งานสำคัญของพระ
วันที่ 18 กรกฎาคม. 2532 เวลา 19:00 น. ความยาว 58.09 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒

งานสำคัญของพระ

 

วันนี้เป็นวันย่างเข้าฤดูฝน ตรงกับวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๘ ตามหลักพระวินัย พระสงฆ์ภิกษุบริษัทก็อธิษฐานพรรษากันในวันนี้ เรียกว่าวันนี้เป็นวันเข้าพรรษา ด้วยความตั้งอกตั้งใจจงใจจริงๆ ว่าจะอยู่ในสถานที่ที่ตนอธิษฐานจำพรรษานั้นตลอด ๓ เดือน ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ จะไม่หนีไปแรมวันแรมคืนที่ไหน ข้อยกเว้นก็คืองานที่จำเป็น ที่ควรจะสัตตาหกรณียกิจไปได้ภายใน ๗ วัน เช่น บิดามารดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์เจ็บไข้ได้ป่วย พระมหากษัตริย์ทรงนิมนต์ หรือวัดวาอาวาสชำรุด เช่น ศาลาเป็นต้น หาที่พักที่อยู่ไม่ได้ ต้องหาทัพสัมภาระต่างๆ มาซ่อมกุฏิหรือซ่อมศาลาที่ชำรุดทรุดโทรม ก็ไปได้ภายใน ๗ วัน ในวัดนั้นไม่มีพระปาฏิโมกข์ อันนี้ก็ให้สัตตาหะไปเรียนได้ภายใน ๗ วันแล้วกลับมา อย่างน้อยค้างที่วัด ๑ คืนแล้วค่อยไปอีก นี่ครั้งพุทธกาลท่านดำเนินมาอย่างนั้น มีพุทธบัญญัติไว้อย่างนั้น

ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นอะไร จะไปแบบเถลไถลไม่มีกฎมีเกณฑ์ไม่มีหลักธรรมหลักวินัย ทั้งๆ ที่หลักธรรมวินัยมีอยู่อย่างนั้นก็เรียกว่าพระจรจัด พระโกโรโกโส หาเหตุหาผลไม่ได้ นั้นไม่ดีอย่างยิ่ง สำหรับวัดนี้ก็เคยปฏิบัติกันมาดังที่เป็นมาแล้ว ไม่ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอันขาด หากมีความจำเป็นจะไปในกิจใดการใดงานอันใด ด้วยความจำเป็นใด ก็ต้องได้ปรึกษาปรารภกับครูกับอาจารย์ที่ตนอาศัยอยู่ก่อนแล้วค่อยไป นอกจากท่านมีกิจจำเป็นออกนอกวัดไป แต่เรื่องราวได้เกิดขึ้นหลังจากท่านไปแล้ว ท่านไปแล้วยังไม่กลับมา แต่เป็นความจำเป็นที่รีบด่วน อันนั้นก็ต้องได้บอกกับพระที่รองกันลงมา เพื่อให้รับทราบในกิจการจำเป็นของตนอันเป็นเรื่องที่งามสำหรับพระเรา นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร

เขตอาวาสที่เปล่งวาจาเข้าพรรษาเมื่อสักครู่นี้ก็หมายถึงกำแพงวัด เฉพาะวัดป่าบ้านตาดเรานี้ เป็นขอบเขตแห่งอาวาสที่จะต้องอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส คือ ๓ เดือน ไม่หนีไปที่ไหนแรมวันแรมคืน แม้จะออกจากวัดไปก็ต้องให้อรุณขึ้นเป็นวันใหม่ รู้ได้อย่างชัดเจนว่าสว่างขึ้นมาเป็นวันใหม่แล้ว จึงค่อยออกจากวัดนี้ไป ถ้ายังไม่สว่างออกไปก็ไม่พ้นโทษหรือขาดพรรษาจนได้ นี้ก็ทราบกันในหลักพระวินัย ท่านอธิบายไว้ชัดเจนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องอธิบายอะไรมากมาย

การอยู่จำพรรษาหรือออกพรรษาไปในครั้งพุทธกาล ท่านถืองานสำคัญได้แก่งานจิตตภาวนา ไม่ใช่งานเร่ๆ ร่อนๆ เถลไถล งานไปเที่ยวสร้างนั้นสร้างนี้ยุ่งนั้นยุ่งนี้รบกวนประชาชนญาติโยม อย่างนั้นไม่ปรากฏในหลักธรรม ตำรับตำราท่านมีต่างคนต่างได้เห็นได้อ่านได้ดู ส่วนมากต่อมากมีแต่ไปเที่ยวประกอบความพากเพียร อยู่ในป่านั้น เขานั้น ถ้ำนั้น เงื้อมผานั้น สถานที่ใดเป็นที่สงัดวิเวก ท่านย่อมเสาะแสวงหาที่เช่นนั้น เพื่อประกอบความพากเพียรทางด้านจิตใจ ที่เรียกว่าจิตตภาวนา นี่พระครั้งพุทธกาลท่านดำเนินอย่างนั้น ให้เป็นเนื้อเป็นหนังจริงๆ เป็นรากเหง้าเค้ามูลหรือเป็นแก่นเป็นสารของพระศาสนาจริงๆ ในงานของพระที่กล่าวเหล่านี้ นี่แหละงานของพระในครั้งพุทธกาลที่สำเร็จงานขึ้นมา ก็มาเป็นสรณะของพวกเราให้ได้กราบไหว้บูชาท่านมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

พระพุทธเจ้าก็ทรงบำเพ็ญงานจิตตภาวนาอยู่ถึง ๖ ปี ผิดถูกประการใดนั้นก็เป็นเรื่องของพระองค์ ซึ่งไม่ได้รับการแนะนำสั่งสอนจากผู้ใด ผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดาดังที่เราเห็นในตำรับตำรา แต่ก็ไม่พ้นที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นศาสดาเอกของโลกขึ้นมาด้วยจิตตภาวนา คือภาวนาอานาปานสติ ในคืนวันเดือน ๖ เพ็ญ และได้ตรัสรู้ในคืนวันนั้น นี่ศาสดาของเราท่านได้ตรัสรู้ด้วยการบำเพ็ญจิตตภาวนา ธรรมได้ปรากฏเด่นขึ้นในโลกขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น จนกระเทือนไปถึงสามแดนโลกธาตุ ก็เพราะได้บรรลุจากจิตตภาวนา และธรรมสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมา เพราะจิตตภาวนาเป็นผู้เบิกทาง หรือเป็นผู้ขุดค้นขึ้นมาให้ธรรมนี้ปรากฏแก่โลก

พระสงฆ์สาวกก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ยินได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแล้ว ด้วยความสนใจใคร่ต่ออรรถต่อธรรม และใคร่ต่อความหลุดพ้นจากทุกข์อย่างเต็มหัวใจอยู่แล้ว พอได้ยินได้ฟังอรรถธรรมจากพระพุทธเจ้า เช่นพระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นต้น เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้เสาะแสวงหาทางออกอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่ายังไม่ได้เห็นหนทาง ที่พอจะออกเพื่อความพ้นภัยได้ เมื่อพระพุทธเจ้ามาเปิดทางออกให้ ว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตฺพา เป็นต้นเพียงเท่านี้ แล้วยกมัชฌิมาปฏิปทาขึ้น นอกจากทางสองแยก คือแยกซ้าย แยกขวา ถ้าจะพูดตามความแยกของเรา ว่าอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ทั้งสองอย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์ แล้วตรัสมัชฌิมาปฏิปทาให้เข้าสู่ศูนย์กลางแห่งทางสองแยกนี้ ตรงแน่วเข้าสู่อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นปฐมสาวกในเบื้องต้น

เมื่อพระองค์ได้ทรงแสดงทั้งฝ่ายผิด แสดงทั้งฝ่ายถูก มีมัชฌิมาปฏิปทาเป็นสำคัญให้เป็นที่เข้าใจแล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นปฐมมรรคในขั้นเริ่มแรกขึ้นมา ถึงกับเปล่งอุทานขึ้นมาว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ ในปริยัติท่านแสดงไว้เรียบๆ ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับเป็นธรรมดา แต่พระอัญญาโกณฑัญญะที่ได้สะดุดหรือได้เจอธรรม เรียกว่า อริยธรรม ประจักษ์ในหัวใจในขณะนั้น ย่อมจะอดเป็นความตื่นเต้นขึ้นมาภายในใจไม่ได้ ถึงกับว่าได้เปล่งอุทาน คำว่าอุทานต้องเป็นความสะดุดกันอย่างแรง

จึงอยากจะพูดว่า สิ่งใดก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้น นี่คือความถึงใจของผู้ที่รู้ธรรมเห็นธรรมเปล่งอุทานขึ้นมา ย่อมไม่เปล่งธรรมดาเรียบๆ ย่อมเปล่งขึ้นมาด้วยความสะดุดตื่นเต้น แล้วก็ไปรับกันที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระอุทานรับพระอัญญาโกณฑัญญะในวาระสุดท้ายด้วยว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ได้รู้แล้วหนอ นี้ก็ถึงพระทัยของพระองค์เหมือนกันว่าได้สักขีพยานแล้วในเบื้องต้น คือพระอัญญาโกณฑัญญะ ถึงว่าพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอๆ

ดังนั้นพระอุทานจึงไม่ได้พูดธรรมดาเรา คำว่าอุทานต้องเป็นสิ่งที่สะดุดหรือตื่นเต้นผิดธรรมดา ท่านผู้หวังความหลุดพ้นจากทุกข์อยู่แล้ว ย่อมเข้าใจและหาทางออกโดยทันทีไม่ชักช้า ดังพระอัญญาโกณฑัญญะหรือเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นสำคัญ ท่านเหล่านี้เป็นผู้หาทางออกอยู่แล้ว พอพระพุทธเจ้าเปิดทางออกให้เท่านั้นก็ดีดผึงออกไปเลย นี่ละ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรา จะมีจำนวนมากเพียงไรก็ตาม ให้พึงทราบว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เหล่านี้นั้นได้สำเร็จขึ้นมาจากจิตตภาวนาเป็นสำคัญ ไม่ได้สำเร็จขึ้นมาจากกิจอื่นงานใด ที่จะให้เหนืองานจิตตภาวนา คือการบำเพ็ญตนเพื่อชำระกิเลสภายในจิตใจนี้จนถึงกับกิเลสจางลงไปๆ แล้วสิ้นจากกิเลส จิตใจสว่างจ้าขึ้นมาด้วยความบริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพาน จนเป็นสรณะของท่านอย่างเต็มที่ แล้วก็กลายมาเป็นสรณะของชาวพุทธทั้งหลายจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ท่านดำเนินด้วยจิตตภาวนาเป็นสำคัญ

หลักศาสนธรรมที่แสดงไว้อย่างเด่นชัดสำหรับภิกษุบริษัทนั้น ท่านแสดงทางด้านจิตตภาวนามากกว่าด้านอื่นใด ตามตำรับตำรามีอย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นพระที่ทรงมรรคทรงผล ทรงธรรมอันเลิศภายในจิตใจ นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระสาวกองค์สุดท้าย และเป็นสาวกมาโดยลำดับลำดาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วไม่หยุดหย่อน บรรลุธรรมอยู่เรื่อยๆ องค์นั้นบรรลุธรรมอยู่ในที่นั้น ในเขาลูกนั้น ในป่านั้นในอิริยาบถนั้น ด้วยความพากเพียรคือจิตตภาวนากันทั้งนั้น จิตตภาวนาจึงเป็นรากฐานสำคัญของศาสนา มีอริยสัจเป็นรากแก้วอันสำคัญ หรือเป็นแก่นเป็นแกนอันสำคัยของศาสนธรรม หรือของพุทธศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าของเรา

การภาวนาก็คือการบำเพ็ญใจให้รู้สึกตัวด้วยสติอยู่โดยสม่ำเสมอ ธรรมเครื่องกำกับใจคือคำบริกรรมด้วย พุทโธๆ เป็นต้น สติปัฏฐานและอริยสัจ ๔ นี่เป็นธรรมเครื่องพิจารณาให้มีความชำนิชำนาญคล่องแคล่ว เพราะเป็นเครื่องบุกเบิกสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายซึ่งเป็นอริยสัจๆ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นี้เป็นฝ่ายผูกมัด นี้เป็นฝ่ายบีบบังคับหรือเป็นฝ่ายชั่ว มรรคมีศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่า สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป จนกระทั่งถึง สมฺมาสมาธิ นี้เป็นฝ่ายชำระซักฟอกเป็นฝ่ายบุกเบิก เพราะฉะนั้นการภาวนา จึงต้องได้นำธรรมเหล่านี้เข้าไปติดแนบอยู่กับใจโดยสม่ำเสมอ ไม่เลือกว่าอิริยาบถใด ต้องหมายถึงขณะจิตเป็นสำคัญ

สำหรับผู้ที่ดำเนินเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์โดยถ่ายเดียวแล้ว จะไม่มีกาลสถานที่หรืออิริยาบถใดสำคัญยิ่งกว่าความจดจ่อต่อเนื่องด้วยสติกับจิตใจของตน ที่ถูกข้าศึกบีบบังคับอยู่ตลอดเวลา ได้แก่กิเลสประเภทต่างๆ เพราะฉะนั้นความเพียรอย่างน้อยจึงต้องมีสติแนบไปจนได้ ปัญญาในเบื้องต้นคิดเป็นครั้งเป็นคราว แต่สตินี้ติดแนบตั้งแต่ต้นแห่งการบำเพ็ญ เช่น เราบำเพ็ญบริกรรมภาวนาเป็นต้น เพื่อสำรวมจิตใจซึ่งเคยฟุ้งซ่านมาเพราะอำนาจของกิเลสนั้นๆ ให้เข้าสู่ความสงบด้วยบทธรรม อันเป็นเครื่องกล่อมใจหรือผูกมัดใจให้สงบ มีคำบริกรรมเป็นสำคัญ

เราจะบริกรรมในคำใดก็ตาม สติต้องติดแนบอยู่กับคำบริกรรมนั้น สติติดแนบอยู่กับคำบริกรรมใด ความรู้คือจิตนั้นย่อมจะติดแนบอยู่ด้วยกัน จะกำหนดเฉพาะอานาปานาสติไม่บริกรรมคำใด ก็ต้องถือลมเป็นเครื่องหมายที่เกาะที่ยึดของจิตโดยสม่ำเสมอ ด้วยความมีสติอย่าให้เผลอ สติก็คือองค์มรรคนั่นเอง สมฺมาสติ นั่น เมื่อสติมีความติดแนบอยู่กับใจ ก็เท่ากับเป็นการรักษาใจที่จะคิดไปในแง่ต่างๆ ย่อมเป็นการกระเทือนสติที่รับรู้อยู่แล้วๆ ให้รู้สึกตัวๆ แล้วหักห้ามความคิดทั้งหลายที่ไม่ควรจะคิดไม่ควรจะปรุงนั้นๆ ไว้ได้ด้วยอำนาจของสติ จนใจมีความสงบเยือกเย็นได้

เมื่อใจสงบได้ใจย่อมมีความสุข ใจย่อมมีที่ยับยั้งตัวเองได้ ไม่เตลิดเปิดเปิงจนหาที่เกาะที่ยึดไม่ได้ ถูกไฟคือกิเลสเผาไหม้ไปตลอดกาลแห่งความคิดความปรุงทั้งหลาย ถ้ามีสติแล้วจะไม่เป็นอย่างนั้น จิตย่อมยับยั้งตนให้เข้าสู่ความสงบจนได้ ไม่มีอะไรนอกเหนือจากสตินี้ไปในขั้นเริ่มแรกก็ดี ขั้นกลาง ขั้นละเอียดก็ดี สติจึงเป็นพื้นฐานอันสำคัญในการบำเพ็ญภาวนา แม้แต่กิจอื่นใดก็ตามจะพ้นจากสตินี้คอยกำกับอยู่ไม่ได้

สติจึงเป็นธรรมสำคัญ เว้นไม่ได้ในกิจการทุกอย่าง ไม่ว่ากิจนอกการใน ยิ่งเป็นเรื่องภาวนาด้วยแล้ว สติยิ่งเป็นของสำคัญมากที่จะติดแนบตลอดเวลา นี่แลความเพียรที่ว่าลำบากๆ ก็เพราะกิเลสมันรุนแรงมันผาดมันโผนอยู่ภายในหัวใจของสัตว์โลก ย้อนเข้ามาก็คืออยู่ในหัวใจเราผู้ปฏิบัติบำเพ็ญเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์เป็นสำคัญ มันผาดโผนโลดเต้นอยู่ภายในจิตใจมานานเท่าไร การหักห้ามการต่อสู้การคัดค้านต้านทาน จึงต้องได้ใช้สติและใช้ความเพียรพยายามทุกแง่ทุกมุมเป็นเครื่องช่วยกัน ที่เรียกว่าความเพียร รวมตัวเข้ามาสู่สติไม่ขาดวรรคขาดตอน จึงต้องได้รับความลำบากในขั้นเริ่มแรกแห่งการบำเพ็ญเพียร

คำว่าลำบากก็เพราะกระแสของกิเลสมันรุนแรง ต้องได้หักห้ามหรือต่อสู้กันอย่างหนัก ไม่ใช่เราต่อสู้กับสติ ไม่ใช่เราต่อสู้กับปัญญา ไม่ใช่เราต่อสู้กับความเพียร ไม่ใช่เราต่อสู้กับความทุกข์ยากเฉยๆ แต่เป็นความทุกข์ยากที่กิเลสผลิตขึ้นมาต่างหาก ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบความเพียรในขั้นเริ่มแรก จึงต้องหนักหน่วง หรือใช้ความหนักหน่วงในทางความพากเพียรเป็นอย่างมาก เพราะอำนาจของกิเลสมันรุนแรง สติต้องได้โหมตัวเข้า เสริมกำลังเข้ามา ตั้งอยู่เรื่อยๆ ใช้ความพยายามอยู่เรื่อยๆ ท่านเรียกว่าความเพียร

อดก็อดเพื่อต่อสู้กิเลสไม่ใช่อดเพื่ออะไร พิจารณาก็พิจารณาเพื่อให้รู้ช่องรู้ทางของทางออกทางเข้าของกิเลส ว่ามันออกไปในแง่ใดมุมใด ไปกว้านเอาสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยมาจากเรื่องอันใด กว้านเข้ามาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง กิเลสไปกว้านเอาสิ่งลามกจกเปรตทั้งหลายเข้ามาสู่ภายในใจเราแล้วผลเป็นอย่างไรบ้าง ปัญญาใช้ก็ต้องใช้อย่างนั้น เมื่อเราทราบโทษของมันแล้วก็ต้องมีความเข็ดหลาบ ไม่ฝืนคิดสิ่งที่เป็นภัยดังที่เคยเป็นมาอีก งดเว้นไปโดยลำดับด้วยการต่อสู้ต้านทานกัน

เพราะจิตอยากคิด จิตอยากรู้อยากเห็น จิตอยากได้ยินได้ฟัง ซึ่งส่วนมากอยากจะพูดว่าร้อยทั้งร้อยในขั้นเริ่มแรก มีแต่ความอยากเพื่อเป็นฟืนเป็นไฟมาเผาใจทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่จะตัดไฟออกจากตน จึงต้องได้ใช้ความเพียรอย่างหนัก สติก็ตั้งอย่างไม่ลดละ ความเพียรความอดทนทุกด้าน จึงต้องได้โหมตัวเข้ามาสู่กิเลสประเภทความอยาก อันเป็นของสำคัญที่จะรั่วไหลออกไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ที่สุดธรรมารมณ์ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจ ก็เต็มไปด้วยความอยาก จึงต้องได้ใช้ความเพียรอย่างมากประหนึ่งจะไม่มีวันปลงวางเลย ขั้นเริ่มแรกเป็นเช่นนี้ นี่ท่านเรียกว่าภาวนา ให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบเอาไว้ ท่านผู้ที่จะสังหารทุกข์ ต้องสังหารกิเลสซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์อันสำคัญภายในจิตใจนี้ ด้วยความเพียรในทางมรรคคือสติปัญญาเป็นสำคัญ

เพียรเฉยๆ เพียรไม่ถูกทางมรรคก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มรรคท่านเรียกว่ามรรคสัจ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป ก็คือปัญญา สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ นี้ล้วนแล้วตั้งแต่เรื่องของมรรคที่จะรวมกำลังเข้าสู่ความคล่องตัวด้วยปัญญา สติมีความแกล้วกล้าสามารถ ปัญญามีความฉลาดแหลมคมแล้ว จะสามารถตัดกิเลสภายในใจไปได้โดยลำดับลำดา ใจก็จะปรากฏเป็นความสว่างไสวขึ้นมา นี่เรื่องภาวนาเป็นอย่างนี้ นี่ท่านเรียกว่าภาวนาชำระสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในใจออก

เพราะฉะนั้นท่านผู้บำเพ็ญธรรม ประเภทเพื่อรื้อถอนทั้งรากเหง้าเค้ามูลกิเลสจนหมดสิ้นไปจากใจ จนกระทั่งอวิชชาให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง จึงต้องได้ใช้มรรคอย่างเต็มที่ทีเดียว มรรคอ่อนกิเลสมีกำลังมากกว่า สมุทัยมีกำลังมากกว่าก็แก้กันไม่ตก จึงต้องสั่งสมมรรคขึ้นให้มาก ความเพียรตั้งไม่หยุด เพียรด้วยสติ มีสติรู้เท่าถึงความคิดความปรุงของตัวเอง รู้เท่าความเคลื่อนไหวของตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นทางเดินของกิเลส ออกมาจากภายในสู่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ส่วนมากมีแต่สิ่งเป็นภัย ผู้ปฏิบัติต้องรอบคอบต่อสิ่งเหล่านี้อยู่โดยสม่ำเสมอ

อย่างหยาบไม่ควรดูไม่ต้องดู บังคับเอาไว้ไม่ให้ดู ไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยินในสิ่งที่เป็นภัย หักห้ามเอาไว้ นี่ก็เป็นการต่อสู้กันวิธีหนึ่งก็ย่อมเป็นทุกข์ เพราะกิเลสดึงไปข้างหน้า ธรรมะฉุดลากย้อนเข้ามาข้างหลัง เพราะธรรมะก็หวังชัยชนะ กิเลสก็เป็นไปตามอำนาจของมัน ที่เคยมีและมีอำนาจมากภายในจิตใจมานานแสนนาน จึงไม่ได้ยอมธรรมะเอาง่ายๆ นี่เองที่ได้ต่อสู้กันอย่างหนัก ในขั้นเริ่มแรกต้องเป็นอย่างนี้ในการปฏิบัติธรรม

ท่านผู้ที่สิ้นกิเลสอย่าเข้าใจว่าท่านไม่ลำบาก ท่านไม่ทำอย่างนี้ ผู้ที่ง่ายก็ยกไว้เป็นประเภทหนึ่ง เช่นอุคฆฏิตัญญู ผู้ที่รู้ได้อย่างรวดเร็วเราก็เคยเห็นในตำรับตำรา ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว นั้นเป็นผู้ที่พร้อมแล้วที่จะรู้จะเห็น ที่จะผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเดินทางก็จวนจะถึงบ้านแล้ว ถ้าข้ามแม่น้ำก็จวนจะถึงฝั่งแล้ว มันต่างกันอย่างนี้กับผู้ที่อยู่ทางฝั่งนี้ กับผู้ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านที่ตนมุ่งหวังไม่ทราบว่ากี่สิบกี่ร้อยกิโลเมตร มันต่างกันอย่างนี้ แม้จะไปทางสายเดียวกันก็ตาม ผู้ที่อยู่ระยะใกล้ชิดติดกับบ้านที่ตนจะถึงนั้นก็มี ผู้ที่ห่างไกลกว่านั้นก็มี ห่างอยู่ที่ต้นทางโน้นก็มี

การปฏิบัติของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย จึงต้องมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน เราอย่าเอาเรื่องของท่านที่ง่ายที่สุดนั้น มาใช้กับเรื่องของเราที่ยากที่สุด มันเข้ากันไม่ได้ กิเลสของท่านมีน้อย กิเลสของเรามีมาก สติปัญญาของท่านมีมาก สติปัญญาของเรามีน้อย ความเพียรของท่านเด็ด ความเพียรของเราอ่อนแอ อย่างนี้มันเข้ากันไม่ได้ อย่าเอามาเทียบเคียงกัน ให้ยกไว้เป็นประเภทๆ ของท่านผู้บำเพ็ญมา ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงหรือหนักเบาต่างกัน

เรายากขนาดไหนให้พึงทราบว่ากิเลสของเรานี้มันกำลังดื้อ เมื่อกิเลสของเรากำลังดื้อกำลังด้านหาญสู้ต่ออรรถต่อธรรมอย่างหนาแน่น เราจึงต้องทุ่มธรรมะให้หนักมือลงไป เพื่อกิเลสจะได้อ่อนกำลังลงไป นี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามจริตนิสัยของตน ไม่ผิดไม่พลาด ไม่อาจไม่เอื้อม เอาเรื่องของท่านที่ง่ายดายนั้นเข้ามาเป็นเรื่องล้างมือเปิบ จะเป็นความผิดหวังตลอดไป

ผู้บำเพ็ญทั้งหลายมีทั้งยากมีทั้งง่าย ดังที่ท่านว่า สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ท่านผู้ปฏิบัติทั้งสะดวกทั้งรู้ได้เร็วก็มี ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็วก็มี ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ทั้งปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้าก็มี เราอยู่ในประเภทใดแห่งการบำเพ็ญของเรา เราอย่ายกไปเทียบไปเคียงกับท่านผู้ใดในธรรมเหล่านี้ ไม่เป็นสิ่งที่จะเอาไปเทียบเคียง เพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับความเทียบเคียงนั้น เว้นแต่นำไปเทียบเคียงแล้วเป็นคติเครื่องเตือนใจของตนขึ้นมานั้นเป็นธรรม นั้นควรเทียบเคียง

แต่ความหนักความเบานี้ เราอย่าไปถือท่านผู้สะดวกสบาย มาเป็นความสะดวกสบายสำหรับเราทั้งๆ ที่กิเลสยังหนาแน่นผาดโผนอยู่มากภายในใจ ปัญญาเท่าแสงหิ่งห้อยก็ไม่มี เราอย่านำมาเทียบ ปัญญาของเราเพียงเท่านั้น ต้องได้ใช้สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรอย่างหนัก หนักก็หนักเถอะ หนักในการประกอบความพากเพียรนี้ ไม่ได้หนักเท่ากับเราไปจมอยู่ในแดนนรกกี่กัปกี่กัลป์อะไรเลย อันนั้นนานแสนนานทุกข์แสนทุกข์ ทรมานแสนทรมาน เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ทราบ เราจึงดื้อด้านหาญทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย เพื่อจมลงในแดนนรกนั้นๆ อีกไม่หยุดยั้ง นี่เรียกว่าจิตใจมันดื้อด้าน เพราะกิเลสพาให้ดื้อ กิเลสปิดบังเอาไว้ก็ไสเราไป เราก็เป็นผู้สอนง่ายเพราะกำลังน้อยนิดเดียว จะไปต้านทานกิเลสได้อย่างไร จึงต้องเป็นไปตามมัน

ทีนี้ความทุกข์ในการประกอบความเพียรนี้ จะทุกข์มากอะไรนักหนา ไม่ได้มากเลย ทุกข์ในการต่อสู้กับกิเลสนี้ สรณะของพวกเราท่านเคยทุกข์เคยผ่านมาแล้วด้วยกองทุกข์เหล่านี้ เหตุใดจะมีความทุกข์เฉพาะเราผู้ประกอบความพากเพียรเพียงคนเดียวรายเดียวนี้ เราคำนึงหรือไม่ว่าสาวกทั้งหลายนั้น ประเภทที่ยากลำบากท่านมีจำนวนเท่าไร มากยิ่งกว่าประเภทที่ง่ายนั่นเป็นไหนๆ ไม่ใช่มากธรรมดา มากเอาเสียอย่างมาก ท่านทำไมท่านผ่านไปได้

ท่านผ่านไปได้ก็เพราะการต่อสู้ หนักก็เอาเบาก็ไม่ถอย ถึงระยะที่หนัก เอ้า ยอมรับว่าหนัก ถึงระยะที่เบาก็ทราบว่าเบา เดินหรือก้าวเดินไปตามสายทางนั้น จะยากลำบากหรือง่ายเพียงไร ก็เป็นสายทางที่จำเป็นซึ่งเราจะต้องเดินด้วยกัน นี่กิเลสของเรามันมีความหนาแน่นขนาดไหน เราจะเอาความเพียรมาเพียงแบบล้างมือเปิบๆ อย่างนั้นตายทิ้งเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงต้องได้ใช้ความเพียรพยายาม หนักเท่าไรก็หนักเถอะลูกศิษย์ตถาคตไม่มีถอย

ความทุกข์ด้วยความเพียรเพื่อการแก้กิเลสสังหารกิเลสนี้ ไม่ใช่เป็นทุกข์ที่จะทำให้เรามีความล่มจมเหมือนไปตกนรกหมกไหม้อยู่นั้น ทั้งล่มทั้งจมทั้งทุกข์แสนสาหัสทรมานกี่กัปกี่กัลป์ก็ไม่พ้นจากนรกได้ อันนี้เราเพียงประกอบความพากเพียร ในชีวิตของเรานี้เอาตายเข้าว่าเลย ขีดเส้นให้เลยว่าลมหายใจนี้ยังมีอยู่มากน้อยเพียงไร เราจะต่อสู้จนกระทั่งสิ้นลมหายใจกับกิเลสทั้งหลายไม่มีคำว่าถอย

เอ้า ทุกข์ก็ทุกข์ไป โลกเคยทุกข์ เราทุกข์อย่างอื่นก็ทุกข์มามากแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรเท่าที่ควร แต่ทุกข์อันนี้ทุกข์เพื่อผลประโยชน์อันมหาศาล ทำไมเราจะไม่ยอมสละตัว เพื่อความทุกข์ต่อสู้กับกิเลสอันเป็นผลเลิศเลอ ซึ่งจะเกิดขึ้นข้างหน้าโดยลำดับลำดาเพราะความต่อสู้ของเรา เราต้องใช้วิธีนี้ นี่การประกอบความพากเพียร ขอให้ทุกท่านจำเอาไว้ ถ้าเราอยากเห็นเหตุเห็นผล เห็นความสัตย์ความจริง เห็นความประเสริฐเลิศเลอ หรือความภูมิใจของเจ้าของแล้ว จงดำเนินตามหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า เฉพาะอย่างยิ่งคือจิตตภาวนาเป็นสำคัญ ที่จะได้เห็นมรรคเห็นผล ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านได้รู้ได้เห็น และประกาศธรรมสอนโลกเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีแต่ท่านเห็นแล้วทั้งนั้นท่านถึงนำธรรมมาสอนโลก

ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ธรรมโมฆะ เป็นธรรมที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยทุกสิ่งทุกอย่าง จากความรู้จริงเห็นจริงของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติดำเนินตามนั้นจะไม่เป็นอื่น เราจะเป็นผู้ทรงทรงมรรคทรงผลโดยไม่อาจสงสัย ถ้าได้ดำเนินตามหลักศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้    เพราะศาสนานี้เป็นศาสนาที่เต็มด้วยมรรคด้วยผลด้วยนิพพาน   ความสิ้นจากกิเลสอาสวะประเภทต่าง ๆ  จนกระทั่งสิ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง  ก็ไม่นอกเหนือไปจากศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอริยสัจเป็นธรรมประกัน

ถ้าดำเนินตามหลักอริยสัจนี้แล้ว จะรู้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนปราศจากข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น ธรรมที่ท่านว่าเลิศประเสริฐขนาดไหน จะพุ่งขึ้นในท่ามกลางแห่งอริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยไม่ต้องสงสัย นั่นแลวิสุทธิธรรม วิสุทธิจิต เพราะอาศัยมรรคปฏิปทา มีสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรเป็นสำคัญ ชำระซักฟอกไม่หยุดไม่ถอย แล้วก็ผ่านพ้นขึ้นมาได้กลายเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลให้เห็นประจักษ์อยู่ในเพศของเรา อยู่ในเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่นี้แล เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมที่ทรงไว้ซึ่งมรรคซึ่งผล ให้เห็นประจักษ์กับผู้บำเพ็ญไม่เป็นอื่น นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก

การประกอบความเพียร ให้สังเกตประโยคพยายามของตนดังที่เคยอธิบายให้ฟังแล้ว เดินจงกรมเดินมากเป็นอย่างไร นั่งภาวนามากเป็นอย่างไร แต่สำคัญที่สตินะ เดินมากก็ให้มีสติ นั่งมากให้มีสติ จะอดนอนผ่อนอาหารต้องเป็นเรื่องของสติติดแนบๆ ทั้งนั้น จึงจะเรียกว่าความเพียรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าขาดสติไปมากน้อยก็ไม่จัดว่าเป็นความเพียร จะบำเพ็ญเพียรในท่าใดก็ไม่ค่อยเกิดผลเกิดประโยชน์ และเอาความแน่นอนไม่ได้เพราะสติขาดไป

ท่านั่งก็มีสติ เดินจงกรมก็มีสติ อิริยาบถทั้ง ๔ มีสติ นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรตลอดเวลา และยิ่งนั่งภาวนาที่จะเอาจริงเอาจังต่อกันแล้ว สติยิ่งเป็นของสำคัญมากทีเดียว มีเหตุมีผลอย่างไรจะแสดงขึ้นมาให้เราเห็นในเวลานั่ง นั่งนานเป็นอย่างไร ไม่ใช่นั่งทนเอาเฉยๆ นะ นี่ได้เคยอธิบายให้ฟังมามากต่อมากแล้วนั่งต่อสู้ นั่งค้นหาเหตุหาผล เหตุผลนั่นแลคืออรรถคือธรรม แล้วจะไปเจอกิเลสอยู่ในวงแห่งเหตุผลนี้จนได้ แก้กันก็แก้กันที่ตรงนั้น ฆ่ากันก็ฆ่ากันที่ตรงนั้นจนได้ไม่เป็นอย่างอื่น นี่ให้สังเกตในการประกอบความพากเพียร

เดินเราอย่าไปคำนึงถึงเวล่ำเวลา มีสติทุกอาการเดินนั้นเป็นอาการอันหนึ่ง เป็นความเปลี่ยนแปลงของอิริยาบถของเราเพื่อความสม่ำเสมอ เคลื่อนไหวไปมาสม่ำเสมอตามเรื่องของธาตุของขันธ์ประการหนึ่ง ประการหนึ่งการเดินจงกรมนั้นก็เป็นความกระตุกจิตใจของเราให้เคลื่อนไหว เป็นความเคลื่อนไหวที่ให้กระเทือนจิตใจของเราได้แปลกๆ ต่างๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเดินจงกรมจึงเป็นท่าแห่งความเพียรท่าหนึ่ง ขอให้มีสติเป็นสำคัญ เดินมากเดินน้อยสติติดแนบอยู่นั้น นั่งก็เหมือนกัน

นี่เราพูดถึงขั้นเริ่มแรกของสติ และขั้นต่อไปสติก็สำคัญจนกระทั่งวาระสุดท้าย สติยิ่งแก่กล้าสามารถถึงกับที่ท่านพูดว่ามหาสติมหาปัญญา คือเป็นตัวของตัวเต็มที่แล้ว สามารถที่จะฟัดฟันกับกิเลสได้ทุกประเภทไม่มีข้อยกเว้นเลย ลงสติได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาสติเป็นมหาปัญญาแล้ว กิเลสมีเท่าไรพังลงๆ โดยไม่เหลือ แต่ที่มันยังไม่ถึงขั้นนั้น เราต้องได้ใช้ความพยายามให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เอ้า ให้ได้ทรงซิ สมาธิ ท่านสอนไว้ในตำรับตำรานั้น สอนไว้จากความที่ท่านได้รู้แล้วเห็นแล้วท่านได้มาแสดงไว้ ได้ไปจดจารึกความจริงจากท่านผู้รู้แล้วมาไว้ในตำราให้เราทั้งหลายได้อ่าน ทั้งสมาธิทั้งปัญญาทั้งวิมุตติหลุดพ้น ตลอดถึงความพากเพียรในแง่ต่างๆ ท่านแสดงไว้ในตำรับตำราทั้งนั้น

ให้นำเอาเรื่องราวทั้งหลายจากตำรับตำรานั้นเข้ามาประกอบกับตน เข้ามาใช้ในตัวของเรา ความเพียร เพียรยังไง ท่านสอนไว้อย่างไร นำมาใช้สำหรับเราให้มีความเพียรดังที่ท่านว่าไว้นั้น สติท่านสอนให้มีก็ให้มีภายในใจของเรา สมาธิท่านสอนไว้ในหนังสือในตำรับตำรา ก็ให้ปรากฏเป็นองค์สมาธิขึ้นมาที่ใจของเรา สมาธิกลายเป็นสมบัติของเราขึ้นที่ใจของเรา ปัญญาปรากฏเป็นสมบัติขึ้นที่ใจของเรา จนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้นปรากฏขึ้นที่ใจของเรา นี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลทรงความจริงไว้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่ทรงแต่เพียงความจำ

ความจำคือการศึกษาเล่าเรียน เราจำได้ อันนั้นเป็นความจำ ใครเรียนก็ได้ เรียนวิชาไหนก็จำได้ ไม่ว่าวิชาทางโลกทางธรรมเพราะเป็นความจำ มันเป็นธรรมดาเท่าๆ กันหมดถ้าเราไม่ได้นำมาปฏิบัติ เมื่อเรียนแล้วนำมาปฏิบัติระลึกรู้ตามเรียน พินิจพิจารณาตามเรียนนั้น ก็เป็นความปฏิบัติแทรกกันไปๆ ถ้าสักแต่ว่าเรียนเฉยๆ จำได้จากการเรียนเฉยๆ มันก็ไม่ผิดอะไรกับวิชาแขนงต่างๆ ของโลกที่เขาเรียนกัน เพราะฉะนั้นความจำจึงยังไม่เกิดประโยชน์อะไรเท่าที่ควร จึงต้องอาศัยความจำนั้นแลมาเป็นแบบเป็นฉบับ เป็นเข็มทิศทางเดินแล้วก้าวเดินตามนั้น นั่นท่านเรียกว่าภาคปฏิบัติ

เมื่อภาคปฏิบัติได้ปรากฏหรือได้แสดงขึ้นกับตัวของเราแล้ว ผลคือปฏิเวธความรู้ สมาธิทำไมจะไม่รู้ นี่ก็เริ่มเป็นปฏิเวธในสมาธิในความสงบขึ้นไปโดยลำดับจนกระทั่งปัญญา แล้วสุดท้ายก็วิมุตติหลุดพ้น เป็นปฏิเวธธรรมเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้นไปตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกนี่แล นั่นท่านเรียกว่าความจริง คือมาเจอที่หัวใจของเราเอง ว่ากิเลสประเภทใดก็มาเจอกันในวงความเพียรของเราเองๆ จนกระทั่งกิเลสหมดไปสิ้นไปมากน้อยเพียงไร ก็ประจักษ์ในความเพียรของเรา ภายในใจของเราเอง จนกระทั่งกิเลสสิ้นซากไปหมดไม่มีอะไรเหลือ จิตได้ถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นก็เจอที่ใจของเราเอง ใจของเราเป็นเสียเองนี้ ท่านเรียกว่าปฏิเวธธรรม ผลปรากฏขึ้นจากการปฏิบัติการดำเนิน

นี่ละศาสนาที่ทรงมรรคทรงผล ต้องให้ปฏิบัติตัวของเราให้สมควรแก่การทรงมรรคทรงผล ตามหลักศาสนธรรม ถ้าเพียงแต่ว่าเรียนมาเฉยๆ ไม่สนใจประพฤติปฏิบัติก็ไม่มีมรรคมีผล ก็มีแต่ความจำเต็มพุง ถ้าว่าราคะตัณหาว่ากิเลสประเภทต่างๆ ก็มีอยู่ เช่นเดียวกับคนที่เขาไม่ได้เรียนอรรถเรียนธรรม ไม่ผิดแปลกกันอะไร ถ้าเป็นภาคปฏิบัติแล้วผิดและแปลก

ภาคปฏิบัติได้รู้ได้เห็นเป็นลำดับลำดาแล้วรู้ชัดเจน กิเลสเคยมีมากจะลดตัวลงไปมากน้อยให้เห็นชัดๆ ลงไป ไม่ว่ากิเลสประเภทใดจะลดลงภายในจิตใจ ให้รู้ประจักษ์กับใจของเรานั้นแลๆ จึงเรียกว่าภาคปฏิบัติ จนกระทั่งกิเลสได้สิ้นซากลงไปก็จากภาคปฏิบัติไม่เป็นอย่างอื่น แล้วก็กลายเป็นพระที่ทรงมรรคทรงผลขึ้นมา พระสาวกท่านทรงมรรคทรงผลด้วยการปฏิบัติฉันใด เราผู้ปฏิบัติดังท่านก็ย่อมเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลได้เช่นเดียวกับท่านไม่เป็นที่น่าสงสัย เพราะธรรมะเป็น อกาลิโก ไม่ว่าสมัยโน้นไม่ว่าสมัยนี้ ธรรมะนี้เป็นเครื่องปราบกิเลสได้ทุกกาลสถานที่ถ้านำมาปราบ นอกจากจะปล่อยให้กิเลสปราบเอาเสียราบคาบเท่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ขอให้ทุกท่านได้นำไปประพฤติปฏิบัติ

วันเข้าพรรษาแล้วการธุดงควัตรก็ดังที่เคยปฏิบัติมา ผู้ที่ยังไม่เคยเพราะมาอยู่ใหม่ก็มีก็ให้พึงทราบว่า ตั้งแต่เมื่อเช้านี้มาจนกระทั่งออกพรรษาโน้นเป็นอย่างน้อย การบิณฑบาตจะรับแต่ที่เขาถวายมานอกเขตวัดเท่านั้น เข้ามาในวัดแล้วก็ขัดธุดงค์ข้อนี้ ข้ออาหารตามส่งนี้ก็ไม่รับ และการรับแล้วการขนอะไรออกจากบาตร อย่าไปกังวลอย่าไปสนใจ ให้สมกับชื่อว่าผู้มักน้อย ต้องการแต่เพียงน้อยๆ บิณฑบาตได้มาโดยลำพังที่เจ้าของบิณฑบาตด้วยกำลังปลีแข้งของตนนี้เท่านั้น ไม่หวังอะไรมากมายยิ่งกว่านี้

เมื่อเป็นเช่นนั้นการบิณฑบาตด้วยวิธีการ หรือด้วยความรู้ความมุ่งหมายตามธุดงค์อย่างนี้แล้ว จึงไม่ควรกังวลกับสิ่งใด เอ้า สิ่งของนำออกจากบาตร ใครจะขนไปไหนขนไป เราไม่ต้องยุ่งว่านั้นเป็นจานนั้นนี้เป็นชามนี้ นี้เป็นของท่านนี่เป็นของเรา จะทำให้ยุ่ง อันนี้มันขัดแย้งกับกับธุดงค์ข้อนี้ ยังเป็นความห่วงความหวงความเสียดายอยู่ ไม่ใช่ผู้มักน้อย ผู้มักน้อย เอ้า มีเท่าไรอยู่ในบาตรเท่านั้นพอ นี่ละเป็นความเหมาะสมกับผู้ต้องการความมักน้อย รับแต่ของที่เขาถวายมาในบาตรนี้เท่านั้น ออกจากนั้นไปแล้วไม่ยุ่ง มันจะมาขัดกันกับความมักน้อย จะเป็นความมักมากไป และแทรกกับความมักน้อยของธุดงค์ข้อนี้โดยที่เราไม่รู้สึก ให้พากันเข้าใจเอาไว้

อย่าไปยุ่งเหยิงวุ่นวาย ว่านั้นเป็นของใคร นี้เป็นของใคร ยุ่งไปหมด อันนี้เลยยุ่งยิ่งกว่าผู้ที่ไม่ได้สมาทานธุดงค์เสียอีก ให้เราคิดเรื่องเหล่านี้ จึงสมชื่อสมนามว่าเราเป็นผู้มักน้อย มีอะไรเท่านั้นพอในบาตรนี้ อะไรใครจะเอาไปไหนไปเถอะ ไม่ยุ่ง ให้จำให้ดี นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ทั้งต้นทั้งปลายเข้ากันได้สนิท ถ้าลงยุ่งเหยิงวุ่นวายกับนั้นเป็นของใครนี้เป็นของใคร ยุ่ง นี่เข้ากันไม่ได้นะ และขายกิเลสความหวงความห่วงใย เลยกลายเป็นความโลภมากจากผู้มักน้อยไปเสียอีก นี้ยิ่งไม่น่าดูเลย ให้พากันจำเอาไว้ อย่าไปยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น

 

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก