|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : การุณ ถามเมื่อวันที่
15 มิ.ย. 2547 |
ลมหายใจเหมือนคนใกล้ตาย
กราบนมัสการพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หลวงตาบัว
ดิฉันได้หัดวิปัสสนากรรมฐานตามที่หลวงตาได้สอนสั่งมาเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยการเจริญสติใช้พุทโธแนบจิตมาโดยตลอด การพิจารณาเป็นไปด้วยดีตามลำดับ และได้พิจารณากายสังขาร ว่าไม่มีอะไรแน่นอน จนกระทั่งดิฉันได้ทำสมาธิ จิตรวมควบแน่นสว่างจ้าอยู่ แต่ในขณะเดียวกันนั้น กายสังขารมันจะขาดออกจากกันให้ได้ ลมหายใจค่อยๆจะหลุดลอยเหมือนคนใกล้ตาย สติก็จับตัวรู้นั้น รู้ว่าตัวเองกำลังจะใกล้ตาย แต่ในขณะเดียวกันจิตมันก็ค่อยๆจ้าขึ้น จนลมหายใจนั้นแน่นิ่งหมดไป เหลือแต่ความสว่างไสว และปัญญาได้แจ้งว่า .. มันเป็นเช่นนี้เอง
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เวลาหันกลับไปนั่งทำสมาธิพิจารณาทีไร จิตมันก็จะกำหนดไปที่ตรงที่ลมหายใจหมดอยู่เรื่อยไป (แต่ตัวเองรู้ว่า แท้จริงแล้วยังหายใจอยู่)
ทุกวันนี้ ในการดำเนินชีวิตประจำวันกายก็ทำหน้าที่ไปตามปกติ แต่จิตนั้นกลับว่างเฉย บางทีกิเลสก็มีตามมากวนเป็นระลอกๆ แต่จิตนั้นก็พิจารณาไปแล้วเสร็จสรรพว่าเหตุทีเกิดเป็นเช่นไร และหนทางดับกิเลสนั้นเป็นอย่างไร
ดิฉันเป็นอย่างนี้มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ดิฉันจึงกราบเรียนขอความเมตตาจากหลวงตาว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป
กราบขอบคุณหลวงตาเป็นอย่างสูงที่ชี้แนะแนวทางเปิดทางสว่างในธรรมะให้ชาวโลกค่ะ
ดิฉันจึงอยากกราบขอคำชี้แนะจากครูบาอาจารย์ว่า ต้องพิจารณาอย่างไรต่อไป เพราะ
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2547 |
เรียนคุณการุณ หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบให้คุณ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๗ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้
หลวงตาตอบ "ทำมานี้ถูกต้องแล้ว ให้ทำอย่างนั้นต่อไป แต่อย่าไปถืออารมณ์ที่ได้ที่รู้ที่เห็นนั้นมาเป็นอารมณ์ในเวลาภาวนา ภาวนาเราตั้งปัจจุบันมา แต่ถือต้นลำสำคัญคือเรากำหนดลมหายใจหรือกำหนดพุทโธ ก็ให้ตั้งนั้น สติอยู่กับนั้นเป็นปัจจุบัน อย่าไปยึดเอาผลที่ได้มามากน้อยเพียงไร สว่างกระจ่างแจ้งอะไร ช่าง ปล่อยไปหมดเรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วนะ อย่ามาเป็นอารมณ์ในปัจจุบันขณะกำลังภาวนา ให้ภาวนาอยู่ในวงปัจจุบันอย่างนี้เรื่อยไป แล้วมันจะค่อยขยายออกไปเรื่อยๆ เป็นอันว่าที่ว่ามานี้ถูกต้องแล้ว ให้ดำเนินอย่างนั้นต่อไป
แล้วคนที่มีความดูดดื่มในธรรมไปทำการทำงานอะไร ธรรมจะติดแนบๆ เหมือนคนนี้เขาพูดนี่แหละ คือดูดดื่มในธรรมแล้วไปทำการงานอะไร เรื่องทำก็ทำไปทำงาน จิตใจกับธรรมก็สัมผัสสัมพันธ์กันไป ไม่ได้คัดค้านต้านทานกัน ไม่เป็นข้าศึกต่อกัน ให้พากันจำเอาไว้นะ เว้นแต่จิตที่ยังไม่ได้เรื่องได้ราวมันคอยจะแฉลบออกไป แม้แต่ตั้งใจภาวนามันยังออกไปต่อหน้าต่อตา ถ้ามันมีความดูดดื่มแล้วเป็นอย่างนี้แหละ ทำการทำงานอะไรก็ตาม ทางนี้มันก็เป็นของมันเองไปเรื่อยๆ เอ้าต่อไป"
กรุณาพิจารณาทบทวนคำตอบของหลวงตาแล้วนำไปปฏิบัติ อ่านเต็มกัณฑ์ได้ในเทศน์ธรรมะประจำวันที่ 16 มิ.ย.47 เพิ่มเติม Aphiwanno Bhikkhu
|
|
|