|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : ณี ถามเมื่อวันที่
6 พ.ค. 2547 |
แยกจิตออกจากความเจ็บปวดกาย
กราบนมัสการท่านหลวงตาเป็นอย่างสูงที่ช่วยสงเคราะห์โลก ข้าพเจ้ามีข้อสงสัยอยากขอกราบรับคำแนะนะด้วยค่ะ ข้าพเจ้าทรมานกายตนเองด้วยการเดินระยะทาง 10 กิโลเมตร ต่อเนื่องกัน ใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการเดิน ทุกก้าวเดินเป็นการทำจงกรม โดยมีคำภาวนาพุธโธ อยู่ตลอด มีจิตส่งออกนอกบ้าง พบว่า 1.เจ็บเท้ามากจนพอง 4 จุด เนื่องจากเสียดสีกับรองเท้า แต่ขณะที่จิดภาวนาพุธโธแน่วแน่อยู่ จะรู้สึกถึงความเจ็บ แต่ไม่ทุกข์ทรมาน จิดรับรู้และเฉยอยู่ พิจารณาแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ 2. แต่ถ้าเจ็บปวดมากก็พิจารณาว่า กายคือธาตุ 4 ความเจ็บนี้ไม่ใช่ของเรา ก็จะรู้สึกเบากาย อย่างประหลาด มีกำลังเดินจงกรมต่อไปแม้จะเจ็บระบบเท้ามากก็ตาม พิจารณาอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ท่านหลวงตามีคำสั่งสอนอื่นใด 3. เรียนถามว่า ข้าพเจ้าใช้วิธีเดียวกันนี้ในการพิจารณาความเจ็บปวดของถุงน้ำดีซึ่งอักเสบ (เจ็บปวดมาก) จะพิจารณาอย่างไรให้จิตติดนิ่งอยู่ โดยไม่เกินอาการทุกข์ทรมาน เพราะเมื่อมีอาการขึ้นมาจะไม่สามารถ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้เลย ต้องดิ้นทุรนทุรายไป 4. ข้าพเจ้านั่งสมาธิสงบได้ไม่ดีเท่าการเดินจงกรม หรือการเพ่งนิ่งอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะทำให้จิตสงบเร็วมาก แต่ไม่แน่ใจว่าเรียกเป็นการเพ่งกระสินหรือไม่ ซึ่งชาวบ้านบอกกล่าวว่าเป็นของร้อนไม่ควรทำ ท้ายนี้ต้องขอรบกวนท่านหลวงตามหาบัวช่วยตอบให้ความกระจ่างด้วยเถิด ข้าพเจ้าได้ตั้งจิตถวายอายุขัยของข้าพเจ้าให้หลวงตา 5 ปี เพื่อให้หลวงตาได้อยู่ช่วยโลก ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อโลกมากกว่า ขอให้หลวงตาได้โปรดรับการถวายนี้ด้วยเทอด ขอให้หลวงตามีอายุยืนเป็นร้อยปีด้วยเถิด
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2547 |
เรียนคุณผู้ถาม หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาจิตตภาวนาให้คุณ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้
โยม : ข้าพเจ้าทรมานกายตนเองด้วยการเดินต่อเนื่องกัน ใช้เวลา ๔ ชั่วโมงในการเดิน ทุกก้าวเดินเป็นการทำจงกรม โดยมีคำภาวนาพุทโธอยู่ตลอด มีจิตส่งออกนอกบ้าง พบว่า ข้อ ๑.๑ ขณะที่จิตภาวนาพุทโธแน่วอยู่จะรู้สึกถึงความเจ็บ แต่ไม่ทุกข์ทรมาน จิตรับรู้และเฉยอยู่ พิจารณาแบบนี้ถูกต้องหรือไม่
หลวงตา : ถูกต้องแล้ว เอ้าว่าไป ข้อ ๑.๒ แต่ถ้าเจ็บปวดมากก็พิจารณาว่า กายคือธาตุ ๔ ความเจ็บนี้ไม่ใช่ของเรา ก็จะรู้สึกเบากายอย่างประหลาด มีกำลังเดินจงกรมต่อไปแม้จะเจ็บเท้ามากก็ตาม พิจารณาอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่
หลวงตา : ถูก ข้อที่สองก็ถูก และให้พิจารณาต่อไปนะ ไม่ใช่ถูกแล้วนอนอยู่เหมือนหมู ข้อ ๑.๓ ข้าพเจ้าใช้วิธีเดียวกันนี้ในการพิจารณาความเจ็บปวดของถุงน้ำดี ซึ่งเจ็บปวดมาก จะพิจารณาอย่างไรให้จิตติดนิ่งอยู่ โดยไม่เกิดอาการทุกข์ทรมาน เพราะเมื่อมีอาการขึ้นมาจะไม่สามารถ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้เลย ต้องดิ้นทุรนทุรายไป หลวงตา : อันนี้ให้สติอยู่กับอันนั้น เราภาวนาอะไรให้บริกรรมภาวนาอยู่ในจุดที่มันปวดมากๆ นั้น เบาๆ นะ มีสติอยู่ตรงนั้น เข้าใจแล้วเหรอ ข้อ ๑.๔ ข้าพเจ้านั่งสมาธิสงบได้ไม่ดีเท่าการเดินจงกรม หรือการเพ่งนิ่งอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะทำให้จิตสงบเร็วมาก
หลวงตา : อิริยาบถใดถูกต้องก็เอาอิริยาบถนั้น ถ้าเดินได้ผลดีกว่านั่งก็เดินมากกว่านั่ง ถ้านั่งดีกว่าเดิน ได้ผลดีกว่าก็นั่งมากกว่า เท่านั้นละ โยม : ข้าพเจ้าได้ตั้งจิตถวายอายุขัยของข้าพเจ้าให้หลวงตาห้าปี เพื่อให้หลวงตาได้อยู่ช่วยโลก ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อโลกมากกว่า ขอให้หลวงตาได้โปรดรับการถวายนี้ด้วยเทอญ หลวงตา : ไม่รับ หลวงตามีลมหายใจแล้วไม่จำเป็นต้องอาศัยใคร เอาละพอ โยม : ขอให้หลวงตามีอายุยืนเป็นร้อยปีขึ้นไปด้วยเถิด
หลวงตา : เท่าไรก็ตามไม่เอา เราจะดูลมหายใจของเรานี่แหละ เอ้าว่าไป โยม : คนถามชื่อณีครับ _________
คุณสามารถรับชมเป็นวีดิโอหรืออ่านเทศน์กัณฑ์นี้เต็มกัณฑ์ ได้ที่ http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=2752&CatID=2
|
|
|