เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๕
ธรรมพระพุทธเจ้ามีแบบแผน
ผ้าป่าช่วยชาติวันที่ ๒๗-๒๘ พฤศจิกายน ๔๕ จังหวัดร้อยเอ็ด ทองคำได้ ๓ กิโล ๙ บาท ๖๐ สตางค์ ดอลลาร์ได้ ๑,๑๘๕ บาท เงินสดได้ ๑๘๖,๒๗๖ บาท จังหวัดมหาสารคาม ทองคำได้ ๒ กิโล ๔๖ บาท ๓๔ สตางค์ ดอลลาร์ได้ ๕๕๙ ดอลล์ เงินสดได้ ๒,๒๐๑,๔๒๔ บาท รวมทั้งสองแห่งเป็น ทองคำได้ ๕ กิโล ๕๕ บาท ๙๗ สตางค์ ดอลลาร์ได้ ๑,๗๔๔ ดอลล์ เงินสดได้ ๒,๓๘๗,๗๐๐ บาท ทองคำที่มอบเข้าคลังหลวงแล้วเวลานี้ ๕,๐๕๙ กิโลครึ่ง ที่ได้หลังจากมอบคลังหลวงแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๓๕๕ กิโล ๓๔ บาท ๔๓ สตางค์ ยังขาดทองคำอยู่อีก ๑๔๔ กิโล ๓๑ บาท ๓๕ สตางค์ จะครบจำนวน ๕๐๐ กิโล รวมทองคำที่ได้แล้วทั้งหมด ๕,๔๑๕ กิโลเวลานี้ กรุณาทราบตามนี้
เราภูมิใจในการช่วยชาติคราวนี้ บอกว่าบาทหนึ่งเราไม่เคยแตะนะ ขนาดนั้นแหละ เรามีความห่วงใยสงสารชาติไทยของเรามากน้อยเพียงไร คิดดูซิเงินบาทหนึ่งไม่แตะเลย เงินบาทหนึ่งแตะปั๊บนี่กระเทือนหัวใจคนไทยทั้งประเทศ นั่นฟังซิเสียหายขนาดไหน เราถึงทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่ใครมาโจมตีอะไร ๆ เราก็มีแต่ฟังเฉย บางทีไม่ฟัง ก็อะไรจะแน่นอนยิ่งกว่าเราทำ เขาว่ามาอย่างไรก็ตามเป็นเรื่องของเขา เขาไม่ได้ไปเห็นเราทำใช่ไหมล่ะ อันนี้ละที่เราได้พูดออกมาอย่างโจ่งแจ้งไม่สงสัยเลยว่า ผู้ที่มาโจมตีเราว่าอย่างนั้น ๆ กับการกระทำของเราอย่างนี้ ๆ ของเราแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนั้นเอาความแน่นอนมาจากไหนมาโจมตีเรา
เช่น เงินจำนวนเท่าไร ๆ นี้ไม่เคยมาดูบัญชีเราใช่ไหมล่ะ บัญชีรับ บัญชีจ่ายของเราไม่เคยดู แล้วโจมตีมาเลย นี่หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ โจมตีสุ่มสี่สุ่มห้าแบบเจตนาทำลายโดยตรง เราดำเนินมาเราดำเนินด้วยความบริสุทธิ์ใจทุกอย่าง พอเห็นเรื่องมากับเรื่องความจริงของเรานี้สวนทางกันปั๊บ เห็นชัดเจนแล้วว่านี้เจตนาร้าย เป็นพระก็ไม่ใช่ภาษาของพระ นั่นเอาละนะ พระจะไม่ใช้ภาษานี้ จะใช้ภาษาตามความสัตย์ความจริง ผิดบอกว่าผิด ถูกบอกว่าถูก ตรงไปตรงมาเลย นี่ไม่ใช่ภาษาพระ ภาษาโจมตี ภาษาให้ร้าย ภาษามหาโจร ภาษามหาภัย ไม่ใช่ภาษาของพระ ถ้าพระพูดออกมาก็หมดสภาพความเป็นพระว่างี้เลยเรา อ้าว เราแน่ของเราอย่างนี้นี่
เราไม่ได้ทำเล่น ๆ ทำอะไร เราทำด้วยความจริงจังทุกอย่าง ยิ่งการช่วยชาติบ้านเมืองด้วยแล้ว โห จริงจังมากนะไม่ใช่ธรรมดา หัวใจของคนทั้งชาติก็มาอยู่กับเราด้วยความไว้วางใจ เราจะให้คนทั้งชาติมาเสียอกเสียใจเพราะความเลวร้ายของเราอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ ถึงขนาดนั้นนะ เราจึงไม่เคย ทำอะไรตรงไปตรงมา
(วันนี้โรงพยาบาลกระบี่มารับรถตู้ที่ได้รับความเมตตาจากหลวงตา) เออ ให้รอไว้ก่อนนะ คือออกจากนี้เราจะไปดูรถเสียก่อน เร่งไหม ไม่รีบดอกน่า เพราะเรื่องที่เราจะไปดูนี้มันกว้างขวางยืดยาวขนาดไหน เรื่องราวใหญ่โตมากอยู่กับจุดที่เราจะดูนี่นะ รอไว้ก่อนนะ เวลาไป พระท่านเคยแล้วเอาของบรรจุใส่รถเต็มเลย ไม่ว่ารถโรงพยาบาลที่ไหน ๆ มาเราให้เต็มตามที่กำหนดไว้ โรงพยาบาลทั่ว ๆ ไปให้เสมอกันหมด อย่างนี้ก็ให้เป็นพิเศษอีกเพราะมาจากกระบี่ เช่น อุบล มีกี่โรงพยาบาลเราจะให้เป็นพิเศษทุกโรงเลย แล้วอุตรดิตถ์ให้เป็นพิเศษทุกโรงเหมือนกันในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนชัยภูมิให้สองโรงที่ไกลมาก นอกนั้นให้เหมือนกันทั่ว ๆ ไป กับนาแห้ว เราสั่งไว้อย่างไรพระจะจดเอาไว้ ๆ เวลาเห็นรถประเภทนั้นมาหรือจังหวัดนั้นมาที่ควรจะได้รับพิเศษ พระจะจัดให้ตามที่เราเขียนไว้เรียบร้อยแล้ว
เราเองเป็นคนให้สั่งรถชนิดนี้ลองดู ได้ยินมาเล่าให้ฟัง เราจะต้องไปดูเองก่อน รอให้เรียบร้อยก่อนนะ ให้พูดอะไร ๆ เสียก่อน เพราะงานเรามันมีหลายอย่างหลายด้าน สำหรับรถนี้ดูเหมือนจะร้อยกว่าคันแล้วจนจำไม่ได้ บางโรง ๓ คันก็มี ๔ คันก็มี ส่วนมากโรงละ ๑ คันตามปรกติ ถ้าสองคันหรือสามคันก็แสดงว่าผิดปรกติ เราให้ด้วยเหตุผลกลไกอย่างนี้นะ ถึงสี่คันอย่างนี้ก็เหมือนกัน สี่คันก็โรงพยาบาลศูนย์ แน่ะ สมควรไหมล่ะกับรถ ๔ คัน คันนั้นใช้อย่างนั้น ๆ เราฟังเหตุฟังผลทุกอย่างค่อยให้ไป ไม่ใช่ให้ทีเดียวตูม ๔ คันนะ ให้เป็นลำดับลำดามา แต่จำได้ว่าโรงพยาบาลศูนย์นี้ได้ให้ ๔ คัน ค่ายประจักษ์ดูเหมือนคันเดียว ที่ได้สองคันก็เหมือนกัน มีเหตุมีผลทุกอย่าง เราทำอะไรเราไม่ได้ทำเหลาะแหละนะ ทำจริงจังทุกอย่าง ตรงกับเหตุกับผล จะให้มากน้อยนี้เราเป็นคนสั่งเองเรียบร้อยแล้วด้วยเหตุด้วยผล เราไม่ได้ให้สุ่มสี่สุ่มห้า ถ้าไม่สมควรให้เราไม่ให้ พูดตรง ๆ อย่างนี้ละ นี่ละภาษาธรรม ให้ท่านทั้งหลายจำเอานะ
ภาษาธรรมต้องแบบตรงไปตรงมา สมควรแล้ว เอ้า มากน้อยเท่าไร ควรทุ่ม ๆ ลงเลย ถ้าไม่สมควรไม่ให้ บางอย่างยังดุอีกด้วยดุผู้มาขอ คือเหตุผลกลไกไม่พอ นอกจากมาขายตัวเท่านั้น เราก็ดุเอาเสียบ้าง ต่อไปอย่าทำอย่างนี้นะ แน่ะ อย่างนั้นไม่ให้ด้วย ดุด้วย มีเป็นขั้น ๆ นี่ละธรรมของพระพุทธเจ้า สอนเป็นบทเป็นบาททุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนธรรมที่เป็นแบบฉบับต่อโลกตลอดมานี้ คือเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นหลักใหญ่ที่สอน แล้วการภาวนา ภาวนายังไง ๆ ท่านก็สอนวิธีการภาวนา เช่น ในกรรมฐาน ๔๐ ห้องนี้อยู่ในอารมณ์ทั้งสมถะและวิปัสสนา
อารมณ์สมถะคือจิตเมื่อเริ่มแรกภาวนา ก็นำเอากรรมฐาน ๔๐ ห้อง แล้วแต่เราจะถูกจริตจิตใจในบทใด ในธรรม ๔๐ ห้องหรือ ๔๐ วิธี ท่านบอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง เราก็ว่าห้องไปตามก็ไม่เสียความเข้าใจกัน ถูกกับเราอันใดก็ทำ นำธรรมเหล่านั้นมาบริกรรมเพื่อความสงบของใจ เรียกว่าธรรม ๔๐ ห้องนี้เป็นสมถธรรมเพื่อความสงบของใจ ทีนี้เมื่อความสงบของใจมีพอเป็นบาทฐานของปัญญาแล้ว ทีนี้นำกรรมฐาน ๔๐ ห้องมาแยกขยายทางด้านปัญญา กรรมฐาน ๔๐ ห้องนั้นจึงกลายเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไป นี่การปฏิบัติธรรมท่านปฏิบัติอย่างนั้น คืออารมณ์อันเดียวกัน แยกออกเป็นวิปัสสนา ธรรมเหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องมือของวิปัสสนา ของปัญญาไปเลย เป็นขั้น ๆ ตอน ๆ อย่างนี้ ท่านไม่ได้สอนสุ่มสี่สุ่มห้า รู้อย่างรวดเร็ว รู้อย่างไม่มีเหตุมีผล รู้แบบนี้ก็รู้ข้าศึกศัตรูทำลายศาสนาละซิ
เป็นยังไง พระโสดา ท่านสำเร็จยังไงบ้าง ท่านบอกไว้กลาง ๆ ว่า สำเร็จพระโสดา แล้วการปฏิบัติของผู้สำเร็จพระโสดาก็คือ พระพุทธเจ้าสำเร็จมาก่อนแล้ว ควรจะเป็นโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ก็มาจากพระพุทธเจ้าแล้ว ไอ้เรามันไม่ได้เป็นศาสดา แต่เป็นอาจารย์ใหญ่ของศาสดา ฟาดเอาเลย โสดาละความโลภอย่างเดียว เสร็จ ได้เลย มีที่ไหนในแบบในตำรับตำรา เราได้ยินมาอย่างนี้นี่นะ ฟังไม่ได้เลย แสดงว่าผู้พูดเช่นนี้คือผู้ไม่เคยภาวนา เช่นอย่างภาวนา อะไรๆ ว่าเอาอย่างง่าย ๆ รู้อย่างง่าย ๆ ก็ง่ายซิมันไม่ได้ทำ มันมาพูดหลอกโลก ต้มโลกเฉย ๆ
ผู้ที่ท่านทำท่านทำ พระพุทธเจ้าทำแล้วบอกวิธีการทุกอย่างไว้ ครูบาอาจารย์ทำมาแล้ว สอนวิธีการให้เป็นลำดับลำดามา นั่นแบบแผนตำรับตำราของท่านมี เช่นอย่างที่ว่า ให้พิจารณาวิปัสสนาเอาเลยอย่างนี้ มันก็เป็นขั้นตอนของศาสดาอีก ถ้าควรจะแสดงในทางวิปัสสนาเลย ท่านสอนวิปัสสนาเลยอย่างสอนเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี่สอนวิปัสสนาเลยทีเดียว หรืออย่างสอนมานพ ๑๖ คน โมฆราช สอนวิปัสสนาเลย ดังที่เคยพูด ว่าให้พิจารณาโลกเป็นของว่างเปล่า ถึงขั้นควรที่จะออกแล้วนั่น ท่านจะมาสอนบริกรรมพุทโธ ธัมโม หรือสังโฆ หรือธรรมบทใดได้ยังไง
เมื่อสมควรที่จะกินแล้วกินเลย สมควรที่จะต้มจะหุงก็ต้มหุงไปเรื่อย ๆ เมื่อสมควรที่จะควรกิน มันสุกแล้วอะไรแล้วกินเลย นั่น มันเป็นคนละขั้นละตอน แม้แต่แกงยังมีการริเริ่ม หาผัก หาหญ้า หาปู หาปลา หาหมู หาหมามาแกง ถ้าใครเคยกินหมา ก็หาหมามาแกง มันมีคนกินหมามี เคยกินหมู หาหมูมาแกง เคยกินหมา หาหมามาแกง เคยกินปูกินปลาก็เอาปูปลามาแกง ก่อนที่จะแกงก็เอาอะไรมาเตรียม มันเป็นขั้นเป็นตอนมา จนกระทั่งสุกแล้วควรจะกินก็กิน นั่นเป็นขั้นเป็นตอน
เรื่องศีล สมาธิ ปัญญานี้ก็แบบเดียวกันนั่นแหละ ในการอบรมเรื่องภาวนาเพื่อธรรมขั้นสูง ผู้ที่ปฏิบัติมีศีลมีธรรมต้องปฏิบัติต่อศีลให้เคร่งครัด ผู้ไม่มีศีลนี้จริง ๆ แล้วก็ไม่ทราบจะเอาอะไรมาปฏิบัติ เช่นอย่างพระพาหิยะ ท่านก็เคยบำเพ็ญธรรมมา แต่เวลานั้นเป็นเวลาที่ท่านจะเข้าด้ายเข้าเข็มของท่าน เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาต ตามเสด็จพระพุทธเจ้าจะถามปัญหา พระพุทธเจ้าก็บอกว่ายังไม่ควรแก่กาลเวลา ก็ไม่ถอย ติดตามเรื่อย ถาม พระองค์ก็แสดงธรรมย่อ ๆ ให้ฟัง เห็นไหม บรรลุขึ้นมาเลย จากนั้นก็บรรลุอรหัตผลขึ้นมาในเวลานั้น
ท่านไม่ได้พูดว่าศีลอย่างนั้น สมาธิอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้ ถึงขั้นจะกินแล้วให้กินเลย ถึงขั้นจะหุงจะต้ม ให้หุงให้ต้ม ถึงขั้นจะเตรียมผักเตรียมหญ้าให้เตรียมมา มันเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนั้นนี่นะ แต่เขาทำอาหารเขายังมีขั้นมีตอน ธรรมะก็มีขั้นมีตอน ผู้ที่ควรจะอบรมตั้งแต่ต้นก็ต้องอบรมไป เรียกว่าคืบคลานไปเสียก่อน เอ้า คืบคลานไป ฝึกหัด จนกระทั่งชำนิชำนาญแล้วมันก็พุ่งของมันไปเอง นี่เป็นธรรมที่ท่านสอนโลกมานมนาน เป็นที่รับรองยืนยัน
แล้วที่ว่าไม่ต้องภาวนาเรื่องสมาธิเรื่องอะไร ให้ก้าวเดินทางด้านปัญญาเลย นี้ตัวหลับตาหลอกโลกเขา หาทำลายโลกเขา ให้พิจารณาวิปัสสนาเลย คนประเภทไหนจะควรพิจารณาวิปัสสนาเลย พระพุทธเจ้าก็สอนไว้ ทำไมถึงบอกว่าไม่ต้องให้ทำภาวนาสมาธิ ให้วิปัสสนาเลย นี่พูดทั่ว ๆ ไป มันก็เข้ากันไม่ได้ใช่ไหม ประเภทที่ควรจะพิจารณาทางความสงบทางสมาธิ ต้องทำจิตให้สงบ ต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ ถ้าควรแก่ปัญญาแล้วก็ก้าวทางปัญญา ให้พูดเป็นขั้น ๆ อย่างงั้นซิพูดอรรถพูดธรรม จึงชื่อว่าผู้ปฏิบัติ
อยู่ ๆ ก็ว่าไม่ต้องภาวนาสมาธิ เอาปัญญาเลย นี่คือตัวหัวมันเองมันก็ไม่เคยทำ มันไม่เคยมีสมาธิ ไม่เคยมีทั้งปัญญา ดีไม่ดีมันไม่เคยมีทั้งศีลนั่นแหละจะว่าไง จึงพูดออกมาแบบนี้ได้ คนหมดยางอาย เอาแต่ชื่อแต่เสียง อยากให้เขานับถือลือหน้าเจ้าของว่าดิบว่าดี ตัดนั้นตัดนี้เข้าไป ตัดหัวพระพุทธเจ้าเข้าไป ไม่ได้สนใจว่าผิดถูกชั่วดีอะไร ฟังได้ยังไง คนผู้ฟังเพื่อเหตุเพื่อผลเพื่ออรรถเพื่อธรรมมีอยู่มากนะในชาวพุทธของเรา มาพูดสุ่มสี่สุ่มห้าอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าควรใช้วิปัสสนาแล้วไม่ต้องบอก พระพุทธเจ้าสอนปึ๋งทีเดียวเลย ถึงขั้นวิปัสสนา นี่จะออกแล้ว เปิดประตูปั๊บ เอาออก ไล่ออกทันที ผู้ที่อยู่กลางคอกก็ไล่ออกมา ผู้ที่อยู่ก้นคอกก็ลากมันออกมา มันไม่ออกก็ไล่หนีทางก้นคอกไปเลย มันหลายขั้นนี่นะ
วัวอยู่ในคอก วัวตัวหนึ่งกำลังปีนคอกจะออก พอเปิดประตูออก ผึงเลย วัวตัวที่สองก็ดันกันไป อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ตัวที่สองก็ดันกันไป ตัวที่สามนี่ทั้งยื้อทั้งแย่งทั้งแข่งกิเลส แข่งธรรมซัดกันไป ทั้งจะเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทั้งจะห่วงเสื่อห่วงหมอน มันแย่งกันอยู่อย่างนี้ ประเภทที่สาม ประเภทเนยยะ ถ้าแปลตามนั้นแล้วก็ว่า เป็นผู้ควรพอแนะนำสั่งสอนฉุดลากไปได้ คือมันมีทั้งสองอย่าง ลงก็ได้ ขึ้นก็ได้ มันอยู่กึ่งกลาง แต่ปทปรมะแล้วไม่มีทาง เหมือนคนตายทั้งเป็น อยู่ในลมหายใจ อยู่กับไอ.ซี.ยู ฝอด ๆ คอยแต่ลมหายใจ ไม่มีทางประเภทปทปรมะ สอนยังไงก็เท่านั้นเอง
นี่เราก็สงสัย ใครมาสอนธรรมที่ว่าต้องใช้วิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องใช้สมาธิ บอกทั่ว ๆ ไปอย่างนี้มันก็เท่ากับอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู มาสอนเขาทำไม ผู้ที่ฟังไม่ใช่ห้องไอ.ซี.ยูหมดทุกคนนะ พอเราจะไสไอ.ซี.ยูเข้าไปทันที ถ้าเราไม่ใช่เป็นตัวไอ.ซี.ยู แล้วน่ะ คือไอ.ซี.ยูมันไม่รู้ภาษีภาษาเลย หลับตาสอนคนตาดี คนตาบอดไปสอนคนตาดี ตัวชนต้นไม้ต้นเสาไปสอนเขาให้หลบหลีกต้นไม้ แต่ตัวหัวแตก เลือดสาดนี้ใครจะเชื่อ นี่คนหลับตาสอนโลกก็เป็นอย่างนั้น มันไม่มีความรู้
ควรที่จะใช้สติปัญญา นักปฏิบัติท่านรู้ของท่านเอง เรื่องจิตไม่มีความสงบ จะไปใช้วิปัสสนา เอาโคตรพ่อโคตรแม่มันมาใช้ก็ฉิบหายหมด อ้าว จริง ๆ นี่ละสูงหรือต่ำ หยาบหรือไม่หยาบ เอาน้ำหนักใส่กันซิ เพียงคนเดียวมาบอกให้วิปัสสนาไปเลย ๆ ไม่ต้องใช้สมาธิ ทั้งๆ ที่มันมืดหนาสาโหด ไม่ลืมหูลืมตาเลย อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ เอาโคตรมันมาทำแบบเดียวกันก็จมแบบเดียวกัน ความหมายว่างั้นเข้าใจไหม นี่เทียบน้ำหนัก คือศีลเป็นความอบรมจิตใจให้มีความสงบร่มเย็น ไม่ระแคะระคายในศีลของตนว่า ได้ทำความด่างพร้อยหรือเสียหายไปประการใด ก็ไม่เป็นอารมณ์จิตใจ ใจก็อบอุ่น มีศีลอยู่นี่แล้ว ทีนี้จะภาวนาใจก็ไม่ระแคะระคายกับศีล ก็สงบเย็น การภาวนาก็สะดวก ท่านสอนไว้ จากนั้นจิตก็เป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วจิตก็อิ่มอารมณ์
คือจิตนี้หิวอารมณ์ตลอดเวลา อารมณ์อะไรอยากทั้งนั้น อยากดู อยากรู้ อยากเห็น อยากคิด อยากปรุง มีแต่ความอยาก นี่เรียกว่าจิตหิวโหยต่ออารมณ์ เพราะจิตไม่มีสมาธิ ทีนี้เวลามีความสงบเย็นลงไปแล้ว เอาธรรมเป็นอารมณ์ ธรรมเป็นอารมณ์มีความสงบเย็น สบายอยู่นี้ ไม่อยากคิดอยากปรุง ทีนี้เมื่อจิตอิ่มอารมณ์แล้ว เอา ทีนี้พาจิตพิจารณาทางด้านปัญญา มันก็ทำหน้าที่ตามที่สติปัญญาสั่งลงไป ก็ทำไปเลย พิจารณาทางด้านไหนก็เป็นสติปัญญา คลี่คลายไปเรื่อย ๆ เพราะมันอิ่มอารมณ์ ถ้าหากว่าจิตยังหิวโหยอยู่ พาไปใช้ทางวิปัสสนานี้ เถลไถลเป็นสัญญาอารมณ์ไปหมดเลย ให้มันเป็นอย่างงั้นซิ ให้มันเห็นอย่างงั้นซิ การปฏิบัติธรรม
จิตที่อิ่มอารมณ์นี้อิ่มจริง ๆ เวลามันหิวมันหิวจริง ๆ จะบังคับให้อยู่กับคำบริกรรมเท่านี้ซึ่งเป็นความปรุงเหมือนกัน แต่มันสู้ความปรุงของกิเลสไม่ได้ มันชอบปรุงไปทางกิเลสเสีย มันเอาความปรุงทางกิเลสลากไปเสีย ความปรุงของธรรมเลยไม่มี จิตหาความสงบไม่ได้ นั่น ไม่สงบ ทีนี้จึงบังคับจิตให้มีความสงบด้วยธรรมนี้ก่อน เมื่อธรรมมีอำนาจบังคับบัญชาหลายครั้งหลายหน จิตจะสงบ ๆ ลงไปจนกระทั่งจิตเป็นสมาธิ เวลาจิตเป็นสมาธิแล้วไม่อยากคิดอยากปรุงนะ คือจิตอิ่มอารมณ์ นี่ละเรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไรเลย มีแต่ความสงบเย็นอยู่ใน เอกัคคตาจิต เอกัคคตาธรรม มีอารมณ์อันเดียวกับความสงบนี้เท่านั้น นั่น จิตสงบเต็มที่แล้ว ทีนี้ไม่หิวอารมณ์
เอ้า ทีนี้เอาความสงบของจิตนี้ มันอิ่มอารมณ์แล้วให้ออกพิจารณาคลี่คลายทางด้านปัญญา ออกทำงานตามนั้นเลย ไม่เถลไถลเพราะความหิวโหยไม่มี เข้าใจไหมล่ะ จากนั้นก็เป็นปัญญาไปเรื่อย เป็นอย่างนั้นนี่นะการปฏิบัติธรรม ท่านปฏิบัติมาอย่างนั้น จากนั้นก็เป็นปัญญา นั่นถึงว่า ศีล สมาธิ ปัญญา จากโน้นก็เข้าหาขั้นวิมุตติหลุดพ้นไปได้เลย พอก้าวเข้าปัญญาแล้วจะก้าวเข้าสู่ความหลุดพ้นไม่เป็นอื่น ธรรมพระพุทธเจ้ามีแบบมีแผน สอนสุ่มสุ่มสุ่มห้าได้เหรอ อะไรก็ง่ายนิดเดียว ๆ ก็ง่ายละซิหาโกหกคน หาต้มตุ๋นคน หาทำลายหัวใจคน ถ้าตั้งหน้าตั้งตาส่งเสริมอรรถธรรมต้องมีเหตุมีผล มีหลักมีเกณฑ์มาสอนกัน ต้องมีหลักมีเกณฑ์มาสอน มาพูดเอาอย่างง่าย ๆ ได้เหรอ มันมองเห็นขี้เท่อของเจ้าของผู้มาสอนนั้นแหละ จะไปมองเห็นที่ไหน คนผู้เขาฟัง คนโง่ก็มีคนฉลาดก็มี ไม่ใช่จะหลับหูหลับตาฟังไปทุกอย่างนี่นะ เหมือนผู้ที่สอนหลับหูหลับตาสอน หัวโดนต้นเสาเลือดสาดก็บอกให้เขาหลีกต้นไม้ มันดูได้เหรออย่างนั้น
นี่พูดจริง ๆ ไม่ว่าสมาธิ ไม่ว่าทางด้านปัญญา พูดอย่างตรงไปตรงมาเลย เต็มภูมิของตัวเองนี้ จะมาโกหกยากอยู่นะ ว่าอย่างนี้เลยนะเรา โกหกยากอยู่นะ มาปั๊บสอนหมัดปั๊บทันที พอแย็บออกมามันจับได้แล้ว ขอให้ผ่านมาเถอะทางจิตใจนี่ อะไรจะไปลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งกว่าใจกับธรรมที่เข้าประสานกัน เริ่มตั้งแต่ปัญญาอัตโนมัติขึ้นไปถึงปัญญาวิปัสสนา สติปัญญาอัตโนมัติเป็นยังไงก็พูดได้อย่างชัดเจน ออกจากสติปัญญาเป็นยังไง เข้าถึงมหาสติมหาปัญญารู้ได้อย่างชัดเจน ๆ หลุดพ้นจากทุกข์ รู้ประจักษ์ มันเป็นอย่างนั้นจากภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติว่ายังไงมันก็มีด้น ๆ เดา ๆ เกาหมัด หลอกคนนั้นหลอกคนนี้ ด้วยความอวดตนอวดตัวเท่านั้นเอง คนประเภทนี้มันจะหาโลกอยู่ไม่ได้นะ สอนไม่มีแบบไม่มีฉบับ เจ้าของไม่มีแบบจะเอาอะไรมาสอนเขา เจ้าของไม่รู้จะสอนคนอื่นให้รู้ได้เหรอ
พระพุทธเจ้ารู้แล้วถึงสอนคนอื่นให้รู้ สาวกทั้งหลายท่านรู้แล้วท่านจึงสอน เป็นสรณะของพวกเราอย่างตายใจมาตลอด ไอ้เราไม่ได้หน้าได้หลังอะไร จะไปเก่งยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี้มันก็คือจมนั่นแหละ จะว่ายังไง พูดจริง ๆ การปฏิบัติธรรม ถ้าลงภาคปฏิบัติได้เข้าถึงใจแล้วมันกระจ่างแจ้งออกไป ไม่ได้เชื่ออะไรง่าย ๆ นะ ไม่ได้เหมือนความจำ ความจำคอยแต่จะเชื่อ ใครว่าอะไรก็เชื่อตามไป ๆ เพราะไม่มีความจริงเป็นที่ยึดที่เกาะ ต่างกันอย่างนี้นะ ถ้าได้ภาคปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์เป็นที่เกาะ พูดมาผิดพลาดรู้ทันที ๆ เลย เพราะเจ้าของผ่านไปหมดแล้ว นี่ละภาคปฏิบัติ
ขอให้พี่น้องทั้งหลายได้ฟังด้วยความสนอกสนใจพิจารณาด้วยดี อย่าฟังสุ่มสี่สุ่มห้า เชื่อสุ่มสี่สุ่มห้า ผู้ที่มาสอนไม่ได้เป็นเหมือนกัน ผู้มีความปรารถนาลามกก็มี ผู้มีความปรารถนาเป็นอรรถเป็นธรรม จากตนเองที่เคยปฏิบัติเป็นธรรมมาแล้วก็มี จากตนเองผู้ไม่เคยสนใจกับอรรถกับธรรม ภาวนาไม่เคยเป็นหน้าเป็นหลังแต่สอนเขาให้เลยนิพพาน ให้ถึงนิพพาน เลยนิพพานก็มี ที่มันหยาบโลนไปอย่างนั้นก็มี ให้พินิจพิจารณาดีด้วยดีการฟังเทศน์ ใครพูดหนักเบามากน้อยเพียงไร เรามุ่งต่ออรรถต่อธรรมแล้ว ธรรมทั้งหลายเราเคยได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์มาแล้ว เทียบเคียงทันที ๆ ก็เข้าใจกันได้ทันที เข้าใจเหรอ ไม่ใช่ว่าฟังสุ่มสี่สุ่มห้า เชื่อสุ่มสี่สุ่มห้าจมเลยนะ แล้วมีอะไรอีก มีปัญหาอะไรว่ามาจะตอบ เวลานี้กำลังจะตอบ มีปัญหาอะไร
โยม กราบเรียนครับผม เขาบอกที่สอนอันนั้น แบบปัญญาวิมุตติ แต่ทั่ว ๆ ไปโดยมากสอนแบบเจโตวิมุตติครับ
หลวงตา อ๋อ เขาสอนปัญญาวิมุตติเหรอ มันมุดลงใต้นรกอเวจีนี่ ปัญญาวิมุตติอันนี้มันมุดลงใต้นรกอเวจีนั่นซิ เจโตวิมุตติท่านก็สอนไว้แล้วในปริยัติเห็นอยู่แล้ว ปัญญาวิมุตติท่านก็สอนไว้แล้ว ผู้ปฏิบัติก็ปฏิบัติแล้ว ทีนี้การดำเนินตามรู้ท่านก็รู้ประจักษ์ของท่านแล้ว ท่านจะสงสัยอะไร นอกจากหูหนวกตาบอดมาหาหลอกโลกเท่านั้น ตนเองไม่ได้ทำ นั่น แล้วมีอะไรอีกว่ามา
โยม ขอถามนิดหนึ่งคือว่า เราภาวนาแล้วจิตเรานิ่งแบบที่หลวงตาบอกว่าเป็นอารมณ์ ไม่อยากได้อะไร
หลวงตา คือว่า ความสงบของจิต มันอยู่ที่จิตเลย ถืออารมณ์ความสงบนี้แนบสนิทอยู่ด้วยกันเลย ไม่อยากคิดอะไรมันสู้อารมณ์ความสงบนี้ไม่ได้ ความคิดต่าง ๆ นี้เป็นการกวนใจ เวลาธรรมเข้าสู่ใจแล้ว มันปฏิเสธสิ่งที่มันเคยชอบแต่ก่อน ปัดออก คิดก็ไม่อยากคิด ยุ่ง อยู่แน่ว เพราะฉะนั้นผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิจึงอยู่ที่ไหนอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืนสบายตลอดเวลา แต่ไม่มีความแยบคายยิ่งกว่านั้น นี่ละจึงต้องมีวิปัสสนามาเปิดทางอีกทีหนึ่ง พิจารณาทางด้านปัญญา พอก้าวออกจากด้านปัญญานี้ความรู้จะสูงขึ้นละเอียดลออมากยิ่งกว่านี้ แล้วเป็นปัญญาประเภทที่ฆ่ากิเลสเป็นลำดับไปด้วยนะ สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ เอ้า ฟัง สมาธิเป็นแต่เพียงว่าตีกิเลสให้สงบตัวลงไปเหมือนหินทับหญ้าเท่านั้นเอง พอเอาหินออก สมาธิมันก็แตกกระจายไปกลายเป็นความฟุ้งซ่านวุ่นวายไปได้ เมื่อหินทับหญ้า เอาหินออกแล้วหญ้ามันก็งอกได้ใช่ไหมล่ะ
อันนี้เมื่อเราไม่ระมัดระวังอย่างนี้มันก็ฟุ้งซ่านไปได้ กลายเป็นจิตธรรมดาเลวกว่าโลกไปอีกก็ได้ มันเสื่อมได้เข้าใจ แต่เวลาเราประคับประคองหรือเรามีความเพลิดเพลิน ติดอยู่ในสมาธิ จิตก็เป็นสมาธิมีอารมณ์อันเดียวกับความสงบ เอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ คือมีความสงบเป็นอันเดียวกับจิตอยู่ด้วยกัน อยู่ไหนอยู่ได้ไม่อยากคิด คิดเรื่องอะไร ๆ นี้รำคาญ ไม่อยากคิด มันกวนใจว่าอย่างนั้นเลย แต่ก่อนมันเพลินมันไม่ได้ว่ากวนใจ มันเพลิน
ทีนี้เวลาความสงบนี้มันมีคุณค่ามากกว่านั้นแล้ว มาครอบครองใจแล้ว ความคิดทั้งหลายจึงเป็นข้าศึกไปไม่อยากคิด นี่ขั้นสมาธิ ทีนี้พอก้าวออกทางด้านปัญญา ทางด้านปัญญาเป็นทางแก้กิเลสนะ สมาธิไม่ได้แก้กิเลส ตีกิเลสให้สงบลง เพื่อปัญญาจะได้ก้าวเดินหรือคลี่คลายสิ่งทั้งหลายที่มันหมอบตัวอยู่ด้วยสมาธิตีหัวมันนั้น คลี่คลายออกมาด้วยปัญญา จากนั้นฆ่ากิเลสละที่นี่ ฆ่ากิเลสด้วยปัญญา สมาธิเพียงทำใจให้สงบ พอออกทางด้านปัญญาคลี่คลายออกแล้วยิ่งแจ้งยิ่งขาวดาวกระจ่าง ยิ่งละเอียดลออ กิเลสขาดลง ๆ ๆ เห็นชัด ๆ ในใจ
เพราะฉะนั้น จึงได้กล้าพูดละซิว่า โอ้โห เรื่องสมาธิมันนอนตายอยู่เฉย ๆ ไม่เห็นแก้กิเลสได้สักตัว มันบอกชัด ๆ ในหัวใจเจ้าของเอง มันนอนจมอยู่อย่างนั้น กิเลสตัวไหนก็ไม่เคยขาด อยู่สบาย ๆ เพลินอยู่กับความสงบเย็นใจ พอก้าวออกทางด้านปัญญานี้ถอดถอนกิเลสเป็นลำดับลำดาไป มันก็เห็นคุณค่าของปัญญาแล้วก็มาโทษสมาธิ โอ๊ย.สมาธิมันนอนตายเฉย ๆ แก้กิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้ ทีนี้ก็ฟัดทางด้านปัญญาละซิ เอ้า ทางปัญญาถ้าไม่มีผู้เตือนมันก็เตลิดเปิดเปิงได้เหมือนกัน ต้องมีผู้ห้ามล้อได้อีกนะ ผู้มีความรู้เหนือกว่าจะกระตุกให้รู้จักความพอเหมาะพอดีในการก้าวเดินปัญญา ถึงเวลาที่จะพักสมาธิให้พัก พอออกจากสมาธิแล้ว ถึงกาลเวลาที่จะก้าวเดินทางด้านปัญญาไม่ต้องห่วงสมาธิ เอ้า ก้าวเดินทางด้านปัญญาเรื่อยไป
เมื่อปัญญามีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพราะการทำงาน ปัญญาทำงานหมุนติ้ว ๆ ทำงานแล้วให้พักสมาธิหรือพักผ่อนนอนหลับ จากนั้นมาแล้วให้ก้าวเดินทางปัญญาอีก ให้เป็นวรรคเป็นตอน ทั้งมีการพักสมาธิ ทั้งมีการก้าวเดินทางด้านปัญญาเป็นวรรคเป็นตอน ถือเอาความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเจ้าของเป็นสำคัญที่จะให้พัก พักสมาธิหรือพักนอนก็แล้วแต่ มีเป็นขั้นอย่างนี้ นี่การดำเนินทางด้านปัญญา จากนั้นแล้วจะพุ่ง ๆ นี่ละท่านว่าปัญญาอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัติพุ่ง ๆ ๆ ไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนนอนหลับ มันเพลิน เพลินทางด้านปัญญาเพลินแก้กิเลสเรื่อย ๆ ต้องได้หักเอาไว้ ต้องได้กระตุกเอาไว้ให้พักเสียก่อน
เหมือนอย่างเราทำงาน ทำงานขุดดิน ฟันไม้อะไรก็แล้วแต่ มันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ผลของงานได้ไปเรื่อย ๆ เพลินกับผลของงานเจ้าของจะตายไม่รู้ เอ้า ถึงจะได้งานก็ตามพักเสียก่อน เวลานี้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเต็มที่พักเสียก่อน ตื่นขึ้นมาหรือว่ารับประทานอาหารมันจะสิ้นเปลืองไปบ้างก็ตาม สิ้นเปลืองไปเพื่อกำลังที่จะก้าวเดินต่อไป นั่น เข้าใจเหรอ อันนี้ปัญญาก็เหมือนกัน ถึงเวลาพักให้พัก เมื่อพักทางด้านปัญญา พักสมาธิแล้วไม่ต้องยุ่งทางด้านปัญญา ให้จิตแน่วลงจุดเดียวนี่เรียกว่าพักเครื่อง หรือพักเอากำลัง พอออกทางด้านสมาธิแล้วทีนี้ก้าวสู่ปัญญา ปัญญาจะหารายได้ละที่นี่ สมาธิการพักผ่อนเวลานี้ไม่ยุ่ง เอ้า ทำหน้าที่ทางปัญญาไป เป็นพัก ๆ อย่างนี้ พากันเข้าใจ
โยม สมาธิเราไม่ต้องมาพิจารณา ที่เป็นหนอนตามตัวนี้ได้ไหมค่ะ กลัวเห็นผีแล้วมันกลัว พิจารณาแบบว่า เรามาพิจารณาอย่างนี้ได้ไหมค่ะว่า เอ้.ทำไมเราเกิดมาทุกวันมันก็ทุกข์อยู่แล้ว เกิดมาเราต้องเกิดมาแบบผจญกับปัญหาทุกอย่างอะไรอย่างนี้ แล้วเราก็คิดกลับมาว่า เราไม่ควรจะมาสร้างภพต่อได้ไหมค่ะ เราไม่ต้องมาพิจารณา เอ็น เนื้อ หนังที่มันมีหนอน ๆ
หลวงตา เอ้า ถูกต้องแล้ว ให้พิจารณาเรื่องหนอน เป็นสิ่งปฏิกูลโสโครก น่าเบื่อ น่าเกลียด ๆ เท่าไร ให้พิจารณาออกไปจิตมันจะถอยออก ๆ คือมันจะปล่อยความยึดมั่นถือมั่น ที่แต่ก่อนถือว่าเป็นของสวยของงาม ถือเป็นเราของเรา พอมันกลายขึ้นมาเป็นส้วม เป็นถานขึ้นมาแล้วมันจะขยะ มันจะถอย ความยึดมั่นถือมั่นก็เบาไป ๆ น้ำหนักคืออุปาทานทำให้หนักมาก กดถ่วงจิตใจลง
โยม กลัวเห็นผี
หลวงตา โอ๊ย.มันไม่กลัว มันกล้า คนอย่างนี้ประเภทกล้า กล้าแบบบ้า กล้าไม่รู้จักเป็นจักตาย ว่ากลัวผีตรงไหน มันจ่อเข้าไปหาแต่ผีนะ มันกลัวอะไรจะไปหาผี ถ้าว่ากลัวผีก็วิ่งเข้ามาอย่าออกไปหาป่าช้าซิ พอคิดถึงเรื่องป่าช้ามันกลัวถอยเข้ามาซิ จึงเรียกว่ากลัวผี อันนี้กลัวผีในป่าช้ายิ่งจ่อเข้าไปหาแต่ป่าช้า เข้าใจไหม มันกลัวอะไรมันเป็นบ้า กล้าเกินเหตุเกินผล กล้าไม่รู้จักประมาณ ว่ากลัวผีจิตส่ายหาแต่ผี กลัวเสือส่ายหาแต่เสือ กลัวอะไรส่ายหาแต่นั้น นั่นจิตกล้าไม่รู้จักตายเข้าใจไหม ถ้ากลัวต้องถอยเข้ามาซิ เข้าใจเหรอ เช่น อย่างท่านสอน กลัวเสืออย่าไปนึกถึงเสือ ให้นึกถึง พุทโธ ๆ นี่ไม่ใช่ธรรมน่ากลัว
นึกพุทโธ ๆ ติดแนบเข้า ๆ เรื่องเสือก็จางไป ๆ พุทโธเด่นขึ้น ๆ ทีนี้แม้แต่คิดถึงเสือก็ไม่กลัว แน่ะ ได้หลักแล้ว เข้าใจไหม อันนี้มันอะไร กลัวผีคิดหาแต่เรื่องผี ป่าช้าอยู่ไหนไปซอกแซกเห็นหมดเลย แล้วว่ากลัว ๆ มันกลัวบ้าอะไรอย่างนั้น มันกล้าหาญไม่เข้าท่า กล้าหาญไม่รู้จักตาย เอาเท่านั้นละนะ วันนี้ไม่มีอะไรมากนะ พอ ให้พากันนำไปปฏิบัตินะ อย่าฟังสุ่มสี่สุ่มห้าใครสอนก็ตาม ให้ถือหลักถือเกณฑ์ ครูอาจารย์ที่สอนเป็นหลักเป็นเกณฑ์มายังไง ให้จับอันนั้นไว้ให้ดี ไอ้สอนสุ่มสี่สุ่มห้าแบบสุกเอาเผากิน อย่างย่อม ๆ สุกเอาเผากินไม่เป็นท่านะ ยิ่งตั้งหน้าโกหกโลกแล้วยิ่งเป็นมหาภัยนะ ให้จำเอานะ พอ
อ่านธรรมะหลวงตา วันต่อวัน ได้ที่ www.luangta.com |