เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓
ปฏิบัติให้ถูกความสุขต้องปรากฏ
การปฏิบัติศาสนาผมหาที่ตำหนิไม่ได้ ปฏิบัติพุทธศาสนามานี้ได้ ๓๐ กว่าปีแล้ว ยิ่งปฏิบัติเข้าไปเท่าไรยิ่งเห็นความอัศจรรย์ของศาสนา ความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติจิตเสียเองถึงจะรู้ จิตรู้ละเอียดเข้าไปเท่าไรๆ ก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้ว มันไม่ยอมพระพุทธเจ้าตรงความจริงมันจะยอมที่ไหน รู้ตรงไหนก็เป็นเรื่องที่พระองค์สอนไว้หมดแล้ว แล้วจะค้านที่ไหน หาที่ค้านไม่ได้ ว่าสมาธิเราก็เห็นแต่สมาธิในแบบที่ท่านถอดออกมาจากใจมาเขียนตามตำรับตำรา อันนั้นมันสมาธิในตำรา ไม่ใช่สมาธิตัวจริง เราก็อ่านในตำรา ถกเถียงกันซิ เลยเป็นสภามวยฝีปากกัน
ลงปฏิบัติจิตให้มันเป็นสมาธิดังที่ท่านสอนไว้จริงๆ แล้ว จะเป็นที่ไหนถ้าไม่เป็นที่ใจ ไม่มีทางอื่นเป็นที่เกิดของสมาธิ ฐานของสมาธิไม่มีที่อื่นนอกจากใจ ไม่ว่าจะเป็นสมาธิประเภทไหน หยาบ กลาง ละเอียด คือจิตนั้นแลเป็นฐานที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ และผู้ทรงสมาธิทุกขั้น นี่สมาธิในหลักธรรมชาติอันแท้จริง สมาธิที่ท่านเขียนไว้ในตำรับตำรา ท่านเอาชื่อถอดออกไปจากจิตใจนี้ แล้วแสดงลักษณะของสมาธิที่เป็นขึ้นจากจิตของผู้ปฏิบัติว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เรียนอันนั้นไปแล้วไปเถียงกันซี ตัวไม่ทราบอยู่ไหน ได้แต่ลมไปเถียงกัน เรียนมากเท่าไรก็ยิ่งเถียงกันมาก สำคัญว่าตัวรู้ตัวฉลาด นี่ก็เป็นทิฐิมานะ เรียนมากรู้มากเท่าไรก็ยิ่งเป็นทิฐิมานะมากขึ้น เพราะถือเอาความจำนั้นเป็นของตน ไม่ได้ถือเอาความจริงเป็นเรื่องของตัวเอง การปฏิบัตินี้เพื่อถอดถอนกิเลสทิฐิมานะ
รู้ตามความจริงกับรู้ตามคาดหมายผิดกันคนละโลกเลย เพราะเราก็เคยเรียนเราก็เคยรู้ รู้ตามความจดจำ ลองมาปฏิบัติซิเราก็รู้ รู้ทางด้านปฏิบัติตามกำลังของเรา เช่น สมาธิเป็นยังไง เราก็รู้ขึ้นภายในจิตใจ นี้ได้เทียบตามแบบตำรับตำราท่าน ท่านพูดไว้โดยถูกต้องแล้ว แต่จิตของเราไม่ถูกเฉยๆ จึงไม่เห็นสมาธิว่าเป็นยังไง เห็นแต่อยู่ในหนังสือ ตัวสมาธิจริงๆ เป็นยังไง เราไม่เห็นไม่เจอ พอปฏิบัติจิตให้เป็นสมาธิขึ้นแล้วจะมีที่เถียงท่านที่ตรงไหน ไม่มี ท่านอธิบายไว้อย่างละเอียดลออ
การปฏิบัติจิตนี้เป็นจุดสำคัญ ถูกตามความมุ่งหมายของศาสนาที่สอน ถ้าจิตดีแล้วกายวาจามันดีไปตาม อันนี้มันเครื่องมือเท่านั้น จะพูดก็ใจนี้บงการดีชั่วออกมาจะพูดว่ายังไง จะทำก็เหมือนกัน ใจต้องเป็นผู้บงการมาเสียก่อน ตามความดีความชั่วถึงจะแสดงตัวออกไปได้ ถ้าจิตเราได้รับการอบรมมาด้วยดีแล้ว กิริยาที่แสดงออกทางกายวาจาก็ต้องน่าดูน่าชม ผู้เกี่ยวข้องก็ได้รับความเย็นไม่เพียงแต่เจ้าของเท่านั้น แสดงไว้ในตำรา ปัญญา ปัญญามีกี่ขั้นก็ถอดออกมาจากจิตไปเขียนเอาไว้ เหตุที่จะเขียนไว้หากผู้ที่รู้อย่างนั้นได้ผ่านไปเสีย จะไม่มีร่องรอยเลย ต้องเขียนเอาไว้ เหมือนกับว่าทำแบบแปลนแผนผังเอาไว้ แต่เราต้องทราบว่าแบบแปลนแผนผังเป็นอันหนึ่ง ตัวบ้านตัวเรือนจริงๆ เป็นอันหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเขียนแปลนมาแล้วจะสำเร็จเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาทันที อยู่หลับนอนกันอย่างสะดวกสบายทีเดียว โดยไม่ต้องไปปลูกเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมา ไม่ใช่อย่างนั้น
เรื่องของสมาธิในแบบ กับแปลนบ้านแปลนเรือนเหมือนกันอย่างนั้น เราต้องการเราต้องทำตัวของเรานี้ให้เป็นสมาธิตัวจริงขึ้นมา เหมือนคนที่ปลูกบ้านปลูกตามแบบแปลนแผนผัง นั้นเป็นแปลน แปลนของสมาธิแปลนของปัญญา แปลนของวิมุตติพระนิพพานอยู่ในแบบ ตัวจริงของสมาธิ ตัวจริงของปัญญา ตัวจริงของมรรคผลนิพพานอยู่ในจิต เกิดจากผู้ปฏิบัติเอา เหมือนอย่างบ้านเรือนเกิดขึ้นจากผู้ก่อสร้าง ทำแปลนแล้วไม่ได้ปลูกขึ้นไปตามแปลน เราจะไปนั่งนอนแปลนก็ไม่ได้ นั่งนอนแปลนบ้านแปลนเรือนมันไม่ได้ เพราะแปลนเป็นอันหนึ่ง บ้านเรือนเป็นอันหนึ่ง ชี้บอกเรื่องการปลูกบ้านปลูกเรือนจะเอายังไง ให้เป็นไปตามแปลนนี้
การปฏิบัติจิตใจทำยังไง ให้เป็นไปตามแปลนที่บอกไว้นี้ แปลนศีล แปลนสมาธิ แปลนปัญญา แปลนวิมุตติ นี่ละหลักใหญ่ให้พากันเข้าใจไว้ ให้เรียนกันไปที่นี่เห็นตามความจริงนี้แล้วหาที่ค้านไม่ได้ ปลูกบ้านให้ปลูกตามแปลนแล้วจะตำหนิที่ไหน การปฏิบัติตัวเองให้ถูกตามแปลนของศีล แปลนของสมาธิ แปลนของปัญญาที่ผมสั่งสอนไว้แล้ว ไม่มีอะไรที่จะค้านตัวเอง แล้วเย็นใจสบาย ศาสนาเป็นที่อบรมให้คนมีความเย็นใจ พูดง่ายๆ คือแปลนหาความสุข แปลนแห่งความสุขก็คือศาสนานั่นเอง ดำเนินตามแปลนนั้นเถอะท่านสอนไว้
ฆราวาสจะควรปฏิบัติตัวยังไง ก็ปฏิบัติตามศีลธรรมของฆราวาส ก็เรียกว่าเป็นแปลนอันหนึ่งออกจากศาสนาอันเดียวกัน พระเรามีหน้าที่อะไรก็ต้องปฏิบัติตามแปลนของพระ ตามความมุ่งหมายของพระ ถ้าปฏิบัติให้ถูกความสุขก็ต้องปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับลำดา ตามหน้าที่ความสามารถของตนที่ทำได้มากน้อยเพียงไร ไม่เสียผลเสียประโยชน์ เราถ้าไม่มีความสงบบ้างแล้วไม่มีความสุขนะ มันร้อนรนกระวนกระวาย ยุ่งไปหมดทั้งวันทั้งคืน หลับตื่น ไม่หยุดไม่ยั้ง จิตคิดปรุงคือทำงานทั้งกลางวันกลางคืน ถ้ามีความสงบเย็นใจบ้าง จะเห็นความสุขของใจทันที ว่าใจได้ปล่อยวางงานชั่วขณะ เหมือนอย่างเราปล่อยวางงานในวันเสาร์วันอาทิตย์ วันราชการ วันไหนก็แล้วแต่ มันสบาย จิตใจที่ปล่อยวางความยุ่งเหยิงวุ่นวายประจำตนมาตลอดกาลก็สบาย
เพราะฉะนั้นศาสนาจึงเป็นเข็มทิศชี้บอกความสุขให้คนดำเนิน ให้เจอ ไม่ใช่จะทำหลอกๆ ลวงๆ กัน บอกจริงด้วย ผู้ปฏิบัติตามนั้นก็เห็นจริงด้วย เพราะผู้บอกผู้สอนนั้นเป็นผู้ที่เห็นมาแล้ว คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้ดำเนินมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความสุขประเภทใด ออกจากหลักศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงค้นพบไปหมด จนถึงความสุขที่เรียกว่าวิมุตติพระนิพพานเป็นบรมสุข ออกจากหลักสวากขาตธรรมนี้ทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติจึงควรทำความมั่นใจหนักแน่นต่อการปฏิบัติของตน อย่าให้เป็นลุ่มๆ ดอนๆ สิ่งใดที่เป็นฝืนๆ อันนั้นละธรรมจะอยู่ที่นั่น อันไหนที่ชอบๆ โดยมากเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลส คือธรรมคล้ายๆ กับว่าเป็นสิ่งที่ฝืนๆ อยู่บ้าง ถ้ามันคล่องจิตคล่องใจโดยมากมักเป็นเรื่องข้าศึกมันชอบอย่างนั้น เหมือนคนไข้ชอบหาของแสลง จิตมันเหมือนไข้กวนๆ จึงชอบของแสลงตลอด
ธรรมละมาแก้ ธรรมโอสถ มันฟุ้งซ่านวุ่นวายก็แก้ด้วยสมาธิ คือปฏิบัติจิตใจดังที่เรากำหนดภาวนา การภาวนา บทบริกรรมคำภาวนาก็คือเครื่องผูกมัดจิตใจไม่ให้ส่งไปสู่อารมณ์ภายนอกซึ่งเคยเป็นข้าศึก แล้วให้ตั้งจิตตั้งใจตั้งสติกำหนดตามคำบริกรรม นำคำบริกรรมมากำกับผูกมัดจิตไว้ ให้จิตมีความรู้สึกอยู่กับอารมณ์คือคำบริกรรมนั้น เมื่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับด้วยอำนาจของสติประคับประคองอยู่แล้ว ความสงบเย็นใจจะปรากฎขึ้นมาจะเห็นผล การปฏิบัติธรรมเห็นผลอย่างนี้ จิตสงบใจเย็นสบาย ในขณะที่มันสงบสบายจริงๆ
สมาธิมีถึง ๓ ขั้นเท่าที่ปฏิบัติมา จะเป็นขั้นใดก็ตามเถอะเป็นขั้นจะให้ความสุขทั้งนั้น มีแต่เพียงว่าหยาบละเอียดต่างกัน หรือระยะสั้นยาวต่างกัน ถ้าเป็นสมาธิขั้นละเอียดท่านเรียกว่าอัปปนาสมาธิ จิตสงบละเอียดมาก ปัญญาก็มีถึง ๓ ขั้น อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ปัญญาคือเครื่องถอดถอนกิเลสอาสวะ นับแต่ส่วนหยาบเข้าไปถึงส่วนละเอียดสุด มีปัญญากับสติเท่านั้นสามารถจะถอดถอนได้ และมีความเพียรที่สัมปยุตด้วยสติกับปัญญาเท่านั้น จะสามารถค้นพบความจริงได้ในตัวเอง
ท่านกล่าวไว้เรื่องของทุกข์ ท่านว่าเป็นสัจธรรม ท่านไม่ได้หมายเอาทุกข์นะ แต่ให้พิจารณาทุกข์ ทุกข์เป็นเครื่องเตือนสติสตังของคน ให้ได้หาหลักยึด เหมือนอย่างเราเข้าป่าเข้ารก ที่ไหนเห็นว่าไม่ปลอดภัย เราก็เตรียมเครื่องมือไปพร้อมเพื่อป้องกันตัว เช่นปืนผาหน้าไม้ เข้าป่าก็อย่างนั้น ไปสถานที่ใดเห็นว่าเป็นที่ไม่แน่ใจก็ต้องมีเครื่องป้องกันตัวติดไปด้วย นี่ทุกข์ไม่เป็นสิ่งที่ใครๆ ไม่ปรารถนา แม้แต่สัตว์ก็ไม่ต้องการ ท่านจึงให้พิจารณา การพิจารณาคือหาเครื่องป้องกันตัว พิจารณาทุกข์
ผลที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาทุกข์นั้นเป็นความรอบคอบเป็นความสุขใจ ไม่กังวลวุ่นวายกับทุกข์ ไม่กลัวทุกข์ เพราะเห็นทุกข์เป็นของจริง เพราะเราเป็นคนจริงผู้หนึ่งจากการพิจารณาทุกข์โดยรอบคอบแล้ว ไม่ใช่เอาทุกข์นะ พิจารณาทุกข์เพื่อจะให้รู้เรื่องของตัวที่ไปเกี่ยวข้องหรือหลงทุกข์ กลัวทุกข์ ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับทุกข์ ให้ถอนตัวเข้ามาสู่ความจริงของตน ทุกข์ก็เป็นความจริงของทุกข์ มันก็สบาย ถ้าเราได้ปฏิบัติต่อทุกข์นี้ให้ถึงขีดถึงแดนแล้ว เราจะกลัวอะไรกลัวตาย คนเรากลัวตายคือกลัวทุกข์นั่นเอง
เพราะขณะจะตายนี้ไม่ใช่เล่นๆ ขนาดถึงตายได้ พออดพอทนอยู่ใครจะไปตาย ทุกข์ขนาดนั้น ถ้าไม่ได้อบรมจิตใจด้วยแล้ว สติสตังไม่มี เผลอไปหมด ลืมเนื้อลืมตัว ละเมอเพ้อฝัน ในขณะนั้นแล้วไม่รู้ว่าทุกข์เป็นยังไง มันเลยขีดไปแล้ว การปฏิบัติจิตใจนี้ รู้เรื่องของทุกข์ได้ดีและอาจหาญด้วย นี่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว เวลาเรานั่งภาวนานานๆ ทุกขเวทนาแสดงขึ้นในกายเหมือนกับเป็นไฟทั้งกองทีเดียวกายของเรานี้ เป็นทุกข์ทั้งหมด ปัญญาหมุนติ้วอยู่นั้นไม่ให้ออก ค้นหาเรื่องของทุกข์เกิดขึ้นมาจากอะไร ถามถึงอวัยวะส่วนต่างๆ ว่าอันใดจะเป็นตัวทุกข์จริงๆ ยืนยันตัวว่าเป็นทุกข์ ค้นหามันก็ไม่เจอ ว่าหนังหรือเป็นทุกข์ หนังก็มีอยู่ตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิด เนื้อหรือเป็นทุกข์ เอ็นหรือเป็นทุกข์ กระดูกหรือเป็นทุกข์ หรืออวัยวะส่วนใดเป็นทุกข์ ภายในภายนอก ค้นหาตัวทุกข์จริงๆ มันไม่เจอ ไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวทุกข์
หนังเป็นหนัง เนื้อเป็นเนื้อ เอ็นเป็นเอ็น อวัยวะทุกส่วนเป็นความจริงอยู่ตามสภาพของตน มีอยู่ตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิดขึ้น แม้ทุกข์ดับไปแล้วสิ่งเหล่านี้ก็ยังมี ถ้าหากเป็นตัวทุกข์จริงๆ ทุกข์เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงจะปรากฏ ทุกข์ดับไปส่วนเหล่านี้ก็ต้องดับไปตาม อันนี้ไม่ดับไป เวลาเรานั่งนานๆ เกิดความทุกข์มากๆ อันนี้มันมีอยู่ตั้งแต่เราเริ่มนั่ง หรือตั้งแต่วันเกิด ทุกข์ประเภทนี้พึ่งเกิดมาในขณะนั้น แล้วเวลาทุกข์นี้ดับไปอาการเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ ถ้าอันนี้เป็นทุกข์จริงๆ ทำไมอันนี้ไม่ดับไปด้วยเล่า มันก็ได้ความจริงขึ้นมาจากการค้นพิจารณา
การพิจารณานี้มันต้องหัวใจเด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก เป็นกับตายก็หมุนอยู่ในนี้ พิจารณาเข้าไปจนถึงจิต จิตหรือเป็นตัวทุกข์ แยกหาอีก มันก็เป็นลักษณะเดียวกัน ทุกข์เกิดขึ้นทุกข์ดับไป จิตมันก็มีอยู่มันไม่ได้เกิดได้ดับไปด้วย สติต้องจ่ออยู่นั้น ย้อนหน้าย้อนหลังพิจารณาไปพิจารณามา มันได้เห็นเป็นความจริง สักแต่ว่ากายไม่ใช่ทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์นั้นก็ไม่ใช่จิต แต่อาศัยจิตเกิดขึ้น หากไม่ใช่อันเดียวกัน พอรู้ชัดแล้วทุกข์ก็ดับไปหมดในขณะนั้น จิตมันก็ลงอย่างเต็มที่ เกิดความอาจหาญ แม้ทุกข์ไม่ดับไปมันก็ไม่กลัว เพราะจิตกับทุกข์มันไม่เป็นอันเดียวกัน มันไม่ได้คละเคล้ากัน ต่างอันต่างจริง
ทุกข์เกิดขึ้นที่ตรงไหนก็เห็นเป็นความจริงอันหนึ่ง ใจที่รู้ก็รู้อยู่อันหนึ่ง ไม่ไปคละเคล้ากัน เราก็เลยไม่เป็นทุกข์ ถึงร่างกายจะเป็นทุกข์ขนาดที่ว่าจนตัวสั่น ใจมันก็ดีๆ เวลามันแยกกันออกได้ มันก็เกิดความอาจหาญไปถึงวาระสุดท้าย คือขณะจะตาย ทุกข์เหล่านี้แลที่จะเสริมตัวเข้ามาบีบบังคับธาตุขันธ์จนถึงกับต้องสลายไป ถ้าไม่มากขนาดนั้นจะตายไปไม่ได้คนและสัตว์ แล้วสติปัญญาของเราเป็นยังไง ก็เราเชื่อแล้วในขณะนี้ว่าสติปัญญานี้สามารถแยกระหว่างทุกข์กับจิตออกจากกันได้ ส่วนร่างกายกับส่วนทุกข์ถึงจะอยู่ด้วยกันก็เป็นคนละชิ้นละอัน ใจเป็นส่วนหนึ่ง ทุกข์เป็นส่วนหนึ่ง กายเป็นส่วนหนึ่ง มันแยกกันได้อย่างประจักษ์ใจ ความกลัวตายก็เลยไม่มี กลัวทุกข์ก็เลยไม่มี
ได้ความจริงขึ้นมา โอ๋ ถึงเวลาสุดท้ายมันก็จะเอาทุกข์อันนี้แลมาแสดง มันจะเอาทุกข์แปลกหน้าแปลกตามาจากไหน ต้องทุกข์ที่เคยแสดงนี่แล บัดนี้เราได้รู้เสียแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาทำลายจิตใจของเราให้หวั่นไหวไปได้ นี่มันก็แน่ใจ และแน่ใจตลอดกาลด้วย ไม่ได้เป็นเพียงขณะนั้น นี่เรียกว่าเห็นของจริงต้องเห็นอย่างนั้น ถ้าเห็นแล้วถอนไม่ออก ถอนไม่ขึ้น เขียนแล้วลบไม่ออกคือรู้ความจริง ถ้ารู้ถึงใจจริงๆ แล้วลบไม่ออก ถอนไม่ขึ้น จึงเรียกว่าของจริง เห็นให้ถึงใจรู้ให้ถึงใจ รู้ให้ถึงของจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วมันก็หมดปัญหา ไม่ตื่นเต้น จะเป็นก็เป็น จะตายก็ตาย เพราะเห็นความจริงทุกอย่าง ไม่ทราบจะหวั่นไหวไปอะไร ถ้ายังหวั่นไหวอยู่ก็แสดงว่ายังไม่เห็นความจริง ยังตื่นเต้น
การปฏิบัติธรรมะทางใจนี้เป็นสิ่งที่มั่นใจในตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือรับรองตัวได้ โดยไม่ต้องประกาศให้ใครทราบ เป็นสิ่งที่มั่นใจแน่ใจได้ ถ้าปฏิบัติให้ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็รับรองตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องไปประกาศให้ใครทราบ เพราะเป็น ปจฺจกฺขทิฏฺฐิ รู้อยู่จำเพาะ สมบัติอันนี้ไม่ใช่สมบัติประกาศโฆษณาขายเหมือนสินค้า เพราะไม่ใช่สินค้า ใครรู้ของใครก็จริงของเขา บางทีผู้มาเกี่ยวข้องสนทนาลึกตื้นหยาบละเอียด เราก็อธิบายให้ฟังเท่าที่ผู้นั้นจะสามารถรับเอาไปได้ ส่วนไหนที่ไม่สามารถก็ต้องเก็บเอาไว้ จะอธิบายซ่านไปหมดก็ไม่ได้ ผู้ถามถามถึงขีดถึงแดนก็อธิบายให้ฟังอย่างถึงขีดถึงแดน
ยากนั่นแหละการปฏิบัติ แต่เราอย่าถือคำว่ายากนี้มาเป็นอุปสรรค มาเป็นเครื่องกีดขวางทางดำเนินของเรา พระพุทธเจ้านั้นเป็นพระองค์แรกที่ยากกว่าใครทั้งหมด เราเคยเห็นไม่ใช่เหรอในตำรับตำรา ใครบ้างบรรดาที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าตลอดมาถึงพวกเรา ได้รับความทุกข์ความลำบากทรมาน ต้องสลบไสลไปถึงสามครั้งเหมือนพระพุทธเจ้าเคยมีไหม ไม่มี คนขนาดสลบแล้วจะไม่ทุกข์อย่างไรเล่า ใครจะปฏิเสธได้ไหมไม่เป็นทุกข์ แต่สลบเฉยๆ ในพระประวัติก็สลบไปถึง ๓ ครั้ง ไม่ทุกข์จะสลบได้ไง ขนาดที่ควรสลบ เลยนั้นก็ตาย ยากหรือไม่ยาก เราต้องนำมาป็นข้อคิด เป็นคติสำหรับพวกเรา สมกับว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เอามาเป็นหลักใจ ทั้งถือพระองค์เป็นที่พึ่ง ทั้งถือคติจากพระองค์มาเป็นหลักใจเครื่องดำเนินของตน นี้ชื่อว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ไม่ใช่จะยากเฉพาะเราคนเดียว เราต้องคิดออกไปวงกว้าง พระพุทธเจ้าเป็นถึงกษัตริย์ มีความสมบูรณ์พูนสุขทุกอย่าง ท่านเสด็จออกไปเป็นคนอนาถา ไม่มีที่พึ่งที่อาศัย ไม่มีใครตามส่งตามเสีย ไปอยู่ในป่า ศาสนาไม่มี ไม่ทราบว่าผลของทานเป็นยังไง ศีลเป็นยังไง ภาวนาเป็นยังไง ประชาชนเขาไม่ทราบพอที่เขาจะต้องแสวงหาของดิบของดีไปถวายพระพุทธเจ้า ให้ได้ทรงเสวยของดิบของดี ที่พักที่อยู่อาศัยสะดวกสบาย ก็อยู่ตามประเภทคนอนาถาเราดีๆ นี่เอง เมื่อเป็นเช่นนั้นจะไม่ทุกข์อย่างไรเล่า ขนาดกษัตริย์เองก็เป็นอย่างนั้น ต้องทุกข์เหลือประมาณ นี่พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกเรื่องความทุกข์ความลำบากทรมาน ไม่ใช่เป็นแต่พวกเรา เราต้องถือเรื่องของพระพุทธเจ้ามาเป็นคติเครื่องสอนใจ ให้มีความอาจหาญร่าเริงเข้มแข็งอดทนต่อความดีที่เราจะต้องบำเพ็ญให้เกิดให้มี เพื่อเป็นหลักใจของตนเอง
ธรรมของพระพุทธเจ้าก็ธรรมรอดตาย ถ้าสลบไม่ฟื้นก็ต้องตาย ถ้าฟื้นกลับคืนมาธรรมก็เกิด เรียกว่าธรรมรอดตาย พระสาวกที่เป็นกษัตริย์ก็มี เศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า เสนาบดี มีจำนวนมาก ชั้นสูงชั้นต่ำออกมาเป็นศากยบุตรแล้ว มีความลำบากลำบนเหมือนกันหมด เพราะมีขอบเขตมีกฎเกณฑ์ มีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องบังคับจะทำตามอำเภอใจไม่ได้ จะอยู่จะไปจะขบจะฉันใช้สอยต้องมีกฎข้อบังคับมีขอบเขต เมื่อเป็นเช่นนั้นจะไม่ทุกข์ยังไงคนเรา มีรั้วกั้นอยู่เสมอไม่ได้เป็นไปตามใจชอบนี่ นี่ละสรณะของพวกเราล้วนแล้วแต่ท่านที่ได้รับความลำบากมาแสนสาหัสเหมือนกันทีเดียว
ที่เราดำเนินก็ดำเนินไปทางสายทางเดียวกันนี้ จะไปคว้าเอาความสะดวกสบายนอนอยู่ก็ได้มาเป็นนิพพานได้ยังไง นั่งอยู่ก็ได้ นอนอยู่ก็ได้ ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้ นึกอะไรก็ได้ อย่างนี้มันก็จะไปยากอะไร นึกเอาๆ ให้ได้มรรคผลนิพพานทั้งโลก ยกกันไปหมดทั้งโลก ไม่มีใครอยู่ในโลกนี้ จะว่ายังไง คว้าเอาๆๆ เหมือนเก็บฟักแฟงแตงโมอยู่ในตลาด ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเอาเงินให้เขา คว้าเอาๆ เฉยๆ ไม่ได้จะว่าไง เราต้องคิดหาเหตุหาผลเพื่อการดำเนินของเราโดยความสะดวก อย่าได้มีสิ่งใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง โดยมากก็ความคิดที่เกิดขึ้นจากตัวนั่นละเป็นเครื่องกีดขวางตัวเอง หากไม่ใช้ความคิดอีกแง่หนึ่งเป็นเครื่องบุกเบิกทางให้ดำเนินไปสะดวก ความคิดขัดข้องเกิดขึ้นมา เอาความคิดแก้ไขเข้าไปแก้กันมันก็ไปได้
พอจะนั่งภาวนา โอ๊ย ลำบากลำบน นั่นเป็นความคิดที่กีดขวางแล้ว เราก็ต้องถามไปอีกเป็นปัญหาหนึ่ง ทำไงถึงไม่ลำบาก นอนให้สบายเหรอก็ต้องถาม ถามตัวเรานั่นแหละ นอนให้สบาย นอนสบายได้ไหมมรรคผลนิพพาน มันได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้ แน่ะ เราเคยนอนมาแล้วไม่ใช่เหรอ แล้วได้อะไรบ้าง พอจะมาเดินจงกรมหย็อกๆ ๒-๓ ก้าวแล้วก็เหนื่อย นั่งภาวนา ๕ นาที ๑๐ นาที ก็เพลียไม่ไหว เจ็บนู้นปวดนี้ แล้วเราถ้าเป็นคนขี้ขลาดหวาดกลัวต่อความทุกข์ขนาดนี้เราจะหวังเอามรรคผลนิพพานจากอะไรที่ไหน นั่นอุบายวิธีแก้ตัวเอง ต้องมี
สังขารเป็นได้ทั้งฝ่ายมรรค เป็นได้ทั้งฝ่ายสมุทัย คือเป็นได้ทั้งฝ่ายกีดขวางตัวเอง เป็นได้ทั้งฝ่ายบุกเบิกทางให้ตนเองดำเนินไปด้วยความสะดวก คำว่าสมุทัยก็คือสังขารฝ่ายผูกมัดกีดขวางตัวเอง คำว่ามรรคก็คือสังขารฝ่ายแก้ ฝ่ายบุกเบิกทางให้เป็นทางดำเนินที่สะดวกสำหรับเรา ก็เกิดขึ้นจากสังขารเดียวกัน สังขารฝ่ายต่ำท่านเรียกสมุทัย สังขารฝ่ายฝืนเครื่องแก้ตนเองท่านเรียกว่ามรรค มรรคปฏิปทาพระพุทธเจ้าสอนไว้ มรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป จนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิเป็นที่สุด นี่ท่านเรียกว่ามรรค มคฺโค แปลว่าทางดำเนินให้เป็นไปเพื่อความเกษมสำราญ ถ้าดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เรียกว่ามรรคๆ นี้แล้ว ต้องพ้นทุกข์ไปเป็นลำดับๆ
การดำเนินอย่างนี้ต้องทุกข์ด้วยกัน เราทำงานอะไรก็ต้องทุกข์ เรียนหนังสือก็ทุกข์ ปฏิบัติงานก็ทุกข์ ไม่ว่างานแผนกไหนต้องมีทุกข์อยู่นั้นด้วย เพราะคำว่าทำงานแล้วต้องมีทุกข์ ไม่ใช่จะมีความทุกข์เฉพาะงานสมาธิงานภาวนา งานศีลงานธรรม มีทุกข์เหมือนกัน เราต้องเอามาแก้ตัวของเรา ไม่แก้ตัวเองผูกใส่ตัวเองแล้วไปไม่รอดนะ มัดตัวเข้าวัดๆ ไปไม่ได้ นั่งก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ บ่นอยู่กับทุกข์แต่แก้ทุกข์ไม่ได้ แล้วไม่สนใจจะแก้ทุกข์ เราจะเอาความสุขมาจากไหน บ่นก็เราเอง นอนเฝ้าทุกข์ก็เราเอง ผู้เสวยทุกข์ก็เราเอง ก็ไม่เห็นได้รับประโยชน์อะไรจากการบ่น ไม่ทำ บ่นแล้วต้องทำต้องแก้ ถึงจะเป็นประโยชน์ ศาสนาสอนให้แก้ ไม่ใช่สอนให้คนผูกมัดตัวเองให้ได้รับความทุกข์ความทรมาน
ความทุกข์เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนา ก็คือทุกข์เพื่อจะแก้จะถอดจะถอนเสี้ยนหนามออกจากจิตใจ เหมือนหนามยอกเข้าที่เท้า จะถอดหนามออกถอนหนามออกก็กลัวเจ็บ แล้วปล่อยให้มันจมอยู่อย่างนั้นจะเป็นยังไง มันก็เลอะไปหมด เน่าไปหมด เท้า และยังทำให้อวัยวะส่วนอื่นเสียไปอีกด้วย ถ้าเราเห็นว่าการถอดถอนหนามออกนั้นเป็นความทุกข์ และไม่กล้าถอดถอน เราจะปล่อยให้มันจมอยู่นั้นจะเป็นยังไง เราต้องเอาเหตุผลเข้าไปจับ ทุกข์ก็จำต้องถอนต้องถอด ไม่ถอดไม่ได้ ทีนี้ก็ถอน เจ็บก็ถอน ทุกข์ก็ถอน แล้วใส่ยามันก็หาย หายชั่วขณะที่ถอนเท่านั้น ถ้าหากเราไม่ถอนโดยถือว่ามันเจ็บปวดนั้น มันจะจมจะเป็นทุกข์ขนาดไหน
เรื่องกิเลสซึ่งเปรียบเหมือนกับหนามยอกหัวใจเราก็เหมือนๆ กันอย่างนั้น ความเพียรพยายามนี้เหมือนกับจะถอดถอนหัวหนามออกมา ต้องมีทุกข์บ้างจะว่าไง เราเป็นศิษย์ที่มีครู เราก็ต้องทำแบบครู เราอย่าทำแบบเรา แบบเราคือกิเลสอาสวะนั่นเป็นอาจารย์สอนให้คนขี้เกียจขี้คร้าน มักง่ายอ่อนแอ ไม่จริงไม่จัง ทำอะไรก็ไม่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไม่มีเหตุมีผล นี่ละเรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะมันเป็นอาจารย์ เป็นอย่างนี้แหละ ถ้าใครมีอาจารย์อย่างนี้มากๆ แล้ว ไปที่ไหน โอ้โห แมลงวันจะบินตามนะ ต้องระวังให้ดี ถ้าตัวแมลงวันปฏิบัติตัวให้หอมหวน จะเป็นที่ชวนชมของคนอื่น ตัวเองก็ชุ่มใจ ศาสนาเป็นของสะอาดสวยงามมาก ผู้ปฏิบัติศาสนาจึงเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง มีความอดทน มีความสะอาดทางกาย ทางวาจา หาทางตำหนิไม่ได้ ถ้าปฏิบัติให้ตรงตามหลักพุทธศาสนาแล้ว
คำว่าศาสนาเป็นของกลางด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครโดยเฉพาะ ใครจะถือสิทธิ์ไม่ได้ เป็นสมบัติกลาง เอ้า ใครต้องการเอื้อมมือเข้าไปปฏิบัติ สมบัติที่เกิดเป็นผลจากการปฏิบัตินั้นจะเป็นของผู้นั้นโดยเฉพาะ ใครจะมาแย่งชิงเอาไม่ได้ ศาสนาเป็นของกลางอย่างนี้ เราเป็นผู้หวังความสุขความเจริญ เป็นผู้หวังพึ่งเราเอง เรียกว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นผู้หวังพึ่งตนเองก็ต้องปฏิบัติตัว พึ่งผู้อื่นก็พึ่งมาพอสมควร แต่เรื่องจิตใจนี้เป็นเรื่องตัวเองจะพึ่งตัวเองจริงๆ ยิ่งวาระสุดท้ายแล้วเราจะคว้าอะไรทัน คนเราเวลาจำเป็นจนตรอกจนมุมมาแล้วคว้าโน้นคว้านี้ เราคิดให้ดีตอนนี้
เราดูคนตกน้ำก็พอทราบได้ ซึ่งเทียบเคียงกับคนจวนตัววาระสุดท้าย อยู่เฉยๆ ไม่คว้าโน้นคว้านี้ พอตกน้ำปั๊บนี่คว้า หรือคนจะตกบ้านตกเรือนนี้คว้า คว้าจนไม่มีอะไรติดมือแล้วก็ยอมตกไป พอพลาดปุ๊บอย่างนี้มือต้องคว้าทันที เราลื่นจะหกล้มนี้เหมือนกันมันคว้าทันที แต่ไม่มีอะไรติดมือมาพอเป็นที่เกาะที่ยึดที่เหนี่ยว มันก็ยอมหกล้มลงไป ถ้ามีที่เกาะพอจะยึดได้แล้วไม่ยอมหกล้มคนเรา คว้าจนได้ อยู่เฉยๆ ไม่คว้านะ เวลาจำเป็นมันต้องคว้า พลัดตกจากที่สูงก็คว้าเสียก่อน ถ้าพอเกาะติดอะไรก็ต้องติดอยู่นั้น ถ้าไม่มีอะไรจะเกาะติดมือก็ต้องยอมตกลงไป
จิตใจเวลาจำเป็นต้องหาที่เกาะ จำเป็นจริงๆ วาระสุดท้าย คือกายจะแตกเป็นไฟทั้งกองอยู่ในส่วนร่างกาย ส่วนบนส่วนล่าง ข้างซ้ายข้างขวา ทุกๆ ด้าน ทุกทิศทุกทางนี่ มัดเข้าไปหาจิตใจหมด อวัยวะส่วนย่อยส่วนใหญ่เป็นทุกข์ทั้งนั้น เรียกว่าไฟทั้งกอง จิตจะหาที่เกาะที่ยึดเวลานั้น ถ้าความดีของเราไม่ได้สร้างเอาไว้ เราจะเอาอะไรเป็นที่ยึดที่เกาะ คว้าแต่น้ำเหลวๆ ไปก็เหลว นี่ละศาสนาสอนให้คนสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างที่ยึดที่เกาะให้เป็นที่มั่นคงไว้เสียตั้งแต่บัดนี้ ดูคนตกน้ำ ตกน้ำนี่คว้า แม้ที่สุดซากผีไหลมาลอยมา ทั้งๆ ที่เป็นคนกลัวผี ตอนนั้นไม่กลัวนะ เพราะชีวิตมีคุณค่าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าความกลัวผี ต้องคว้าไปเกาะปั๊บเสียก่อน พอประทังชีวิตไปสักครู่หนึ่งก็ยังดี นั่นหาที่ยึดที่อาศัย ที่รับรองชีวิตหรือประกันชีวิตไว้
จิตใจที่ได้รับการอบรมมาด้วยดีจนเป็นที่แน่ใจแล้วไม่คว้า สม่ำเสมอ รู้ตามหลักความจริง ธาตุส่วนไหนหนักไปทางความทุกข์มากน้อยเพียงไรรู้ รู้ตามความจริง ถึงวาระจะแตกก็ปล่อยให้แตกไปตามความจริงของมัน ไม่ไปขัดไปแย้ง ไม่ไปทำการกีดขวาง ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง เวลายังมีชีวิตอยู่ก็อยู่ไป ถึงกาลที่จะไปก็ไป เพราะปัญญาได้หว่านล้อมไว้หมดแล้ว เรื่องความเป็นอยู่ ความสลาย หรือความแปรสภาพ จนถึงกับสลายตัวออกจากส่วนผสมของธาตุ ปัญญาหว่านล้อมไว้หมด นั่นละศาสนาจึงเป็นสิ่งที่รอบคอบ เรียนศาสนาก็คือเรียนเรื่องของตัวเอง ให้รู้เรื่อง ปฏิบัติกับตัวเองให้ถูก
ศาสนาจึงเป็นของจำเป็นสำหรับเราทุกคนที่มีความรับผิดชอบตนเอง และหวังพึ่งตน เมื่อดำเนินให้ถึงที่แล้วอยู่ไหนก็สบาย ไม่มีละกาลเวลาสถานที่ ไม่มีกับจิตดวงนั้น ท่านจึงเรียกว่าอกาลิโก ในบทธรรมคุณท่านว่าอกาลิโก เวลาเราแปลทั่วๆ ไป เราก็ว่าปฏิบัติเวลาไหนก็ได้ผลเมื่อนั้น ไม่ว่าเช้าสายบ่ายเย็น ถูกนี่ก็ยกให้ แต่ความถนัดจิตในการปฏิบัติมานี้เป็นอีกแง่หนึ่ง เมื่อปฏิบัติให้ถึงขีดถึงแดนแล้วนั้นเป็นอกาลิโก คือความบริสุทธิ์จำเพาะตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เลือกว่ากาลนั้นสถานที่นี่ ไม่มี เรียกว่าอกาลิโก เป็นความบริสุทธิ์ตายตัว เป็นความพอตัวอย่างตายตัว เพราะฉะนั้นกาลสถานที่จึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในธรรมชาติที่พอตัวแล้วนี้ นี่ละเป็นอกาลิโกในหลักธรรมชาติแท้ของธรรมะ
ธรรมะที่แท้จริงแล้วก็คือจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่เป็นธรรมทั้งแท่ง เอกจิตเอกธรรม ธรรมแท่งเดียว จิตดวงเดียว บริสุทธิ์เฉพาะใจดวงเดียว หมดความวิตกวิจารณ์วุ่นวายกับการเป็นการแปรไป การตายไป สถานที่ กาล อดีต อนาคต มันไม่ยุ่งเพราะเห็นพร้อมอยู่ในปัจจุบันนี้หมดทุกอย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันนี้ก็รอบคอบแล้ว อดีตที่เป็นมาแล้วก็ผ่านมาแล้ว อนาคตที่จะไปข้างหน้าก็ผู้นี้เป็นอยู่อย่างนี้แล้ว อนาคต สถานที่ กาลเวลาจะมีความสำคัญอะไรยิ่งกว่าธรรมชาติที่เห็นอยู่ประจักษ์เวลานี้คือความบริสุทธิ์ ผู้นี้บริสุทธิ์อยู่ไหนก็บริสุทธิ์ วันพรุ่งนี้ก็บริสุทธิ์ เดือนหน้าปีหน้าก็บริสุทธิ์ เห็นอยู่นี้ นี่ละเรียนตัวให้รู้ เรียนรู้เรื่องของตัวแล้วสบาย ถ้ายังไม่รู้ยุ่งนะ ยุ่งมากน้อยตามความไม่รู้ของเรา ถ้ารู้เข้าจริงๆ มันไม่ยุ่ง
ศาสนาไม่ใช่เป็นตุ๊กตาเครื่องเล่นของเด็ก พอจะไปเอาชาตินู้นไปเอาชาตินี้มา เห็นปัจจุบันนี้ อันนั้นเป็นผลพลอยได้จากความดีของตนเองที่ทำ แต่ปัจจุบันเป็นอันดับแรก ผู้ปฏิบัติจะต้องเห็นประจักษ์ใจ นี่เป็นอันดับแรก ไปที่ไหนก็เห็นถ้าผู้นี้เห็นเรื่องของตัวเองอยู่แล้ว ไปอยู่สถานที่ไหนก็เห็น เกิดมาภพใดชาติใดก็ดี ถ้าใจดีนะ แต่ถ้าบริสุทธิ์แล้วไม่เกิด ถือเอากำเนิดธาตุขันธ์ซึ่งเป็นภาระอันหนึ่ง ไม่เกิดแล้วจะเอาความตายมาจากไหน ความทุกข์ก็ไม่มี ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิดท่านว่า มันจะเอาทุกข์มาจากไหน ที่เกิดไม่มี เป็นธรรมทั้งแท่งแล้ว การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร ขอยุติเพียงเท่านี้
รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ
|