เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๒
ธรรมสถิตที่ใจ
ธรรมของพระพุทธเจ้าตั้งแต่พื้นๆ แห่งธรรมจนถึงวิสุทธิธรรม ธรรมเหล่านี้เราจะไปหาไปค้นที่ไหนไม่พบไม่เจอไม่มีทางสัมผัสได้ นอกจากใจดวงเดียวนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ธรรมกับใจจึงเป็นของคู่เคียงกันเป็นลำดับลำดาแห่งการปรับใจของตัวเองให้เหมาะกับธรรมขั้นนั้นๆ แล้วเราจะได้เห็นความแปลกประหลาดของธรรมที่สัมผัสใจและสถิตอยู่กับใจ เมื่อมาเป็นสมบัติของตนไปโดยลำดับลำดาแล้ว ธรรมท่านสอนลงที่ใจไม่สอนลงที่ไหน
โลกก็ดังที่พวกเราทั้งหลายได้รู้ได้เห็นอยู่นี้แล ว่ากว้างแสนกว้างหรือกว้างขนาดไหนไม่มีใครคำนวณได้ แต่ธรรมนั้นแม้จะกว้างจะละเอียดขนาดไหนก็ไม่มีที่ไหลลง ไม่มีที่จอดที่แวะ ไม่มีที่สถิต นอกจากใจเท่านั้นที่ธรรมจะเข้าสัมผัสสัมพันธ์ จะสถิตอยู่ได้ มีใจอันเดียว ในท่านใจเราใจสัตว์ใจบุคคลตามขั้นตามภูมิของใจของอุปนิสัย ธรรมจึงลงสู่จุดเดียวนี้ และมีธรรมชาติคือความรู้ ได้แก่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้นที่จะรับทราบธรรมทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนลงที่ใจๆ ในธรรมท่านก็บอกแล้วเป็นบาลีว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา คือสิ่งทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจ แม้ธรรมทั้งหลายก็รวมลงอยู่ที่ใจนี้ ท่านจึงสอนให้ชำระ
แต่เวลานี้ทำไมใจจึงไม่รู้ทั้งๆ ที่ธรรมมีอยู่ตั้งแต่กาลไหนๆ มา จนกำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้ว่าธรรมนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไร เช่นเดียวกับโลกมีมาแต่เมื่อไรนั่นเอง เราก็ยังทราบไม่ได้ เพราะจิตนี้รู้มันไม่ได้รู้เข้าสู่จุดแห่งธรรม จึงไม่ได้สัมผัสธรรม ไม่ได้รู้เพื่อจะสั่งสมธรรมให้เป็นคลังของธรรมให้เป็นที่สถิตของธรรม กลับตรงกันข้ามมันเสาะมันแสวงหาสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยเข้ามาสู่จิตใจ สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยก็คือสิ่งที่เป็นข้าศึกกับธรรม ในศัพท์ของศาสนาท่านให้ชื่อว่ากิเลส คำว่ากิเลสเพียงอย่างเดียวเท่านั้นก็กระเทือนไปหมดในความเป็นภัยแห่งธรรม หรือความเป็นภัยกับธรรมทั้งหลาย
ใจที่ไม่สามารถจะรับทราบธรรมตั้งแต่ขั้นพื้นๆ จนกระทั่งถึงวิสุทธิธรรมที่เป็นธรรมเหนือโลกสุดขีดสุดแดนของโลกไม่มีประมาณ ก็เพราะจิตของเราไม่ได้ไปในแนวทาง หรือไม่ได้ปรับตัวไปในแนวทางแห่งธรรมขั้นนั้นๆ มีแต่สิ่งที่เป็นข้าศึกซึ่งฝังแน่นอยู่ภายในจิตของเรา มากกว่าธรรมที่จะซึมซาบเข้ามาได้ เป็นผู้บงการ กระดิกออกมาแง่ใด ความกระดิกออกมาก็ถูกผลักดันออกมาจากธรรมชาติที่มีกำลังฝังอยู่ภายในจิตใจนั้น
เพราะฉะนั้นความรู้ของใจจะรู้มาตั้งกัปใดกัลป์ใดก็ตาม จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ตั้งแต่วันเกิดมาถึงเดี๋ยวนี้ ก็มีแต่การเสาะการแสวงการสั่งสมสิ่งที่เป็นภัย โดยหลักธรรมชาติหรือโดยอัตโนมัติ มากกว่าที่จะเสาะที่จะแสวงหาอรรถหาธรรมทั้งหลาย แม้การเสาะแสวงหาธรรมมีอยู่ก็เป็นกาลเป็นเวลา ในขณะที่ถูกบังคับด้วยความจงใจ ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญธรรมทำบุญให้ทานไปเท่านั้น พอสิ้นจากขณะนั้นไปแล้วสิ่งที่เป็นภัยนั้นมันก็ทำงานของมันตามอัตโนมัติไปโดยลำดับ เช่นดังที่เคยเป็นมาแล้วตั้งกัปตั้งกัลป์ และจะเป็นไปอีกเช่นนั้นถ้าอำนาจแห่งธรรมไม่เหนือกว่า
จึงเป็นสิ่งที่ลำบากสำหรับสัตว์ทั้งหลาย ถ้าไม่มีผู้แนะแนวทางให้รู้ให้เข้าใจในวิธีเสาะแสวงหาธรรม ในวิธีบำเพ็ญธรรมเข้าสู่ใจ ใจจะไม่มีช่องมีทางได้สัมผัสสัมพันธ์กับธรรม และไม่เป็นช่องไหลมาแห่งธรรม เพราะความประพฤติเพื่อกุศลธรรมนั้นเลย จะมีตั้งแต่ทางไหลเข้าและบรรจุเต็มไปหมดภายในใจดวงนี้ ด้วยพิษภัยทั้งหลายนั่นแล โลกจึงได้รับความทุกข์เพราะเหตุนี้เอง
คำว่าโลกก็หมายถึงจิตวิญญาณของแต่ละดวงๆ นี้เป็นของสำคัญมากยิ่งกว่าวัตถุอื่นใด ที่จะให้ชื่อเขาว่าเป็นโลกสงสาร เพราะสิ่งเหล่านั้นเขาไม่มีความหมายในตัวของเขาเลย ดินเราก็ให้ชื่อนามแก่เขาว่าเขาเป็นดิน ว่าเขาเป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เป็นอากาศธาตุหรือเป็นแร่ธาตุต่างๆ มีแต่มนุษย์เรานี้ไปให้ชื่อให้นาม ไปสำคัญมั่นหมายเขาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วว่าเป็นโลก ความจริงเขาไม่ทราบความหมายของเลยว่าเขาเป็นอะไร จึงไม่เป็นข้อหนักแน่นที่เราจะนำมาพูดว่าโลก ยิ่งกว่าจิตวิญาณของแต่ละดวงๆ แห่งสัตว์ทั้งหลายเต็มอยู่ในโลกธาตุนี้ ผู้ได้รับความสุขก็ดี ได้รับความทุกข์ก็ดี ได้รับบาปรับบุญก็ดี คือจิตนี้เป็นสำคัญ
เพราะฉะนั้นคำว่าทุกข์จึงหมายถึงจิตแต่ละดวงๆ มีกี่ล้านๆ ดวง ก็ไม่พ้นที่ทุกข์จะเข้าไปปลูกบ้านปลูกเรือนอยู่ในจิตดวงนั้นๆ ต้องมีด้วยกันทุกดวง ขึ้นชื่อว่ากิเลสมีอยู่ในนั้นแล้ว ทุกข์ต้องมีอยู่ในนั้นตามส่วนของกิเลสที่มีมากมีน้อย แม้เป็นผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมได้อยู่ แต่ก็ไม่พ้นที่กิเลสจะฝังอยู่ในใจดวงนั้นซึ่งยังไม่ได้บรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุดแล้ว ก็ต้องได้รับความทุกข์อยู่โดยดี นี่แลธรรมของพระพุทธเจ้าท่านสอนโลก ให้พึงทราบว่าสอนหัวใจสัตว์ สั่งสอนหัวใจสัตว์ ปลดเปลื้องหัวใจสัตว์ ชำระล้างหัวใจสัตว์ ที่สกปรกโสมมไปด้วยสิ่งที่จะให้ได้รับความทุกข์ความทรมาน
เพราะใจสกปรกไม่ได้เหมือนสิ่งทั้งหลายสกปรก นั้นเขาไม่มีความหมายอะไร สกปรกไม่สกปรกเขาก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ใจที่สกปรกด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาฝังจมอยู่ภายในนี้ เป็นทุกข์มากน้อยตามส่วนของกิเลสนั้นแล ท่านจึงเรียกว่ากองทุกข์ โลกนี้เป็นทุกข์ก็ต้องหมายถึงจิตใจของแต่ละดวงๆ เป็นทุกข์ การตรัสรู้ธรรมก็ตรัสรู้ที่ดวงใจของพระพุทธเจ้าในเบื้องต้น แล้วก็นำมาประกาศสอนโลกซึ่งเต็มไปด้วยกองทุกข์ หรือสอนโลกอันเป็นแหล่งแห่งความทุกข์ทั้งหลายตั้งอยู่ ได้แก่จิตใจของสัตว์โลกแต่ละดวงๆ ผู้มีความสามารถที่จะรับทราบได้ในธรรมทั้งหลาย พระองค์ก็แนะนำสั่งสอนตามขั้นตามภูมิของตนๆ เป็นลำดับมา ตั้งแต่วันตรัสรู้แล้วจนกระทั่งปรินิพพาน
เฉพาะพระพุทธเจ้าของเรานี้ ยังประทานพระโอวาทคำสั่งสอนคือแนวทาง หรือน้ำสำหรับชะล้างสิ่งที่สกปรกอยู่ภายในจิตใจของสัตว์ไว้ตั้ง ๕,๐๐๐ ปี ยังไม่ได้สิ้นสุดยุติไปตามการปรินิพพานของพระองค์เลย ก็เพราะเมตตานั่นเอง เหตุที่จะเมตตาเพราะอะไร เพราะความทุกข์ความทรมานที่สัตว์ทั้งหลายได้รับกันอยู่เรื่อยมา ตั้งแต่กัปไหนกัลป์ใดนั้น พระองค์เป็นพระองค์หนึ่งที่ได้เคยสัมผัสสัมพันธ์ ได้รับความทุกข์ความทรมานมาเช่นเดียวกับสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นโดยไม่มีทางสงสัย ความทุกข์นั้นเป็นเครื่องบีบบังคับสัตว์ในภพนั้นๆ มามากน้อยเพียงไร ความทุกข์ของพระองค์ที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ก็ย่อมสัมผัสสัมพันธ์ความทุกข์มากน้อยเช่นเดียวกับสัตว์ทั้งหลายนั้น
เมื่อพระองค์ได้หลุดพ้นออกไปแล้ว โทษแห่งความเป็นมาของพระองค์มีมากขนาดไหน โทษแห่งความเป็นมาของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น จึงมีพระเมตตาอย่างเต็มสัดเต็มส่วน เพราะความเห็นโทษในสิ่งเหล่านั้น แล้วสั่งสอนสัตว์โลกเต็มพระทัยซึ่งเต็มไปด้วยพระเมตตาล้วนๆ ไม่ได้สั่งสอนธรรมดาๆ เหมือนเราทั้งหลายสั่งสอนกัน เหมือนโลกทั้งหลายสั่งสอนกัน เหมือนคนมีกิเลสทั้งหลายสั่งสอนกัน
เพราะผู้สิ้นกิเลสอันเป็นตัวภัยสำคัญนั้น ย่อมผ่านภัยจากกิเลสมาแล้ว พระพุทธเจ้าของเราก็เรียกว่าประจักษ์พระทัย พระสาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลายก็ประจักษ์ใจ คือประสบมาแล้วอย่างเต็มหัวใจ จึงต้องเห็นโทษเต็มหัวใจเช่นเดียวกัน แม้ทุกข์เหล่านี้เพราะกิเลสเป็นเครื่องสั่งสมทุกข์ขึ้นมานั้น อยู่ในหัวใจดวงใดๆ ย่อมจะต้องเป็นทุกข์เหมือนกันนี้ พระองค์เคยทรมานฉันใด ทรมานมาเพราะกิเลสบีบบังคับหรือบีบบี้สีไฟมาฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น สัตว์ทั้งหลายเป็นฉันใด พระองค์ก็เคยเป็นฉันนั้นมาด้วยกัน
คำว่าพ้นทุกข์นี้ไม่เพียงแต่ว่าพ้นมาเฉยๆ ดังที่เขาพ้นจากคุกจากตะรางมา ซึ่งเขาก็ไม่เห็นวิเศษวิโสอะไรถ้าพ้นธรรมดาอย่างนี้ พ้นมาก็มาเป็นคนสามัญทั่วไปเหมือนโลกทั้งหลาย เป็นแต่เพียงว่าสังคมยอมรับว่าเป็นคนธรรมดาสามัญ ไม่ได้เป็นคนขี้คุกขี้ตะรางที่สังคมรังเกียจเหมือนอยู่ในเรือนจำนั้นเท่านั้น เวลาออกมาแล้วก็ไม่เห็นมีดีกรีอะไร ความสุขเพราะการออกมาจากเรือนจำ ก็เพียงไม่ถูกกดขี่บังคับทั้งทางร่างกายและจิตใจเท่านั้น และความรู้สึกที่ว่าตนเป็นนักโทษนี่ก็จางหายไป แต่ที่เป็นแผลเป็นอยู่ในนั้นว่าเคยเป็นนักโทษ นั้นย่อมฝังใจอย่างลึกอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นแม้ออกมาจากเรือนจำแล้ว ก็จะมีความสุขความวิเศษวิโสต่างจากคนทั้งหลายไปอย่างไรบ้าง ไม่ได้มีอะไรต่างกัน
ส่วนพระพุทธเจ้าได้หลุดพ้นจากทุกข์นี้ เมื่อหลุดพ้นจากทุกข์แล้วยังมีบรมสุข เป็นเครื่องรับรองพระทัยของพระพุทธเจ้าด้วยพระทัยที่บริสุทธิ์ ความสุขอันนี้เป็นเครื่องรับรอง เป็นเครื่องยืนยัน เป็นเครื่องเสริมให้เด่นที่สุดเหนือโลกสงสาร ที่ว่ายอดโลกุตรธรรมก็คือใจที่บริสุทธิ์ ธรรมที่บริสุทธิ์ครองกันเป็นบรมสุขดังที่ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นั่นละคำว่า ปรมํๆ นั้นอยู่กับใจของท่านผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวงแล้ว ท่านทรงความสุขอันนี้อย่างสมบูรณ์ ที่โลกทั้งหลายมีกิเลสไม่สามารถที่จะครองได้เลย ไม่สามารถที่จะเสวยได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ทรงหลุดพ้นแล้ว เวลาประกาศธรรมสอนโลกจึงสอนลงอย่างเน้นหนัก ในเรื่องโทษทั้งหลายก็ถึงพระทัยเพราะพระองค์เคยผ่านมาแล้วไม่มีที่สงสัย ความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลายอันเป็นธรรมประเสริฐพระองค์ก็ครองอยู่แล้ว จึงทรงสั่งสอนอย่างเต็มอรรถเต็มธรรมจนสะเทือนโลกธาตุ ไม่มีใครสามารถเป็นคู่แข่งได้เลย
สิ่งที่รับรองยืนยันในความหลุดพ้นนั้นก็คือ ปรมํ สุขํ นี่พระองค์ก็ทรงไว้อย่างเต็มพระทัยแล้ว เหตุใดการสั่งสอนสัตว์โลกจะสั่งสอนธรรมดาสามัญเรานั้น เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นภาษาตลาดก็เรียกว่าเป็นไปอย่างสุดเหวี่ยงสุดความสามารถ ที่จะสั่งสอนสัตว์โลกได้มากน้อยเพียงไร ให้เห็นโทษจริงๆ เพราะโทษมีจริงๆ อย่างนั้น พระองค์ได้ผ่านมาแล้ว พระองค์เป็นสักขีพยานแห่งความทุกข์ทั้งหลายแห่งนรกทั้งหลาย เพราะพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นสามัญชนธรรมดาเหมือนโลกทั่วๆ ไป ความรู้สึกก็ย่อมเป็นความรู้สึกสามัญสำนึกธรรมดา ย่อมทำได้ทั้งบาปทั้งบุญทั้งคุณทั้งโทษมากน้อยเช่นเดียวกับสัตว์ทั่วๆ ไป เมื่อเป็นเช่นนั้นธรรมไม่ลำเอียง วิบากกรรมไม่ลำเอียง ต้องได้เสวยทุกข์มากน้อยตามกรรมของตนที่ทำมาแล้ว เหมือนกับสามัญชนทั่วๆ ไป แล้วเหตุใดท่านจะไม่ตกนรกหมกไหม้ ไม่ว่าหลุมใดแห่งนรก เพราะเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ด้วยอำนาจแห่งวัฏจักรวัฏจิตนี้พาให้หมุนให้เวียน
