เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๒
ดูเยี่ยงอย่างศาสดา
ศาสนาหมายถึงพระโอวาท การสั่งสอนออกมาจากพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของของพระศาสนา ตามหลักธรรมชาติแล้วธรรมะมีอยู่ทั่วไป เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้นอยู่กับผู้มีความเฉลียวฉลาดจะค้นคว้าหาสิ่งนั้นๆ มาทำประโยชน์ นั้นเป็นไปตามรายของบุคคล ธรรมะก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดได้ค้นพบภายในพระทัย และปรากฏผลเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นภายในพระทัยของพระองค์แล้ว จึงได้นำธรรมะที่ได้ทรงรู้ทรงเห็นออกมาแสดงจึงกลายเป็นศาสนาขึ้นมา ที่นำออกมาแสดงนี้เป็นชื่อแห่งธรรม เป็นความสุขเป็นชั้นๆ แสดงถึงเรื่องความสุขความทุกข์ ความดีความชั่ว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชื่อของธรรม ชื่อของศาสนาที่นำออกแสดง
ศาสนาแท้อยู่ที่ใจของมนุษย์เรา แต่ไม่สามารถจะปฏิบัติและค้นพบได้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า เพราะการทำดีทำชั่วอยู่กับกายวาจาใจของคนเรา การสอนให้ละชั่วทำดีก็สอนลงที่มนุษย์เรา ผู้จะทำการละความชั่วประพฤติความดีก็คือมนุษย์เรา ผลที่ปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติได้มากน้อยนั่นแลชื่อว่าธรรม คือเกิดขึ้นจากผู้นั้นจริงๆ ทีแรกก็ต้องอาศัยการชี้แจงแสดง หรือจะเรียกว่าศาสนาเป็นเข็มทิศทางเดินก็ได้ คือชี้แนวทางที่ถูกต้อง บอกในสิ่งที่ผิดให้พยายามละเว้น และชี้แนวทางที่ถูกให้พยายามประพฤติปฏิบัติไปตามหลักธรรมที่สอนไว้ นี่เรียกว่าเป็นฝ่ายเหตุ ส่วนผลก็คือความสุขที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมมากน้อย ปรากฏขึ้นกับใจของตนเอง
เราซึ่งเป็นนักบวชเป็นผู้มุ่งประพฤติปฏิบัติศาสนธรรม ก็กรุณาสนใจในตัวของเราเอง ท่านชี้แจงบอกไว้อย่างไรอย่าลืมมองย้อนเข้ามาสู่ตัวเรา ผู้กำลังจะเป็นไปในทางผิดและทางถูกอยู่ทุกๆ ขณะนี้ นี้เป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องมองกันทุกคน เพราะศาสนาสอนเข้ามาจุดนี้ทั้งนั้น ไม่ได้สอนไปที่อื่น เพราะความผิดถูกชั่วดีอยู่กับจุดนี้คืออยู่ที่กายวาจาใจของมนุษย์เรา ศาสนาจึงต้องสอนลงที่นี่ สอนไปที่อื่นไม่ถูกตามจุดที่ต้องการ
เพศพระท่านสอนไปประเภทหนึ่ง เพศฆราวาสญาติโยมก็สอนไปอีกประเภทหนึ่ง เพราะต่างเพศกัน ธรรมะที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติให้พอเหมาะสมกับนักบวชและฆราวาสจึงต้องมีแยกกัน เพราะเพศและหน้าที่การงานนั้นผิดกัน ฉะนั้นศีลจึงมีทั้งศีลนักบวชและศีลฆราวาส ส่วนธรรมนั้นท่านไม่กำหนดว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวชปฏิบัติ มีสิทธิจะประพฤติปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน หากเรามีความสามารถหรือมีเวล่ำเวลาพอจะปฏิบัติได้ ไม่มีการกีดกั้น เพราะฉะนั้นฆราวาสจึงมีโอกาสที่จะบำเพ็ญตนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เช่นเดียวกับบรรพชิตคือนักบวช แม้ในครั้งพุทธกาลก็ปรากฏว่ามีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งๆ ที่เป็นฆราวาสอยู่ เพราะเหตุว่าการปฏิบัติธรรมไม่ขึ้นอยู่กับเพศกับวัย แต่ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมที่ถูกต้องนั้นเท่านั้น นี่เป็นจุดใหญ่แห่งธรรมที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายมีสิทธิจะต้องปฏิบัติได้ด้วยกันทุกคน
ส่วนศีลนั้นมีแยกประเภท ศีล ๕ ศีล ๘ นี้เป็นศีลสำหรับฆราวาส จะบำเพ็ญเป็นนิจศีลหรือจะบำเพ็ญเป็นบางกาล ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี้เป็นศีลของนักบวชนับแต่สามเณรขึ้นไปถึงพระ อันนี้แยกกันตามหน้าที่และเพศ ซึ่งบอกอยู่แล้วว่าเพศนุ่งเหลืองห่มเหลืองนี้คือเพศนักบวช ศีลจึงมีแยกประเภทกัน อันนี้เป็นกฎอันหนึ่งเช่นเดียวกับกฎหมายแต่เป็นทางพระวินัย ทางพระท่านเรียกว่าวินัย แปลว่าการนำเสียซึ่งโทษ โทษที่จะเกิดขึ้นจากกายวาจาของตนเกี่ยวกับความล่วงละเมิดในศีลข้อใดข้อหนึ่งใน ๒๒๗ ข้อนั้น ล้วนแล้วแต่จะเป็นโทษขึ้นมา ท่านให้นำออกเสียจึงเรียกว่าวินัย นี้เป็นศีลส่วนใหญ่ ส่วนปลีกย่อยอีกเป็นจำนวนพันๆ ที่อนุบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นทีหลัง
สำหรับธรรมแล้วเหมือนกัน ศาสนาพุทธเราไม่มีการบังคับบัญชา ผู้จะรับนับถือหรือไม่ ไม่มีการบังคับบัญชากัน นับถือได้ตามความชอบใจ ใครชอบนับถือก็ได้ ไม่ชอบไม่นับถือก็ได้ วางไว้เป็นสมบัติกลาง แต่เมื่อเข้ามานับถือแล้ว ผู้ที่นับถือนั้นมีความหวังผลหวังประโยชน์จากการนับถือศาสนา จึงต้องมีการบังคับตนให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัย เช่นแต่ก่อนเรายังไม่ได้บวชเราจะทำอย่างไรก็ได้ เพราะเราเป็นฆราวาสไม่มีศีลอะไรจะขัดข้อง เพราะไม่มีกฎ แต่เวลาเรามาบวชแล้ว เราบวชเป็นเณร กฎของเณรมีเท่าไร บวชเป็นพระ กฎข้อบังคับของพระมีเท่าไร เราต้องพยายามปฏิบัติให้ได้ตามแบบของเณรของพระ ไม่เช่นนั้นก็ผิดศีลของตน
การผิดศีลไม่ใช่ศีลจะเป็นความเสียหาย แต่เราผู้ล่วงละเมิดนั้นแลเป็นผู้เสียหาย ศีลก็คงเป็นศีล แต่เราผู้ทำผิดก็ต้องเป็นโทษสำหรับเราเอง เพราะฉะนั้นจึงควรสำรวมเราให้มีศีล ถ้าต้องการศีลให้เป็นความสวยงาม เป็นเครื่องประดับกาย วาจา และทำใจให้ชุ่มเย็นเพราะความมีศีลแล้ว ก็ต้องเป็นเรื่องบังคับตนอยู่ในตัว ศาสนามีการบังคับในเมื่อเรารักนับถือเพื่อหวังคุณงามความดีแก่ศาสนาแล้ว การบังคับตนเองให้เป็นไปตามหลักของพระธรรมวินัยนั้น เป็นเรื่องของเราทุกๆ ท่านจะต้องปฏิบัติตามแนวนั้น ถ้าปฏิบัติผิดก็ไม่ได้รับผลอะไรจากศาสนา นอกจากจะเป็นโทษแก่ตนผู้ละเมิดเท่านั้น
ธรรมก็เหมือนกัน ธรรมท่านก็ไม่บังคับ แต่ผู้ต้องการธรรมคือต้องการธรรมะเป็นเครื่องประดับใจ ก็ต้องเป็นผู้มีการบังคับตนเอง ท่านจึงสอนไว้ว่า ฉันทะให้มีความพอใจในการบำเพ็ญคุณงามความดีสำหรับตน วิริยะให้มีความพากเพียร จิตตะมีความฝักใฝ่ อย่าทำจิตใจให้เหินห่างจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอันเป็นบ่อเกิดแห่งคุณงามความดี วิมังสาจะทำสิ่งใดให้มีการไตร่ตรอง อย่าทำด้วยความพรวดพราด ศาสนาสอนไว้อย่างละเอียดลออ ผู้ทรงศาสนาจึงควรเป็นผู้ใคร่ครวญเพื่อเป็นความฉลาดตามหลักที่ศาสนาสอนไว้ ท่านให้เพียรให้พยายาม ก็เหมือนกับบังคับให้อดทน
เช่นขันติความอดทน นี่เรียกว่าบังคับละที่นี่ บังคับให้มีความเพียร บังคับตนเองคนอื่นใดไม่มาบังคับได้ เราต้องบังคับเรา ให้มีความเพียรพยายาม ให้มีความอดความทน หิวบ้างกระหายบ้าง เมื่อยบ้างเพลียบ้าง เจ็บปวดบ้างเป็นทุกข์บ้าง แล้วแต่จะเกิดขึ้นในทางร่างกายส่วนใด เราต้องเป็นผู้ยอมรับ ต้องเป็นผู้อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นด้วย เป็นผู้อดทนต่อความพากเพียรที่จะเป็นไปทางความสุขความเจริญด้วย นี่เรียกว่าบังคับเราเอง เพราะความหวังเป็นเรื่องของเรา ความหวังคือหวังความสุขความเจริญ ความดีทุกอย่างเราหวังทั้งนั้น ความสุขไม่ว่าจะสุขทางกายทางใจมากน้อย เราหวังด้วยกัน
สิ่งที่จะให้สมหวังคืออะไร ก็ได้แก่การกระทำบำเพ็ญตนเอง การกระทำหรือการบำเพ็ญนี้ต้องอาศัยการบังคับบัญชาบ้าง ไม่เช่นนั้นก็เป็นไปไม่ตลอดสาย เพราะฉะนั้นการบังคับจึงเป็นคู่เคียงกันไปกับความหวังพึ่งตนเอง หรือหวังพึ่งธรรม ต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามหลักธรรม ไม่เช่นนั้นก็เขว การเขวออกไปนอกลู่นอกทางไม่ว่าจะเขวทางภายนอก ไม่ว่าจะเขวทางภายใน ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ เช่นเราเดินทางเขวออกจากทางที่ถูกต้องไปในทางที่ผิดเสียก็ไม่เป็นประโยชน์ ทำอะไรถ้าเขวจากหลักที่ถูกต้อง จากทางที่ถูกต้อง จากสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เป็นผลทั้งนั้น ฉะนั้นจึงต้องพยายามฝึกหัดตนให้เป็นไปตามทางที่ถูก ต้นเหตุที่จะให้เกิดการบังคับเรา เพราะความหวังพึ่งเรา หวังพึ่งศาสนา หวังพึ่งความถูกต้อง สิ่งไหนที่ผิดแม้อยากจะทำก็ต้องฝืนไม่ทำ ฝืนใจไม่คิด ฝืนกายฝืนวาจาไม่พูดไม่ทำ สิ่งที่ฝืนเหล่านี้แลเรียกว่าบังคับตนเอง ให้สำรวมให้ระวังให้บังคับ
ทีนี้การกำหนดภาวนาก็เช่นกัน จิตใจตามปรกติแล้วจะต้องมีการคิดออกภายนอก ตามธรรมดาของจิตรู้สึกจะร้อยทั้งร้อยไม่ได้คิดเข้ามาสนใจตัวเอง คิดออกขณะใดก็ต้องเป็นไปกับสิ่งภายนอกทั้งนั้น ไม่ได้ย้อนเข้ามาสู่ภายใน ส่วนนักบวชหรือผู้ปฏิบัติธรรมะ ยังมีการคิดย้อนเข้ามาข้างในได้ เพราะคำว่าเรียนธรรมะกับการปฏิบัติธรรมะนั้น พูดง่ายๆ ก็คือเรียนเรื่องของตัวเอง ให้รู้เรื่องของตัวเอง อ่านตัวเองให้รู้จุดที่บกพร่องผิดถูกตรงไหน แล้วพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเอง นี่เรียกว่าเรียนธรรมคือเรียนเรื่องของตัวเอง ปฏิบัติธรรมก็คือปฏิบัติต่อตนเองในทางที่ถูก ตามสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว เพราะฉะนั้นธรรมกับเราจึงแยกกันไม่ออก ถ้ายังมีความหวังความดีและหวังความสุขความเจริญอยู่ตราบใด
ทางที่จะเป็นไปสู่ความสุขความเจริญก็คือ แนวทางแห่งธรรมะที่ท่านสอนไว้ ที่เรียกว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ซึ่งเป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบยิ่งแล้ว ไม่มีบกพร่องไม่เลยขอบเขต เป็นหลักมัชฌิมาล้วนๆ คือตรัสไว้อย่างตรงแน่วไปถึงจุดหมายปลายทางทีเดียว จึงให้นามว่ามัชฌิมา ศูนย์กลาง นี่ละหลักการดำเนินในทางปฏิบัติ ได้อธิบายถึงเรื่องการเรียนธรรม เรียนธรรมะปฏิบัติธรรมะคือการเรียนเรื่องตัวเองปฏิบัติตัวเอง ธรรมกับเราแยกกันไม่ออก ให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายได้ทราบว่า ธรรมกับเราอยู่ห่างไกลกันเพียงไรหรืออยู่ด้วยกัน ถ้าจิตได้ย้อนเข้ามาคิดอ่านไตร่ตรอง หรืออ่านเรื่องของเรา พยายามหาจุดบกพร่องของเราอยู่เสมอแล้ว ผู้นั้นจะเห็นทางที่ถูกดีงามเสมอไป คือจุดไหนที่มีความบกพร่องพยายามแก้ไขจุดนั้น แล้วส่งเสริมจุดที่ถูกต้องให้มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ในหลักธรรมะท่านสอนให้ โอปนยิโก คือจิตที่คิดออกไปข้างนอกก็เพื่อประโยชน์ข้างใน ได้เห็นได้ยินสิ่งใดที่มาสัมผัส คิดเข้ามาภายในเทียบเคียงกับตนในส่วนผิดถูกชั่วดี ที่เกี่ยวกับการเห็นการได้ยินภายนอก แล้วพยายามปรับปรุงตนเองต่อไป สิ่งที่เห็นนั้นถ้าเป็นสิ่งที่ดีก็ยึดมาเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ย้อนเข้ามาดูตัวของเราว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ถ้ามีอยู่ภายในตัวก็จะได้พยายามแก้ไข คืออ่านตัวเอง เรียนตัวเอง เรียนเรื่องของตัวเอง ย่อมรู้เสมอเพราะวันหนึ่งๆ เรื่องของเราจะแสดงอยู่ตลอดเวลา คือความคิดปรุงโดยมากก็คิดออกไปข้างนอก ถ้าตั้งใจเรียนธรรมะก็ต้องย้อนเข้ามาภายในได้
จิตใจที่หาความสงบเยือกเย็นไม่ได้ เพราะความส่งออกไปภายนอก ไม่ใช่สิ่งใดมาทำการกีดขวางไม่ให้จิตสงบได้ แต่เป็นเรื่องของความคิดเสียเองเป็นผู้ปรุงแต่งแล้วส่งออกไปข้างนอกจนเป็นความเคยชิน ไม่สนใจที่จะคิดย้อนเข้ามาสู่ภายใน เพราะฉะนั้นใจจึงหาความสุขไม่เจอ คิดไปวันยังค่ำคืนยังรุ่งตลอดปีตลอดเดือน ทั้งๆ ที่หวังความสุขความเจริญภายในจิตใจ แต่ก็ไปเจอเอาแต่สิ่งที่รุ่มร้อนเผาผลาญจิตใจให้ได้รับความทุกข์ความลำบากอยู่เสมอ ไม่มีวันจะเจอความสุขได้ เพราะความคิดเป็นเครื่องรังควาญตนเสียเอง แต่เราไม่ทราบว่าความคิดนี้เป็นภัยต่อตนอย่างไรบ้าง
เมื่อได้เรียนได้ปฏิบัติธรรมะ ธรรมะท่านต้องชี้บอกเสมอว่าความคิดประเภทใดที่เป็นคุณแก่ตน ความคิดประเภทใดที่เป็นโทษแก่ตน ให้เลือกเฟ้นความคิดนั้นๆ แล้วการพูดประเภทใดเป็นภัยต่อตนและผู้อื่น การทำประเภทใดเป็นภัยแก่ตนและผู้อื่น และเป็นคุณแก่ตนและผู้อื่น ผู้เรียนธรรมต้องเลือกเฟ้น สิ่งใดที่เห็นว่าเป็นประโยชน์พยายามส่งเสริมสิ่งนั้นให้มีกำลังมากขึ้น ส่วนสิ่งใดที่เห็นว่าเป็นภัยแก่ตนและผู้อื่นสิ่งนั้นควรงดเว้น แม้จะงดเว้นไม่ได้ในขณะนั้นก็ต้องทำความพยายามงดเว้นไปโดยลำดับ จนสามารถละเว้นได้โดยเด็ดขาดดังพระอรหันต์ท่าน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เกิดขึ้นจากการบังคับบัญชาตนเอง เพราะใจมีเจ้าของรู้สึกตัวของเรามีเจ้าของ ถ้าเจ้าของไม่ระมัดระวังไม่รักษา ไม่สงวนเอาไว้ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านในเรือน ซึ่งเรานำมาใช้ประโยชน์ตามเวลาของมัน เราก็ต้องมีการเก็บรักษาไว้ เวลาต้องการจะนำมาใช้ได้ประโยชน์ ไม่ได้ทิ้งเกลื่อนกลาด ซึ่งทำให้เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ ใจของเราก็เป็นสมบัติอันหนึ่งที่เราจะต้องระมัดระวังรักษาและสงวน เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงควรใคร่ครวญตรวจตราดูความคิดอ่านผิดถูกดีชั่วของตน ว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งได้คิดไปในทางใดมาก เรียกว่าอ่านตัวเอง
เฉพาะอย่างยิ่งการภาวนายิ่งเป็นการอ่านตัวเองโดยชัดเจนหรือโดยตรง การปฏิบัติต่อตัวเองโดยตรง ขณะภาวนาคือการระวัง พอเริ่มภาวนาก็เริ่มระวังจิตใจที่จะคิดออกไปสู่ภายนอก แล้วหางานที่ถูกต้องให้จิตทำอยู่เวลานั้น เช่น เรากำหนดธรรมบทใดๆ ก็ตามมีอานาปานสติเป็นต้น เป็นอารมณ์ของใจให้ได้อาศัยอยู่กับการหายใจเข้าหายใจออก เป็นอารมณ์ของใจ มีความรับรู้และสติตั้งไว้ที่ลมสัมผัสตามแต่ความถนัดของผู้บำเพ็ญเป็นรายๆ ไป ไม่ให้จิตส่งออกไปสู่ภายนอก นอกจากกิจที่กำลังทำอยู่เวลานั้นเท่านั้น
จิตเมื่อได้รับการระมัดระวังอยู่เสมอ และมีสติคอยกำกับไม่ให้เคลื่อนคลาดจากงานที่ทำ ย่อมจะมีความสงบ การคิดออกไปภายนอกก็เบาลง ทุ่มเทกำลังเข้ามาสนใจกับงานที่กำลังทำอยู่มีอานาปานสติ การทำความรับรู้กับลมหายใจเข้าออกเป็นต้น ซึ่งเป็นงานจำเป็นของตนในขณะนั้น ใจเมื่อไม่มีงานอื่นทำ ทำอยู่เฉพาะงานที่ชอบธรรม ย่อมเป็นผลที่ชอบธรรมขึ้นมาให้ผู้บำเพ็ญได้รับ กล่าวคือความสงบเย็นใจขึ้นในขณะนั้น ที่ท่านเรียกว่าจิตสงบลงเป็นสมาธิ
ผู้กำหนดธรรมบทใด เช่นพุทโธ พุทโธภายในใจก็ให้ทำความรู้สึกอยู่กับคำว่าพุทโธบทนั้นๆ ไปตลอดสาย ใจเมื่อได้รวมความคิดอ่านต่างๆ และความสนใจในสิ่งอื่นๆ ทั้งหลายเข้ามาเป็นความสนใจในจุดเดียว ย่อมมีกำลังมาก และจะเห็นความรู้ของตนที่กำลังทำงานอยู่กับคำบริกรรมนั้นได้อย่างชัดเจน จะแย็บออกไปสู่อารมณ์อะไร ด้วยอำนาจของสติที่ระมัดระวังอยู่เวลานั้น ก็ย่อมทราบกันได้และย้อนกลับเข้ามาสู่ที่เดิม ทำความกำหนดรู้อยู่เสมอด้วยคำบริกรรมว่าพุทโธๆ เป็นต้น
ใจเมื่อได้รับการระวังรักษาอยู่เสมอย่อมจะเป็นใจที่สงบ เมื่อใจสงบอารมณ์ทั้งหลายที่เคยเป็นภาระและเสียดแทงจิตใจมาเป็นเวลานาน ได้ปล่อยวางภาระคืออารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นเข้าสู่ความเป็นตนของตน โดยไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ใดๆ เหลือแต่ความรู้ที่เกี่ยวกับคำว่าพุทโธ นอกจากนั้นปล่อยจากคำว่าพุทโธเข้ามาสู่อารมณ์อันเดียวคือรู้อยู่เฉยๆ นี่เป็นจิตที่มีความสงบสุข เป็นจิตที่เยือกเย็น เป็นจิตที่แปลกประหลาดและเป็นจิตที่อัศจรรย์ มีความเบาความสบายรวมอยู่ที่นั้นหมด นี้คือจุดแห่งความสุขที่เราต้องการมาเป็นเวลานาน แต่ไม่ทราบว่าอะไรแน่คือความสุขในโลกนี้ ที่จะเป็นความสุขอันพึงมุ่งหวังจริงๆ พอมาเจอจุดนี้เท่านั้นเราจะเห็นความสุขทันทีว่า สิ่งที่เราพึงประสงค์คือความสุขนั้นนึกว่าอยู่ที่ไหนๆ ครั้นแล้วก็มาปรากฏอยู่กับใจในขณะนั้นโดยไม่ต้องสงสัย
เพราะฉะนั้น เรื่องของศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนสัตว์โลกนั้น จุดหมายปลายทางก็เพื่อให้เห็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นสุขส่วนหยาบ ส่วนกลางส่วนละเอียด ไม่ว่าจะเป็นสุขภายนอกภายในพระพุทธเจ้าสอนไว้โดยถูกต้อง เช่นผู้เป็นฆราวาสก็ให้ปฏิบัติตามหน้าที่แห่งฆราวาส ไม่ให้ผิดศีลธรรมของฆราวาส สัมมาอาชีพปฏิบัติตนโดยถูกทางแห่งความเป็นฆราวาสพุทธมามกะที่นับถือพุทธศาสนา ผู้นั้นก็มีความร่มเย็นเป็นสุข สามีกับภรรยาเมื่ออยู่ด้วยกันต่างคนต่างหวังพึ่งเป็นพึ่งตาย พึ่งสุขพึ่งทุกข์ ต่างคนต่างเป็นสมบัติของกันและกัน ต่างคนต่างรับผิดชอบซึ่งกันและกัน และต่างคนต่างเห็นอกเห็นใจกันแล้ว ไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่เห็นว่าไม่ดีต่อตนและผู้เกี่ยวข้อง ทำแต่สิ่งที่ดีงาม ในคู่ครองทั้งสองนั้นก็ย่อมได้รับความสุขตามฐานะของตนที่ปฏิบัติถูก
ในข้อนี้พระพุทธเจ้าที่ทรงเน้นหนักลง เกี่ยวกับฆราวาสผู้ครองเรือนก็คือ กาเมสุ มิจฉาจาร นี่เป็นหลักใหญ่มาก เพราะท่านเห็นความเสียหายอย่างร้ายแรงอยู่ที่จุดนี้สำหรับผู้มีคู่ครอง จุดนี้เป็นจุดที่ทำลายจิตใจอย่างมาก และสามารถที่จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้ป่นปี้ย่อยยับไปตามๆ กันได้ เมื่อสิ่งนี้รุนแรง และสิ่งอื่นที่ควรแก่ฆราวาสวิสัยพระพุทธเจ้าก็สอนไว้เช่นเดียวกัน ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ แม้จะเป็นฆราวาสก็พอมีความสุขความสบาย ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ทำให้ฝืดเคืองจนเกินไป คือไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่นจนมองดูหน้าใครไม่ได้ และไม่เป็นคนฟุ้งเฟ้อหรือฟุ่มเฟือย จะมีอะไรขึ้นมาไม่ได้
เหมือนกับเอาตะกร้าไปตักน้ำ ตักน้ำในมหาสมุทรก็ไม่มีค้าง ไม่ว่าแต่เพียงจะตักน้ำในบึงในบ่อ เพราะตะกร้ามันไม่มีที่เก็บน้ำ มันทะลุไปหมด ไม่ว่าข้างๆ ไม่ว่าก้น ไม่ว่าที่ไหนทั้งตัวของมันนั้นทะลุไปหมด ตักน้ำในที่ไหนไม่อยู่ นี่จิตใจที่พยายามทำลายตนโดยไม่รู้สึกตัว จนกลายเป็นจิตที่รั่วแตกซึมโดยเจ้าตัวไม่รู้ จนกลายเป็นนิสัยแล้วก็เก็บอะไรไม่อยู่เหมือนกัน มีมากมีน้อยเก็บไม่อยู่ มีแต่ความอยากเป็นประมาณ เรียกว่าความฟุ้งเฟ้อ ความลืมตัว นี่หาความสุขไม่เจอ
จะมีเงินเป็นจำนวนแสนๆ ล้านๆ ก็หาความสุขไม่เจอ เพราะไม่รู้จักวิธีเก็บรักษา แทนที่จะไปหาความสุขความสำราญให้เป็นความสุข เป็นชั่วขณะแล้วมีความทุกข์ไปตลอดเวลาหรือเป็นเวลานานๆ นอกจากนั้นยังทำคนอื่นให้ได้รับความทุกข์เพราะความไม่รู้จักประมาณ ไม่พอดีของตนอีกด้วย พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้คือความรู้จักประมาณ ไม่ว่าฆราวาสไม่ว่าพระ ท่านสอนอย่างนั้นทั้งนั้น คือสอนให้ถูกต้องตามฐานะและเพศวัยของบุคคล ผู้ปฏิบัติคือนักบวช และเป็นผู้ปฏิบัติท่านก็สอนไปอีกแง่หนึ่ง ท่านสอนการอบรมจิตใจคือการภาวนาเป็นต้น ท่านสอนตั้งแต่ต้นจนถึงยอดธรรม เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าวิมุตติพระนิพพาน สอนให้รู้หมด
การปฏิบัติจิตตภาวนาเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับพวกเราผู้ปฏิบัติและเป็นนักบวชอยู่แล้ว จึงควรสนใจให้มาก ท่านว่าจิตเป็นสมาธิท่านก็พูดในหลักของศาสนา หลักของศาสนาก็มีไว้สำหรับคน เราก็คนๆ หนึ่ง ทำไมจึงไม่สามารถจะปฏิบัติตนให้จิตเป็นสมาธิลงได้ ดังที่ท่านสอนไว้ นี้ก็ควรจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับปรับจิตใจของเราให้เป็นข้อคิดไปทุกๆ ระยะ เราจะปรากฏคำว่าใจสงบเป็นสมาธิขึ้นที่ใจของเรา ด้วยความพยายามอันสืบเนื่องมาจากข้อขบคิดข้อนั้นได้ในวันหนึ่งแน่นอน
ในครั้งพุทธกาล ศาสนาครั้งโน้นกับศาสนาครั้งนี้เป็นอันเดียวกัน สอนเรื่องสัจธรรมอันเดียวกัน สอนพุทธบริษัท คือภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาเช่นเดียวกัน สอนเรื่องสัจธรรมคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคเหมือนกัน สอนเพื่อมรรคเพื่อผลเพื่อความสุขความเจริญเหมือนกัน ออกจากพระโอษฐ์คือพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน ธรรมแท่งเดียวกัน มนุษย์เช่นเดียวกัน ทำไมพวกเราจึงได้ยินแต่ข่าวแต่คราวว่าท่านองค์นั้นสำเร็จพระโสดา ท่านองค์นั้นสำเร็จพระสกิทาคา ท่านองค์นั้นสำเร็จพระอนาคา ท่านองค์นั้นสำเร็จพระอรหันต์เป็นสาวกของศาสดาเอกของโลก เราทำไมจึงไม่ปรากฏเป็นอย่างนั้นบ้าง นี่ขึ้นอยู่กับอะไร เราควรจะทำความสนใจในจุดนี้ เพื่อการเตือนตัวของเราให้ตื่นจิตตื่นใจ แล้วรีบเร่งต่อความพากเพียร
ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสมบัติกลาง ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ ใครเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ใครเป็นผู้ชอบคิดอ่านไตร่ตรองด้วยปัญญา ผู้นั้นจะเป็นไปได้ในธรรมที่กล่าวเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิใด ภูมิต่ำ ภูมิกลาง ภูมิสูง ภูมิสูงสุด ไม่พ้นจากเงื้อมมือของเราผู้มีความเพียรนี้ไปได้เลย
คำว่าสมาธิเรามอบให้แก่ตำรับตำราท่านเสีย ตัวเราไม่ได้มาสนใจประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นสมาธิขึ้นที่ใจ เราจึงไม่มีโอกาสที่จะทราบสมาธิว่าเป็นเช่นไร ความสุขที่เกิดจากสมาธินั้นเป็นอย่างไรบ้างเราจึงไม่เจอ ถ้าเราเจอสมาธิขึ้นที่ใจของเราด้วยข้อปฏิบัติของเราจริงๆ แล้ว ความสุขที่เกิดขึ้นจากสมาธิมีจำนวนมากน้อยหนักเบาเพียงไร เราจะทราบได้ด้วยตัวของเราเอง เพราะธรรมท่านตรัสไว้แล้วว่าสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะต้องเห็นเองไม่มีสิ่งใดมากีดขวางได้
ควรจะทำใจให้เห็นความสงบสุขภายในใจของตน อย่างน้อยจิตเป็นสมาธิ เพราะนักบวชไม่มีหน้าที่การงานอันใดเลย มีแต่การจะปฏิบัติรักษาจิตใจให้เข้าระดับแห่งความสงบสุขเท่านั้นเป็นอย่างน้อย นอกจากนั้นก็เป็นความเฉลียวฉลาดทางด้านปัญญา สามารถถอดถอนกิเลสตัณหาอาสวะซึ่งนอนเนื่องอยู่ภายในจิตใจนี้ออกไปทุกระยะๆ จนสามารถถอดถอนได้โดยสิ้นเชิง กลายเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลขึ้นมาเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล เพราะข้อปฏิบัติสอนไว้แบบเดียวกัน ผู้ปฏิบัติก็คือคนแบบเดียวกัน มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง
นอกจากจะบกพร่องเพราะข้อปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามแนวทางแห่งธรรมที่สอนไว้เท่านั้น เช่น ท่านสอนให้มีความขยันหมั่นเพียรแต่ตนกลับขี้เกียจเสียอย่างนี้ ขัดแย้งกัน ท่านสอนให้มีความอดทนแต่เราอ่อนแอไม่อดทน นี่ขัดแย้งกัน ท่านสอนให้มีปัญญาเฉลียวฉลาดแต่เรากลับส่งเสริมความโง่ ไม่ได้คิดค้นหาปัญญาเพื่อถอดถอนสิ่งที่กีดขวางภายในจิตใจของเรา นี่ก็ขัดแย้งกัน การปฏิบัติขัดแย้งกันผลจึงต้องขัดแย้ง จะให้เป็นไปตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เราควรจะทราบตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่องนอนใจอยู่เสมอวันหนึ่งคืนหนึ่งเดือนหนึ่งปีหนึ่งผ่านไปเปล่าๆ ผลประโยชน์ที่จะพึงได้จากการปฏิบัติธรรมไม่ค่อยมี เราก็จะเป็นโมฆบุรุษใช้การไม่ได้ คำว่าโมฆะคือเปล่า หม้อเปล่าๆ ก็ไม่เป็นประโยชน์ ต้องการจะทำประโยชน์ก็เอาอะไรบรรจุลงไป ใส่น้ำต้มน้ำร้อน หุงต้มแกงอะไรได้ เปล่าๆ ไม่เป็นประโยชน์ โมฆบุรุษก็ไม่เป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน
เราจึงไม่ควรจะทำตนให้เป็นโมฆบุรุษในเพศแห่งท่านผู้มีความพากเพียร ท่านผู้มีความขยัน ท่านผู้มีความอดความทน ท่านผู้มีความเฉลียวฉลาดคือศาสดาของเรา ท่านทรงเพศนี้ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เราเปล่งถึงท่านว่าเป็นสรณะของเรา เราเปล่งว่าเป็นสรณะประเภทใด ประเภทยอมเชื่อเหตุเชื่อผลเชื่อหลักความจริงตามท่านมิใช่เหรอ ถ้าเราเชื่ออย่างนั้นความเพียรของเรามีความจริงแค่ไหนสำหรับตนเวลานี้ บกพร่องที่ตรงไหน สติปัญญาของเราบกพร่องที่ตรงไหน ซึ่งควรจะฟิตตนเองให้เป็นไปตามหลักธรรม จึงสมกับว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ไม่ได้สอนให้นอนนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่เป็นประโยชน์
นักบวชไม่มีความเพียรไม่มีใครจะมีความเพียรในโลก นักบวชไม่สนใจ นักบวชไม่พินิจพิจารณาไม่ใคร่ครวญ ไม่มีใครจะใคร่ครวญในโลก นักบวชไม่ฉลาดใครจะฉลาด นักบวชไม่อดทนใครจะอดทน จะเอาอะไรไปสอนโลก เราเป็นคนอ่อนแอจะไปสอนโลกให้มีความขยันหมั่นเพียรมีอย่างที่ไหน ไม่มี เราไม่รู้สอนโลกให้รู้ รู้ไม่ได้ เราเป็นคนโง่สอนคนให้ฉลาดฉลาดไม่ได้ เราเป็นผู้เศร้าหมองหาบหามกิเลสตัณหาเต็มหัวใจ จะสอนคนให้บริสุทธิ์เป็นไปไม่ได้
เราควรดูเยี่ยงอย่างศาสดา ก่อนจะนำมาสอนโลกบริสุทธิ์พุทโธทุกอย่าง พูดถึงเรื่องความเพียรไม่มีใครสู้ สลบไสลไปถึงสามครั้ง จึงได้กลายมาเป็นศาสดา เรื่องความสมบุกสมบันความทุกข์ความทรมาน เราเห็นแล้วในพระประวัติ ไม่มีใครจะเสมอเหมือนพระองค์ได้ การประกอบความเพียร เราประกอบเพียงเท่านี้ เข้าใจแล้วเหรอว่าความเพียรนี้ยิ่งกว่าครู ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือนอนใจไปอีกตลอดอวสาน เวลานำมาสอนโลกท่านไม่ได้นำกิเลสมาสอน นำความบริสุทธิ์สะอาดหมดจดที่สุดเรียกว่าวิสุทธิจิตมาสอน เราจะเอาอะไรสอนเรา จิตของเรามีกิเลสเอาธรรมที่ไม่มีกิเลสเข้ามาสอน จิตขี้เกียจเอาความขยันเข้ามาบังคับ จิตอ่อนแอเอาความเข้มแข็งเข้าบังคับ จิตโง่หาอุบายคิดพินิจพิจารณาจนเกิดความฉลาด
ธรรมท่านสอนให้ฉลาดทั้งนั้นไม่ได้สอนให้โง่ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป นี่องค์ของปัญญาขึ้นต้นเลย คนโง่จะเป็นหัวหน้างานไม่ได้ไม่ว่างานประเภทไหน แม้แต่เป็นหัวหน้าบ้านก็เป็นไม่ได้ หัวหน้าครอบครัวก็ไม่ดี ต้องเป็นผู้ฉลาด สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปนี้คือองค์ปัญญา เดินหน้าเลย ในมรรคแปดขึ้นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นหัวหน้า เราเป็นคนโง่จะนำตัวให้ไปทางไหน ถ้าไม่เอาความฉลาดเข้าไปนำ เราเคยเห็นโทษมิใช่เหรอ ว่าอันใดที่ผิดพลาดไปโดยมากเกิดขึ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ได้คิดอ่านไตร่ตรอง ถ้านำปัญญาเข้าไปใช้ ไม่ว่ากิจงานการอันใด ความเคลื่อนไหวไปมาทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้จะไม่สวยงามก็แสดงว่าคิดแล้วเต็มกำลังของปัญญาแล้ว สุดวิสัย แต่ถ้าไม่ได้คิดเลย อะไรๆ ก็ไม่ดีเป็นนิสัยสะเพร่ามักง่าย จะกลายเป็นคนโง่ต่อไปตลอดชีวิต รื้อถอนตนออกจากทุกข์ก็รื้อไม่ได้
เพราะความโง่ไม่มีทางที่จะทำคนให้พ้นทุกข์ นอกจากความฉลาด ความขี้เกียจไม่สามารถจะส่งเสริมสมบัติเงินทองให้ตนมีความมากมูนขึ้นไปได้ นอกจากความขยันหมั่นเพียร ความอดความทนเท่านั้น ผู้จะกอบโกยเอาธรรมสมบัติเข้ามาบรรจุที่หัวใจก็ต้องเป็นคนเฉลียวฉลาด ต้องเป็นคนมีความขยันหมั่นเพียรไม่ท้อแท้อ่อนแอ ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง นี่หลักธรรมท่านสอนไว้อย่างนี้
เวลานี้เราเป็นข้าศึกต่อธรรมเหล่านี้หรือไม่ คำว่าเป็นข้าศึกคือขัดแย้งกัน ท่านสอนว่าอย่างนั้น เราทำอย่างนี้ ท่านสอนให้ดำเนินอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้เรียกว่าขัดแย้งกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็เป็นข้าศึกต่อธรรมในเพศแห่งภิกขุโดยไม่รู้สึกตัว เราต้องทำความสำนึกอย่างนี้สำหรับเราเอง การสอนอย่างนี้เพื่อให้ข้อคิดแก่ท่านทั้งหลายผู้มาศึกษาอบรมด้วย ได้นำไปเป็นข้อคิดสะกิดจิตใจของตนให้มีสติสตัง ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ อย่าได้เกิดความนอนใจ ผลที่จะพึงได้จะเป็นที่สมหวัง ไม่มีทางเป็นอื่นได้
พยายามทำใจให้สงบ คำว่าสมาธิไม่อยู่ที่ไหน จะอยู่ที่ใจของผู้มีความเพียรอบรมภาวนา จะปรากฏขึ้นที่นี่ องค์ของสมาธิที่แท้จริงอยู่กับหัวใจ ชื่อของสมาธิมีเต็มไปหมดตามตำรับตำราเรียนกันจนไม่หวาดไม่ไหว ชื่อของสมาธิ ชื่อของปัญญา ชื่อของมรรคผลนิพพานมีเต็มไปหมดทุกคัมภีร์ แต่องค์ของมรรคผลนิพพานจริงๆ องค์ของสมาธิ องค์ของปัญญาจริงๆ ไม่ปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏที่ใจนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น
การบำเพ็ญการปฏิบัติจึงต้องอ่านหัวใจตนให้ดี ใจคิดไปอะไรบ้างอ่านให้ดี อ่านให้รอบคอบ บังคับให้ได้ พิจารณาให้แยบคาย ใจดวงนี้จะทรงมรรคทรงผลขึ้นมา ไม่ต้องไปหาที่ไหนคำว่ามรรคผลนิพพาน คำว่าสมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ไม่ต้องหาที่ไหนหาเอาจากความเพียรนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียนธรรมท่านเรียนในหลักธรรมชาติ จนได้เป็นศาสดาของโลก เรานำธรรมะนั้นมาเป็นแบบฉบับประพฤติปฏิบัติตามทำไมจะเป็นโมฆบุคคลไปได้ ต้องเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลได้อย่างแน่นอน
จึงขอให้นำไปพินิจพิจารณา ให้เป็นเจ้าของสมบัติ นับแต่สมาธิขึ้นไปถึงปัญญาถึงวิมุตติหลุดพ้น จะได้จากข้อปฏิบัตินี้เพราะคำว่าสวากขาตธรรมนั้นชอบทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรจะไปเพิ่มเติมว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าบกพร่องในจุดนั้น ไม่มีอะไรที่จะพูดว่าเกินไป ธรรมะพระพุทธเจ้าควรตัดออกในบทนั้นบาทนี้ไม่มี สมบูรณ์แบบ จึงเรียกว่ามัชฌิมาท่ามกลางเลยทีเดียว สอนไว้อย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เราพยายามทำให้ถูกต้องจะได้เป็นเจ้าของสมบัติคือมรรคผลนิพพาน เอาละการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติเพียงเท่านี้
รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th
และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ |