ยาแก้กิเลส
วันที่ 23 เมษายน 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 47.21 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๒

ยาแก้กิเลส

 

ผู้ใคร่ในธรรมปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงดังครั้งพุทธกาล สมัยนี้มีน้อยร่อยหรอเต็มที ดังที่เห็นกันอยู่นี้แล แต่ผู้ใคร่ในการปฏิบัติความสงบสุขจะมีมากกว่ากัน เพราะศาสนธรรมเป็นธรรมที่สอนโลกเพื่อความสงบสุขโดยถูกต้อง พระพุทธเจ้าก่อนจะสั่งสอนโลก ก็ทรงทำพระองค์ให้มีความสงบสุขอย่างเต็มภูมิมาก่อน แล้วจึงได้ประกาศสอนธรรมทั้งเหตุที่ทรงดำเนินมา ทั้งผลที่ทรงได้รับคือความสงบสุขเต็มภูมินั้น ว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับสัตว์โลกมากมายเพียงไร พระองค์ได้นำทั้งเหตุทั้งผลออกแสดงโดยพระองค์เป็นผู้รับประกันในคุณธรรมทั้งหลาย

เมื่อเริ่มประกาศสอนธรรม ผู้ได้รับความเชื่อความนับถือตามหลักความจริงที่พระองค์ทรงดำเนินและทรงรู้เห็นมาแล้ว ก็ได้ประพฤติปฏิบัติตามในทันทีทันใด เช่น พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้า นั่นคือการปฏิบัติตามทางด้านจิตใจ ในขณะที่กำลังสดับธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และแสดงอนัตตลักขณสูตรให้ฟัง จิตคล้อยตามหลักความจริงของธรรม และได้บรรลุธรรมเป็นขั้น ๆ ไป จนถึงขั้นอรหัตภูมิซึ่งเป็นขั้นที่สงบอย่างเต็มภูมิ

จากนั้นต่างองค์ก็ต่างประกาศศาสนาแก่โลก ด้วยความเมตตาสุดส่วนไม่มีโลกามิสแม้น้อยเจือปน ทั้งนี้มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระเมตตาองค์เอกในโลกไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้นำพระศาสนา และมีพระสาวกเป็นผู้สนองกตัญญูกตเวทิตาคุณ ช่วยพุทธภาระในการประกาศพระศาสนาแก่หมู่ชน ให้กว้างขวางออกไปอย่างรวดเร็ว ศาสนาจึงได้กระจายไปสู่จิตใจของประชาชนอย่างกว้างขวางไม่มีประมาณ

กิริยาอาการแห่งการเสาะแสวงของประชาชน ซึ่งกำลังไขว่คว้าหาหลักเกณฑ์ หาที่ยึดเหนี่ยวอยู่เเล้วอย่างเต็มใจ เมื่อได้ทราบของจริงที่เข้าสัมผัสใจเช่นนั้นต่างก็น้อมรับและยึดถือ พร้อมทั้งการปฏิบัติตามเป็นลำดับไม่ท้อถอยปล่อยวาง และได้สำเร็จมรรคผลเป็นที่พอใจตามลำดับภูมิความสามารถวาสนาของตน ในเวลาที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่สี่สิบห้าพระพรรษา ทรงประกาศพระศาสนาแผ่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ประชาชนได้รับความสงบสุขมากมาย

ศาสนธรรมที่ทรงสั่งสอนโลกล้วนแต่เป็นสันติธรรม ผู้นำธรรมออกประกาศ สอนโลกก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสันติธรรมโดยสมบูรณ์ในพระทัย คือ พระพุทธเจ้า ธรรมที่สั่งสอนโลกก็เพื่อสันติ คือความสงบเย็นเป็นที่ตั้ง

โรคในกายถ้ากำเริบย่อมทำให้คนไข้ระส่ำระสายกระวนกระวาย ในอิริยาบถทั้งสี่ไม่มีเวลาตั้งตัวสงบได้ เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ราวกับโลกสงสารมารวมเป็นไฟทั้งกองเผาลนเราคนเดียว หาที่ผ่อนคลายไม่ได้เลย

เมื่อโรคสงบลงเพราะถูกยา คนไข้ก็ได้หลับนอน ได้พักผ่อนตัวสะดวกสบายเท่าที่ควร เมื่อหมอหรือผู้มาเยี่ยมคนไข้ถามว่าเป็นอย่างไร เมื่อคืนนี้ได้พักบ้างหรือเปล่า บอกว่าเมื่อคืนนี้ได้พักสบายบ้าง ได้พักเป็นครั้งคราวบ้าง บางรายไม่ได้พักเลย นั่นหมายว่าโรคไม่สงบ คนก็ไม่สงบ เมื่อโรคสงบคนไข้ก็สงบ สงบมากน้อยคนไข้ก็มีความสงบสบาย ถึงกับหายจากโรคไปเพราะอำนาจแห่งยาถูกกับโรค

โรคของจิตแห่งสัตว์โลกก็ย่อมเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน โรคอันนี้ปราชญ์ท่านเรียกว่า “โรคเรื้อรัง” เคยฝังใจมาเป็นเวลานาน ไม่อาจนับต้นสายปลายเหตุได้ ว่าเป็นมาแต่เมื่อไร ถ้าเป็นรากแก้วก็ทะลุดินที่หนาแสนหนาไปแล้ว เพราะฝังลึกแสนลึก หยั่งลงพื้นพิภพ ฝังรากฝังฐานภายในจิตใจสัตว์โลกให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ไม่ทราบว่าภพน้อยภพใหญ่ ภพไหนต่อภพไหนแล้ว เพราะความเกิดตายซ้ำ ๆ ซาก ๆ เช่นเดียวกับตามรอยโคในคอก ไม่อาจทราบได้เลยว่ารอยโคในคอกไปยังไงมายังไง เพราะเหยียบย่ำวนไปเวียนมาแหลกไปหมด นี่เพราะความเป็นมาแห่งภพชาติ ซึ่งเนื่องมาจากกิเลสตัวก่อเหตุตัวผลักดันให้เป็นไปเป็นมาอยู่อย่างนั้นไม่มีคำว่าจบสิ้น ถ้าไม่ชำระหรือฆ่าเชื้อวัฏวนออกจากใจเสีย ต้องทำจิตใจของสัตว์โลกให้ทุกข์ร้อนนอนครางหาเวลาว่างจากทุกข์ไม่ได้ เมื่อตั้งภพตั้งชาติขึ้นมาแล้ว เพราะอำนาจของกิเลสประเภทหนึ่ง ๆ ส่วนประเภทที่ฝังอยู่ภายในจิตใจนั้นก็ก่อกวนวุ่นวายอยู่เสมอ จึงทำให้สัตว์โลกทั้งหลายได้รับความวุ่นวายเดือดร้อน หาความสงบเย็นใจไม่ได้ เพราะกิเลสก่อกวน ไม่มีสิ่งใดก่อกวนทำลายนอกจากกิเลสอย่างเดียว

กิเลสมีหลายประเภท ถ้าเรียกว่าโรคก็โรคหลายชนิดภายในใจของคนแต่ละคน ไม่เหมือนคนไข้ที่ไปรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งบางคนก็มีโรคเดียว บางคนก็มีหลายโรค แต่ภายในจิตใจของสัตว์โลกมีโรคหลายชนิดมากทีเดียว

โรคใหญ่ ๆ ที่ตั้งรากตั้งฐานให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ โรคแห่งความโลภ โรคแห่งความโกรธ โรคแห่งความหลง โรคแห่งราคะตัณหา สามสี่ประเภทนี้เป็นเเม่ทัพใหญ่ และมีใจเป็นสถานที่อยู่ มีใจเป็นสถานที่ทำงาน มีใจเป็นพื้นฐานของโรคคือกิเลสชนิดนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา

เมื่อจิตใจมีแต่โรคชนิดที่จะทำความกำเริบแก่ใจอยู่เสมอ โดยเจ้าของไม่นำพา ไม่เหลียวแลเยียวยารักษาบ้าง หรือไม่รู้วิธีรักษาเลยนั้น ใจดวงใดก็ตามจะหาความสงบสุขไม่ได้เพราะโรคชนิดนี้เสียดแทงอยู่ตลอดเวลา และผู้ใดที่จะมีความสามารถฉลาดรู้ หาโอสถอันสำคัญมาแก้โรคชนิดนี้ให้เบาบางและหมดสิ้นไปจากใจได้ ในสามโลกธาตุนี้จึงมีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ทรงสามารถฉลาดแหลมคม ทันกลมายาของโรคคือกิเลสประเภทต่าง ๆ และปราบให้หายซากจากพระทัยได้ แต่ขณะที่พระองค์ทรงบำเพ็ญเพื่อวิชาปราบกิเลสตัวข้าศึกอยู่นั้น ไม่มีครูมีอาจารย์แนะนำสั่งสอน พยายามดำเนินตะเกียกตะกายไปตามพระกำลังความสามารถ จนได้ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายแล้ว จึงได้นำธรรมนี้ออกมาสั่งสอนโลกให้กว้างขวางออกไปโดยลำดับลำดา

ผู้ที่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ก็ได้ระงับดับโรคชนิดต่าง ๆ ไปโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งเป็นใจที่บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากโรคชนิดนี้โดยประการทั้งปวง เมื่อตัวเหตุอันจะพาให้เกิดแก่เจ็บตายและสั่งสมกองทุกข์ขึ้นมามาก ๆ สิ้นไปจากใจแล้ว ใจก็หมดทุกข์หมดความลำบากทรมานต่าง ๆ หมดการจับจองป่าช้า ตายสถานที่นั่น เกิดสถานที่นี่ วกเวียนไปมาจนหาต้นหาปลายไม่ได้ก็ลบล้างไปหมด เพราะลบล้างตัวสำคัญคือกิเลส อันเป็นตัวพาให้เกิดแก่เจ็บตายภายในจิตใจได้โดยสิ้นเชิง

ธรรมโอสถเหล่านี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงค้นพบด้วยสยัมภู ทรงรู้เองเห็นเองทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผล นอกนั้นไม่มีใครสามารถจึงเรียกว่าสาวก สาวะกะ แปลว่า ผู้สดับตรับฟังเสียก่อน ก่อนที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้ถึงธรรมขั้นต่าง ๆ จนถึงความบริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพาน ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังมาทั้งนั้น ไม่จากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าโดยตรง ก็จากครูจากอาจารย์ที่เป็นพระสาวกองค์ใดองค์หนึ่งเรื่อยมาเป็นลำดับลำดา ดังที่เราทั้งหลายได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์มาโดยลำดับเช่นนี้

ธรรมนี้คือโอสถเครื่องแก้กิเลส เครื่องระงับหรือเครื่องปราบปรามกิเลสทั้งมวล จึงเป็นสิ่งที่หาได้ยาก และยากที่บุคคลจะสามารถค้นคว้ามาทำประโยชน์เต็มภูมิได้ ทั้งนี้เพราะกิเลสอย่างเดียวนั่นแลขัดขวางน่ะ จะมีอะไรที่ไหนมาขัดขวาง

เมื่อใจได้รับการเหลียวแลด้วยอรรถธรรม ประพฤติปฏิบัติมีธรรมเป็นหลักเกณฑ์ คือ มีเหตุมีผลเป็นเครื่องประพฤติเป็นเครื่องดำเนินอยู่โดยสม่ำเสมอ ชื่อว่าผู้มีศาสนา ความมีศาสนานั้นคือความมีสิ่งอารักขาภายในจิตใจ มีเครื่องประกันตัวอยู่ภายในใจ จิตใจย่อมมีความสงบ แม้กิเลสยังมีอยู่ก็ยังมีขอบเขต ไม่ผาดโผนโลดเต้นเสียจนเลยเหตุเลยผล ถึงขนาดที่ว่าดูไม่ได้

ดังสมัยทุกวันนี้เห็นไหม ความเคลื่อนไหวของคนยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร ดูเอา ไม่ต้องเดาก็พูดถูก ทั้งนี้เพราะความห่างเหินยา คือธรรม กิเลสจึงได้กำเริบเสิบสาน พาคนให้เสียคนอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ไม่กระดากอาย ดังเขาออกทางหนังสือพิมพ์แทบไม่เว้นแต่ละฉบับแต่ละวัน เพราะภาพชนิดนั้น เรื่องราวชนิดนั้น สัตว์โลกที่มีโรคชนิดเหล่านี้เป็นเชื้ออยู่แล้ว มันติดได้ง่ายกำเริบได้เร็ว เหมือนกับไฟที่มีเชื้อไฟอยู่ภายในเตา แล้วโยนฟืนเข้าไปมันก็ติดและส่งเปลวขึ้นทันทีไม่ชักช้า

มันมีมากมายอย่างที่เราไม่เคยพบเคยเห็นก็มีขึ้นแล้วเวลานี้ กำลังเรียนวิชาสัตว์กันมากมาย วิชามนุษย์ก็เคยเรียนมา วิชาธรรมก็เคยเรียนมา แต่เวลานี้มักจะเป็นวิชาสัตว์เสียมาก ถือเป็นแฟชั่นแฟเชิ่น ถือเป็นศิลโปะศิลปะไป พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงพูดเอาตามเพลงของกิเลสเจ้าราคะตัณหา เจ้าตาหัน ตามองไม่เบื่อและอิ่มพอ มันแต่งให้ขับร้องตามเนื้อเพลงของมัน ถ้าเป็นศิลปะก็คือวิชาและเนื้อเพลงของกิเลสนั่นแล เนื้อเพลงนั้นมันจะผิดอะไรกับเนื้อเพลงของ…….ที่เขาหอน “เอ๊ย” เขาร้องในฤดูที่เขาคึกคะนอง เด็ก ๆ ดู-ฟังก็ยังเข้าใจ ทำไมโลกและธรรมจะไม่เข้าใจ

ตาดูก็รู้ หูฟังก็ชัด เพราะหูนี้เป็นหูมนุษย์ ตาเป็นตามนุษย์ มันแสลงหูแสลงตามนุษย์ มนุษย์ทำไมจะไม่ทราบ แสลงใจมนุษย์ มนุษย์ทำไมจะไม่ทราบ ถ้าไม่เป็นเรื่องหยาบโลนของผู้มีกิเลสอันหนาแน่นหรืออันหยาบทรามนั้น คุ้ยเขี่ยขุดค้นขึ้นมาประจานตัวเอง และทำให้โลกเสียหายไปตาม ๆ กันเป็นจำนวนมากนับประมาณไม่ได้เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรที่จะเป็นข้อยกเว้น ว่าเป็นศิลปะบ้าง เป็นแฟชั่นแฟเชิ่นอะไรบ้าง นี้เราเห็นกันทุกวัน นี้เป็นสิ่งที่ทำโลกให้เสียหายเสื่อมทรามได้มากมาย เสียทางด้านจิตใจเสียด้วย ถ้าเป็นต้นไม้ก็โค่นรากแก้วของมันเลย ไม่ต้องไปตัดกิ่งตัดก้านของมัน เมื่อต้นไม้ที่ถูกโค่นรากแก้วแล้ว มันจะทนได้เหรอ ต้องล้มครืนลงไปโดยไม่ต้องสงสัย

คนเราสำคัญอยู่ที่จิตใจ อะไรจะเอนเอียงไปบ้าง ขาดตกบกพร่องไปบ้าง เจริญบ้างเสื่อมบ้างภายนอก ไม่สำคัญเท่าจิตใจที่เสื่อมไป ถ้าจิตใจมีหลักธรรมเป็นที่ยึดเหนี่ยวบ้าง โลกจะไม่แสดงกิริยาอาการที่น่าทุเรศแบบนั้น และใจก็มีหลักยึด คือ เบญจศีล เบญจธรรม เป็นต้น สำหรับโลกที่มีกิเลส การแสดงออกก็พองามตาไม่แสลงแทงใจจนเลยขอบเขตเหตุผลของมนุษย์ ใจที่มีหลักธรรมยึดย่อมทรงตัวได้ ไม่เสื่อมโทรมจนน่าเวทนา สิ่งใดขาดตกบกพร่องไปบ้าง ได้บ้างเสียบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้างก็พออดพอทน

ถ้าใจหาหลักไม่ได้แล้วล้มเหลว เหมือนกับรากแก้วที่ถูกถอนพรวดขึ้นมาแล้ว ต้นไม้นั้นก็มีแต่ตายท่าเดียว จิตใจถ้าลงสิ่งเหล่านี้ได้ขุดรากแก้วขึ้นมาแล้ว ก็มีแต่วันจะแหลกลาญไปเท่านั้นเอง เพราะเหตุใด เพราะความห่างเหินศีลธรรมจึงเป็นอย่างนั้น มีแต่กิเลสตัณหาอาสวะล้อมรุมสุมใจอยู่ตลอดเวลา หลับตื่นลืมตามีแต่เรื่องอันเดียว กลุ้มรุมอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ทุกรูปทุกนามทุกเพศทุกวัย สับสนปนเปคละเคล้ากันอยู่ด้วยเรื่องอย่างนี้ มีแต่เอาเรื่องนี้มาโปะกันเข้า ๆ แล้วมันจะทนได้อย่างไร นัดหนึ่งไม่ตายนัดที่สองมันก็ตายได้ เพราะมันเป็นยาพิษอยู่แล้ว นี่เราพูดภายนอกเพื่อเป็นเครื่องเทียบเคียงภายในของผู้ปฏิบัติ นี่โลก ๆ เป็นอย่างนั้นให้เราดูเอา และดูตามสภาพความจริงเพื่อปลงตก อย่าดูอย่าฟังเพื่อพกมาเผาหัวใจ จะกลายเป็นไฟทั้งกองขึ้นมาที่หัวอก ตกเป็นทาสของมันตลอดไปไม่มีวันฟื้นตัว

ภายในจิตจะคิดออกไปในแง่ใดจะเป็นการทำลายสังหารตน แม้จะไม่แสดงออกมาทางกิริยาอาการก็ตาม แต่พึงทราบว่า นั้นกำลังพยายามโค่นรากแก้วของตนอยู่แล้วโดยไม่ต้องสงสัย ต้องพยายามระมัดระวัง ความคิดเป็นสิ่งสำคัญมาก และใจเป็นสมบัติอันล้ำค่าเสียด้วย ถ้าไม่ใช้สติปัญญาระมัดระวังพินิจพิจารณาจริง ๆ แล้ว เราจะไม่ได้ครองจิตที่เป็นสมบัติอันล้ำค่านี้ด้วยอรรถด้วยธรรมเลย แต่จะเป็นเรื่องความพินาศฉิบหาย ร้ายกาจที่สุด เลวทรามที่สุด เพราะใจดวงถูกทำลายจากกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ ขอให้พากันพิจารณาให้ดี ระมัดระวังให้มากตลอดเวลาอิริยาบถ อย่าได้ชินชาชะล่าใจกับกิเลสตัวใดว่าไม่เป็นภัยต่อจิตใจ แต่มันคือข้าศึกทั้งมวล นับแต่ลูกเต้าหลานเหลนขึ้นไปถึงปู่ย่าตาทวดของกิเลส

ความสงบสุขของใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเสาะแสวง ต้องรักต้องสงวน เช่นเดียวกับความไม่สงบ เป็นภัยอันหนึ่งที่เราจะต้องระมัดระวัง เพราะมีน้ำหนักเท่ากัน ความเห็นภัยกับความเห็นคุณ ให้เห็นอย่างถึงใจเท่า ๆ กัน จงละจงถอดถอนด้วยความเห็นโทษอย่างถึงใจ ขณะเดียวกันจงพยายามเพื่อสมาธิธรรม ปัญญาธรรม วิมุตติธรรม ด้วยความเห็นคุณอย่างถึงใจเช่นเดียวกัน

พระพุทธเจ้าสอนไว้ทุกแง่ทุกมุมตามหลักธรรมหลักวินัย ล้วนแล้วแต่เป็นอุบายวิธีป้องกันตัวและรักษาตัว วิธีหลบหลีกปลีกตัวจากสิ่งชั่วช้าลามกทั้งหลาย ด้วยพระปัญญาสามารถทั้งสิ้นไม่มีที่ต้องติ เพราะพระองค์เคยได้รบราฆ่าฟันกับกิเลสมาแล้วอย่างโชกโชน ไม่มีใครที่จะเกินพระองค์ไปได้ถ้าพูดถึงเรื่องความสมบุกสมบัน ความทุกข์ความทรมานด้วยการประกอบความเพียร เพื่อห้ำหั่นกับกิเลสทั้งหลายให้พังพินาศไปจากพระทัย

โลกร่ำลือกันทั่วดินแดนว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์หนึ่งที่ทรหดอดทนไม่มีใครเสมอเหมือน จึงทรงทราบทุกอุบายวิธีที่เคยต่อสู้กับกิเลสประเภทต่าง ๆ ด้วยกลเม็ดเด็ดพรายใด หรือด้วยธรรมาวุธประเภทใดว่าเป็นธรรมเหมาะสม จึงทรงนำธรรมเหล่านั้นมาสั่งสอนพวกเรา ท่านทรงสอนไว้แง่ใดมุมใด ขอให้ยึดมาเป็นหลักเกณฑ์เป็นเครื่องป้องกันตัวรักษาตัว และต่อสู้กับกิเลสเพื่อชัยชนะในอวสานสุดท้าย

ในอิริยาบถต่าง ๆ อย่าให้เผลอสติเป็นความชอบธรรม สมกับเป็นนักปฏิบัติเพื่อธรรมทั้งหลาย และสมกับเป็นนักปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสออกจากใจจนไม่มีเหลือ ใจกลายเป็นสันติธรรมอย่างเต็มภูมิขึ้นมาด้วยความพากเพียร ตนเองจะเป็นที่ชมเชยตนเอง โดยไม่ต้องหาผู้อื่นใดมาชมเชย

การได้รับความชมเชยจากลมปากของคนนั้น มันไม่ผิดอะไรกับลมโชยไม้พัดไปพัดมา ไม่ว่าจะเป็นความนินทา ความสรรเสริญ มันก็เหมือนกับลมพัดผ่านหูไปครู่เดียวยามเดียวเท่านั้นก็หายไป ไม่เหมือนเราตำหนิติเตียนเราและชมเชยเราด้วยความสนใจใคร่ต่อเหตุต่อผล การตำหนิก็ตำหนิด้วยเหตุผล แล้วชำระแก้ไขดัดแปลงตนเองด้วยเหตุผล การชมก็ชมด้วยเหตุผลอรรถธรรมไม่ลำเอียงไปทางกิเลส อันเป็นการเข้ากับตัว ผู้เช่นนี้เป็นผู้มีเจตนาเป็นธรรมอย่างเต็มภูมิ ที่จะกำจัดกิเลสเพื่ออรรถเพื่อธรรมทั้งหลาย และมีวันที่จะผ่านพ้นจากทุกข์ภายในใจไปได้เพราะกิเลสราบคาบลงไป ด้วยการปราบปรามของผู้มีความเพียรกล้า สติไม่ลดละในอิริยาบถต่าง ๆ

ฉะนั้นจงเป็นผู้หนักแน่นสมกับเราเป็นนักปฏิบัติ พึงเป็นผู้หนักแน่นทุกแง่ทุกมุม อย่าได้อ่อนแอท้อถอย ทำกิจนอกการในใด ๆ ก็ตามให้พึงทราบว่าเรากำลังทำ คำว่าเรานี้เป็นตัวตั้งเป็นตัวประธานแล้ว ทำเพื่อใครก็คือทำเพื่อเรา ทำไม่ดีเราดีไหม ถ้าทำไม่ดีเราก็ไม่ดี แสดงไปจากเรานี่ไม่ดีจึงทำไม่ดี ทำแบบขอไปที เราก็เป็นคนเพียงขอไปที เป็นเศษคนเศษพระเศษเณร ไม่ได้เป็นคนเป็นพระเป็นเณรเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นแบบเพียงขอไปที เรียกว่าเป็นเหมือนกับเศษพระเศษเณรเคลื่อนที่เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงสำคัญที่ว่า ทำอะไรก็ตามให้ถือคำว่าเราเป็นหลักใจไว้เสมอ ทำอะไรก็เราเป็นผู้ทำ เพื่ออะไร ก็ทำเพื่อเรา เมื่อทำเพื่อเราแล้วสิ่งใด ๆ ก็เพื่อเรา เราต้องเป็นผู้จดจ่อต่อเนื่องด้วยเหตุด้วยผลด้วยสติปัญญา ตั้งจิตตั้งใจทำสิ่งนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความมีเหตุผล ด้วยความมีเจตนา ด้วยความเรียบร้อยสมบูรณ์จากสิ่งนั้นจริง ๆ เมื่อย้อนเข้ามาสู่ภายในใจ คือ การประกอบความพากเพียรภายในใจ ก็สิ่งเหล่านั้นแหละซึ่งเป็นนิสัยของเรา ที่เคยฝึกหัดดัดแปลงด้วยดีมาแล้วกับหน้าที่การงานภายนอก ประมวลเข้ามาสู่งานภายในก็เอาจริงเอาจัง มีเหตุมีผลมีสติสตัง ปัญญาใคร่ครวญจนทะลุปรุโปร่งไปได้ ด้วยคำว่าเราทำเพื่อเรา

หลักนิสัยเป็นสำคัญมาก ขอให้พยายามฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนจริงจัง อย่าอ่อนแอเหลาะแหละ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเศษเป็นเดนของกิเลส เราไม่ใช่พระเศษพระเดนอย่านำเข้ามาดื่มมาคละเคล้าใจ ให้จิตใจดื่มหรือคลุกเคล้ากับความอ่อนแอท้อแท้ เพราะนี่เป็นเศษเป็นเดนของกิเลสประเภทต่าง ๆ เราไม่ใช่เป็นคน เป็นพระเป็นเณรเศษเดน ต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปให้พ้น อย่าสนิทติดจมกับมันถ้าไม่อยากจมดิ่งไม่มีวันโผล่หัวน่ะ

สมาธิภาวนาท่านเขียนไว้ตามตำรับตำราเกลื่อนไปหมด อธิบายไว้เสียจนเป็นคุ้งเป็นแคว สมาธิเป็นอย่างนั้นสมาธิเป็นอย่างนี้ เรามาปฏิบัติให้เห็นองค์ของสมาธิจริง ๆ จะอยู่ที่ไหนแน่ พระพุทธเจ้าทรงชี้เข้ามาในหัวใจนี่เเล สมาธิคือความสงบเย็นใจ ความตั้งมั่นของใจ ถ้าใจไม่มีสมาธิทำอะไรอันเป็นฝ่ายเหตุก็ไม่จริงไม่จัง ผลที่จะเป็นความตั้งมั่นขึ้นมาให้มีความสงบเย็นใจก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความสนใจใคร่ต่อสมาธิจริง ๆ หรือทำให้ถึงเหตุถึงผลตามหลักที่ท่านสอนไว้จริง ๆ แล้ว คำว่าสมาธิซึ่งเราเคยได้ยินแต่ชื่อได้อ่านแต่ในตำรับตำรา ก็จะมาเห็นภายในจิตใจของเราเอง เพราะสมาธิแท้อยู่ที่ใจผู้ตั้งมั่น

อย่าเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน นอกไปจากใจดวงที่กำลังไฟโลภโกรธหลงครอบงำอยู่นี้เผาอยู่เวลานี้ จงแก้เสียให้ได้ ดับไฟเหล่านี้ลงได้ด้วยตปธรรม เอาไฟดับไฟ ตปธรรมคือความแผดเผากิเลส กิเลสเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจร้อน ตปธรรมก็คือความแผดเผากิเลส ร้อนต่อร้อนเผากัน เป็นข้าศึกกัน เมื่อกิเลสดับแล้วก็กลายเป็นความเย็นขึ้นมา คำว่า ตปะ คือความแผดเผากิเลสด้วยอำนาจแห่งความเพียรนั่นแล

วิริยะ เพียรเสมอ เพียรไม่ถอยจนกระทั่งกิเลสมันราบไป

ขันติ อดทน ฟังดูซิ ขันติคือความอดความทนต่อหน้าที่การงานของตน ไม่ได้อดทนต่ออะไรละ ทนต่อสู้กับกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อหัวใจเราต่างหาก

จิตตะ มีความรักใคร่ใฝ่ใจในความเพียรอยู่เสมอ ไม่ห่างเหินจากงานของตน

วิมังสา ความใคร่ครวญ เป็นเรื่องของปัญญา อย่าลดละ ให้นำมาใช้เสมอในกิจนอกการในไม่ละเว้น

นี่คือผู้ที่จะทรงสมาธิ จะเป็นเจ้าของของสมาธิภายในใจ จะเป็นเจ้าของของปัญญาภายในใจ จะเป็นเจ้าของของวิมุตติหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายภายในใจตัวเอง จะเป็นเจ้าของแห่งมหาสมบัติ คือ นิพพานสมบัติภายในใจโดยไม่ต้องไปถามผู้อื่นผู้ใดเลย ขอแต่ได้เปิดสิ่งที่ปิดบังหุ้มห่อจิตใจนี้ออกให้หมด ความเตียนโล่งของใจที่ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องยุ่งกวนได้เลย จะแสดงตัวอย่างเต็มที่ในขณะนั้น

เท่าที่จิตแสดงตัวไม่ได้ก็เพราะถูกสิ่งเหล่านี้ครอบงำไว้หมด จนมืดมิดปิดตาหาทางออกไม่ได้ ฉายแสงออกมานิดหนึ่งก็ไม่ได้ แสงเบื้องต้นก็คือสมาธิความสงบใจ แสงที่สองก็คือปัญญา เริ่มแสดงออกมาเรื่อย ๆ ตามขั้นของปัญญา ฉายแสงไปเรื่อยจนกระทั่งรอบจิต ชำระกิเลสออกหมดเพราะอำนาจของปัญญาที่ทันสมัยแล้ว จิตก็สว่างกระจ่างแจ้งออกมาโดยหลักธรรมชาติ เพราะโดยปกติจิตเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงสิ่งที่มืดมิดปิดตานั้นมันไปครอบจิต ก็เลยกลายเป็นจิตมืดจิตดำไปเสีย จิตโง่เขลาเบาปัญญา เลยกลายเป็นจิตต่ำทรามไปเสีย ทั้ง ๆ ที่จิตแท้ไม่ได้ต่ำทรามอย่างนั้น ไม่ได้ต่ำไม่ได้เลว ซึ่งที่เลวนั้นแหละเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับจิตเลยกลายเป็นจิตเลวไปได้ เมื่อชำระออกด้วยความพากเพียรแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยจางหายไป ๆ ใจมีความสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาโดยลำดับ จนรอบตัวในที่สุด กลายเป็นวิมุตติหลุดพ้นขึ้นมาที่ตรงนั้น

นั่นแหละคือผู้ทรงคุณสมบัติที่ท่านเขียนไว้แต่ชื่อในตำรับตำรา ว่าศีล ว่าสมาธิ ว่าปัญญา ว่านิพพาน วิมุตติหลุดพ้น เขียนไว้นั้นมีแต่ชื่อในคัมภีร์ ตำราต่าง ๆ อันแท้จริงตัวจริงแล้วก็คืออยู่ที่จิต สมาธิก็อยู่ที่จิต ปัญญาก็อยู่ที่จิต วิมุตติหลุดพ้นก็หลุดพ้นที่จิต พ้นไปที่จิต ไม่พ้นไปจากจิตนี้ได้

จิตจึงเป็นจุดรวม รวมทั้งกิเลสทุกประเภทในเมื่อแก้ยังไม่ได้ รวมทั้งมรรคผลนิพพานทุกประเภท เมื่อแก้หรือถอดถอนได้แล้วด้วยอำนาจของความเพียร มรรคผลนิพพานจึงมีอยู่ที่ตรงนี้เท่านั้น ไม่มีอยู่กับกาลเวลาช้านานกาลใด ๆ ไม่มีอยู่กับสถานที่โน่นที่นี่ มีอยู่กับใจนี้ จึงต้องให้จ่อสติลงไปที่ใจ ความเพียรลงสู่ใจตามที่ท่านสอนไว้จะไม่ผิดหวัง เอาให้จริงให้จังก็แล้วกัน อย่าพากันมาเป็นผีหลอกเพศของตนและหลอกศาสนาให้บอบช้ำมัวหมอง เพราะโลกชาวพุทธที่หวังพึ่งศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างถึงใจฝากเป็นฝากตายยังมีอยู่มาก

จงพยายามฝึกหัดสติให้ดีอย่าให้เผลอ เคยพิจารณาอย่างไรก็ให้มีสติติดตาม อย่างน้อยก็ให้เป็นสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวอยู่ในขณะทำงาน คือรู้สึกอยู่ในตัว ไม่ได้จำเพาะเจาะจงในจุดใดจุดหนึ่งแห่งร่างกาย หรือแห่งอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง มีความรู้สึกตัวประจำอยู่ ท่านเรียกว่าสัมปชัญญะ เมื่อจ่อเข้าไปตรงจุดใดจุดหนึ่งเรียกว่าสติ

ทีนี้เมื่อสติมีความชำนิชำนาญขึ้นไป ก็กลายเป็นสัมปชัญญะอีกทีหนึ่ง แล้วกลายเป็นมหาสติกลายเป็นมหาปัญญา ขึ้นจากสติขึ้นจากปัญญาที่เคยล้มลุกคลุกคลานนั่นแหละไม่ไปจากไหน เมื่อฝึกหลายครั้งหลายหน ฝึกจนเกรียงไกรแล้วก็ชำนิชำนาญคล่องแคล่วแกล้วกล้า สามารถปราบปรามกิเลสได้ทุกประเภท ไม่ว่ากิเลสประเภทไหนเหนือสติปัญญานี้ไปไม่ได้ เพราะสติปัญญาเป็นต้นนี้ พระพุทธเจ้าแลพระสาวกทั้งหลายเคยใช้ปราบกิเลสให้หมอบราบคาบ ได้ผลเป็นที่พอพระทัยและใจมาแล้วจนสะเทือนโลกธาตุ จึงไม่ประสงค์ให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายมานอนขึ้นเขียง คอยให้กิเลสประเภทต่าง ๆ สับยำแบบไม่เป็นท่าหาทางต่อสู้ไม่ได้ดังที่เป็นอยู่ โดยลักษณะแพ้มัน ในทางสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ไม่มีอะไรเข้มแข็งพอ จึงขอได้พยายามฟิต สติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม ขันติธรรม เป็นต้น ขึ้นให้พอกับความจำเป็น ผลที่พึงหวังจะได้ครองในวันหนึ่งแน่นอนไม่สงสัย

จึงขอยุติ

 

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก