เทศน์อบรมคณะมล.จิตติ นพวงศ์ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๘
ก้าวออกจากทุกข์
ทุกๆ ท่านต่างก็มุ่งเพื่อความลดหย่อนผ่อนผันทุกข์ที่มีอยู่ ทั้งเกี่ยวกับภายนอกและภายใน และพยายามมาจากสถานที่ต่างๆ ล้วนแล้วแต่มาด้วยความสนใจใคร่ต่อธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเครื่องจะแก้ไข หรือบรรเทาสิ่งที่เราไม่ต้องการ ได้แก่เรื่องของทุกข์ จะมีมากมีน้อยก็เป็นภัยทั้งนั้น คำว่าทุกข์นี้ไม่ทราบว่าได้มาเกี่ยวข้องหรือผูกมัดกับเราเมื่อไร ไปที่ไหนอยู่ที่ใดก็ได้ยินแต่จะพยายามปลดเปลื้องออกจากทุกข์ ไม่ว่าสัตว์และบุคคลมีกิริยาท่าทางเช่นเดียวกันหมด แต่ทางที่มาของทุกข์ หรือผู้ที่จะก้าวเข้าไปหาทุกข์ไม่ค่อยจะปรากฏ แต่เรื่องของทุกข์รู้สึกว่าจะมีอยู่ทุกแห่งทุกหนบรรดาสิ่งที่มีใจครอง
วิธีบำเพ็ญหรืออุบายที่จะปลดเปลื้องจากทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ประเภทใดๆ นั้น จึงต้องอาศัยหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นธรรมชาติที่แน่นอน คำว่าแน่นอนนั้นก็พอยกมาอธิบายให้ฟังได้เพียงเล็กน้อย ให้เราเห็นอย่างง่ายๆ ก็คือ คำว่าสวากขาตธรรม แปลว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว เทียบกันได้กับคำที่ว่าสองบวกกับสองเป็นสี่ ดังนี้เป็นต้น เมื่อสองบวกกับสองแล้ว ไม่ว่าใครจะบวกอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นการถูกต้องตามหลักแห่งการบวกแล้ว ต้องบอกว่าเป็นสี่ทั้งนั้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าใครๆ ในโลกนี้จะทำการบวก จะต้องบอกว่าสองบวกสองเป็นสี่ด้วยกัน
หลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ว่าองค์ใดๆ ที่ได้ถึงแดนแห่งความตรัสรู้ธรรมของจริงขึ้นมา ต้องอาศัยหลักธรรมคือสองบวกสองเป็นสี่ ถูกต้องเป็นลำดับตั้งแต่ต้นตลอดจนถึงความเป็นพระพุทธเจ้า หากว่าให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักที่กล่าวนี้ แม้ความเป็นพระพุทธเจ้าก็จะปรากฏขึ้นมาให้โลกได้บูชากราบไหว้ไม่ได้ ดังนั้นโลกทั้งหลายจึงได้ยอมกราบไหว้เคารพบูชา และน้อมเอาธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องชี้ช่องบอกทางตนเอง ซึ่งเราเป็นผู้ไม่สามารถจะทำการบวกลบให้ถูกต้องได้เช่นเดียวกับพระองค์ท่าน
คำที่ว่าเราไม่สามารถจะทำการบวกลบให้ถูกต้องได้ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้านั้น พูดง่ายๆ ก็คือว่า สองบวกสองเราเห็นว่าเป็นห้าไปเสีย สามบวกสามเป็นเจ็ด เหล่านี้เป็นต้น สิ่งใดที่ธรรมของพระพุทธเจ้าเห็นว่าถูกต้อง แทนที่ใจเราจะคล้อยตาม หรือเชื่อมั่นตามหลักธรรมที่พระองค์ท่านตรัสไว้โดยชอบธรรมนั้น แต่กลายเป็นเรื่องฝืนไปเสีย สิ่งที่ตนชอบใจและฝืนไปด้วยนั้น คือเป็นเรื่องสองบวกสองเป็นห้า ผลที่ได้รับจึงเป็นเรื่องผิด เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ที่จะแสวงหาความสุขความเจริญ จึงกลายเป็นเรื่องแสวงหาความทุกข์ความลำบากแก่ตนเองโดยเจ้าตัวไม่รู้ เพราะทำการบวกลบผิดจากหลักธรรมชาติที่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าไม่ว่าองค์ใดๆ ต้องตรัสรู้ธรรมของจริง คืออริยสัจธรรมทั้งสี่ด้วยกัน ไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ใดๆ ที่จะฝืนสัจธรรมทั้งสี่นี้ว่าเป็นของไม่จริง ทุกข์ก็เป็นของจริง สมุทัยก็เป็นของจริง มรรคก็เป็นของจริง นิโรธก็ต้องเป็นของจริง และรู้ตามหลักความจริงว่า ทุกข์ต้องเป็นทุกข์แน่นอน ซึ่งจะควรเป็นเครื่องสะดุดจิตสะดุดใจ และหาวิธีถอดถอนต้นเหตุคือเรื่องของสมุทัยนั้นออกจากใจได้ด้วยมรรค คือความอุตส่าห์พยายามในทางที่ถูก ผลจึงปรากฏเป็นสองบวกสอง กลายเป็นสี่ขึ้นมาเป็นลำดับๆ จนถึงภูมิอันสมบูรณ์ได้แก่ความตรัสรู้ธรรมของจริง คือรู้แจ้งชัดตามหลักความจริงแห่งสัจธรรมทั้งสี่
ความรู้แจ้งชัดนั้นจึงกลายเป็นความจริง เป็นธรรมของจริงขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่าความบริสุทธิ์วิมุตติหลุดพ้นจากสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย กลายเป็นใจที่อัศจรรย์ หรือถ้าเป็นบุคคลก็เรียกว่าเป็นบุคคลพิเศษอัศจรรย์ของโลกผู้หนึ่ง ที่ได้ตรัสรู้ธรรมของจริงนี้ เรื่องอริยสัจธรรมนี้เคยเป็นของจริงมาตั้งแต่กาลไหนๆ ไม่เคยละความจริงแม้แต่นิดหนึ่ง แต่เมื่อโลกทั้งหลายมาทำการบวกลบกับธรรมของจริงนี้ กลายเป็นของปลอมขึ้นมาภายในตัวโดยเจ้าตัวไม่รู้ ฉะนั้นจึงค้นหาธรรมของจริงไม่พบแม้จะมีอยู่ภายในตนเอง เนื่องจากสองบวกสองกลายเป็นห้าไปนั่นเอง
ความรู้สึกที่เป็นมาหรือเป็นอยู่ในปัจจุบันของเราทุกๆ ท่าน เป็นสิ่งที่เจือด้วยของปลอมแปลงทั้งหลาย เมื่อกระเพื่อมตัวออกมาจึงกลายเป็นสองบวกสองเป็นห้าไปเรื่อยๆ ผลที่จะได้รับจึงไม่ค่อยจะตรงตามร่องรอยแห่งความปรารถนาของตน ดังนั้นจึงต้องอาศัยหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นธรรมตายตัว และเป็นแบบฉบับของโลกผู้ไม่สามารถจะบวกลบคูณหารโดยลำพังตนเองได้ ได้อาศัยหลักธรรมะซึ่งเป็นแบบพิมพ์อันตายตัวของพระองค์ท่าน ได้ไปปรับปรุงตนเอง พยายามดัดแปลงตนเองให้เป็นไปตามแถวธรรมะอันเป็นของตายตัวนั้น ผลที่จะพึงได้รับก็ปรากฏมีความสงบเยือกเย็น ไม่ว่าโลกจะนำไปประกอบหรือบำเพ็ญตามหน้าที่หรือกำลังความสามารถและเพศของตน ย่อมจะได้รับความร่มเย็นเป็นสุขไปตามลำดับแห่งการประพฤติปฏิบัติได้มากน้อย
ผู้ที่เป็นนักบวชก็อุตส่าห์พยายามบำเพ็ญตามหน้าที่และเพศของตน ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมที่มีไว้สำหรับนักบวช ผู้นั้นก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งเป็นผลตอบแทนเกิดขึ้นจากข้อปฏิบัติอันดีงามของตน เรื่องของทุกข์ที่มีอยู่รอบด้าน ไม่ว่าข้างนอกไม่ว่าข้างใน ซึ่งเราทุกๆ ท่านก็ได้ทราบกันทั้งนั้น ทุกข์เหล่านี้เราก็มีวันที่จะปลดเปลื้องออกได้จากจิตใจของตน พอจะมีความสุขความเจริญทางด้านจิตใจ เราผู้เป็นช้างตีนหลังหรือเท้าหลัง คือพระพุทธเจ้าพระองค์ท่านเป็นเหมือนกับช้างเท้าหน้า แม้จะมีอุปสรรคสิ่งใดๆ ที่ทำการกีดขวางพระองค์ท่าน ก็ทรงฝ่าฝืนไปได้โดยตลอด เราก็คงไม่มีอุปสรรคขนาดนั้นเพราะเป็นช้างเท้าหลัง จึงควรจะอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญตนให้เต็มสติกำลังความสามารถ ที่ได้ก้าวเข้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักความจริงโดยสมบูรณ์ อย่าให้เสียเวลาในวันหนึ่งคืนหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง นับวันนับคืนไปได้ นับเดือนนับปีไปได้มากน้อยเท่าไร ก็ควรจะได้นับคุณงามความดีที่เราได้บำเพ็ญประจำมื้อประจำวันและประจำปีเดือนไปเช่นเดียวกันกับมื้อวันปีเดือน เราจะไม่เสียทีในวันหนึ่งๆ ก็ชื่อว่าเราได้ก้าวไปเป็นลำดับ
การก้าวไปด้วยการบำเพ็ญตามแนวธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ชื่อว่าเราได้ก้าวออกจากทุกข์ไปวันละเล็กละน้อย เพราะทุกข์ทั้งหมดจะเกิดขึ้นเพราะความไม่รอบคอบของเรา ไม่ว่าไม่รอบคอบในกิจบ้านการเรือน ไม่ว่าไม่รอบคอบในส่วนภายในคือใจของตนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเราได้บำเพ็ญตามหลักธรรมซึ่งออกมาจากความเฉลียวฉลาดของพระพุทธเจ้า เราจะมีวันที่จะได้ก้าวพ้นจากทุกข์เป็นระยะๆ ไป จนสามารถพ้นไปเสียโดยสิ้นเชิง ไม่มีอันใดที่จะเป็นข้าศึกต่อจิตใจของเรา ชื่อว่าทุกข์ทั้งหลายซึ่งเคยเป็นเรือนอยู่หลับนอนของเรา เราก็จะได้เปลี่ยนจากสภาพอันนี้ออกไป กลายเป็นผู้อยู่ด้วยธรรมะ คือความสุขความเจริญภายในจิตใจ
นี่แหละหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงมีความจำเป็นสำหรับเราผู้ที่มีสิ่งจะควรแก้ไขอยู่ภายในตนด้วยกัน หน้าที่การงานอย่างอื่นๆ ซึ่งเราเคยผ่านมาเป็นประจำไม่ว่าหนักเบามากน้อย เราสามารถดำเนินและผ่านมาได้เป็นลำดับ ส่วนงานซึ่งเป็นงานที่แท้จริงของเรา ได้แก่งานการบำเพ็ญคุณงามความดีสำหรับเรา นี้เราก็ควรจะทำความพยายามฝ่าฝืนหรือบึกบึนเช่นเดียวกับงานภายนอก ผลที่เราจะพึงได้รับนั้นจะเป็นที่พอใจเป็นลำดับๆ ไป ถ้าจะปล่อยไปตามใจชอบ ไปตามยถากรรม และจะมอบให้โอกาสวาสนาอำนวยเป็นผู้มาตัดสินหรือพยุงเราให้ไปสู่จุดประสงค์ที่เราต้องการแล้ว เห็นจะไม่มีวันที่เราจะถึงแดนแห่งความสมหวังได้
เพราะหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสไว้โดยชัดเจนแล้วว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ซึ่งแปลเนื้อความว่า บุคคลย่อมก้าวพ้นจากทุกข์ไปได้เพราะความขยันหมั่นเพียร ไม่ว่าทุกข์ทางโลกหรือทุกข์ในด้านธรรมนิยม ถ้าไม่มีความขยันหมั่นเพียรแล้วจะผ่านพ้นไปไม่ได้ วันไหนก็จะบ่นแต่ทุกข์แต่ยากลำบากเข็ญใจ ไร้ทรัพย์อับปัญญา ไม่มีความสามารถจะปกครองตนได้ สิ่งใดๆ ก็ฝืดเคืองไปเสียหมดในบุคคลผู้นั้น ที่อยู่ที่อาศัยปัจจัยเครื่องใช้สอยก็ขัดสนจนใจ ไม่มีสิ่งใดที่จะสนองในคราวจำเป็น นี่คือขาดความขยันหมั่นเพียร ผลต้องแสดงความฝืดเคืองให้เราเห็นทุกระยะไป เรื่องของทุกข์ที่ธรรมนิยมก็ได้แก่ ทุกขสัจ ที่มีประจำอยู่ด้วยกันทุกๆ ราย นี่ก็จะต้องพยายามฝ่าฝืนหรือก้าวล่วงไปได้ เพราะอำนาจแห่งความขยันหมั่นเพียรเหมือนกัน ไม่ใช่จะก้าวไปเอาเฉยๆ โดยไม่ต้องบำเพ็ญเหตุ ซึ่งมีความขยันหมั่นเพียรเป็นเครื่องหนุนหลัง
จิตนี้เป็นตัวพยศอันสำคัญ สัตว์พาหนะเรานำมาใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควรแก่กำลังของเขา ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรม ไม่เช่นนั้นก็ใช้การไม่ได้ จิตใจที่จะให้มีความดีความเด่น เป็นจิตที่มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว ใช้การใช้งานได้ทุกอย่าง ก็ต้องอาศัยการอบรมดัดแปลง ถ้าจะปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของใจจริงๆ แล้ว วันยังค่ำคืนยังรุ่งและตั้งกัปตั้งกัลป์ จะไม่มีวันไหนที่จิตใจจะเสาะแสวงหาความสุขมาให้เรา โดยที่เราไม่ได้ดัดแปลงอบรมเขาให้เป็นไปในทางที่ดี ดังนั้นการอบรมดัดแปลงตนเองจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับคนตกน้ำ ถ้าไม่เป็นหน้าที่ของตนเองซึ่งกำลังตกอยู่ในน้ำ พยายามแหวกว่ายตนเองให้ถึงที่ปลอดภัยแล้ว ผู้นั้นก็ต้องจมน้ำตายโดยไม่ต้องสงสัย
การตกน้ำไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย ต้องเป็นเรื่องถึงแก่ชีวิต ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นต้องถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับตัวเอง จะพยายามแหวกว่ายและช่วยตนเองจนหมดความสามารถ เรื่อง นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำคือความทะเยอทะยานของจิต ที่เป็นไปด้วยความลุ่มหลงอันไม่มีประมาณซึ่งล้อมรอบอยู่ภายในจิตใจนี้ ก็จัดว่าเป็นภัยอันสำคัญสำหรับผู้ที่มีความมุ่งหวังจะข้ามพ้นจากเขา เพื่อถึงแดนแห่งความเกษม จะพยายามแหวกว่ายตนเองโดยหวังพึ่งตนเองเต็มประโยคพยายาม แต่อาศัยครูอาจารย์เป็นผู้แนะนำพร่ำสอนชี้แนวทางให้ แล้วนำมาประกอบโดยลำพังตนเอง
การพิจารณาจิตให้รู้วิถีทางเดินของจิตที่เป็นไปอยู่ทั้งวันทั้งคืนโดยละเอียด ต้องอาศัยความเสาะแสวง หรือความสอดส่องมองดูเรื่องของตนที่จะเคลื่อนไหวไปทางใด ดีก็พยายามให้ทราบ ทำความเข้าใจกับเรื่องดีที่เกิดขึ้นจากตน จะเป็นเรื่องชั่วก็พยายามทำความเข้าใจกับเรื่องชั่วว่าเกิดขึ้นจากที่ไหน และผู้ใดเป็นผู้ชั่ว ผู้ใดเป็นผู้จะสามารถทราบเรื่องความชั่วที่เกิดขึ้น และผู้ใดจะเป็นผู้ถอดถอนความชั่วนั้นออกจากตนได้ด้วยวิธีใด ต้องทำการสอดรู้อยู่เช่นนี้
กิเลสตัณหาอาสวะที่เราถือว่าเป็นภัยนั้น ไม่ใช่ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาปรุงแต่งหรือสั่งสมขึ้นมาเพื่อเรา แต่เป็นเรื่องความเผอเรอของเรา หรือความไม่รอบคอบของเราต่างหาก ที่ทำการสั่งสมสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาโดยเจ้าตัวไม่รู้ เมื่อปรากฏผลขึ้นมาจึงเป็นที่ไม่พอใจ และเกิดความทุกข์ไม่พึงปรารถนาในสิ่งนี้ แล้วก็เป็นเหตุให้เพิ่มทุกข์ขึ้นมาเป็นลำดับ อุบายวิธีที่จะทราบเรื่องของตัวเองได้โดยชัดเจน จึงต้องอาศัยหลักของความเพียรเป็นเครื่องหนุนสติปัญญา สอดส่องมองรู้เรื่องของตัวเองที่จะเคลื่อนไหวไปทางใดบ้าง เพราะเรื่องของจิตแล้วจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องเสาะแสวงหาตามหน้าที่ของเขาที่มีสิ่งบังคับให้ผลักดันออกมา
ถ้าเราจะแยกออกมาพิจารณาทางธาตุขันธ์ ธาตุอันใดขันธ์อันใดที่มีอยู่ในโลกธาตุอันนี้ จะเป็นธาตุขันธ์ที่ไม่มีความแปรความสลาย ซึ่งพอจะถือเอาว่าเป็นตนหรือเป็นของตนได้ และพอที่จะทำความไว้วางใจได้กับสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มี พิจารณาดูวิถีของใจที่คิดกลับไปกลับมาย้อนหน้าย้อนหลังทั้งกลางวันกลางคืน ก็มีตั้งแต่เรื่องมายาทั้งนั้น เมื่อเรายังไม่ทราบกลมายาของเขาตราบใด เราก็พลอยจะได้รับความดีใจเสียใจสับสนปนเปกันอยู่เช่นนี้ตลอดไป แต่เมื่ออาศัยสติปัญญาพินิจพิจารณาให้ทราบเรื่องความเป็นมายาของอาการของจิตที่แสดงอยู่เช่นนี้เป็นลำดับๆ ไปแล้ว เราจะทราบทั้งสถานที่เกิด ทั้งความเกี่ยวข้องของเขา ทั้งสิ่งที่จิตใจไปเกี่ยวข้องนั้นคืออะไร
เพราะตามธรรมดาแล้ว อารมณ์ที่จิตไปเกี่ยวข้องนั้นก็ดี ความเกี่ยวข้องของจิตก็ดีเป็นสภาพแต่ละอย่างๆ เท่านั้นตามธรรมชาติของเขา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะควรยึดถือ หรือทำความสำคัญว่านั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา ดีนั้นเป็นเรา ชั่วนั้นเป็นเรา ดีนั้นเป็นของเรา ชั่วนั้นเป็นของเรา มันเป็นของสลาย ของแปรสภาพด้วยกันทั้งสองอย่าง คือทั้งดีทั้งชั่ว สิ่งเหล่านี้ไม่มีความคงที่ มีการอาการแสดงและแปรสภาพเป็นลำดับๆ ไป ทุกๆ ขณะที่ปรากฏขึ้นมาต้องมีความแปรสภาพประจำตน จะเป็นที่ไว้ใจและเป็นที่ยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา หรือควรจะทำความดีใจเสียใจกับเขาได้ที่ตรงไหน เมื่อเราไปทำความดีใจเสียใจหรือติดใจกับสิ่งที่เป็นมายานี้ มายาฉากหลังก็จะแสดงขึ้นมาให้เราได้รับความทุกข์โดยเจ้าตัวไม่รู้อีกเหมือนกัน
ฉะนั้นการเรียนวิชารู้เรื่องของจิตนี้ จึงต้องอาศัยหลักสติหลักปัญญาตามที่พระองค์ท่านสอนไว้ จะคิดขึ้นมาแง่ไหน เป็นขึ้นมาอย่างไรภายในจิต เราต้องทราบเสมอว่านี่ก็คืออาการด้วยกันทั้งหมด ถ้าจะพูดว่าทาง ก็เหมือนกับทางที่เราจะก้าวไป เราไปที่ไหนๆ ต้องอาศัยหนทางไปก็จริง แต่ที่อาศัยทางไปนั้น ไปเพื่อจุดประสงค์ที่เรามุ่งหวังต่างหาก เราไม่ได้มุ่งจะกอบโกยเอาหนทางนั้นไปด้วย จะเป็นทางขรุขระหรือเป็นทางสะดวกทางราบรื่น จะเป็นแดดเป็นฝน เป็นร่มไม้ชายเขา ท่าน้ำ ศาลาที่ไหนก็ตาม เป็นที่พักที่อาศัยไปชั่วระยะกาลที่เราเดินทางเท่านั้น ไม่ใช่เป็นจุดที่เรามุ่งประสงค์ซึ่งควรจะนอนใจแล้วหยุดชะงักในการเดินทาง พักอยู่ที่นั่นเสีย โดยเข้าใจว่าตนถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
เรื่องทางทั้งหมดต้องเป็นเรื่องที่เราจะเดินและผ่านไปทั้งนั้นตามที่กล่าวมา อาการของจิตก็เช่นเดียวกัน มคฺโค ได้แก่ทางเดินของจิต จิตจะเดินไปกับอะไรถ้าไม่มีอารมณ์ดีชั่วเป็นเครื่องเดิน จิตจะรู้อะไรถ้าไม่รู้เรื่องดีเรื่องชั่วซึ่งเกิดกับจิตเสียเอง จิตจะหาความบริสุทธิ์ไม่ได้เมื่อไม่ทราบมลทินที่เคลือบแฝงอยู่ภายในตนเอง โดยแจ่มแจ้งหรือรอบคอบ สิ่งใดที่จิตได้พิจารณาจะเป็นดีหรือชั่ว จะเกี่ยวกับเรื่องอดีตอนาคต ต้องถือว่าเป็นเรื่องทางเดินของจิตที่จะต้องผ่านไปโดยไม่มีความเยื่อใยกับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว และไม่มีการเอื้อมไปในสิ่งที่ยังไม่มาถึง ทั้งจะต้องรู้ในขณะที่อาการของจิตปรากฏขึ้นมา เป็นลักษณะใดในปัจจุบัน
เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็มีทางที่จะทราบทั้งทางขรุขระและทางสะดวก ซึ่งเป็นไปกับจิตของเราในขณะที่กำลังบำเพ็ญหรือพิจารณาอยู่ ดีเกิดขึ้นก็ขอให้รู้ ทำความรู้เรื่องกับเรื่องความดีที่ปรากฏขึ้นมา และทำความเข้าใจรู้เรื่องกัน แต่นี้ได้ยึดถือว่าดีนี้เป็นเรา จนถึงกับว่าจะเกิดความนอนใจหรือดีใจ ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องความทุกข์ขึ้นมาในเมื่อสิ่งเหล่านั้นแปรปรวน พูดง่ายๆ ก็คือว่า จะเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ปรากฏขึ้นมาในใจ ให้ทราบว่านี้คือทางขรุขระและทางสะดวก มีอยู่ในทางสายเดียวกันแต่ต่างระยะกันเท่านั้น ว่าอะไรจะเกิดก่อนเกิดหลัง เช่นเดียวกับเราเดินทาง อาจจะมีทางขรุขระหรือทางราบรื่น ซึ่งเราจะเดินผ่านไปนั้น ว่าจะอยู่ระยะข้างหน้าหรืออยู่ปัจจุบันที่เรากำลังเดินอยู่นี้ก็ได้
เรื่องของความดีความชั่วอาศัยอยู่กับจิตดวงเดียว แต่ต่างวาระที่จะแสดงตัวออกมาให้เรารู้ เราต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ของใจ ดีก็ทำความเข้าใจกับความดี แต่อย่าถือว่าดีนั้นเป็นเรา ชั่วก็ทำความเข้าใจกับชั่ว เศร้าหมองก็ทำความเข้าใจกับความเศร้าหมอง ว่าเป็นสภาพอันหนึ่งเช่นเดียวกับหนทาง ผ่องใสก็ทำความเข้าใจกับความผ่องใสนั้น ว่าเป็นเช่นเดียวกับทางราบรื่น แต่เราจะต้องผ่านไปด้วยกัน ไม่ว่าความเศร้าหมองความผ่องใสที่ปรากฏขึ้นกับตัวเอง ให้ทำความเข้าใจไปเสมอ
เรื่องของจิตแล้วจะแสดงอาการใดๆ ขึ้นมา ให้ทราบว่าเป็นเช่นเดียวกับหนทางทั้งนั้น แดดเราก็จะต้องไป ฝนตกเราก็จะต้องไป ร่มไม้เราก็อาศัยแต่จะไม่อยู่ เวลาร้อนก็ดื่มน้ำแต่ไม่หยุดเดินทาง มีศาลาตามระหว่างทางก็หยุดพักเวลาเมื่อยล้าแต่เราไม่อยู่ เพราะเข็มทิศเราไม่ได้มุ่งมาเพื่อจะอยู่ในสถานที่เหล่านี้ แต่มุ่งเพื่อจุดประสงค์ที่เราต้องการว่า จะไปถึงหมู่บ้านหรือสถานที่ใด ซึ่งควรจะหยุดตามความต้องการของตนที่มุ่งเอาไว้ หลักของการดำเนินทางด้านจิตใจก็เหมือนกันเช่นนั้น เรื่องของสุขของทุกข์ ของดีของชั่ว เรื่องความเศร้าหมองผ่องใส จะต้องเป็นหน้าที่ของผู้เดินทางจะต้องประสบด้วยกัน และต้องรู้เรื่องและผ่านไปด้วยกัน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะถือเอาด้วยกันทั้งนั้น ผู้นั้นต้องเดินไปเสมอ คือได้แก่การพิจารณาไปเสมอไม่ลดละ ทุกๆ สิ่งที่ปรากฏขึ้นภายในใจ ต้องทำการพิจารณาให้รู้เรื่องของกันและกันแล้วผ่านไปเป็นลำดับๆ จนถึงจุดหมายปลายทางอันหมดความหมายในสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับบุคคลที่ถึงจุดหมายที่ตนประสงค์แล้ว หมดความหมายในหนทาง จะเป็นราบรื่นหรือขรุขระก็ตามฉะนั้น
วิธีดำเนินจิต เราต้องทำความเข้าใจกับจิตของเรา ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจกับจิตแล้ว ก็ชื่อว่าเราทำความเข้าใจกับเราไม่ถูกต้อง จะต้องประสบแต่เรื่องที่ไม่พึงปรารถนาเสมอไปทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ แต่เราไม่รอบคอบในความไม่ต้องการของเราว่า จะแก้ไขหรือปรับปรุงตนโดยวิธีใดจึงจะเป็นไปเพื่อความสมหวัง จิตจะมีอะไรแสดงเราไม่ต้องท้อใจ ทำความอาจหาญร่าเริงต่อสิ่งที่จะมาสัมผัสเสมอ และทำความพอใจในการที่จะพิจารณาให้รู้เรื่องของสิ่งนั้นๆ ด้วยปัญญาของเราเสมอ เรื่องการก้าวไปข้างหน้านั้นไม่ต้องสงสัย ถ้าหากสติกับปัญญาได้พิจารณาสิ่งที่มาสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับจิตใจของเราอยู่เสมอๆ แล้ว ต้องเป็นการก้าวไปอยู่เช่นนั้น ไม่มีอันใดที่จะกีดขวางสติปัญญาซึ่งเป็นการก้าวไปของเรานี้ได้
เพราะสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดที่เรียกว่าอาการของจิต หรือสิ่งที่มาแสดงกับจิตนี้ เป็นเรื่องของสมมุติที่จะก่อความกังวลให้เราได้ถือเป็นภาระทั้งนั้น การพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้รู้ชอบด้วยปัญญานั้น เป็นการถอดถอนหรือผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้เป็นลำดับๆ จนไม่มีอะไรที่จะเหลืออยู่และมาแสดงตัวให้เป็นกลมายาเหมือนอย่างที่เคยเป็นมานั่นเลย จะชื่อว่าเป็นผู้หมดปัญหา หรือเดินรอบโลกเห็นโลกโดยทั่วถึง โลกที่โลกทั้งหลายสมมุตินั้น นั่นเป็นโลกนอกไม่ใช่โลกวัฏวน เพราะไม่ยังทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใด แต่โลกที่แท้จริงซึ่งเรากำลังเดินเพื่อจะรู้รอบอยู่นี้ นี้คือโลกวัฏวน ถ้าเราหลงแล้วต้องรุ่มร้อน ต้องได้รับกองทุกข์เพราะโลกวัฏวนอันนี้ โลกอันนี้เป็นโลกสำคัญ
ผู้จะเดินทางให้ข้ามโลก หรือให้เป็น โลกวิทู รู้ทั่วถึงซึ่งโลก ต้องรู้ทั่วถึงเรื่องหัวใจของตัวเอง เรื่องหัวใจของตัวเองมีอะไรบ้างแสดงออกมา ในวันหนึ่งๆ มีอะไรบ้าง เราต้องทำความเข้าใจหรือพิจารณาจนรู้เรื่องของสิ่งต่างๆ ที่แสดงออกมาจากโลกในคือหัวใจของเรา เมื่อเราทำความเข้าใจหรือพิจารณากับโลกภายในคือหัวใจของเรานี้ เราต้องมีวันจะข้ามโลกสมมุติ โลกวัฏวน โลกอันเต็มไปด้วยกองทุกข์นี้ได้ในวันหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย ดังนั้นขอให้ทุกๆ ท่านโปรดได้ทำความเข้าใจกับโลกวัฏวนซึ่งพาหมุนไปเวียนมา อยู่กับหัวใจของเรา แต่เราไม่สามารถจะทราบเขาได้ เนื่องจากสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ของเรายังไม่แก่กล้า แต่อาศัยความขยันหมั่นเพียรที่ได้กล่าวไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ นี้เป็นหลักฐานหรือเครื่องดำเนินอยู่เสมอแล้ว เรื่องทุกข์ทั้งมวลจะต้องหมดไปจากหัวใจ โลกอันนี้จะไม่มีตั้งอยู่ที่หัวใจอีกต่อไป ใจนั้นจะเป็นใจที่หมดสมมุติ คือหมดเรื่องจากโลกความหมุนเวียนนี้ จะกลายเป็นวิวัฏฏะ หยุดการหมุน จะหมุนไปเกิดแก่เจ็บตาย หมุนไปในภพไหนๆ เป็นอันว่าหมดปัญหาในวิวัฏจิตดวงนี้ ด้วยอำนาจแห่งการพิจารณารอบคอบในโลกภายในของตัวเอง
นี่แหละพระพุทธเจ้าท่านพ้นจากโลก ที่ว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลก ก็หมายถึงโลกอันนี้เป็นอันดับหนึ่ง โลกภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องกับพระองค์ ซึ่งจะต้องแนะนำพร่ำสอนนั้น เป็นอีกโลกหนึ่งต่างหาก นั่นเป็นผลพลอยได้จากโลกใน ได้แก่โลกวิทู ที่รู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นมา ความเป็นอยู่และความจะเป็นไปแห่งหัวใจของพระองค์ท่าน โลกนี้เป็นโลกสำคัญ เราก็โปรดได้พิจารณาให้รู้เรื่องโลกนี้ของเราจะเป็นผู้เรียนจบ
เรื่องเกิดแก่เจ็บตายนั้นเป็นมาด้วยกันทุกคน แต่เรียนไม่จบ จึงต้องเรียนซ้ำๆ ซากๆ เกิดแก่เจ็บตายอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ไม่มีใครจะยิ่งหย่อนกว่ากันในเรื่องการเกิดการตาย ความทุกข์ความลำบาก เพราะเรียนโลกไม่จบ ถ้าเรียนจบแล้วก็กลายเป็นวิมุตติหลุดพ้นจากเครื่องกดถ่วงจิตใจและกองทุกข์ทั้งหลายได้ ไม่ต้องกลับมาหมุนเวียนเกิดๆ ตายๆ กับโลกกองทุกข์นี้อีกต่อไป
ดังนั้นในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ จึงขออำนาจคุณพระรัตนตรัยตามคุ้มครองท่านทั้งหลาย ให้ได้มีความสุขกายสบายใจ และบำเพ็ญตนด้วยความสะดวกและสมหวังโดยทั่วหน้ากันทุกๆ ท่านเทอญ
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |