรไม่ได้
การทำความเพียรหมายถึงเรื่องสติกับปัญญา ให้ตามรู้กันไปเสมอกับอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับใจ การทำงานทุกชิ้นความเคลื่อนไหวของกายของวาจาที่แสดงออก จะต้องออกมาจากใจ ถ้าสติปัญญาตั้งอยู่กับใจแล้ว จะต้องทราบวาระของความคิดซึ่งแสดงออกทุก ๆ วาระ จะทุกข์จะลำบากเพื่อการสังเกตสอดรู้เรื่องของตัวเองนั้น ถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญ เราอย่าถือเป็นความลำบากรำคาญไปเฉย ๆ เดี๋ยวจะไปทางที่เขาเคยฉุดลากอีก แล้วจะหาทางฟื้นตัวไม่ได้
ธรรมบทที่กล่าวนี้เป็นธรรมที่ตัดสินเด็ดขาด จากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทั้งปวง หมดภัยหมดเวรหมดทุก ๆ ประเภท นอกจากจะมีอยู่ในวาระที่ขันธ์ยังตั้งตัวอยู่นี้เท่านั้น แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นกังวลถึงใจ
การท่องเที่ยวจากเกิดกับตาย เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติมากี่กัปกี่กัลป์นี้ เป็นงานที่รู้สึกว่าซ้ำซากจนหางานอะไรจะเสมอไม่ได้ ความทุกข์ที่เป็นไปตามภพตามชาตินั้น ๆ ก็ไม่มีอะไรจะซ้ำซากเท่าความทุกข์เหล่านี้ เราควรจะนำมาพิสูจน์และทำการเลิกรากัน ด้วยอุบายวิธีแห่งความฉลาดของเราจากหลักธรรมะมาเป็นเครื่องประกัน ยกเอาตัวของเราเป็นผู้ประกันชีวิตของตนด้วยข้อปฏิบัติ เพื่อกำจัดสิ่งที่กล่าวมานี้ซึ่งเห็นว่าเป็นภัยนี้ ให้หมดจากใจไปลำดับ จะสมว่าสวากขาตธรรมนั้นตรัสไว้ชอบ ผู้ปฏิบัติตามก็ได้ถึงธรรมที่ชอบตามพระองค์ท่าน ธรรมยังจะไม่เป็นโมฆะแก่พวกเราอยู่เฉย ๆ
การขบการฉัน การไปการมา ขอให้สติติดตามเสมออย่าปล่อยตัว ปล่อยไปหาประโยชน์อะไรไม่มี สำหรับผู้ปฏิบัติด้วยความตั้งใจมาอย่างนี้จริง ๆ แล้ว นอกนั้นไม่ใช่ธุระของพระผู้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน มีทางเดียวคือให้เห็นภัยในความบกพร่องของตนในจุดใด พยายามแก้ไขในจุดนั้น นี่เป็นงานอันสำคัญของพระผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริง ๆ ไม่เช่นนั้นจะหาทางเดินไม่ได้ ตายทิ้งเปล่า ๆ ไม่เป็นประโยชน์
ทำความเพียรไม่ได้รับแม้แต่ความสงบนี้ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องกั้นกางนอกจากความเผอเรอเท่านั้น ถ้าเป็นไปด้วยความตั้งใจแล้วอย่างไรต้องรู้ ไม่มีอะไรจะเหนือความตั้งใจไปได้ นอกจากนั้นยังสังเกตธาตุขันธ์ของเราอีก การนอน การฉัน การเดิน เช่นเดินจงกรม สังเกตให้ดี นอนมากเป็นอย่างไร ฉันมากเป็นอย่างไร ฉันน้อยเป็นอย่างไร เดินมากเป็นอย่างไร ต้องสังเกต และความคิดที่คิดมากคิดไม่หยุดไม่ถอย หาสถานีจอดแวะไม่ได้ โดยไม่มีสติสตังตามรักษาเลยนี้ นี้เป็นภัยอย่างร้ายสำหรับผู้ปฏิบัติ นี่ละเครื่องหลอกคือความคิด
คิดซอก ๆ แซก ๆ คิดไม่หยุดไม่ถอย อารมณ์ล่วงไปแล้วกี่ปีกี่เดือนนำมาขบมาคิด คิดไปเฉย ๆ โดยไม่หาเหตุหาผลกับความคิดนั้น ๆ อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำตัวให้เดือดร้อนเพราะอารมณ์ที่เคยดีใจเสียใจ กลับมาเป็นเรื่องปัจจุบันเผาตัวเองอยู่ภายในจิตนี่
ตามธรรมดาของอารมณ์ที่ดีใจเสียใจซึ่งเกี่ยวกับอดีตนั้นผ่านไปแล้ว แต่นำเข้ามาคิดในเวลานั้นมันก็กลายเป็นเรื่องปัจจุบันเข้ามา แต่ไม่ใช่ปัจจุบันธรรม มันเป็นปัจจุบันของไฟเผาจิตใจแล้วร้อน
โปรดให้พากันทำความกล้าหาญต่อการปฏิบัติ อย่าท้อแท้อ่อนแอในความเพียร ซึ่งจะเป็นผลอันยิ่งใหญ่ต่อผู้บำเพ็ญจะได้รับโดยไม่ต้องสงสัย ผู้เป็นอาจารย์เมื่อเห็นลูกศิษย์ที่มาอยู่ด้วยกันมีความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง องอาจกล้าหาญรื่นเริงก็รู้สึกเบาใจ ถ้าเห็นมีความอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดในหน้าที่การงาน รู้สึกไม่สบายใจเหมือนกัน เพราะลูกศิษย์กับอาจารย์แยกกันไม่ออก เกี่ยวข้องกันอยู่เช่นนี้
สอนทุกบททุกบาทนั้นได้สอนด้วยความตั้งจิตตั้งใจ สอนด้วยความสนใจ สอนเพื่อรู้เพื่อฉลาดจริง ๆ แก่ผู้มาศึกษา ไม่ได้สอนเพื่อเล่น ๆ ไม่ได้สอนเพื่ออ่อนแอ เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาแสดงขึ้น จึงเป็นที่ ๑) ไม่สบายใจ ๒) รู้สึกว่าหนักใจ ว่าที่สอนไปนั้นผลที่แสดงขึ้นมานั้นไม่ตรงกับเหตุที่สอนไป กลายเป็นเรื่องอื่นขึ้นมา ถ้าเห็นลูกศิษย์ผู้มาตั้งใจอบรมศึกษามีความขยันหมั่นเพียร ทั้งกิจนอกการใน ทั้งงานส่วนรวมและงานส่วนตัวแล้ว รู้สึกว่าเบาใจสบายจิตที่เกี่ยวข้องกับหมู่คณะ นี่เรื่องของอาจารย์ต้องเป็นอย่างนี้ไม่ว่าอาจารย์องค์ไหน
ยิ่งได้ยินได้ฟังจากลูกศิษย์ที่มาเล่าเรื่องความเป็นของจิตให้ฟัง เป็นชั้น ๆ ตามกำลังแห่งความสามารถของผู้มาปฏิบัติ มีแง่ต่าง ๆ กันด้วยแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีความรื่นเริงบันเทิง และพออกพอใจที่จะแนะอุบายแนวทางต่าง ๆ ให้เต็มความสามารถ อย่างไม่มีปิดบังลี้ลับ เอ้า ถึงไหนถึงกัน ถ้าหากว่าไม่สามารถจะแก้อุบายความเป็นขึ้นภายในจิตของลูกศิษย์แล้ว เรายังจะสามารถส่งไปหาครูอาจารย์ที่เราเข้าใจว่าองค์ไหนท่านจะสามารถ นั่นขนาดนั้น ถ้าหากว่าสุดวิสัยกำลังของเราที่จะสอน
เพราะธรรมที่จะมาสอนนี้ไม่ใช่ธรรมขั้นเดียว ยังรอผู้สดับตรับฟังอีกด้วย การสอนทั่ว ๆ ไปในบรรดาธรรมทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง การสอนลงตามจุดของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไรภายในใจนั้น เพื่อให้ถูกกับจุดสำคัญ ๆ ในเวลาเช่นนั้นยังมีอีก ถ้าเกี่ยวข้องกับสมาธิ เป็นสมาธิประเภทใด ก็ต้องสอนแยกออกตามประเภทของสมาธินั้น ๆ เป็นปัญญาขั้นใด ก็จะต้องสอนไปตามหลักของปัญญาที่ผู้เป็นขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกัน จนสุดความสามารถของการสอน นี่พอใจที่จะสอนหมู่เพื่อนอย่างนั้นตลอดเวลา และมีความหวังอย่างยิ่งที่จะได้ยินจากผู้ปฏิบัติ ซึ่งปรากฏผลขึ้นมาอย่างนั้น ๆ ให้ได้เป็นที่รื่นเริงจิตใจ
และคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นี้ จะยังมีอยู่ไหมทุกวันนี้สำหรับท่านผู้ปฏิบัติ แต่ไม่ได้หมายความว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ซึ่งเป็นธรรมของพระพุทธเจ้านั้นได้สูญไปจากโลก นี่หมายถึงผู้ปฏิบัติต่างหาก ว่าจะสามารถนำธรรมบทนั้นเข้ามาเป็นสมบัติของตนได้ไหมในปัจจุบันทุกวันนี้ อยากทราบเหลือเกิน การสอนนี้สอนเพื่อนั้นทั้งนั้นไม่ได้สอนเพื่ออื่น
แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อเข้าถึงจุดนั้นจริง ๆ แล้ว เราจะเห็นสภาพที่เกี่ยวข้องกับเรามากี่กัปนับไม่ถ้วนเป็นอย่างไรบ้าง และเราจะเห็นสภาพของจิตของเราเองนี้เป็นอย่างไรบ้าง ตลอดถึงความรู้ความเห็นที่เป็นขึ้นภายในจิตใจมาตลอดสาย จนกระทั่งถึงขณะที่ธรรมบทนี้ได้เข้าสวมจิตจริง ๆ แล้ว มีลักษณะต่างกันอย่างไรบ้าง อยากให้ทราบอยากให้รู้ ว่ามีความแปลกจากโลกอย่างไรบ้าง แปลกจากความเป็นของจิตที่เคยเป็นมาอย่างไรบ้าง นี่เป็นหลักสำคัญ จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติตัวด้วยความเข้มแข็ง
ขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ |