เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๘
นิพพานหนองเสม็ด
ก่อนจังหัน
วันนี้พระมี ๔๑ ที่ออกมาฉัน ที่ไม่ฉันนอกนั้น มีจำนวนมากที่ไม่ฉันก็ดี ที่มาฉันและมาจากที่อื่นรวมกันในวันนี้ ๔๑ องค์ ที่ไม่ฉันก็นอกนั้นอีก อยู่ในวัดนี้ การไม่ฉันเรียกว่าการอด ปรกติฉันวันละมื้อ อดไม่ฉันเลยนั่นเรียกว่าอดอาหาร อดอาหารทางร่างกาย บำรุงอาหารทางใจคือจิตตภาวนาให้หนาแน่นขึ้น เพราะวิธีการชำระกิเลสนี้มีหลายวิธีการ ท่านแสดงไว้ย่อๆ เพียงธุดงค์ ๑๓ ข้อ นั้นเพียงย่อๆ นะ ความวิจิตรพิสดารยังมากกว่านั้นอีก ผู้จะปฏิบัติให้คิดอ่านไตร่ตรอง บวกลบคูณหารในตัวเองขณะที่ปฏิบัติไปเป็นระยะๆ มีผลได้ผลเสียอย่างไรบ้าง ให้คิด
เช่นอย่างอดอาหาร อดนอน ผ่อนอาหาร ทำความเพียร เดินมากนั่งมาก มีแต่เรื่องความเพียรนะ สติติดต่อๆ ท่าไหนได้ประโยชน์มากกว่ากันให้เลือกเอาท่านั้น เช่นอดนอน เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง เราอดนอนแล้วเป็นยังไง ได้ผลประโยชน์อย่างไรบ้าง ประโยชน์ก็คือว่าสติดี ปัญญาดี จิตใจสงบดีในเวลาอดนอน เวลาอดอาหารก็สติดี จิตใจสงบเย็น ตลอดปัญญาดี นี่ท่านเรียกว่าได้ผล สตินี้เป็นสำคัญมาก ผู้ที่ถูกกับจริตนิสัยในการอดอาหารนี้ อดอาหารไปวันหนึ่งสองวัน ความง่วงเหงาหาวนอนแทบจะหมดไป เบามาก คือฉันมากมันนอนมาก ขี้เกียจมาก ฟังให้ชัดนะ
นี่ละเสียงธรรม ฟังให้ชัด จะไม่ให้ผิดพลาดจากหลักความจริง หลักความถูกต้อง พออดไปสองวันแล้วที่นี่ความง่วงเหงาหาวนอนแทบว่าจะไม่มี นั่นละที่นี่สติตั้งขึ้นๆ เรื่อยๆ จิตก็สงบลงๆ ผู้ที่อยู่ในขั้นสงบขั้นสมถธรรม สมาธิธรรม สงบจนเข้าสู่สมาธิความแน่นหนามั่นคงของใจ ความรู้เด่นอยู่ภายในจิตใจไม่วอกแวกคลอนแคลน ท่านเรียกว่าสมาธิ สมาธิก็เหนียวแน่นมั่นคง ถ้าทางด้านปัญญาก็คล่องตัวๆ คือสตินี้เหมาะสมกับความเพียรทุกประเภทและธรรมทุกขั้น ปัญญาธรรมก็คล่องตัว ออกพิจารณาคล่องตัว นี่เรียกว่าปัญญาจากวิธีการเราฝึกฝนเหล่านี้แล
ไม่ใช่สักแต่ว่าฝึกฝน เดินจงกรมก็เดินไป นั่งก็นั่งไป ทำไปไม่คิดไม่อ่านไม่หาวิธีตรวจตราผลแห่งความเพียรของตน อย่างนั้นไม่ได้นะ ต้องพิจารณา พระพุทธเจ้าเป็นจอมปราชญ์ พวกเรานี้เป็นจอมโง่ ไปขวางทางขวางธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วก็ขวางตัวเองล่มจมในตัวเองนั้นแหละ พากันพิจารณาให้ดี ศีลรักษาให้บริสุทธิ์ พระเราถ้าไม่มีศีลบริสุทธิ์แล้วหมดความสง่างามนะ ในพื้นฐานแห่งความเป็นพระนี้ ศีลเป็นเครื่องประดับอันสวยงามมากทีเดียว รักศีลก็คือรักศาสดานั่นเอง รักธรรมก็คือรักความพากความเพียร ชำระกิเลสด้วยวิธีการต่างๆ นี่เรียกว่ารักธรรม คือรักศาสดาเหมือนกัน รักศีล มีความสำรวมระวังศีลของตนให้แน่นหนามั่นคง อย่าได้มีเป็นอันขาดที่ว่าล่วงเกินด้วยเจตนาลามก เสียศักดิ์ศรีพระ พระหมดค่าหมดราคา ถ้าลงข้ามเกินพระวินัยด้วยความไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อบาปแล้ว พระองค์นั้นหมดคุณค่า มีแต่ผ้าเหลืองห่มหัวโล้นเฉยๆ พากันคิดให้ดี
พระเราไม่ได้สวยงามอยู่กับสมบัติเงินทองข้าวของ วัตถุสิ่งภายนอก สวยงามอยู่ที่ศีลที่ธรรมของตน ใครศีลบริสุทธิ์เท่าไรยิ่งสวยงาม ทางด้านธรรมะ จิตมีความสงบแนบแน่น จนกระทั่งถึงปัญญามีความเฉลียวฉลาด ฆ่ากิเลสเป็นลำดับลำดาไป นั้นละคุณค่าแห่งธรรมเหล่านี้เข้ามาประดับตัวของเรา พากันตั้งจิตตั้งใจดีๆ นะพระลูกพระหลาน ผมก็จวนจะตายแล้ว การแนะนำสั่งสอนก็สอนมาเป็นเวลานานที่สุดแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ มาจนกระทั่งถึงอายุ ๘๐ นี่สอนพระ สอนพระมาก ติดในเทปนั้นแหละ ตั้งแต่อายุ ๘๐ มาแล้วหยุดไม่เอาเลย
ทีนี้เรื่องราวของชาติบ้านเมืองก็เกิดขึ้นมาอย่างกะทันหันที่ไม่คิดไม่อ่าน สะเทือนจิตใจมาก จึงได้พลิกตัวใหม่ ช่วยชาติบ้านเมือง ช่วยชาติและช่วยศาสนาไปด้วยกัน จึงไม่มีเวลาอบรมพระเณรเรา ถ้าอบรมสั่งสอนก็เกี่ยวกับชาติบ้านเมืองไปเสียมากต่อมาก จงพากันตั้งอกตั้งใจ ไปอยู่ที่ไหนอย่าเผลอสติ ท่านทั้งหลายอยากเห็นความสง่างามในศีลในธรรมของตน ให้มีสติเป็นเครื่องประดับเสมอจะสวยงามตลอด ไอ้เรื่องเลอะๆ เทอะๆ ของพระเรานี้อย่าให้มีในตัวของเราแต่ละองค์ๆ นะ เสียมากทีเดียว ให้เป็นผู้มีศีลสำรวมระวัง มีธรรมเป็นเครื่องประดับตนตลอด นี่ละความสวยงาม เศรษฐีธรรมคืออันนี้เอง เศรษฐีสมบัติเงินทองข้าวของ โลกก็เคยมี เคยมีมากมีน้อย เคยเสื่อมเคยฉิบหายมากต่อมาก ศีลธรรมในตัวของเราอย่าให้เสื่อม ให้มีความเจริญรุ่งเรืองจนพุ่งทะลุลงถึงมรรคผลนิพพานเต็มสัดเต็มส่วนภายในหัวอกของเรานี้ ไปที่ไหนจ้าเลย สว่างจ้าอยู่ภายใน ภายนอกไม่เห็น คนภายนอกไม่เห็น แต่ตัวเองสว่างจ้า นี่ละคือเศรษฐีธรรม มหาเศรษฐีธรรมอยู่ตรงนี้
พากันตั้งอกตั้งใจระมัดระวังทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นภัยต่อศีลต่อธรรมของเรา อันใดที่เป็นคุณต่อศีลธรรม ให้บำรุงรักษาด้วยกันทุกคน มาศึกษากับครูอาจารย์ ตาให้ดูด้วยปัญญา หูให้ฟังด้วยปัญญา สัญญาความจดความจำนำไปปฏิบัติต่อตนเอง เพื่อเป็นสิริมงคลทุกรูปทุกนามไป เอาละที่นี่ให้พร
หลังจังหัน
ผู้กำกับ ปัญหาภาวนา เขากราบเรียนถามดังนี้ครับ ลูกเริ่มภาวนาโดยใช้พุทโธอยู่ที่ใจมาเป็นเวลา ๓ ปี เมื่อจิตสงบแล้วลูกพิจารณากายเป็นอสุภะ โดยลอกหนังออก คล้ายๆ ลอกหนังกบ ลอกออกเป็นชั้นๆ หนังแล้วก็เนื้อ เครื่องใน กระดูก จนเห็นชัดในจิต โดยเริ่มกรีดหนัง แล้วเน่าลงไปกลายเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ต่อมาลูกนั่งภาวนามีอาการของกายร้อนเหมือนไฟเผา โดยเริ่มร้อนจากขาขึ้นมาแล้วร้อนทั้งตัวเป็นเวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง ลูกดูไปเรื่อยๆ จนมันดับลง หลังจากนั้นก็เย็น เย็นอยู่กลางหน้าอก ลูกไม่เคยพบความร้อนและความเย็นชนิดนี้ หลังออกจากการภาวนาแล้วมีความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ จะทุกข์ไม่ใช่ รู้สึกเฉยๆ หลังจากนั้นลูกก็ดูที่จิต มีอาการจุกแน่นเสียด ลูกก็เพ่งเข้าไป ก็มีลมออกคล้ายเรอเป็นระยะเวลาเกือบสองปี หลังจากนั้นลูกไปภาวนากับพระอาจารย์ที่เชียงใหม่ ขอกราบเรียนถามดังนี้ค่ะ
ข้อ ๑ พระอาจารย์ท่านสอนให้ภาวนาคำว่า ว่าง โดยไม่ยึดติดลมหายใจ ก่อนที่ท่านจะสอนให้ว่าคำว่าว่างท่านบอกว่า รู้แล้วก็จะไม่ยึดติด ว่างมาจากคำว่าอนัตตา
ข้อ ๒ ขณะภาวนาคำว่า ว่างๆ อยู่นั้นก็มีเรื่องกระทบจิตในทางที่ไม่ดี ท่านสอนให้ภาวนาว่า ขออโหสิกรรมๆ เมื่อจิตสงบให้กลับมาภาวนาคำว่า ว่างๆ ต่อไป หากมีเรื่องบุญเรื่องดีมากระทบก็ให้ภาวนาว่า โมทนาสาธุ แล้วก็กลับมาภาวนาคำว่า ว่างๆ ต่อไป
ข้อ ๓ พระอาจารย์ท่านพูดว่า พระที่ท่านรู้ธรรมเห็นธรรมแล้วท่านก็วางธรรมไม่ยึดติด
ข้อ ๔ พระอาจารย์บอกว่า อนัตตา ที่มีอยู่ในหลักสูตรนักธรรมโท ท่านก็เลยหยิบยกมาภาวนาโดยแทงตลอด แล้วท่านบอกว่าย่อพระไตรปิฎกเหลือว่างตัวเดียวก็เข้านิพพานได้ ลูกขอกราบเรียนพระเดชพระคุณว่า ลูกจะภาวนาอย่างไร จะดูจิตต่อหรือว่าดูคำว่าว่างต่อไป
หลวงตา แรกๆ เขาภาวนาอะไร (พุทโธครับ หลังจากพุทโธก็เป็นอสุภะ แล้วพิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ พอไปเจออาจารย์ อาจารย์ให้ภาวนาคำว่าว่างคำเดียว) ควรเอาหลักพุทโธตั้งเอาไว้นะ สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งปลีกย่อยออกไป ควรเอาหลักพุทโธ ตั้งไว้กับจิต เรียกว่าภาวนาบริกรรมพุทโธๆ พิจารณาอสุภะอสุภังนั้นถูกต้องแล้ว เวลาจิตออกพิจารณาก็ต้องพิจารณาไปอย่างนั้น เช่น อสุภะอสุภังลอกหนัง ตัวเองเหมือนหนังกบ ถูกต้องแล้ว เวลาออกพิจารณาพิจารณาอย่างนั้น จากนั้นเวลาจิตเข้ามาสงบ ถือพุทโธ เป็นพื้นฐาน ส่วนว่างไม่ว่างนั้นให้งดไว้เสียก่อน ว่างนั้นเมื่อจิตเป็นขึ้นมาแล้วไม่บอกให้ว่างมันก็ว่าง อะไรจะว่างเกินจิตไปได้ไม่มี แต่เมื่อยังไม่ถึงนั้นก็ควรจะตั้งหลักไว้ ไม่งั้นมันจะเขว ให้ตั้งหลักพุทโธ อย่างไรก็ตามเรื่องสติสำคัญมากนะ
จิตสงบคือจิตอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คือจิตไม่สงบนี้มันหิวโหยกับอารมณ์ต่างๆ คิดไม่หยุดไม่ถอย คิดไปเท่าไรยิ่งหิวยิ่งโหยฟุ้งซ่านรำคาญ แล้วจะพาจิตนี้ไปพิจารณาทางด้านปัญญามันไม่ได้เรื่อง มันวิ่งเป็นสัญญาตามอารมณ์ของกิเลสไปหมด ท่านจึงสอนให้จิตสงบแล้วพิจารณาทางด้านปัญญา จิตสงบขนาดไหนก็ตาม จิตพอเบาบางพอสงบบ้างก็เรียกว่าอารมณ์เบาบางไป เราพิจารณาเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับโลก อย่างที่ว่ามานี่ พิจารณาอสุภะอสุภัง แล้วแต่ใครจะพิจารณาแยบคายไปทางไหนตามจริตนิสัยของตน อันนี้เป็นจุดศูนย์กลาง พิจารณาอสุภะอสุภังของไม่สวยไม่งาม อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน มันค่อยแยกของมันไปเอง พิจารณานี้เรียกว่าปัญญา เป็นบางกาลที่เราออกพิจารณา จากนั้นก็อบรมพื้นฐานของจิตด้วยคำบริกรรมคำใดก็ตาม ตามจริตของตนที่ชอบ แล้วมีสติติดแนบตลอดของคำบริกรรมนั้นๆ ถูกต้อง จำให้ดีนะ
เรื่องจิตนี่พิสดารมากทีเดียว ไม่มีอะไรพิสดารเกินจิต และเลิศเลอก็เหมือนกันไม่มีอะไรเกินจิต ถ้าได้ธรรมเข้าไปแทรกกันปั๊บความเลิศเลอจะแสดงออกมา ส่วนมากมันไม่มีแสดงความอบอุ่นเย็นใจตัวเองนั้นก็คือมีแต่เรื่องกิเลส ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ด้วยความคิดความปรุงต่างๆ ตลอดมาทั้งเขาทั้งเรา โลกจึงหาความสุขไม่ได้ เพราะระงับจิตจากอารมณ์ทั้งหลายเข้าสู่ความสงบใจไม่ได้ ท่านจึงสอนให้ภาวนา นี้เป็นวิธีการที่จะสงบใจที่มันไขว่คว้าหาอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟทั้งนั้นแหละ เวลาคิดก็คิด ไม่ต้องบอกมันคิดเองเรื่องสังขารอันนี้ ไม่มีว่างแหละสังขารความคิดความปรุง เห็นได้ชัดแต่จิตผู้ที่มีสมาธิแน่นหนามั่นคงไม่อยากคิด รำคาญ มีเท่านั้นจับกันได้ นอกนั้นไม่มีใครจะจับได้ จับจิตดวงมันดิ้นรนกระวนกระวายได้
ทีแรกก็สงบเข้าไปๆ สงบหลายครั้งหลายหน เสริมจิตให้แน่นหนามั่นคงเข้าไปๆ เป็นฐานของจิตแน่นหนามั่นคง สงบแน่วที่นี่ ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไรมันกวนใจ ความอยู่แน่วอันเดียวนี้ ความรู้เพียงอันเดียวเท่านี้ก็พออยู่พอกินแล้วเรา สงบ นั่งอยู่ที่ไหนนั่งได้สบาย อยู่ที่ไหนอยู่ได้ ความเคลื่อนไหวของร่างกายไม่สนใจ จิตสงบเสียอันเดียวเท่านั้นอยู่ได้ทั้งนั้นคนเรา เพราะฉะนั้นจึงต้องสอนให้จิตมีความสงบ
โลกนี้หาความสงบไม่ได้ทั้งโลกเลยเทียวนะ เพราะไม่มีธรรมเป็นเครื่องบำรุงรักษา มันเป็นฟืนเป็นไฟไปหมด ต้องมีธรรมเช่นจิตตภาวนาเป็นน้ำดับไฟ คือความฟุ้งซ่านของใจกวาดไฟมาเผาเรา ให้สงบลงด้วยจิตตภาวนา ท่านเรียกว่าน้ำดับไฟ ถ้ามีจิตตภาวนาแล้วจะพอสงบเย็นใจคนเรา ท่านทั้งหลายจำไว้ให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นศาสนาชั้นเอกอุ เราพูดตรงๆ ตามหัวใจของเราที่ผ่านเวทีอันนี้มาแล้ว เราไม่เอียงหน้าเอียงหลัง ว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาเอก ถูกจุดสำคัญจนกระทั่งหลุดพ้นไปได้ คือพุทธศาสนา ที่จะสงบระงับจิตใจเราไม่ให้ฟุ้งซ่านรำคาญเกินไปก็ด้วยจิตตภาวนา ดูจิตอันเป็นตัวเหตุ มันวุ่นอยู่นั้น ฟุ้งอยู่ตลอดเวลา
พอเอางานของธรรมเข้าไปจับปั๊บ เช่น พุทโธ นี้เรียกว่างานของธรรม ดับงานของกิเลสที่คิดไม่มีวันหยุดนั้นให้สงบตัวลง เอาพุทโธติดเอาไว้ๆ สติติดแนบ แล้วก็ค่อยสงบเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงไม่อยากคิด ถึงขั้นที่จิตไม่อยากคิด แน่วทั้งวันได้เลย นี่คือจิตเป็นสมาธิ อยู่ที่ไหนมีความรู้อันเดียวแน่ว อะไรคิดปรุงแวบเข้ามากวนใจไม่อยากคิด เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสมาธิที่เหนียวแน่นมั่นคงจึงติดสมาธิ คือมีความสุขตามกำลังของตนซึ่งยังไม่เคยเห็นความสุขยิ่งกว่านี้ไป มันก็ติดอันนี้ นี่ละที่ว่าติดสมาธิ คือติดความสงบ ไม่อยากคิดอยากปรุง เหมือนหนึ่งว่านิพพานจะอยู่จุดนี้ อยู่ที่จุดผู้รู้แน่วอันเดียวนี้ นี้คือนิพพานอยู่ที่นี่ จ่อลงตรงนั้น ก็ได้แค่นั้นแหละ
ทีนี้เวลาเอาปัญญาเปิดออกแหละที่นี่ เวลามันสงบแล้วนี้มันอิ่มอารมณ์ พออิ่มอารมณ์แล้วนำปัญญาออกใช้ กิเลสก็ไม่แย่งไปคิดทางโน้นทางนี้ เพราะมันอิ่มอารมณ์ มันก็ทำงานให้ตามที่เราสั่ง พิจารณายังไงก็เป็นอย่างนั้นๆ นั่นละท่านว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนหลังแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว นี่ภาษาปฏิบัติ ภาษาปริยัติท่านว่า ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ท่านพูดกลางๆ ก็ไม่ผิด แต่พูดทางภาคปฏิบัติพูดตรงไปเลย ปัญญาที่มีสมาธิหนุนหลังแล้วเดินได้คล่องตัว สมาธิที่มีศีลเป็นเครื่องอบรมเป็นเครื่องบ่มไว้แล้ว ย่อมสงบได้ง่าย ไม่ระแวงแคลงใจว่าศีลเราจะด่างพร้อยที่ไหน ศีลข้อไหนขาด ศีลข้อไหนทะลุ ศีลข้อไหนด่างพร้อย ไม่มี มีแต่ความรักษาไว้เข้มงวดกวดขัน แล้วจิตใจก็อบอุ่น เมื่อจิตใจอบอุ่นเข้าสู่สมาธิก็สงบได้ง่าย สมาธิเมื่อมีกำลังแล้วออกทางด้านปัญญาก็เดินได้คล่องตัว
พากันอบรมจิตใจบ้างนะท่านทั้งหลาย ถ้าอยากเห็นความสุข โลกอันนี้จะหาความสุขจากสิ่งใด บอกชี้นิ้วเลยว่าไม่ได้ เพราะเป็นความสุขหาตามทางของกิเลส สุขกับทุกข์เจือปนกันไป สุดท้ายทุกข์มากกว่าความสุข กิเลสจะเอาความสุขป้อนเข้าไปพอเป็นเหยื่อล่อๆ แล้วขนทุกข์เข้ามาทับๆ นี่เรื่องของกิเลส เพลินให้คิดอย่างนั้นอย่างนี้ มีความสุขแย็บหนึ่งๆ จากนั้นความทุกข์เท่าภูเขาเข้ามาทับใจๆ นี้เป็นความคิดของกิเลส ถ้าความคิดของธรรมไม่เป็นอย่างนั้น คิดไปที่ไหนพิจารณาที่ไหนเป็นเรื่องปัญญาเบิกกว้างออก ดับสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟออกไปได้เป็นลำดับ นี่เรียกว่าปัญญา เป็นขั้นๆ
เรานี้แน่ใจทุกอย่าง เราหายสงสัยธรรมพระพุทธเจ้า จึงบอกว่าลงจากเวทีแล้วไม่สงสัยธรรมพระพุทธเจ้า แม้พระองค์ประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ทูลถาม ฟังซิชัดขนาดไหน สนฺทิฏฺฐิโก พระองค์ประกาศไว้แล้ว ผู้ปฏิบัตินั้นแลจะรู้ด้วยตนเอง แล้วจำเป็นอะไรจะไปถามพระพุทธเจ้า ก็ท่านประทานธรรมไว้แล้วอย่างเด็ดขาด ขอให้ปฏิบัติตามทางแห่งสวากขาตธรรมนี้เถิด ถ้าปฏิบัตินี้แล้วจะรู้เห็นเป็นลำดับลำดาไป และแน่ใจตัวเองเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น ถามพระพุทธเจ้าหาอะไร จ้าขึ้นแล้วเป็นอันเดียวกันหมด จึงไม่ทูลถามหาอะไร เป็นอันเดียวกันหมดแล้วไปถามหาอะไรอีก นี่ละจิตที่ถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มส่วนแล้วเป็นอันเดียวกัน ระหว่างท่านผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายนับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้าย เป็นธรรมชาติอันเดียวกันเลย จึงไม่ทูลถามพระพุทธเจ้า ทูลถามพระพุทธเจ้าหาอะไรจ้าอยู่ในหัวใจนี้แล้ว เป็นอันเดียวกันนี้ แน่ะ ถามหาอะไร
เวลายังไม่ถึงขั้นนั้นก็ต้องอาศัยแนวทางก้าวเดินตามๆ ท่านบอกวิธีใดเวลากำลังเดินทาง ก็ก้าวเดินตามวิถีทางที่ท่านสอนไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วก็ค่อยก้าวไปๆ รู้ไปเห็นไปเรื่อยๆ ท่านบอกให้จิตสงบ ก็พยายามอบรมจิตให้สงบบ้าง เพราะตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไม่มีความสงบนะจิต คิดตลอดเวลา ติดเครื่องเอง ตื่นขึ้นมาคิดเองแล้วดับไม่ลง ต้องเอาเวลาหลับมาดับความคิดปรุงอันนี้ คนเรามีความสุขได้บ้างตอนหลับ พอตื่นขึ้นมาความคิดนี้ติดเครื่องเอง ยุ่งตลอดทั้งเขาทั้งเราทั่วโลกนี้เลย ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาธรรมเข้าไประงับให้เห็นประจักษ์ มันวุ่นวายไปไหนๆ พอธรรมเข้าระงับแล้วจะสงบตัวเข้ามาๆ เมื่อสงบตัวเข้ามาสู่จิตมันก็ทราบละซิว่า จิตนี้เป็นมหาเหตุ ธรรมก็เป็นมหาเหตุอยู่ในนั้น แก้กันระหว่างธรรมกับกิเลส แก้กันภายในจิตเรา มันก็สงบเย็นๆ
การสอนเรื่องภาวนา ไม่ว่าครูบาอาจารย์องค์ใดๆ ก็ตาม ท่านจะสอนตามภูมิของท่าน ภูมิมียังไงท่านจะสอนตามภูมิของท่าน ผิดบ้างถูกบ้างในหัวใจของท่านมี ท่านก็สอนไปตามนั้นแหละ ผิดบ้างถูกบ้าง พูดให้ชัดๆ อย่างนี้ ถ้าไม่เคยภาวนาแต่ไปตั้งตัวเป็นอาจารย์เขา ผิดทั้งเพ ถ้าตัวเป็นขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ ก็สอนตามนี้ๆ ถูกตามส่วนที่เจ้าของได้รู้ได้เห็นมาจากภาคปฏิบัติ รู้มามากเท่าไรสอนก็กว้างขวางออกไป ถูกต้องมากขึ้นๆ รู้เสียจนสุดขีดสุดแดน สอนไม่มีผิด แม้แต่ครูบาอาจารย์ท่านสอนลูกศิษย์ท่าน พอมาฟังนี้เข้าใจแล้วท่านสอนยังไง เท่านี้ก็เข้าใจ อย่างท่านพูดตะกี้นี้เข้าใจแล้ว นั่น เพราะฉะนั้นจึงรวมยอดเข้ามาหาจุดภาวนาพุทโธ นี้เป็นจุดที่ตายตัว แล้วไม่เสี่ยง นอกนั้นเสี่ยงได้นะ ลงมาจุดพุทโธแล้วจะไม่เสี่ยง นี่จะหนาแน่นขึ้น สงบขึ้นมาๆ เรื่อยๆ จากพุทโธ พากันจำเอานะ