และกิเลสนี้ยังไม่เพียงหมุนเวียนแค่นี้ ยังเป็นสาเหตุให้ทำกรรม และให้เสวยความทุกข์ความทรมานมาเป็นลำดับลำดาอีกด้วย นานขนาดไหนนับไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมพระพุทธเจ้าตั้งแต่สมัยเป็นคนสามัญธรรมดาเหมือนสัตว์โลกทั่วๆ ไปจะไม่ตกนรกหลุมไหนจะเว้นได้ยังไง เพราะเกิดแล้วตายเล่า นับไม่ได้ มากต่อมากก็คือจิตวิญญาณที่เต็มไปด้วยความเกิดความตายของสัตว์โลก เอาอะไรไปแข่ง ในโลกนี้เอาวัตถุอะไรไปแข่งจิตวิญญาณแม้ดวงเดียวนั้น เพราะมีเรื่องมากต่อมาก
การเกิดการตายของจิตวิญญาณดวงนั้นมากขนาดไหน ยังไม่มีอะไรสามารถไปนับไปแข่งได้เลยว่ามีมากกว่านั้น คือมากยิ่งกว่าการเกิดการตายของจิตวิญญาณดวงหนึ่งๆ นั้น เพราะอันนี้มีมานานแสนนานแล้ว พระพุทธเจ้าเวลาเป็นสามัญชนธรรมดา สามัญชนเขาเป็นฉันใดพระองค์ก็เป็นฉันนั้น จึงจำต้องตกนรกเช่นสัตว์โลกทั่วๆ ไป ขึ้นชื่อว่าบาปแล้วไม่ลำเอียง ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่ทำใจดวงใดให้เป็นอิสระ ต้องให้ทำกรรมโดยไม่อาจสงสัย แล้วก็เป็นผลของกรรมมาเช่นเดียวกัน
ในนรกหลุมต่างๆ มีกี่หลุมก็ไม่มีเว้นที่จะไม่ตกนรก ในสัตว์รายหนึ่งๆ ตกด้วยกันทั้งนั้น สวรรค์ชั้นพรหมก็เหมือนกัน เว้นแต่พรหมโลกที่ก้าวขึ้นไปแล้วผ่านไปเลยดังสุทธาวาส ๕ ชั้น นอกจากนั้นอายุจะกี่หมื่นปีดังที่ท่านกล่าวไว้ในตำรับตำราว่า ๗ หมื่นปี ๘ หมื่นปี วินาทีกินไป นาทีกินไป ชั่วโมงกินไป ก็หมดก็สิ้นเช่นเดียวกัน
นี่พูดถึงเรื่องความมากแห่งการเกิดการตาย มากแห่งความทุกข์ความทรมานของสัตว์ ที่ติดแนบอยู่กับใจกับภพชาตินั้นๆ ไม่มีประมาณเลย นี่พระพุทธเจ้าทรงประมวลมาเห็นหมดรู้หมด แล้วเหตุใดการสั่งสอนโลกจะสั่งสอนธรรมดา ต้องสั่งสอนอย่างเต็มที่เต็มฐาน เต็มพระกำลังความสามารถของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ๆ นั่นแล นอกจากนั้นยังหยิบยกสิ่งที่วิเศษวิโสเพราะการพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง พ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ขึ้นสู่วิมุตติธรรมให้เห็นธรรมที่เลิศเลอนี้อีก สำหรับผู้ที่หลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวงแล้ว กิเลสสิ้นซากไปแล้ว เป็นผู้ครองวิมุตติธรรม วิสุทธิธรรมอันเป็นบรมสุขเสมอกัน และหมดปัญหาการเกิดตายสิ้นเชิงแล้ว ผู้ที่จะต้องแหวกว่ายต่อไปไม่มีวันสิ้นสุดยุติก็คือผู้กิเลสยังครองใจอยู่นั่นแล ฉะนั้นจงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า จะยอมจมอยู่หรือจะไปให้พ้นภัย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้นำมาแสดงมาท้าทายทั้งสองอย่าง คือทุกข์เพราะอะไร เพราะกิเลส ก็ทรงแสดงให้สัตว์ทั้งหลายทราบอย่างถึงใจ สุขเพราะอะไร ที่ว่าบรมสุขเพราะอะไร เพราะกิเลสสิ้นซากไป ไม่มีสิ่งใดมาก่อกวน ไม่มีสิ่งใดมายุแหย่ ไม่มีสิ่งใดมาทำลาย ไม่มีสิ่งใดมาบีบบังคับจิตใจนี้ให้เป็นเหมือนอย่างที่แล้วๆ มา ที่กิเลสยังเป็นเจ้าอำนาจครองหัวใจอยู่ ธรรมเป็นเจ้าอำนาจท่านไม่ได้บีบบังคับใคร จึงเป็นบรมสุขได้ด้วยธรรมครองใจ ธรรมที่บริสุทธิ์ครองใจ
การแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก พระองค์สอนลงที่ใจ เพราะใจนี้เป็นแหล่งแห่งทุกข์ ใจนี้เป็นคลังแห่งทุกข์ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ จะกว้างแสนกว้างขนาดไหนก็ตาม ไม่มีที่สถิตของทุกข์ ไม่มีที่เกิดของกิเลสที่อยู่ของกิเลส อันเป็นสิ่งบีบบังคับสัตว์ทั้งหลาย ให้ต้องทำบาปกรรมต่างๆ และได้รับความทุกข์ความทรมานอย่างนี้ มีใจนี้เท่านั้นๆ แล้วในสามแดนโลกธาตุนี้ จิตวิญญาณมีมากขนาดไหน หากว่าเรามีญาณพอหยั่งทราบแล้วจะหาทางก้าวเดินไปไม่ได้ ถ้าจิตวิญญาณแต่ละดวงๆ เป็นวัตถุแล้ว เราก้าวไปที่ไหนจะไม่โดนจิตวิญญาณของสัตว์โลก ที่หมุนเวียนเกิดแก่เจ็บตายด้วยการเสวยวิบากกรรมต่างๆ กันเป็นไม่มี เพราะกิเลสเป็นเจ้าอำนาจบีบบังคับไม่ให้หลุดให้พ้นไปได้ จิตวิญญาณของสัตว์จึงมีเต็มอยู่ในสามแดนโลกธาตุนี้ ถ้ามีญาณหยั่งทราบบ้าง มันไม่น่าสลดสังเวชจนหัวใจจะพังโน้นเหรอ พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น
ท่านเห็นอย่างนั้น
รองลงมาก็คือพระอรหันต์ท่านเห็น แต่ท่านไม่หิวไม่โหยว่าท่านรู้ท่านเห็น ท่านอยากประกาศอวดโลกอวดสงสาร เหมือนดังกิเลสที่เป็นนักโอ้นักอวด ท่านจึงอยู่อย่างสงบเสงี่ยมด้วยความพอดิบพอดีไม่หิวไม่โหย คือความอิ่มธรรมภายในใจ เมื่อถึงกาลถึงเวลาที่ควรจะพูดเพื่อเป็นประโยชน์หนักเบามากน้อยเพียงไร ท่านก็นำออกแสดง โดยยกพระพุทธเจ้าเทิดทูนไว้ข้างหน้า ท่านไม่อาจเอื้อมและแสดงดังพระพุทธเจ้าของเราสั่งสอนโลกนั่นแล โลกไหนแม้แต่บุคคลก็เหมือนกัน บุคคลใดภูมิใดสถานที่ใดที่ควรจะเทศนาว่าการประการใดแบบใดกับบุคคลใดบ้าง พระก็ทรงนำออกมาให้พอเหมาะพอดีกับจริตนิสัยของผู้นั้นๆ จะได้รับประโยชน์เป็นคณะเป็นรายๆ ไป ไม่ได้นำออกมาแบบพล่ามๆ สุ่มสี่สุ่มห้า เหมือนอย่างผู้ที่มืดดำกำตาด้วยกิเลสเลย
นี่พูดถึงเรื่องความมีมากของกองทุกข์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบอย่างชัดเจนแล้ว จึงต้องสอนโลกให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างนี้ แล้วยกวิสุทธิธรรมขึ้นเป็นเครื่องประกาศยืนยันว่า นี่น่ะความหลุดพ้นแล้วเป็นอย่างนี้ๆ ประการหนึ่งทรงหยิบยกขึ้นมาให้เห็นต่อหน้าต่อตาของเรา ความทุกข์ความทรมานมากน้อยเพียงไรก็ทรงประมวลมาว่า นี่น่ะอย่าสงสัยว่าเราตถาคตเป็นเจ้าของแห่งทุกข์ หรือเป็นทำนบใหญ่ที่รองรับความทุกข์แต่ผู้เดียว จิตวิญญาณดวงใดก็เหมือนกันนี้แล ประหนึ่งว่าอย่าสงสัย อย่าพากันสงสัยเรื่องการเกิดการตาย มีแต่เรื่องการหาบการหามกองทุกข์มากน้อยอยู่โดยลำดับลำดานั่นแล เพราะวิบากกรรมมีอยู่ที่หัวใจสัตว์
ออกจากภพนี้วิบากกรรมมันไม่ได้ออกจากจิต ติดแนบไปกับใจ ต้องไปเกิดได้เสวยความทุกข์ความทรมาน มีสุขมากน้อยก็เคยมี มีบุญมากน้อยก็ได้รับความสุขสับปนกันไป สัตว์โลกจึงมีทั้งสุขทั้งทุกข์เจือปนกันไป เพราะไม่ได้ทำแต่บาปอย่างเดียว บุญก็ทำบาปก็ทำ เป็นแต่เพียงว่าเปลี่ยนวาระกันให้ความสุขบ้าง ให้ความทุกข์บ้างในจิตดวงเดียว ซึ่งเป็นเจ้าของแห่งกรรมนั้นๆ เท่านั้น นี่เป็นหลักธรรมชาติแห่งความจริงที่ลบไม่สูญ
เพราะฉะนั้นจิตวิญญาณนี้จึงเป็นธรรมชาติที่ลี้ลับมาก ธรรมดาสามัญเรานี้จะไม่ทราบได้เลย และไม่ทราบความจริงของจิตวิญญาณดวงนี้ ว่าเดินแถวไหนไปยังไงมายังไง ความเป็นไปของจิตวิญญาณนี้ไปยังไงมายังไง ทั้งๆ ที่มีอยู่กับทุกสัตว์ทุกบุคคลแต่ถูกปิดถูกกั้นเรื่อยมา อย่างที่เรามาถึงภพนี้เวลานี้ เราก็ทราบได้แต่เพียงว่าเราเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งนามหนึ่งในสมมุติของสัตว์ทั่วโลกเท่านั้น ว่าเราเป็นสัตว์มนุษย์ แล้วก่อนนี้เราเคยเป็นอะไรเราก็ไม่ทราบ เพียงอันดับที่ติดต่อกันมาสองชาติเท่านี้แหละ ชาติปัจจุบันนี้กับชาติที่ผ่านมาอย่างเมื่อวานนี้ ตายเมื่อวานนี้มาเกิดวันนี้ แล้วเมื่อวานนี้เป็นภพใด เกิดเป็นสัตว์ประเภทใด หรือเทวบุตรเทวดาตนใดไม่ทราบ นี่ละมันปิดมันกั้นมาพร้อมๆ
เรื่องของกิเลสจึงเป็นสิ่งที่ละเอียดแหลมคมมาก ไม่ให้รู้เรื่องของมันเลย มันจึงได้ครองโลกครองสงสารมาตลอดกาล บรรดาจิตวิญญาณดวงใดๆ เว้นแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้นที่เหนือเงื้อมมือของมันไป มันไม่อาจเอื้อมได้ นอกจากนั้นมันเป็นเจ้าอำนาจครอบงำไว้หมด และครอบงำด้วยวิธีนี้เอง ไม่ว่าจะอากัปกิริยาใดที่แสดงออก กลมายาของมันเป็นสิ่งที่บีบบังคับ หรือเป็นสิ่งที่ปิดกั้นจิตวิญญาณ ไม่ให้เห็นโทษหรือกลอุบายของมันได้เลย จนกระทั่งภพชาติที่เกิดอย่างเปิดเผย อย่างที่เราเห็นอยู่นี่ จึงรู้ว่าเราเกิด ภพชาติต่อไปจะเกิดเป็นอะไรก็ไม่ทราบได้อีก
แต่ที่ลี้ลับก็เพราะที่ผ่านมาแล้วกิเลสมันไม่ให้เห็นไม่ให้รู้ ตลอดถึงสาเหตุที่จะพาให้เกิดมาเป็นนั้นเป็นนี้มันก็ไม่ให้รู้ เราจึงไม่รู้เราจึงนอนใจ ทุกขนาดไหนก็ไม่ทราบว่าเป็นมาจากความนอนใจหรือนอนจม มันหากจมมาอย่างนี้ๆ เรื่อยไป ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องสอดส่องมองทะลุให้เห็นโทษของมันและเห็นคุณค่าของธรรมแล้ว จะก้าวไม่ออกหรือไม่ก้าว ไม่สนใจจะก้าว ก็เหมือนอย่างสัตว์ที่ถูกขังอยู่ในหม้อในอะไรก็ตาม มันก็อยู่อย่างนั้นตามประสาของมัน ถึงเวลาก็โยนลงในหม้อน้ำร้อน ต่างตัวต่างดิ้นแล้วก็ตายเท่านั้น
นี่ละที่พูดถึงเรื่องจิตวิญญาณมีความสลับซับซ้อน เราเป็นนักเกิดนักตาย แต่เราไม่ทราบความเกิดความตายของเรา เราเป็นนักท่องเที่ยว แต่เราไม่สามารถอาจเอื้อมที่จะทราบความเป็นมาของเราว่าเป็นมาอย่างไร ทั้งดีทั้งชั่วทั้งสุขทั้งทุกข์ ซึ่งเจือปนกันมา ทั้งมหันตทุกข์เราก็ยังไม่ทราบ เท่าที่อธิบายมานี้สลับซับซ้อนไหมจิตวิญญาณ ลี้ลับไหม เพราะฉะนั้นจึงต้องมีศาสนามีธรรม มีศาสนาก็ตาม ถ้าไม่นำมาเปิดไม่นำมาใช้ ไม่นำมาแก้มาถอดมาถอน ก็ไม่มีทางทราบได้เหมือนกัน ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมที่ได้ศึกษามา
อย่างปริยัติท่านสอนไว้เป็นยังไง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ท่านก็บอกไว้อย่างเปิดเผย สำหรับท่านผู้รู้เต็มพระทัยแล้วคือพระพุทธเจ้า ท่านไม่สงสัยว่าเรื่องการเกิด เกิดมาเพราะอะไร ก็เกิดมาเพราะ อวิชฺชาปจฺจยา นี่เมื่อท่านเห็นแล้วท่านก็พูดได้ ตามภาษาของเราว่าพูดได้อย่างเต็มปาก ทีนี้สัตว์โลกใครพูดได้สิ่งเหล่านี้ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับทุกคน แต่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอะไร มิหนำยังไปเหมาอีกว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเราเป็นของเรา เรากับสิ่งเหล่านี้ก็แยกกันไม่ออก และไม่สนใจที่จะแก้กันแยกกัน สุดท้ายเรากับธรรมชาติ ที่เป็นพิษเป็นภัยก็อยู่ด้วยกันเรื่อยมาอย่างที่เป็นมานี้แล และจะอยู่ด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดไปกี่ภพกี่ชาติไม่มีประมาณ เช่นเดียวกับที่ผ่านมาแล้วนั่นแล ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องแก้เครื่องถอดถอน ท่านจึงสอนให้มีการปฏิบัติเป็นคู่เคียงกันไป
ปริยัติได้แก่การศึกษาเล่าเรียนเข็มทิศทางเดิน หรือแบบแปลนแผนผังมาอย่างเรียบร้อยแล้ว ปฏิบัติคือตั้งหน้าทำหน้าที่ ดำเนินกิจการของตนที่ได้วาดเข็มทิศทางเดินไว้เรียบร้อยแล้วนั้น ให้ถูกต้องตามเข็มทิศทางเดิน หรือตามแบบแปลนแผนผัง แล้วจะสำเร็จขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น สมาธิธรรมซึ่งเราเคยได้ยินแต่ชื่อในตำรับตำรา องค์ของสมาธิจริงๆ เราไม่เคยเห็นก็จะเห็นและเห็น รู้ที่ใจของเราผู้ปฏิบัติ
เช่นท่านสอนให้ภาวนาเพื่อสมถธรรม สอนอย่างไร ในกรรมฐาน ๔๐ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นธรรมเครื่องกล่อมเกลาจิตใจให้เข้าสู่ความสงบ เพื่อเป็นสมถธรรม สมถกิจทั้งนั้น เมื่อเราได้ทำตามนั้นแล้วก็ต้องปรากฏผลขึ้นมาจนได้ จิตไม่เคยสงบก็สงบเมื่อทำตามแบบแปลนแผนผัง ให้ระมัดระวังรักษาใจ ระวังด้วยอะไร ก็ระวังด้วยสติ สติจึงเป็นของสำคัญ นี่ก็เป็นเข็มทิศเป็นแบบแปลนอันหนึ่ง นี่บีบบังคับเอาไว้อย่าเผลอ ให้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ กำจัดความฟุ้งซ่านรำคาญด้วยสติอยู่กับตัว คำบริกรรมเป็นเครื่องเกาะของจิตอย่าปล่อยอย่าวาง นั่นภาคปฏิบัติ
เมื่อเราดำเนินไปอย่างที่กล่าวหรือที่ได้เรียนรู้มานั้น ใจยังไงก็ไม่พ้นความสงบ จะสงบจนได้ จนกระทั่งปรากฏเป็นความสงบขึ้นมา อ๋อ นี่ความสงบเป็นอย่างนี้สมาธิเป็นอย่างนี้ นั่นรู้แล้วรู้ที่ใจนี่ ชื่ออยู่ที่ตำรับตำราเพราะท่านผู้ที่รู้ท่านนำออกจากใจ นำออกจากพระทัยของท่านมาแสดงไว้ แล้วก็จดจารึกกันใส่คัมภีร์ใบลานเอาไว้ เราจึงต้องไปอ่านตำราซึ่งมีแต่ชื่อเท่านั้นไม่ได้มีตัว ถ้าต้องการองค์จริงตัวจริงจริงๆ ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แล้วจะพ้นใจของเราผู้เป็นตัวจริงที่จะทรงอรรถทรงธรรมทุกประเภทไปได้อย่างไร ต้องปรากฏที่ใจของเรานี่เอง
เมื่อได้อบรมจิตของเราตามแปลนที่ท่านสอนนี้ จิตไม่เคยสงบก็สงบ เอ้า สงบขนาดไหน เมื่อทำไม่หยุดไม่ยั้ง ทำอยู่ไม่หยุดไม่ถอย เสริมสมถะคือความสงบใจเข้าไปมากๆ แล้วก็เด่นดวง เป็นสมาธิเต็มภูมิ เห็นแล้วชัดเจนไม่สงสัย ถ้าพูดถึงเรื่องปัญญาท่านว่ายังไง ท่านสอนให้พิจารณาทางด้านปัญญา ปัญญามีอะไรเป็นทางเดิน ก็มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีอสุภะอสุภังเป็นทางเดิน สิ่งเหล่านี้มีอยู่ที่ไหน ก่อนอื่นก็มีอยู่ที่ตัวของเรา
อสุภะอสุภัง ร่างกายอันนี้เป็นทองทั้งแท่งมาจากไหน มันก็เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นอสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบเราดีๆ เต็มอยู่ในร่างกายของเรานี้ เป็นแต่เพียงหนังบางๆ เท่านั้นปิดเอาไว้เราก็หลง เมื่อเรายังโง่อยู่เราก็ไม่เห็นของจริงที่ท่านว่าอสุภะอสุภังเป็นยังไง มันเต็มอยู่ในตัวของเรานี้แหละ แต่เราไม่เห็น ปฏิเสธได้ยังไงว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มี แต่มันไม่เห็นจะว่ายังไง จึงต้องได้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา อสุภะอสุภังก็ให้เห็น มันก็ต้องเห็นแน่ๆ ไม่สงสัย ถ้าพิจารณาตามพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว ตามหลักธรรมตามตำรับตำราสิ่งเหล่านี้มีอยู่ มันไม่เห็นก็ขึ้นอยู่กับใจของเรา ขึ้นอยู่กับปัญญาของเรา หรือขึ้นอยู่กับตาใจของเรามันไม่เห็น สิ่งนั้นมีอยู่ เอ้า ดู ถ้าไม่ใช่คนตาบอดแล้วยังไงก็จะเจอ จะเจอจนได้
ปัญญาต้องพินิจพิจารณาหลายครั้งหลายหนหลายตลบทบทวน เข้าสู่ความจริงๆ พิจารณาเมื่อไรก็เข้าสู่ความจริงคือร่างกายของเรานี้ เข้าสู่ภายในออกมาภายนอก นี้ล้วนแล้วตั้งแต่เดินกรรมฐานในวงปฏิกูลป่าช้าผีดิบ เยี่ยมป่าช้าอยู่ภายในตัวของเรานี้ นานเข้าๆ ก็แจ่มแจ้งออกมาๆ ชัดออกมาๆ ทีนี้ก็รู้เต็มที่ในตัวของเรา ความรู้อันนี้อยู่ในท่ามกลางแห่งป่าช้าผีดิบ นั่นชัดแล้วที่นี่ อ๋อ ความรู้อันนี้เป็นอย่างนี้ เด่นดวง แต่ก็อยู่ในท่ามกลางแห่งป่าช้าผีดิบคือร่างกายของเรานี้ อยู่ในท่ามกลางแห่งป่าช้าผีดิบที่ยังไม่ตายนี้ เรียกว่าป่าช้าผีดิบ มันก็เห็นชัดเจนหายสงสัย
จากนั้นจะพิจารณาเป็น อนิจฺจํ เอ้า ไปในแง่ใดก็ไม่พ้นจากธรรมชาติป่าช้าผีดิบนี้ จะแปรสภาพให้เห็นอย่างชัดเจน ทุกฺขํ ก็บีบบังคับกันอยู่ที่นี่ อนตฺตา ถือเอาสาระอะไรได้ ป่าช้าผีดิบก็รู้กันอยู่แล้ว ปัญญาหยั่งลงไปถึงแล้ว นั่นเรียกว่าปัญญา สอดแทรกลงไปๆ อ๋อ ปัญญาเป็นอย่างนี้ เมื่อปัญญาได้เข้าถึงไหนๆ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ความสำคัญว่านั้นเป็นเรานี้เป็นของเรา นั้นเป็นของสวยของงาม มันจะจางลงไป ๆ ความจริงนี้จะเด่นขึ้นๆ
ความจริงก็คืออะไร ก็ตามความเป็นจริงแล้วไม่ได้งามอะไรนี่ กิเลสมันหลอกเราต่างหาก เราโง่เราก็ติด เพราะเรายังไม่มีเครื่องต่อสู้หรือเครื่องชะล้าง ก็ไม่เห็นความจริง เมื่อเราชะเราล้างด้วยปัญญาหลายครั้งหลายหน ก็เห็นเป็นความจริงขึ้นมา นี่ปัญญาปรากฏขึ้นแล้วที่นี่ อ๋อ ปัญญาในตำรานั้นคือชื่อ ส่วนองค์ของปัญญาแท้เป็นอย่างนี้ เอ้า ปัญญาขั้นใดปรากฏขึ้นในตัวของเรานี้เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศกังวานอยู่ภายในตัวนี้ ปัญญาขั้นนี้สามารถแก้กิเลสประเภทนั้นได้ ปัญญาขั้นนั้นแก้กิเลสประเภทนั้น ปัญญาขั้นนั้นแก้ประเภทนั้น เพราะมันแก้ไปโดยลำดับ
ทีนี้ก็มาคำนวณย้อนหลัง อ๋อ ปัญญาขั้นนี้แก้อย่างนั้นๆ ปัญญาขั้นนั้นแก้อย่างนั้น ไปข้างหน้ามีแต่ชุลมุนวุ่นวายฟัดกันไปไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งกิเลสพังลงไปๆ ปัญญาแจ่มขึ้นมาๆ นั่นปัญญาก็เห็นที่ใจของเรานี่ จนกระทั่งปัญญามีความเกรียงไกร ก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา ก้าวเข้าสู่ภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นธรรมชาติที่หมุนตัวโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับกิเลสที่มันมีอำนาจมาแต่ก่อน มันเคยหมุนตัวของมันทำงานของมัน สั่งสมตัวของมันอยู่บนหัวใจของเรานั้นแล
เมื่อสติปัญญาขั้นนี้มีกำลังสามารถแล้วก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ หมุนตัวเพื่อแก้เพื่อถอดถอนกิเลสอยู่บนหัวใจนี้ออกไปโดยลำดับลำดา ไม่มีคำว่าหยุดยั้งไม่มีคำว่าบังคับเพราะเป็นอัตโนมัติแล้ว นอกจากจะได้รั้งเอาไว้เพราะจะเลยความพอดี เช่นเพลินในการพินิจพิจารณาจนลืมหลับลืมนอนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีแต่จะเอาๆ จนเลยความพอดีไป ให้พักเสียบ้าง
ตามหลักปริยัติท่านก็มี พักคืออะไร พักเข้าสมาธิ สงบใจ นั่นเรียกว่าพักงาน ประการหนึ่ง ประการที่สองพักหลับนอน พอจิตมีกำลังแล้วถอยออกมาทำงานได้แก่การพินิจพิจารณา ปัญญาประเภทนี้จะหมุนตัวติ้วๆ เป็นอัตโนมัติบนหัวใจ ทีนี้ปัญญาประเภทนี้ทำงานบนหัวใจโดยโดยอัตโนมัติ แทนกิเลสที่เคยทำงานมาแต่ก่อน กิเลสอับเฉาลงไปหมอบราบลงไปๆ เรื่อยๆ ปัญญานี้เกรียงไกรขึ้นเรื่อย ครองอำนาจขึ้นเรื่อย
เอ้าทีนี้ต่อจากนั้นไป กิเลสตัวไหนเก่งกล้าก็ให้ออกมา ถ้าจะพูดเป็นภาษาของเราเป็นอย่างนั้น แต่ในขณะนั้นไม่ได้พูด มีแต่เรื่องขยับตัวที่จะฟัดจะฟันกัน คำว่ามหาสติมหาปัญญาก็คือสติปัญญาอัตโนมัตินี้เอง มีความชำนิชำนาญแกล้วกล้าสามารถ ก็กลายเป็นมหาสติมหาปัญญา จากนั้นไปเราอยากจะพูดตามความละเอียดลอออย่างมากของสติปัญญานี้ เราก็พูดไม่ได้ เพราะเป็นความละเอียดลออมากที่สุด เกินกว่าจะนำมาพูดให้เป็นถ้อยเป็นคำเหมือนสิ่งทั้งหลายได้ เป็นเหมือนกระดาษซึม เหมือนน้ำซับน้ำซึมอะไรทำนองนั้น เอามหาสติมหาปัญญานี้ครอบเสียก็หมดปัญหาไป เมื่อเข้าถึงแล้วใครเป็นใครก็รู้เองในธรรมขั้นนี้สติปัญญาขั้นนี้ ถ้าจะว่าญาณก็เหมือนกับว่าอาจเอื้อมเกินไป รู้สึกไม่สะดวกใจ เพราะละเอียดเอามาก เกินคาดเกินหมายไปเสียทุกอย่างในความรู้สึกกับธรรมชาตินั้น
ก้าวจากสติปัญญาอัตโนมัติเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา ขั้นมหาสติมหาปัญญาก็รู้ว่าไม่มีเผลอ ทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งถึงหลับ เผลอเมื่อใดขณะใดไม่เคยมี นี่ก็ทราบได้ชัดว่าเป็นมหาสติมหาปัญญา แต่ที่ละเอียดยิ่งกว่านั้นที่ตามเก็บตามกวาดกิเลสประเภทอนุสัยต่างๆ ที่มีอยู่ ละเอียดลออขนาดไหน สติปัญญาประเภทละเอียดลออนี้ตามล้างตามผลาญกันชะกันจนเกลี้ยงไปๆ หมดไปๆ นี้ไม่ทราบว่าเป็นปัญญาประเภทใด ขอให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาให้รู้ให้เห็น ให้เป็นในตัวเองนั่นแหละจะเข้าถึงหนองอ้อ อ้อ อย่างนี้เอง อ๋อ อย่างนี้เอง ท่านว่าปัญญาที่ละเอียดลงไปนั้นแต่พูดไม่ได้ มันคือปัญญาประเภทใด อ๋อ อย่างนี้เอง พูดไม่ได้แต่รู้ได้ รู้ได้เต็มหัวใจแต่พูดไม่ได้
ทีนี้กิเลสตัวไหนมันจะละเอียดแหลมคมยิ่งกว่าปัญญาประเภทนี้ เพราะปัญญาประเภทนี้คอยจะชะจะล้างตลอดเวลาจนกระทั่งเกลี้ยงหมดไม่มีอะไรเหลือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา พังทลายลงไปแล้ว สติปัญญาประเภทนี้ก็ยุติลงเองโดยหลักธรรมชาติโดยอัตโนมัติของตน ไม่ต้องถูกบีบถูกบังคับให้หยุดให้ยั้งเหมือนแต่ก่อน นี่เป็นยังไง ไม่ว่าปัญญาประเภทใดก็ตามมาปรากฏในหัวใจเรานี้แล้ว จนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้นก็ปรากฏในหัวใจแล้วสงสัยอะไรอีก ทีนี้คำว่าบรมสุขเป็นยังไงก็เต็มอยู่ในหัวใจดวงที่บริสุทธิ์นี้แล้วสงสัยอะไร
นี่แลเป็นเครื่องยืนยันของพระพุทธเจ้า ที่ประกาศธรรมสอนโลกให้รู้โทษจริงๆ ประหนึ่งว่าตถาคตได้ผ่านมาอย่างนั้น พร้อมกับธรรมที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย วิเศษอย่างนี้ๆ ดังตถาคตทรงอยู่ในหัวใจเวลานี้ ดังนั้นการสอนโลกจึงสอนด้วยความอาจหาญท้าทาย ผู้ต้องการความจริงอยู่แล้วทำไมจะไม่รู้ไม่เห็นความจริง เพราะมีอยู่กับหัวใจของทุกคน อริยสัจมีอยู่ที่ตรงไหน มรรคสัจมีอยู่ที่ตรงนั้น สิ่งที่จะหลุดพ้นเพราะอำนาจแห่งมรรคสัจเป็นเครื่องกลั่นกรองคืออะไร คือจิตที่บริสุทธิ์ จะหลุดออกมาจากตรงนั้น จะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในวงอริยสัจ เมื่อรู้ตรงนั้นโดยสมบูรณ์แล้วหายสงสัย
จิตวิญญาณดวงนี้เอง ดวงที่เคยเกิดแก่เจ็บตาย หมุนมากี่ภพกี่ชาตินับกี่กัปกี่กัลป์นับไม่ได้เลย มาถึงจุดนี้แล้วขาดสะบั้นลงไปเหมือนกับว่าหยุดกึ๊กเลย ไม่มีอะไรจะมาทำให้หมุนต่อไปอีกแล้ว เรียกว่าวัฏจิตวัฏจักรหมดการหมุนแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้คืออวิชชาเป็นเครื่องหมุน อวิชชาพังลงไปแล้วก็เป็นวิวัฏจิตเท่านั้นเอง ไม่หมุน ทรงตัวอยู่ด้วย ปรมํ สุขํ เท่านั้น นี่การปฏิบัติธรรม
ธรรมเหล่านี้สดๆ ร้อนๆ อยู่ในท่ามกลางร่างกายกับจิตใจของเรา ในท่ามกลางขันธ์ ๕ นี้แล ขันธ์ ๕ นี้ยังไม่แตกสลาย ก็นี้แลคือคลังแห่งมรรคผลนิพพานอยู่ที่นี่ มัชฌิมาปฏิปทาพอดิบพอดีกับความเป็นอยู่ของเรา และเราเป็นผู้ปฏิบัติอยู่เวลานี้คือความพอดี กาลสถานที่เวล่ำเวลามืดกับแจ้งมันเคยผ่านมากี่กัปกี่กัลป์ มันเคยเอามรรคผลนิพพานมาให้ใคร เคยเอากิเลสตัณหาอันใดมาเสียดมาแทงหัวใจของคน มีแต่กิเลสเท่านั้นเป็นเครื่องเสียดแทงหัวใจ เมื่อพังกิเลสลงไปหมดโดยสิ้นเชิงแล้วอะไรจะมาเสียดแทง อยู่ในท่ามกลางแห่งอริยสัจนี้ด้วยวิสุทธิจิตวิสุทธิธรรม นั่นท่านว่า ปรมํ สุขํ ของผู้ครอง สอุปาทิเสสนิพพาน ทั้งเป็น
ทุกขสัจเป็นผลมาจากสมุทัยสัจ มรรคสัจเป็นเครื่องสังหารสมุทัยสัจ คืออวิชชาเป็นสมุทัยอย่างเอก ยอดสมุทัยคืออวิชชา ยอดของมรรคได้แก่มหาสติมหาปัญญา พังกันลงที่นั่นแล้ว ไม่ต้องถามหาวิมุตติ จะหลุดพ้นขึ้นมาในท่ามกลางแห่งอริยสัจทั้งสองประเภทนี้ คือ ทุกข์ สมุทัย หนึ่ง นิโรธ มรรค หนึ่ง ความบริสุทธิ์จะหลุดจะพ้นขึ้นมาหรือผ่านขึ้นมาจากอริยสัจนั้น นั้นไม่ใช่อริยสัจ อริยสัจเป็นเครื่องกลั่นกรอง นั้นไม่ใช่อริยสัจ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีคำว่า อนิจจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สิ่งเหล่านั้นยังมีไตรลักษณ์ ทุกข์ก็มี สมุทัยก็มี นิโรธก็มี มรรคก็มี อนิจจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพราะเป็นมรรคปฏิปทาและเป็นสมุทัยเป็นอริยสัจ จึงมี อนิจจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ในธรรมเหล่านั้นเพราะยังเป็นสมมุติ เมื่อสมมุติยังมีมากน้อยเพียงใด ไตรลักษณ์จะต้องมีอยู่ในนั้น เพราะเป็นสมมุติเช่นเดียวกัน
เมื่อได้หลุดพ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวงถึงขั้นวิมุตติเต็มหัวใจแล้ว พ้นแล้วจากวิสัยของสมมุติทั้งหลายที่จะเอื้อมถึง จิตของผู้ที่หลุดพ้นแล้วนั้นจึงไม่มีคำว่าไตรลักษณ์ ไม่มีคำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สุข ทุกข์ เวทนาทั้งหลายจึงเข้าไม่ถึง เพราะอันนี้เป็นสมมุติ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา เหล่านี้ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นสมมุติทั้งนั้น จิตนั่นเป็นจิตวิมุตติเข้ากันได้ยังไง เข้าไม่ได้ รู้เอง อ๋อ เป็นอย่างนี้ เวทนาในจิตของพระอรหันต์ไม่มีก็รู้เอง ก็มีแต่ในธาตุในขันธ์เจ็บนั้นปวดนี้ก็รู้ แต่ไม่สามารถเข้าไปซึมซาบถึงใจได้เพราะใจเป็นอฐานะที่สิ่งเหล่านี้จะซึมซาบได้แล้ว
นี่พวกเราทั้งหลายฟังอยู่เวลานี้ฟังธรรมประเภทใด ฟังธรรมพระพุทธเจ้าปรินิพพานในอินเดียได้ ๒,๕๐๐ ปีนั้นเหรอ แล้วอริยสัจอยู่ที่ไหน อยู่โน้นหรืออยู่ที่ไหนเวลานี้อริยสัจน่ะ อยู่เมืองอินเดียโน้นเหรอ อยู่ที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นเหรอ อยู่ปรินิพพานของพระสาวกทั้งหลายที่ผ่านไปแล้วหลายๆ พันปีนั้นเหรอ นั่นเป็นเรื่องของท่าน เรื่องของเราทรงตัวอยู่ด้วยความเป็นมัชฌิมา คือพอเหมาะพอดีอยู่กับความเป็นอยู่ของเราเวลานี้ เราพิจารณาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ประกาศกังวานขึ้นมาจาก สมุทัย อริยสจฺจํ รู้อยู่ภายในจิตใจจะเป็นที่ไหนไป นนฺทราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา อยู่ที่ไหน นี่ละสมุทัย ก็อยู่ที่หัวใจของเรา แล้วก็ เสยฺยถีทํ อีกเป็นเครื่องรับกัน สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป จนกระทั่ง สมฺมาสมาธิ อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา ใครเป็นผู้ปฏิบัติ ใครจะนำมาสังหารกิเลส กิเลสอยู่ที่ตรงไหนก็นำมรรคเข้ามาสังหารที่ตรงนั้น หลุดพ้นกันที่ตรงนั้น ไม่ได้หลุดพ้นที่เมืองอินเดีย นี่มัชฌิมาฏิปทาอยู่กับเราผู้ปฏิบัติอยู่เวลานี้ จะพากันหลงไปไหน
ผู้ที่ว่ามรรคผลนิพพานสิ้นสุดไปแล้ว พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแสนนานแล้ว มรรคผลนิพพานหมดเขตหมดสมัยไปแล้ว นั่นคือคนตาบอดพูด มันหลับตาพูด ไม่เคยภาวนา เอ้า ภาวนาให้เห็นดูซิน่ะ พระพุทธเจ้าเวลาปรินิพพานท่านบอกว่า เราจะขนมรรคผลนิพพานของท่านทั้งหลายไปหมดเหรอ ท่านบอกอย่างนั้นเหรอ กิเลสของท่านทั้งหลายก็ไม่ให้มี จะขนไปด้วยกันหมดเรียบวุธเลยอย่างนั้นเหรอ ไม่เห็นมี ไม่มีในคัมภีร์ใด ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ก็มีอยู่เต็มในหัวใจเราเมื่อ สมุทัย อริยสจฺจํ ยังมี เมื่อมรรคมีกำลัง นิโรธดับกิเลสจนได้ไม่สงสัย นี่มีอยู่ภายในจิตใจของเรา จึงว่ามัชฌิมา ท่านว่ามัชฌิมา พอเหมาะพอดี นั่นเป็นเรื่องของท่าน นี่เป็นเรื่องของเรา
สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว ชอบที่ไหน ให้ดำเนินตามที่ท่านสอนนั่นซี สวากขาตธรรมไม่ได้ว่าตถาคตไปแล้ว สวากขาตธรรมเหลวไหลนะ ท่านไม่ได้ว่านี่นะ ตรัสไว้อย่างไรแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้น จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ดังที่ท่านรับสั่งพระอานนท์ถึงการที่พระอานนท์มีความโศกเศร้าโศกาอาลัยกับพระองค์ ก็จะให้เราสอนอะไรอีกอานนท์ อะไรๆ เราก็สอนหมดแล้ว ก็คือว่าลงในสวากขาตธรรมหมด ไปก็ไปเฉพาะพระองค์เท่านั้น ท่านไม่ได้กอบโกยเอามรรคผลนิพพานของผู้บำเพ็ญทั้งหลายไปด้วยนี่นะ
เราปฏิบัติตัวของเราอยู่นี่ก็เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้บูชาตถาคต เอาลงตรงนั้นซี แล้วผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ก็ให้เห็นซิว่าตั้งแต่ขั้นสมาธิไป สมาธิเป็นยังไงก็เห็น อ๋อ นี่พระพุทธเจ้าเคยเห็นมาแล้วเคยรู้มาแล้ว นี่ก็เห็น สมาธิทุกขั้นพระพุทธเจ้ารู้ฉันใดเราก็รู้แล้ว ปัญญาเอ้าถึงขั้นไหนจนถึงขั้นพังกิเลสลงหมด พระพุทธเจ้าพังได้ฉันใดเราก็พังฉันนั้น นี่ละเห็นพระพุทธเจ้าเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต เห็นเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น อ๋อ เป็นอย่างนี้
สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศกังวานเป็นวาระสุดท้ายเต็มหัวใจ ถามใคร แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงหน้าเรานี้ก็ไม่ทูลถาม ถามท่านทำไม สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมที่มีฤทธิ์มีเดช ประทานไว้แล้วทุกหัวใจของผู้ปฏิบัตินี่ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ละซี พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว สนฺทิฏฺฐิโก พังทลายไปแล้วทั้งๆ ผู้ปฏิบัติดีมีอยู่ ควรที่จะได้รับทราบความจริงของตัวกลับไม่รับทราบ นี่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น สนฺทิฏฺฐิโก ติดแนบอยู่กับการปฏิบัติ เอ้า ปฏิบัติไปเถอะมากน้อยเพียงไรจะรู้ขึ้นกับตัวๆ แล้วจะสงสัยถามพระพุทธเจ้าหาอะไร พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
นี่วิตกวิจารณ์ถึงเรื่องการประพฤติปฏิบัติของหมู่ของคณะ ค่อยเรียวลงไปแหลมลงไป กุดลงไปด้วนลงไป อันไหนที่ให้ระมัดระวัง อันไหนให้กลัวมันกลับกล้า อันไหนให้กล้ากลับกลัวไปอย่างนั้น ไม่สนใจ นี่ละศาสนาเสื่อมให้ดูหัวใจเรานะ เราอย่าไปดูว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วศาสนาเสื่อม มันเสื่อมอยู่ที่หัวใจนี้ คนลงนรกทั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็มากต่อมาก สัตว์ทั้งหลายตกนรกได้สบาย ๆ มันไม่เสื่อมตกนรกได้ยังไง ไม่มีความชั่วตกนรกได้ยังไง ผู้ไปสวรรค์ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็ยังไปได้ อย่าว่าแต่ไปในขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้นเลย พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ผู้มีความดีก็ย่อมไปสวรรค์ไปนิพพานได้ เช่นเดียวกับพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นั้นแล ให้ทำความเข้าใจกับตนอย่างนี้ซิ จะสมกับว่าธรรมนั้นท่านสอนลงที่หัวใจของเรา ผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมมุ่งต่อมรรคต่อผล จะได้รู้ได้เห็นประจักษ์ใจของตัวเอง ด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่สงสัย
อยู่ให้ได้ภูมิใจในตัวเองในความเพียรของเรา นั่ง ยืน เดิน นอน ให้ได้ภาคภูมิใจกับความเพียรของเจ้าของ ความเพียรดี สติดี ปัญญาดี ระมัดระวังเจ้าของดีอยู่ตลอดเวลา นั่นละเป็นที่ภูมิใจของผู้นั้นไม่ว่าอิริยาบถใด อะไรจะมีคุณค่ามากยิ่งกว่าหัวใจนี้ และโทษมากที่สุดก็เพราะหัวใจนี้ขาดความเอาใจใส่ ขาดความดูแลรักษา ทอดทิ้งก็กลายเป็นของหาคุณค่าราคาไม่ได้ จมอยู่ในนรกอเวจี ก็เพราะความปล่อยใจปล่อยตัวนั่นแล
ไปอยู่ที่ไหนก็ตามขึ้นชื่อว่าหัวใจที่ทรงไว้ซึ่งความลามกจกเปรตแล้ว จะมีตั้งแต่ฟืนแต่ไฟเผาไหม้อยู่ตลอดเวลานั่นแล อย่าไปถามหานรกหลุมไหนๆ ให้ดูหัวใจเจ้าของกับไฟกิเลสตัณหาอาสวะ กับไฟความชั่วช้าลามกที่เผาอยู่ในหัวใจนั่นมันก็รู้เอง ไฟอันนี้จะไม่เผาที่ไหน จะเผาที่หัวใจ และใจดวงถูกเผาด้วยความชั่วช้านี้แลจะไปนรกเมืองผีน่ะ ถ้าใจของเรามีความสงบร่มเย็น นี่เอาแล้วเริ่มแล้วเห็นแล้วความสุขอยู่ตรงนี้ ระมัดระวังอย่างนั้นซิผู้ปฏิบัติ
เหลวไปเลวไปๆ กุดลงไปด้วนลงไป จนจะไม่มีอะไรเหลือแหละ ก็ไม่ทราบจะอยู่เพื่ออะไร อยู่ไม่มีความหมาย ไปไม่มีความหมาย เป็นไม่มีความหมาย ตายไม่มีความหมาย หมดคุณค่าหมดสาระที่จะเป็นที่ภูมิใจของตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วยังไม่ตายก็ตามเถอะ มันก็คือคนตายแล้วนั่นแล หาสาระไม่ได้ พ้นจากอัตภาพนี้แล้วก็หาสาระไม่ได้ เช่นเดียวกับที่มีสภาพอยู่นี้มันยังหาสาระไม่ได้นั่นเอง เวลาตายก็เป็นแบบเดียวกัน
ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ประกาศกังวานอยู่ในผู้ปฏิบัติ ผู้ไม่ปฏิบัติไม่ต้องไปพูด พูดทำไม สัตว์เดรัจฉานเขาไม่ได้ปฏิบัติเขาสนใจอะไรกับมรรคผลนิพพาน ผู้ไม่ปฏิบัติก็ทำนองเดียวกันนั้น อย่าไปสนใจอย่าฟังไอ้ปากสกปรก ฟังปากเป็นอรรถเป็นธรรมฟังปากที่สะอาดแหลมคมเหมือนพระพุทธเจ้าซิ เสียงอรรถเสียงธรรมเป็นเสียงที่สว่างกระจ่างแจ้ง นำคนโง่ให้ฉลาด นำคนทุกข์ให้ได้รับความสุขความสบาย คือธรรมของพระพุทธเจ้า ฟังเสียงธรรม ตรองตามธรรม ปฏิบัติตามธรรม
อย่าไปฟังเสียงปากลมปากแล้งปากสกปรกโสมม ปากอมขี้มาพูด พ่นไปที่ไหนมีแต่เหม็นคลุ้งไปหมด นั่นปากอมขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันออกมาจากหัวใจแล้วก็ไหลออกมาทางปาก เจ้าของไม่เคยรู้เคยเห็นมรรคผลนิพพานแล้วไปอวดรู้อวดฉลาด มรรคผลนิพพานหมดแล้วๆ มันไปได้ความรู้ความฉลาดมาจากไหนถึงว่ามรรคผลนิพพานหมด ก็ตัวของมันเองไม่ได้ปฏิบัติ จะเอามรรคผลนิพพานมาจากไหน ก็พูดออกมาจากความโง่ของเจ้าของ ประกาศขายความโง่ของเจ้าของนั่นเอง ถ้าเก็บไว้เฉยๆ คนอื่นจะไม่รู้ว่าคนนี้โง่ขนาดไหน เมื่อประกาศออกมาอย่างนั้นคนอื่นเขาก็จะรู้ เพราะคนในโลกนี้ไม่ใช่เป็นคนโง่แบบเดียวกัน คนฉลาดกว่านั้นยังมี ว่าเราจน คนมั่งมียังมี แน่ะ เราอย่าเข้าใจว่าเขาจะจนกับเราทั้งโลก อย่าเข้าใจว่าเขาจะโง่กับเราทั้งโลก ผู้ฉลาดกว่านั้นยังมี ให้เอาคำพูดเหล่านี้ไปเป็นคติเครื่องเตือนใจเจ้าของ
หูมีก็ให้เลือกฟังในสิ่งที่ควรฟัง ตามีให้เลือกดูในสิ่งที่ควรดู จมูก ลิ้น กาย อะไรสัมผัสสัมพันธ์ ให้เลือกคิดเลือกอ่านในสิ่งที่จะเป็นผลเป็นประโยชน์ สิ่งใดที่ไม่เป็นผลเป็นประโยชน์ปัดออกๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เคยทำความเดือดร้อน หรือล่มจมให้แก่เราและผู้เกี่ยวข้องมามากต่อมากแล้ว ให้ปัดออกๆ อย่าไปเคยชินถ้าไม่อยากจม
เอาละการเทศน์เห็นว่าสมควร |