เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
ยอมตายกับความเพียร
ความหลงอันนี้เป็นพื้นเพมาจากอวิชชาตัณหาความมืดบอด ฝังอยู่ภายในใจ หลักใหญ่ก็มีสาม ความโลภ ความโกรธ ความหลง ชื่อของกิเลสบาปธรรมเหล่านี้ มีอยู่ในคัมภีร์ศาสนา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่นับพอประมาณ ในคัมภีร์มีแต่ชื่อของกิเลสของธรรมทั้งนั้น ตัวกิเลสและธรรมจริงๆ มีอยู่ภายในใจของสัตว์โลก ส่วนมากไม่ว่าท่านว่าเรา เวลาเรียนจำชื่อของกิเลสตัณหาและชื่อของอรรถของธรรมได้ก็เข้าใจว่า ตัวรู้ตัวฉลาด เป็นนักปราชญ์ขึ้นมาทั้งๆ ที่กิเลสไม่ได้เหือดแห้งไปสักตัวเดียว นอกจากเพิ่มขึ้นเพราะความสำคัญตน ในจิตใจร้อนยิ่งกว่าภูเขาไฟ การเรียนแบบนี้ท่านเรียกว่า ความรู้ขุยไม้ไผ่ เพราะทำลายตัวเอง การเรียนเพื่อปฏิบัติตามที่เรียนรู้มา ได้มากน้อยย่อมเกิดประโยชน์ไปตามส่วน นี่เรียกว่าเรียนเป็นมงคลแก่ตนและเป็นมงคลแก่ผู้เกี่ยวข้องไม่มีประมาณ
ฉะนั้นคำว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จึงต้องเป็นคู่เคียงกันเสมอไป ศาสนาถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ ก็จะมีแต่ชื่อ ดังที่เขาเขียนจดหมายมาตอนหลังจากเขาได้อ่านประวัติท่านอาจารย์มั่น และปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว มีจำนวนมากที่เขียนมาคล้ายคลึงกันว่า หลังจากอ่านประวัติท่านอาจารย์มั่นและปฏิปทาสายลูกศิษย์ท่านจบลงแล้ว เหมือนเขาเกิดชาติใหม่ในชีวิตอัตภาพอันเดียวกันนี้ เขามีหวังเกี่ยวกับบุญกุศลมรรคผลนิพพาน ไม่เป็นความสุดๆ สิ้นๆ เหมือนแต่ก่อน เป็นความภูมิใจที่เกิดมาในแดนแห่งพระพุทธศาสนานี้ ซึ่งเต็มไปด้วยมรรคผลนิพพาน
แต่ก่อนไม่เป็นอย่างนี้ มันคิดไปแบบลมๆ แล้งๆ ในลักษณะทำลายมรรคผลกุศลผลบุญที่ตนจะพึงได้รับ และอ่อนใจเหี่ยวแห้งใจจนกลายเป็นความหมดหวัง เพราะเห็นว่าศาสนามีแต่ตัวหนังสือ พระเณรมีแต่ผ้าเหลือง ซึ่งที่ไหนๆ ก็มีไม่อดอยาก สิ่งสำคัญก็คือ หาผู้จะทรงมรรคผลเพราะการปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มี ศาสนาจึงมีแต่ตัวหนังสือ ไม่มีใครปฏิบัติและทรงมรรคผลอันเป็นความจริงนั้นไว้
พอได้อ่านประวัติท่านอาจารย์มั่นและปฏิปทาของพระธุดงค์ฯจบลงแล้ว ผลที่ได้รับจากการอ่านประวัติท่านคือ การสร้างความหวังได้เต็มหัวใจ หัวใจเต็มตื้นไปด้วยศาสนา เต็มตื้นไปด้วยความหวังที่ไม่เป็นโมฆะ แม้จะไม่สำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็พอใจในการบำเพ็ญความดีทุกอย่าง เขาว่าอย่างนี้
มีจำนวนมากที่เขียนจดหมายคล้ายคลึงกันส่งมา หลังจากได้รับหนังสือที่ทางวัดส่งไปให้แล้ว เขาว่าไม่นึกว่าจะมีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบดังที่เห็นในประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งมีเรื่องของท่านเองและมีเรื่องของลูกศิษย์ของท่านอยู่ในนั้นอย่างนี้เลย ตอนนี้ได้อ่านอย่างถึงใจแล้ว เต็มตื้นภายในหัวใจ เหมือนเกิดชาติใหม่ขึ้นมาในท่ามกลางแห่งชาติเก่าๆ ที่มีอยู่นี้ เขาพูดอย่างนี้ในจดหมาย
เพราะฉะนั้นเราผู้เป็นนักปฏิบัติ ขอให้ถือตามคำสัตย์คำจริงที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้แล้วอย่างใด ซึ่งมี สวากขาตธรรม เป็นเครื่องประกันคุณภาพความถูกต้องดีงามทุกอย่างไว้โดยสมบูรณ์แล้ว การแสดงออกให้โลกได้เห็นชัดก็คือ นิยยานิกธรรม ซึ่งออกไปจาก สวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้วนี้ ธรรมวินัยเป็นเครื่องนำออกซึ่งโทษทั้งหลาย ที่มีอยู่ภายในใจของสัตว์โลกผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระองค์
ฉะนั้นพระวาจาของพระพุทธเจ้า จึงเป็นพระวาจาที่มีสัตย์มีจริง มีฤทธาศักดานุภาพมากเหนือกิเลสทุกประเภท เมื่อได้นำพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนไว้โดยถูกต้องนี้ไปประพฤติปฏิบัติ กิเลสตัณหาภายในใจต้องเบาบางลงไปตามกำลังแห่งการปฏิบัติของตนๆ และหมดสิ้นไปโดยไม่ต้องสงสัย เพราะอำนาจแห่งการปฏิบัติของผู้นั้นเต็มภูมิ
ความจริงนี้เคยเป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน และยังจะเป็นไปอีกเป็นเวลานาน จนกว่าจิตใจของสัตว์โลกจะหมดความเชื่อความเลื่อมใส หมดความใฝ่ใจในการปฏิบัติ หมดความเยื่อใย หมดความพึ่งพิงธรรมของพระพุทธเจ้า หันเหไปนอกลู่นอกทาง ไม่ถือธรรมเป็นหลักเป็นเกณฑ์แล้วนั้นแล ศาสนาจะหมดก็หมดตรงนั้น คือหมดโดยไม่มีสัตว์โลกรายใดสามารถจะนำไปประพฤติปฏิบัติได้ ไม่มีผู้สนใจเพราะจิตใจหยาบเกินกว่าจะสนใจในธรรมทั้งหลายแล้ว ที่พระองค์ว่าศาสนาที่ประทานไว้ห้าพันปีนั้น ก็ตามอุปนิสัยของสัตว์ จิตใจของโลกผู้ถือพุทธ ถือธรรม ถือสงฆ์นี้ จะมีไปได้เพียงแค่นั้น จากนั้นความรู้ความเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง จะเปลี่ยนแปลงไปจากหลักธรรม กลายเป็นโลกเป็นกิเลสล้วนๆ ไปหมด ศาสนาก็เป็นอันหมดทางช่วยเหลือได้อีก
ในขณะที่จิตใจเปลี่ยนแปลงไปจากหลักธรรม ใจก็มีความพัวพันรักชอบไปในความสกปรกโสมมต่างๆ ไม่มีประมาณ นิสัยสันดานเปลี่ยนจากความเป็นมนุษยธรรมเป็น มนุสฺสติรจฺฉาโน ร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจกลายเป็นใจของสัตว์ติรัจฉานฉุดพาไปอย่างหมดหวัง นี่เรียก มิคสัญญี เมื่อไม่มีศาสนาแล้วก็เป็นเหมือนสัตว์ เพราะบาปไม่มีบุญไม่มีภายใน ความสะดุ้งต่อบาป ความยินดีในบุญกุศลก็ไม่มีในใจ กลายเป็นสัตว์ในร่างมนุษย์ไปอย่างไม่สะดุ้งสะเทือนใจใดๆ ทั้งสิ้น ใครมีอำนาจก็กดขี่ข่มเหงรีดไถกันกิน ฉีกกันกิน ถืองานเบียดเบียนทำลายกันเป็นอาชีพเหมือนสัตว์ป่า
ความไม่มีศาสนาคือศีลธรรมภายในจิตใจ มีโทษทัณฑ์ถึงขนาดนั้นแล จึงไม่ใช่ของดี เท่าที่โลกยังพออยู่ได้ไม่รุนแรงนัก แม้จะร้อนระอุอยู่แทบทุกแห่งทุกหนดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ก็ยังพอมีที่ปลงวาง ยังพอมีที่สงบ ยังพอมีที่พักที่ปลงใจอยู่บ้าง เพราะจิตใจคนยังแสวงหาธรรมอยู่ มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้งจิตใจ ไม่ผาดโผนโจนทะยานไปตามกระแสของโลกโดยถ่ายเดียว การแสดงออกของผู้เดือดร้อนยังหวังพึ่งธรรมอยู่ เช่นร้องขอความเป็นธรรม เป็นต้น จิตใจยังใฝ่ธรรม ยังหวังพึ่งธรรมอยู่ ผู้ที่จะวินิจฉัยไต่สวนให้ได้เหตุได้ผลเพื่อความเป็นธรรมก็ยังมีอยู่ ไม่ขาดสูญไปโดยถ่ายเดียว ธรรมยังเป็นหลักเป็นเกณฑ์ในหัวใจของโลกอยู่ โลกถึงแม้จะร้อนก็ยังมีที่เย็น ถ้าเป็นน้ำในมหาสมุทรก็ยังมีเกาะมีดอนพออยู่พออาศัยได้ ไม่เป็นน้ำไปเสียทั้งแผ่นดิน ผู้มีธรรมอยู่ก็ไม่ร้อนไปทุกหย่อมหญ้าเสียทีเดียว ยังพอมีธรรมเป็นที่หลบซ่อนผ่อนคลายได้ นี่เราพูดถึงภาคทั่วๆ ไป
จิตใจถ้าขณะใดโลกเข้าย่ำยี ขณะนั้นก็เดือดร้อนตั้งตัวไม่ได้ ระส่ำระสายวุ่นวายไปกับอารมณ์ต่างๆ เพราะไม่มีสติ อำนาจของสติปัญญาไม่พอ สู้กำลังของกิเลสที่ผลักดันจิตใจให้ฟุ้งซ่านไม่ได้ ความที่จิตจะฟุ้งซ่านไปนั้นก็เพราะอาศัยอารมณ์อดีตเป็นสำคัญ ไปได้เห็นไปได้ยินสิ่งใดแล้วนำเรื่องนั้นเข้ามาเป็นอารมณ์เผาตัวเอง เพราะจิตใจถือสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ถือสิ่งนั้นเป็นงาน งานนั้นเป็นไฟ ผลของงานที่เป็นไฟก็เผาผลาญจิตใจให้เกิดความเดือดร้อน ขณะไม่มีสติย่อมเป็นอย่างนี้ด้วยกัน ไม่ว่าฆราวาส ไม่ว่านักบวช ไม่ว่านักปฏิบัติเรา
ฉะนั้น จงทำความสังเกตสอดรู้ตนอยู่เสมอ สมกับเราเป็นผู้รักษาเรา คือรักษาใจ อย่าให้สิ่งใดมาย่ำยีจิตใจได้ อย่าให้สิ่งใดมารบกวนจิตใจได้ คำว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้มารบกวนนั้นหมายถึง ใจไปคิดวาดภาพเอาสิ่งนั้นๆ มาครุ่นคิดอยู่ภายในใจ ทำให้ว้าวุ่นขุ่นมัวอยู่ภายใน ผลก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นความจริงที่ต้องยอมรับกัน
เมื่อมีสติปัญญาคอยกำกับรักษา คอยขัดคอยขืนคอยต้านทานกันอยู่เสมอ ใจย่อมปลอดภัยไร้ทุกข์ เพราะมีพี่เลี้ยง คือสติปัญญาตามรักษา ปกติเราก็ทราบแล้วว่า อารมณ์เช่นนั้นเป็นสิ่งไม่ดี ให้ผลเป็นพิษเมื่อสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่บ่อยๆ จึงต้องอาศัยการรักษา การกีดกัน การต้านทาน การต่อสู้กันเรื่อยๆ คำว่าปะทะกันนั้น คือมีการต่อสู้จึงมีการปะทะ หากจิตใจของเราเลื่อนลอย สติไม่มี ปัญญาซึ่งเป็นศาสตราอาวุธอันสำคัญไม่มี คำว่าปะทะก็ไม่ปรากฏ นอกจากหมอบราบเรียบไปเลยเท่านั้น ถ้ายังมีปะทะก็ยังมีการต่อสู้กัน ทั้งเขาทั้งเราต่อสู้กัน เช่น ปะทะผู้ก่อการร้ายเป็นต้น เรียกว่า สู้กัน ต่างคนต่างสู้กัน ย่อมมีทางแพ้ทางชนะได้ แต่นักปฏิบัติธรรมไม่ควรให้มีคำว่า สู้ไม่ได้หรือแพ้กิเลส นอกจากชนะไปเป็นพักๆ ตอนๆ เพื่อก้าวเข้าสู่แดนชนะโดยสิ้นเชิงเท่านั้น
กิเลสที่เกิดขึ้นภายในจิตใจและมีอยู่ภายในใจ ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหาประเภทใดๆ ทั้งปู่ย่าตายายของกิเลส ทั้งพ่อแม่ของกิเลส ทั้งลูกเต้าเหล่ากอของกิเลส มันเป็นข้าศึกทั้งนั้น เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับใจ ใจที่มีสติก็ต่อสู้ต้านทานซึ่งกันและกัน จนเอาชัยชนะหรืออย่างน้อยก็สงบกันลงได้เป็นพักๆ หากยังไม่ชนะก็พอมีทางจับเงื่อนนั้นแง่นี้ของกิเลสได้ พอทรงตัวอยู่ได้ด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรของตน
ระหว่างใจกับอารมณ์สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่เรื่อยๆ ถ้ามีสติก็รู้เรื่องกันไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีสติ ใจก็เป็นเขียงเช็ดเท้าให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายเอา ซึ่งไม่สมควรแก่ผู้ปฏิบัติอย่างยิ่ง ฉะนั้นการต่อสู้กับกิเลสประเภทต่างๆ ต้องเอาจริงเอาจังตลอดไป เช่นเดียวกับนักมวยชกต่อยกันบนเวที ซึ่งต่างฝ่ายต่างฟัดกันจนสุดเหวี่ยง อ่อนข้อย่อหย่อนไม่ได้ ต้องแพ้หรือถูกน็อกไม่สงสัย
เราเป็นนักต่อสู้เพื่อกู้วิวัฏฏะ จึงขอให้เคารพพระพุทธเจ้า เชื่อฟังพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อย่างถึงใจ เช่นเดียวกับนักมวยเชื่อครู อย่าเชื่อสิ่งใดยิ่งกว่าพุทธ ธรรม สงฆ์ เพราะในขณะเดียวกันนั้นมันมีสิ่งซึมซาบอยู่ภายในใจและแทรกซ้อนกันอยู่กับธรรม ส่วนมากพวกนั้นมักมีกำลังมากกว่าเสมอที่คอยทำลายให้เอนให้เอียง ดีไม่ดีล้มเหลวโดยไม่รู้สึกว่าได้เอนเอียงหรือล้มเหลวไป ทั้งๆ ที่อีแร้งอีกาบินตอมเพื่อ กุสลา มาติกา อยู่รอบตัวแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีสติ ถ้ามีสติบ้างหรือมีสติสัมปชัญญะติดตัว ก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันไป
จงยึดความลำบากของพระพุทธเจ้านำมาเป็นสักขีพยานแก่ตนเอง การประพฤติปฏิบัติธรรมของพระองค์รู้สึกว่าหนักมากยิ่งกว่าพวกเราเป็นไหนๆ ดังที่เคยอธิบายให้ฟังหลายครั้งแล้ว เพราะความเป็นสัพพัญญู เป็นสยัมภู ทรงปฏิบัติโดยลำพังพระองค์เอง บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างนั้น ผู้ที่จะบุกเบิกทางเดินให้สัตว์ทั้งหลายไปด้วยความราบรื่นปลอดภัย ในขั้นต้นแห่งการบุกเบิกเพื่อความเป็นศาสดาและนำธรรมมาสอนโลก เป็นความลำบากขนาดไหน เพราะทางไม่เคยเดิน การจะเป็น สยัมภูก็ต้องปฏิบัติโดยลำพังพระองค์เองแบบ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โดยแท้ ไม่หวังพึ่งใคร
สุขทุกข์ลำบากลำบนแค่ไหนก็ต้องทน และทรงบำเพ็ญไม่ลดละท้อถอย ดังที่ทราบกันว่าทุกข์ถึงขั้นสลบไสลจนถึงสามครั้ง ไม่ใช่เพียงครั้งหนึ่งครั้งเดียวเสียด้วย สมมุติว่าให้พวกเราองค์หนึ่งองค์ใดสลบเพราะความเพียรกล้าดังพระองค์ในขณะนี้ จะพอมีองค์ใดกล้ารับไหม ขอตอบแทนได้เลยว่า จ้างๆๆ ก็ไม่มีใครกล้ารับ แต่จะได้ยินเสียงไม่เป็นท่าดังขึ้นทันทีว่า ยอมแล้วๆ หมอบราบแล้วๆ ถ้าจะให้สลบแบบพระพุทธเจ้าละก็ จะขอวิงวอนให้กิเลสทั้งมวลนับแต่ปู่ย่าตายายลงไปถึงเหลนตัวเล็กๆ แดงๆ ของกิเลสมา กุสลา มาติกา เอาไปเป็นทาสเช็ดมูตรเช็ดคูถให้มันยังจะเบากว่าการสลบเป็นไหนๆ ต๊าย ตาย ไม่เอาๆ ถอยพวกเราถอย วิ่งพวกเราวิ่ง ถ้าลงเป็นแบบนี้ นี่คือเสียงอุทานของพวกเราจะโผล่ขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมเวลานี้
เมื่อเป็นเช่นนี้จะพอเห็นคุณค่าแห่งความเพียรของพระองค์บ้างไหม ลองคิดดู ตรองดู เทียบเคียงดูขณะนี้ บางทีอาจเป็นประโยชน์มีใจฮึกหาญขึ้นมาบ้าง พระพุทธเจ้าถ้าไม่ได้ทุ่มเทพระอาการทุกส่วนลงถึงขนาดที่ว่า เอา ตายก็ตาย สลบก็สลบ เมื่อไม่ฟื้นจะตายก็ตายไป เมื่อไม่ตายให้ได้ชัยชนะเป็นศาสดาโดยถ่ายเดียว ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ถ้าพระทัยไม่มีความเข้มแข็งถึงขนาดนั้น ก็ต่อสู้กิเลสไม่ได้และเป็นศาสดาของโลกไม่ได้ พวกเราพึงนำมาเทียบกับตัวเองเพื่อถือเอาประโยชน์ แม้ไม่ได้แบบท่านทุกกระเบียดก็พอจะมีหลักยึด สมคำที่เปล่งระลึกถึงท่านว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ บ้าง
ความทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากการยอมจำนนกิเลสนั้น เราต่างก็เคยแบกหามมานานแสนนานจนถึงปัจจุบันนี้ และยังจะแบกจะหามภพชาติซึ่งเป็นกองทุกข์ตลอดไปนั้น เรายังจะมีความสามารถ มีความพอใจแบกหามไปโดยไม่เข็ดหลาบอยู่เหรอ การประกอบความเพียรเพื่อรื้อถอนสิ่งเป็นเชื้อให้ก่อภพก่อชาติ อันกลมกลืนไปกับกองทุกข์ให้เราแบกหามนั้น ทำไมเราจะไม่มีความสามารถ ทำไมจะไม่มีกำลังต่อสู้ ทำไมจะไม่มีความอุตส่าห์พยายาม ทำไมจะไม่อดไม่ทนได้
การอุตส่าห์พยายามจนสุดกำลัง แม้จะตายในชาตินี้ก็เป็นเพียงชาติเดียว ไม่ต้องตายซ้ำๆ ซากๆ หลายครั้งหลายหนจนหาประมาณไม่ได้เหมือนกิเลสพาให้ตาย ทำไมเราจะแย่งชิงความอุตส่าห์เสือกคลานตามกิเลส มาเป็นความอุตส่าห์พยายามทางความหลุดพ้นไม่ได้ ถ้าเราจะเป็นลูกท่านผู้เป็นนักรบอย่างจริงใจน่ะ การตายด้วยความเพียรมีความสุข มีดีกรี มีศักดิ์ศรีเหนือกิเลสอยู่มาก เราจึงควรตายด้วยความพากเพียร เชื่อพระพุทธเจ้าเชื่อให้ถึงใจ พระองค์ทรงดำเนินอย่างใดจงเชื่อให้ถึงใจ จะเป็นกำลังใจ กำลังความเพียรทุกด้าน ต่อต้านกิเลสให้บรรลัยจากใจไม่เนิ่นนาน
เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตปรากฏในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจนแล้วว่า เป็นเพศของพระ ซึ่งเป็นเพศที่มีความอุตส่าห์พยายามมาก พระของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น เป็นเพศที่มีความอดความทนต่อสิ่งต่างๆ ไม่ว่าภายนอกภายใน ตลอดถึงโลกธรรมทั้งภายในภายนอกซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล ไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว เราเป็นพระปฏิบัติ ต้องอดต้องทนต้องมีความขยันหมั่นเพียร ต่อสู้เพื่อความเป็นสิริมงคลเพื่อความพ้นโลก หนักก็ต้องสู้ต้องทนเพราะทางเดินอยู่ตรงนี้ ไม่มีทางอื่นเป็นที่เดิน
หากมีทางอื่นเป็นที่ราบรื่นดีงามสะดวกสบายพอเลือกได้ และถึงได้อย่างรวดเร็วทันใจแล้ว พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ซึ่งเป็นจอมปราชญ์และทรงมีพระเมตตาต่อสัตว์โลกอย่างเต็มพระทัยอยู่แล้ว ทำไมจะไม่ประทานทางสายนั้นให้โลกทั้งหลายได้ดำเนินกัน ทั้งนี้ก็เพราะมันไม่มี พระพุทธเจ้าเองจึงต้องทรงลำบาก การประกาศพระศาสนาก็ประกาศตามร่องรอยที่ทรงรู้ทรงเห็น อันเป็นแนวทางที่ถูกต้องดีงามนั้นแลแก่สัตว์โลก เมื่อพวกเราไม่มีปัญญาจะเลือกเองได้ ยากลำบากก็ต้องดำเนินไปตามทางสายที่ประทานให้นี้ เพราะไม่มีทางอื่นเป็นที่พอหลบหลีกปลีกไปได้ ซึ่งเมื่อปลีกออกไปก็เต็มไปด้วยขวากด้วยหนาม ใครจะมีความกล้าหาญต่อขวากต่อหนาม คือกิเลสอยู่อีก เพราะเวลานี้กำลังจะพากันปฏิบัติเพื่อหนีให้พ้นจากกิเลสอยู่แล้ว ยังจะโดดจากทางที่ถูกต้องดีงามออกไปให้มันทำเป็นอาหารว่างอีกหรือ
ทางที่เป็นไปเพื่อความปลอดภัยก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา กิเลสมันดุดันขนาดไหน มันดื้อด้านขนาดไหน จงผลิตมัชฌิมาปฏิปทา คือสมาธิ คือสติปัญญาขึ้นให้เต็มภูมิ ให้ทันกัน ฟิตให้เหมาะกับความเป็นมัชฌิมาที่จะแก้กิเลสปราบกิเลสได้ กิเลสประเภทดื้อด้านก็มีมัชฌิมาประเภทกล้าแข็งรุนแรงต่อสู้กัน ไม่มีคำว่าถอย มัชฌิมาผลิตขึ้นมาให้พอเหมาะพอสมกัน เช่นเดียวกับเขานำไม้เสามาปลูกบ้านปลูกเรือน ไม้ที่ยังหยาบอยู่ ควรจะตัดจะฟันจะถากให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มกำลังวังชา ก็ต้องถากต้องฟันให้เต็มฝีมือ เต็มกำลัง เหมือนจะฟันทิ้งผ่าทิ้งหมดทั้งต้นนั้น แต่ความจริงเขาถากในส่วนที่หยาบที่คดที่งอออกให้หมด เหลือไว้แต่ส่วนที่ดีที่เป็นประโยชน์ เพื่อมาทำเป็นบ้านเป็นเรือนต่างหาก เขามิได้ฟันทิ้งถากทิ้ง
เครื่องมือก็มีหลายประเภทในการสร้างบ้านสร้างเรือน อย่างหยาบก็มี อย่างกลางก็มี อย่างละเอียดก็มี จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ตามต้องการ เครื่องมือที่จะสร้างจิตใจหรือเครื่องมือปราบกิเลสก็เหมือนกัน คำว่ามัชฌิมาก็หมายถึง เครื่องมือปราบกิเลสประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ภายในจิตใจนั่นเอง กิเลสหนาขนาดไหน ดื้อด้านขนาดไหน ต้องนำหลักมัชฌิมาปราบให้ถึงกัน คือเครื่องมือให้ถึงกันเข้าปราบปราม จึงจะเป็นความเหมาะสมกับการแก้กิเลสประเภทนั้นๆ
หากกิเลสหนา แต่เราจะทำแบบลูบๆ คลำๆ ก็เข้ากันไม่ได้ เช่นเดียวกับไม้ทั้งต้นที่จะนำมาเป็นต้นเสานั่นแล ซึ่งยังไม่ถากไม่ฟันอะไรเลย แต่เอากบไปไสไม้ทั้งต้น มันจะเป็นบ้านเป็นเรือนได้อย่างไร ต้องเอาขวานถากฟันเข้าไป เมื่อถึงขั้นที่จะไสกบก็เอากบมาไส หลังจากได้ถากอย่างเกลี้ยงเกลา ดัดที่คดที่งอให้ตรงหมดแล้ว ย่อมควรแก่การยกขึ้นเป็นเสาบ้านเสาเรือนได้
เรื่องของกิเลสก็เหมือนกัน อย่างหยาบเวลานี้มันเต็มอยู่ในหัวใจของพวกเรา เราจะทำแบบลูบๆ คลำๆ มันไม่ทันกัน นี้ไม่จัดเป็นมัชฌิมา เพราะมีกำลังอ่อนกว่ากิเลส กำลังไม่เพียงพอกับกิเลสก็นำมาแก้กิเลสไม่ได้ กิเลสหยาบสติปัญญาก็ต้องเอาให้หนักให้ทันกัน กิเลสละเอียดเข้าไป สติปัญญาก็ละเอียดตามกันไป จนกระทั่งกิเลสหาที่หลบซ่อนไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งปัญญาฉลาดแหลมคม ตามต้อนฟาดฟันกันจนแหลกแตกกระจายไปหมด นี่แลหลักมัชฌิมาเป็นอย่างนี้
เราอย่าเข้าใจว่าปฏิบัติไปเสมอๆ อยู่ธรรมดาๆ เป็นมัชฌิมาของธรรม นั่นมันมัชฌิมาของกิเลสต่างหาก ไม่ใช้มัชฌิมาของธรรม ควรหนักก็ต้องหนัก มัชฌิมาแปลว่า ความเหมาะสมหรือท่ามกลาง ท่ามกลางก็คือความเหมาะสมความพอดีนั่นเอง จะพอดีกับกิเลสประเภทใดๆ ก็ผลิตขึ้นมาบรรดาสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความเพียรก็ให้กล้าแข็ง แข็งจนแกร่งเป็นหินเป็นเหล็กไปเลย สติปัญญาก็ตั้งไม่หยุดไม่ถอย พินิจพิจารณาไม่ละไม่วางเพราะสติปัญญาอยู่กับตัวของเราเอง นี่เรียกว่ามัชฌิมา คือเหมาะสมกับการแก้กิเลสแต่ละประเภทๆ และแต่ละกาลแต่ละสมัยที่กิเลสปรากฏตัวขึ้นมา และต่อสู้กันไม่ลดละปล่อยวาง
จิตที่ยังไม่สงบก็พยายามทำให้สงบ มีสติคอยรักษาหรือควบคุมงานแห่งการภาวนาของตน เราเคยส่งเคยคิดกับเรื่องอารมณ์ต่างๆ มาตั้งแต่วันเกิดแล้วจนบัดนี้ ยังเสียดายความคิดอะไรอีก ความคิดเหล่านั้นถ้าจะเป็นเหตุเป็นผล เป็นมงคล เป็นประโยชน์ ดังที่ชอบคิดชอบปรุงกัน มันก็ควรจะเป็นผลเป็นประโยชน์ล้นโลกจนไม่มีที่เก็บนั่นแล แต่ส่วนมากมีแต่ความทุกข์เต็มหัวใจ ล้นหัวใจ เรายังเสียดายความคิดเหล่านั้นอยู่ ก็เท่ากับเรายังเสียดายหัวหนามที่ปักหรือทิ่มแทงอยู่ในฝ่าเท้า ไม่สนใจที่จะถอดถอนมันออกเลยนั่นเอง เวลานี้เราจะถอนหัวหนามออกจากฝ่าเท้า คือถอนกิเลสออกจากใจ จึงไม่ควรเสียดายอารมณ์อะไรในขณะที่ทำความพากเพียร
เราเคยคิดมามากแล้วเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เครื่องสัมผัส ที่มีอยู่ทั่วโลกดินแดน มันเป็นเรื่องของใจเราไปเที่ยววาดภาพสิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นเรื่องราว และหลงมโนภาพของตน หลงอารมณ์ของตน ครุ่นคิดในอารมณ์ของตน ยุ่งในอารมณ์ของตน จนหาที่ไปที่มาไม่ได้ เหมือนตามรอยวัวในคอกต่างหาก ไม่ใช่ของจริงอะไรเลย เราเสียดายอะไรมันนักหนา จนหาเวลาและความพยายามพรากจากกันไม่ได้
อารมณ์แห่งธรรมซึ่งจะทำให้เรามีความสงบเย็นใจ ด้วยการบังคับจิตลงสู่อารมณ์แห่งธรรม เช่น กำหนดอานาปานสติ ก็ให้รู้ลมทุกระยะของลม ทำไมจึงฝืดเคืองดิ้นรนกวัดแกว่งเอานักเอาหนา ราวกับจูงหมาใส่ฝนไม่ผิดเลยเช่นนั้น อย่าเสียดายความคิด อย่าให้ความคิดใดเข้ามาแทรกในขณะที่ทำงานนั้น ความคิดคือสังขารมันคอยจะแทรกอยู่เสมอ สังขารเป็นตัวมารสำคัญ สัญญาเจ้าสหายกันก็ยื่นตัวออกไปอย่างละเอียด ตามรู้ได้ยาก จิตธรรมดานี้ตามรู้ได้ยาก ถ้าจิตที่ละเอียดแล้วก็รู้กันได้เร็ว
การพิจารณาร่างกาย จะเป็นร่างกายข้างนอกข้างในก็เอาให้จริงให้จัง อย่าสักแต่พิจารณาผ่านไปเฉยๆ ว่าได้เท่านั้นครั้งเท่านี้ครั้ง เท่านั้นรอบเท่านี้รอบ นั้นนับเอาก็ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่ความรู้แจ้งเห็นจริงเพราะการพิจารณาด้วยความเจาะจง ด้วยความมีสติปัญญาเป็นผู้ทำงานด้วยเจตนาจริงๆ จนปรากฏความจริงขึ้นมาอย่างชัดเจน เนื่องจากการพิจารณาหลายครั้งหน เมื่อชัดในสิ่งใดสิ่งนั้นก็หายสงสัย ให้เอาจริงเอาจัง
การเชื่อพระพุทธเจ้าเชื่ออย่างนี้และทำอย่างนี้ ไม่เหลาะแหละ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญอย่างไร จงเชื่อธรรมท่านและปฏิบัติดำเนินอย่างท่าน จงรักธรรม รักตน และเสียดายตน เสียดายธรรม มากกว่าเสียดายอารมณ์ทั้งหลายที่เคยเกี่ยวข้องกันมานาน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรนอกจากโทษโดยถ่ายเดียว พระสงฆ์สาวกท่านดำเนินอย่างไร เป็นคติตัวอย่างแก่พวกเราได้อย่างดีเยี่ยม บรรดาสาวกอรหันต์ที่เราเปล่งวาจาถึงท่าน ระลึกนึกน้อมถึงท่านทางด้านจิตใจว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ อย่าเพียงระลึกถึงท่านว่าเป็นสรณะเพียงเท่านั้น ให้ระลึกถึงปฏิปทาที่ท่านพาดำเนินมา เพื่อเป็นคติตัวอย่าง และเป็นกำลังใจของเราได้ก้าวเดินตามท่าน อย่างองอาจกล้าหาญไม่สะทกสะท้านต่ออุปสรรคใดๆ ด้วย แม้ไม่ได้แบบท่านทุกกระเบียดก็ยังดี อยู่ในเกณฑ์ของลูกศิษย์ที่มีครูสั่งสอน
กิเลสเป็นสิ่งที่ละเอียดแหลมคม และเป็นสิ่งที่กล่อมจิตใจของโลกได้อย่างสนิทติดจม ทำให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลใฝ่ฝันไปตามมันไม่มีเวลาอิ่มพอ การเห็นโทษย่อมเห็นโทษของมันได้ยาก ถ้าไม่นำสติปัญญาเข้าไปจับ เข้าไปเทียบเคียง เข้าไปพิสูจน์พิจารณา จะไม่มีโอกาสรู้เห็นว่ากิเลสนี้เป็นโทษต่อจิตใจของสัตว์โลกเลย เพราะฉะนั้นสัตว์โลกจึงต้องมีความพอใจในความโลภ ในความโกรธ ในความหลง ความรักความชัง อาการต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส จิตใจของคนและสัตว์มีกิเลสชอบกันทั้งนั้น แต่เรื่องของธรรมซึ่งจะเป็นเครื่องแก้กิเลสไม่ค่อยชอบกัน เพราะถูกกีดกันจากกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อธรรมไม่ให้ชอบธรรม ไม่ให้นำธรรมมาตำหนิมัน ไม่ให้นำธรรมมาแก้มัน มาปราบมัน
ผู้จะพอรู้โทษของกิเลส ต้องเป็นผู้ได้สัมผัสธรรม รู้รสของธรรม รู้คุณค่าของธรรมภายในใจมากน้อยทางด้านปฏิบัติ นำมาเทียบกับกิเลสในแง่ดีชั่วสุขทุกข์ต่าง ๆ และทราบโทษทราบคุณจากระหว่างกิเลสกับธรรมโดยลำดับ การศึกษาธรรมการปฏิบัติบำเพ็ญธรรมย่อมค่อยเป็นไปเอง นับแต่ขั้นล้มลุกคลุกคลาน จนถึงขั้นอาจหาญเกรียงไกร และขั้นหมดอาลัยในกิเลสโลกามิสทั้งมวล อนาลโย เสียได้
ส่วนกิเลสจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจมันก็เป็นกิเลสอยู่เรื่อยไป เพราะในจิตทั้งดวงมันเป็นกิเลสทั้งสิ้นอยู่แล้ว มันจึงมีอำนาจมาก มีกำลังมาก เนื่องจากเคยเสี้ยมสอน และบังคับบัญชาจิตใจของโลกมาเป็นเวลานานแสนนานแล้ว ชนิดที่ว่าโลกกับมันเป็นอันเดียวกัน เรากับกิเลสก็เป็นอันเดียวกัน ไม่ทราบอะไรเป็นกิเลสอะไรเป็นเรา มันกล่อมได้ถึงขนาดนั้น เป็นอวัยวะอันเดียวกันไปหมด (ส่วนจุดหมายอันสำคัญที่เรามุ่งมั่นอยู่เวลานี้คือ เรากับธรรม ธรรมกับเราเป็นอันเดียวกัน)
ปกติของสามัญชนจะหาทางรู้โทษของกิเลสไม่ได้ โลภก็พอใจโลภเพราะกิเลส พาให้พอใจ ไม่เห็นว่าความโลภนั้นเป็นภัย ไม่เห็นว่าความโลภนั้นเป็นความผิด โลภผู้อื่นโลภได้ แต่เขาโลภเราไม่ชอบ โกรธเขาโกรธได้ดุด่าเขาด่าได้ แต่เขาด่าเราไม่ได้ นี่เรื่องของกิเลสมันให้เป็นอย่างนั้น ทำให้เข้าใจว่าเจ้าของถูกต้องอยู่เสมอทุกกรณี ที่จะระลึกโทษว่าตัวผิดนี้มีน้อยมาก หรือไม่มี ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสล้วนๆ หากไม่มีธรรมเข้าไปแทรกบ้างจะไม่เห็นว่าตนผิดเลย
คำว่ากิเลสจึงไม่เห็นแก่ใคร ไม่มีใครแซงในความเห็นแก่ตัวและความถือตัว ใหญ่เหนืออะไรๆ โลภก็มาก โกรธก็ง่าย การเอารัดเอาเปรียบก็เก่ง ความอาฆาตมาดร้ายก็เร็วและฝังลึกไม่ยอมถอน ความเห็นแก่ตัวกับความตระหนี่ถี่เหนียวใครแตะไม่ได้ สองอย่างนี้เป็นเพื่อนสนิทติดกันจนแกะไม่ออก เสียไปน้อยแต่จะเอาให้ได้มากๆ ไม่ยอมเสียเปรียบใคร นี่แหละโลกจึงแก้ไม่ตก อยู่ด้วยกันจำนวนมากน้อยจึงมักเอารัดเอาเปรียบกัน เบียดเบียนกัน ทำลายกัน กดขี่ข่มเหงกัน ให้ได้รับความกระทบกระเทือนซึ่งกันและกันอยู่เสมอ หาความสงบไม่ได้ ก็เพราะอำนาจของกิเลสมันครอบงำหัวใจนั่นแล จะเป็นอะไรที่ไหนกัน
หากมีธรรมะเป็นเครื่องทดสอบพินิจพิจารณาบ้าง คนเราย่อมอยู่ด้วยกันได้ เพราะยอมรับความจริงซึ่งกันและกัน เราเองก็ยอมรับความจริงของเรา ตรงไหนผิดก็ยอมรับว่าผิดและพยายามแก้ไข คนอื่นผิดก็ยอมรับตามความจริง โลกย่อมอยู่ด้วยกันได้เป็นผาสุก มีธรรมเท่านั้นเป็นคู่แข่งกิเลส เป็นเครื่องแก้กิเลสตัวเสนียดจัญไรต่อโลก หากไม่มีธรรมเลย เราจะไม่เห็นว่ากิเลสนี้เป็นโทษเป็นคุณอะไรต่ออะไรกับตัวของเรา และโลกทั่วๆ ไป จะเห็นเป็นความถูกต้องตามใจชอบไปเสียสิ้น ทั้งๆ ที่มันเป็นโทษ เมื่อนำธรรมะเข้ามาทดสอบเทียบเคียงแล้ว ย่อมทราบที่ได้ที่เสียที่ดีที่ชั่ว ที่ควรละควรส่งเสริม เพราะโลกมีของสองสิ่งคือดีกับชั่วเป็นคู่กัน
เมื่อมีสองสิ่งย่อมเป็นคู่แข่งกัน เช่น คนดีกับคนชั่ว ย่อมเป็นคู่แข่งกันอยู่ในตัว อันเดียวไม่ทราบจะแข่งกับอะไร นี้มันมีแต่กิเลสอย่างเดียวภายในหัวใจ หาคู่แข่งไม่ได้ จึงไม่ทราบว่ากิเลสเป็นความผิด เป็นความไม่ดี ให้โทษแก่ตนอย่างไรบ้าง แม้ทุกข์ขนาดไหนก็ยอมรับ กิเลสพาให้คิดให้ปรุงให้พูดจาให้ทำประการใด ซึ่งส่วนมากเป็นความผิด ก็ต้องทำไปตามอำนาจป่าเถื่อนนั้น เพราะไม่มีอะไรภายในใจมาคัดค้าน เนื่องจากมีอย่างเดียวคือกิเลสเป็นผู้บงการ
เมื่อนำธรรมเข้าไปวินิจฉัย หรือได้ยินได้ฟังอรรถธรรม และอ่านเรื่องอรรถเรื่องธรรมเข้าไป ก็มีความรู้แปลกๆ แฝงขึ้นมา และมีข้อเทียบเคียงฝ่ายผิดฝ่ายถูก จากนั้นก็มีแก่ใจ และพยายามแยกแยะกันออกได้ โดยเห็นว่าธรรมเป็นอย่างนี้กิเลสเป็นอย่างนั้น ความโลภเป็นอย่างนั้นความไม่โลภเป็นอย่างนี้ ความโกรธเป็นอย่างนั้น ความไม่โกรธเป็นอย่างนี้ ความหลงเป็นอย่างนั้น ความไม่หลงเป็นอย่างนี้ ความฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิมเป็นอย่างนั้น ความมีใจสงบเย็นเป็นอย่างนี้ ค่อยเข้าใจไปโดยลำดับ
ทีนี้ก็หาอุบายวิธีแยกแยะและนำออกเป็นสัดเป็นส่วน เป็นดี เป็นชั่ว แยกออกคนละทิศละทางจากตัวเราเอง ตัวเราก็มีที่หลบซ่อนผ่อนคลาย หายจากทุกข์ไปเรื่อยๆ เบื้องต้นต้องอาศัยกำลังวังชาบังคับบัญชาถูไถกันไป เพราะยังไม่เคยเห็นผลของงาน เช่นเดียวกับเด็กทำงานนั่นแหละ ผู้ใหญ่ต้องคอยบังคับบัญชา พอลับตาผู้ใหญ่ เด็กก็เถลไถล เราก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่เห็นผลของธรรมเกิดขึ้นที่ใจบ้างเลยก็ขี้เกียจ ต้องอาศัยความบังคับบัญชาตัวเอง สติเป็นของสำคัญ เมื่อใจได้รับความสงบเย็นลงไป นี่เป็นเครื่องวัด เป็นผลของงาน เป็นพยานประจักษ์ขึ้นมา
พอใจได้รับความสงบเพราะองค์แห่งภาวนา จะเป็นภาวนาบทใดก็ตาม เมื่อใจสงบแล้วมันเย็น เย็นซาบซึ้งละเอียดอ่อน ในขณะเดียวกันก็เห็นโทษแห่งความวุ่นวาย อ๋อ ที่ใจหาความสงบสุขไม่ได้นี้ เพราะความวุ่นวายเข้ายุ่งกวนจิตใจอยู่เสมอนั่นเอง จนหาเวลาพักผ่อนหย่อนจิตไม่ได้เลย จิตหาความสงบไม่ได้ บัดนี้จิตได้รับความสงบเย็นเพราะอำนาจแห่งธรรม ธรรมกับกิเลสก็เริ่มเป็นคู่แข่งกันขึ้นมาในคนๆ นั้น เมื่อใจได้รับความสงบก็ทราบว่าสงบเพราะอะไร สงบเพราะสมาธิธรรม ภาวนาธรรม ก็ย่อมมีทางที่จะต่อสู้กับกิเลสเรื่อยๆ ไป ไม่ลดละท้อถอยด้อยสติปัญญาเหมือนแต่ก่อน
จิตเมื่อได้รับการอบรมอยู่เสมอ ไม่ละความพยายาม จะต้องมีความเจริญขึ้นเรื่อยๆ เจริญขึ้นวันละเล็กละน้อย เช่นเดียวกับความเติบโตของเด็กที่ได้รับการบำรุงรักษาจากผู้เลี้ยงดู จิตใจก็ได้รับการบำรุงจากการเลี้ยงดูการรักษาของเรา การบำรุงด้วยอรรถด้วยธรรม ด้วยการเจริญภาวนา ด้วยการระวังรักษาไม่ให้เคลื่อนคลาดไปสู่ทางหายนะให้เกิดความเดือดร้อน และรักษาอยู่โดยสม่ำเสมอโดยความมีสติ จิตก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จนเราไม่ทราบเลยว่าเบื้องต้นจิตเป็นอย่างนั้น และจิตเจริญขึ้นมาเป็นอย่างนี้ได้ตั้งแต่เมื่อไร
ส่วนที่จะทราบชัดเป็นขณะๆ นั้นได้แก่ จิตตภาวนา เวลาจิตมีความสงบ ในขณะนั้นย่อมทราบได้ชัดว่าขณะนี้จิตสงบ เมื่อสงบหลายครั้งหลายหน จิตใจก็ค่อยเตียนโล่งเข้าไปๆ ตอนนี้สังเกตได้ยากเพราะเกลี้ยงเกลาลงไปเรื่อยๆ มีรากฐานมั่นคงลงไปเรื่อยๆ อาศัยการอบรมอยู่โดยสม่ำเสมอ จิตที่สงบแล้วสงบเล่าหลายครั้งหลายหนนั้น นอกจากจิตจะมีความสะอาดผ่องใสละเอียดเข้าไปแล้ว ยังเป็นการสร้างฐานขึ้นภายในจิตเองให้มีความแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้นอีกด้วย
พอใจมีความสงบบ้าง เอาละทีนี้พิจารณาทางด้านปัญญา ค้นดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์นี่ การค้นแร่แปรธาตุให้ค้นให้แปรที่ตรงนี้ ธาตุก็คือ ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีแต่ธาตุล้วนๆ อยู่ภายในร่างกายนี้ หาเป็นเราที่ตรงไหนมี ถ้าว่าดินก็มีแต่ดินล้วนๆ น้ำก็มีแต่น้ำ ลมก็มีแต่ลม ไฟก็มีแต่ไฟ เราไปเสกสรรปั้นยอเอาสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่ละอายธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ บ้างเหรอ ถ้าเขามีวิญญาณเขาพูดได้ เขาจะหัวเราะเราและด่าเราจนน่าอับอายนั่นแล ว่า ไอ้พวกกรรมฐานโง่ โง่ต่อหน้าต่อตาพวกข้าอย่างไม่อายเลยนี่ ก็พวกข้าคือกองธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทำไมไปกล้าหาญไม่เข้าอรรถเข้าธรรม เหมาเสกสรรว่าพวกข้าเป็นเราเป็นของเรา เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชายยุ่งไปหมด ก็พวกข้ามิใช่พวกยุ่งเหมือนพวกแกโง่ๆ นี่นา มาเสกสรรปั้นแต่งไปหาพระแสงอะไร ก็ดูตามความจริง รู้ตามความจริงกลัวเขาจะไม่ว่า บ้าเสกสรร หรือยุ่งจริงกรรมฐานพวกนี้ ไม่เหมือนกรรมฐานของพระพุทธเจ้าซึ่งท่านเหล่านั้นพิจารณาตามความจริง รู้ตามความจริง ไม่เที่ยวเสกสรรแบบปลอมเหมือนกรรมฐานพวกนี้ แต่นี้เขาเป็นดิน เขาเป็นน้ำ เขาเป็นลม เขาเป็นไฟ เราจะถือหรือไม่ถือ เขาก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่เช่นนั้น เขาไม่ด่า เราจึงพอมีหน้าเหลืออยู่
ความถือเป็นความหนักหน่วงของใจเรา ความทุกข์ความลำบากเพราะอุปาทาน ก็เป็นภาระหนักของเรา เพราะฉะนั้นต้องแก้ด้วยสติปัญญา พิจารณาลงให้ชัดในร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งเห็นจริงด้วยกายคตาอันนี้ สาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน สติปัฏฐานสี่เป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ อริยสัจสี่เป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ ฟังให้ดีให้ถึงใจ ความพ้นทุกข์จริงๆ อยู่นอกอริยสัจ ความพ้นทุกข์จริงๆ อยู่นอกสติปัฏฐานอีกทีหนึ่ง ทั้งสองนี้เป็นทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ ผู้พ้นทุกข์คือจิต จิตที่บริสุทธิ์แล้วเป็นผู้พ้นทุกข์ มิใช่สติปัฏฐานสี่และอริยสัจสี่เป็นผู้บริสุทธิ์และเป็นผู้พ้นทุกข์ นั่นเป็นทางเดินอันชอบธรรมของจิตต่างหาก
นี่เราได้พิจารณาเห็นชัด หายสงสัย กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากาย กายใน กายนอก ท่านอธิบายไว้ในสติปัฏฐานสี่ แต่เรื่องอุบายวิธีของเราที่จะพิจารณา กายคตาสติ นั้นหาที่สิ้นสุดไม่ได้ แล้วแต่จะถนัดอย่างใด จะพิจารณาให้เป็นอสุภะอสุภัง เป็นป่าช้าผีดิบหมดทั้งตัวนี้ก็เป็นได้ เพราะกายนี้เป็นป่าช้าผีดิบอยู่แล้ว พิจารณาทางภาคอสุภะก็เป็นอย่างนี้ จะพิจารณาทางธาตุทางขันธ์ มันก็เป็นธาตุอยู่แล้วตามธรรมชาติของมัน เป็นความจริงของตัวเองแต่ละอย่างๆ มันปลอมอยู่ที่ใจดวงเดียว ที่ไปเสกสรรปั้นยอเขาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใจอยู่ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นจึงได้รับแต่ทุกข์แบกแต่ทุกข์อยู่ร่ำไป เพราะความอยู่ไม่เป็นสุขของจิตเอง ถ้าอยู่เป็นสุขมันก็ไม่มีทุกข์ เดี๋ยวเอื้อมไปโน้นเดี๋ยวคิดไปนี้ ปรุงสิ่งนั้นสำคัญมั่นหมายสิ่งนี้อยู่อย่างนั้น ผลจึงเป็นไฟขึ้นมาเผาตน
จึงต้องอาศัยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร พินิจพิจารณาแยกแยะเรื่องสัญญาอารมณ์ออกเป็นชิ้นเป็นอัน พิจารณาธาตุขันธ์ให้เห็นชัดเจนตามเรื่องของธาตุของขันธ์ เอ้า จะพิจารณาให้แตกกระจายลงไปก็แตก พิจารณาจนชำนิชำนาญ แม้เราไม่พิจารณาว่าธาตุ มันก็เป็นธาตุอยู่ตามหลักธรรมชาติของมันเอง พิจารณาว่าขันธ์ ขันธ์ก็แปลว่าหมวด แปลว่ากอง กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ก็อยู่ในกายในใจนี้ คำว่าขันธ์ ขันธ แปลว่า กอง แปลว่าหมวด กองตั้งแต่พื้นเท้าถึงบนศีรษะ มันกองสูงขนาดไหนกองขันธ์น่ะ
กองรูปก็คือรูปกายนี้ กองเวทนาก็มีตั้งแต่พื้นเท้าจดบนศีรษะ กองสัญญาก็จำได้หมดตรงไหนๆ ก็จำได้ กองสังขารก็ปรุงแต่งได้ทั้งภายในภายนอก กองวิญญาณก็คือ ความรับทราบจากอายตนะภายนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เข้ามาสัมผัสเข้ามาถูกต้องกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นอารมณ์ขึ้นมา ขณะที่รับทราบว่า นั้นเป็นรูป นี้เป็นเสียงเป็นต้น นั่นเรียกว่าวิญญาณ พอผ่านไปแล้วความรับทราบนี้ก็ดับไปพร้อมๆ กับสิ่งที่สัมผัสผ่านไป แต่อารมณ์ที่นำมายึดไว้ภายในใจนี้ เป็นธรรมารมณ์ไม่ยอมผ่านไปด้วย โดยอาศัยอารมณ์อดีตที่เคยได้รู้ได้เห็น ได้ยินได้ฟังมาแล้วนั้น นำเข้ามาหมักดองอยู่ภายในใจ ครุ่นคิดอยู่ที่นี่ เป็นอารมณ์อยู่ที่นี่ สร้างกิเลสอยู่ที่นี่ เพราะไม่มีสติปัญญาแก้ทัน จงพิจารณาแยกแยะให้เห็นตามความจริงเช่นนี้ พิจารณาอันใดให้เห็นชัด อย่าคาดคะเน อย่าเดา ให้เห็นตามความจริง มันแสดงขึ้นมาอย่างไรให้ดูตามความจริงนั้น นี่ปัญญาขั้นต้น
อุบายวิธีของปัญญานี้ไม่มีสิ้นสุด ขอให้พิจารณาให้ปัญญาก้าวออกเถอะ อยู่เฉยๆ จะให้ปัญญาก้าวออกเองมันเป็นไปไม่ได้ เราก็เคยเชื่ออย่างฝังใจมาแล้วว่า ท่านว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส. สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ. จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ แน่ะ ฟังดูซิ
นี่เราก็มีศีลเป็นที่อบอุ่นอยู่แล้ว สมาธิก็เร่งเข้าไป ศีลเป็นศีล สมาธิเป็นสมาธิ อย่าเข้าใจว่าศีลจะหนุนให้เป็นสมาธิขึ้นมาเอง สมาธิจะหนุนให้เป็นปัญญาไปโดยลำดับเอง โดยไม่ต้องพิจารณาทางปัญญา อย่างนี้ขัดต่อความจริงซึ่งต้องพิจารณาทางปัญญา จึงจะเป็นปัญญาขึ้นมาได้ แม้สมาธิก็ต้องทำให้เป็นสมาธิ
เพียงมีศีลแล้วสมาธิจะเกิดเอง มีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดเองดังนี้ แม้จนวันตายก็ไม่เกิด อย่าพากันนั่งคอยนอนคอยแบบลมๆ แล้งๆ ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาต้องทำให้เกิดทั้งสิ้นจึงจะเกิดมี ถ้าไม่นำไปใช้ก็ไม่เกิดผลอะไร เช่น มีด ขวาน หรือเครื่องมือต่างๆ ที่นำมาใช้งาน ถ้าไม่เอามาใช้งาน มีดก็เป็นมีด ขวานก็เป็นขวาน สิ่วก็เป็นสิ่ว กบก็เป็นกบ เลื่อยเป็นเลื่อยอยู่อย่างนั้น ไม่สำเร็จเป็นงานชิ้นนั้นๆ ขึ้นมาได้โดยลำพังเลย นี่สมาธิก็อยู่อย่างนั้น ถ้ามีศีลแล้วไม่ทำสมาธิให้เกิดด้วยจิตตภาวนา สมาธิก็ไม่เกิด อยากจะให้สมาธิเกิดต้องทำภาวนา เมื่อภาวนาขึ้นเป็นสมาธิแล้ว ถ้าอยากให้ปัญญาเกิดต้องคิดค้นทางด้านปัญญา ปัญญาถึงจะเกิด ไม่ใช่สมาธิจะไปหนุนให้ปัญญาเกิดได้เอง ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่มีใครติดสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วก็หมุนตัวไปเรื่อยๆ เป็นปัญญาเลย ปัญญาก็หมุนตัวไปให้จิตหลุดพ้นเลย แต่นี้ตามความจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น
ความจริงก็คือศีลต้องทำให้เกิด คือรักษาศีล สมาธิต้องทำให้เกิด เมื่อทำสมาธิ พอจิตมีความสงบร่มเย็นบ้าง ไม่หิวโหยในอารมณ์อะไรมากไปเหมือนแต่ก่อนที่ไม่เคยได้สมาธิ แล้วก็นำจิตนั้นออกพิจารณาในแง่ต่างๆ ของธาตุของขันธ์ จิตที่ไม่หิวโหยก็ตั้งหน้าทำงานให้เรา เมื่อทำงานก็เกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความรู้แจ้งในแง่นั้นแง่นี้ขึ้นมาเรื่อยๆ เริ่มเห็นผลไปโดยลำดับ รู้ตรงไหนหายสงสัยตรงนั้น
ปัญญาก็ค่อยเขยิบตัวขึ้นไปๆ ตั้งแต่ปัญญาขั้นหยาบๆ เรื่อยไป จนกระทั่งปัญญาขั้นกลาง แล้วก็กลายเป็นปัญญาขั้นละเอียดไปโดยลำดับๆ และแก้กิเลสที่พัวพันอยู่ภายในจิตไปโดยลำดับเช่นกัน ปัญญาทั้งสามขั้นคือ ปัญญาขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดและขั้นละเอียดสุดสมกับกิเลสที่ละเอียดสุดได้แก่ อวิชชา เมื่อพอเหมาะพอสมกันแล้วเป็นมัชฌิมา มัชฌิมานี้หมุนตัวเข้าไปตรงไหน กิเลสพังทลายลงไปไม่มีอะไรเหลือ นั่นวิธีแก้กิเลสเป็นอย่างนี้ ให้พากันเข้าใจ อย่าเข้าใจว่าสมาธิจะเป็นปัญญา ปัญญาจะแก้กิเลสทั้งหลายไปโดยถ่ายเดียว ต้องนำไปใช้เหมือนเครื่องมือจึงจะเป็นปัญญาขึ้นมาตามลำดับ
มันง่ายถ้ามีสมาธิแล้ว ก็เหมือนกับมีเครื่องทำครัวที่จะนำมาปรุงอาหารชนิดต่างๆ นั่นแล เครื่องทำครัวมีพร้อมแล้ว ถ้าเราไม่ปรุงมันก็เน่าเฟะไปเปล่าๆ มันไม่เกิดเป็นอาหารขึ้นมาได้ สมาธิก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้น ดีไม่ดีเน่าเฟะ คือติดสมาธิก็เน่าเท่านั้นละซิ เมื่อติดแล้วก็จม จมปลักอยู่ตรงนั้นแหละ ไปไม่รอด จึงต้องพิจารณา
นี่เคยเป็นมาแล้ว ติดสมาธิ ผมเคยพูดให้หมู่เพื่อนฟังหลายหน เรื่องสมาธินี่ชำนาญ พูดได้อย่างอาจหาญ เพราะจิตเป็นสมาธิมาถึงห้าหกปีกว่า กำหนดเมื่อไรได้ทั้งนั้น มันเป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลา จิตเป็นเหมือนหิน มีความมั่นคง แต่หินก็หินกิเลส หินสมาธิ ไม่ใช่หินความหลุดพ้น เมื่อเวลาปัญญาได้แยกแยะเข้าไปๆ เห็นคุณค่าของปัญญา ทีนี้ก็ไปใหญ่ ถอดถอนกิเลสไปเรื่อยๆ ที่ไหนๆ ก็ไม่พ้นปัญญา ปัญญาเป็นผู้แก้กิเลส สมาธิเป็นแต่เพียงทำให้กิเลสสงบตัวเข้ามาเพื่อแก้กิเลสได้ง่าย ฟาดฟันกิเลสได้ง่าย เพราะมันไม่ซ่านไปข้างนอก ปัญญาก็สนุกฟาดฟันลงไป
เมื่อกิเลสได้สิ้นสุดลงไปเพราะอำนาจของปัญญาแล้ว นั่นแหละคือคุณค่าแห่งการปฏิบัติธรรม คุณค่าของใจเด่นดวงเต็มที่ไม่มีอะไรเสมอในโลกทั้งสามนี้ จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต ใจเป็นธรรม ธรรมเป็นใจ ธมฺโม ปทีโป ก็หมายถึงความสว่างกระจ่างแจ้งของใจและธรรมซึ่งอยู่ด้วยกัน เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว จะว่าใจก็ได้ จะว่าธรรมก็ได้ ธรรมคือใจ ใจคือธรรม ไม่ขัดไม่ข้อง นั่นแหละธรรมแท้อยู่ที่จิต ธรรมแท้คือจิต จิตแท้คือธรรม เมื่อถึงขั้นนี้แล้วหายสงสัย นี่คุณค่าแห่งการปฏิบัติธรรม
ทุกข์ก็ทุกข์เพื่อได้ของประเสริฐขึ้นมา เราต้องยอมทน ถ้าเราเชื่อตถาคตว่าพระองค์เป็นผู้มีเหตุมีผล ตรัสไว้ชอบแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็ต้องเป็นผู้มีเหตุผล ดำเนินตามหลักตถาคตที่ทรงสั่งสอนไว้ ผลที่พึงได้จะไปไหน จะพ้นจากนี้ไปไม่ได้ เพราะศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าก็คือตลาดแห่งมรรคผลนิพพานอยู่ดีๆ นี้แล้ว ขอให้ผู้นั้นดำเนินกิจการของตนให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเถิด ผลจะพึงปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับลำดาไม่ต้องสงสัย เหมือนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ตรงหน้านี้แล ธรรมแสดงบทใดขึ้นมาก็คือธรรมของพระองค์ พระองค์เป็นผู้แสดงอย่างนี้ๆ ออกมาจากความจริงอย่างนี้ๆ เมื่อรู้เห็นความจริงภายในจิตใจแล้ว ก็เหมือนรู้เห็นความจริงของพระพุทธเจ้า สงสัยไปที่ไหน ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ก็หมายอันนี้เอง
เอาละแสดงเพียงเท่านี้
|