การภาวนาเป็นสำคัญมาก โลกชาวพุทธเรานี้ได้ยึดศาสนาที่เลิศเลอแล้ว ทำไมเจ้าของจึงเลวเอานักหนา เอาความเลวเข้าไปแข่งพระพุทธเจ้าใช้ไม่ได้นะ พระพุทธเจ้าเลิศเลอ สาวกทั้งหลายเลิศเลอ เพราะตามเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยข้อปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม ตามทางที่องค์ศาสดาสอนไว้แล้ว แต่พวกเรานี้มันแฉลบออกนอกลู่นอกทาง ตกหลุมตกบ่อไปอย่างนั้น มันก็ไม่ได้เรื่องละซิ ธรรมนี้แม่นยำตลอด สดๆ ร้อนๆ ไม่มีกาลนั้นสถานที่นี้มาทำลายธรรมนี้ได้ ขอให้ปฏิบัติตามธรรมที่พระองค์สอนไว้นั้น จะแม่นยำไปโดยลำดับ ถ้าลงได้เต็มภูมิแล้วมันหมดเรื่องความสงสัย หมดในเรื่องการที่จะสั่งสอนคนว่าจะสอนได้ไม่ได้ ไม่มี ออกมาแง่ใดปั๊บ เข้าใจทันทีๆ เพราะกิเลสกับธรรมเคยฟัดกันมาแล้ว อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นทางถูกทางผิด จะรู้ทันทีๆ อย่างนั้นละการปฏิบัติธรรม
พอพูดอย่างนี้ก็ระลึกเห็นลูกศิษย์ เขาก็พูดกับอาจารย์ของเขานั่นแหละ อาจารย์ของเขาก็คือนี้ (หลวงตา) เขามาคุยอวดอาจารย์เขา เราก็ขบขันจะตาย จะบอกว่าผิดทีเดียวไม่ได้ ต้องเกาะอันหนึ่ง จับอันหนึ่งติดแล้วค่อยปล่อยอันหนึ่ง ถ้าไม่มีอะไรจับติด คว้าเลยตกเหวตกบ่อไปได้ พอไปถึงบ้านเขา เขานิมนต์ไปบ้านเขา เราก็ไป พอไปถึงเขาก็ว่า อาจารย์ โยมได้เห็นแล้วนะนิพพาน เป็นยังไงว่าซิ นู่นอยู่ทางหนองเสม็ด เขาชี้ไปทางหนองเสม็ด แล้วโยมไปยังไงถึงไปถึงนิพพานหนองเสม็ดล่ะ เราว่า โยมพิจารณาไปอย่างนั้นๆ มันก็เป็นนิพพานหนองเสม็ดทั้งนั้น มันไม่ใช่ทางนิพพานจริงๆ มันเป็นนิพพานหนองเสม็ด เราถาม แล้วพิจารณายังไงถึงไปเจอเอานิพพานหนองเสม็ด ก็พิจารณาอย่างนั้นๆ มันมีแต่ทางไปหนองเสม็ด
พอเขาพูดจบลงแล้วเราก็ว่าเอาละ เราไม่ปัดนะ เพราะเวลานั้นเขาไม่มีอะไรยึด เขาถืออันนั้นเป็นอารมณ์ บอกว่าผิดเสียทีเดียวเขาไขว่คว้า เพราะฉะนั้นเราจึงว่า เอ้อ เอาไว้ก่อนนะ ทีนี้ให้พิจารณาอย่างนี้ๆ นะ อันนี้นิพพานไหนก็ไม่รู้ละ ไม่ได้บอกว่านิพพานหนองเสม็ด สอนเขาให้ปฏิบัติตามนี้ หนองเสม็ดนั้นเรารู้แล้วเห็นแล้วพักไว้ก่อนนะ ไม่หายไปไหนแหละ ไม่ต้องกลัวว่าจะหายไปไหน ขอให้พิจารณานี้ก็แล้วกัน คือรู้อันนี้แล้วมันจะปล่อยเอง ความหมายว่างั้น แกก็พิจารณา โอ๊ย แกพูดอย่างอาจหาญนะ พอเราไป อาจารย์ โยมได้ถึงนิพพานแล้วนะ ขึ้นเลยทันที นิพพานอยู่ที่ไหนล่ะ นู่น อยู่ทางหนองเสม็ด แกชี้ไปโน่น หนองเสม็ดอยู่ทางโน้น แล้วโยมพิจารณายังไงถึงไปรู้นิพพานหนองเสม็ดล่ะ โยมพิจารณาอย่างนั้นๆ ถึงนิพพานหนองเสม็ด
พอเสร็จแล้วเราก็บอก เออ ยกไว้เสียก่อนนะนิพพานหนองเสม็ดนั่น ทีนี้ให้พิจารณาอย่างนี้ๆ นะ หนองเสม็ดไม่ไปไหนแหละ เอาตรงนี้ก่อน พิจารณาไป ทีนี้ขวนขวายหานิพพานเพิ่มหนองเสม็ดอีก เราบอกงั้น เราบอกนิพพานเพิ่มหนองเสม็ด ถ้าไปบอกว่าผิดไม่ได้ อย่างนั้นละการสอนคน ถ้าปัดมือเขาออกเขาไม่มีที่ไขว่คว้าแล้วล้มเหลวไปเลย ต้องปล่อยไว้นั้นเสียก่อน ทีนี้พอสอนวิธีการให้แล้ว อีก ๓ วัน เขาก็เร็วอยู่นะ กลับมา โหย ขอกราบอาจารย์ ขอกราบหาอะไร ก็ที่โยมว่านิพพานหนองเสม็ดมันไม่ถูก ที่ถูกมันเป็นยังไงล่ะลองว่าซิ แกก็เล่าเรื่องภาวนาให้ฟัง คราวนี้แกไม่บอกว่าแกถึงนิพพานนะ มีแต่บอกว่านิพพานหนองเสม็ดนั้นผิด แล้วโยมพิจารณายังไง แกก็เล่าให้ฟัง เราก็เสริม ทีนี้พิจารณาอย่างนี้
ที่อาจารย์สอนนี้ แหม ถูกต้องแม่นยำมาก สว่างจ้าไปเรื่อยๆ เรื่อยไปเลย เอาทีนี้พิจารณาอย่างนั้นๆ ให้แกเพิ่มเข้าไปอีก คือแกจับหลักนี้ได้แล้ว เราก็เลยไม่พูดถึงเลยว่า นิพพานหนองเสม็ดเป็นยังไงต่อยังไง เพราะแกจับได้แล้วก็ปล่อยเองจะยากอะไร ที่ยังไม่ปล่อยก็คือว่ามันไม่มีที่จับ เข้าใจว่าอันนั้นถูกต้องแล้ว แกก็ยึดอันนั้นไว้ ยึดนิพพานหนองเสม็ดไว้ก่อน จากนั้นแกก็ปล่อยของแกเอง นี่การสอนคน เอะอะจะปัดทันทีไม่ได้ ยังไม่มีที่ยึด ไขว่คว้าไม่มีที่ยึดล้มเหลวได้ ถ้าไม่มีที่ยึด มือนี้จับนี้ ยังไม่มีที่ยึดก็ต้องจับไว้ก่อน พอจับนี้ได้ปั๊บปล่อยมือนี้ปุ๊บไปเลย อันนี้พอจับหลักได้ปั๊บปล่อยนี้ปุ๊บไปเลย เป็นอย่างนั้นละ
เรื่องการอบรมจิตใจ ให้ท่านทั้งหลายอบรมนะ ที่ระงับดับทุกข์จะอยู่ที่ใจ ฟังให้ดีคำนี้ ไม่มีที่ไหนเป็นที่ดับทุกข์ได้ยิ่งกว่าทำจิตตภาวนา ดับทุกข์ที่ใจ พอลงที่นี่แล้วความทุกข์ทั้งหลายนี้กิเลสออกไปคว้าเข้ามาเผาเรา พอธรรมดับกันตรงนี้แล้วมันก็ไม่ออกไปไขว่คว้า ทีนี้สั่งสมธรรมขึ้นก็สว่างไสวขึ้น อันนี้ก็สงบลงๆ นี่ละการภาวนาเป็นของสำคัญอย่างนี้ พุทธศาสนาเราหาที่ต้องติไม่ได้แล้ว เราคอขาดแทนเลย ขนาดนั้นนะ เราไม่มีอะไรสงสัยพุทธศาสนา เพราะขึ้นเวทีฟัดกันเต็มเหนี่ยวแล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่ายังไง ลูบๆ คลำๆ ทีแรก ไปก่อนนะ แต่ให้เดินไปตามทางของศาสดาที่สอนไว้ ลูบๆ คลำๆ ก็ลูบคลำไปตามทางนั้นแหละ ตาบอดหูหนวกก็ค่อยก้าวไปตามผู้ตาดี คือธรรมสอนไว้ ก้าวไปๆ มันก็เบิกกว้างออกๆ
เพราะฉะนั้นพูดถึงเรื่องตั้งแต่ ศีล สมาธิ ขึ้นไป เราจึงไม่สงสัยในตัวของเรา ถ้าว่าศีลก็บริสุทธิ์เต็มเหนี่ยวตลอด สมาธิก็เริ่มไปตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลาน เจริญแล้วเสื่อมๆ ก็พูดให้ฟังแล้ว จนกระทั่งถึงเกาะติดแล้วทีนี้ก็ก้าวเรื่อยๆ ออกทางด้านปัญญาก็อย่างที่ว่า ที่มาพูดนี้แต่ละคนๆ จะพูดได้เท่าที่พูดได้เท่านั้น ที่พิสดารนอกจากนี้ไป ในวงแห่งการพิจารณายังมากกว่านั้นนะ แต่เราจับปั๊บได้เท่านั้นพอๆ เพราะเคยพิจารณาแล้ว นี่ละเรื่องปัญญา ปัญญาเป็นทางเบิกกว้างกิเลสทั้งหลาย จะสงบและขาดไปด้วยปัญญา สมาธิตีกิเลสเข้ามารวมตัว แล้วปัญญาเข้าฟาดฟันหั่นแหลกกัน กิเลสจะตายด้วยปัญญา ไม่ได้ตายด้วยสมาธิ สมาธิเป็นแต่เพียงว่าไล่ตะล่อมเข้ามาสู่จุดรวม ที่จุดจนตรอกของกิเลส แล้วปัญญาฟาดลงที่นั่นขาดสะบั้นลงไป จำให้ดีนะ เอาละวันนี้พูดเพียงเท่านั้น แล้วมีอะไรอีกล่ะ
ผู้กำกับ มีคนเขียนมาว่า กราบเรียนหลวงตา กรุณาเทศน์สอนเรื่องทุกข์ ลูกยังไม่เข้าใจเรื่องทุกข์ ยังติดอยู่ในสุขมากๆ มีความเพียรน้อย
หลวงตา ขี้เกียจตอบ มันสุกก่อนห่าม แล้วทำอะไรถึงได้สุขมากจนต้องให้สอนเรื่องทุกข์ ถ้าสุขมากก็เอาไฟจี้เข้าไปมันจะเป็นยังไง พิจารณาอะไรมันถึงสุขมากอะไรนักหนา เราอัศจรรย์อยากจะขอแบ่งเอาบ้างได้ไหม มันพิลึก
โยม คือถ้าเห็นทุกข์ชัดมันก็อยากจะพ้นทุกข์ แต่มันเห็นไม่ชัดก็เลยยังติดสุขอยู่
หลวงตา แล้วสุขมากน้อยเพียงไรถึงติด
โยม ก็ไม่มากละครับ เป็นสุขแบบปุถุชนธรรมดาครับ
หลวงตา ถ้างั้นก็ทุกข์ไปตามปุถุชนแหละจะให้ว่าไง ก็เอาเข็มมันเองแทงมันเอง พิจารณายังไงก็ว่าไปซิ ทางจะเบิกกว้างออกไปทั้งสุขทั้งทุกข์จะรู้ชัดเจน
โยม เรื่องสุขนี้น่าจะติดกันในหมู่กว้างๆ ของพุทธศาสนิกชน ทำให้เข้ามาศาสนากันน้อย มีความเพียรน้อย
ผู้กำกับ เขาภาวนาพุทโธ เขาติดสุข เขายังไม่รู้จักตัวทุกข์ชัดเจน
หลวงตา ยังไม่บอก จะได้เห็นความสุขชัดเจนที่พุทโธนี้ก่อน ความสุขชัดเจนมากเท่าไรจะเห็นทุกข์ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้นๆ มันอยู่ด้วยกัน เข้าใจเหรอ เดี๋ยวนี้สุขมันก็ยังไม่ค่อยเห็น มันไปเหมาว่ามีสุข เลยอยากรู้ทุกข์ว่าเป็นยังไง มันงมไปทั้งสุขทั้งทุกข์ไม่ได้เรื่อง เอาละไม่อยากตอบ
โยม แสดงว่าต้องภาวนาจนเห็นสุขก่อนถึงจะเห็นทุกข์ชัดเจนใช่ไหมครับ
หลวงตา สุขทุกข์เป็นผล อย่าด่วนเอามายุ่ง สร้างเหตุให้ดี พุทโธกับสติตั้งติดแนบไป นี่เรียกว่าสร้างเหตุดี แล้วความสุขจะค่อยปรากฏขึ้นมาๆ เรื่องความทุกข์ไม่ต้องบอกมันเกิดขึ้นมาตลอด เพราะมันราบรื่นพอแล้วเรื่องความทุกข์ของสัตว์ เนื่องจากกิเลสมันทำงานอย่างราบรื่นมาแล้ว ความทุกข์ที่ขนเผาสัตว์นี้มันจึงขนมาเผาได้ง่ายๆ เอาพุทโธให้ดีนะ เอาพุทโธแล้วเป็นยังไง ต่อไปจะได้รู้มาพูดอีกก็ได้
โห เรื่องของจิตมันของง่ายเมื่อไร คือถ้าหากจิตใจนี้เป็นเหมือนวัตถุภายนอก อารมณ์ภายนอกนี้ มันจะตื่นเต้น มันจะเหาะจะบินทั้งๆ ที่ไม่มีปีก เข้าใจไหม มันจะเหาะจะลอยจะบิน คือมันผาดโผนโจนทะยานในจิตเองนั่นแหละ แต่สติธรรมซึ่งเป็นธรรมพอดีอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ตื่น เรื่องความอัศจรรย์อะไรจะเกินจิตไม่มี เพียงแต่บอกสายทางให้เท่านั้นให้พิจารณา ใครจะควรรู้มากน้อยเพียงไรก็ให้รู้ขึ้นมาจากการบำเพ็ญของตน นี่สำคัญมากนะ แล้วจะพิสดารยังไง การบำเพ็ญต้นเหตุนี่สำคัญ จะออกเรื่อยๆ
(ถวายเช็คหนึ่งหมื่น เงินสดหนึ่งหมื่น พร้อมทองคำ ๑๐ บาทครับ) เออ พอใจๆ ได้ทองคำตั้ง ๑๐ บาท นี่เห็นไหมล่ะน้ำไหลซึม ซึมมาอย่างนี้เรื่อยๆ วันนี้ซึมไป ๑๐ บาทแล้วจะไม่ได้มากยังไง นี่เราไม่คิดเพียงสั้นๆ เท่านี้นะ เราคิดเพื่อพี่น้องชาวไทยทั้งแผ่นดินไทยและอยู่นอกแผ่นดินไทยแต่เป็นคนไทยด้วยกัน เราคิดเป็นห่วงเป็นใยทั่วหน้ากันหมด เพราะฉะนั้นเราจึงได้อุตส่าห์พยายาม ทองคำที่ได้มานั้นสมมักสมหมาย ไม่หลุดไม่ขาด เรียกว่าเพิ่มมากกว่านั้น มากกว่าที่กำหนดๆ นั้นเสียอีก และมอบเข้าคลังหลวงแล้ว เวลานี้ได้ทองคำตั้ง ๑๑ ตันกับ ๓๗ กิโลครึ่ง นี่เข้าคลังหลวงเรียบร้อยแล้ว และดอลลาร์ก็ ๑๐ ล้านกว่าเข้าแล้ว
อันนี้เราไม่มีที่ต้องติบรรดาพี่น้องทั้งหลาย เรียกว่าสมบูรณ์แบบตามที่เราต้องการทุกอย่าง แต่ที่เราเป็นห่วงนี้คือว่าทองคำของเรานี้ยังมีอยู่ในคลังหลวงน้อย ยังไม่มาก กับประชาชนคนไทย ลูกหลานชาวไทยเรามีจำนวนมาก ยังไม่สมดุลกัน เพราะฉะนั้นเราจึงแยกออกมาจากส่วนใหญ่แล้วก็เป็นประเภทน้ำไหลซึม ให้ค่อยไหลซึมๆ เพื่อพี่น้องลูกหลานเราจะได้อาศัยสิ่งเหล่านี้ เวลาเราตายไปแล้วเราก็ตายตาหลับ ว่างั้นเถอะ นี่เราเป็นห่วงพี่น้องทั้งหลาย เราไม่ได้เป็นห่วงเรา ไม่มีเรื่องเป็นห่วงเรา เราเป็นห่วงพี่น้องทั้งหลาย จึงได้แยกออกมาเป็นประเภทน้ำไหลซึม ให้ค่อยไหลซึมหนุนเข้าไปๆ จะเป็นความอบอุ่นมากขึ้นๆ กรุณาทราบทั่วกัน
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |