หลักของนักรบในสงคราม
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2510 ความยาว 38.43 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๐

หลักของนักรบในสงคราม

         ...ผลกระวนกระวาย ยิ่งเป็นสัตว์ร้ายที่ถูกปืนด้วยแล้ว อะไรมาผ่านหน้าไม่ได้ เป็นกัดเป็นฉีกไปทั้งนั้น ลักษณะของเสือที่ถูกปืนเป็นอย่างนั้น อะไรผ่านหน้าคอยแต่จะกัดจะฉีก ไม่ค่อยจะพิจารณาไตร่ตรองอะไรให้รอบคอบ เพราะความทุกข์มันบีบบังคับจิตใจ อุบายวิธีต่างๆ ที่สัตว์แสดงออกในเวลาเจ็บปวดแสบร้อนมากๆ เช่นนั้น มันไม่ได้ออกด้วยความคิด แต่ออกเพราะเรื่องของความทุกข์ผลักดันให้ทำ ทำให้สมใจ ยิ่งนึกความเจ็บปวด สองคือความเคียดแค้น ว่าใครเป็นคนทำเรา สิ่งที่ฝังใจที่สุดก็คือรู้แล้วว่าสัตว์มนุษย์เป็นผู้ทำ

ใจที่ได้รับความทุกข์เดือดร้อนภายในเราก็ย่อมเป็นเช่นนั้น คนที่มีความทุกข์มากย่อมไม่ค่อยจะมีโอกาสใคร่ครวญดูเหตุผลหลักธรรมดีชั่ว นำมาพิจารณาและแก้ไขปลดเปลื้องตนไปตามเหตุการณ์ที่ควร แต่จะทำจะคิดจะพูดอะไร ต้องแสดงออกเพื่อให้เป็นความสมใจด้วยอำนาจแห่งความทุกข์นั้นผลักดันออกมาให้ทำเช่นนั้น ให้พูดหรือให้คิดเช่นนั้นเป็นลำดับ ลักษณะที่กล่าวมาทั้งนี้ไม่ใช่เป็นทางที่จะยังบุคคลให้มีความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยดี แต่จะเป็นทางหายนะเป็นลำดับๆ จนถึงความหายนะที่แก้ไขไม่ได้

สิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้านั้นคือเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญ การปกครองตนการปกครองผู้อื่นต้องมีหลักเหตุผลเป็นเครื่องปกครอง หากปราศจากเหตุผลแล้ว แม้จะปกครองผู้น้อยเขาก็ไม่เคารพยำเกรง ปกครองตนก็ไปไม่รอด จดจำให้ดี นี่ละหลักธรรมของพระพุทธเจ้าคือเหตุผลเป็นเครื่องปกครอง ผู้ปฏิบัติธรรมต้องถือเหตุผลประจำใจตนเอง เรื่องความอยากนั้นถือเป็นประมาณไม่ได้ แม่น้ำในมหาสมุทรยังมีเวลาขึ้นเวลาลดลง แต่ความอยากซึ่งถูกผลิตออกมาจากกิเลสตัณหานี้ไม่มีเวลายุบยอบลง เหมือนกันกับไฟได้เชื้อ ไหม้อย่างไม่มีวันคืนปีเดือนกัปกัลป์อะไร ไหม้ไปได้ทั้งนั้นขอแต่มีเชื้อให้ไหม้

ลักษณะของใจก็ย่อมเป็นไปเช่นนั้นเหมือนกัน ถ้ามีช่วงสืบต่อที่จะให้คิดไปด้วยความอยาก และมีสิ่งผลักดันออกมาจากภายในด้วยแล้ว จิตจะชอบคิดโดยไม่คำนึงว่าเป็นกลางวันกลางคืน หรือกำลังทำงานหรือทำอะไรอยู่ มีทางที่จะคิดได้ตลอดเวลา หากความคิดประเภทที่รุนแรงฝังใจ ทำให้คิดออกมาแล้ว แม้นอนหลับก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นอีก บางทีถึงกับละเมอเพ้อฝันไปต่างๆ นานา ขนาดนั้น ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่แสดงออกเพื่อความหายนะ ธรรมะจึงเป็นเหมือนกับทำนบกั้นน้ำกิเลสตัณหา ซึ่งไม่มีวันยุบยอบนี้ ให้ยุบยอบลงไปได้และเหือดแห้งลงไปโดยไม่มีเหลือ

ถ้าเป็นผู้สนใจนำมาปฏิบัติ ปิดกั้นตนเองตามหลักเหตุผลที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนไว้ แม้จะไม่มีความเจริญรุ่งเรืองสุดขีดสุดแดน ก็ต้องมีความเจริญรุ่งเรืองตามฐานะของตนที่มีธรรมภายในใจ จะให้เสียผลนั้นเป็นไม่มี เฉพาะอย่างยิ่งที่เราเป็นนักบวชด้วยแล้ว ต้องอยู่กับหลักเหตุผลทั้งนั้น ไม่ว่าจะดื่มไม่ว่าจะฉัน ไม่ว่าจะไปจะมา ไม่ว่าจะเป็นกิจนอกการใน เกี่ยวข้องกับใครก็ตามหรือเรื่องอะไรก็ตาม ต้องให้มีหลักเหตุผลซึ่งออกจากความใคร่ครวญที่เรียกว่าปัญญาเสมอ เดินตามกันไปกับเรื่องราวนั้นๆ ถ้าสติกับปัญญาได้เดินตามเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ แล้วจะไม่ผิดพลาด จะไม่ทำให้เสียหวัง จะไม่ทำให้เดือดร้อนทั้งตนและผู้อื่น แต่จะเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอราบรื่นและเป็นที่พึงพอใจแก่ตนและผู้อื่น

การสงวนตนจะสงวนเฉยๆ โดยไม่มีเหตุมีผล ก็จะเป็นการเหยียบย่ำตนลงโดยไม่รู้สึกตัว ตามธรรมดาของความสงวนตนนี้ไม่มีอยู่เพียงชาติมนุษย์ของเรา แม้แต่สัตว์เดรัจฉานทุกๆ ประเภทเขาก็มีการสงวนตนของเขาเหมือนกัน คนโง่คนฉลาดคนมีคนจนมีการสงวนตนทั้งนั้น แต่อุบายวิธีที่จะให้ถูกต้องตามความสงวนตนนั้นเราจะปฏิบัติต่อตนเองอย่างไร นี่เป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก เพราะฉะนั้นคนเราที่ทำอะไรผิดพลาดลงไป ทั้งๆ ที่ตนมุ่งหวังความสุขความเจริญแล้วนำสิ่งนั้นๆ เข้ามาเพื่อบำรุงตนซึ่งเป็นหลักใหญ่แห่งความสงวน แต่ก็ทำให้พลาดลงไปเสีย นี่เพราะความไม่รอบคอบในเหตุผล คิดเห็นแต่เพียงได้ท่าเดียว ไม่ได้คิดถึงความเดือดร้อนเสียหายจะตามมาทีหลัง

เราคิดดูปลาที่กินเบ็ดและตายด้วยเบ็ดนั้นมีจำนวนไม่น้อย คำว่าปลาไม่ใช่ว่าจะตายด้วยเบ็ดเสียทุกตัว บางตัวอาศัยอาหารจากเบ็ดเลี้ยงชีวิตให้เป็นไปได้ยังมี ปลาประเภทนี้คือปลาที่ฉลาด ไม่กินเบ็ด แต่กินเฉพาะเหยื่อที่ติดอยู่กับเบ็ดเท่านั้น แต่ปลาตัวโง่นั้นจะกลืนไปหมด ทั้งเหยื่อทั้งเบ็ด เหยื่อที่ถูกกลืนเข้าไปแทนที่จะเป็นอาหารบำรุงร่างกายของปลา กลับไม่ทราบเรื่องกันไปเลย ผลที่ปรากฏรสชาติที่ไม่พึงปรารถนาก็คือความเจ็บปวดแสบร้อนที่เกิดขึ้นจากเบ็ดเกาะปาก นี่เพราะความไม่รอบคอบเป็นอย่างนี้ เหยื่อเลยไม่มีอะไรปรากฏว่าปลาได้รับให้เป็นความสุขความเจริญ นอกจากมีแต่ความเจ็บปวดแสบร้อนเพราะถูกเบ็ดเกาะเท่านั้น

อะไรเล่าเป็นปลาอะไรเล่าเป็นเหยื่อ สิ่งที่มาเกี่ยวข้องจะสัมผัสทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ถ้าผู้มีสติปัญญาจะเป็นโอชารสอันหนึ่งจากสิ่งที่มาสัมผัส ไม่ติด นำมาพิจารณาเป็นอรรถเป็นธรรมได้ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่ใช้เหตุผลอุบายเป็นเครื่องพิจารณา ปล่อยให้ตามความอยาก อยากเห็นอยากฟังอยากดื่มอยากสัมผัสถูกต้อง อยากคิดอยากปรุงไปต่างๆ เพียงเท่านั้น นั่นแลเป็นทางที่ล่อแหลมต่อเบ็ดทุกๆ ขณะ

คำว่าเบ็ดก็คือความทุกข์ เหยื่อก็คือเรื่องของสมุทัย สมุทัยต้องชวนเสมอ ชวนให้คิดเชื่อเบ็ด คือคิดเชื่อเรื่องทุกข์ เบ็ดนั่นหมายถึงเรื่องทุกข์ ชวนให้พูด ชวนให้สนใจในการเห็นการได้ยิน การสัมผัส การคิดการปรุงการแต่งต่างๆ นานา ทั้งเป็นเรื่องอดีตทั้งเป็นเรื่องอนาคต เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดให้ปรุงไปเรื่อยๆ เชื่อเบ็ดคือเรื่องกองทุกข์มาเผาลนจิตใจ นี่เป็นเรื่องของเหยื่อและเป็นเรื่องของเบ็ดทั้งนั้น ถ้ามีปัญญาใคร่ครวญดูในสิ่งที่จะควรเห็นควรฟัง ควรคิดควรดื่มควรฉันหรือควรรับประทาน ควรสัมผัสถูกต้อง ควรจะคิดมาเป็นอารมณ์ภายในใจ โดยปัญญาเป็นผู้นำพาไป สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นโอชารสคือสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจเป็นลำดับๆ อยู่ในโลกแต่ไม่ได้ติดโลก ก็คือเรื่องนี้แหละ

เราจะหนีจากโลกนี้จะหนีไปไหน เพราะเราก็เป็นโลกคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่มีแต่โลกนอก ตัวเราไม่ใช่โลก โลกนอกกับโลกของเรานี้ท่านเรียกว่าโลกอันเดียวกัน อยู่ในแหล่งแห่งโลกนี้เหมือนกัน เราหนีจากโลกเราจะหนีไปไหน ถ้าเราไม่หนีจากตัวของเราได้ เราก็หนีจากโลกไม่ได้ เพราะโลกคือขันธ์ ธาตุ ๔ ข้างนอกก็มีข้างในก็มี เว้นข้างนอกข้างในก็ยังติดตามเราได้ หลีกเลี่ยงหนีจากข้างนอก ข้างในก็ติดตามกันไป เพราะธาตุขันธ์ของเรา ขันธ์คือขันธ์ ๕ ธาตุคือธาตุ ๔ ของเรา ถ้าไม่หลีกเลี่ยงด้วยอุบายปัญญา จาระไนสิ่งภายนอกที่เรียกว่าโลกภายนอก จาระไนสิ่งภายในคือโลกภายใน ธาตุขันธ์ภายใน ให้เห็นตามหลักความจริงโดยทางปัญญา อยู่ที่ไหนก็พอปฏิบัติต่อกันกับโลก อยู่กับโลก โลกก็ไม่ทำให้เดือดร้อน เพราะตนไม่เกี่ยวข้อง หรือตนไม่หาเรื่องราวเอาเรื่องของโลกเข้ามาเผาใจ นี่ผู้มีหลักธรรมะเป็นอย่างนี้

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับสัมผัสจากทางไหนก็ตาม ต้องมอบให้เรื่องของสติเรื่องของปัญญาเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ พินิจพิจารณากลั่นกรองดูเรียบร้อยแล้ว ค่อยหยิบไว้สำหรับเป็นประโยชน์แก่จิต หรือเก็บไว้สำหรับเป็นประโยชน์แก่ตัวต่อไป ถ้าเห็นว่าไม่ควรแม้จะอยากแสนอยากก็รีบผลักดันออกไปด้วยอุบายของปัญญาคือหลักเหตุผลทันที ไม่ฝืน ไม่ฝืนดื่ม ไม่ฝืนรับประทาน ไม่ฝืนดู ไม่ฝืนฟัง ไม่ฝืนสัมผัส ไม่ฝืนคิดไป นี่ชื่อว่าผู้ปกครองตนเองแท้โดยธรรมะ ถ้านอกจากนี้แล้วเป็นที่เสี่ยงภัย

จะเรียนรู้มากน้อยไม่สำคัญ เพราะคำว่าเรียนนั้นเรียนด้วยกันทุกคน ทางตาเห็นก็เป็นอันรู้สึกเข้าถึงใจ หูฟังก็เป็นอันซาบซึ้งถึงใจ อันใดมาสัมผัสทางกายทุกส่วนก็ต้องหยั่งเข้าถึงใจเกิดความรู้ขึ้นมา ชื่อว่าเป็นการศึกษาการเล่าเรียนด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีสติปัญญาไตร่ตรองเอาตามสิ่งที่มาสัมผัสรับรู้นั้นให้เกิดประโยชน์ หรือเกิดความเสียหายอย่างไรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ศึกษามากน้อย ทำตัวให้ล่มจมจึงมีจำนวนไม่น้อย ดาษดื่นในโลกเรานี้ เพราะขาดธรรมะคือเครื่องยับยั้งชั่งตวง ขาดสติปัญญาเป็นเครื่องกลั่นกรองให้เห็นควรไม่ควรก่อนแล้วค่อยผ่านไป หรือค่อยยึดไว้ นี่ละหลักสำคัญ

จิตถ้าเคยอยู่ในกรอบของเหตุผลแล้วจะไม่ฝืนไป ถ้าเคยเลยเถิดเสมอ ไม่เคยสนใจในเรื่องหลักเหตุผลที่จะปกครองตนแล้ว อะไรก็ต้องเป็นไปตามความคิดความอยากทั้งนั้น ถ้าน้ำก็ไม่มีแอ่งสำหรับเก็บ ไหลเตลิดเปิดเปิงตามลำคลองไปหมด พอฝนขาดฟ้าน้ำก็ขาดลำคลอง ไม่มีเหลือ ถ้ามีที่เก็บไว้บ้าง ฝนตกก็ตกลงไป เมื่อฝนหยุดน้ำก็ยังมีที่ขัง นี่ก็โปรดได้เทียบดูให้ดี กระแสของความคิดที่มีความอยากเป็นเครื่องผลักดันออกมานี้ จะมีแต่ไหลลงต่ำท่าเดียวเท่านั้น โดยไม่มีการยับยั้งหรือหยุดได้เลยแม้แต่ขณะนี้ ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองดูให้เห็นเหตุผล แล้วยับยั้งตนไว้ด้วยเหตุผล แม้จะอยากก็ไม่ยอมดู จนจิตมีความเคยชินต่อเหตุผลแล้ว ไปไหนก็มีหลักเหตุผลเป็นเครื่องปกครองตนเสมอ ไม่ค่อยเสียหรือไม่เสีย ถ้าปล่อยเลยตามเลยแล้ว จะเรียนรู้มากน้อยเท่าไรไม่เป็นปัญหาทั้งนั้น

เพราะความเสื่อมเสียนั้นไม่ขึ้นอยู่กับความรู้ แต่ขึ้นอยู่กับภาคปฏิบัติของผู้จะทำตนให้เจริญนั้น มีอุบายวิธีที่สมควรแก่เหตุแก่ผล ที่จะให้เกิดประโยชน์แก่ตนแล้วทำลงไปเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่รับรองความเจริญได้ แต่เพียงความรู้จะเอามาอวดอ้างกันเฉยๆ ว่าเรามีความรู้เพียงเท่านี้นั้น ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ไม่เกิดผลอะไรเลย เหมือนอย่างเครื่องมือของเราจะมีอยู่เต็มบ้านเต็มเรือนก็ตาม ไม่นำไปใช้ประโยชน์มันก็เป็นเครื่องมืออยู่อย่างนั้น หาได้เกิดประโยชน์อะไรแก่เราไม่ ถ้านำไปใช้เราจะมีสองชิ้นสามชิ้นก็ตามเครื่องมือ ไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ก็เกิดขึ้นมาตามฐานะของตนและเครื่องมือที่มีอยู่มากน้อย

หลักธรรมะก็เหมือนกันที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามากน้อย นำไปปฏิบัติก็ย่อมเกิดผลประโยชน์แก่ตนเช่นนั้นเหมือนกัน ถ้าเรียนมามากแต่ไม่ได้สนใจหรือไม่ได้สนใจกับธรรมะเลย จะเรียนทางไหนก็ตาม แต่เป็นผู้เรียนมากศึกษามาก หากไม่ได้สนใจหลักการปกครองตนเองอย่างนี้ มีทางที่จะเสียได้เช่นเดียวกัน ผลประโยชน์ไม่ค่อยเกิด ยิ่งเฉพาะจิตใจด้วยแล้วต้องอาศัยเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติต่อตนเอง ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสิ่งภายนอกอะไรมาก พูดแต่เรื่องของใจที่แสดงออกเกี่ยวกับสิ่งภายนอกเป็นอย่างไรบ้าง

การฝึกทรมานตนเอง ทำอย่างไรได้ผลแค่ไหนต้องสังเกตเสมอ ใจนี้ถ้าได้พยายามฝังเข้าสู่ภายในกายคตาสติที่เรียกว่าองค์แห่งอริยสัจมีอยู่ที่นี่แล้ว จะไม่เป็นอย่างอื่นขึ้นมา ถึงทุกข์ก็ทุกข์เพื่อสุข ทุกข์ก็ทุกข์ในเวลาทำงาน แต่ผลคือความสงบสุขของใจจะต้องแสดงตัวออกมา หากใจของเราได้หยั่งเข้าสู่กายคตา ซึ่งเป็นรากฐานปัจจุบันอันเป็นที่ตั้งแห่งสติปัญญาด้วยดีแล้ว จะไม่แสดงผลอย่างอื่นขึ้นมาคือความทุกข์ร้อนต่างๆ ที่จะเพิ่มพูนกิเลสขึ้นมาที่ใจ ไม่มี ส่วนความทุกข์ทางร่างกายนั้นมีบ้างเป็นธรรมดา แต่จะสั่งสมกิเลสขึ้นมาภายในใจนั้นจะเป็นไปไม่ได้ ขอให้พิจารณาให้ถูกตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ในองค์ของกายคตาเถอะ ไม่มีอะไรเสียหาย

นี่เคยแสดงให้ฟังหลายครั้งแล้วกายคตาสติ พิจารณายังไงจึงเป็นกายคตา กำหนดให้รู้สึกอยู่ภายในร่างกายของตัวเองนี้ก็จะลดเป็นขั้นหนึ่งแล้ว ความแยบคายที่จะขยายออกไปในวงกว้างวงแคบตามแต่สติปัญญาของตนนั้นเป็นกายคตาเป็นชั้นๆ เข้าไป กายคตาจะสิ้นสุดได้ในเมื่อจิตได้ผ่านกายคตาลงไป โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในกายอันนี้ เนื่องจากความพอของสติปัญญาพร้อมมูลแล้วและปล่อยวาง รู้เท่าพูดง่ายๆ กายคตาจะหมดปัญหาในระยะนี้ระยะหนึ่งจากการบำเพ็ญ นอกจากจะเป็นวิหารธรรมในวาระสุดท้ายเท่านั้น ส่วนเป็นวิหารธรรมในวาระสุดท้ายนั้นจะแยกกันไม่ออก นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้าย

ทิฏฐธรรม ณ ปัจจุบัน คือการบำเพ็ญเพื่อความอยู่สะดวกสบายในระหว่างขันธ์กับจิตนั้น พระพุทธเจ้าและสาวกจะลดละเรื่องกายคตาสตินี้ไม่ได้เหมือนกัน แต่พิจารณาเพื่อเป็นวิหารธรรมเท่านั้น ไม่มีความมุ่งหมายที่จะพิจารณาถอดถอนกิเลสอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่นในธาตุ ๔ คือกองกายคตานี้แต่อย่างใด นั่นเป็นความจำเป็นขั้นหนึ่งต่างหากจากขั้นของการบำเพ็ญ คือเป็นความจำเป็นสำหรับเป็นวิหารธรรมของพระอริยะเจ้าชั้นวิสุทธิบุคคล เป็นความจำเป็นประเภทนั้น แต่ความจำเป็นของพวกเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายนี้ซึ่งมีอุปาทานเต็มจิตเต็มใจเกี่ยวกับกายนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องพิจารณาเพื่อถอดถอนอุปาทาน เนื่องจากความเห็นแจ้งในส่วนร่างกายทุกส่วนแล้วถอนตัวไปได้ นี่เป็นความจำเป็นทางหนึ่ง

ทำไมจะไม่รู้ถ้าจิตได้หยั่งเข้าสู่ที่นี่ด้วยความรู้สึกตัวอยู่เสมอ ทำไมจะไม่รู้ นี่ผมแปลกใจมากเหมือนกัน ท่านนักปฏิบัติถ้าจิตหยั่งเข้าสู่ที่นี่แล้วไม่ปรากฏผล ผมว่าหยั่งเข้าสักเดี๋ยวทะลุออกไปที่อื่น มีขณะเดียวเท่านั้นที่ฝังลงที่กาย พอจะเป็นกายคตาสติได้ ในขณะต่อไปนั้น รู้สึกว่าจะเตลิดเปิดเปิงไป ร่วมเข้ากองสมุทัยไปทั้งจิต จึงได้สั่งสมแต่ทุกข์ขึ้นมาให้เรา แล้วมาหาว่าภาวนากายคตาสติผลไม่เห็นปรากฏเลย ส่วนไปเป็นผู้สั่งสมสมุทัยในขณะที่ภาวนากายคตาสติ โดยเจ้าตัวไม่รู้นั้นมีจำนวนมากเท่าไรไม่รู้สึก  นี่ละผลจึงไม่ปรากฏในทางที่ตนปรารถนา แต่ไปปรากฏตรงกันข้ามคือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เนื่องจากจิตมันเล็ดลอดออกไปอย่างนั้นแหละ

การภาวนาจิตใจเอาหนักเท่าไรก็ให้รู้ จะตายให้เขาไปประกาศทางวิทยุหนังสือพิมพ์ก็ให้รู้ ว่าผู้ฝึกทรมานจิตใจนี้จนตาย ยังไม่เคยเห็น หลักความจริงก็มีอยู่ที่นี่จริงๆ ไม่อยู่ที่อื่น สิ่งที่จอมปลอมมันมีจำนวนมากเท่าไรแล้วเราก็ชอบ เพราะฉะนั้นผลที่เป็นเครื่องตอบแทนเรา ความชอบมันจึงพลิกเป็นเรื่องความทุกข์ขึ้น เพราะชอบในทางที่ไม่ถูก ความคิดในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ต้องแสดงตัวขึ้นมา เพราะเหตุเป็นทางที่ไม่ถูกแล้ว ผลจะเป็นทางที่ถูกชอบใจเป็นที่พึงใจได้ยังไง

นักปฏิบัติต้องเป็นผู้กล้าหาญ อย่านำเรื่องอดีตเคยได้บำเพ็ญมาแล้วตั้งแต่วานนี้มีความลำบากลำบน พิจารณาอีกวันนี้กำหนดวันนี้ก็จะลำบากลำบน ถ้าอย่างนี้เป็นอุปสรรคต่อตนเอง บำเพ็ญมาเท่าไรก็ผ่านมาแล้ว หรือทำความชั่วเสียหาย หรือมีความโง่เขลาเบาปัญญามาเท่าไรไม่ต้องไปคำนึงในขณะที่ทำ ให้เห็นทุกข์ในปัจจุบันที่แสดงตัวขึ้นมา อย่าไปรู้เรื่องทุกข์ในอดีตขึ้นมาเพิ่มพูนความทุกข์ในปัจจุบัน จะกลายเป็นเรื่องสมุทัย แล้วก้าวความเพียรไปไม่รอด จะถอนความเพียรทันที กลายเป็นคนท้อแท้อ่อนแอถอยหลังไปไม่รอด หลักปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญ หน้าที่มีอันเดียวที่จะพิจารณาจิต ให้รู้เรื่องกระแสของจิตแสดงตัวออกไปด้วยสติกับปัญญาทั้งนั้นเป็นเครื่องกำกับให้รู้ ทำไมจะไม่รู้

นี่ก็ได้ฝึกมาเต็มกำลังของตัวเอง เวลามันพยศก็ไม่มีอะไรจะเทียบ เวลาสงบสบายด้วยอุบายต่างๆ ของเราที่เข้มแข็งต้านทานกันอยู่ มันก็รู้สึกว่าเป็นของมหัศจรรย์เหมือนกันในบางกาลบางเวลา นี่หมายถึงขั้นเริ่มแรกเป็นอย่างนั้น ต้องลงกันอย่างหนักบ้างไม่อย่างนั้นไม่พอ มันคะนองมาก เราต้องฝึกทรมานกันให้หนักเหมือนอย่างสัตว์ตัวคะนอง ทำค่อยๆ เบาๆ มือมันไม่ได้ ถ้าเป็นควายหรือเป็นวัวก็ชนตัวเองขวิดตัวเองให้ตาย เจ้าของต้องตาย เอาให้หนักมือ นี่จิตที่กำลังแสดงตัวในลักษณะของสัตว์ตัวคะนองเช่นนั้นก็ต้องทำให้หนักมือ บังคับให้อยู่ในกรอบของธรรมะ ไม่มีอะไรเสียหายการบังคับตนเอง จะเป็นทุกข์ก็ทุกข์เพื่อสุข ไม่ใช่ทุกข์เพื่อเพิ่มทุกข์ขึ้นไปในทางใจ ทุกข์ทางกายจริงแต่เพิ่มความสุขขึ้นในทางใจ

ความทุกข์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันขณะที่เราทำความเพียรนี้ กับความทุกข์ที่ผ่านมาแล้วกี่มากน้อย และจะเป็นความทุกข์ต่อไปอีกข้างหน้ามีเท่าไร อะไรจะมากกว่ากัน อดีตผ่านมาแล้วเท่าไร และอนาคตที่จะเป็นไปข้างหน้านั้นเท่าไร กับปัจจุบันคือการประกอบความเพียรเป็นทุกข์อยู่ ณ บัดนี้มีจำนวนมากเท่าไร เราเอามาชั่งกันดู ไหนจะระเหเร่ร่อนหาที่ยึดที่หลักปักจิตปักใจให้เจริญไม่ได้มีอย่างหรือนักปฏิบัติ ต้องนำมาชั่งตวง เมื่อชั่งตวงตามเหตุผลแล้วนั้นข้างหน้ากับข้างหลังมันสองแล้วว่าไง ปัจจุบันมีเพียงอันเดียว ทำไมจะไปสู้สองอย่างได้ล่ะ

เพียงเราจะทนความทุกข์ความทรมานในขณะที่ทำความเพียรเท่านี้ก็ไม่ได้แล้ว ไหนเราจะไปสามารถทนความทุกข์ความทรมานในอนาคตซึ่งจะมีมาไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ ในตัวของเราคนเดียวซึ่งจะเป็นผู้แบกทุกข์อยู่ตลอดเวลา ส่วนเป็นอดีตผ่านมาแล้วก็ทราบว่ามาแล้ว ความทุกข์ในระยะนี้กับความทุกข์ที่จะเป็นข้างหน้านานเท่าไรมากเท่าไร ทำไมเราจะอาจหาญต่อสู้หรือทนต่อสู้โดยไม่มีเหตุมีผลอะไรเลยมีอย่างเหรอ ทั้งๆ ที่ก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าอันเป็นหลักเหตุผลล้วนๆ อยู่ในตัวของเรา ทำไมเราจะเป็นผู้ถอยหลังต่อการประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่จะให้เกิดความทุกข์ขึ้นภายในจิตใจและความทุกข์ที่มีอยู่แล้วให้หมดไป เราจะทนไม่ได้

การเคารพข้าศึกถ้าไม่ตายขอให้ได้ชัยชนะ นี่เป็นหลักของนักรบในสงครามเป็นอย่างนั้น สงครามระหว่างกิเลสกับจิตก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เรียกว่าสงครามภายใน เอ้าไม่ตายให้ชนะ ชนะแล้วจะไม่ต้องกลับมาเกิดแบกกองทุกข์อีกต่อไป ท่านกล่าวไว้ว่าการชนะตนนั้นแลประเสริฐสุด เราเคยชนะตนไหม ถ้าหากว่าเราอยากเป็นผู้ประเสริฐสุด เราเคยทำความเพียรเพื่อชนะตนได้สักกี่ประโยค แต่เคยแพ้ตนมากี่ครั้งกี่หนแล้ว ควรจะนำมาทดสอบกันดู ถ้าเราเป็นนักรบจริงๆ เพื่อหวังความสุขความเจริญและความประเสริฐยิ่งภายในกรอบของธรรมะของพระพุทธเจ้าจริงๆ ควรคิดให้ดี เราอย่าเอาความโง่เขลาเบาปัญญา ความขี้เกียจขี้คร้านความอ่อนแอเข้ามาเป็นเจ้าเรือนบังคับธรรมอันดีของเราหายไปหมด ยังปรากฏอยู่ตั้งแต่ความท้อแท้อ่อนแอ ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่หลับแก่นอนอยู่ภายในใจ

เข็มแยงเข้าไปก็ไม่มีที่จะแยง มันเต็มไปด้วยกิเลสประเภทเหล่านี้ทั้งนั้น ธรรมะจะหยอดลงที่ไหน เมื่อมีแต่สิ่งเหล่านี้ปิดกั้นเสียหมดแล้ว ถ้าเป็นหม้อก็คว่ำปากลงเอาก้นขึ้น เอาน้ำมหาสมุทรมาเทมันก็ไหลทิ้งไปหมดไม่มีอะไรจะค้างอยู่ในหม้อลูกที่ถูกคว่ำไว้นั้น ใจของเราถ้ามันคว่ำจากหลักธรรมะแล้วก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน โมฆบุคคลก็คือคนประเภทนี้ โมฆะในตัวของเราก็คือเราซึ่งทำตัวให้เป็นประเภทที่กล่าวนี้ เราต้องเอามาคิดอย่างนี้ การศึกษาอบรมหรือการฝึกทรมานตนต้องหาอุบายวิธีต่างๆ ฝึกตน การดุด่าว่ากล่าวการฝึกตนจะหนักจะเบาบ้างไม่มีอะไรเสียหาย ไม่มีการกระทบกระเทือนถึงใจให้เกิดความเคียดแค้น ไม่เหมือนบุคคลอื่นที่มาฝึกทรมานหรือดุด่าว่ากล่าวเรา มันผิดกันทั้งโลกทีเดียว ไกลแสนไกลขนาดนั้น

ผู้ปฏิบัติต้องหาเหตุผลหาความฉลาดมาแก้ความโง่ของตน อย่าเอาความโง่เข้าไปแก้ความโง่มันจะเป็นหนึ่งกับหนึ่งเป็นสองขึ้นมา ความโง่ดั้งเดิมก็มีอยู่แล้ว ความโง่อันดับต่อไปก็เพิ่มไปอีกเป็นสองเป็นสาม สั่งสมตั้งแต่ความโง่เขลาเบาปัญญา ความขี้เกียจขี้คร้านวันยังค่ำคืนยังรุ่ง มันเต็มไปด้วยความโง่ทั้งนั้นตัวของเราทั้งตัว หาธรรมะที่ไหนจะส่องแสงสว่างออกนิดหนึ่งก็ไม่มี เมื่อเป็นเช่นนั้นความวิเศษจะมีอยู่ที่ไหน ไม่ปรากฏว่าความวิเศษวิโสอะไรจะเกิดขึ้นกับลักษณะที่กล่าวเหล่านี้ ลักษณะแห่งความขี้เกียจขี้คร้านที่ฝังอยู่ในหัวใจของบุคคล พากันพิจารณาให้ดี

ถึงคราวจะเป็นจะตายขึ้นมาจริงๆ มันจะทนไม่ไหวเรื่องความเพียรนี้ หนักเต็มที ทรมานตนเกินไป ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า อย่าระลึกถึงผู้อื่น พระพุทธเจ้าเคยสลบไสลมาแล้วกี่ครั้งจึงได้ตรัสรู้ ได้ตรัสรู้เพราะนอนอยู่อย่างสะดวกสบายในหอปราสาทไหม แต่ตรัสรู้เพราะความลำบากลำบนที่สุดไม่มีใครจะสู้พระพุทธเจ้า ถ้ามาแข่งขันกันแล้วทั่วทั้งโลกจะไม่มีใครเป็นที่หนึ่งนอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว นั่นธรรมเกิดขึ้นมาด้วยความลำบากลำบน ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยการอ่อนแอท้อแท้

เราปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าลูกศิษย์ตถาคต ต้องมีความขยันหมั่นเพียรองอาจกล้าหาญต่อหลักธรรมที่ชอบ กล้าทั้งการบำเพ็ญที่จะทำตนให้ยิ่งขึ้นไป กล้าทั้งการสลัดปลดแอกจากกิเลสทั้งหลายเป็นชั้นๆ อดหรืออิ่มไม่ถือเป็นปัญหาสำคัญ สำคัญที่ประโยคแห่งความเพียรพยายามของเรา วันหนึ่งๆ ที่ผ่านไปๆ ได้ความเพียรมากเท่าไร จิตใจของเราเป็นยังไงต้องสนใจที่จุดนี้ กิเลสตัณหาอาสวะทั้งหลายเกิดอยู่ที่ใจดวงเดียวนี้ อย่าเข้าใจว่าไปเกิดที่อื่นๆ การแบกกองทุกข์จะไม่มีผู้อื่นใดเป็นผู้แบก ไม่มีสถานที่ใดเป็นสถานที่แบก นอกจากจะแบกที่จิต เพราะจิตเป็นตัวสมุทัยที่สั่งสมกิเลสขึ้นมา กองภพกองชาติจึงมีอยู่ในที่นี้ การแก้ไม่แก้ลงที่นี่จะแก้ที่ไหน ความอ่อนแอเอาไปแก้กิเลสตัวไหนขาดหลุดลงไปไม่เคยมี นอกจากความขยันหมั่นเพียร ความโง่เอาไปแก้กิเลสก็ไม่หลุด ถ้าไม่เอาความฉลาดรอบคอบเข้าไปแก้ เราต้องคิดให้ดี

เราบวชมาเพื่อโง่หรือเพื่อความฉลาด เราบวชมาเพื่อความอ่อนแอหรือความขยันหมั่นเพียร ถ้าเราทำตัวของเราให้เป็นแบบเป็นฉบับไม่ได้ เราจะสอนโลกให้มีแบบฉบับได้ยังไง เราเป็นคนไม่ดีจะสอนโลกให้เป็นคนดีไม่ได้ เราเป็นคนโง่จะสอนโลกให้เป็นคนฉลาดไม่ได้เหมือนกัน เราต้องเทียบดูตัวของเราให้ดี ก่อนอื่นเราต้องทำตัวของเราให้ดี ให้มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบภายในตัว สิ่งใดที่เป็นลักษณะแห่งความโง่แก้ลงด้วยปัญญา ปัญญามีอยู่ทุกแห่งทุกหน มีอยู่ทุกขณะในเมื่อเรานำมาใช้ ไม่นอกเหนือไปจากใจดวงนี้ ถ้าจะปล่อยให้นอนอยู่เหมือนหมูจะรอขึ้นเขียงนี้ก็ได้ หาความฉลาดไม่มีวันยังค่ำจนตลอดวันตาย ตายทิ้งเปล่าๆ อุบายวิธีฝึกตนต้องทำอย่างนี้

แต่การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงดุด่าว่ากล่าวท่านทั้งหลาย แต่แสดงอุบายวิธีที่จะฝึกทรมานตนให้ทุกๆ ท่านที่ได้ยินได้ฟังแล้วนำไปพิจารณาแก้ไขดัดแปลงหรือฝึกทรมานตน จะได้รับประโยชน์ขึ้นมาเท่าที่ควรแก่อุบายวิธีที่ตนทำได้แค่ไหน พยายามสั่งสมพยายามค้นคิดให้เป็นไปทุกวันๆ สิ่งเล็กน้อยที่ผสมกันเข้าโดยลำดับลำดานั้นแลจะกลายเป็นของใหญ่โตขึ้นมา ถ้าปัญญายังน้อยก็จะมาก ปัญญาที่ยังอ่อนก็จะกลายเป็นปัญญาแข็งขึ้นมา สติที่อ่อนก็จะเป็นสติที่กล้าขึ้นมา กิเลสตัณหากลัว กลัวคนที่มีความขยันหมั่นเพียร กลัวคนที่ใช้ความคิดความอ่าน แต่ไม่กลัวสำหรับหมูที่จะรอขึ้นเขียง

ผู้ใดปฏิบัติตนในลักษณะของหมูตัวขึ้นเขียงแล้วกิเลสนอนทับศีรษะอยู่วันยังค่ำ นอนทับคออยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่ง ไม่ยอมให้ตื่นได้เลย ลุกจากนั้นก็ขึ้นเขียงเท่านั้นจะว่าไง เราจะต้องการจะขึ้นเขียงหรือขึ้นไปไหน ขึ้นเขียงหรือขึ้นธรรม ถ้าขึ้นธรรมก็ก้าวตามบันไดที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ มคฺโค มี ๘ สัมมาทิฏฐิ คิดให้ดีทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนจะทำจะพูด อะไรผ่านเข้ามาคิดให้ดี สังกัปโป ดำริให้ถูกต้อง วาจาที่เป็นเสนียดจัญไรอย่านำมาใช้ การกระทำของพระเป็นการกระทำที่สม่ำเสมอในกรอบหลักธรรมวินัย ทำไป อย่าให้นอกเหนือจากนี้ การเลี้ยงชีพก็เหมือนกัน เลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์ ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ฉกไม่ลักไม่ขโมย ใครให้มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ พึงใจรับ เพียรก็เพียรให้ชอบ เพียรในธรรม ๔ ประการท่านก็กล่าวไว้แล้ว ในปริยัติท่าน ตำราท่านที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาคงจะเข้าใจ ทำความเพียร ๔ อย่าง สัมมาสติตั้งลงที่กาย สัมมาสมาธิจะปรากฏขึ้นมาในจิต นี่แหละทาง ทางของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ทางของหมูขึ้นเขียงตรงกันข้ามให้ทราบเสียทันที

คำว่าหมูขึ้นเขียงก็คืออยู่เฉยๆ ใจไม่ได้คิดได้อ่านได้ไตร่ได้ตรองอะไรเลย นั่นละท่านว่าหมูขึ้นเขียง วันหนึ่งๆ ปัญญาจะแย็บออกมาพอเป็นเครื่องสะดุดใจตนสักอย่างไม่มี เพราะไม่สนใจจะคิด นี่เรียกว่าลักษณะของหมูขึ้นเขียง ไม่ได้หมายถึงผู้ปฏิบัติกลายเป็นหมูเสียจริงๆ แล้วขึ้นเขียงให้เขายำลงไปอย่างนั้น นี่เป็นข้อเทียบเคียงต่างหาก ขอให้นำไปพินิจพิจารณาเพื่อแก้ไขตนเอง เปลี่ยนสภาพแห่งจิตที่เคยเป็นหมูตัวโง่ๆ ตัวไม่คิดไม่อ่านอะไรเลยนั้น ให้กลายเป็นผู้ฉลาดขึ้นมา จะสมกับว่าเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าในหลักแห่งธรรมที่กล่าวไว้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป จนถึงสัมมาสมาธิ จะไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของสมบัติที่กล่าวนี้ นอกจากผู้ปฏิบัติเท่านั้น จึงขอให้ทุกท่านนำไปประพฤติปฏิบัติ

การตะเกียกตะกายอย่าไปสงสัย ไม่มีผู้อื่นใดที่ตะเกียกตะกายแทนเรา นอกจากตัวของเราเป็นผู้ตะเกียกตะกายมาตลอดกัปตลอดกัลป์จนกระทั่งถึงบัดนี้ ไม่มีผู้อื่นผู้ใดที่ทำงานแทนกันได้ คือเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ขอให้ทราบไว้ทันที แล้วฝังลงให้ลึกๆ ถึงใจ แล้วข้างหน้าที่จะเป็นไปโดยลำดับๆ นั้นก็คือเราผู้นี้เท่านั้น ไม่มีผู้อื่นจะทำแทนได้อีกเช่นเดียวกัน ไหนเราจะเป็นผู้มีความขยันเกิดขยันตายขยันแบกหามทุกข์ มีความกล้าหาญไปอย่างนี้ ไม่ใช่ทางเดิน นอกจากจะขยันเปลื้องกองเพลิงใหญ่ทั้ง ๓-๔ กองนี้ออกจากจิตใจให้บริสุทธิ์เท่านั้น เรื่องความเกิดความตายนั้นจะหมดปัญหาไปทันทีสำหรับจิตที่บริสุทธิ์หมดเชื้อแล้ว

จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ เอวัง

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก