ออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานปฏิบัติธรรม
วันที่ 30 ตุลาคม 2531 เวลา 19:00 น. ความยาว 56.41 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

ออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานปฏิบัติธรรม

            ศาสนธรรมที่จะให้ยังคงเส้นคงวาหนาแน่นด้วยมรรคด้วยผล ตามที่พระพุทธเจ้าประทานไว้จริง ๆ ปริยัติกับปฏิบัติต้องกลมกลืนกันไป ไม่สักแต่ว่าเรียนจำได้หมายรู้ตามที่ศึกษามาเท่านั้น แต่การปฏิบัติไม่สนใจให้เป็นไปตามแบบตามฉบับตำรับตำราที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา อย่างนั้นศาสนาจะว่าไม่มีความหมาย ไม่มีฤทธาศักดานุภาพที่จะทำโลกให้ร่มเย็นก็ไม่ผิด ถ้าไม่มีภาคปฏิบัติเคลือบแฝงกันไปหรือเป็นคู่เคียงกันไป เพราะศาสนาที่จะทรงมรรคทรงผล ก็คือศาสนาที่ทรงเหตุทรงผลของผู้ปฏิบัติหนักแน่นอยู่ภายในจิตใจ ตามหลักศาสนธรรมตลอดเวลานั่นแล เป็นศาสนาที่จะแสดงฤทธาศักดานุภาพ ก่อนอื่นก็แสดงที่ผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติมีความหนักแน่นมั่นคงขนาดไหน ต่อหลักธรรมหลักวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้ ผลจะเป็นมาตามนั้นและเป็นมาเรื่อย ๆ เพราะการปฏิบัติมีข้อหนักแน่นประจำตนอยู่โดยสม่ำเสมอ ผลจะแสดงออกเรื่อย ๆ จนปรากฏเด่นชัดภายในใจของผู้ปฏิบัตินั้นเอง

            หากไม่มีการปฏิบัติเป็นคู่เคียงกันไปแล้ว  ก็ไม่ผิดอะไรกับที่เขาท่องบ่นสังวัธยาย หลักวิชาใดๆ ก็ตามก็เพียงจำได้เท่านั้น ธรรมก็จำได้แต่สูตรว่าคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้ซึ่งเป็นเพียงคำบอกเล่า เจ้าของก็ไม่สนใจที่จะประพฤติปฏิบัติ คุณค่าแห่งธรรมที่เกิดขึ้นจากความจำนั้นก็ไม่มี ที่จะทำให้เจ้าของได้รับความร่มเย็นผาสุก สมกับว่านับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม นี่เป็นของสำคัญ มาเสียตรงนี้เอง จะว่าธรรมกับโลกไม่ผิดกันอะไรก็ไม่น่าจะผิด เพราะเพียงจำเฉย ๆ โลกเขาก็จำได้ เขาก็เรียนได้ เราเรียนธรรมก็จำได้จำธรรม แต่ไม่ปฏิบัติตามธรรมที่จะให้เกิดผลขึ้นมาก็ไม่เกิด ผลจะเกิดไม่ได้ถ้ามีแต่ความจำเฉย ๆ ต้องมีการปฏิบัติด้วย ผลถึงจะเกิดได้เป็นลำดับลำดา อย่างนั้นท่านจึงมีไว้เกี่ยวโยงกันไปว่า ปริยัติได้แก่การศึกษาเล่าเรียน เมื่อรู้เข็มทิศทางเดินแห่งธรรมที่ท่านทรงชี้แจงไว้แล้วอย่างใด ก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามเข็มทิศทางเดินที่ตนเรียนจำได้แล้วนั้น ไม่ให้ผิดพลาด ผลย่อมจะเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นความเย็นใจที่ว่าตนได้ปฏิบัติถูก

            อันดับต่อไปก็ปรากฏผลเป็นความสงบเย็นใจจากภาคปฏิบัติ ทางด้านจิตตภาวนา ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติอันสำคัญยิ่งกว่าภาคอื่นใดในวงการปฏิบัติแห่งพระพุทธศาสนา แล้วจะค่อยแสดงขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นผลเด่นขึ้นไปเป็นลำดับลำดา ดังครั้งพุทธกาลท่านทรงมรรคทรงผลเป็นสาวกอรหัตอรหันต์ ล้วนแล้วแต่ท่านหนักแน่นในทางภาคปฏิบัติ ไม่ว่าการอยู่การกระทำ ถ้าพูดภาษาของเราปัจจุบันนี้ว่า ภาคเดินธุดงคกรรมฐาน ท่านอยู่ในสถานที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นชอบ ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำทรงสั่งสอนให้อยู่ ท่านทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ทำ ท่านเดินท่านเที่ยวท่านโคจร ไปในสถานที่พระพุทธเจ้าทรงให้เที่ยวให้โคจร อิริยาบถทั้งสี่มีหลักธรรมหลักวินัยเป็นเครื่องประกันตนอยู่เสมอ อยู่ด้วยหลักธรรมหลักวินัย อยู่ด้วยใจเป็นธรรม ธรรมกับใจย่อมกลมกลืนกันได้โดยสม่ำเสมอ จนมีความเด่นชัดหรือมีความแก่กล้าสามารถขึ้นเรื่อย ๆ เช่นอย่างสมาธิ

            เราเกิดมาเราเคยมีสมาธิที่ไหน แม้พระสาวกท่านที่เป็นสรณะของพวกเราชาวพุทธทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏว่าท่านเกิดขึ้นกับสมาธิ ท่านไม่ได้เกิดขึ้นกับปัญญา ท่านไม่ได้เกิดขึ้นกับวิมุตติหลุดพ้น แต่ท่านเกิดขึ้นกับวัฏวน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เรื่องของกิเลสพาให้เกิดทั้งนั้น แล้วทำไมท่านถึงได้เป็นเจ้าของแห่งธรรมทั้งหลายอันเป็นสมบัติล้นค่า เริ่มตั้งแต่ ศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นถึงวิมุตติหลุดพ้น ท่านทำไมถึงได้ทรงมหาสมบัติเหล่านี้ได้โดยสมบูรณ์ จนถึงกับว่าหลุดพ้นจากทุกข์ ไม่มีชิ้นใดอันเป็นสมมุติเข้าไปเกี่ยวข้องท่านได้เลย

            ก็เพราะท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติด้วยความเอาจริงเอาจัง มีความสนใจจดจ่อต่อเนื่องกันทางความพากเพียร และความระมัดระวังทางด้านศีล และพากเพียรทางด้านธรรมไม่ขาดวรรคขาดตอน อยู่ที่ไหนมีธรรมเป็นพื้น มีความอยากรู้อยากเห็น มีความอยากหลุดพ้นจากทุกข์เป็นพื้นเพของใจ หรือเป็นพื้นฐานของใจ มีความมุ่งมั่นเป็นเครื่องดึงดูดความพากเพียรทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา สมบัติเงินทองข้าวของบริษัทบริวารยศถาบรรดาศักดิ์ ท่านตัดออกโดยลำดับลำดาตามวิสัยของผู้มีความมุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์ แม้จะมีกิเลสอยู่ในหัวใจก็ตาม กิเลสเหล่านั้นก็ไม่มีอำนาจที่จะรั้งท่านเอาไว้ได้

            ท่านทั้งสละด้วยทางกาย ทั้งตัดความอาลัยเสียดายทางจิตใจ เปิดทางให้การก้าวเดินเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ด้วยความสะดวก โดยทางความพากความเพียรทุกอิริยาบถ ตลอดถึงทุกความเคลื่อนไหวของใจ มีสติคอยระมัดระวังรักษา มีปัญญาคอยกลั่นกรองอยู่โดยสม่ำเสมอ สมาธิไม่มีก็มีขึ้นได้ ท่านก็เป็นเจ้าของสมบัติคือสมาธิสมบัติขึ้นได้ และเป็นเจ้าของแห่งปัญญาสมบัติเป็นขั้น ๆ ขึ้นมาได้ จนกระทั่งเป็นเจ้าของแห่งมหาสมบัติอันเลิศโลก คือนิพพานสมบัติขึ้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เคยครองมาเลยตั้งแต่วันเกิด

            นี่พวกเราทั้งหลายก็เกิดในแดนเดียวกัน คือ แดน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา พาให้สัตว์ทั้งหลายเกิด แต่เกิดแล้วมีความแยกแยะกันไปต่าง ๆ นานาตามบุญตามกรรม ตามความคิดเห็นหรือตามภพตามกำเนิดของตน แม้เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์นี้ก็มีความแยกย้ายผันแปรแห่งความรู้ความเห็นความเป็นต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการนับถือหรือความเคลื่อนไหวตลอดถึงการปฏิบัตินับถือ จึงมีความแปลกต่างกันไปเป็นลำดับลำดาหาประมาณไม่ได้ แต่เรายังแยกแยะจิตใจของเราเข้าสู่อรรถสู่ธรรมอันเป็นธรรมที่เลิศ ได้แก่ศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าองค์ประเสริฐตรัสสอนไว้แล้วโดยถูกต้อง และได้มาประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่เห็นว่าเป็นภัยต่อจิตใจของตน อยู่ด้วยเพศแห่งความเป็นนักบวชนี้ จึงรู้สึกว่าเรามีวาสนาบารมีไม่น้อย

            เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงอย่าได้ลืมเนื้อลืมตัวในความมีวาสนา ได้แยกตนออกมาสู่ทางที่ถูกที่ดี คือทางแห่งความพ้นทุกข์ ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นอุปกรณ์แห่งการก้าวเดินเพื่อความพ้นทุกข์นี้ ไม่มีสิ่งใดบกพร่องในส่วนภายนอก ปัจจัย ๔ คำว่าจีวรก็สมบูรณ์ บิณฑบาตก็ดังที่เราเห็นแล้วนั้น เสนาสนะก็พอเป็นพอไป และให้พยายามหาที่เด็ดที่เดี่ยวที่สงบสงัดยิ่งกว่านี้ไป คิลานเภสัชก็เหมือนกัน มียาไม่อดไม่อยาก แต่อย่าไปส่งจิตติดพันกับหยูกกับยา มากกว่าให้ติดพันในอริยสัจมีทุกขสัจเป็นต้น โดยถือว่าโลกนี้เป็นโลกเกิดแก่เจ็บตาย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีอะไรก็เยียวยากันไปตามเกิดตามมี อย่าไปถือเป็นความกังวล เป็นความกลัวเป็นกลัวตายให้เหนือสัจธรรมไป จะเป็นเรื่องของกิเลสสมุทัยเหยียบย่ำทำลายศาสนธรรม ซึ่งควรจะเกิดมีขึ้นภายในตนให้ล่มจมฉิบหายไปเสีย

            นี่พูดถึงเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัยภายนอกสมบูรณ์บริบูรณ์เต็มที่แล้ว ดีไม่ดีถ้าเราประมาทลืมเนื้อลืมตัวกับปัจจัยเครื่องอาศัยเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้เราเสียได้ ลืมเนื้อลืมตัวไปได้ เพราะมีมากต่อมากแล้ว จึงไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค นอกจากจะบกพร่องในความพากความเพียรของเรา นี่เป็นของสำคัญ และบกพร่องในจุดสำคัญด้วยคือความเพียร ถ้าไม่มีท่าต่อสู้จะเป็นความเพียรไปไม่ได้ ท่าต่อสู้ต้องมีเจตนา เจตนาก็ต้องสัมผัสสัมพันธ์กับสติกับปัญญา ถ้าเรามีธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้รวมตัวกันเข้าที่เรียกว่าความเพียรแล้ว ต้องหลุดพ้นจากทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกอรหันต์ก็ดี ท่านหลุดพ้นจากทุกข์เพราะความเพียรนี้ทั้งนั้น ทำไมเรานำความพากเพียรอันเป็นทางสายเดียวกันกับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายมาใช้ จึงจะผิดจะพลาดจะขาดจากคุณงามความดี มีมรรคผลนิพพานเป็นสำคัญไปได้ จะไม่พลาดจะไม่ผิด ส่วนช้าหรือเร็วนั้นก็เป็นไปตามกำลังแห่งความสามารถ

            เพราะคำที่ว่าความหนาความบาง จริตนิสัย ตลอดการปฏิบัติของแต่ละราย ๆ นั้นไม่เหมือนกัน อาจจะช้าเพราะความผิดพลาด ความเพียรของเราไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ได้ ส่วนจะว่าผิดพลาดเพราะเราหนาแน่นไปด้วยกิเลสนั้น ยังไม่อยากจะพูดมากไปกว่าเรื่องเราหลงกลอุบายของกิเลส จะมีน้อยก็ตามทำให้หลงได้ ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว จำเป็นอะไรจะต้องหากิเลสมาอย่างหนาแน่นยิ่งกว่าภูเขา มาปิดมากั้นทางเดินของเราให้ความเพียรล้มเหลว หรือให้ความเพียรตั้งไม่ได้ ความเพียรต้องตั้งได้ แต่ระวังกิเลสแม้นิดหนึ่งก็ตาม เข้ามาเป็นพิษเป็นภัยเป็นพลังอันสำคัญ ที่จะลบล้างหรือทำลายความพากเพียรของเราให้เอนเอียงเป็นอย่างน้อย ให้ล่มจมเป็นอย่างมากไปอยู่โดยสม่ำเสมอ นี่ที่ว่าไม่สามารถจะเป็นไปได้ เพราะไม่สามารถที่จะรู้กลอุบายของกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องต่อต้านภายในจิตใจ อันเรากำลังประกอบความพากเพียรอยู่ให้ล้มเหลวไป ๆ นี่ถ้าช้าก็ต้องช้าที่ตรงนี้เป็นสำคัญ

            คำกล่าวที่ว่าเราหนาเราบางด้วยกิเลสนั้น อย่าด่วนไปอุตริ อย่าด่วนไปรู้ก่อนพระพุทธเจ้า อย่าด่วนฉลาดยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า จะเป็นกลอุบายของกิเลสปิดกั้นทางเดินให้หาทางก้าวไปไม่ได้    เพราะความอ่อนแอท้อแท้    เนื่องจากความสำคัญอันนี้เป็นเครื่องหลอกลวงฉุดลากไว้เสีย กำลังวังชาแทนที่จะเป็นไปโดยความชอบธรรม ก็กลับย่อหย่อนอ่อนกำลังลงไปถึงกับท้อถอยน้อยใจ นี่ละเรื่องของกิเลสมาได้หลายด้านหลายทางอย่างนี้

            จึงไม่ควรที่จะไปคิดว่าเรามีกิเลสหนากิเลสบาง ใครไม่ได้เอากิเลสมาจ่ายตลาดแข่งขันกันแหละในโลกอันนี้ นอกจากสินค้าเท่านั้นเขาจึงนำมาวางตลาด ส่วนกิเลสมีอยู่ในหัวใจของทุกคน และธรรมนี้ก็เป็นธรรมที่เคยปราบกิเลสมามากต่อมากแล้วให้สิ้นสุดยุติ จนกระทั่งไม่มีซากเหลืออยู่ภายในใจ ดังพระพุทธเจ้าของเราทรงดำเนินมาแล้วทุก ๆ พระองค์ ด้วยอำนาจแห่งธรรมนี้เท่านั้นเป็นเครื่องปราบ ไม่มีสิ่งอื่นใดจะปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือได้ พระสาวกของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ปราบกิเลสให้ราบเรียบไปถึงความพ้นทุกข์ เพราะอำนาจแห่งธรรมเป็นเครื่องปราบปราม

            เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นธรรมที่มีอำนาจเหนือกิเลสอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรานำมาใช้ กิเลสจะหนาขนาดไหนก็ตาม ก็มีอยู่เพียงในใจของเรานี้เท่านั้น เมื่อธรรมหยั่งลงไปนั้นทำไมจะไม่ทั่วถึง อย่างโลกเรานี้กว้างขนาดไหนพระอาทิตย์ยังส่องแสงสว่างทั่วถึงไปหมด แล้วปัญญาทำไมจะไม่ส่องสว่างทั่วถึงในหัวใจนี้ ซึ่งมีความรู้ ๆ อยู่ภายในตัวเองนี้ ใหญ่หรือเล็กก็ดูเอา รู้อยู่ภายในตัว รู้อยู่รอบตัวจะว่าใหญ่ขนาดไหน จะว่าเล็กขนาดไหน เมื่อสติปัญญานำมาใช้เพื่อความรอบตัวแล้วก็มีทางที่จะรู้จะเห็น และเข่นฆ่ากิเลสให้บรรลัยไปจากใจได้เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาลท่านไม่มีที่น่าสงสัย

            การประกอบความพากเพียร เราอย่าถือเอาความสะดวกเข้ามาเป็นกฎเป็นเกณฑ์ เข้ามาเป็นเครื่องดำเนิน เข้ามาเป็นนิสัยภายในจิตใจของเรา จะเป็นความเสียหายไปโดยลำดับลำดา เพราะนี้เป็นกลมายาอันหนึ่งที่สำคัญของกิเลส ซึ่งเคยหลอกลวงโลกมานานแสนนานแล้ว ให้ตั้งไว้เพื่อความพ้นทุกข์ ให้ตั้งไว้เพื่อความสำเร็จ ให้ตั้งไว้เพื่อความชนะตนเอง ที่เป็นความอยากอันฝืนธรรมอยู่ภายในจิตใจตลอดเวลานั้น ความอยากนี้อยากรอบตัวภายในจิตใจไม่เคยมีความอิ่มพอ มีแต่ความหิวความกระหาย ควรรู้ก็อยากรู้ ควรเห็นก็อยากเห็น และตัดคำว่าควรออกก็มีว่า คำว่าอยากรู้อยากเห็น อยากสัมผัสสัมพันธ์ อยากนั้นอยากนี้อยากทั่วแทนโลกธาตุ ทั้งที่จิตนี้ไม่ได้ไปเห็นก็อยากไปหมด ในสิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็นก็อยาก นี่ละขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วหาประมาณไม่ได้ ต้องอยากอยู่ตลอดเวลา

            การบวชมาและการประพฤติปฏิบัติตัวเอง ถ้าไม่เพื่อกำจัด ไม่เพื่อปราบปรามความอยากอันเคยเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนมานานแสนนานแล้ว ก็ไม่เรียกว่าความเพียร เพราะอันนี้เด่นมากที่เป็นข้าศึกอยู่ในหัวใจเราเวลานี้ อยากเห็นเป็นยังไง ถ้าเราปล่อยให้เห็นแล้วจะคืบคลานเข้าไปอีก มากเข้าไปอีก เรื่องการเห็นได้เห็นแล้วจะหายสงสัยแล้วจะยุติ ความอยากจะไม่มีนั้น เป็นไปไม่ได้ เอ้า อยากดูรูปดูซิ พออยากดูรูป พอเห็นรูปแล้ว จะอยากอะไรต่อไปอีก อยากฟังเสียง พอได้ยินเสียงแล้วจะอยากอะไรไปอีกในเเง่ของเสียงนั้นๆ จะเป็นไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ท่านจึงเรียกว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำจะกว้างแสนกว้าง ลึกแสนลึก ไม่มีแม่น้ำใดเสมอด้วยตัณหา คือความหิวความโหยอยู่ตลอดเวลานี้เลย หยั่งไม่ถึง กว้างก็วัดไม่ได้ ลึกก็หยั่งไม่ถึง ได้แก่ตัณหา เป็นตัวชนะแม่น้ำมหาสมุทรทะเลโดยสิ้นเชิง แม่น้ำจะกว้างขนาดไหนลึกขนาดไหนสู้ตัณหานี้ไม่ได้ ท่านถึงเรียกว่าความอยากๆ

การประกอบความเพียรก็คือการปราบปรามความอยาก ให้ตัดเรื่องความอยากภายในจิตที่จะออกตามทวารต่าง ๆ เพราะเป็นทางเดินของความอยากซึ่งมีอยู่ภายในจิตผลักดันออกมา ให้ออกทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย แล้วก็ออกทางธรรมารมณ์ ที่ได้เคยสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใดมาแล้ว ที่เรียกว่าอายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ได้รับเรื่องราวอะไรแล้ว  จะนำมาครุ่นคิดเป็นอารมณ์ นี่ก็ไม่มีความอิ่มพอเหมือนกัน ได้เข้ามาตรงนี้แล้วก็ไม่มีความอิ่มพอ ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา ก่อแต่ฟืนแต่ไฟเผาหัวใจให้รุ่มร้อน อยู่ที่ไหน ๆ ไปที่ใดหาความสบายไม่ได้

            โลกกว้างแสนกว้างก็ไม่ได้ไปคับแคบที่ตรงไหน ไม่ไปกระเทือนที่ตรงไหนในโลกที่กว้าง ๆ นั้น แต่ก็มากระทบกระเทือนที่หัวใจดวงนี้ เพราะผู้นี้เป็นผู้ก่อเหตุ โลกธาตุทั้งหลายดินฟ้าอากาศเขาไม่ใช่เป็นผู้ก่อเหตุก่อเข็ญเรื่องราวอะไรขึ้นมา ผู้นี้ต่างหากคือใจดวงนี้เป็นผู้รู้ ผู้รู้และมีแสนกลมายาที่จะให้รู้ในแง่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสผลิตขึ้นมาผลักดันขึ้นมาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงลำบากสำหรับสัตว์โลกและเรา ๆ ท่าน ๆ ที่จะให้อยู่ด้วยความสะดวกสบายไม่ได้ เพราะสิ่งรบกวนสิ่งบีบบังคับสิ่งผลักดันมีอยู่ตลอดเวลา เว้นแต่เวลาหลับสนิทเท่านั้น

            ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าท่านจึงเห็นทุกข์ เพราะอำนาจของกิเลสสมุทัยอย่างถึงพระทัย ตัดกันด้วยมรรคคือความพยายามทุกด้านทุกทาง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา รวมตัวเข้าเพื่อฟาดฟันหั่นแหลกกับสถานที่ก่อเหตุ ให้เป็นกองฟืนกองไฟขึ้นมาภายในจิตใจนี้ให้หมดสิ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือแล้ว ก็ไม่มีไฟกองใดจะมาแสดงอีก ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดมาเป็นภัยต่อจิตใจ นอกจากกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น

            ธรรมะท่านจึงสอนเน้นหนักลงในจุดที่เป็นภัยต่อสัตว์โลกอยู่ตลอดเวลานี้ คือใจ กิเลสเกิดที่ใจ อยู่ได้ที่ใจ ทำลายและเบียดเบียนบีบบังคับอยู่ที่ใจ บีบบังคับใจของสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก ไม่มีอะไรเกินกิเลสในโลกอันนี้ มีกิเลสเท่านั้นที่เป็นภัยต่อจิตใจของสัตว์โลก ถ้าเราอยากทราบก็ให้พยายามแก้ไขกันเข้าไป ต่อสู้กันเข้าไป หักความอยากเข้ามา ตัดความอยากเข้ามา อยากอะไรไม่สนใจ มีแต่ว่าอยากรู้อยากเห็นตัวอยากตัวทะเยอทะยานนี้ว่าเป็นหน้าอะไรบ้าง ถ้ามีหน้า ดูให้เห็นชัดเจนตรงนี้ให้มาก แล้วเราก็จะทราบเองเรื่องกองฟืนกองไฟ ที่กิเลสก่อขึ้นมานี้มีตรงไหน รวมลงไปแล้วมีอยู่ที่จิตแห่งเดียว พอขยับออกมาก็เป็นฟืนเป็นไฟออกมา ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสขยับก็เท่ากันกับไฟที่แสดงตัวออกมา หรือกระเด็นออกมานั่นเอง ถ้าเป็นธรรมก็เหมือนน้ำดับไฟ สาดเข้าไปมากน้อยก็ทำไฟให้ยุบยอบลงไปจนถึงดับถึงมอดไปได้

            สิ่งเหล่านี้ใครเป็นผู้มาสอน ใครเป็นผู้ฉลาดเหนือพระพุทธเจ้ามีที่ไหน สอนเน้นหนักลงที่ใจของสัตว์โลกนี้เอง เพราะนี้เป็นตัวทุกข์ที่สุดไม่มีอะไรเกินหัวใจเรา ๆ ท่าน ๆ และสัตว์ทั้งหลาย มีกี่ดวงวิญญาณเป็นกองทุกข์ไปหมดทุกดวงวิญญาณ ไม่มีดวงวิญญาณใดที่จะเป็นอิสระทั้ง ๆ ที่กิเลสยังฝังจมอยู่ภายในตัวเองนั้น นอกจากใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่าน ซึ่งไม่มีซากกิเลสเหลืออยู่ภายในพระทัยและใจของท่านนั้นเลย ท่านจึงเป็นบรมสุขได้เพราะไม่มีภัยอยู่ภายในจิตใจแล้ว ท่านไม่ไปชมเชยสรรเสริญดินฟ้าอากาศแดนโลกธาตุใด ๆ ว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐเลิศเลอ ยิ่งกว่าการสิ้นกิเลสภายในใจนี้ และไม่มีอะไรยิ่งกว่าความบริสุทธิ์ของใจที่ปราศจากซากกิเลส กิเลสไม่มีเหลือแล้วภายในใจ เป็นความบริสุทธิ์พุทโธโดยแท้

            การตำหนิก็ไม่ได้ทรงตำหนิอันใดในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่ได้เห็นโทษสิ่งใดในสามแดนโลกธาตุนี้ ยิ่งกว่าการเห็นโทษของกิเลสซึ่งบีบบังคับอยู่ภายในใจของพระองค์เอง หรือในพระทัยของพระองค์เอง จึงต้องได้เข้มงวดกวดขัน หนักเอาเบาสู้เป็นตายไม่ได้ว่า จนกระทั่งปรากฏเป็นพระประวัติขึ้นมาว่าสลบ ๓ ครั้ง ๓ หน วันจะตรัสรู้ก็เป็นวันสละเป็นสละตายต่อกันอีกด้วย ให้เป็นประจักษ์ในหัวใจของผู้ต้องการความจริง ที่จะยึดพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับได้เป็นอย่างดี ในวันที่ทรงบำเพ็ญอานาปานสติที่โคนต้นไม้คือต้นโพธิ์ นั่นละท่านว่ารุกขมูล

            ท่านอยู่รุกขมูลได้บำเพ็ญที่รุกขมูล ตรัสรู้ที่รุกขมูลคือต้นไม้ต้นเดียวไม่มีที่มุงที่บังได้แก่ร่มโพธิ์นั่น และทรงตั้งสัจอธิษฐานลงในที่นั่นด้วยว่า สถานที่นี้ ๑) เป็นสถานที่ตรัสรู้ของเรา บรรลุธรรมถึงแดนวิมุตติหลุดพ้นเป็นศาสดาขึ้นมา ๒) ถ้าไม่ได้บรรลุธรรมหรือตรัสรู้ธรรมตามความมุ่งหมายนี้แล้ว สถานที่นี้ต้องเป็นที่ตายของเราเท่านั้น ไม่มีความเป็นอื่นที่จะเคลื่อนคลาดโยกย้ายไปไหนอีกไม่มีแล้ว นี่เป็นคติตัวอย่างได้เป็นอย่างดีสำหรับเราผู้ปฏิบัติ ที่จะทำความเด็ดเดี่ยวในขณะที่ควรจะจริงจะจังจะเด็ดจะเดี่ยว ควรเอาหลักนี้มาเป็นคติเครื่องสอนใจเรา สมนามกับว่าศาสดา ๆ เป็นเครื่องสอนโลก เป็นผู้สอนโลก คติทุกอย่างได้มาจากพระพุทธเจ้าไม่มีผิด นี่พระองค์ทรงดำเนินมาอย่างนี้ นั่นเด็ดไหมพระพุทธเจ้าของเรา

            เราต้องคำนึงเสมอ อย่าให้อันใดมีข้อหนักแน่นมากกว่าธรรม ให้พึงนำมาทบทวนบวกลบคูณหารกันระหว่างกิเลสกับธรรม เราอยู่หรือเราเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ เราอยู่มาด้วยจนกระทั่งบัดนี้ เราอยู่ด้วยเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ไม่มีธรรมมาเป็นเครื่องอยู่ แล้วผลเป็นอย่างไรบ้าง เมื่ออยู่ด้วยอำนาจของกิเลส ไปก็ต้องไปด้วยอำนาจของกิเลส ความเคลื่อนไหวทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสทั้งนั้น ผลเป็นอย่างไร มีแต่ความรุ่มร้อนภายในจิตใจของเรา ได้รับความแปลกประหลาดอัศจรรย์อะไรบ้าง นับแต่เพียงวันเกิดมาถึงบัดนี้เท่านั้น ถ้าไม่บำเพ็ญธรรมอย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อสังหารกิเลสให้สิ้นซากไปจากใจแล้ว เรื่องความพ้นทุกข์หรือความอยู่สบายเป็นอิสระนั้น เราอย่าพึงหวังนอกไปจากความเพียร

            ให้พึงหวังในความเพียรของเรา หนักเบามากน้อยเพียงไรให้ทุ่มกันลงไปตรงนี้ เป็นจุดที่มุ่งหมาย เป็นจุดที่จะสมหวังอยู่ที่ตรงนี้ พระพุทธเจ้าทรงสมหวังด้วยความเด็ดเดี่ยวอาจหาญ พระสาวกทั้งหลายสมหวังด้วยการบำเพ็ญไม่ท้อถอยอ่อนแอ ให้นำเข้ามาเป็นคติเครื่องสอนใจเรา เวลาเกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กิเลสนี้จะต้องทำให้เราอ่อนที่สุดในสิ่งที่จะเป็นภัยต่อมัน จะไม่ให้แข็งให้กล้าอะไรได้เลย ถ้าเป็นเรื่องของมันแล้วแข็งกล้าขนาดไหนไม่มีคำว่าถอย ไม่มีคำว่าอิ่มพอ ยังจะกล้าจะแข็งยังจะเด็ดจะเดี่ยวจะด้านไปตะพึดตะพือต่อธรรมทั้งหลายไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราปล่อยตามมันแล้ว เรานับวันที่จะด้านต่ออรรถต่อธรรม นับวันที่จะหนาแน่นด้วยกิเลส และหนาแน่นด้วยมหันตทุกข์ อย่าว่าแต่ทุกข์ธรรมดาเลย จะหนาแน่นไปโดยลำดับลำดา

            เอามาทดสอบซิเรื่องเหล่านี้กับการประกอบความพากเพียร ได้รับความทุกข์ความลำบากมาขนาดไหน ทุกข์ก็ไม่ใช่ทุกข์เพราะอื่นใด ทุกข์เพราะการต่อสู้กับกิเลสต่างหากนี่ เราไม่ได้ทุกข์เพราะการต่อสู้กับธรรม ธรรมไม่ได้เป็นข้าศึกต่อเราผู้บำเพ็ญ กิเลสต่างหากเป็นข้าศึกต่อเราผู้บำเพ็ญ การต่อสู้เราต่อสู้กับกิเลสต่างหากไม่ได้ต่อสู้กับธรรม ถ้าเรายังเห็นว่าการประกอบความพากเพียรเป็นของยาก ก็เท่ากับว่าเรานี้ยอมแพ้กิเลสวันยังค่ำและยังไม่รู้เลยว่ากลของกิเลสเป็นอย่างไรบ้าง เราจึงไม่ยอมเห็นโทษของกิเลสตัวทำให้ยากตัวทำให้ลำบาก ตัวต่อสู้ธรรมในเวลาประกอบความพากเพียรนั้น หากเราพอจะเห็นโทษมันบ้าง เราก็ต้องฝืนกันเราต้องต่อสู้กัน

            การต่อสู้นี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะมาสอนให้ต่อสู้กับกิเลสเฉพาะพวกเรานี้เท่านั้น พระองค์ทรงต่อสู้มาแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องความลำบาก  พระพุทธเจ้าก็ทรงลำบากมาแล้วถึงขั้นมหันตทุกข์ เพราะการต่อสู้กิเลสพระองค์ก็ทรงทำมาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างได้ผ่านทางเหตุมาโดยสมบูรณ์แล้ว จนถึงกับได้ผลเป็นที่พอพระทัยแล้วจึงนำมาสอนโลก เมื่อสอนลงมาถึงพวกเรานี้ ทำไมเราจะเห็นว่าการประพฤติธรรมเป็นความไม่สะดวก การประพฤติธรรมเป็นของยากเป็นของลำบาก ไม่เห็นว่าการต่อสู้กับกิเลสเพื่ออรรถเพื่อธรรมนั้นเป็นของลำบาก เพราะกิเลสเหนียวแน่นมั่นคง เพราะกิเลสมีกำลังมาก เพราะกิเลสมีความเฉลียวฉลาดแหลมคมจึงต้องต่อสู้กัน จนกว่าว่ากิเลสนี้มีกำลังน้อยลงเท่าไรแล้ว การต่อสู้จะได้เบาลงไป ๆ เราทำไมไม่คิดอย่างนี้

            เราไปเห็นธรรมเป็นโทษไปเสีย เมื่อเห็นธรรมเป็นโทษ ก็เห็นมรรคผลนิพพานเป็นข้าศึกต่อเรา เห็นกิเลสเป็นมิตรเป็นสหาย ทั้ง ๆ ที่กิเลสเป็นยักษ์เป็นผีเคยทำลายสัตว์โลกมามากขนาดไหนแล้ว นี่ละการไม่ทันกับกลมายาของกิเลส เราไม่ทันอย่างนี้ สด ๆ ร้อน ๆ ในวงความเพียรของเรานั่นแหละ ถ้าเราอยากจะทราบก็บำเพ็ญไปซี เพราะเราเคยแพ้มาสักเท่าไรแล้ว เพราะความทุกข์ความลำบากนี่ก็เห็นว่าลำบาก ๆ ไปเสีย ไม่ได้คำนึงถึงว่าอะไรพาให้ลำบาก

            ถ้าพูดถึงเรื่องทุกข์ พิจารณาทุกข์ให้เห็นชัดซิ ทุกข์ท่านบอกว่าเป็นสัจธรรม นี่เรามองดูทุกข์มองดูด้วยอำนาจของกิเลส มองดูด้วยความเห็นของกิเลสไปเสียหมด ไม่ได้มองเห็นโดยความเป็นธรรมจึงไม่เห็นอริยสัจ จึงไม่เป็นอริยสัจ จึงเป็นเรื่องของสมุทัยไปหมด ทุกข์นั้นก็เลยเพิ่มสมุทัยขึ้นมาอีก เห็นว่าเป็นความทุกข์ความลำบาก เห็นเป็นแบบโลก ก็คือแบบกิเลสไปเสีย กิเลสก็ยิ่งมีกำลังพอกพูนขึ้นไป เดี๋ยวความเพียรก็ล้ม นี่ละเราเคยเป็นมาสักเท่าไรแล้ว การต่อสู้กับกิเลส ล้มโดยเราไม่รู้สึกว่าเราได้ต่อสู้ เราไม่รู้สึกว่าเราได้ล้ม เรายังคิดไปเสียว่าการปฏิบัติธรรมลำบาก ถึงขั้นทุกข์ทรมานจนถึงขนาดที่ว่าล้มความเพียร กิเลสทำให้ล้มเราก็ยังไม่รู้จะว่ายังไง กิเลสทำให้เจ็บให้ปวดแสบร้อนเราก็ไม่รู้ กิเลสทำให้เราโง่ไม่ให้รู้สัจธรรมเราก็ไม่รู้ นั่นเป็นยังไงกิเลส

            ถ้าพิจารณากันทางเป็นอริยสัจแล้ว ทุกข์ขนาดไหนก็ให้เห็นกันซิ ทำไมจะไม่เห็น พระพุทธเจ้าเคยเห็นมาแล้วจึงนำมาสอนโลก พระสาวกเห็นมาแล้วจึงนำมาสอนโลก จึงบริสุทธิ์ เรายังไม่เห็น เห็นแต่เรื่องของกิเลส เห็นแต่ความเหลวแหลกแหวกแนว เห็นแต่ความล้มละลายไม่เป็นท่า เพราะอำนาจของกิเลสตบต่อยทุบตีเอาแหลก เราเห็นแต่อย่างนี้ แต่เราก็ไม่รู้ว่ากิเลสมันทุบมันต่อยมันตีเราให้ล้มจากความพากความเพียร นี่เป็นยังไงกิเลส ละเอียดไหม

            เมื่อพิจารณาก้าวเข้าสู่สัจธรรมเห็นประจักษ์โดยชัดเจนแล้ว ทุกข์เหล่านี้มีความหมายอะไร ไม่มีความหมาย ทุกข์เป็นของจริงอันหนึ่งเท่านั้น สมุทัยก็เป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น ด้วยอำนาจของมรรคที่พิจารณารอบหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ต่างอันก็เป็นของจริง ดังที่เคยพูดแล้ว จิตก็เป็นธรรมชาติความจริงอันหนึ่งในขั้นภูมิของตน แม้จะยังไม่บริสุทธิ์ก็เป็นความจริงในขั้นนี้ ๆ ของอริยสัจ การต่อสู้กับทุกข์ก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันไป แม้ทุกข์จะเป็นมากขึ้นมาเท่าไรก็ยิ้มได้

            ผู้ที่เห็นทุกข์นั้นเป็นทุกขสัจจริง ๆ แล้วทำไมจะยิ้มไม่ได้ เพราะเห็นแล้วว่าธรรมชาตินั้นเป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น จิตก็เป็นความจริงอันหนึ่งด้วยอำนาจของมรรค มรรคก็เป็นความจริงอันหนึ่ง เมื่อแก้กันแล้วก็เหมือนกับน้ำดับไฟ ไฟเวลาถูกน้ำดับมีปฏิกิริยาอะไรต่อกันด้วยความรู้สึก….ไม่มี น้ำก็ไม่มีจิตวิญญาณ ไฟก็ไม่มีจิตวิญญาณ เวลาดับกันหากดับได้อย่างนั้น แล้วเย็นขึ้นมาที่ตรงไหน ความก็ไม่มีการรับทราบกัน ความเย็นก็ไม่ทราบความหมายของตน นี่เป็นต่างอันต่างจริง หากดับกันได้อย่างที่ดับ

            นี่ก็เหมือนกันเรื่องอริยสัจ ถ้าลงพิจารณาให้เห็นตามความจริงแล้วเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอื่น ทีนี้ทำไมจะไม่มีแก่ใจที่จะต้องต่อสู้

            ผลที่ได้มาจากการเห็นความจริงแห่งอริยสัจแต่ละครั้ง ๆ นี้ เป็นการเพิ่มพูนความเชื่ออย่างฝังใจ และความแน่นหนามั่นคงของใจ ให้แน่นหนามั่นคงขึ้นไปโดยลำดับ ๆ ตามระยะตามเวลาที่เราพิจารณาอริยสัจรอบตัว ๆ เป็นของจริง ๆ ทุก ๆ ครั้งไป จนกลายเป็นความแก่กล้าสามารถทางด้านจิตใจ ทางด้านสติปัญญา นั่นผลเป็นอย่างนั้น คำว่ามีความแก่กล้าสามารถทางด้านสติปัญญา ก็คือมรรคมีกำลังนั่นเอง และยิ่งจะสังหารกิเลสอันเป็นตัวสมุทัยลงได้อย่างง่ายดาย ๆ เข้าไปโดยลำดับ นี่ละการประพฤติปฏิบัติ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติจึงต้องใช้ความหนักแน่นแม่นยำต่ออรรถต่อธรรม เอาจริงเอาจังกับกิเลส หากจะเป็นอยู่อย่างที่เคยเป็นมาเป็นอยู่นี้ เราก็ทราบแล้วว่าผลเป็นอย่างไรบ้าง จึงต้องหลายสันพันคมในการฟัดการเหวี่ยงกันด้วยอุบายวิธีการต่าง ๆ

            เวลานี้ศาสนาก็จะหมดไป ๆ จากหัวใจของผู้นับถือ และย่นเข้ามาอีกก็ของผู้ปฏิบัติ ค่อยด้อยลงทุกอย่าง ความนับถือก็ด้อยลง การปฏิบัติก็ด้อยลง ผลไม่ปรากฏ สุดท้ายก็เหลือแต่คัมภีร์ใบลานเต็มไปหมด ความจดความจำจำได้แต่ไม่สนใจจะปฏิบัติตาม ธรรมว่าอย่างหนึ่ง วินัยว่าอย่างหนึ่ง ตัวผู้ทำเป็นอีกอย่างหนึ่ง แน่ะ ซึ่งเป็นข้าศึกต่อศาสนธรรมคือหลักธรรมหลักวินัยไปเรื่อย ๆ สุดท้ายผู้จมผู้เสียหายก็คือผู้ฝืนนั้นแหละ ธรรมชาติของธรรมแท้ไม่ได้สูญหาย และหลักธรรมหลักวินัยที่เขียนจดจารึกไว้ในคัมภีร์ใบลานก็ไม่สูญหาย คงเป็นอรรถเป็นธรรมอยู่เช่นนั้น เป็นตำรับตำราอยู่เช่นนั้น แต่เราเป็นผู้หวังเอาผลประโยชน์จากตำรับตำรา แล้วกลับมาสร้างความเสียหายล่มจมให้แก่ตน ด้วยการฝ่าฝืนอรรถธรรมหรือหลักธรรมหลักวินัยของพระพุทธเจ้านั้น สมควรที่ไหนกับพวกเราทั้งหลายผู้เป็นนักบวชและนักปฏิบัติ ไม่สมควรอย่างยิ่ง ต้องพยายามตักตวงเอาอรรถเอาธรรมด้วยการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมหลักวินัยนี้เท่านั้น จึงจะก้าวเข้าสู่แดนพ้นทุกข์ได้โดยลำดับ ๆ ไม่สงสัย

            ตะกี้นี้พูดถึงเรื่องคำว่าศาสนาเสื่อม อันนี้ก็เคยพูดให้ฟังแล้ว ให้ดูหัวใจเจ้าของนี่เป็นยังไง วันนี้กล้าแข็งขึ้นในทางภาคปฏิบัติตลอดถึงผลที่ปรากฏอย่างไรหรือไม่ หรือหย่อนลงไป ๆ ยานลงไปจนพันแข้งพันขาเจ้าของให้ล้มลุกคลุกคลาน ถึงขนาดที่ว่าลุกไม่ขึ้น นั่นละกิเลสมันพัน เมื่ออ่อนลงไปก็อ่อนลงไปเพื่อกิเลส ไม่ได้อ่อนลงไปเพื่อธรรม คำว่าอ่อนหรือหย่อนยานลงไปไม่เพื่ออะไรทั้งนั้น เป็นเรื่องของกิเลสหย่อนยานลงไปเพื่อกิเลส กิเลสกดกิเลสดึงกิเลสลากกิเลสไถไป จนกระทั่งลุกไม่ขึ้น แล้วเราจะหาความดีมาจากไหน

            นี่ออกพรรษาแล้วก็ให้ต่างคนต่างออกประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลส สถานที่ใดเป็นที่สงบสงัดวิเวกดังพระพุทธเจ้าสอน สถานที่เช่นนั้นแลเป็นสถานที่จะทรงอรรถทรงธรรมทรงความพากเพียร ให้มีความหนาแน่นแม่นยำขึ้นทางด้านจิตใจของเรา ให้ไปอยู่ในสถานที่นั้น อย่ากลัวเรื่องเป็นเรื่องตาย อย่างไรก็ต้องตาย เกิดมาในชาตินี้ต้องตาย แต่ก่อนจะตายขอให้ได้ตักตวงเอาคุณงามความดีให้สมมักสมหมาย หรือเต็มความมุ่งมาดปรารถนา หรือให้สมใจเต็มใจเสียก่อนแล้วค่อยตาย ตายเมื่อไรไม่มีอะไรสำคัญแหละ ดินน้ำลมไฟสลายจากการประชุมนี้ ลงไปสู่ธาตุเดิมของเขาเท่านั้น จิตนี่ซิเป็นยังไงพอตัวหรือไม่ บกพร่องอะไร ความบกพร่องนั้นเป็นความกระเทือนทางเรื่องทุกข์แก่จิตใจ ถ้าเป็นความดีมีความสมบูรณ์พูนผล ก็เป็นความดีสำหรับจิตใจเป็นสิริมงคล

            เอ้า ทำให้จิตหลุดพ้นเสียจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ไม่มีความห่วงหน้าห่วงหลัง ไม่มีเงื่อนใดเป็นน้ำหนัก ไม่มีเงื่อนใดมากดถ่วงจิตใจให้ได้รับความกังวลวุ่นวายได้เลย แตกก็แตก ตายก็ตาย รู้อยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่แตก ตั้งแต่ยังไม่ตาย ด้วยสติปัญญาในการพิจารณาที่เรียกจิตตภาวนาของเรามาแล้ว ช่ำชองมาแล้วชำนาญมาแล้ว รู้มาแล้ว ถ้าจะพูดว่าคอยก็คอยแต่วาระที่จะเป็นไปตามกิจให้เป็นสักขีพยานของใจเรานี้ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา คือความล้มความตาย แปรไป ๆ จนกระทั่งถึงความล้มความตายจะถึงวันไหน ในสุดท้ายแห่งความมีชีวิตของเรานี้จะพังเมื่อไร เพราะความรู้นี้รู้แล้วว่าต้องพัง เหตุใดเราจะไปกลัวในการประกอบความพากเพียรว่ากลัวตาย ๆ ไม่สมเหตุสมผล ต้องเอาให้จริงให้จังนักปฏิบัติเรา

            นี่ร่อยหรอลงไป ๆ ทำให้อดวิตกไม่ได้นะ ทำให้วิตกกังวลกับหมู่กับเพื่อน เพราะความอ่อนแอท้อแท้เหลวไหว แต่ในขณะที่อ่อนแอทางด้านธรรมะนี้ กิเลสยิ่งเข้มแข้งขึ้นทุกวัน ๆ จนทำให้อุจาดบาดตาขึ้นมาในวงปฏิบัติของเราเป็นลำดับลำดา จะว่ายังไงล่ะ เราไม่ละอายบ้างหรือ อายตัวเราซี ธรรมอยู่กับตัวของเราเอง ประหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าอยู่กับตัวของเรากับหัวใจของเรา ทำไมเราจึงจะไม่อายในตัวของเรา หิริโอตตัปปะ ไม่อายตัวเองจะอายใครที่ไหน คนไม่อายตัวเองก็ทำได้แบบหน้าด้าน คนมีหิริโอตตัปปะ ภายในจิตใจแล้วทำไม่ลง ให้เป็นอย่างนี้นักปฏิบัติ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกำจัดความชั่วทั้งหลายที่เคยอธิบายมาแล้วนี้

            นี่เป็นวาระหรือเป็นโอกาสที่จะออกประพฤติปฏิบัติแล้ว เราอย่าไปคิดถึงเรื่องปัจจัย ๔ อาหารการบริโภค ถ้าเอาอันนี้มาเป็นอารมณ์แล้วจะก้าวไม่ออก ผู้ปฏิบัติแล้วก็เหมือนกับก้าวขึ้นสู่เวที ยังไงก็จะต่อยให้ถึงเหตุถึงผลถึงเป็นถึงตาย อันนี้ยังไงก็จะเอาให้กิเลสพังถ่ายเดียวเท่านั้น ความทุกข์ยากลำบากเคยทุกข์มาพอแล้ว ไม่ใช่จะมาทุกข์เฉพาะเวลาประกอบความเพียรนี้เท่านั้น เราเคยทุกข์มาตั้งแต่วันเกิด แล้วสงสัยอะไรเรื่องทุกข์ ไม่อย่างนั้นท่านจะเรียกว่าของจริงเหรอ ถ้ายังมาตื่นอยู่นี้จะเป็นของจริงได้ยังไง ให้เห็นจริงในทุกข์ทั้งหลาย การประกอบความพากเพียรก็เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย

            เรื่องปัญญาถึงวาระที่ควรจะพิจารณา อย่านอนจมอยู่เฉย ๆ พิจารณาได้คิดได้ คิดหลายครั้งหลายหน พิจารณาหลายครั้งหลายหน บังคับด้วยสติเข้าไปก็ย่อมจะรู้เหตุรู้ผลจากการค้นคิดของตนขึ้นมา เป็นสักขีพยานอันหนึ่งว่าเป็นผลขึ้นมาอย่างนี้ อย่างนี้แล้วจะทำจิตใจของเราให้ดูดดื่มและพอใจในการพิจารณา แล้วก็จะเบิกทางให้กว้างขวางละเอียดลออลงไปในความแยบคายของปัญญา

            ในขณะที่ปัญญามีความแยบคายไปโดยลำดับ กิเลสก็ขยายตัวออกเรื่อย ๆ หรือพังลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหลุดพ้นไปโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ นั่นแลเป็นสิ่งที่พึงหวังสำหรับเราผู้ปฏิบัติเพื่อหากำไรอย่างเดียว ไม่ได้เพื่อหาความล่มจม ถ้าเป็นความล่มจมขึ้นมาแล้วก็เสียชื่อเสียเสียง เสียคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ก็คือเราเสียทั้งคน พระเสียทั้งองค์ เพราะอำนาจของกิเลสบีบบังคับ สู้อำนาจกิเลสไม่ได้ แพ้กิเลสนี้เป็นสิ่งที่เสียศักดิ์ศรีมากในพระเราซึ่งเป็นลูกศิษย์ตถาคต นักรบในสงครามไม่มีการท้อถอยคือองค์ศาสดา แต่ลูกศิษย์นี้มีแต่ความแพ้ ๆ แพ้จนเหลวแหลกแหวกแนวใช้ไม่ได้เลย ไม่ควรที่จะให้มีในหัวใจเราผู้ปฏิบัติทั้งหลาย นอกจากความเก่งกล้าสามารถเท่านั้นเอง ให้ท่านทั้งหลายนำไปพินิจพิจารณา

เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร เท่านี้ละ

a


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก