พระกรรมฐานติดครูอาจารย์
วันที่ 26 ธันวาคม 2524 เวลา 19:00 น. ความยาว 82.39 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔

พระกรรมฐานติดครูอาจารย์

 

การปฏิบัติจิตตภาวนา ต้องอาศัยครูอาจารย์ที่มีความชำนิชำนาญทางนี้มาแล้ว จึงจะสอนถูกต้องแม่นยำและเป็นไปเพื่อความราบรื่นดีงาม ไม่ให้เกิดความสงสัยขัดข้องในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน ภาคปฏิบัติจึงเป็นสำคัญมาก ทางด้านปริยัติเราเรียนโดยลำพังก็ได้ อ่านก็เข้าใจ แต่ภาคปฏิบัตินี้ แม้เราเรียนมาแล้วทางด้านปริยัติ จะนำมาเป็นเครื่องดำเนินด้วยความสนิทใจหายสงสัยไปโดยลำดับอย่างนั้นไม่ได้ เพราะการเรียนมานั้นเป็นการจดจำ ย่อมไม่พ้นจากความวาดภาพคิดคาดคะเนด้นเดาไปสุ่มสี่สุ่มห้าซึ่งไม่ใช่หลักความจริงไปได้ แต่การปฏิบัตินี้เพื่อหลักความจริงโดยถ่ายเดียว

พอเริ่มปฏิบัติก็จะเริ่มเห็นความจริงเข้าไป เพียงจ่อสติเข้าสู่จิตซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราวทั้งหลาย ก็จะทราบเรื่องราวทั้งหลาย แม้จะไม่สามารถบังคับหรือถอดถอนเรื่องราวอันเป็นส่วนกิเลสนั้นได้ก็ตาม แต่ก็ทราบว่า นี่คือความจริงอันหนึ่งที่แสดงออกมาอยู่ไม่หยุดหย่อน ด้วยความคิดปรุงเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งอดีตอนาคตปัจจุบันยุ่งไปหมด เมื่อมีสติก็ทราบความจริงของสัจธรรมประเภทสมุทัยที่แสดงออกทางด้านจิตใจได้ แม้ยังละไม่ได้

แต่เมื่อไม่มีสติ ไม่เป็นภาคภาวนา ย่อมไม่ทราบได้ว่าจิตมีอะไรบังคับให้ทำงาน ในวันหนึ่ง ๆ นั้นมีงานอะไรบ้าง ที่จิตต้องหมุนตัวราวกับกงจักรอยู่ตลอดเวลา โดยไม่เป็นตัวของตัวเลย มีแต่ถูกบังคับจากสิ่งที่มีอำนาจอยู่เป็นประจำ จนมองไม่เห็นจิต ทั้ง ๆ ที่รู้ ๆ อยู่นี้คือจิต แต่สิ่งที่แฝงความรู้รู้คือจิตนั้น จิตไม่สามารถมองเห็นได้เลย เพราะถูกสิ่งนั้นครอบงำหรือปิดบังอย่างมิดชิด เมื่อจ่อสติเข้าไปก็ทราบการแสดงออกของสิ่งนั้น ๆ โดยลำดับ และปฏิบัติตามอุบายวิธีที่ครูอาจารย์แนะนำสั่งสอน เช่น พยายามทำจิตให้สงบด้วยจิตตภาวนาในภาคสมถะเป็นต้น นำธรรมที่ท่านสอนนั้นมาปฏิบัติบังคับจิตให้อยู่ในงานที่ทำ คือบทธรรมที่บริกรรมนั้นโดยเฉพาะ จิตจะเริ่มปรากฏเป็นความสงบเย็นใจขึ้นมา นี่ก็เรียกว่าเป็นความจริงอันหนึ่งที่จิตได้ทำหน้าที่เอง และได้เห็นผลที่ปรากฏขึ้นจากงานประจักษ์ใจโดยลำดับ เมื่อปรากฏผลขึ้นมาถ้ายังไม่เป็นที่แน่ใจ ก็จำต้องศึกษาไต่ถามครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นที่แน่ใจ เพราะท่านเคยผ่านมาแล้วอย่างช่ำชอง การแนะนำสั่งสอนด้วยอุบายต่าง ๆ ก็ถูกต้องแม่นยำไม่ผิดพลาด ไม่เสียเวล่ำเวลา และไม่ทำผู้มาศึกษาไต่ถามและอบรมนั้น ๆ ให้ผิดและเสียไป

ดังนั้นภาคปฏิบัติจึงเป็นภาคจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้มาศึกษาและปฏิบัติ จำต้องเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ที่มีความสามารถ และชำนิชำนาญในด้านปฏิบัติทั้งเหตุและผล ไม่เหมือนด้านปริยัติ

การสั่งสอนด้วยความไม่มั่นใจ ก็คือผู้สั่งสอนนั้นไม่มั่นใจในความรู้ความเข้าใจซึ่งสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติของตน กำลังยังไม่เพียงพอที่จะรู้จะเห็นผลอันเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ จึงไม่สามารถแนะนำสั่งสอนคนอื่นด้วยความแน่ใจของตน เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ฟังก็ไม่อาจแน่ใจได้หรือไม่แน่ใจได้ ผลที่จะพึงเกิดก็มีน้อย หรืออาจทำผู้มาศึกษาอบรมให้ผิดไปด้วยได้ ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติจึงต้องอาศัยการศึกษาการอบรมจากครูจากอาจารย์ที่ตนเห็นว่าแน่ใจ ด้วยการแนะนำพร่ำสอนหรือด้วยการศึกษาไต่ถามการเทศนาว่าการอยู่โดยสม่ำเสมอ ซึ่งเทียบได้กับการรดน้ำพรวนดินต้นไม้ที่ปลูกใหม่นั่นแล

การที่ผู้แนะนำสั่งสอนได้รู้ได้เห็นมาประจักษ์ใจทุกขั้นทุกภูมิของธรรมนั้น จึงไม่มีปัญหาในการแนะนำสั่งสอนบรรดาผู้มาศึกษา ผู้สั่งสอนไม่มีอัดมีอั้น ไม่มีสงสัย สอนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย พูดได้พูดได้เต็มอรรถเต็มธรรมเต็มขั้นเต็มภูมิของธรรมขั้นนั้น ๆ ทะลุปรุโปร่งไปหมด ผู้ฟังก็ฟังได้อย่างเต็มใจ โล่งใจหายสงสัย แม้ตนจะยังไม่รู้ไม่เข้าใจก็หายสงสัยในธรรมที่ท่านสั่งสอนนั้น ๆ เป็นที่แน่ใจ เพราะเข้าใจไปโดยลำดับจากการได้ยินได้ฟังท่านอธิบายในธรรมขั้นต่าง ๆ

พระกรรมฐานจึงต้องติดครูติดอาจารย์ เพราะการอบรมสั่งสอนเป็นลักษณะถอดออกจากใจดวงหนึ่งสู่ใจอีกดวงหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ได้นำบทนั้นบาทนี้มาพร่ำมาสอนกันแบบสุ่มสี่สุ่มห้า สอนเฉพาะจุดสำคัญ ๆ ของผู้มาศึกษาอบรม ที่ควรจะได้รับในเวลานั้นเท่านั้น ครั้งพุทธกาลท่านสอนกันอย่างนั้น ๑.พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทด้วยพระองค์เอง ๒.พระสาวกที่เป็นครูเป็นอาจารย์ของพุทธบริษัท ท่านสอนด้วยความแน่ใจของท่าน ออกมาจากใจจริง การสอนก็เป็นที่มั่นใจ เป็นที่แน่ใจสำหรับพุทธบริษัทผู้มาศึกษา เพราะฉะนั้น ผลจึงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือได้ผลมากต่างกันกับสมัยปัจจุบันนี้จนเทียบกันไม่ได้

เทศน์ถึงโทษก็ให้เห็นอย่างถึงใจตามหลักความจริงไม่ผิดเพี้ยน เพราะท่านได้รู้โทษเห็นโทษมาอย่างประจักษ์ใจจริง ๆ เทศน์เรื่องคุณ ท่านก็เทศน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงบุญถึงคุณจริง ๆ อย่างถึงใจทั้งผู้เทศน์และผู้ฟัง เพราะท่านได้เห็นคุณมาอย่างถึงใจ การเทศน์ให้เห็นทั้งโทษทั้งคุณอย่างถึงใจนี้ จึงเป็นการเพิ่มกำลังใจของผู้มาศึกษาให้มีแก่ใจ และความก้าวหน้าในทางความเพียร เมื่อมีกำลังใจเพราะความเชื่อในโทษในคุณนั้น ๆ แล้ว ความอุตส่าห์พยายาม ความพากความเพียร ความอดความทนนั้นมันเกี่ยวโยงกัน ย่อมเป็นไปเอง หนุนกันไปเอง

คนเราเมื่อมีความเชื่อทั้งโทษทั้งคุณอย่างเต็มใจแล้ว ความมุ่งมั่นที่จะสลัดทั้งโทษที่เห็นว่าไม่ดี และการก้าวเข้าถึงคุณ ย่อมมีกำลังเต็มหัวใจด้วยกัน เมื่อมีกำลังใจแล้วย่อมสามารถประกอบความพากเพียรด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าหนักว่าเบา เพราะใจเป็นสำคัญ กำลังอยู่ที่ใจ จึงไม่มีอำนาจหรือกำลังใดเสมอเหมือนกำลังใจนี้เลย สิ่งใดก็ตามเมื่อได้ถึงใจแล้ว ย่อมสามารถทำได้ด้วยกันทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในตัวคน ท่านจึงสอนให้อบรมใจในทางที่ถูกต้องดีงาม ใจจะมีกำลังทำประโยชน์อย่างมหาศาลไม่มีประมาณ

การเทศน์จะเทศน์ไปที่ใดก็ไม่พ้นเรื่องจิตไปได้ เพราะจิตมีอยู่กับทุกรูปทุกนามอย่าว่าแต่พระแต่เณร และฆราวาสญาติโยมเลย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีจิต จิตแต่ละดวง ๆ ที่เป็นไปอยู่ในสัตว์ในสังขารนั้น ต้นเหตุที่ให้เป็นเช่นนั้นเป็นมาจากอะไร เป็นมาจากสิ่งมืดมิดปิดตาคือ อวิชชานั่นแลเป็นตัวการ จะมีอะไรพาให้มืดให้บอดเล่า สิ่งนี้ไม่มีใครหยั่งทราบสาเหตุของมันได้เลย แม้จะพาให้สัตว์เกิดตายในภพต่าง ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ และเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติให้เป็นอย่างไรก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะจิตเป็นสิ่งที่ละเอียดมากอยู่แล้วโดยปกติ สิ่งที่แทรกสิงอยู่ภายในจิตก็เป็นสิ่งที่ละเอียดมากพอ ๆ กัน จึงอยู่ด้วยกันได้ บังคับกันได้และยังมีอำนาจเหนือจิตอีก จึงสามารถบังคับจิตให้เป็นต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของมัน แม้จิตก็ไม่สามารถทราบโทษทราบคุณแห่งสิ่งบังคับนั้นได้เลย จึงต้องยอมจำนนและยอมทำตามสิ่งที่มีอำนาจเหนือจิตนั้นเรื่อยมาจนปัจจุบันนี้ สัตว์โลกจึงยอมเกิดแก่เจ็บตาย ยอมรับทุกข์ทั้งมวลที่มันผลิตขึ้น และยอมเป็นไปตามอำนาจของสิ่งลึกลับนั้น

ท่านกล่าวไว้ชัด ๆ สำหรับผู้รู้แล้วด้วยกันย่อมเข้าใจทันที ผู้กล่าวก็กล่าวอย่างชัดเจน ผู้ฟังก็เข้าใจอย่างชัดเจนไม่มีข้อสงสัย ไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่มีที่คัดค้าน คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น นี่ท่านพูดอย่างเปิดเผยด้วยความรู้อันเปิดเผยของท่าน ผู้ที่รู้อย่างเดียวกับท่านก็ฟังอย่างแจ่มแจ้งหาที่สงสัยไม่ได้ สิ่งนี้แลคือสิ่งที่มีอำนาจมากครอบจิตสัตว์โลกไว้อย่างสนิทติดจม ไม่อาจรู้โทษของมันได้แม้แต่นิดเลย จะแสดงออกมาด้วยอาการใดก็ตาม ไม่เคยสะดุดใจว่าสิ่งนี้เป็นภัยและมีอำนาจบังคับจิตใจเรา เราต้องต่อสู้ขัดขวางมันดังนี้ นอกจากยอมจำนนไปโดยถ่ายเดียว

ไม่ว่าจะบังคับให้คิดให้ทำ ถ้าพูดถึงจิตแล้วก็เรียกว่า เจ้าอำนาจเหนือหัวนั้นบังคับให้ทำ คือบังคับให้คิดตามความต้องการของตน จิตจึงต้องคิดแล้วคิดเล่า หมุนไปเวียนมา ของเก่าของใหม่ ไม่มีคำว่านี่เป็นเดนไปแล้ว เพราะเป็นความคิดเก่า คำพูดเก่า การกระทำเก่า ไม่มีคำว่าเอือมระอา ไม่มีคำว่าคิดซ้ำๆ ซากๆ ไม่มีคำว่าอิดหนาระอาใจต่อความคิดนั้นๆ แม้จะวกไปวนมากี่ตลบทบทวนก็ไม่มีเบื่อหน่ายอิ่มพอ ไม่มีความรู้สึกตัว เพราะอำนาจอันนั้นลึกลับเกินกว่าจิตจะเห็นโทษในการแสดงออกของมัน นี่สัตว์โลกที่เป็นมา มีสิ่งนี้ครอบอยู่ที่หัวใจ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดในสามแดนโลกธาตุนี้ จะรู้โทษของมันได้โดยลำพังตัวเอง

มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นพระองค์แรก ทรงพินิจพิจารณาค้นหาเหตุหาผลหาต้นหาปลายของความเกิดความตาย ดังที่มีในพระประวัติท่านว่า เมื่อมีมืดแล้วก็ต้องมีแจ้งเป็นคู่กัน มีเกิดก็มีตายเป็นคู่กัน เมื่อมีเกิดมีตายความไม่เกิดไม่ตายก็คงมี เป็นเหตุให้พระองค์สนพระทัยพินิจพิจารณา สรุปความวาระสุดท้ายก็พ้นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นนักค้นคว้าหาเหตุหาผลไปไม่ได้ จนได้ตรัสรู้ธรรมอัศจรรย์ขึ้นมา ให้โลกได้กราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจมาจนบัดนี้ ดังนั้นจึงเป็นพระพุทธเจ้าองค์อัศจรรย์เหนือโลกแห่งไตรภพไม่มีใครเสมอเหมือน

คำว่าตรัสรู้ธรรมก็คือการทำลายกองแห่งวัฏฏะ ซึ่งครอบหัวใจนั้นออกโดยสิ้นเชิงนั่นแล เมื่อทรงทราบชัดว่าได้ทำลาย อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้ออกจากพระทัยจนหมดสิ้นไปไม่มีเหลือแล้ว จึงประกาศพระองค์ว่าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์แล้ว ดังธรรมในปฐมโพธิกาลท่านแสดงไว้ว่า อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ เป็นต้น ที่เราได้เคยท่องเที่ยวเกิดตายในภพน้อยภพใหญ่ อยู่ในห้วงแห่งสังสารจักรนี้มาจำนวนมาก จนไม่สามารถจะนับอ่านภพชาติได้เลยก็เพราะอวิชชานี้ ท่านเทียบไว้ว่าตัณหาเป็นนายช่างเรือน อะไรๆ ท่านก็ว่าไปตามตำรับตำรา อวิชชาเป็นรากฐานสำคัญ พอถอดถอนรากฐานอันสำคัญแล้ว เรื่องที่จะพาให้เกิดให้ตายในภพน้อยภพใหญ่ อันเป็นกิ่งก้านสาขาแผ่ไปตามแขนงต่างๆ ของกองทุกข์นั้นก็หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง

นี่คือพระพุทธเจ้าองค์สยัมภู ทรงรู้เองเห็นเอง ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ไม่มีใครมาบอกมาสอน แต่ทรงค้นคว้ารู้เห็นได้โดยลำพังพระองค์ จึงเรียกว่า สยัมภู ทรงรู้เอง จากนั้นก็ได้นำอุบายวิธีการที่ทรงปราบปรามสิ่งที่มีอำนาจเหนือหัวใจนี้ให้แก่ผู้อื่น เช่น สาวกมีเบญจวัคคีย์เป็นต้น จนท่านเหล่านี้ได้เข้าอกเข้าใจวิธีการดำเนิน และได้บรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าขึ้นมา นอกจากนั้นไม่มีใครถ้าไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนเสียก่อนจะรู้ไม่ได้ เพราะธรรมชาตินี้ลึกลับมากละเอียดมาก เกินกว่าความรู้ที่ไม่มีสติปัญญาอันเป็นทางปลดเปลื้องจะรู้ได้

ลำพังสติปัญญาของโลกทั่วๆ ไปก็เป็นเครื่องมือของมันเสีย เรียนรู้มีความฉลาดมากเพียงไร ยิ่งทำความชั่วได้อย่างคล่องตัว ปัญญาของสามัญชนที่ไม่มีธรรมเคลือบแฝง มักเป็นเครื่องมือของกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ราคะตัณหา ได้เป็นอย่างดี เจ้าของเองก็ภูมิใจว่าตนฉลาด แต่ไม่สะดุดใจว่าตนคือ บ๋อยคนโปรดของกิเลสประเภทต่าง ๆ

การพิสูจน์ความรู้นี้ให้เห็นประจักษ์ไปโดยลำดับ จึงต้องอาศัยภาคปฏิบัติเป็นสำคัญ ดังในตำราท่านว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก ถ้าไม่ปล่อยให้กิเลสช่วยแยก โดยเห็นว่าเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอแล้ว ดีถมไปดังนี้ ปริยัติคือเราศึกษาเล่าเรียนจากตำรับตำราแล้วประพฤติปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่ฝึกหัดภาวนา ในขณะที่จิตมีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไม่รู้เนื้อรู้ตัว รื่นเริงบันเทิงและเศร้าโศกเสียใจไปตามอำนาจของกิเลส แต่ไม่ทราบว่ากิเลสเป็นผู้ทำพิษ เป็นผู้บังคับบัญชาให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นท่านจึงสอนให้ภาวนาอบรมจิตให้มีความสงบเย็น เพื่อเห็นผลเป็นความสุข

เมื่อได้อบรมทางด้านจิตตภาวนาเข้าไปตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ ย่อมจะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมา เพียงความสงบขึ้นมาเท่านั้น ก็เห็นเป็นของแปลกแล้วสำหรับจิตใจของคนที่ไม่เคยภาวนา และไม่เคยสงบมาเลย เพราะใจเราเคยคลุกเคล้ากับความสุขที่กิเลสมันป้อนพอประทังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ จนจำเจแล้ว ไม่เห็นได้ความวิเศษวิโสอะไร สุขเลยจากนั้นไปไม่ได้ มันไม่ให้เลยไปกว่านั้น พอประทังไว้เพียงให้มีชีวิตลมหายใจสืบต่อภพต่อชาติไปในภพหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่เมื่อความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบปรากฏขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดกว่าความสุขทั้งหลายที่เคยได้สัมผัสสัมพันธ์มาอยู่มาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ได้รับผลแห่งความสงบนั้น มีความสนใจใฝ่ธรรมเพื่อความสงบยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยความเข้มงวดกวดขัน และพยายามทำจิตของตนให้มีความสงบละเอียดยิ่งขึ้น เมื่อจิตมีความสงบสมควรพอเป็นบาทเป็นฐานหรือเป็นปากเป็นทางแล้ว ก็มีอุบายอีกแง่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ว่าให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา เพื่อความรู้ความฉลาดในสภาวธรรมให้กว้างขวางออกไป

คำว่าปัญญา ได้แก่ความแยบคายของจิต อาการอันแยบคายของจิต ความคิดความปรุงอันแยบคาย เพื่อแก้กิเลสของจิตนั่นแล หากเป็นความแยบคายประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากจิต ท่านเรียกว่า ปัญญา เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากจิต สติก็เป็นอาการอันหนึ่งที่เกิดขึ้นจากจิต แต่ไม่ใช่จิต หากนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่จิตได้ และได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้เต็มขั้นเต็มภูมิจากการใช้ปัญญาพินิจพิจารณา

การพิจารณาก็ไม่ได้พิจารณาที่ไหน พิจารณาตรงที่กองทัพกิเลสมันสุมอยู่นั้นแหละ รูปูปาทานกฺขนฺโธ เวทนูปาทานกฺขนฺโธ  สญฺญูปาทานกฺขนฺโธ  สงฺขารูปาทานกฺขนฺโธ วิญญาญูปาทานกฺขนฺโธ ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้านี่ละเป็นสำคัญ ท่านจึงสอนให้พิจารณาขันธ์ห้าขันธ์ใดก็ได้ตามแต่ถนัด ในกองรูปคือร่างกายของเราและของสัตว์บุคคลทั่ว ๆ ไป ในเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ทั้งทางกายและทั้งทางใจ ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ โดยพิจารณาเป็น อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ทบไปทวนมาจนเข้าใจตามธรรมที่ท่านสอนไว้

เบื้องต้นท่านให้คุ้ยเขี่ยขุดค้นทางรูป คือ รูปกายนี้ให้มาก เพราะกิเลสมันหนาแน่นอยู่ตรงนี้ ถือเด่นออกหน้าออกตาอยู่ตรงนี้ ฉากในลึก ๆ นั้นเรายังมองไม่เห็น เพราะกิเลสประเภทนั้นฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าประเภทที่มาจับจอง มายึดมาถือมากำอำนาจในสกลกายนี้อยู่มาก เพียงแต่กิเลสประเภทที่มากุมอำนาจอยู่ภายในร่างกายของเรานี้เรายังไม่สามารถมองเห็นได้ ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ด้วยตาเนื้อนี้แหละ แต่ตาใจตาปัญญาไม่มีจึงไม่สามารถมองเห็น เช่น เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ เป็นต้น มีใครบ้างที่เห็นผมอย่างถึงที่ถึงฐานตามหลักความจริงของมันและของธรรม นอกจากเห็นไปตามกิเลสล้วน ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขน เล็บ ก็เป็นเหมือนกัน ฟัน ก็กระดูกตามหลักความจริงแล้ว มันยังไม่เห็น คือไม่เห็นตามอรรถตามธรรม

รวมร่างกายทั้งก้อนหรือทั้งท่อนมีอะไรบ้างอยู่ภายในนี้ ล้วนแต่กิเลสกุมอำนาจไว้หมดไม่ให้เห็นและเปิดทางของมันไว้ ว่านั่นสวยนี่งาม นั่นน่ารักใคร่นี่น่าชอบใจ นั่นน่ากำหนัดยินดี นั่นเป็นสิ่งจีรังถาวร หรือไม่ได้คิดถึงความจีรังถาวรหรือไม่ถาวรบ้างเลย มีแต่ติดมีแต่รักใคร่ชอบใจถ่ายเดียว อันนี้จะแปรสภาพไปอย่างไรไม่คำนึง เพียงความชอบใจความพอใจนี้ก็พอตัวแล้ว กิเลสมันหลอกเพียงแค่นี้ก็ได้การและอยู่มือมันแล้วนักปฏิบัติเรา ไม่สามารถจะคิดให้ถึงความจีรังถาวร หรือไม่จีรังถาวรของมันได้เลย เพราะถูกกล่อมเสียอ่อนปวกเปียกเรียกหากุสลา มาติกา เสียก่อนแล้ว แต่ไม่ยอมเรียกกุสลาธรรม คือ สติปัญญาที่ติดแนบอยู่กับใจซึ่งพร้อมที่จะช่วยนั่นบ้างเลย ถ้าคิดถึงเรื่องความไม่จีรังถาวร มันจะมีอันหนึ่งแทรกขึ้นมาว่าจีรังถาวร มันปิดประตูไว้ไม่ให้คิดในทางที่ถูกเสีย

ทุกฺขํ บีบอยู่ทุกคนทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างมากก็บ่นเอา เหมือนกับว่าเป็นทางระบายออกแห่งทุกข์ ความจริงไม่ใช่เป็นทางระบายออก เป็นทางเสริมสร้างของกิเลส เป็นทางของกิเลสเดินต่างหาก ที่บ่นเรื่องนั้นบ่นเรื่องนี้ มันไม่ใช่เป็นการระบายทุกข์ มันเป็นทางเดินเสริมทุกข์เสริมสมุทัยต่างหาก นี่ตามความจริง ท่านจึงสอนให้พิจารณาที่นี่

อนตฺตา ก็เหมือนกัน ว่าเป็นก้อนเราทั้งก้อน ก็คือกิเลสนั่นแหละหลอกน่ะ มันก้อนของกิเลสนั่นแหละ อำนาจของกิเลสนั่นแหละ ที่เป็นทางออกมันปิดไว้หมด บังคับอย่างไม่รู้สึกตัวเลยว่า นี้เป็นเราเป็นของเรา เป็น อตฺตาตัวตนทั้งนั้น จึงต้องใช้ปัญญาอันเป็นหลักความจริง ที่จะลบล้างความจอมปลอมทั้งหลายนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ นับตั้งแต่เกสา โลมา ไปโดยลำดับ จนกระทั่งสกลกายทั้งร่าง แยกแยะดูทั้งภายในภายนอก คลี่คลายดูซ้ำ ๆ ซาก ๆ ถือนี้เป็นงานสำคัญประจำชีวิตจิตใจและอิริยาบถไม่ละไม่ถอย

จงใช้ปัญญาพิจารณาคลี่คลายดูด้วยดี เป็นงานประจำตัวของพระ ประจำตัวของผู้ปฏิบัติ เป็นงานประจำจิต ของผู้จะรื้อถอนตนออกจากทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดในสิ่งเหล่านี้ ด้วยอำนาจของกิเลสหลอกลวง กิเลสบังคับให้เป็นไปเพื่อจะได้ถอนตนออกจากสิ่งเหล่านี้ จึงต้องทำทั้งกลางวันกลางคืนยืนเดินนั่งนอนทุกอิริยาบถ ทุกอาการของจิตเคลื่อนไหว มีสติปัญญาพิจารณาสอดส่องอยู่เสมอ ชื่อว่าทำงานตามหลักธรรมโดยชอบธรรม

เมื่อพิจารณาตามหลักความจริงแล้วหาที่ค้านที่ไหนได้ มันเป็นเรื่องของกิเลสต่างหาก มาเสกสรรความรู้ความเห็นความเข้าใจของเรา ให้ว่านั้นเป็นนั้นนี้เป็นนี้ นั้นเป็นของสวย นี้เป็นของงาม นั้นเป็นสัตว์ นี้เป็นบุคคล นั้นเป็นหญิง นี้เป็นชาย

ความจริงแล้วถ้าจะพูดถึงเรื่องหนัง หรือพูดถึงเรื่องผม-ขน ดูซิผม-ขนเป็นเส้น ๆ เพียงตกลงในภาชนะเท่านั้นก็ขยะแขยงไม่อยากรับประทานแล้ว ยิ่งตกเข้าไปในอาหารด้วยแล้วจะอาเจียนไปเสียด้วยซ้ำ เล็บของผู้ใดก็ตามปล่อยให้หลุดลงไปในภาชนะอาหารดูซิดูได้ไหม ฟันอย่างนี้เหมือนกัน ร่วงลงไปในภาชนะดูได้ไหม รับประทานได้ไหม นอกจากขยะแขยงกัน ดีไม่ดีในวงสำรับแตกฮือเลย ร่วมวงกันอยู่มากน้อยต้องแตกศึกกัน

เรื่องความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ทำไมจึงต้องเสกสรรปั้นยอเอานักหนา จนติดแน่นว่านี้เป็นเรานี้เป็นของเรา นี้เป็นของสวย นี้เป็นของงาม ทั้งนี้เพราะกิเลสมันแหลมคมนั่นแล ใจจึงไม่สามารถมองดูหน้ามันได้ มันไม่ยอมให้มองดูหน้ามัน ให้ก้มหน้าลงไปเหมือนเขาปล้นบ้านปล้นเรือน จับเจ้าของมัดไว้ให้นอนคว่ำหน้า ไม่ให้มองดูหน้าของโจรผู้ร้ายนั้นเลย เพราะเขามีอำนาจ มองดูเขาก็ฆ่า กิเลสมีอำนาจก็เช่นเดียวกันไม่ให้มองย้อนหลังไปหามันเลย ให้มองส่งไปทางอื่นตามความต้องการของมัน ถูกมันผลักมันไส ให้เป็นไปตามอำนาจของมันอยู่ตลอดมา

เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสมีวาสนาได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ได้ศึกษาเล่าเรียนหรือได้ยินได้ฟังธรรมจากครูจากอาจารย์ และเกิดความเชื่อความเลื่อมใส ได้ประพฤติปฏิบัติตน ในทางที่กิเลสจะถอยทัพกลับแพ้ด้วยจิตตภาวนาเป็นสำคัญเช่นนี้ จงตั้งหน้าฆ่ากิเลสให้สิ้นซากไป

อธิบายเข้าสู่ปัญญาซึ่งอธิบายยังไม่จบเวลานี้ ส่วนสมาธิก็ได้เริ่มไปบ้างแล้ว ให้พิจารณาอย่างที่ว่านี้ กิเลสจับจองไว้ที่ไหนบ้าง จงแทงทะลุเข้าไปด้วยปัญญา แทงเข้าไปในหนัง แทงเข้าไปถึงเนื้อ ถึงเอ็น ถึงกระดูกทุกท่อนที่มีอยู่ในร่างกายนี้เนื้อเราดูไหมเป็นยังไง เนื้อสัตว์เป็นยังไง ทิ้งกองอยู่ตามตลาดมันผิดอะไรกับเนื้อคนทำไมจึงเห็นว่านี้เป็นคน อันนั้นเป็นเนื้อ นี้ก็เนื้อนั้นก็เนื้อ เอ็น กระดูกเหมือนกัน แล้วดูเส้นเอ็น ดูกระดูกทุกท่อน ทั้งของเราของสัตว์ที่ทิ้งเกลื่อนอยู่ตามถนนหนทางมีคุณค่าอะไรบ้าง ทำไมกระดูกอันนี้จึงเสกสรรปั้นยอว่ามีคุณค่า จนทับหัวใจเจ้าของแทบจะตายไม่มีวันฟื้นอยู่แล้ว

เมื่อพิจารณาสิ่งเหล่านี้เห็นชัดตามเป็นจริงโดยลำดับ   จิตจะมีความดูดดื่ม  จิตจะมีความยิ้มแย้มแจ่มใสความพากเพียรความอดทนจะมาเอง หมุนตัวไปตามอาการต่าง ๆ ของร่างกาย พิจารณาเท่าไรยิ่งแจ้งยิ่งชัด ซาบซึ้งในโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พูดถึงเรื่อง อนิจฺจํ ก็ซึ้ง อ๋อ เป็นอย่างนั้นจริง ๆ มีทุกอาการของร่างกายและจิตใจที่แสดงออกแต่ละอาการ ๆ ล้วนแต่เป็นเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา บีบบังคับอยู่ทุกสัดทุกส่วนหาช่องว่างไม่ได้เลย แม้แต่นอนหลับอยู่ก็ยังต้องบีบบังคับ บางครั้งถึงต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมา เพราะความทุกข์มันบีบบังคับอย่างเต็มที่ จะทนนอนหลับครอก ๆ อยู่ไม่ได้

ถ้าพูดถึงเรื่องอสุภะความปฏิกูลโสโครก ก็ไม่มีอะไรเกินร่างมนุษย์ ดูให้เห็นชัดเจนอย่างนั้น ตามความจริงที่เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เมื่อเข้าใจนี้ชัดเจน จิตจะฝังแน่นด้วยอุปาทานขนาดไหนก็ตาม เพราะอำนาจของกิเลสเป็นผู้หลอกลวงให้ยึดให้ถือนั้น จะถอนตัวออกมาอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็น และประจักษ์กับใจไม่สงสัย จิตถอนอุปาทานจากรูปขันธ์ เพราะความเห็นแจ้งด้วยปัญญาเป็นอย่างนี้

ทีนี้มีแต่หลักธรรมชาติแห่งธรรมล้วน ๆ เต็มดวงใจ เพราะเห็นตามเป็นจริงหาที่ค้านไม่ได้ ที่สำคัญมั่นหมายอย่างนั้น ๆ มาแต่ก่อนนั้น เป็นเรื่องของความจอมปลอมที่กิเลสมันปักเสียบเอาไว้ ตามทำลายหมด ตามรื้อถอนออกหมด ปล่อยวางลงสู่ความจริงล้วน ๆ อนาลโย หายห่วง หายความยึดถือในร่างอันนี้ เพราะรู้ตามความจริงเต็มส่วนของมัน

ในขณะเดียวกันเวลาพิจารณากายนี้ เวทนาปรากฏขึ้นมาก็กำหนดเช่นเดียวกัน เวทนากาย เวทนาจิต เมื่อเวทนาทางจิตเป็นของละเอียด ยังไม่สามารถทราบได้ในวาระนี้ เราก็พิจารณาเวทนาทางกายดังที่เคยอธิบายให้ฟังแล้ว

ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้เป็นการคลี่คลายสิ่งที่หุ้มห่อจิตใจ อุปาทานในกายก็คือกิเลสที่หุ้มห่อจิตใจ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่จิตไปหลงว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็คือกิเลสเครื่องหุ้มห่อจิตใจ เมื่อพิจารณารูปขันธ์เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว เครื่องหุ้มห่อเหล่านี้ก็ขาดลงไป ยังเหลือแต่เครื่องหุ้มห่ออันละเอียด คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เราเปิดสิ่งลี้ลับด้วยปัญญาให้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมอันเป็นส่วนขันธ์ว่าเป็นอย่างไรกัน แต่ก่อนไม่รู้ว่าอะไรเป็นจิต รู้ก็รู้ทั้งร่าง รู้ไปหมดทั่วสรรพางค์ร่างกาย แต่จะยึดจะจับเอาจุดที่ว่าจิตนี้ จับไม่ได้ เพราะถูกสิ่งเหล่านี้หุ้มห่อไว้หมด แตะเข้าตรงไหนเจอกิ่งก้านสาขาของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา,สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เต็มไปหมด แตะตรงนั้นถูกกิ่งของอวิชชา แตะตรงนั้นถูกก้านของอวิชชา ถูกรากฝอยของอวิชชา ถูกเปลือกถูกกระพี้ของอวิชชา

เมื่อใช้ปัญญาถากถางเข้าไป กิ่งก็ฟันเข้าไป ก้านฟันเข้าไป รากฝอยฟันเข้าไป เปลือกฟันเข้าไป กระพี้ฟันเข้าไป ตั้งแต่รูปกายจนถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นชั้น ๆ ของกิเลส ที่แทรกสิงยึดครองด้วยอำนาจของอวิชชาเป็นหลักใหญ่พาให้แผ่กิ่งก้านออกไป จนเข้าใจอย่างชัดเจน จิตเปิดเผยตัวขึ้นมาโดยลำดับลำดา ความจริงก็เริ่มเห็นจิตมาตั้งแต่ขั้นสมาธิแล้ว แต่ยังไม่กระจ่างและขาดจากกันกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อใช้ปัญญาเป็นเครื่องตัดฟันย่อมขาดไปโดยลำดับลำดา จนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นส่วนละเอียดก็ขาดไปด้วยกัน หมดจากความเป็นเราเป็นของเรา รูปก็ดี เวทนาทั้งสามก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี ขาดจากความเป็นเราเป็นของเราอย่างเห็นได้ชัดด้วยปัญญา

นี่แลวิธีเปิดเครื่องหุ้มห่อของจิตให้เห็นอย่างชัดเจน เปิดด้วยภาคปฏิบัติจิตตภาวนาเปิดเข้าไป ฟันเข้าไปกิเลสขาดสะบั้นเข้าไปโดยลำดับ  ตัดสะพานของ อวิชฺชาปจฺจยา ซึ่งออกเที่ยวหากิน จนไม่มีทางออก ทางรูปก็ตัด ทางเวทนาก็ตัด สัญญา สังขาร วิญญาณก็ตัด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะออกสู่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสนั้นยิ่งห่างไกล ก็ถูกตัดเข้ามาจนขาดสะบั้นไปหมดแล้ว ยังเหลือเกาะเดียวดอนเดียว อุโมงค์เดียวคือจิต ซึ่งเป็นที่ซุ่มซ่อนหมกตัวอยู่ของอวิชชาอันเป็นกษัตริย์วัฏจักร

สติปัญญาเมื่อถึงขั้นนี้แล้วย่อมเกรียงไกร และฉลาดสามารถมากเกินกว่าจะนำอะไรมาเทียบมาเสมอเหมือนได้ อย่างไรก็ไม่ทนอยู่ได้ ถ้าลงสติปัญญาประเภทที่ฟันสะบั้นหั่นแหลกเข้าไปจนถึงจุดเดียวแล้ว จุดนั้นจะไม่ถูกทำลายย่อมเป็นไปไม่ได้เพราะฉะนั้น บรรดาพระอนาคามีท่านเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว จึงไม่กลับมาเกิดอีก เพราะเป็นอัตโนมัติของสติปัญญาขั้นนั้นแล้ว ท่านก้าวขึ้นสู่สุทธาวาส ๕ ชั้น ตั้งแต่ชั้นต้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา แล้วเลื่อนขึ้นไปโดยลำดับ   ไม่กลับมาอีกเลย จากอกนิฏฐาแล้วก็นิพพาน นี่ก็เพราะอำนาจของจิตเป็นอัตโนมัติ ทำงานในตัวเองโดยหลักธรรมชาติไม่มีอะไรมาบังคับ หากหมุนไปโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง

นี่จิตขั้นนี้ก็เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องไปกล่าวถึงสุทธาวาส ๕ ชั้นแหละ กล่าวถึงจิตกับสติปัญญาที่รักษาตน และประหัตประหารสิ่งที่เป็นข้าศึก สิ่งที่เป็นเชื้อจะพาให้เกิด แก่ เจ็บ ตายต่อไปอีก สุดท้ายก็ขาดสะบั้นลงไปจากจิต นั่นแล อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ที่จุดนั้น ตัวนี้แลที่พาสัตว์ทั้งหลายไปเกิด ไม่ใช่อะไรอื่น เห็นได้ชัดเมื่ออะไร ๆ ขาดไปหมดยังเหลือแต่จิตที่กลมกลืนกับอวิชชา เพราะฉะนั้น จิตจึงต้องมีภพ แต่ไม่ใช่ภพเหมือนภพทั้งหลาย เป็นภพในสุทธาวาส ๕ ชั้น จิตดวงนี้ บอกได้ชัด ๆ อยู่ภายในจิตเอง จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่นิพพาน

ทีนี้เพื่อให้ถึงนิพพานทั้งเป็นสด ๆ ร้อน ๆ นี้ เอ๊า สติปัญญาฟาดลงไปในจุดนั้นให้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ซึ่งฝังอยู่ภายในจิตนั้นแตกกระจายลงไปไม่มีเหลือแล้ว นั้นแลจะว่าแดนแห่งนิพพานก็แล้วแต่จะพูด ไม่มีหิวโหยกับอะไรอีกแล้ว ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว พอตัวแล้ว เอ๊า เน้นลงไปว่า จิตเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยที่นี่ เมื่อสิ่งที่ครอบหัวใจมาเป็นเวลานานได้ขาดกระเด็นลงไปหมดแล้ว ที่นี่จิตจะไปเกิดที่ไหนอีก แต่ก่อนเกิดตาย ๆ เพราะเหตุไร เกิดตาย ๆ มากี่ภพกี่ชาติ เราก็ไม่รู้เพราะอะไรพาให้เกิดให้ตาย เพราะอันนี้แล เห็นได้ชัด

พออวิชชาถูกทำลายลงไปแล้วด้วยสติปัญญาอันแหลมคมก็หมดปัญญา อดีตที่เคยเป็นมามากน้อยไม่ต้องไปนับไปอ่านให้เสียเวลา เป็นมาเพราะสาเหตุอะไรก็บอกชัด ๆ อยู่แล้วภายในจิต อนาคตที่จะเป็นไปข้างหน้าถ้าอันนี้ยังครอบหัวใจอยู่แล้ว จะต้องเป็นไปทำนองเดียวกันกับอดีตที่เคยเป็นมาแล้วไม่สงสัย แต่บัดนี้เชื้อแห่งภพได้ขาดกระเด็นลงไปแล้ว ปัจจุบันก็รู้เท่าแล้ว ระหว่างสมมุติกับวิมุตติขาดสะบั้นออกจากกันทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตาย ได้รู้ได้เห็นชัดเจนแล้วถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็รู้ร้อยเต็มร้อย พันก็รู้พันเต็มพัน ผู้นี้ได้เปิดเผยตัวเต็มที่แล้ว นี่แหละคือจิตแท้ ในขณะเดียวกันก็นี้แลคือธรรมแท้อยู่ที่ตรงนี้ นี้แลคือบรมสุข นี้แลคือนิพพาน การใส่ชื่อก็ใส่เพื่อเป็นเครื่องหมายให้ทราบทางสมมุติเท่านั้นเอง ลำพังท่านผู้รู้ผู้เห็นแล้วท่านไม่จำเป็น รู้เห็นประจักษ์ใจแล้วก็พอ นี่แลกิเลสอวิชชาและจิตจะละเอียดลึกลับขนาดไหนก็เถอะ ถ้าลงได้นำธรรม มีสติธรรม ปัญญาธรรมเป็นต้น เข้าไปถากถางฟาดฟันกันจริง ๆ แล้วจะต้องถึงรากแก้วของกิเลสอวิชชา และถอนพรวดขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย ข้อสำคัญขออย่าได้เชื่ออะไรยิ่งกว่าเชื่อธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เป็นที่มั่นใจและแน่ใจ

ขอให้ทุก ๆ ท่านนำไปปฏิบัติด้วยความเอาจริงเอาจัง ด้วยความเห็นโทษแห่งความเป็นมาของตนที่ถูกกิเลสย่ำยีมาตลอดเถิด ไม่ต้องไปเชื่อผู้อื่นผู้ใดใครที่ไหนก็ได้ เพราะธรรมทุกแขนงพระพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้ว ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด นี่คือการตัดขาดจาก อวิชฺชาปจฺจยา  สงฺขารา ถึง  ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา,มรณมฺปิ ทุกฺขํ ซึ่งเป็นกองทุกข์ทั้งมวล เมื่อเกิดมาก็ต้องเป็นอย่างนี้ นอกจากไม่เกิดก็ไม่มีทุกข์มาเกี่ยวข้อง

พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างไม่มีผิดเพี้ยนไม่มีทางสงสัย อวิชฺชาปจฺจยา นี้แลพาสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก เพราะไม่รู้โทษของมัน เนื่องจากมันไม่ยอมให้รู้ เพราะมันอยู่เหนือสัตว์ เมื่อสติปัญญาทันแล้วก็รู้หมด เคยเป็นมายังไง ๆ รู้หมด กิเลสประเภทต่าง ๆ มันจะไปเป็นอยู่กับหัวใจใด กิริยาอาการของสัตว์ตัวใดบุคคลผู้ใดรู้หมด เพราะมันเคยอยู่ในหัวใจเราแล้วนี่ เราเคยปราบมันอย่างราบจนแหลกละเอียดไปแล้ว ไม่สามารถมาครอบงำหัวใจเราได้อีกเหมือนแต่ก่อน หรือเหมือนหัวใจใด ๆ แล้ว เพราะฉะนั้น มันมีอยู่ในหัวใจใด แสดงอากัปกิริยาออกมาอย่างใดจึงทราบได้หมด เมื่อได้ทราบมันหมดแล้ว ปราบมันหมดแล้ว จะว่าเป็น โลกวิทู ตามหลักธรรมชาติก็ไม่ผิด ถึงจะไม่เป็นโลกวิทู รู้แจ้งแทงทะลุเม็ดหินเม็ดทรายกระทั่งสัตว์ตัวนี้ตายแล้วไปเกิดที่ไหน ตัวนั้นตายแล้วไปเกิดที่ไหนก็ตาม แต่ก็รู้แจ้งโดยหลักธรรมชาติกิเลสขาดสะบั้นจากใจอย่างนี้แล โลกวิทู อย่างนี้เป็นคุณสมบัติของสาวก ท่านได้โลกวิทูในลักษณะนี้ ตามนิสัยวาสนากว้างแคบต่างกัน ไม่เหมือนโลกวิทูของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพุทธวิสัย

นี่แหละการปฏิบัติธรรม เพื่อรื้อถอนจิตซึ่งเป็นตัวมหันตโทษมหันตทุกข์ ที่ถูก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นนายเหนือหัวครอบงำบังคับบัญชากดขี่ข่มเหงมาเป็นเวลานานแสนนาน ท่านปฏิบัติกันดังที่กล่าวมานี่แล เราสงสัยอะไรไม่มีที่จะสงสัย ขอให้ยกหลักธรรมปัจจุบัน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คู่ปราบปรามกิเลสขึ้นประพฤติปฏิบัติกำจัดมันให้ได้เถอะ พระพุทธเจ้านิพพานกี่ร้อยกี่พันองค์ นิพพานไปนานแสนนานเท่าไร จะไม่มีปัญหาโดยประการทั้งปวง จะรวมกันอยู่ที่ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ นี้แห่งเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ไม่มีทางอื่นเป็นเครื่องยืนยัน มีอันนี้เท่านั้นเป็นเครื่องยืนยัน ดังธรรมท่านว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ก็หมายเอาธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้แลเป็นเครื่องยืนยัน เพราะพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายบริสุทธิ์อย่างนี้เหมือนกันหมด เมื่อยอมรับอันนี้แล้ว ก็ยอมรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายในขณะเดียวกัน หาที่ค้านกันไม่ได้

แต่การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรมดังที่ว่านี้ ต้องอาศัยความพากเพียร  เพราะกิเลสแต่ละประเภทนั้นมีเล่ห์เหลี่ยมแหลมคมมากทีเดียว อย่าเข้าใจว่ามันโง่เราฉลาด ความจริงเราโง่มาก กิเลสฉลาดมากและไม่มีอะไรฉลาดเหนือกิเลส นอกจากธรรมเท่านั้น วิธีการต่อสู้กับกิเลสนั้นจึงต้องอาศัยความฉลาดแหลมคม มีสติปัญญาเป็นสำคัญ อาศัยความบึกบึน อาศัยความอดความทน ความเอาจริงเอาจัง ทำเล่น ๆ เหลาะ ๆ แหละ ๆ ไม่ได้     ถ้าเราอยากจะพ้นจากทุกข์     แต่ถ้าอยากจะเป็นนักโทษมหันตทุกข์อยู่นี้ มันก็เคยเป็นมาแล้วนี่จะอยากไปอะไรอีก เพราะเคยเป็นมาแล้ว เราสงสัยที่ตรงไหน มีทางเดียวคือการรื้อถอนตนออกจากเปลวไฟอันใหญ่หลวงนี้ ให้ถึงความสวัสดีเป็นบรมสุขตลอดอนันตกาลเท่านั้น

จึงขอให้ทุกท่านฟังให้ถึงใจ ปฏิบัติให้ถึงธรรมด้วยความพากเพียรของตนเอง การแนะนำสั่งสอนก็ได้แนะนำสั่งสอนเต็มขั้นเต็มภูมิของผมเอง ไม่มีสิ่งใดลี้ลับแก่ท่านผู้มาศึกษา เคยปฏิบัติได้รู้อย่างไรเห็นอย่างไรก็พูดให้ฟังหมดเปลือกแล้ว ยอมรับว่าไม่มีความรู้มากกว่านี้ ขอให้ฟังให้ถึงใจและปฏิบัติให้ถึงธรรม จะพ้นจากทุกข์อย่างถึงใจในขณะที่มีชีวิตอยู่นี้แล

 

พูดท้ายเทศน์

พระอยู่ด้วยกันมาก ๆ มันก็เหมือนรถบรรทุกของหนักนั่นน่ะ มันอืดอาดมันเนือยนายมันชักช้าล้าหลังอยู่นั่นแหละ อะไร ๆ ก็ต้องช้า เพราะความเป็นอยู่ทุกด้านมันเกี่ยวโยงกันทั้งวัด ถ้าจะไปหาอยู่สะดวกสบายในการภาวนานี้ ก็ต้องเป็นตามอัธยาศัยและกำลังใจของแต่ละรายที่แน่ใจตัวเอง เพราะผมเคยเป็นมาแล้ว เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ มันเป็นเหมือนแม่เหล็กเครื่องดึงดูดและพยุงจิตใจได้ดี แม้จะยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ทางด้านธรรมภายในใจ แต่ก็ได้อาศัยครูบาอาจารย์เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ให้ท่านเป็นเหมือนแม่เหล็กเครื่องดึงดูดให้มีความชุ่มใจ เพราะความหวังนั้นเป็นสำคัญ

พอออกจากท่านไปทั้งที่จิตยังหาหลักยึดอะไรไม่ได้ มันอะไรบอกไม่ถูกผมนี่เคยเป็นมาแล้วนะ เราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำความเพียรอยู่เช่นกัน แต่มันไม่ได้เรื่องอะไร นี่หมายถึงใจยังไม่ได้หลักทางสมาธินะ ภาวนานี่มันไม่ได้เรื่องอะไรเล้ย จนงงในตัวเองว่า เอ๊ะ ทำไมเป็นอย่างนี้ จิตใจเราถ้าฝืนอยู่อย่างนี้ไม่นานจะจมแน่ ๆ ต้องกลับเข้าไปหาครูบาอาจารย์ อยู่กับท่านความรู้สึกก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แน่ะ มันอยู่ได้สบาย ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้หลักได้เกณฑ์อะไรขณะอยู่กับครูบาอาจารย์ แต่มันไม่เดือดร้อนวุ่นวายเหมือนอยู่คนเดียว อาศัยยึดท่านเป็นหลักในทางจิตใจ ก็พออยู่ได้สบาย ๆ นี่ผมเคยเป็นมาแล้ว ทำยังไงมันก็ไม่ได้เรื่อง ภาวนาอย่างไรก็ไม่ได้เรื่อง ใจเวลามันดื้อมันดื้อต่อหน้าต่อตานั่นแหละ จนกว่ามันได้หลักได้เกณฑ์แล้ว ทีนี้ไปไหนก็พอไป อย่างน้อยจิตเป็นสมาธิเป็นหลักเป็นเกณฑ์แล้ว มันก็พอไปของมันพอสู้ของมัน คือต้นทุนมันมี ถึงความแยบคายทางด้านปัญญาไม่เกิด ก็อาศัยสมาธิเป็นหลักเป็นเกณฑ์ อยู่ได้ด้วยสมาธิคือความสงบใจ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเหมือนแต่ก่อนที่มันไม่มีหลักมีเกณฑ์

นี่เหตุหนึ่ง ที่ไม่อาจขับไล่ไสส่งให้หมู่เพื่อนไปอยู่ที่นั่นที่นี่คนเดียว โดยเห็นว่าสบายดีกว่าอยู่กันหลาย ๆ องค์ แต่ก็ไม่แน่ใจในจิตใจของหมู่เพื่อนว่า จะมีความฉลาดแยบคายรักษาตัวได้เพียงไร แม้แต่อยู่ด้วยกันนี้ก็ยังต้องได้ดุได้ด่ากันอยู่เสมอ เพราะความบกพร่องอันเป็นช่องโหว่ให้กิเลสทำลาย ต้องได้ช่วยปิดช่วยกั้นอยู่ไม่หยุด เพราะความผิดพลาด เพราะความไม่คิดไม่อ่านมีอยู่มาก นี่เหตุหนึ่ง การไปอยู่คนเดียวจะฉลาดและจริงจังแค่ไหนเราก็ไม่แน่ใจนัก สุดท้ายก็ต้องพะรุงพะรังกันอยู่อย่างนี้จะว่าไง เพราะมันแก้ไม่ตก ถ้าไม่ช่วยกันแก้ที่ตัวเอง ซึ่งแสดงความบกพร่องให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ที่ครูอาจารย์หยิบยื่นให้ในเวลาอยู่ศึกษาอบรมกับท่าน

ตอนจิตได้หลักได้เกณฑ์พอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาแล้ว การก้าวทางปัญญามันเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ ทีแรกก็บังคับจิตออกพิจารณาทางด้านปัญญา พอจิตเห็นคุณค่าทางปัญญาแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากนั้นจิตจะหมุนของมันไปเอง โดยไม่ต้องบังคับเหมือนขั้นเริ่มแรกพิจารณา เมื่อเกิดข้อข้องใจขึ้นมา เจ้าของแก้ไม่ได้ก็มาหาครูบาอาจารย์เพื่อช่วยแก้ให้ ไม่ให้เสียเวลาไปนาน วิ่งมาหาท่าน เล่าถวายท่านจบ ท่านใส่เปรี้ยงเดียวเท่านั้น สิ่งที่เคยขัดข้องนั้นขาดสะบั้นไปเลยนะ เพราะท่านรู้ตลอดทั่วถึงแล้ว เราไม่รู้ ไม่รู้ทางออกทางเข้า ไม่รู้วิธีปลดเปลื้อง จะปลดเปลื้องได้ยังไง เพราะปัญหาแต่อย่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากน้อย นั้นก็คือสมุทัยเข้ามาขวางธรรมนั่นเอง ปัญญาเราไม่สามารถแก้ได้ มันก็ต้องพิจารณาวกเวียนพลิกไปพลิกมาทำให้เสียเวลา พอมาเล่าถวายท่านแล้วท่านใส่เปรี้ยงเดียวเท่านั้นก็ขาดสะบั้นไปเลย นั่น มันต่างกันอย่างนั้น ระหว่างครูอาจารย์ผู้รู้ผ่านไปแล้ว กับเราที่ยังไม่รู้ไม่ผ่าน ผู้ปฏิบัติจึงต้องอาศัยครูอาจารย์ช่วยบอกแนะตลอดไปจนถึงจุดที่หมาย เมื่อถึงที่แล้วปัญหาทั้งมวลก็สิ้นซากไปพร้อมกับกิเลส

ถ้าหากไม่มีครูมีอาจารย์ช่วยแนะจริงๆ เราก็พยายามตะเกียกตะกายไปเองด้วยสติปัญญาของตน แต่มันช้าน่ะซิ เราเห็นได้ชัดเวลาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านล่วงลับไปแล้วนั่น ต้องเตือนตัวเองให้ตื่นตัวในการหวังพึ่งตัวเอง เอ๊า ไม่มีใครละที่นี่ เราคนเดียวเป็นก็เป็นตายก็ตาย มันก็หมุนช่วยตัวเองไปได้เหมือนกัน เป็นแต่ช้าบ้างเท่านั้น ขั้นนี้ก็เป็นความช่วยตัวเองได้ เช่นเดียวกับเวลาที่เราจนตรอกจนมุมดังที่เคยเล่าให้ฟัง มันก็ช่วยตัวเองเต็มที่ไม่ยอมถอยหลัง เป็นแต่มันช้าเท่านั้นแหละ แต่สติปัญญาดิ้นดีดอยู่ไม่หยุดไม่ถอยน่ะซิ เพราะปัญญาขั้นนี้ไม่ถอยแหละ ช้าหรือเร็วมันก็สู้กันอยู่อย่างนั้น ก็ทะลุของมันไปได้

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องครูบาอาจารย์เป็นสำคัญมาก ทำให้กะทัดรัดเข้าไปเรื่อย ๆ รวดเร็วราบรื่นดีกว่าทำโดยลำพังอยู่มาก นี่แลทางด้านจิตตภาวนาจึงสำคัญมากสำหรับครูอาจารย์ผู้คอยให้อุบาย จะเอาธรรมสุ่มสี่สุ่มห้ามาสอนกันไม่ได้นะ เรียนจนพระไตรปิฎกก็เถอะ นี่มิได้ประมาทการเรียน พูดตามความจริง ถ้าลงจิตนี้ไม่ได้ทรงอรรถทรงธรรมประจักษ์ใจจากการปฏิบัติแล้ว จะสอนไม่ถูกจุดที่จำเป็น แม้ยกมาสอนทั้งพระไตรปิฎกก็ไม่ถูกจุดที่ต้องการ ถ้าไม่รู้ทางจิตตภาวนามาก่อน ถ้าเป็นยาก็ยกกันทั้งหีบนั่นแล ไม่สามารถหยิบยาขนานเฉพาะมารักษาคนไข้ได้ หากเป็นหมอเถื่อนซึ่งผิดกับหมอจริงอยู่มาก คนไข้รายใดมาก็จะยกยาทั้งหีบทุ่มใส่ มันก็ตายเท่านั้นละคนไข้

ไม่ได้เหมือนหมอที่แท้จริงนี่ หมอเขาไม่จำเป็นต้องไปยกกันมาทั้งหีบทั้งตู้อะไร เพียงถามอาการและตรวจดูรู้แล้วว่าเป็นยังไง แล้วควรฉีดก็ฉีด ควรให้ยารับประทานก็ให้ เท่าที่เห็นว่าเหมาะสมกับโรคประเภทนั้น ๆ ครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจิตตภาวนาที่คอยให้อุบายเราก็สอนลงตรงจุดสำคัญทันที ๆ เลย การสั่งสอนจึงต่างกันอย่างนี้ ก็จิตสอนจิตนี่ พออาราธนาด้วยการเรียนถามปัญหาต่าง ๆ ปั๊บ ท่านรู้แล้ว ท่านเคยผ่านมาเท่าไรเป็นมาเท่าไรแล้ว ท่านใส่ปั๊บเดียวเท่านั้นเป็นกระจ่างไปทันทีทันใด นี่ซิที่ต่างกันมากกับทั่ว ๆ ไป

อยากให้หมู่เพื่อนได้กำลังทางด้านจิตใจ ให้ได้เห็นเรื่องโทษของกิเลส มันทำให้แสนทุกข์แสนทรมาน ไม่มีอะไรเกินกิเลสในโลกทั้งสามนี้ หากแต่มันไม่ให้เห็นโทษของมัน มันปิดเอาไว้หมด อันนี้ซิมันลำบากนะ แม้อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านช่วยเปิดช่วยถอนให้ ก็ยังสู้กิเลสรุมปิดรุมล้อมไม่ได้อยู่นั่นแหละ การรื้อขนกิเลสออกจากใจจึงเหมือนกับขนจอกแหนขึ้นจากน้ำ พอแหวกออกมันก็หุบเข้ามา แหวกออกก็ไหลเข้ามา หุบเข้ามาอยู่อย่างนั้น เวลากำลังปัญญายังไม่พอกับมัน เมื่อถึงขั้นปัญญาที่ควรต่อสู้กับมันได้แล้ว ไม่เพียงแหวกออกเท่านั้น ยังจับโยนขึ้นบนฝั่งเสียเลย จับโยนขึ้น ๆ มันจะมีจอกมีแหนอยู่เท่าไร คว้าปาขึ้นฝั่งให้หมด เหลือแต่น้ำใสสะอาดอาบดื่มใช้สอยสบาย นี่เมื่อขนกิเลสโยนทิ้งหมดแล้ว อยู่ไหนก็อยู่สบายหายทุกข์กังวล ไม่มีปัญหาอะไรอีกแล้ว

ปัญหาทั้งมวลเกิดจากกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อกิเลสสิ้นซากไปจากใจแล้ว อะไรจะมาเป็นปัญหาให้ยุ่งยากไม่มี โลกทั้งสามโลกธาตุนี้ก็เหมือนไม่มี เพราะจิตไม่ไปยุ่ง แม้จิตเองก็พอตัวอยู่แล้วจะไปยุ่งกับอะไร แน่ะ ฟังซิ มันพอตัวอยู่ตลอดเวลาไม่ว่ากาลนั้น สถานที่นี้ อิริยาบถนั้นอิริยาบถนี้ กระทบนั้นเป็นอย่างนั้น กระทบนี้เป็นอย่างนี้ ๆ ไม่มี กระทบอะไรก็มีเพียงสัมผัสกันแย็บ ๆ แล้วดับไป ๆ เท่านั้น จิตรู้เรื่องของมันอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติ

เมื่อไม่มีผู้เป็นเจ้าของเข้าไปยึด ไม่มีเจ้าอำนาจเข้าไปยึดเสียอย่างเดียว ขันธ์ก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ แสดงอยู่อย่างนั้นตามหลักธรรมชาติของมัน แม้ตัวมันเองก็ไม่มีความหมายในตัวมัน ใจรู้ชัด ๆ ว่าเป็นอย่างนั้น ดังร่างกายของเราที่นั่งอยู่นี่ มันก็เหมือนกับวัตถุทั้งหลายดี ๆ นั่นเอง ไม่ได้ผิดกันเลย เป็นแต่เพียงว่าความรู้ไปเป็นเจ้าของเป็นผู้รับผิดชอบขันธ์ใช้มันอยู่เท่านั้น ให้มันรู้อย่างนั้น ตามีหน้าที่เห็นรูป หูนั้นมีหน้าที่ฟังเสียงเป็นต้น ทางออกนี้ไปเจอนั้น ทางออกนั้นไปเจอนั้น ทางออกทางตาไปเจอรูป ทางออกหูไปเจอเสียงเป็นต้น มันเป็นทางออกของจิตไปเจอสิ่งต่าง ๆ เครื่องมืออันนี้สำหรับอันนั้น เครื่องมืออันนั้นสำหรับนั้น ๆ เท่านั้น ก็เหมือนเครื่องมือทำงานสร้างบ้านสร้างเรือนนั่นแล สิ่วสำหรับนั้น ขวานสำหรับนั้น สว่านสำหรับนั้น เลื่อยสำหรับนั้น นำไปใช้ตามที่เห็นควรและความต้องการของช่าง พอทิ้งไว้เครื่องมือก็เป็นเหล็กอยู่อย่างนั้นเอง ไม่วิเศษอะไรไปกว่านั้น

ขันธ์ห้าก็เหมือนกัน ถ้าลงความรู้เป็นความรู้ ไม่ไปสับสนวุ่นวายกับสิ่งใด ไม่มีอะไรมาสับสนวุ่นวายกับความรู้นี้ เป็นความรู้ล้วน ๆ มันก็เป็นเหมือนเครื่องมือทำงานนั่นเอง จะผิดอะไรกัน ร่างกายนี้กับท่อนไม้ท่อนฟืนมันผิดกันอะไร ไม่ได้ผิดกัน เป็นแต่เพียงว่าความรู้นี้ครอบครองขันธ์อยู่ รับผิดชอบอยู่ จึงมีการเคลื่อนไหวไปมาได้ มีต่างกันเท่านั้น เครื่องมือที่ยังใช้ได้ก็ใช้ไป มีเท่านั้น พอความรู้อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องอะไรแล้ว  ก็เหมือนไม่มีโลก  เพราะไม่มีอยู่ภายในใจ   คำว่า  เย  ธมฺมา  เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุÿ ตถาคโต นี้ซึ้งมากนะ ก็พระอรหันต์พูดนี่ พระอัสสชิเป็นพระอรหันต์ทั้งองค์ เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุÿ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ เมื่อจะดับก็ต้องดับเหตุก่อน พระมหาสมณะพูดอย่างนี้ อะไรเป็นเหตุ ก็จิตเป็นมหาเหตุ ตัวที่อยู่ฉากหลังของจิตคืออะไร ก็พูดแล้วตะกี้นี้ คือ สมุทัย ท่านสอนให้ดับเหตุก่อน มหาสมณะคือศาสดาของเราสอนอย่างนี้ ซึ้งมากทีเดียว

การต่อสู้กิเลสการถอดถอนกิเลส ต้องถือเป็นงานสำคัญจำเป็นต่อเราสุดชีวิต พูดอย่างอื่นผมไม่สนิทใจ ถ้าว่าเอาชีวิตเข้าแลกนั้นถึงใจนะ เพราะเคยเอาชีวิตเข้าแลกมาแล้วนี่ แม้ทุกข์ก็ยอมทุกข์ แต่ทุกข์นี้มันคุ้มค่านี่ ไม่เหมือนทุกข์ที่ค้นหาหัวหาท้ายไม่ได้ หาต้นหาปลายไม่ได้ เหมือนทุกข์ที่กิเลสบีบบังคับให้เกิดทุกข์ นั่นมันหาต้นหาปลายหาที่ยุติไม่ได้ ทุกข์อยู่ตลอด ทุกข์นี้มีต้นมีปลายมีที่ยุติ เวลาข้าศึกยังมีอยู่ก็ฟาดฟันกันลงไป แม้ทุกข์ก็ไม่ถอยการสู้ พอข้าศึกเกลี้ยงไปแล้วจะมีทุกข์มาจากไหน ทุกข์เพราะความเพียรมันมีที่ยุติ ไม่เหมือนทุกข์ที่ตายกองกันอยู่ในวัฏฏะ หาทางออกไม่ได้ ทุกข์อันนี้พิลึก ไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายเลย ทุกข์เพราะความเพียรนี้มีที่ยุติ จึงผิดกันอยู่มาก

เวลาถึงคราวถึงระยะของมันที่จะทุ่ม จิตหากเป็นของมันเอง ทุ่มลง ๆ ชีวิตก็ไม่ได้อาลัยเสียดาย มันทุ่มกันแบบถึงเป็นถึงตายมาไม่รู้กี่ครั้ง เวลาเข้าไปเจอข้าศึกก็ทุ่มทันทีไม่ยอมถอย ถ้าไม่ตายก็ให้ชนะเท่านั้น ถอยไม่ได้ นั่นซิ มันฟัดกันตรงนั้นซิ เขารบข้าศึกเขาก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลก นี่เรารบกิเลสซึ่งเป็นข้าศึกอันใหญ่หลวงเราก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ถึงวาระพอเจอกันเข้าก็ใส่กันเลย จะตายก็ให้รู้ ไม่ตายก็ให้รู้ สุดท้ายอยากพูดเต็มปาก กิเลสมันตาย เราไม่เห็นตายว่ะ แน่ะ

พระพุทธเจ้าก็กิเลสตาย พระองค์เพียงสลบเท่านั้น สุดท้ายกิเลสตาย ที่ท่านยกองค์เด่น ๆ ในทางความเพียรมาให้เป็นตัวอย่างแก่พวกเราได้เห็นได้ยิน ก็เพื่อเป็นคตินั่นเอง เช่น พระโสณะ ท่านก็เพียงฝ่าเท้าแตก ท่านไม่ตายแต่กิเลสทั้งมวลตายเรียบ ท่านเตะกับกิเลสฝ่าเท้าแตกแต่กิเลสตาย ท่านเองไม่ตาย เราจะกลัวตายทำไม พระจักขุบาลก็ฟัดกันกับกิเลส จักษุแตก แต่กิเลสตาย ท่านเองไม่ตาย แต่กลายเป็นผู้วิเศษขึ้นมาเป็นสรณะของพวกเรา ไม่ได้ยินว่าท่านเหล่านี้ตาย อย่างมากก็เพียงฝ่าเท้าแตกเพราะความเพียรกล้า ก็เพียงจักษุแตกเพราะความเพียรกล้า พระพุทธเจ้าก็เพียงสลบ แต่กิเลสมันเลยสลบคือตายเรียบ พระจักขุบาลก็เตะกิเลส จักษุแตกกิเลสตาย พระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก กิเลสตาย

การเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตกนี้ ถ้าเราคิดทั่ว ๆ ไปคงคิดว่า ความเพียรของท่านเก่งด้วยความพยายาม เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก เก่งจริงเรื่องความเพียรของท่าน แต่เป็นความเพียรที่สัมปยุตไปด้วยสติปัญญาอัตโนมัติ ไม่ใช่บังคับกันเดินเสียจนฝ่าเท้าแตกนะตามความแน่ใจของผม เพราะเมื่อถึงขั้นนี้แล้วความเพียรย่อมไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง มีแต่กิเลสกับจิตมันหมุนมันฟัดกันอยู่เช่นนั้น จะมีเวล่ำเวลาและไปสนใจกับเวล่ำเวลาความเจ็บปวดแสบร้อนอะไรที่ไหนกัน เพราะใจไม่คิดอย่างอื่นนอกวงความเพียรภายในไปนี่

เราก็เคยเป็นเช่นนั้นมาแล้วเหมือนกัน จึงกล้าพูดและพูดอย่างอาจหาญ แน่ใจว่าไม่ผิดด้วย ฟังซิ ฉันจังหันเสร็จแล้วไปเดินจงกรม น้ำไม่ได้ฉันเลยในเวลาจงกรมอยู่นั้น มันยังอยู่ได้ไม่หิวโหยกับอะไรทั้งสิ้น ฟังซิ มันไปสนใจอะไรกับหมากพลูบุหรี่กับน้ำกับท่า มันไม่ได้สนใจเลย ฟัดกันกับกิเลสอยู่นั้น เรื่องอะไร ๆ มันลืมคิดไปหมด กลางวันแสก ๆ เดินจงกรมตากแดดได้อย่างสบาย เดินจงกรมตากแดดอยู่นั้นแหละโดยไม่รู้สึกร้อนเลย ทางจงกรมไม่มีร่มไม้ด้วยนะ ฟัดกันอยู่นั้น มันลืมหมด อิดหิวเมื่อยล้าลืมหมด น้ำท่ามันไม่ได้สนใจเลย เพราะไม่มีเวลาจะออกมาสู่ภายนอก จิตน่ะมันหมุนของมันติ้ว ๆ อยู่ภายใน

เดินจงกรมนี้ถ้าสมมุติมีคนมาด้อมดูเรา เขาจะว่าพระองค์นี้เป็นบ้าหรือไง จึงเดินสะเปะสะปะราวกับคนตาบอด ชนโน้น โดนนี้ ไม่ไปตามทาง ทั้งนี้เพราะจิตมันไม่ออกจากกายจากใจนั่นเอง มันหมุนอยู่ข้างในติ้ว ๆ ฉะนั้นมันจึงเดินโซซัดโซเซเข้าป่าเข้ารกเรื่อย ๆ เดี๋ยวโครมครามเข้าป่า เอ๊า รู้สึกตัวว่าเข้าป่า ถอยออกมาเดินไปอีก จิตหมุนกันอยู่นี้ เดี๋ยวเข้าป่าโน้นอีกอยู่อย่างนั้น มันก็เดินได้ทั้งวันนะ เพราะเดินคนเดียวนี่ ใครจะมาว่าเป็นบ้าเป็นอะไรมันไม่สนใจนี่วะ มันโครมคราม ๆ ของมันอยู่อย่างนั้น แต่มันก็เดินของมันได้ บางทีก็หยุดยืนเสีย ยืนเสียเป็นชั่วโมงก็ยืนได้ ถึงระยะที่จะยืน มันหากเป็นของมันเอง ยืนกำหนดพิจารณาจนได้ถ้อยได้ความชัดเจนแล้ว มันถึงจะก้าวเดินต่อไปอีก เวลาก้าวเดินก็อย่างนั้นแหละ ชนป่าชนหนามไป มันไม่ทราบว่าได้ก้าวไปทางไหน   ขาก็ดี มันไม่สนใจกับขา สนใจอะไรเรื่องมันอยู่กับจิตนี่ มันจึงหมุนอยู่ตรงนี้

ฉันจังหันอยู่ จิตก็ไม่ได้อยู่กับอาหารนะ มันอยู่กับการพิจารณาต่างหาก เมื่อเวลาถึงขั้นตะลุมบอนมันเป็นอย่างนั้นนะ แล้วจิตจะเผลอไปไหน นั่นฟังซิ จัดอาหารจัดอะไร ๆ ก็จัดซิ แต่จิตไม่ลดละการพิจารณา มันหากหมุนของมันอยู่อย่างนั้น ขั้นนี้เป็นความเพียรอัตโนมัติ เช่นเดียวกับกิเลสเวลามันหนาแน่นอยู่ภายในจิตใจเรา ทำอะไรอยู่ก็ตาม มันก็คิดเป็นเรื่องของกิเลสโดยอัตโนมัติ มันเป็นอัตโนมัติของมันเอง พอถึงขั้นอัตโนมัติของธรรมก็เป็นอย่างเดียวกัน ไม่งั้นไม่ทันกัน

จึงกล้าพูดได้ว่าตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งถึงหลับ มันเผลอไปขณะไหนไม่มีเลย จะมีได้ยังไงก็สติปัญญาสืบต่อด้วยความเป็นนักต่อสู้อย่างนั้นอยู่ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติของมันเองไม่ต้องบังคับ เมื่อถึงขั้นมันเป็นของมันแล้วตายก็ไม่ถอย คำว่าแพ้มีได้ยังไง มีไม่ได้ ตายเสียเท่านั้น ไม่ตายก็ให้รู้ท่าเดียว สติปัญญาแข็งแกร่งเกินกว่าจะนำมาพูดให้ถูกต้องกับความจริงได้ สติปัญญาเมื่อถึงขั้นสละตายแล้ว คำว่าถอยคำว่าแพ้ไม่มี มีไม่ได้ นอกจากตายกับรู้ท่าเดียว

ทุกสิ่งมันขึ้นอยู่กับจิตอะไรก็ตาม มันหิวมันโหยมันอะไร ๆ มันอยู่กับจิต พอจิตเป็นนักต่อสู้และเข้าตะลุมบอนกันแล้ว มันลืมไปหมดนะ ทีนี้เวลากลับมาที่พักพอมองเห็นกาน้ำ ผมยังไม่ลืมนะเรื่องทำนองนี้ โอ้โฮ มันจะโดดใส่กาน้ำเลย ก็มันจะตาย รินน้ำใส่กระป๋องนมเปล่า เพราะใช้กระป๋องนมเปล่าเป็นประจำแทนแก้วน้ำ แทบไม่ทันนั่นน่ะ พอใส่เข้าไป ดื่มสำลักกั๊ก ๆ ๆ จะตาย โอ้โฮ มันหิวขนาดนั้นนะ บทเวลามาเห็นกาน้ำเข้ามันหิวน้ำจะตาย แต่เวลาไปทำความเพียรอยู่คนเดียวไม่เห็นสนใจอะไร พอมาถึงที่พักมองเห็นกาน้ำเท่านั้น มันจะโดดเข้าใส่เลย ก็มันหิวน้ำจะตายน่ะ พอดื่มน้ำเข้าไป มันกลืนด้วยความอยาก ความหิวมาก เลยสำลักจะตาย กลืนลงไปแทบไม่ทันน่ะซิ สำลักดังกั๊ก ๆ ๆ จะตาย ไม่ลืมนะนี่นะ

เวลาความเพียรเป็นไปเต็มที่ พิจารณาไม่หยุด มันก็วิตกวิจารณ์ เอ๊ เราคิดไว้ว่าจิตมีความละเอียดเข้าไปเท่าไร ความพากเพียรก็จะค่อยสะดวกสบาย งานการก็จะแคบเข้าไป ๆ สะดวกสบายเข้าไปเรื่อย ๆ แต่ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ ดูซิความคาดความหมายไว้แต่ก่อน กับความจริงที่เป็นขึ้นกับจิต มันเข้ากันได้เมื่อไร เราคาดว่าอย่างนั้น เราคิดว่าอย่างนั้น จิตมีความละเอียดเข้าไปเท่าไรยิ่งจะมีความสะดวกสบายเรื่อยไปเลย แต่ครั้นแล้วไม่เป็นอย่างนั้นนี่ จิตละเอียดเข้าไปเท่าไรมันยิ่งหมุนในงานของมัน หมุนติ้ว ๆ ๆ จนได้คิดว่า เมื่อไรมันจึงจะยุติกันลงเสียที สะดวกสบายเสียทีนา ทำไมตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหลับ มันหมุนกันติ้ว ๆ ไม่ยอมหยุดบ้างพอได้หายใจเต็มปอด

บางคืนนอนไม่หลับเสียด้วยซ้ำ เพราะการพิจารณาไม่หยุด ทั้งที่นอนเพื่อจะให้หลับนั่นแล มันทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เมื่อไรถึงจะมีความสะดวกสบายเสียทีนา จิตรำพึงขึ้นชั่วขณะเท่านั้น พอหยุดรำพึงมันก็หมุนติ้วอีกแล้ว ๆ นั่น จนกระทั่งถีบตัวไปหมดกำลังของมันแล้ว ไม่ต้องบอกไม่ต้องบังคับ ที่หมุนติ้ว ๆ นั้นมันหยุดของมันเอง เรื่องความเพียรอัตโนมัติเมื่อถึงขั้นควรเป็นแล้ว มันเป็นไปของมันเองดังที่เล่ามานี้แล

จากนั้นก็อยู่แบบเซ่อ ๆ ซ่า ๆ ละที่นี่ เอ๊ ทำไมเป็นอย่างนี้ หือ  เป็นอย่างนี้เหรอ ที่นี่สติปัญญาที่เคยหมุนติ้ว ๆ หายไปไหนหมด หายหมด หายทั้งสองอย่างนั้นแหละ สิ่งที่ต่อสู้กันก็ไม่ทราบว่าหายไปไหน คู่ต่อสู้ก็ไม่ทราบหายไปไหน ไปด้วยกัน ไปไหนก็ช่างมันเถอะ เราเคยทุกข์เพราะสิ่งเหล่านี้แหละ ข้าศึกก็ทำให้ทุกข์ การต่อสู้ก็ทุกข์ เพราะข้าศึกมาทำให้ทุกข์ เดินจงกรมก็เซ่อ ๆ ซ่า ๆ ไป ไปเห็นกิ้งก่าก็เล่นกับกิ้งก่าเสีย เห็นนกก็เล่นกับนกเสีย เห็นสัตว์ตัวไหนก็เล่นกับมันไปเสีย เป็นอย่างนั้นไปเสีย ไม่ใช่เดินจงกรมอย่างจริงจังเหมือนแต่ก่อน

ไปก็ไปยืนดูสัตว์ พิจารณาสัตว์ มันหากมีเรื่องของมันนะ ไม่ใช่ไปแบบเซ่อ ๆ เสียจริง ๆ มันดูจิตดวงนี้ มันหยั่งเข้าจิตโน่นน่ะ จิตนี้เป็นได้ทุกอย่าง อำนาจของธรรมชาติอันนี้ไปฝังไว้หมด ไปกำอำนาจไว้หมดไม่ว่าจิตสัตว์ จิตบุคคล สัตว์น้ำ สัตว์บก บนฟ้าอากาศ กายทิพย์ กายหยาบ กายละเอียด จิตมันละเอียดกว่านั้น กิเลสมันละเอียดกว่านั้น มันติดพันกันไปได้ แน่ะ มันห


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก