เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๒
อุบายแก้ความกลัว
ศาสนาคือน้ำดับไฟ ไฟราคะ ไฟตัณหา หรือว่าไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ไหม้หัวใจสัตว์โลก ถ้าไม่มีน้ำ คือ ธรรมะเป็นเครื่องระงับดับกันบ้างเลย หัวใจดวงนั้นๆ จะเป็นเหมือนไฟทั้งกองเผาลนอยู่ตลอดเวลาหาความสงบสุขไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดๆ ไม่สำคัญที่สถานที่ แต่สำคัญที่ความรุ่มร้อนเผาลนจิตใจเพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่างๆ มันเผาลนอยู่ภายใน ไม่มีเวล่ำเวลา ไม่มีอิริยาบถใดพอที่จะว่างเว้น นอกจากมีธรรมเข้าไประงับดับกันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงเป็นธรรมจำเป็นต่อมวลสัตว์อยู่มากทีเดียว
ผู้ต้องการหวังความสุขความเจริญ หวังหนีร้อนพึ่งเย็น ก็ต้องเห็นโทษแห่งไฟทั้งหลายที่สุมอยู่ภายในจิตใจ และเห็นคุณแห่งธรรมซึ่งเป็นเสมือนน้ำสำหรับดับไฟเหล่านี้ ให้พอลดหย่อนผ่อนคลายพอหายใจได้บ้าง หรือพอบรรเทาไม่รุ่มร้อนจนเกินเหตุเกินผล เกินประมาณที่จะทนได้ เกินสติกำลังความสามารถที่จะแก้ไขได้ บางรายถึงกับเป็นบ้าไป เพราะไฟเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย ในโลกเราที่ปราศจากธรรมเป็นเครื่องเยียวยารักษา เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นธรรมชาติที่จำเป็นอยู่มากจะขาดธรรมเสียมิได้ ถ้าไม่อยากเห็นโลกเป็นไฟทั้งกองแผดเผามวลสัตว์ไม่มีเวลาว่างเว้น
ราคะดับด้วยน้ำอันใด พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ดับด้วยธรรมซึ่งเป็นคู่ปรับของกันและกัน เช่น ให้ดับด้วยการพิจารณาอสุภะ ปฏิกูลโสโครก และ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งมีประจำอยู่กับสิ่งที่จิตใจไปพัวพันหรือรักชอบ เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอสุภะ เรื่องปฏิกูล เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อไฟประเภทนี้
โทสะเกิดขึ้น พึงระงับด้วยความเมตตาหนึ่ง ระงับด้วยการมองคนอื่นในแง่เหตุผลหนึ่ง มองกันในแง่ให้อภัยหนึ่ง มองกันในสมานัตตตา ไม่ถือตัวหนึ่ง พิจารณาเรื่องราวที่ให้เกิดโทสะนั้นด้วยเหตุผลหนึ่ง และย้อนเข้ามาดูตัวที่กำลังโกรธกำลังโมโหโทโสอยู่นั้น คือ ตัวพิษตัวภัยตัวไฟเผาลนจิตใจอยู่ในขณะนั้น ก่อนอื่นที่จะลุกลามไปไหม้ผู้อื่น ต้องไหม้ผู้โกรธผู้โมโหโทโสก่อนผู้อื่น นี่เป็นจุดสำคัญ ให้ดูที่จุดนี้ซึ่งเป็นจุดเกิดขึ้นแห่งภัย คือโทสะหรือความโกรธ เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นภัยก็ระงับดับกันที่ตรงนี้ด้วยอุบายวิธีการต่างๆ ที่จะระงับดับมันได้
เช่นเดียวกับเราคิดในทางผิดมันเกิดโทสะขึ้นมา ก็ให้เห็นว่าโทสะเป็นภัยแก่ตัวเราเอง แล้วรีบระงับดับที่ตรงมันเกิด คือ เกิดที่จิตนั้น ไม่ให้กระจายออกไปสู่ผู้อื่น
บางคราวคนอื่นไม่มีความผิด แต่เราไปเข้าใจเสียเองว่าผู้นั้นมีความผิด หรือผู้นั้นมีอะไรแก่ตนทั้งๆ ที่เขาไม่มีอะไรเลย ก็เพราะความสำคัญของใจหลอกลวงตนเองให้เกิดโทสะขึ้นมา เกิดความโกรธความแค้นขึ้นมาก็ได้ แม้จะมีผู้แสดงปฏิกิริยาอันเป็นความกระทบกระเทือน ให้เกิดความโกรธความไม่พอใจขึ้นมาก็ตาม ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรไปมองในแง่นั้น มองดูคนนั้น มองเรื่องนั้น คิดเรื่องนั้น ให้มากยิ่งกว่าการย้อนเข้ามาสู่จุดแห่งเหตุ คือ ตัวโทสะซึ่งเกิดขึ้นที่ใจ
ค้นคว้าหาเหตุหาผลแห่งความโกรธ ถือความโกรธเป็นจุดหมายหรือเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา ถือตัวโกรธนั้นเป็นตัวโทษตัวภัยที่ทำลายตนเองอยู่ในขณะนั้น แล้วระงับกันด้วยอุบายวิธีการต่างๆ ไม่ยอมเคลื่อนคลาดจากจุดนั้นไปเลย ความโมโหโทโสหรือความโกรธจะลุกลามไปไม่ได้ เมื่อสติความระลึกรู้ย้อนเข้าสู่จุดแห่งเหตุนั้น ซึ่งเป็นจุดที่ถูกต้อง ด้วยการพิจารณาโดยทางปัญญาจนความโมโหโทโสระงับลงด้วยอุบายนั้นๆ คราวต่อไปก็จับจุดที่เคยปฏิบัติได้ผลมาแล้ว และพิจารณาระงับลงได้เรื่อยไป
ส่วนความหลงนั้นเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งละเอียดมาก มีแทรกอยู่กับกิเลสประเภทต่างๆ เต็มไปหมดไม่มีเว้น เพราะเป็นประเภทซึมซาบละเอียดลออ สามารถเข้าแทรกซึมได้ในกิเลสทุกประเภท เพราะฉะนั้น เราจะยกออกมาพูดเฉพาะโมหะเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เช่น ความโลภก็มีความหลงมาแทรก ความโกรธก็มีความหลงมาแทรก ความรักก็มีความหลงมาแทรก ความชังก็มีความหลงมาแทรกทั้งนั้น มันแทรกได้หมด จึงระงับดับกันด้วยสติปัญญาอันแหลมคมเท่านั้นที่จะให้โมหะนี้สิ้นสุดลงไปได้ อวิชชาได้สิ้นสุดลงไปจากจิตเมื่อใด พึงทราบว่าเมื่อนั้นแหละ โมหะอันสำคัญซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลายจึงจะสิ้นลงไป หากอวิชชายังไม่สิ้นเมื่อไรโมหะก็ยังต้องมีอยู่นั่นแหละ รากแก้วจริงๆ ออกมาจากโมหะอวิชชา
เราเป็นนักปฏิบัติทำหน้าที่ของการบวชเต็มภูมิของเราทุกวันเวลาทุกอิริยาบถ ด้วยการชำระสะสางกิเลสประเภทต่างๆ ซึ่งมีอยู่กับใจและเกิดขึ้นที่ใจ และลุกลามไปสู่ภายนอก ต้องถือเป็นกิจเป็นงานสำคัญ อย่าเห็นงานอื่นๆ ว่าเป็นงานจำเป็นหรือหนักแน่นมีคุณค่ายิ่งกว่างาน คือ การชำระกิเลสประเภทต่างๆ ภายในใจ ด้วยความเพียรท่าต่างๆ อุบายวิธีต่างๆ อยู่โดยสม่ำเสมอ อย่าเสียดายเวล่ำเวลา อย่าเสียดายอารมณ์แห่งความคิดความปรุงของใจ ซึ่งเคยเป็นมาและเคยหลอกหลอนมาเป็นเวลานานแล้ว ที่ว่า สังขารขันธ์ หรือ สัญญาขันธ์ นี้ออกหน้าออกตาอยู่ตลอดเวลา ผู้มีสติเท่านั้นถึงจะทราบเรื่องของสังขารและเรื่องของสัญญาที่ออกหน้าออกตาอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอะไรมากระทบให้คิดให้ปรุงให้เกิดความสำคัญมั่นหมายก็ตาม แต่มันเกิดขึ้นมาโดยลำพังของมันได้อย่างคล่องตัว ไม่เหมือนกับวิญญาณที่คอยรับทราบสิ่งภายนอกที่มาสัมผัสจึงจะปรากฏขึ้นมา
การพิจารณาจึงต้องถือใจเป็นสำคัญ มีสติคอยระมัดระวังเสมอ อย่าไปคุ้นเคยกับความเพียรแบบโลกๆ ซึ่งเป็นพิธีการของกิเลสแต่งกลอนแต่งบทเพลงให้เดินตามจังหวะของมัน เช่น เคยเดินจงกรมแล้วก็เดินไปเฉยๆ นั่งไปเฉยๆ ไม่มีความจดจ่อต่อเนื่องด้วยสติสัมปชัญญะกำกับใจในประโยคแห่งความเพียร ไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะสิ่งที่จะให้เกิดประโยชน์ตามหลักแห่งความเพียรนั้น ต้องมีสติเป็นเครื่องจดจ่อต่อเนื่องกันกับงานที่ทำ เช่น ผู้บริกรรมก็มีสติกำกับการบริกรรมของตนสืบเนื่องกันไปโดยลำดับ
ผู้พิจารณาทางด้านปัญญา สติเป็นของสำคัญไปตลอดสาย ไม่มีที่จะละเว้นสติเลย การยืน การเดินไปที่ไหนสติให้มีอยู่กับตัว ความมีสติอยู่กับตัวนั้นเหมือนกับมีเครื่องรับทราบ สติปัญญาท่าทางต่างๆ ที่จะระมัดระวังหรือต่อสู้ต้านทานกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องนั้น ย่อมทำหน้าที่ได้รวดเร็วกว่าคนไม่มีสติ ฉะนั้นจึงต้องฝึกสติ
ตั้งแต่พื้นๆ ภาวนา การอบรมเบื้องต้นก็อาศัยสติ จะเห็นได้ เช่น เวลาไปอยู่ในสถานที่น่ากลัวมาก ซึ่งได้เคยไปอยู่แล้วและได้เห็นเหตุเห็นผลกันกับเรื่องของสติได้ดี พอเป็นหลักฐานพยานยืนยัน และนำมาพูดให้หมู่เพื่อนฟังได้โดยไม่สงสัย คือ เราไปอยู่ในสถานที่น่ากลัว สติย่อมตั้งตัวอยู่เสมอ
การตั้งสติอยู่โดยสม่ำเสมอเพราะความระวังตัว ทั้งกลัวตายก็กลัว ทั้งกลัวจิตจะส่งออกไปสู่สิ่งที่กลัวนั้นก็กลัว จึงต้องระมัดระวังทั้งด้านอันตรายเกี่ยวกับสิ่งภายนอก เช่นเสือเป็นต้น ทั้งภายในกลัวสติจะเผลอตัวจากความเพียรนี้ก็ระวัง บังคับจิตไม่ให้เสียดายในอารมณ์ที่น่ากลัว เช่น คิดไปเรื่องเสือ เรื่องอันตรายต่างๆ ไม่ย่อมให้จิตเล็ดลอดออกไปคิดเป็นอันขาด บังคับให้คิดปรุงอยู่กับคำบริกรรมโดยเฉพาะเท่านั้น จิตปรุง พุทโธ ก็ให้อยู่กับ พุทโธ สืบเนื่องกันเป็นลำดับ สละทุกสิ่งทุกอย่างในความคิดภายนอก ให้สติกับจิตกลมกลืนกันเป็นอันเดียว
ทีนี้เมื่อสติมีความสืบต่อ งานของจิตที่กำลังภาวนาก็เป็นชิ้นเป็นอันเป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมา สามารถสั่งสมพลังขึ้นมาได้ในขณะนั้น กลายเป็นจิตที่มีความสงบตัวแน่นหนามั่นคงขึ้น ทั้งๆ ที่เดินก็เดินได้อยู่ เดินจงกรมกลับไปกลับมาก็เดินได้ แต่จิตมีความเหนียวแน่นมั่นคงอยู่ภายในตัวเอง ด้วยความมีสติเป็นเครื่องระวังรักษาอยู่ตลอดเวลา อารมณ์ที่เคยกลัวก็หายเงียบไป ไม่อยากคิด ไม่เสียดายในความคิดเกี่ยวกับอารมณ์ประเภทนั้นๆ แม้จะคิดออกไปถึงอารมณ์ที่น่ากลัว จิตก็เลยไม่กลัว พอคิดออกไป ขณะเดียวก็ถอยกลับเข้ามาทันทีอยู่ด้วยความมั่นคงของใจ ใจเลยกลายเป็นใจที่กล้าหาญขึ้นมาในขณะนั้น
ทั้งๆ ที่ในเบื้องต้นเริ่มเดินจงกรมจิตกลัวมาก แต่พอได้หลักเลยกลายเป็นจิตที่กล้าหาญขึ้นมาในขณะนั้น จะเดินนานสักเท่าไรก็ได้ ไม่มีความสะท้านหวั่นไหวต่อเรื่องความกลัวใดๆ ทั้งสิ้น เวลาจิตมีความแน่นหนามั่นคงเต็มกำลังของตัวในภูมินั้นแล้ว อย่าว่าแต่ไม่กลัวเฉยๆ เลย แม้เสือจะเดินเข้ามาผ่านทางจงกรม ก็สามารถจะเดินเข้าไปลูบคลำหลังเสือได้อย่างมิตรสหายเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ด้วยจิตที่มีความอ่อนโยน ไม่คิดเลยว่าเสือนั้นจะทำอันตรายอะไรแก่ตนได้เลย
แต่ความจริงนั้นเสือจะทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกแง่หนึ่ง แต่ความรู้สึกในขณะนั้นไม่มีกลัวอะไรทั้งสิ้น ขึ้นชื่อว่าอันตรายไม่มีความสะทกสะท้าน เพราะจิตมีความแน่นหนามั่นคงเต็มตัว เกินกว่าที่จะไปหมอบไปกลัวไปอ่อนน้อมต่อสิ่งนั้นว่าเป็นของน่ากลัวกลายเป็นจิตที่สง่าผ่าเผยองอาจกล้าหาญเต็มตัวขึ้นในเวลานั้น นี่ได้เห็นประจักษ์ใจกับตัวเองมาแล้ว
เพราะฉะนั้นการประกอบความพากเพียร แม้จะเป็นนิสัยขี้ขลาดหวาดกลัวของมนุษย์เราที่มีชีวิตอยู่เช่นสัตว์ทั้งหลายกลัวกันก็ตาม แต่ก็ต้องบังคับตนให้เข้าไปสู่สถานที่น่ากลัวนั้น เพื่อการประคองความเพียรได้ดีเสมอมา ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ที่เปลี่ยวๆ อันเป็นที่น่ากลัว พระองค์ทรงเห็นเหตุเห็นผลโดยสมบูรณ์แล้ว
เวลาไปอยู่สถานที่น่ากลัว ท่านก็แสดงให้เราได้เห็นได้อ่านอยู่แล้ว เช่น ธชัคคสูตร ว่าหากไปอยู่ในสถานที่น่ากลัว เกิดความเปลี่ยวเปล่าขึ้นภายในจิตใจ ใจว้าเหว่ ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ความกลัวนั้นจะหายไป หากระลึกถึงพระพุทธเจ้าความกลัวยังไม่หาย พึงระลึกถึงพระธรรมอันเป็นนิยยานิกธรรม แล้วความกลัวจะหายไป หากระลึกถึงพระธรรมความกลัวยังไม่หาย ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ ความกลัวจะหายไป นี้แหละคือหลักประกันจิตไม่ให้กลัว คือหลักธรรม จะเป็นพุทธ ธรรม สงฆ์ บทใดก็ตามเป็นธรรมด้วยกันทั้งนั้น และเป็นหลักยึดของใจได้เป็นอย่างดีหายห่วง
เวลาเรานำมาประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสั่งสอนไว้ โดยไม่ให้จิตเล็ดลอดออกไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่เป็นของน่ากลัวหรือไม่กลัวก็ตาม ให้จิตมีความกลมกลืนกันอยู่กับธรรมบทนั้นๆ จิตจะมีความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในตนโดยลำดับจนแน่ชัดภายในจิตใจ ว่าจิตนี้หาความสะทกสะท้านหวั่นไหวไม่ได้แล้ว เกี่ยวกับเรื่องความกลัวใดๆ ทั้งสิ้น ทีนี้เดินนานเท่าไรก็เดิน จะไปไหนก็ไปได้ ไม่มีความรู้สึกกลัว
ที่กล่าวนี้เป็นตามเวลา ไม่ใช่จะเป็นอยู่เสมอไป เมื่อจิตถอยออกมาจากนั้นแล้วมันก็มีความกลัวได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม เราพอมีหลักฐานพยานเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเราเคยทำด้วยอุบายวิธีนั้นๆ จิตของเราได้รับความสงบร่มเย็น ได้รับความกล้าหาญ เราจะต้องทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างอื่น เรียกว่า ได้หลักเกณฑ์ ไปไหนก็ใช้อุบายอย่างนั้นจริงๆ เป็นประจำ เป็นก็เป็นตายก็ตาย จิตจะไม่ยอมปล่อยวางจากหลักธรรมที่นำเข้ามากำกับใจนี้เลย เมื่อเป็นเช่นนั้นผลก็ต้องปรากฏขึ้นมาดังที่เคยปรากฏแล้ว นี่ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว
ตั้งแต่สมัยก่อนที่สัตว์เสือชุกชุมโน้น ผิดกับสมัยนี้อยู่มาก กาลเวลาผ่านกันมาไม่กี่ปี ความเปลี่ยนแปลงของโลกเปลี่ยนไปมาก เช่น ในป่า ในเขา แต่ก่อนมีแต่สัตว์แต่เสือมีแต่อันตราย ทุกวันนี้ป่าก็ถูกทำลายไปหมด ไปที่ไหนก็มีแต่ผู้แต่คน หาคำว่าสัตว์ว่าเสือชักจะไม่มี นานไปกว่านี้พูดเรื่องสัตว์เรื่องเสือ คนอาจจะไม่เชื่อก็ได้ ทั้งๆ ที่มันก็เคยมีเคยเป็นอยู่แล้ว
ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย พึงถือสติเป็นสำคัญ ให้กำกับตัว ถือเป็นภาระหน้าที่ของตัว อย่าเสียดายความคิดความปรุงเกี่ยวกับโลกสงสารใดๆ เราเคยคิดเคยปรุงเคยสัมผัสสัมพันธ์มาแล้วได้ผลดีชั่วประการใด พอที่จะนำมาเทียบเคียงเลือกเฟ้นได้แล้ว ไม่ควรจะเสียดายในอารมณ์ที่เคยเป็นมา
แต่พึงทราบว่าขึ้นชื่อว่าเรื่องกิเลสแล้ว ไม่ว่าประเภทใดๆ ต้องเป็นเครื่องกล่อมใจสัตว์ให้เคลิบเคลิ้มหลับไหลได้เป็นอย่างดี อย่าลืมนี้เป็นสำคัญ เราผู้ปฏิบัติก็พ้นไปจากความเป็นสัตว์โลกที่ถูกกล่อมจากกิเลสประเภทต่างๆ ไม่ได้เหมือนกัน จึงพึงตั้งสติรอรับไว้เสมอ ว่ากิเลสทุกประเภทจะต้องมากล่อมที่ใจ ใจจะต้องต่อสู้กับกิเลสด้วยธรรมมีสติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม ขันติธรรม เป็นสำคัญ
ขึ้นชื่อว่าธรรมต้องฝืนต้องต้านทานกับกิเลสเพราะการต่อสู้กัน อันใดฝืนอันนั้นมักเป็นธรรม อันใดที่ไม่ฝืนและเป็นความชอบพอ มักเป็นกิเลสเสมอในขั้นเริ่มแรกปฏิบัติ เว้นเสียแต่ธรรมะขั้นกลางถึงขั้นละเอียดแล้วนั้นเป็นอีกแง่หนึ่ง ผิดกัน นับตั้งแต่ธรรมขั้นกลางขึ้นไปแล้ว จิตใจมีความดูดดื่มในธรรม คลายโลกามิสทั้งหลายออกไปเป็นลำดับ สิ่งเหล่านั้นจึงไม่มีกำลังดึงดูดจิตใจให้อยู่ใต้อำนาจได้ ใจดูดดื่มและหนักแน่นในธรรม เพราะธรรมมีกำลังและมีรสชาติเหนือกว่าไปเป็นลำดับ
เฉพาะอย่างยิ่ง สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร นับวันมีกำลังกล้าไปโดยลำดับ จนถึงธรรมขั้นละเอียดเพียงไร จิตยิ่งมีความเพลิดเพลินรื่นเริงในธรรมจนเกินความพอดีไปก็มีในบางครั้ง ท่านจึงเรียกอุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องบนว่า ความฟุ้ง ความเพลินในการพิจารณา จนลืมเวล่ำเวลา ลืมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ซึ่งเป็นสังโยชน์เครื่องติดข้องประเภทหนึ่ง เพราะขัดต่อความพอดี คือ มัชฌิมา ความพอดีเหมาะสม
ดังที่มีในตำราที่พระท่านเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตกนั้น ถ้าความรู้สึกนึกคิดธรรมดาทั่วๆ ไปแล้ว ต้องว่าท่านฝึกท่านทรมานตนเอง บังคับตนเองให้เดินเสียจนฝ่าเท้าแตก ซึ่งทำให้ผู้เริ่มฝึกหัดปฏิบัติเกิดความท้อใจ อิดหนาระอาใจว่ายากเกินไปหนักเกินไป ไม่สามารถทำตามนั้นได้ แล้วหมดกำลังใจที่จะอุตส่าห์ขวนขวาย
แต่ถ้าคิดตามหลักปฏิบัติแล้ว ความเพียรขั้นนั้นหากเป็นอย่างนั้นเอง คือ เป็นความเพียรอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เว้นแต่เวลาหลับอย่างเดียว นอกนั้นเป็นความเพียรทั้งสิ้น เช่น เดินจงกรมจิตใจหมุนติ้วอยู่กับธรรม ระหว่างธรรมกับกิเลสที่ต่อสู้กัน พัวพันฟัดเหวี่ยงกันอยู่ตลอดเวลา ไม่คิดถึง เดือน ปี นาที โมง เช้าสายบ่ายเย็น หิวกระหายใดๆ ทั้งสิ้น ระหว่างสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรอัตโนมัติกับกิเลสเข้าตะลุมบอนกัน จะไปเผลอตัวได้อย่างไร นั่นแหละความเพียรที่ทำให้เพลิน เดินจงกรมจนกระทั่งฝ่าเท้าแตกไม่รู้สึกตัว เพราะไม่สนใจกับฝ่าเท้ายิ่งกว่าธรรม และเพราะพลังของจิตที่มีกำลังมาก เร่งต่อความพากเพียรเพื่อความหลุดพ้นฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสไม่มีคำว่าท้อถอยปล่อยวาง นอกจากให้ได้ชัยชนะหรือกิเลสหมอบราบไปหมด จนไม่มีกิเลสตัวใดเหลืออยู่ภายในใจเลย รอบๆ ตัวกลายเป็นซากกิเลสไปหมด นั้นแลเป็นที่พอใจของความเพียรประเภทนั้น
ฉะนั้นการประกอบความเพียรจนฝ่าเท้าแตกนั้น จึงเป็นฐานะที่เป็นไปได้ไม่สงสัยในธรรมขั้นนี้ นี่พูดทางภาคปฏิบัติ ต้องเอาความจริงมาพูดกันให้ถึงใจผู้ปฏิบัติบ้าง จะได้เป็นกำลังใจต่อสู้กับกิเลสตัวโลกทั้งหลายเกรงขาม
ทั้งนี้เพราะความเพลินในธรรมและความพากเพียร ไม่ใช่เป็นไปเพราะบังคับจิตเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก ทั้งๆ ที่จิตก็เร่ร่อนวุ่นนั่นวุ่นนี่หาสาระอะไรยังไม่ได้ แล้วก็เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตกนี้ คิดว่าจะเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้พอๆ กัน แต่ถ้าเพราะความเพียรเป็นเครื่องดึงดูด ทำความเพียรท่าต่างๆ จนลืมเวล่ำเวลาลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจนฝ่าเท้าแตกนั้น เป็นไปได้โดยไม่สงสัย ในหลักปฏิบัติที่เคยผ่านมาเป็นอย่างนั้น
นับแต่ธรรมขั้นกลางไปถึงขั้นนั้น ซึ่งเป็นขั้นละเอียดไปโดยลำดับแล้ว กำลังของโลกภายในใจอ่อนลงโดยลำดับแทบไม่ปรากฏ แต่กำลังของธรรมมีมากขึ้นๆ จึงทำให้ความเพียรหรือการบำเพ็ญทุกๆ ประโยค หมุนเป็นธรรมจักรไปได้โดยไม่รู้สึกฝืนเลย
เมื่อถึงขั้นละเอียดยิ่งกว่านั้น ต้องได้คุ้ยเขี่ยขุดค้นหาตัวกิเลส เพราะกิเลสหมอบกิเลสหลบซ่อนตามแบบฉลาดที่เคยครองไตรภพของมัน สติปัญญาทันสมัยเกรียงไกรเต็มที่ มีแต่ท่าจะฟาดฟันหั่นแหลกถ่ายเดียว หาคำว่าแพ้ไม่มี คำว่าท้อถอยไม่มี มีแต่ท่าจะเอาให้แหลกแตกกระจายไปจากใจ ไม่ให้มีเหลือเลยแม้แต่นิดหนึ่งขึ้นชื่อว่าสมมุติ เพราะฉะนั้นจิตขั้นนี้จึงหาความท้อถอยไม่ได้ หาความขี้เกียจไม่มี มีแต่ความขยันหมั่นเพียรและเป็นนักต่อสู้โดยถ่ายเดียว ต้องรั้งเอาไว้ คำว่ารั้ง คือ รั้งใจเข้าสู่ความสงบในสมาธิ เพื่อพักจากงานที่ชุลมุนวุ่นวายกันไม่มีเวล่ำเวลา ระหว่างธรรมกับกิเลสต่อสู้กัน ให้เข้าสู่สมาธิคือความสงบ เป็นกาลเป็นเวลาเพื่อสั่งสมกำลัง นี่เป็นความเหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ควรถือเป็นแบบฉบับในการดำเนินสมถะและวิปัสสนาจนถึงจุดหมายปลายทาง
เมื่อพักงาน ตามธรรมดาของจิตขั้นนี้ต้องเสียดายงาน เสียดายการทำงาน ไม่อยากพักตัว แต่จำเป็นต้องบังคับที่เรียกว่ารั้งเอาไว้ เพื่อพักสงบในสมาธิ เมื่อพักสงบใจก็มีกำลัง หยุดปรุงแต่งโดยทางปัญญาที่เคยนำไปใช้กับกิเลสเสียในขณะนั้น เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ทรงตัวอยู่ในความสงบพอสมควร เมื่อรู้สึกมีกำลังแล้วก็ถอยจิตออกเพื่อทำงานทางด้านปัญญาต่อไป
จิตนั้นพอถอยออกเท่านั้นจะวิ่งถึงงานทันที ไม่มีอะไรรวดเร็วยิ่งกว่าจิตขั้นนี้จากนั้นก็หมุนติ้วกับงานโดยลำดับๆ นั่น เมื่อถึงขั้นนี้แล้วไม่มีคำว่าขี้เกียจ นอกจากจะพูดว่าขั้นขยันเกินคาดเท่านั้น ซึ่งเป็นคำเหมาะสมกับจิตขั้นนี้ กิเลสหมอบ ต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้นกันเสียจนเต็มที่เต็มฐาน ซึ่งก็เป็นงานอันหนึ่ง พอเจอกิเลสก็ต่อสู้กับกิเลส นี้ก็เป็นงานอันหนึ่ง
การคุ้ยเขี่ยหากิเลสก็เป็นงานประเภทหนึ่ง เวลาเจอกันแล้วต่อสู้กัน ก็เป็นงานอันหนึ่ง จิตขั้นนี้จึงไม่มีเวลาว่างงาน ดังที่โลกพูดกันว่า คนว่างงาน นั่นคือคนขี้เกียจทำงานนั่นเอง จนได้ชัยชนะ หมายความว่าเข้าใจเรื่องกิเลสแต่ละชนิด หลุดลอยออกไปจากใจ แน่ใจ เห็นประจักษ์ไปเป็นพักๆ แล้วคุ้ยเขี่ยไปอีก ขุดค้นอีก เจออีกสู้อีกอยู่อย่างนั้น นี่คือปัญญาขั้นอัตโนมัติ หมุนตัวไปเอง ผู้ปฏิบัติถ้าลงปฏิบัติถึงขั้นนี้แล้ว ใจจะไม่มีเวลาว่างงาน งานจะเป็นไปอยู่ตลอดอิริยาบถ เว้นเสียแต่หลับ แม้แต่หลับก็ยังไม่อยากจะหลับ บางคืนตลอดรุ่งเอาเฉยๆ ไม่ยอมหลับเลย เพราะจิตยังทำงานอย่างเพลินตัวกลัวไม่หลุดพ้น
ด้วยเหตุนี้จึงต้องได้รั้งจิตยับยั้งจิตเข้าสู่สมาธิ เพื่อให้จิตมีความสงบ ขั้นนี้พูดตามธรรมะป่าเราเรียกว่าเพลินในความเพียร และเข้ากันได้กับคำว่าที่อุทธัจจะ ในสังโยชน์เบื้องบน คือ ความฟุ้ง ความเพลินในความเพียร วุ่นอยู่กับกิเลส ต่อสู้กับกิเลส พุ่งตัวออกไปต่อสู้กับกิเลสอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ฟุ้งซ่านแบบโลกๆ แล้วเกิดความรำคาญแบบโลกๆ อย่างนั้น ผิดกันคนละโลก นำมาเทียบกันไม่ได้
ฟุ้งในสถานที่นี้หมายถึงการออกต่อสู้กับกิเลสนั่นเอง จนลืมเนื้อลืมตัว ลืมเวล่ำเวลาความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปหมด ลักษณะนี้ท่านว่าอุทธัจจะ เมื่อจิตผ่านไปแล้วถึงจะรู้ได้ว่า อ๋อ ตรงนั้นคือจุดนั้น ถ้ายังไม่ผ่านก็ยังไม่รู้ เช่น การพักจิตในเรือนสมาธิ เมื่อมันจะตายจริงๆ ก็มาพักเสียทีหนึ่ง ทั้งๆ ที่ไม่อยากพักก็ต้องจำใจพัก เพราะจิตมันเหนื่อยมากจริงๆ แต่ถึงจะเหนื่อยก็ไม่ถอยนี่ ถ้าเป็นสิ่งที่ตายไปได้มันก็ตายได้จริงๆ เพราะความเหน็ดเหนื่อยเต็มประดาเกินกว่าจะทนได้ แต่จิตไม่ใช่เป็นของตาย มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยความเพลียภายในจิตเท่านั้น จิตไม่ได้ตาย จึงต้องพาเข้าสู่สมาธิเพื่อพักสงบอารมณ์วิปัสสนา ให้มีกำลังด้านสมาธิ
พอถอนออกจากสมาธิแล้ว จิตใจจะรู้สึกมีกำลังขึงขังตึงตัง นี่เห็นคุณค่าของสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุนปัญญาได้เป็นอย่างดี ท่านจึงกล่าวไว้ในอนุศาสน์นั้นว่าสมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาอันสมาธิอบรม อันสมาธิหนุนหลัง พูดง่ายๆ มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนแล้ว ย่อมทำงานได้ผลเป็นที่พอใจไปโดยลำดับ นี่พูดเอาความเป็นอย่างนี้
สมาธิจึงมีความจำเป็นตลอดสาย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย สมาธิจะละไปไม่ได้ ถึงกาลพักต้องพัก เช่นเดียวกับเราทำงาน เวลาทำงานก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงเวลาพักก็ต้องพัก รับประทานอาหารพักผ่อนนอนหลับพักเอากำลังวังชา ถึงไม่ได้งานได้การอะไรจากการพัก แต่ก็ได้กำลังสำหรับดำเนินงานในกาลต่อไปได้โดยสะดวก สมาธิกับปัญญาจึงมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก
ทีนี้ ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ นั่น จิตอันปัญญาอบรมแล้ว จิตอันปัญญาซักฟอกแล้ว พูดตามความถนัดใจทางภาคปฏิบัติ ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงแยกกันไม่ออก พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บัญญัติเองเพื่อส่วนรวมเป็นสาธารณะ คำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มีความเกี่ยวโยงกันอย่างนี้
จะใช้แบบสมัยจรวดดาวเทียมตัดทอนเอาตามความต้องการ (ของกิเลส มิใช่ของธรรม) ย่อมไม่ได้ ต้องให้เป็นไปตามหลักความจริงที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว
แต่สมาธิของใครจะเด่นขนาดไหนนั้น เป็นไปตามจริตนิสัย เรื่องความสงบเพื่อจะเป็นบาทฐานแห่งปัญญานั้นมีความจำเป็นเสมอกัน ไม่ให้มีสมาธิเลยแต่จะให้เป็นปัญญาล้วนๆ ไปเลยนั้น เป็นไปได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้ แม้แต่ขิปปาภิญญา ก็ยังมีความสงบแฝงอยู่ในระยะเดียวกัน
อย่างน้อยต้องให้มีจิตสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็เรียกว่าจิตอิ่มตัวพอประมาณ หรือจิตอิ่มตัว เหมือนกับเราได้รับประทานแล้ว แล้วตั้งหน้าทำงานให้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่เถลไถล ไม่คว้าโน้นคว้านี้เหมือนจิตที่ไม่มีความสงบ เต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านรำคาญ พิจารณาให้เป็นปัญญาก็กลายเป็นสัญญาอารมณ์ไปเสีย เพราะจิตไม่อิ่มตัว ฉะนั้นการอบรมสมาธิจึงมีความจำเป็นในขั้นเริ่มแรก
สมาธิขั้นใดก็ตามมีความจำเป็นต่อปัญญาขั้นนั้นๆ อย่าไปคิดว่าได้สมาธิเต็มที่แล้วจึงจะพิจารณาปัญญา นั้นเป็นความคิดผิด ความสงบขนาดใดก็ควรแก่ปัญญาขนาดนั้น บางครั้งปัญญายังต้องมาอบรมจิตให้เป็นสมาธิก็ยังมี ดังที่เขียนไว้แล้วนั้น นั้นเป็นชั่วระยะกาลที่เราจะนำมาใช้ ไม่ใช่เป็นธรรมพื้นเพเสมอไป เป็นธรรมเสมอไป เฉพาะสมาธิอบรมปัญญา ดังที่ท่านกล่าวไว้แล้วนั้น
ที่กล่าวมาเหล่านี้ ได้เริ่มกล่าวตั้งแต่เรื่องความหนักใจ ความท้อถอยอ่อนแอเกี่ยวกับเรื่องการงาน ในเบื้องต้นเป็นการลำบาก ทำให้เกิดความท้อถอยน้อยใจ อาจคิดไปว่าตนไม่มีวาสนาบ้าง ตนมีวาสนาน้อยบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ความจริงเรามีอุปนิสัยวาสนามาด้วยกันทุกคน เวลานี้เราก็ได้เป็นพระตั้งหน้ามาบวชในพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส กิเลสก็มีประเภทเดียวกันกับครั้งพุทธกาล ไม่ได้นอกเหนือไปจากนั้นเลย ธรรมะที่เป็นเครื่องปราบกิเลส คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ก็เป็นธรรมะที่เคยปราบปรามกิเลสให้สิ้นซากมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงสมัยนี้ ไม่มีคำว่าล้าสมัย ธรรมเหล่านี้แลเป็นธรรมที่ทันกับกิเลสทุกประเภท ขอให้นำมาใช้ เฉพาะอย่างยิ่งสติกับปัญญา ให้ถือเป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่ง มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลัง เราจะเห็นแดนแห่งความพ้นทุกข์ขึ้นที่ใจโดยไม่สงสัยเพราะความพากเพียร
ใจที่เคยอัดอั้นภายในตัวเองเพราะอำนาจแห่งกิเลสบีบบังคับ เมื่อได้รับการบุกเบิกด้วยความเพียร มีสติปัญญาเป็นเครื่องมือแล้ว จิตใจจะค่อยเบิกกว้างและสิ่งเหล่านั้นจะเพิกถอนออกไป จิตใจจะเกิดความโล่งโถงสว่างไสวภายในตน มีความสะดวกสบาย อยู่ที่ไหนก็สบาย เพียงแต่ขั้นสงบเท่านั้นเราก็สบาย มีต้นทุนพอได้อาศัยบ้างแล้ว
จงพิจารณาทางด้านปัญญาดังที่เคยอธิบายให้ฟังแล้ว อุบายวิธีแห่งการพิจารณาทางด้านปัญญานั้น ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของท่านผู้ใดจะควรคิดค้นขึ้นมา ให้เป็นความถนัดเหมาะสมกับจริตจิตใจของท่านผู้นั้น และเป็นสิ่งที่จะทำให้กิเลสหลุดลอยออกไปได้ นั้นเป็นอุบายที่ถูกต้องด้วยกัน อย่าคอยกวาดต้อนเอาตามแบบตามแผน ตามตำรับตำรามาแก้กิเลสโดยถ่ายเดียว จะไม่ทันกาลไม่ทันกับกิเลสที่นอกจากคัมภีร์มีเยอะแยะ ไม่ใช่ว่ากิเลสจะโง่ ไปนอนคอยตายกองกันอยู่ในคัมภีร์ ให้เราไปฟาดไปฟันมันด้วยมรรคซึ่งอยู่ในคัมภีร์เดียวกันนั้น ให้กิเลสฉิบหายตายไปหาได้ไม่
กิเลสมันอยู่นอกคัมภีร์ เข้ามาอยู่ในหัวใจเรานี้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นปัญญาจึงผลิตขึ้นให้ทันกัน เราได้เงื่อนได้หลักฐานมาจากการศึกษาเล่าเรียนพอประมาณแล้ว จงนำมาตีแผ่ออกแต่ละแขนงๆ ให้เป็นอุบายวิธีการของตนเอง นำมาใช้ฆ่ากิเลส ปราบกิเลสภายในใจ นี่ชื่อว่าเป็นผู้มีความแยบคายไปตามจริตนิสัยของแต่ละรายๆ ที่ควรนำมาใช้สำหรับตน ซึ่งถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น
อิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน ขอให้มีสติอยู่โดยสม่ำเสมอ แม้จะไม่ได้พิจารณาอะไร ความรู้สึกตัวให้เป็นสัมปชัญญะ พยายามฝึกให้ดี เมื่อสติมีความสืบเนื่องอยู่กับตัว ท่านเรียก สัมปชัญญะ ถ้านึกรู้เป็นขณะๆ ไปเรียกว่า สติ ถ้าละเอียดเข้าไปจนถึงกับเป็นอัตโนมัติของสติของปัญญาแล้ว ท่านก็เรียก มหาสติ มหาปัญญา เพราะเป็นไปได้อย่างนั้นจริงๆ
สติเมื่อถึงขั้นแก่กล้าสามารถ ปัญญาเมื่อถึงขั้นฉลาดแหลมคมแล้ว คนเราไม่ได้โง่อยู่ตลอดเวลา มันฉลาดได้ด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งถึงคราวจนตรอกจนมุมด้วยแล้ว สติปัญญาจะหมุนรอบตัว ใครจะไปยอมจนตรอก ใครจะไปยอมตายเฉยๆ ทั้งๆ ที่สติปัญญาพอที่จะคิดค้นหามาแก้ไข พอเล็ดลอดไปได้ ยังมีอยู่ภายในหัวใจ ใครจะไปยอมตายเปล่าๆ แบบโง่ๆ ตอนนั้นละตอนสติปัญญาเกิดและพลิกแพลงแก้ไขเอาตัวเล็ดลอดไปได้ และได้หลักฐานพยานยืนยันอย่างองอาจกล้าหาญในวาระต่อไป ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจใช้หัวคิดปัญญาให้เกิดความฉลาด
ให้มีความห้าวหาญต่อแดนพ้นทุกข์ สิ่งอื่นๆ ก็เคยได้พบได้เห็นได้สัมผัสสัมพันธ์มาแล้วดังที่ได้พูดแล้วนั้นแล เรื่องของโลกไม่มีใครโกหกใครได้ เพราะต่างคนต่างเคยสัมผัสสัมพันธ์มาด้วยกัน โทษคุณขนาดไหนก็เห็นแล้วด้วยใจของเรา ส่วนธรรมนี้เรายังไม่เคยรู้เคยเห็น ท่านผู้วิเศษเสียด้วยเป็นผู้แสดงไว้ แต่เราก็ยังไม่เคยรู้เคยเห็นอย่างท่าน
ผู้วิเศษคือใคร ก็คือ พระพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงค้นพบธรรมอัศจรรย์ ธรรมอัศจรรย์นี้ผู้จะรับทราบ ผู้จะรับรอง ผู้จะยืนยัน ผู้จะทรงรสชาติธรรมอัศจรรย์นั้นก็คือใจ คำว่าตรัสรู้ธรรมหรือบรรลุธรรมก็ตรัสรู้ที่ใจบรรลุที่ใจ ฆ่ากิเลสหมอบราบไปหมดแล้ว เหลือแต่ธรรมล้วนๆ เต็มพระทัยเต็มหัวใจ นั่นแหละที่เรียกว่า ศาสดาองค์วิเศษ สาวกองค์วิเศษ
ธรรมะที่กล่าวไว้ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นมีพอประมาณเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไรเลย ถ้าตามภูมิของศาสดาแล้ว ทรงสั่งสอนโลกมากต่อมาก สอนอยู่ถึง ๔๕ พระพรรษาจึงเสด็จปรินิพพาน ธรรมจะมีเพียง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เท่านั้น จะทันกับโรคกิเลสตัณหาของสัตว์ทั้งสามโลกธาตุนี้ได้อย่างไร ถ้าธรรมไม่มากมายยิ่งกว่านั้นเป็นไหนๆ ธรรมต้องมีมากต่อมากสมภูมิศาสดานั่นแล จึงจะทันกับกิเลสของสัตว์ซึ่งมีมากต่อมากด้วยกัน คือ มีมากทั้งมวลสัตว์ มีมากทั้งกิเลสบนหัวใจสัตว์โลก การสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่ซ้ำรอยกัน นอกจากจริตนิสัยของสัตว์โลกจะซ้ำรอย อุบายวิธีการแห่งธรรมที่ทรงแสดงออกจึงจะซ้ำกัน
วันคืนหนึ่งสัตว์โลกมาเกี่ยวข้องกับพระองค์มีมากต่อมากถึงสามโลกธาตุ นับแต่วันตรัสรู้แล้วทรงสั่งสอนโลกจนถึงวันเสด็จปรินิพพาน มีสัตว์โลกมาเกี่ยวข้องอย่างมหาศาล ธรรมต้องเป็นธรรมมหาศาลจึงจะสมดุลกัน การสั่งสอนก็สอนไปตามจริตนิสัยของนานาจิตตัง ธรรมจึงไม่อาจซ้ำกันได้ถ้าจริตไม่เหมือนกัน
ลงเป็นศาสดาสอนโลกแล้วต้องเป็นคลังแห่งธรรม สอนโลกอย่างไม่อัดไม่อั้น เต็มภูมิศาสดา สัตว์โลกจึงสนุกตักตวงผลประโยชน์จากคลังแห่งธรรมของศาสดา โดยสำเร็จเป็นพระโสดาบ้าง ไม่เป็นโสด้นโสเดาดังเราๆ ท่านๆ ที่เป็นกันอยู่ สำเร็จเป็นพระสกิทาคาบ้าง เป็นพระอนาคาบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง ไม่ขาดวรรคขาดตอนตลอดวันนิพพาน ธรรมเพื่อสัตว์โลกจำต้องมากพอแก่เหตุการณ์
พวกเราเพียงตัวเท่าหนูนี้ก็ลองให้รู้ซิ รู้อรรถรู้ธรรมขึ้นภายในใจ ต้องพูดได้อย่างเต็มปากและอาจหาญ ควรที่จะนำธรรมมาอบรมสั่งสอนลึกตื้นกว้างแคบ หยาบละเอียด ต้องพูดได้เต็มปากไม่กระดากอาย เพราะได้รู้ได้เห็นทั้งเหตุทั้งผลเต็มภูมิของตนมาแล้วด้วยกัน ทำไมจะพูดจะแนะนำสั่งสอนกันไม่ได้ ต้องได้โดยไม่สงสัย ธรรมจริงภายในใจกับธรรมจดจำมาจากตำรา ความรวดเร็วทันเหตุการณ์ต่างกันอยู่มาก พูดก็สาธุ มิได้ประมาทการเรียนเพราะเราก็เคยเรียนมา พอด้นเดาได้บ้าง แต่จะยกภาษิตแต่ละบทออกแสดง กลับวิ่งเข้าตำราหมด สุดท้ายก็คว้าธรรมะป่า ออกมาด้นเดาตามประสีประสา พอผ่านรอดตัวไปเป็นคราวๆ นั่นแล
เพียงเท่านี้ก็พอให้ทราบได้ว่า พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นจอมศาสดานั้น ทรงแสดงธรรมแก่โลกมีธรรมประมาณเท่าไร ต้องมีขนาดครอบโลกธาตุน่ะซิ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ทันกับกิเลสของสัตว์ กิเลสก็จะหาเรื่องตำหนิเอาว่า ภูมิธรรมของศาสดาสู้ภูมิกิเลสของมารไม่ได้ เป็นศาสดาองค์บกพร่องในธรรมนโยบายการสั่งสอน แต่กิเลสหมอบราบทั้งสิ้นเพราะนโยบายแห่งธรรมของพระองค์ จึงแน่ใจว่า พระธรรมมีมากเต็มภูมิของศาสดาซึ่งนอกจาก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ออกไป
นี่ก็พยายามอบรมสั่งสอนหมู่เพื่อนเพื่อให้ได้หลักได้เกณฑ์ ผู้มาใหม่ก็มีผู้อยู่เก่าก็มี จงตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ อย่ามาแบบเถลไถล มาสักแต่มา อยู่สักแต่อยู่ ไปสักแต่ไปไม่ได้เรื่องได้ราว และมาเอาชื่อเอานามเอาเกียรติยศชื่อเสียง ว่าเคยไปอยู่กับอาจารย์นั้นเคยไปอยู่กับอาจารย์นี้ ไปจับจ่ายขายกิน อย่างนั้นก็ยิ่งเลวไปใหญ่ ไม่ตรงกับความมุ่งหมายของผู้รับและให้การอบรมเพื่ออรรถเพื่อธรรมด้วยความบริสุทธิ์ใจ แก่บรรดาท่านผู้มาอาศัย เพราะฉะนั้นจงเห็นใจ ได้พยายามแนะนำสั่งสอนเพื่อนฝูงมาเต็มสติปัญญากำลังความสามารถ ไม่ว่าธรรมะขั้นใดภูมิใด ไม่เคยมีการปิดบังลี้ลับไว้แม้แต่น้อยเลย เปิดเผยให้ฟังทุกแง่ทุกมุมเพื่อเป็นคติเพื่อเป็นอุบายเพื่อเป็นกำลังใจ และดำเนินตามหลักธรรมที่สอนด้วยความแน่ใจว่าได้สอนโดยถูกต้องแล้วทุกขั้นแห่งธรรม คำว่า พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา นั้นจงพลีชีพด้วยการปฏิบัติบูชาท่านจริงๆ ผลแห่งการพลีชีพนั้นจะเป็นธรรมอัศจรรย์ขึ้นที่ใจแทนศาสดา ประหนึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประทับอยู่ตรงหน้าเราขณะนี้แล
จึงขอยุติเพียงเท่านี้ |