สร้าง อตฺตา หิ ก่อนตาย
วันที่ 28 มกราคม 2519 ความยาว 35.31 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

สร้าง อตฺตา หิ ก่อนตาย

 

            จิตของคนเราก็เหมือนกับเด็ก คือไม่สามารถจะรักษาตัวได้ ต้องอาศัยพ่อแม่พี่เลี้ยงคอยเกาะอยู่ตลอดเวลา เกาะคนนั้นเกาะคนนี้ แต่เด็กยังมีผู้คอยรักษา มีพ่อแม่พี่เลี้ยงคอยตามรักษาเสมอ เด็กจึงมีความปลอดภัย ไม่ค่อยได้รับอันตรายต่างๆ

            ส่วนจิตใจที่คอยจะเกาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ จึงไม่เป็นความแน่นอนเหมือนเด็กเกาะพ่อแม่พี่เลี้ยงซึ่งเป็นที่ปลอดภัย จิตที่เกาะเพราะความพึ่งตนไม่ได้ ต้องชอบเกาะสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนมากมักเกาะสิ่งที่ผิดให้โทษแก่จิตใจ การชอบเกาะหรือการแสวงหาสิ่งที่เกาะนั้น ก็เพื่อหาความปลอดภัย หาความสะดวกสบายสำหรับตน แต่สิ่งที่เกาะของจิตนั้นไม่เป็นสิ่งที่แน่ใจ จึงมักเป็นภัยแก่จิตเรื่อยๆ แม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตามเด็กก็ตาม วิสัยของจิตย่อมเป็นเช่นนั้นไม่หวังพึ่งตนเอง มีแต่หวังพึ่งผู้อื่นสิ่งอื่นอยู่เสมอ ไม่เป็นตัวของตัวได้ ทั้งนี้เพราะจิตไม่ฉลาดต่ออารมณ์ที่ตนเข้าเกาะ ว่าผิดถูกดีชั่วประการใด ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ไม่รู้วิธีช่วยตัวเอง เพราะไม่มีใครสอน ไม่มีใครบอก ไม่มีใครแนะนำวิธีให้ พอจะทราบได้ว่าสิ่งใดเป็นภัยสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดที่ควรเกาะสิ่งใดไม่ควรเกาะ จึงต้องเกาะไปเรื่อยๆ และเกาะดะไปหมดไม่ว่าสิ่งดีสิ่งชั่ว ขอให้เป็นที่ชอบใจหรือแม้ไม่ชอบใจ เป็นนิสัยของจิตจะต้องเกาะเรื่อยๆไป ไม่ชอบใจก็เกาะ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

            ตามธรรมดาสิ่งหรืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจไม่น่าเกาะ แต่จิตไม่ชอบใจก็เกาะ เช่น โกรธก็เกาะ หลงหรือรักก็เกาะ ชังก็เกาะ เกลียดก็เกาะ เพราะจิตเป็นอารมณ์อยู่กับสิ่งนั้นๆ ไม่มีคำว่ารู้เป็นตัวของตัวโดยเฉพาะ มีแต่ “ไปเป็นอารมณ์อยู่กับสิ่งนั้นๆ” และเกาะอยู่กับสิ่งนั้นๆ ตลอดไป สิ่งเหล่านั้นส่วนมากไม่ใช่ของดี

            ทำไมจิตจึงต้องไปเกาะ ? ทั้งนี้เพราะเป็นความติดใจของจิต โดยที่จิตเองก็ไม่รู้ว่าการเกาะนั้นจะมีผลอย่างไรบ้าง ตนเองก็อยากจะแยกตัวออกไป แต่มันแยกไม่ออกเพราะสิ่งที่เหนือจิตยังมี เป็นเครื่องบังคับให้จิตจำเป็นต้องได้เกาะได้ยึดได้เป็นอารมณ์ ให้เกิดความขุ่นมัวแก่ตนอยู่เสมอ นี่พูดถึงอารมณ์

            พูดถึงวัตถุ มีอะไรใจก็ต้องเกาะสิ่งนั้นยึดสิ่งนั้นจนได้ ไม่ว่าส่วนย่อยส่วนใหญ่หรือมีคุณค่าราคา ราคามากน้อยเพียงไร ใจยึดได้ถือได้ทั้งนั้น แม้จะให้นามว่า “จิตเป็นนักยึดนักเกาะ” ก็ไม่ผิด เพราะยังไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จึงต้องอาศัยสิ่งภายนอกไปจนกว่าจะถึงที่สุดของธาตุขันธ์ ที่พาให้เปลี่ยนแปลงไป ดีไม่ดียังอาศัยสิ่งภายนอกเป็นอำนาจจนลืมตัวก็มี ทั้งๆที่ไม่มีอำนาจไม่ถูกทาง

            พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ให้พยายามแก้ไขความเกาะเกี่ยวของจิตที่หวังพึ่งพิงสิ่งต่างๆ และแยกตัวหันเข้ามาพึ่งตนเองด้วยความสามารถของตนบ้าง ไม่อาศัยพ่ออาศัยแม่ อาศัยเพื่อนฝูง อาศัยใครๆ อื่นๆ ไปเสียจนลืมตัว นิสัยมนุษย์เราที่อาศัยผู้อื่นอยู่เป็นประจำ เลยติดเป็นนิสัยประจำตัวทั่วประเทศเขตแดน สู้สัตว์บางชนิดก็ไม่ได้ ท่านจึงสอนให้หวังพึ่งตัวเอง

            เรื่องหยาบๆ เช่นหน้าที่การงาน ก็ควรหวังพึ่งตนเองบ้าง ย่นเข้ามาทางด้าน“ธรรม” คือการปฏิบัติธรรมภายในใจ เมื่อได้รับการฝึกอบรมจากครูอาจารย์พอเป็นปากเป็นทางแล้ว การบำเพ็ญธรรมต้องเป็นหน้าที่จะหวังพึ่งตนเองโดยเฉพาะ จะเป็นที่แน่ใจในการพึ่งตนเองตามหลักธรรม เช่น ท่านสอนให้บำเพ็ญคุณงามความดี มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ก็เพื่อความพึ่งตนเอง คือจิตได้ยึดเหนี่ยวในสิ่งดีงาม และมีความร่มเย็นเป็นสุขทั้งปัจจุบันและภพชาติต่อไป เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี เกิดจากการกระทำที่ดี เป็นอารมณ์หรืออาหารที่ดีของใจ

            และสอนให้ภาวนา ซึ่งละเอียดขึ้นไปเป็นลำดับ การพยายามอบรมทางด้าน “จิตตภาวนา” อันเป็นวิธีการพึ่งตัวเองให้แนบแน่นเข้าไปตามลำดับ โดยอาศัยธรรมบทนั้นๆ เข้ามาเป็นเครื่องกำกับใจ โดยอาศัยพึ่งธรรมบทนั้นเป็นอารมณ์ กล่อมเกลาจิตใจให้สงบเย็น ก่อนที่จิตยังไม่สามารถดำรงตนได้โดยลำพัง เช่น กำหนด “พุทโธ ๆ ๆ” เป็นต้น เป็นอารมณ์ที่ถูกต้องเหมาะสมในการพึ่งธรรม

         การเริ่มฝึกหัดใหม่ใจยังฟุ้งซ่าน ยังหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ ยังเป็นตัวของตัวไม่ได้ ต้องอาศัยบทธรรมกำกับรักษา จนกระทั่งจิตมีความกลมกลืนกันกับบทธรรมนั้นๆ แล้วหดตัวเข้าสู่ความสงบ แม้บทธรรมที่เคยได้อาศัยบริกรรมมาแต่ก่อน ก็หมดปัญหาไปในขณะที่ใจก้าวเข้าสู่ความสงบ นี่เรียกว่า “พึ่งตนเองได้ขั้นหนึ่ง” ขณะใจกำลังสงบย่อมปล่อยคำบริกรรมได้ ใจมีความสงบอยู่ด้วยดี นี่ก็เป็นหลักเป็นที่พึ่งอันหนึ่งของจิตอย่างเห็นได้ชัด เพียงเท่านี้ก็มีความร่มเย็นในใจที่เคยฟุ้งซ่านจนหาความสงบสุขไม่ได้  เพราะจิตใจตามธรรมดาแล้วไม่เคยเป็นสุขร่มเย็น มีแต่ความรุ่มร้อน มีแต่ความหิวกระหาย มีแต่ความระเวียงระวังด้วยเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์อะไรกับจิตใจเลย ส่วนมากก็คือความคิดปรุงของจิต เป็นยาพิษเผาลนตนเองโดยไม่มีใครมายุ่งด้วย

            พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นแล้วในวิธีที่ถูกต้อง ตลอดผลที่ได้รับเป็นที่พึงพอพระทัย จึงได้นำทั้งเหตุคือวิธีการ และผลที่พึงใจมาสอนพวกเรา “วิธีการพึ่งตัวเอง” นั้นคือ

            การบำเพ็ญ “จิตตภาวนา” เป็นทางตรงแน่วต่อการพึ่งตนได้อย่างมั่นคง จิตผู้ใดมีความสงบ มีหลักมีเกณฑ์มากน้อยเพียงใด จะเป็นความแน่ใจและมั่นใจตนเองยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ไม่ต้องถามใคร รู้อยู่ภายในตัวเองที่เรียกว่า “ปจฺจตฺตํ” หรือ “สนฺทิฏฺฐิโก” สิ่งที่รู้เห็นดีชั่ว ควรแก้ควรถอดถอนควรบำเพ็ญ ย่อมปรากฏขึ้นภายในใจ เมื่อใจแน่นหนามั่นคงขึ้นโดยลำดับก็ทราบเอง

            เพียงขั้นสมาธิก็พอเป็นหลักใจ พอเป็นเรือนใจได้ให้มีความร่มเย็น ขณะที่เราคิดอะไรมากรู้สึกอ่อนเพลียในใจ ย้อนจิตเข้าสู่ “จิตตภาวนา” ใจพักสงบจากอารมณ์ทั้งหลาย ใจก็สงบร่มเย็น นี่ชื่อว่า “เข้าหาที่พึ่ง เข้าหาที่พักผ่อนหย่อนใจ” เข้าหาที่อาศัยอันร่มเย็น เป็นที่พึ่งขั้นหนึ่ง

            ขั้นต่อไปแม้จะเป็น “สมาธิ” ด้วยกันก็ตาม แต่เป็นความละเอียดของจิต “ขณิกะ” บ้าง “อุปจาระ” บ้าง “อัปปนา” บ้าง เป็นขั้นๆ “อัปปนา” หมายถึง ความละเอียดของสมาธิ เต็มภูมิของสมาธิเพียงเท่านั้น เลยนั้นไปไม่ได้ในขั้นสมาธิ

            เมื่อจิตมีความสงบเป็นสมาธิขั้นนั้นๆ แล้ว ถ้าไม่ใช้สติปัญญาพิจารณา จิตจะมีความสงบและละเอียดอยู่ในสมาธิขั้นนั้นๆ โดยไม่มีปัญญาเป็นเครื่องถอดถอนกิเลสเลย ถ้ากิเลสเป็นเหมือนต้นไม้ ก็เพียงแต่ตัดกิ่งก้านของมันออก แต่ต้นของมันยังไม่ตัดยังไม่โค่น มันก็แตกแขนงออกมาอีกจนได้

            ท่านจึงสอนให้พิจารณาทางด้านปัญญา “ปัญญา” คือความเฉลียวฉลาดแหลมคม คิดอ่านไตร่ตรองไปเท่าไรไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อละเอียดกว่าปัญญาขึ้นไปท่านเรียกว่า “ปัญญาญาณ” ไปแล้ว ดังที่ท่านแสดงไว้ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” “ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ” ฟังซี

            “วิชชา” ก็คือ วิชชาสาม เป็นหลักใหญ่

            “ปญฺญา อุทปาทิ” ปัญญาเกิดขึ้น “ญาณํ อุทปาทิ” ญาณอันละเอียดเป็นลำดับเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดขึ้นจากใจอันเดียวนั้นแล “ปัญญา” เป็นเครื่องถอดถอนกิเลสที่ปกคลุมใจ สมาธิเป็นแต่เพียงกวาดต้อนกิเลสเข้ามาให้รวมตัวสงบอยู่ภายในใจเท่านั้น ยังไม่สามารถตัดกิเลสใดๆ ได้ อุปทานของจิตที่เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ นั้นยังมีอยู่ และเบาบางลงไป พอจิตได้รับความสงบร่มเย็นบ้างแล้ว ปัญญาซึ่งเป็นอาวุธสำคัญ จึงฟาดฟันถอดถอนกิเลสประเภทต่างๆ บรรดาที่มีอยู่ในใจมากน้อยออกไปเป็นลำดับๆ

            “สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา” นั่น! “ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก” การพิจารณาคล่องแคล่วแกล้วกล้าว่องไว สามารถตัดกิเลสได้โดยลำดับๆ

            “ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ” “จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ” นั่น! ฟังซี “ปัญญา” เท่านั้นที่จะเป็นผู้สามารถถอดถอนกิเลส ไม่ว่าส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียดได้โดยตลอดทั่วถึง ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะเหนือปัญญาไปได้ นี่เป็นธรรมดั้งเดิม คือธรรมรับรองคุณภาพ คุณสมบัติในการปฏิบัติ เพื่อกำจัดกิเลสออกจากใจโดยสิ้นเชิง ของพระพุทธเจ้าและพระสาวกที่ท่านได้ดำเนินมาแล้ว “สมาธิ ปัญญา” นี้จึงแยกกันไม่ออก แม้จะเป็นจริตนิสัยใดๆ ก็ตาม สมาธินี้จะต้องมีแนบอยู่เสมอ คือความพักสงบของจิต ความพักงานของจิต ด้วยการสงบอารมณ์คิดอ่านในสมาธิ

งานทางโลกเขายังต้องพักเมื่อถึงเวลาพัก ไม่พักไม่ได้ การพักนั้นจะเสียเวล่ำเวลาไปบ้าง การรับประทานอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย จะสิ้นเปลืองสมบัติ สิ้นเปลืองอาหารที่กินลงไป สิ้นเปลืองเงินทอง เพื่อซื้ออาหารมารับประทานก็ตาม แต่สิ้นเปลืองไปเพื่อบำรุงร่างกายให้มีกำลังควรแก่หน้าที่การงานต่อไปอีก การพักผ่อนนอนหลับถึงจะเสียเวลาไปบ้าง ก็เพื่อกำลังวังชาของร่างกายที่ควรต่อหน้าที่การงานต่อไปอีก ไม่เช่นนั้นก็ไปไม่ตลอด

            เพราะฉะนั้นการเสียเวลาก็ดี การเสียวัตถุอะไรก็ดีที่เรานำมารับประทาน เพื่อเยียวยาธาตุขันธ์ให้มีกำลังนั้น จึงไม่ใช่เป็นการเสีย แต่เป็นการเพิ่มกำลังแก่ร่างกาย ถ้าเป็นรถก็เติมน้ำมัน ไม่มีน้ำมันรถก็วิ่งไปไม่ได้ สมาธิ ปัญญา ก็มีความเกี่ยวเนื่องกันเช่นนั้น ต้องมีเวลาพักสงบอารมณ์ในสมาธินั้นๆ หลังจากการพักสงบแล้วก็ทำการคิดค้นด้วยสติปัญญา ตามความสามารถของแต่ละราย ๆ

            คำว่า “ปัญญา” นี้ละเอียดมาก กว้างขวางมากไม่มีสิ้นสุด ตามแต่จริตนิสัยของผู้ที่นำมาใช้ ความคิดอ่านใดที่พิจารณาลงไปเพื่อถอดถอนกิเลสได้โดยลำดับ ความคิดอ่านนั้นท่านเรียกว่า “ปัญญาชอบ” ไม่จำเป็นจะต้องไปอ่านตำรับตำรา และได้จากตำรับตำรามาแก้กิเลสทุกประเภทไปถึงจะเป็น “ธรรม” เพราะในตำรานั้นก็ถอดออกไปจากจิตใจซึ่งเป็น “ธรรม” และ “ผู้ทำ” เป็นผู้ถอดถอนกิเลสจนได้เห็นผลประจักษ์แล้ว จึงได้เขียนลงในตำรานั้นๆ ไม่ใช่ตำรานั้นเกิดก่อนความจริง คือการปฏิบัติ

            พระพุทธเจ้าท่านทรงบำเพ็ญพระองค์แรก ไม่ปรากฏว่ามีตำราที่ไหน เวลาสั่งสอนสาวกหรือเรียน “อริยสัจ” นั้นก็เหมือนกัน ไม่ได้จารึกลงในคัมภีร์ใบลาน ทรงสอนด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เอง สาวกก็สอนด้วยปากทั้งนั้น ท่านเอาอะไรมาสอน? ก็เอามาจากความจริงที่มีอยู่ภายในใจ ซึ่งได้รู้ได้เห็นจากการปฏิบัติมาแล้วนี้ไปสอน เพราะฉะนั้นอุบายของสติปัญญา จึงสำคัญอยู่ที่ผู้คิดผู้พิจารณาจะแยกแยะออกมาใช้ด้วยอุบายความฉลาดของแต่ละราย ๆ ไป ตามสติกำลังความสามารถของแต่ละราย ๆ ไปไม่มีสิ้นสุด จึงไม่จำเป็นที่จะไปเอาจากตำรับตำราเสียทุกแง่ทุกมุมจึงจะเป็น “ธรรม” “เราคิดขึ้นเองไม่สามารถจะแก้กิเลสได้” นี้เป็นความคิดเห็นที่ผิดจากหลักธรรม ไม่อาจเรียกว่า “ปัญญาชอบ” ได้ แม้จำมาจากตำรา แต่ไม่สามารถแก้กิเลสน้อยใหญ่ให้ขาดจากใจได้ ก็ไม่อาจเรียกได้ว่า “ปัญญาชอบ” สำหรับผู้นั้น เป็น “ปัญญาชอบ” เฉพาะในตำรา แต่ “ไม่ชอบ” สำหรับนำมาใช้

            ธรรมที่ท่านแสดงไว้ตามตำรับตำรานั้นมีพอประมาณเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไรนักเลย ถ้าเป็นยาก็เป็น “ยาหม้อใหญ่” ไม่ใช่ยาที่เจาะจงโรคนั้นๆ โดยเฉพาะ ที่เราคิดค้นได้ขึ้นมาให้เหมาะสมกับการแก้กิเลสแต่ละประเภทนี้เป็น “ยา” ที่เหมาะสมกับกิเลสประเภทนั้นๆ ที่จะถอดถอนกิเลสประเภทนั้นๆ ให้หมดไปได้โดยลำดับ เพราะฉะนั้นท่านผู้ปฏิบัติในทางปัญญา อยู่ที่ไหนท่านก็มีอรรถมีธรรม มีสติปัญญาค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา ดังที่ท่านอาจารย์มั่นเคยแสดงไว้ว่า “ฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืน” นั่น! ฟังซิ อะไรก็สัมผัสอยู่ตลอดเวลาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สัมผัสกันอยู่เรื่อยๆ

การสัมผัสเมื่อไม่เข้าไปรับทราบที่จิตซึ่งเป็นผู้คอยรับทราบ จะไปรับทราบกันที่ไหน และอะไรจะเป็นผู้รับทราบ การที่จิตรับทราบก็กระเทือนถึงสติปัญญา ที่จะต้องค้นคว้าพิจารณาตามเหตุตามผลในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อทราบแล้วก็ถอดถอนหรือปล่อยวางกันไปได้โดยลำดับ นี้ท่านเรียกว่า “ฟังธรรมทั้งกลางวัน กลางคืน” คือธรรมในหลักธรรมชาติที่มีอยู่ดั้งเดิม กิเลสก็เป็นหลักธรรมชาติที่มีอยู่ภายในจิต ธรรมคือ ศีล สมาธิ ปัญญาก็เป็นหลักธรรมชาติที่มีอยู่ภายในใจ สุดแล้วแต่ผู้จะผลิตคิดค้นขึ้นมาพินิจพิจารณา ใช้ประโยชน์ตามสติกำลังความสามารถแห่งสติปัญญาที่เป็นเครื่องมือ

            ธาตุขันธ์ แน่ะ! ฟังซีว่าธาตุว่าขันธ์ ว่าสกลกาย พระพุทธเจ้าก็มี สาวกทั้งหลายก็มี และท่านเคยติดเคยยึดเคยถือ เคยเป็นอุปาทานในขันธ์เช่นเดียวกับพวกเรา เป็นกิเลสได้เช่นเดียวกับพวกเรา เมื่อยึดให้เป็นกิเลสเมื่อทำให้เป็นกิเลส สิ่งเหล่านี้ก็เป็นต้นเหตุจะให้สั่งสมกิเลสขึ้นมาที่ใจได้

            พระพุทธเจ้าและสาวกที่เป็นอรหัตอรหันต์เหล่านั้น แต่ก่อนท่านก็มีอยู่เช่นเดียวกับพวกเรา แต่ทำไมท่านจึงถอดถอนออกได้ ร่างของท่านก็เหมือนกับร่างกายของพวกเรา ขันธ์ห้าของท่านก็เหมือนขันธ์ห้าของพวกเรา ทำไมท่านถอดถอนได้ แต่พวกเราทำไมจะถอดถอนไม่ได้จะรู้ไม่ได้ ทำไมท่านรู้ได้ ทำไมพวกเรารู้ไม่ได้ ใจเราก็มี สติปัญญาเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นได้ในแง่ต่างๆ ตามแต่ผู้ชอบคิดในแง่ใดขึ้นมาพิจารณา

            ธาตุขันธ์ที่เป็นอยู่กับตนนี้เป็นสิ่งที่ทำได้รู้ได้ นี่แหละจิตที่ว่าพึ่งตัวเองไม่ได้ สรุปลงมาในตัวเราก็คือต้องพึ่งธาตุขันธ์ นอกจากพึ่งขันธ์แล้วยังถือขันธ์เป็นตนอีก นั่น!พึ่งเขาแล้วยังถือว่าเขาเป็นตนอีกโดยไม่ละอายเลย จะว่ายังไง ? แม้ละอายขนาดไหนมันก็ยังจำเป็นได้ทนถือเมื่อยังไม่รู้เท่าและปล่อยวางได้ จะว่าไม่ละอายก็ถูก และยอมรับว่าโง่ แต่ต้องพยายามฝึกตนให้ฉลาด จนรู้และปล่อยวางได้ ด้วยความเข้มแข็งแห่ง “ความเพียร”

            พูดให้ถึงเหตุถึงผลกันเสียที เขาเป็นเขาตามหลักธรรมชาติ แต่เรายังอุตส่าห์ไปยึดเอาเขามาเป็นตัวของเราอีก มันก็ยุ่งน่ะซี เพราะมันฝืนความจริงนี่ เพื่อให้ตรงกับความจริง จงพิจารณาเห็นตามความจริงของมัน พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าซ้ำๆ ซากๆ เอาจนเป็นที่เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วไม่ต้องบอกปล่อยบอกวาง ปล่อยเองวางเองทีเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นพิษเป็นภัย เป็นโทษแก่เรา เพราะการยึดถือของเราเอง ไม่ใช่เป็นคุณอะไรด้วยการยึดถือ ! หากเป็นบุญเป็นคุณแล้ว พระพุทธเจ้าก็ต้องสอนให้ยึดถือ หรือไม่ต้องสอนใจก็ยึดอยู่แล้ว แต่นี่มันเป็นพิษเป็นภัยเพราะการยึดถือสิ่งเหล่านี้

            แม้เขาจะเป็นภัยต่อเราก็ตาม แต่เราก็ไปยึดเอามาเป็นภัย ด้วยความสำคัญว่า เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เขาเป็นเรา เขาเป็นของเรา เป็นต้น มันยุ่งตรงที่ไปสำคัญ ไปหมายเอาด้วยความลุ่มหลงของเรานี้แล

            ขันธ์นั้นๆ ก็ไม่มีความหมายอะไรในตัวของมันเอง อยู่ตามความจริง เช่นเดียวกับต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ นั้นแล ที่รับทราบในแง่ต่างๆ ก็เป็นเรื่องของจิต คนตายแล้วรับทราบไม่ได้ นี่มันไปจากจิตตัวอยู่ไม่เป็นสุข ไปไม่เป็นสุข ยึดไม่เป็นสุข อยู่ร่ำไป นี้แลจึงน่าโมโห!

            จิตนี่บรรจุไว้ซึ่งความลุ่มหลงเต็มตัว แสดงออกมาในแง่ใดมีแต่ความลุ่มหลง ความยึดความถืออันจะเป็นภัยแก่ตนทั้งนั้น ที่ว่า “จิตพึ่งตนเองไม่ได้” ก็มันยังต้องไปเกาะนั้นเกาะนี้อยู่ร่ำไปนี่ การพิจารณาทางด้านปัญญาก็เพื่อจะให้รู้เรื่องสิ่งทั้งหลาย แล้วผลักออกไป ดันออกไป แก้ออกไป เพื่อเป็นตัวของตัวโดยลำดับๆ นั่นเอง

            เราดูสิ่งอื่นยังดูตลอดทั่วถึง พอเข้าอกเข้าใจ ดูตึกรามบ้านช่อง ดูอะไรๆ ดูหญิงดูชาย ดูสัตว์ ดูบุคคล ดูวัตถุสิ่งของต่างๆ เรายังทราบว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ชั่ว สิ่งนั้นมีราคาสูง สิ่งนี้มีราคาต่ำ สิ่งนั้นควรจะเอา สิ่งนี้ไม่ควรเอา เรายังรู้ แต่ดูร่างกายเรานี้ ทำไมไม่รู้ ไม่รู้แล้วก็รักด้วย ยึดด้วย ติดด้วย สิ่งภายนอกเรายังไม่กล้ารักไม่กล้าถือเอา ยิ่งรู้ว่าไม่ดีแล้วเราก็ไม่กล้าเอา

            อันนี้ดีไม่ดีเอาทั้งหมด ยึดทั้งสิ้น จะว่าอย่างไร ? ตอนนี้ซิ ตอนมันโง่ ตาเนื้อก็เห็นอยู่ว่าร่างกายเป็นยังไง จิตใจก็ทราบอยู่ แต่มันทราบอย่างผิวเผิน ทราบอย่างธรรมดาสามัญชน จึงชนดะไม่ยอมถอย ไม่ได้ทราบตามความจริง ทราบอย่างสามัญชน ก็คือทราบอย่างสามัญอวิชชานั่นเอง สามัญของความลุ่มหลงในวงแห่งความรู้นั่นเอง ไม่ได้เป็นไปตามความจริง เพราะเหตุนั้นจึงต้องแสวงหาความจริงแทรกเข้าในจิต คือปัญญา เมื่อปัญญามีแล้วเราจะทราบความจริงของตนที่มีอยู่ในร่างกายนี้ ซึ่งไม่ปิดบังอะไรเล้ย!

            ดูให้ชัด มันไม่ได้กว้างขวางอะไรเลยร่างกายนี้ กว้างศอกยาววาหนาคืบเท่านั้น มันน่าจะทั่วถึง ดูภายนอกครู่เดียวก็ทั่วถึง ภายในก็ดูให้ซึ้ง พิจารณาให้ซึ้ง ตามอาการตามความเป็นอยู่ของมัน ตลอดถึงความสลาย ความแตกสลาย ไม่ไปไหน จะเข้าสู่ความแตกสลายทำลายโดยถ่ายเดียว และลงสู่ธาตุตามเดิมเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น พิจารณาให้ซึ้งตามความเป็นจริงนี้ด้วยปัญญา เมื่อซึ้งตามความจริงนี้อย่างหาที่ค้านตัวเองไม่ได้แล้ว เรื่องอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นจะถอนตัวทันที เมื่อยังไม่ซึ้ง พิจารณาให้ซึ้ง ให้ชัดเจนด้วยปัญญา

            ปัญญานี้ไม่มีใครบอก ปัญญาที่จะซึ้งไปในร่างกายซึ่งมีอยู่กับตัวเรานี้ เป็นสิ่งที่เราพิจารณาเองเข้าใจเอง เมื่อเข้าใจเต็มภูมิก็ปล่อยเต็มที่! เราเป็นคนถือเอง คนอื่นจะปล่อยวางให้เราไม่ได้ เราต้องพิจารณาเพื่อปล่อยวางเอาเอง ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่อาศัยเพียงเท่านั้น จะเห็นว่าเป็นเราเป็นของเราด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ก็จะก่อความทุกข์ให้เราไม่มีสิ้นสุด ยิ่งในวาระสุดท้ายขันธ์จะแตกสลาย ก็จะเกิดความเสียดายความห่วงใย ความรัก ความสงวน ก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ ยิ่งกว่า “ว่าวเชือกขาดบนอากาศ” หมุนติ้วไปตามลม ตกทิศไหนไม่มีใครทราบได้ ทั้งๆที่ไม่มีอะไรให้น่ารักให้น่าเสียดายเลย หมดทั้งร่างมีแต่สิ่งที่จะแตกสลายถ่ายเดียวเท่านั้น

           


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก