ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
วันที่ 12 มกราคม 2519 ความยาว 29.18 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ปริยัติ, ปฏิบัติ, ปฏิเวธ

 

         วันนี้เทศน์เรื่องมนุษย์สูงกว่าบรรดาสัตว์ โลกสูงกว่ามนุษย์ ธรรมสูงกว่าโลก เพราะฉะนั้นธรรมกับมนุษย์จึงเป็นคู่ควรกัน มนุษย์ก็เหมาะสมกับธรรมที่จะรับธรรมไว้บนดวงใจเพื่อประพฤติปฏิบัติ ธรรมก็สมควรแก่มนุษย์ที่จะเทิดทูนสักการบูชา นอกเหนือจากธรรมแล้วก็ยังมองไม่เห็นอะไรที่เป็นความเลิศประเสริฐในสกลโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าธรรม

ความฉลาดของโลกก็ไม่มีใครจะเยี่ยมยิ่งไปกว่ามนุษย์ ในโลกมนุษย์ที่มีพุทธศาสนาประจำ จึงเหมาะสมกับมนุษย์ผู้ใคร่ธรรมและมีธรรมในใจ แต่ศาสนธรรมไม่เหมาะสมกับผู้เป็นมนุษย์เพียงแต่ร่างไม่มีธรรมภายในใจบ้างเลย ทั้งน่าเสียดายภูมิแห่งมนุษยชาติ สู้สัตว์บางประเภทบางตัวที่มีจิตใจสูงส่งก็ไม่ได้ นับว่าขาดทุนสูญดอก ไม่มีความดีงามงอกเงยได้บ้างเลย เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที!

         เราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติ ได้นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติของธรรม ชื่อว่าเราเป็นผู้เหมาะสม ทั้งได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทั้งได้นับถือพระพุทธศาสนา ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมตามกำลังความสามารถของตนๆ

         เฉพาะอย่างยิ่งทางจิตตภาวนาเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะทำให้มองเห็นเหตุผลต่างๆ ซึ่งมีอยู่ภายในตัวเราใกล้ไกลรอบด้าน จะรู้เห็นได้ด้วยภาคปฏิบัติคือ “จิตตภาวนา” การภาวนาท่านถือเป็นสำคัญในภาคปฏิบัติศาสนา ครั้งพุทธกาลจึงถือภาคปฏิบัติเป็นเยี่ยม เช่นท่านกล่าวไว้ว่า “ปริยัติ, ปฏิบัติ, ปฏิเวธ” แน่ะ!

         “ปริยัติ” ได้แก่การศึกษาเล่าเรียน

         “ปฏิบัติ” ได้แก่ศึกษาเล่าเรียนมาเป็นที่เข้าใจแล้ว ออกไปประพฤติปฏิบัติตามเข็มทิศทางเดินของธรรมที่ได้เรียนมาแล้วนั้น

         “ปฏิเวธ” คือความรู้แจ้งแทงตลอดไปเป็นลำดับๆ กระทั่งรู้แจ้งแทงตลอดโดยทั่วถึง ธรรมทั้งสามนี้เกี่ยวเนื่องกัน เหมือนเชือกสามเกลียวที่ฟั่นติดกันไว้

         คำว่า “ปริยัติ” นั้นเมื่อครั้งพุทธกาล ส่วนมากท่านเรียนเฉพาะเรียนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้ามากกว่าอย่างอื่น ผู้จะมาเป็นสาวกอรหัตอรหันต์ ส่วนมากเรียนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า เรียนอะไร? ขณะที่จะบวชท่านทรงสั่งสอน “ตจปัญจกกรรมฐาน” ให้ คือ “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ, ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา” โดยอนุโลมปฏิโลม ย้อนกันไปกันมาเพื่อความชำนิชำนาญ นี่คือท่านสอนธรรมเป็นเครื่องดำเนินของนักบวช การสอนธรรมเป็นเครื่องดำเนินนั้นแลเป็นการให้โอวาท ผู้ที่สดับฟังในขณะที่พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทก็ได้ชื่อว่า การเรียนด้วยและการปฏิบัติไปในตัวด้วย

         การสอนว่า “สิ่งนั้นเป็นนั้น ” เช่นท่านสอนว่า “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” อย่างนี้เป็นต้น นี่คือท่านสอนธรรมซึ่งเป็นปริยัติจากพระโอษฐ์ เราก็เรียนให้ทราบว่า “เกสาคืออะไร โลมา นขา ทันตา ตโจ แต่ละอย่าง ๆ คืออะไร

         ผู้เรียนก็เรียน และปฏิบัติด้วยความสนใจใคร่รู้ใคร่เห็นจริงๆ ไม่สักว่าเรียนว่าปฏิบัติเพื่อเกียรติยศชื่อเสียงใดๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนสภาพความเป็นจริง ความเป็นอยู่และเป็นไปของสิ่งเหล่านี้ที่มีอยู่กับตัวเอง ตลอดถึงอาการ ๓๒ ทุกแง่ทุกมุมโดยลำดับ ให้ทราบว่าสิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนั้นเป็นจริงๆ ตลอดความเป็นอยู่ของสิ่งนั้น ความแปรสภาพของสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร และธรรมชาตินั้นคืออะไรตามหลักความจริงของมัน ให้พิจารณาทราบอย่างถึงใจ เพื่อจะแก้ “สมมุติ” ที่เป็นเครื่องผูกพันจิตใจมานาน

         ความสมมุติของโลกว่า สิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนี้เป็นนี้ ไม่มีสิ้นสุด แม้จะสมมุติว่าสิ่งใดเป็นอะไรก็ยึดถือในสิ่งนั้น รักก็ยึด ชังก็ยึด เกลียดก็ยึด โกรธก็ยึด อะไรๆ ก็ยึดทั้งนั้น เพราะเรื่องของโลกก็คือกิเลสเป็นสำคัญ มีแต่เรื่องยึดและผูกพัน ไม่มีคำว่า “ปล่อยวาง” กันบ้างเลย ความยึดถือเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์กังวล โลกจึงมีแต่ความทุกข์ความกังวลเพราะความยึดถือ ถ้าความยึดถือเป็นเหมือนวัตถุมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อแล้ว มนุษย์เราแบกหามกันทั้งโลกคงดูกันไม่ได้ เพราะบนหัวบนบ่าเต็มไปด้วยภาระความแบกหามพะรุงพะรัง ที่ต่างคนต่างไม่มีที่ปลงวาง ราวกับเป็นบ้ากันทั้งโลกนั่นแล ยังจะว่า “ดี มีเกียรติยศชื่อเสียง” อยู่หรือ? จนปราชญ์ท่านไม่อาจทนดูได้เพราะท่านสงสารสังเวชความพะรุงพะรังของสัตว์โลกผู้หา “เมืองพอดี” ไม่มี ภาระเต็มตัวเต็มหัวเต็มบ่า

         ธรรมท่านสอนให้รู้และปล่อยวางเป็นลำดับ คือปล่อยวางภาระความยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นภาระอันหนัก เพราะความลุ่มหลงพาให้ยึด พาให้แบกหาม ตนจึงหนักและหนักตลอดเวลา ท่านจึงสอนให้รู้ทั่วถึงตามหลักธรรมชาติของมัน แล้วปล่อยวางโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการได้ยินได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าแล้วนำไปปฏิบัติ จนกลายเป็น “ปฏิเวธ” คือความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นโดยลำดับ

         ครั้งพุทธกาลท่านสอนกันอย่างนี้เป็นส่วนมาก สอนให้มีความหนักแน่นมั่นคงในการประพฤติปฏิบัติยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด พระในครั้งพุทธกาลที่ออกบวชจากตระกูลต่างๆ มีตระกูลพระราชา เป็นต้น ท่านตั้งหน้าบวชเพื่อหนีทุกข์จริงๆ จึงสนใจอยากรู้อยากเห็นธรรมด้วยการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ทั้งตั้งใจฟังทั้งตั้งใจปฏิบัติด้วยความจดจ่อต่อเนื่องในทางความเพียร พยายามสอนตนให้รู้เห็นธรรมก่อน แล้วจึงนำธรรมนั้นมาสั่งสอนโลก ท่านเป็น “พระธรรมกถึก” เพื่อองค์ท่านเองก่อนแล้วจึงเพื่อผู้อื่น ธรรมท่านจึงสมบูรณ์ด้วยความจริงมากกว่าจะสมบูรณ์ด้วยความจดจำ

         พระธรรมกถึกในครั้งพุทธกาลเช่น “พระปุณณมันตานีบุตร” ท่านเป็นพระธรรมกถึกเอก ซึ่งได้รับคำยกย่องชมเชยจากพระศาสดา ท่านมักยก “สัลเลขธรรม” ขึ้นแสดง กล่าวถึงเรื่องควรขัดเกลากิเลสทั้งนั้น นับแต่ “อัปปิจฉตา” ความมักน้อยขึ้นไปจนถึง “วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ” คือความรู้แจ้งแห่งการหลุดพ้น

         พระพุทธเจ้าท่านทรงยกย่องให้เป็น “เอตทัคคะ” ในทางธรรมกถึก เรียกว่าเป็นธรรมกถึกเอก พระปุณณมันตานีบุตรนั้นท่านเป็นพระอรหันต์ด้วย รู้แจ้งสัจธรรมทั้งสี่โดยตลอดทั่วถึงด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความสัตย์ความจริง ซึ่งออกมาจากจิตใจของท่านที่รู้แล้วจริงๆ ไม่ได้สอนแบบ “ลูบๆ คลำๆ” ตามที่เรียนมา ซึ่งตนเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไรกันแน่ เพราะจิตใจยังไม่สัมผัสธรรม เป็นแต่เรียนจำชื่อของธรรมได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงอธิบาย “สัลเลขธรรม ทั้ง ๑๐ ประการนี้ได้โดยถูกต้องถ่องแท้ ไม่มีอะไรคลาดเคลื่อนจากหลักความจริง เนื่องจากจิตท่านทรงหลักความจริงไว้เต็มส่วน นี่ธรรมกถึกที่เป็นอรรถเป็นธรรม เป็นความถูกต้องดีงามแท้เป็นอย่างนั้น

         ส่วนธรรมกถึกอย่างเราๆ ท่านๆ ที่มีกิเลสนั้นผิดกัน แต่ไม่ต้องกล่าวไปมากก็เข้าใจกัน เพราะต่างคนต่างมี ต่างคนต่างรู้ด้วยกัน ครั้งพุทธกาลก็ยังมีอยู่บ้างที่ท่านเรียนจนจบพระไตรปิฎก และมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมากนับร้อยๆ ที่ไปเรียนธรรมกับท่าน ท่านสอนทางด้านปริยัติถ่ายเดียว พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ

         ที่ทรงตำหนินั้นด้วยทรงเห็นอุปนิสัยของท่านสมควรแก่มรรคผลนิพพาน ท่านชื่อ “โปฐิละ” ซึ่งแปลว่า “ใบลานเปล่า” ท่านเป็นผู้ทรงธรรมไว้ได้มากมายจนเป็น “พหูสูต” แต่ไม่ใช่ “พหูสูต”อย่างพระอานนท์ ท่านเป็นผู้เรียนมาก มีลูกศิษย์บริวารตั้ง ๕๐๐ ท่านมีอุปนิสัยอยู่ แต่ก็ลืมตัวในเวลานั้น เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงแสดงเป็นเชิงตำหนิ เพราะพระพุทธเจ้าทรงตำหนิใครก็ตาม ทรงสรรเสริญใครก็ตาม ต้องมีเหตุมีผลโดยสมบูรณ์ในความติชมนั้นๆ

         เมื่อท่านทรงตำหนิ “พระโปฐิละ” พระโปฐิละจึงเกิดสังเวชสลดใจ ขณะที่เข้าไปเฝ้า พระองค์ทรงย้ำแล้วย้ำเล่าอยู่นั่นแหละว่า “โปฐิละ” ก็แปลว่า “ใบลานเปล่า” เรียนเปล่าๆ ได้แต่ความจำเต็มหัวใจ ส่วนความจริงไม่สนใจ

         อย่างท่านอาจารย์มั่นท่านเคยเทศน์อย่างนั้นนี่! “เรียนเปล่าๆ”, “หัวโล้นเปล่าๆ” “กินเปล่าๆ นอนเปล่าๆ” ย้ำไปย้ำมาจนผู้ฟังตัวชาไปโน่นแน่ะ ท่านว่าไป ท่านแปลศัพท์ของท่าน “โปฐิละ” องค์เดียวนี่แหละ คือท่านสอนพระลูกศิษย์ของท่าน ท่านยกเอาเรื่องพระโปฐิละมาแสดง ให้เป็นประโยชน์สำหรับพระผู้ที่ฟังอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมุ่งถือเอาประโยชน์อยู่แล้วอย่างเต็มใจ

         เมื่อพระพุทธองค์ทรงเรียก “พระโปฐิละ” ว่า “โปฐิละ เข้ามา,โปฐิละ จงไป,อะไรๆ ก็โปฐิละๆ โปฐิละ...ใบลานเปล่า ๆ เรียนเปล่าๆ แก้กิเลสสักตัวเดียวก็ไม่ได้ เรียนเปล่าๆ กิเลสมากและพอกพูนขึ้นโดยลำดับ ท่านประทานอุบายให้พระโปฐิละรู้สึกตัว และเห็นโทษแห่งความลืมตัวมั่วสุมเกลื่อนกล่นด้วยพระเณรทั้งหลาย ไม่หาอุบายสั่งสอนตนเองบ้างเพื่อทางออกจากทุกข์ตาม “สวากขาตธรรม”

         เวลาทูลลากลับไปแล้ว ด้วยความสลดสังเวชเป็นเหตุให้ฝังใจลึก พอไปถึงวัดเท่านั้นก็ขโมยหนีจากพระทั้งหลายซึ่งมีจำนวนตั้ง ๕๐๐ องค์ด้วยกันบรรดาที่เป็นลูกศิษย์ ออกปฏิบัติกรรมฐานโดยลำพังองค์เดียวเท่านั้น ท่านมุ่งหน้าไปสู่สำนักหนึ่งซึ่งมีแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น นับแต่พระมหาเถระลงไปจนกระทั่งถึงสามเณรน้อย เป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด เหตุที่ท่านออกไปท่านเกิดความสลดสังเวชว่า “เราก็เรียนมาถึงขนาดนี้ แทนที่พระพุทธเจ้าจะทรงชมเชยในการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาของเรา ไม่มีเลย มีแต่อะไรๆ ก็ “โปฐิละ ๆ” ไปเสียหมด ทุกอาการเคลื่อนไหวไม่มีแง่ใดที่จะทรงชมเชยเลย แสดงว่าเรานี้ไม่มีสารประโยชน์อะไรจากการศึกษาเล่าเรียนมา หากจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างพระองค์ย่อมทรงชมเชยในแง่ใดแง่หนึ่งแน่นอน” ท่านนำธรรมเหล่านี้มาพิจารณาแล้วก็ออกประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วนความเอาจริงเอาจัง

         พอก้าวเข้าไปสู่สำนักพระมหาเถระดังที่กล่าวแล้วนั้น ก็ไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ท่าน แต่บรรดาพระอรหันต์ท่านฉลาดแหลมคมอย่างลึกซึ้ง ฉลาดออกมาจากหลักธรรมหลักใจที่บริสุทธิ์ เวลาพระโปฐิละเข้าไปมอบกายถวายตัวต่อท่าน ท่านกลับพูดถ่อมตัวไปเสียทุกองค์ เพื่อจะหลีกเลี่ยงภาระหนักนั้น เพราะราวกับสอนพระสังฆราช หรือจะเป็นอุบายอะไรก็ยากที่จะคาดคะเนท่านได้ถูก

         ท่านกลับพูดว่า “อ้าว! ท่านก็เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจนถึงขนาดนี้แล้ว เป็นคณาจารย์มาเป็นเวลานาน จะให้พวกผมสอนท่านอย่างไรได้ ผมไม่มีความสามารถจะสั่งสอนท่านได้” ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งองค์ เต็มไปด้วยความสามารถฉลาดรู้ทุกแง่ทุกมุม

         “ท่านกลับไปถามท่านองค์นั้นลองดู บางทีท่านอาจมีอุบายแนะนำสั่งสอนท่านได้”

         ท่านก็ไปจากองค์นี้แล้วไปถวายตัวต่อองค์นั้น องค์นั้นก็หาอุบายพูดแบบเดียวกัน ให้ไปหาองค์นั้น ๆๆ องค์ไหนก็พูดอย่างเดียวกันหมด จนกระทั่งถึงสามเณรองค์สุดท้าย แน่ะ! ยังพูดแบบเดียวกัน คือท่านขอถวายตัวเป็นลูกศิษย์เณร เณรก็พูดทำนองเดียวกัน

         ทีนี้พระมหาเถระท่านเห็นท่าจะไม่ได้การ หรือว่าท่านจะหากลอุบายให้เณรรับพระองค์นี้ หรือให้องค์นี้เข้าไปเป็นลูกศิษย์เณรเพื่อดัดเสียบ้าง เพราะท่านเป็นพระที่เรียนมาก อาจมีทิฐิมามากก็คาดไม่ถึง คาดยาก พระมหาเถระท่านว่า “ก็ทดลองดูซิ เณร จะพอมีอุบายสั่งสอนท่านได้บ้างไหม?”

         พอทราบอุบายเช่นนั้นแล้ว พระโปฐิละก็มอบกายถวายตัวต่อสามเณรนั้นทันที แล้วเณรก็สั่งสอนด้วยอุบายต่างๆ อย่างเต็มภูมิ

         เราลองฟังซิเณรสอนพระที่เป็นมหาเถระ หาอุบายสอนด้วยวิธีต่างๆ เช่นให้พระมหาเถระไปเอาอันนั้นมาให้ ไปเอาอันนี้มาให้บ้าง แล้วให้ครองจีวร เช่นต้องการสิ่งของอะไรที่อยู่ในน้ำ ก็ให้มหาเถระครองผ้าไป ถ้าจะเปียกจีวรจริงๆ ก็ให้ขึ้นมาเสีย “พอแล้วไม่เอา” ความจริงเป็นการทดลองทั้งนั้น

         ท่านมหาเถระที่เป็นธรรมกถึกเอกนั้นไม่มีขัดขืนไม่มีทิฐิมานะ สมกับคำว่า “มอบกายถวายตัว” จริงๆ เณรใช้ให้ไปไหนไปหมด บางทีให้ไปเอาอะไรอยู่ในกอไผ่ หนามๆ รกๆ ท่านก็ไป แล้วให้ครองผ้าไปด้วยท่านก็ทำ เวลาถึงหนามเข้าจริงๆ เณรก็ให้ถอยมาเสีย “หยุดเสียอาจารย์ ผมไม่เอาละมันลำบาก หนามเกาะผ้า” เณรหาอุบายหลายแง่หลายมุมจนกระทั่งทราบชัดว่าพระองค์นั้นไม่มีทิฐิมานะ เป็นผู้มุ่งหน้าต่ออรรถต่อธรรมจริงๆ แล้วเณรจึงได้เริ่มสอนพระมหาเถระด้วยอุบายต่างๆ

         เณรสอนพระมหาเถระโดยอุบายว่า “มีจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีรูอยู่ ๖ รู เหี้ยใหญ่มันอยู่ในจอมปลวกนี้ และเที่ยวออกหากินทางช่องต่างๆ เพื่อจะจับตัวเหี้ยให้ได้ ท่านจงปิด ๕ ช่องเสีย เหลือเอาไว้เพียงช่องเดียว แล้วนั่งเฝ้าอยู่ที่ช่องนั้น เหี้ยไม่มีทางออก จะออกมาทางช่องเดียวนี้ แล้วก็จับตัวเหี้ยได้”

         นี่เป็นข้อเปรียบเทียบ แม้ภายในตัวของเรานี้ก็เป็นเหมือนจอมปลวกนั่นแล

         ท่านแยกสอนอย่างนี้ ท่านอุปมาอุปมัยเข้ามาใน “ทวาร ๖” คือ ตาเป็นช่องหนึ่ง หูเป็นช่องหนึ่ง จมูกเป็นช่องหนึ่ง ลิ้นช่องหนึ่ง กายช่องหนึ่ง ใจช่องหนึ่ง ให้ท่านปิดเสีย ๕ ทวารนั้น คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือไว้แต่ใจเพียงช่องเดียว แล้วให้มีสติรักษาอยู่ที่ใจแห่งเดียว ขณะรักษาใจด้วยสติ จงทำเหมือนไม่รู้ไม่เห็นไม่รู้ไม่ชี้อะไรทั้งหมดที่มาสัมผัส ทำเหมือนว่าโลกอันนี้ไม่มีเลย มีเฉพาะความรู้คือใจอันเดียวที่มีสติควบคุมรักษาอยู่เท่านั้น ไม่เป็นกังวลกับสิ่งใดๆ ในโลกภายนอกมีรูป เสียง เป็นต้น จงตั้งข้อสังเกตดูให้ดีว่าอารมณ์ต่างๆ มันจะเกิดขึ้นที่จิตแห่งเดียว ไม่ว่าอารมณ์ดีอารมณ์ชั่ว มันจะปรากฏขึ้นที่จิตซึ่งมีช่องเดียวเท่านั้น เมื่อเรามีสติจ้องมองดูอยู่ตลอดเวลาไม่ประมาทแล้ว ก็จะจับเหี้ยคือจิต และความคิดปรุงต่างๆ ของจิตได้

         จิตจะปรุงออกในทางดีทางชั่ว อดีตอนาคต ปรุงไปรัก ปรุงไปชัง เกลียดโกรธกับอะไร ก็จะทราบได้ทุกระยะๆ เพราะความมีสติกำกับรักษาอยู่กับความรู้คือใจ ให้ทำอย่างนี้อยู่ตลอดไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยทางอารมณ์ และวิธีดัดแปลงแก้ไข

         พระเถระพยายามทำตามอุบายที่เณรสอนทุกประการ ไม่มีมานะความถือตัว พระเถระองค์นั้นเมื่อได้ฟังและปฏิบัติตามสามเณร ก็ได้สติและได้อุบายขึ้นมาโดยลำดับจนมีหลักใจ เณรเห็นว่าสมควรที่จะพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้แล้ว ก็พาพระเถระนี่ไป เณรเป็นอาจารย์ พระมหาเถระเป็นลูกศิษย์

         เมื่อไปถึงสำนักพระศาสดา พระองค์ตรัสถามว่า “เป็นอย่างไรเณร, ลูกศิษย์เธอน่ะ?” เณรกราบทูล “ดีมากพระเจ้าค่ะ ท่านไม่มีทิฐิมานะใดๆ ทั้งสิ้น และตั้งใจปฏิบัติดีน่าเคารพเลื่อมใสมาก แม้จะเป็นผู้เรียนมากและเป็นขนาดมหาเถระก็ตาม แต่กิริยาอาการที่ท่านแสดงเป็นความสนใจ เป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นความสนใจที่จะรู้เห็นความจริงทั้งหลายตลอดมา” นั่น! ฟังซิเป็นยังไง นักปราชญ์สนทนากันและปฏิบัติต่อกัน ระหว่างพระมหาเถระกับสามเณรผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งหาฟังได้ยาก

         หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนพระมหาเถระว่า “ปญฺญา เว ชายเต ภูริ” ปัญญาซึ่งมีความหนักแน่นมั่นคงเหมือนแผ่นดิน ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ใคร่ครวญเสมอ! ฉะนั้นจงพยายามทำปัญญาให้มั่นคงเหมือนแผ่นดิน และสามารถจะแทงทะลุอะไรๆ ได้ ให้เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาอยู่เสมอ ไม่มีอะไรจะแหลมคมยิ่งกว่าปัญญา ปัญญานี้แลเป็นเครื่องตัดกิเลสทั้งมวล ไม่มีอะไรจะเหนือปัญญาไปได้ พระองค์ทรงสอน “วิปัสสนา”ในขณะนั้น โดยสอนให้แยกธาตุแยกขันธ์ อายตนะ ส่วนต่างๆ ออกเป็นชิ้นเป็นอัน อันนี้เป็นอย่างนี้ อันนั้นเป็นอย่างนั้น ให้พระมหาเถระเข้าใจเป็นลำดับๆ โดยทาง “วิปัสสนา” จากนั้นก็แสดงเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ อันเป็นอาการของจิต สรุปธรรมที่ทรงแสดงแก่ พระโปฐิละ ก็คือ อริยะสัจสี่ ปรากฏว่าท่านได้บรรลุอรหัตผลในวาระสุดท้ายแห่งการประทานธรรม

         จะอธิบายขันธ์ห้าต่อ ส่วนมากจิตไปหลงอาการเหล่านี้ จึงไม่ทราบว่าตัวของตัวอยู่ที่ไหน ไปอิงอยู่กับอาการคือรูป ว่ารูปเป็นตนบ้าง ว่าเวทนาเป็นตนบ้าง สัญญาเป็นตนบ้าง สังขาร วิญญาณ เป็นตนบ้าง เลยหาตนไม่ได้ อะไรๆ ก็ว่า “ตน” เสียสิ้น เวลาจะจับ “ตน” เพื่อเอาตัวจริงเลยหาตัวจริงไม่ได้! ทั้งนี้ก็เพราะจิตหลงไปคว้าไปยึดเอาสิ่งไม่ใช่ตนมาเป็นตนเป็นตัวนั่นแล ซึ่งเป็นเพียงอาการหนึ่งๆ ที่อาศัยกันอยู่ชั่วระยะกาลเท่านั้น จึงทำให้จิตเสียเวลาเพราะความเกิดตาย ๆ อยู่เปล่าๆ แต่ละภพละชาติ!

         นอกจากเสียเวลาเพราะความหลงกับสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังได้รับความทุกข์ความบอบช้ำทั้งทางกายและทางจิตใจอีกด้วย เพราะฉะนั้นจงใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามความจริงของมันเสียแต่บัดนี้ซึ่งเป็นกาลอันควรอยู่ ตายแล้วหมดวิสัยจะรู้ความจริงได้

         พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทไว้อย่างชัดเจนแล้ว ไม่น่าสงสัยว่าจะมีอะไรดีกว่าความพ้นจากทุกข์ อันมีการเกิดตายเป็นต้นเหตุ เอ้า! พิจารณาลงไป!

         “รูป” มีอะไรบ้างที่เรียกว่า “รูป?” มันผสมกับอะไรบ้าง? คำว่า “รูป” นี้มีกี่อาการ? อาการหนึ่ง ๆ คืออะไร? ที่รวมกันอยู่ สภาพความเป็นอยู่ของมันเป็นอย่างไร? เป็นอยู่ด้วยความบำบัดรักษา เป็นอยู่ด้วยความปฏิกูลโสโครก เหมือนกับป่าช้าผีดิบซึ่งเต็มอยู่ภายในร่างกายนี้ แต่ใจเราก็ยังดื้อด้านอาจหาญถือว่า รูปนี้เป็นเราเป็นของเรา ไม่ทราบว่าสิ่งนี้เป็นของสกปรกโสมม เป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นป่าช้าผีดิบบ้างเลย ต่างคนต่างมีป่าช้าเต็มตัว ทำไมมัวเพลิดเพลิน มัวเสกสรรปั้นยอ ชนิดไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าเป็นป่าช้าผีดิบกันบ้างเลย เวลา “เขา” แตกดับไป “เรา” จะเอาสาระอะไรเป็นเครื่องอบอุ่นใจ ถ้าปัญญาไม่ถากถางให้เห็นความจริงไว้ก่อนแต่บัดนี้

         ในหลักธรรมชาติของมันก็คือธาตุ สมมุติเพิ่มเข้ามาก็คือสกลกาย เต็มไปด้วย “ปุพโพ โลหิต” น้ำเหลือง น้ำเลือด แสดงความปฏิกูลโสโครก และความทุกข์ให้รู้ให้เห็นอยู่ตลอดเวลานับแต่วันเกิดมา ไม่เคยขาดวรรคขาดตอนเลย มีอันใดสิ่งใดที่จะควรยึดว่าเป็น “เรา” เป็น “ของเรา” ด้วยความสนิทใจ? ไม่มีเลย!

         จึงควรพิจารณาดูตามหลักความจริงนี้ ทั้งความเป็นอยู่ ทั้งความสลายทำลายลงไป มันลงไปเป็นอย่างนั้น คือลงไปเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

         ส่วน “เวทนา” ก็พิจารณาแยกแยะให้เห็น ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความเฉยๆ ก็ดี มันเกิดขึ้นได้ทั้งทางกายและทางใจ สักแต่ว่าอาการอันหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น รู้อยู่เห็นอยู่ประจักษ์ตาประจักษ์ใจ ทุกข์ปรากฏขึ้นมาก็เป็นเพียงความจริงอันหนึ่งของมัน ตัวมันเองก็ไม่ทราบความหมายของมัน การที่เราไปให้ความหมายมันนั้นก็เท่ากับผูกมัดตนเอง เท่ากับเอาไฟมาเผาลนตนเอง เพราะความลุ่มหลงนี้เองจึงไปหมาย “เขา” ในทางที่ผิด โดยที่ถือเอาว่าเป็น “เรา” ทุกข์ก็เป็นเรา เป็นไฟทั้งกองยังถือว่าเป็นเรา อะไรๆ ก็เป็นเรา ๆ หมดทั้งที่หาตัวเราไม่เจอ ไปเจอแต่ความทุกข์ตลอดเวลาที่สำคัญมั่นหมาย

         สัญญา ก็คือความจำ จำแล้วหายไป ๆ เมื่อต้องการก็จำขึ้นมาใหม่ มีความเกิดความดับ ๆ ประจำตัวของเขา ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ มีลักษณะเช่นเดียวกัน ถ้าพิจารณาสิ่งหนึ่งให้เข้าใจแจ่มแจ้งหรือประจักษ์ด้วยปัญญาแล้ว อาการทั้งห้านี้ก็เหมือนกันหมด ความเข้าใจหากกระจายทั่วถึงกันไปเอง

         เมื่อสรุปความแล้ว กองธาตุกองขันธ์เหล่านี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราทั้งนั้น เป็นความจริงของเขาแต่ละอย่าง ๆ ทั้งรูปธรรมและนามธรรมก็เป็นสาเหตุมาจากจิต แต่เพราะ “ใจ” เป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน จึงสุดท้ายก็ใจเป็น “บ๋อยเขา” เพราะรับใช้ด้วยความลุ่มหลง ตัวเองยังยืนยันว่า “เขา” เป็น “เรา” “เป็นของเรา” ก็เท่ากับถือ “เขา” เป็นนายเรานั่นเอง ฟังซิฟังให้ถึงใจ จะได้ถึงตัวกิเลสเสียบ้างและทำลายมันลงได้ด้วยสติปัญญา

         ธรรมของนักปราชญ์ท่านสอนพวกเรา ยังจะพากันมามัวเมาไปหาความวิเศษวิโสจากธาตุขันธ์ ซึ่งเหมือนป่าช้าอะไรกันอีก! นอกเหนือจากความรู้ยิ่งเห็นจริงในสิ่งเหล่านี้เท่านั้น พวกเราพากันหลงตามความเสกสรรธาตุขันธ์ ว่าเป็นเราเป็นของเรา มากี่กัปกี่กัลป์แล้ว ส่วนผลเป็นอย่างไร? เราภาคภูมิใจกับคำว่า “เรา” “ของเรา” เหมือนเรามีอำนาจวาสนาเหนือสิ่งเหล่านี้ และเป็นผู้ปกครองสิ่งเหล่านี้

         ความจริงเราเป็น “คนรับใช้” สิ่งเหล่านี้ ลุ่มหลงก็คือเรา ได้รับความทุกข์ความลำบาก ได้รับความกระทบกระเทือนและแบกหามสิ่งเหล่านี้ด้วยความลุ่มหลง ก็คือเรา ผลสุดท้ายเราเป็นคนแย่และแย่กว่าอะไรบรรดามีในโลกเดียวกัน สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ผู้หลงผู้ยึดถือ ไม่ใช่ผู้แบกหาม ไม่ใช่ผู้รับความทุกข์ทรมาน ผู้รับภาระทั้งปวงจากสิ่งเหล่านี้ คือเราคนเดียวต่างหากนี่

         เพราะฉะนั้นจึงควรแยกสิ่งเหล่านี้ออกให้เห็นตามความจริงของมัน จิตจะได้ถอนตนออกมาอยู่ตามหลักธรรมชาติไม่มีเครื่องจองจำ การพิจารณานั้นเมื่อถึงความจริงแล้วก็ต่างอันต่างจริง ไม่กระทบกระเทือนกัน และปลดเปลื้องภาระทั้งหลายจากความยึดถือ คืออุปาทานเสียได้ ใจเป็นอิสรเสรีและเรืองฤทธิ์เรืองเดชตลอดกาล

         ระหว่างใจกับขันธ์ก็ทราบกันตามความจริงและไม่ยึดไม่ถือกัน การพะวักพะวนกันเรื่องขันธ์เพราะอำนาจแห่งอุปาทานนี้ไม่มี เวลายังครองขันธ์อยู่ก็อยู่ด้วยกันราวกับมิตรสหาย ไม่หาเรื่องร้ายป้ายสีกันดังที่เคยเป็นมา ฉะนั้นจึงอยากให้เราชาวปฏิบัติธรรม พิจารณาเข้าไปถึงตัวจิตนั้นแล “เหี้ยจริงๆ คือตัวจิต”เหี้ยนั้นมันออกช่องนี้ถึงได้พิจารณาช่องนี้ จนกระทั่งเข้าไปหาตัวมัน คือจิต

         “จิต” คืออะไร? คือรังแห่ง “วัฏจักร” เพราะกิเลสอาสวะส่วนละเอียดสุดฝังจมอยู่ภายในจิต ต้องใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะ กำหนดเอาจิตนั้นเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เช่นเดียวกับอาการต่างๆ ที่เราได้พิจารณาลงไปเป็นลำดับๆ ด้วยปัญญามาแล้ว

         เมื่อถือจิตเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา ด้วยความไม่สงวนสิ่งใดไว้ทั้งสิ้น ต้องการทราบความจริงจากจิตที่เป็นแหล่งสร้างปัญหาทั้งมวลนี้โดยตลอดทั่วถึง การพิจารณาไม่หยุดยั้ง ก็จะทราบด้วยปัญญาว่า ในจิตนั้นมีอะไรฝังจมอยู่อย่างลึกลับสลับซับซ้อน อยู่ด้วยกลมารยาของกิเลสทั้งปวง

         จงกำหนดเข้าไป พิจารณาเข้าไป จิตถ้าพูดตามหลักการพิจารณาแล้ว จิตก็เป็นตัวอนิจฺจํ เป็นตัวทุกฺขํ เป็นตัวอนตฺตา เพราะยังมีสมมุติแทรกอยู่จึงต้องเป็นลักษณะสาม คือ “ไตรลักษณ์

** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก