คำถาม 
โดย : ส.วิสุทธิ์ ถามเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2547

อาการของจิตชั่วขณะเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยบุคคล

กราบนมัสการหลวงตาที่เคารพ
     กระผมขอความเมตตาท่านอาจารย์ช่วยเเนะนำสั่งสอนด้วยครับ  คือผมมีความเข้าใจว่า  การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติจิตตามแนวของศีล  สมาธิ  ปัญญา   ถ้าปฏิบัติถูกต้องด้วยความเพียรสม่ำเสมออย่างไม่ลดละ  ผลที่จะเกิดขึ้นก็ คือ  สติ  สมาธิ  ปัญญา  จะมีพละกำลังมากขึ้น  จนสามารถประหารกิเลสไปได้ตามลำดับชั้น  ชั่วขณะหนึ่งที่สติ  สมาธิ  ปัญญา  มีกำลังสม่ำเสมอ  ประชุมพร้อมที่จิตจนสามารถประหารกิเลสได้เด็ดขาด  จิตเปลี่ยนสภาพจากปุถุชนเป็นอริยบุคคล  ตามปริยัติกล่าวไว้ว่า  อริยบุคคลชั้นต้น  คือ โสดาบันนั้นละสังโยชน์เบื้องต้นได้  3  ข้อเเรก   กระผมมีคำถามดังนี้  คือ
1.ในทางปฏิบัติชั่วขณะที่จิตเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลนั้น  จิตมีอาการเเสดงอย่างไรบ้างครับ  ที่กล่าวว่าตกกระแสพระนิพพาน  หรือการรับรู้รสพระนิพพานเป็นครั้งเเรก  มีอาการอย่างไรบ้าง
2.วิปัสสนูปกิเลส  ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบรรลุมรรคผล  กับ  สันทิฏฐิโก  เราจะมีทางรู้หรือสังเกตุอย่างไรบ้างครับ
3.ผมเข้าใจว่า  การที่เราจะรู้ว่า  เราละกิเลสตัวใดได้บ้างนั้นจะต้องมีการสังเกตุดูจิตตัวเอง  ขณะที่มีการกระทบสัมผัสกับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกิเลสตัวนั้นๆ  ถ้าจิตยังมีการกระเพื่อม  การหวั่นไหว  การปรุงการคิด  ไม่ว่าดีหรือชั่ว  พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม  ยังต้องมีการบังคับหักห้ามหรือกดถ่วงจิต  ก็แสดงว่ายังละกิเลสตัวนั้นๆไม่ได้   ในทางตรงกันข้าม  ถ้าจิตสามารถดำรงความเป็นกลาง  ไม่มีการปรุงเเต่ง  ไม่มีการยินดียินร้าย  มีสติปัญญารู้พร้อม  ไม่ต้องมีการบังคับกดถ่วงจิต  ก็เเสดงว่าละกิเลสตัวนั้นได้   เพราะฉะนั้น  การที่เราจะรู้ว่าเราละกิเลสตัวไหนได้นั้น  เราต้องรู้ได้ด้วยตัวเอง  มิใช่ให้ผู้อื่นมาบอกมาประเมิน  การพยากรณ์มรรคผลโดยผู้อื่นนั้นไม่น่าจะถูกต้อง (ยกเว้นพระพุทธเจ้าซึ่งทรงพยากรณ์สาวกของพระองค์) กระผมมีความเข้าใจถูกหรือผิดพลาดประการใดขอให้ท่านอาจารย์ชี้เเนะด้วยครับ 

คำตอบ
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2547

เรียนคุณส.วิสุทธิ์ หลวงตาไม่ได้ตอบปัญหาของคุณ เนื่องด้วยหลวงตาท่านดำริให้เราต่างมุ่งปฏิบัติจิตตภาวนาด้วยตนเอง หากติดขัดการภาวนาขั้นนั้น ๆ จึงค่อยกราบเรียนถามท่าน

โยม           :     ๑.ในทางปฏิบัติชั่วขณะที่จิตเปลี่ยนจากปุถุชน เป็นอริยบุคคลนั้น จิตมีอาการเเสดงอย่างไรบ้างครับ

หลวงตา     :     อันนี้เราก็เคยตอบเคยโต้ผู้ถามมามากมายก่ายกอง คราวนี้ตอบไม่ได้แล้ว ยอม เอาละพอ ว่าต่อไป

โยม            :     ๒.วิปัสสนูกิเลส  ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบรรลุมรรค ผล  กับ  สันทิฏฐิโก  เราจะมีทางรู้หรือสังเกตอย่างไรบ้างครับ

หลวงตา     :     อันนี้ก็ไม่ขอตอบ อันนี้ก็ติดเหมือนกัน เอ้าว่าไป

โยม            :    ๓.ผมเข้าใจว่าการที่เราจะรู้ว่า เราละกิเลสตัวใดได้บ้างนั้นจะต้องมีการสังเกตดูจิตตัวเอง ขณะที่มีการกระทบสัมผัสกับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกิเลสตัวนั้นๆ ถ้าจิตยังมีการกระเพื่อม การปรุงการคิด ไม่ว่าดีหรือชั่ว พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม  ยังต้องมีการบังคับหักห้ามหรือกดถ่วงจิต ก็แสดงว่ายังละกิเลสตัวนั้นๆ ไม่ได้  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าจิตสามารถดำรงความเป็นกลาง ไม่มีการปรุงเเต่ง ไม่มีการยินดียินร้าย มีสติปัญญารู้พร้อม  ไม่ต้องมีการบังคับกดถ่วงจิตก็เเสดงว่าละกิเลสตัวนั้นได้

เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้ว่าเราละกิเลสตัวไหนได้นั้น เราต้องรู้ได้ด้วยตัวเอง มิใช่ให้ผู้อื่นมาบอกมาประเมิน การพยากรณ์มรรคผลโดยผู้อื่นนั้นไม่น่าจะถูกต้อง ยกเว้นพระพุทธเจ้าซึ่งทรงพยากรณ์สาวกของพระองค์ กระผมมีความเข้าใจถูกหรือผิดพลาดประการใดขอให้ท่านอาจารย์ชี้เเนะด้วยครับ (จาก ส.วิสุทธิ์)

หลวงตา     :     ถ้าให้ทำความเข้าใจมากกว่านี้ เดี๋ยวคุณจะเป็นบ้านะจะว่าไม่บอก เอาละพอ ถามยั้วเยี้ยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว ไม่ได้หลักได้เกณฑ์ เท่านั้นละขี้เกียจตอบ

ถามมีแต่เรื่องผิวๆ เผินๆ ถามไปเฉยๆ เจ้าของไม่ได้ปฏิบัติได้รู้ในเจ้าของ พอจะเอาของจริงออกมาพูดบ้างให้ได้ฟังตามหลักธรรมชาติที่ปฏิบัติเพื่อรู้ของจริง เห็นของจริงๆ แล้วรู้จริงๆ ตอบได้จริงๆ ว่างั้นแหละ นี่มันไม่ได้เรื่อง ถามผิวๆ เผินๆ ไป ได้ยินตามปริยัติว่าไงแล้วก็ว่าตามปริยัติไปอย่างนั้น ไม่ตอบ ไม่ควรตอบไม่ตอบ เท่านั้นแหละพอ

วันนี้ปัญหาทั้งสามข้อนี้ไม่ค่อยได้เป็นประโยชน์อะไรนักยิ่งกว่าข้อที่หนึ่ง คนที่หนึ่งที่ถามนั้นเหมาะสมมาก กระเทือนทั้งชาติทั้งศาสนาไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นเราจึงขออนุโมทนา และยกคำที่เขาอนุโมทนาเรากลับคืนให้เจ้าของเดิมเท่านั้นแหละ อันนี้ดี ให้เป็นคติเตือนใจได้ดี นอกนั้นเหลวๆ ไหลๆ ไปคว้าเอาตำราโน้นตำรานี้มาถามโดยเจ้าของไม่ได้ปฏิบัติพอให้รู้เห็นประจักษ์กับใจบ้างมาถามบ้างเลยนะ เราจึงไม่อยากจะตอบ ก็มีเท่านั้นละ 

                                               ___________

<< BACK

 


หน้าแรก