เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
ตามเสด็จด้วยข้อปฏิบัติ
คำว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ คือทรงฝึกบุรุษ บุรุษก็หมายถึงพระองค์ มหาบุรุษ ทรงสั่งสอนพระองค์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจึงได้ให้การอบรมสั่งสอนสัตว์โลก ไม่มีใครเหมือนพระพุทธเจ้าเรา เราอย่างมากก็สอนเฉพาะพวกคนด้วยกันก็ยังไม่หวาดไม่ไหว พระพุทธเจ้ายังสอนพวกเทวบุตรเทวดา ที่มนุษย์ทั้งหลายไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเนื้อได้เลย ที่ไม่ใช่วิสัยของมนุษย์พระองค์ก็สามารถสั่งสอนได้ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ท่านทรงฝึกพระองค์เรียบร้อยแล้ว ทรงมีความสามารถ สอนคนก็สอนได้ และสอนถึงเทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมพระองค์ก็สอนได้
เราก็เหมือนกันถ้ามีความสามารถในการสั่งสอนตนได้แล้ว จะมีความสามารถสั่งสอนผู้อื่นได้อีกมากตามนิสัยวาสนาของแต่ละราย พระสาวกก็ได้รับการฝึกฝนอบรมจากพระพุทธเจ้าแล้วทำหน้าที่ตนโดยเฉพาะ งานของตนรีบเร่งขวนขวายทำไม่หยุดไม่หย่อน อยู่ที่ไหนทำแต่งานทางด้านจิตตภาวนา จนสำเร็จตามความมุ่งหมาย
งานของท่านคืองานรื้อถอนกิเลสอาสวะ งานรื้อภพรื้อชาติ รื้อวัฏสงสาร ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากอวิชชา ตัณหาอุปาทาน เป็นต้น พระองค์ทรงชี้วิธีการให้ ซึ่งไม่มีโลกใดคนใดสามารถชี้แนวทางแก้หรือถอดถอนกิเลสที่เป็นข้าศึกได้ เพราะโลกทั้งหลายไม่มีความสะดุดใจว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ภายในจิตใจนั้นคือกิเลส ท่านให้ชื่อว่ากิเลส และเป็นภัยแก่สัตว์ จึงไม่มีใครสะดุดใจ แต่พระองค์ทรงทราบ ทรงค้นจนพบตัวภัยที่มีอยู่ภายในพระทัยของพระองค์ จึงถอดถอนออกหมดสิ้นโดยประการทั้งปวงไม่มีเหลือเลย ในวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันตรัสรู้ นั่นละพระองค์ทรงค้นพบสิ่งที่เป็นข้าศึก และรื้อถอนออกจนหมดจากพระทัย กลายเป็นพระทัยที่บริสุทธิ์สุดส่วน
ธรรมะซึ่งเป็นของมีอยู่ดั้งเดิม ตั้งแต่โลกไหนโลกไรมานานขนาดไหน ไม่มีสิ่งใดจะสามารถสัมผัสรับรู้ได้ แต่พระจิตของพระองค์สามารถสัมผัสรับรู้ได้หมดในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด สูงสุดวิมุตติพระนิพพาน ธรรมเป็นคู่ควรกันกับใจเท่านั้น ใจเป็นคู่ควรกันกับธรรมเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นคู่ควรกันกับธรรมได้ยิ่งกว่าใจ
เพราะฉะนั้นการที่จะพิสูจน์เรื่องศาสนธรรมหรือธรรมแท้ ที่พระองค์ทรงแสดงออกมาเพียงเป็นกิริยา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ เรียกว่ากิริยา เราไม่สามารถที่จะค้นพบได้ด้วยการจดจำ จะเรียนมามากมาน้อยเพียงไร ก็ได้แต่ชื่อของกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ และชื่ออรรถชื่อธรรมชื่อมรรคผลนิพพาน ได้แต่ชื่อของธรรมชาตินั้น ไม่ได้ตัวของธรรมชาตินั้นแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เช่นเดียวกันกับเรารู้ชื่อจำชื่อพวกเสือร้ายต่าง ๆ ที่ก่อความไม่สงบและทำความเสียหายแก่ประชาชนสังคมต่าง ๆ ได้นั่นแล
จำชื่อมันได้เท่าไรก็ตาม ไม่เพียงแต่จำชื่อเท่านั้น แม้แต่จำโคตรจำแซ่มันได้ไว้ในแฟ้มหนาเป็นปึก ๆ ก็ตาม ก็พวกเสือร้ายเหล่านั้นแหละ เป็นผู้ทำลายความเสียหายแก่สังคมต่าง ๆ ต่อเมื่อได้มีภาคปฏิบัติจับตัวมันได้แล้วนั้นแล เสือร้ายเหล่านั้นจึงจะหมดฤทธิ์หมดเดช ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดได้ นี่กิเลสเราจำได้แต่ชื่อ ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี ราคะตัณหาก็ดี จำได้จนปากฉีก เรียนจบพระไตรปิฎกมาก็มีแต่เอาชื่อมาอวดกัน ไม่ได้เอาตัวกิเลสที่ฆ่าตายแล้วมาอวดกัน เหมือนพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ท่านฆ่าให้ตายแล้วนำมาประกาศสอนโลก จะว่าอวดหรือท้าทายก็ได้
ประหนึ่งว่า นี่ความจริงประกาศอยู่ที่ใจเราทุกท่าน เห็นไหมท่านทั้งหลาย หรือพวกท่านทั้งหลายหูหนวกตาบอดอยู่เหรอ จึงไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นข้าศึกต่อจิตใจ ไม่อยู่ที่ไหนอยู่ที่ใจ ทุกขณะที่แสดงออกมีแต่กิเลสเหยียบย่ำทำลายภายในจิตใจ ไม่ได้มองดูบ้างเหรอ เดี๋ยวความโลภแสดงออกมาเหยียบย่ำทำลายจิตใจ เดี๋ยวความโกรธความฉุนเฉียวความไม่พอใจ แสดงตัวออกมาเพื่อเหยียบย่ำจิตใจ เดี๋ยวโมหะความลุ่มหลงงมงาย ไม่รู้ดีรู้ชั่วลืมเนื้อลืมตัว แสดงออกมาแต่ละอย่าง ๆ ก็มาเหยียบย่ำทำลายหัวใจให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าความรักความกำหนัดยินดีเกิดขึ้นมา ก็มาเหยียบหัวใจนั้นให้บอบช้ำอยู่ตลอดเวลาไม่ว่างเว้นแต่ละดวงใจ
ทุกขณะจิตที่เคลื่อนไหว มีแต่เรื่องของกิเลสออกเหยียบย่ำทำลายจิตใจทั้งนั้น เรายังไม่สามารถที่จะรู้ได้เห็นได้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับหัวใจทุกคน แต่ทำไมพระพุทธเจ้าทรงรู้ได้เห็นได้ ตลอดถึงการรื้อถอนออกหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ นั่นละพระองค์ฆ่ากิเลสฆ่าข้าศึก ให้ตายพินาศฉิบหายจากพระทัยแล้วอยู่สบาย จากนั้นก็นำวิธีการนี้ออกสอนโลกให้รู้เรื่องรู้ราว ว่ารู้ไหมเวลานี้ข้าศึกเต็มหัวใจทุก ๆ ท่าน บรรดาสัตว์โลกที่หมุนเวียนเกิดแก่เจ็บตายนี้เป็นสาเหตุมาจากไหน พวกท่านทั้งหลายรู้แล้วยัง เหมือนอย่างประกาศถามอย่างนั้นเอง ซักกันอย่างนั้น อันนี้มันอยู่ที่ไหนท่านทั้งหลายรู้ไหม มันเหยียบย่ำทำลายอยู่ในหัวใจทุก ๆ ขณะจิตที่เคลื่อนไหวออกมา พากันทราบแล้วยัง อันนี้คือตัวข้าศึก อย่าเพลิดเพลิน อย่าลุ่มหลงกับมันจนเกินเหตุเกินผล
จากนั้นก็ยกขึ้นเป็นภาษิตเพื่อเป็นสักขีพยานต่อกันว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ อนฺธกาเรน โอนทฺธา ปทีปํ นคเวสถ เมื่อโลกสันนิวาสนี้มีความรุ่มร้อนเผาลนอยู่ตลอดเวลา ด้วยอำนาจแห่งกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ เหยียบย่ำทำลายจิตใจอยู่ ทำไมพวกท่านทั้งหลาย จึงเพลิดเพลินรื่นเริงกันไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนไม่ทราบว่าจะตายวันไหน เหมือนกับโลกนี้จะไม่มีป่าช้า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น พากันมืดดำกำดำกำขาวอยู่ยังไง หัวใจมีความรู้มีทำไมไม่คิดไม่อ่าน สติปัญญามีทำไมไม่คิดเหมือนอย่างนั้น ทำไมท่านทั้งหลายไม่เสาะแสวงหาที่พึ่ง เมื่อโลกสันนิวาสมันวุ่นวายกันอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสบีบบี้หัวใจ และเหยียบย่ำทำลายหัวใจอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ยังไม่เห็นโทษของมันอยู่หรือ ถ้าเห็นโทษแล้ววิธีการที่จะนำออก เราตถาคตก็ชี้แจงไว้แล้วนี้ ทราบแล้วยัง เชื่อหรือยังเชื่อตถาคต ตถาคตฆ่ากิเลสทั้งหลายประเภทต่าง ๆ ที่เป็นข้าศึกนี้ให้ตายฉิบหายลงไปแล้วจากใจ ด้วยวิธีการอย่างนี้ ๆ มีมัชฌิมาปฏิปทาเป็นต้น
นั่นท่านฆ่าตัวเสือร้ายได้แล้ว ก็มาบอกวิธีการ ท่านเองก็อยู่เป็นสุขและนำอุบายวิธีการไปสั่งสอนสัตว์โลก ผู้ที่มีหูมีตาตื่นอกตื่นใจบ้าง ก็ได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยการประพฤติปฏิบัติ กำจัดกิเลสที่เป็นข้าศึกอันใหญ่หลวงอยู่ภายในจิตใจมาตั้งกัปตั้งกัลป์นั้นให้สลายตายไปจากจิตใจ กลายเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเราขึ้นมา ท่านเหล่านี้เป็นผู้เอาจริงเอาจังในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าพระสาวกองค์ใด ออกมาจากสกุลพระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชน กระทั่งถึงคนธรรมดา ท่านผู้ใดออกมาได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้วถึงใจ ถึงใจทั้งทางโทษถึงใจทั้งทางคุณ
เรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะพระองค์ก็ชี้แจงให้เห็นอย่างชัด ๆ ว่ามันฝังอยู่ที่หัวใจนี้ เหมือนหนามฝังจมอยู่ในพื้นเท้านั่นเอง ถ้าจะถอดก็ถอด ถ้าไม่ถอด อยากทรมานอยู่นี้ตั้งกัปตั้งกัลป์หาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้ก็เอา ไม่ใช่ผู้อื่นผู้ใดที่จะมารับผิดชอบรับความทุกข์ความทรมานจากความประมาทของตน นอกจากตัวเองเท่านั้นจะรับผลแห่งความประมาทของตน ถ้าผู้ใดมีความไม่ประมาท พยายามแก้ไขหรือถอดถอนออกก็ถอดถอนได้ ทำไมถอดถอนไม่ได้ ตถาคตเป็นผู้หนึ่งแล้วที่ถอดถอนให้เห็นเป็นตัวอย่างนี้เห็นไหม
ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตถาคตก็เป็นตถาคตไม่ได้ เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ตถาคตได้ทำเรียบร้อยแล้ว ทั้งเหตุก็ถูกต้องดีงามทั้งผลก็เป็นที่พอใจ พวกท่านทั้งหลายเชื่อแล้วยังเวลานี้เหมือนอย่างนั้น ทำไมสาวกทั้งหลายจะไม่ถึงใจ คนเราหาของจริงอยู่แล้วต้องรู้ของจริงเห็นของจริง ประพฤติปฏิบัติอย่างถึงใจ มีความมุ่งมั่นเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป เอ้า อดเป็นอด อิ่มเป็นอิ่ม ลูกศิษย์ตถาคตไม่ยอมตายด้วยความอดอิ่มเพียงเท่านี้ จะยอมตายในการเข้าสงครามเท่านั้น สู้กับกิเลส เอ้า ตายเป็นตาย ชีวิตเหลือมาให้ได้ครองอรรถครองธรรม เป็นธรรมสมบัติขึ้นภายในจิตใจ ได้ธรรมมาครองหัวใจ
ด้วยเหตุนี้สาวกทั้งหลายเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วด้วยดีจากพระองค์ จึงเที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ไม่สนใจกับเรื่องจตุปัจจัยไทยทานทั้งสี่ จะมีมากมีน้อย ที่อยู่ที่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย การขบการฉันเป็นมายังไง ทั้ง ๆ ที่ออกมาจากสกุลกษัตริย์ละเอียดอ่อนที่สุดก็มี แต่เวลาเข้ามาสู่ความเป็นลูกศิษย์ตถาคตปรากฏเด่นในเพศของพระทางพุทธศาสนาแล้ว บำเพ็ญเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มที่เต็มฐาน เอาเป็นเอาตายเข้าว่า
ผลที่ได้รับก็องค์นั้นสำเร็จพระโสดา องค์นี้สำเร็จพระสกิทาคา องค์นั้นสำเร็จพระอนาคา องค์นี้สำเร็จพระอรหันต์ในป่านั้น ในถ้ำนั้น ในภูเขาลูกนั้นเรื่อยมาไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งวันพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็ยังบรรลุตามหลังเรื่อย ๆ มา เพราะตามเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยข้อปฏิบัติ สุปฏิปนฺโน อุชุ ญาย สามีจิปฏิปนฺโน คือปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงแน่วแน่ต่อมรรคผลนิพพาน แน่วแน่ต่ออรรถต่อธรรม ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมไม่ยิ่งไม่หย่อน เป็นที่เหมาะสมกับการปราบกิเลสทุกประเภทด้วยข้อปฏิบัติทั้งหลายที่กล่าวมานี้
นั่นละผลของท่านที่ได้มาจึงร่ำลือมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ว่าพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ไม่ร่ำลือไม่กระเทือนหัวใจชาวพุทธเราจะกระเทือนหัวใจใคร ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ เกิดขึ้นมาจากความรอดล้มรอดตายของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระองค์แรก สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ก็ได้โผล่ขึ้นมา เพราะความตะเกียกตะกายของสาวกทั้งหลาย ที่เชื่ออรรถเชื่อธรรมพระพุทธเจ้าอย่างถึงใจ
นี่พวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลสเวลานี้ เป็นการกำจัดกิเลสหรือมาสั่งสมกิเลสกันแน่ ให้พิสูจน์ตัวเองด้วยดี อย่ามาทำเล่น ๆ อันเป็นเรื่องการขายศาสนา เหยียบย่ำทำลายศาสนาทั้ง ๆ ที่ไม่มีเจตนา แต่ความประมาทนั้นแลคือตัวกิเลสที่ทำลายศาสนาทำลายตัวเองอยู่เวลานี้ จะเป็นอะไรไปเสียถ้าไม่ใช่อันนี้
ธรรมะพระพุทธเจ้านั้นไม่มีแล้วที่จะสงสัย สมในนามแห่งธรรมที่ว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ตรัสไว้ชอบแล้วทุกสิ่งทุกประการไม่มีอะไรผิดเพี้ยน บรรดาธรรมทั้งหลายนี่ควรแก่การแก้กิเลส ถอดถอนกิเลส ฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสให้แหลก ทุกประเภทของกิเลสไม่มีเหลือได้ทั้งนั้น จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ชอบแล้ว เครื่องมือประเภทนี้ชอบแล้ว เครื่องมือนี้ชอบแล้วกับการปราบกิเลสประเภทนั้น ๆ เครื่องมือนี้สำหรับฟาดฟันกิเลสประเภทนั้นๆ ให้ฉิบหายวายปวงไม่มีสิ่งใดเหลือ ชอบไปหมด นิยยานิกธรรม ถ้าได้ปฏิบัติตามหลักแห่งสวากขาตธรรมแล้ว ธรรมนี้ต้องนำออก ขนกิเลสออกจากจิตจากใจจนไม่มีกิเลสตัวใดมีอำนาจมาต่อสู้ได้เลย ไม่มีกิเลสตัวไหนมาอวดดีได้ เหลือตั้งแต่พระทัยและใจที่บริสุทธิ์เท่านั้น นั่นพระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิบัติอย่างนั้น
การบวชนี้เป็นเพศอันหนึ่ง ประกาศให้โลกได้ทราบ พร้อมกับเป็นความรู้สึกตัวของตัวเองอย่างชัดเจนว่า เวลานี้เราบวชมาในศาสนา นักบวชก็คือนักเสียสละ นักบวชก็คือนักประกอบคุณงามความดี นักบวชก็คือผู้ไม่ประมาท นักบวชของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่กินแล้วนอน กอนแล้วนินอยู่เฉย ๆ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ อยากคุยอยากมั่วอยากสุมกันก็คุยกันไปมั่วสุมกันไป เอาการบ้านการเมืองเรื่องของกิเลสตัณหาเข้ามาสุมในหัวใจ มันเป็นการอบรมธรรมะเข้าสู่ใจได้ยังไงยังงั้น มันตรงกันข้าม
เพราะฉะนั้นศาสนาจึงถูกตำหนิติเตียน เพราะหัวใจของผู้ปฏิบัติศาสนาสกปรกเลวทราม เมื่อสิ่งใดที่เป็นของเลวทราม สิ่งอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องสกปรกไปด้วย เช่นอย่างอาหารควรแก่การรับประทานแล้ว แต่พลัดตกจากมือลงไปคลุกเคล้ากันกับสิ่งสกปรกโสโครกทั้งหลาย อาหารประเภทนั้น ๆ ก็เป็นน่าสะอิดสะเอียนไม่สมควรแก่การรับประทานได้เลย นี่ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อเข้ามาสิงสถิตอยู่กับหัวใจที่ลามกจกเปรตก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน นี่โลกเขาตำหนิติเตียนพระเณรหรือศาสนาเป็นอย่างนั้น ๆ มันก็ควร เพราะผู้นั้นทำให้เขาตำหนิติเตียน ตัวทำไม่ตรงตามหลักธรรมหลักวินัยพระพุทธเจ้า
ถ้าพูดถึงเรื่องความละเอียดอ่อน อะไรจะละเอียดอ่อนยิ่งกว่าศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว ดั้งเดิมพระองค์ก็เป็นกษัตริย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีระเบียบแบบแผนทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสิ่งละเอียดลออมาจากความเป็นกษัตริย์แล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติอรรถธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน พระองค์ก็ทรงทำอย่างเอาจริงเอาจัง ปรากฏว่าสลบถึง ๓ ครั้ง นั่นทุกข์หรือไม่ทุกข์การบำเพ็ญหรือการต่อสู้กับกิเลส
อะไรจะเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งกว่ากิเลส อะไรจะแก้ยากยิ่งกว่ากิเลส ฆ่ายากยิ่งกว่ากิเลส ชำระยากยิ่งกว่ากิเลสไม่มี ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีแบบมีฉบับไว้เสมอ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นี่ละคือแบบฉบับวิธีการ ทั้งเครื่องมือทั้งอุบายวิธีที่จะต่อสู้กับกิเลสประเภทใด ๆ พระองค์ทรงสอนไว้หมดอย่างละเอียดลออถี่ถ้วน ไม่มีอะไรที่จะแย้งได้เลย จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วทุกอย่าง ขอให้ปฏิบัติโดยชอบธรรมตามที่สอนไว้แล้วนี้เถิด นิยยานิกธรรม การนำสิ่งเลวร้ายทั้งหลายออก นำผลดีเข้าสู่จิตใจเพื่อความพ้นทุกข์นั้นไม่ต้องสงสัย เหตุกับผลเป็นไปด้วยกัน จึงควรถึงใจผู้ปฏิบัติทั้งหลาย
อย่างบวชเข้ามาทีแรกท่านสอน อย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ไม่ว่าจะไปบวชในอุปัชฌายะใด กรรมฐาน ๕ ซึ่งเป็นภาคปริยัติบอกสอนเบื้องต้นนี้ต้องมอบให้เสมอก่อนอื่น ผมเป็นยังไง ขนเป็นยังไง เล็บเป็นยังไง ฟันเป็นยังไง หนังเป็นยังไง พิจารณาไปถึงหนังแล้วครอบหมดในส่วนร่างกายนี้ พิจารณาให้เห็นความเป็นของปฏิกูลโสโครก ป่าช้าผีดิบผีสุกอะไรอยู่นี้หมด ไม่ทราบว่ากี่ซากกี่ศพที่เข้ามาบรรจุไว้ในตัวของเรานี้ อาหารการบริโภคไม่เอามาจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จะเอามาจากไหน มันเต็มอยู่นี้หมด ไม่ว่าผักว่าหญ้ากองกันอยู่นี้แหละ นี่ป่าช้าผีดิบผีสดมันอยู่ที่นี่ พิจารณาให้เห็นความปฏิกูล พิจารณาให้เห็นความ อนิจฺจํ คือความไม่เที่ยงความแปรสภาพ เพราะจิตของเรามันฝืนความจริงอยู่เสมอ ไม่สวยไม่งามมันก็ว่าสวยว่างามเสกสรรปั้นยอเอง ว่าอนิจฺจํ ไม่เที่ยง มันก็ฝืนว่าเที่ยงมันฝืนเอา เพราะกิเลสกับธรรมเป็นข้าศึกกัน กิเลสต้องพาให้ฝืน
การที่จิตใจของเรายังไม่หยั่งถึงความจริงแห่งธรรมได้ ก็เพราะกิเลสกีดขวางนั่นเอง อันนี้ไม่งามมันก็บอกว่างามเสีย เราก็เชื่อไปตามกิเลสเสียเพราะเคยเชื่อกิเลสมานานแล้ว ไม่เคยรู้สึกตัวเพราะกิเลสทำพิษเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องยอมจำนนต่อมันเรื่อยไป แล้วขนเอาทุกข์ขึ้นมาเพราะอำนาจแห่งกิเลสบังคับบัญชา ให้ทำให้คิดตลอดไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายเรื่อยมา เหตุใดจึงจะเชื่อถือธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างง่ายดายล่ะ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องได้ทุ่มเทสติกำลังความพากความเพียรลงอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เอาเป็นเอาตายเข้าว่า
เราไม่เชื่อตถาคตเราจะเชื่อใคร การเชื่อกิเลส โลกสงสารนี้เชื่อกิเลสมานานแล้ว ใครเป็นคนวิเศษวิโสบ้าง เชื่อความโลภหนึ่งความโกรธหนึ่งความหลงหนึ่ง จนตายกับความโลภความโกรธความหลง เชื่อความรักความชังความเกลียดความโกรธ เชื่อมาโดยลำดับลำดา ใครได้รับความวิเศษเพราะการเชื่อกิเลสบ้างมีไหม ถ้าเชื่อธรรมเป็นยังไง ให้พยายามละความโลภ ให้พยายามละความโกรธ ให้พยายามละความหลง ให้พยายามละราคะตัณหา ซึ่งล้วนแล้วแต่สิ่งเป็นภัย เหมือนลูกศรทิ่มแทงหัวใจอยู่ตลอดเวลานั่นแล
รักก็ทุกข์ เกลียด โกรธ ก็ทุกข์ อะไรทุกข์ทั้งนั้นขึ้นชื่อว่ากิเลสผลิตขึ้นมาแล้ว ไม่มีอะไรเป็นสุข มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น นอกจากมันเคลือบด้วยน้ำตาลล่อนิดหนึ่ง เหมือนกับเขาเสียบเหยื่อใส่ปลายเบ็ดแล้วก็ล่อปลา ถ้ามีแต่เบ็ดล้วน ๆ ปลาก็ไม่กิน ต้องเอาเหยื่อล่อ พอเหยื่อล่อปลากินแล้วก็ตวัดทีเดียวเสร็จไม่มีเหลือ นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันล่อเรามาตั้งนานเท่าไร เมื่อไรเราจะเห็นโทษของมันกันบ้างเล่า
พิสูจน์ให้เห็น กิเลสทั้งมวลภพชาติทั้งมวลไม่อยู่นอกเหนือไปจากหัวใจดวงเดียวนี้เลย อันนี้ละพระพุทธเจ้าท่านพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ พวกเราทั้งหลายพิสูจน์ด้วยการเรียนการจดการจำมาเฉย ๆ มันเข้ากันไม่ได้ การเรียนก็ได้แต่เรียน การจดการจำก็ได้แต่จดจำถ้าไม่มีภาคปฏิบัติเป็นภาคพิสูจน์แล้วจะไม่เห็นความจริงขึ้นมา พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาแล้วในการปฏิบัติ พระสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน ท่านผู้ที่เป็นอรหัตอรหันต์ พุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ล้วนแล้วตั้งแต่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วทั้งนั้น จึงได้ปรากฏเป็นสรณะของพวกเรา ไม่งั้น พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ นี้เกิดขึ้นไม่ได้ ธมฺมํ ก็หาทางเกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน
เมื่อพุทธะผู้รู้นี้ไม่รู้ถึงธรรม ธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามีแต่ความจดความจำเฉย ๆ ไม่มีภาคปฏิบัติ แต่ท่านเหล่านั้นปฏิบัติทั้งนั้น ฟังซิว่าท่านองค์นั้นสำเร็จอยู่ในทางจงกรม ท่านเหล่านั้นสำเร็จอยู่ในท่านั่ง อยู่ในเขาลูกนั้น ถ้ำนั้น เงื้อมผานั้น ป่านั้น มีตั้งแต่อย่างนั้นทั้งนั้น มีแต่ภาคปฏิบัติ ยืนก็ตาม เดินก็ตาม นั่งก็ตาม นอนก็ตาม มีสติสตังระมัดระวังรักษาตัวเสมอ ด้วยท่าความเพียรไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน สติติดแนบไปกับตัว กำหนดอะไรมาสัมผัสสัมพันธ์ดีชั่ว ให้กำหนดรู้เท่าทันมันเสมอ นั่นจึงเรียกว่าคนรักษาใจด้วยสติ เป็นคนที่จะสะสางกิเลสออกจากใจ
เมื่อไรมีความเผลอ ไม่สนใจกับอรรถกับธรรม สติห่างเหินจากจิตใจ แต่ไปใกล้ชิดกับกิเลส นั้นแลคือเวลากอบโกยเอากิเลสเอาทุกข์ขึ้นมาเผาตัวเอง เพราะการสนใจกับกิเลสใกล้ชิดกับกิเลสนั้น เป็นการสร้างเหตุขึ้นมาแล้ว เพื่อให้ผลคือความทุกข์ คือความเดือดร้อนเกิดขึ้นมาแก่จิตใจของตน แล้วตรงกันไหมกับ สุปฏิปนฺโน อุชุ ญาย สามีจิปฏิ ฯ เราต้องย้อนเข้ามาหาตัวของเรา อย่าไปตำหนิผู้หนึ่งผู้ใด เพราะเราต่างคนต่างมาแก้กิเลสซึ่งเป็นพิษเป็นภัยอยู่ในหัวใจของตน ต้องดูที่หัวใจนี้
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ดูที่นี่ เอ้า พิสูจน์ใจนี่เป็นยังไง ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ เอ้า พิสูจน์ เพียงเรียนจำเฉย ๆ นี่จบ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็มีแต่ใบลานเปล่า ๆ นั้นแหละ หนังสือเปล่า ๆ กระดาษเปล่า ๆ ถ้าไม่มีภาคปฏิบัติเข้าแล้ว ไม่มีทางที่จะพิสูจน์เห็นความจริงได้เลย ให้พึงทราบว่าพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างอันดี สาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่างอันดี ได้พิสูจน์มาแล้วเป็นที่พอพระทัย จึงได้นำสิ่งที่ทรงพิสูจน์เรียบร้อยแล้วนั้นมาสั่งสอนสัตว์โลก เช่นเดียวกับหมอที่ได้เรียนวิชายาตลอดถึงเรื่องอาการของคนไข้มาทุกสิ่งทุกอย่าง และยาแต่ละขนาน ๆ นี้ ได้พิสูจน์ทดลองกันเรียบร้อยได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว จึงนำมาใช้แก่คนไข้ นี่พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ไม่ใช่พระพุทธเจ้าด้นเดา เป็นผู้ที่เอาจริงเอาจัง ค้นเห็นเหตุเห็นผลแล้วจึงมาสั่งสอนโลก
เอ้า พิสูจน์ ใจดวงนี้เป็นยังไง อย่างท่านอาจารย์มั่นท่านว่าใจนี้คือนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ได้แก่เกิดแก่เจ็บตาย ตายที่นี่แล้วไปเกิดที่นั่น ตายที่นั่นไปเกิดที่นั่น มันมีสาเหตุมาอย่างไร เอ้า ค้นเข้าไป ไม่พ้นจากความขุดความค้นในภาคปฏิบัตินี้ จะต้องถึงความจริงเข้าไปโดยลำดับ ๆ เอ้า เบื้องต้นมันเป็นยังไง จิตใจกับตัวเองกลายเป็นอันเดียวกันหมด ร่างกายทุกส่วนกับความรู้นี้ไม่ทราบว่า อะไรเป็นใจอะไรเป็นร่างกาย มันเป็นอันเดียวกันหมด เราจึงเหมาเอาอย่างสนิทใจว่าทั้งกายทั้งจิตนี้เป็นอันเดียวกัน แล้วเวลาร่างกายสลายลงไปแล้ว จิตก็หายไปไม่มีเหลือ เพราะมันเป็นส่วนประกอบกัน เมื่อส่วนประกอบสลายลงไปก็ต้องสลายไปด้วยกัน นี่เป็นความคาดความคิดของเรา แต่เรื่องความจริงไม่เป็นเช่นนั้น
เราจะทราบทางภาคปฏิบัติ เบื้องต้นไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร สัมผัสสัมพันธ์อะไรก็มีแต่ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธ ยุ่งไปหมด ทีนี้เวลามีสติสตังพินิจพิจารณาแยกแยะออกมาให้เห็น เอ้า มันติดรูปพิจารณาเรื่องรูป รูปอะไร ค้นลงด้วยสติปัญญาจนกระทั่งรู้เท่าทันตามความจริงแล้วปล่อยวางเข้ามา เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สิ่งเหล่านี้มีแต่สิ่งที่จะทำให้จิตใจติดพันทั้งนั้น แล้วการพิจารณาก็เพื่อที่จะถอดถอนการติดพันนั้นออกมา ด้วยความรู้จริงเห็นจริง จนกระทั่งเข้ามาสู่ภายในคือร่างกายของเรา
เอ้า ร่างกายนี่พิจารณาเข้าไปให้เห็น นี่ละภาคปฏิบัติเพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นเรื่องของจิตล้วน ๆ ว่ามันเป็นอันเดียวกันกับกายหรือไม่ มันมีอยู่ ๕ อาการ ๑) รูป ได้แก่ร่างกายทุกส่วน ๒) เวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ มีได้ทั้งส่วนร่างกายและจิตใจ ๓) สัญญา ความจำได้หมายรู้ ๔) สังขาร คือความคิดความปรุงภายในจิตใจ ๕) วิญญาณ ความรับทราบเวลาอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ หรือกระทบกันกับอายตนะภายใน ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ส่งเรื่องเข้าไปสู่จิตใจ จิตใจก็เกิดว้าวุ่นขุ่นมัวภายในตัวเองขึ้นมา เพราะได้รับเรื่องมาจากภายนอก เป็นสื่อเป็นสายต่อกันเข้าไปหาจิตใจ
เมื่อเราพิจารณาแยกแยะในธาตุขันธ์นี้ให้เห็นตามเป็นจริงของมัน ถ้าพูดถึงเรื่องอสุภะอสุภังก็มีตั้งแต่กองปฏิกูลเต็มตัวของเรา ถ้าพูดถึงการแยกออกเป็นธาตุ ๔ ก็มี ธาตุดิน ส่วนแข็ง ๆ ก็เป็นธาตุดิน ส่วนน้ำที่มีอยู่ในร่างกายของเรานี้ก็เป็นธาตุน้ำ ลมมีลมหายใจเป็นต้นก็เป็นธาตุลม ไฟความอบอุ่นภายในร่างกาย เรียกธาตุไฟ เมื่อ ๔ อย่างนี้มันสลายลงไปแล้วเป็นอะไร พิจารณาให้มันเห็นตามความจริงในหลักธรรมที่ทรงสอนไว้นั้น เมื่อเข้าใจอย่างนี้ชัดเจนแล้วจิตก็หายสงสัย เมื่อหายสงสัยแล้วความยึดร่างกายนี้ว่าเป็นเราเป็นของเราก็หมดปัญหาไป เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงแล้วย่อมปล่อยวางได้
ไม่ว่าสิ่งใดถ้ารู้ชัดแล้วหาสงสัยไม่ได้ นี่เป็นส่วนหยาบแห่งความยึดถือของร่างกายของของใจ ที่ยึดถือร่างกายว่าเป็นเราเป็นของเรา จากนั้นก็เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ มีทั้งทางกายและทางจิตใจ พิจารณาเข้าไปอีกถึงเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งมีประจำอยู่กับของเหล่านี้ มันเป็นจิตจริงไหม สิ่งเหล่านี้เป็นจิตไหม หรือเป็นอะไร เมื่อค้นเข้าไป ๆ ก็เห็นเป็นอาการเช้าไป ต่อสายยาวเหยียดเข้าไปถึงจิต นี่มันเป็นสายยาวเหยียดเข้ามาถึงจิต นี้แลเป็นสายยาวเหยียดที่ทำให้ยึดนั้นยึดนี้ ไปเกิดในที่นั่นที่นี่เพราะอันนี้เอง เมื่อรู้ทันแล้วก็ปล่อยเข้าไป พวกเวทนา พวกสัญญา ความจำได้หมายรู้ก็ต่อสายยาวยืดออกไปจากใจนี่ เมื่อพิจารณารู้ชัดแล้วก็ถอยเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงใจ มาดับอยู่ที่ใจ
เวทนาก็มาดับอยู่ที่ใจ มารู้เท่ากันอยู่ที่ใจ สัญญา ก็มารู้เท่ากันอยู่ที่ใจ สังขาร ความปรุงขึ้นก็ปรุงขึ้นจากใจ ปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนเรานั่งอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม ทุกอิริยาบถมันมีแต่เรื่องความปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ยุ่งไปหมด สัญญากับสังขารเป็นตัวสำคัญที่หลอกลวงเจ้าของ เพราะเราไม่มีสติตามรู้ตามเห็นมัน มันก็สนุกหลอกเรา ตื่นเงาของเรานั้นแหละ สัญญาก็ออกไปจากใจ สังขารปรุงขึ้นก็ออกไปจากใจ แต่ใจของเราไม่มีสติไม่สามารถรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ ก็หลงไปตามนั้นทั้งวันทั้งคืน เล่นกับเงาของตนอยู่นั้น ดีใจเสียใจ เรื่องราวผ่านมาไม่รู้กี่ปีกี่เดือนแล้ว พอระลึกได้ก็เอามาอุ่นขึ้นมาเผาตัวเองอยู่อย่างนั้น
สิ่งที่ดีใจก็ดีใจเป็นลมเป็นแล้งไปอย่างงั้น ดีใจลม ๆ แล้ง ๆ เสียใจลม ๆ แล้ง ๆ ไป ทีนี้ความเสียใจมันเป็นความทุกข์จริง ๆ เราหารู้ไม่ วิญญาณความรับทราบ เวลาสิ่งมาสัมผัส รับทราบแล้วก็ไปดับอยู่ที่ใจ นี่เรื่องของปัญญาพิจารณาอย่างนี้ นี่เราพูดสรุป ๆ เข้ามานะ เพื่อให้พอดีกับเวลา ทีนี้เวลาพิจารณาสิ่งเหล่านี้รู้เท่าทันกันโดยลำดับ ด้วยอำนาจของสติปัญญาทางภาคปฏิบัติแล้ว รูปกายนี้ก็รู้เท่าทันปล่อยวางได้ คำว่าอุปาทานในกายไม่มี ถอนตัวแล้วเพราะความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญา
เวทนา ทีแรกก็เวทนาทางกายเสียก่อน รู้เท่าทันเวทนาทางกาย ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งเฉย ๆ ปล่อยวางได้ นี่เราเรียงลำดับไปเฉย ๆ นะ ไม่ใช่มันจะค่อยไปละนั้นละนี้ไปเรื่อย ๆ นะ เวลามันละทีแรกก็ละร่างกายก่อน จากนั้นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรม มันอาศัยกันอยู่เท่านั้นก็ไปพร้อมกันหมดเลย เพราะมันเกี่ยวโยงกัน
สัญญาความจำได้หมายรู้ ก็รู้เท่ากันที่ใจ ละกันที่ใจ
สังขารก็รู้เท่าที่ใจ ละที่ใจด้วยสติ
วิญญาณ รับทราบสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ ก็รู้ที่ใจดับลงที่ใจ และรู้เท่าที่ใจอีก ละที่ใจอีก เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เรียกว่า อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เป็นทางเดินของกิเลสตัณหาอาสวะอวิชชา ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจแต่ได้ถูกสกัดลัดกั้นตัดสะพานออกหมด ไม่มีสิ่งใดเหลือ กิเลสประเภทต่าง ๆ ที่ออกจากอวิชชาเดินไปไหนไม่ได้ ถูกตัดสะพานแล้ว ตัดเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงดวงจิต นี่การพิสูจน์จิตพิสูจน์อย่างนี้นักปฏิบัติจึงจะรู้ได้ชัด ว่าใจน่ะเป็นยังไงแน่ เห็นได้ชัดทางภาคปฏิบัติ ดังพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นั้นผิดหรือถูกประการใด เอาภาคปฏิบัติเข้าไปจับกัน พิสูจน์กัน จะยอมรับ กราบพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย เพราะความจริงเหมือนกันแล้วฝืนไปได้ยังไง
ทีนี้เมื่อกิเลสตัณหาอาสวะหาที่ออกที่เกาะไม่ได้แล้ว มันก็รวมตัวของมันเพราะถูกตัดสะพาน ทางรูปได้แก่ร่างกายก็ตัดด้วยสติปัญญา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตัดด้วยสติปัญญาเข้าไป ขาดความยึดมั่นถือมั่นเรียกว่าอุปาทาน เหลือแต่จิตล้วน ๆ กับเชื้อของมันที่เป็นตัวสำคัญ นั่นละที่นี่เราจะทราบได้ชัดว่าตั้งแต่ก่อนที่เกิดที่นั่นเกิดที่นี่เป็นเพราะเหตุไร มันมีสายเกี่ยวโยงไปด้วยเหตุนั้น ๆ มันถึงได้ทำให้เกิดอย่างนั้น ๆ อะไรเชื้อพาให้เกิดคืออะไร นี่มันก็เข้าถึงจิตได้แก่อวิชชาจริง ๆ แล้วอยู่ที่จิต
เมื่อตัดสะพานออกหมดแล้ว ตัวกิเลสจอมกษัตริย์จริง ๆ ก็คืออวิชชา ก็รวมเข้าไปอยู่ที่หัวใจ สติปัญญาหยั่งลงไปตรงนั้น พิจารณาอยู่ตรงนั้น เหมือนกับพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายมีขันธ์ ๕ เป็นต้น จนกระทั่งรู้เท่าทัน เชื้ออันสำคัญที่พาให้เกิดที่นั่นที่นี่ได้สลายลงไปจากจิต กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ขึ้นมาแล้วทีนี้เกาะอะไรไหม ทีนี้เกาะไหม ๆ ติดไหมติดรูปติดไหม ติดเสียงติดไหม ติดกลิ่นติดรสติดไหม เครื่องสัมผัสธรรมารมณ์ติดไหม ติดรูปของตนคือกายนี้ติดไหม เวทนาทั้งภายนอกคือเวทนาทางกายติดไหม เวทนาทางใจติดไหม สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขารและวิญญาณติดไหม
ไม่มีอะไรติดเลย นี่เรียกว่าพิสูจน์ให้เห็นความจริงของจิต ทีนี้จิตนี้จะไปเกิดไหม เอาอะไรไปเกิด นั่นรู้แล้ว เชื้อทั้งหลายได้ตัดออกหมดที่จะพาให้เกิด ภพน้อยภพใหญ่ตัดออกหมด กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วจะเอาอะไรไปเกิด ทีนี้เมื่อไม่เกิดแล้วสูญไหม ถ้าสูญทำไมจะรู้ถ้าสูญทำไมจะบริสุทธิ์ได้ สิ่งที่บริสุทธิ์ได้อยู่มันจะสูญไปได้ยังไง สูญก็เรียกว่าสูญไปเลย ทีนี้ผู้ที่รู้ว่ากิเลสสิ้นไปมันรู้อยู่นี่ มีอยู่นี่ บริสุทธิ์ก็รู้ว่าบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ ที่เป็นของอัศจรรย์ ไม่เกี่ยวเกาะกับสิ่งใดเลยก็รู้อยู่ภายในจิตใจ
นี่ละธรรมชาติอันนี้แลที่ท่านว่าพุทธะแท้ ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าจะไม่ไปที่ไหน จะมาลงจุดเดียวกันนี้ เมื่อยอมรับอันนี้แล้วจะไปคัดค้านพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย คัดค้านได้ยังไง ถ้าจะคัดค้านท่านเหล่านั้นหรือลบล้างท่านเหล่านั้น ก็ลบล้างธรรมชาติที่มีอยู่กับตัว รู้เห็นประจักษ์อยู่กับใจนี้เสีย ถ้าลบล้างอันนี้ไม่ได้ก็ลบล้างอันนั้นไม่ได้ เมื่อยอมรับความจริงในหัวใจตัวเองก็ยอมรับความจริงของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายเท่านั้นเอง มันก็ไม่มีอะไร นี่การพิสูจน์
เอาให้จริงจังซีนักปฏิบัติ เราอย่าไปอ่านตั้งแต่คัมภีร์เฉย ๆ โดยไม่สนใจประพฤติปฏิบัติ ไม่พิสูจน์ แล้วเอาความจดความจำที่เรียนมาจากตำรับตำรามาเป็นสมบัติของตน ปลอมไปทั้งเพถ้าเราไม่นำมาปฏิบัติ นี่ก็ได้เรียนเหมือนกันจนเป็นมหาไม่ใช่คุย เป็นมหาเท่าไรทิฐิมานะยิ่งโตขึ้นเท่าภูเขานี่ สำคัญว่าตัวรู้ตัวฉลาดนักปราชญ์แหลมคมแล้ว กิเลสมันหลอก เวลาปฏิบัติไปถึงได้รู้เรื่อง รู้เรื่องไปโดยลำดับ ๆ เอ๊ะ ๆ ชอบกล ๆ แน่ะ ปล่อย ๆ ไปเรื่อย ปล่อยเสียโดยประการทั้งปวงไม่มีอะไรเหลือแล้วมันก็แสนสบายเท่านั้นแหละ
การประพฤติปฏิบัติ จะยากลำบากเพียงไรก็เอาซิ พระพุทธเจ้าเป็นเดิมพันแล้วเห็นไหม สลบสามหนนั่น พระสาวกบางท่านบางองค์ก็ฝ่าเท้าแตกเห็นไหม ทุกข์หรือไม่ทุกข์การต่อสู้กับกิเลส บางองค์จักษุแตกเห็นไหมในตำรับตำรามีอยู่แล้ว ท่านไม่เอาของหลอกมาสอนโลก เอาความจริง แล้วเราอยากจะรู้ว่ามันหนักหนาขนาดไหน ให้เรากับกิเลสสู้กันดูซิก็รู้เองนี่นะ เราไม่ต้องไปคาดของท่านเรื่องของท่าน ที่ว่าฝ่าเท้าแตกก็ดี ฝ่าเท้าเราก็มีเอาซิมันเป็นยังไง เดินลงไปลองดูซิ นั่งก็เอ้าจนก้นแตกก็ให้มันรู้ซิว่ามันเป็นยังไง สู้กับกิเลสนี้หนักมากหนักน้อยเพียงไร ยากลำบากแค่ไหน พระพุทธเจ้าถึงได้สลบถึง ๓ หน ยากขนาดไหน ทีนี้เวลาเราจะสู้กับกิเลสของเรานี้ยากขนาดไหน เรารู้ในเราเองเราก็ยอมเชื่อท่านเท่านั้นเอง
เพราะไม่มีอะไรที่จะแก้ยากมากยิ่งกว่าแก้กิเลส เข้าสู่สงครามอันนี้ละสำคัญมากทีเดียว เอาเป็นเอาตายเข้าว่า เอาให้รู้ไม่รู้ให้ตาย ทีแรกเราก็สั่งสมกำลังสติปัญญาของเราขึ้นโดยลำดับ ๆ นั่งสมาธิภาวนาก็เมื่อมีจิตสงบแล้วก็มีความร่มเย็นเป็นสุขภายในจิตใจ เย็นสบายไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ จิตใจที่เคยเป็นเหมือนลิงร้อยตัวก็สงบลงได้ อ๋อ นี่จิตสงบเป็นอย่างนี้เอง ทีนี้ผลแห่งความสงบที่เกิดขึ้นจากจิตนี้เป็นยังไง ตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งถึงป่านนี้เราไม่เคยเห็นความสงบของจิตนี้ได้นิ่งตัว และแสดงผลขึ้นมาแบบความสุขความสบายความอัศจรรย์อย่างนี้เลย คราวนี้ได้เห็นแล้วหนอ นั่นด้วยการปฏิบัติ เพียงขั้นสมาธิก็อัศจรรย์แล้ว
ออกจากนั้นก็แยกทางด้านปัญญา พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ สกลโลกนี้มันไปหมด ให้เห็นเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพราะมันเหมือน ๆ กันหมด เมื่อพิจารณาในแง่หนึ่งแล้วมันก็รู้ทั่วถึงไปหมด ว่าเป็นลักษณะเดียวกันถึงเรียกโลกวิทู รู้แจ้งเห็นจริงโลก ก็คือโลกมันเหมือน ๆ กัน มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกัน เมื่อรู้ชัดตามเป็นจริงมันก็ปล่อยวางมาโดยลำดับ ๆ นี่ละเรื่องของปัญญา จนกระทั่งเข้าถึงจิตอย่างที่ว่านี่ เมื่อปล่อยวางเข้ามา ๆ จนกระทั่งปล่อยวางถึงจิตให้เต็มที่เต็มฐานแล้ว นั้นแหละจะถามหาพระนิพพานที่ไหน
นิพพานท่านตั้งชื่อไว้ ผู้รู้พระนิพพานไม่จำเป็นต้องไปหาชื่อพระนิพพาน ไม่ต้องไปตั้งชื่อพระนิพพาน ไปหาที่ไหน ให้ชื่อให้นามไว้สำหรับเป็นกรุยหมายป้ายทางเท่านั้น เช่นทางไปนั้นมีกรุยหมายป้ายทางไว้อย่างนั้น ๆ อันนั้นแยกไปนั้นอันนั้นแยกไปนี้ ผู้ที่เขาเคยเดินทางสายนั้นแล้วเขาไม่จำเป็นจะต้องไปดูกรุยหมายป้ายทางที่เขาเขียนบอกไว้ นั่นเขาเขียนไว้สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ จะได้ไปตามลูกศรไปตามที่เขาเขียนป้ายเอาไว้ ผู้ที่เคยไปอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องดูป้าย หรือว่าวัดก็เขียนป้ายเอาไว้ ติดไว้ที่วัด เช่นวัดบวรนิเวศ เป็นต้น สำหรับพระเณรประชาชนในแถวนั้นที่เขารู้วัดแล้ว เขาไม่จำเป็นจะต้องไปอ่านป้ายวัดแหละ อยากเข้าก็เข้าอยากออกก็ออกเหมือนอย่างพระเณรในวัดนั้น นี่ก็เหมือนกันผู้ที่รู้พระนิพพานแล้วถามหาเรื่องพระนิพพานอะไร ถามหาชื่อพระนิพพานที่ไหน
ทำใจของตนให้บริสุทธิ์เต็มที่แล้วมันอิ่มตัวหมด ความหิวความโหยความสงสัยสนเท่ห์ที่เคยเป็นมามากน้อย มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น เพราะเราไม่เคยรู้เคยเห็นสิ่งเหล่านี้ เมื่อรู้เมื่อเห็นแล้วจะหาอะไรมาสงสัย มันก็สลัดออกหมดเหลือแต่ความจริงล้วน ๆ เต็มหัวใจ นั่นคือผลแห่งการปฏิบัติ ก่อนจะได้เป็นก่อนจะได้รู้ได้เห็นก็ต้องเอาชีวิตฝากเอาชีวิตแลก เพราะต่อสู้กับกิเลส
กิเลสสำคัญมาก มีอะไรในโลกนี้ที่จะเป็นข้าศึกอันใหญ่หลวงต่อเรา และต่อสู้กันได้อย่างลำบากยากเย็นเข็ญใจถึงกับเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน จะมีอะไร นอกจากกิเลสนี้เท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ละยาก เพราะเป็นสิ่งที่รักสงวนอ้อยอิ่งเหมือนกับว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเรา ถ้าเราจะต่อสู้กับกิเลสจะแก้กิเลส จะฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสก็กลัวจะฟาดฟันเรา กลัวจะต่อสู้กับเรา กลัวเราจะได้รับความทุกข์ความลำบาก ในขณะเดียวกันเราก็หาได้คิดไม่ว่ากิเลสมันหัวเราะ ถ้าเรากลัวเราลำบากก็คือกลัวกิเลสลำบากนั่นเอง กลัวเราตายก็คือกลัวกิเลสตายนั่นเอง ทีแรกก็ว่าอยากให้กิเลสตาย แต่มันกลับย้อนศรลูกศรละที่นี่ กลัวกิเลสตายไปเสีย ไม่ใช่ให้กิเลสตาย นี่ละเรื่องหนักทั้งหลายอยู่ในนี้
ทำดูก็รู้ เพราะกิเลสมันอยู่กับทุกคน เหนียวแน่นขนาดไหนทำดูก็รู้ ไม่จำเป็นจะต้องดูแต่แบบแผนพระพุทธเจ้าแหละ ท่านทำอย่างนั้น ๆ สาวกทั้งหลายทำอย่างนั้น ๆ ท่านสอนไว้แล้วเพื่อเป็นแบบเป็นฉบับแล้ว เอามาพิสูจน์กับตัวเอง เพราะกิเลสก็มีอยู่กับหัวใจของเราเหมือนกัน เอาให้จริงให้จังแล้วกิเลสจะพังทลายลงไปวันหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย ถ้าปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาที่ได้ทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้
คำว่ามัชฌิมาก็แปลว่าท่ามกลาง หรือแปลว่าเหมาะสม มัชฌิมามีหลายประเภทเหมือนอย่างเครื่องมือปราบข้าศึก เครื่องมือจะมีแต่เพียงอันเดียวไม่ได้ ข้าศึกมีหลายประเภท ข้าศึกมีกำลังมากกำลังน้อย อย่างผาดโผนก็มี เราจะหาเครื่องมือชนิดไหนต่อสู้กับข้าศึกประเภทนั้น ๆ เฉพาะอย่างยิ่งประเภทที่ผาดโผนที่สุด ประเภทที่มีกำลังมากที่สุด เราจะต่อสู้ยังไง เพราะฉะนั้นมัชฌิมาจึงต้องมีเป็นประเภทๆ ไม่ใช่ว่ามัชฌิมาปฏิปทาเดินทางสายกลาง ไม่ยิ่งนักไม่หย่อนนัก
เดินอย่างไรเดินไม่ยิ่งนักไม่หย่อนนักนั้นน่ะ ผู้นั้นเองก็ไม่เคยได้เดินไม่เคยได้ดำเนิน จะไปรู้ได้ยังไงว่ามัชฌิมาเดินทางสายกลาง สายกลางก็มีแต่หมอนเท่านั้นแหละจะว่าอะไร เดินจงกรมหย็อก ๆ ยังไม่ถึง ๒ - ๓ นาทีแหละ จิตมันประหวัด ๆ กับหมอน โอ๊ย มันจะยากมันจะลำบากมากไปนี่ เอาพอดีเถอะ อย่างนี้มันจะเคร่งเกินไป ลงหมอนเสียมันเคร่งหรือไม่เคร่ง ครอก ๆ จนกระทั่งตะวันแหย่ก้นยังไม่ตื่น มันเป็นมัชฌิมาแล้วหรืออย่างนั้น มัชฌิมาอย่างนั้นเขาเรียกมัชฌิมาหมูขึ้นบนเขียงแล้วไม่ยอมลง มันจะทันกับกิเลส มันเป็นมัชฌิมาเพื่อฆ่ากิเลสได้หรืออย่างนั้น มันเป็นมัชฌิมาของกิเลสต่างหาก ไม่ใช่มัชฌิมาของธรรมที่จะฆ่ากิเลส
เพราะฉะนั้นเพื่อให้เป็นมัชฌิมาความเหมาะสมกับการปราบกิเลส กิเลสประเภทไหนมาวะ มันรุนแรงขนาดไหนกิเลส เราก็รุนแรงเหมือนกัน กิเลสผาดโผนขนาดไหน มัชฌิมาปฏิปทา สติปัญญาศรัทธาความเพียร ทุกด้านทุ่มลงไปให้ถึงกัน ๆ นั้นเรียกว่ามัชฌิมา คือเหมาะสมกับการปราบกิเลสทุก ๆ ประเภท เครื่องมือของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเคยปราบมาแล้ว สาวกเคยปราบมาแล้วด้วยมัชฌิมา คือเครื่องมือที่เหมาะสมกับกิเลสแต่ละประเภท ๆ ที่ถือว่าเป็นข้าศึกต่อธรรม ต่อสู้กันอย่างนั้น สุดท้ายก็พังทลายไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ นั้นละพระพุทธเจ้าก็ดี สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเราก็ดีท่านดำเนินอย่างนั้น
เราถือท่านเป็น พุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ เข้าถึงใจหรือยัง ถ้าเข้าถึงใจก็ต้องให้เห็นทั้งเหตุทั้งผล ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งโทษของกิเลสทั้งคุณค่าของธรรม ให้เห็นความจริงเต็มส่วนด้วยการประพฤติปฏิบัติ เราอย่ามาเสียดายเรื่องการเกิดการตายซึ่งมีอยู่เต็มโลกนี้น่ะ เขาไม่ภาวนาเขาก็ตายเหมือนกัน นี่เราภาวนาเพื่อรื้อถอนกิเลสซึ่งเป็นงานใหญ่โตสำหรับชีวิตของพระ ไม่ใช่งานเล็กน้อย แล้วทุกสิ่งทุกอย่างเขาอุดหนุนหมด จตุปัจจัยไทยทาน จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ที่อยู่ที่อาศัยสมบูรณ์บริบูรณ์ เฉพาะอย่างยิ่งวัดป่าบ้านตาดนี้จะท่วมพระตายเสียแล้วแหละ มันสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งนอนใจ ลืมตัวไปเสีย เราไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งเหล่านี้
เอ้า สู้ลงไป ถึงระยะที่สู้-สู้ไม่ถอย หน้าที่ของเรามีอันเดียวเท่านี้ เพศก็บอกแล้วว่าเพศนักรบไม่ใช่เพศนักหลบ หลบไปหาหลับหานอน หลบหลีกเลี่ยงความพากความเพียร อันไหนที่จะเป็นสาระแก่นสารที่จะทำลายกิเลสอันเป็นตัวข้าศึกให้หมดไปจากใจ ไม่อยากทำ หลบ ๆ หลีก ๆ เขาเรียกว่านักหลบไม่ใช่นักรบ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็มีแต่กิเลสนั่นแหละ เป็นพวง ๆ เป็นตู้ ๆ เป็นหีบ ๆ ทับอยู่บนหัวใจนั่น ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถึงใจแล้ว ย่อมเห็นทั้งโทษอย่างถึงใจ เห็นทั้งคุณอย่างถึงใจ เวลาประกอบความเพียรก็เอา ฟัดกันให้เต็มเหนี่ยว ให้ได้เห็นว่ากิเลสตายหรือเราตาย เอาตรงนี้ไม่ต้องเอาตรงไหนนะ
พระพุทธเจ้าก็ดีพระสาวกก็ดีท่านสู้กับกิเลส กิเลสตายท่านได้ชัยชนะ เป็นผู้บริสุทธิ์เลิศโลก เราได้ชัยชนะหรือได้ความแพ้เวลานี้ เอามาพิจารณาเอามาเทียบเคียงซิถ้าเป็นนักปฏิบัติ ต้องสอดต้องแทรกต้องแยกต้องแยะ ย้อนหน้าย้อนหลัง ไม่งั้นไม่ทันกับกิเลส อุบายวิธีการต่าง ๆ กิเลสมันแหลมคมขนาดไหน ถ้าไม่ผลิตสติปัญญาขึ้นให้ทันกันไม่ทัน ถูกกิเลสเอาหมอบราบไม่มีเหลือ นี่เราก็เคยหมอบราบกับกิเลสมานานแล้วไม่ใช่เหรอ ผลแห่งการหมอบราบเป็นอย่างไรบ้าง ได้รับความสุขความสบายไหม
เอาให้จิตใจได้เด่นดวงลองดูซิ ไม่มีสิ่งใดแล้วที่จะเข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ให้จิตนี้ได้เอนได้เอียง ตั้งแต่วันกิเลสได้ม้วนเสื่อลงไปแล้ว มีแต่อิสรเสรีเต็มตัวเท่านั้น ให้ได้เห็นอย่างนั้นซิลูกศิษย์ตถาคต ธรรมะนี้ไม่ใช่ธรรมะเป็นโมฆะ ไม่ได้เป็นหมันจึงเรียกว่ามัชฌิมา เหมาะสมกับการปราบกิเลสทุกประเภทอยู่ตลอดเวลา ให้นำมาใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ เหมาะกับกิเลสประเภทต่าง ๆ อย่างไรก็ไม่พ้น พระพุทธเจ้าเป็นยังไง สาวกเป็นยังไง เราจะต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อได้นำเครื่องมือของท่านที่มอบให้แล้วมาปฏิบัติต่อตัวเอง
ผมน่ะมีความฝักใฝ่ต่อหมู่ต่อเพื่อน ด้วยความรักความสงสารเมตตาทุกด้านทุกทาง อยากให้หมู่เพื่อนได้เห็นเรื่องของกิเลสกับเรื่องธรรมขึ้นที่ใจ เพราะมีอยู่นี้แท้ ๆ จึงได้ทุ่มในการสั่งสอนทุกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มอรรถเต็มธรรม ไม่เคยปิดบังลี้ลับ เป็นยังไง ๆ หัวใจของเจ้าของรื้อออกมาให้ดูหมด ด้วยวิธีการทั้งเหตุคือการประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติมาอย่างไรและผลได้รู้ขึ้นมาอย่างไร ๆ บ้าง ได้เปิดออกมาให้หมดให้หมู่เพื่อนฟังอย่างไม่มีปิดบังลี้ลับ ถ้าจะเชื่อว่าเป็นความจริงแล้วก็ควรจะดำเนินไปด้วยความมุ่งมั่นเพื่อความหลุดพ้น ถ้าหากไม่เชื่อว่าธรรมเหล่านี้เป็นความจริงแล้ว ก็แสดงว่ากิเลสนี้มันครอบเอาเหลือประมาณ จนไม่มีวันมีคืนมีปีมีเดือน ไม่ได้ยินเสียงอรรถเสียงธรรม ไม่ได้เข้าถึงใจเลย มีแต่กิเลสเต็มอยู่หัวใจ ธรรมเข้าไม่ได้เลย ก็ช่วยไม่ได้ถ้าเป็นอย่างนั้น
ได้พูดให้ฟังแล้วทุกด้านทุกทาง ทางเหตุก็พูดให้ฟัง หนักเบาขนาดไหนได้เคยพูดแล้ว งานของโลกเราเคยดำเนินมา ไม่เคยมีงานใดที่เราจะสละชีวิตเพื่อมัน หนักเราก็เคยทำเบาก็เคยทำ แต่เวลามาในวงศาสนาเฉพาะอย่างยิ่งออกปฏิบัติจิตตภาวนา นี่ได้ทุ่มลงด้วยชีวิตจิตใจ ถึงคราวที่มอบมอบเลย เอ้า มอบ ให้รู้ไม่รู้เอ้าตายก็ตาย ไม่ตายถึงเวลาถึงจะออกจากที่ เช่นเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา มันจะเป็นอะไรเอ้าถึงไหนถึงกัน เรื่องทุกข์ไม่เลยตาย ถึงแค่นั้น
สติปัญญาเท่านั้นที่จะสอดแทรกให้รู้เรื่องความจริงทั้งหลาย ทุกข์ท่านว่าเป็นของจริง ถ้าไม่รู้ทุกข์เสียก่อนก็ไม่เห็นสุข ไม่เห็นความจริง เอาจนถึงขนาดนั้นแล้วมันก็ไม่พ้นไปได้ สุดท้ายกิเลสก็พังทลายเหมือนกัน ได้ทำมาแล้วนี่ เราว่าเอ้าตาย เราสละตายลงไป บทจริง ๆ แล้วกิเลสมันตายเพราะความเสียสละของเรา นั่นจึงชื่อว่าต่อสู้กิเลสจริง ๆ นี่กลัวแต่กิเลสจะถลอกปอกเปิก กลัวแต่กิเลสจะไม่สนุกหลับสนุกนอนสนุกเพลิดเพลิน สนุกเหยียบย่ำทำลายจิตใจ ถ่ายมูตรถ่ายคูถรดลงที่หัวใจอยู่ตลอดเวลา เรายังจะเป็นส้วมเป็นถานให้มันถ่ายรดอยู่ตลอดเวลาเหรอ มันดีแล้วเหรอ เอาให้จริงให้จังซินักปฏิบัติ
อยู่ที่ไหนให้มีสติอย่าประมาท ดูแต่หัวใจเจ้าของนั่นแหละ อย่าไปดูอะไรมากยิ่งกว่าหัวใจ กิเลสมันหมอบอยู่ที่นั่นมันแสดงอยู่ที่นั่น สนามรบกิเลสก็อยู่ที่นั่น ทำเลที่มันร้องเพลงก็อยู่ที่นั่น ปราบกิเลสก็อยู่ที่นั่น เวทีเดียวกันนั่นแหละคือใจ เอาให้จริงให้จัง ทำไมธรรมมีตั้งแต่คัมภีร์ ทำไมความจริงไม่เข้าถึงใจเรา ก็เหมือนศาสนานี่เป็นโมฆะ ธรรมจริง ๆ อยู่ที่ไหนถ้าไม่จริงอยู่ที่ใจ พอปราบกิเลสตัวข้าศึกที่ไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์หมดไปแล้ว กิเลสมันก็อยู่ที่นี่ ปราบกันที่นี่ กิเลสหมดไปแล้วไม่ถาม ถามหานิพพานถามหาทำไมให้เสียเวลา เอาให้จริงจังอย่างนั้นซิ
เอาเพียงเท่านี้ |