เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๐
ที่ฆ่ากิเลส
ท่านอาจารย์มั่นเวลาท่านแก่เข้ามาแล้วท่านปล่อยเสียทุกอย่างนั่นแหละ ปล่อยความรับผิดชอบเกี่ยวกับพระเณรอะไรต่ออะไร ประคองเฉพาะตัวของท่านก็จะไม่ไหวอยู่แล้ว เลยใช้แบบหูหนวกตาบอดเรื่อยๆ ไป ใครจะปฏิบัติก็ปฏิบัติ ใครจะขี้เกียจก็ขี้เกียจ ใครจะเป็นยังไงท่านก็ปล่อยไปหมด แม้แต่ท่านอาจารย์มั่นเวลาแก่เข้ามาจริงๆ ท่านก็ยังรู้สึกมีปล่อย แต่ไม่ได้ปล่อยมาก เพราะนิสัยท่านเข้มงวดกวดขันมาดั้งเดิมเกี่ยวกับพระเณร แม้เช่นนั้นก็ยังพอทราบได้ว่า ท่านลดลงมาก
วันนี้พวกเราได้ไปดูสถานที่ที่พระกรรมฐานผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมท่านอยู่บำเพ็ญ แต่ถ้าหากว่าได้มีโอกาสไปเที่ยวดูให้ทั่วถึงก็จะดี ที่ไปไม่ทั่วถึงก็จะมีอยู่มากวันนี้ พวกที่ไปดูทั่วถึงก็มี ที่เช่นนั้นแหละเป็นที่ฆ่ากิเลสพูดง่ายๆ ไม่ใช่เป็นที่กิเลสฆ่าคน นอกจากคนจะยื่นไม้ไปให้กิเลสมันตีเอา พระพุทธเจ้าท่านอยู่ในที่เช่นนั้น พระสาวกทั้งหลายส่วนมากอยู่ในที่เช่นนั้น แทบทั้งนั้น ไม่ได้มาพลุกพล่านวุ่นวายก่อกวนเจ้าของและทำคนอื่นให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายไปด้วย จนกลายเป็นศาสนากวนบ้านกวนเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้
ท่านห้ำหั่นกับกิเลสทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน นี่เป็นงานของพระผู้ที่จะฆ่ากิเลสให้ตาย คลายกิเลสให้หลุดลอยไปจากจิตใจจริงๆ ท่านปฏิบัติอย่างนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องอาหารก็แร้นแค้นกันดารอยู่มาก แต่สำคัญที่พระกรรมฐานท่านไม่สนใจกับสิ่งเหล่านี้ ท่านมีอะไรพอยังชีวิตให้เป็นไปวันหนึ่งๆ เท่านั้นพอ ความมุ่งมั่นท่านอยู่กับอรรถกับธรรม คือการประพฤติปฏิบัติ วันหนึ่งคืนหนึ่งมีความเพียรเป็นหลักเกณฑ์ แห่งความเป็นอยู่ของพระผู้ปฏิบัติอยู่ในสถานที่เช่นนั้น
ไม่ได้คิดอะไรให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายเป็นเครื่องก่อกวนตัวเอง ซึ่งเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมาในขณะนั้นๆ ด้วย พูดกันก็รู้เรื่องกันง่าย เพราะพร้อมที่จะรู้อยู่แล้ว เกี่ยวกับความสนใจมีมาก นั่งอยู่ก็เป็นความเพียร ยืน เดิน นอน เป็นความเพียรเว้นแต่หลับ เรื่องสติมันตั้งขึ้นมาเองเมื่ออยู่ในสถานที่ควรตั้ง ไม่ควรประมาทประมาทได้ยังไง แต่นั้นก็ยังพอทำเนา สถานที่เยี่ยมกว่านั้นยังมี คำว่าเยี่ยมมีทั้งเสือ ทั้งช้าง สัตว์ป่าไม่ต้องพูด เสือมีอยู่ที่ไหน สัตว์ป่าจะมีที่นั่น เพราะพวกนี้อาศัยกินสัตว์ กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ที่เช่นนั้นแหละเป็นที่ประมาทไม่ได้
กลางวันกลางคืนต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ความมีสติอยู่นั้นแล คือความมีความเพียร แต่ต้องเป็นผู้เอาจริงเอาจัง ถ้ายังมาหึงมาหวงในสกลกายอยู่ ความหึงหวงนั้นแลจะเป็นเหตุให้เกิดความกลัวให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา แทนที่จะเป็นการแก้กิเลสเลยเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมาเพราะความกลัวเป็นเหตุนั้น แล้วก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าอย่างนั้นไปไม่รอด ต้องเด็ดขาด ถึงคราวเด็ดต้องเด็ด ถึงคราวจะอนุโลมผ่อนผันบ้างก็มี แต่มีตามเหตุผลไม่ใช่มีเอาเฉยๆ ถึงเวลาเด็ดก็ต้องเด็ดด้วยเหตุผลเหมือนกัน
เวลาไปอยู่ในที่เช่นนั้น เราพูดตามภาษาของเราโลกๆ อย่างสบายๆ มันเหมือนกับเป็นพระอรหันต์น้อยๆ องค์หนึ่งขึ้นมา กิเลสไม่มีตัวใดแสดง มันหมอบไปหมด แต่พอออกมาจากที่เช่นนั้นแล้ว มันก็กางเล็บ เริ่มกางเล็บขึ้นมาตะปบเจ้าของนั่นแหละ กางเล็บขึ้นมาแล้วตะปบเจ้าของ กัดเจ้าของนั่นแหละ ไม่ได้กัดผู้อื่นผู้ใดก่อนอื่น ถ้าอยู่ที่เช่นนั้นหมอบหมด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ โทสะ โมหะ มันหมอบไปหมด สบาย
ยิ่งการเสียสละทุกอย่างภายในร่างกาย มอบไว้ในคติธรรมดาเสียหมด เรามีความมุ่งมั่นต่อความจริงคือธรรมเท่านั้น ส่วนร่างกายจิตใจจะสลายไปเมื่อไรก็มอบไว้ตามคติธรรมดา ในหลักกรรมท่านสอนไว้แล้วไม่น่าสงสัย ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าก็ต้องเชื่ออย่างนี้ เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเราจะเชื่อใคร จิตปักลงไปตรงนั้น ความกลัวทั้งหลายก็ค่อยหายไปๆ ปักลงไปจริงๆ แล้ว เป็นการเสียสละอยู่ภายในตัวทุกอิริยาบถ ทีนี้ไปอยู่ไหนไปได้หมด เดินไปได้ ก็เป็นเหตุให้เราทราบถึงเรื่องความรัก ความสงวน ความหึงหวงในร่างกายนี้มันเป็นสาเหตุที่จะให้เกิดความทุกข์ไม่ใช่น้อยๆ ความทุกข์มากทีเดียว
พอฉลาดเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไปอยู่ไหนก็อยู่ได้ มันเหมือนผ้าขี้ริ้ว กลางคืนดึกสงัดขนาดไหนลงเดินจงกรมยิ่งเพลิน อยู่ไหนนั่งได้หมด เพราะได้มอบหมดแล้วนี่ เป็นก็เป็น ตายก็ตายอยู่คนๆ เดียวนี่ไม่ได้เป็นที่ไหน ถึงกาลถึงเวลาแล้วก็เป็นอย่างนั้น เลยสบาย นั่งอยู่ร่มไม้ชายเขาที่ไหนก็สบาย มีแต่ความรื่นเริงบันเทิงในอรรถในธรรมที่ตนมุ่งมั่นและกำลังบำเพ็ญอยู่นั้นเท่านั้น
สมาธิไม่ต้องถามละ เรื่องความสงบของใจนั้นน่ะ เมื่อมีสติ มีการควบคุมอยู่เสมอมันสงบเอง สงบแบบไหน นิสัยของเราเป็นยังไง ใจของเราสงบได้ด้วยวิธีใด สงบในลักษณะใดมันบอกในตัว เพราะมันเป็นอยู่กับตัวเราตามลักษณะนั้นๆ ที่ขึ้นอยู่กับนิสัย พิจารณาอะไรทะลุปรุโปร่งไปหมด มันฉลาดเอง
คำว่าฉลาดนี้มันฉลาดแก้ตัวเอง เพราะความโง่อยู่กับเรา ความฉลาดก็เกิดขึ้นกับเรานี้ แล้วแก้ความโง่ของเราเอง ความโง่นั้นเป็นฝ่ายสมุทัยในสัจธรรมทั้ง ๔ ความโง่เป็นฝ่ายสมุทัยผลิตทุกข์ขึ้นมา ให้เกิดความเดือดร้อนแก่เรา ความคิดนั้นแหละเป็นสมุทัย ความคิดความปรุง สัญญาความมั่นหมายต่างๆ สังขารประเภทหนึ่งเป็นสังขารฝ่ายแก้ อุบายวิธีที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ความโง่อันนั้น ท่านเรียกว่ามรรค ก็เป็นสังขารเหมือนกันแต่เป็นสังขารฝ่ายมรรค เมื่อมีมากมันก็มีกำลังมาก แก้ไปได้โดยลำดับๆ
การเจริญมรรค เจริญที่ไหน ก็เจริญที่ใจ สัจธรรมอันหนึ่งเหมือนกัน..มรรค แก้ไปได้ที่ไหน นิโรธคือความดับทุกข์ มันเป็นผลพลอยได้จากมรรคที่เป็นผู้ดับทุกข์ แก้ทุกข์นี้ต่างหาก ไม่ใช่นิโรธจะทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับมรรคเลย ความจริงก็เหมือนกับความอิ่มนั่นแหละ ความอิ่มมันทำหน้าที่อะไร การกินต่างหากเป็นผู้ทำหน้าที่ กินลงไปมากน้อย ความอิ่มก็ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งอิ่มเต็มที่เพราะการกินเป็นสำคัญ การแก้กิเลสเป็นการทำงาน กิเลสดับไปเพราะการแก้ได้ ท่านก็ให้ชื่อว่านิโรธ ความจริงเป็นธรรมชาติที่สืบเนื่องมาจากมรรคเป็นผู้ทำขึ้นมา
ไม่ใช่ว่านิโรธจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างหนึ่งโดยไม่เกี่ยวข้องกับมรรค มรรคทำหน้าที่อันหนึ่งต่างหาก เป็นคนละชิ้นละอันอย่างนั้น มันเป็นความเกี่ยวเนื่องกันในสัจธรรมทั้ง ๔ ถ้าพูดตามความจริงของผู้ปฏิบัติเป็นอย่างนั้น มันเกี่ยวโยงกันไปหมด เช่น ทุกข์ให้พึงกำหนดรู้ ท่านบอก ทำไมจะไม่รู้เราไม่ใช่คนตาย ทุกข์เกิดขึ้นทางกายหรือทางใจมันก็รู้ด้วยกันทุกคน อุบายวิธีการที่ท่านสอน ท่านก็บอกไว้อย่างนั้น สมุทัยให้พึงแก้ พึงละ พึงถอน พึงระงับดับมันด้วยมรรค มรรคพึงเจริญ คำว่าเจริญ ก็คือเจริญความพากเพียรเพื่อจะให้สติปัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง
เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นมากน้อยก็เพื่อจะแก้กิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น แก้กิเลสได้มากน้อยเพียงไรทุกข์ก็ดับไปๆ เพราะอำนาจของการแก้กิเลส ไม่ใช่ทุกข์จะไปทำหน้าที่ของตัวโดยลำพัง ซึ่งไม่ต้องอาศัยมรรคเลยอย่างนั้นไม่ได้ มันเกี่ยวโยงกันอย่างนี้ แต่พระพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัยต้องแยกแยะให้เห็นทุกแง่ทุกมุม ทีนี้เราไม่เข้าใจก็เลยไปกระจายกันออกเป็นเหมือนกับแบบแปลนแผนผังของบ้านของเรือน ทุกข์ต้องทำหน้าที่กำหนดทุกข์ แล้วจึงจะไปละสมุทัย จึงไปเจริญมรรคจะไปทำนิโรธให้แจ้ง เป็นคนละภาคเป็นคนละอย่างไปเสีย วันยังค่ำตลอดตายก็ไม่เห็นเหตุเห็นผลอะไรจากการบำเพ็ญการปฏิบัติแบบนี้เลย เพราะธรรมเหล่านี้เป็นความเกี่ยวเนื่องกัน พอทุกข์เกิดขึ้นมันมีสาเหตุเป็นมาอย่างไร มันถึงทุกข์ นั่น คำว่ามันมีสาเหตุมาอย่างไรมันถึงทุกข์ นี้เป็นเรื่องของมรรคแล้ว ได้แก่ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญแล้ว อ๋อ มันทุกข์เพราะสัญญาอารมณ์แบบนั้นๆ ชนิดนั้น มันมีความกังวลกับสิ่งนั้นๆ วันนี้มันถึงได้ก่อทุกข์ขึ้นมา แล้วพิจารณาเรื่องอารมณ์ที่มันไปเกี่ยวเกาะ ไปก่อขึ้นมานั้นให้เป็นที่เข้าใจแล้วมันก็ระงับดับลงไปด้วยอำนาจปัญญา การดับลงไปนั้นท่านก็ให้ชื่อว่านิโรธ นิโรธไม่ได้ไปทำหน้าที่อะไรแหละ ความจริงเป็นอย่างนั้น
ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้กับครั้งพุทธกาลนั้นอะไรมันผิดแปลกกัน มันมีอยู่ที่ไหน มันมีอยู่กับทุกคน สมัยโน้นก็กิเลสประเภทเดียวกันนี้แหละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา อันเดียวกัน และอยู่ในจิตใจของคนและสัตว์อันเดียวกันอีก วิธีแก้เราจะเอาอย่างไหนมาแก้ ถ้าไม่เอาแบบที่เคยแก้ได้ดังพระพุทธเจ้าทรงแก้มาแล้วมาแก้ อย่างอื่นไม่ได้ ไม่มีใครที่จะรู้และประกาศศาสนธรรมให้เหมาะสมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า อันใดที่ควรที่จะลัดตัดตอน พระพุทธเจ้าตัดทอนหรือตัดตอนออกไปโดยลำดับๆ อันไหนที่ควรจะคงไว้ให้คงเส้นคงวา เพราะเป็นความเหมาะสมแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดเป็นจอมปราชญ์ก็ต้องทำอย่างนั้น เราจะไปดัดแปลงแก้ไขให้เป็นทางลัดทางนั้นทางนี้ อย่างหาอุบายพูดกันยุ่งๆ เหยิงๆ วุ่นวายไปนั้น มันล้วนแล้วตั้งแต่เป็นการประกาศความโง่ของตัวเองให้เด่นขึ้นเท่านั้น
สมาธิไม่จำเป็นเดินปัญญาเลย อย่างนี้ก็มี สมาธิมันครึมันล้าสมัยเอาปัญญาเลย ฟาดมันลงไปเลย ปัญญามันก็สัญญานั่นแหละ มาพูดเฉยๆ ไม่ได้คำนึงถึงการปฏิบัติ ไม่ได้พูดขึ้นมาจากความรู้ พูดขึ้นมาจากสัญญาอารมณ์ มันก็หลอกไปวันยังค่ำ สอนคนอื่นก็สอนแบบหลอกโดยไม่มีเจตนาก็ตาม มันก็หลอกอยู่นั่นแหละ มันไม่จริง ท่านสอนยังไงเป็นความถูกต้องดีงามทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่อย่างนั้นก็ไม่เรียกว่า สวากขาตธรรม การปฏิบัติจึงควรปฏิบัติตามนั้น
เราอยากเห็นกันทุกคนความพ้นทุกข์ ถึงความสุขอันสมบูรณ์ แต่ที่มันเห็นไม่ได้รู้ไม่ได้ ก็เพราะความคิดหรือสมุทัยมันกีดกั้นอยู่ภายในจิตใจ ไม่ใช่กาลและสถานที่ หรือบุคคลอื่นใดทั้งหมดมาทำการกีดขวางทางเดินของเรา เป็นเรื่องของเราเองเป็นผู้กีดขวางตัวเอง ด้วยความเข้าใจผิดคิดไปในแง่ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสอันเป็นสิ่งที่จะทำให้มืดมิดปิดตาหาทางเดินไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องสั่งสมสติปัญญาให้เป็นความสว่างขึ้นมา แก้ไขถากถางสิ่งที่ปิดบังทางที่มันรกรุกรังด้วยกิเลสนั้นออกด้วยมรรค จิตใจก็สว่างไสวขึ้นมาเอง สว่างขึ้นที่ใจนี่แหละ จะไปสว่างที่ไหน เราอย่ามองมรรคผลนิพพานหรือความสุขทุกข์ใดๆ ให้ข้ามไปจากกายกับใจอันนี้ อันนี้เป็นภาชนะโดยแท้สำหรับรับสุขและทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ
กิเลสโดยเฉพาะก็อยู่ที่ใจ กายเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ หรือเป็นเครื่องมือสำหรับส่งเสริมกิเลส ใจเป็นผู้บงการออกมา ถ้าใจมีกิเลสเป็นหัวหน้า มันก็บงการมาทางกิเลส กาย วาจา ก็เคลื่อนไหวไปตามนั้น ถ้าใจมีความเฉลียวฉลาดที่เรียกว่าเป็นธรรม ใจเป็นธรรม ใจก็มีช่องทางที่จะบงการออกมาในทางที่ถูก กาย วาจา ก็เคลื่อนไหวไปตามนั้น กิเลสก็ค่อยหมดไปๆ หมดไปที่ไหน ก็หมดไปจากที่ใจนี้ มีอยู่ที่นี่ อย่ามองข้ามตัวเอง
อำนาจวาสนาเราสร้างอยู่ทุกวัน สร้างอยู่ที่ตัวของเรานี้ เราอย่าไปคิดว่าอำนาจวาสนาอยู่ทางโน้นทางนี้ อยู่ทางใกล้ทางไกลเอื้อมไม่ถึงบ้างอะไรบ้าง เป็นความเข้าใจผิด กิเลสมันได้วาสนามาจากไหน มันถึงสร้างได้มากมายก่ายกองเต็มหัวใจเราจนหาทางเดินไม่ได้ มันมีวาสนามาจากไหน ก็ผู้สร้างกิเลสคือใจ กิเลสจึงเกิดขึ้นมาได้ แล้วการแก้กิเลสไม่แก้ที่นี่ จะไปหาวาสนาที่ไหนมาแก้ มันไม่ทันกัน แก้ตรงนี้ หนามยอกเอาหนามบ่ง ถอดถอนหัวหนามออกมา มันอยู่ที่ใจ แก้ที่ตรงนี้
การปฏิบัติสอนไปที่อื่นไม่ถนัด เรียนตรงๆ เพราะการปฏิบัติก็เคยปฏิบัติมาที่ตรงนี้ หากว่ารู้มากรู้น้อยก็รู้ที่ตรงนี้ เอาสมมุติว่ากิเลสมันจะสิ้นไปมันก็ไม่สิ้นไปที่ไหน สิ้นไปจากจุดที่มันเคยมีอยู่นั้นแล จุดที่มันเคยมีอยู่คือที่ไหน ก็คือที่ใจ เมื่อแก้ถูกต้องมันก็หมดไปๆ หมดไปโดยสิ้นเชิงก็หมดที่ใจ ความบริสุทธิ์ก็ได้แก่ใจเท่านั้น ไม่มีอะไรบริสุทธิ์ในโลกนี้ ความประเสริฐก็คือใจ เมื่อสิ่งที่หาคุณค่าไม่ได้ สิ่งที่สกปรกโสมมอันไม่มีราค่ำราคาอะไรหมดไปแล้ว สิ่งนั้นก็มีราคาขึ้นมา เหมือนอย่างทองคำนี่ ตกลงไปจมมูตรจมคูถมันก็เหมือนกับของไม่มีคุณค่า แต่มาชะล้างให้มันสะอาดแล้ว มันก็คุณค่าขึ้นมาในตัวของมัน เพราะสิ่งสกปรกหาคุณค่าไม่ได้มันหมดไปแล้ว ถูกชำระออกหมด
กิเลสมันก็เป็นประเภทอย่างนั้นเหมือนกัน จึงต้องแก้มันแก้ที่ใจ ไม่ถาม ถามหาพระนิพพาน ถ้าแก้ลงไปที่ตรงนี้ สมาธิก็จะรู้ขึ้นมา คำว่า สมาธิ เป็นชื่ออันหนึ่ง เหมือนอย่างสิ่งต่างๆ ที่มีชื่อมีนาม โลกสมมุตินิยมตั้งชื่อกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตัวจริงของอันนั้นคืออะไร ตัวจริงของสมาธิคืออะไร จะปรากฏขึ้นมาที่ใจ แม้ไม่เคยเรียนก็รู้ ความสงบเยือกเย็น มีอยู่ที่ใจ เกิดขึ้นที่นั่น
ความสว่างไสวของจิตแพรวพราวไปด้วยสติปัญญา หาอุบายคิดค้นต่างๆ เพื่อถอดถอนสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายออกจากใจโดยลำดับ ก็คือเรื่องของปัญญา ก็เกิดขึ้นที่ใจ เพราะความผลิตขึ้นมา เป็นคนช่างคิดช่างอ่าน ช่างเทียบเคียงเหตุผลในแง่ต่างๆ ภายนอกภายใน ประสับประสานกัน เมื่อได้สัดได้ส่วนแล้วก็เข้าใจขึ้นมา หายสงสัยเป็นขั้นเป็นตอนไปโดยลำดับ สุดท้ายก็หายสงสัยไปได้ตลอดทั่วถึง ไม่มีอะไรเหลือ การปฏิบัติธรรมปฏิบัติอย่างนี้ ที่ท่านอยู่ในป่าในเขาก็เพื่ออันนี้แหละ เป็นความสะดวก ต้องหาที่เช่นนั้นช่วยส่งเสริมด้วย เพราะมนุษย์เรามันชอบความสะดวก ความสะดวกออกมาจากความขี้เกียจ ถ้าไปอยู่ที่เช่นนั้นมันขี้เกียจไม่ได้ ความเกียจคร้านมันหายหมด ยิ่งไปอยู่ในที่น่ากลัวเท่าไร ยิ่งความเกียจคร้านเหมือนไม่เคยมีในหัวใจเลย มีแต่ความตั้งท่าตั้งทาง ตั้งท่าต่อสู้อยู่ตลอดเวลา จิตมันตั้งได้เอง
พอออกมาสู่สถานที่ธรรมดาแล้ว ความขี้เกียจไม่ทราบมาจากไหน รุมกันเต็มไปหมดหัวใจ จะเดินเข้าไปสู่ทางจงกรมก็เหมือนกับขาจะขาดไปนู้นแหละ เพราะความขี้เกียจมันมาก มันหนักไปหมด ร่างกายทั้งร่างนี้เหมือนภูเขาทั้งลูก ยกไม่ขึ้น นอกจากยกมันขึ้นบนหมอน ถ้าขึ้นบนหมอนแล้วปั๊บ ไม่ยอมลง กิเลสมันเป็นอย่างนั้น ถ้าธรรมแล้วไม่เป็น นั่งอยู่ที่ไหนก็เพลิน เพลินแก้ เพลินถอดเพลินถอน เพลินต่อสู้กับสิ่งที่เป็นข้าศึก จะเอาให้รู้เอาให้เห็นเอาให้เข้าใจ จะแก้ให้ได้ ไม่ได้ไม่ถอย ตายก็ตาย จิตหมายมั่นปั้นมือเข้าไป ความเด็ดเดี่ยวอาจหาญเกิดขึ้นมาเอง ยิ่งได้เห็นผลปรากฏขึ้นภายในใจโดยลำดับๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เพลิดเพลิน ไม่มีอะไรที่จะเพลินยิ่งกว่าธรรม ไม่มีอะไรที่จะทำให้มีความสุขยิ่งกว่าธรรม
ท่านจึงเรียกว่าธรรมเป็นของประเสริฐ ประเสริฐทั้งธรรมฝ่ายเหตุคือ เป็นเครื่องมือสำหรับแก้สิ่งสกปรกโสมมที่หาคุณค่าไม่ได้ทั้งหลาย ประเสริฐทั้งผลที่ปรากฏขึ้นมาจากการแก้ได้แล้วโดยลำดับๆ จนแก้ได้หมดโดยตลอดทั่วถึง นั่นประเสริฐสุด คนเราดีอยู่ที่ใจ ดีอยู่ที่ความประพฤติมารยาท เฉพาะอย่างยิ่งดีอยู่ที่จิต เวลาสิ่งสกปรกโสมมเข้าไปปกคลุมหุ้มห่อก็เหมือนไม่มีคุณค่าอะไรเลย เห็นอันนั้นว่าดี เห็นอันนี้ว่าดี ก็ยิ่งหลงโลกหลงสงสาร หลงไปจนลืมเป็นลืมตาย เพราะสิ่งเหล่านี้พาให้หลง สติปัญญาพาให้รู้ พอรู้แล้วก็ย้อนตัวกลับเข้ามา เห็นภัยต่อสิ่งเหล่านั้น
เมื่อเห็นภัยต่อกันก็มีท่าต่อสู้กัน ถ้าเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นตน ตนกับสิ่งเหล่านั้นมันเป็นอันเดียวกัน หาทางแก้ไม่ได้ เมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นภัย เราก็มีทางที่จะแก้ ยากลำบากก็ทนเอา แก้ได้ๆ เมื่อแก้จิตให้บริสุทธิ์แล้ว นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ไม่ต้องพูด รู้อยู่ประจักษ์ใจ อยู่ไหนก็เป็นนิพพานอยู่นั่นแหละ เราจะไปหานิพพานที่ไหน ถ้าไม่หาที่ใจบริสุทธิ์นี้ พอถึงนี้แล้วความอยากไปนิพพานมันก็หายเอง นิพพานอยู่ที่ไหนถึงต้องอยาก อะไรเป็นนิพพาน คำว่า นิพพานก็เป็นชื่ออันหนึ่ง ความจริงของนิพพานแท้ๆ คืออะไร ผู้นี้ก็รู้อยู่ เห็นอยู่ เป็นผู้ทรงอยู่แล้ว ทรงธรรมชาตินั้นอยู่แล้ว ก็จะไปถามหาพระนิพพานที่ไหน
ความอยากมันก็เป็นความหิวโหย แต่ถ้ากำลังดำเนินอยู่ความอยากนี้ก็เป็นมรรค ไม่ใช่ความอยากจะจัดเป็นกิเลสเสมอไป ความอยากที่เป็นกิเลสตัณหาก็มี เช่น กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา แปลว่า ความอยาก แน่ะ ถ้าหากว่าอยากไปนิพพาน อยากประพฤติปฏิบัติ อยากรู้อยากเห็นอรรถธรรมอย่างนี้ ไม่ใช่ความอยากที่เป็นกิเลส แต่เป็นความอยากฝ่ายมรรค ความอยากนี้เกิดขึ้นเป็นเหตุให้เสาะแสวงหาในทางที่ถูกต้องดีงาม ท่านจึงเรียกว่าเป็นมรรค แต่เมื่อเข้าถึงที่แล้วก็ไม่ทราบจะอยากไปไหนอีก เช่นเรามาถึงวัดป่าบ้านตาดนี้แล้ว แต่ก่อนก็อยากมาวัดป่าบ้านตาด เพราะยังไม่ถึง ยังไม่ได้มา พอมาถึงที่นี้แล้ว เราจะอยากไปไหนอีก อยากไปวัดป่าบ้านตาดที่ไหนอีก เพราะนี้คือวัดป่าบ้านตาดอยู่แล้ว แน่ะ
เมื่อเข้าถึงตัวจริงแห่งคำว่า นิพพานแล้ว มันก็หายอยากเหมือนกัน จะอยากไปไหน ถ้าอยากก็ยังหลงอยู่ ยังหิวอยู่ ความอยากนั้นเป็นสิ่งรบกวนใจ สิ่งรบกวนใจนั้นแลคือกิเลสประเภทหนึ่ง มันยังแทรกอยู่ เรียกว่ายังบกพร่อง ยังไม่สมบูรณ์ เหมือนเรารับประทาน ถ้ายังไม่อิ่มเต็มที่แล้วก็ยังต้องมีหิวมีโหย ถ้าอิ่มเต็มที่แล้วไม่หิวไม่อยาก จิตเมื่ออิ่มตัวเต็มที่แล้วก็ไม่อยากไม่หิว อยู่ไหนอยู่ได้ทั้งนั้น อย่าพูดเลยเรื่องกัปเรื่องกัลป์ ตลอดกาลว่างั้นเลย ให้พากันประพฤติปฏิบัติ แม้จะไม่ได้อย่างนั้นก็ตาม ขึ้นชื่อว่าคุณงามความดีแล้ว เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งนั้นที่เราบำเพ็ญมา
จะบำเพ็ญด้วยการให้ทานก็ตาม รักษาศีลก็ตาม ภาวนาก็ตาม เป็นคุณธรรม เป็นความดีทั้งหมด เป็นเครื่องประดับส่งเสริมจิตใจให้มีความสุขความเจริญไปได้โดยลำดับเช่นเดียวกันหมด ท่านจึงเรียกว่าความดี มีน้อยก็ดี มีมากก็ดี มีน้อยก็สุข มีมากก็สุข มีมากเต็มที่ก็ ปรมํ สุขํ นี่พระท่านไปอยู่ในป่าท่านมุ่งอย่างนี้ อย่างไปเห็นวันนี้ก็เป็นขวัญตาเราแล้ว ไปดูสถานที่ท่านอยู่ เงียบสงัด บำเพ็ญความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน นั่งสมาธิ เดินจงกรม อยู่นั้น ดูตั้งแต่เรื่องใจ ไม่มีอะไรที่จะรวดเร็วคล่องแคล่วว่องไว ไม่เข้าร่องเข้ารอยยิ่งกว่าจิต เร็วยิ่งกว่าลิงร้อยตัวเสียอีก
ในขณะเดียวกันกันก็ไม่มีอะไรที่จะเร็วยิ่งกว่าสติปัญญา จึงต้องเอาสติปัญญาเข้าไปจับลิงตัวนี้ ให้มันทันเหตุการณ์ แล้วฆ่าลิงตัวนี้ให้มันตาย แล้วอยู่เป็นสุข สุโขๆ สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส ผู้มีธรรมเป็นเครื่องรื่นเริงภายในจิตใจแล้วย่อมมีความสุขอยู่ตลอดกาล อย่างพระมหากัปปินท่านอุทาน ไปอยู่ที่ไหนก็ สุขํ วต สุขํ วต องค์ไหนก็เหมือนกัน เมื่อเข้าถึง สุขํ วต แล้ว ก็อุทานอยู่ภายในจิตใจด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพราะไม่มีอะไรเหมือน ความสุขอื่นๆ ที่เราเคยผ่านมา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราเคยผ่านมา ไม่เหมือนอันนี้ ไม่เหมือนความสุขที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม และความสุขที่เป็นจิตบริสุทธิ์ นี้เป็นความสุขแท้ เอาละการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |