สร้างความดีไว้เสียแต่ต้นมือ
วันที่ 21 มกราคม 2520 ความยาว 26.46 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๐

สร้างความดีไว้เสียแต่ต้นมือ

 

การบำเพ็ญจิตตภาวนาก็เพื่อ ใจจะมีที่อาศัย ใจจะมีที่ยึด ใจจะมีเรือนของใจเป็นที่อาศัย ใจย่อมมีความร่มเย็น เพราะมีที่พึ่งที่ยึดที่เกาะ ฉะนั้นการสร้างที่พึ่งสำหรับใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก อย่างน้อยก็ให้เสมอกันกับสิ่งภายนอกที่กายต้องอาศัย มากกว่านั้นก็เป็นไปตามวัย ยิ่งวัยแก่เข้ามามากเพียงไร ก็ยิ่งจะเสาะแสวงหาที่พึ่งทางจิตใจให้มีความแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น ใจเมื่อได้รับการอบรมโดยสม่ำเสมอ ย่อมจะมีความเจริญ มีความผาสุกร่มเย็น มีความผ่องใส มีความสงบเย็น เป็นที่แน่ใจแก่ตนเองขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งแน่ใจจริงๆ สิ่งภายนอกอะไรจะได้จะเสียไป ไม่สำคัญ เมื่อจิตมีที่ยึดมีหลักเกณฑ์ภายในตัวแล้ว

เพราะที่ยึดของใจกับที่ยึดของกายนั้นต่างกัน อาหารของกายกับอาหารของใจต่างกัน กายเป็นรูป อาหารก็ต้องอาศัยสิ่งที่เป็นรูปด้วยกัน เช่น ข้าว น้ำ อาหารประเภทต่างๆ เหล่านี้เป็นอาหารของกาย อาหารของใจได้แก่อารมณ์ อารมณ์ที่เป็นพิษนั้นเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจ เราต้องระมัดระวังอย่าให้จิตคิดไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งจะเกิดความทุกข์ร้อนแก่ตนเอง พยายามเสาะแสวงหาอาหาร คืออารมณ์อันดีแก่จิตใจ ได้แก่ศีลธรรม มีคำว่า พุทโธๆ เป็นต้น ให้เป็นที่ยึดที่เหนี่ยวของใจ ใจเมื่อมีธรรมเป็นหลักยึดแล้วย่อมมีความร่มเย็น นี่ชื่อว่าใจมีอาหาร ใจมีอาหารใจก็มีความอิ่มพอ กับอาหารคือธรรมนั้นๆ ย่อมไม่ส่ายแส่เร่ร่อนวุ่นวายก่อกวนตัวเองให้เกิดความทุกข์ความลำบาก เหมือนดังที่เคยเป็นมา

ฉะนั้นการฝึกฝนอบรมจิตใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากด้วยกันทุกคน ถ้าเราหวังผลหวังประโยชน์ หวังความสุขความเจริญสมกับเรามีความรับผิดชอบตนเองแล้ว การอบรมจิตใจด้วยศีลด้วยธรรมนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งโดยทั่วกัน สมกับศาสนาที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้แก่สัตว์โลกโดยไม่เลือกหน้า ไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ เพราะสัตว์โลกจะเป็นชาติ ชั้น วรรณะ ใดก็ตาม ก็ย่อมเป็นผู้มีกิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งเป็นเครื่องก่อกวนทำลายจิตใจ ให้รับความเดือดร้อนขุ่นมัวอยู่เสมอ จึงต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องชะล้าง ให้มีความสะอาดบ้างในบางกาลบางเวลา จิตใจมีความสะอาด จิตใจย่อมเป็นสุข เมื่อสะอาดแล้วก็ผ่องใส ถ้ามีแต่มลทินด้วยอารมณ์ต่างๆ มาคละเคล้าอยู่ทั้งวันทั้งคืน ก็หาจิตไม่เจอ มีแต่ความรุ่มร้อนกลุ้มรุมอยู่ภายจิตใจ วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไปๆ ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร หาคุณค่าหาราคาไม่ได้ ถ้าจิตไม่มีคุณค่ามีราคาภายในตัวด้วยการอบรมเสียอย่างเดียว ฉะนั้นเราควรจะได้รับการอบรม

ใจไม่ตาย ร่างกายแม้จะเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่า หรือแตกสลายลงไป โลกสมมุติว่าตาย แต่จิตใจนี้ไม่ได้ตายเหมือนอย่างนั้น ไม่ได้แก่ชราคร่ำคร่าเหมือนอย่างร่างกาย เป็นสภาพที่รู้คงเส้นคงวาอยู่ตลอดมาตั้งกัปตั้งกัลป์มาแล้ว และยังจะเป็นไปอีกอย่างนี้ตั้งกัปตั้งกัลป์ เป็นแต่เพียงว่าความเปลี่ยนแปลงยักย้ายต่างๆ ของจิตที่จะไปสู่ภพน้อยภพใหญ่นั้น เป็นไปตามอำนาจแห่งวิบากกรรมที่ตนได้สร้างไว้แล้วอย่างใด ก็ต้องหมุนเวียนไปตามวิบากกรรมที่ตนทำไว้แล้วนั้น จึงมีความสุขความทุกข์ มีภพน้อยภพใหญ่ เป็นสัตว์เป็นบุคคลต่างๆ ไม่มีสิ้นสุด เพราะอำนาจแห่งกรรมที่ตนทำไว้แล้วไม่มีสิ้นสุด แต่ที่จะให้จิตมีความฉิบหายไป หรือว่าตายไปเหมือนอย่างสกลกายนี้เป็นไปไม่ได้

ร่างกายเราพูดตามความจริงแล้วก็ไม่ตาย ส่วนผสมที่รวมตัวกันในสกลกายของเรานี้ก็มี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มาผสมเข้าแล้วมีจิตเป็นตัวการ มีจิตเป็นผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบภายในร่างกายที่เป็นส่วนผสมนี้ แต่เวลาสลายตัวออกจากส่วนผสมนี้แล้ว ก็กลายลงไปเป็นธาตุเดิมของตน ส่วนดินก็ลงไปเป็นดิน ส่วนน้ำเป็นน้ำ ส่วนลมเป็นลม ส่วนไฟเป็นไฟ ไม่ตายไปไหนเหมือนกัน ที่เราว่าตายก็หมายถึงความสลายจากความผสม ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้นแหละ และไม่มีจิตใจครอง ก็เรียกว่าตาย ความจริงแล้วไม่มีอะไรตาย โลกเขาสมมุติกันอย่างนั้น แล้วความกลัวตายนี้กลัวมาก แต่ความเกิดไม่กลัว อยากเกิดทั้งนั้น มีความกล้าหาญต่อความเกิด แต่กลับไปกลัวต่อความตาย มันก็ไม่เข้ารูปเข้ารอยกัน ไม่ตรงกับเหตุกับผล ความกล้าหาญต่อความเกิด ความอยากเกิดกับความอยากตาย มันไปในสายเดียวกัน เมื่อยังมีการเกิดอยู่ตราบใด เรื่องตายก็ต้องมีเป็นคู่เคียงกันไปนั้น

ท่านจึงตรัสไว้ในธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด เพราะไม่มีเรือนมีรัง ไม่มีสถานที่เกาะที่อยู่ที่อาศัยของทุกข์ เช่น รูปร่างกลางตัวไม่มี ทุกข์จะมาเกาะมาอาศัยที่ไหน ทุกข์ก็ไม่มีแก่ผู้ไม่เกิดเป็นรูปเป็นร่าง ภายในจิตใจก็ชำระออกหมด เชื้อที่จะให้เกิดอีกไม่มีเลย ท่านผู้นั้นก็บริสุทธิ์ ดังพระพุทธเจ้าที่ว่าปรินิพพานๆ หรือสาวกทั้งหลายท่านนิพพาน คือท่านผ่านไปด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้ผ่านไปด้วยความมีกิเลสเหมือนอย่างเรา ซึ่งผ่านไปแล้วก็ต้องผ่านกลับมาอีก ผ่านไปแล้วต้องกลับมา คือตายไปแล้วเกิดมาอีก ตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก ซ้ำๆ ซากๆ ยิ่งกว่าเราตามรอยโคในคอก เราจะทราบได้ยังไงว่ารอยไหนไปไหนๆ เพราะเหยียบย่ำแหลกไปหมดในคอกของมัน

การเกิดการตายซ้ำๆ ซากๆ ก็เป็นทำนองเดียวกันนั้น แม้เช่นนั้นตัวเองก็ยังไม่อาจทราบได้ว่า ตนเคยเกิดมากี่ภพกี่ชาติ กำเนิดภพชาติอันใดบ้างก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่ตัวก็เป็นตัวการ นี่คือเชื้อที่จะพาให้เกิด เมื่อพยายามชำระจิตใจให้มีความผ่องใสแล้ว แม้จะเกิดก็เกิดในสถานที่ดีคติที่เหมาะสมกับภูมิจิตใจของตนที่มีกรรมเป็นเครื่องอบรมด้วยดีแล้ว ยิ่งได้ชำระให้สะอาดทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ไม่มีสมมุติกิเลสอาสวะแม้นิดหนึ่งแทรกอยู่ภายในจิตใจแล้ว จิตผู้นั้นก็บริสุทธิ์

คำว่าบริสุทธิ์นั้นไม่ได้หมายถึง ความสูญ ความสูญกับความบริสุทธิ์ต่างกัน ความสูญคือสูญสิ้นโดยประการทั้งปวงไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ความบริสุทธิ์ ถ้าไม่มีอยู่จะเอาอะไรมาเรียกว่าบริสุทธิ์ มีแบบความบริสุทธิ์ ไม่ได้มีแบบโลกๆ มีกัน ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะตรัสไว้หรือว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ถ้ามันสูญจริงๆ จะเอาอะไรมาเป็นสุขอย่างยิ่งอยู่นั้นล่ะ มันสูญไปหมดแล้วจะมีอะไรมาสุขอย่างยิ่งอยู่นั้น มันก็มีธรรมชาติอันหนึ่งที่บริสุทธิ์นั้นแล ทำให้เป็นสุขอย่างยิ่ง อยู่ภายในธรรมชาติของตนเอง ถ้าสูญไปเสียจริงๆ ก็ไม่มีอะไรจะมาพูดว่าสุขอย่างยิ่งได้ แน่ะ เป็นแต่เพียงไม่มาเกิดเหมือนอย่างเรา เหมือนอย่างสัตว์ทั่วๆ ไป

เกิดที่ไหนก็เท่ากับจับจองป่าช้าในอัตภาพนั้นแล้ว ในขณะที่เกิดป่าช้าก็ตั้งขึ้นในเวลาเดียวกัน พอหมดเหตุหมดปัจจัยที่จะสืบต่อกันไปแล้ว ก็เรียกว่าตาย สลายลงไปสู่ธาตุเดิม จิตผู้ไม่มีป่าช้าก็ต้องเสาะแสวงหาที่เกิดอีกตามอำนาจแห่งกรรมดีชั่วของตน จึงไม่มีสิ้นสุดในเรื่องความเกิดตายของสัตว์นี้ ท่านว่าไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย เหมือนมดไต่ขอบด้ง ไต่วนไปเวียนมา มาถึงของเก่าแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นของเก่า ไต่ไปเรื่อยวนไปวนมา เราควรจะหาสารคุณใส่ตัวของเราให้เป็นที่แน่ใจ ในขณะที่เป็นฐานะ คือสิ่งที่เป็นไปได้อยู่ ควรอยู่ในเวลายังมีชีวิตอยู่นี้ ตายแล้วหมดทางที่จะทำดีต่อไป

พระพุทธเจ้าท่านสอนสัตว์โลกท่านสอนคนเป็น ยังมีชีวิตที่จะทราบดีชั่วได้อยู่นี้ และแก้ไขได้อยู่ ทั้งทำดีทำชั่วได้อยู่ สอนผู้นี้แลให้รู้วิธีแก้ไขหรือถอดถอนสิ่งที่เป็นความชั่ว แล้วพยายามบำเพ็ญความดีให้มากขึ้น ศาสนาท่านสอนอย่างนั้น ท่านไม่ได้สอนคนตาย พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ พระสาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลายล้วนแล้วตั้งแต่บรรลุธรรมในขณะที่มีชีวิตอยู่ทั้งนั้น สอนจนเป็นที่เข้าใจ จนถึงจุดหมายปลายทางได้ด้วยข้อปฏิบัติ เพราะความเข้าใจในการฟังจากพระพุทธเจ้า แล้วประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่สอนคนตาย

เราก็เป็นฐานะที่เหมาะสมอยู่แล้วในเวลาที่มีชีวิตอยู่นี้ เวลาอ่านอรรถอ่านธรรมที่ไหน ได้ยินครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนก็นำไปประพฤติปฏิบัติ กำจัดสิ่งที่ไม่ดีแก่ตัวเอง สร้างสารคุณขึ้นภายในจิตใจให้เป็นที่มั่นคงในจิตใจ และเป็นที่แน่ใจตนเอง เมื่อเป็นที่แน่ใจแล้วจะตายเวลาใดก็ไม่เห็นสำคัญ เพราะไม่เกี่ยวกับเวล่ำเวลา เราไม่ได้เอาความสุขกับสถานที่กาลเวลาใดๆ เอาความสุขจากสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้ว คือความดีเท่านั้น ซึ่งก็มีอยู่ประจำจิต จิตก็ไม่ได้ฉิบหายไปไหนพอจะหวั่นจะกลัว ไม่อยากล้มอยากตายกัน

จิตไม่ตาย บุญกุศลก็อยู่กับจิต บาปอกุศลก็อยู่กับจิต เราพยายามชำระจิตที่เป็นอกุศล คือความโง่ความเขลานั้นออกให้เป็นความฉลาดปราดเปรื่องขึ้นมาภายในจิตใจ ต้องรู้ช่องทางที่ไป รู้สถานที่อยู่อันเป็นที่เหมาะสมกับความฉลาดของตน หากว่าจะได้เกิดก็เกิดในสถานที่เช่นนั้น ถ้าสิ้นเสียจริงๆ ไม่มีอะไรเป็นเชื้อแห่งภพแห่งชาติแล้ว ก็ไม่ต้องเกิด ให้มาตายซ้ำๆ ซากๆ เพราะการเกิดซ้ำๆ ซากๆ อีกต่อไป

ลมหายใจวันหนึ่งๆ มันหมดไปได้ หมดไปๆ ร่างกายของเราซึ่งเป็นเครื่องมือทำการทำงานต่างๆ นี้ มันก็ค่อยหมดกำลังวังชาลงไป เรามีอะไรเป็นหลักของจิตใจพอจะให้เป็นเครื่องอบอุ่น ถ้าเราจะอาศัยสมบัติเงินทอง มันก็อยู่นู้น เงินก็นู้น ทองก็อยู่นู้น บ้านก็อยู่นู้น สมบัติอะไรๆ ก็อยู่นู้น มันไม่ได้อยู่ในจิตของเรา ได้อาศัยชั่วระยะกาลเวลาที่มีชีวิตอยู่นี้เท่านั้น พอสิ้นลมหายใจแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็เป็นโมฆะไปหมดสำหรับผู้นั้น นอกจากคนอื่นที่จะใช้สอยไปตามสิ่งที่เกิดที่มีสืบต่อกันไป เราเองถ้ามีความดีมากน้อย เราก็ได้อาศัยอยู่นั้น เพราะฉะนั้นจึงควรสร้างความดีไว้เสียตั้งแต่ต้นมือ อย่าได้นอนใจ

เฉพาะอย่างยิ่งภาวนา พุทโธๆ หรือกำหนดลมหายใจเข้าออก ลมมีความสัมผัสที่ตรงไหนมากกว่าเพื่อน เช่น ดั้งจมูกเป็นต้น ให้มีสติตั้งดูอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก สัมผัสที่ดั้งจมูกก็ให้กำหนดอยู่ที่นั้น หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ รู้อยู่ทุกระยะในขณะที่ลมผ่านเข้าผ่านออก จิตเมื่อได้จดจ่ออยู่ตรงนั้นด้วยสติแล้วก็จะสงบตัวลงไป เย็นลงไปๆ ลมจะค่อยละเอียดเข้าไปๆ จนกระทั่งปรากฏว่าลมหมดในความรู้สึกเลย ไม่มี สิ่งที่มีก็คือความรู้ที่ละเอียดอันสุขุมมากทีเดียว พอลมละเอียดลงไป จิตก็ละเอียด บางครั้งลมหายเงียบในความรู้สึก แต่ความรู้ไม่หาย อยู่เสียตรงนั้น อยู่ด้วยความละเอียด นี่ประการหนึ่ง ประการที่สองเรากำหนดพุทโธ ก็ให้มีความรู้สึกอยู่กับคำว่า พุทโธๆ ไม่ต้องไปกำหนดกฎหมายว่าสูงว่าต่ำ ว่าทำในสถานที่ใด ให้มีความรู้อยู่กับ พุทโธๆ แล้วจิตก็จะสงบเข้ามาในจุดนั้น ทีนี้คำว่า พุทโธ กับความรู้ก็เลยกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ในขณะที่มันกลมกลืนเป็นอันเดียวกันแล้วนั้น เราจะบริกรรมหรือไม่บริกรรมก็ไม่สำคัญ เพราะความรู้เด่นดวง แล้วอยู่กับความรู้นั้นเสีย

เพราะคำว่า พุทโธ ก็ดี อานาปานสติ ก็ดี ก็เปรียบเหมือนกับเหยื่อล่อปลานั่นเอง ถ้ามีแต่เบ็ดปลาก็ไม่กิน ต้องเอาเหยื่อมาล่อเพื่อให้ปลากินเบ็ด ถ้ามีแต่จิตเฉยๆ ก็หาที่ยึดไม่ได้ ต้องอาศัยอานาปานสติคือลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ของใจ หรือต้องอาศัยคำบริกรรมมีพุทโธเป็นต้น ให้เป็นที่ยึดของใจ พอจิตรวมตัวเข้าไปเป็นอันเดียว มีความทรงตัวหรือมีความเป็นตัวของตัวโดยเอกเทศแล้ว คำบริกรรมอันนั้นก็หมดปัญหาไปเอง เช่นลมหายใจก็หมดปัญหาไป คำว่า พุทโธ ธัมโม หรือสังโฆ อะไรก็ตามซึ่งเป็นคำบริกรรม มากน้อยก็หมดปัญหาไป เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ เราจะว่า พุทโธ คำว่า พุทโธ กับจิต ก็เป็นอันเดียวกันเสีย คำว่า ธัมโม ธรรมกับจิตก็เป็นอันเดียวกันเสีย สังโฆ สังฆะกับจิตก็เป็นอันเดียวกันเสีย  รู้เด่นดวงก็ปล่อย เวลานั้นปล่อยหมด เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ เด่น นั่นละคือบ่อแห่งความสุข

เราเคยประสบพบเห็นความสุขมาด้วยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรมามากมายก่ายกอง ไม่เหมือนความสุขที่ปรากฏขึ้นโดยลำพังของจิต ที่ได้อบรมจิตตภาวนานี้เลย ความสุขอันนี้เป็นความสุขที่ละเอียดสุขุมมากยิ่งกว่าความสุขใด และไม่เจือปนด้วยยาพิษเหมือนอย่างความสุขอื่นๆ ซึ่งยาพิษนั้นจะตามมาในฉากต่อไป แต่ความสุขอันนี้ไม่มีฉากที่จะให้เป็นพิษ ทำให้จิตมีความเด่นดวง จิตเป็นหนึ่งภายในตัวของเรา แต่ที่เป็นหนึ่งไม่ได้ก็เพราะสิ่งที่คละเคล้า อารมณ์ต่างๆ นี้เต็มไปหมด อันนั้นก็ยึดอันนี้ก็ถือ อันนั้นก็คิดอันนี้ก็ปรุง เลยไม่ทราบว่าจะเอาอะไร ล้วนแล้วตั้งแต่เรื่องปรุงเรื่องแต่งเรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวาย หายึดเอาสาระไม่ได้จากความคิดนั้นๆ

เพื่อยึดได้ในข้อใดข้อหนึ่งให้เป็นหลักของใจ ท่านจึงสอนให้ภาวนา เช่น พุทโธๆ เป็นต้น ให้อยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อจิตได้ยึดกับหลักนั้นเป็นกฎเป็นเกณฑ์เป็นที่แน่ใจด้วยความมีสติแล้ว จิตก็จะสงบตัวลงไป แล้วปรากฏเป็นความเด่นดวงขึ้นมา ในขณะที่ปรากฏเด่นดวงของผู้รู้ขึ้นมาอย่างเด่นชัดภายในจิตใจนั้น จะเป็นความสุขความเบาใจ ความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นในขณะเดียวกัน นั่นแหละผู้ภาวนาจะมีความกระหยิ่มยิ้มย่องในผลที่ตนปรากฏขึ้น และจะเกิดความขยันหมั่นเพียรขึ้น โดยไม่ต้องมีอะไรมาบังคับ เพราะผลนั้นแลเป็นเครื่องให้ดึงดูดจิตใจ ที่จะให้ประกอบความพากเพียรหนักขึ้นเป็นลำดับๆ จนกระทั่งเห็นชัดเข้าไปโดยลำดับอีกเช่นเดียวกัน

เพราะจิตเป็นสิ่งที่ละเอียดสุขุมมากทีเดียว จะเปลี่ยนสภาพจากความหยาบเข้าสู่ความละเอียดเสมอไป เมื่อได้รับการอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอ จนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นไปได้ ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐในโลกธาตุอันนี้ และไม่มีอะไรที่จะประเสริฐในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ นอกจากจิตนี้เท่านั้นถ้าทำให้ประเสริฐ ถ้าทำให้เลวก็ไม่มีอะไรจะเลวยิ่งกว่าใจ ใจเป็นสิ่งที่อบรมได้ เป็นสิ่งที่จะดัดแปลงแก้ไขได้ทั้งทางดีและชั่ว ขึ้นอยู่กับเราซึ่งเป็นเจ้าของของใจ ได้แก่สติกับปัญญานั่นแล เป็นเจ้าของผู้คอยประคับประคองจิตใจ ให้คิดไปในแง่ต่างๆ

ถ้าปราศจากสติเสีย ก็เหมือนอย่างคนบ้าคนบอที่เดินงกๆ งันๆ อยู่ตามถนนหนทาง เขามีความรู้เหมือนกัน แต่ความรู้สึกดีชั่วเขาไม่มี ว่าผิดถูกประการใดเขาไม่มี มีแต่ความรู้ โดยไม่มีสติ อยากทำอะไรก็ทำ อยากนั่งที่ไหนก็นั่ง แม้ที่สุดสี่แยกไฟแดงเขาก็นั่ง เขาเฉย กลางถนนเขาก็เดินไปทั้งๆ ที่รถวิ่งขวักไขว่กันอยู่ เขาก็ไม่สนใจว่าอะไรจะมาชนมาโดนเขา หรือว่าเขาเดินผิดกฎจราจรอะไรเขาไม่สนใจ เพราะไม่มีความระลึกรู้ว่าสิ่งนี้ผิดสิ่งนั้นถูก มีแต่ความรู้อันเดียวเป็นอย่างนั้น คนที่ว่าเป็นบ้าก็คือไม่มีสติเป็นเครื่องรักษา ไม่มีสติเป็นเจ้าของ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องกลั่นกรอง

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องฝึกหัดสติ ให้มีสติเครื่องรับทราบ ให้มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่องมองดูว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ควรทำอย่างไรไม่ควรทำอย่างไร จิตเมื่อได้รับการอบรมด้วยสติปัญญาอยู่เสมอ สติปัญญาเมื่อได้รับการฝึกตนอยู่โดยสม่ำเสมอแล้วจะมีความแก่กล้าสามารถรอบตัวเข้าโดยลำดับๆ จนสามารถรักษาจิตไว้ได้ แล้วก็เลิศๆ ด้วยอำนาจของสติปัญญานี้แลเป็นเครื่องขัดเกลาจิตให้ถึงความเลิศ มนุษย์เราเลิศอยู่ที่ใจ เลวอยู่ที่ใจ ร่างกายเป็นดินน้ำลมไฟ เหมือนๆ กันหมด เพราะร่างกายนี้เป็นเครื่องมือ จะพาทำดีก็ได้ พาทำชั่วก็ทำ สำคัญที่ใจเป็นผู้บงการว่าผิดถูกดีชั่วประการใด จะพากายวาจานี้หมุนไปทางไหน ขึ้นอยู่กับใจซึ่งเป็นเจ้าของที่มีสติเป็นผู้ควบคุม ถ้าไม่มีสติแล้วก็เป็นอย่างที่ว่านั่นแหละ

เราไปที่ไหนไม่มีจุดหมายปลายทาง อยู่ที่ไหนไม่มีหลักมีเกณฑ์ ดีแล้วเหรอ คนไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีความหมาย อยู่ก็ไม่มีความหมาย ตายก็ไม่มีความหมาย ไปเกิดที่ไหนก็ไม่มีความหมาย คนหาความหมายไม่ได้ก็คือคนหาสาระแก่นสารไม่ได้ เราจะทำยังไงจึงจะให้มีความหมาย มีสาระแก่นสารภายในตัวของเรา ก็ต้องอบรมจิตใจ ใจเป็นใจของเรา ไม่ใช่ใจของใคร เราเป็นผู้รับผิดชอบ ทุกข์เราก็ต้องรับ สุขเราก็ต้องรับ เมื่อเราเป็นผู้รับผิดชอบอยู่รอบด้านเช่นนี้ เราจึงควรที่จะอบรมจิตใจของเราให้ไปในทางที่ถูกที่ดี เพื่อเป็นความสุขความเจริญ สมความมุ่งหมายที่เราเกิดมาต้องการสุข ไม่มีใครที่จะต้องการทุกข์ในโลกอันนี้ แต่ทำไมจึงเจอกันอยู่ไม่แล้วไม่เล่าสักที ไปที่ไหนบ่นอื้อกันหมดว่าเป็นความทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ คนจนก็บ่น คนมีก็บ่น คนโง่ก็บ่น คนฉลาดก็บ่น ทำไมจึงไม่มีใครหลีกเว้นจากทุกข์ไปได้

เราไม่ต้องการความทุกข์ ทำไมจึงเจอแต่ความทุกข์ เป็นเพราะเหตุใด ก็เป็นเพราะเสาะแสวงหาในทางที่ไม่ถูก ว่าคนฉลาดมันฉลาดจริงในทางที่จะหาความทุกข์ให้แก่ตน แต่จะหาความสุขให้แก่ตนมันไม่ฉลาด มันโง่ที่ตรงนี้ แล้วทุกข์เข้ามาที่ช่องว่างคือความโง่นี่ มันมีช่องโหว่อยู่นี้มันก็เข้าตรงนี้

พระพุทธเจ้าท่านสอนโลกสอนอย่างถูกต้องแม่นยำ ความสุขพระองค์ได้พบแล้วด้วยการปฏิบัติ จึงได้นำเอาผลแห่งการปฏิบัตินั้นออกแสดงให้โลกทั้งหลายได้ทราบ ให้ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นๆ สั่งสอนโลกท่านไม่ได้สั่งสอนด้วยความหิวโหย สั่งสอนแล้วด้วยความเพียงพอของพระองค์ พอทุกสิ่งทุกอย่างแล้วภายในพระทัย พระพุทธเจ้าจึงไม่ใช่เป็นคนจน ไม่ใช่เป็นคนหิวโหยเหมือนโลกทั่วๆ ไป การสั่งสอนโลกจึงสั่งสอนด้วยความเมตตาปรานีทั้งนั้น

แม้ที่สุดวันจะปรินิพพานก็ยังต้องประทานโอวาทให้แก่สุภัททปริพาชก ที่มาทูลถามปัญหาให้ได้บวชและได้บรรลุธรรมในคืนวันนั้นเป็นสาวกองค์สุดท้ายจนได้ ใครที่จะมีความสม่ำเสมอเหมือนพระพุทธเจ้า และใครที่จะพูดได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า ในโลกทั้งสามนี้ไม่มี เราจะเชื่อใครถ้าไม่เชื่อ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เราจะเชื่อใคร เราเชื่อเรา เราก็เชื่อไม่ได้ มันหลอกตัวอยู่ตลอดเวลา อ้าว วันนี้ว่าจะทำนี้ มันเถลไถลไปแล้วไปทำนั้นเสีย วันนั้นจะทำนั้นเถลไถลไปทำนี้เสีย อ้าว ว่าจะไปไม่ไป ว่าจะอยู่ไม่อยู่ มันตลบตะแลงยิ่งกว่าอะไร ในตัวของเราเองแล้วจะเชื่อมันได้ยังไง จึงต้องหาหลักหาเกณฑ์มาเป็นที่ยึด เช่น พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นที่ยึดของใจ ทำให้แม่นยำมั่นคง เราจะได้หลักดีไว้ใช้ประโยชน์สำหรับเราเอง

ตายแล้วมันไม่สูญนี่นา ตายแล้วมันแล้ว แต่นี่มันไม่แล้ว อยู่ในโลกนี้มันก็เป็นทุกข์เพราะใจดวงนี้ แล้วไปโลกหน้ามันจะเอาสุขเพราะใจดวงนี้มาจากไหน ถ้าไม่ได้สร้างความดีไว้สำหรับตัวให้เป็นความสุขแล้ว อยู่โลกไหนมันก็คือกองทุกข์นั้นแล ถ้าจิตได้สร้างความดีไว้สำหรับตนเองแล้ว อยู่โลกไหนก็เย็น มีชีวิตอยู่นี้ก็สบาย ตายไปแล้วก็เป็นสุข เพราะจิตพาให้เป็นสุข จิตไม่ได้ตาย ฉะนั้นความดีจึงเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่มนุษย์เรา ผู้ที่รู้ดีรู้ชั่ว รู้สุขรู้ทุกข์ ควรจะสั่งสมอบรมให้มีขึ้นภายในจิตใจ ศาสนาก็สอนมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญเป็นใหญ่เป็นโตนี้ก่อนสัตว์ประเภทอื่นๆ พระพุทธเจ้าสอนเรา

พุทธศาสนาไม่ใช่สมบัติของใคร แต่เป็นของทุกคนผู้มีความสนใจและปฏิบัติตาม ความสุขก็ไม่ใช่ของใครทั้งนั้นโดยเฉพาะ แต่เป็นความสุขของทุกคนที่กระทำได้ด้วยกำลังของตนเองในทางที่ถูกต้องดีงาม ก็เป็นความสุขขึ้นมา เราไม่ต้องการเป็นคนหมดหวัง เราต้องการเป็นคนมีหวัง เราไม่ต้องการความหมดสาระแก่นสาร เราไม่ต้องการความหมดความหมาย เราต้องสร้างความหมายขึ้นในตัวของเราด้วยความดี เราต้องสร้างความดีขึ้นภายในจิตใจของเรา เพื่อเป็นสุข เราอยู่ไหนเราก็มีความหมาย อยู่นี้ก็มีความหมาย ตายไปก็มีความหมาย อยู่นี้ก็มีสาระ ตายไปก็มีสารคุณประจำตน นี่เป็นหลักสำคัญที่มนุษย์เราผู้ว่าตนเป็นผู้ฉลาด จะพึงสร้างให้มีภายในจิตใจของตนอย่าได้ประมาท

ความตายมันตายได้ทุกเวล่ำเวลา อยู่ที่ไหนตายได้ทั้งนั้น เมื่อหมดกำลังที่จะสืบต่อกันแล้วในระหว่างแห่งธาตุขันธ์เหล่านี้ กับปัจจัยทั้งหลายที่สืบต่อกันมา เมื่อหมดกำลังแล้วตายได้ทั้งนั้น ไม่ว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นนักบวช และฆราวาส หมดลมหายใจแล้วตายทั้งนั้นแหละ เราอย่ากำหนดว่าปีนั้นปีนี้เราจะตาย ปีนั้นเราจะยังมีชีวิตอยู่ ให้ถามลมหายใจ ลมหายใจหมดเมื่อไรเป็นตายเมื่อนั้นแหละ เวลานี้ลมหายใจมีอยู่เราก็ทราบอยู่ อะไรที่เราควรจะสร้างให้เป็นสิริมงคล หรือเป็นคุณงามความดีแก่ตน ให้รีบสร้างเสียตั้งแต่วันนี้ อย่าได้นอนใจ อย่าประมาท อย่าหลอกตนเองไปนาน เดี๋ยวตายแล้วไม่มีอะไรติดตัว

ว่า กุสลา ธมฺมา กุสลา ธมฺมา ก็ว่ากันไปอย่างนั้นแหละ จะว่ายังไง ให้ กุสลา ธมฺมา ภายในตัวเสียตั้งแต่บัดนี้ กุสลา แปลว่า กุศล ความฉลาด คนมีความฉลาดย่อมหาความสุขเจอ ให้สร้างความฉลาดไว้ในตัวเสียตั้งแต่บัดนี้ อย่าให้คนอื่นมา กุสลา ธมฺมา กุสลา ธมฺมา ให้ยุ่งไปเลย สร้างเสียตั้งแต่บัดนี้ จะได้เป็นที่แน่วแน่ตัวเอง ตายแล้วใครจะมากุสลาไม่กุสลาให้ไม่สำคัญ เมื่อเราได้สร้างกุสลา คือความเฉลียวฉลาดรอบตัวของเราแล้ว เราต้องมีบุญมีกุศล เพราะเราสร้างด้วยความฉลาดตามหลักธรรมพระพุทธเจ้า อยู่ไหนก็เป็นมงคล กุสลาไม่กุสลาไม่สำคัญ เราไปกุสลาอยู่ภายในตัว บุญมีอยู่กับตัวของเราแล้ว เอาเท่านั้นแหละ

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร ก็ขออภัยจากท่านทั้งหลายด้วย เทศน์เป็นธรรมะป่าบ๊งเบ๊งๆ

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก