จงสร้างสมณะขึ้นที่ใจ
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 41.16 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

จงสร้างสมณะขึ้นที่ใจ

 
            ท่านอาจารย์มั่นท่านพูดเสมอ เวลาเทศน์ไปสัมผัสหรือพูดไปสัมผัส ดังที่เขียนไว้ใน “มุตโตทัย” ก็ดูเหมือนมี แต่ท่านไม่แยก ท่านพูดรวม ๆ เอาไว้ ทีนี้เวลาเราเขียนเราถึงได้แยกออกเป็นตอน ๆ คือผู้เขียน “มุตโตทัย“ ไม่แยกออกเป็นขั้นตอน ท่านพูดบางครั้งท่านก็ไม่แยก แต่ก็พอทราบได้ เพียงยกต้นขึ้นมาแล้วกิ่งก้านก็มาด้วยกัน โดยท่านว่า
         “ธรรมของพระพุทธเจ้าตามธรรมชาติแล้วเป็นของบริสุทธิ์ แต่เมื่อมาสถิตอยู่ในปุถุชนก็กลายเป็น “ธรรมปลอม” เมื่อสิงสถิตอยู่ในพระอริยบุคคลจึงเป็น “ธรรมจริงธรรมแท้” นี่ท่านพูดรวม ๆ เอาไว้
               คำว่า “อริยบุคคล” มีหลายขั้น คือ
            “พระโสดา” เป็นอริยบุคคลชั้นต้น ชั้นสูงขึ้นไปก็มี “พระสกิทาคา, อนาคา, อรหันต์” เป็นสี่ เมื่อแยกแล้วพระอริยบุคคลผู้บรรลุ “พระโสดาบัน” ธรรมในขั้นพระโสดาบันก็เป็นธรรมจริง ธรรมบริสุทธิ์สำหรับพระโสดา แต่ธรรมขั้น “สกิทาคา, อนาคา, อรหันต์” เหล่านี้ พระโสดายังต้องปลอมอยู่ภายในใจ แม้จะจดจำได้ รู้แนวทางที่ปฏิบัติอยู่อย่างเต็มใจก็ตามก็ยังปลอม ทั้ง ๆ ที่รู้ ๆ อยู่นั่นเอง

         “พระสกิทาคา” ก็ยังปลอมอยู่ในขั้น “อนาคา”, อรหันต์”, พระอนาคา” ก็ยังปลอมอยู่ในขั้น “อรหัตธรรม” จนกว่าจะบรรลุถึงขั้น “อรหัตภูมิ” แล้วนั่นแล ธรรมทุกขั้นจึงจะบริบูรณ์สมบูรณ์เต็มเปี่ยมในจิตใจ ไม่มีปลอมเลย

            บางรายก็ค้านว่า “ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของจริงของบริสุทธิ์ อยู่ที่ไหนก็ต้องบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับทองคำ จะเป็นตมเป็นโคลนไปไม่ได้”

            ถ้าไม่แยกออกพอให้เข้าใจ “ทองคำต้องเป็นทองคำ ไม่เป็นตมเป็นโคลนไปได้” แต่เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าไม่มีตมมีโคลนติดเปื้อนทองคำนั้น ขณะที่คละเคล้ากันอยู่? ทองคำที่ไม่ตกในตมในโคลนกับทองคำที่ตกในตมในโคลน มันต่างกันหรือไม่ มันต่างกันน่ะ!

            ทองคำที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ หนึ่ง ทองคำที่เจือไปด้วยตมด้วยโคลนหนึ่ง เราจะว่ามันบริสุทธิ์เหมือนกันได้อย่างไร? นั่น ! ต้องต่างกัน ! ถ้าเราจะแยกมาพูดเป็นประการที่สอง เช่น อาหารที่ควรแก่การรับประทานอยู่แล้ว หยิบยกขึ้นมากำลังจะรับประทาน แต่พลัดจากมือลงไปถูกสิ่งสกปรกเสีย อาหารแม้จะควรแก่การรับประทานก็ไม่ควร เพราะมันเปื้อนสกปรก จนกลายเป็นสิ่งน่าเกลียดไปหมดแล้ว หรือภาชนะที่เปื้อน อาหารแม้จะสะอาดน่ารับประทานเพียงไรก็ตาม เมื่อนำมาสู่ภาชนะที่เปื้อน อาหารนั้นก็เปื้อนไปตาม แล้วมันจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร เมื่อมันเจือด้วยของเปื้อนหรือสกปรกอยู่เช่นนั้น

            นี่ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ภาชนะในที่นี้ก็หมายถึงใจ มีใจเท่านั้นเป็นคู่ควรแก่ธรรม

            ทีนี้ใจนั้นมีความสกปรกมากน้อยเพียงไร ธรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องมีความสกปรกไปด้วยเพียงนั้น ที่ท่านเรียกว่า “ปลอม” หมายถึงไม่บริสุทธิ์แท้ ทีนี้ถัดจากนั้นมา เช่น มาดูกันในคัมภีร์ใบลานตามตำรับตำราก็เป็นธรรม แต่เราไปเรียนจากนั้น จดจำเอามาไว้ในใจ แต่ใจเราเต็มไปด้วยกิเลส ธรรมที่เข้ามาสู่จิตใจเราก็กลายเป็น “ธรรมจดจำ” ไปเสียไม่ใช่ธรรมจริง!

            ถ้าว่าเป็นธรรมจริงซึ่งต่างคนต่างเรียนและจดจำมาด้วยกันแล้ว ทำไมกิเลสจึงไม่หมดไปจากใจ ยังมีเต็มใจอยู่ ทั้งๆ ที่เรียนรู้อยู่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งถึงนิพพาน แต่ใจก็ยังไม่พ้นจากความมีกิเลสอยู่เต็มตัว ฉะนั้นธรรมจึงปลอมอย่างนี้เอง

            ถ้าเราได้นำธรรมของพระพุทธเจ้า ทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ ออกคลี่คลายด้วยการประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสอนไว้โดยถูกต้องแล้ว ธรรมจะเริ่มจริงไปตั้งแต่ความจดจำ เมื่อจดจำเพื่อเป็นแบบแปลนแผนผังจริงๆ ไม่ใช่จดจำสักแต่ว่าจดจำ แล้วไม่ทำตามแบบแปลนแผนผัง เช่นเดียวกับบ้านเรือนจะมีกี่แปลนก็ตาม ย่อมไม่สำเร็จเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมาได้ จะมีแต่ “แปลน” เท่านั้น กี่ร้อยกี่พันชิ้นก็มีแต่แปลน เรียกว่าเป็น “บ้าน” ไม่ได้ จนกว่าทำการปลูกสร้างขึ้นมาจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแปลนนั้นๆ จึงจะเรียกว่า “บ้านเรือน” โดยสมบูรณ์ได้

            การจดจำเพื่อประพฤติปฏิบัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง การจดจำเฉยๆ ไม่สนใจประพฤติปฏิบัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถึงยังไงก็ไม่พ้นจากการปฏิบัติตามที่เรียนมา ต้องได้ปฏิบัติ

         เมื่อปฏิบัติแล้ว “ปฏิเวธ” คือความรู้แจ้งแทงทะลุไปโดยลำดับ ไม่ต้องห่วงไม่ต้องสงสัย จิตจะต้องเป็นไปโดยลำดับตามความสามารถแห่งการปฏิบัตินั้นแล

         หากชาวพุทธเราได้หยิบยก “ปริยัติ” และ “ปฏิบัติ” ขึ้นเป็นความจำเป็น ความจำเป็นเป็นความสำคัญภายในตัว สมกับศาสนาเป็นธรรมสำคัญ แล้วศาสนาหรือบุคคลจะเป็นผู้เด่นอยู่ด้วยคุณธรรม เด่นด้วยความประพฤติ เด่นด้วยความรู้ความเห็น ที่เป็นไปเพื่อความสงบร่มเย็นแก่ตนและส่วนรวมมากมายทีเดียว

            นี่ศาสนาก็สักแต่ว่าจำได้ และมีอยู่ในคัมภีร์ใบลานเฉยๆ คนก็ไปอีกแบบหนึ่ง ความจดจำก็ไปอีกแบบหนึ่ง ภาคปฏิบัติก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เข้ากันไม่ได้ ทะเลาะกันทั้งวันทั้งคืนภายในบุคคลคนเดียวนั้น แล้วยังทำให้แสลงแทงตาแทงใจบุคคลอื่น สะดุดใจคนอื่นอีกด้วยว่า “ทำไมชาวพุทธเรานับถือพระพุทธศาสนาถึงเป็นอย่างนั้นนั้นมันถูกที่เขาตำหนิ เราหาที่ค้านเขาไม่ได้! ส่วนไหนที่ผิดต้องยอมรับว่าผิด

            หากได้นำการปฏิบัติออกแสดงเป็นคู่เคียงกับปริยัติแล้ว ผลจะพึงปรากฏเป็นคู่เคียงกัน สิ่งที่ปรากฏขึ้นด้วยใจจากการปฏิบัติที่ได้รู้จริงเห็นจริงตามขั้นตามภูมิของตนแล้ว ย่อมพูดได้ถูกต้องตามหลักแห่งการปฏิบัติที่ได้รู้ได้เห็นตามขั้นนั้นๆ ไม่สงสัย และการพูดก็จะมีความอาจหาญไม่สะท้านหวั่นไหว และเกรงกลัวใครจะคัดค้าน เพราะรู้จริงๆ เห็นจริงๆ จะสะทกสะท้านเพื่ออะไร! ไม่มีการสะทกสะท้าน เพราะไม่ได้ลูบได้คลำแบบสุ่มเดา ไม่ได้ยืมเอาของใครมาพูด แต่นำออกจากสิ่งที่เป็นที่เห็นที่เข้าใจแล้วมาพูดจะผิดไปไหน! แล้วจะสะทกสะท้านหาอะไร เพราะต่างคนต่างหาความจริงอยู่แล้ว เราก็รู้ความจริงตามกำลังของเรา พูดออกตามความรู้ความสามารถของตน จะมีความสะทกสะท้านที่ไหนกัน ไม่มี!

            พระพุทธเจ้าเราก็ไม่เคยทราบว่า  พระองค์ไปเรียนเรื่องพระนิพพานมาจากไหน มรรคมีองค์แปด ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ก็ไม่ได้ไปเรียนมาจากไหน ทรงขุดค้นขึ้นตามพระกำลังความสามารถในพระองค์เอง จนกระทั่งได้ทรงรู้ทรงเห็นธรรมเป็นที่พอพระทัย แล้วนำมาสอนโลกได้ทั้งนั้น ใครจะมีความสามารถยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งมิได้ทรงเรียนมาจากไหน ยังเป็น “สัพพัญญู” รู้ด้วยพระองค์เองได้

            พุทธศาสนาถ้าอยากให้มีคุณค่า สมกับศาสนาเป็นของมีคุณค่าจริงดังกล่าวอ้างแล้ว คนก็ควรจะทำตัวให้มีคุณค่าขึ้นมาตามหลักศาสนาที่ท่านสอนไว้ ตัวเองก็ได้รับประโยชน์ ไม่ต้องแบกคัมภีร์อยู่เฉยๆ ให้หนักบ่า นอกจากนั้นจิตใจก็ยังไม่มีกิเลสตัวไหนที่พอถลอกบ้าง จึงไม่เกิดประโยชน์ ไม่สมชื่อสมนาม สมกับพระประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เพื่อถอดถอนกิเลสอาสวะตามหลักธรรม

            เรากลับมาแบกกิเลสด้วยการจดจำ การเรียนได้มากน้อย เลยเข้ากันไม่ได้กับความมุ่งหมายของศาสนา นี้แลธรรมกลายเป็นโลก! เป็นได้อย่างนี้เอง

            ธรรมเป็นธรรมก็ดังที่ว่าการเรียนมาแล้วก็ต้องปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติตามธรรมแล้วต้องรู้ความจริง เพราะแนวทางแห่งการสอนนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้วโดยถูกต้องเป็น “สวากขาตธรรม” ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีทางปลีก และไม่เป็นความผิด นอกจากผู้ปฏิบัติจะเห็นผิดโดยลำพังตนเองก็ช่วยไม่ได้ เพราะปีนเกลียวกับความจริงคือธรรม

            ถ้าศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นดังสินค้าต่างๆ ซึ่งสามารถประกาศท้าทายด้วยคุณภาพและการพิสูจน์ ไม่ว่าจะนำไปสู่ตลาดใดที่มีสินค้าอื่น ๆ อยู่มากมายหลายชนิด พอนำสินค้าคือศาสนธรรมนี้ออกไปถึงที่ใด ที่นั้นตลาดสินค้าชนิดต่างๆ ล้มไปในทันทีทันใด เพราะคนหาของดี ของจริงอยู่แล้ว เมื่อเจอเข้ากับสิ่งที่ต้องตาต้องใจทำไมจะไม่ทราบ แม้แต่เด็กยังทราบได้

            แต่นี้ไม่ใช่วัตถุที่จะออกประกาศขายหรือแข่งขันกันได้ดังสินค้าทั้งหลาย นอกจากความประทับใจของผู้สัมผัส และผู้ปฏิบัติจะพึงรู้พึงเห็นโดยลำพังตนเองเท่านั้น เพราะการที่รู้เห็นก็ไม่ใช่อยากเห็นเพื่อสั่งสมกิเลส เพื่อสั่งสมความโอ้อวด ความเย่อหยิ่งจองหองลำพองตนซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส

         ท่านผู้ใดมีความรู้ความเห็นมากน้อยเพียงไร ก็เป็นการถอดถอนกิเลส ซึ่งเป็นข้าศึกแก่ตนและผู้อื่นออกได้มากน้อยเพียงนั้น แล้วไหนจะไปที่โอ้อวด ซึ่งเป็นการส่งเสริมกิเลสขึ้นมาให้โลกเอือมระอา ซึ่งไม่สมกับตัวว่าปฏิบัติเพื่อแก้เพื่อถอดถอนกิเลสเลย

            ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติเป็นธรรม รู้มากรู้น้อยเพียงไร ท่านจึงเป็นไปด้วยความสงบ ควรจะพูดหนักเบามากน้อย ท่านก็พูดไปตามควรแก่เหตุ ไม่ควรพูดก็นิ่งไปเสีย ไม่หิวโหย ไม่เสียดาย อยู่ไปแบบ “สมณะ” คือ สงบด้วยเหตุด้วยผล พูดก็พูดด้วยเหตุด้วยผล นี่แหละท่านว่า

            “สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” “การเห็นสมณะผู้สงบจากบาปความลามก เป็นมงคลอันสูงสุด”

         คำว่า “สมณะ” ตั้งแต่ “สมณะ ที่หนึ่ง สมณะ ที่สอง ที่สาม ที่สี่ สมณะที่หนึ่งก็คือ “พระโสดา”ที่สองคือ “สกิทาคา” ที่สามคือ “อนาคา” ที่สี่คือ”พระอรหันต์” เรียกว่า “สมณะ” เป็นขั้นๆ”

            ถ้าเราพูดเป็นบุคคลาธิษฐาน ก็หมายถึง ท่านผู้เป็นสมณะตามขั้นภูมิแห่งธรรมนั้นๆ เช่น พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหันต์ ซึ่งเป็นมงคลแก่ผู้ได้เห็นได้กราบไหว้บูชาท่าน นี้เป็นสมณะภายนอก

         เมื่อย้อนเข้ามาภายใน การเห็นสมณะที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ภายในจิตใจ ด้วยการพิจารณา “สัจธรรม” ซึ่งเป็นเครื่องเปิดมรรคผลขึ้นมาประจักษ์ใจนั้น เป็นมงคลอันสูงยิ่งประการหนึ่ง

         ต้องย่นเข้ามาเป็นประโยชน์สำหรับตัว ไม่งั้นเราก็คอยมองหาแต่ “สมณะภายนอก” สมณะองค์ใดท่านเป็นพระโสดา องค์ไหนท่านเป็นพระสกิทาคา องค์ไหนท่านเป็นพระอนาคา องค์ไหนท่านเป็นพระอรหันต์” แม้องค์ไหนๆ ท่านก็ไม่มี “เบอร์”เหมือนเบอร์ นายร้อย นายพัน ติดตัวติดบ่า จะไปรู้ท่านได้ยังไง!

            ถ้าท่านเป็นพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา หรือ พระอรหันต์จริงๆ จะไม่มีทางทราบได้ ด้วยอากัปกิริยาที่ท่านจะมาแสดงออกท่าออกทาง ดังที่โลกสกปรกทำกันอยู่นี้เลย ท่านไม่ทำ ท่านทำไม่ลง ไม่ใช่วิสัยของท่านผู้สะอาด ผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมจะทำได้อย่างนั้น การที่จะหา “สมณะ” อย่างนี้มากราบมาไหว้นั้นไกลมาก อยู่ห่างเหินมาก ไม่ทราบจะได้พบปะท่านเมื่อไร

         โอวาทใดที่ท่านสอนเพื่อบรรลุถึง “สมณะ ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ “ นำโอวาทนั้นเข้ามาปฏิบัติต่อตัวเอง เพื่อให้สำเร็จเป็น “สมณะ ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่”ขึ้นมาภายในนี้ เป็นความเหมาะสมอย่างยิ่ง เรียกว่า ”จับถูกตัว” เลย ไม่ต้องไปตามหาร่องรอยหรือตะครุบเงาที่ไหนให้เสียเวล่ำเวลา

            เอ้า! เราพบครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นอรรถเป็นธรรม ผู้มีกายวาจาใจสงบ หรือท่านผู้เป็นสมณะที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เป็นการดี  เมื่อได้พบแล้วอย่าให้พลาดจากสมณะที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ภายในใจเราเอง ด้วยการปฏิบัติของเรานี่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด จะพึงได้ผลโดยทั่วถึงกันเมื่อเหตุสมบูรณ์แล้ว เราจึงควรน้อมธรรมเหล่านั้นเข้ามาเพื่อตน

            “โสตะ” แปลว่า กระแส คือบรรลุถึงกระแสพระนิพพาน แต่พวกเรามักคาดกันไปต่างๆ จนไม่มีประมาณว่า กระแสพระนิพพานนั้นเป็นอย่างไรบ้าง กระแสกว้างแคบ ลึกตื้น หยาบละเอียดขนาดไหน ซึ่งกลายเป็นสัญญาอารมณ์ไป โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย 

         ความจริงกระแสก็คือ แดนแห่งความแน่นอน ที่จะก้าวถึงความพ้นทุกข์ไม่เป็นอื่นนั่นเอง

         ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ขอให้มีความร่มเย็นภายในใจเถอะ จะกระแสไม่กระแสก็ตามคือจิตดวงนี้เอง ซึ่งได้รับการบำรุงส่งเสริมในทางดีอยู่เสมอไม่ลดละล่าถอย

อะไรจะเป็นพระนิพพานได้ บ้านเป็นบ้าน เรือนเป็นเรือน ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ดินฟ้าอากาศ แต่ละชิ้นละอันไม่สามารถที่จะเป็นพระนิพพาน หรือนำมาเป็นพระนิพพานได้เลย จะปรับปรุงให้เป็นพระนิพพานก็ไม่ได้ จะปรับปรุงให้เป็นพระโสดาบันก็ไม่ได้ พระสกิทาคาก็ไม่ได้ พระอนาคาก็ไม่ได้ พระอรหันต์ก็ไม่ได้ แล้วจะปรับปรุงให้เป็นพระนิพพานได้อย่างไร นอกจากจิตดวงเดียวเท่านี้เป็นผู้ที่สามารถจะเป็นไปได้ ด้วยการประพฤติปฏิบัติ กำจัดสิ่งที่ปกปิดกำบังซึ่งมืดมิดปิดตาอยู่ภายในใจนี้ออกไปได้โดยลำดับ ความสงบสุขหากเกิดขึ้นมาเอง ที่ไม่สงบก็เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผู้ก่อกวน เป็นผู้ยุแหย่ให้กังวลวุ่นวายอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ หาแต่เรื่อง วุ่นวายตัวเอง ก็คือเรื่องของกิเลส จะให้ใจสงบได้อย่างไร เรื่องของกิเลสจึงไม่ใช่ของดีสำหรับสัตว์โลกแต่ไหนแต่ไรมา

            สัตว์ทั้งหลายชอบถือว่าเป็นของดีไม่คิดปล่อยวาง ฤทธิ์ของมันจึงทำให้บ่นกันอื้อไปหมด ถ้ามันดีจริงๆ ทำไมจึงได้บ่นกัน การที่บ่นกันก็เพราะเรื่องของกิเลสพาให้เกิดทุกข์เกิดความลำบาก ท่านจึงสอนให้สร้าง “สมณธรรม” ขึ้นที่นี่!

            “สมณะ” แปลว่า ความสงบ เมื่อสงบแล้วก็ค่อยๆ กลายเป็น “สมณะที่หนึ่ง” ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ขึ้นไปโดยลำดับภายในใจเรา

            การปฏิบัติเพื่อบรรลุ “สมณธรรม” ทั้งสี่นี้ปฏิบัติอย่างไร?

            ใน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ท่านแสดงไว้เป็นรวมๆ ไม่ค่อยละเอียดลอออะไร ผู้เริ่มปฏิบัติอาจเข้าใจยากนัก

            “ทุกฺขํ อริยสจฺจํ” สัจธรรมหนึ่ง ท่านว่าอย่างนั้น “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา” เรื่อยไป ว่านี้เป็นเรื่องความทุกข์ ทุกข์ที่แสดงตัวออกมานี้มีสาเหตุเป็นมาจากอะไร? ก็มาจากความเกิด เกิดเป็นต้นเหตุที่ให้เกิดความทุกข์ ทีนี้ตัวเกิดจริงๆ มีต้นเหตุมาจาก “อวิชชา” “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” แล้วอะไรที่ทำให้เกิด ถ้าไม่ใช่ “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” จะเป็นเพราะอะไร ท่านขึ้นตรงนี้เลย

         ท่านอาจารย์มั่นท่านแยกยังงี้อีกน่าฟังมาก ท่านว่า “ฐีติภูตํ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” อวิชชา ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีพ่อแม่เป็นที่เกิดจะเกิดได้อย่างไร อยู่ได้อย่างไร ก็ต้องอาศัย “ฐีติภูตํ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” นี่เป็นสาเหตุที่จะให้เกิดเป็นภพเป็นชาติขึ้นมา อันนี้มีแยกออกเป็นสามประเภท “นนฺทิราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี. เสยฺยถีทํ. กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา” นี่! ท่านว่า นี้แลคือ “สมุทัย” “สมุทัย อริยสจฺจํ” นี่ก็เป็นอริยสัจ แล้วจะนำอะไรเข้ามาแก้!

            “สมุทัย อริยสัจ” นี้ ล้วนแต่สิ่งที่จะทำจิตให้ขุ่นมัว เป็นเรื่องหรือเป็นธรรมชาติที่รบกวนจิตใจให้ขุ่นมัวจนเป็นตมเป็นโคลนไปได้ ถ้าเป็นวัตถุ ในบรรดาสมุทัยมากน้อยที่กล่าวมานี้ กามตัณหาก็ตาม ภวตัณหาก็ตาม วิภวตัณหาก็ตาม เป็นความหิวความโหย ความทนอยู่เป็นปกติสุขไม่ได้ หมดความสงบสุข อยู่โดยลำพังตนเองไม่ได้ เพราะคำว่า “ตัณหา” ต้องหิวโหยดิ้นรน ดิ้นไปทางโน้นดิ้นมาทางนี้ ดิ้นไปทางหนึ่งเป็นกามตัณหา ดิ้นมาทางหนึ่งเป็นภวตัณหา ดิ้นไปอีกทางหนึ่งเป็นวิภวตัณหา มันล้วนแต่ความหิวโหย ที่จะทำให้จิตใจดิ้นด้วยอำนาจของกิเลสสามเหล่านี้เป็นเครื่องกดขี่บังคับหรือรีดไถ พูดง่ายๆ เอาอย่างนี้ถึงใจดี สำหรับนักปฏิบัติเพื่อแก้ไขกิเลสตัวให้โทษตลอดมา

            จิตที่ทรงตัวไม่ได้ตามปกติของตน ก็เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผู้ทำลายหรือก่อกวน เป็นผู้ยุแหย่ เป็นผู้ทำความวุ่นวายอยู่ตลอดเวลาหาความสงบไม่ได้ แล้วจะแก้อันนี้ด้วยวิธีใด?

            ท่านก็สอน “สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป” ขึ้นเลย โดยทาง “มคฺค อริยสจฺจํ” เป็นเครื่องแก้ธรรมชาติที่ก่อกวนวุ่นวายระส่ำระสาย เพราะอำนาจแห่งความหิวโหยทนอยู่ไม่ได้เหล่านี้ ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคลถ้าเกิดความหิวโหยขึ้นมาแล้ว ไม่ได้สุจริตก็เอาทางทุจริต ไม่ได้ทางที่แจ้งก็เอาที่ลับ เอาจนได้ เพราะความหิวโหยมันบีบบังคับให้ต้องทำ หรือเพราะความทะเยอทะยานอยากต่างๆ ตลอดความหิวโหยนั่นเอง มันบีบบังคับจิตใจให้ต้องเสือกต้องคลานไปต่างๆ นานา เพราะอยู่ใต้อำนาจของมัน ต้องเป็นความทุกข์ ทุกข์ทรมานทั่วหน้ากัน

            ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะ “สมุทัย” เป็นผู้ลากผู้เข็นใจสัตว์โลก จนถลอกปอกเปิกไปทุกภพทุกชาติ ทั้งวัน ทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน อาการที่คิดออกมาแง่ใด มีแต่ถูกสมุทัยฉุดลากเข็นเข่นตีทั้งนั้น แล้วเราจะเอาอะไรมาดับสิ่งเหล่านี้ เอาอะไรมาแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ?

            “สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ” นี้แลเป็นเครื่องมือที่ทันสมัย และเหมาะสมที่สุด ที่จะปราบปรามกิเลสทั้งสามประเภทนี้ให้สิ้นซากลงไปจากใจ ไม่มีเครื่องมืออื่นใดที่จะเหนือไปกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” นี้

            “สมฺมาทิฏฺฐิ” ความเห็นชอบนั้นเห็นอะไรเล่า? เวลานี้ใจเรามันเห็นผิดทั้งนั้น กามตัณหา ก็คือความเห็นผิด ภวตัณหา ก็คือความเห็นผิด วิภวตัณหา ล้วนแต่เรื่องความเห็นผิดทั้งนั้น มันถึงได้เป็นทางกายทางใจไม่ลดหย่อนผ่อนคลาย ทำไมถึงรัก รักเพราะเหตุใด เอาสติปัญญาค้นลงไป ซึ่งก็ไม่หนีจากกายนี้ รักก็รักกายนี้ก่อนอื่น รักกายนี้ก็รักกายนั้น! กามตัณหามันมีอยู่ที่ตรงนี้ แยกหาเหตุหาผลออกมา มันรักเพราะอะไรรักเนื้อ รักหนัง รักเอ็น รักกระดูก รักผม รักขน ยังงั้นเหรอ? ของใครของเรามันก็เหมือนกันนี้ รักอะไรมัน ?

            กิริยาที่แยกหรือทำการแยกนี้ ท่านเรียกว่า “มรรค สมฺมาทิฏฺฐิ” คือ ปัญญาไตร่ตรองกลั่นกรองดูหาสิ่งที่มันยึดมันถือ ว่ามันยึดถือเพราะเหตุใด มีสารคุณอะไรมันถึงได้ยึดได้ถือ ความยึดถือแทนที่จะเกิดผลเกิดประโยชน์ เกิดความสุขความสบาย แต่มันกลายเป็นไฟขึ้นมาทั้งกองภายในใจ ทำให้เกิดความลำบากลำบน ทนทุกข์ทรมานเพราะความยึดความถือ

         ความยึดถือมาจากความสำคัญผิด เข้าใจว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นของเรา มันเป็นความผิดไปทั้งนั้น ปัญญาจึงต้องตามแก้ให้เห็นตามความเป็นจริงของมัน ท่านจึงสอนให้พิจารณากาย “กายคตาสติ” เอ้า! พิจารณาลงไป ทั้งข้างนอกข้างใน ข้างบนข้างล่าง ภายในกายนอกกาย พิจารณาให้ละเอียดทั่วถึง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน นี้คือเรื่องของปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องปราบความอยากความหิว ความกระหาย ซึ่งเกิดขึ้นจากอำนาจของกิเลส ไม่มีอันใดที่จะระงับดับสิ่งเหล่านี้ให้หายความอยากได้ นอกจาก “สมฺมาทิฏฺฐิ” “สมฺมาสงฺกปฺโป” อันเป็นองค์แห่งมรรคแปดนี้เท่านั้น

            “มคฺค อริยสจฺจํ” นี่คือเครื่องมือปราบกิเลสทุกประเภท ควรดำเนินตามนี้ สติปัญญาเป็นเครื่องมือที่ทันกลมารยาของกิเลส ฟาดฟันลงไปพิจารณาลงไปอย่ารั้งรอ ตรงไหนที่มืดดำ ตรงนั้นน่ะอสรพิษมันอยู่ตรงนั้น ปัญญายังตามไม่ทันที่ตรงไหน ตรงนั้นจะเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของเขาขึ้นมาที่ตรงนั้น

            ปัญญาสอดแทรกลงไป เห็นลงไปตามคัมภีร์ธรรมชาติ คือกายกับจิต แล้วความจริงจะเปิดเผยขึ้นมา ไม่มีคำว่า “บุคคล“ คำว่า “สัตว์” คำว่า “เขา,เรา” ไม่มี ! มีได้ยังไงปัญญาลงหยั่งถึงความจริงแล้ว ความเสกสรรเหล่านี้เป็นเรื่องจอมปลอม ที่เกิดจากกิเลสจอมหลอกลวงต่างหาก

            ทีนี้ปัญญาตามชะล้างให้สะอาดลงไปโดยลำดับจนตลอดทั่วถึง จิตที่ถูกกดถ่วงเพราะอำนาจ “อุปาทาน” มาเป็นเวลานาน ย่อมถูกสติปัญญาเป็นผู้ถอดถอนขึ้นมา ถอนกรรมสิทธิ์ ไม่ปักปันเขตแดนไว้ว่า อันนั้นเป็นเราเป็นของเรา นั่นเป็นเขตแดนของเรา เฉพาะอย่างยิ่งก็ในวงขันธ์ห้านี้ มันเป็นเขตแดนที่เราปักปันมาตั้งแต่วันเกิด นี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา เนื้อเป็นเรา เอ็นเป็นเรา กระดูกเป็นเรา แขนเป็นเรา ขาเป็นเรา เป็นของเรา อวัยวะทุกชิ้นทุกส่วนเป็นเราเป็นของเราเต็มไปหมด ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านั้นเขาไม่ได้รับทราบรับรู้อะไรจากเราเลย แต่เราปักปันเขตแดนเอาเอง เมื่อมีอะไรล่วงล้ำหรือมาสัมผัสสัมพันธ์ให้เกิดความเจ็บความไม่สบายขึ้นมา ก็เกิดความทุกข์ขึ้นภายในจิตใจ

            นอกจากเกิดความทุกข์ขึ้นภายในกายแล้ว ยังเกิดความทุกข์ขึ้นภายในใจอีก เพราะความรักความสงวน ความปักปันเขตแดน อันนั้นเป็นต้นเหตุ

            การพิจารณาดูให้เห็นตามความจริงนั้นท่านเรียกว่า “พิจารณา สัจธรรม” ด้วยปัญญาสมฺมาทิฏฺฐิ สรุปแล้วก็ได้แก่ความเห็นชอบในสัจธรรมทั้งสี่ มีทุกขสัจ เป็นต้น

            ความดำริที่เป็นไปเพื่อการถอดถอนกิเลสทั้งมวลนั้นแล “สมฺมาสงฺกปฺโป” ท่านแยกเป็น ๓ คือ () ความไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น ที่เป็นบาลีว่า “อพฺยาปาทสงฺกปฺโป” เรื่องของกิเลสนั้นใฝ่ทางพยาบาทเป็นพื้นฐาน

            () “อวิหึสาสงฺกปฺโป” คือ ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น และ

            () “เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป” ความคิดดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกพัน มีกามฉันทะ เป็นต้น

            โดยหลักธรรมชาติก่อนที่จะออกไปกระทบกระเทือนคนอื่น ต้องกระทบกระเทือนตนเสียก่อน    เพราะความเห็นผิดของจิตด้วยอำนาจของกิเลสนี้แล    สมฺมาสงฺกปฺโป จึงต้องแก้กันตรงนี้ รวมกันแล้ว สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาทิฏฺฐิ ก็เหมือนเชือกสองเกลียวที่ฟั่นกันเข้าเป็นเกลียวเดียวให้เป็นเชือกเส้นหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้มีกำลัง นั่นเป็นเพียงอาการของจิตที่คิดในแง่ต่างกัน รวมแล้วก็คือปัญญาความแยบคายของจิตดวงเดียวนั่นแล้ว เหมือนเชือกหนึ่งเส้นหรือเชือกเส้นหนึ่งเอง รวมทั้งแปดนั้นก็มาเป็นเชือกเส้นหนึ่ง คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ทางสายกลาง หรือเครื่องมือแก้กิเลส ที่เหมาะสมอย่างยิ่งตลอดมาแต่ครั้งพุทธกาลนั้นแล

            จะพิจารณาอะไร ถ้าไม่พิจารณาสิ่งที่พัวพันจิตใจเราอยู่เวลานี้ และแก้ที่ตรงนี้ด้วย “มรรค” คือ “สมฺมาสงฺกปฺโป” เป็นต้นนี้แล มรรคเท่านั้นที่จะแก้กิเลสออกจากจิตใจได้ ถือร่างกายหรือขันธ์เป็นเวที ค้นคว้าด้วยสติปัญญา ต่อสู้กับความลุ่มหลงของตน สู้กันบนเวที คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นที่พิสูจน์สิ่งเหล่านี้ อันเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา จนเห็นตามความจริงของมัน

            เทศน์ไปที่อื่นไม่สะดวกใจ ถ้าเทศน์ลงตรงนี้รู้สึกถนัดใจ จุใจ เพราะนี้เป็นตัวจริง กิเลสก็อยู่ที่ตรงนี้ มรรคก็อยู่ที่ตรงนี้ หรือสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย ก็อยู่ที่ตรงนี้ นิโรธกับมรรคก็อยู่ที่ตรงนี้ เมื่อ “มรรค” ทำการดับกิเลสไปโดยลำดับ นิโรธคือความดับทุกข์ก็ปรากฏขึ้นมาเอง ตามกำลังของมรรคซึ่งเป็นผู้ดำเนินงาน สติปัญญาเป็นผู้ฟาดฟันกิเลสให้ฉิบหายลงไปเป็นลำดับ ก็เป็นการดับทุกข์ไปโดยลำดับ ใครจะไปตั้งหน้าตั้งตาดับทุกข์โดยไม่ต้องดำเนิน “มรรค” ย่อมเป็นไปไม่ได้ ท่านบอกว่า “นิโรธ ควรทำให้แจ้ง”จะเอาอะไรไปทำ? ถ้าไม่เอามรรคไปทำให้แจ้งขึ้นมาซึ่งนิโรธ เราจะพยายามทำนิโรธให้แจ้งเฉยๆ โดยไม่อาศัยมรรคเป็นเครื่องบุกเบิกทางแล้วไม่มีทางสำเร็จ เพราะธรรมนี้เป็นผลของมรรคที่ผลิตขึ้นมา

            ท่านสอนไว้เป็นอาการเฉยๆ หลักใหญ่แล้วพอสติปัญญาจ่อลงไป เพียงจุดหนึ่งเท่านั้นจะกระเทือนไปถึง “สัจธรรมทั้งสี่” นั้นโดยลำดับ ทำงานพร้อมกันเหมือนกับจักรตัวเล็กตัวใหญ่ ทำงานพร้อมกันในวงงานอันเดียวกัน ถ้าไปแยกแยะยังงั้นแล้วย่อมจะวกวน เหมือนตามรอยวัวในคอกนั่นแล หาทางไปไม่ได้

         จึงควรพิจารณาลงในอาการใดก็ได้ ในรูปธรรมหรือนามธรรม มีอยู่ในกายอันเดียวกัน เช่น รูปก็มีหลายอาการด้วยกัน ขณะพิจารณารูป แม้เวทนาเกิดขึ้นก็ไม่หวั่นไหว รูปเป็นรูป เวทนาก็สักเป็น “นามธรรม” หาตนหาตัว หาสัตว์หาบุคคล หาเราหาเขาได้ที่ไหน ไม่ว่าจะสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เขาเป็นตนหรือเป็นตัว เป็นสัตว์เป็นบุคคลที่ไหน เพียงเป็นนามธรรมอย่างเดียวเท่านั้น ปรากฏขึ้นในจิต

         เมื่อจิตได้ทราบว่าอาการปรากฏขึ้นเป็นลักษณะแห่งความทุกข์ เป็นลักษณะแห่งความสุข แล้วก็ดับลงไปตามเหตุปัจจัยที่พาให้ดับ แน่ะ! ปัญญาจึงมีทางที่จะทราบได้ตามสิ่งที่มีอยู่ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ลี้ลับ แต่เป็นสิ่งที่เปิดเผยด้วยความมีอยู่และปรากฏขึ้นตามเหตุปัจจัยที่พาให้เป็นเท่านั้น

         รูปขันธ์ ก็อยู่ทุกวันทุกเวลา พาหลับพานอน พาขับพาถ่าย พายืนพาเดิน ก็รูปขันธ์นี่เอง เวทนาขันธ์ก็แสดงตัวอยู่ทุกเวลา แม้ในขณะนี้มันก็แสดงให้เรารู้อยู่เช่นกัน ไม่สุขก็ทุกข์สับเปลี่ยนกันไปมาอย่างนี้แหละ สำคัญที่ใจอย่าให้ทุกข์ด้วย ทุกข์ก็ให้ทราบว่าขันธ์นี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อย่าให้จิตไปยุ่งกับเขา จิตก็ไม่เป็นทุกข์

            คำว่า “เวทนา” เวทนานี้เทศน์ทุกวัน จึงควรฟังให้เข้าใจ กิเลสมันเกาะแน่นอยู่กับขันธ์ห้านี้ ไม่มีวันมีคืน มีปีมีเดือน ไม่ทราบว่าของเก่าของใหม่ แต่เกาะเสียแน่น เกาะมากี่ปีกี่เดือนกี่กัปกี่กัลป์มาแล้ว เพราะฉะนั้นการพิจารณาวันหนึ่ง ๆ เวลาหนึ่งๆ จึงไม่พอ การเทศน์วันหนึ่งเวลาหนึ่งจึงไม่พอ ต้องเทศน์ซ้ำกันให้เข้าใจ เป็นที่แน่ใจ

            พิจารณาก็พิจารณาซ้ำให้เป็นที่เข้าใจแล้วก็ปล่อยเอง เอาให้เห็นชัดเวทนา, ทุกขเวทนามีที่ไหนบ้าง? มีที่ไหนก็เป็นทุกขเวทนาจะให้เป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นธรรมชาติความจริงของเขาอยู่เช่นนั้น

            “สัญญา” ก็จำได้ เคยจำมาเท่าไรแล้วตั้งแต่วันเกิดจนบัดนี้ แล้วหาอะไรเป็นสาระได้บ้าง ถ้ามันเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลจริงๆ นำมาใส่ตู้ก็คงไม่มีตู้ที่ไหนใส่ เพราะมันจำไม่หยุดไม่ถอย แต่พอจำได้แล้วก็ผ่านไป ๆ ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นั่น! ฟังซิ เอาสาระแก่นสารอะไรกับสิ่งเหล่านี้

             “สังขาร” ปรุงวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ปรุงเสียจนร้อนหัวอกก็มี ถ้าปรุงมากๆ ปรุงเสียจนหัวใจแทบจะไม่ทำงาน เพลียไปหมด สังขารคือความปรุง ถ้าไม่ระงับมันด้วยสติปัญญาไม่มีทางระงับได้ตลอดไป และตายด้วยมันได้จริงๆ เช่นคนคิดมากเพราะความเสียใจ เรื่องของกิเลสมันเอาสังขารเป็นเครื่องปรุง เป็นเครื่องมือ และผลักดันออกมาให้ปรุงไม่หยุดไม่ถอย ปรุงสิ่งนั้น สำคัญสิ่งนี้

         ทั้งสัญญา ทั้งสังขารเป็นเครื่องมือของกิเลส แล้วก็พุ่งลงไปที่หัวใจของเรา ให้เกิดความทุกข์ความทรมานไม่ใช่น้อยๆ มากกว่านั้นก็เป็นบ้าได้ คนเราเป็นทุกข์เพราะคิดมากมันดีนักเหรอ สังขาร ?

         “วิญญาณ” ก็เพียงรับทราบ รับทราบแล้วก็ดับไปพร้อมๆ ในขณะที่รับทราบจากสิ่งที่มาสัมผัส มีสาระแก่นสารที่ไหน เราหลงสิ่งเหล่านี้แหละเราไม่ได้หลงสิ่งอื่นๆ นะ นอกนั้นมันก็เป็นผลพลอยได้ของกิเลสไปอีกประเภทหนึ่ง

            หลักใหญ่จริงๆ มันอยู่ตรงนี้ จึงต้องพิจารณาตรงนี้ให้เห็นชัด นี่เรียกว่า “ดำเนินมรรคปฏิปทา” หรือเรียกว่า “มรรคสัจจะ” เครื่องแก้ความหลง วุ่นวาย ความยึดมั่นถือมั่นของใจให้ถอยตัวออกมา ใจจะได้สบายหายห่วงจากสิ่งเหล่านี้ เพราะการปล่อยวางได้

         อันความตายเป็นหลักใหญ่เหนือโลกจะห้ามได้ กฎอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นเหมือนทางหลวง เพราะเป็นคติธรรมดา ไม่ถึงกาลเวลามันก็ไม่สลาย ถึงแม้จะยึดถือมันสักเท่าใดก็ตาม เมื่อถึงกาลมันแล้วห้ามไม่ฟัง มันก็ไปของมัน ซึ่งเรียกว่า “ทางหลวง”ตามคติธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ทั่วโลกดินแดนเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น จะไม่เรียกว่าเป็นทางหลวงได้อย่างไร ใครจะไปกีดขวางหวงห้ามไม่ได้ มันต้องเดินตามทางหลวงตามคติธรรมดาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ทั่วโลกดินแดนเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น พิจารณาให้เป็นไปตามความจริงของมัน ที่เรียกว่า “โค่นไม้ตามลม”

            อย่าไปขัดขวางธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้ตามหลักคติธรรมดา ให้รู้ตามความจริง ใจก็จะสบาย การอยู่กับกิเลสใจอยู่กับความวุ่นวาย ผลแห่งความวุ่นวายก็คือความทุกข์ เราเคยเห็นโทษของมันมาแล้ว

            ทีนี้ให้ใจอยู่กับธรรม ใจอยู่กับสติ ใจอยู่กับปัญญา ใจนั้นจะได้มีความปลอดภัย ใจจะได้มีความร่มเย็นขึ้น ชื่อว่า “กิเลส” แล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหนพยายามแก้ให้หมด ! แก้ภายนอกได้แล้ว เข้ามาแก้ภายในธาตุในขันธ์ แล้วก็ภายในจิตด้วยปัญญาอีก จนรอบตัวทะลุปรุโปร่งไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย

คำว่า “ตน” ว่า “ตัว” ว่าสัตว์ ว่าบุคคล มันหมดปัญหาไปในทันทีทันใด เมื่อกิเลสซึ่งเป็นตัวเสกสรรว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้สิ้นไปจากใจแล้ว คำว่าสัตว์ก็ตาม บุคคลก็ตามไม่คิดให้เสียเวล่ำเวลา จริงอย่างไรก็อยู่ตามความจริงล้วนๆ เพื่อหายกังวล เวลาหายจริงๆ หายที่ตรงนี้

            อันนี้ไม่ใช่ “สัจธรรม”! สัจธรรมก็คือทุกข์ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ นี่เรียกว่า “ทุกขสัจจะ” “สมุทัย” เป็นเรื่องของกิเลสอาสวะทั้งมวล นี้เรียกว่า “สมุทัยสัจจะ” “มรรค” มีสมฺมาทิฏฺฐิ เป็นต้น สมฺมาสมาธิเป็นที่สุด คือเครื่องมือ เป็น “สัจธรรม” ประเภทหนึ่ง เครื่องแก้กิเลสคือตัว “สมุทัย” ให้หมดสิ้นไป “นิโรธ” ก็ทำหน้าที่ดับทุกข์ไปตามๆ กันโดยลำดับ จนกระทั่งรู้แจ้งแทงตลอดในสมุทัยตัวสำคัญซึ่งมีอยู่ภายในใจโดยเฉพาะ ไม่มีอะไรเหลือแล้ว นิโรธแสดงความดับทุกข์ เพราะกิเลสดับไปจากใจในขณะนั้นอย่างเต็มภูมิ

         ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ดับไป กิเลสดับไปเพราะมรรคเป็นเครื่องทำลาย นั่นคือ “วิมุตติ” ไม่ใช่ “สัจธรรม” นั่นคือผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่สัจธรรมทั้งสี่นั้น

         “สัจธรรม” เป็นเครื่องก้าวเดินเท่านั้น เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว สัจธรรมทั้งสี่ก็หมดหน้าที่ไปตามหลักธรรมชาติของตน โดยไม่ต้องไปกดขี่บังคับให้สิ้นให้สุด ให้หมดความจำเป็น หากเป็นไปตามเรื่อง เช่นเดียวกับเราก้าวจากบันไดขึ้นสู่สถานที่อันเป็นจุดที่ต้องการแล้ว บันไดกับเราก็หมดความจำเป็นกันไปเอง

            ฉะนั้นเรื่องของ “มรรค” คือสติปัญญาเป็นต้น ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์เต็มภูมิ จิตได้ถึงขั้นแห่งความหลุดพ้นแล้ว เรื่องสติปัญญาที่จะช่วยแก้ไขกิเลสอาสวะทั้งมวล ก็หมดปัญหาไปตามๆ กัน

         นี่แลคือความเด่นของเรา นี่แลคือ “สมณะธรรม” หรือสมณะที่สุดยอดแห่งสมณะที่สี่ ! สมณะที่หนึ่งคือพระโสดา  สมณะที่สองคือพระสกิทาคา  สมณะที่สามพระอนาคา เราเจอมาเป็นลำดับด้วยการปฏิบัติ สมณะที่สี่คืออรหันต์ อรหัตธรรมเจอเต็มภูมิด้วย “มรรคปฏิปทา อันแหลมคม” นี่เป็นผู้ทรงไว้แล้ว ซึ่งสมณะทั้งสี่รวมลงในใจดวงเดียว “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” มงคลอันสูงสุดนี้อยู่ที่ใจเราเอง ไม่ต้องไปหา “สิริมงคล” มาจากไหน ! ใจที่พ้นจากเครื่องกดถ่วงทั้งหลายถึงความบริสุทธิ์เต็มภูมิแล้ว นั้นแลเป็นมงคลอันสูงสุดเต็มภูมิ

            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่อยู่ในที่อื่น สัจธรรมทั้งสี่ก็ดี สมณธรรมทั้งสี่ก็ดี ตั้งแต่ที่หนึ่ง, ที่สอง, ที่สาม จนกระทั่งถึงที่สี่ ก็ผู้ที่รู้ ๆ นี่แหละ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสมณธรรมทั้งสี่ และเป็นผู้ที่จะทำหน้าที่ปลดเปลื้องตนออกจากสิ่งที่กดขี่บังคับทั้งหลาย จนถึงขั้น “อิสรเสรี” คือสมณะทั้งสี่รวมอยู่กับเรานี้ทั้งสิ้น สรุปแล้วอยู่กับผู้ที่รู้ ๆ ผู้นี้เป็นผู้ “ที่ตายตัวอย่างยิ่ง” คงเส้นคงวาที่จะรับทราบทุกสิ่งทุกอย่าง กิเลสก็ทำลายจิตใจนี้ให้ฉิบหายไปไม่ได้ กิเลสจะทำลายสิ่งใดได้ก็ตาม แต่ไม่สามารถทำลายจิต ได้แก่การทำจิตใจให้ได้รับความลำบากนั้นมีฐานะเป็นไปได้ แต่จะทำจิตนั้นฉิบหายย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมชาตินี้เป็นธรรมชาติที่ตายตัว หรือเรียกว่า “คงเส้นคงวา” เป็นแต่สิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือสิ่งที่มาคละเคล้า ทำให้เป็นไปในลักษณะต่างๆ เท่านั้น นั่นเป็นไปได้

            เมื่อสลัดตัด หรือชำระชะล้างสิ่งเหล่านั้นหมดไม่มีอะไรเหลือแล้ว ธรรมชาตินี้จึงทรงตัวได้อย่างเต็มภูมิ เป็นบุคคลก็เรียกว่า “สมณะที่สี่” อย่างเต็มภูมิ ถ้าเรียกว่าเป็น“ธรรม” ก็เรียก “อรหัตธรรม” อยู่ภายในจิตดวงนั้น

            จิตดวงนั้นเป็นธรรมทั้งดวง จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต เป็นได้ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ค้าน ไม่มีอะไรที่จะแย้ง เมื่อไม่มีกิเลสมาแย้งแล้วมันก็ไม่มีอะไรแย้ง กิเลสหมดไปแล้วจะเอาอะไรมาแย้ง

            นั่นแหละความหมดเรื่องหมดราว หมดอะไร ๆ หมดที่ตรงนั้น ความดับทุกข์ดับที่ตรงนั้น ดับภพดับชาติดับที่ตรงนั้น ที่อื่นไม่มีที่ใดเป็นที่ดับ! การไปเกิดภพเกิดชาติก็ผู้นี้แลเป็นเชื้อแห่งภพแห่งชาติ มาจากกิเลสซึ่งอยู่กับจิต จิตจึงต้องเร่ ๆ ร่อน ๆ ไปเกิดในภพน้อยใหญ่ ได้รับความทุกข์เดือดร้อนลำบากรำคาญมาโดยลำดับ เพราะมีเชื้อพาให้เป็นไป มีเครื่องหมุนพาให้เป็นไป

            เมื่อสลัดตัดสิ่งฉาบทาหรือเชื้อออกหมดแล้ว จึงหมดปัญหา หมดลงที่ตรงนี้ !

         ขอให้พากันพินิจพิจารณาให้ได้ ใจนี่สามารถรู้ได้เห็นได้ทั้งหญิงทั้งชาย นักบวชและฆราวาส ด้วยการปฏิบัติของตน ๆ ไม่ขึ้นอยู่กับเพศวัยอะไรทั้งสิ้น !

จึงขอยุติเพียงเท่านี้

** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก