เทศน์อบรมคณะมล.จิตติ นพวงศ์ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๘
ใจมีอายุยืนนานจนไม่สามารถคำนวณได้
การฟังธรรมโปรดทำจิตให้สบาย ทำความรู้สึกไว้จำเพาะใจ ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เข้ากับผู้ใด จึงเรียกว่าธรรม คือความคงที่อยู่ตามสภาพของธรรม ผู้มุ่งความเจริญรุ่งเรืองในตัวเอง จึงต้องอาศัยหลักธรรมที่เป็นของคงที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ หากจะเอาตามความรู้สึกความนึกคิดของตนเองเป็นบาทฐาน หรือเป็นแนวทางเดินแล้ว ทางของจิตนี้มีมากเหลือประมาณ ที่จะคิดแต่ละสิ่งละอย่างในวันหนึ่งๆ คิดไปได้มากมาย จึงหาประมาณไม่ได้ สำหรับผู้จะถือเอาความคิดของจิตมาเป็นแบบฉบับเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเองนั้น หากไม่อาศัยหลักธรรมะซึ่งเป็นของคงที่เป็นแบบฉบับแล้ว ไม่ว่าทางโลกและทางธรรม ย่อมจะเป็นไปด้วยความฝืดเคืองไม่สะดวก
การที่เราทุกๆ ท่านได้อุตส่าห์มาจากสถานที่ไกล สละทั้งเวล่ำเวลา ทรัพย์สมบัติอันมีค่า ตลอดชีวิตจิตใจของตน ได้พลีชีพไว้เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งนี้ ผู้แสดงจึงขออนุโมทนาขอบคุณท่านทั้งหลายทุกๆ ท่าน ไม่ว่าท่านที่เป็นนักบวชและผู้เป็นอุบาสิกา นี่ชื่อว่ามาแสวงหาคุณธรรมที่เรียกว่าทรัพย์ภายใน อันเป็นสมบัติของใจโดยตรง หน้าที่ทางกิจบ้านการเรือนของเราได้ดำเนินมาพอสมควร รู้เรื่องการได้การเสียและความหนักเบาของแต่ละสิ่งๆ ที่เราได้ผ่านมาเป็นประจำ และผู้ที่จะพาดำเนินในกิจการงานนั้นๆ ก็มีจำนวนมาก ไม่พอจะทำให้เรามีความพลั้งพลาดต่อกิจการงานที่ตนทำ
แต่การดำเนินทางด้านธรรมะเพื่อสมบัติภายในใจของตนนั้น เป็นสิ่งที่แปลกจากกิจการทางโลกอยู่บ้าง เนื่องจากทางด้านธรรมะ บางอย่างก็มองเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู แต่คาดคะเนไม่ค่อยถูก ธรรมะบางประเภท เราไม่อาจจะหยั่งทราบความลึกตื้นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ฉะนั้นจึงต้องอาศัยครูอาจารย์ผู้ที่จะแนะนำสั่งสอนเรา เพื่อให้ดำเนินถูกตามวิถีทางเดินของพระพุทธเจ้า และสวากขาตธรรมที่ทรงตรัสไว้ เฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินทางด้านจิตใจโดยเฉพาะ ได้แก่ความสงบเยือกเย็นใจ ด้วยวิธีฝึกฝนอบรมต่างๆ นั้น จึงเป็นของยากอยู่บ้างสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอบรมมาก่อน
แม้ผู้อบรมมาบ้างแล้ว แต่ธรรมะหรือความรู้สึกของใจ ย่อมมีความละเอียดเป็นลำดับๆ ไป ธรรมะที่มีความเกี่ยวเนื่องกับจิตใจก็ย่อมมีความละเอียดไปเช่นเดียวกัน แม้สิ่งแวดล้อมที่เป็นข้าศึกต่อด้านธรรมะก็มีความละเอียดไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการยากลำบากเป็นธรรมดา จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่เรียกว่าสิ้นเรื่องราวทั้งหลายแล้วนั้นแล จะมีความอยู่เย็นเป็นสุขทางด้านจิตใจ ไม่มีสิ่งใดจะมาเกี่ยวข้องพัวพันให้จิตใจได้รับความลำบากรำคาญหรือเอนเอียงไปตามสิ่งต่างๆ ตามที่เคยเป็นมา
เรื่องทรัพย์ภายในที่กล่าวเบื้องต้นนั้น หมายถึงคุณงามความดีซึ่งเป็นสมบัติของใจโดยเฉพาะ คุณงามความดีนี้หมายถึงความสุขความเจริญภายในใจ ผู้ที่ได้รับการอบรมจนเห็นผลประจักษ์ในสมบัติภายใน ที่ปรากฏอยู่กับใจของตนเองโดยเฉพาะแล้ว ท่านผู้นั้นจะอยู่ที่ไหนก็มีความสบาย แต่วิธีการที่จะอบรมให้เป็นไปเพื่อธรรมเช่นนั้น ต้องอาศัยการบังคับบัญชาตนเอง เราอย่าให้กิเลสซึ่งเคยเป็นข้าศึกต่อเรามาแล้ว และเคยทำการกีดขวางการดำเนินของเราเข้ามาแทรกภายในจิตใจในขณะที่เราจะทำ คือการอบรมจิตใจในเวลานั้นๆ แม้จะมีความยากความลำบากในการบำเพ็ญ เราอย่าได้ถือความยากความลำบากนั้นว่าเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือการฝ่าฝืนของเรา
เพราะพระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาของพวกเรา ไม่เคยได้บรรลุคุณงามความดีเป็นลำดับด้วยความท้อแท้อ่อนแอ หรือความท้อถอยต่อหน้าที่การงานที่ชอบของพระองค์ท่าน มีความขยันหมั่นเพียรพยายามอยู่เสมอ ความพยายามนั้นแลเป็นทางที่จะให้เพิ่มพูนคุณงามความดี มีกำลังทั้งด้านความสงบเยือกเย็น มีกำลังทั้งด้านปัญญา ที่จะสามารถพินิจพิจารณาสิ่งที่เป็นข้อข้องใจของเรามานานให้หมดสิ้นไปได้เป็นลำดับ แต่สถานที่บำเพ็ญนั้นแยกกันตามประเภท สำหรับนักบวชแล้วพระองค์ท่านสอนให้หาที่สงัดวิเวกเป็นสถานที่สำคัญ ฉะนั้นการบวชเบื้องต้นจึงต้องสอนถึงเรื่อง รุกฺขมูลเสนาสนํ หมายถึงความสงัด
ผู้ที่มุ่งหน้าเข้ามาเป็นศิษย์ของพระตถาคต ย่อมมีความยินดีในสถานที่ที่พระองค์ท่านตรัสสอนไว้ มีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบาย มีความมักน้อย ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกับปัจจัยทั้งหลาย สถานที่ใดเป็นสถานที่จะให้ความสงัดวิเวก และการบำเพ็ญจิตใจด้วยความสะดวก ไม่เกี่ยวข้องกังวลกับการงานซึ่งเป็นสิ่งก่อกวน และสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่จะให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนิน สถานที่เช่นนั้น บรรดาท่านที่เป็นศากยบุตรย่อมมีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้า และแสวงหาที่เช่นนั้นเป็นที่บำเพ็ญ เป็นที่อยู่ ให้มีความสะดวกทั้งกลางวันและกลางคืน
จิตเมื่อไม่มีสิ่งก่อกวน มีแต่การส่งเสริมอบรมตนเอง ให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกตามสวากขาตธรรมแล้ว ย่อมจะแสดงความแปลกประหลาดและความอัศจรรย์ขึ้นมาเป็นขั้นๆ เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นแห่งความสงบ ซึ่งนับตั้งแต่วันเกิดมาไม่เคยปรากฏว่า จิตที่มีความสงบนั้นเป็นเช่นไร แต่เมื่อได้อาศัยสถานที่เหมาะสมและการบำเพ็ญเพียรเป็นไปโดยลำดับไม่ขาดวรรคขาดตอน ตามหน้าที่ของพระซึ่งไม่มีกิจการงานมากแล้ว จิตใจก็ย่อมได้รับความสงบเข้ามาเป็นขั้นๆ ความสงบมีมากเท่าไร เรื่องความสุขซึ่งเป็นผลอันเกิดขึ้นจากความสงบนั้นก็แสดงตัวขึ้นมา โดยไม่มีใครบังคับบัญชาให้ปรากฏขึ้น นอกจากหลักของเหตุคือการบำเพ็ญเท่านั้น จะเป็นเครื่องผลิตผลคือความสุขความสบายขึ้นมา
ครั้งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ท่านทรงบำเพ็ญ ท่านก็บำเพ็ญอย่างนั้น บรรดาสาวกที่ดำเนินตามพระองค์ท่านก็ดำเนินมาเช่นนั้น การปกครองก็รู้สึกว่าง่าย ไม่ได้ปกครองยาก เพราะเป็นผู้มีใจหนักแน่นในธรรมที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ถือพระธรรมคือหลักเหตุผลถูกต้องเป็นใหญ่ ผู้ใหญ่กับผู้น้อย ผู้มีอายุพรรษามากกับผู้มีอายุพรรษาน้อย ผู้มีชาติชั้นวรรณะสูงกับผู้มีชาติชั้นวรรณะต่ำ อยู่ด้วยกันด้วยความสะดวกสบาย เช่นเดียวกันกับอวัยวะทั้งหมดซึ่งเป็นสมบัติของเราผู้เดียว ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันในส่วนแห่งอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งว่าไม่ลงรอยกัน เพราะเหตุแห่งความรู้สึกของอวัยวะนั้นๆ ว่า อวัยวะนี้เป็นส่วนต่ำนั้นเป็นส่วนสูง นี้เป็นส่วนข้างหน้าข้างหลัง ไม่ลงรอยกันเช่นนี้ไม่มีในอวัยวะของบุคคลผู้หนึ่งๆ เพราะสรุปความลงแล้วก็คืออวัยวะของตนคนเดียว
เรื่องหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้แทรกสิงเข้าในจิตใจของท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นย่อมเห็นหมู่เพื่อนหรือชาวโลกด้วยกันเป็นเช่นเดียวกับอวัยวะของตน จะมาจากทิศใดแดนใด ชาติใดภาษาใด เมื่อมีหลักธรรมเป็นที่ตั้งเป็นเข็มทิศเครื่องดำเนินแล้ว บรรดาสาวกทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมมีความจงรักภักดี หรือความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สนิทสนมยิ่งกว่าลูกพ่อเดียวแม่เดียวกันเสียอีก เพราะมีธรรมเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นธรรมะจึงเป็นของสำคัญที่จะซักฟอกสิ่งที่แทรกสิงอยู่ภายในใจ อันเป็นเหตุให้ก่อความไม่สะดวกกายไม่สบายใจของตนออกได้เป็นลำดับๆ
เมื่อบรรดาสาวกทั้งหลายต่างท่านก็มีธรรมเป็นที่ตั้งเช่นเดียวกัน และต่างก็บำเพ็ญในหน้าที่เพื่อการถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ใจของตนเช่นเดียวกันแล้ว ท่านอยู่ที่ไหนท่านก็ได้รับความสะดวกกายสบายใจ มีมากมีน้อยในปัจจัยทั้งสี่ไม่เป็นการรำคาญ ไม่มีความอิดหนาระอาใจ ไม่มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมต่อสถานที่และบุคคล ตลอดปัจจัยทั่วๆ ไป มีแต่หน้าที่ที่จะบำเพ็ญจิตใจของตนให้มีกำลังขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีข้อข้องใจเกิดขึ้นซึ่งตนไม่สามารถจะแก้ไขได้โดยลำพังตนเอง ก็รีบเข้าเฝ้าและทูลถามองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามสิ่งที่ขัดข้องซึ่งปรากฏขึ้นภายในใจของตนให้พระองค์ท่านทราบ เมื่อได้รับคำชี้แจงจากพระองค์ท่านเป็นที่พอใจแล้ว ก็รีบปลีกตัวเข้าหาความสงบสงัดบำเพ็ญตนไปเป็นลำดับ ทำเช่นนี้อยู่เสมอ
วันคืนปีเดือนของสาวกทั้งหลาย ผู้มีความมุ่งหน้าต่ออรรถธรรมอย่างแรงกล้าเช่นนั้น ไม่ค่อยจะมีความหมายเท่าไรนัก ว่าวันนั้นดีวันนี้ไม่ดี ปีนั้นกว้างหรือปีนี้แคบ อะไรทำนองนี้ นอกจากจะเห็นว่าชีวิตจิตใจนี้เป็นของเล็กน้อย คอยที่จะเสื่อมสูญอันตรธานไป ตลอดสรรพางค์ร่างกายที่เป็นอยู่ด้วยอาหารปัจจัยทุกวันนี้ ก็ย่อมจะมีความแปรปรวนไปอยู่ตลอดเวลา เหตุใดเราจะมัวประมาทในชีวิตจิตใจหรือสังขารร่างกายเหล่านี้อยู่ จะไม่ทันการตามเสด็จองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยิ่งจะมีความรีบเร่งในความพากความเพียร จนเห็นผลประจักษ์ทั้งด้านสมาธิ ที่เป็นฐานซึ่งจะเป็นเครื่องรับรองปัญญาได้โดยพร้อมมูล
เมื่อได้ก้าวออกจากสมาธิคือความสงบใจ ก็รีบเร่งขวนขวายพินิจพิจารณาให้รู้ทั้งสภาวธรรมภายนอกที่มีอยู่รอบด้านและมีอยู่ตลอดกาล ทั้งสภาวธรรมภายใน ได้แก่กายกับใจของตนเอง ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องและเกิดเรื่องกันอยู่ตลอดเวลานี้ ให้เห็นชัดตามเป็นจริงตามสภาพของแต่ละสิ่งๆ ที่ทำการเกี่ยวข้องกันอยู่ จะแสดงอาการแปรปรวนขึ้นในส่วนร่างกายหรือในส่วนจิตใจส่วนใดอาการใด ปัญญาซึ่งคอยพินิจพิจารณาตามสภาพความเคลื่อนไหวที่เป็นไปอยู่ตลอดเวลานั้น ก็ย่อมมีความชำนิชำนาญ สามารถรู้รอบได้ทั้งภายนอกและภายใน ด้วยอำนาจของความเพียรที่สัมปยุตด้วยสติและปัญญา มีความเพียรเป็นเครื่องหนุน ความเพียรนั้นหมายถึงความพยายาม ผลที่ปรากฏก็ย่อมจะแสดงตัวขึ้นมาเป็นลำดับๆ
อยู่ที่ไหนก็มีแต่ธรรมเครื่องพร่ำสอนตนเองอยู่ตลอดเวลา แม้ที่สุดใบไม้ร่วงลงมาก็เป็นธรรมเทศนา เดินไปตามถนนหนทางเห็นกิ่งไม้สดไม้แห้ง เห็นถนนหนทางที่ปลีกที่แวะที่คดที่โค้ง ก็นำมาเป็นธรรมเทศนาเครื่องพร่ำสอนตนเองทั้งนั้น จิตคิดออกวาระใดเกี่ยวกับเรื่องอะไร เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องตัวเองหรือเรื่องคนอื่น เรื่องของปัญญาย่อมตามสอดรู้ได้ทันท่วงที กิเลสซึ่งหมักหมมอยู่ภายในจิตใจแม้จะมีมาเป็นเวลานานก็ตาม เมื่ออำนาจของปัญญาที่ทำการขุดค้นหรือพินิจพิจารณาอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ได้ดำเนินอยู่ภายในกายภายในจิตของตน กิเลสเหล่านั้นก็ย่อมจะหลุดลอยออกไปได้เป็นลำดับๆ เห็นทางพ้นทุกข์ประจักษ์กับใจ
คำว่าเห็นทางพ้นทุกข์ประจักษ์ใจนั้น หมายถึง ความถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ใจของตนออกได้เป็นลำดับๆ ด้วยการพิจารณา ความเป็นมาของใจที่ให้นามว่านักท่องเที่ยวในวัฏสงสารก็ทราบชัดมาเป็นลำดับๆ เรื่องการเกิดเป็นอัตภาพร่างกาย จะเป็นสัตว์ก็ดี เป็นบุคคลก็ดี จะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นชาติชั้นวรรณะใดก็ดี ปัญญาย่อมทราบสาเหตุแห่งความเกิดเหล่านี้ทั้งหมดเพราะการพิจารณา และสิ่งที่จะให้ก่อกำเนิดเกิดไปในกาลข้างหน้าไม่มีเวลาจบสิ้นนั้น ก็สามารถจะรู้กันได้ภายในจิตใจ เพราะตัวเชื้อที่สำคัญซึ่งจะก่อตัวเป็นอดีตขึ้นมาก็ดี จะก่อตัวไปทางอนาคตก็ดี ย่อมเกิดขึ้นจากหลักปัจจุบันซึ่งกำหนดพิจารณาและรู้กันอยู่เวลานี้ ฉะนั้นการขุดค้นเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องกิเลสตัณหาอันเป็นเชื้อแห่งภพแห่งชาติ ท่านจึงไม่มีการหยุดยั้ง ขุดค้นลงที่จิตใจของตนอยู่เสมอ
เพราะตัวเรื่องสำคัญก็คือเรื่องของใจ คำว่าเกิดเป็นรูปเป็นกายนั้นเป็นผลเกิดขึ้นมาจากสาเหตุ คือเรื่องของกิเลสที่แทรกสิงอยู่ภายในใจนั้นเองเป็นเชื้อ เมื่อได้พิจารณาให้รอบคอบด้วยปัญญาจนสามารถแยกออกได้ เห็นชัดเจนตามอาการ ไม่ว่าอาการของขันธ์จะแสดงตัวออกมา หรือมีอยู่ตามปรกติของตน เช่น รูปขันธ์ ไม่ว่าเวทนาที่จะเกิดขึ้นภายในกาย หรือจะเกิดขึ้นภายในจิตเสียเอง ไม่ว่าสัญญาจะหมายไปทางอดีตอนาคต หมายไปทางดีทางชั่ว ปัญญาย่อมรู้เท่าทัน ไม่ว่าสังขารจะคิดจะปรุงเรื่องใดๆ เป็นเรื่องที่ส่อแสดงออกมาจากธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นเครื่องผลักดันออกมาทั้งนั้น
จนปัญญาได้ทราบชัดทั้งอาการเหล่านี้ด้วย ทั้งฐานสำคัญที่เป็นที่เกิดขึ้น และผลักดันอาการเหล่านี้ให้แสดงตัวออกมาด้วย พร้อมทั้งการรู้เท่าทัน และถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายเหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิง นั่นท่านเรียกว่าท่านผู้ตัดภพตัดชาติ ได้แก่ตัดเชื้อแห่งความเกิดภายในจิตใจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อตัดเชื้อเหล่านี้ได้แล้ว อยู่ที่ไหนก็ทราบชัดว่าภพไม่มีในตน คือทราบชัดว่าภพไม่มีในใจ เรื่องภพก็คือเรื่องของกิเลสนั้นเองไม่ใช่เรื่องอื่นใด ชาตินั้นเป็นผลของภพ คือปรากฏตัวขึ้นมาเป็นรูปเป็นกายเหล่านี้เป็นต้น ท่านเรียกว่าชาติ ส่วนภพนั้นเป็นสิ่งที่สั่งสมไว้ภายในใจ เมื่อติดแล้วก็ต้องเป็นภพ เมื่อแก้ได้แล้วภพก็หมดภายในจิต ชาติก็ไม่มีที่ต่อ
ท่านกล่าวไว้ในครั้งพุทธกาลว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ เสร็จกิจในพรหมจรรย์ หรือเสร็จกิจในพระศาสนา กิจที่ควรจะทำได้แก่การถอดถอนกิเลสอาสวะด้วยความเพียรนั้น ได้ถอดถอนโดยสิ้นเชิงแล้ว นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี เมื่อถึงจุดนี้แล้วท่านให้นามว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสงบประเภทที่สิ้นเรื่องทั้งหลายนี้ เป็นความสงบตายตัว เป็นความสงบโดยไม่มีอะไรมาส่งเสริมให้สงบ ความเป็นจิตที่เป็นสมาธิยังมีเครื่องส่งเสริมให้เป็นสมาธิ แต่ความสงบในหลักธรรมชาติที่หมดเชื้อทั้งหลายเหล่านี้ ท่านให้ชื่อว่า สันติโดยสมบูรณ์ จะยิ่งกว่านั้นอีกก็ไม่ใช่สันติ จะหย่อนกว่านั้นอีกก็ไม่ใช่สันติ
เพราะฉะนั้นคำว่าดีก็ดี คำว่าชั่วก็ดี ซึ่งเป็นธรรมที่จะทำสันตินั้นให้มีความกระเพื่อม จึงไม่มีในสันตินั้นเลย นี่เป็นสันติที่ตายตัว เมื่อสันตินี้ได้ปรากฏขึ้นแล้ว ไม่ว่ากาลใดสมัยใดจะไม่ละความเป็นสันติ คงเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา นี่ท่านเรียกว่าผู้พอดี มีความสม่ำเสมอในจิตใจของตน และเห็นความเสมอภาคในสภาวธรรมทั้งหลายทั่วๆ ไป ดีก็เห็นว่าดีแต่ไม่ละสันติในหลักธรรมชาติของตน ชั่วก็เห็นว่าชั่วตามสิ่งที่เป็นไปในทางดีและชั่ว แต่ไม่นำมาเพิ่มเข้าในสันตินี้ให้เป็นความกระเพื่อมขึ้นมา นี่ท่านจึงเรียกว่าสันติ สันติในหลักธรรมชาติเป็นเช่นนี้
เราทุกๆ ท่านที่ได้ยินได้ฟังมาเป็นเวลานานก็ดี หรือได้ฟังอยู่ในขณะนี้ก็ดีในคำที่ว่าสันติ โปรดได้ทราบว่าสันติที่กล่าวนี้มีอยู่กับความรู้สึกของเราซึ่งรับรู้อยู่เวลานี้ เป็นแต่เพียงว่าสันตินี้ยังไม่ได้รับการอบรมให้เพียงพอแก่ตัวเองเท่านั้น จึงเป็นสันติที่ทรงตัวโดยสมบูรณ์ไม่ได้ จึงต้องอาศัยการประคับประคองจากความพากความเพียร หรือจากการอบรมกับครูกับอาจารย์เป็นเครื่องพร่ำสอนอยู่เสมอ คอยพยายามบำรุงส่งเสริมจิตใจของตนให้เป็นไปในทางคุณงามความดี จิตก็จะมีกำลังไปโดยลำดับ เมื่อมีกำลังเต็มที่แล้ว สันติที่กล่าวมาตะกี้นี้จะไม่มีครูสอนกันเลย แม้พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาของโลกที่ให้นามว่า เป็นผู้สอนของสัตว์ทั่วๆ ไปก็ตาม พระองค์จะไม่ต้องมาสอนในคำว่าสันติของท่านผู้ประจักษ์กับใจโดยสมบูรณ์แล้ว นี่ท่านเรียกว่าเป็น สนฺทิฏฺฐิโก โดยสมบูรณ์
ใจเมื่อถึงขั้นสันติโดยสมบูรณ์แล้วนั้น จะหมดภาระโดยประการทั้งปวงที่เกี่ยวกับใจ เราจะไม่ต้องระวังว่า ใจนี้เมื่อได้ถูกกระทบหรือสัมผัสกับสิ่งดีหรือชั่วที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ว่าจะกำเริบเช่นนั้นๆ อย่างนี้จะไม่มี นี่แลท่านเรียกว่าหมดภาระ ส่วนธาตุขันธ์ซึ่งเป็นเรื่องของเราจะต้องรับผิดชอบนั้น ก็เป็นเรื่องของสันติผู้เป็นเจ้าของนั้นจะเป็นภาระดูแลรักษาตัวเอง ทั้งรู้จักประมาณปฏิบัติต่อธาตุขันธ์โดยถูกต้อง ท่านผู้มีสันติอันสมบูรณ์แล้วเช่นนี้ ชื่อว่าตัดแล้วซึ่งความกังวลอันยุ่งเหยิง หรือกองทุกข์ที่จะเป็นไปในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่ากองทุกข์ส่วนมากหรือส่วนน้อย เป็นอันว่าหมดปัญหาไปในขณะที่สันติอันสมบูรณ์นั้นปรากฏตัวขึ้นมา
เรื่องอดีตที่เป็นมาของตัวก็จะยกปัจจุบันนี้ขึ้นเป็นเครื่องพิสูจน์ และรู้ชัดกันในเวลานั้น ว่าเป็นมานานเท่าไรก็เพราะสันตินี้ยังไม่ได้ปลงตัวโดยสมบูรณ์นั่นเอง จึงต้องเอนไปทางโน้นเอนไปทางนี้ ความเอนไปเอนมาของจิตประเภทนี้เรียกว่าความไม่พอดี หรือความไม่เพียงพอของใจ ใจจึงต้องเสาะแสวงหาเครื่องบำรุง แต่เพราะความไม่รอบคอบในการแสวงหาของตน จึงประสบดีบ้างชั่วบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีใจบ้างเสียใจบ้าง เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา
ดังนั้นโปรดให้ท่านนักปฏิบัติ ซึ่งเป็นผู้สนใจในธรรมของพระพุทธเจ้า ได้นำไปบำเพ็ญตนเอง เรื่องความสุขความเจริญนั้นเราไม่ต้องคาดหมายเอาไว้ ขอแต่เรื่องของเหตุคือการบำเพ็ญของตนให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ หนักก็ไม่ลดละ จะเบาก็ต้องทำ เพราะถือว่าผลที่ตนปรารถนานั้นจะไม่ใช่สมบัติของใคร แต่เป็นเรื่องของเราที่จะเป็นเจ้าของของสมบัตินั้นๆ เมื่อเรามีความมุ่งหวังเช่นนี้ เหตุคือการบำเพ็ญก็ต้องถือว่าเป็นหน้าที่ของเรา
ความยากความลำบากเราอย่านำเข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตใจ จะเป็นข้าศึกต่อกันวันยังค่ำหาเวลาว่างไม่มี ไอ้เรื่องความว่างของดินฟ้าอากาศมื้อวันปีเดือนนั้นว่างอยู่ตลอดเวลา วันไหนวันไม่ว่างไม่มี คืนไหนคืนไม่ว่างไม่มี ปีใดเดือนใดไม่ว่างไม่มี เพราะไม่เคยได้ยินว่ามื้อวันปีเดือนไปเกิดเรื่องเกิดราว ทำความยุ่งเหยิงแก่กิจการงานหรือหน้าที่ต่างๆ ของสัตว์และบุคคล มื้อวันปีเดือนเป็นอยู่เช่นนี้ตั้งแต่กาลไหนๆ มา แต่เรื่องความยุ่งเหยิง ความทุกข์ความลำบากความขัดข้อง ความไม่มีโอกาส ไม่มีเวล่ำเวลา ความยุ่งความยากนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของมื้อวันปีเดือน แต่เป็นเรื่องของเราที่จะหาทางออก แต่กลับกลายเป็นหาเรื่องมาทับถมตนเองจนหาทางออกไม่ได้ วันไหนก็ไม่มีเวลา จะบำเพ็ญคุณงามความดีเพียงเล็กน้อย ก็นำอุปสรรคเข้ามากีดขวางเสีย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือไม่ว่างนั่นเอง
ความไม่ว่างนั้นมีสาเหตุอะไรทำให้ปรากฏขึ้นมาจึงไม่ว่าง เราควรจะพิสูจน์เรื่องความไม่ว่างของเรา เราเป็นผู้ต้องการความว่างอยู่แล้ว เหตุใดความไม่ว่างจึงมาขัดข้องกับเรา นอกจากเราจะเป็นผู้แสวงหาความไม่ว่างมาเป็นอุปสรรคแก่ตนเสียเองเท่านั้นไม่มีทางอื่น หรือไม่มีผู้อื่นใดจะมาทำความยุ่งเหยิงหรือขัดข้องให้เรา การเกิดเรื่องเกิดราวกันขึ้นถึงโรงถึงศาล เขายังมียุติกันได้ด้วยการตัดสินของผู้พิพากษา ไม่ศาลใดก็ต้องศาลหนึ่ง แต่การเกิดเรื่องเกิดราวกับความไม่ว่างของเรานี้ รู้สึกจะวันยังค่ำคืนยังรุ่งตลอดปีตลอดเดือนตลอดเวลา และทั่วๆ ไปไม่ว่าบุคคลใดชาติใดภาษาใด ถามใครมีแต่คนยุ่งคนยากคนไม่มีเวล่ำเวลาทั้งนั้น เพราะเรื่องของเราเป็นเรื่องที่ยุ่งเสียเอง นี่หลักสำคัญ
ฉะนั้นเราเป็นนักธรรมะ เป็นผู้จะสนใจประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อสิ่งใดมาเกี่ยวข้องหรือมาขัดข้องกับจิตใจของเรา เราต้องพิจารณากับสิ่งนั้นเสมอ แล้วเราจะเห็นช่องทางไปของเรา ถ้าเราจะพูดตามความไม่ว่างนี่แล้ว ก็ควรจะพูดถึงเรื่องการเกิดการตาย ความทุกข์ความลำบากของคนและสัตว์ทั่วๆ ไป ว่าความไม่ว่างเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในขณะที่เกิดก็ต้องว่าง ความเกิดจึงจะปรากฏตัวขึ้นมาได้ ในขณะที่จะทุกข์ก็ต้องว่าง ช่องว่างของทุกข์พอจะเกิดขึ้นมาได้ทุกข์จึงจะมีทางเกิด สาเหตุของทุกข์นั้นเองเป็นเรื่องของความว่างที่จะให้ทุกข์เกิดมา นอกจากนั้นถึงเวลาที่จะดับสลายลงไปแล้ว ไม่ว่าบุคคลไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์ มีตายได้เช่นเดียวกัน มันก็ว่างในตัวของมันเองมันจึงจะเป็นไปได้เช่นนั้น หากว่าไม่ว่างแล้วไม่มีใครจะเป็นเช่นนั้นได้เลย
เรื่องหัวใจของเราที่มีความไม่ว่างอยู่ตลอดเวลานี้ ก็เพราะมีโอกาสอันหนึ่งที่จะให้ความไม่ว่างได้แทรกสิงขึ้นมาภายในใจนั้น ใจนั้นจึงจะกลายเป็นความไม่ว่างขึ้นมาภายในตัวเอง แล้วเราจะหาความว่างได้เวลาไหนพอที่จะบำเพ็ญตนให้ได้รับความสุขความเจริญภายในจิตใจ เพราะใจนี้เป็นธรรมชาติที่มีคุณค่ามาก และมีอายุยืนนานที่สุด จนไม่สามารถจะคำนวณได้ว่า ชีวิตของจิตนี้กี่ปีกี่เดือน ส่วนที่เราคำนวณกันหรือคาดหมายกันได้นั้น เป็นเรื่องของธาตุขันธ์ต่างหาก ว่าคนนั้นมีอายุเท่านั้นปี คนนี้มีอายุเท่านั้นเดือน สัตว์ตัวนั้นมีอายุเท่านั้นปีเท่านั้นเดือน นี่คาดกันได้ด้วยเรื่องของธาตุขันธ์ที่เป็นส่วนผสมคุมกันเข้าแล้ว เรียกว่าสัตว์ว่าบุคคล ต้นไม้ภูเขา มีอายุยืนเท่านั้นๆ เรื่องของจิตแล้วไม่ปรากฏว่ามีอายุแค่ไหน กี่เดือนกี่ปีกี่วัน เป็นความรู้สึกอยู่เช่นนั้น ไม่ปรากฏว่าได้สูญสิ้นหรือสลายไปไหน เช่นเดียวกับธาตุทั้งหลายที่เป็นอยู่ปรากฏอยู่
ฉะนั้นจิตจึงเป็นของที่มีคุณค่ามาก ซึ่งควรจะได้รับการอบรมให้ถูกตามหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วยกตัวให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายนี้ไปเสียอย่างพระองค์ท่าน จิตนั้นก็จะเป็นจิตที่ประเสริฐเลิศโลกทั้งๆ ที่จะอยู่ในโลกนี้ก็ตาม หรือมีขันธ์กำลังครองตัวอยู่นี้ก็ตาม จิตที่ได้ผ่านพ้นจากอุปสรรคทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งความเพียรแล้ว จะเป็นจิตที่พ้นจากขันธ์ พ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวง
ไม่ว่าสุขไม่ว่าทุกข์ ท่านเรียกว่าสมมุติทั้งนั้น จิตที่พ้นจากเรื่องเหล่านี้แล้ว ท่านจึงให้ชื่อว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ จะเป็น สอุปาทิเสสนิพพาน คือรู้นิพพานในขณะที่ขันธ์ยังมีอยู่ก็ตาม จะเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน คือธาตุขันธ์ได้สลายลงไปแล้ว เหลือแต่ธรรมชาติล้วนๆ ก็ตาม ธรรมชาติทั้งสองนี้จะเป็นนิพพานเช่นเดียวกัน ไม่มีความแปลกต่างกันในจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะครองขันธ์อยู่หรือจะผ่านขันธ์ไปแล้ว จิตนั้นจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นอื่นไปได้ นอกจากเรื่องของขันธ์หรือธาตุที่มีส่วนผสมแตกกระจัดกระจายกันไปตามสภาพของเขาเท่านั้น
นี่ละที่เรียกว่าธรรมวิเศษของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้วิเศษ หรือบุคคลพิเศษ เพราะจิตพิเศษเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเหมือนจิตสามัญชนทั่วๆ ไปทั้งๆ ที่มีความรู้สึกอยู่ด้วยกัน ท่านให้ชื่อว่าจิตนี้เป็นวิสุทธิจิต เป็นจิตที่บริสุทธิ์ แม้จะอยู่กับโลกก็ไม่ใช่โลก จะอยู่กับสิ่งใดก็ไม่ใช่สิ่งนั้น แต่เป็นวิสุทธิธรรมอยู่เช่นนั้นโดยธรรมชาติของตน
ดังนั้นขอให้ทุกๆ ท่านได้มองดูเรื่องจิตใจของตน อย่าเห็นสิ่งใดว่ามีคุณค่ามากยิ่งกว่าใจ แต่การแสวงหาสมบัติที่จะเป็นประโยชน์แก่ธาตุขันธ์และจิตใจ ให้ได้รับความสะดวกสบายนั้น เป็นความชอบธรรมสำหรับโลกที่มีขันธ์ ใครจะนิ่งนอนอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องทำ แต่เราจะทำสิ่งใดขอให้มีความรอบคอบต่อสิ่งนั้น เพื่อนำมาเป็นเครื่องประดับจิตใจ อย่านำเข้ามาเป็นข้าศึกของใจ และเหยียบย่ำจิตใจให้ได้รับความชอกช้ำ หรือกลายเป็นบ๋อยของสิ่งเหล่านั้นไปเสีย ถ้าเป็นเช่นนั้นชื่อว่าใจนี้มีความโง่ต่อสิ่งทั้งหลาย ไม่สมกับสิ่งทั้งหลายเป็นสมบัติของใจ
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้
รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่
www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th
และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร
FM 103.25 MHz |