เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔
ความดีที่ต้องฝืน
จงพยายามดัดแปลงนิสัยของตน ซึ่งเคยหมักหมมอยู่ตั้งแต่คราวเป็นฆราวาส ด้วยสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ให้เป็นของดีขึ้นมาทางกายทางวาจาทางใจ การดัดแปลงสิ่งใดไม่เหมือนการดัดแปลงมนุษย์ คือตัวของเราแต่ละรายๆ ด้วยความถูกต้องดีงาม คืออรรถธรรมนี้เลย เพราะคุณค่าของมนุษย์ซึ่งดัดแปลงให้เต็มภูมิหรือพอดูได้สมภูมิมนุษย์นั้น สูงมากกว่าทุกสิ่งทุกอย่างตลอดสัตว์ทั้งหลาย สิ่งไม่มีวิญญาณเขาก็ดัดแปลงเอามาใช้เป็นประโยชน์ เช่น ปลูกบ้านปลูกเรือนทำภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ไม่มีประมาณ เกิดขึ้นจากการดัดแปลงเอาตามความต้องการที่เห็นว่าดี นอกจากนั้นยังต้องเกี่ยวกับช่างผู้มีความฉลาดในงานนั้นๆ อีกด้วย
หลักความถูกต้องดีงามทั้งหลาย ที่จะนำมาเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์เรานั้นมีมาก แต่สิ่งที่กล่าวมาทั้งมวลตลอดถึงสัตว์ดิรัจฉานประเภทต่างๆ คุณค่าไม่มีมากเหมือนมนุษย์ เมื่อดัดแปลงดีแล้วคุณค่าของมนุษย์เยี่ยมกว่าคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่ดัดแปลงแล้ว และหลักวิชาธรรมที่จะนำมาดัดแปลงมนุษย์ให้มีคุณค่าสมภูมิของมนุษย์ และให้มีคุณค่าเยี่ยมยิ่งกว่ามนุษย์สามัญธรรมดา ที่ว่าดีงามด้วยศีลด้วยธรรมนี้ขึ้นไปอีกนั้น ไม่มีในที่ใดและไม่มีผู้ใดจะสามารถรู้และนำมาแนะนำได้เลย มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นในขั้นเริ่มแรก ที่ตั้งรากตั้งฐานศาสนธรรมลงในแดนมนุษย์ ต่อจากนั้นมาก็มีพระสาวกที่ได้สดับฟังจากพระพุทธเจ้า แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติจนเกิดผลเป็นที่พอใจขึ้นมาเต็มภูมิของสาวก แล้วนำมาชี้แจงแนะนำสั่งสอนประชาชนพระเณรให้ได้เข้าอกเข้าใจเป็นลำดับ จนศาสนธรรมแผ่กระจายกว้างขวางออกไป
แต่เริ่มแรกวิชาธรรมนี้ออกจากพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว นอกนั้นไม่มีใครสามารถรู้ได้ในหลักธรรมที่ศาสดาทรงรู้เห็นมา ธรรมนั้นเหมาะสมอย่างยิ่งในการนำมาดัดแปลงมนุษย์ให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ แต่ไม่มีผู้ใดสามารถค้นพบ แม้วิธีการขุดค้นธรรมนั้นก็ไม่มีใครรู้และสนใจที่จะค้น มีเฉพาะพระสิทธัตถราชกุมารพระองค์เดียว สละตนออกบวชและทรงค้นเต็มพระสติกำลังความสามารถ จนได้ตรัสรู้กลายเป็นปราชญ์กระเทือนโลกทั้งสามขึ้นมาแต่พระองค์เดียว ดังนั้นคำว่าพระพุทธเจ้าอุบัติและพระธรรมอุบัติขึ้นในโลก เพื่อรื้อขนสัตว์โลกแต่ละครั้งแต่ละพระองค์ จึงเป็นเรื่องอัศจรรย์หาไม่ได้ง่ายๆ เลย สิ่งทั้งหลายในสากลโลกหาไม่ยาก แต่ความอุบัติของพระพุทธเจ้าและความอุบัติของพระธรรมนี้หาได้ยากมาก เพราะเป็นมหาสมบัตินอกโลกสมมุติ
พระพุทธเจ้าของเราที่ปรินิพพานไปก็ ๒,๕๐๐ กว่าปีนี้ นี่คือจอมศาสดาผู้มีหลักวิชาธรรมชั้นเอกมาสั่งสอนบรรดาสัตว์ สัตว์โลกผู้ควรรับธรรมของพระพุทธเจ้าก็มีน้อยมากถ้าเทียบกับสัตว์มนุษย์ทั่วโลก พวกเราที่ได้มาบวชในพระพุทธศาสนานี้ นับว่าเป็นผู้หนึ่งในจำนวนสัตว์โลกผู้ควรแก่ธรรมของพระองค์ จึงควรภาคภูมิใจในวาสนาและเพศของตน ว่าเป็นผู้พร้อมแล้วที่จะติดตาข่ายคือธรรม นับแต่สมถธรรมวิปัสสนาธรรมจนถึงวิมุตติธรรม ด้วยการปฏิบัติของตนแต่ละรายที่ไม่ท้อถอยปล่อยวาง เพราะธรรมดังกล่าวเหล่านี้ อยู่ในเงื้อมมือของพระผู้มีศรัทธา ผู้มีวิริยะ ผู้มีสติ ผู้มีสมาธิ ผู้มีปัญญาประจำตน และพร้อมในการรบอยู่ตลอดกาลสถานที่อิริยาบถ ไม่ลดละธรรมดังกล่าวที่เป็นเครื่องมือรบ มรรคนิพพานจะพ้นเงื้อมมือแห่งการปฏิบัติของพระผู้ถืออาวุธ คือพลธรรมดังกล่าวนี้ไปไม่ได้
ตามปกติธรรมดาการบวชไม่ใช่เป็นของง่าย โลกจึงไม่ค่อยบวชและไม่บวชกัน เพราะการบวชนั้นยาก ก่อนที่จะได้บวชก็ยาก ไม่ได้เหมือนบวชกล้วย ก่อนจะบวชก็ต้องเป็นที่ลงใจของผู้บวชและทำการฝึกซ้อมก่อน บวชด้วยความสมัครใจ ไม่มีสิ่งใดเกาะเกี่ยว แม้มีก็พยายามปลดเปลื้องจนหมดปัญหาไปก่อนบวช จากนั้นมาก็เกี่ยวกับเรื่องอุปัชฌาย์อาจารย์ในสถานที่ที่ตนจะไปบวช เกี่ยวกับพระสงฆ์ที่มานั่งหัตถบาส ประชุมปรึกษาจนเป็นที่ลงรอยกันแล้วถึงจะบวชได้ และเป็นพระเต็มภูมิที่สังคมสงฆ์ยอมรับ
เวลาบวชแล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ฝ่าฝืนล่วงเกินสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นองค์แทนศาสดา มีความเคารพทุกๆ สิกขาบทอันเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า ปฏิบัติให้ถูกต้องดีงามต่อหลักธรรมหลักวินัยข้อนั้นๆ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องดีงามและบูชาต่อองค์ศาสดา ชื่อว่าผู้เคารพพระศาสดา แม้ปรินิพพานไปแล้วก็สักแต่ว่าพระสรีระร่างกายสลายไป อันเป็นเหมือนกับโลกทั่วๆ ไปเท่านั้น ส่วนความเป็นศาสดาแท้นั้นได้แก่วิสุทธิจิต วิสุทธิคุณ วิสุทธิธรรม นี่คือองค์พระศาสดาแท้ ไม่ได้ล่วงลับดับไปด้วยสิ่งใดๆ และไม่มีสิ่งใดและผู้ใดมาทำลายได้เลย
พระโอวาทที่ทรงสั่งสอนไว้จึงเป็นองค์แทนศาสดาอย่างเต็มภูมิอรรถภูมิธรรม ผู้เคารพพึงปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ชื่อว่าเป็นผู้เคารพพระพุทธเจ้า ผลอันเกิดขึ้นจากการเคารพด้วยการปฏิบัติตามนั้น ย่อมปรากฏขึ้นกับผู้ปฏิบัติกับผู้เคารพ พระพุทธเจ้าไม่ทรงแบ่งสันปันส่วนเอาอรรถเอาธรรม เอาคุณงามความดีเอาความสุขความเจริญใดๆ แม้แต่น้อยจากผู้ปฏิบัติด้วยความเคารพพระองค์นั้นเลย ดังนั้น การเคารพในศาสดาและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมหลักวินัย จึงเป็นผลที่ตนจะพึงรับแต่ผู้เดียว
การบวช บวชเข้ามาแล้วจะทำเป็นแบบฆราวาสหรือตามนิสัยที่เคยทำมาแล้วนั้นไม่ได้ ขัดต่อหลักธรรมหลักวินัย ขัดต่อความถูกต้องดีงามอันเป็นทางดำเนินเพื่อความราบรื่นชื่นใจ เพื่อความสุขความเจริญแก่ตน จึงชื่อว่าเป็นการลำบากประการหนึ่ง ต้องฝืนอยู่เสมอ ฝืนอะไร ฝืนสิ่งที่เคยเป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าอำนาจวาสนาครอบงำหัวใจเราอยู่ได้แก่กิเลสนั่นแล ในศัพท์ของธรรมะท่านว่า กิเลส คือ เครื่องเศร้าหมอง มืดตื้อหรือยาพิษของใจ ยังผลให้เกิดทุกข์แก่ผู้เป็นไปตามอำนาจของมัน เราต้องการความสุข จึงต้องฝ่าฝืนหรือต่อสู้กับสิ่งที่มีอำนาจนั้น อย่างน้อยก็พอให้อยู่เป็นสุขได้ พอมีที่ปลงวางใจได้บ้าง ดีกว่าแบกไฟทั้งกองอยู่บนหัวใจ
นักบวชเกี่ยวกับเรื่องพระวินัย ต้องปฏิบัติตามแบบฉบับของพระวินัยอย่างคงเส้นคงวา ไม่มีที่แจ้งที่ลับ มีความเคารพในสิกขาบทนั้นๆ อยู่เสมอ อย่าได้ล่วงเกินฝ่าฝืนเป็นอันขาดถ้าไม่อยากเป็นพระหน้าด้านสันดานเลว นี่ก็ยาก ต้องฝืนปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเพราะเราอยากเป็นคนดี ถ้าศาสนาสอนคนและผู้ปฏิบัติตามให้ดีไม่ได้แล้ว ก็ไม่มีอะไรในโลกนี้จะทำมนุษย์ให้ดี จะทำตัวของเราให้ดีได้ เพราะศาสนาเป็นเครื่องหล่อหลอมคนให้เป็นคนดีไปตามขั้นภูมิของการปฏิบัติจนหาที่ต้องติไม่ได้ จึงเรียกว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว นั่น คำว่าธรรมเป็นคำรวมๆ ทั้งพระวินัย ทั้งพระธรรม รวมกันเรียกว่าศาสนธรรม ทั้งพระสุตตันตปิฎก ทั้งพระอภิธรรมปิฎก และพระวินัยปิฎก รวมกันเรียกว่าศาสนธรรม
นี่เรามาฝืนสิ่งไม่ดีที่เคยหมักหมมจมอยู่ภายในใจ ต้องฝืน ไม่ฝืนไม่ได้ ถ้าไม่ฝืนจะหาความดีไม่ได้ ต้องอดต้องทน ข้าวเราเคยรับประทานวันหนึ่งกี่มื้อหาประมาณไม่ได้ ปกตินิสัยฆราวาสเป็นอย่างนั้น เพราะไม่ดัดไม่ฝืนกันบ้าง ทานจิ๊บๆ จั๊บๆ นอกจากรับประทานเป็นมื้อๆ แล้วยังมีจิ๊บๆ จั๊บๆ อยู่อย่างนั้น ปากหาเวลาว่างไม่ได้ คว้านั้นคว้านี้มารับประทานจนเป็นนิสัย ท้องก็เล็กๆ นิดเดียว แต่ความอยากความโลภภายในใจ ความทะเยอทะยานภายในใจมีมาก จึงทำให้หาความสงบสุขไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นนิสัยของเราที่เคยเป็นฆราวาสมา ไม่ว่าใครๆ มักเป็นเหมือนกัน เพราะไม่มีข้อบังคับ ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีเหตุมีผล เนื่องจากไม่สนใจสอนตนหักห้ามตนมาแต่อ้อนแต่ออก ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ทั่วดินแดน ปล่อยให้เป็นไปตามความอยากความต้องการ มากกว่านั้นก็เป็นไปตามความทะเยอทะยาน ไม่เพียงแต่เป็นไปด้วยความจำเป็นคือธาตุขันธ์ต้องการเท่านั้น ยังแถมไปด้วยความทะเยอทะยาน กลายเป็นเรื่องของกิเลสไม่มีความอิ่มพอโดยไม่รู้สึกตัวทั้งเขาทั้งเรา
นี่การมาบวช เราฉันมื้อเดียว เคยฉันสองมื้อสามมื้อ จิ๊บๆ จั๊บๆ อาหารโว่งอาหารว่าง ไม่มีเวลาว่างในปากเลย ปากต้องทำงานไม่ได้หยุด หากเป็นงานอื่นๆ ต้องบ่นใหญ่เชียว แต่งานปากไม่บ่นแม้เหนื่อยขากรรไกรก็ทนเอา ปากท้องไม่ว่าง ต้องทำงานเป็นประจำอยู่อย่างนั้น เรื่องของฆราวาสเราก็เคยเป็นและเคยจิ๊บๆ จั๊บๆ เสียยิ่งกว่าเคย เวลาบวชแล้วก็งดงานปากจิ๊บๆ จั๊บๆ นั้นเสีย ฉันเพียงมื้อเดียว นี่ก็ย่อมขัดข้องและฝืนเป็นธรรมดา ฝืนก็ฝืนเพราะเราเคยทานเคยกินมากี่วันกี่มื้อกี่ปีกี่เดือน กี่ครั้งกี่คราวนับไม่ถ้วนมาแล้ว ผลประโยชน์ถ้าจะได้เพราะการกินเหล่านั้น คนเราก็คงวิเศษวิโสไปทั่วหน้ากัน ตลอดถึงสัตว์ดิรัจฉานซึ่งหาเวล่ำเวลาในการกินไม่ได้ นี่ก็เท่านั้นเอง กินเข้าไปมากน้อยก็ถ่ายเทออกไปหมด ไม่เห็นมีอะไรเหลือค้างว่าเป็นความดีอยู่เลย
แต่การอดนี่คือความดี การอดให้กินเป็นกฎเป็นเกณฑ์เป็นเวล่ำเวลานี้ดี ได้ทำมาแล้วและได้ทำเป็นประจำเพศอยู่แล้ว หิวก็ทราบว่าหิว ไม่ถึงกับจะทำให้ล้มให้ตาย ถึงเวลาก็ได้ฉัน แน่ะ เมื่อฝืนไปนาน อดทนไปหลายวันก็เคยชินกันไป ความหิวโหยเหล่านี้เมื่อไม่ได้ตามความต้องการมันก็ค่อยระงับดับตัวลงไป ความหิวโหยก็ไม่มี ความอยากความต้องการภายในจิตใจก็ไม่มีไม่รบกวน พอฉันเสร็จแล้วก็หายห่วงในทันทีทันใด ไม่ได้คิดถึงเพลไม่ได้คิดถึงค่ำ อาหารค่ำอาหารเพลอาหารว่างที่ไหน หายเงียบไปเลยไม่มีกังวล นี่เพราะความฝึกหัดดัดแปลงตนได้ย่อมหายกังวล เห็นได้อย่างชัดๆ นี่ก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่งเหมือนกัน ที่รับประทานตามต้องการ ตามความอยาก ความทะเยอทะยาน แต่มาฝึกหัดดัดแปลงเสียใหม่ ให้รับประทานเท่าที่จำเป็นต่อธาตุขันธ์ และถูกต้องเหมาะสมกับหลักธรรมหลักวินัยเท่านั้น กายก็เบา ใจก็ไม่กังวล
หลักวินัยก็ตั้งแต่เที่ยงไปแล้วห้ามฉันอามิสอาหาร ถ้าหลักธรรมก็ มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ หรือ โภชเน มตฺตญฺญุตา รู้จักประมาณในการฉัน แม้แต่ฉันอยู่ในกาลเวลา ในกาลที่ควร ก็ยังต้องรู้จักเวล่ำเวลา รู้จักความพอดีกับธาตุขันธ์ เหมาะสมกับการประกอบหรือประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าตอนเช้าเป็นเวลาฉันได้แล้วก็จะฉันลงไป จนกระทั่งพุงมันทะลุทะลักออกมาอย่างนั้น เหล่านี้เป็นเรื่องกังวลวุ่นวายผิดความพอดี แต่ในขณะเดียวกันก็ทราบแล้วว่า เราตั้งใจมาฝึกฝนอบรมตน การทำอย่างนี้จึงเรียกว่า การฝึกฝนการอบรม
คุณค่าที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนอบรมนี้ย่อมเป็นคนดี เป็นพระดีได้ไม่สงสัย แม้จะสึกออกไปเป็นฆราวาส เพราะทนกิเลสตัณหาฉุดลากไม่ไหว สิ่งที่อยู่ในวิสัยของเราควรจะทำตนให้เป็นคนดีเหมือนพลเมืองดีทั้งหลาย เราก็ทำได้ ด้วยความเคยประพฤติปฏิบัติ เคยฝึกฝนอบรมมาแล้ว นี่ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทหรือเป็นลูกศิษย์ที่มีครู ไม่เตลิดเปิดเปิงแหวกแนวไปเสียเพราะอำนาจของกิเลสฉุดลากไป
การอบรมพึงทราบว่า ใจมีความคึกคะนองประจำตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอิริยาบถใดที่จิตจะพักสงบตัวได้ นอกจากเวลาหลับสนิทเท่านั้น ธาตุขันธ์ก็ระงับตัวลงไป จิตใจก็ได้พักสงบตัว กิเลสก็ไม่ออกเพ่นพ่านในเวลานั้น นั่นละเป็นเวลาที่มนุษย์เรามีความสุข ไม่ว่าจะเป็นชาติชั้นวรรณะฐานะมีจน ความรู้ความฉลาดมากน้อยเพียงไร มีความสุขเสมอกันในขณะที่หลับสนิท เพราะสิ่งรบกวนคือกิเลสไม่แสดงตัว ความโลภก็ไม่แสดงเวลานั้น เหมือนไม่มีความโลภ ความโกรธก็ไม่แสดงตัว ความหลงก็ไม่แสดงตัว เหมือนความโลภ โกรธ หลง ราคะตัณหาไม่มีเมื่อหลับสนิทแล้ว นอกจากไม่สนิทนั้นอาจละเมอเพ้อฝันไปตามอุปาทาน สัญญาความสำคัญมั่นหมายในเรื่องต่างๆ ส่วนมากในเรื่องชั่วที่เคยฝังจมอยู่ภายในใจ หลับไปแล้วก็ละเมอเพ้อฝันไปตามสัญญาอารมณ์อดีตของตน ถ้าหลับสนิทแล้วเป็นเหมือนกับความโลภก็ไม่มี เหมือนไม่เคยโลภมาแต่กัปไหนกัลป์ใดเลย ความโกรธก็ไม่มี ความหลงอะไรๆ ก็ไม่มี ไม่แสดงตัว เพราะขณะหลับกิเลสจิตพักตัว
เมื่อกิเลสทั้งสามสี่ประเภทนี้พักตัวเราก็มีความสุขในขณะที่หลับ จะหลับไปตั้งกัปตั้งกัลป์ก็พอใจหลับทั้งนั้น ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคล เพราะเป็นความสงบสุขไม่มีอะไรๆ กวนใจ กวนธาตุกวนขันธ์ในเวลาหลับสนิท จะเรียกว่าพวกเราได้ชมนิพพานทั้งเป็นทั้งๆ ที่มีกิเลสอยู่ ก็พอจะพูดได้ เทียบได้ ว่าผู้นี้ได้ชมนิพพานทั้งๆ ที่มีกิเลสอยู่ ได้ชมในขณะที่หลับสนิท เพราะเวลานั้นไม่มีสิ่งใดกวนใจเลย ความรักความชังก็ไม่มี ความโกรธความเกลียดก็ไม่มี สมบัติบริวารข้าวของเงินทองสมมุติต่างๆ กว้างแคบ ลึกตื้นหยาบละเอียดไม่มีรบกวน ใจสงบอย่างสนิท นี่เราจะเรียกว่า นิพพานของคนมีกิเลสและได้เสวยนิพพานทั้งๆ ที่มีกิเลส ก็พอจะพูดได้ในขณะที่หลับสนิท
การหลับสนิทนี้เป็นเพียงกิเลสสงบตัวเท่านั้น แต่จะพูดว่าเป็นนิพพานจริงๆ นั้นไม่ได้ เพราะนิพพานจริงๆ นั้นไม่มีกิเลส แม้นิดหนึ่งก็ไม่มี แม้เป็นตะกอนก็ไม่มี แต่การหลับสนิทนี้ยังมีกิเลสนอนเนื่องอยู่ภายใน เป็นแต่เพียงสงบตัว กิเลสสงบ ไม่ทำงานเราก็มีความสุขขณะนี้ ลองพิจารณาซิท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส อันเป็นสิ่งก่อทุกข์ทั้งหลายให้เราได้รับความทุกข์ทรมาน เพียงกิเลสสงบลงไปในขณะที่หลับเท่านั้นเราก็มีความสุข จะหลับไปตั้งกัปตั้งกัลป์ก็พอใจหลับ ไม่มีใครห่วงใยถึงกาลสถานที่ สมบัติเงินทอง ผัวเมีย ลูกเต้าหลานเหลนอะไรๆ ไม่มีในเวลานั้น แม้แต่ธาตุขันธ์ของเจ้าของเอง ร่างกายเจ้าของเองก็หมดความหวงความห่วงความรับทราบทั้งสิ้น ไม่มีอะไรติดใจเลยเวลาที่หลับสนิทนั้น เพียงกิเลสสงบตัวลงไปคนเรายังมีความสุข นี่ต่างคนต่างเป็นจึงไม่มีใครสงสัยและถามกัน
ความสุขทั้งโลกอันนี้ที่เราเคยผ่านมา ไม่มีความสุขใดเสมอกับเวลาหลับสนิท ถ้าเทียบแล้วไม่มีอะไรเสมอความสุขในการหลับสนิทแต่ละรายๆ ที่ผ่านมา ยิ่งฟาดฟันกิเลสให้สิ้นซากไปจากใจเสียเลยแล้วจะเป็นอย่างไร เราพอทราบได้อย่างชัดเจนว่า กิเลสเป็นตัวภัย เช่น พอตื่นขึ้นมากิเลสก็ออกทำงาน ทีนี้ยุ่งตลอด ไม่ว่าความโลภแสดง ความโกรธแสดง ความเกลียดแสดง ความรักความชังจะแสดงและกวนใจ มันกวนทั้งนั้น ไม่ว่าเกลียดว่าโกรธว่ารักว่าชัง เป็นเรื่องทำจิตใจให้กระเพื่อมขุ่นมัวไปตามๆ กัน ใจหาความสงบเย็นไม่ได้ เหมือนกับฟุตบอลที่ถูกเตะกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่นั้นแล
การที่เรามาบวชเพื่อฝึกฝนอบรมจิตใจก็หมายความว่า จะชำระสะสางสิ่งที่ก่อกวนจิตใจนี้ให้ค่อยหมดไปทีละเล็กละน้อย พอมีความสงบเย็นใจ อย่างน้อยให้มีสมาธิคือความสงบใจ จงบังคับจิตใจของตนด้วยสติ ยากบ้างลำบากบ้างเป็นธรรมดาของการประกอบการงาน คือ ความเพียรทางด้านธรรมะเพื่อความสงบเย็นของใจ
ผู้กำหนดอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก ก็ให้พึงทำความรู้ไว้กับลมของตน ลมเข้าก็รู้อยู่ที่ลมสัมผัสมาก เช่น ปลายจมูก ดั้งจมูก สัมผัสเข้าก็รู้ ออกก็รู้ รู้อยู่เท่านั้น ไม่ต้องคาดผลว่าจะเกิดขึ้นมากน้อย ความรู้ความฉลาดจะเกิดขึ้นในลักษณะใดแง่ใด จะพบจะเห็นจะเจอสิ่งใดในขณะภาวนา ไม่ต้องไปคิดไปคาดอันเป็นการด้นเดา เขย่าความเพียรของเราซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันให้ล้มละลายไป สติก็กลายเป็นของเหลวไหลไปเสีย ให้รู้อยู่กับลมด้วยสตินั้นเป็นการถูกต้อง
ผู้กำหนดบริกรรมธรรมบทใด ก็ให้รู้อยู่กับธรรมบทนั้น สืบเนื่องกันเป็นลำดับ เมื่อความรู้ได้สืบเนื่องกันเป็นลำดับอยู่แล้ว จิตย่อมไม่มีโอกาสเล็ดลอดไปสู่อารมณ์ต่างๆ อันเป็นพิษเป็นภัยซึ่งเคยเผาลนจิตใจมานานให้เป็นพิษภัยขึ้นในขณะนั้น จิตย่อมสงบตัวได้
ต้องฝืนบ้าง ไม่ฝืนไม่ได้ กิเลสมันสำคัญอยู่มากทีเดียว งานอะไรจะยากยิ่งกว่างานแก้กิเลส หนักมากยิ่งกว่างานแก้กิเลสไม่มีในโลกนี้ งานนี้เป็นงานที่หนักมากที่สุด เพราะกิเลสฉลาดมากที่สุด ทำทุกข์ให้สัตว์โลกมากที่สุดไม่มีอะไรเกินกิเลส เพราะฉะนั้นผู้ต้องการปราบสิ่งที่เป็นข้าศึกภายในใจนี้ออก จำต้องฝืน จำต้องทนทุกข์หนักบ้างเบาบ้าง ให้ถือเป็นธรรมดา ไม่ถือมาเป็นอุปสรรคเครื่องกีดขวางความพากเพียรไม่ให้ดำเนินเต็มเม็ดเต็มหน่วย เอาให้จริงให้จังต่อหน้าที่ของตน ฝึกฝนอบรมจิตให้ได้รับความสงบเย็น ทำไมศาสนธรรมซึ่งเป็นอุบายวิธีการแก้การปราบกิเลสท่านสอนไว้แล้ว เราก็เห็นในตำรับตำรา นอกจากนั้นยังมีครูมีอาจารย์มาชี้แจงแนะแนวทางให้โดยถูกต้องแม่นยำอีกด้วย เราเพียงจะล้างมือเปิบเท่านั้นทำไมจะเป็นไปไม่ได้ จะประกอบความพากเพียรตามที่ท่านแนะแนวให้ไม่ได้ ก็จะตกหลุมพรางกิเลสลึกเข้าไปอีกละซิ เท่าที่ตกอยู่เวลานี้ก็ทุกข์หนักพอแล้วนี่
ทุกข์ยากลำบากอย่าไปคำนึงคำนวณถึงมัน นั่นเป็นอุบายของกิเลสกระซิบกระซาบให้ท้อถอยปล่อยวางความเพียร อันเป็นการบังคับและปราบมัน เพราะความเพียรเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลสนี่ เมื่อประกอบความพากเพียรได้รับความทุกข์ความลำบากบ้าง กิเลสกระซิบแล้ว ทุกข์ยากลำบากหนา ความเพียรน่ะ แม้แต่ยังไม่ประกอบมันก็ขี้เกียจไปก่อนแล้ว ในขณะที่ประกอบความพากเพียร มันก็คอยจะหาเหตุหาเรื่องให้ความเพียรล้มละลาย หาว่ามีความทุกข์ความลำบากบ้าง ในการฝึกฝนทรมานใจ การเจ็บปวดสกลกายเพราะการนั่งนาน ยืนนาน เดินนานบ้าง มันหาเรื่องหาราวอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำลายความเพียรของเรา จงพากันทำความเข้าใจไว้ อย่าให้มีช่องโหว่ กิเลสจะต่อยเข้าช่องนั้นนะ จะว่าไม่บอก
เรื่องของกิเลสย่อมเป็นภัยต่อธรรมเสมอ ในขณะเดียวกันธรรมก็เป็นภัยต่อกิเลส จึงต้องต่อสู้กันในขันธ์ในจิตเรานี้แล เราจำต้องยอมรับทุกข์เพราะการประกอบความเพียร แต่เรายอมรับความทุกข์เพราะอำนาจของกิเลสตัณหาประเภทต่างๆ สร้างขึ้นมา เรายังรับมานมนาน ไม่เห็นว่าพอแล้วๆ กิเลสผลิตไฟขึ้นมาเผาเรานี้เป็นเวลานานแล้ว พอกันเสียทีกับกิเลสนี่ กับทุกข์ของกิเลสนี่ เราไม่เคยเห็นลงใจเพราะการพิจารณาแยบคายของเราเลย มีแต่ยอมรับๆ ไม่คำนึงถึงเวล่ำเวลาว่าจะแบกหามกองทุกข์เพราะอำนาจของกิเลสเป็นผู้สร้างขึ้นนี้ไปอีกนานเท่าไร ที่แบกมาแล้วนานเท่าไร ไม่เห็นนำมาบวกลบคูณหารกันบ้างพอหาทางออกได้
การมาประกอบความพากเพียรเพื่อความสงบเย็นใจ เวลากิเลสมันกระซิบกระซาบขึ้นมาว่าทุกข์ลำบากยากเย็นเข็ญใจ อยู่ในบ้านในเรือนเราสะดวกสบายดี อุบายฝ่ายธรรมก็สำทับเอาบ้างว่า แม้อยู่ในบ้านในเรือนมีใครสะดวกสบายเพราะต่างก็เคยอยู่กันมานานแล้ว มันมีแต่ไฟนรกเผากันนั้นแหละ แต่ละครอบครัวแต่ละบุคคล นอกจากไม่พูดเฉยๆ สิ่งที่มันอัดอั้นตันใจอยู่ภายในใจนั้นเหมือนกับไฟไหม้กองแกลบ มีอยู่แทบทุกหัวใจ เราจะนำมาระบายกันได้เฉพาะสิ่งที่ควรระบาย ที่มันไม่อับอายขายหน้าตัวเกินไปเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นความจริงมันฝังอยู่ภายในจิตใจ สุมอยู่ภายในจิตใจนั้นมีมากด้วยกันทุกคน หากพูดไม่ได้นี่ กิเลสจะไปคว้าของเก่าที่เป็นเดนเน่าเฟะไปแล้วมาหลอกเราทำไมว่าสบายอย่างโน้นอย่างนี้ อุบายหลอกใหม่ๆ เอี่ยมๆ กว่านี้ไม่มีหรือ พอเราจะได้ถูกต้มตุ๋นจากกิเลสอีกต่อไป เพราะอุบายใหม่เอี่ยมให้เราหลงเชื่อ นี่อุบายปัญญามีให้ได้ท้าทายมันบ้างซินักธรรมะน่ะ
จงคิดให้ถึงความจริงอย่างนั้นซิผู้ปฏิบัติธรรมะ เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่แหลมคมมาก ความจริงมีอยู่ที่ไหนจะหยั่งเข้าไปถึง อย่างที่กล่าวเหล่านี้เป็นความจริงของสัตว์โลกที่เผชิญมาด้วยกันทั้งนั้น มีอยู่ด้วยกันไม่ว่าคนมั่งคนมี ไม่ว่าคนโง่คนฉลาด ในฐานะใดๆ ชาติชั้นวรรณะใด มีด้วยกันทั้งนั้นสิ่งที่กล่าวนี้ สิ่งที่ว่าสุมๆ อยู่ภายในจิตใจ ถ้าเป็นไฟก็มีแต่ถ่านแดงโร่อยู่ภายใน จากนั้นก็แสดงเปลวออกมาเพื่อการระบายทุกข์ ซึ่งเป็นการเพิ่มทุกข์เข้าไปอีก มีอยู่ทุกหัวใจ นี่มันเคยเป็นมานานเท่าไรเราไม่ได้คำนึงคำนวณบวกลบคูณหารกันบ้างเหรอ พอจะมีทางดับไฟกองนี้ให้มีความสงบเย็นลงไปโดยลำดับด้วยความพากเพียรของเรา
เมื่อเกิดความทุกข์ความลำบาก ก็พึงระลึกถึงองค์ศาสดาผู้เป็นแบบฉบับทุกด้าน ทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินก็เป็นแบบฉบับ ทั้งความรู้ความฉลาดสามารถปราบกิเลสที่เป็นตัวข้าศึกอันใหญ่หลวง พระองค์ก็เป็นครูมาหมดแล้ว เป็นแบบเป็นฉบับเต็มภูมิของศาสดาแล้ว เราผู้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้ามาบวชในศาสนา ก็ควรจะเอาเยี่ยงอย่างของท่านมาดำเนินมาประพฤติปฏิบัติ แม้ทุกข์ก็เดินตามร่องรอยของพระพุทธเจ้าที่พาทุกข์มาแล้ว สาวกท่านพาทุกข์มาแล้ว เดินตามร่องรอยของท่านไปเพื่อเป็นอรรถเป็นธรรม เพื่อบุญเพื่อกุศลผลประโยชน์อันดีงามแก่ตน ทำไมเราจะเดินไม่ได้ เราจะทนไม่ได้ ยอมรับความทุกข์เพราะความเพียรนี้ไม่ได้ ถ้าเราเป็นบุรุษเป็นพระองค์หนึ่งๆ ตามภูมิของพระที่เป็นศากยบุตรของพระพุทธเจ้าแล้ว เราต้องอดได้ ต้องทนได้ ต้องฝืนได้ พระพุทธเจ้าฝืนได้ สาวกทั้งหลายท่านฝืนได้ ท่านมีธาตุขันธ์และจิตใจเหมือนกัน มีทุกข์เหมือนกันกับพวกเรา ท่านทำไมท่านฝืนได้ พวกเราทำไมฝืนไม่ได้ ไม่ต่ำช้าเลวทรามมากไปแล้วเหรอ พิจารณาซิ ธาตุขันธ์ก็มีเหมือนกัน ทำไมใจอ่อนเปียกเหมือนมะเขือเผา ไม่เข้าข่ายธรรมเลย
ต้องสู้ ต้องอด ต้องทน พยายามฝึกหัด ฝึกหัดจนมีความชำนิชำนาญ ฝึกหัดจนเป็นนิสัยทางด้านธรรมะ อย่าให้เป็นด้านกิเลส เวลานี้เป็นนิสัยของกิเลสเต็มตัวและนำนิสัยของกิเลสออกแสดง ไม่ว่าจะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนจะพูดจะคิด กิริยาอาการทุกอย่าง มีแต่กิเลสออกหน้าออกตาทั้งนั้น เราเองไม่รู้เพราะกิเลสเหนือเราจะรู้มันได้อย่างไร ต่อเมื่อได้เรียนอรรถเรียนธรรม ประพฤติปฏิบัติอรรถธรรมขึ้นไปเรื่อยๆ สติปัญญามีภูมิขนาดไหน ควรจะทราบควรจะละ ควรจะฟาดฟันกับกิเลสประเภทใดได้ ต้องรู้ ต้องทราบ ต้องต่อสู้กัน ต้องฟาดฟันกันไม่ถอย รู้เรื่องของกันไปได้เป็นลำดับ สติปัญญามีความสามารถมากน้อย จะทราบเรื่องของกิเลสตั้งแต่ขั้นหยาบๆ จนถึงขั้นละเอียดแหลมคมที่สุดของมัน และปราบให้เรียบราบไปจากจิตใจได้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะอำนาจแห่งความเพียรเป็นเครื่องหนุนสติปัญญา อันเป็นผู้รบผู้ฟาดฟันกิเลสทั้งหลาย
กิริยาอาการใดที่เป็นฝ่ายธรรม มักจะถูกค้าน มักจะถูกขัดขวางจากกิเลสอยู่เสมอ ให้ทราบอย่างนั้นทุกระยะ ถ้าเป็นฝ่ายที่ชอบใจนั้นมักเป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเป็นฝ่ายที่ขัดใจไม่อยากทำ นั่นเป็นเรื่องของธรรม แต่กิเลสขัดขวางไม่ให้ชอบฝ่ายธรรม เนื่องจากเวลานี้กิเลสมีกำลังมาก จึงขัดขวางธรรมได้อย่างง่ายดาย ส่วนมากมักล้มละลายไปตามมันแทบทุกครั้ง แม้แต่นั่งสมาธิภาวนาก็ไม่ได้หน้าได้หลังอะไร ถูกกิเลสทำลายจนได้ ล้มทั้งหงายไปเลย หาสติสตังไม่ได้ เหลือแต่ลมหายใจ นี่ไม่เรียกว่ากิเลสมันเก่งได้ยังไง มันขัดมันขวางอยู่ตลอดเวลา เพราะมันมีกำลังมากในขณะที่เรายังไม่มีกำลังของธรรมมากเท่ามัน จึงรู้ไม่ทันมัน และถูกมันทำลายทุกครั้งให้ล้มเหลวไปหมด จึงต้องพยายามฝึกฝนอบรมตัว ให้หนักแน่นแม่นยำเข้าไปโดยลำดับ วันนี้เคลื่อนคลาดยังไง วันนี้แพ้อะไรกับกิเลสบ้าง และวันนี้จะเอาชนะกับกิเลสอย่างไรบ้าง
เราต้องมีกฎมีเกณฑ์มีความเข้มแข็ง มีความห้าวหาญ มีความพินิจพิจารณาทดสอบระหว่างกิเลสกับธรรมซึ่งมีอยู่ในใจว่า วันนี้เป็นอย่างไร วันที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ระหว่างธรรมกับกิเลสซึ่งอยู่ในใจดวงเดียวนี้ ใครได้เปรียบใครเสียเปรียบ ถ้าหากพิจารณาทดสอบกันอยู่อย่างนี้แล้ว อย่างไรก็ต้องทันกันด้วยอุบายสติปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน กิเลสก็ค่อยหลุดลอยไปเป็นลำดับ เพราะเราบกพร่องตรงไหน เราฟิตเราซ้อมขึ้นเรื่อยๆ ฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ จนมีความเกรียงไกรชำนิชำนาญแล้วก็ต่อสู้กันได้ ผลสุดท้ายกิเลสตัวไหนโผล่หน้าออกมาไม่ได้เป็นแหลกเชียว
นั่นถึงขั้นธรรมมีกำลัง กิเลสขัดขวางไม่ได้ ยิ่งอยากจะพบตัวกิเลสเมื่อถึงขั้นปัญญาที่อยากพบแล้ว อยากพบกิเลสคือตัวข้าศึก ค้นหาเพื่อจะพบ เพื่อจะฟาดฟันกันให้แหลกแตกกระจายในขณะนั้น สติปัญญาขั้นนี้กิเลสจะมาขัดมาขวางไม่ได้ มีแต่ความดูดดื่มในธรรมทั้งหลาย ความดูดดื่มในธรรมกับความเพียรย่อมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อิริยาบถทั้งสี่เว้นแต่หลับเป็นเรื่องความดูดดื่มในธรรม เป็นเรื่องการขุดค้นหากิเลส เพื่อจะทำลายให้แหลกแตกกระจายจากใจไปโดยถ่ายเดียว นี่ขณะที่ธรรมมีกำลังมากย่อมเห็นได้ชัดภายในใจเราเอง
ขณะที่กิเลสมีกำลังมาก โอ๋ย มันอ่อนเปียกไปหมดนะ ขึ้นชื่อว่าด้านธรรมะมีวิริยธรรม สติธรรม เป็นต้น อ่อนเปียกไปหมด เผยอตัวไม่ขึ้น โงหัวไม่ขึ้น มีแต่กิเลสเหยียบเอาๆ แต่เราก็ฟิตไม่ถอย พยายามอบรมและปลุกใจเราให้ดี ให้มีกำลังเข้มแข็งขึ้นไม่ลดละ กิเลสก็ค่อยอ่อนกำลังไปเอง จนกระทั่งกิเลสไม่กล้าโผล่หน้าขึ้นมาให้เห็น สุดท้ายก็ไม่พ้นปัญญาขั้นฉลาดแหลมคมสังหารจนได้ไม่มีเหลือ เกลี้ยงไปภายในใจ เอาทีนี้ความสุขเราจะหาที่ไหน ไม่หาละที่นี่ อยู่ไหนก็ไม่หา ความสุขพออยู่กับใจดวงกิเลสหมดไปแล้วนั้น
ความบกพร่องหิวโหยก็คือตัวกิเลสนั่นเอง พอกิเลสหลุดลอยไปหมดเท่านั้น ความสมบูรณ์ของจิต ความสมบูรณ์ของธรรมไม่ต้องไปหาที่ไหน ความสมบูรณ์ของความสุขก็มีขึ้นมาที่นั่นเอง เมื่อธรรมเหล่านี้สมบูรณ์เต็มที่ภายในใจแล้ว จะเสาะแสวงหาอะไรอีก คำว่าเรื่องๆ ก็กิเลสเท่านั้นก่อขึ้น เมื่อกิเลสสิ้นซากไปแล้ว เรื่องก็หมดเท่านั้นเอง
นั่นแหละที่ว่าท่านไม่หมายป่าช้า ท่านไม่หา หาอะไร พอแล้วไม่หา ไม่มีอะไรกวนใจอีก นั่นแลที่ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นั่นแลหลักเกณฑ์ของ ปรมํ สุขํ แท้ หลักของนิพพานแท้ คือ วิสุทธิจิตนั่นแล เอาอะไรมาเป็นตัวตั้งตัวตี เอาอะไรมาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ถ้าไม่เอาใจดวงบริสุทธิ์นี้ เอาน้ำเป็นน้ำ เอาลมเป็นลม เอาไฟเป็นไฟ เอาดินเป็นดิน เอาอากาศธาตุเป็นอากาศธาตุ ไม่ใช่นิพพาน เอาจิตดวงกิเลสเคยย่ำยีตีแหลกอยู่เวลานี้ ฟาดฟันกิเลสให้แหลกแตกกระจายลงไปแล้วนี่แลเป็นนิพพาน ไม่ถามหานิพพาน ถามหาทำไม ปรมํ สุขํ เยี่ยมหรือไม่เยี่ยม อยู่ที่นั่นเอง สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเอง
คำว่า นิพพานเที่ยงนั้น ก็จิตตายเมื่อไร แม้แต่กิเลสครอบหัวอยู่จิตยังไม่ตาย เที่ยวก่อกำเนิดเกิดที่นั่นเข้าร่างนี่ ออกร่างนั่น สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะอำนาจของวิบาก จิตยังไม่ยอมตายนี่ คำว่า วิบากมาจาก อวิชฺชาปจฺจยา กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วย่อมเกิดผลของกรรม นี่ท่านเรียกว่า กิเลสวัฏฏ์ สาม มันก็อยู่ที่หัวใจนี่แล เมื่อกิเลสวัฏฏ์แตกกระจายไปหมดแล้วก็ไม่มีอะไรมากวน วัฏฏะ คือ หมุนก็ไม่มี
นี่ผลแห่งการปฏิบัติ ต้องผ่านความยากความลำบาก ความบึกบึน ความอุตส่าห์พยายามมาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะไปคว้าเอานิพพานมาเต็มไม้เต็มมือทีเดียว ถ้าอย่างนั้นธรรมของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นของแปลกจากโลกเขา กิเลสก็ไม่เป็นของแก้ยาก เพียงคว้ามือเดียวก็พังเลย คำว่ากิเลสแหลมคม กิเลสแก้ยากก็เป็นโมฆะโกหกกันเล่นเปล่าๆ ความจริงแล้วเป็นยังไง กิเลสแก้ยากดังธรรมบอกไว้ไหม แก้ด้วยหนังสะติ๊ก ยิงปับเดียวร้องเอ๋ง เหมือนสุนัขแล้วเผ่นแน่บเลยหรือกิเลสน่ะ มีรายใดปราบกิเลสด้วยหนังสะติ๊กน่ะ ที่พระพุทธเจ้าสลบถึงสามหนก็เพราะการต่อสู้กับกิเลสตัวเหนียวแน่นแก่นฉลาดมิใช่หรือ อะไรในโลกจะปราบกิเลสได้นอกจากธรรมอย่างเดียว ท่านว่ามรรคปฏิปทา เท่านั้นที่กิเลสยอมหมอบราบ ไม่ใช่หนังสะติ๊ก ดังนั้นการประกอบความเพียรจงเอาจริงเอาจัง อย่าทำแบบหนังสะติ๊กยิงสุนัข เดี๋ยวจะถูกกิเลสยิงเอาร้องเอ๋ง จะว่าไม่บอกไม่เตือน เหล่านี้คือคำบอกคำเตือนทั้งสิ้น
อย่าอ่อนข้องอมืออยู่เฉยๆ เราไม่ได้บวชเข้ามาอ่อนข้องอมือหมอบราบต่อกิเลส เราเข้ามาต่อสู้กับกิเลส ความโลภก็เป็นกิเลส ความโกรธเป็นกิเลส ความหลงเป็นกิเลส ความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอเป็นกิเลส ความไม่เอาไหนเป็นกิเลส สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสทั้งมวลเต็มอยู่ที่หัวใจ เต็มอยู่กับอาการที่แสดงออกทุกอาการ กิเลสเป็นผู้จับจองเป็นเจ้าของของอาการนั้นๆ ทุกอาการ
เรียนให้รู้อาการของกิเลสที่นำกิริยาของกายวาจาใจเราออกมาใช้ ออกมาแสดง ไม่ว่าจะแสดงภายในจิต ไม่ว่าจะแสดงทางวาจา ไม่ว่าจะแสดงทางกายทางความประพฤติ มันมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้น เมื่อเรียนรู้กิเลสแล้วมันต้องรู้กลของกิเลส ถ้าเรียนยังไม่ถึงก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราเองก็เข้ากับกิเลสไปหมด กิเลสก็เป็นเรา เป็นอันเดียวกันแยกกันไม่ออก เพราะถูกมันกลืน เมื่อแยกได้แล้วก็รู้ว่ากิเลสกับเรานั้นต่างกัน กิเลสกับธรรมจึงต่างกัน เอาให้รู้ให้เห็นชัดเจนซิ สิ่งเหล่านี้อยู่กับใจเราแท้ๆ บวชมาในศาสนาแล้วยังแบกความแพ้ถอยหลังกลับไปบ้านให้เขาโห่กันดูได้เหรอ
อะไรๆ ก็ได้เทศน์สอนมาเต็มสติกำลังความสามารถ ไม่มีอะไรเหลือแล้วในพุงนี่ เทศน์สอนหมู่สอนคณะก็สอนด้วยความเมตตาสงสาร ถึงจิตถึงใจทุกแง่ทุกมุม จนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ผู้ปฏิบัติตามถ้ายังไม่ได้เรื่องได้ราวอยู่แล้วก็หมดทาง จะทำยังไง เทศน์ดีก็เทศน์ เทศน์ดุก็เทศน์ ตามประเภทของกิเลสที่มีอยู่ภายในใจ และแสดงออกมาให้ได้เทศน์อย่างนั้นๆ
อย่าคิดไปทางอื่น ความอยากให้ตัวดีให้ดูใจของตัว กิริยามารยาทอาการเคลื่อนไหวของตัว ฝึกกันที่นี่ แก้กันที่นี่ จะดีที่ตรงนี้ ไม่ได้ดีอยู่ดินฟ้าอากาศ ต้นไม้ ภูเขาที่ไหน จะดีอยู่ที่ตัวคน เพราะความชั่วอยู่ที่ใจ ชั่วอยู่ที่กายวาจาตน ชั่วอยู่ที่ความประพฤติของตน แก้ตรงนี้ให้เห็นความดีที่นี่ พยายามแก้ทำไมจะไม่ดี ของดีมีอยู่กับเรา
จิตฝึกไม่ได้พระพุทธเจ้าไม่สอน พระพุทธเจ้าไม่ฝึกและไม่สอนให้คนฝึก และคนก็ไม่ดีด้วย นี่พระพุทธเจ้าก็เอก สาวกทั้งหลายก็เอก เอกจากการฝึกฝนอบรมจิตใจเท่านั้น กิเลสเป็นของแก้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ท่านไม่สอนให้แก้ ธรรมเป็นของเกิดได้มีได้ภายในใจเรา ใจเท่านั้นเป็นภาชนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อธรรมทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดในโลกจะเหมาะสมในความเป็นภาชนะของธรรมได้ มีใจดวงเดียวเป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นภาชนะอันเหมาะสมของกิเลสมาแล้ว เพราะฉะนั้นกิเลสจึงอยู่ภายในใจได้ ธรรมเกิดขึ้นภายในใจได้เมื่อทำให้เกิด จะแก้กิเลสให้หมดก็หมดไปได้ เอาตรงนี้ อย่าไปคิดนอกจากจุดนี้ให้เสียเวล่ำเวลา
การอยู่ด้วยกันหมู่มากก็ให้พึงเล็งดูใจท่านใจเรา ใจมีคุณค่าเท่ากัน มีความรู้สึกเหมือนกัน ให้ระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน ความกระทบกระเทือนนั้นเป็นเรื่องของกิเลสไม่ใช่เรื่องของธรรม เรามาปฏิบัติธรรมไม่ใช่มาสั่งสมส่งเสริมกิเลส อย่าให้มีเพราะอันนี้เป็นของหยาบโลนมากทีเดียว ไม่สมควรจะให้มีอยู่ในตัวของสมณะ ตัวของพระของเณรในวัดเรา ให้เห็นว่าเป็นของที่หยาบโลนที่สุด ไม่ควรเผลอตัวปล่อยให้กิเลสตัวหยาบโลนออกแสดงในสังคมของพระธุดงคกรรมฐาน เป็นเรื่องขายหน้าที่สุด ไม่มีแง่ที่น่าเห็นใจและให้อภัยได้เลย
มองกันให้มองในแง่แห่งความเมตตาและให้อภัยกันเสมอ อย่าถือสีถือสาอย่าถือท่านถือเรา ว่านั่นสูงนี่ต่ำ ว่านั่นโง่นี่ฉลาด นั่นฐานะสูง นี่ฐานะต่ำ จงถือโดยความเป็นธรรม นั่นคือพระนี่คือพระด้วยกัน ผู้ได้รับการตักเตือนสั่งสอนจากหมู่เพื่อนด้วยความเมตตาสงสาร ก็พึงรับด้วยความเต็มอกเต็มใจ นำไปแก้ไขสิ่งที่ผิดของตน นั่นชื่อว่าถูกทั้งสองฝ่าย ผู้สอนก็สอนโดยธรรม ผู้รับก็รับโดยธรรม นำไปปฏิบัติก็เป็นสิริมงคลแก่ตน การอยู่ด้วยกันเป็นสำคัญมาก ให้ระมัดระวังเสมอ
ข้อวัตรปฏิบัติอย่าให้บกพร่อง ให้ถือว่าเป็นงานจำเป็นของเราแต่ละองค์ๆ เพราะเหล่านี้เป็นกิจวัตร เพื่อความสมบูรณ์พูนผลของเราด้วยกัน ไม่ใช่ทำเพื่อผู้หนึ่งผู้ใด ผลประโยชน์เกิดขึ้นเพื่อผู้หนึ่งผู้ใด ให้ทำทุกคน ผลดีเกิดขึ้นกับทุกคนนั่นแหละ เป็น สงฺฆโสภณา รวมกลุ่มรวมคณะกันเป็นพระเป็นสงฆ์ที่อยู่ด้วยความสวยงามน่าดู น่าเคารพเลื่อมใสภาคภูมิใจ มีความร่มเย็นต่อกันเหมือนอวัยวะเดียวกัน ไม่มีคำว่าทะเลาะเบาะแว้งระแคะระคายซึ่งกันและกัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสตัวทำลาย อย่าให้เข้ามาแทรกในวงของพระผู้ปฏิบัติ จงปราบทันที อย่ามองดูแต่ภายนอก คือ มองดูคนอื่นมากกว่ามองดูตัว ในขณะเดียวกันเมื่อมองดูคนอื่นให้มองดูตัวด้วย ย้อนหน้าย้อนหลังเทียบให้ได้สัดได้ส่วนเพื่ออรรถเพื่อธรรม แล้วเฉลี่ยเผื่อแผ่ความเหมาะสม คือความเป็นธรรมให้แก่กันและกัน เพื่อความผาสุกเย็นใจแก่กัน หลักของการปฏิบัติที่อยู่ร่วมกันเป็นอย่างนั้น
ผู้มีธรรมในใจย่อมไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน ไม่มีระแคะระคายซึ่งกันและกัน นอกจากมีความจงรักภักดี มีความเมตตาสงสารให้อภัยซึ่งกันและกัน อันเป็นเรื่องของธรรมโดยถ่ายเดียว สมกับผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ความเย็นอกเย็นใจจะมีได้ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยในระหว่างที่อยู่ร่วมกัน จงพากันนำไปปฏิบัติ ท่านเรียกว่า สงฺฆโสภณา เป็นพระสงฆ์ที่งามเป็นสง่าราศีแก่วงคณะ เป็นสง่าราศีแก่ประชาชนญาติโยมที่ได้เห็นได้ฟัง
พูดกันมีเหตุมีผล อย่าพูดพล่ามๆ แบบหาเหตุหาผลไม่ได้ นั่นเป็นนิสัยสันดาน จะพูดอะไรออกมาให้คิดเรียบร้อย จะทำอะไรให้คิด ความคิดได้แก่การใช้ปัญญาไตร่ตรอง นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ใคร่ครวญพินิจพิจารณาก่อนจะทำก่อนจะพูด การแสดงออกจะไม่ค่อยผิด ทั้งจะเป็นนิสัยรอบคอบติดตัว
นักธรรมะต้องดูตัวมากกว่าดูคนอื่น ดูคนอื่นก็ดูโดยเหตุผลเพื่อเป็นอรรถเป็นธรรม ดูตัวเองเพื่อแก้เพื่อไขเพื่อถอดเพื่อถอนสิ่งไม่ดี เพื่อส่งเสริมในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องแล้ว ปราบปรามแก้ไขในสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น นักธรรมะต้องย้อนความคิดอ่านเสมอ โอปนยิโก น้อมเข้ามา ได้เห็นได้ยินได้ฟังข้างนอก ก็เทียบเข้ามาภายในเพื่อให้เป็นเหตุเป็นผล เป็นอรรถเป็นธรรมเป็นประโยชน์แก่ตน ไม่ให้ขาดทุนสูญดอก
ให้ตั้งใจปฏิบัติ อย่างไรก็อย่าขี้เกียจ เรื่องภาวนา ผู้ยังไม่สงบก็เอาให้สงบให้ได้ นั่นแลสมบัติของพระเราต้องภาวนา ผลคือความสงบเย็นใจ อย่างน้อยให้ใจสงบเย็น มากกว่านั้นมีความเฉลียวฉลาด ฉลาดทางด้านธรรมะ ปัญญาทางด้านธรรมะกับปัญญาทางโลกนั้นต่างกัน จิตสงบ ผลิตปัญญาขึ้นมา เกิดความเฉลียวฉลาดภายในใจ จิตสงบย่อมทำใจให้โล่งในการพิจารณา ถ้าไม่สงบหาความโล่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิหนุนแล้ว ย่อมได้ผลเป็นที่พอใจ นี่แปลตามความจริงไปเลย เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ทำจิตให้สงบเพื่อเป็นที่พักพิงของใจและเจริญปัญญาได้สะดวกคล่องตัว
เมื่อจิตสงบ จิตก็ไม่หิวโหย พิจารณาอะไรก็คล่องตัว ผิดกับจิตที่ฟุ้งซ่านรำคาญเป็นไหนๆ ปัญญาทางด้านธรรมะจึงมีความฉลาดแหลมคมมากกว่าทางโลกเป็นไหนๆ เป็นปัญญาที่สุขุมลุ่มลึกไปตามเหตุผลอรรถธรรม เพื่อถอดถอนสิ่งรกรุงรังภายในใจตามกำลังปัญญา นอกนั้นยังพิจารณาเหตุการณ์รอบตัวได้อย่างถูกต้อง ผิดกับปัญญาธรรมดาอยู่มาก ตามหลักธรรมท่านกล่าวไว้ ปัญญาเกิดได้สามทาง คือ สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดด้วยการได้ยินได้ฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดอ่านธรรมดาทั่วๆ ไป ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากสมาธิภาวนาล้วนๆ
ภาวนามยปัญญา คือการพิจารณาอะไรเป็นปัญญาความแยบคายขึ้นมา ท่านเรียกว่า ภาวนามยปัญญา เกิดปัญญาด้วยการภาวนา จินตามยปัญญา พิจารณาคิดอ่านตามเรื่องคนนั้นคนนี้หรือครูอาจารย์นั่นเป็นปัญญาประเภทหนึ่ง ปัญญาทางด้านภาวนานี้เป็นสำคัญมากกว่าสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญานี้สามารถพิจารณาละเอียดได้ถึงขั้นปัญญาอัตโนมัติซึ่งเป็นปัญญาล้วนๆ เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดเจนภายในจิตใจ ไหลรินเหมือนน้ำซับน้ำซึม
ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาเป็นเครื่องซักฟอกแก้ไขถอดถอนแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ คำว่าโดยชอบก็คือไม่ผิด ปัญญาทางด้านธรรมะเป็นเครื่องปราบกิเลสทั้งนั้น ตรงกันข้ามกับปัญญาทางโลกซึ่งมักสั่งสมกิเลส ปัญญาทางด้านธรรมะจากผู้ปฏิบัติภาวนาล้วนๆ เป็นเครื่องฆ่ากิเลสทำลายกิเลสโดยถ่ายเดียว ไม่มีคำว่าสั่งสมกิเลส ท่านจึงเรียกว่า โลกิยปัญญา โลกุตรปัญญา ต่างกัน
เอาละเท่านี้พอ |