เทศน์อบรมฆราวาส ณ กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม
เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ [ค่ำ]
เรียงลำดับจิตตภาวนา
พระสังกัจจายน์ท่านแต่ก่อนรูปหล่อ ตามตำราที่บอกไว้ มองดูคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า เรื่องราวมันเป็นอย่างงั้น ไปที่ไหนผู้หญิงติด ผู้หญิงชอบ ผู้ชายก็ชอบ ไม่ใช่มีแต่ผู้หญิงนะ จนกระทั่งได้เปลี่ยนใหม่ ใครเห็นดูไม่ได้ ไม่อยากดู แต่ก่อนท่านสวยงามมาก ไปที่ไหน ๆ คนชอบ รัก นี่ล่ะผู้ชายที่กลับตัวเป็นผู้หญิงได้ก็เพราะไปชอบท่านน่ะสิ มองเห็นท่าน พระรูปนี้ทำไมจึงรูปหล่อนักหนา ถ้าเราได้เมียอย่างนี้จะดีมาก ว่างั้นนะ จากผู้ชายแล้วกลายเป็นผู้หญิงไปเลย แล้วอายใหญ่เลยหนีไปอยู่เมืองอื่น นี่ต้นเหตุไปที่ไหนเป็นอย่างนั้น พระกัจจายนะ ท่านไปอธิษฐานเสียใหม่ ทีนี้เลยเป็นรูปพุงหลวงอุ้มบาตรไปเลย ทีนี้ใครไม่ว่าผู้ชายผู้หญิงมองแล้วไม่อยากมอง จากผู้ชายกลายไปเป็นผู้หญิงนี้ก็ไปมีสามีมีลูกอีกตั้งสองคน ทีแรกเพศผู้ชาย พอไปรักชอบท่านยังไง พลิกเป็นเพศผู้หญิงไป ไปมีลูกอีกตั้งสองคน แต่ท่านก็มีนิสัย ไปที่ไหนอายคน ใครไปจ้อถามเรื่องราวแล้วอาย ออกบวชได้เป็นพระอรหันต์นะ ท่านมีอุปนิสัยอยู่ พระกัจจายนะ
ท่านเจ้าคุณจะกลับวันไหน (ท่านเจ้าคุณ : พรุ่งนี้ตอนบ่าย พวกโยมอยากจะถามปัญหาหลวงตา ว่าทำไมหลวงตาอยู่ได้ไม่สึก) อยู่ได้ไม่สึก ให้ถามท่านซี มาถามเราอะไร หาเรื่อง เข้าใจไม่ใช่เหรอ แล้วท่านทำไมอยู่ได้ไม่สึก แน่ะ มันก็อันเดียวกันนี่แหละ ก็ดีอย่างหนึ่ง การบวชไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ต้องใช้ความอดความทน ไม่อดไม่ทนสึกไปแหละ ต้องใช้ความอดความทน มีธรรมเป็นเครื่องกำกับบังคับไว้ตลอด ต่อไปมันก็ราบรื่นของมันไปเอง ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องจิตตภาวนานี้ จิตมันก็หมุนไปทางด้านภาวนา เรียกว่าเป็นธรรมล้วน ๆ เรื่องการสึกการหามันก็ไม่ไป มันไปอย่างนั้นเสีย มีหลายด้าน ทางด้านการศึกษาเล่าเรียนก็เพลินไปกับการศึกษาเล่าเรียนเป็นเครื่องดึงดูดไป มันก็ทนได้ ๆ ด้วยกัน ถ้าอยู่ไปเฉย ๆ ทนไม่ได้นะ
บวชทนเฉย ๆ มันทนไม่ได้ ต้องมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีธรรมแล้วความอดความทนก็มีมาเองทุกอย่าง เราก็อยู่ด้วยความเย็นใจ เพราะการบวชเป็นการสร้างความดี สร้างแต่ความดีเรื่อย จิตใจก็เพลินไปกับความดี ระมัดระวังตัวตลอดเวลา ทีนี้ก็ชินไปเรื่อย ก็เลยกลายเป็นชีวิตใหม่ขึ้นมาจากคนคนเดียว อย่างฆราวาส ว่าเป็นยังไงทำไมจึงทนได้บวชแล้วไม่สึก ก็พวกนี้มันทนกันได้ยังไงไม่เห็นบวชสักคนเดียว มันก็แบบเดียวกัน ทนได้ยังไงไม่เห็นบวช การบวชมุ่งอรรถมุ่งธรรมมันมีเครื่องรื่นเริงอยู่ภายในใจ อันดับหนึ่งก็บวชเพื่อมุ่งอรรถมุ่งธรรม ภาษาของโลกเราเรียกว่า บวชเพื่อหนีโลกหนีสงสาร อันนี้มีแต่มุ่งธรรมล้วน ๆ เลย บวชมุ่งอรรถมุ่งธรรมล้วนๆ คิดทางโลกปั๊บตีปุ๊บเลย คิดแยกออกทางโลกตีปุ๊บๆ เรื่อย มีแต่ไล่เข้าสู่ทางธรรม
อันนี้พูดถึงเรื่องยากลำบาก ลำบากอยู่ ขั้นเริ่มแรกลำบาก พอมีธรรมเป็นเครื่องอาศัยแล้วจิตใจก็เพลิดเพลินไปในธรรม เพลิดเพลินไปในความสงบร่มเย็นของธรรมภายในใจที่ตนปฏิบัติได้ คือจิตเมื่อมีธรรมภายในใจแล้ว ภาษาโลกว่ามีอาหารมีที่อยู่พร้อมหมดอยู่ในนั้น ที่อยู่ก็ธรรมเป็นเครื่องอยู่ อาหารก็คือธรรมเป็นเครื่องซึมซาบจิตใจ หล่อเลี้ยงจิตใจไปตลอด ไปเรื่อย ๆ ธรรมมีหลายประเภท คือเบื้องต้นจิตใจที่วอกแวกคลอนแคลนเพราะเคยกับโลกมานาน เกิดมากับโลก อยู่กับโลก ตายกับโลกมานมนาน มันก็ฝืนกันกับที่จะหมุนไปทางโลก ก็ต้องได้ตีกันให้หนัก ฝึกกันให้แรงเรื่อย ๆ ไป
ฝึกก็ฝึกเข้าสู่ธรรม เข้าสู่ความสงบของใจ คือธรรมดาของใจนั้นมันมีอันหนึ่ง ที่ว่ากิเลสและธรรมมันมีทั้งสองประเภทอยู่ในใจดวงเดียวกันของคนๆ หนึ่ง สัตว์ตัวหนึ่ง เราพูดเฉพาะคน คำว่ากิเลสก็คือความเศร้าหมอง ผลของมันเป็นความทุกข์ต่อจิตใจ และอารมณ์ของมันทำให้อยากไม่มีวันอิ่มพอ คือกิเลสมีความอยากเป็นประจำตน อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ มันหากเป็นอยู่ในใจ หมุนอยู่ภายใน นี่เรียกว่าอารมณ์ของกิเลส มันผลักมันดันออกไปให้อยากรู้ อยากเห็น อยากคิด อยากปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่อย แต่ไม่มีความพอ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ มันจะหมุนของมันไปเรื่อย ๆ
นี่เรียกว่าอารมณ์ของวัฏจักร อารมณ์ของกิเลส ทำให้สัตว์หมุนเวียน ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับๆ ไม่มีอะไรดับมันได้ ต้องอาศัยการหลับนอน เวลาหลับเป็นการดับเครื่องของกิเลสที่หมุนตัวอยู่ภายในหัวใจเรา อย่างนี้เป็นประจำ ๆ นี่ท่านเรียกว่าอารมณ์ของกิเลสออกจากใจดวงเดียวกัน เพราะมันเกิดและอยู่ที่ใจดวงเดียวกันกับธรรม เมื่อจิตมีแต่กิเลสออกทำงานอย่างเดียว จิตใจของโลกก็เป็นเรื่องของกิเลส หมุนตัวทั้งวันทั้งคืน ทั้งเขาทั้งเราแบบเดียวกันหมด นี่พูดถึงเรื่องของกิเลส อารมณ์ของกิเลสที่เกิดขึ้นภายในใจ ทำให้หิวให้โหย ให้อยาก ให้คิดให้ปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ กิเลสมีความอยากเป็นเรือนอยู่เรือนนอนของมันเป็นประจำ
ทีนี้แยกออกมาธรรม ธรรมนี้ก็เกิดอยู่ในใจ มีอยู่ที่ใจดวงเดียวกัน ความสุขความทุกข์จึงมีอยู่ที่ใจดวงเดียวกัน เวลาเราหมุนไปทางธรรม ธรรมก็แสดงออก หมุนไปทางกิเลส กิเลสก็แสดงออก ผลของมันก็เป็นความทุกข์ เจือปนไปด้วยความหวัง ความเพลิดความเพลิน ความหวังนั้นหวังนี้ นี่เป็นเครื่องล่อของกิเลส ครั้นเวลาเราทำไปแล้วมันก็ทำให้ผิดหวัง ๆ ไปเรื่อย ๆ มีอารมณ์ของกิเลสแล้วผลของมันก็ให้เกิดความทุกข์ความลำบากมากน้อย จนกระทั่งถึงขนาดฆ่าตัวตายก็มี ตายแล้วจะเป็นสุขอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็คิดไปอีก หลอกไปอีก จึงทำตามมัน
ทีนี้เวลาหมุนไปทางธรรมก็เป็นตามธรรม พยายามแก้ความคิดความปรุงที่มันอยากนั้นอยากนี้ด้วยอารมณ์ของธรรม ดังที่ท่านสอนให้ภาวนา อารมณ์ของกิเลสนั้นมันเป็นได้ทุกอย่าง เป็นอารมณ์ของมันโดยไม่ได้นึกบริกรรมเหมือนธรรมก็ตาม แต่นั้นเป็นอารมณ์ของธรรม ถ้าว่าบริกรรมก็เรียกว่าเราตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ บริกรรมเรื่องกิเลสทั้งวัน บริกรรมเรื่องอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หมุนอยู่ทั้งวัน นี่เป็นอารมณ์ของใจ เวลามาทางด้านธรรมะจึงต้องเอาอารมณ์ของธรรมออก เอาอารมณ์ของธรรมมาเป็นเครื่องกำกับ เป็นน้ำดับไฟคือความคิดปรุงที่เป็นผลขึ้นมาให้เกิดความทุกข์ อย่างอื่นอย่างใดดับไม่ลง ไม่รู้วิธีดับ
ท่านจึงสอนวิธีเริ่มต้นแห่งการดับไฟภายในใจ คือกิเลสที่มันก่อไฟขึ้นมาเผาเราด้วยคำบริกรรม เช่นใครถนัดในคำบริกรรมคำใดก็ตามซึ่งเป็นบทแห่งธรรม บทของธรรมกับอารมณ์ของธรรมกับอารมณ์ของกิเลสนี้ต่างกัน อารมณ์ของกิเลสทำให้เกิดความรุ่มร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ ให้เพลิดให้เพลินผสมกันไปๆ นี้เป็นอารมณ์ของกิเลส อารมณ์ของธรรมเอาคำบริกรรม คืออารมณ์ของธรรมเรานำเอาธรรมมาบริกรรมนี้ก็เป็นความชุ่มเย็นขึ้นมา ผิดกับอารมณ์ของกิเลสซึ่งให้เกิดความร้อนขึ้นมา อารมณ์ของธรรมได้แก่คำบริกรรม ให้รู้อยู่กับคำบริกรรม เช่น ใครกำหนดบริกรรมคำใด เช่น พุทโธ ๆ ก็ให้อยู่กับพุทโธนั้น ไม่ต้องไปเสียดายกับความคิดความปรุงอันเป็นเรื่องของกิเลส เสียดายก็บังคับไว้ให้มาทำงานกับคำบริกรรม
คำบริกรรมนี้แหละเป็นการทำงานของจิตด้วยธรรม เรียกว่าหมุนมาทางธรรม ทำงานด้วยคำบริกรรมนี้แล้ว จิตใจของเราห้ามไม่ให้มันคิดออกข้างนอก เอาคำบริกรรมนี้เข้าแทนอารมณ์ของกิเลส คืออารมณ์ของธรรมได้แก่พุทโธ ๆ เป็นต้น มีสติจดจ่อ บังคับ มันอยากจะคิดเท่าไร เพราะมันเคยชิน อยากคิดมากทีเดียว ดันออกไป เราบังคับเอาไว้ นานเข้า หนักเข้าอารมณ์ของธรรมก็มีกำลังขึ้น พอมีกำลังขึ้นอารมณ์ของกิเลสที่มันผลักดันให้คิดให้ปรุงไปทางกิเลสก็เบาลง ๆ อารมณ์ของธรรมคือคำบริกรรมเราหนักแน่นให้ติดต่อกันเรื่อย ๆ ด้วยความมีสติ
นั้นแหละผลของการบริกรรมภาวนา จิตใจจึงสงบด้วยอารมณ์ของธรรม ต่างหากนะ อารมณ์ของกิเลสไม่ได้พาใจให้สงบ คิดไปปรุงไปอย่างงั้นเท่าไรจนตายไม่มีทางสงบ แต่อารมณ์ของธรรมนี้เป็นความคิด เกิดขึ้นมาจากสังขารคือความคิดความปรุงเหมือนกันก็ตาม แต่อันหนึ่งเป็นธรรม อันหนึ่งเป็นไฟ อารมณ์ของกิเลสมันเป็นไฟ อารมณ์ของธรรมนี้เป็นเหมือนน้ำดับไฟ บริกรรมหนักเข้าจิตใจก็ค่อยสงบ มาจ่ออยู่กับคำบริกรรม ทีนี้ต่อเนื่องกันไป ๆ จิตก็สงบจากทางอารมณ์ของกิเลส ก็มาติดอยู่กับคำบริกรรมเรื่อย ๆ จิตสงบแน่วลงไปเลย นั่น
ให้รู้วิธีฝึกหัดตัวเองนะ พอเราเริ่มบริกรรมลงไปมากเข้าไป จิตของเราสงบ ๆ จากสงบแล้วรวมลงไปแน่วเลย นั้นแหละตอนที่เห็นชัด ผลแห่งงานคือกิเลสทำงานกับธรรมทำงาน ผลของกิเลสมีแต่ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย หาความสงบไม่มี แต่ผลของการบำเพ็ญธรรม คือคำบริกรรมนี่เป็นงานของธรรม ทำไม่หยุด แล้วจิตจะสงบแน่วลงไป พอจิตสงบแน่วลงไปทีนี้จะมีความตื่นเต้น มีความแปลกประหลาดในใจของเรา เพราะเป็นความสุข เบาหวิว ๆ ใจ พอใจสงบเท่านั้นเบาหวิว ความสงบกับความสุขกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน จากนั้นมากเข้า ๆ ก็เป็นความอัศจรรย์ขึ้นมาภายในใจ
นี่ละอารมณ์ของธรรมแสดงผลขึ้นมาให้เห็นเป็นความสุข ความสบาย ให้ตื่นเต้นภายในจิตใจ ยิ่งสงบมากเท่าไรยิ่งแนบแน่นลงไป ยิ่งแปลกประหลาด ยิ่งอัศจรรย์ในใจของตัวเอง แล้วมันก็อดไม่ได้ว่า อ๋อ ความสุขนี่เราหาแทบล้มแทบตายทั่วโลกดินแดน ทั้งเขาทั้งเราหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเจอที่ตรงไหนเพราะหาไม่ถูก แน่ะ มันก็รู้นะ ทีนี้หาแบบบำเพ็ญธรรม มันสงบ อ๋อ ความสุขอยู่ที่นี่ พอจิตเริ่มเป็นสงบได้รากได้ฐานขึ้นมา จิตใจก็ได้มาดื่มธรรม กับเรื่องของกิเลสทั้งหลายมันก็จางไป ๆ มันก็หมุนเข้าทางธรรม หมุนเข้ามากเท่าไรจิตก็ยิ่งมีความสงบเย็นมากเข้า ๆ ความเย็นกับความแปลกประหลาดอัศจรรย์มันจะขึ้นพร้อมกันในจิตของเรา ไม่ต้องถามใครก็ตาม ประจักษ์ในตัวเอง นั้นแหละเป็นความดื่มด่ำของจิตที่จะหมุนเข้าสู่ธรรมให้เจริญมากขึ้นๆ
จากนั้นจิตก็เรียกว่าจิตสงบ หรือสมถธรรมมีภายในใจ พออันนี้มีมากขึ้นแล้วมันก็สร้างฐานของมันขึ้นมา จิตสงบแต่ละครั้ง ๆ นั้น เป็นการสร้างฐานแห่งความมั่นคงของจิตขึ้นไปด้วยกัน ต่อไปก็เป็นสมาธิ นี่ทางภาคปฏิบัตินะ ท่านว่า สมถวิปัสสนา สมถะแล้วก็เป็นสมาธิ นี่ทางภาคปฏิบัติ พอจิตสงบหลายครั้งหลายหนเข้าไปเป็นสมาธิ สมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจ แน่นปึ๋งๆ ความเย็นก็เย็น ความสบายก็สบาย ความมีหลักเกณฑ์ภายในใจเด่นรู้อยู่ชัด จิตที่เป็นความรู้ ความรู้มารวมจิตเป็นอันเดียวกันอยู่ในสมาธิ มันจะคิดนอกลู่นอกทางไปไหนไม่ได้ มันผิดกับหลักความถูกต้องดีงาม จิตก็ปัด ไม่สนใจกับความคิดภายนอกตามโลกตามสงสาร
ภาวนาเข้าไปมากจิตก็เป็นสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของใจ เวลาจิตเป็นสมาธิแล้วเราจะคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องใดก็คิดได้ แต่จิตไม่ละฐานแห่งความมั่นคงของตน นี่เรียกว่าสมาธิทางภาคปฏิบัติ นี่ละพอจิตเป็นสมาธิแล้วอยู่ไหนสบายมากนะ อยู่ที่ไหนสบายหมด ไม่ว่าการอยู่ การกิน การใช้การสอยอะไรไม่เป็นอารมณ์ จิตใจดูดดื่มอยู่กับธรรมๆ อยู่ที่ไหน ร่มไม้ชายคา ในป่าในเขา ความเย็นอยู่กับหัวใจๆ แล้วดื่มด่ำอยู่กับธรรมอันนี้ มันก็เจริญขึ้นเรื่อย ๆ นี่พูดตามลำดับของการอบรมจิตใจเรา ต้องมีเครื่องอบรม อย่างอื่นอบรมไม่ได้ ต้องเอาธรรมมาอบรม เพราะธรรมกับกิเลสเป็นข้าศึกกัน
กิเลสเป็นตัวฟืนตัวไฟ ธรรมนี้เป็นน้ำดับไฟ เวลาเจริญขึ้นมาก ๆ จิตใจจากความสงบแล้วเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคง พอจิตแน่นหนามั่นคงแล้วอยู่ที่ไหนสบายหมด เช่นนั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ให้คิดมันก็ไม่คิด มันดื่มด่ำอยู่กับความรู้อยู่อันเดียว เอกัคตาจิต เอกัคตารมณ์ ได้แก่จิตที่เป็นสมาธิแล้วนั้นแล แน่นปึ๋งอยู่งั้น จะคิดปรุงอะไรนี่มันรำคาญ มันไม่อยากคิด ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนไม่ได้คิดไม่ได้รำคาญ ถ้าได้คิดเพลินไปอย่างนั้น ถือว่าสบาย แต่ความจริงไม่สบาย มันดีดมันดิ้น ทีนี้พอจิตเป็นสมาธิแล้วมันสบาย ไม่ดีดไม่ดิ้น พอคิดปรุงเรื่องอะไรไม่อยากคิดรำคาญ จิตที่เป็นสมาธิแล้วรำคาญในความคิด ท่านจึงเรียกว่า จิตอิ่มอารมณ์
ทีนี้พาออกก้าวเดินทางวิปัสสนา ทางด้านปัญญา พอจิตออกจากสมาธิแล้วพิจารณาทางด้านปัญญา พิจารณาดูธาตุดูขันธ์ ดูเขา ดูเรา ดูสัตว์โลก วัตถุต่าง ๆ ให้เป็นอรรถเป็นธรรม ซึ่งรวมอยู่อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง ด้วยกันทั้งนั้น มันติดอะไรพิจารณาอันนั้น แยกแยะอันนั้น ปัญญาค่อยสว่างขึ้นมา ทีนี้ความสว่างของปัญญา ความรู้ของปัญญากับความรู้ของสมาธินั้นไม่ได้เหมือนกันนะ ผิดกันมากทีเดียว สมาธิก็ว่าเราเป็นสุข ๆ ตอนที่ยังไม่ได้ออกทางด้านปัญญาก็ว่าสมาธินี้พอตัวแล้ว พอตัวจริง แต่พอตัวอยู่ในขั้นสมาธิ เหมือนน้ำเต็มแก้ว มันหยุดอยู่แค่นั้น ไม่กว้างขวางลึกซึ้งออกไปยิ่งกว่านั้น
พอก้าวออกทางด้านปัญญา พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ดังที่สอนไว้ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ กรรมฐาน ๕ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น นี่เป็นที่พิจารณาของจิตทางด้านวิปัสสนา เวลาถ้าไม่ได้หลักได้ฐานอะไร เราก็เอาพวกเกสา โลมานี้เป็นอารมณ์ของสมถะ ให้บริกรรมอยู่ในนี้ เช่น เกสาก็เกสาเรื่อย โลมาก็โลมา อันใดก็ตาม ชอบอะไรก็อยู่นั้นเป็นคำบริกรรม ออกทางด้านปัญญาเหล่านี้ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอามาแยกมาแยะเป็นปัญญาไปเรื่อย จิตใจก็สว่างออกๆ จิตใจสว่างทางด้านปัญญาไม่ได้เหมือนสมาธินะ หากเจ้าของเขารู้ในเจ้าของเอง กระจ่างแจ้งออกไป ๆ พร้อมทั้งการละกิเลส
ส่วนสมาธินี้ไม่ได้ละกิเลส เป็นแต่ทำกิเลสให้สงบตัวเข้ามา ๆ เหมือนกับหินทับหญ้า พอเอาหินออกหญ้ามันก็เกิดขึ้นอีก นี่มันพอสงบเท่านั้น ถ้าไม่ใช้ปัญญาแล้วสมาธิมันก็เสื่อมได้ ทีนี้เวลาใช้ปัญญาแล้วก็เหมือนกับว่าถอนหญ้าขึ้นด้วย ใช้ปัญญาไปตรงไหนถอดถอนกิเลสไปเรื่อย ๆ มันก็ชัดเจน อ๋อ ปัญญาต่างหากถอดถอนกิเลส สมาธิไม่ได้ถอดถอนกิเลส ทำกิเลสให้สงบไปเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาท่านสอน ท่านจึงสอนศีล สมาธิ ปัญญา ดังพระพุทธเจ้าสอน ศีล อย่างสอนพระก็ว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิที่ศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือคนที่มีศีลบริบูรณ์แล้ว ไม่ระแคะระคายในความด่างพร้อยของศีลตัวเอง ก็มีอารมณ์อันเดียว มุ่งต่ออรรถต่อธรรมก็สงบได้ง่าย จิตเป็นสมาธิได้ง่าย
ทีนี้ สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ตามคำที่ท่านสอนไว้ในอนุศาสน์ แต่ทางภาคปฏิบัติท่านมักจะตรงไปเลย สมาธิที่มีศีลเป็นพื้นฐานแล้วย่อมสงบได้เร็ว เพราะไม่ระแคะระคาย ทีนี้ปัญญาที่มีสมาธิหล่อเลี้ยงจิตใจ หนุนหลังแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว สมาธิมันอิ่มอารมณ์ คือไม่หิวโหยอยากดูรูป ฟังเสียง กลิ่น รส เครื่องต่าง ๆ ไม่หิวโหยในอารมณ์ พาดำเนินทางปัญญามันก็ออกเป็นปัญญาล้วนๆ ไปเลย ถ้าจิตกำลังหิวโหยในอารมณ์อยู่เอาไปใช้ทางปัญญา มันก็เป็นสัญญาอารมณ์ไปหมด ไม่ตั้งหน้าตั้งตาทำปัญญาให้แก้กิเลสน่ะซิ
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา เมื่อจิตมีสมาธิอิ่มตัวในอารมณ์แล้ว พอก้าวทางด้านปัญญาก็ก้าวได้อย่างสะดวกสบาย แน่ะ มันก็คล่องตัว ๆ เพราะไม่หิวโหยกับอารมณ์ พอจะไปข้องแวะกับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ พิจารณาเรื่องใดก็เป็นงานขึ้นมา พิจารณาเรื่องผม เรื่องขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ พิจารณาเรื่องอนิจฺจํก็ดี ทุกฺขํก็ดี อนตฺตาก็ดี มันก็เป็นทุกฺขํ เป็นอนตฺตาขึ้นมา พิจารณาเป็นอสุภะอสุภัง มันก็เป็นขึ้นมาตามหลักความจริงที่มันเคยมีอยู่แล้วในตัวของมัน เป็นแต่เพียงว่าปัญญาไม่ได้พิจารณาสอดส่อง มันก็ไม่รู้ตามหลักความจริง
ทีนี้พอปัญญาออกก้าวเดินอย่างนี้แล้ว มันก็เห็นตามความจริง ถอดถอนกิเลสไปเป็นลำดับลำดา ทีนี้ก็แน่ใจ อ๋อนี่ปัญญาต่างหากถอดถอนกิเลส สมาธิไม่ได้ถอดถอน เป็นแต่ตีสมาธิตะล่อมเข้ามา ปัญญาจะได้คลี่คลายออกไปเท่านั้น ทีนี้ปัญญาก็ก้าวเดินออก ทีแรกออกทางรูปเสียก่อน รูปธรรม วัตถุต่าง ๆ อยู่ในกฎของอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นสิ่งที่หาความแน่นอนไว้ใจไม่ได้ จากนั้นก็อสุภะอสุภัง ว่ามันสวยมันงาม มันสวยมันงามที่ไหน พิจารณาทางด้านปัญญา นี่เรียกว่าตามหลักความจริง ไม่ปิดไม่บังเหมือนกิเลสมันหลอกลวงโลก กิเลสนี้สกปรกขนาดไหน มันก็มาประดับประดาตกแต่งให้เป็นของสวยของงามหลอกลวงหัวใจของสัตว์โลกให้หลงไปตาม ๆ กันได้
แต่ทางด้านปัญญานี้พิจารณาเข้าถึงความจริง มันจะปิดไว้กี่ชั้นก็ตาม มันไม่หนีความจริง ปัญญาหยั่งเข้าถึงความจริง อะไรเป็นความสกปรกโสมม ปัญญานี้ตามเข้าไป เห็นหมด เห็นหมดแล้วก็ถอนตัวออกๆ เรื่อย ๆ นั่นละเรียกว่าปัญญา ที่ว่าสมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา เมื่อสมาธิเป็นเครื่องหนุน ไม่หิวโหยในอารมณ์แล้ว ปัญญาก็ทำหน้าที่สะดวกสบาย ทีนี้ออกจากนั้นแล้วเป็นยังไง ปัญญาทำหน้าที่พิจารณาแยกแยะถอดถอนกิเลสไปโดยลำดับลำดา ตั้งแต่กิเลสขั้นหยาบ ขั้นกลาง จะถอดถอนอันนั้นด้วยปัญญาทั้งนั้น เรื่อย ๆ ๆ ไป จนกระทั่งถึงนามธรรม
พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็อยู่ในกฎอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แม้จะไม่มีอสุภะอสุภังก็ตาม กฎ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ทำให้ติดได้ถ้าเราหลง พิจารณาเหล่านี้แล้วมันก็ถอน กฎอนิจฺจํก็ตายใจไม่ได้ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นสิ่งที่ตายใจไม่ได้ นอนใจไม่ได้ ยึดถือไว้ทำไมว่าเป็นตนเป็นตัว เป็นเรา เป็นเขาที่ไหนมันไม่มี มันมีแต่ลม ๆ แล้ง ๆ นี่ปัญญาหยั่งเข้าไปทางนี้ ส่วนร่างกายเวลาพิจารณาให้เต็มสัดเต็มส่วนมันถอนได้หมดนะ พิจารณาร่างกายส่วนรูปธรรม เมื่อปัญญากระจ่างแจ้งแล้ว มันจะถอนตัวออกหมดเลย
ร่างกายของเรานี่มันก็ไม่ยึด มันเห็นด้วยปัญญาแล้วมันถอนออกมาเอง ไม่ต้องไปถามใครนะ ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นอย่างนี้ละ คือรู้ด้วยกำลังการปฏิบัติของตัวเองเป็นลำดับลำดาไป พอมันอิ่มพอมันก็อิ่ม พออิ่มพอทางร่างกาย วัตถุต่าง ๆ มันก็พอด้วยกัน ปล่อยไปด้วยกันหมดเลย นี่ทางด้านวัตถุ จากนั้นเข้าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาแยกแยะ นี้ก็อยู่ในกฎ อนิจฺจํ สติปัญญาตามเข้าไป เป็นขั้นละเอียด ละเอียดเข้าไป จิตใจก็เบิกกว้าง ๆ ถ้าลงจิตไม่ติดรูปเสียอย่างเดียวเท่านั้น มันเวิ้งว้างเลยนะ มันโล่งโถงไปหมดแล้วจิตใจ มีแต่สติปัญญาก้าวเดิน เหมือนนกบินไปตามอากาศ ไม่ขัดข้องกับอะไร ๆ บินไปอย่างสบาย ปัญญาที่ผ่านจากรูปไปแล้วเป็นปัญญาที่เวิ้งว้าง ออกกว้างขวาง ไปที่ไหนละเอียดลออซึมซาบไปได้หมด ที่ไหนไม่ควรรู้ รู้ ไม่ควรเห็น เห็นไปหมด อำนาจของปัญญาไม่ติดอะไรในสิ่งวัตถุแล้ว มันก็เป็นอากาศเวิ้งว้างไปหมด นกบินก็บินไปได้สบาย อะไรไปก็สบาย ปัญญานี้ก็พุ่งตัวไปอย่างงั้น
แล้วก็ไหลเข้าไปหาจิต จิตนั้นแหละเป็นตัวอุปาทานใหญ่โต ขั้นอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นแหละกษัตริย์วัฏจักรอยู่ที่ตรงนั้น นั่นแหละรากแก้วของกิเลสทั้งหลาย สติปัญญาหมุนเข้าไป ละทางร่างกายนี้แล้วมันก็หดเข้าไปหาใจ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณานี้มันก็หดเข้าไป ย่นเข้าไปหาใจ มันจะตามเข้าไปหารากแก้วแห่งความเกิดตาย ไม่หยุดไม่ถอยคืออะไร มันก็วิ่งเข้าไป ปล่อยเข้าไปๆ รู้เท่าทัน ปล่อยเข้าไปเรื่อย ๆ เรื่องความคล่องแคล่วของจิต ความสว่างไสวของจิตไม่ต้องพูด อันนั้นเป็นผลแห่งการชำระ เราพูดแต่เรื่องที่เราจะถอดถอนกิเลสออกจากใจโดยลำดับเท่านั้น มันติดตรงไหนแก้ตรงนั้น พิจารณาตรงนั้น เบิกออกได้ แก้ออกได้ ถอนออกได้
เข้าจนกระทั่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็เป็นอาการอันหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มันก็ปล่อยเข้าไป รู้เข้าไปจนกระทั่งถึงจิต ถึงจิตก็เรียกว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาอยู่ที่จิตไม่อยู่ที่อื่น อย่างหลวงปู่มั่นท่านแสดง เรากราบราบทันทีเลย ไม่มีใครพูด ในตำราท่านก็ไม่บอก ท่านบอกไว้แต่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ ไปเท่านั้น แต่ท่านอาจารย์มั่นท่านมาพูดว่า ฐีติภูตํ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาเกิดขึ้นจาก ฐีติภูตํ คือจิตแท้ เกิดจากนี้ แต่ท่านเอานี้ออกไป เมื่อเปิดอันนี้แล้ว ฐีติภูตํ ก็จะบริสุทธิ์เอง ท่านว่างั้น เพราะอันนี้เป็นเครื่องปกปิดต่างหาก ท่านจึงพูดตั้งแต่อันนี้เป็นอวิชชาไปเลย ท่าว่างั้น เวลาพิจารณาก็เป็นอย่างนั้น
พิจารณาเข้าไปถึงนั้นแล้วหมุนเข้าไปหาจิต หมุนเข้าไปหาจิตแล้วมันก็พิจารณาทางจิตอีก สติปัญญานี้มีหลายขั้นนะ คำว่าสติปัญญาการพิจารณา ขั้นล้มลุกคลุกคลาน คือการภาวนาล้มลุกคลุกคลานดังที่เราฝึกเบื้องต้นใช้คำบริกรรม นี้เป็นอันหนึ่ง จากนั้นก็พิจารณาถึงสมาธิ ออกจากสมาธิแล้วเข้าเป็นปัญญา พิจารณาร่างกายนี้ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง พอพิจารณาร่างกายคล่องแคล่วว่องไวเข้าไป จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเราก็เรียนในปริยัติตั้งแต่ก่อน งงเป็นไก่ตาแตกไม่รู้ แต่ก็ไม่ถือเป็นอารมณ์อะไรมากนัก
สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้เห็นได้ยินอะไร หนึ่ง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณาของคนทั่ว ๆ ไป หนึ่ง ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ หนึ่ง อันนี้หลง คือไม่เข้าใจเลย แต่เวลามันก้าวเข้าถึงภาวนาขั้นพิจารณาร่างกายขยายทุกสัดทุกส่วน แตกกระจัดกระจายไปแล้วปัญญาขั้นนี้เกิด สติปัญญาขั้นนี้หมุนตัวเป็นธรรมจักร ไม่ต้องบังคับบัญชา เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ท่านเรียกว่าแก้กิเลสโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ขั้นนี้ไปแล้วแก้กิเลสเป็นอัตโนมัติ เหมือนกิเลสสร้างตัวของมันเป็นอัตโนมัติในจิตใจของสัตว์โลก เป็นอัตโนมัติของกิเลสเหมือนกันหมดเลย ไม่มีใครมาแก้ มาปราบปรามมัน
ทีนี้พอปัญญาขั้นนี้ขึ้นแล้ว สติปัญญาขั้นอัตโนมัติขึ้น ทีนี้แก้กิเลส กิเลสผูกมัดไว้ที่ไหนจะตามแก้ ตามถอดตามถอนโดยอัตโนมัติของตน ไม่มีวันมีคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับเท่านั้น นี้คือภาวนามยปัญญาของผู้มีความเพียรกล้า คือกล้าต่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว ไม่มีคำว่าหยุดว่าถอย ได้รั้งเอาไว้ ไม่งั้นมันเพลิน มันจะไม่หลับไม่นอนทั้งวันทั้งคืน ดังที่ท่านแสดงไว้ในพระโสณะ ว่าท่านความเพียรกล้าจนฝ่าเท้าแตก ไม่แตกได้ยังไงก็ความเพียรอันนี้หมุนตัวไปเอง เดินจงกรมถ้าลงได้เข้าไปสู่ทางจงกรมแล้ว เวลาไหนมันไม่สนใจ ยิ่งกว่าการพิจารณาธรรมภายใจ คือหมุนกันอยู่ภายใน เหมือนนักมวยเข้าวงในกัน นี่สติปัญญาอัตโนมัติหมุนกับกิเลสที่เคยเป็นอัตโนมัติอยู่ภายในจิตใจ ออกจากใจเป็นลำดับลำดา หมุนเข้าไป ๆ
กิเลสมันละเอียดเท่าไร สติปัญญานี้ละเอียดเข้าไปจนกลายเป็นมหาสติ มหาปัญญา ขึ้นกับสติปัญญาอัตโนมัตินั้นแลเป็นเครื่องเสริม พอสติปัญญาก้าวเข้าสู่มหาสติ มหาปัญญาแล้ว ทีนี้ความเพียรมันซึมซาบไปเลย ทั้งวันทั้งคืน ละเอียดลออสุขุมคัมภีรภาพ ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ แล้วที่นี่ มันใกล้ขนาดนั้น มีตั้งแต่ที่จะพ้นจากทุกข์โดยถ่ายเดียว ถอยไม่ได้ๆ มีแต่พุ่งเรื่อย นี่แหละสติปัญญาอัตโนมัติก้าวเข้าไปสู่มหาสติมหาปัญญาอัตโนมัติ ปล่อยได้เป็นลำดับลำดา จนถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาอัตโนมัติ นั่นละเข้าอวิชชาละที่นี่ มหาสติ มหาปัญญานี้เข้าอวิชชา รากแก้วแห่งวัฏจักร คือจิตตอวิชชาละที่นี่ เข้าไปตรงนั้น พิจารณาตรงนั้น
เมื่อเข้าตรงนั้นแล้วถอนพรวดขึ้นมาเลย ไม่มีเหลือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดับพรึบ แล้วก็ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา พลิกกันปุ๊บเลย เมื่ออวิชชาดับ วิญญาณดับ สังขารดับ อะไรเรื่อย มันก็ดับละซิตัวใหญ่มันดับ เหมือนต้นไม้ ต้นไม้มีกิ่งก้านสาขาดอกใบของมันจะสดสวยงดงามขนาดไหนก็ตาม เมื่อถอนรากแก้วมันขึ้นมาแล้ว กิ่งก้านไหนมันก็ดับไปตาม ๆ กันหมด ใบก็ดับ กิ่งก็ดับ เหี่ยวยุบยอบมาดับ ๆ ๆ หมด เพราะรากแก้วมันหมดแล้ว
อันนี้อวิชชาดับปุ๊บเท่านั้น สังขารก็เป็นสังขารล้วน ๆ อวิชชาพาสังขารเป็นสมุทัย วิญญาณ นามรูปทุกอย่างเป็นสมุทัยไปหมด เพราะอวิชชาพาให้เป็นปัจจัย ปัจจัยหนุนกันไป พออวิชชาถอนตัวออกมาแล้ว เรื่อง อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา พออวิชชาดับ สังขารดับ วิญญาณดับ นามรูปดับ ผัสสะ ตัณหา ภพชาติดับไปตาม ๆ กันหมดจากอวิชชา หมด นั่นน่ะท่านถอนวัฏจักรท่านถอนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านถอนอย่างนั้น สาวกท่านถอนอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะถอนอย่างนั้นเหมือนกันหมด เพราะเป็นทางแถวเดียวกัน กิเลสแบบเดียวกัน ธรรมะเครื่องแก้กิเลสแก้แบบเดียวกัน ขาดสะบั้นลงไปตาม ๆ กันหมด
ทีนี้พออวิชชาดับพรึบเท่านี้ จิตนี้ขาดสะบั้นลงไปจากภพจากชาติโดยไม่ต้องไปถามผู้หนึ่งผู้ใดเลย เพราะมันเกี่ยวโยงกันมามากน้อยเพียงไรมันรู้อยู่กับจิต พออวิชชาขาดก็เท่ากับว่าโลกธาตุ หรือสมมุติทั้งมวลขาดไปพร้อมกันจากใจ นั่น ท่านว่า ท่านตรัสรู้ หรือท่านบรรลุธรรม ผางขึ้นมาจะไปถามใคร สนฺทิฏฺฐิโก พระพุทธเจ้าประกาศไว้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เด็ดขาดแล้ว ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นบรรดาสาวกที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วจึงไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าก็เนื่องจาก สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเองของตัวเองเต็มหัวใจ ประกาศขึ้นมา
นี่การอบรมจิตใจ ขอให้ท่านทั้งหลายทราบเอาไว้นะ อย่างนี้ละ มรรค ผล นิพพานมีอยู่ตลอดเวลา เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ปฏิบัติหามรรค ผล นิพพาน ปฏิบัติตามกิเลสมันก็ยิ่งดีดดิ้นอยู่ทั้งวันทั้งคืนไปตามกิเลสทั้งวัน ธรรมไม่มี สุดท้ายก็ถือธรรมเป็นเหมือนมูตรเหมือนคูถไปเสีย เอากิเลสเป็นทองคำทั้งแท่ง เทิดทูนกันไป ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ราคะตัณหาก็ดี อะไรก็เลยดีไปหมด ของในโลกธาตุนี้ดีไปหมด เพราะกิเลสพาให้ดี ทั้ง ๆ ที่มันหลอกเราให้หลงไปหมด ไม่ว่าหลงนะ ว่าดีไปหมด
เวลาพิจารณาทางด้านปัญญา ออกทางด้านธรรมะนี้เลิกถอนหมดเลยไม่มีอะไรเหลือ ปล่อยไว้ตามเดิม ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ รู้เห็นตามเป็นจริง ปล่อยไว้ตามสภาพแห่งสภาวธรรมทุกอย่าง นั่นแหละผลแห่งการปฏิบัติธรรม เวลานี้ธรรมไม่ปรากฏก็เป็นเครื่องเทียบว่า ธรรมนี้เหมือนกับน้ำที่เต็มอยู่ในบึงในบ่อ เต็มอยู่ไม่บกพร่องละธรรม แต่จอกแหนที่อยู่บนน้ำนั้นมันปกปิดกำบังน้ำนี้เอาไว้ ไม่ให้มองเห็นน้ำ ใครมองไปก็เห็นตั้งแต่จอกแต่แหนอยู่บนน้ำ ก็เลยเข้าใจว่าน้ำไม่มีในบึงนั้นเสีย ความจริงน้ำเต็มอยู่ในบึง คือธรรมเต็มอยู่ในหัวใจ แต่กิเลสตัณหามันเป็นเหมือนจอกเหมือนแหน มันปกคลุมหัวใจเอาไว้ ไม่ให้มองเห็นอรรถเห็นธรรม มันก็เพลินไปตามกิเลสเสียทั้งวัน ๆ
พอเปิดออกด้วยการสร้างคุณงามความดีตลอดมาจนก้าวเข้าสู่จิตตภาวนา ทีนี้เปิดจอกเปิดแหน เปิดออกมันก็เห็น เปิดออกเรื่อย ๆ แล้วก็จ้าเลยที่นี่ เมื่อจอกแหนหมดจากบึงบ่อนั้นแล้ว น้ำถามหาที่ไหนก็น้ำเต็มในนั้นแล้ว เมื่อกิเลสเปิดออกหมดจากจิตใจแล้ว น้ำอมตะคือธรรม เรียกว่าธรรมธาตุ หรือธรรมไม่ตาย เต็มอยู่ในหัวใจแล้ว นั่นน่ะธรรม ทีนี้ธรรมเปิดแล้วในหัวใจ ดังหัวใจพระพุทธเจ้า หัวใจพระอรหันต์ เปิดหมด จอกแหนไม่มีเลย นั่น
พวกเรานี้น้ำก็มีอยู่ แต่จอกแหนมันปกคลุมน่ะซิ มันไม่เห็นเวลานี้ ให้พากันเปิดจอกเปิดแหนนะ ใครก็บ่นหาแต่มรรค ผล นิพพานไม่มี มันจะมีอะไร คว้าตั้งแต่จอกแต่แหนทั้งวันทั้งคืน รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส วัตถุต่าง ๆ มีแต่จอกแต่แหน อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี เป็นบ้ากันทั้งโลก เป็นบ้ากับจอกกับแหน คือกิเลสประเภทต่าง ๆ พากันจำนะ นี่การปฏิบัติธรรมะ การอบรมแล้วเป็นอย่างนี้ นี่แหละธรรมะคงเส้นคงวาหนาแน่น อกาลิโก ธรรมมีตลอดไป เหมือนกับกิเลสมีตลอดไป มันก็ปกปิดจิตใจของเราตลอดไป ถ้าเราไม่รื้อไม่ถอนมันออก กิเลสเป็นกิเลสเรื่อยไป ธรรมก็เป็นธรรมแต่อยู่ใต้อำนาจของกิเลสปิดบังไว้ไม่ให้เห็น
ให้พากันจำนะ วันนี้พูดเพียงเท่านี้ พวกเหล่านี้จะไม่ค่อยเข้าใจนัก วันนี้เทศน์เรียงลำดับของจิตตภาวนา แต่ผู้ภาวนาจะเข้าใจเป็นลำดับวิธีการดำเนิน วันนี้เทศน์เรียกว่าธรรมล้วน ๆ เลย พูดติดพูดต่อไปเรื่อย เรียงลำดับลำดา วันนี้เทศน์ธรรมะล้วน ๆ ให้ไปฟัง ถึงสหรัฐก็ไป นี่ละธรรมแท้เป็นอย่างงั้น เดินตามนี้จะไม่เป็นอื่นเลยเชียว ที่ว่าไม่จำเป็นกับสมาธิ เดินปัญญาเลย เป็นยังไงกับพูดวันนี้ นั่นละท่านเรียงตามลำดับ ตัดนู้นตัดนี้หาอะไร เอาละเลิก
อ่านและฟังธรรมเทศนาของหลวงตา วันต่อวัน ได้ที่
www.Luangta.com or www.Luangta.or.th
|