ความชอบธรรมทำโลกให้เย็น
วันที่ 5 มกราคม 2511 ความยาว 32.38 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๑

ความชอบธรรมทำโลกให้เย็น

         หลักธรรมในศาสนา เป็นแนวทางแห่งความประพฤติทั้งภายนอกภายในได้เป็นอย่างดี ทั้งทางโลกและทางธรรม หลักศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีขัดแย้งต่อการประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสทำได้ตามชั้นของตนหรือตามเพศของตน ฆราวาสก็มีศีลห้า  ศีลแปดบ้าง ส่วนหลักธรรมนั้นไม่มีขอบเขต ปฏิบัติได้ทั้งพระและฆราวาส แต่มีแยกไปใช้ตามเพศของตนเท่านั้นในธรรมะเป็นบางข้อ หลักศาสนานี้เป็นหลักที่รับรองทางความประพฤติทุกด้าน ถ้าปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักของศาสนาแล้ว จะไม่เป็นที่เดือดร้อนสำหรับตนเองและส่วนรวมด้วย

ความไว้วางใจกันก็คือหลักธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสไม่ว่าจะเป็นพระ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้คนไกลมีหลักธรรมวินัยเป็นขอบเขตด้วยกัน ฆราวาสก็มีศีลห้าเป็นขอบเขต ถ้าต่างคนต่างปฏิบัติตามขั้นของตนแล้วโลกก็มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมาให้ได้รับความเดือดร้อน ที่เกิดเรื่องกันอยู่ไม่ขาด และยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็เกี่ยวกับคนไม่ได้ปฏิบัติตนตามหลักของพระศาสนา คือทำเอาตามใจชอบ เรื่องจึงยุ่ง ทางด้านพระก็เหมือนกันการปฏิบัติก็ลงรอยเดียวกัน ทิฐิความรู้ความเห็นที่จะเป็นไปตามหลักของพระวินัยเป็นส่วนสำคัญก็ลงในรอยเดียวกัน ด้านธรรมะเป็นอีกแง่หนึ่งก็ลงในร่องรอยของพระธรรมที่สอนไว้ ก็ไม่เป็นการกระทบกระเทือนหรืออื้อฉาวต่างๆ นานา

พระเราถ้าไม่สามารถปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักของพระธรรมวินัยแล้ว ก็อยู่ด้วยกันไม่เป็นสุข แม้จะไปสอนโลกก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะมีสิ่งบกพร่อง บกพร่องทั้งๆ ที่เรื่องของพระมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติดัดแปลงตนเองให้สมบูรณ์ตามหลักของพระธรรมวินัย ที่เกิดเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านเรียกว่าอธิกรณ์ ก็คือเกี่ยวกับเรื่องของพระปฏิบัติตนให้เป็นที่ระแวงสงสัย ให้เป็นที่รังเกียจในหมู่เพื่อนด้วยกัน ใครก็ไม่กล้าจะอุปโภคบริโภคด้วย เรื่องก็เกิดขึ้น

เรื่องเกิดขึ้นจะยอมรับตามจริงก็ไม่ยอมรับก็เพราะทิฐิอันหนึ่ง กลัวเขาจะเห็นความผิดพลาดหรือความไม่เป็นท่าของตัวเอง ด้วยการปฏิบัติไม่ถูกธรรมวินัย หรือการปฏิบัติเหลวแหลกของตน มันต้องมีท่าต่อสู้ด้วยทิฐิมานะ ว่าไม่จริงบ้างอะไรบ้างแล้วแต่จะว่าไป ก็การหลีกโลกวัชชะ ส่วนหลักพระวินัยนั้นหลีกไม่ได้ จะอยู่ในที่แจ้งที่ลับก็ย่อมเป็นความผิดอยู่เช่นนั้น ที่เรื่องเกิดขึ้นเช่นนี้ก็เพราะไม่มีหิริโอตตัปปะภายในใจของพระ นอกจากนั้นยังมีทิฐิมานะไม่ยอมจำนนตามความผิดของตน เรื่องก็เลยยุ่งใหญ่กลายเป็นอธิกรณ์ขึ้นมา

ถ้าหากต่างคนต่างมุ่งปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยด้วยใจบริสุทธิ์จริงๆ แล้ว เรื่องเหล่านี้ก็ไม่มี จะมีจำนวนมากน้อยก็อยู่ด้วยกันเป็นสุข เพราะต่างคนก็มีทิฐิคือความเห็นลงรอยแห่งหลักธรรมวินัยด้วยกัน ไม่ทราบจะเอาอะไรมาขัดแย้งกัน เหมือนกับอวัยวะของเราที่มีความสมบูรณ์อยู่ทุกส่วน ก็ไม่มีความทุกข์ในส่วนร่างกาย อิริยาบถทั้ง ๔ เป็นที่สบายทั้งนั้น ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดไม่สะดวกขึ้นมา แม้ส่วนอื่นจะสะดวกสบายอยู่ก็ตาม คนคนนั้นก็คือคนไม่สมบูรณ์ด้วยสุขภาพอยู่นั่นเองเรียกว่าเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติตนให้ด่างพร้อยในหลักธรรมวินัยก็ชื่อว่าคนบกพร่อง เป็นที่รังเกียจแก่หมู่เพื่อน นอกจากนั้นตนเองก็เดือดร้อน นี่ถ้าผิดเป็นอย่างนั้น

ถ้าผู้อยู่เป็นสุข อยู่ด้วยกันมีมากมีน้อยก็เป็นสุข ไม่มีอะไรที่จะขัดแย้งเกิดทะเลาะวิวาทซึ่งกันและกัน เพราะความจริงมันก็ลงที่หลักธรรมะ เมื่อใครพูดเห็นว่าเป็นความถูกต้องแล้วก็ยอมรับกันทันที ไม่เห็นมีเรื่องอะไร เพราะต่างคนต่างพูดหรือต่างคนต่างเห็นก็เห็นเพื่อความถูกต้อง เมื่อลงในจุดที่ถูกแล้วไม่ทราบจะถกเถียงกันไปทำไม ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าไม่ได้พูดหาจุดที่ถูก ไม่ได้ปฏิบัติหาจุดที่ถูกมันก็ผิดเรื่อยไป เรื่องมันก็ยุ่งไปเรื่อยๆ นี่เราพูดในวงของพระที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัยที่เป็นเครื่องปกครองพระ ส่วนฆราวาสนั้นเป็นอีกประเภทหนึ่ง ถ้าต่างคนต่างมุ่งปฏิบัติตามเพศของตนในหลักธรรมวินัยที่ควรจะเป็น โลกก็ร่มเย็นเป็นสุข ในครอบครัวหนึ่งก็เป็นสุข ในบ้านหนึ่งก็เป็นสุข ออกไปวงกว้างเท่าไรมีแต่คนประเภทที่ดีทั้งนั้นก็เป็นสุขไปหมด นี่พูดถึงเรื่องความสุขส่วนรวม ความสุขส่วนภายนอก นอกจากตัวของเราไป

ทีนี้พูดถึงเรื่องความสุขภายในโดยเฉพาะ เรื่องจิตล้วนๆ แม้ส่วนร่างกายจะมีบกพร่องบ้างทางสุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ เป็นทุกข์เพราะเจ็บออดๆ แอดๆ แต่ใจมีความสุข ใจมีความเยือกเย็นด้วยอรรถด้วยธรรมที่ตนได้บำเพ็ญเต็มสติกำลังความสามารถของตน เสวยผลคือความสุขอยู่ภายในใจนี่เป็นสิ่งสำคัญ ใครจะวิ่งเต้นขวนขวายหาอะไรก็ตามที่เรียกว่าการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็เพื่อให้กายมีความอยู่เย็นเป็นสุข ให้ใจได้รับความสบายสมความมุ่งหวังที่ตนเสาะแสวงหามาได้ จุดใหญ่ก็ลงที่นี่

ถ้าแยกออกไปสำหรับผู้หยาบอันนั้นกำหนดไม่ถูก พรรณนาไม่จบ ผู้ที่โลภโมโทโสมีมากเท่าไรไม่พอ ได้ทางตรงไม่ได้เอาทางอ้อม ได้ทางตรงไม่ได้เอาทางโกง ไม่รู้กี่เล่ห์กี่เหลี่ยม อันนั้นเป็นอีกประเภทหนึ่ง ความชอบธรรมนี้แลทำโลกให้เย็น เจ้าของผู้เสาะแสวงหามาได้ก็เย็น สิ่งที่ไม่ชอบธรรมแม้จะร่ำรวยมากมายก็ไม่เป็นสุข เป็นความทุกข์อยู่อย่างลึกลับ เพราะเก็บความชั่วของตนไว้ ปกปิดไว้เป็นความกังวลกลัวคนเขาจะรู้ จะหาความสุขมาจากที่ไหน

เหมือนอย่างโจรผู้ร้ายไปเที่ยวปล้มสะดมมาหรือลักขโมยเขามา ถึงจะได้มาจำนวนเป็นพันๆ หมื่นๆ แสนๆ ล้านๆ ก็ตาม เขาก็ต้องทราบในตัวของเขาว่าเขาได้มาโดยทางไม่ชอบ ก็ต้องเป็นทุกข์อยู่นั้น เที่ยวหลบซ่อน หลบซ่อนตัวแล้วยังต้องซ่อนสิ่งของที่ได้มากลัวเจ้าหน้าที่จะจับตัวแล้วยึดของกลางได้จะกลายเป็นโทษหนักขึ้น อยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย นั่นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมย่อมไม่ทำความสบายให้แก่เจ้าตัว สิ่งที่ชอบธรรมจะมีมากมีน้อยเป็นความสบาย

เรื่องหาความสุข สำหรับพระเราไม่มีเรื่องอะไรนอกจากจะพยายามบำรุงจิตใจของตนให้ถูกทางอันจะเกิดความสุขขึ้นมา แต่การอบรมจิตเป็นสิ่งที่ยากอยู่บ้าง ในขั้นเริ่มแรกรู้สึกจะยากเย็น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สุดวิสัยของผู้บำเพ็ญจะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้นในตน อุบายวิธีที่จะฝึกหัดจิตใจของตนให้ได้รับความสงบเย็นใจ ได้อุบายต่างๆ ขึ้นมาเป็นเครื่องถอดถอนความกังวลที่เรียกว่ากิเลสของตนนั้น เป็นเรื่องเจ้าของจะต้องคิดต้องอ่านพินิจพิจารณาให้เกิดขึ้นด้วย เรื่องที่จะได้รับโอวาทจากครูอาจารย์ที่แนะนำสั่งสอนด้วย เกิดจากตำรับตำราที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วย มีหลายทาง

ใจที่ยังไม่สงบ เป็นแต่ความหวังอยากเป็นสุข ผลนั้นยังไม่ปรากฏ ถ้าเหตุคือการบำเพ็ญมากน้อยมีขึ้น ผลจะค่อยปรากฏ คือความสงบจะเป็นขึ้นเป็นลำดับ แต่การฝึกใจ อบรมใจ ทรมานใจนี้รู้สึกเป็นของที่ยากอยู่บ้าง ไม่เหมือนเราทำงานด้วยกายของเรา เวลาทำก็หนักจริง แต่หยุดแล้วสบาย ส่วนใจนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดคอยระมัดระวังเสมอ อารมณ์ใดที่เป็นข้าศึก ใจชอบที่จะคิดในอารมณ์นั้นๆ เสมอ อันนี้เราต้องคอยสังเกต ถ้าอารมณ์ใดที่เป็นภัยอย่าฝืนคิด มันจะต่อเรื่องขึ้นยืดยาว เกิดความทุกข์ติดกันเป็นลำดับๆ เพิ่มปริมาณขึ้น ยืนเดินนั่งนอนไม่สบาย นั่นคือก่อไฟเผาตัวเอง ธรรมะเป็นเหมือนกับน้ำดับไฟ น้ำเข้าไปถึงไหนไฟก็ดับ น้ำน้อยไม่พอกับไฟ ไฟก็ไม่ดับ กิเลสอาสวะเป็นเหมือนกับไฟ ความพากเพียรที่พยายามถอดถอนกิเลสเป็นเหมือนกับน้ำดับไฟ จึงพยายามทำให้พอกัน

ความเพียรก็ถือว่าเป็นหน้าที่การงานของเราซึ่งเป็นพระ โลกเขามีงานทำ อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ไม่ว่าคนมั่งมีศรีสุข ไม่ว่าคนทุกข์คนจน ไม่ว่าคนโง่คนฉลาด เกิดมาแล้วต้องทำงาน และไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ด้วยทำเหมือนกัน เราเป็นพระเราก็ทำงานของเรา งานรักษาศีลของตนไม่ให้ด่างพร้อยก็จัดว่าเป็นงาน ความระมัดระวังเพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีลแห่งธรรมของตนทุกด้านจัดว่าเป็นงานของพระ ถ้าเราระอาต่องานนี้แล้วเราก็เป็นพระต่อไปไม่ได้ พระของเราก็ยิ่งจะนับวันอับเฉาหรือร่วงโรยลงไปเป็นลำดับๆ จนถึงกับขาดสะบั้นไปจากตัว กลายเป็นเพศฆราวาสขึ้นมาที่เรียกว่าสึก ดังที่เราได้เห็นๆ กันอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นแดนแห่งพระพุทธศาสนา อันมีการบวชๆ สึกๆ กัน เพราะการทนไม่ไหว นี่โปรดนำมาเป็นอุบายวิธีเครื่องพร่ำสอนตน

ถ้าจิตอยู่สบายด้วยอำนาจแห่งความเพียรแล้ว มันไม่เดือดร้อนคนเรา จะอดบ้างอิ่มบ้างก็ถือเป็นคติธรรมดารู้เท่าทันเหตุการณ์เสียหมด จะได้รับของดีของชั่ว สมใจไม่สมใจมาก็ไม่เดือดร้อนเพราะอยู่กับจิต จิตไม่ยุ่งอะไรจะยุ่ง จิตเป็นผู้ก่อเหตุทั้งนั้น ถ้าจิตรู้เหตุรู้ผลทุกด้านทั้งดีทั้งชั่วในบรรดาสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับตนแล้ว จิตก็อยู่สบาย ไม่ได้กังวลวุ่นวายกับอะไร นั่นจิตสบาย ถ้าคิดอิดหนาระอาใจขึ้นมา จะด้วยสถานที่อยู่ก็ดี ด้วยความเพียรก็ดี ด้วยอาหารการขบฉันก็ดี ด้วยเครื่องใช้ไม้สอยก็ดี ด้วยยาแก้ไข้ก็ดี บรรดาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับส่วนร่างกายหรือจิตใจที่ได้รับความทุกข์ เราอย่าไปคิดถึงใคร ขอให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญและได้รับความชอกช้ำมามากยิ่งกว่าเราเป็นไหนๆ ไม่มีอะไรภายในตัวของเราที่เป็นทุกข์หรือที่มีความหนักแน่นจะเทียบเสมอเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าได้ เราต้องคิด

พระพุทธเจ้าท่านทรงบำเพ็ญมาก่อน พูดง่ายๆ ว่าทำไมท่านไม่ตาย จะมาตายแต่เราคนเดียวนี้เหรอ ทำไมท่านทำได้ เป็นถึงกษัตริย์สุขุมาลชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นเหมือนอย่างของสามัญชนที่ใช้ ที่อยู่หอปราสาท อาหารการเสวยก็มีของกษัตริย์ทั้งนั้น เครื่องใช้เครื่องทรงทุกอย่างเป็นของกษัตริย์ สละจากความเป็นกษัตริย์และสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว ได้รับความลำบากลำบน ใครจะเทียบพระพุทธเจ้า เราเป็นคนสามัญอยู่ตามบ้านตามช่องตามเรือนธรรมดา อาหารก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ทั่วๆ ไป ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนมนุษย์ทั่วๆ ไป เหตุใดการประกอบความเพียรของเราจะต้องไปกังวลกับสิ่งเหล่านี้ เราต้องคิดเป็นเครื่องแก้ไขตนเอง

ยกพระพุทธเจ้ามาเป็นแบบฉบับ ถ้าเราจะเป็นลูกศิษย์ตถาคตก็ต้องเดินตามเสด็จ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญอย่างไร ความลำบากพระองค์ได้เคยประสบมาแล้วทุกด้าน ไม่ว่าการอยู่การเสวยคือการขบฉัน การใช้สอยในสิ่งที่ควรใช้สอย พระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ขาดแคลนอดอยากยิ่งกว่าพวกเราเวลานี้เป็นไหนๆ แต่เหตุใดจึงฝืนพระองค์มาได้จนกลายเป็นศาสดาของโลก และสอนธรรมะไว้ให้พวกเราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตามหรือกราบไหว้บูชาตลอดมา เราเป็นลูกศิษย์พระตถาคตทำไมจะต้องอ่อนแอ ลูกศิษย์ตถาคตไม่มีผู้อ่อนแอ เพราะธรรมะก็กล้าหาญ แสดงไว้เพื่อความกล้าหาญ เป็นของสะอาดเป็นของบริสุทธิ์ เป็นของทนต่อการพิสูจน์ เราผู้ปฏิบัติทำไมจึงไม่พิสูจน์ตนเอง เวลานี้เราทนต่อการพิสูจน์ตัวของเราหรือไม่ เรามีความบกพร่องจุดไหนเวลานี้ ต้องพิสูจน์ตนเอง ถ้าทนต่อการพิสูจน์ของตัวเองได้แล้ว เอ้า ไปไหนก็ไป เวลานี้เรายังไม่ไว้ใจตัวเองก็คือไม่ทนต่อการพิสูจน์ของเราเองได้นั่นละสำคัญ

เรื่องความลำบากอย่าเอามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่ทางเดินของผู้จะนำสุขทุกขั้นมาให้ตน แต่เป็นอุปสรรคกีดขวางทางเดินเพื่อความสุขความเจริญ ความขยันหมั่นเพียรนั้นแลเป็นทางเดินที่ชอบธรรมและสม่ำเสมอ ทั้งเป็นทางเดินเพื่อสันติสุขคือพระนิพพานด้วย เราต้องนำมาเป็นคติสอนใจเรา ทั้งดำเนินตามหลักธรรม ความหนาวความร้อน ความหิวความกระหาย โลกเกิดขึ้นมาอยู่ในท่ามกลางของสิ่งเหล่านี้ใครจะไม่ประสบเล่า เราต้องคิดอย่างนั้น

โลกนี้เป็นโลกที่สมบูรณ์พูนสุขเมื่อไร เป็นโลกอนิจจัง ต้องมีความแปรสภาพไปโดยลำดับๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่แน่นอน ทั้งโลกนี้แหละไม่ต้องว่าแต่เราคนเดียว ไหนเราจะถือความไม่สม่ำเสมอความไม่แน่นอนแต่เราคนเดียว คนอื่นก็เหมือนกัน ทำไมจะต้องคิดแต่เราคนเดียว เราต้องคิดถึงโลกด้วย เมื่อคิดรอบคอบ ทั้งใกล้ทั้งไกลเอามาเทียบมาเคียงกันดูแล้ว มันก็เหมือนกันหมดอยู่ไหนก็อยู่ได้คนเรา

ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติด้วยความสนใจและพอใจจริงๆ ผลที่จะปรากฏขึ้นจากความเพียรที่ชอบธรรมเช่นนั้นจะเป็นความสงบเย็นใจต่อตนเอง ถ้าได้รับความสงบเย็นใจแล้วอยู่ไหนก็ค่อยสบายไปละ เห็นคุณของพระศาสนา ยิ่งทำใจให้สงบเยือกเย็นมากเข้าเท่าไร ก็ยิ่งเกิดความอัศจรรย์ภายในใจของตน ความเพียรก็ยิ่งแก่กล้า มีความดูดดื่มในความพากความเพียรเพื่อจะเขยิบฐานะของจิตให้ขึ้นสู่ความละเอียดขึ้นไปเป็นชั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลังเสมอโดยไม่ลดละ เมื่อความเพียรเป็นเครื่องหนุนเสมอ จิตใจของเราย่อมก้าวขึ้นสู่ระดับที่ดีขึ้นเป็นชั้นๆ ท่านกล่าวไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนจะพ้นทุกข์ไปได้ทุกประเภทแห่งทุกข์เพราะอำนาจแห่งความเพียร จึงโปรดจำไว้ในจิตใจอย่างฝังลึกอย่าให้ถอน ถ้าความเพียรถอนแล้วเป็นโมฆบุรุษ ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าความเพียรไม่ได้ถอนแล้ว ยังไงต้องหวังได้

มรรคผลนิพพานอย่าไปคิดที่ไหนนอกไปจากวงของสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่ท่านเรียกว่าสัจธรรม ทุกข์ก็ทราบว่าทุกข์ สัตว์ก็ทุกข์ คนก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ ทุกชาติชั้นวรรณะแห่งมนุษย์ทุกข์ทั้งนั้น ตลอดถึงสัตว์ก็ทุกข์ มีกี่ตัวมีประเภทใดบ้าง มีความทุกข์เหมือนกันหมด เราอย่าไปสงสัยเรื่องของทุกข์ว่าที่ไหนจะเป็นสุข ไม่มี ตัวของเรานี้ก็เป็นตัวอริยสัจอยู่แล้ว สัตว์ตัวอื่นๆ คนคนอื่นๆ จะไม่เป็นอริยสัจเหมือนกันกับเรายังไง มันเป็นตัวทุกข์ด้วยกัน พิจารณาให้เห็นฐานของทุกข์ รู้ฐานของทุกข์ ธรรมชาติแห่งทุกข์จริงๆ แล้ว เขาไม่รู้สึกตัวของเขาว่าเป็นอะไร เราที่ไปรับรู้เขานี่แลเป็นผู้ทุกข์ เหมือนอย่างไฟร้อน ไฟเองเขาไม่ทราบความหมายของเขาว่าร้อนหรือเย็น ผู้ไปสัมผัสนั้นแลได้รับความทุกข์ได้รับความร้อน และทราบว่าไฟนี้ร้อนมากน้อยเท่าไร ทราบภายในตัวของบุคคลผู้ไปสัมผัส พิจารณาให้ดี

สมุทัยที่ว่าเขาเป็นผู้ก่อเหตุแห่งทุกข์ เขาก็ไม่ได้ทำความรู้สึกตัวของเขาว่าเขาเป็นสมุทัย เพราะสิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจ ผู้นี้เป็นผู้รู้แต่มีความหลงแฝงเข้าไป จึงหาทางระงับดับทุกข์ไม่ได้ด้วยอำนาจแห่งมรรคคือข้อปฏิบัติ เมื่อดำเนินตามมรรคที่ท่านสอนเอาไว้ นั้นแลเป็นทางแก้ทุกข์ เพราะเหตุแห่งความเพียรนั้นเป็นการจะรื้อถอนสมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ นิโรธะก็คือกิริยาที่ดับทุกข์ ท่านเรียกว่านิโรธะหรือนิโรธ นิโรธแปลว่าความดับ กิริยาที่ดับนั้นท่านเรียกว่านิโรธ ทุกข์ดับไปเพราะสมุทัยไม่มี คำว่านิโรธก็คือความดับทั้งทุกข์ทั้งสมุทัยนั่นแล ไม่ใช่จะดับเพียงทุกข์ สมุทัยยังอยู่ ถ้าสมุทัยยังอยู่ทุกข์ก็ต้องอยู่ ต้องดับทั้งหมด กิริยาที่ดับนั้นท่านเรียกว่านิโรธ

ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ดับไปนั้นไม่ใช่สัจจะ ๔ นี้ ผู้นั้นแลเป็นผู้แน่นอน มรรคคือข้อปฏิบัติเครื่องกำจัดกิเลส เมื่อกิเลสสิ้นไปแล้วมรรคก็เป็นเหมือนเครื่องมือทำงาน เช่นเดียวกับมีดพร้าของเรามาทำงาน ผลของงานเราได้มาทำเป็นประโยชน์สำหรับเรา เครื่องมือก็วางไว้ มรรคจึงเป็นเหมือนเครื่องมือ ใครจะกอบโกยเอาไปด้วยเมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว เหมือนกับเส้นทางที่เราเดินไปสู่จุดต่างๆ ไปจนถึงที่แล้ว ใครจะย้อนกลับมากอบโกยเอาทางเหล่านั้นไปด้วย ไม่จำเป็น ทางก็เป็นทางอยู่เช่นนั้น ทุกข์ก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง สมุทัยก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง มรรคก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง นิโรธความดับทุกข์ก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง นี่เรียกว่าสัจธรรมทั้ง ๔ เป็นทางเดินเพื่อพระนิพพาน ผู้ที่รู้แจ้งชัดในสัจธรรมทั้ง ๔ นี้ ท่านเรียกว่าความบริสุทธิ์ ทุกข์ดับไปแล้วเราจะไปหาอะไรที่ไหน นั่นท่านเรียกว่านิโรธะ กิริยาที่ดับทุกข์นั้นแลท่านเรียกว่านิโรธ

ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ดับไปเป็นอย่างหนึ่ง อันนี้ไม่ใช่สัจจะทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ก็คือธรรมชาตินี้แลบริสุทธิ์ เป็นผู้รอบในสัจธรรมทั้ง ๔ แล้ว อันนี้ไม่มีปัญหา จะเรียกว่าอะไรก็ไม่เป็นปัญหา เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาท่านเรียกว่าสมมุติทั้งนั้น ได้ผ่านไปหมดแล้ว นี่แหละเราหาความบริสุทธิ์ หาในจุดนี้ เราอย่าไปคาดคะเนว่าพระนิพพานอยู่ที่ไหน ทุกข์ที่ไหน สมุทัยก็มีอยู่ที่นั่น เป็นเครื่องหนุนให้มีขึ้นมา สมุทัยมีอยู่ที่ไหนมรรคก็จะต้องมีขึ้นที่นั่น จึงจะแก้สมุทัยได้ในที่นั่น เมื่อมรรคมีความสามารถแก้สมุทัยได้แค่ไหน นิโรธะก็แสดงตัวขึ้นมาเป็นลำดับๆ ตามอำนาจแห่งมรรคที่ถอนสมุทัยได้เท่าไร มรรคถอนสมุทัยได้ทั้งหมด นิโรธะที่ภาษาไทยเราเรียกนิโรธ ก็ดับทุกข์ได้โดยสมบูรณ์ในขณะนั้น

ทุกข์ดับไปแล้วโดยสิ้นเชิงในกาลใดก็เป็นวิสุทธิ หรือเป็นวิมุตติความหลุดพ้นในขณะนั้นนั่นแล และในสถานที่นั้นด้วย ธรรมชาตินี้แลถ้าจะพูดให้สนิทปากตามความรู้สึกของผม อกาลิโกคือธรรมชาตินี้แลเป็นรากฐานของอกาลิโกแท้ เบื้องต้นก็คือใจมีอยู่ แต่ใจนั้นยังเจือปนอยู่ด้วยกิเลสโสมมต่างๆ พอถอดถอนสิ่งเหล่านี้ออกไปแล้ว ยังเหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ นั้นเป็นอกาลิโกอย่างสมบูรณ์ มีอยู่ตลอดเวลา บริสุทธิ์อยู่ทุกกาล ไม่เลือกเวล่ำเวลากาลสถานที่ทั้งนั้น นี่คืออกาลิโกแท้ในหลักธรรมชาติ

ขอให้พากันตั้งใจให้เป็นสมบัติอันล้นค่าขึ้นมาภายในตัวของเรา ได้สมบัตินี้แล้วอย่างอื่นจะจางหรือหายไปหมด ไม่มีสิ่งใดเหลือ อันนี้เป็นของมีคุณค่ามากยิ่งกว่าสมบัติใดๆ ในโลก แม้แต่ในร่างกายของเราก็คือใจนี้แลเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ได้สมบัติอันล้นค่านี้แล้วเป็นอันว่าหมดปัญหา ไม่มีความหิวความอยากจะต้องการสมบัติใดๆ อีกแล้ว ขอยุติเพียงเท่านี้ เอาละ

 

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก