นิสัยเราชอบพุทโธ
วันที่ 13 ธันวาคม 2545 เวลา 19:00 น. ความยาว 30.55 นาที
สถานที่ : กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม

เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ (๑๙:๐๐ น.)

นิสัยเราชอบพุทโธ

 

แต่ก่อนวัดโยธานิมิต หนองขอนกว้าง กรมทหารอุดรนี่ก็ ท่านพระครูท่านเดินจงกรมอยู่เป็นประจำ ท่านพระครูปลัดอะไร สมณศักดิ์ท่านเราจำไม่ได้ แต่ท่านก็เป็นพระครูไปจนกระทั่งท่านมรณภาพนะ ดูเหมือนไม่ได้เป็นเจ้าคุณ ท่านเดินจงกรมนะ ตอนเช้าท่านออกแต่เช้า ตี ๔ ท่านออกแล้วนะ ออกไปเดินจงกรมหน้าโบสถ์ ท่านนอนอยู่หลังพระประธานในโบสถ์ ท่านมีเตียงนอนข้างหลังพระประธาน ไอ้เราเป็นนาคฝึกหัดบวช ยังไม่ได้บวช นอนอยู่ทางหน้าโบสถ์ แต่อยู่ในโบสถ์นั่นแหละ ท่านก็ปฏิบัติตามวินัยโดยถูกต้อง คือพระกับฆราวาสนอนร่วมกัน อยู่ในกุฏิหลังเดียวกัน ที่มุงที่บังอันเดียวกัน ได้เพียง ๓ คืน เลยนั้นไม่ได้ ปรับอาบัติ

ทีนี้เพื่อแก้พระวินัยข้อนี้อีกก็คือว่า พอถึงคืนที่ ๓ นั้น ท่านออกไปเสีย เช่นไปเดินจงกรมข้างนอก ไปสว่างอยู่ข้างนอกเสีย ไม่ได้สว่างด้วยกันกับฆราวาสที่นอนร่วมกัน  นั่นก็เรียกว่า ไม่เป็นอาบัติ นอนได้ ๒ คืน คืนที่ ๓ ท่านลุกแต่เช้า ไม่ให้สว่างไปด้วยกัน ลุกออกไปเดินจงกรมเสีย วันหลังก็ตั้งได้อีก ๑ คืน ๒ คืนไปอีก พอถึงนั้นก็หลีกอย่างนั้น นอนได้ตลอดไปตามพระวินัย นี่ท่านก็ทำอย่างนั้น เราก็สังเกตท่านอยู่ ท่านเดินจงกรมแต่เช้า ตั้งแต่ตี ๔ พอสว่างแล้วท่านก็เข้ามาในโบสถ์ ไหว้พระก่อนไปบิณฑบาต

วัดโยธานิมิตนี้ก่อนบิณฑบาตไหว้พระเสียก่อน พอสว่างแล้วก็ไหว้พระ ไหว้พระเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาออกบิณฑบาต อย่างนี้เป็นประจำ แต่ทุกวันจะเปลี่ยนแปลงยังไงเราไม่ทราบ แต่สมัยที่เราอยู่เป็นอย่างนั้น ท่านเดินจงกรมเป็นประจำตอนเช้า กลางคืนถ้าวันไหน ท่านไม่เหน็ดเหนื่อยมาก มีเวลาท่านก็ออกเดินเหมือนกัน ไม่ใช่จะรอเดินแต่ตอนเช้าอย่างเดียว กลางคืนท่านก็เดิน แต่ไม่เหมือนตอนเช้า รู้สึกจะแทบทุกเช้านะ เพราะฉะนั้นเรื่องหักราตรี หักเวลานี้จึงไม่มีปัญหาสำหรับท่าน ท่านออกก่อน ไปสว่างอยู่ข้างนอกนี้เสีย ไม่ถึง ๓ คืนอะไรเลย

นี่แหละที่เราเวลาบวชแล้วเราก็สนใจ เราเป็นนาคเราก็สังเกตตลอดท่านเดินจงกรมยังไง ๆ เราเป็นฆราวาสก็มีผู้สอนอยู่ ก็ท่านนี่แหละ ท่านไปบ้านตาด เป็นวัดอยู่ที่นั่น เวลาท่านไปท่านสอนเรื่องภาวนา เราก็พอจำได้บ้าง ทีนี้เวลามาเป็นนาคจะบวชนั้นก็คอยสังเกตดูท่านตลอดเวลา พอบวชแล้ว เราก็เดินจงกรมเหมือนกัน ภาวนาเหมือนกัน เวลาเข้าไปหาท่านไปศึกษาไต่ถามกับท่านเรื่องภาวนา จะให้ภาวนายังไงกระผมอยากภาวนา อยากเดินจงกรม จะเอาคำไหนเป็นคำภาวนา ท่านว่าอย่างงั้นนะ ท่านก็บอกว่า เอ้อ เอาพุทโธนะ เราก็เอาพุทโธ แน่ะ ท่านว่าอย่างงี้

เราก็จับเอาพุทโธ ติดตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน นิสัยเราเลยติดกับพุทโธ พอพูดพุทโธนี้โล่งในหัวใจ อย่างอื่นถึงจะเป็นภาษาธรรมด้วยกันก็ตาม แต่ก็เข้ากับจริตนิสัยของรายใดที่จะชอบธรรมบทใด จึงต้องนำธรรมบทนั้นมาบริกรรมให้เหมาะกับจริตนิสัยของตัวเองแล้วมันก็โล่งไปเลย เราถึงได้มาภาวนา ท่านสอนอย่างงั้น จำได้นะ ให้เอาพุทโธนะ เราก็เอาพุทโธแหละ เราก็เลยภาวนาพุทโธเรื่อย

ท่านพระครูท่านมีเดินจงกรม ภาวนาตลอด สวดมนต์เก่ง ส่วนมากพระปริยัติไม่ค่อยเห็นเดินจงกรมกันนะ ไม่เห็น เราเรียนหนังสืออยู่ เพราะเรามันไปทุกแห่งทุกหน การศึกษาเล่าเรียนก็กว้างขวาง ไปทุกแห่งทุกหน ไม่ค่อยเห็นพระปริยัติเดินจงกรมนะ เพราะฉะนั้นเวลาเรามีความสนใจทางจิตตภาวนา เราจึงต้องทำแบบลับ ๆ เอา ก็ไปโดนเสียก่อนนั้นแหละ เหตุที่จะมาใช้ปัญญาใหม่นะ ก็ทำตามนิสัยของตน เวลาหยุดเรียนหนังสือแล้วนี้ ลงเดินจงกรมตอนเงียบ ๆ อย่างอยู่วัดโยธาฯ นี้ พอหยุดเรียนหนังสือก็ลงเดินจงกรม ใช้เวลาภาวนา ๑ ชั่วโมง ทั้งเดินจงกรม ทั้งนั่งสมาธิ รวมไม่ให้ต่ำกว่า ๑ ชั่วโมง เป็นอย่างนั้นเป็นประจำ

ทีนี้เวลาไปเรียนหนังสือในที่ต่าง ๆ อยากเดินจงกรมก็ไปเดินซิ ก็ไปเจอพวกลิงค่างอย่างเดียวกันนั่นแหละ พอเงียบ ๆ เราก็ไปเดินจงกรมของเรา เพื่อนฝูงพวกลิงด้วยกันมาเห็น “นี่เดินอะไร” ไอ้เราก็เซ่อซ่าตอนนั้นยังไม่รู้ ยังไม่ถูกหมัด มันไม่ได้ระวัง เราก็บอกว่า “เดินจงกรม” เราก็ว่างั้นแหละ  “โฮ้ จะไปสวรรค์ นิพพาน เดี๋ยวนี้เหรอ”  ไปแล้วนะ มันเป็นอย่างนั้นนะพวกลิง จะไปปรับโทษปรับกรรมอะไรกับมันไม่ได้ มันแขนซ้ายแขนขวาเหมือนต่อยกันนี่ ไม่ทราบใครเจ็บใครไม่เจ็บเพราะแขนซ้ายแขนขวา จะไปถือสีถือสายังไง โฮ้ “จะไปสวรรค์นิพพานเดี๋ยวนี้เหรอ รอกันเสียก่อนนะ ให้เรียนจบเสียก่อน ค่อยไปด้วยกัน” กูตายแล้ว เสียท่าแล้ว

คราวหลังแก้ใหม่ ทีนี้แก้นะ ดู ดึก ๆ นั่นแหละเราถึงจะลงเดิน กลางวันไม่เดิน เพราะเรียนหนังสือ พอดึก ๆ เงียบหมดแล้ว ก็ด้อมลงไปเดิน เวลามีใคร พวกเพื่อนพวกฝูงเดินผ่านมา “ทำอะไรว่ะ”  “อ๋อ เปลี่ยนบรรยากาศล่ะซิ” แก้แล้วนะนั่นน่ะ “มันเหน็ดเหนื่อย นั่งเรียนหนังสือนานก็เดินเปลี่ยนบรรยากาศ” ทีนี้ก็ไม่มีใครว่า เราแก้ถูกนี่นะ เปลี่ยนบรรยากาศบ้างซี จากนั้นมาก็ต้องหาวิธีอย่างนี้ เราไม่เคยพูดให้ใครฟังเลยนะ ว่าเราสนใจภาวนา และเราเดินจงกรม ตั้งแต่เรียนจนกระทั่งออกปฏิบัติ หากทำอยู่เป็นประจำ

เพราะเมื่อมันยังไม่เข้าแก๊ปกันแล้วจะพูดได้ยังไงใช่ไหม ก็จะชวนไปสวรรค์ นิพพานเดี๋ยวนั้น เราไม่ได้ภาวนาเขาก็จะชวนไปเดี๋ยวนั้น ให้เรียนจบเสียก่อนไปด้วยกัน น่าโมโหนะ อยากว่าอะไรมันก็ไม่ได้เรื่อง นี่ซิมันถึงได้มาพลิกใหม่ เรียนหนังสืออยู่ก็ทำอย่างนั้นแหละ ไม่เคยละ หากไม่เคยพูดให้ใครฟัง ภาวนาไม่พูดเลย เดินจงกรมไม่เคยพูดเลย เหมือนไม่เคยปฏิบัติ เพราะไม่เข้าแก๊ปกันจะพูดหาอะไร อันใดที่เข้าแก๊ปคือการศึกษาเล่าเรียนก็พูดกันไปตามนั้นเสีย ส่วนทางด้านปฏิบัติไม่พูดเลยแหละ ปิดอย่างมิดตัวเลย ไม่มีใครรู้นะว่าเราภาวนา จิตของเราเป็นยังไงๆ ไม่มีใครรู้ เพราะไม่พูดให้ฟัง

ตอนออกปฏิบัติละที่นี่ ถึงได้ทำอย่างเปิดเผย เพราะพระท่านก็ทำของท่านอยู่แล้ว เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ถือเป็นงานประจำตัวสำหรับพระกรรมฐานเรา ไปที่ไหนท่านก็ทำอย่างนั้น มันก็ออกหน้าออกตาเป็นงานธรรมดา ๆ ได้ ไม่มีอะไรที่จะระมัดระวัง เวลาออกกรรมฐานแล้วถึงได้ออกอย่างเปิดเผยเต็มเม็ดเต็มหน่วยทุกอย่าง ตั้งแต่เรียนหนังสือนี้เก็บอย่างงั้น ไม่ให้ใครทราบเลย เราเคยพูดแล้วให้บรรดาพี่น้องทั้งหลายฟัง จิตของเราได้ความอัศจรรย์ถึง ๓ หน จิตรวม ในเวลาเรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี เราภาวนาไม่หยุด แต่มันรวมได้เพียง ๓ หนเท่านั้น ไม่เลย ๓ หน จึงจำได้ทุกหนเลย

โฮ เวลามันรวมมันอัศจรรย์จริงๆ นะ แหม จิตใจมันว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่กับอะไร มันเป็นนิสัยของมัน คิดอะไร ๆ แล้วเวลาเราภาวนา ภาวนาก็เอาพุทโธที่ท่านพระครูสอนนั่นแหละ นั่งภาวนาพุทโธ ๆ นี่เอาเฉพาะวันเป็นนะ ที่มันไม่เป็นกี่วันก็ไม่สนใจกับหัวมันแหละ เอาวันที่มันเป็น ก็นั่งธรรมดา ภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ตั้งสติไว้ดีกับพุทโธ ๆ บทเวลามันจะเป็นมีแปลก ๆ อยู่นะ พอกำหนดพุทโธ ๆ สติตั้งไว้กับคำบริกรรมพุทโธ ๆ ถี่ยิบ ไม่ให้มันคิดออกนอกลู่นอกทางอะไร ให้สติควบคุมคำบริกรรมไว้ ทีนี้เวลาเราพุทโธ ๆ ถี่ยิบเข้าไป มันมีลักษณะ

คือจิตใจของเราที่มันคิดอยู่กว้างขวางตามนิสัยของมันนั่นน่ะ เทียบกับเหมือนเราตากแหไว้ ทีนี้พอเราพุทโธ ๆ ถี่ยิบเข้าไป มันเหมือนกับดึงจอมแหเข้ามา ทางนู้นก็หดเข้ามา รอบตัวของแหมันหดเข้ามา ๆ รอบกระแสของจิตมันก็หดเข้ามาพร้อมๆ กัน มันเกิดความสนใจเข้าเป็นแปลก ๆ แล้วก็ขยับเรื่อยล่ะซิ สติถี่ยิบ ๆ หดเข้ามา ๆ เข้ามาถึงตัวนี่ซิ พอเข้ามาถึงตัว กึ๊กเท่านั้น ขาดไปหมดเลย ไม่มีอะไรเหลือเลยโลกธาตุ เราก็พึ่งเป็นหนเดียว มันถึงได้ตื่นเต้นเอานักหนา ตื่นเต้นนะ ความตื่นเต้นมันกวนเราให้จิตถอนออกมาเสีย เพราะมันไม่เคยเห็นเคยเป็น มันรวมกึ๊กเข้ามานี้ เหมือนแม่น้ำมหาสมุทรนั้น มันมีเกาะเดียวที่เราอยู่นั้น ดอนเดียวนั้น นอกนั้นมันเวิ้งว้างไปหมดเลย ที่อยู่ที่นี่ โอ๊ย ตื่นเต้นนะ พูดไม่ถูก กับความอัศจรรย์ โอ้โฮ ทำไมเป็นอย่างนี้ ๆ ก็เราไม่เคยเป็น ตั้งแต่เกิดมามันพึ่งเป็นวันนั้น โอ้โฮ ทำไมเป็นอย่างนี้ ๆ

จิตสงบแน่วลงไปนี้มันขาดหมดเลย มันไม่เหมือนสมาธิธรรมดา มันเป็นสมาธิอะไรก็ไม่รู้ หลังจากนั้นมาแล้วเราปฏิบัติเรื่องสมาธิภาวนา แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นนะ มันเหมือนกับว่าเป็นเครื่องบันดลบันดาลให้เราตื่นเต้นอย่างฝังใจก็ได้นะ จากนั้นมาขยับใหญ่เลย วันนั้นทั้งวันนะ จิตมันอยู่กับผลของการภาวนาที่เป็นในคืนนั้น แต่ผ่านมาแล้ว ส่วนจิตนี้มันเป็นอารมณ์มันไม่ผ่านนะ มันยินดีปลื้มปีติอยู่นั้น วันนี้จะเอาใหญ่ วันหลังก็เอาใหญ่ เอาใหญ่เท่าไรมันก็ไม่ได้เรื่องๆ ทำเท่าไรก็ไม่ได้เรื่อง

ทีนี้ก็ค่อยทอดธุระ โอ๊ย ช่างหัวมันเถอะ ทำไปธรรมดา คือตอนนั้นจิตของเรา พุทโธนี้จริง แต่มันมีอันหนึ่งที่ไปหมายในสิ่งที่เกิดมาแล้ว ผ่านมาแล้ว มันไปเป็นอารมณ์อยู่ข้างนอก มันก็ไม่เข้าล่ะซี เป็นอารมณ์อดีต ไปยึดอารมณ์อดีตเสีย มันไม่เป็นปัจจุบัน มันก็ไม่เข้า ทำไป ๆ มันก็ไม่ได้ พอไม่ได้ทีนี้ก็ทอดธุระ ไม่ได้ช่างหัวมันเถอะ แต่การภาวนา ภาวนาไป ไม่จดจ่อกับผลที่เคยได้อย่างนั้นอย่างนี้นะ ปล่อยไปเลย ทำไปธรรมดา ๆ เอาอีกแล้ว เป็นขึ้นมาอีกแล้วแบบเก่า อัศจรรย์เกินคาด วันหลังก็เป็นบ้าเข้าไปอีกแหละ มันก็ไม่ได้เรื่องเหมือนเก่านั้นแหละ เป็นอย่างงั้นนะ เป็นสองครั้งแล้ว นาน ๆ เป็น

จนกระทั่งเราจืดไปหมดแล้วเรื่องสัญญาอารมณ์อันเก่า เหมือนหนึ่งว่าไม่มีเหลือเลย มีเหลือแต่ปัจจุบัน ประหนึ่งว่าหาใหม่ ไม่สนใจ เหมือนไม่เคยรู้เคยเห็น เอาอีก ลงผึงอีก โอ้โฮ อัศจรรย์อีกละ โห ธรรมเลิศเลอ จิตของเราทำไมจึงเป็นอย่างงี้ แต่เกิดมาไม่เคยเห็นความเลิศเลอ ความอัศจรรย์ของจิต ทำไมเป็นอย่างนี้ คือมันขาดหมดเลยในแดนสมมุติทั้งหมด ประหนึ่งว่าเป็นอรหันต์น้อย ๆ ขึ้นมาองค์หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เจ้าของก็ไม่ได้สำคัญนะว่าเป็นอรหันต์ แต่มันตื่นเต้นกับที่มันแสดงอะไร เอาอีก ครั้งที่สาม นี่ก็หลายปี เป็นปี ๆ แหละมันถึงเป็นให้ทีหนึ่ง เป็นอีก เป็นก็อัศจรรย์แบบเดียวกัน

นี่แหละที่เราไม่เคยรู้เคยเห็น มันเป็นกับใครก็ตามเถอะน่ะ ไม่ต้องบอก สัญญาอารมณ์ของจิต มันจะผูกพันทั้งวันนะ ทำงานทำการอะไร จิตมันจะผูกพันอยู่กับอารมณ์ที่เคยได้มาแล้ว เราเรียนหนังสือนี้มันก็ไปผูกพันนั้น เช่นใครทำงานการอะไรก็ตามมันจะไปผูกพันอยู่ตรงนั้น แต่มันหมายมั่นปั้นมือเอาไว้นะว่า ทำไม่ได้ช่างมันเถอะ เวลาออกนี้จะเอาให้ได้ เป็นอื่นไปไม่ได้ มันมั่นใจไว้เลย เพราะฉะนั้นเวลาออกมันถึงเอาใหญ่เลยจริงๆ มันก็ไม่พ้นนะล่ะ จิตที่มันเป็นอย่างงั้น

ทีนี้มันยิ่งละเอียดเข้าไป แปลกประหลาดเข้าไป เมื่อทำเข้าไปเท่าไร ๆ พูดไม่ถูกนะ เป็นในหัวใจนี้ เป็นได้อย่างชัดเจน ไม่สงสัยอะไรเลยแหละ แต่ที่จะพูดให้ใครฟัง มันพูดไม่ถูก อันนี้แหละเป็นเครื่องดูดดื่มจิตใจให้มีแก่ใจที่จะบำเพ็ญหนักเข้า ๆ อันนี้แหละเป็นเชื้อสำคัญ โห มันทำให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใสในอรรถในธรรมทั้งหลายจากที่เรารู้เราเห็นเพียงขณะเดียวเท่านั้นแหละ แล้วไม่ลืมเสียด้วยนะ ถึงไม่เป็นอีกก็ไม่ลืม ความเชื่อแน่ว่าจิตเป็นอย่างงั้น มันเชื่อแน่ ฝังลึกมาก เวลาออกถึงได้เอากันใหญ่

ออกปฏิบัติจริง ๆ เราไม่เหมือนใคร นิสัยเรามันเป็นคนนิสัยอย่างนี้ มันจริงจังทุกอย่าง ถ้าลงว่าเอาอะไรแล้วเป็นขาดไปเลย เป็นอย่างนั้น เหลาะแหละไม่เป็น ถ้าลงได้จริงแล้วเหลาะแหละไม่เป็น นอกจากตั้งใจเหลาะแหละ เช่นพูดเล่นอย่างนี้จริงไม่มี เวลาเล่นมีแต่เล่น เหลาะแหละ ๆ ไปเรื่อย หาความจริงไม่มี พลิกปั๊บทีนี้จริงแล้ว ทีนี้ความเล่นไม่มีเลย แน่ะเป็นอย่างนั้น พลิกยังไงมันก็ได้ ทีนี้เวลาออกปฏิบัติมันก็เป็นล่ะซิ หนักตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืนไม่เคยละ ก็เวลาเรียนหนังสือก็เรียนทั้งวันทั้งคืน ทีนี้เวลาจะออกปฏิบัติแก้กิเลสก็ต้องแก้ทั้งวันทั้งคืน เพราะต้องการความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น

มันจึงหนักมากนะ จิตใจหมุนอยู่ในความพ้นทุกข์ หมุนอยู่ในความจะให้เป็นพระอรหันต์ ว่างั้นเลยนะ มันหมุนอยู่นั้นนะ ไม่ไปไหน หมุนอยู่นั้น รุนแรงมากทีเดียว เพราะฉะนั้นมันถึงลากความทุกข์ความลำบากของเราไปตาม ๆ กัน โดยไม่ได้คิดว่ามันทุกข์ยากลำบากเลย เหมือนนักมวยเขาต่อยกัน เวลาต่อยกันนี้ซัดกันเต็มเหนี่ยวเลย ใครเป็นใครตายไม่สนใจกัน อันนี้เวลามันฟัดกับกิเลสก็แบบเดียวกัน มันไม่พ้นนะ นี่ละความสัตย์ความจริงที่เราทำ ธรรมะให้ประโยชน์แก่เราอย่างนี้

กิเลสมันรุนแรง จะทำคุณงามความดีจะภาวนานี้ มันทำให้ย่อหย่อนอ่อนกำลัง ถ้าตั้งใจตั้งสติสตังกิเลสมันลากไปเสียๆ เราก็อ่อนต่อมันๆ สุดท้ายกำลังของเราไม่มีแล้วก็ขี้เกียจ นั่น มันต้องมีเวลาฟัดเหวี่ยงกัน เวลามันดีดมันดิ้น มันเก่งนัก เอา มึงเก่งกูเก่ง นั่น ซัดกันเลย มันก็ได้เหตุได้ผล นี่แหละมันค่อยเป็นไปอย่างนี้เรื่อยมาๆ จึงว่าความเอาจริงเอาจังเป็นผลมากนะ พิจารณาย้อนหลังหาที่ตำหนิเจ้าของไม่ได้เลย ฟังซิน่ะ เป็นยังไงถึงหาที่ตำหนิไม่ได้ คือความเพียรมันผาดโผนเอามากมาตลอดไม่เคยอ่อนข้อเลย

จะได้คิดย้อนหลังไปหาความเพียรของเรา ตอนนั้นความเพียรอ่อนแอท้อแท้ เหมือนกับว่าจะถอยหน้าถอยหลัง มันไม่มีเลย มีแต่หมุนติ้ว ๆ มันถึงน่ากลัวนะ ความเพียรของเราพิจารณาย้อนหลัง อู๊ย น่ากลัวแล้วขยะๆ อย่างงั้นมันก็ทำได้ ๆ แน่ะ คืออย่างปัจจุบันนี้มันทำไม่ได้ ตายเลยทำแบบนั้น ปัจจุบันนี้มันก็แก่เข้ามาแล้ว แล้วก็ไม่ทราบจะสู้กับอะไรอีก ก็ว่างั้นพูดง่าย ๆ ตอนนั้นข้าศึกประจันหน้าอยู่นี้ มันจะถอยได้ยังไง มันก็ฟัดกันเต็มเหนี่ยว เป็นตายก็ไม่คำนึง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่รู้จักหนักจักเบา ผาดโผนจริง ๆ ถึงคราวผาดโผนจิตนี่ เอา เป็นก็เป็น ตายก็ตายซัดกันเลย เวลาได้ผลขึ้นมา มันได้จากความเด็ดความเดี่ยว ความจริงจังทั้งนั้น มันไม่ได้ด้วยความอ่อนแอเหลวไหลนะ เพราะกิเลสมันหนาแน่น ต้องเอากันอย่างหนัก เมื่อหนักเข้าไปกิเลสค่อยเบาลง ผลของธรรมก็สงบ แสดงขึ้นภายในจิตใจ

นี่แหละระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันบนหัวใจ เหมือนนักมวยต่อสู้กันบนเวที เวทีคือหัวใจ ซัดกันอยู่นั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ถอย เอาแพ้คราวหนึ่ง เอาให้ชนะคราวหนึ่งจนได้ มันหากมีอยู่นั้นที่จะฟัดจะเหวี่ยงให้ได้อย่างใจ เอาไปเอามามันก็ได้ พูดถึงว่า ความสบายนี้มี ตอนจิตเป็นสมาธิ ยอมรับว่าสบาย แต่จะว่าสบายด้วยความเฉื่อยชามันก็ไม่มีอีกแหละ ความสบายมันก็ติดใจอยู่กับสมาธิเสีย เพลินอยู่กับนั้น สบายอยู่กับนั้น ความเพียรก็หนุนสมาธิ มีแต่จะให้แน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น มันก็ไม่ยิ่ง มันก็เท่าเดิม น้ำเต็มแก้ว คือสมาธิเต็มภูมิเหมือนกับน้ำเต็มแก้ว จะทำอะไรมันก็เลยนั้นไม่ได้ แต่จิตก็เพลินอยู่กับสมาธิอันนั้น จะว่ามันนอนใจ เฉื่อยชามันก็ไม่เฉื่อยชา

คำว่านอนใจนั้น มันก็มีความมุ่งอันหนึ่งว่า สมาธินี้จะเป็นนิพพาน จิตดวงนี้ดวงที่เด่น ๆ นี่ละจะเป็นนิพพาน มันก็หมุนอยู่นี้ ไม่มีวันมีคืนอีกเหมือนกัน หมุน จนกว่าปัญญาออก ถ้าไม่อย่างงั้นติด ตรงนี้จะถือว่าเป็นความสะดวกสบายก็ได้ อยู่ด้วยความรื่นเริงกับจิตที่เป็นสมาธิ อยู่ที่ไหนอยู่ได้คนเดียว ได้ทั้งนั้น คือมันไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง เหลือตั้งแต่ความรู้ที่เป็นสมาธิสง่างามอยู่ภายในหัวอก อยู่ไหนมันพออยู่ในนี้ มันไม่ได้สนใจกับอะไร ๆ มันสง่างาม นั่งที่ไหนก็สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน สบายตลอด ไม่มีอะไรกวนใจ

ความคิดปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสฉุดลากไปแต่ก่อน มันไม่มี เพราะอำนาจของสมาธิกดหัวมันลง ความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ จึงไม่มี มีแต่ความสงบแน่ว ทีนี้เวลามันแย็บคิดออกไปนิดหน่อย รำคาญ นั่นเห็นไหม แต่ก่อนมันไม่ได้คิดไม่ได้มันรำคาญ ต้องให้คิดให้วิ่งถึงไม่รำคาญ ทีนี้กลับมาจิตมีสมาธิเป็นฐานที่อยู่ มีแต่ความสงบแน่วแล้วทีนี้มันจะยิบแย็บออกไปนิดหนึ่ง รำคาญ ไม่อยากคิด อยู่อย่างนี้ดี นี่ขั้นสมาธิ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสมาธิแล้ว ถ้าไม่มีผู้แนะทางด้านปัญญาติดได้ เรามันติดมาแล้ว เพลินอยู่ในนั้น จะว่าเฉื่อยชาในความเพียรก็ไม่มี มันหากเพลินอยู่ในขั้นภูมิของตัวเอง เพียรก็เพียรอยู่ในนั้นแหละ เพลินอยู่ในนั้น จนกระทั่งก้าวออกทางด้านปัญญา

เมื่อสมาธิเต็มภูมิ จิตมันอิ่มอารมณ์ จะคิดถึงเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรสอะไร เหมือนแต่ก่อนที่มันเป็นบ้ากับเรื่องคิดในสิ่งเหล่านี้นั้น มันหมด นี่เรียกว่า จิตอิ่มอารมณ์ มันไม่อยากคิด อยู่แต่ความสงบ เอาความสงบนี้แหละออกทางด้านปัญญา ให้มันคิดทางด้านปัญญา ทีนี้เมื่อจิตมีความสงบ ความอิ่มตัวในอารมณ์แล้ว มันก็ไม่ส่ายแส่ไปไหน จะให้ทำงานอะไรมันก็ทำล่ะซิ คิดเรื่องปัญญา พิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ความแตกความสลายในธาตุในขันธ์ อสุภะอสุภัง มันพิจารณา มันก็เพลินในนี้ มันไม่ออก เพราะมันไม่หิวโหยในอารมณ์ต่าง ๆ มันก็ทำงานให้

จากนั้นก็เบิกกว้างออก ๆ ทีนี้ความรู้ทางด้านปัญญากับความรู้ทางด้านสมาธินี้ แหม ไปเป็นคนละโลกนะ แต่ก่อนเราก็เพลินจนเป็นบ้า ว่างั้นเถอะน่ะ ว่าแปลกประหลาด ว่าอัศจรรย์ อิ่มเอิบอยู่อย่างงั้นทั้งวัน แต่พอก้าวออกทางด้านปัญญาแล้ว เบิกกว้างออก ๆ ความรู้ ความเห็น ความเป็นต่าง ๆ ของจิตขั้นปัญญาละเอียดเข้าไป ๆ  ทีนี้มันก็มาตำหนิสมาธิ โอ๊ย สมาธินี่มันนอนตายเฉย ๆ แก้กิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้ ปัญญาต่างหากแก้กิเลส นั่นเห็นไหมที่นี่ ก้าวแล้วนะที่นี่ พอออกทางด้านปัญญา ไม่มีวันมีคืน หมุนติ้ว ๆ เลย

การปฏิบัติให้มันเห็นชัด ๆ อย่างงั้นซิ มางมเงาเกาหมัด สอนคนอื่นด้วยความหลับตา ใครจะฟังได้วะ ต้องสอนด้วยการปฏิบัติตัวมาแล้ว พระพุทธเจ้าปฏิบัติมาแล้วจึงมาสอนโลก สาวกทั้งหลายรู้แล้ว ปฏิบัติมาเรียบร้อยแล้ว รู้เห็นชัดเจนแล้วมาสอนโลก ท่านจึงไม่ผิด ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านสอนโลก ท่านก็รู้ เข้าใจมาเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงสอนไม่ผิด ไอ้เราไม่รู้ โดดนู้นโดดนี้ อวดรู้อวดฉลาด เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปอย่างนั้น สอนคนให้เขาได้มรรค ได้ผลสด ๆ ร้อน ๆ คนตาบอดมันไม่เคยนั่งสมาธิ ไม่เคยภาวนา จิตไม่เคยสงบ จิตไม่เคยเป็นสมาธิ จิตไม่เคยเป็นปัญญา

การพูดออกคำไหนมันจึงขัดต่อทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ขัดไปตลอดเวลา นี่จิตไม่เป็น พูดให้ผู้ที่ทรงศีล ทรงปัญญา วิชชาวิมุตติฟัง ฟังไม่ได้นะ เพราะท่านผ่านมาด้วยเหตุด้วยผลทุกอย่างเรียบร้อย ไอ้เราไม่รู้อะไร โอ้อวดตัวว่าเก่งว่ากล้าสามารถ แล้วไปพูดอวดเฉย ๆ อวดหลับตาอวดมันก็รู้ จะว่าไง ถ้าพูดตามแถวแนวเดียว ไม่ค้านกัน ผู้ปฏิบัติด้วยกันจะไม่ค้านกันเลย เพราะแถวของจิต มคฺโค ๆ แปลว่าทางเดินของจิต ก็เหมือนทางเดินเท้าเรานี่ เราเดินไปด้วยเท้า ด้วยรถยนต์ รถไฟเราก็ไม่สงสัย ทางสายไหนไปไหน ๆ

ทางเดินของจิตที่ไปต่อมรรค ผล นิพพาน กว้างแคบสะดวกขนาดไหนตามภูมิจริตนิสัยของตัวเอง มันจะรู้ในตัวเอง เปิดเผยในตัวเอง นั่น ทีนี้เวลาผู้ไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยรู้เคยเห็นในธรรมเหล่านี้แล้ว แต่อยากรู้อยากอวดฉลาด แล้วมาพูดเหยียบธรรมเหล่านี้ไป มันฟังไม่ได้นะ นอกจากว่า อย่ามาอวดพ่อมึง ว่างั้นถนัดดี เข้าใจไหม นอกจากจะพูดว่า มึงอย่ามาอวดพ่อมึงนะ พ่อมึงยังไม่ตาย มึงอย่ามาอวด อยากว่าอย่างนั้นนะ แย็บมามันรู้แล้วนี่ ภูมิของคนภูมิใดขั้นใด พูดออกมาด้วยความรู้จริงเห็นจริงมากน้อยมันจะยอมรับกันทันที ตั้งแต่สมาธิขึ้นมา พูดขึ้นมาด้วยความด้นเดาเกาหมัด แย็บออกมามันรู้ทันที ขวางธรรม ๆ  ปิดธรรมด้วย เหยียบธรรมด้วยไปในตัว ทำลายธรรมด้วยไปในตัว เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วจะไม่ทำลายจิตใจของผู้ฟังได้ยังไง ต้องทำลายร้อยทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย

นี่เราพูดถึงเรื่องการภาวนา อะไรจะแม่นยำยิ่งกว่าหัวใจที่สัมผัสสัมพันธ์กับธรรม มคฺโค ๆ คือทางเดินของจิต กิเลสอยู่ที่ไหนก็เห็นหมด อะไรๆ ที่เป็นทางผ่านมันเห็นหมดๆ นั่นละพระพุทธเจ้าจึงสอนโลกอย่างสง่างาม จนกระทั่งมาทุกวันนี้ เวลานี้กำลังกิเลสปั้นตัวมูตรตัวคูถขึ้นมาเหยียบธรรมพระพุทธเจ้า ยกตนเป็นทองทั้งแท่งขึ้นมาเหยียบธรรมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นทองทั้งแท่งให้จมลงในมูตรในคูถ เวลานี้กำลังเหยียบอยู่ทุกแห่งทุกหน เพราะมันไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็น แต่อยากอวดรู้อวดฉลาดอยากเป็นครูเป็นอาจารย์เขาล่ะซิ ให้เขานับลือถือหน้าก็พอ ตัวเองไม่รู้ นับอะไรก็นับไปซิ เกิดประโยชน์อะไร ถ้ามันรู้จริงแล้วใครนับไม่นับมันไม่เคยสนใจ ไม่มีอะไรเลิศยิ่งกว่าธรรมที่อยู่ในใจเจ้าของ คำชมเชยคำสรรเสริญนั้นเป็นเพียงลมปาก มันมีน้ำหนักอะไรยิ่งกว่าธรรมอันนี้ที่เทิดเจ้าของอยู่เป็นความอัศจรรย์ตลอดเวลานี้ล่ะ อันนี้มันเทิดที่สุด อยู่ที่ไหนพอตลอด ประสาคำสรรเสริญ โอ๋ย ดีนะ ๆ เท่านั้นเป็นบ้าไปแล้ว ยังไงกัน

นี่ละที่สอนพี่น้องทั้งหลาย เราไม่ได้มาสอนเล่น ๆ นะ ว่างี้เลย เด็ดเสียด้วยนะ ไม่สงสัยเลยนะหัวใจนี่ ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนมันก็ไม่รู้ แต่เวลามันเป็นขึ้นมาแล้วจะให้ว่าไง เหมือนเราหลับตานี้มันไม่เห็น ยังไงมันก็ไม่เห็น พอลืมตามานี้ปิดมันได้ยังไง มันเห็นอยู่นี่ พอเวลามันรู้มันก็เป็นอย่างงั้น เหมือนคนลืมตา ไม่ได้เชื่อใครเลยละ เชื่อตากับวัตถุที่สัมผัสกับตานี้เท่านั้น นั่นยันกันเลย พระพุทธเจ้าทรงหยั่งทราบอะไรเป็นอย่างนั้น สนฺทิฏฺฐิโก หยั่งทราบไปหมดเลย ประจักษ์ในตัวเอง ๆ เอาละวันนี้เพียงเท่านั้น

 

www.Luangta.com

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก