ปลุกใจสู้กิเลส
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 28.03 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

ปลุกใจสู้กิเลส

 

         ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ไม่มีอะไรจะสุขหรือทุกข์ยิ่งกว่าใจ ความสกปรกก็ดี ความสะอาดก็ดี ไม่มีอะไรจะสกปรกและสะอาดยิ่งกว่าจิตใจ ความโง่ก็ดี ความฉลาดก็ดี ก็คือใจ ท่านสอนไว้ว่า “มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา” สิ่งทั้งหลายสำคัญอยู่ที่ใจ สำเร็จแล้วด้วยใจ

         ศาสนาก็สอนลงที่ใจ ศาสนาออกก็ออกจากใจ รู้ก็รู้ที่ใจ พระพุทธเจ้ารู้ก็รู้ที่ใจ นำออกจากใจนี้ไปสอนโลก ก็สอนลงที่ใจของสัตว์โลก ไม่ได้สอนที่อื่นใดเลย

         ในโลกธาตุนี้จะกว้างแคบขนาดไหนไม่สำคัญ ธรรมมีจุดหมายลงที่ใจแห่งเดียว ใจที่ควรกับธรรมอยู่แล้วก็เข้าถึงกันได้โดยลำดับ ที่ท่านว่า “มีอุปนิสัย” นั้นหมายถึง ผู้ควรอยู่แล้ว เห็นได้อย่างชัดเจน ผู้มีนิสัยสูงต่ำต่างกันอย่างไรพระองค์ทรงทราบ เช่น ผู้มีอุปนิสัยที่จะสามารถบรรลุถึงที่สุดแห่งธรรม ควรจะเสด็จไปโปรดก่อนใครๆ เพราะเกี่ยวกับชีวิตอันตรายที่จะมาถึงผู้นั้นในกาลข้างหน้า เร็วกว่าธรรมดาที่ควรจะเป็น ก็รีบเสด็จไปโปรดคนนั้นก่อน ที่ท่านว่า “ทรงเล็งญาณดูสัตวโลก” ผู้ที่มาเกี่ยวข้องกับ “ตาข่าย” คือพระญาณของพระองค์

         คำว่า “เล็งญาณดูสัตวโลก” นั้น ท่านเล็งญาณดูจิตใจนั่นเอง ท่านไม่ได้เล็งญาณดูต้นไม้ภูเขา ดินฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นวัตถุหยาบๆ และใหญ่โตยิ่งกว่าคนและสัตว์ แต่เมื่อเกี่ยวกับธรรมแล้ว ใจเป็นสิ่งที่ใหญ่โตมากกว่าสิ่งใดในโลก และเหมาะสมกับธรรมอย่างยิ่ง การเล็งญาณก็ต้องเล็งดูที่ใจ การสั่งสอนก็ต้องสั่งสอนลงที่ใจ ให้ใจรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ซึ่งมีอยู่กับใจเอง

         สำหรับเจ้าของไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก การแก้ไขจะแก้ด้วยวิธีใดก็ไม่ทราบทางแก้ไข วิธีแก้ไขพระองค์ก็สอน ไม่ใช่สิ่งที่นำมาสอนนั้นไม่มีอยู่กับจิตใจของสัตว์โลก เป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยกัน เป็นแต่เพียงผู้นั้นยังไม่ทราบ ถูกปิดบังหุ้มห่ออยู่ด้วยสิ่งสกปรกทั้งหลาย ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ไม่มีอะไรที่จะสกปรกยิ่งกว่าใจ และสกปรกไม่มีวันสะอาดเลยถ้าไม่ชำระซักฟอกด้วยการบำเพ็ญธรรม ร่างกายเราสกปรกยังมีวันชะวันล้างให้สะอาดได้ เสื้อผ้ากางเกงสถานที่สกปรก ยังมีการชำระซักฟอกเช็ดถูล้างให้สะอาดสะอ้านได้ตามกาลเวลา

         แต่จิตใจที่สกปรกโดยที่เจ้าของไม่ได้สนใจนั้นน่ะ มันสกปรกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และสกปรกไปตลอดกาลตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย ภพนี้ถึงภพนั้น ภพไหนก็ภพไหน มีแต่เรื่องสกปรกพาให้เป็นไป พาให้เกิดพาให้ตายเรื่อยๆ ไปอย่างนั้น หาเวลาสะอาดไม่ได้ ท่านเรียกว่า “ใจสกปรก” สิ่งที่สกปรกมันจะพาไปดีได้อย่างไร? อยู่ก็อยู่กับความสกปรก ไม่ใช่ของดี ผลแห่งความสกปรกก็คือความทุกข์ความลำบาก คติที่ไปก็ลำบาก สถานที่อยู่ก็ลำบาก กำเนิดที่เกิดก็ลำบาก มีแต่ของลำบาก ลำบากหมดเพราะความสกปรกของใจ จึงไม่ใช่เป็นของดี ควรจะเห็นโทษของใจที่สกปรก ไม่มีสิ่งใดที่น่าสะอิดสะเอียนยิ่งกว่าใจที่สกปรก อย่างอื่นที่สกปรกไม่ค่อยได้มีครูมีอาจารย์สอนกันเหมือนใจสกปรก

         ส่วนจิตใจที่สกปรกนี้ ต้องหาผู้สำคัญมาสอนจึงจะสอนได้ ใครจะมาสอนเรื่องการซักฟอกจิตใจที่สกปรกนี้ให้สะอาดสะอ้านไม่ได้ นอกจากธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ทรงรู้ทรงเห็น และทรงสละเป็นสละตายในการบำเพ็ญ เพื่อรู้ทั้งพระทัยของพระองค์เองตลอดถึงวิธีแก้ไข แล้วก็นำมาสั่งสอนโลกได้ถูกต้อง ตามวิธีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญและได้ทรงเห็นผลนั้นมาแล้ว ใจจึงต้องมีครูอาจารย์สอนอย่างนี้

         ความทุกข์มันก็เป็นผลมาจากสิ่งที่สกปรกนั้นเอง ออกมาจากความโง่ โง่ต่อตัวเองแล้วก็โง่ต่อสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ ตัวเองโง่อยู่แล้ว สิ่งที่มาเกี่ยวข้องก็ไม่ทราบว่าอะไรถูกอะไรผิด แม้ไม่ชอบใจก็ต้องได้ยึดต้องได้คว้า คนเราจึงต้องมีทุกข์ทั้งๆ ที่ไม่ต้องการกันเลย แต่ทำไมจึงต้องเจอกันอยู่ทุกแห่งทุกหนทุกเวล่ำเวลา ทุกสัตว์ทุกบุคคล ก็เพราะไม่สามารถที่จะหลบหลีกปลีกตัวออกได้ ด้วยอุบายต่างๆ แห่งความฉลาดของตน นั้นแลจึงต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้รับการซักฟอกด้วยความดีทั้งหลายเป็นลำดับๆ มา

         ทานก็เป็นการซักฟอกกิเลสประเภทหนึ่ง ศีลก็เป็นการซักฟอกกิเลสประเภทหนึ่ง ภาวนาก็เป็นการซักฟอกกิเลสประเภทต่างๆ รวมตัวเข้ามาอยู่ในองค์ภาวนานี่! ล้วนแต่เป็น “น้ำสะอาด” ที่ซักฟอกสิ่งสกปรกซึ่งรกรุงรังอยู่ภายในจิตใจของสัตว์โลกนี้แล

         อุบายวิธีต่างๆ พระพุทธเจ้าจึงได้สอนกันมาเป็นลำดับลำดา องค์นี้ผ่านไปแล้วองค์นั้นก็มาตรัสรู้ ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ในธรรมอันเดียวกัน ความจริงอันเดียวกัน เพื่อจะแก้กิเลสตัณหาอาสวะของสัตว์โลกอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงเหมือนๆ กัน

         นี่เรานับว่าเป็นผู้มีวาสนา ได้เป็นผู้ใคร่ต่อศีลต่อธรรม ซึ่งเป็น “น้ำที่สะอาดที่สุด” สำหรับชะล้างสิ่งที่สกปรกที่มีอยู่ภายในใจของตน คนที่ไม่มีความสนใจกับธรรมไม่เชื่อธรรมและไม่เชื่อศาสนา เหล่านี้มีจำนวนมากมาย เราไม่ได้เข้ากับคนประเภทนั้นก็นับว่า “เป็นวาสนาอย่างยิ่ง”

         แม้คนดีมีธรรมในใจจะมีจำนวนน้อย ก็มีเราคนหนึ่งที่มีส่วนอยู่ด้วย สำหรับผู้ที่ใคร่ต่ออรรถต่อธรรม มีความเชื่อความเลื่อมใสพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้ นับว่าเป็นผู้ที่มีวาสนา นี่แหละวาสนาของเรา! คืออันนี้เองเป็นพื้นฐานที่จะให้เราได้บำเพ็ญความดีสืบเนื่องกันเป็นลำดับมา เป็นความเจริญรุ่งเรือง จิตใจก็จะได้มีความสะอาดสะอ้านขึ้น เมื่อจิตใจมีความสะอาดขึ้นโดยลำดับ ความสุขก็ปรากฏขึ้นเป็นเงาตามตัว ความเพลินอันใดจะเหมือนความเพลินของใจ ที่รื่นเริงไปด้วยอรรถด้วยธรรม มีความรักใคร่ใฝ่ใจในธรรม การประพฤติปฏิบัติก็เป็นไปด้วยความอุตส่าห์พยายาม ผลก็ปรากฏขึ้นมาให้เป็นความสงบร่มเย็น เป็นความเพลินอยู่ภายในจิตใจ ท่านจึงว่า “รสอะไรก็สู้รสแห่งธรรมไม่ได้” “รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง” คือรสอันนี้ไม่มีวันจืดจาง ไม่มีเบื่อ ไม่มีชินชา เป็นรสหรือเป็นความสุข เป็นความรื่นเริงดูดดื่มไปโดยลำดับลำดา แม้ที่สุดจนมาถึงขั้น วิมุตติพระนิพพานแล้ว ความสุขนั้นยิ่งมีความสม่ำเสมอตัว คือคงที่ คงเส้นคงวา ตายตัว

         การพยายามจะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับความพอใจ เราพอใจแล้วงานอะไรมันก็ทำได้ทั้งนั้น สำคัญอยู่ที่ความพอใจ เล็งดูเหตุดูผลเข้ากันได้แล้ว ความพอใจหากมาเอง ถึงไม่มีก็บังคับได้ เราบังคับเรา บังคับคนอื่นยังยากยิ่งกว่า เราบังคับเรา เราอยู่กับตัวเราเอง จะบังคับให้ทำอะไรก็ได้

         “เอ้า! นั่งภาวนาวันนี้ก็นั่ง” “เอ้า เดินจงกรมก็ได้” เอ้า ทำบุญให้ทาน เอ้า รักษาศีลนะ ได้ทั้งนั้น เราเป็นเจ้าของเราเป็นหัวหน้า เป็นผู้บังคับบัญชาจิตใจ เราเป็นเจ้าของ เจ้าของทุกส่วนภายในร่างกายเรา อาการเคลื่อนไหวทั้งภายนอกภายในเราเป็นผู้รับผิดชอบ เราเป็นผู้ระมัดระวัง เราเป็นผู้รักษาเอง ควรหรือไม่ควรอย่างไร เป็นหน้าที่ของเราจักต้องบังคับบัญชาหรือส่งเสริมเราเอง ในสิ่งที่ควรหรือไม่ควร เราทราบอยู่ด้วยดี

         หากเราไม่สามารถปกครองตนเองได้ในขณะนี้แล้ว เราจะเอาความสามารถมาจากไหนในวันหน้าเดือนหน้าปีหน้า ชาติหน้าภพหน้า? เราต้องทำความเข้าใจไว้กับปัจจุบันด้วยดีตั้งแต่บัดนี้ ปัจจุบันนี้แลเป็นรากฐานสำคัญที่จะส่งไปถึงอนาคตให้มีความเจริญรุ่งเรืองขนาดไหน ต้องไปจากปัจจุบันซึ่งบำเพ็ญอยู่ทุกวัน เจริญอยู่ทุกวัน ส่งเสริมอยู่ทุกวัน บำรุงอยู่ทุกวัน เจริญขึ้นทุกวัน นี่แหละหลักปัจจุบันอยู่ที่เราเวลานี้

         วันเดือนปี ภพชาติน่ะ มันเป็นผลพลอยได้ที่จะสืบเนื่องกันโดยลำดับ เช่นเดียวกับเมื่อวานนี้สืบเนื่องมาถึงวันนี้ แล้วก็สืบเนื่องไปถึงพรุ่งนี้ ส่วนผลที่จะได้รับดีชั่วมันขึ้นอยู่กับเรา เราเป็นผู้รับผิดชอบ จึงต้องพิจารณาให้เห็นประจักษ์เสียแต่บัดนี้ที่ยังควรแก่กาลอยู่

ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” ประกาศอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่วันพระองค์ทรงประกาศธรรมสอนโลก ก็ประกาศเรื่อง “สนฺทิฏฺฐิโก” นี้ด้วยกันตลอดมาจนปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้พึงเห็นภายในใจของตัวเอง กำลังเรามีเท่าไรเราก็ทราบ ผลที่ได้รับมากน้อยเพียงไรก็ทราบภายในจิตใจ เพราะใจเป็นผู้คอยรับทราบอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วทำไมจะไม่ทราบ บกพร่องที่ตรงไหนเร่งเข้าไป การเร่งอยู่โดยสม่ำเสมอ ความบกพร่องนั้นก็ค่อยสมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งสมบูรณ์เต็มที่ได้ ไม่ใช่สมบูรณ์ด้วยความท้อถอย ความท้อถอยเป็นเรื่องที่จะตัดทอนสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ลดลงไป และเป็นสิ่งที่กีดกันสิ่งที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น บรรดาสิ่งที่เราพึงใจทั้งหลายจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีการส่งเสริมอันเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นได้!

โง่เราก็โง่มาพอ จะเอาไปแข่งกันได้ยังไง เพราะต่างคนต่างโง่เต็มตัวอยู่ภายในใจด้วยกัน จะเอาไปแข่งกันได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องจะแข่งขันกัน เพราะต่างก็มีด้วยกันทุกคน สกปรกก็สกปรก ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน รู้ด้วยกันทุกคน ต่างคนต่างทุกข์ ต่างคนต่างรู้ ต่างคนต่างรับภาระเหล่านี้ด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องที่จะมาแข่งขันกันได้ เราไม่มีความสงสัยในเรื่องเหล่านี้

         เอาให้ฉลาด ไม่ฉลาดกว่าใครก็ตาม ขอให้ฉลาดเหนือเรื่องที่เคยมีอยู่ในจิตใจของเราซึ่งเคยหลอกลวงเรามานาน เราคล้อยตามสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว ให้พยายามทำความฉลาดให้ทันกันกับเรื่องของตัวเองนี่แหละสำคัญ! เมื่อทันกับเรื่องของตัวเองแล้ว จะเรียกว่า “ชนะตัวเอง” ดังที่ท่านพูดไว้ในหลักธรรมก็ไม่ผิดนี่ ชนะอะไรก็ตาม ที่ท่านพูดไว้ในธรรมบทหนึ่งว่า “โย   สหสฺสํ   สหสฺเสน  สงฺคาเม  มานุเส ชิเน, เอกญฺจ  เชยฺยมตฺตานํ, ส เว สงฺคามชุตฺตโม” การชนะสงครามที่คูณด้วยล้าน ถึงขนาดนั้น ล้วนแต่เป็นการก่อเวรทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นของดีเลย การชนะตนนี่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุด”

         ชนะตนหมายถึงอะไร? ก็หมายถึงชนะสิ่งที่ตัวเราเคยแพ้มาอยู่ภายในใจของเรานี้แล เราแพ้อะไรบ้าง เราทราบเราเองเรื่องอย่างนี้ กิเลสทั้งหมดไม่ว่าแง่ใด ลูกมันเราก็แพ้ หลานมันเราก็แพ้ เหลนมันเราก็แพ้ พ่อแม่ของมันเราก็แพ้ ปู่ย่าตายายของมัน เราก็แพ้ เราแพ้เสียทั้งหมด แพ้อย่างหลุดลุ่ยยังงี้ อะไรๆ ของมันแพ้หมด ถ้าสมมุติว่ามันมีมูตรคูถเหมือนอย่างคนเราธรรมดานี้ มูตรคูถของมันเราก็แพ้อีก แต่นี่มันไม่มี ก็มีแต่ “ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง” ว่าไปยังงั้นเสีย เราแพ้มันแล้วทั้งนั้นนี่

         ความแพ้นี่มันเป็นของดีหรือ? อยู่กับผู้ใดไม่มีดีเลย คำว่า “แพ้” นั่งอยู่ก็แพ้ นอนอยู่ก็แพ้ ยืนอยู่ก็แพ้ เดินอยู่ก็แพ้ หาเวลาชนะไม่มีเลย มีศักดิ์ศรีที่ไหน! มีแต่ความแพ้เต็มตัวคนเรามีสาระที่ไหน ถ้าเป็นธรรมดาแบบโลกๆ เขาแล้ว อยากจะไปผูกคอตายนั่นแหละ แต่นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา มันสุดวิสัย เราจะว่ายังไงล่ะ พูดกันให้เห็นอย่างนี้แหละ ไม่ยกขึ้นมาอย่างนี้ไม่เห็นโทษจะว่ายังไง?

         นำธรรมมาตีพวกเรานี้แหละ พวกนักแพ้นี่แหละ แพ้อยู่ทุกเวล่ำเวลา เราไม่เห็นโทษของความแพ้ของเราบ้างหรือ? นี่เป็นวิธีปลุกจิต เราหมายถึงวิธีปลุกจิตใจเรา เรายังจะแพ้อยู่อย่างนี้ตลอดไปหรือ? แพ้อย่างหลุดลุ่ยน่ะ จะแพ้ราบอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่ต้องการชัยชนะบ้างหรือ?

         พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีชัยชนะ สาวกอรหัตอรหันต์ท่านเป็นผู้ชนะ พระอริยเจ้าท่านเป็นผู้ชนะไปโดยลำดับ สรณะของเราทั้งสาม “พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ล้วนแล้วตั้งแต่ชัยชนะทั้งนั้นที่เรานึกน้อมถึงท่าน ตัวเราแพ้อย่างราบตลอดเวลา สมควรแล้วหรือจะเป็นลูกศิษย์ตถาคตน่ะ ? นั่นว่าอย่างนั้นซี นี่แหละวิธีปลุกจิตเจ้าของปลุกอย่างนี้ ให้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อชัยชนะ ไม่จมอยู่กับความแพ้อย่างราบคาบเรื่อยไป

         จิตมันเป็นสิ่งที่ส่งเสริมได้ กดขี่บังคับได้ เหยียบย่ำทำลายได้ สำคัญที่เราเองเป็นผู้หาอุบายคิดในแง่ต่างๆ ที่จะปลุกจิตปลุกใจของเราให้เกิดความอาจหาญร่าเริง ต่อสู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่จะเอาชัยชนะขึ้นมาสู่ตนด้วยอุบายต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้

         นี่แหละเป็นทางเดินของพระพุทธเจ้า เป็นทางเดินของผู้จะก้าวเข้าสู่ชัยชนะ ชนะไปวันละเล็กละน้อยเรื่อย ๆ ไป ผลสุดท้ายก็ชนะจนไม่มีอะไรเหลือเลย ปัญหานี้แหละสำคัญมาก

        สติกับปัญญาเป็นธรรมอันสำคัญอย่างยิ่ง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ขึ้นต้น น่ะ พิจารณาเอาให้ได้ชัยชนะสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ตลอดเวลา คอยตบคอยตีเราอยู่ตลอดเวลา คืออะไร ? มันมีที่ไหน ?

         มันมีแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เท่านั้น ตัวสำคัญจริงมันอยู่ที่ตรงนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นทางเดินเข้ามาแห่งอารมณ์ต่างๆ แล้วเข้ามาหาสัญญาอารมณ์ซึ่งเป็นกองขันธ์นี่เอง สุดท้ายก็กองขันธ์นี่แหละรบกับเรา หรือมันไม่ได้รบก็ไม่ทราบ เราหมอบราบอยู่แล้วก็ไม่ทราบว่าจะมารบกับอะไร นอนทับถ่ายรดไปเลยไม่มีปัญหาอะไร เพราะยอมมันอย่างราบคาบแล้วนี่!

         ทีนี้เราจะไม่ให้เป็นอย่างนั้น เราแก้ตัวเรา เราให้เป็นเท่าที่เป็นมาแล้วเท่านั้น เวลานี้เราได้ศาตราวุธ คืออรรถธรรม สติปัญญาแล้ว เราจะต่อสู้ พิจารณาเอาให้ได้ชัยชนะภายในตัวเรา ไม่เอาชัยชนะกับผู้ใดเลย เอากับผู้ใดจะเป็นเรื่องก่อเวรกับผู้นั้น เอากับสัตว์ตัวใดก็เป็นเรื่องก่อเวรกับสัตว์ตัวนั้น ขึ้นชื่อว่า “อื่น นอกไปจากตัวเอง”แล้วมีแต่เรื่องก่อกรรมก่อเวร ไม่เป็นของดีเลย สิ่งที่เลิศประเสริฐสุดก็คือ “เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม” การชนะเรื่องของเรานี่เท่านั้นเป็นเรื่องประเสริฐสุดในโลก พระพุทธเจ้าก็ชนะแบบนี้ สาวกอรหัตอรหันต์ท่านชนะแบบนี้ ท่านเป็นผู้ไม่ก่อเวรก่อกรรม นอกจากนั้นสัตว์โลกยังได้อาศัยท่านมาเป็นลำดับจนกระทั่งบัดนี้ ท่านเอาชนะตรงนี้

         “เอ้า พิจารณา มันเคยหลงอะไรอยู่เวลานี้ ?” พิจารณาให้เห็นชัด สิ่งเหล่านี้ไม่ปิดบังลี้ลับ มีอยู่ภายในตัวเรา ร่างกายก็เตือนเราอยู่ตลอดเวลา เจ็บนั้นปวดนี้ ความสลาย ความแปรสภาพ แปรที่ไหนกระเทือนที่ตรงนั้น แปรไปนานเท่าไหร่ ก็กระเทือนมากขึ้น ๆ เวทนากับความแปรสภาพมันเป็นคู่เคียงกัน อะไรวิปริตผิดไปนิดหนึ่ง เวทนาจะเตือนบอกขึ้นมาเรื่อยๆ เตือนบอกสติปัญญาของผู้ปฏิบัติ ของผู้ตั้งใจจะส่งเสริมสติปัญญาให้มีกำลังเพื่อรู้เท่าทันกับสิ่งเหล่านี้ จึงเหมือนกับแสดงธรรมเทศนาอยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่จำเป็นจะต้องให้พระท่านขึ้นธรรมาสน์ “นโม ตสฺสะ ภควโต”

         สิ่งเหล่านี้เป็น “ธรรมเทศนา” สอนเราตลอดเวลาอยู่แล้ว เอ้า! ทุกข์เกิดขึ้นที่ตรงไหน ตั้งธรรมาสน์ที่ตรงนั้น วินิจฉัยกัน ปุจฉา วิสัชนา กันลงไป นี่แหละเทศนาสองธรรมาสน์ ระหว่างขันธ์กับจิต ขันธ์ใดก็ตาม รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์วิญญาณขันธ์ นี่แหละปุจฉา วิสัชนา ให้เข้าใจชัดเจนตามสิ่งเหล่านี้ที่มีอยู่ รูปแปร แปรมาโดยลำดับ นี่เราอยู่ด้วยกันนี่กี่วัน กี่วันนั้นคือล่วงไปแล้วเสียไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์หมออุดมท่านไปกรุงเทพฯ ไปวันที่ ๑๗ ท่านกลับมาวันนี้วันที่ ๒ กลับมาวันนี้ ท่านไม่ได้วันสมบูรณ์มาเหมือนแต่ก่อน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ไปจนถึงวันที่ ๒ เป็นกี่วัน แน่ะ ล่วงไปเท่านั้นวัน ท่านขาดวันนี้ไปแล้ว เราอยู่นี่ก็ขาดไปเช่นเดียวกันกับท่าน นี่แหละเราอยู่ด้วยความบกพร่องไปทุกวันๆ นะ ไม่ได้อยู่ด้วยความสมบูรณ์ วันนี้ขาดไป วันนั้นขาดไป วันหน้าขาดไป วันหลังขาดไป ขาดไปเรื่อยๆ

         เราบกพร่องไปเรื่อยๆ เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เราเรียนอย่างนี้แหละ เรียนธรรม เราไม่ได้อยู่ด้วยความสมบูรณ์ อยู่ด้วยความ “หมดไป” ทุกวัน ๆ นี่น่ะ แล้วเราจะนอนใจได้อย่างไร เมื่อเป็นนักธรรมะที่ปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคนแล้ว ต้องให้เป็นยอดแห่งความรู้ที่จะแก้สถานการณ์ซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้ ให้รู้ตามเป็นจริงโดยลำดับ เราพบกันวันนี้ วันหลังมาพบกัน บกพร่องมาแล้ว ขาดไปเท่านั้นวัน ขาดไปเท่านี้ชั่วโมง ผู้อยู่ก็ขาด ผู้ไปก็ขาด กลับมาก็ขาด อยู่ประจำที่ก็ขาด ต่างคนต่างขาด มีแต่ต่างคนต่างบกพร่องไปทุกๆ วัน ขาดไปทุกวัน แล้วขาดไป ๆ ขาดไปจะไปถึงไหน? มันก็ไปถึงที่สุดปลายทางแห่งความขาดสะบั้นเท่านั้นเอง!

         นี่! มันต่างกันแต่ “มืด” กับ “แจ้ง” ที่ล่วงไปวันนั้นวันนี้เท่านั้นแหละ ช้าเร็วต่างกัน มีนิดเดียวเท่านั้น จะต้องไปถึงความขาดสะบั้นเช่นเดียวกันหมด เวลานี้ยังไม่ขาดเป็นแต่ว่าเตือนๆ เรา นาทีเตือน วินาทีเตือน ชั่วโมงเตือน หมดไปเท่านั้นวินาที เท่านั้นนาที เท่านั้นชั่วโมง เท่านั้นวัน เตือนอยู่เสมอ เท่านั้นเดือน เท่านั้นปี เรื่อย สุดท้ายก็หมด มีเท่าไรก็หมด เพราะมันหมดไปทุกวันนี่เอาอะไรมาเหลือ!!!

         นี่เป็นสติปัญญาอันหนึ่งที่จะต้องพิจารณา สิ่งที่มันเหลืออยู่นี้น่ะ ที่พอจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เหลืออยู่ ธาตุขันธ์ของเราอันใดที่มันเปลี่ยนแปลงมันก็หมดไป เราก็หมดหวังในอันนั้น เวลานี้อะไรยังอยู่บ้าง? อะไรที่มันยังอยู่พอที่จะทำประโยชน์ได้ เอาสิ่งที่กำลังมีพอที่จะทำประโยชน์อยู่นี่น่ะ มาทำประโยชน์เสียแต่บัดนี้ “อชฺเชว  กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺญา มรณํ สุเว” ความเพียรที่จะทำให้เป็นประโยชน์แก่ตน ควรทำเสียในวันนี้ ใครจะไปรู้เรื่องความตายจะมาถึงเมื่อไร! ท่านว่าไปอย่างนั้น บอกไม่ให้เราประมาท

         เอ้า พิจารณารูป มัน “เหลือ”อยู่เท่าไรเวลานี้ มันเจ็บก็ยังมีเหลืออยู่บ้าง มันสลายหรือมันแปรสภาพไป ส่วนที่ยังอยู่ก็ยังมีอยู่บ้าง พยายามพิจารณาให้ทันกับเหตุการณ์ที่มันยังเหลืออยู่ รู้เท่าทันด้วยปัญญา เวทนา ตั้งสติปัญญาพิจารณาให้ชัดเจน เรื่องเวทนาก็มีเท่ากับเวทนาที่มีอยู่นั่นแหละ ไม่เลยจากนั้น ผู้รู้ รู้ไปหมด มันจะเท่าภูเขา ก็สามารถรู้เวทนาเท่าภูเขา ไม่มีอันใดที่จะเหนือผู้รู้ไปได้ มันจะใหญ่โตขนาดไหน เรื่องทุกขเวทนามันจะเหนือความรู้นี้ไปไม่ได้ ความรู้นี้จะครอบเวทนาทั้งหมด นี่ถ้ามีสติรู้นะ ถ้าไม่ได้สติ ก็เลื่อนลอยเหมือนกับว่าวไม่มีเชือก เชือกขาด แล้วแต่มันจะไปทางไหน

        นี่เราไม่ใช่ว่าวเชือกขาดนี่ เรามีสติปัญญา พิจารณาให้เห็นชัดตามความเป็นจริง เอ้า เกิดก็เกิด เกิดขึ้นมา เรื่องทุกขเวทนาเป็นธรรมเทศนาประกาศสอนเราอยู่แล้ว เราเป็นนักธรรมะ เอ้า ฟังด้วยดี ด้วยสติปัญญาตามความจริงของมันแล้วแยกตัวออก เมื่อเข้าใจแล้วจะไม่ยึดไม่ถือกัน ไม่เป็นกังวลกับเรื่องทุกขเวทนา เรื่องสัญญา เรื่องสังขาร เรื่องวิญญาณ จะปล่อยวางไปด้วยกันโดยสิ้นเชิง

         สิ่งที่เหลือคืออะไร ? คือความบริสุทธิ์ ความรอบตัว นี้แลเป็นสาระเป็นแก่นสาร ถ้าจะพูดก็ว่า “เรา” นี่แหละ “เรา” แท้โดยหลักธรรมชาติ ไม่ใช่เราโดยความเสกสรร ถ้าเป็นความสุขก็เป็นความสุขในหลักธรรมชาติ ไม่ใช่ความสุขที่คอยแต่จะมีความทุกข์มาแบ่งเอาไปกิน ๆ เหมือนอย่างวันคืนปีเดือน แบ่งเอาจากร่างกายและจิตใจของเรา สังขารของเราไปกิน

         นี่ถ้าพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง อะไรจะแตกก็แตก ก็เรื่องมันแตก มันเคยแตกมาตั้งกี่กัปกี่กัลป์ ทางเดินของคติธรรมดาเป็นอย่างนี้ จะไปแยกแยะหรือไปกีดขวางไม่ให้มันเป็นได้ที่ไหน จะไปกั้นกางไม่ให้มันเดินได้อย่างไร “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” มันไปในสายเดียวกัน พอว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็มาพร้อมกัน มันไปด้วยกัน ให้รู้ความจริงของมันพร้อมๆ กันไป แล้วปล่อยวางพร้อมกันหมด ไม่ใช่ว่าจะปล่อยแล้วในส่วน อนิจฺจํ ยังทุกฺขํ ยังอนตฺตา ไม่ใช่ พิจารณารอบแล้วมันปล่อยไปพร้อมๆ กัน บริสุทธิ์พร้อมในขณะที่ปล่อยวางโดยสิ้นเชิง

         ความบริสุทธิ์ไม่ต้องถามหาว่ามาจากไหน ! นั้นแลคือความฉลาดเต็มภูมิ ความสะอาดเต็มภูมิ ความสุขเต็มภูมิ ความสกปรกหายไป ความโง่หายไป ความทุกข์หายไป หายที่ตรงนี้แหละ ตรงที่แบกทุกข์ แบกความโง่ แบกความสกปรกนี่แหละ สิ่งเหล่านี้หายไปหมดเพราะอำนาจของปัญญา อำนาจของสติ อำนาจของความเพียร เป็นธรรมชาติที่ชะล้างไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ผู้นี้แลเป็นผู้ไม่หมดไม่สิ้น

         อะไรจะหมด หมดไปตามสมมุตินิยมโทษ ร่างกายจะหมดก็หมดไป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะแปรสภาพไปไหนก็แปรไปเถะ เมื่อรู้ตามเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นจะเป็นไปตามธรรมดาของเขา ซึ่งเขาไม่มีความหมาย ไม่มีความรู้สึกเลยว่าเขาได้แปรไป มีแต่จิตของเราไปรับทราบว่าเขาได้แปรไป ถ้าไม่ยึดถือแล้วเพียงรับทราบเท่านั้น เราก็ไม่แบกทุกข์กับความยึดถือในอะไรทั้งหมดเราก็สุขสบาย    นี่แลท่านว่า   “เอกญฺจ   เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม” ไม่ก่อเวรก่อกรรมกับอะไรทั้งหมด แม้แต่กับกิเลสก็ไม่ก่อ กิเลสแพ้เรา กิเลสไม่มาก่อกับเราได้ เหมือนคนแพ้คน เราชนะคน ชนะอะไรก็ตามก่อกรรมก่อเวรได้วันยังค่ำ ชนะไปมากเท่าไหร่ก่อกรรมมากเท่านั้น คิดดูคูณด้วยล้าน นั่นแหละ! คือความก่อกรรมก่อเวรคูณด้วยล้าน

         อันนี้ไม่มีเลย! ความสบายคือความชนะตนเองเท่านั้น นี่เป็นจุดสำคัญของผู้ปฏิบัติ จะหาศาสนาใดมาสอนพวกเราให้เห็นถึงขนาดนี้รู้ขนาดนี้ และจะให้ผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติ ให้รู้ให้เห็นอย่างที่ว่านี้ นอกจากเราเท่านั้นจะเป็นผู้ปฏิบัติสำหรับตัวเราเอง เพราะโง่ก็เราเป็นคนโง่เอง จะหาความฉลาดใส่ตนด้วยการแก้ความโง่เขลาออก ก็จะเป็นใครถ้าไม่ใช่เรา ทุกข์ก็เราเป็นคนทุกข์เอง จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยความฉลาดให้เป็นความสุขขึ้นภายในใจนี้ ทำไมเราจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่น! เปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าหรือสาวกทั้งหลาย ท่านจะถึงความบริสุทธิ์ไม่ได้ ถ้าธรรมะชะล้างสิ่งสกปรกไม่ได้ด้วยความสามารถของเรา เราก็เป็นผู้หนึ่งในพุทธบริษัท ซึ่งเป็นลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า ถึงจะไม่มีมากคนก็ขอให้เราเป็น “คนหนึ่ง ในจำนวนน้อยคน” นั้นน่ะ ชื่อว่าเราเป็นผู้มีส่วนแห่งพุทธบริษัทอันแท้จริง ลูกของพระพุทธเจ้าก็คืออย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าเดินอย่างไร เราเดินแบบศิษย์มีครู รู้อย่างไร เรารู้อย่างศิษย์มีครู รู้แบบครูรู้ไปโดยลำดับๆ จนถึง “วิมุตติหลุดพ้น” สมกับเป็นลูกศิษย์มีครู!

การแสดงธรรมวันนี้ก็เห็นว่าสมควร ขอยุติเพียงเท่านี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก