อย่าฝืนความจริง
วันที่ 3 ตุลาคม 2523 เวลา 19:00 น. ความยาว 78.24 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓

อย่าฝืนความจริง

 

ผู้ที่จะสามารถสืบมรดกทั้งด้านการประพฤติปฏิบัติไปโดยถูกต้องดีงาม และผลเป็นที่พึงพอใจในธรรมปฏิบัติ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในครั้งพุทธกาลว่ามรรคผลนิพพาน ก็คือผู้ที่ปฏิบัติตามหลักธรรมที่ท่านสั่งสอนไว้นี้เท่านั้น เฉพาะอย่างยิ่งคือนักบวชแล้ว ยังย่นเข้ามาถึงนักปฏิบัติอีกด้วย เพราะคำว่านักบวชมีอยู่ทั่วไปในดินแดนแห่งชาวพุทธเรา ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าเมืองนั้นเมืองนี้ เมืองนอกเมืองใน เต็มไปหมดด้วยนักบวชในพุทธศาสนา

แต่จะเอากฎเกณฑ์ตามความเป็นนักบวชนั้นว่า จะเป็นผู้ได้รับมรดกคือธรรมทายาทของพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้น ไม่สนิทใจ เหมือนผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักศาสนธรรม ทั้งทางด้านพระวินัยและด้านธรรมะโดยถูกต้องดีงาม ท่านเหล่านี้จะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมทายาท ทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผลได้โดยลำดับ จนถึงขั้นสมบูรณ์โดยไม่สงสัย เพราะธรรมประกาศหรือท้าทายความจริงไว้อยู่แล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่ามีธรรมบทใดบาทใดได้ร่อยหรอลงไปจากหลักความจริงที่พระองค์ทรงตรัสไว้ มีความสมบูรณ์พูนผลอยู่ด้วยความสัตย์ความจริง ความถูกต้องดีงามทุกแง่ทุกมุม ในการที่จะบุกเบิกให้ถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสมบูรณ์

ฉะนั้นเราเป็นนักปฏิบัติ จงคำนึงถึงความรู้สึกของตนที่มุ่งเจตนา และความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้แล้วอย่างใด และประสานกับความประพฤติปฏิบัติ อย่าให้พรากจากกัน การปฏิบัติศีลก็อย่าได้ประมาท สิ่งใดที่ขัดข้องต่อศีลก็คือการขัดข้องต่อธรรมที่จะเป็นประโยชน์แก่เรา และเป็นการขัดข้องทำลายตัวของเราไปด้วย การขัดข้องต่อธรรมหรือกีดขวางธรรม ก็เป็นการกีดขวางตนเองด้วยให้หาทางก้าวไปไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวไว้ว่า สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อหลักธรรมหลักวินัยโดยสม่ำเสมอ ตั้งแต่ต้นจนสุดยอดแห่งธรรมวินัย อุชุฯ ตรงไปตรงมา อันเป็นแนวทางที่จะให้เกิดความสะอาดในศีลในธรรมของตน ญายฯ ความรู้แจ้งแทงตลอดอย่าได้ห่างเหินจากจิตใจ คือมีความสนใจจดจ่อต่อความรู้จริงเห็นจริงในธรรม ที่ท่านได้เคยรู้เคยเห็นและได้ประทานไว้แล้ว คำว่า สามีจิฯ ก็รวมลงไปว่า การปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

คำว่าธรรมนั้นเป็นของกลาง เช่นเดียวกับสมบัติในโลก แล้วแต่ผู้มีความขยันหมั่นเพียรและความเฉลียวฉลาดที่จะแสวงหามาได้ มากน้อยตามกำลังความสามารถและฉลาดของตน ตามปกติวัตถุในโลกนี้ไม่ขาดแคลน มีสมบูรณ์ เป็นแต่เพียงว่า ความอุตส่าห์พยายาม หรือความขยันหมั่นเพียรและความฉลาด ที่จะสามารถนำวัตถุนั้นๆ เข้ามาเป็นของตนได้เป็นสำคัญกว่าอื่น

คำว่าธรรมก็ไม่เคยบกพร่อง ตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้วคงเส้นคงวา ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหัต ธรรมทั้งสี่ประเภทนี้ กลมกลืนกันกับหลักมัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นสายทางเดินเข้าไปสู่ธรรมขั้นเหล่านี้ จนกระทั่งทะลุปรุโปร่งไปได้ ไม่นอกเหนือจากมัชฌิมาปฏิปทานี้ไปได้เลย

เราพึงคำนึงตนเสมอว่า เวลานี้เราปฏิบัติถูกต้องตามหลักมัชฌิมาหรือไม่ มัชฌิมาคือเหมาะสมอยู่ตลอด การรักษาศีลก็เป็นความเหมาะสมของตน หาที่ตำหนิติเตียนตนไม่ได้ว่า ได้ทำศีลให้ด่างพร้อยไปด้วยเจตนา หรือความเผอเรอประการใดบ้าง เพราะความระมัดระวังรักษาอยู่เสมอ ศีลก็งามสำหรับตัวของเรา เป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้เหมาะสมกับความเป็นผู้มีศีล จึงเรียกว่ามัชฌิมา คือความเหมาะสม

ทางด้านธรรมนับแต่สมาธิ คำว่าสมาธิที่ท่านแสดงไว้ในตำรา เคยได้อธิบายให้ฟังแล้วหลายครั้งหลายหนนั้น คือเข็มทิศทางเดินที่ท่านเขียนไว้ตามคัมภีร์ใบลาน ไม่ใช่องค์ของสมาธิแท้ แต่สมาธิแท้นั้นจะเกิดขึ้นกับใจที่สืบเนื่องมาจากการศึกษาเล่าเรียน วิธีการที่ท่านแสดงไว้แล้วในตำรับตำรานั้น เข้ามาประยุกต์กับความประพฤติของตน เพื่อให้เกิดความสงบเย็นใจขึ้นมาได้ด้วยจิตตภาวนา

สมาธิมีความสำคัญไปทางหนึ่ง ปัญญามีความสำคัญไปทางหนึ่ง ต่างก็มีความสำคัญตามหน้าที่หรือคุณภาพของตน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเสียเองจึงได้ตรัสไว้ว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา สมาธิอันเป็นความอิ่มตัว ไม่หิวโหยโรยแรง ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม กระสับกระส่าย เป็นจิตที่อิ่มตัวตามขั้นแห่งความสงบของตน นี่ท่านเรียกสมาธิ สมาธินี้แลที่มีความอิ่มตัวนี้ นำไปใช้ทางด้านปัญญา ย่อมจะเป็นเครื่องหนุนปัญญาให้ทำหน้าที่ของตนได้อย่างราบรื่นดีงาม เพราะไม่เถลไถล ไม่กระวนกระวายหิวโหยกับสิ่งนั้นสิ่งนี้เหมือนคนไม่มีความสงบอยู่ภายในตัว จิตที่สงบย่อมไม่หิวโหยกับสิ่งต่างๆ พาทำงานใดก็ทำ พิจารณาทางด้านปัญญามีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาหรือเป็นผู้ควบคุมงาน จิตก็ทำงานตามนั้น

เมื่อมีสมาธิแล้ว ควรจะแยกออกทางด้านปัญญา พิจารณาแยบคายไปกว่าทางด้านสมาธิก็ต้องทำ เพราะฉะนั้น คำว่าสมาธิกับปัญญานี้จึงแยกกันไม่ออกโดยจะถือว่าพิจารณาทางด้านปัญญาอย่างเดียวเป็นความรวดเร็ว การทำสมาธิ มัวทำสมาธิให้เกิด ให้มีความสงบแล้วค่อยพิจารณาทางด้านปัญญานั้น เป็นทางล่าช้าหรือล้าสมัย การพูดเช่นนั้นหรือความเห็นเช่นนั้น เป็นความเห็นที่ขัดต่อหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงรับรองมาแล้วโดยสมบูรณ์ทั้งทางเหตุและทางผล

ดังนั้น ธรรมทั้งสองประการนี้จึงแยกกันไม่ออกแต่ไหนแต่ไรมา จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็แต่อาการของสมาธิ มีอาการต่างกัน แต่พูดถึงเรื่องความสงบนั้น สงบเหมือนกัน แต่อาการแห่งความสงบนั้นมีต่างกันบ้าง ถึงอย่างไรก็ตามความสงบของจิตนั้น ย่อมเป็นความอิ่มตัวได้ด้วยกัน ควรแก่การพิจารณาทางด้านวิปัสสนา คือปัญญาได้เช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถที่จะแยกสมาธิหรือสลัดตัดทิ้งสมาธิไปเสีย ให้ดำเนินแต่ทางด้านปัญญาอย่างเดียว แล้วคว้าเอามรรคผลนิพพานอย่างภาคภูมิใจมาแข่งศาสดาผู้แสดงไว้ทั้งสมาธิและปัญญา อย่างนี้เป็นไปไม่ได้

นี่เราเคยปฏิบัติมาแล้ว ได้ทราบอย่างชัดเจนในทางด้านสมาธิ คือการทำสมาธิตั้งแต่ขั้นล้มลุกคลุกคลาน มาจนกระทั่งถึงขั้นสมาธิเต็มตัว คำว่าขั้นสมาธิเต็มตัวนั้น คือเราทำให้สงบได้ตามความต้องการของเราเวลาใดก็ได้ แม้จิตจะถอนออกมาจากสมาธินั้นแล้ว คิดอ่านไตร่ตรองกิจการงานอื่นๆ ได้ แต่ฐานของสมาธินั้นเป็นความแน่นหนามั่นคงอยู่เสมอ ที่เรียกว่า สมาธิเต็มภูมิ คือทำให้สงบเมื่อไรก็ได้ แต่ก็เป็นสมาธิอยู่เพียงเท่านั้น ไม่สามารถกลายตัวไปเป็นปัญญาได้ โดยที่เราไม่นำออกพิจารณาแต่อย่างใดให้เป็นปัญญาขึ้นมา

เมื่อจิตมีความสงบเป็นพื้นฐานแล้ว นำจิตที่มีดวงความสงบและอิ่มตัว ไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่างๆ นั้น เข้าพิจารณาทางด้านปัญญา เราจะพิจารณาร่างกายส่วนใดก็ตาม คำว่าร่างกายนี้ทั่วไปหมดในรูปขันธ์นี้ แล้วแต่จะถูกกับจริตในอาการใดภายในร่างกายนี้ แยกแยะดูตั้งแต่ต้น ดังที่ท่านมอบงานให้แก่พวกเรามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนปัจจุบันนี้ และยังจะเป็นไปอีกอย่างนี้ไม่ลดละ ว่างานของนักบวชนั้นคืออะไร อุปัชฌายะท่านมอบให้ว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ นี่คืออนุโลมพิจารณาโดยลำดับไป ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นี่ให้พิจารณาปฏิโลม ย้อนกลับหน้ากลับหลัง ถอยหน้าถอยหลัง

สิ่งที่กล่าวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประกาศตนอยู่แล้ว ด้วยความปฏิกูลโสโครกตามหลักธรรมชาติที่เป็นความถูกต้อง เป็นแต่เพียงว่าจิตของเรานั้น ไปรับความเสี้ยมสอนมาจากสิ่งจอมปลอมคือกิเลส จึงต้องมาเปลี่ยนแปลงความจริงจากธรรม หรือลบล้างธรรมนี้ให้เป็นสภาพอื่นไปเสียจากความเป็นของปฏิกูล ให้เป็นของสวยของงาม เป็นของจีรังถาวร เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของท่านไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้นอกจากความเป็นอสุภะอสุภังเต็มไปทั้งร่างกายภายนอกภายใน อยู่โดยหลักธรรมชาติของมันตามธรรมที่กล่าวไว้แล้ว ยังมีความแปรสภาพอยู่ภายในตัวทุกระยะๆ ไม่มีเว้นแม้แต่ขณะหนึ่ง

การพิจารณาเช่นนี้ท่านเรียกว่าวิปัสสนา เพื่อความเห็นแจ้งตามความจริง ความจริงนั้นเป็นอย่างไรในร่างกายนี้ คำว่าอสุภะจริงหรือไม่จริง เราปฏิเสธได้ไหม ตั้งแต่ภายนอกก็มีขี้เหงื่อขี้ไคลเต็มไปหมดทั้งร่าง ไม่ว่าข้างบนข้างล่างต้องชะต้องล้างกันอยู่ตลอดเวลา ร่างกายนี้ไปสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใด แม้จะเป็นของสะอาดสวยงามเพียงใดก็ตาม จะต้องกลายเป็นของสกปรกโสมมส่งกลิ่นฟุ้งไปหมด

เพราะร่างกายนี้เป็นตัวปฏิกูล สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับร่างกายนี้จึงกลายเป็นของสกปรก ต้องชะต้องล้างต้องฟอกเช็ดถู ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ นี่เห็นอย่างชัดๆ อยู่แล้วตามหลักความจริง ผู้ปฏิบัติจะฝืนหลักความจริงนี้ไปไหน ความฝืนหลักความจริงเหล่านี้มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งสิ้นซึ่งเป็นข้าศึกต่อธรรม เคยฝืนธรรมอย่างนี้มาเป็นลำดับลำดา คือเสกสรรปั้นยอขึ้นมาเฉยๆ ทั้งๆ ที่หาความจริงไม่ได้ ว่าสวยงาม ว่าน่ารักใคร่ชอบใจ ว่าเป็นสิ่งจีรังถาวร ว่าเป็นสิ่งให้เกิดสุขน่ารื่นเริงบันเทิง ว่าเป็น อตฺตา เป็นเราเป็นของเราเป็นของเขา

จิตที่ไม่มีที่ยึด มีแต่กิเลสเป็นผู้พร่ำสอนอยู่ตลอดเวลา จะไม่ให้ยึดไม่ให้ถือไม่ให้เชื่อตามกิเลสจะเชื่อถืออะไร เพราะมีของอย่างเดียวเท่านั้นติดแนบอยู่กับใจนับแต่กัปใดกัลป์ใดมา จนกระทั่งได้พบได้ยินโอวาทคำสั่งสอน ซึ่งเป็นคู่แข่งกับธรรมชาติที่เสกสรรปั้นยอด้วยความจอมปลอมนั้น คู่แข่งนั้นเรียกว่าธรรม จึงได้นำธรรมของจริงนี้ เข้ามาเทียบเคียงของปลอม

แยกแยะกันดูทุกสัดทุกส่วน ความเสกสรรที่ฝังอยู่ในขันธ์นี้เป็นคำเสี้ยมสอนของกิเลส มันเสี้ยมสอนว่าเป็นของสวยงาม ทำให้จิตคิดว่าเป็นของสวยของงามของดีของแน่นหนามั่นคงไปด้วย ทีนี้นำธรรมเข้ามาลบล้างของปลอมนั้น ว่าสวยงามที่ตรงไหน ดูหาความสวยงามไม่ได้ ทั้งภายนอกภายในของร่างนี้ หาความสวยงามไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว มันเต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครกหมดทั้งร่างนี้ ทั้งในตัวของเราและสัตว์อื่นบุคคลอื่น ทั้งหญิงทั้งชายเหมือนๆ กันหมด เทียบกันได้ทุกสัดทุกส่วนไม่มีอะไรแปลกต่างกัน นี่คือความจริง เราฝึกวิปัสสนาคือปัญญา ฝึกเพื่อจะสลัดสิ่งที่เคยยึดถืออันจอมปลอม เข้าสู่หลักความจริงคือของไม่ปลอม นี่เป็นขั้นหนึ่งของจิตของธรรม

ขั้นต่อไปยังแยกแยะเป็นเรื่องอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งเป็นธรรมของจริงเช่นเดียวกันเข้าไปอีก เป็นทางเดินเพื่อความสลัดปัดทิ้งสิ่งจอมปลอมทั้งหลาย คือกิเลสตัวพาเสกสรรปั้นยอมาเป็นเวลานาน ผลของมันทำให้เกิดความกดถ่วงลวงใจอยู่เสมอ ให้มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะสิ่งเหล่านี้ เมื่อพิจารณาตามหลักความจริงแล้ว จิตย่อมจะค่อยปล่อยวางไปโดยลำดับ ตามความซึมซาบแห่งปัญญาที่เข้าสู่หลักความจริงของธรรมไปโดยลำดับลำดา

จนกลายเป็นว่ากายทั้งกายนี้ ถ้าพูดถึงกองอสุภะก็คือป่าช้าผีดิบ ที่เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ ซึ่งรวมอยู่ในร่างกายของแต่ละบุคคลๆ นั่นแล ไม่ใช่ซากหนึ่งซากเดียว มีหลายซาก หลายศพ หลายประเภท หลายชนิดของสัตว์ที่มาตายกองกันอยู่ภายในร่างกายของเรานี้ พิจารณาอยู่เช่นนี้ซ้ำๆ ซากๆ เช่นเดียวกับเราถากไม้ หลายครั้งหลายหนก็ถึงแก่น ถึงที่พอเหมาะพอดี พอเอา ยิ่งชะล้างลงไปหลายครั้งหลายหนก็ถึงที่สะอาด พ้นจากสิ่งจอมปลอมเห็นได้ชัดเจน จิตย่อมปล่อยวางเองโดยไม่ต้องสงสัย

นี่เป็นขั้นหนึ่งของการพิจารณาที่เรียกว่าปัญญา เราแยกจากสมาธิคือจิตที่สงบนั้น ให้แสดงกิริยาออกมาทางความแยบคาย เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา แปลว่า ความเห็นแจ้งเห็นจริง ไม่ใช่เห็นปลอมเห็นแบบมืดๆ ดำๆ กำดำกำขาวอย่างที่อวิชชาพาเห็น ปัญญาธรรมพาเห็น เห็นแจ้งเห็นชัดและรื้อถอนตนออกจากความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดต่างๆ ไปได้โดยลำดับ นี่แหละการดำเนินเพื่อมรรคผลนิพพาน ดำเนินไปตามสิ่งเหล่านี้ โดยถือสิ่งเหล่านี้เป็นหินลับปัญญาในการดำเนินวิปัสสนา

ที่จิตไม่สามารถก้าวไปได้ตามความมุ่งหมาย ก็เพราะจิตติดสิ่งเหล่านี้ ท่านจึงสอนให้พิจารณาบุกเบิกสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเสมือนขวากหนามแทงจิตใจอยู่ทุกเวล่ำเวลา รักก็ทำให้เกิดทุกข์ ชังก็ทำให้เกิดทุกข์ เกลียดโกรธทำให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น เพราะกิเลสเป็นสาเหตุจะไม่เกิดทุกข์อย่างไร ไม่ใช่เป็นสาเหตุมาจากธรรม สาเหตุที่มาจากธรรมนั้น แม้จะมีทุกข์บ้างเพราะการต่อสู้กับข้าศึก แต่จิตก็คำนึงเพื่อชัยชนะหรือเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง ความทุกข์นั้นก็ไม่ถือเป็นอารมณ์กับผู้ปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมแม้ทุกข์แทบเป็นแทบตาย ก็ไม่ถือเป็นอารมณ์ยิ่งกว่าเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ตนต้องการที่ตนมุ่งหมายไว้ พระพุทธเจ้าของเรา ท่านมีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้า เพราะฉะนั้นแม้จะสลบถึงสามครั้งสามหน แต่ยังไม่ถูกทางเพื่อความตรัสรู้ก็ตาม พระองค์ก็ไม่ทรงท้อถอย เพราะอำนาจแห่งความมุ่งมั่นต่อธรรมของจริง มีกำลังมากกว่าที่จะท้อถอยเพียงความสลบเท่านั้น

การพิจารณาร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับราคะตัณหาขึ้นอยู่กับร่างกายนี้ จิตสงบก็สงบจากความคิดในเรื่องราคะตัณหา เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส ในชาดกท่านกล่าวไว้ซึ่งเป็นสิ่งที่สะดุดใจมากว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตไม่เคยเห็นรูปใด ที่เป็นข้าศึก เป็นเครื่องเสียดแทงจิตใจอย่างเจ็บปวดแสบร้อน ยิ่งกว่ารูปของเพศตรงข้าม เสียงใดก็ตามไม่สามารถที่จะเสียดแทงเข้าถึงขั้วหัวใจ ถึงกับจิตใจจะพังทลายลงได้เหมือนเสียงของเพศตรงข้าม กลิ่นใดก็ตามไม่สามารถทะลวงเข้าถึงขั้วหัวใจยิ่งกว่ากลิ่นของเพศตรงข้าม รสใดก็ตามไม่สามารถทำลายหัวใจให้กระทบกระเทือนหวั่นไหวและเป็นบ้าแบบสดๆ ร้อนๆ พร้อมทั้งการรับความทุกข์ทรมานได้มากยิ่งกว่ารสของเพศตรงข้าม การสัมผัสใดก็ไม่สามารถทำใจให้ละเมอเพ้อฝัน จนตัวไม่เป็นตัวของตัวยิ่งกว่าการสัมผัสเพศตรงข้าม ให้เธอทั้งหลายจำไว้อย่างถึงใจ อย่าประมาท”

“วิธีที่จะแก้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นบ่อเกิดแห่งราคะตัณหานั้น ต้องใช้วิธีการอันถูกต้องเหมาะสมกัน คือการพิจารณา อสุภกรรมฐาน เป็นภาคพื้น ให้เกิดมีความชำนิชำนาญ น้อมกายวิสภาคเข้ามาสู่กายของเรา หนังของวิสภาคเข้ามาเทียบกับหนังของเรา เสียงของวิสภาคเข้ามาเทียบกับเสียงของเรา กลิ่นของวิสภาคเข้ามาเทียบกับกลิ่นของเรา ความสัมผัสของวิสภาคเข้ามาเทียบความสัมผัสตัวเราเอง สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นอวัยวะอันเดียวกัน ไม่เห็นมีผิดแปลกกันอะไรเลย ถ้าพูดถึงเรื่องความเป็นปฏิกูล คนทั้งหญิงทั้งชายเป็นเทวดามาจากไหน ร่างกายจึงจะไม่มีความปฏิกูลโสโครก ภิกษุทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชายก็คือคนทรงธาตุทรงขันธ์ ทรงอสุภะอสุภัง มีหนังมีเนื้อ มีกระดูก มีตับไตไส้พุง มีของอสุภะอสุภังเต็มตัวเช่นเดียวกันนั่นแล จะไปหลงหาสาระอะไร ถ้าไม่ใช่เราเป็นบุรุษตาฟาง เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายจงพิจารณาในสิ่งเหล่านี้ให้มาก ยาแก้พิษภัยอันสำคัญ คือ อสุภะ เป็นยาอันประเสริฐ”

นี่คือพุทธพจน์ที่ทรงแสดงไว้แก่ภิกษุทั้งหลาย      เพื่อความเห็นภัยในสิ่งที่เป็นวิสภาคกัน เพื่อจิตได้พิจารณาตามหลักอสุภธรรมไม่ขาดวรรคขาดตอน ใจจะได้สงบ ใจหายกังวลหม่นหมอง เพราะทุกส่วนแห่งร่างกายนั้นๆ เป็นลักษณะเหมือนๆ กัน

“กายทั้งกาย ทั้งหนัง ทั้งเนื้อ ทั้งเอ็น ทั้งกระดูก ทุกสัดทุกส่วนแห่งอวัยวะทั้งของหญิงและของชาย กับทุกสัดทุกส่วนแห่งอวัยวะของเรานั้น ไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย นอกจากถูกหลอกลวงจากกิเลสเท่านั้น ว่านั้นวิเศษนี้วิโส จนผู้หญิงผู้ชายธรรมดาๆ กลายเป็นเทวดาขึ้นมา ตนเป็นเสมือนบ๋อยหรือสุนัขตัวหนึ่ง ที่คอยกัดคอยแทะแบบลมๆ แล้งๆ อยู่ภายในใจ ไม่มีวันเวลาสร่างซาลงได้ นับว่าโง่เกินไป ไม่สมกับความเป็นภิกษุ ให้เธอทั้งหลายจงจำไว้ให้ถึงใจ”

นั่นฟังดูซิ นี่แหละการพิจารณา   จงทำตามที่ท่านสอนไว้นั้น   คำว่าโง่เกินไปจะถูกลบลงด้วยวิปัสสนาปัญญาไม่สงสัย ถ้าลงได้พิจารณาให้ชัดเจน เทียบทุกสัดทุกส่วนทั้งภายนอกภายในให้เห็นชัดเจนแล้ว จะมีอะไรแตกต่างกัน จะหลงอะไรกัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้การพิจารณาให้มาก โรคหนักต้องวางยาให้หนัก เพื่อทันกับโรคสุนัขบ้าตาฝ้าฟางที่มองเห็นใบไม้แห้งกลายเป็นผัก

นอกจากนั้นท่านยังสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า การไปเยี่ยม ป่าช้าแต่ก่อนเป็นป่าช้าผีดิบ ตายเก่าตายใหม่เอาไปทิ้งเกลื่อนไปหมด การไปพิจารณาป่าช้านั้น ท่านสอนให้ไปทางเหนือลม และสอนให้ไปทางตายเก่าเสียก่อน เพราะกำลังสติปัญญายังไม่เพียงพอ ให้ไปดูผู้ที่ตายเก่าเสียก่อน อวัยวะเกลื่อนกลาดเรี่ยราด กระดูกกระจัดกระจายเป็นอะไรไปแล้ว แล้วขยับเข้าไปเป็นลำดับจนถึงผู้ตายใหม่ ทั้งนี้เพราะอาจจะเกิดความกำหนัดยินดีขึ้นมาได้

เมื่อได้พิจารณาเป็นลำดับลำดาเข้าไปแล้วเช่นนั้น ย่อมจะมีกำลังทางสติปัญญาพอพิจารณากันไปได้ ศพนั้นๆ แม้ตายใหม่ก็ไม่ผิดอะไรกับร่างกายของเราที่ยังไม่ตายนี้ ถ้ากลิ่นเหม็นคลุ้งมันก็เป็นเช่นเดียวกันนี้แล เพราะเป็นป่าช้าผีดิบผีตายเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาเทียบเคียงได้ทุกสัดทุกส่วนของซากศพในป่าช้า กับร่างกายเราที่ยังไม่ตาย ว่าเป็นลักษณะเดียวกันจนหายสงสัยแล้ว จะไม่ไปเยี่ยมป่าช้าอีกก็ได้

เยี่ยมป่าช้าภายในร่างกายของเรานี้ก็เป็นที่เข้าใจ เพราะการไปเยี่ยมป่าช้านอก ก็เพื่อจะหาหลักยึดเทียบเข้ามาสู่หลักภายในคือตัวเราเอง เมื่อได้หลักภายในเป็นเครื่องยึดแล้ว ก็มีหลักมีเกณฑ์ในการพิจารณาตนและหายกังวลในการไปเยี่ยมป่าช้านอก นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง

ปัญญาขั้นนี้ต้องใช้ความพยายามให้มากก่อนจะมีความชำนาญ เมื่อชำนาญแล้ว ปัญญาขั้นนี้ย่อมผาดโผนมาก ตามที่เคยพิจารณามาแล้วเป็นอย่างนั้น พิจารณาจนหมุนติ้วๆ ทันกับเหตุการณ์ที่มีอยู่รอบตัว เมื่อปัญญามีความชำนาญจวนถึงขั้นที่จะสลัดปัดทิ้งร่างกายนี้ ยิ่งหมุนตัวเป็นเกลียวตลอดอิริยาบถไม่มีว่างงาน

มองดูตัวทั้งตัวนี้กลายเป็นเนื้อก็เป็นไปหมดทั้งตัว มองดูหนังไม่เห็น ทะลุเข้าไปถึงเนื้อ ถึงเอ็น ถึงกระดูก จนกระทั่งกลายเป็นร่างกระดูกไปหมดในคนทั้งคน เราทั้งคนเป็นก้อนเนื้อไปหมดทั้งตัว มองดูหญิงดูชายเป็นสภาพเดียวกันไปหมด เพราะความชำนาญในการพิจารณาวิปัสสนาขั้นรูปกาย ร่างกายหาความสวยความงามไม่ได้ มองดูเป็นร่างกระดูกหนึ่ง มองดูเป็นคนที่หนังถูกถลกออกเหลือแต่เนื้อแดงฉานไปหมดทั้งตัวหนึ่ง ใจจะมีความกำหนัดยินดีที่ตรงไหน คนเราที่จะกำหนัดยินดีกันก็เพราะหนังนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนกรรมฐานเพียง ตโจ แล้วหยุด เพราะหนังมันครอบไปหมดแล้วในร่างกายคนร่างกายสัตว์

นี่คือความชำนาญของการพิจารณา ถัดจากนั้นไปเพียงกำหนดแย็บเดียวเท่านั้น ไม่ถึงสามวินาทีจะทะลุไปหมดตั้งสองรอบสามรอบในร่างกายร่างเดียวนั้น กลายเป็นกระดูกเป็นท่อนกระดูกไปหมด เพียงเส้นเอ็นติดต่อรัดรึงกันไว้เท่านั้น เช่นเดียวกับซากผีที่เอามาไว้ตามวัดตามวา อวัยวะส่วนอื่นๆ ไม่มี เหลือแต่กระดูกที่มัดติดกันไว้เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นจะรักอะไรกำหนัดอะไร มีแต่กระดูกเท่านั้น นั่นแหละคือความจริงของธรรมเป็นขั้นๆ และตัดความจอมปลอมออกเสียได้ ที่ว่าผมก็งาม หนังก็งาม เนื้อก็งาม เอ็นก็งาม งามไปหมด กระดูกก็งาม แม้ที่สุดอาหารเก่าอาหารใหม่ที่เป็นมูตรเป็นคูถก็งามไปด้วย เพราะถูกกิเลสมันต้มมันตุ๋น มันเสกสรรปั้นยอให้กินของสกปรกมาเป็นเวลานาน เพราะความโง่เขลาของตน ให้กิเลสปรุงอาหารเป็นพิษทั้งนั้นให้กินและกินไม่มีวันอิ่มพอ กินเท่าไรยิ่งหิวโหย กินเท่าไรยิ่งติดยิ่งจมลงลึก คิดให้ละเอียดแล้วไม่สลดสังเวชบ้างหรือ

เราเป็นนักปฏิบัติ จงพิจารณาให้เห็นตามความจริงนี้ เมื่อพิจารณารู้เต็มที่แล้ว ไม่ต้องบอกเรื่องความสลัดปัดทิ้งรูปขันธ์ ว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ความปฏิกูลโสโครกนี้ก็หายไป เพราะผ่านไปแล้ว หายสงสัยแล้ว เหลือแต่เพียงร่างกระดูก สงสัยอะไรกัน นั่นเป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น นี่ปัญญาขั้นนี้ต้องผาดโผนเต็มที่เพราะแก้กิเลสส่วนหยาบ ต่อสู้กับกิเลสส่วนหยาบ ปัญญาต้องเป็นปัญญาที่ผาดโผน ไม่งั้นไม่ทันกัน ไม่เรียกว่ามัชฌิมา คือเหมาะสมกัน

พอหมดขั้นนี้แล้วสติปัญญาก็ก้าวเข้านามธรรมทั้งสี่ พิจารณานามธรรมทั้งสี่ เวทนา ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ภายในร่างกายและจิตใจ ส่วนเวทนาภายในจิตทั้งสามนั้นแยกไว้ก่อน พิจารณาเวทนาที่เกี่ยวข้องกับกายเวลาเกิดความทุกขเวทนาขึ้นมา จะเกิดขึ้นด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วยเจ็บหัวตัวร้อนก็ตาม ให้พิจารณาแยกแยะดูทุกขเวทนา เฉพาะอย่างยิ่งทุกขเวทนานั้นแหละ เป็นผู้ออกหน้าออกตาในขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วย สุขหาทางแทรกเกิดขึ้นไม่ได้

จึงต้องพิจารณาแยกดูทุกข์ให้เห็นทุกข์เป็นอย่างไร ทุกข์ให้โทษให้ร้ายแก่ผู้ใดเราจึงเหมาเขาว่าเป็นทุกข์ เหมาเขาว่าเป็นภัยต่อเรา เหมาเขาว่าเป็นข้าศึกต่อเรา พิจารณาให้เป็นอรรถเป็นธรรมตามความเป็นจริง อย่าลำเอียงเพื่อเข้าข้างตัว จะเป็นการกอบโกยกิเลสเข้ามาเผาตนยิ่งกว่าการไม่พิจารณาเสียอีก เพราะผิดทาง

เพราะฉะนั้น การพิจารณาทุกขเวทนาจึงพิจารณาให้เป็นธรรม  ว่าทุกขเวทนานี้เหรอที่ว่าเป็นภัยแก่เรา ดูให้ชัดเจนถึงสภาพของทุกข์ที่ปรากฏขึ้นในขณะนั้นว่า เป็นภัยแก่ผู้ใด สติปัญญาจดจ่อลงในจุดที่เกิดทุกข์มากกว่าเพื่อน คลี่คลายดูด้วยปัญญา เมื่อชัดเจนแล้ว ทุกข์ก็สักแต่ว่าปรากฏตัวอยู่ตามหลักธรรมชาติของตนเท่านั้น แม้ตัวทุกข์เองก็ไม่ทราบความหมายของตนว่าเป็นทุกข์ และไม่มีความหมายว่าได้ให้ความทุกข์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย

พิจารณาดูร่างกายก็สักแต่ว่ากาย ที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ทุกข์เหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น แม้ทุกข์เหล่านี้ดับลงไปแล้ว กายก็ยังเป็นกายอยู่ตามสภาพของตน ต่างอันต่างจริงอยู่โดยหลักธรรมชาติของตนเช่นนี้ ไปเหมาเอาว่าเขามาเป็นทุกข์มาเป็นภัยแก่เราได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ใจเป็นตัวไปหมายเขาต่างหาก แล้วย้อนเข้ามาดูใจ  เทียบเคียงกายนั้นเป็นเราเหรอ กายนั้นมาเป็นใจหรือใจไปเป็นกาย หรือทุกขเวทนานั้นมาเป็นใจ หรือใจนี้ไปเป็นทุกขเวทนา

แยกแยะทุกสัดทุกส่วน ยิ่งทุกข์มีความรุนแรงมากเพียงไร สติปัญญาขั้นนี้ยิ่งหมุนติ้ว เร็วยิ่งกว่าน้ำไหลไฟสว่าง ไม่อย่างนั้นไม่ทันกัน แยกแยะทุกสัดทุกส่วน เวทนาก็กลายเป็นความจริงขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจหายสงสัย ว่ามีจิตเท่านั้นไปสำคัญทุกขเวทนาว่าเป็นข้าศึกต่อตนเอง และว่าเป็นตนเป็นของตน ตลอดถึงเรื่องร่างกายเขาก็เป็นสภาพแห่งความจริงของเขาอยู่เช่นนั้น แต่ใจเสียเองเป็นผู้ไปยึดไปถือ ว่ากายของเราเป็นทุกข์ ทุกข์ก็มาเป็นกาย ทั้งทุกข์ทางกายทั้งทุกข์ทางใจก็กลายเป็นเราและเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก เพราะความสำคัญผิด

เมื่อแยกแยะทั้งสามสภาพคือ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต เทียบเคียงกันได้ทุกสัดทุกส่วนว่าไม่ใช่อันเดียวกัน ความสำคัญมั่นหมายของจิตที่ไปหมายเขาว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็ถอนตัวเขามาสู่จิต เมื่อความสำคัญถอนตัวเข้ามาสู่จิตแล้ว จิตก็เป็นปกติ เป็นความจริงของจิต เวทนาก็เป็นความจริงของเวทนา กายก็เป็นความจริงของกายแต่ละอย่างๆ แล้วก็ไม่กระทบกัน หนึ่ง ทุกขเวทนาที่กำเริบมากๆ นั้นดับไปอย่างรวดเร็ว สอง ทุกขเวทนาแม้ไม่ดับ แต่ก็เป็นความจริงของตนอยู่เป็นสัดเป็นส่วน ไม่เข้ามากระทบกันกับจิตใจนี้ได้เลย

ใจนั้นแม้จะอยู่ในท่ามกลางแห่งความทุกข์ความลำบาก ในขณะที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บหรือขณะนั่งนานๆ ก็ไม่มีความกระวนกระวาย มีแต่ความกระหยิ่มยิ้มย่องอยู่โดยหลักธรรมชาติแห่งความจริงของใจ นี้คือการพิจารณาเวทนา นอกจากนั้นยังทราบชัดว่า ทุกขเวทนาก็ดี สุขเวทนาก็ดี อุเบกขาเวทนาก็ดี เป็นอาการอันหนึ่งๆ เท่านั้น รวมแล้วย่อมไหลลงสู่ภาชนะคือ ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาทั้งมวล นี่ปัญญาขั้นหนึ่ง

สัญญา ความจำได้หมายรู้ จนเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา สังขารปรุงแย็บ สัญญาหมายไปให้เป็นเรื่องเป็นราวหลอกตนเหมือนกับภาพในหน้ากระจก ภาพของเราเองนี้แหละไปปรากฏอยู่ในหน้ากระจก เราก็ไปตื่นภาพในหน้ากระจกนั้น เมื่อทราบชัดเจนแล้วว่า ภาพที่ปรากฏในหน้ากระจกนั้นมันเป็นภาพไปจากกายของเราฉันใด อาการทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นจากสังขารจากสัญญาที่หมายเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เป็นภาพออกจากใจฉันนั้น ถ้าใจไม่รู้เท่าทันก็ไปหลงภาพนั้น เมื่อใจรู้เท่าทันแล้วก็ปล่อยวางตามสภาพของเขา สิ่งเหล่านี้ก็เกิดๆ ดับๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสัญญา สังขารอันเป็นสิ่งเกิดดับ

แม้วิญญาณที่รับภาพจากภาพนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เวลาเข้ามากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น ก็มีแต่เพียงแย็บเดียวๆ ที่รับทราบ ในขณะที่สิ่งนั้นมาสัมผัส เมื่อสิ่งนั้นดับไปความรับทราบก็ดับไป เป็นอาการหนึ่งๆ ของจิตเท่านั้น จะถือเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่บ้ากองรับเหมาน่ะ

พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ เป็นการฝึกซ้อมด้วยความสัมผัสสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสัญญา สังขารที่คิดปรุงอยู่ภายใน และระหว่างข้างนอกกับข้างในให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ จิตย่อมมีความชำนิชำนาญ สามารถสลัดตัดทิ้งขันธ์ห้านี้ได้ทั้งๆ ที่ยังไม่บริสุทธิ์ อุปาทานในรูปขันธ์ก็ปล่อยได้อย่างชัดเจนเห็นประจักษ์ จิตพักจากการพิจารณาร่างกายว่าเป็นอสุภะอสุภังต่างๆ เพราะอิ่มตัวแล้ว รู้แล้ว ปล่อยวางแล้ว พิจารณาเพื่ออะไรอีก การพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ถือเอาความเกิดดับเป็นสำคัญ คือ เกิดขึ้นก็รู้ได้ชัด ดับไปก็รู้ได้ชัด ขาดจากกันก็รู้ได้ชัด

ขันธ์ทั้งห้านี่แหละเป็นทางเดินของกิเลส อวิชชาส่งสมุนออกมาทางนี้แหละ ออกมาทางตา ทางหู เป็นต้น คอยจับจองเอารูป เอาเสียง เอากลิ่น เอารส เครื่องสัมผัสต่างๆ ทั้งดีทั้งชั่วกว้านมาหมด กว้านเข้ามาเป็นฟืนเป็นไฟเผาลนสัตว์ผู้โง่เขลาตาฝ้าฟาง พระที่โง่ๆ ตาฟางๆ ยอมตัวเป็นฟืนให้มันเผาลนอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่ยอมหาทางออก นอกจากชมเชยไฟว่าดีขยันไหม้เท่านั้น ถ้ามีความฉลาดก็พิจารณาเพื่อหาทางปลดเปลื้องไปได้ ตามสติปัญญาขั้นดังกล่าวนี้

ตา หู จมูก ลิ้น กายก็สักแต่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็สักแต่ว่าเท่านั้น เพราะได้พิจารณาตัดขาดมาโดยลำดับ อายตนะภายใน เช่น รูปกายของเรามีทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ก็รู้เท่าทันและปล่อยวางได้แล้ว เรียกว่าตัดขาดจากทางเดินของกิเลส มีอวิชชาเป็นตัวการส่งสมุนออกมาตามทางสายนี้ และตัดสะพานนี้ขาดเข้าไปโดยลำดับ กิเลสออกมาทางเวทนาก็ตัดขาดด้วยปัญญา ออกมาทางสัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตัดขาดไปโดยลำดับ เมื่ออวิชชาไม่มีสมุน ถูกตัดสะพานขาดไปหมด คือฆ่าทั้งสมุนของมันด้วย ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ ฆ่าไปด้วย อาการต่างๆ ทั้งห้านี้ก็ตัดขาดไปด้วย กิเลสก็รวมตัวเข้าไปสู่จิตดวงเดียวเพราะไม่มีที่หลบซ่อน

นี่แหละวิธีการดำเนินเพื่อมรรคผลนิพพานดังครั้งพุทธกาลท่านดำเนิน ท่านดำเนินอย่างนี้ ท่านพิจารณาอย่างนี้ กิเลสมันมีอยู่ที่ไหน สติปัญญาจะเป็นเหมือนกับไฟ กิเลสเป็นเหมือนกับเชื้อไฟ กิเลสอยู่ที่ตรงไหนปัญญาจะหมุนติ้วเข้าไปตรงที่เชื้อมีอยู่นั้น เชื้อมีอยู่ทางกายเราก็พิจารณาทางกาย จนกระทั่งไหม้ไปหมดด้วยความรู้เท่าทัน อยู่ทางเวทนาก็ไหม้ไปหมด คือรู้เท่าทันหมด สัญญา สังขาร วิญญาณก็ไหม้ไปหมด ปล่อยวางไปหมด กิเลสเข้าไปสู่ใจ กำหนดเข้าไปที่ใจ

ปัญญาขั้นพิจารณาอวิชชานี้ เป็นปัญญาขั้นอัตโนมัติโดยแท้ เพราะเริ่มเป็นอัตโนมัติมาแต่ความชำนาญขั้นรูปขันธ์อยู่แล้ว ตามครั้งพุทธกาลท่านว่า มหาสติมหาปัญญา ซึ่งเริ่มเป็นมหาสติ มหาปัญญามาโดยลำดับจากการพิจารณาขันธ์ห้าอยู่แล้ว เมื่อถึงขั้นกิเลสรวมตัวมาเป็นจิตอวิชชาแล้ว จึงเป็น มหาสติ มหาปัญญา อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หมุนตัวเป็นเกลียวทั้งวันทั้งคืนอย่างละเอียดลออ เหมือนน้ำซับน้ำซึม

ไม่มีอะไรเป็นที่พิจารณาเพราะรูปก็ผ่านไปแล้ว ไม่ยอมพิจารณา รู้แล้วปล่อยแล้ว ละวางแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นส่วนเกี่ยวกับเรื่องร่างกายนี้ก็ดับไปหมด ขาดไปหมดแล้ว มีแต่ความยิบแย็บๆ กระเพื่อมอยู่ภายในจิต ความกระเพื่อมแต่ละขณะๆ ที่แสดงออกมาจากจิต ก็ทราบว่าเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลกสมมุติ ของโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ภายในจิต รู้ได้อย่างชัดเจน ยึดมั่นถือมั่นในความกระเพื่อมว่าดีว่าชั่วว่าเกิดว่าดับนี้ได้อย่างไร

ฐานของอวิชชาจริงๆ คืออะไร นี่แหละตัวสำคัญ เราก็ไม่อยากจะพูดตรงนี้ เพราะเหตุไร เพราะเป็นธรรมที่ละเอียดมาก กิเลสประเภทนี้ละเอียดมาก มักจะสวมรอยให้ผู้ปฏิบัติหลงกลลืมตัว แต่ก็ทนไม่ได้ที่ต้องพูด เมื่อเข้าถึงขั้นนั้นแล้ว นั่นแหละขั้นที่สำคัญว่าตัววิเศษ ว่าตัวประเสริฐเลิศโลกทั้งๆ ที่กำลังเป็นอวิชชาเต็มตัว ไปยกตัวอวิชชานั้นแหละว่าประเสริฐ ว่าเลิศ มหาสติ มหาปัญญาที่เคยฝึกมาอย่างเกรียงไกร ก็กลายเป็นองครักษ์ไปรักษาอวิชชาดวงที่ว่าเลิศประเสริฐ ดวงมีความสง่าผ่าเผย มีความสว่างกระจ่างแจ้ง องอาจกล้าหาญแพรวพราว ไม่มีอะไรเสมอเหมือนไปเสียโดยไม่รู้สึกตัว จึงมีทั้งรักทั้งชอบใจ ทั้งอ้อยอิ่งทั้งสงวนอยู่ในนั้นหมด

นั่นเห็นไหม กิเลสละเอียดขนาดไหน ตั้งแต่ขั้นกายก็ละเอียดพอตัวของมัน ซึ่งแทบล้มแทบตายที่ผู้ปฏิบัติจะผ่านไปได้ กิเลสที่แทรกอยู่กับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เต็มตัวแห่งความละเอียดของมัน ยิ่งเข้าไปถึงองค์กษัตริย์วัฏจักร ที่พาจิตให้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงในการเกิดการตาย คือตัวอวิชชานี้แท้ๆ จะไม่ละเอียดครอบโลกธาตุได้อย่างไร แม้ขั้นมหาสติ มหาปัญญา ยังลืมตัวหลงกลไปเป็นองครักษ์รักษาจิตดวงนี้จนได้

คำว่ารักษาจิตดวงนี้คืออะไร คือมีความรัก ความสงวน ความอ้อยอิ่ง ความติดความพันอยู่ภายในนั้น ไม่ยอมให้อะไรมาแตะต้องได้ เพราะรักมากสงวนมาก แต่คำว่าสมมุติ อวิชชาก็คือสมมุติ มหาสติมหาปัญญาซึ่งเป็นสิ่งที่ควรแก่กัน และหมุนตัวอยู่ตลอดเวลา ทำไมจะไม่ทราบความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลง ความผิดปกติของจิตประเภทที่ว่า อัศจรรย์และเป็นจอมกษัตริย์นั้นได้ในขณะใดขณะหนึ่งเล่า เพราะจดจ่อ เพราะพิจารณา ทั้งๆ ที่กำลังรักสงวนและกำลังรักษาอยู่นั้นแหละ หากมีการพินิจพิจารณา มีการสังเกตสอดรู้กันอยู่ทุกระยะๆ ตามนิสัยของสติปัญญาขั้นไม่นอนใจ ไม่นานก็ทราบกลมายาของอวิชชาจนได้ นี่แหละตรงนี้ ตรงที่จะทำลาย

คำว่าอวิชชาหรือคำว่าใสสะอาดนั้นน่ะ ใสจริง สะอาดจริง ผ่องใสจริง คำว่าผ่องใสกับความเศร้าหมองซึ่งเป็นส่วนละเอียดนั้น ต้องเป็นของคู่กัน ผ่องใสขนาดไหนจะต้องเห็นความเศร้าหมองแทรกขึ้นมาในขณะใดขณะหนึ่งจนได้ องอาจหรืออับเฉาก็เป็นของคู่กัน แสดงขึ้นมาแม้นิดหนึ่งสติปัญญาขั้นนี้ก็จับได้

ธรรมชาติสมมุตินี้ละเอียดขนาดไหน สิ่งที่เป็นคู่เคียงกันก็ต้องละเอียดให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่านี่คืออะไร มีความสว่างกระจ่างแจ้งขนาดนี้แล้ว ทำไมจึงต้องมีลักษณะไม่ไว้วางใจ ให้ต้องระมัดระวังกัน ธรรมของจริงแท้ทำไมจะต้องระวังกัน ความระวังนี้เป็นที่แน่ใจแล้วหรือ ธรรมชาตินี้คืออะไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยพิจารณาผ่านไปแล้ว ก็ว่าเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาทั้งมวล แต่นี้เป็นอะไรที่ปรากฏเด่นๆ อยู่นี้ นั้นแลเป็นจุดหรือเป้าหมายแห่งการพิจารณาละ ทีนี้สติปัญญาเริ่มพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง

ลงสติปัญญาขั้นนี้ได้ทุ่มตัวเข้าไปแล้ว อย่างไรก็ไม่มีอะไรที่จะต้านทานไว้ได้ ต้องพังทลาย มหาสติมหาปัญญาจ่อเข้าไปตรงนั้น พิจารณาจุดนั้น เหมือนกับการพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย เมื่อสติปัญญาขั้นอัตโนมัติได้จ่อเข้าไปจุดนั้น อวิชชาทนไม่ได้ต้องพังทลาย อวิชชาตาย ตายตรงนั้น นั้นแหละบ่อเกิดของสัตว์ เชื้ออันนี้เอง บ่อเกิดของสัตว์ สถานที่ตาย-เกิด พาให้สัตว์เกิดสัตว์ตายไม่ใช่ที่ไหน ธรรมชาตินี้เองทำให้สัตว์เกิดสัตว์ตาย เราเป็นผู้แบกหามอันนี้อยู่ประจักษ์ใจ สงสัยอะไรว่าโลกนี้ ตายแล้วสูญ มันสูญที่ไหน นอกจากคนตาบอดมองไม่เห็นอะไรเท่านั้นจึงจะกล้าพูด แต่ก็พ้นการโดนเอาๆ ในสิ่งที่ตนไม่เห็นไปไม่ได้ ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือคนตาบอดนั่นแล โดนอะไรเก่งกว่าใครๆ

นี่พูดตามที่พิจารณาทางภาคปฏิบัติ เมื่อธรรมชาตินี้หายไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว อันใดที่รู้ว่าอวิชชาดับไปแล้ว ภพชาติที่เป็นเชื้อให้เกิดเป็นต่างๆ ดับไปแล้วจากใจ ส่วนใจนั้นดับไปด้วยไหมที่นี่ ถ้าใจดับไปด้วย อะไรที่รู้ว่าบริสุทธิ์ รู้ว่าวิเศษ รู้ว่าอัศจรรย์เหมือนโลกธาตุกระเทือนไปด้วย ผู้รู้วิสามัญนี้สูญไปไหนที่นี่ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโลก ท่านนำพระจิตบริสุทธิ์ นำธรรมบริสุทธิ์นี้มาสั่งสอน ไม่ได้นำสิ่งที่สูญ สิ่งไม่มีมาสอนโลก

นี่แหละการเรียนภพชาติ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายของสัตว์โลก อย่าไปเรียนที่ไหน ให้เรียนเรื่องของเรานี้ก่อน เมื่อเรียนเรื่องของเราให้เต็มภูมิ เต็มอรรถเต็มธรรมแล้ว จะรู้อย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น ปฏิเสธไม่ได้เพราะนี้เป็นของจริง ลบล้างไม่สูญ ลบล้างไม่ได้ นี่คือหลักใหญ่ เหตุใหญ่ที่ทำให้เกิด พอเรียนถึงธรรมชาติที่ทำให้เกิดพังทลายลงไปแล้ว ทำไมจะไม่สามารถอุทานขึ้นมาได้ว่า หมดแล้วเรื่องราวทั้งหลาย ที่เกิดตายๆ จับจองป่าช้าอยู่ไม่หยุดไม่ถอยเพราะตัวนี้เอง ตัวนี้ได้สิ้นซากไปแล้วบัดนี้ หมดเรื่อง

เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ มีอะไรอีกที่นี่ นั่นไม่ใช่ตัวอนิจฺจํ นั่นไม่ใช่ตัวทุกฺขํ นั่นไม่ใช่ตัวอนตฺตา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาเป็นเรื่องของสมมุติทั้งมวล นับแต่อวิชชากระจายออกไปทั่วโลกธาตุ เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาทั้งสิ้น เพราะเป็นสมมุติด้วยกัน ธรรมชาติที่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นั่นไม่ใช่ไตรลักษณ์ ไม่ใช่อนิจฺจํ ไม่ใช่ทุกฺขํ ไม่ใช่อนตฺตา ไม่ขัดแย้งตนเองด้วยและไม่ขัดแย้งสิ่งอื่นใดด้วย พอตัว หมดเรื่อง

พระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติท่าน พระสาวกท่านปฏิบัติท่านจนเป็นคลังแห่งมรรคผลนิพพาน ท่านดำเนินอย่างไร พวกเรานี้ดำเนินกันอย่างไร จึงได้แต่ชื่อมรรคผลนิพพานมาอวดกันตลอดเวลา ทั้งๆ ที่กิเลสเต็มหัวใจ ถ้าเป็นภาชนะแล้วล้น ทั้งแบก ทั้งสะพายทั้งหาบ ทั้งหาม มันล้นเหลือหัวใจออกมา เรายังไม่ทราบอยู่หรือว่าสิ่งนั้นมันล้นหัวใจเรา เรายังจะหาพอกหาพูน เสาะแสวงหามาใส่ที่ไหนกันอีก จะเอากำลังอะไรมาแบกกองทุกข์ เพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหาที่ขนมาทับถมโจมตีเราจนมองหาตัวไม่เห็น เรายังไม่ตื่นเนื้อตื่นตัวในเวลาปฏิบัติด้วยทั้งเพศของพระ ซึ่งเป็นเพศของนักรบนี้แล้ว เราจะไปตื่นตัวจะไปเห็นโทษตอนไหนที่ไหนกัน หรือตอนตายแล้วนิมนต์พระมา กุสลา ธมฺมา กุสลา ธมฺมา กุสลา หาประโยชน์อะไร เมื่อตัวเราผู้ปฏิบัติธรรมแท้ๆ ยังโง่เหมือนหมาตายตัวหนึ่ง จะมา กุสลา ธมฺมา ให้เกิดความฉลาดมาจากลมปากได้อย่างไร ถ้าไม่รีบทำใจเราให้ฉลาดเสียแต่บัดนี้ ซึ่งเป็นการสวด กุสลา ธมฺมา โดยถูกต้องชอบธรรมตามทางศาสดา

กุสลา แปลว่าความฉลาด ฉลาดอะไร ฉลาดแก้พิษแก้ภัยภายในใจให้บริสุทธิ์ขึ้นมา นี้ซิที่เรียกว่าความฉลาด ตายแล้วจึงจะมาสวด กุสลา ธมฺมา กุสลา ธมฺมา เกาหาที่ไม่คันอะไรกัน ไม่อายไอ้ขี้เรื้อนบ้างหรือที่มันเกาถูกที่คันกว่าพวกเราน่ะ เกาตรงที่มันคันซิ มันจึงจะหายคัน จ่อลงไปตรงนั้น กิเลสตัวคันที่สุดตัวคันสุดยอด คือ ตัวอวิชชา ฟาดมันลงไปให้หายคัน ตายแล้วไม่ต้องมา กุสลา ธมฺมา ให้ยุ่งไปเปล่าๆ

มา กุสลา ธมฺมา ด้วยจิตตภาวนาให้ความฉลาดรอบใจเถอะ อยู่ที่ไหนสบายหมด ตัดสินตัวได้เอง สิ่งใดก็ตามถ้าลงได้เห็นด้วยตาแล้ว กล้าหาญที่จะพูด ได้ยินด้วยหูชัดๆ แล้ว ใครมาโกหกไม่ได้ พูดได้อย่างเต็มปาก รู้ด้วยใจอย่างชัดๆ ในกิเลสทั้งมวล และรู้ธรรมอย่างเต็มใจแล้วพูดได้อย่างเต็มปาก อาจหาญอย่างเต็มใจ เต็มภูมิที่รู้ที่เห็น

นี่แหละธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมอับเฉา ไม่ใช่ธรรมลี้ลับ ไม่ใช่ธรรมแอบๆ แฝงๆ ด้อมๆ มองๆ กลัวๆ ขี้ๆ ขลาดๆ ไม่มี เป็นธรรมที่องอาจกล้าหาญ ผู้ปฏิบัติพิสูจน์ได้ภายในใจของตัวเอง เรียนก็เรียนมา เราไม่ได้ประมาทในการเรียน เรียนแต่ชื่ออรรถชื่อธรรมชื่อกิเลสตัณหา แต่ไม่เคยไปแตะต้องกิเลสอาสวะพอให้มันหนังถลอก พอให้มันตื่นนอนบ้างเลย นอกจากเป็นบ๋อยพัดวีให้มันสนุกหลับเพลินไปเท่านั้น

ต้องเอามาปฏิบัติซิ ท่านจึงเรียกว่า ปริยัติ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนแนวทาง นับแต่เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ เป็นต้นไป แล้วนำไปปฏิบัติแยกแยะตามวิธีท่านสอนนี้ ท่านสอนจนถึงวิธีการตามฆ่ากิเลสได้ด้วยวิธีการปฏิบัติ โคตรแซ่กิเลส ลูกหลานเหลนของกิเลสทุกๆ ตัว ล้วนเป็นเสือร้ายทั้งนั้น เป็นพิษเป็นภัยทั้งนั้น ฟาดฟันให้มันแตกแม่แตกลูก แตกบ้าน แตกเมือง บ้านแตกสาแหรกขาดออกจากใจให้เห็นเป็นไรนักปฏิบัติ

ถ้านักปฏิบัติทำไม่ได้ ใครจะทำได้ในโลก นักปฏิบัติไม่สามารถทรงมรรคผลนิพพานด้วยข้อปฏิบัติอันดีงามนี้แล้ว ใครจะสามารถในโลกนี้ เราแน่ใจว่าไม่มีใครสามารถ เพราะโลกต่างมีภาระภารังเต็มไปหมด โลกอยู่ด้วยความยุ่งเหยิงวุ่นวาย เพราะธาตุเพราะขันธ์ เกี่ยวกับการบ้านการเมือง ครอบครัวเหย้าเรือน

เรานี้มีผู้สนับสนุนทุกสิ่งทุกอย่าง คนใจบุญเต็มแผ่นดิน อาหารการกินก็เหลือเฟือ ท่วมปากจนมองไม่เห็นปากพระ เพราะอาหารปัจจัยของศรัทธาญาติโยมปิดหมด เครื่องนุ่งห่มใช้สอยมาจากผู้ใจบุญ พร้อมเสมอที่จะส่งเสริมคนดีพระดีที่ทำตนและผู้อื่นให้มีความร่มเย็นเป็นสุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ไม่มีอะไรบกพร่อง มีเต็มทุกสิ่งทุกอย่าง มาทุกทิศทุกทาง ทั้งใกล้ทั้งไกล มีแต่ผู้สนับสนุนส่งเสริมยินดี แต่เราทำไมจึงนอนใจ หลับครอกๆ อยู่ทั้งเป็นทั้งๆ ที่ยังไม่นอน สติสตังไปไหนหมด เอามาพิจารณาเอามาขุดค้นซิ

พระพุทธเจ้าท่านขุดค้นฆ่ากิเลสตัณหาด้วยสติปัญญา หรือด้วยความนอนใจ หรือด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน นำมาพิจารณาให้เห็นชัด เราเป็นนักปฏิบัติ ลูกศิษย์มีครูไม่เดินตามครูจะเดินตามใคร ทำให้จริงให้จัง จะได้เห็นความอัศจรรย์ภายในใจ

พวกเราชาวพุทธหรือชาวพูดพล่ามก็ไม่รู้ พูดกันอยู่อย่างนั้นเรื่องอรรถเรื่องธรรม แต่ธรรมไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน พูดเรื่องกิเลสก็พูดเสียจนน้ำลายฟุ้ง แต่กิเลสอยู่ที่ไหนไม่ทราบ เอาแต่ชื่อมาพูด เอาแต่ชื่อมาคุยกัน มันจะเกิดประโยชน์อะไร เอาตัวกิเลสมาฆ่าซิมันเกิดประโยชน์ เอาธรรมมาปฏิบัติกำจัดกิเลสมันจึงจะเกิดประโยชน์ เป็นผลเห็น อยัมภทันตา พระพุทธเจ้าและสาวกท่านทำอย่างนั้น จงเดินตามแบบตามฉบับของท่าน อย่าให้ผิดร่องรอยของท่าน

งานที่ทำของพระเป็นประจำ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปลีกแวะไปไหนไม่ได้ เอางานอื่นมาแทนไม่ได้ก็คือ งานถอดถอนกิเลสอาสวะ ดังที่ท่านประทานให้ หรืออุปัชฌายะมอบให้เวลาบวช เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ เป็นต้น นี่คืองานของพระเอาให้จริงให้จัง คลี่คลายสับยำลงไปให้มันแหลกแตกกระจายลงไป เห็นแจ้งชัดเจนด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรของเรา

สถานที่ที่เหมาะสมท่านก็ประทานให้แล้วตั้งแต่วันบวชก็ รุกฺขมูลเสนาสนํ  นิสฺสาย ปพฺพชฺชา.ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย. บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ไปเที่ยวอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ในถ้ำ เงื้อมผา อันเป็นสถานที่สะดวกสบาย ไม่พลุกพล่านด้วยสิ่งรบกวนต่างๆ นั่นเป็นที่เหมาะสมกับงานเพื่อฆ่ากิเลส เพื่อรื้อถอนวัฏฏะออกจากใจ ซึ่งเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงมานานแล้วภายในหัวใจเรา เพราะฉะนั้น จึงว่าไม่มีงานใดที่จะหนักหนายิ่งกว่างานถอดถอนกิเลสวัฏจักรออกจากหัวใจ จึงต้องทุ่มเทกำลังลงให้เต็มที่ แม้ชีวิตก็มอบบูชาพระรัตนตรัยไปด้วยการปฏิบัติจิตตภาวนา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงและหลุดพ้นอย่างเดียว ขอให้นำไปพินิจพิจารณา

มาอยู่นี่ก็นาน ไม่ทราบว่าองค์ละกี่ปีกี่เดือน ผลเป็นอย่างไร สอนก็สอนแทบล้มแทบตาย สอนไม่มีอัดมีอั้น มีเท่าไรควักออกมาสอนเต็มสติกำลังความสามารถ ไม่เคยปิดบังลี้ลับไว้แต่น้อยเลย และพูดทุกอย่างตรงไปตรงมาตามความจริง ทั้งเหตุที่ได้ปฏิบัติมาอย่างไร ก็นำมาสอนหมู่เพื่อนเต็มสติกำลังความสามารถ ไม่ได้โกหก ตลอดจนถึงผลเป็นอย่างไร ถ้ารู้ถ้าเห็นก็พูดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็สุดแต่กิเลสสุดแต่ธรรมที่อยู่ในหัวใจของผู้ฟังทั้งหลายจะขัดแย้งหรือต่อสู้กันเอง ทางใดชนะทางใดแพ้ ถ้าธรรมชนะ เราก็ปฏิบัติตัวให้เป็นธรรมขึ้นไปโดยลำดับ แล้วครองความอัศจรรย์ภายในใจ ถ้าแพ้กิเลสแล้ว เราก็จะถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลายอยู่อย่างนี้ ตั้งกัปตั้งกัลป์นับไม่ถ้วน ไม่มีต้นมีปลายอยู่ภายในหัวใจนั่นแหละ เป็นทุกข์ทรมานยิ่งอยู่ตลอดไป

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร รู้สึกเหนื่อย เอาละพอ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก