ทำไมมรรคผล ความสงบไม่ปรากฏ
วันที่ 3 สิงหาคม 2536 เวลา 19:00 น. ความยาว 52.48 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖

ทำไมมรรคผล ความสงบไม่ปรากฏ

 

ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาท คือทางแห่งความแคล้วคลาดปลอดภัยจากทุกข์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินให้ถูกต้องตามหลักแห่งสวากขาตธรรมนี้แล้ว ย่อมจะเป็นผู้สงบเย็นไปโดยลำดับ แม้จะเป็นทางฆราวาสก็มีความสงบเย็นในครอบครัวและสังคมต่างๆ ไม่ก่อความยุ่งยากวุ่นวายให้เกิดขึ้นแก่กันและกัน  จนกลายเป็นเรื่องกระทบกระเทือนไปทั่วประเทศชาติบ้านเมือง ทางด้านพระเรา จิตใจที่เคยสั่งสมแต่อารมณ์ทั้งหลายตลอดเวลา ไม่มีการยับยั้งไม่มีการพักตัวเลยนั้น ก็มีเวลาที่จะพักผ่อนหย่อนอารมณ์เข้าสู่ความสงบได้โดยไม่อาจสงสัย ด้วยทางจิตตภาวนาเป็นสำคัญ

เพราะจิตตภาวนาเป็นธรรมชาติที่คุ้ยเขี่ยขุดค้นหาหลักความจริงทั้งหลาย ทั้งเป็นฝ่ายสมุทัย ทุกข์ ทั้งเป็นฝ่ายมรรค นิโรธ จะทราบในระยะเดียวกัน เพราะธรรมทั้ง ๔ ประเภทนี้เป็นธรรมเกี่ยวโยงกัน ผู้ค้นคว้าย่อมจะทราบสิ่งเหล่านี้โดยลำดับไปด้วยกัน ถ้าใช้การบังคับบัญชาจิตใจของตนด้วยสติ ไม่ให้พลั้งเผลอไปตามอารมณ์แห่งความต่ำทรามทั้งหลายที่เคยเป็นมาและฝังลึกอยู่ภายในใจ จะมีแต่ความสงบเยือกเย็นไปโดยลำดับภายในจิตใจของผู้บำเพ็ญ

ที่ใจไม่สงบก็คือใจถูกผลักดันออกให้คิดตามเรื่องของสมุทัย ซึ่งตัวสมุทัยนั้นก็เป็นตัวผลักดันออกมา กิเลสนั้นแหละผลักดันจิตใจให้คิดให้ปรุง จึงปรุงแต่เรื่องของทุกข์ของสมุทัยไปโดยลำดับลำดา งานของจิตจึงมีแต่เรื่องของทุกข์ของสมุทัยเต็มหัวใจท่านหัวใจเราในวงปฏิบัติโดยเฉพาะ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องโลกสงสารที่เขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เราพูดในวงปฏิบัติของเราซึ่งควรจะทราบสาเหตุของสิ่งเหล่านี้ด้วยจิตตภาวนา แต่ก็ทราบไม่ค่อยได้และทราบไม่ได้ เพราะอะไร เพราะความสนใจรู้สึกจะมีน้อย ความตั้งใจมีน้อย ความมุ่งมั่นมีน้อยหรือไม่มี ถ้าสิ่งเหล่านี้บกพร่องไป งานการของเราที่ทำคือจิตตภาวนาก็ย่อมบกพร่องไปตาม พลั้งๆ เผลอๆ ปะติดปะต่อกันได้ชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็เผลอไปๆ เพราะความตั้งใจความจดจ่อมีน้อย ความมุ่งมั่นมีน้อย

เข็มทิศทางเดินอันแน่นหนามั่นคงก็คือความมุ่งมั่น นี่เป็นสำคัญมาก เราได้เคยดำเนินมาแล้วจึงได้นำมาอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อน ว่าเป็นผล มีผลให้เกิดโดยลำดับลำดาจนเป็นที่พอใจ เพราะความตั้งมั่น ความหมายมั่นปั้นมือ ความมุ่งมั่นนี่สำคัญมาก เป็นเข็มทิศเพื่อความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายาม ความอดความทน ในการแก้กิเลสหรือฆ่ากิเลสนั้นให้เป็นไปตามๆ กัน ด้วยความมีกำลังโดยสม่ำเสมอ เพราะความมุ่งมั่นเราฝังไว้ลึกเป็นหลักแน่นภายในจิตใจแล้ว

ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์อะไร ทำไปวันหนึ่งๆ พอแล้ว พอให้แล้ววันแล้วคืนเท่านั้น อย่างไรก็ต้องเป็นไปตามที่เคยเป็นมาแล้วนี้แล หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ จิตจะสั่งสมแต่เรื่องทุกข์เรื่องสมุทัยเต็มหัวใจๆ จนล้นหัวใจไม่มีที่ปลงที่วาง เพราะไม่หยุดต้นเหตุ คือ ความคิดปรุงด้วยอำนาจของสมุทัย ผลักดันให้เกิดทุกข์ขึ้นมาเป็นลำดับลำดา หัวใจดวงหนึ่งๆ ของผู้บำเพ็ญน่าจะได้บรรจุอรรถธรรมเข้าสู่ตัวเอง แต่แล้วกลับกลายเป็นเรื่องขวนขวายสิ่งเหล่านี้โดยหลักธรรมชาติของมันเองอยู่ตลอดเวลาไปเสีย จิตจะหาความสงบร่มเย็นได้อย่างไร นี่นักปฏิบัติเราที่ไม่ได้เหตุได้ผลต้นปลายอะไร พอให้เป็นที่มั่นใจ ให้เป็นที่อบอุ่นภายในตัวเอง ก็เพราะเหตุแห่งความเหลวไหลของใจนี้แล ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีจุดไม่มีหมาย ทำไปพอแล้วๆ วันหนึ่งๆ

ตื่นขึ้นมาก็ตื่นมืดตื่นแจ้งไปเสีย วันหนึ่งๆ ก็มีแต่มืดกับแจ้ง ซึ่งเคยเป็นมาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้วไม่ทราบจะตื่นไปหาอะไร รูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัสที่มีเต็มโลกเต็มสงสาร ก็เคยมีมาเป็นเวลานานแล้วตั้งกัปตั้งกัลป์เช่นเดียวกัน น่าจะมีความอิ่มพอหรือเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งหลาย ที่จำเจกันตลอดเวลาเกี่ยวกับเรื่องความสัมผัสสัมพันธ์กัน แต่แล้วก็ไม่มีความอิ่มพอ ยิ่งติดยิ่งพันยิ่งหมุนยิ่งแน่นเข้าไป ทุกข์ก็ยิ่งทวีคูณภายในจิตใจ ใจแต่ละดวงๆ ของผู้ปฏิบัติ ถ้าหากว่ามีภาชนะมีฝาปิด เปิดขึ้นมานี้มีแต่กิเลสเต็มหมด ธรรมแม้นิดก็ไม่ค่อยจะปรากฏและไม่ปรากฏเลย แล้วเราจะหวังเอามรรคผลนิพพานที่ไหน ขอให้ท่านทั้งหลายคิดให้มากในข้อนี้

ผมวิตกวิจารณ์กับหมู่เพื่อนเป็นลำดับลำดายิ่งเฒ่าแก่ทำงานไม่ได้คือให้การอบรมสั่งสอนไม่ได้เท่าไร ก็ยิ่งทำให้วิตกวิจารณ์เป็นห่วงเป็นใยหมู่เพื่อนมากขึ้นโดยลำดับ เพราะสิ่งที่มันสั่งสมตัวของมันก็ดังที่กล่าวนี้ ในหัวใจใดของพระปฏิบัติเราที่ไม่สั่งสมสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติ เราอยากจะพูดว่าจะไม่มีหรือไม่มี เดินจงกรมก็สั่งสมแต่สิ่งเหล่านี้ นั่งสมาธิภาวนาก็มีแต่ชื่อแต่นาม มีแต่ความหมายมั่นเฉยๆ แต่ภายในจิตใจเป็นลมๆ แล้งๆ ไปเสีย ผู้ทำหน้าที่อย่างแท้จริงก็คือสมุทัย คิดปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องของสมุทัยล้วนๆ ผลจึงมีแต่เรื่องความทุกข์ความทรมานภายในจิตใจ หาเวลาว่างหาเวลาสงบเย็นใจไม่ได้เลย

แล้ววันนี้ก็เป็นอย่างนี้ วันต่อไปนิสัยของคนเราที่เลื่อนลอย ก็ย่อมเลื่อนลอยไปตามเรื่อง ลอยไปเรื่อยๆ อย่างนั้น หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ว่า สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบ ก็ชอบแต่ธรรม ตัวของเราเองไม่ชอบ นำธรรมะ เช่น สติธรรม ปัญญาธรรม เข้ามาเพื่อจะกำจัดปัดเป่ากิเลส ก็ให้มันปัดออกเสียๆ เหลือแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญภายในจิตใจ ความสงบคือสมาธิจึงไม่ปรากฏภายในใจได้

ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาตั้งใจฝึกหัดจริงๆ แล้ว กิเลสตัวไหนว่างั้นเลย ที่จะเหนืออำนาจของธรรมไปได้ เพราะธรรมนี้เคยปราบกิเลสให้ราบคาบมาแล้วตั้งแต่กาลไหนๆ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากน้อยเพียงไร ล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือแล้วทั้งนั้น แต่พวกเรานำมาปราบกลับตรงกันข้าม ให้กิเลสปราบเสียเรียบๆ วันหนึ่งๆ เดินจงกรมก็เป็นลมๆ แล้งๆ ไปหมด ทำความมีแต่เรื่องลมๆ แล้งๆ หาตัวจริงที่พอจะยึดจะเกาะให้ได้รับความสงบเย็นใจเช่นสมาธิบ้างไม่ได้ นี่เป็นยังไงนักปฏิบัติเรา นี่แหละที่วิตกวิจารณ์กับหมู่เพื่อน

เรื่องของกิเลสนั้นละเอียดมากที่สุด ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องความละเอียดของกิเลสนี้หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ละเอียดสุดขีดสุดแดน-ขนาดนั้น ต้องมีธรรมเป็นเครื่องวัดเครื่องตวงเครื่องทดสอบกัน ถึงจะรู้ว่ากิเลสเป็นความละเอียดลออแหลมคมขนาดไหน จึงได้ครอบครองหัวใจของสัตว์โลกไม่ว่ารายใดก็ตาม ให้จมอยู่ในเงื้อมมือของมันจนได้ๆ เว้นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านเท่านั้นที่สามารถ การที่ท่านสามารถพ้นจากเงื้อมมือหรืออำนาจของมัน ก็เพราะท่านเห็นแก่ธรรม ถือกิเลสเป็นข้าศึกจริงๆ อย่างถึงใจๆ ถือธรรมเป็นเครื่องป้องกันตัวและเป็นเครื่องปราบปรามมันอย่างถึงใจเช่นเดียวกัน แล้วก็ฟัดเหวี่ยงกันด้วยความพออกพอใจ ความสนใจจดจ่อต่อเนื่องกันตลอดเวลา กิเลสตัวไหนจะเหนืออำนาจของธรรมไปได้ มันย่อมสงบ แม้มันจะดิ้นยิ่งกว่าหมาบ้าก็ตาม ต้องสงบลงจนได้เพราะอำนาจแห่งธรรมปราบมัน

วิธีการฝึกทรมานก็ดังเคยอธิบายให้ฟังแล้ว เรื่องธาตุเรื่องขันธ์นี้เป็นเครื่องมือเสริมกิเลสได้เป็นอย่างดีไม่สงสัย ถ้าธาตุขันธ์มีกำลังมาก การตั้งสติก็ล้มๆ ปัญญาก็กลายเป็นสัญญา ให้กิเลสเอาไปถลุงเสียหมด เพราะฉะนั้น อำนาจของธาตุขันธ์ที่มีกำลังจึงเสริมกิเลสได้เป็นอย่างดีไม่สงสัย เพราะเราเคยเป็นมาแล้ว จึงได้นำเรื่องเหล่านี้มาสั่งสอนหมู่เพื่อน ตลอดวิธีฝึกทรมานตนเองด้วยอาการต่างๆ นำมาสั่งสอนหรืออบรมหมู่เพื่อนให้เป็นคติ ไม่มีเหลือในหัวใจนี้เลย

ก็เพราะมันฝึกยาก ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมให้ปรากฏอย่างน้อยความสงบเย็นใจ ใจเป็นสมาธิ ต้องได้ตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างจริงอย่างจัง ไม่เช่นนั้นจะไม่ปรากฏความสงบเย็นใจเลย ถึงวาระที่ควรจะทุ่มกันลงก็ต้องทุ่ม มีบทหนักบทเบาในการประกอบความเพียร มีบททุ่มบทเทกันลง บทผ่อนผันสั้นยาวนั้นไม่ต้องบอก มันหากค่อยเป็นของมันไปเอง ดีไม่ดีผ่อนลงเสียจนหย่อนยาน ถ้าเป็นเชือกก็มัดขาพันขาเจ้าของนั่นแหละ เดี๋ยวนี้นักปฏิบัติเรามักเป็นแต่อย่างนั้น เรื่องที่จะเด็ดจะเดี่ยวกับสิ่งที่เป็นข้าศึกไม่ค่อยมี ไม่ค่อยมีภายในใจ จึงลำบากในการปฏิบัติที่จะให้เห็นผลประจักษ์ใจ

เพียงสมาธิเท่านั้นก็เย็นสบายแล้ว อยู่คนเดียวก็ได้ ผู้มีจิตเป็นสมาธิแล้ว คือจิตไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับรูปกับเสียงกับกลิ่นกับรสเครื่องสัมผัสต่างๆ ทั้งอดีต อนาคต อยู่ในปัจจุบันคือความสงบแนบแน่นในตัวเองนี่เท่านั้น ก็พออยู่พอเป็นพอไปแล้วในวันหนึ่งๆ เพลินอยู่ในนั้น สิ่งเหล่านั้นไม่รบกวน เพราะอะไร เพราะสังขารอันนี้ไม่ออกไปปรุงเรื่องรูปเรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรสเครื่องสัมผัสต่างๆ สังขารเหล่านี้ถูกความสงบบีบบังคับมันไว้ให้สงบตัวไม่ให้ดีดให้ดิ้น

อำนาจแห่งความสงบด้วยอรรถด้วยธรรมนั้นมีเหนือสิ่งเหล่านี้ สังขารเหล่านี้จึงไม่ไปปรุง สัญญาจึงไม่ไปหมายอะไร มีแต่ความรู้ล้วนๆ ล้วนๆ นั่นหมายถึงล้วนๆ ในขั้นสมาธิอยู่สบายวันหนึ่งคืนหนึ่ง ลืมวันลืมคืนลืมเดือนลืมปี ไม่ค่อยคิดไม่ค่อยสนใจรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัสซึ่งเคยเป็นภัยมาแต่ก่อน เพราะตัวนี้ไปเป็นภัยต่อตนเองจากการปรุงแต่งของตัวเอง ก็สงบลง เมื่อตัวนี้สงบลงไปแล้วเรื่องกวนใจก็ไม่มี มีแต่ความสงบ ถ้าเป็นน้ำก็นิ่ง จิตใจนิ่ง น้ำนิ่งก็ย่อมใสสะอาดไปโดยลำดับ ตะกอนนอนก้นโอ่ง ถ้าเป็นห้วยหนองคลองบึงก็นอนก้น นี่ตะกอนของกิเลสก็นอนก้น ไม่ฟื้นตัวขึ้นมา ไม่ดีดไม่ดิ้น จิตไม่ผลักไม่ดันจิตใจให้คิดเรื่องนั้นปรุงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของมันเอง ให้สั่งสมขึ้นมาซึ่งกองทุกข์ทั้งหลาย ใจก็สงบเย็น นี่เพียงขั้นสมาธิเท่านี้เราก็เห็นคุณค่าแล้ว แล้วสมาธินี้ควรที่จะทำได้ง่ายกว่าเรื่องของปัญญามากมาย ตั้งใจฝึกตั้งใจอบรมเอาจริงเอาจัง ทำไมจะไม่รู้ทำไมจะไม่เป็น เพราะธรรมเป็นเครื่องฝึกอยู่แล้ว ธรรมเป็นเครื่องปราบความฟุ้งซ่านอยู่แล้ว

สติเป็นสำคัญมากนะ เรื่องสตินี้เว้นไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดของนักภาวนา จะเผลอไปไม่ได้ นี่คือหลักแห่งการภาวนาเพื่อจะให้จิตสงบ ถือเรื่องความปรุงความแต่งเป็นข้าศึกของใจ เป็นข้าศึกของสมาธิภาวนา สติให้รู้ แม้ทำการทำงานอะไรอยู่ก็ให้เป็นสัมปชัญญะ คือให้ความรู้อยู่กับตัวๆ ผู้เป็นนักภาวนาต้องเป็นอย่างนั้น จึงต้องลำบาก จิตนี่ต้องถูกควบคุมอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าอิริยาบถใด นอกจากหลับเท่านั้น ต้องถูกควบคุมอยู่ตลอด จึงเรียกว่าผู้รักษาใจ

เมื่อควบคุมอยู่ด้วยสติแล้ว จิตย่อมจะเข้าสู่ความสงบเย็นใจสบายได้ สบายหลายครั้งหลายหน สงบหลายครั้งหลายหน ก็เป็นฐานแน่นหนามั่นคงขึ้นมาที่ใจ แน่นปึ๋ง นั่น นี่ใจเป็นสมาธิ จากความสงบหลายครั้งหลายหน สร้างฐานขึ้นมาในตัวเองให้เกิดความมั่นคงขึ้นได้ เพียงขั้นนี้ก็สบายแล้ว ไม่มีอะไรกวน อะไรจะกวน นอกจากรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัส โดยหมายเอารูปข้างนอกมาเป็นสัญญาอารมณ์ ทั้งๆ ที่ใจเป็นผู้ไปปรุงไปแต่งเรื่องราวเหล่านั้นเข้ามา รูปไม่ทราบเขาอยู่ที่ไหน เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ทราบเขาอยู่ที่ไหน แต่ผู้นี้ปรุงขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ เผาตัวเอง มันจึงเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อความสงบทับหัวมันอยู่แล้วมันก็ไม่ปรุงไม่แต่ง แล้วก็อิ่มอารมณ์ในตัวเอง

คือใจอิ่มอยู่ในตัวเอง ได้อาหารคือความสงบ เป็นเครื่องดื่มเป็นเครื่องเสวย จึงไม่หิวโหยในอารมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นพิษเป็นภัยเหล่านั้น ใจจึงสบาย นี่เรียกว่าใจอิ่มตัว เมื่ออิ่มตัวแล้วจะพาก้าวทางด้านปัญญาจึงง่าย เพราะอะไร เพราะไม่เถลไถล จิตอิ่มอารมณ์ เมื่อจิตอิ่มอารมณ์แล้ว เราจะพาพิจารณาเรื่องทางด้านปัญญา จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ตาม หรืออสุภะอสุภังในร่างกายของเขาของเราตลอดสัตว์ทั่วโลกดินแดน ให้เห็นเป็นอสุภะอสุภังไม่หยุดไม่ถอยในการพิจารณา หรือแยกออกเป็น อนิจฺจํ ก็ดี ทุกฺขํ ก็ดี อนตฺตา ก็ดี อยู่โดยสม่ำเสมอ จิตต้องมีความหยั่งทราบลงไปโดยลำดับ ลึกซึ้งลงไปละเอียดลงไป

ต่อไปความรู้ที่เป็นความจริงอันนี้ก็ซึมซาบเข้าสู่ใจ กลายเป็นใจที่จริงต่อไตรลักษณ์ จริงต่ออสุภะอสุภัง นั่นแหละที่นี่จะเริ่มรู้ความจริงทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง อันว่าสวยว่างามว่าจีรังถาวรนั้น มันเป็นเรื่องของกิเลสปรุงแต่งหลอกสัตว์โลกต่างหาก ไม่ใช่ความจริง ความจริงแท้ก็ดังที่กล่าวนี้แล ปัญญาเวลาก้าวก็ก้าวอย่างนี้ ก้าวไปไหนก็ทำงานตามหน้าที่ของตนๆ เพราะไม่เถลไถล เนื่องจากไม่หิวโหยในอารมณ์ ท่านจึงว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ท่านกล่าวไว้อย่างนั้นในตำรา ในภาคปฏิบัติเพื่อพูดเอาความเลย แปลโดยอรรถก็ ปัญญาที่สมาธิหนุนหลังแล้วย่อมเดินคล่องตัว เดินได้คล่องแคล่วว่องไวไม่เถลไถลไปนอกลู่นอกทาง  ปญฺญาปริภาวิตํ  จิตฺตํ  สมฺมเทว  อาสเวหิ  วิมุจฺจติ. จิตเมื่อปัญญาซักฟอกแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ แน่ะ นี่แหละหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย

จิตที่ควรจะพิจารณาปัญญาจึงควรพิจารณา ไม่นอนจมอยู่ในความสงบเฉยๆ ซึ่งได้เพียงสมาธิแค่นั้น ถ้าเป็นสัตว์ก็ไล่เข้าคอก เข้าที่จนตรอกเท่านั้น ยังไม่ได้ฆ่า ปัญญานั้นแหละเป็นทางฆ่ากิเลส เป็นเครื่องมือฆ่ากิเลส เป็นอุบายวิธีการฆ่ากิเลส ฆ่าไปโดยลำดับ พิจารณาลงไปเรื่อยๆ หากรู้เองในตัวของผู้พิจารณา เพราะฉะนั้นจึงต้องเพลิน เพราะรู้นั้นรู้นี้ เห็นนั้นเห็นนี้ แก้นั้นได้แก้นี้ได้ ละนั้นได้ละนี้ได้ ด้วยอำนาจของปัญญาๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วทำไมจะไม่เพลินในผลของตนที่ทำลงไป นี่ที่ท่านว่าอุทธัจจะ เมื่อขึ้นเต็มที่แล้วก็กลายเป็นอุทธัจจะ คือปัญญาเพลินเกินไป

ให้ยับยั้งจิตเข้าสู่สมาธิคือความสงบใจ อันเป็นการพักงานของจิตเสียบ้าง เมื่อจิตได้พักพอสมควรแล้ว ก็เท่ากับคนที่ทำการทำงานเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แล้วมาพักผ่อนนอนหลับหรือรับประทานอาหาร มีกำลังแล้วค่อยทำงานต่อไปอีก นี่เรื่องของปัญญาก็ทำงานเช่นเดียวกัน การพักจิตเข้าสู่สมาธิเป็นการพักงานของปัญญา ไม่ทำ พักจิต จิตมีกำลังแล้วออกก้าวเดิน พิจารณาดังที่เคยพิจารณานั้น นี่ทางแก้กิเลสเป็นอย่างนี้ ขอให้ทุกท่านจำเอาไว้ ไม่เป็นอย่างอื่น วิธีการเป็นอย่างนี้

จิตที่ไม่เป็นสมาธิ เอาให้เป็น-อย่าถอย จะเป็นจะตายกับการฝึกการแก้กิเลสตัวฟุ้งซ่านให้เข้าสู่ความสงบนี้ เอ้า แก้ลงไป เป็นก็เป็นตายก็ตาย จิตฝังกันลงไปให้ลึกซีนักรบ ถอยได้หรือ เอาให้จิตมีความสงบเย็นใจ ให้เห็นเพียงเท่านี้ก็พออยู่พอกินพอเป็นพอไป ไม่เดือดร้อนวุ่นวายนักบวชหรือนักปฏิบัติเรา นี่เรียกว่ามีทุน ตั้งตัวได้ด้วยสมาธิ จากนั้นก็คลี่คลายทางด้านปัญญาที่จะหาประโยชน์ผลกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นมหาเศรษฐี มหาเศรษฐีธรรมนั้นแลจะเป็นมหาเศรษฐีอะไร

เมื่อก้าวทางด้านปัญญาแล้วก็ให้พิจารณาดังที่ว่านี้ ไม่นอกเหนือไปจาก อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา นี้เลย จะพิจารณาภายนอกก็ตามภายในก็ตาม เพราะคำว่าสมุทัยคือกิเลสนั้น เป็นได้ทั้งภายนอกภายใน ติดได้ทั้งภายนอกติดได้ทั้งภายใน รักชังได้ทั้งภายนอกทั้งภายใน เราจะพิจารณาทั้งภายนอกภายในตามจริตนิสัยที่ชอบไม่ผิด พิจารณาลงให้ถึงเหตุถึงผล ให้ถึงความจริงนั้นแลเป็นความถูกต้อง

จะพิจารณาอสุภะในร่างกายของเราของใครก็ตาม มันก็เป็นกองอสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบอยู่แล้ว ตั้งแต่วันเกิดมาโน่นจนกระทั่งป่านนี้ แล้วยังจะเป็นและจะแสดงอย่างเด่นชัดในเวลาตายอีกจะขนาดไหน เวลานี้มันก็มีของมันอยู่อย่างนั้น พิจารณาตามเรื่องความเป็นจริง นี่คือความจริง ท่านเรียกว่าธรรม ความจอมปลอมก็คือว่าสวยว่างามอย่างนั้นอย่างนี้ จีรังถาวร นี่คือความจอมปลอมของกิเลสที่หลอกลวงสัตว์โลกให้ลุ่มหลงไปตามมัน

เพราะฉะนั้นโลกจึงหลง ไม่มีอะไรหลอกมันไม่หลง กิเลสนั่นแหละหลอก เราโง่กว่ามัน มันฉลาดกว่าเราแล้วก็หลอกเอาๆ ทั้งๆ ที่เป็นอย่างนี้แต่กิเลสหลอกเป็นอย่างนั้น ก็เป็นไปตามมันเสีย เพราะเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีความจริงเป็นเครื่องวัดเครื่องตวงกันเป็นคู่แข่งกัน ถ้ามีปัญญาพินิจพิจารณาสิ่งที่ว่าเป็นความจริงทั้งหลาย เช่นอสุภะอสุภังเป็นต้นแล้ว ความสวยงามจะมาจากไหนจะมาต่อสู้ได้ เพราะอันนี้เป็นความจริง อันนั้นเป็นของปลอม มันต้องล้มละลายไปจนได้ๆ นั้นแล

ถ้าพูดถึงเรื่องกฎของไตรลักษณ์ก็เหมือนกัน อนิจฺจํ มันแปรอยู่ตลอดเวลา สภาพไหนไม่แปรมีหรือ ในสกลกายของเรานี้ แม้แต่จิตใจ-กิริยาของมันก็แสดงความแปรอยู่ตลอดเวลาไม่เห็นหรือ ทุกฺขํ จิตได้รับความทุกข์ไหม ได้รับความสุขไหม ร่างกายบีบบังคับก็บีบเข้าไปหาใจนั่นเอง ให้ใจได้รับความทุกข์ความทรมาน นี่ท่านว่า ทุกฺขํ อนตฺตา ยังไปงมเงาอยู่หรือว่าเป็นเราเป็นของเรา

พิจารณาให้เห็นตามความจริง นี่เรียกว่าปัญญาหยั่งทราบเข้าไปๆ รู้เข้าไปเรื่อยๆ จิตก็เพลินในรายได้ เมื่อเพลินในรายได้แล้วจิตก็ไม่ต้องถูกบังคับ การพิจารณาทางด้านปัญญา ไม่เหมือนขั้นเริ่มแรกที่ออกฝึกหัดทางด้านปัญญา นั่นต้องได้บังคับ ไม่งั้นมันเถลไถล ส่วนมากไม่เถลไถลไปรูปเสียงกลิ่นรส แต่เถลไถลเข้ามาพักจิต มันขี้เกียจพิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นงานหนัก เหมือนกับคนขี้เกียจไปทำการทำงาน ตากแดดตากฝนบ้าง ขุดดินฟันไม้บ้าง ก็เห็นว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไปนอนอยู่เสียว่าสบาย แน่ะ

นี่จิตมีที่นอนมีที่พักมีที่สงบคือสมาธิ จิตก็กลับเข้ามานี้เสีย เพราะฉะนั้นจึงได้ฉุดได้ลากออกไป เพราะงานทางด้านปัญญายังไม่เห็นผล เมื่องานทางด้านปัญญาเห็นผลแล้ว ทีนี้จิตก็เพลินเรื่อยๆ ดีไม่ดีต้องรั้งเอาไว้ รั้งๆ ด้วยสมาธิ ให้เข้าสู่สมาธิ ไม่ใช่รั้งแบบเอาไปไว้ที่ไหน รั้งเข้ามาสู่สมาธิให้สงบอารมณ์ของตัวบ้าง คำว่าปัญญาๆ ก็คืองาน จิตนั่นแลเป็นผู้ทำงานทางด้านปัญญา ก็ต้องมีเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แล้วย้อนเข้ามาพัก นี่เรียกว่างานพอเหมาะพอดี ถึงเวลาพิจารณาไม่ต้องห่วงเรื่องของสมาธิ พิจารณาให้เต็มที่เต็มฐาน เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า รู้เจ้าของว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แล้วรั้งจิตเข้ามาสู่สมาธิคือความสงบใจ เรียกว่าพักจิต นี่คือความถูกต้อง

ในตำราท่านก็แสดงไว้แต่มันไม่ได้สนใจเท่าไรนักนะ เวลาปฏิบัติมันตะลุมบอนจริงๆ กับกิเลสประเภทต่างๆ มันลืมคำที่ว่าพักๆ นี่เสีย ทั้งๆ ที่ท่านแสดงไว้ในตำราเหมือนกัน ท่านเทียบเรื่องการรบ เวลารบก็รบ เวลาพักเข้าสู่ค่ายเป็นที่พักพลก็ให้มี ท่านว่าอย่างนั้น อ่านมาในตำราก็อ่าน แต่เวลามันเป็นอยู่กับจิตนี้ มันมีน้ำหนักมากกว่าที่เราเรียนมาจำมาซิ มันเพลิน-เพลินในการพิจารณา เพราะการพิจารณานี้มันตัดมันแก้กิเลสไปโดยลำดับลำดา และสว่างกระจ่างแจ้งออก กว้างขวางออก ความรู้ละเอียดลออ ปัญญาก็คล่องตัวละเอียดลออไปโดยลำดับ แล้วมันเป็นผลที่ให้เพลินๆ คนเราถึงได้เพลิน

แต่ก่อนเพลินกับกิเลส ทีนี้เพลินกับธรรม มันกลับตรงกันข้าม เมื่อมันเพลินไปมากๆ ทั้งๆ ที่จิตเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามันก็ไม่หยุด ก็ให้รั้งจิตเข้ามาหยุดพักในสมาธิเสีย มันอยากทำเท่าไรก็ไม่ทำ ทีนี้เวลาเข้าสู่สมาธิอย่าไปห่วงปัญญา ให้ทำเหมือนไม่เคยคิดเหมือนไม่เคยพิจารณา รั้งเข้ามาสู่อารมณ์อันเดียว เรียกว่าเอกัคคตารมณ์ รู้อยู่เฉพาะจิตเท่านั้น จิตเมื่อสมาธิละเอียดจริงๆ แล้วจะมีความรู้อันเดียว ไม่ยิบไม่แย็บ แน่ว นี่เรียกว่าสมาธิเต็มภูมิ แน่วก็แน่วละเอียดอีกด้วยนะ ไม่ใช่แน่วแบบเรามาคาดอย่างนี้ มันก็ไม่ถูก นี่ก็เป็นการพักจิต ไม่คิดไม่ปรุง นั้นก็เรียกว่าไม่ทำงาน พอได้กำลังแล้วถอยออกมาก็ดีดผึงเลย นี่แหละทางแก้กิเลส พากันจำไว้ด้วยดี แก้ด้วยวิธีการนี้ พักด้วยวิธีการอย่างนี้ ดำเนินก็ดำเนินไปด้วยดังวิธีการที่กล่าวมานี้ จะเป็นไปเพื่อความราบรื่นสม่ำเสมอ ไม่คดไม่โค้งไม่อ้อม ไม่ผิดไม่พลาด จะเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นโดยลำดับลำดา ปัญญาเมื่อถึงขั้นละเอียดแล้วจะรู้ในตัวเองนั่นแหละ

ภาคปฏิบัติเป็นภาคที่แน่ใจที่สุด เป็นภาคที่เราเจอด้วยตัวของเราเองๆ ภาคปริยัติมีแต่จำมาไม่เห็นตัว สมมุติว่าควายอย่างนี้เราก็ได้ยินแต่ชื่อ เห็นแต่ชื่อของมันอยู่ในตำรา ตัวควายจริงๆ ไม่เห็น วัวจริงๆ ไม่เห็น สัตว์จริงๆ ไม่เห็น เสือจริงๆ ไม่เห็น ภาคปฏิบัตินี้ว่าควายเห็นเป็นตัวควายจริงๆ ว่าคนเห็นคน ว่าดีเห็นดี ว่าชั่วเห็นชั่วจริงๆ ภายในจิตใจ ว่ากิเลสตัวใดมันเห็นจริงๆ ในหัวใจ นั่นจึงเรียกว่าภาคปฏิบัติ อันนี้มีน้ำหนักมากเวลาได้สัมผัสสัมพันธ์เข้าสู่ใจ เราได้เจอเองเห็นเองแล้วมีน้ำหนักมากทุกอย่างนั่นแหละ พูดได้เต็มปากไม่สะทกสะท้าน เพราะเป็นขึ้นกับจิต รู้ขึ้นกับจิต

ทางด้านปัญญาที่พิจารณากิเลสทั้งหลาย ฆ่ากิเลสก็เป็นอย่างนั้น ถึงวาระที่ฆ่ากิเลสแล้วหมุนตัวเป็นธรรมจักรเลย นี่มันถึงทันการณ์กันกับกิเลสที่มันหมุนตัวเป็นวัฏจักรอยู่ในหัวใจของเรามาดั้งเดิมจนคล่องตัวเป็นอัตโนมัติ มันสร้างตัวของมันๆ อะไรๆ เป็นเนื้อเป็นหนังของมันทั้งนั้น เป็นเรื่องของกิเลส แม้ที่สุดเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาในขั้นเริ่มแรกที่ยังไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว ก็เป็นเรื่องขวนขวายหาผลของกิเลสไปเสียทั้งมวลโดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ เพราะมันคล่องตัว เมื่อเวลาสติปัญญามีกำลัง เอาจนกระทั่งจิตมีความสงบได้แล้ว ทีนี้ก้าวออกทางด้านปัญญา ค่อยรู้เหตุรู้ผล จนกระทั่งรู้ได้ชัดเจนเข้าโดยลำดับ แล้วทีนี้ก็เป็นธรรมจักร หมุนกลับมาเป็นธรรมล้วนๆ ตลอดอิริยาบถ

วัฏจักรเป็นเรื่องของสมุทัย ธรรมจักรเป็นเรื่องของมรรค หมุนย้อนกลับแล้วที่นี่ พิจารณาลงไปเรื่อยๆ ปัญญาขั้นธรรมดาก็มี ขั้นผาดโผนก็มี ขั้นละเอียดลออก็มี ขั้นซึมซาบก็มี ให้มันเห็นในหัวใจเจ้าของนั่นซี การปฏิบัติธรรม นี่แหละธรรมะพระพุทธเจ้าสดๆร้อนๆ อยู่อย่างนี้ ถ้าได้เจอเข้าไปแล้วทำไมจะไม่ยอมพระพุทธเจ้า ว่าธรรมนี้เป็นธรรมเลิศ นั่นแหละธรรมเลิศ-เลิศอย่างนี้แหละ ให้มันเห็นในหัวใจของผู้ปฏิบัติถึงพูดได้เต็มปากว่าเลิศจริง ไอ้เลิศแต่ตั้งชื่อตั้งนามขึ้นมาว่าอันนั้นก็เลิศอันนี้ก็เลิศ มันเลิศแข่งกันได้ อันนั้นก็เลิศ เลิศนั้นสู้เลิศนี้ไม่ได้ เลิศนี้เลิศดีกว่าอันนั้นไปอย่างนั้น ถ้าเราเลิศธรรมในหัวใจแล้วไม่มีคู่แข่ง ไม่มีอะไรมาแข่ง กิเลสมุดมอดไปโดยลำดับลำดาจนหมดสิ้นไปจากใจ นี่จึงเรียกว่าเลิศแท้

นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่าโลกุตรธรรม สูงกว่าโลกอยู่ตลอดเวลา ที่ได้เห็นในหัวใจของเรานี้ก็สูงกว่ากิเลสตลอดเวลา โลกก็คือกิเลสนั่นแหละ จะเป็นอะไรไป สูงขึ้นๆ จนหลุดจนพ้นในหัวใจแล้วสงสัยอะไร โลกธาตุอันนี้เคยฝังเคยจมกันมา เคยได้รับความทุกข์ความทรมานมามากน้อยเพียงไร มันจะย้อนตามรู้ตามเห็นกันหมดเลย โทษก็เห็นเต็มหัวใจ คุณก็เห็นเต็มหัวใจ ฟัดกิเลสอย่างถึงใจๆ เอาจนขาดสะบั้นลงไม่มีอะไรเหลือภายในจิตใจแล้วเป็นยังไงที่นี่ จิตดวงที่บริสุทธิ์นี้กับจิตที่มอกมอมไปด้วยกิเลสเต็มอยู่ในหัวใจนั้นต่างกันอย่างไรบ้าง ไม่ต้องไปถามใคร พูดแล้ว สาธุ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ก็ไม่ทูลถามพระองค์ เพราะเป็นธรรมชาติอันเดียวกัน จะพึงรู้พึงเห็นด้วย สนฺทิฏฺฐิโก เหมือนกันหมด

สนฺทิฏฺฐิโก พระองค์ประกาศลั่นไว้แล้วไม่ได้ผูกขาด เมื่อได้เข้าถึงนี้อย่างจังๆ แล้วสงสัยพระพุทธเจ้าที่ไหน นี่แหละเชื่อพระพุทธเจ้าเชื่ออย่างนี้ เชื่อพระธรรมเชื่ออย่างนี้ จึงเชื่อเป็นของจริง ไม่ใช่เชื่อลมๆ แล้งๆ เฉยๆ แต่การคาดการหมายของผู้ที่ยังไม่เป็นไปนั้นเป็นความถูกต้อง เป็นกรุยหมายปลายทางให้เรายึดเราเกาะ แต่เมื่อเข้าถึงธรรมอันเลิศเลอ ถึงธรรมอันสมบูรณ์เต็มที่ในตัวเองแล้ว นี้ไม่เป็นลมเป็นแล้ง ว่างั้นเลย เชื่ออย่างนี้เชื่อพระพุทธเจ้า พระองค์จะนิพพานไปนานเท่าไรก็ตาม ไม่เห็นมีความหมายอะไรกับดินฟ้าอากาศกับธาตุขันธ์ที่แปรสภาพลงไป เพราะมันเหมือนๆ กันกับโลกทั่วๆ ไป ธาตุขันธ์ของใครก็ตาม ของพระพุทธเจ้าของสาวกอรหัตอรหันต์ มันเป็นขันธ์มันก็สลายก็แตกไปเหมือนกัน แต่ธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นซี ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลาเข้าไปเกี่ยวข้อง สมมุติทั้งปวงดับหมด นั่นจึงเรียกว่าวิมุตติ หลุดพ้นที่ตรงนั้นแล

นี่การปฏิบัติธรรมมันจะไม่ได้เรื่องได้ราวนะ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ล่วงลับไปจนจะไม่มีเหลือแล้ว เราจะเอาอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เจ้าของยังตั้งตัวไม่ได้ทำยังไง ถ้าไม่ตั้งเวลานี้จะตั้งเวลาไหน เรื่องของกิเลสต้องฝืนวันยังค่ำ เอ้า จำให้ดีคำนี้ การต่อสู้กับกิเลสต้องฝืนวันยังค่ำ จนกว่าจะถึงขั้นราบรื่นแล้วไม่ฝืน อันนั้นเป็นอีกขั้นหนึ่ง ขั้นต้นนี้จะต้องฝืนไปโดยลำดับลำดา อะไรถ้ามีชอบมักเป็นเรื่องกิเลสแหละ ถ้าไม่ชอบก็มักเป็นเรื่องธรรม เพราะกิเลสไม่ให้ชอบ ไม่ใช่ธรรมไม่ให้ชอบนะ กิเลสไม่ให้ชอบ ถ้าเป็นเรื่องธรรมแล้วกิเลสสกัดทันทีไม่ให้ชอบ ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสเปิดโล่งให้เลย ให้ชอบๆ นี่โลกถึงได้ติด ถ้าไม่มีอะไรมาย้อมมาแฝงมาหนุนอยู่แล้วจะติดอะไร

อันนี้สิ่งที่มาหนุนมาผลักมาดันมันก็ไม่รู้ละซีว่าอะไรเป็นอะไร ก็คือกิเลสนั่นแหละ เวลาธรรมเหนือมันแล้วก็รู้ไปหมด อะไรหนุนอะไรไม่หนุน อะไรเป็นธรรมชาติของจริงล้วนๆ ก็รู้ อะไรเป็นของปลอมแฝงเข้ามาๆ แทรกเข้ามาก็รู้ รู้หมด นั่นจึงเรียกว่าบริสุทธิ์ ใจถ้าลงได้บริสุทธิ์แล้วมองทะลุหมดนั่นแหละ กิเลสตัวไหนมันจะละเอียดขนาดไหน แต่ความบริสุทธิ์นี้เลยนั้นแล้ว เลยความละเอียดนั้นไปแล้ว ถึงได้เห็นชัดทุกแง่ทุกมุมซี

พระพุทธเจ้าดูพวกเราทั้งหลายเหมือนดูสัตว์นั่นเองจะผิดอะไร เพราะฉะนั้นจึงสงสารมาก ไม่รู้ภาษีภาษาอะไรให้กิเลสจูงจมูกไปอย่างนั้น หมุนไปทางรูปคิดไปทางรูปก็จูง ทางเสียงก็จูง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัสต่างๆ มีแต่ถูกจูงๆ ไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไปแบบเพลิน เพลินจนลืมตาย นี่พวกเราโง่หรือฉลาด พิจารณาซี นี้สำคัญมาก ธรรมถ้าลงได้เหนือนี้แล้ว ทำไมจะไม่เห็นกันอย่างชัดเจน ไม่ปลงธรรมสังเวชล่ะ เรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์โลกทั้งหลายกับธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธ พ้นไปแล้วนั้น มองลงมาเป็นยังไง นั่นละถึงเรียกว่าธรรมเลิศ-เลิศอย่างนั้นซี ท่านมองพวกเราท่านเป็นอย่างไร พวกเราหูป่าตาเถื่อน ท่านหูแจ้งตาสว่างรอบด้าน โลกวิทู มองดูผู้มืดหูป่าตาเถื่อนงกๆ งันๆ ล้มๆ คลานๆ เป็นยังไง นี่แหละพวกเรามันเป็นอย่างนั้นเวลานี้

ใครจะรีบตั้งเนื้อตั้งตัวด้วยอรรถด้วยธรรมของพระพุทธเจ้าให้รีบเสียนะ ตายแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร ตายแล้วก็ไปเกิดเหมือนเก่านั่นแหละ เกิดก็ทุกข์อันเก่านั่นแหละ เอาให้หมดในหัวใจ รู้อยู่นั้นแล้วเป็นกังวลอะไรกับเรื่องความเป็นความตาย ประสาธาตุขันธ์สลายตัวของมันลงไปเท่านั้น เรื่องก็มีเท่านั้น ท่านหมดเรื่องของสมมุติแล้ว เรื่องเป็นเรื่องตายก็เป็นเรื่องสมมุติ จะมีอะไรมาเป็นภาระให้หนักหน่วงแก่จิตใจท่านไม่มี

วันนี้แสดงธรรมแค่นี้ก่อน รู้สึกเหนื่อยแล้ว เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก